จิกทะเล พรรณไม้งามตามชายหาด
ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์
ความนำ จิกทะเล เป็นจิกอีกชนิดหนึ่งในวงศ์ LECYTHIDACEAE หรือ BARRINGTONIACEAE ซึ่งเป็นวงศ์ของจิก ที่มีเอกลักษณ์ที่สำคัญคือ ดอกจะบานตอนกลางคืนและร่วงหมดในตอนเช้าถึงสาย เช่น จิกนา จิกสวน จิกนมยาน และกระโดน เป็นต้น ในส่วนของจิกทะเลนั้นชื่อของมันก็บอกที่มาว่าเจริญเติบโตได้ดีตามชายทะเล ผลแห้งขนาดใหญ่กว่ากำปั้นจะมีน้ำหนักเบา และลอยน้ำทะเลไปแพร่พันธุ์ได้ในระยะทางไกล ไม่มีขอบเขต ผู้พบเห็นความสวยงามของจิกทะเลที่มีจุดเด่นหลายประการต่างก็นำต้นกล้าไปปลูกในพื้นที่ห่างไกลทะเล ทั้งในบ้าน ในวัด ในสวนสาธารณะ และอื่นๆ ต่างก็ประสบความสำเร็จในการปลูกเป็นอย่างดี จิกทะเลสามารถเจริญเติบโตได้ดีทุกแห่ง แม้ว่าจำนวนดอกและผลจะน้อยกว่าแถบชายทะเลถิ่นเดิม
จิกทะเล มีความสวยงามสะดุดตาทั้งในส่วนของใบ ดอก ผล และทรงพุ่ม ผู้พบเห็นต่างก็ชื่นชม และอยากรู้จักพรรณไม้ชนิดนี้ รวมทั้งประโยชน์ในด้านต่างๆ ผู้เขียนได้รับคำถามอยู่เสมอ จึงขอนำเรื่องของจิกทะเลมาเผยแพร่ให้รู้จักกันกว้างขวางยิ่งขึ้นพร้อมภาพประกอบที่ถ่ายมาจากแหล่งต่างๆ ที่พบเห็นเพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบตามเนื้อหา
จิกทะเล
ชื่อวิทยาศาสตร์ Barringtonia asiatica (L.) Kurz
ชื่อวงศ์ LECYTHIDACEAE หรือ BARRINGTONIACEAE
ชื่อสามัญ Fish Poison Tree, Putat, Sea Poison Tree
ชื่ออื่น จิกเล โดนเล (ภาคใต้) อามุง (มาเล-นราธิวาส)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ สูงได้ถึง 7-20 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาออกที่เรือนยอดของลำต้น เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบแตกกิ่งต่ำ กิ่งขนาดใหญ่จะมีรอยแผลของก้านใบที่ร่วงหล่นไปแล้วกระจายอยู่ทั่วไป เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลหรือเทา แตกเป็นร่องตามแนวยาวและมีช่องระบายอากาศ เนื้อไม้เป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับกันไปตามลำต้น ใบเป็นรูปมนรี รูปไข่กลับ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบมนเว้า โคนใบสอบเข้าหาก้านใบ ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้าง 10-18 ซม. ยาว 20-38 ซม. แผ่นใบเป็นสีเขียว เนื้อใบหนาเกลี้ยงเป็นมันวาวด้านบน เส้นแขนงใบมีข้างละ 12-14 เส้น นูนทั้งสองด้าน ก้านใบสั้นหรือไม่มี ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะตามปลายยอด ช่อดอกตั้งตรง ยาว 10-15 ซม. มี 7-8 ดอกต่อช่อ แกนช่อหนา ดอกสีขาวมีกลิ่นหอม ใบประดับเป็นรูปไข่ ฐานรองดอกเป็นรูปกรวย กลีบเลี้ยงติดกับตาดอก บานแยกออกเป็น 2 ส่วนไม่เท่ากัน ยาว 2.5-3.5 ซม. ปลายเป็นติ่ง ติดทนที่ก้นผลจนผลแก่ กลีบดอกเป็นสีขาวอมชมพูมี 4 กลีบ ติดที่โคนหลอดเกสรเพศผู้ กลีบเป็นรูปรี ปลายกลีบมน ขอบมักม้วนเข้า ยาว 4.5-6.5 ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก สีแดง สีชมพู หรือสีม่วง เรียงเป็น 6 วง ยาว 8-9.5 ซม. โคนก้านเกสรติดกันเป็นหลอด รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ก้านเกสรเพศเมียเป็นรูปแถบ ยาว 9-11 ซม. ยอดเกสรเป็นตุ่มกลมขนาดเล็ก เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 10-12 ซม. ดอกบานในเวลากลางคืน และจะโรยในตอนเช้า ออกดอกมากในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ลักษณะเป็นรูปพีระมิดสี่เหลี่ยม ตรงโคนผลจะเว้าบุ๋ม ผิวผลสีเขียวเป็นมัน เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8.5-10 ซม. ยาว 8.5-11 ซม. ใต้ผิวผลเป็นเส้นใยมีกากเหนียวหุ้มหนาคล้ายฟองน้ำ ทำให้ลอยน้ำได้คล้ายผลมะพร้าว ส่วนผนังผลด้านในแข็ง ภายในผลมี 1 เมล็ด เมล็ดเป็นรูปขอบขนาน ยาว 4-5 ซม.
หมายเหตุ
1. จิกทะเล เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม
2.จิกทะเลเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด หรือแพร่พันธุ์โดยผลแห้งที่หล่นลง
มาแล้วลอยไปตามน้ำ มีอัตราการเจริญเติบโตปานกลางถึงเร็ว ขึ้นได้ในดินทั่วไป ชอบความชื้นปานกลาง และแสงแดดแบบเต็มวัน มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่มาดากัสการ์ อินเดีย ศรีลังกา ไต้หวัน ญี่ปุ่น ภูมิภาคมาเลเซียรวมถึงฟิลิปปินส์ หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ไปจนถึงทางภาคเหนือของออสเตรเลีย และในหมู่เกาะโพลีนีเซีย ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นมากตามป่าชายหาดของฝั่งทะเลและตามเกาะที่ยังไม่ถูกรบกวน และถูกนำไปปลูกเป็นไม้ประดับทั่วประเทศ
3.ใบของจิกทะเลหนา ผิวใบมันวาว เพื่อเก็บน้ำป้องกันการสูญเสียน้ำในช่วงฤดูแล้ง
4.ดอกจิกทะเลผสมเกสรด้วยผีเสื้อกลางคืนและค้างคาว เนื่องจากบานในตอนกลางคืน
ประโยชน์ของจิกทะเล
- ต้นจิกทะเลมีทรงพุ่มสวย ใบหนาเป็นมันสวยงาม ดอกมีกลิ่นหอม ใช้ปลูกเพื่อปรับภูมิทัศน์ ปลูกให้ร่มเงาได้ โดยนิยมนำมาปลูกในพื้นที่กว้าง เช่น สวนสาธารณะ ปลูกเป็นกลุ่ม ปลูกเป็นฉากหลัง ปลูกตามริมทะเล ทนน้ำท่วมได้ดี
- เปลือกผลหรือเนื้อของผลใช้เป็นยาเบื่อปลาได้ตามชื่อสามัญ(Fish poison tree)
- บางท้องถิ่นจะนำผลแห้งของจิกทะเลมาจุดเป็นยาไล่ยุง
- นำผลแห้งมาประดิษฐ์เป็นของตกแต่งบ้านเรือนและร้านค้าได้
- เนื้อไม้เป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน เป็นไม้เนื้ออ่อน นำมาทำเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายในได้
สรรพคุณของจิกทะเล
- ใบ ผล และเปลือก ใช้เป็นยารักษาบรรเทาอาการปวดศีรษะ
- เปลือกผลหรือเนื้อของผล เป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งที่ช่วยให้คนที่นอนไม่หลับนอนหลับได้ ถ้ารับประทานมาก จะทำให้นอนหลับสบาย
- เมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิ
- เปลือกต้มทำเป็นยาทาภายนอก แก้ปวดข้อ
- รากฝนผสมกับน้ำมะนาว ใช้ปิดปากแผลที่ถูกงูกัด แก้พิษงู
- ผลชงน้ำดื่ม แก้ไอ แก้หืด แก้ท้องเสีย
- เมล็ดทุบให้แตก ชงน้ำดื่มแก้จุกเสียด
- บีบเมล็ดให้น้ำมัน ใช้เป็นเชื้อไฟให้ความสว่าง
- เปลือกของเมล็ดทุบให้แตกตีกับน้ำใส่บ่อใช้เบื่อปลา
- ในเมล็ดและลำต้นของจิกทะเลมีสารซาโปนิน ใช้ทำยาเบื่อปลาและยานอนหลับ
อ้างอิง
http://bangkrod.blogspot.com/2012/09/blog-post_9.html
http://www.dnp.go.th/EPAC/province_plant/ samudkram.htm