โพธิ์ศรี พรรณไม้สวย ชื่อดี แต่มีพิษ

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์

ความนำ “โพธิ์ศรี”ก็เป็นต้นไม้ที่คนรู้จักแต่ต้นและความสวยงามของใบ ดอก ผล และทรงพุ่ม  แต่ไม่รู้จักชื่อ ผู้เขียนได้รับคำถามมามาก ทั้งเรื่องชื่อและประโยชน์ของโพธิ์ศรี โพธิ์ศรีมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ในแถบประเทศนิคารากัวจนถึงเปรู นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏ คนไทยนิยมปลูกไว้ในวัด คงจะเป็นเพราะรูปร่างของทรงพุ่มและใบคล้าย“โพธิ์”นั่นเอง สิ่งควรรู้ที่ต้องนำมาเผยแพร่เกี่ยวกับโพธิ์ศรี มีหลายเรื่อง คือ ประการแรก โพธิ์ศรีไม่ใช่พืชจำพวกโพธิ์ ที่มีชื่อ “โพธิ์”นำหน้าเพราะใบคล้ายโพธิ์ ประการที่สองคือ โพธิ์ศรีไม่ได้เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติแต่อย่างใด จึงไม่จำเป็นต้องปลูกเฉพาะในวัด จะปลูกให้ร่มเงาในที่สาธารณะ สถานที่ราชการ หรืออาคารบ้านเรือนก็ได้ เนื่องจากเป็นพรรณไม้ที่แผ่กิ่งก้านได้กว้างไกล ทรงพุ่มแน่น และทิ้งใบน้อย ประการสุดท้ายที่ต้องจดจำคือในผลสวยๆนั้น มีเมล็ดกลมแบนสวยงามเช่นกัน หากรับประทานเมล็ดเข้าไปมีพิษถึงตาย จึงไม่ควรปลูกในสถานศึกษา คุณครูหรือผู้ปกครองต้องเตือนนักเรียนหรือเด็กในปกครองไม่ให้รับประทานเป็นอันขาด

โพธิ์ศรี

ชื่อวิทยาศาสตร์ Hura crepitans Linn.
ชื่อวงศ์ Euphorbiaceae
ชื่อสามัญ Sand box Tree, Portia tree, Umbrella tree, Monkey pistol, Monkey’s dinner bell
ชื่ออื่น โพธิ์ทะเล โพทะเล โพธิ์ฝรั่ง โพฝรั่ง โพศรี โพธิ์อินเดีย โพธิ์หนาม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          ไม้ต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง 15 เมตร แผ่กิ่งก้านเป็นวงกว้างคล้ายร่ม ลำต้นและกิ่งใหญ่จะมีหนามเตี้ยบนเต้าแบนกระจายอยู่ทั่วไปอย่างหนาแน่น มียางสีขาวไหลออกมาเมื่อมีแผล ใบเดี่ยวรูปหัวใจคล้ายใบโพธิ์ ปลายใบแหลมยาว โคนใบเป็นรูปหัวใจ ขอบใบหยักเป็นซี่ฟันห่างๆ ใบกว้าง 8-11 ซม. ยาว 8-16 ซม. แผ่นใบเกลี้ยง มีขนตามเส้นกลางใบด้านล่าง เส้นใบมองเห็นได้ชัดเจน มีเส้นแขนงใบข้างละ 11-16 เส้น โค้งจรดกัน ก้านใบยาวประมาณ 6-10 ซม. หูใบเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.7-1.5 ซม. หลุดร่วงได้ง่าย ดอกแยกเพศบนต้นเดียวกัน ดอกเพศผู้เป็นช่อดอกยาวสีแดงเข้ม ดอกเพศเมียจะมีรูปร่างกลมแบนเป็นรูปเห็ดขนาดเล็ก ช่อดอกเพศผู้ยาวประมาณ 3.5-5.5 ซม.ร ก้านช่อหนา ยาว 1.2-8 ซม. ดอกเพศเมียมีดอกเดียวอยู่ที่โคนก้าน ส่วนดอกเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านดอกยาวประมาณ 2 มม. เกสรเพศผู้มีประมาณ 10-20 อัน เรียงเป็น 2-3 วง เรียงสู่ด้านปลาย อับเรณูมีขนาดเล็ก ยาว 0.5 มม. ดอกเพศเมียก้านดอกยาว 1.2 ซม. กลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูปถ้วย ผลเดี่ยว กลมแป้นเป็นแบบแคปซูล แบ่งออกเป็นกลีบเท่าๆ กัน ประมาณ 14-16 กลีบ รูปทรงคล้ายฟักทอง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6.5-8 ซม. และสูง 3-5 ซม. ขั้วและก้นบุ๋มลึก เปลือกผลแข็งและหนา เขย่าผลเมื่อแห้งจัดจะมีเสียงเมล็ดสัมผัสผนังผล ผลที่แห้งจัดจะแตกออกเป็นชิ้นตามยาวของผล แต่ละชิ้นจะเป็นซี่คู่ เมล็ดกลมแบน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2 ซม. กระเด็นออกมา กว่า 10 เมล็ด นำไปเพาะกล้าได้ง่าย

การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ดที่กระเด็นออกมาจากผลที่แตกเป็นซี่

ถิ่นกำเนิด ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ในแถบประเทศนิการากัวจนถึงเปรู

หมายเหตุ “โพธิ์”ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ อยู่ในวงศ์ MORACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus religiosa F. มีพืชในวงศ์เดียวกันหลายชนิด เช่น ไทร กร่าง มะเดื่อ ลูกฉิ่ง ขนุน สาเก เป็นต้น

ประโยชน์

  1. ปลูกเป็นไม้ประดับ และให้ร่มเงา ตามสวนสาธารณะ วัดวาอารามอาคาร และสถานที่ต่างๆ
  2. นำผลแห้งที่แตกเป็นชิ้นมาประดิษฐ์เป็นของตกแต่ง
  3. เนื้อไม้มีคุณภาพดี สามารถนำมาทำเฟอร์นิเจอร์
  4. ในอดีต ยางใช้เป็นยาเบื่อปลา หรือใช้อาบลูกดอกสำหรับล่าสัตว์
  5. ผลและเมล็ดมีฤทธิ์ในการฆ่าแมลง
  6. ในอินเดียนำผลที่ยังไม่สุกมาต้ม เจาะรู แล้วนำมาตากให้แห้ง บรรจุทรายไว้ในผล ใช้สำหรับซับหมึกจากปากกา จึงเป็นที่มาของชื่อ sand box tree

พิษของโพธิ์ศรี   ส่วนที่เป็นพิษ คือ เมล็ดและยางมีพิษ เด็กหรือผู้ใหญ่ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ นำผลและเมล็ดของโพธิ์ศรีไปรับประทานและเกิดอาการพิษ ทั้งนี้เนื่องจากผลซึ่งมีลักษณะสวยงามและดึงดูดสายตา ประกอบกับมีเมล็ดซึ่งมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับเมล็ดถั่วปากอ้าที่ใช้บริโภค จึงเกิดพิษขึ้นได้ อาการเป็นพิษ คือ เมื่อกินเมล็ดเข้าไปประมาณ 1-2 เมล็ด จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ชีพจรเต้นเร็ว ตาพร่า ปวดท้อง ท้องร่วง และอาจมีเลือดปนออกมา ในรายที่ได้รับสารพิษในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการเพ้อ ชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้ น้ำยางจะมีฤทธิ์กัดมาก เพราะประกอบไปด้วยสาร hurin และมีน้ำย่อย hurain ซึ่งเป็นเอนไซม์ย่อยโปรตีน ที่สามารถย่อยเนื้อได้ จึงทำให้เกิดอาการแพ้เมื่อสัมผัสกับผิวหนัง โดยจะเกิดอาการเป็นผื่นแดงแบบไฟลามทุ่งและพุพองขึ้นเป็นตุ่มน้ำใส หรือถ้าเข้าตาก็อาจทำให้ตาบอดได้

กรณีศึกษาเรื่องพิษของโพธิ์ศรี

กรณีที่1 ผู้ป่วยจำนวน 23 ราย รับประทานเมล็ด 1-3 เมล็ด แล้วมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวด ศีรษะ ตาแดง มีอาการแสบร้อนในคอ ปวดท้อง ถ่ายเหลว และง่วงนอน
กรณีที่ 2 เด็กชายจำนวน 18 ราย อายุระหว่าง 12-15 ปี รับประทานเมล็ดแห้ง และเริ่มมีอาการตั้งแต่ 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง มีรายเดียวที่มีอาการเมื่อผ่านไป 6 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน แสบร้อนในคอ กระหายน้ำ และในบางรายพบว่ามีอาการปวดท้องและอุจจาระร่วง แต่วันรุ่งขึ้นอาการก็ดีขึ้น
กรณีที่ 3 ผู้ป่วยมีอาการแพ้เนื่องจากการสัมผัสยางของต้นโพธิ์ศรี มีอาการบวมแดงบริเวณผิวหนังและมีอาการอักเสบของเยื่อบุจมูกและตาตลอดปี

การรักษาเมื่อมีอาการ ก่อนนำส่งโรงพยาบาลควรให้ดื่มนมหรือผงถ่านเพื่อลดการดูดซึมของสารพิษ แล้วให้รีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อล้างท้องทันที และให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดเพื่อป้องกันการหมดสติและอาการช็อกจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่

อ้างอิง

http://www.medplant.mahidol.ac.th/
https://medthai.com
https://th.wikipedia.org/wiki
http://thaiherbal.org/2709/2709