ทุเรียนเทศ ผลไม้หลากหลายสรรพคุณ

ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์

ความนำ
          ชื่อของ “ทุเรียนเทศ หรือ ทุเรียนน้ำ” เพิ่งโด่งดังในประเทศไทยขึ้นมาช่วงไม่เกินสิบปีมานี้เอง เป็นเพราะงานวิจัยในอเมริกาพบว่าสารสกัดจากส่วนของใบ เมล็ด และลำต้นของทุเรียนเทศมีฤทธิ์ในการต่อต้านไวรัสและเซลล์มะเร็ง ผลไม้ชนิดนี้สามารถช่วยในการฆ่าเซลล์มะเร็งกว่า 12 ชนิดซึ่งรวมถึง มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด และมะเร็งตับอ่อน ผลจากการรับประทานยาที่สกัดจากทุเรียนเทศ หรือการนำใบมาต้มเป็นชาแล้วรับประทาน จะช่วยในการฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการทำคีโมถึง 10,000 เท่า โดยไม่ทำร้ายเซลล์ดีในร่างกาย ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าผลไม้มหัศจรรย์นี้จะช่วยสู้เซลล์มะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดการคลื่นเหียนวิงเวียน หรือเกิดอาการผมร่วงเหมือนกับการทำคีโม

          ทุเรียนเทศเป็นผลไม้ที่ขาดการให้ความสำคัญทางเศรษฐกิจในไทย ไม่มีการปลูกเป็นอาชีพ ทุเรียนเทศเป็นผลไม้แปลกหน้าสำหรับผู้พบเห็นในตลาดนัดตามชนบททางใต้ โดยปกติแล้วจะพบว่ามีการปลูกมากในภาคใต้ของประเทศไทยสำหรับบริโภคในครัวเรือน พบน้อยในภาคอื่น เนื่องจากเป็นพืชที่ชอบอากาศที่มีความชื้นสูง สำหรับมาเลเซียและสิงคโปร์พบว่าทุเรียนเทศได้หายไปจากตลาดท้องถิ่น แต่กลับไปอยู่ในรูปของการแปรรูป เช่น น้ำทุเรียนเทศเข้มข้น น้ำทุเรียนเทศบรรจุกล่องพร้อมดื่มในร้านแถวรัฐปีนังของมาเลเซีย และข้ามมาขายในฝั่งไทย

          บทความนี้มุ่งให้ผู้อ่านรู้จักทุเรียนเทศและสรรพคุณที่หลากหลาย รวมทั้งส่งเสริมให้มีการปลูกเป็นอาชีพและชวนเชิญให้รับประทานเป็นผลไม้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพโดยไม่ต้องรอให้เจ็บไข้ได้ป่วยก่อน ส่วนลู่ทางการพัฒนาทุเรียนเทศในเชิงอุตสาหกรรมเกษตรนั้น มีความเป็นไปได้สูงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย และสะดวกต่อการรับประทานมากยิ่งขึ้น ในปัจจุบันน้ำทุเรียนเทศเข้มข้นยังไม่มีการผลิตในประเทศไทย ยังไม่มีการนำเนื้อมาทำไอศกรีม หรือเยลลี่เหมือนดังในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์

ทุเรียนเทศ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Annona muricata L.
ชื่อวงศ์ ANNONACEAE
ชื่อสามัญ Soursop, Prickly Custard Apple
ชื่ออื่น ทุเรียนน้ำ(ภาคใต้)  ทุเรียนแขก (ภาคกลาง) หมากเขียบหลด หรือหมากพิลด (ภาคอีสาน) และ มะทุเรียน (ภาคเหนือ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  ไม้ต้นขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านค่อนข้างมากแต่ไม่เป็นระเบียบ ทรงพุ่มโปร่ง เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาลถึงดำ มีความสูง 4 – 5 เมตร ใบเดี่ยว รูปไข่รี เรียวยาว  ปลายแหลม โคนเรียวลง ค่อนข้างหนา ขอบใบเรียบ ใบเรียงสลับกันไปในระนาบเดียวกับกิ่ง ผิวใบอ่อนเป็นมัน กว้าง 5 – 7 ซม. ยาว 11 – 16 ซม. ก้านใบยาว 1 – 1.5 ซม.  เมื่อฉีกใบจะได้กลิ่นเหม็นเขียว ฉุนจัด ดอกเดี่ยวขนาดใหญ่เป็นรูปหัวใจ ห้อยลงที่ซอกใบ ดอกมีกลิ่นหอมอมเปรี้ยวส่งกลิ่นหอมตั้งแต่ช่วงบ่าย อยู่รวมกัน 2 – 4 ดอก กลีบเป็นรูปสามเหลี่ยมหนาแข็ง จำนวน 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น ๆ ละ 3 กลีบ มีสีเหลืองแกมเขียว ยาว 3.5 – 4.5 ซม. บานแย้มเท่านั้น ไม่บานกว้าง   ออกดอกตลอดทั้งปี มีกลิ่นหอมอมเปรี้ยวส่งกลิ่นหอมตั้งแต่ช่วงบ่าย ผลกลุ่ม แต่มองดูคล้ายผลเดี่ยว สีเขียวสด รูปร่างกลมรีคล้ายทุเรียน เปลือกมีหนามแหลมแต่ไม่แข็ง และหนามนิ่มเมื่อสุก เนื้อในผลสีขาวเป็นเนื้อเดียวกันทั้งผล ไม่แยกเป็นแต่ละเมล็ดเหมือนน้อยหน่า มีรสหวานอมเปรี้ยวมีเส้นใยเกาะกันเหนียวแน่น ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 – 15 ซม. ยาว 15 – 25 ซม. น้ำหนักประมาณ 0.5 – 2.0 กิโลกรัม มีรสเปรี้ยว หรือหวานเล็กน้อย ถ้าผลยังดิบมีรสอมเปรี้ยว และมีรสมันเล็กน้อย เมล็ดแก่สีน้ำตาลถึงดำ หุ้มด้วยเนื้อสีขาว

การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด งอกภายใน 2-3 สัปดาห์ ให้ผลรุ่นแรกหลังอายุ 3 ปี หากต้องการให้ได้ผลผลิตเร็วขึ้นต้องขยายพันธุ์ด้วยการเสียบยอด และทาบกิ่ง

หมายเหตุ ทุเรียนเทศเป็นพืชในวงศ์เดียวกันกับน้อยหน่า น้อยโหน่ง การเวก กระดังงา นมแมว จำปี จำปา และมณฑา เป็นต้น

ถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์ มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของอเมริกา ปลูกมากในแถบอเมริกากลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพืชที่ชอบสภาพพื้นที่ที่มีความชื้นสูง เป็นพืชเขตร้อน เริ่มแพร่กระจายไปสู่พื้นที่เขตร้อนทั่วโลกราวคริสต์ศตวรรษที่16 และแพร่กระจายมายังประเทศฟิลิปปินส์รวมทั้งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนักเดินเรือชาวสเปน  ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในส่วนของประเทศไทยนั้นพบได้มากในภาคใต้ ในมาเลเซียและสิงคโปร์ และในแถบรัฐปีนังของมาเลเซียก็จะพบว่ามีการน้ำทุเรียนน้ำมาแปรรูปเป็นน้ำทุเรียนเข้มข้นซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากด้วย

การใช้ประโยชน์

  1. ทุเรียนเทศใช้กินเป็นผลไม้สดในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย   คนไทยสมัยโบราณนิยมนำผลอ่อนไปแกงส้ม
  2. ทุเรียนเทศถูกนำไปแปรรูปหลายแบบ เช่น เป็นผลไม้กวน เยลลี่ ไอศกรีมและซอส ในมาเลเซียนำไปทำน้ำผลไม้กระป๋อง เวียดนามนิยมทำเป็นน้ำผลไม้ปั่น ในเม็กซิโกและโคลัมเบียนอกจากจะนิยมรับประทานเป็นผลไม้สดแล้ว ยังใช้ทำขนม เช่นเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มที่ผสมนม ในอินโดนีเซียนิยมทำเป็นไอศกรีม โดยนำทุเรียนเทศไปต้มในน้ำ เติมน้ำตาลจนกว่าจะแข็ง และนำไปทำน้ำผลไม้ปั่น ในฟิลิปปินส์นิยมกินผลสุกและทำน้ำผลไม้ สมูทตี และไอศกรีม บางครั้งใช้ทำให้เนื้อนุ่ม ในเวียดนาม ใช้กินสดหรือทำสมูทตี นิยมนำเนื้อไปปั่นใส่นมข้นเติมน้ำแข็งเกล็ดหรือทำเป็นน้ำผลไม้ปั่น ในมาเลเซียและอินโดนีเซียนิยมกินเป็นผลไม้เช่นกัน ในไทยจะเชื่อมแบบเชื่อมสาเก

สรรพคุณของทุเรียนเทศ

  1. ผลทุเรียนเทศมีคาร์โบไฮเดรตมาก โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโทส วิตามินซี และวิตามินบี ผล ใบ และเมล็ดมีฤทธิ์ทางยา ใช้ผลเป็นยาสมุนไพรรักษาโรคกระเพาะอาหาร และมีสารต้านอนุมูลอิสระ  ผลดิบใช้รับประทานเพื่อรักษาโรคบิด ผลสุกช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
  2. ผลจะช่วยเพิ่มน้ำนมกับหญิงให้นมบุตร
  3. ใบนำมาใช้ชงดื่มช่วยทำให้นอนหลับสบาย ใบใช้เป็นยาระงับประสาท ใบช่วยลดอาการไข้ลงได้ทันทีเมื่อตื่นนอน ใบเป็นยาแก้อาการท้องอืด ด้วยการนำมาขยี้ผสมกับปูนแล้วนำมาทาบริเวณท้อง ใบใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้อาการไอ อาการปวดตามข้อ ด้วยการนำมาขยี้ผสมกับปูนแล้วนำมาทา
  4. นำใบมาใส่ไว้ในหมอนหนุน จะช่วยทำให้หลับสบายยิ่งขึ้น (เนเธอร์แลนด์)
  5. รากและเปลือกนำมาทำเป็นชาชงดื่มแก้อาการเครียด ช่วยลดอาการเจ็บปวดและลดการเกร็ง
  6. ใบช่วยแก้อาการเมา ด้วยการใช้ใบขยี้ลงในน้ำผสมกับน้ำมะนาว 2 ลูก แล้วนำมาจิบ
  7. เมล็ดนำมาใช้ในการช่วยสมานแผลและห้ามเลือด
  8. ผลดิบนำมาตำแล้วพอกเป็นยาฝาดสมาน
  9. น้ำสกัดจากเนื้อยังช่วยในการขับพยาธิได้

ข้อควรระวัง

  1. เมล็ดของทุเรียนเทศมีพิษ จึงนำมาใช้ทำยาเบื่อและทำเป็นยาฆ่าแมลงศัตรูพืช ใช้ทำยาเบื่อปลาและเป็นยาฆ่าแมลง ประเทศมาเลเซียใช้ใบฆ่าแมลงขนาดเล็ก
  2. การรับประทานทุเรียนเทศติดต่อกันทุกวันเป็นระยะเวลานาน อาจจะทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน เนื่องจากในผลทุเรียนเทศจะมีสาร“แอนโนนาซิน” ซึ่งมีคุณสมบัติในการทำลายเซลล์สมอง และในส่วนของเมล็ดและเปลือกก็จะมีสารอัลคาลอยด์อยู่หลายชนิดที่เป็นพิษต่อร่างกาย แต่ถ้ารับประทานอย่างมีสติ ไม่ได้รับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานก็ไม่น่าจะเป็นโทษต่อร่างกาย
  3. สารสำคัญในทุเรียนเทศจะได้ผลดีที่สุด เมื่อบริโภคโดยผ่านกระบวนการน้อยที่สุด การรักษามะเร็งใช้จากใบทุเรียนเทศ ใช้ใบต้มเป็นชา ไม่ควรใช้ผ่านกระบวนการผลิต และอาจไม่ได้ผลเมือนำมาบรรจุแคปซูลหรืออัดเม็ด รวมทั้งการผ่านกระบวนการการผลิตทำเป็นน้ำผลไม้กระป๋อง เนื่องจากขั้นตอนการผลิตมักทำให้ประสิทธิภาพลดลง

การปลูกทุเรียนเทศ  ทุเรียนเทศเจริญเติบโตได้ดีในที่ดอก น้ำท่วมไม่ถึง สภาพดินร่วนที่มีความชุ่มชื้น ระบายน้ำได้ดี อากาศร้อนชื้นแบบภาคใต้ของประเทศไทย คนใต้มักนิยมปลูกไว้เป็นไม้ประดับในบ้าน เพราะดูแลได้ง่าย ทุเรียนเทศขยายพันธุ์ได้ง่ายโดยเมล็ด เพียงนำเมล็ดมาแช่น้ำทิ้งไว้ 1-2 วัน แล้วนำไปเพาะกล้าในดินผสมทั่วไป ต้นกล้าจะงอกขึ้นมาภายใน 2-3 สัปดาห์ ต้นกล้าจะโตช้า เมื่อต้นกล้าสูงราว 50 ซม. ก็นำไปปลูกในหลุมปลูกในแปลงปลูก ห่างกันต้นละ 2-3 เมตร ทุเรศเทศเป็นพืชที่เจริญเติบโตช้า จะเริ่มออกดอกเมื่อมีอายุประมาณ 3 ปี และให้ผลให้เก็บเกี่ยวในปีที่ 4  ซึ่งจะได้ผลผลิตประมาณปีละ 1.5 – 2 ตันต่อไร่

อ้างอิง

https://health.kapook.com/view66781.html
https://medthai.com
http://natres.psu.ac.th/ProjectSite/webpage/5durian-detail.htm
https://th.wikipedia.org/wiki/%