ส้มแขก สมุนไพรภาคใต้ของไทยเรา
ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์
ความนำ ส้มแขก เป็นพืชในวงศ์เดียวกันกับมังคุด ชะมวง มะดัน เป็นต้น มีคุณสมบัติเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลายด้าน แต่ประชาชนทั่วไปรู้จักส้มแขกในสรรพคุณที่ช่วยลดความอ้วนเท่านั้น ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง มีผลงานวิจัยของนักวิชาการรองรับ จนได้รับการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนออกมาจำหน่ายอย่างแพร่หลาย นอกจากสรรพคุณในด้านลดความอ้วนแล้ว ส้มแขกยังมีประโยชน์ที่ควรรู้อีกมากมาย รวมทั้งมีเงื่อนไขในการบริโภคที่ควรระมัดระวัง ในส่วนของรูปร่างลักษณะของส้มแขกนั้นน้อยคนจะรู้จัก เนื่องจากส้มแขกเจริญเติบโตได้ดีในทางภาคใต้ของประเทศไทย จึงจะสามารถพบส้มแขกทั้งที่เป็นผลสดและผลิตภัณฑ์แปรรูปวางขายในตลาดสดหรือตลาดนัดในจังหวัดทางใต้ และอาจพบในงานแสดงสินค้าภาคอื่นบ้างเป็นครั้งคราว เนื่องจากส้มแขกเป็นพืชที่ติดผลตามฤดูกาล จึงจะพบได้ในช่วงปลายฤดูร้อน ต่อต้นฤดูฝนเท่านั้น บทความนี้นอกจากจะให้ความรู้เรื่องประโยชน์และสรรพคุณของส้มแขกแล้ว ผู้เขียนยังได้ติดตามเสาะแสวงหาหาแหล่งของส้มแขกและได้ถ่ายภาพมาจากหลายแหล่งมาประกอบเนื้อหา เพื่อให้ผู้ติดตามอ่านได้เห็นลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่ชัดเจน เป็นประโยชน์ทางการศึกษาต่อไป
ส้มแขก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia atroviridis Griff. ex T.Anderson
วงศ์ CLUSIACEAE หรือ GUTTIFERAE
ชื่อสามัญ Garcinia , Malabar tamarind, Gambooge, Brindle berry, Assam fruit
ชื่ออื่น ชะมวงช้าง ส้มควาย (ตรัง) อาแซกะลูโก (ยะลา) ส้มพะงุน (ปัตตานี) ส้มมะอ้น ส้มมะวน มะขามแขก (ภาคใต้) เป็นต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 5 -12 เมตร ทรงพุ่มกว้าง แน่น ไม้เนื้อแข็ง เปลือกต้นเรียบ ต้นอ่อนสีเขียว เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลอมดำ เมื่อลำต้นและกิ่งก้านเป็นแผลจะมียางสีเหลืองไหลออกมา ใบเดี่ยวออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ใบใหญ่ผิวเรียบเป็นมัน ใบอ่อนมีสีน้ำตาลอมแดง ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม กว้าง 6-8 ซม. ยาว 12-20 ซม. ดอกเดี่ยวดอกแยกเพศ ออกตามปลายยอด ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ด้านในสีแดง ด้านนอกมีสีเขียว มีเกสรเพศผู้เรียงอยู่บนฐานรองดอก ดอกเพศเมีย มีขนาดเล็กกว่าดอกเพศผู้ รังไข่มีรูปทรงกระบอก ผลสด ทรงกลมแป้น ผิวเรียบสีเขียว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม ขนาด 7-9 ซม. เปลือกผลเป็นร่องตามแนวขั้วไปยังปลายผล ประมาณ 8-10 ร่อง ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ 2 ชั้น ชั้นละ 4 กลีบ มีเมล็ดแข็ง 2-3 เมล็ดต่อผล
การขยายพันธุ์
- เพาะกล้าจากเมล็ด จะเจริญเติบโตช้า และให้ผลผลิตช้า
- เสียบยอด ให้ผลผลิตเร็วขึ้น
ถิ่นกำเนิด ในอินเดียและศรีลังกา ซึ่งมีปลูกมากในทางภาคใต้ของประเทศไทย
ประโยชน์
- ผลส้มแขกมีรสเปรี้ยว นิยมนำมาปรุงอาหารที่ต้องการรสเปรี้ยว เช่น แกงส้ม แกงเลียง ต้มเนื้อ ต้มปลา หรือใช้เป็นส่วนผสมของการทำน้ำยาขนมจีน
- ใบอ่อนส้มแขกใช้รองก้นภาชนะนึ่งปลา จะช่วยดับคาวเนื้อปลา
- ผลดิบเมื่อโตเต็มที่นำมาตากแห้ง แล้วนำไปต้มเคี่ยวในน้ำเชื่อม รับประทานเป็นของหวาน
- ผลแห้งเป็นตัวช่วยให้สีย้อมติดวัสดุที่ย้อมได้แน่นทนทาน
- นำใบแก่ของส้มแขกมาผสมกับยางพาราที่กรีดได้ เพื่อทำปฏิกิริยาให้น้ำยางพาราแข็งตัวเร็วขึ้น โดยใช้ใบแก่จำนวน 2 กิโลกรัมหมักกับน้ำ 10 ลิตรทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วนำมาผสมกับยางพารา
- เนื้อไม้ของต้นส้มแขกที่อายุเกิน 30 ปีขึ้นไป นำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ หรือทำเป็นไม้แปรรูปใช้ในการก่อสร้างได้
สรรพคุณ
- เนื้อผลของส้มแขกทำเป็นเครื่องดื่มลดความอ้วน ในผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ เช่น แบบผง แบบเม็ด ชาส้มแขก ส้มแขกแคปซูล เมื่อรับประทานในระยะแรกอาจจะทำให้รู้สึกหิวบ่อยมากขึ้น เนื่องจากไปเร่งระบบการเผาผลาญอาหาร โดยร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัวไปเอง ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ช่วงนี้ก็ให้ดื่มน้ำมากขึ้น เมื่อรับประทานต่อเนื่องไปก็จะช่วยลดความอยากอาหาร ทำให้รู้สึกไม่หิว และเมื่อหยุดรับประทานผลิตภัณฑ์ส้มแขก ร่างกายจึงไม่กลับมาอ้วนอีก ที่สำคัญคือการลดความอ้วนด้วยส้มแขกจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างแน่นอน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาวิทยา จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประเมินผลและพบว่า ไม่มีการเปลี่ยนหน้าที่ของตับและไต รวมไปถึงระดับน้ำตาลในเลือดและความดันเลือดก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
- ช่วยแก้อาการไอ ใช้เป็นยาขับเสมหะ
- ผลแก่หรือดอกนำมาใช้ทำเป็นชาลดความดันได้
- ผลทำเป็นยาบรรเทาอาการปวดท้องในสตรีมีครรภ์
- ผลเป็นยาระบายอ่อน ๆ
- ใบสดน้ำมารับประทานช่วยแก้อาการท้องผูก เป็นยาขับปัสสาวะ
- รากใช้ทำเป็นยารักษานิ่ว
- สารสกัดจากส้มแขกช่วยทำให้ลำไส้เกิดการเคลื่อนไหวตัวได้เร็วขึ้นและขับไขมันออกมา
- ดอกตัวผู้แห้งต้มกับน้ำ ช่วยรักษาโรคเบาหวาน
ข้อควรระวังการใช้ส้มแขก
ส้มแขก มีสารสำคัญที่เป็นกรดมีชื่อว่า ไฮดรอกซี่ซิตริกแอสิด(Hydroxycitric Acid หรือ “HCA”) ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งเอนไซม์ในกระบวนการสร้างไขมันจากการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตสูง นอกจากนี้ยังมีกรดอินทรีย์อื่น ๆ อีก เช่น กรดซิตริก (Citric Acid) กรดโดคีคาโนอิค (Dodecanoic Acid) กรดออกตาดีคาโนอิค (Octadecanoic acid) และกรดเพนตาดีคาโนอิค (Pentadecanoic acid)
ผลิตภัณฑ์สารสกัดส้มแขกที่มีปริมาณ HCA สูง ไม่ควรใช้กับสตรีตั้งครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร เพราะสารชนิดนี้จะไปรบกวนการสร้าง Fatty Acid, Acetyl coenzyme A รวมไปถึง Cholesterol ซึ่งอาจส่งผลต่อการสร้าง Steroid Hormone ได้นั่นเอง และสำหรับบุคคลทั่วไปการรับประทานในปริมาณมากเกินไปอาจมีอาการข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารได้
ในปัจจุบันส้มแขกได้มีการนำไปสกัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ลดความอ้วน หลายรูปแบบ เช่น แบบผง แบบเม็ด ชาส้มแขก ส้มแขกแคปซูล โดยจะมีขนาดตั้งแต่ 300-600 มิลลิกรัม และจะมีเนื้อส้มแขกประมาณ 250-500 มิลลิกรัม และมีปริมาณ HCA ประมาณ 60-70% โดยจะแตกต่างกับส้มแขกบดแห้งบรรจุแคปซูลธรรมดาที่ไม่ได้ผ่านการสกัด ซึ่งจะมีปริมาณของ HCA เพียง 30% เท่านั้น โดยวิธีการรับประทาน สารสกัดส้มแขก ให้รับประทานก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมงครั้งละ 1 แคปซูล
จึงมีคำเตือนให้ระวังในการบริโภคดังนี้
- สารสกัดจากส้มแขกมีความเป็นกรด หากรับประทานมาก หรือไม่รับประทานอาหารตามสลากยา จะทำให้เกิดการระคายเคือง ในกระเพาะอาหาร ทำให้ปวดท้องได้
- HCA อาจมีผล กระทบต่อการสร้าง acetylcholine ในสมอง และในคนซึมเศร้า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ โรคความจำเสื่อมไม่ควรรับประทาน
- เนื่องจากสาร HCA มีผลรบกวนการสร้าง acetyl CaA, fatty acid รวมทั้ง cholesterol จึงอาจมีผลรบกวนต่อการสร้าง steroid hormone ได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้ HCA หรือผลิตภัณฑ์ส้มแขกที่มี HCA ในปริมาณสูงในเด็ก และสตรีมีครรภ์ หรือสตรีที่ให้นมบุตร
อ้างอิง
http://www.bookmuey.com/?page=Garcenia.html
https://medthai.com
http://www.natres.psu.ac.th/FNR/vfsouthern/index.php/
https://www.pstip.com
https://th.wikipedia.org/wiki/