Author Archives: Ploy

เมื่อเด็กรอวันผลิบาน

เมื่อเด็กรอวันผลิบาน

** ดร.จามจุรี  จำเมือง

สวยบริสุทธิ์                    ดุจดังดอกไม้

รอวันเติบใหญ่                 ในวันหน้าเอย

              วัยเยาว์เป็นวัยบริสุทธิ์ ปราศจากการเสแสร้ง คิดอย่างไร เห็นอย่างไรก็พูดเช่นนั้น ไม่ต้องอ้อมค้อม ไม่ปิดบังอำพราง เด็กๆช่างไร้เดียงสายิ่งนัก  เคยมีคนกล่าวไว้ว่า “ เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” ซึ่งแน่นอนว่า หากเรามอบสิ่งดีๆให้เด็กในวันนี้ พวกเขาก็จะเติบโตเป็นคนดีในวันข้างหน้าอย่างมิต้องสงสัย

หากเด็กเปรียบเสมือนกระดาษสีขาว ประสบการณ์ สภาพแวดล้อม การอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว และสังคม ล้วนแต่งแต้มสีสันลงไปบนกระดาษเปล่าแผ่นนั้น วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า จนวันเวลาล่วงไป เด็กก็จะมีสีสันตามรอยแต่งแต้ม บางคนโชคดีได้สีสวยงาม สะอาดชวนมอง ขณะที่บางคนเต็มไปด้วยริ้วรอยของสีเทา สีดำปะปนลงไป มีสุข ทุกข์ ดี เลว คละเคล้าในเด็กเหล่านั้น

กว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่  บางคนมีวัยเด็กอันอบอุ่น อยู่กับครอบครัวที่สมบูรณ์ มีพ่อ แม่ ญาติพี่น้องคอยดูแล ขณะที่บางคนมีวิถีชีวิตในวัยเด็กอย่างยากเข็ญ ครอบครัวแตกแยก ขาดพ่อ ขาดแม่ ขาดคนดูแลเอาใจใส่ การอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็กของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ส่งผลระยะยาวต่อเด็กเมื่อพวกเขาเติบใหญ่

มีสุภาษิตไทยกล่าวว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” หากต้องการฝึกฝน พัฒนาเด็กจึงต้องทำตั้งแต่วัยเยาว์เพราะถ้าปล่อยจนโตขึ้นฝึกหัดอย่างไรก็ไม่ได้ผล จึงต้องอบรมสั่งสอนกันตั้งแต่วัยเด็ก การให้การศึกษาที่ดี อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ส่งผลให้เด็กเติบโตอย่างสมบูรณ์ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุข โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดจนถึงอายุก่อน 10 ปี เป็นช่วงที่เด็กมีความไวต่อการปลูกฝังและส่งเสริมจริยธรรม การปฏิบัติต่อเด็กอย่างเหมาะสม กับพัฒนาทางกายและจิตใจของเด็กจะช่วยป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นเมื่อเขาเข้าสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ (ศุนิสา ทดลา,2560 หน้า 374)

—————————————————-

** ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดมงคลวราราม เขตจอมทอง กรุงเทพฯ

** กรรมการบริหารสมาคมศิษย์เก่าบ้านสมสมเด็จเจ้าพระยาในพระบรมราชูปถัมภ์

 

สภาพปัญหาของเด็ก

สำหรับสภาพสังคมไทยที่ผ่านมาจะพบว่ามีความมั่นคงทางสังคมมากขึ้นแต่ยังมีปัญหาเชิงคุณภาพทั้งด้านสุขภาพ การเรียนรู้ คุณธรรมจริยธรรม สังคมเผชิญกับความเสื่อมถอยทางวัฒนธรรม มีแนวโน้มเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมมากขึ้น (กองบรรณาธิการ วารสารวิชาการ,2559 หน้า 9)   ดังนั้นการจัดการศึกษาของเด็กจึงต้องจัดให้มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก โดยเฉพาะครอบครัว (กุลชลี จงเจริญ,2561) เพราะสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีส่งผลต่อเด็กอย่างมหาศาล เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ทะเลาะกัน ดื่มสุรา ตบตีกัน เด็กจะเห็นภาพไม่ดี เกิดความอับอาย เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีติดตัวเด็กตลอดไป (อัศวิน ขวัญเมือง,2561) การเปลี่ยนแปลงครอบครัวในด้านลบ พ่อแม่ไม่ดูแลลูก ใช้ความรุนแรงกับลูก ส่งผลให้การพัฒนาเด็กเป็นไปได้ยาก(กุลชลี จงเจริญ,2561) ความยากแค้นในวัยเด็ก จะทำให้เขาโหยหาสิ่งที่ขาดแคลนเมื่อโตขึ้น เพื่อทดแทนสิ่งที่ขาดหายไปในวัยเยาว์

 

แม้ยุคสมัยแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะช่วยให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว ข้อมูลข่าวสารและความรู้ใหม่ๆสามารถเผยแพร่ไปได้ทั่วโลกภายในเวลาอันรวดเร็ว ทว่ากลับทำให้อารยธรรมแห่งความสงบสุขของมนุษยชาติที่เคยมีมาค่อยๆเลือนหายไปจากสังคม เกิดความสับสน ทุกข์กังวล ผู้คนขาดความสุขโดยเฉพาะสังคมเมือง ที่ยิ่งความเจริญมีมากขึ้นเท่าไร อาการทุกข์ใจ ป่วยทางจิต ก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องหาทางให้การศึกษาที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหา (จามจุรี จำเมือง,2546-2547 หน้า 39) หากเด็กได้รับการศึกษา ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเพียงพอ จนมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดีก็จะเป็นเกราะป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก

ปัจจุบันพ่อแม่มักมีลูกจำนวนน้อยเพียง 1 หรือ 2 คนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ลูกได้รับการเอาใจจนเกินไป พ่อแม่ ผู้ปกครองตามใจเด็ก การตามใจแทนที่จะส่งผลดีกลับกลายเป็นทำให้เด็กลำพองใจ เห็นแก่ตัว เรียกร้องต้องการตามที่ตนปรารถนาเพราะเห็นว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองตามใจตัวเอง บางคนพยายามเอาใจเด็กด้วยการให้เงิน ให้สิ่งของที่เด็กอยากได้ คาดหวังว่าจะทำให้เด็กรัก โดยขาดความสำนึกว่าเงินทอง สิ่งของที่มอบให้เด็กเป็นเพียงวัตถุภายนอกที่ผู้ใหญ่คิดว่าเด็กอยากได้ ทั้งๆที่เด็กอยากให้พ่อแม่ ผู้ปกครองรักและดูแลเอาใจใส่เขามากกว่า

ศ.ดร.ดวงเดือน พันธุมนาวินและคณะ กล่าวว่า พ่อแม่หรือผู้ปกครองมักรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และมีความเข้าใจน้อยมากถึงความเหมาะสมในการให้รางวัลและการลงโทษเด็ก มักใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล โดยเฉพาะผู้ปกครองที่มีระดับการศึกษาต่ำและฐานะไม่ดี ส่วนผู้ปกครองที่มีฐานะดีจะมีคนคอยเอาใจ ไม่กล้าลงโทษ เมื่อเด็กทำไม่ดีก็ไม่ว่ากล่าว จึงไม่ได้เรียนรู้เรื่องทำผิดต้องถูกลงโทษ เด็กทั้งสองกลุ่มจึงมีข้อจำกัดเช่นกัน (ศุนิสา

ทดลา,2560 หน้า 375)

การพัฒนาเด็กในศตวรรษที่ 21

ประเทศไทยพบปัญหาการพัฒนาเด็กให้มีทักษะหรือคุณสมบัติที่จะดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ใน 3 ด้านคือ

1.ความเชื่อและค่านิยมที่ผิดของผู้ปกครอง พ่อแม่ ผู้ปกครองซึ่งมีความเชื่อว่าผู้มีความรู้มากเป็นคนเก่ง จะมีอนาคตดี มีงานทำที่ดี การประเมินผลวัดกันด้วยความรู้ทางวิชาการเป็นคะแนนสอบ จึงเร่งให้เด็กเรียน เน้นการแข่งขันทางวิชาการ

2.เน้นการเรียนวิชาการระดับปฐมวัย มีการเน้นให้เด็กเรียนมากทางวิชาการตั้งแต่เด็กยังเล็กตั้งแต่ปฐมวัยเพื่อให้สามารถสอบเข้าโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่มีชื่อเสียง เร่งเด็กอ่านให้ออก เขียนได้ นับเลขเป็น จนถึงบวกลบเลขได้ตั้งแต่ปฐมวัย ซึ่งเป็นการสร้างความเครียดให้กับเด็ก กดดันเด็กจนทำให้เด็กเบื่อการเรียน ไม่มีความสุขกับการเรียน

3.ปิดกั้นการพัฒนาสมองของเด็กตามวัยอันควร เมื่อไปเน้นวิชาการทำให้เด็กมีเวลาสำหรับการเล่นลดลง ขาดการฝึกกล้ามเนื้อ มารยาทและจิตสำนึก ขาดการเข้าสังคมกับเพื่อนวัยเดียวกัน จากการวิจัยพบว่า หากเด็กเรียนวิชาการตั้งแต่ปฐมวัยมากเกินไป จะปิดกั้นการพัฒนาสมองของเด็กด้านความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหา เพราะถูกจำกัดให้เรียนแต่วิชาการ ทำให้การพัฒนาสมองมีแค่ความจำเท่านั้น ส่วนเซลล์สมองอื่นๆไม่แตกแขนง ไม่ได้พัฒนาอย่างที่ควรจะเป็นตามวัย ครั้นเมื่อเลยวัยนี้ไปแล้วก็ยากที่จะกลับมาพัฒนาได้อีก (เอกพจน์ สืบญาติ,2561)

การพัฒนาคน พัฒนาเด็กต้องทำให้เขามีความเข้มแข็ง มีคุณภาพ ซึ่งคุณภาพส่วนใหญ่มักไปดูกันที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ในความเป็นจริงต้องดูที่คุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้วยว่าเด็กเป็นคนดี คนเก่งหรือไม่ (กุลชลี จงเจริญ, 2561) ซึ่งหนทางหนึ่งในการนำไปสู่ความสำเร็จคือการสร้างกรอบความคิดเติบโตให้เด็ก กรอบความคิดเติบโตมีความสำคัญต่อบุคคลทั้งในด้านการศึกษาและการเรียนรู้ การปรับตัว สุขภาพจิต หากเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดจำกัดให้เป็นกรอบความคิดเติบโตได้ก็จะเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ได้ (ชนิตา รุ่งเรืองและเสรี ชัดแช้ม,2559 หน้า 9)

 

การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาประชาชนและพัฒนาประเทศที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ไม่เหมือนกับการเพาะปลูกต้นไม้ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีก็สามารถเก็บผลผลิตได้ การศึกษาสำหรับเด็กต้องใช้เวลาเพาะบ่มยาวนานกว่าจะเห็นผล ซึ่งควรมีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ พัฒนาให้เป็นเด็กที่ดี มีคุณธรรม สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข (จามจุรี จำเมือง,2546-2547 หน้า 39-40)

เมื่อเด็กๆไปโรงเรียน เป็นนักเรียน ต่างคนต่างก็นำเอาลักษณะเฉพาะตัว นำอัตลักษณ์ติดตัวไปด้วย จากครอบครัว  สุขภาพร่างกาย ขนบธรรมเนียมประเพณีที่แวดล้อม โรงเรียนจึงต้องขัดเกลานักเรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม หน้าที่ของโรงเรียนที่ต้องทำ ได้แก่

1.ทำให้นักเรียนเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน (Foster a Sense of Belonging) เมื่อรับนักเรียนมาจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง โรงเรียนต้องมีการปรับตัวนักเรียนให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน หากนักเรียนทำได้รวดเร็วก็จะทำให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว และมีสุขภาพจิตที่ดี

2.ทำให้นักเรียนปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง (Help Children Adapt to Change) สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป การเข้าสังคมกับกลุ่มเด็กในห้องที่ไม่คุ้นเคยกันมาก่อน อาจทำให้เกิดความเครียดกับนักเรียนซึ่งครูและผู้บริหารมีส่วนสำคัญที่จะสร้างกิจกรรมให้เด็กมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

3.ทำให้เกิดทัศนคติทางบวก (Accentuate the Positive) การกล่าวชมเชย สร้างความเป็นกันเอง ให้รางวัล ลดการตำหนิ หากนักเรียนทำผิดก็ให้คำแนะนำในการปรับปรุงตัวเองด้วยท่าทีที่เป็นมิตร จะช่วยสร้างทัศนคติทางบวกให้กับนักเรียน

4.ทำให้มีการปรับอารมณ์ได้ดี (Strengthen Children’s Resiliency) การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างครูกับนักเรียนและนักเรียนกับนักเรียน  จะทำให้นักเรียนมีอารมณ์ดี หากมีเรื่องโกรธแค้น ไม่เข้าใจกัน ก็มีการสร้างความเข้าใจกัน มีข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันให้ทุกคนถือปฏิบัติ เป็นวินัยของโรงเรียน จะทำให้นักเรียนมีการปรับอารมณ์ได้ดี เพราะเกิดการยอมรับข้อตกลงของโรงเรียน (จามจุรี จำเมือง,2546-2547 หน้า 40-42 อ้างจาก Whelley & Bryson, 2002)

การพัฒนาศักยภาพของนักเรียน อีกวิธีหนึ่งคือการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียน ครูมีบทบาทในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน หาวิธีการ แนวคิด หลักการ ทฤษฎีทางจิตวิทยามาประยุกต์ในการจัดการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงความถนัดและความสนใจของผู้เรียน (กมล โพธิเย็น,2558-2559 หน้า 121) ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความฉลาด แม้นบริบทของสังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงไป (กุลชลี จงเจริญ, 2561) และการจะทำให้เกิดผลต้องมีความมุ่งมั่น อดทน รู้จักการรอคอย การรอที่บางครั้งดูเหมือนแสนนานนั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมรับกับสิ่งที่จะเดินทางมาถึงก็ได้ (ปะการัง,2560 หน้า 89)

ทิศทางของนโยบายการศึกษาที่จะพัฒนาเด็ก จะสำเร็จได้ต้องมีการปฏิบัติที่ชัดเจน ทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ (กุลชลี จงเจริญ, 2561) ครูต้องสอนให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของเพื่อนมนุษย์และการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม เคารพซึ่งกันและกัน  ครูต้องเตรียมผู้เรียนให้เห็นคุณค่าของเพื่อนมนุษย์ (วาสนา วิสฤตาภา,2560 หน้า 385) สอนให้มองโลกกว้าง ไม่ใช่มองโลกแค่ที่เห็นในชุมชนรอบตัว มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่าเด็กในแหล่งชุมชนแออัดนั้น เด็กชายหลายคนฝันว่าจะทำงานขับรถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ส่วนเด็กหญิงไม่น้อยฝันที่จะทำงานสบาย ได้เงินใช้แบบง่ายๆ (อัศวิน ขวัญเมือง,2561)

ข้อค้นพบจากงานวิจัย ชี้ให้เห็นว่า สาเหตุที่เด็กและเยาวชนจะต้านทานสิ่งยั่วเย้าได้หรือไม่นั้นมาจากองค์ประกอบ 2 ประการคือ ยีนในตัวเองประการหนึ่ง  ส่วนอีกประการหนึ่งคือการเลี้ยงดูและการให้การศึกษาเรียนรู้ ซึ่งผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าการเลี้ยงดูมีผลต่อเด็กมากกว่ายีนในตัวเด็กเอง (อุทัย ดุลยเกษม,2559 หน้า 129)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพของคนในทุกช่วงวัย ให้สนับสนุนการเจริญเติบโตของประเทศไว้ตามช่วงวัย โดยช่วงวัยเด็กให้มีการพัฒนาการที่สมวัยในทุกด้าน วัยเรียน วันรุ่นให้มีทักษะการเรียนรู้ ทักษะชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นภายใต้บริบทสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรม (พัชราภา ตันติชูเวช,2560 หน้า 305)

หากเด็กมีปัญหาด้านการเรียนรู้และการสร้างแรงจูงใจ เราอาจสร้างความสามารถในการเรียนรู้ที่มีความเกี่ยวพันกับแรงจูงใจของผู้เรียนและกรอบความคิดเติบโตให้มีความสัมพันธ์กับการเรียนรู้และแรงจูงใจของผู้เรียน (ชนิตา รุ่งเรืองและเสรี ชัดแช้ม,2559 หน้า 7)

สำหรับการพัฒนาผู้เรียนให้เติบโตเต็มศักยภาพมีจุดเน้น 3 ประการ

1.ต้องการให้ผู้เรียนเติบโตทั้งด้านร่างกาย จิตใจควบคู่กับการมีคุณธรรม จริยธรรมของผู้เรียนอย่างเหมาะสมกับช่วงวัย

2.การเติบโตด้านความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่อการเรียนและการประกอบอาชีพในอนาคตไม่เป็นภาระต่อตนเอง ครอบครัว สังคม

3.การเติบโตด้านทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การมีจิตสำนึกสาธารณะ การเป็นพลเมืองที่สามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นได้อย่างมีความสุขในสังคมที่มีความหลากหลาย (พัชราภา ตันติชูเวช,2560 หน้า 306)

ปัญหาการพัฒนาเด็กในศตวรรษที่ 21 จึงเป็นภาระทั้งของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และสถาบันจัดการศึกษาที่จะต้องดูแล เอาใจใส่ หาทางขจัดปัญหาอันจะทำให้เด็กขาดการเรียนรู้ที่ดี ด้วยการส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาตนเองตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน

การส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยกิจกรรมการเล่น

กิจกรรมการเล่นหมายถึงการกระทำที่ทำให้มีความสุข สนุกสนานโดยไม่คำนึงถึงผลที่จะได้รับ การเล่นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตเด็กโดยเฉพาะวัยเยาว์ เพราะเป็นการเตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา สังคม อารมณ์

การเล่นส่งผลดีต่อเด็กดังนี้

1.ช่วยระบายพลังงานที่เหลือตามธรรมชาติ เด็กเกิดความสนุกสนานขณะที่มีการเล่น

2.เป็นการชดเชยสิ่งที่ขาด ด้วยการแสดงออกทางการเล่น ขณะเล่นเด็กจะเกิดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงที่เป็นรูปธรรม มีการพัฒนาทักษะต่างๆไปพร้อมกัน การเล่นของเด็กจะนำไปสู่ความรับผิดชอบ การเข้าสังคมในวันข้างหน้า

3.เป็นการฝึกการแสดงออกอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์และการเข้ากลุ่มเพื่อน มีการแสดงออกทางร่างกายที่ชัดเจน ฝึกมารยาทในการอยู่ร่วมกันในสังคม มีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม การเล่นมีอิทธิพลต่อเด็กในทุกด้าน (สุนทรี รักความสุข,2561)

กิจกรรมการเล่นที่เหมาะกับการพัฒนาการของเด็ก ได้แก่ การเล่นโดยใช้ศิลปะ และการเล่นโดยใช้ดนตรี

              1.การเล่นโดยใช้ศิลปะจะช่วยให้เด็กพัฒนาการใช้สมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาอย่างสมดุล ช่วยปรับอารมณ์ให้สงบ มีสมาธิ รวมทั้งส่งเสริมพัฒนาการด้านอื่นๆ กิจกรรมศิลปะที่เหมาะกับเด็ก เช่น วาดเส้น วาดภาพต่อเติม ระบายสี ปั้น ประดิษฐ์ตกแต่ง ตัด ฉีก ปะ กระดาษฯ การเล่นโดยใช้ศิลปะช่วยให้เด็กได้คิดอย่างอิสระ ฝึกจินตนาการ ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

              2.การเล่นโดยใช้ดนตรี  ทำให้เกิดความสนุกสนาน มีพัฒนาการด้านร่างกาย ภาษา สังคมและอารมณ์ดี ฝึกการเป็นคนช่างสังเกต ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เด็กมีจิตใจอ่อนโยน ฝึกการแสดงและการควบคุมกล้ามเนื้อ การเล่นดนตรีต้องคำนึงถึงความพร้อมทางร่างกาย สติปัญญาและสังคมของเด็กด้วย (สุนทรี รักความสุข,2561) การมีทักษะทางดนตรีถือว่าเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชนให้มีพัฒนาการที่ดีทั้งทางด้านบุคลิกภาพ อารมณ์ สติปัญญา และเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ (เกศรา มัญชุศรี,2560 หน้า 72)

การส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยกิจกรรมการเล่น เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างองค์ความรู้เพื่อสร้างความสุขให้ผู้เรียนอันประกอบด้วย ความสนใจใฝ่เรียนรู้ ความพึงพอใจในการเรียนและการเห็นคุณค่าในตัวเอง (กมล โพธิเย็น,2558-2559 หน้า 121) กรณีที่การเล่นหรือการเรียนเกิดความขัดแย้งกัน ครูสามารถช่วยเหลือผู้เรียนได้ดังนี้

1.ซักถามถึงต้นเหตุของปัญหา

2.ชี้แจงให้ผู้เรียนเข้าใจสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น

3.ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยให้ผู้เรียนหาวิธีแก้ไขความขัดแย้ง

4.ให้คู่กรณีที่เป็นคู่ขัดแย้งอธิบายวิธีแก้ปัญหา ผลัดกันวิจารณ์ความคิดเห็น

5.ระดมพลังสมองเพื่อหาทางออกของปัญหาในหลายๆวิธี

6.เลือกทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดอันเป็นที่ยอมรับโดยทำข้อตกลงร่วมกัน (จามจุรี จำเมือง,2546-2547 หน้า44 อ้างจาก Quinlan,2004)

 

บทบาทของพ่อแม่ ผู้ปกครองในศตวรรษที่ 21

เด็กในศตวรรษที่ 21  ต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง มีความมั่นใจ ความเชื่อมั่นและศรัทธาในตนเอง

(วาสนา วิสฤตตาภา,2560 หน้า 384) ด้วยเหตุนี้การจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กจึงต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับผู้เรียนแต่ละคน เพื่อวางรากฐานชีวิตให้เจริญงอกงามอย่างสมบูรณ์ มีพัฒนาการสมวัยอย่างสมดุลทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา การจัดการเรียนรู้ส่งเสริมให้ผู้เรียนค้นพบและแสดงออกถึงศักยภาพของตนเอง เพราะการดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่ต้องใช้ศักยภาพที่แตกต่างกันของคนให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการประกอบอาชีพและช่วยเหลือสังคม ดังนั้นการจัดการศึกษาจึงเน้นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองตามความสามารถที่แตกต่างกันระหว่างตนเองกับผู้อื่น ทำให้เกิดการร่วมมือกัน อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งแก่สังคมและประเทศ (ศิริวรรณ วณิชวัฒนวรชัย,2558-2559 หน้า 65) กรณีที่เป็นเด็กประเภทหลังห้อง ไม่ใส่ใจในการเรียนก็ต้องให้โอกาส สร้างแรงบันดาลใจให้เขาเห็นตัวอย่างที่ดีในโลกกว้าง หากเราให้โอกาสเขา เขาก็อาจกลับมาตั้งใจเรียนมากขึ้น(อัศวิน ขวัญเมือง,2561)

นายแพทย์อัศวิน นาคพงศ์พันธุ์ (2560 หน้า 59-60) เสนอแนวคิดว่าเด็กที่มีปัญหาต้องมีการพูดคุยกับพ่อแม่จะได้เข้าใจตรงกันและหาทางปรับปรุงแก้ไข เพราะเด็กแต่ละวัยจะมีปัญหาต่างกัน ถ้าเป็นเด็กเล็กส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องพฤติกรรมดื้อ เอาแต่ใจ ขี้โมโห ส่วนเด็กวัยประถมศึกษาจะเป็นปัญหาเรื่องการเรียน เช่นไม่ตั้งใจเรียน ไม่ส่งการบ้าน พอเป็นวัยรุ่นปัญหาจะต่างออกไป เช่นไม่คุยกับพ่อแม่ ชอบเที่ยวกับเพื่อน ไม่ชอบกลับบ้าน ลองยาเสพติด มีเรื่องชกต่อยฯ ซึ่งเด็กควรดูแลและให้ความสำคัญทุกช่วงวัย เพียงแต่วิธีการดูแลอาจจะต่างกัน

พระอาจารย์อำนวย จิต.ตสํวโร เจ้าอาวาสวัดป่ามณีกาญจน์ จ.นนทบุรี ท่านเทศน์สอนครอบครัวที่มีปัญหาว่าต้องสร้างความเข้าใจกัน ครอบครัวที่มีความสุขต้องรู้จักยอมซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ต่างฝ่ายจะเอาแต่ใจตัวเอง การไม่ยอมมีแต่จะทำให้ทะเลาะกัน ไม่มีอะไรดีขึ้น (อุราณี ทับทอง,2560 หน้า 19)

การเห็นพ่อแม่ คนในครอบครัวทำดี ประพฤติชอบ เป็นตัวอย่างที่ดีกว่าคำสอน การพูดให้เด็กทำดีสู้การทำดีให้เด็กดูไม่ได้ เด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมของคนในครอบครัวและสังคมรอบตัว จึงควรจัดสภาพแวดล้อมของเด็กให้อยู่ในสถานที่อันเหมาะแก่การปลูกฝังสิ่งดีงามในชีวิตให้เด็ก หากพ่อแม่ คนในครอบครัวเป็นผู้มีเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำบุญทำทาน ซื่อสัตย์สุจริต เป็นตัวอย่างที่ดี เด็กๆก็จะเลียนแบบนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและแน่นอนว่าเมื่อโตขึ้น พวกเขาจะซึมซับรับเอาการกระทำดีไปปฏิบัติต่อ หากเด็กๆไม่ใส่ใจในการทำดี เราก็ต้องส่งเสริมให้เขาได้มีโอกาสทำดี เหมือนต้นไม้ถ้าเรารดน้ำ พรวนดินสม่ำเสมอก็จะออกดอก ออกผล แต่ถ้าเราไม่ใส่ใจ เพียงไม่นานก็จะเหี่ยวเฉา จะมาเร่งให้งอกงามทีหลังก็ทำได้ยาก (วริษฐา เสือแผ้ว,2560หน้า 23)

บทบาทของพ่อแม่ ผู้ปกครองในศตวรรษที่ 21 ต้องมุ่งพัฒนาเด็กให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอันเป็นปัจจัยมาจากเทคโนโลยี เด็กควรได้รับการพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้ 4 ประการอันได้แก่ (เอกพจน์ สืบญาติ,2561)

1.สมรรถนะในการสื่อสาร (Communication)

2.สมรรถนะในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Collaboration)

3.สมรรถนะในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking)

4.สมรรถนะในการสร้างสรรค์และผลิตนวัตกรรม (Creativity and Innovation)

พ่อแม่ ผู้ปกครองมีบทบาทอย่างมากต่อเด็กในศตวรรษที่ 21 โลกสมัยเก่าเปลี่ยนแปลงไปจนเกือบหมดสิ้น ทางรอดอย่างเดียวที่พ่อแม่ ผู้ปกครองจะช่วยเหลือเด็กได้ในภายภาคหน้าคือช่วยสร้างโอกาสให้เด็กๆได้มีชีวิตอย่างปลอดภัย สามารถดำรงชีพได้อย่างมั่นคงในวันข้างหน้า

 

การศึกษาสำหรับเด็กไทยในศตวรรษที่ 21

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 กำหนดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ มีการพัฒนาที่สำคัญคือการพัฒนาทุกด้านแบบองค์รวมให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีพื้นฐานทางจริยศาสตร์ เป็นคนดีทั้งทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลก ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความรู้และทักษะพื้นฐานรวมถึงมีเจตคติที่ดีต่อการศึกษา (พัชราภา ตันติชูเวช,2560 หน้า 304) นอกจากนี้ผู้เรียนยุคใหม่ยังควรมีคุณสมบัติอีกอย่างน้อย 7 ประการ ได้แก่ สามารถสร้างผลงานได้ มีความคิดสร้างสรรค์ ร่วมมือกับคนทั่วไป รู้จักและเข้าใจผู้อื่น รับผิดชอบ มีสำนึกทางสังคมและมีจริยธรรม (วาสนา วิสฤตาภา,2560 หน้า 383) อันจะทำให้เด็กได้ประสบความสำเร็จของชีวิตในวันข้างหน้า ซึ่งความสำเร็จนี้ส่วนใหญ่มาจากการเรียนรู้ ฝึกฝน ปฏิบัติและฝ่าฟันอุปสรรค ส่วนโชคชะตาอาจมีส่วนช่วยบ้าง น้อยคนที่มีเป้าหมายแล้วตลอดเส้นทางไปจนถึงปลายทางโรยด้วยกลีบกุหลาบ ส่วนใหญ่ต้องฝ่าฟันทั้งนั้น (รัชกร  วงษ์ยอด,2560 หน้า 37)

ดังนั้นการจัดการศึกษาจึงต้องมีการศึกษาความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน อันเป็นการศึกษาข้อมูลต่างๆเพื่อช่วยให้ผู้สอนทราบว่าผู้เรียนมีความพร้อมในการเรียนมากน้อยเพียงไรและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการออกแบบการเรียนรู้หรือใช้สื่อที่เหมาะสมกับวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน (ศิริวรรณ วณิชวัฒนวรชัย,2558-2559 หน้า 66)

มีงานวิจัยของพัทธนันท์ วงษ์วิชยุตม์ (2558 หน้า 75-76) เรื่องแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานของโรงเรียนอนุบาลราชภัฏกำแพงเพชรและศูนย์เด็กปฐมวัย ผลการวิจัยพบว่าสภาพการดำเนินงานของโรงเรียนอนุบาลราชภัฏกำแพงเพชรและศูนย์เด็กปฐมวัยตามความคิดเห็นของผู้ปกครองโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดได้แก่ด้านการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากชุมชน ด้านอาคารสถานที่ สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ด้านวิชาการและกิจกรรมตามหลักสูตร ด้านบุคลากรและการบริหารจัดการตามลำดับ ส่วนความคิดเห็นของผู้บริหารและบุคลากรโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดได้แก่ด้านการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากชุมชน ด้านบุคลากรและการบริหารจัดการ ด้านอาคารสถานที่ สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ด้านวิชาการและกิจกรรมตามหลักสูตร สำหรับผลการสัมภาษณ์ด้านบุคลากรและการบริหารจัดการพบว่าครูมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย โดยครูส่วนใหญ่จัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้เหมาะสมและสอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กทุกด้าน มีบุคลิกภาพที่เหมาะสม มีความรักและเอาใจใส่ต่อผู้เรียน

ทั้งนี้การที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เติบโตตามศักยภาพ จำเป็นต้องอาศัยผู้มีส่วนร่วมหลายภาคส่วน ประกอบด้วย

1.สถาบันครอบครัว เป็นสถาบันแรกที่มีอิทธิพลอย่างมากในการพัฒนาผู้เรียนให้เติบโตได้เต็มตามศักยภาพ ครอบครัวมีอิทธิพลกับผู้เรียนตั้งแต่การกำหนดคุณลักษณะทางพันธุกรรม เชาวน์ปัญญาและบุคลิกภาพ

2.สถาบันการศึกษา มีความใกล้ชิดกับผู้เรียนรองลงมา บทบาทหน้าที่คือการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เต็มตามศักยภาพ พัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะประสงค์ตามหลักสูตร

3.สังคม เป็นสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบๆผู้เรียน สังคมมีส่วนทำให้ผู้เรียนได้รับรู้ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การติดต่อสื่อสาร ได้เห็นแบบอย่างวิถีการใช้ชีวิต เป็นแบบอย่างให้ผู้เรียนได้รับรู้ เลียนแบบ ทำให้เกิดกระแสค่านิยมตามที่สังคมกำหนด สังคมจึงต้องตอบสนองทางสร้างสรรค์ให้กับผู้เรียน (พัชราภา ตันติชูเวช, 2560 หน้า 310)

การจัดการศึกษาควรสร้างความสุขให้ผู้เรียนอันประกอบด้วย ความสนใจใฝ่เรียนรู้ ความพึงพอใจในการเรียนและการเห็นคุณค่าในตัวเอง (กมล โพธิเย็น,2558-2559 หน้า 121)

สำหรับการเรียนของเด็กนั้น ปัจจัยที่ทำให้ผู้เรียนไม่มีความสุขในการเรียนรู้เกิดจาก

1.ปัจจัยจากตัวผู้เรียน ผู้เรียนมองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียนว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากการเรียน จากสิ่งที่ครูหรือหลักสูตรกำหนด ผู้เรียนไม่ชอบ ไม่พอใจสิ่งที่เรียน ไม่ตรงตามความถนัด ความสนใจที่จะเรียน สิ่งที่เรียนอาจยากหรือซับซ้อนเกินไป ผู้เรียนไม่เห็นหนทางในการเรียนรู้ที่สำคัญคือขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ ไม่มีจุดมุ่งหมายในการเรียน

2.ปัจจัยจากครู ครูไม่มียุทธวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจเนื้อหาสาระจนเกิดความคิดรวบยอด สิ่งที่เรียนไม่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน หรือทำให้ผู้เรียนเกิดความชัดเจนในการเรียน ขณะเดียวกันครูยังขาดความสามารถในการจูงใจ กระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจและมีส่วนร่วมในการเรียน(กมล โพธิเย็น,2558-2559 หน้า 123)

การจัดการศึกษาไม่ใช่การเติมน้ำใส่ลงไปในถังให้มีปริมาณมากขึ้นแต่เป็นการจุดไฟ ไฟแห่งความรู้ความอยากเห็น จุดประกายไฟในแววตาของเด็กให้ลุกโชติช่วงที่จะกระหายใคร่รู้ (กุลชลี จงเจริญ,2561) หากมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเด็กอย่างไม่สนใจกับความเหน็ดเหนื่อย ปัญหาและอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของเด็ก วันหนึ่งเมื่อเราหันกลับไปดูข้างหลัง จะเกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำมา เพราะอนาคตของคนในชาติอยู่ในมือของคนยุคปัจจุบัน หากเราช่วยกันคนละเล็กคนละน้อย สังคมก็จะดีขึ้น (อัศวิน ขวัญเมือง,2561) การจัดการศึกษาให้กับเด็กในโรงเรียนก็เพื่ออบรมสั่งสอนให้เด็กเป็นคนดีมีศีลธรรมและเพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถดำรงชีวิตอย่างสงบสุขในสังคม จุดมุ่งหมายของการศึกษาคือการสร้างสันติสุขอันถาวรให้เกิดขึ้นบนโลกนี้ (จามจุรี จำเมือง,2546-2547 หน้า 46)

การศึกษาสำหรับเด็กในศตวรรษที่ 21 สามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย เด็กสามารถเรียนรู้ได้จากนวัตกรรมใหม่ๆที่ผลิตและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง การศึกษาไม่ได้หมายถึงการเรียนที่โรงเรียนอย่างที่เคยเป็นมา หน้าที่ของผู้ใหญ่ในวันนี้คือจะส่งเสริมอย่างไรให้เด็กได้มีการศึกษาที่ดีพอสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคม

บทสรุป

เราทุกคนล้วนเกิดมาด้วยความต้องการที่จะมีชีวิตที่ยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบ ทุกชีวิตเปลี่ยนแปลงได้ พัฒนาได้ อย่าหยุดอยู่กับความเคยชินที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต จงเรียนรู้และเคยชินกับการเดินไปบนเส้นทางที่จะนำไปสู่ชีวิตที่ยอดเยี่ยมนั้น (งามจิต มุทะธากุล,2561 หน้า 29) ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวย และต้องมีการสร้างความเข้าใจให้ตรงกันว่า คนจนไม่ได้หมายความว่าเป็นคนไม่ดี แต่คนไม่ดีหมายความว่าเขาจะเป็นคนจน ไม่ว่าจะจนใจหรือจนทรัพย์สิน คนจนที่ตั้งใจทำดี แม้นฐานะความเป็นอยู่จะขัดสนแต่ก็สามารถที่จะพัฒนาตนเองให้มีฐานะดีขึ้นได้ ส่วนคนที่ฐานะดีหากประพฤติตัวไม่เหมาะสม ฟุ่มเฟือย เล่นการพนัน ติดอบายมุขก็มีโอกาสหมดตัว กลายเป็นคนยากจนได้เช่นกัน

วิถีชีวิตคนนั้น โชคชะตากำหนดมาส่วนหนึ่ง เราเลือกเกิดไม่ได้ เลือกพ่อแม่ เลือกครอบครัวไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะทำดีหรือทำชั่วได้ รู้จักการอดทน รอคอย หากรู้ว่าโลกเต็มไปด้วยการรอคอย ชีวิตถูกออกแบบมาอย่างนั้น เราก็จะเข้าใจได้ว่าการรอคอยสิ่งหนึ่งสิ่งใด มิใช่เป็นความทุกข์ทรมาน หากคือความหอมหวานของกาลเวลา (ปะการัง,2560 หน้า 89)

สายน้ำไหลไปมิหวนกลับ วันเวลาล่วงไปมิหวนคืน ทางผ่านของกาลเวลาเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของแต่ละบุคคล จากวัยเด็ก สู่วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ก่อนจะเข้าสู่วัยชรา ล้วนเต็มไปด้วยริ้วรอยกรรมที่สั่งสมกันมา สมดังพุทธภาษิตว่า  กม.มุนา วต.ตติ โลโก  สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรม ใครทำกรรมใดไว้ก็ย่อมได้รับผลเช่นนั้น บุคคลใดทำดีย่อมได้ดี บุคคลใดทำชั่วย่อมได้ชั่ว หากเราช่วยกันสร้างโอกาสให้เด็กในวันนี้ ย่อมเชื่อได้ว่าเขาจะเติบโตขึ้นได้อย่างสมบูรณ์

เด็กๆเปรียบเสมือนดอกไม้ รอเพียงสักวันหนึ่ง ที่พวกเขาจะบานเต็มท้องทุ่งของโลกนี้

 

บรรณานุกรม

กมล  โพธิเย็น.(2558-2559,พ.ย.-มี.ค.).การจัดการเรียนรู้เพื่อนำความสุขสู่ผู้เรียน.วารสารศึกษาศาตร์

          มหาวิทยาลัยศิลปากร.13(2),121-131.

กองบรรณาธิการ วารสารวิชาการ.(2559,ต.ค.-ธ.ค.).ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ประเทศ

มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน.วารสารวิชาการ. 19(4),9-23.

กุลชลี จงเจริญ.(2561).ทิศทางการพัฒนาการจัดการศึกษาของกรุงเทพมหานคร.คำบรรยายในการประชุม

         ขับเคลื่อนนโยบายและการบูรณาการด้านการศึกษากรุงเทพมหานคร วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม 2561

ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ.

เกศรา มัญชุศรี.(2560,กุมภาพันธ์).4 สุดยอดเยาวชนคว้ารางวัลชนะเลิศ SET เยาวชนดนตรีฯ ครั้งที่ 19 . 

         ซีเคร็ต.9(207),72.

งามจิต มุทะธากุล.(2560,ก.พ.).ความเคยชิน.ซีเคร็ต.10(230),28-29.

จามจุรี จำเมือง.(2546-2547,พ.ย.-มี.ค.).สุขภาพจิตนักเรียน.วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

15(2),39-47.

ชนิตา รุ่งเรืองและเสรี ชัดแช้ม.(2559,ม.ค.-มิ.ย.).กรอบความคิดเติบโต:แนวทางใหม่แห่งการพัฒนาศักยภาพ

มนุษย์.วิทยาการวิจัยและวิทยาการปัญญา.14(1),1-13.

ปะการัง(นามแฝง).(2560,ปักษ์หลัง มี.ค.).โลกแห่งการรอคอยที่ไม่ทรมาน,ล้อมโลกด้วยรัก.ขวัญเรือน.

49(1088),87-89.

พัชราภา  ตันติชูเวช.(2560).การพัฒนาผู้เรียนให้เติบโตเต็มตามศักยภาพ.ใน ไพฑูรย์ สินลารัตน์และนักรบ

หมี้แสน(บรรณาธิการ),ความเป็นผู้นำทางการศึกษา.(หน้า 303-312).กรุงเทพฯ: วิทยาลัย

ครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

พัทธนันท์ วงษ์วิชยุตม์.(2558,ก.ย.-ธ.ค.).แนวทางการพัฒนาการดำเนินงานของโรงเรียนอนุบาลราชภัฏ

กำแพงเพชรและศูนย์เด็กปฐมวัย.สักทอง วารสารมนุยศาสตร์และสังคมศาสตร์ .21(3),69-85.

รัชกร  วงษ์ยอด.(2560,ธ.ค.).ไม่มีอะไรได้มาโดยง่าย.ซีเคร็ต.10(228),37.

วริษฐา  เสือแผ้ว.(2560,ส.ค.).ส่งลูกไปเป็นเด็กวัด ให้ธรรมสอนชีวิต.ซีเคร็ต.10(220),19-23.

วาสนา วิสฤตาภา.(2560). บทบาทครูในการเตรียมผู้เรียน.ใน ไพฑูรย์ สินลารัตน์และนักรบ หมี้แสน

(บรรณาธิการ),ความเป็นผู้นำทางการศึกษา.(หน้า 378-388).กรุงเทพฯ: วิทยาลัยครุศาสตร์

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

ศิริวรรณ  วณิชวัฒนวัฒนวรชัย. (2558-2559,พ.ย.-มี.ค.).การจัดการเรียนรู้ที่เน้นความแตกต่างระหว่าง

บุคคล. วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.13(2),65-74.

ศุนิสา ทดลา (2560). เป็นครูและผู้นำอย่าลำเอียง.ใน ไพฑูรย์ สินลารัตน์และนักรบ หมี้แสน

(บรรณาธิการ),ความเป็นผู้นำทางการศึกษา.(หน้า 370-377).กรุงเทพฯ: วิทยาลัยครุศาสตร์

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

สุนทรี  รักความสุข.(2561).การส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยกิจกรรมการเล่น.วันที่สืบค้นข้อมูล 5 พฤษภาคม

  1. เข้าถึงได้จาก http://164.115.41.60

อัศวิน  ขวัญเมือง.(2561).นโยบายการศึกษากรุงเทพมหานคร.คำบรรยายในการประชุมขับเคลื่อนนโยบาย

             และการบูรณาการด้านการศึกษากรุงเทพมหานคร วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม 2561 ณ โรงแรม

เอเชีย กรุงเทพฯ.

อุราณี ทับทอง.(2560,ส.ค.).ส่งลูกไปเป็นเด็กวัด ให้ธรรมสอนชีวิต.ซีเคร็ต.10(220),19-23.

อัศวิน  นาคพงศ์พันธุ์.(2560,ปักษ์หลัง มิ.ย.).เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ.ขวัญเรือน.49(1094),129-130.

อุทัย  ดุลยเกษม.(2559,ม.ค.-มิ.ย.). ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูและการให้การศึกษาเรียนรู้แก่เด็กเล็ก.

             วารสารเทคโนโลยีภาคใต้.9(1),129-130.

เอกพจน์ สืบญาติ.(2561). บทบาทของพ่อแม่และผู้ปกครองในการพัฒนาเด็กในศตวรรษที่ 21.วันที่สืบค้น

ข้อมูล 5 พฤษภาคม 2561. เข้าถึงได้จาก http://164.115.41.60

การจัดทำระบบการควบคุมภายในสินค้าส้มโอขาวใหญ่ สมุทรสงครามและลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม

 

ชื่อผลงานทางวิชาการ : การจัดทำระบบการควบคุมภายในสินค้าส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงครามและลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม

ประเภทผลงานทางวิชาการ : งานวิชาการเพื่อสังคม 

ปีที่พิมพ์ : 2556

ข้อมูลเพิ่มเติม : ผลงานชิ้นนี้ ปรากฏอยู่ภายใต้โครงการควบคุมตรวจสอบสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดำเนินกิจกรรมในการจัดทำระบบการควบคุมภายในสินค้า ส้มขาวใหญ่และลิ้นจี่ค่อม สมุทรสงคราม โดยได้งบประมาณจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ : อาจารย์อาภา วรรณฉวี  สาขาวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์ คณะวิทยาการจัดการ และผู้ช่วยศาสตราจารย์บูรณจิตร แก้วศรีมล สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

การจัดทำระบบการควบคุมภายในสินค้าส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงคราม   และลิ้นจีค่อม สมุทรสงคราม ผู้ศึกษา คือ อาจารย์อาภา วรรณฉวี  สาขาวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์ คณะวิทยาการจัดการ และผู้ช่วยศาสตราจารย์บูรณจิตร แก้วศรีมล สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นโครงการภายใต้โครงการควบคุมตรวจสอบสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์  โดยมีวัตถุประสงค์ คือ  ๑. เพื่อให้กลุ่มวิสาหกิจผลิตภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ส้มโอขาวใหญ่และลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงครามที่ขึ้นทะเบียนแล้ว มีระบบการควบคุมตรวจสอบคุณภาพกระบวนการผลิตและแหล่งที่มาของสินค้า เพื่อให้ผู้ผลิตรักษามาตรฐานตามที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา  ๒. เพื่อพัฒนาผู้ผลิต/ผู้ประกอบการสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ส้มโอขาวใหญ่และลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม ให้สามารถบริหารจัดการในการตรวจสอบควบคุมคุณภาพ กระบวนการผลิต และแหล่งที่มาของสินค้าตามมาตรฐานที่ขึ้นทะเบียนไว้ ทำให้สินค้าจากชุมชนนั้นคงความมีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ และมีความพร้อมในการจดทะเบียนคุ้มครองในต่างประเทศ

 

ความเป็นมา/บทนำ

            สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) คือ ทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง โดยมีชื่อ หรือเครื่องหมายใดๆ ที่ใช้กับแหล่งกำเนิดของสินค้ามีความเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมานานแล้ว มีปัจจัยธรรมชาติที่เป็นสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ของแหล่งผลิตผสมผสานเข้ากับภูมิปัญญาของคนในพื้นที่สั่งสมกันมาทำการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ลักษณะเฉพาะ จนเป็นที่กล่าวขานกันทั่วไป GI เป็นสิทธิชุมชน (Community Rights) อยู่ภายใต้การดูแลของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ชื่อสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่แสดงบนฉลากสินค้าของผู้ผลิตในพื้นที่  เปรียบเสมือนเป็นแบรนด์ชุมชน (Community Brand) ของสินค้าดังกล่าว สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สินค้าเกษตร สินค้าหัตถกรรมและสินค้าอุตสาหกรรม

Geographical Indication (GI) is an intellectual property right that protects name, symbol or any other things used for calling or representing a geographical origin. It ensures that the goods have certain qualities or characteristics that can be attributed to their origin or production methods. GI is a Community Right under the authority of the Department of Intellectual Property. The GI name on the label of goods that produced in the geographical area is equal to a Community Brand. GI goods can be things that exist naturally, agricultural products, handicrafts and industrial products.

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดสมุทรสงคราม ประเทศไทย คือ ชื่อหรือสัญลักษณ์หรือสิ่งอื่นใดที่บอกแหล่งผลิตของสินค้า โดยสามารถสื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ว่าสินค้านั้นมีคุณภาพหรือคุณลักษณะพิเศษแตกต่างจากสินค้าที่ผลิตในแหล่งผลิตอื่น

Samutsongkhram Province Geographical Indication, Thailand, is a name or symbol or other indicators which represents the origin of a good and which conveys to the consumer the special quality or features of that good vis-à-vis goods that are produced elsewhere.

กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยแล้ว ๓๕ สินค้า พ.ศ. ๒๕๕๔ สินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร (Agricultural Based Products) และสินค้าหัตถกรรมที่ผู้ผลิตในชุมชนได้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและลักษณะพิเศษที่เป็นผลมาจากปัจจัยธรรมชาติ      สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ของแหล่งผลิต       ผสมผสานเข้ากับภูมิปัญญาของคนในพื้นที่ที่สั่งสมกันมาจนมีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวขานทั่วไป การใช้ชื่อแหล่งภูมิศาสตร์กับสินค้านี้เปรียบเสมือนเป็นแบรนด์ (Brand) ของชุมชนที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า ดังนั้น การสร้างความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพ กระบวนการผลิต และแหล่งที่มาของสินค้าชุมชนเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

สิ่งบ่งขี้ทางภูมิศาสตร์ที่ขึ้นทะเบียนแล้วเหล่านี้ จะต้องจัดให้มีระบบการควบคุมคุณภาพ กระบวนการผลิต และแหล่งที่มาของสินค้า เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถรักษามาตรฐานตามที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ ควรมีส่วนร่วมในการรักษาชื่อเสียงของสินค้าชุมชนไว้ โดยการร่วมกันจัดระบบควบคุมการตรวจสอบและการบริหารจัดการที่เหมาะสม ทั้งกระบวนการผลิตให้เป็นมาตรฐานที่ยอมรับได้ในระดับสากล ซึ่งจำเป็นต้องมีการขึ้นทะเบียนผู้ผลิต/ผู้ประกอบการค้าที่มีสิทธิใช้สิ่งบ่งขี้ทางภูมิศาสตร์นั้น การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานสำหรับสมาชิกผู้ขอใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มีระบบการควบคุมภายใน (Internal Control) ในระดับผู้ผลิตและระดับพื้นที่ทั้งกระบวนการผลิต ซึ่งรับรองได้ว่าการผลิตสินค้าเป็นไปตามข้อกำหนดที่ขึ้นทะเบียนไว้ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ถึงแหล่งที่มาของสินค้าได้ ตั้งแต่ต้นน้ำคือการเตรียมวัตถุดิบ จนถึงปลายน้ำคือการจัดจำหน่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนในชุมชนในการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นเครื่องมือในการพัฒนาท้องถิ่น และเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีประสบการณ์การดำเนินงานพัฒนาเชิงพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสงคราม โดยการสร้างความร่วมมือที่ดีระหว่างมหาวิทยาลัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และภาคีที่เกี่ยวข้อง  ผ่านโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ จนถึงปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาจึงได้รับมอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาโครงการการจัดทำระบบควบคุมภายในสินค้าส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงครามและลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม ภายใต้โครงการควบคุมตรวจสอบสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ปีงบประมาณ ๒๕๕๕ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดำเนินกิจกรรมในการจัดทำระบบการควบคุมภายในสินค้าส้มโอขาวใหญ่และลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม ภายใต้โครงการควบคุมตรวจสอบสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

สาระสำคัญของโครงการ

          คณะทำงานได้ดำเนินงานตามโครงการจนประสบผลสำเร็จ โดยมีขั้นตอน/กระบวนการ ดังนี้

๑. จัดทำระบบการควบคุม ตรวจสอบภายใน (Internal Control System) สำหรับสมาชิกผู้ขอใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ส้มโอขาวใหญ่และลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม

๒. จัดประชุมหารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อวางแนวทางการควบคุมสินค้าที่เหมาะสมในระดับผู้ผลิตและระดับจังหวัดสำหรับสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ส้มโอขาวใหญ่และลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม เพื่อศึกษาและจัดทำระบบการควบคุมภายใน (Internal Control System) ของแต่ละสินค้า รวมถึงการจัดทำแบบบันทึกต่างๆ ที่จำเป็นในการผลิต การบรรจุ การสอบย้อนกลับ ตลอดจนแผนการควบคุมตรวจสอบ

๓. ให้คำปรึกษาและนำกับกลุ่มผู้ผลิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จนสามารถดำเนินการควบคุมภายในได้

๔. จัดระบบการขึ้นทะเบียนผู้ผลิต/ผู้ประกอบการค้าที่พึงประสงค์จะขอใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ส้มโอขาวใหญ่ และลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม

๕. สรุปผลและจัดทำรายงานการวางระบบการควบคุมภายในสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ส้มโอขาวใหญ่และลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม

๖. จัดทำบัญชีรายชื่อ จำนวนสมาชิกผู้ประสงค์ขอใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ส้มโอขาวใหญ่และลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงครามดังกล่าวที่ได้รับการตรวจสอบและผ่านเกณฑ์ประเมินตามระบบดังกล่าว

 

จุดเด่น/ความน่าสนใจ/การนำไปใช้ประโยชน์

ผลการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว พบว่าคณะทำงานได้จัดทำระบบการควบคุมตรวจสอบภายใน (Internal Control System) สำหรับสมาชิกผู้ขอใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ส้มโอขาวใหญ่และลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม

ผลพิจารณาการตรวจแปลงเกษตรกรที่สมัครขอใช้ตราสัญลักษณ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงคราม โดยแปลงผลไม้ที่มีคุณสมบัติ และการปฏิบัติตามคู่มือฯ พร้อมมีการบันทึกคู่มือประจำแปลง จากการขึ้นทะเบียนทั้งหมด ๕๒ ราย มีคุณสมบัติครบถ้วนในการพิจารณาตรวจสอบรอบแรกจำนวน ๑๔ ราย  และในรอบที่ ๒ จำนวน ๑๔ ราย  ดังนั้นมีเกษตรกรส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงครามที่มีผลการพิจารณาผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานฯ รวมทั้งสิ้นจำนวน ๒๘ ราย

ผลพิจารณาการตรวจแปลงเกษตรกรที่สมัครขอใช้ตราสัญลักษณ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม จากจำนวน ๒๘ ราย คณะทำงานฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจแปลงผลไม้ทั้งหมด โดยในการตรวจสอบเบื้องต้น พบสภาพแปลงผลไม้ที่มีการปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐาน แต่ทั้งนี้ไม่สามารถตรวจผลผลิตลิ้นจี่ได้ อันเนื่องมาจากไม่มีผลผลิตลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงครามในปีนี้ ซึ่งอาจมีผลมาจากสภาพแวดล้อมด้านอากาศ กล่าวคือ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่ไม่แน่นอนในช่วงการติดดอก ทำให้กระทบต่อการติดดอกของลิ้นจี่ จึงทำให้ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ นี้ ไม่มีผลผลิตลิ้นจี่ค่อมออกสู่ตลาด ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต้องเลื่อนการตรวจสอบผลผลิตลิ้นจี่ค่อมออกไปในฤดูกาลผลิตในปีถัดไป

เกษตรกรส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงครามสามารถนำตราสัญลักษณ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงครามไปใช้ โดยเกษตรกรสามารถใช้ตราสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “GI THAI Geographical Indication” ไปติดที่สินค้าส้มโอขาวใหญ่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของตนเอง และกระทรวงพาณิชย์ยังเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าที่ได้ตรา GI ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำของเมืองไทยอีกหลายแห่งอีกด้วย

เกษตรกรสามารถใช้ตราสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “GI THAI”

ไปติดที่สินค้าส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงครามเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

ตัวแทน GI นานาชาติกว่า 100 ประเทศ มาเยี่ยมชมสินค้า GI ของไทย

ที่สวนส้มโอขาวใหญ่ จังหวัดสมุทรสงคราม

ภาพการทำงานในพื้นที่ของคณะทำงานฯ

การประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

 จังหวัดสมุทรสงคราม

        ร่วมกับตัวแทนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา และมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

คณะทำงานระดับพื้นที่ควบคุมตรวจสอบกระบวนการผลิตสินค้า

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จังหวัดสมุทรสงคราม ลงพื้นที่ตรวจแปลงส้มโอขาวใหญ่

       คณะทำงานควบคุมตรวจสอบกระบวนการผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

ร่วมกับตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์ และตัวแทน

จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ลงพื้นที่ตรวจแปลงส้มโอขาวใหญ่

 

AMAZING LOCAL THAILAND “เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต”

ชื่อผลงานทางวิชาการ : AMAZING  LOCAL THAILAND “เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต”

ประเภทผลงานทางวิชาการ : การประกวดแข่งขันพากย์ทัวร์ลีลา

ปีที่พิมพ์ : 2561

ข้อมูลเพิ่มเติม : นิสิตสาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  ได้รับรางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 2 จากการประกวดแข่งขันพากย์ทัวร์ลีลา  ณ   มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2561

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ : อาจารย์ มนชนก จุลสิกขี อาจารย์อภิญญา นุชนารถ และอาจารย์สุพรรณิการ์ ชาคำรุณ สาขาวิชาการท่องเที่ยว  คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

           

สาชาวิชาการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สร้างชื่อเสียง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2   จากการเข้าร่วมประกวดแข่งขันพากย์ทัวร์ลีลา ในหัวข้อ   “Amazing Local Thailand”    เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต   ณ  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน 2561

ในการแข่งขันในครั้งนี้ จัดโดย สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ภาควิชาสังคมสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ตามโครงการแนวทางส่งเสริมศักยภาพและทักษะในด้านการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ ในหัวข้อ SSRU Tourism Competition 2018 โดยได้เชิญชวนนักศึกษาสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อแสดงศักยภาพในการพากย์ทัวร์ลีลา  มีผู้สมัครจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วไประเทศ จำนวน 11 ทีม  รางวัลที่ 1  มูลค่า  3,000 บาท  รางวัลที่ 2 มูลค่า 2,000 บาท รางวัลที่ 3 มูลค่า 1,000 บาท

 

สาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ ได้ส่งนิสิตเข้าประกวดแข่งขันพากย์ทัวร์            ในหัวข้อ “Amazing local Thailand เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต” ณ ลานกิจกรรมอาคาร35 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในวันพฤหัสบดีที่  5 เมษายน พ.ศ. 2561 ทางสาขาวิชาการท่องเที่ยวได้มีการเตรียมพร้อมนักศึกษา จำนวน 1 ทีม เพื่อเข้าร่วมแข่งขัน โดยสมาชิกในทีมเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จำนวน 6 คน ดังนี้

ผู้พากย์  คือ  น.ส.ศศิทร วรรณทอง

นักแสดงประกอบการพากย์ ประกอบด้วย   1.นายวรุจ จันทร์รวม       2.น.ส.นภสร ปิ่นเมือง 3.น.ส.จิราภรณ์ พรมชาติ  4.น.ส.พลอยไพลิน ศิริมานิตย์  5.น.ส.กุลวดี หงันเปี่ยม

โดยได้รับรางวัลจากการแข่งขันคือ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับโล่รางวัล เงินรางวัล และประกาศนียบัตรสำหรับนักศึกษาในทีมทุกคน    ซึ่งก่อนการแข่งขันทางสาขาวิชาฯได้มีการจัดการเรียนการสอนและการฝึกซ้อมโดยใช้แนวคิด       “ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21”     และที่เกี่ยวข้องกับ

ทฤษฎีและเทคนิคที่ใช้ในการสอนนักศึกษาและฝึกซ้อมก่อนการแข่งขัน       อนึ่ง ในการสอนนักศึกษาในศตวรรษที่ 21 นั้น วิจารณ์ พานิช (2555) กล่าวไว้ว่าครูผู้สอนไม่ใช่แค่    มีการเอาใจใส่ศิษย์เท่านั้น ยังต้องมีทักษะในการ “จุดไฟ” ในใจศิษย์ให้รักการเรียนรู้ให้สนุกกับการเรียนรู้หรือให้การเรียนรู้สนุกและกระตุ้นให้อยากเรียนรู้ต่อไปตลอดชีวิต ครูจึงต้องยึดหลัก “สอนน้อย เรียนมาก” คือ        ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของเด็ก ครูต้องตอบได้ว่าศิษย์ได้เรียนอะไร และเพื่อให้ศิษย์ได้เรียนสิ่งเหล่านั้น          ครูต้องทำอะไร ไม่ทำอะไร ในสภาพเช่นนี้ ครูยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น และท้าทายครูทุกคนอย่างที่สุด ที่จะไม่ทำหน้าที่ครูผิดทางคือทำให้ศิษย์เรียนไม่สนุก หรือเรียนแบบขาดทักษะสำคัญ การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ต้อง   “ก้าวข้ามสาระวิชา” ไปสู่การเรียนรู้ “ทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21” ( 21st Century Skills)    ที่ครูสอนไม่ได้ นักเรียนต้องเรียนเอง ความหมายคือครูต้องไม่สอน แต่ต้องออกแบบการเรียนรู้ และอำนวยความสะดวก (facilitate) ในการเรียนรู้ ให้นักเรียนเรียนรู้จากการเรียนแบบลงมือทำ แล้วการเรียนรู้ก็จะเกิดจากภายในใจและสมองของตนเอง การเรียนรู้แบบนี้เรียกว่า PBL (Project-Based Learning)

Trilling and Fadel (2009, อ้างถึงใน วิจารณ์ พานิช, 2555) ได้ระบุหลักการหรือปัจจัยสำคัญด้านการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ไว้ 5 ประการคือ

  1. Authentic learning

การเรียนรู้ที่แท้จริงอยู่ในโลกจริงหรือชีวิตจริง การเรียนวิชาในห้องเรียนยังไม่ใช่การเรียนรู้ที่แท้จริง         ยังเป็นการเรียนแบบสมมติ ดังนั้นครูจึงต้องออกแบบการเรียนรู้ให้ศิษย์ได้เรียนในสภาพที่ใกล้เคียงชีวิตจริงที่สุดกล่าวในเชิงทฤษฎีได้ว่า การเรียนรู้ขึ้นอยู่กับบริบทหรือสภาพแวดล้อมในขณะเรียนรู้ ห้องเรียนไม่ใช่บริบทที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึกเพราะห้องเรียนไม่เหมือนสภาพในชีวิตจริง การสมมติโจทย์ที่คล้ายจะเกิดในชีวิตจริงก็ได้ความสมจริงเพียงบางส่วนแต่หากไปเรียนในสภาพจริงก็จะได้การเรียนรู้ในมิติที่ลึกและกว้างขวางกว่าสภาพสมมติการออกแบบการเรียนรู้ให้ศิษย์เกิด “การเรียนรู้ที่แท้” (authentic learning) เป็นความท้าทายต่อครูเพื่อศิษย์ ในสภาพที่มีข้อจำกัดด้านเวลาและทรัพยากรอื่น ๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือ การอบรมบ่มนิสัยหรือการปลูกฝังความเชื่อหรือค่านิยมในถ้อยคำเดิมของเรา

  1. Mental model building

ความหมายข้อนี้เป็นการเรียนรู้วิธีการนำเอาประสบการณ์มาสั่งสมจนเกิดเป็นกระบวนทัศน์             (หรือความเชื่อ ค่านิยม) และที่สำคัญกว่านั้นคือ สั่งสมประสบการณ์ใหม่ เอามาโต้แย้งความเชื่อหรือ            ค่านิยมเดิม ทำให้ละจากความเชื่อเดิมหันมายึดถือความเชื่อหรือกระบวนทัศน์ใหม่ นั่นคือเป็นการเรียนรู้   (how to learn, how to unlearn/ De learn, how to relearn) ไปพร้อม ๆ กัน ทำให้เป็นคนที่มีความคิดเชิงกระบวนทัศน์ ชัดเจน และเกิดการเรียนรู้เชิงกระบวนทัศน์ใหม่ได้ แต่การจะมีทักษะหรือความสามารถขนาดนี้ จำต้องมีความสามารถรับรู้ข้อมูลหลักฐานใหม่ ๆ และนำมาสังเคราะห์เป็นความรู้เชิงกระบวนทัศน์ใหม่ได้

  1. Internal motivation

การเรียนรู้ที่แท้จริงขับดันด้วยฉันทะ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ภายในตัวคนไม่ใช่ขับดันด้วยอำนาจของครูหรือ พ่อ-แม่ เด็กที่เรียนเพราะไม่อยากขัดใจครูหรือพ่อแม่จะเรียนได้ไม่ดีเท่าเด็กที่เรียนเพราะอยากเรียนเมื่อเด็กมีฉันทะและได้รับการส่งเสริมที่ถูกต้องจากครู วิริยะ จิตตะและวิมังสา (อิทธิบาทสี่) ก็จะตามมา ทำให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึกซึ้งและเชื่อมโยง

  1. Multiple intelligence

เวลานี้เป็นที่เชื่อกันทั่วไปแล้วว่า มนุษย์เรามีพหุปัญญา (Multiple Intelligence) และเด็กแต่ละคนมีความถนัดหรือปัญญาที่ติดตัวมาแต่กำเนิดต่างกัน รวมทั้งสไตล์การเรียนรู้ก็ต่างกัน ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายต่อครูเพื่อศิษย์ในการจัดการเรียนรู้โดยคำนึงถึงความแตกต่างของเด็กแต่ละคนและจัดให้การเรียนรู้ส่วนหนึ่งเป็นการเรียนรู้เฉพาะตัว (personalized learning) เรื่องนี้มีการวิจัยและการออกแบบการเรียนรู้ได้มากมาย ดังตัวอย่าง Universal Design for Learning ซึ่งก็คือ เครื่องมือสร้างความยืดหยุ่นหลากหลายในการออกแบบการเรียนรู้นั่นเอง

  1. Social learning

การเรียนรู้เป็นกิจกรรมทางสังคม หากยึดหลักการนี้ครูเพื่อศิษย์ก็จะสามารถออกแบบกระบวนการทางสังคมเพื่อให้ศิษย์เรียนสนุก และเกิดนิสัยรักการเรียน เพราะการเรียนจะไม่ใช่กิจกรรมส่วนบุคคลที่          หงอยเหงา น่าเบื่อ ซึ่งเราสามารถนำทฤษฎีของต่างชาติมาใช้ได้แต่ไม่ควรเชื่อตามหนังสือมากเกินไปจนไม่กล้าทดลองวิธีคิดใหม่ ๆ ที่อาจจะเหมาะสมต่อศิษย์ของเรามากกว่าแนวคิดแบบต่างชาติ เราอาจคิดหลักการเรียนรู้ตามแบบของเราที่เหมาะสมต่อบริบทสังคมไทยขึ้นมาใช้เองก็ได้

ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนและการฝึกซ้อมก่อนการแข่งขันของสาขาวิชาการท่องเที่ยวที่ใช้แนวคิดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ครูผู้สอนจึงไม่เน้นการเป็นผู้สอน แต่เน้นการได้เรียนรู้ของผู้เรียนจากการลงมือ         ทำจริงเพื่อให้เกิดทักษะ เนื่องจากทักษะเกิดขึ้นได้จากการฝึกฝน ลงมือปฏิบัติจริงยังสถานการณ์จริงการเรียนรู้แบบนี้เรียกว่า PBL (Project-Based Learning) โดยที่ครูจะทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบและอำนวยความสะดวก มากกว่าเป็นผู้สอน เพราะการเป็นผู้สอนในอดีตจะเป็นลักษณะของการสื่อสารทางเดียว แต่เมื่อผู้เรียนได้ลงมือทำจะเกิดการเรียนรู้และจดจำได้ดีกว่าการบังคับให้ท่องจำแบบในอดีต และเมื่อผู้เรียนถูกกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกสนุกและท้าทายการเรียนและกิจกรรมต่าง ๆ จะเป็นเรื่องไม่น่าเบื่ออีกต่อไป และด้วยนักศึกษากลุ่มดังกล่าวได้เคยมีประสบการณ์ในการทำกิจกรรมและการแข่งขันมาแล้วภายในมหาวิทยาลัยคือโครงการประกวดสุนทรพจน์เฉลิมพระเกียรติฯ (รอบคัดเลือกภายใน) จัดโดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ได้รับรางวัลชมเชย เงินรางวัล พร้อมเกียรติบัตรในการเข้าร่วมประกวด ทำให้นักศึกษามีความกล้าที่จะแสดงออกในทางที่ดี และได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก ซึ่งทุกครั้งเมื่อมีการมอบหมายงาน หรือโครงการให้ จะให้นักศึกษาเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมด้วยตนเองโดยมีครูทำหน้าที่โค้ช ควบคุม ดูแล คอยสนับสนุน อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และทุกครั้งที่จบงานหรือจบโครงการครูและนักศึกษาจะร่วมทำการทบทวน ไตร่ตรอง (Reflection) ว่าเราได้รับอะไรจากการทำโครงการดังกล่าว ครูตั้งคำถามที่ให้เด็กคิดหาคำตอบที่มีได้หลายคำตอบ จะทำให้นักศึกษาเกิดทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ

จากกิจกรรมการแข่งขันดังกล่าว ถือว่าเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศ ความภาคภูมิใจที่คณาจารย์ในสาขาวิชาการท่องเที่ยว ได้พร่ำสอน ทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์ โดยเฉพาะเน้นการฝึกปฏิบัติ จนนิสิตสามารถบูรณาการความรู้ที่ได้ศึกษาภายในมหาวิทยาลัย เข้าร่วมประกวดการแข่งระดับประเทศจนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ซึ่งผลของความสำเร็จ และชัยชนะในครั้งนี้ สามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่สาขาวิชา คณะ และมหาวิทยาลัย ต้องขอชื่นชมไว้ ณ โอกาสนี้ นอกจากนั้น นิสิตยังสามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับจากการแข่งขันไปประยุกต์ ต่อยอดเพื่อการประกอบอาชีพในสายของมัคคุเทศก์ต่อไป

 

 

 

อ้างอิง

วิจารณ์ พานิช. (2555). วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: ตถาตา พับลิเคชั่น

จำกัด.

Bernie Trilling, Charles Fadel. (2009). 21st Century Skills: Learning for Life in Our Times.                   San Francisco: Jossey-Bass.

  

 

ภาพกิจกรรมการแข่งขันพากย์ทัวร์ลีลา

 

 

 

 

 

การพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน 

ชื่อผลงานทางวิชาการ  : การพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน 

ประเภทผลงานทางวิชาการ : ตำรา

ปีที่พิมพ์  : ฉบับปรับปรุง 2557

ข้อมูลเพิ่มเติม :  _

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ :

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล สุ่นสวัสดิ์ 

อาจารย์รัชนก ปัญญาสุพัฒน์ อาจารย์โสภณ  สระทองมา

สาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการ คณะวิทยาการจัดการ

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

   

 

บทนำเข้าสู่ความสนใจ

ตำรา  เรื่อง    “การพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน” เรียบเรียงโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล สุ่นสวัสดิ์  อาจารย์รัชนก ปัญญาสุพัฒน์ อาจารย์โสภณ สระทองมา สาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการ คณะวิทยาการจัดการ   มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีวัตถุประสงค์ เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เรียนและผู้ที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ในการพัฒนาตนนำไปสู่การพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน    และเพื่อพัฒนาให้ทุกคนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ คุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข (ม.6) ยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคน/ผู้เกี่ยวข้องมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ (ม.22) เน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม และกระบวนการเรียนรู้ ให้มีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพและดำรงตนอย่างมีความสุข (ม.23) จัดเนื้อหาและกิจกรรมโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ฝึกทักษะและประยุกต์ความรู้มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา จัดการเรียนการสอนผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ ปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ (ม.24) มีการประเมินผู้เรียน โดยพิจารณาจากพัฒนาการของผู้เรียน ความประพฤติ การสังเกตพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรม และการทดสอบควบคู่ไปในกระบวนการเรียนการสอน (ม.25) โดยมีเนื้อหาทั้งที่เป็นวิชาการและวิชาชีพ ที่มุ่งพัฒนาคนให้มีความสมดุลทั้งด้านความรู้ ความคิด ความสามารถ ความดีงามและความรับผิดชอบต่อสังคม (ม.28) จึงได้มีการให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เนื้อหาไปพร้อมกับฝึกปฏิบัติเพื่อความเข้าใจได้รวดเร็ว โดยในปี 2557 ได้มีการปรับปรุง เพิ่มเติมเนื้อหาที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานและการดำรงชีวิตของผู้เรียนและผู้เกี่ยวข้อง ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ทำให้ตำราเล่มนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

 

สรุปสาระของตำรา เรื่อง การพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน

การพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน เป็นทางแห่งความเจริญก้าวหน้า คนต้องพัฒนาตนจึงอยู่รอด แล้วเจริญก้าวหน้า คนต้องพัฒนาเท่าการเปลี่ยนแปลงของสังคมจึงเข้ากับคนในสังคมนั้นได้ มิฉะนั้นจะเป็นคนที่ถูกเรียกว่าตกรุ่น ในฐานะคนทำงานก็ต้องพัฒนาหรือปรับปรุงตนเองอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากเทคโนโลยี วิธีการทำงานเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การปฏิบัติงานในองค์การต้องตอบรับวัตถุประสงค์เป้าหมายขององค์การ ของหน่วยธุรกิจที่ตนรับใช้อยู่ การจะตอบสนองเป้าหมายขององค์การได้ต้องอาศัยสมรรถนะของตนเอง อันได้แก่ความรู้ ทักษะ เจตคติ ที่ต้องแสวงหา ฝึกฝน ฝึกตนให้มีขีดความสามารถตรงกับที่องค์การหรือหน่วยงานต้องการ รากฐานของการพัฒนาตนเริ่มที่การรู้จักตนเอง รู้ว่าตนมีจุดแข็งจุดอ่อนอะไรบ้าง โดยต้องมีเจตคติด้านบวก มีการตั้งเป้าหมาย และตนเตือนตน ยึดหลักการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เนื้อหาเริ่มจากการมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในการพัฒนาตนเอง ปรับแต่งบุคลิกภาพ เข้าใจความต้องการของมนุษย์ ค่านิยม การสำรวจและแลกเปลี่ยนค่านิยม วัฒนธรรมในการทำงาน การตั้งเป้าหมายในชีวิตและการทำงาน การสำรวจความรู้สึก ปัญหาอุปสรรคและวิธีการพิชิตอุปสรรคในการทำงาน สร้างความเชื่อมั่นในตนเอง พัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน ซึ่งตำราเล่มนี้ ประกอบด้วย 12 บท แต่ละบทจะประกอบด้วย เนื้อหาที่สำคัญ  บทสรุป กิจกรรมท้ายบท คำถามทบทวน และเอกสารอ้างอิง  ดังนี้

บทที่ 1  ปรัชญาและอุดมการณ์ในการพัฒนาตนเอง         ประกอบด้วย ความหมายของการพัฒนาตน การรู้จักตนเอง          แนวคิดและหลักการพัฒนาตน ปรัชญาและอุดมการณ์ในการพัฒนาตนเอง       ขอบเขตของเอกสารประกอบการสอน          ทดสอบก่อนเรียน คุณค่าแห่งฉัน   รู้จักกันมากขึ้น

สัญญาการเรียนรู้

บทที่ 2  ผลิตภาพ        ประกอบด้วย     ความหมายของคำว่า ผลิตภาพ     การวัดผลิตภาพ  การใช้ผลิตภาพวิเคราะห์บริษัท   กระบวนการของผลิตภาพ องค์ประกอบและการแบ่งสรรของผลิตภาพ  ผลิตภาพในฐานะกุญแจสู่มาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น

บทที่ 3 คุณภาพ ประกอบด้วย    ความหมายของคุณภาพ   ความเป็นมาของ “คุณภาพ”สายโซ่คุณภาพ การปฏิบัติงานเป็นกระบวนการ คุณภาพของสินค้าและคุณภาพการบริการ วงล้อคุณภาพ      แนวคิดเกี่ยวกับคุณภาพ

บทที่ 4 ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน ประกอบด้วย   ความหมายของความมีประสิทธิผลและความมีประสิทธิภาพ       ทำไมคุณภาพจึงสำคัญ   4 C  ของคุณภาพ เป้าหมายขององค์การ   มาตรฐานการปฏิบัติงาน  การสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน

บทที่ 5  การตั้งเป้าหมายของชีวิตและการทำงาน  ประกอบด้วย ความหมายของเป้าหมาย   ความสำคัญของเป้าหมาย    อุปสรรคขวางกั้นการบรรลุเป้าหมาย     หลักการบรรลุเป้าหมาย  ลักษณะของเป้าหมายที่ดี  หลักการกำหนดเป้าหมายการทำงาน    ทวีตัวขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ

บทที่ 6 เจตคติ ประกอบด้วย     ความหมายของคำว่า เจตคติ องค์ประกอบ ที่มา หน้าที่ ประโยชน์และปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเจตคติ การปรับเจตคติ การพูดกับตนเองด้านบวก การมองภาพ

บทที่ 7  ค่านิยม ประกอบด้วย  ความหมายของค่านิยม องค์ประกอบของค่านิยม ประเภทของค่านิยม  กระบวนการเกิดและพัฒนาการของค่านิยม  ค่านิยมองค์การและค่านิยมส่วนตัว ค่านิยมร่วม ค่านิยมกับการทำงาน

บทที่ 8 วัฒนธรรมในองค์การ    ประกอบด้วย     ความหมายของวัฒนธรรมองค์การ แนวคิดของวัฒนธรรมองค์การ          การบ่งชี้วัฒนธรรม         องค์ประกอบของวัฒนธรรมองค์การวัฒนธรรมองค์การของดีลและเคเนดี้  การเข้าใจและบริหารวัฒนธรรมbรูปแบบการแสดงออกของวัฒนธรรมองค์การ  วัฒนธรรมองค์การมีผลต่อผู้บริหาร

บทที่ 9   บุคลิกภาพ      ประกอบด้วย  ความหมายของบุคลิกภาพ  ความสำคัญของบุคลิกภาพการจำแนกบุคลิกภาพ          องค์ประกอบของบุคลิกภาพ  สภาพการควบคุมบุคลิกภาพการปรับปรุงบุคลิกภาพ ลักษณะของคนที่มีบุคลิกภาพที่ดี

บทที่ 10  การสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง ประกอบด้วย    ความหมายของการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง          แนวคิดของความเชื่อมั่นในตนเอง   หลักการในการพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเอง  การ

เผชิญหน้าความจริงกับความสามารถในการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง วิธีการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง วิธีเพิ่มความเชื่อมั่นในตนเอง

บทที่ 11 ความต้องการของมนุษย์   ประกอบด้วย  ความหมายของการจูงใจ ทฤษฎีคืออะไร ทำไมจึงเป็นทฤษฎี  ทฤษฎีจูงใจแบบความจำเป็น       ลักษณะความจำเป็น  ทฤษฎีอนามัย-แรงงจูงใจของเฮอร์สเบอร์  ทฤษฎีจูงใจแบบพฤติกรรมและความรู้  การปรับขยายพฤติกรรม

บทที่ 12 การพิชิตปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน ประกอบด้วย  ความหมายของปัญหา  ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับปัญหา  กระบวนการในการแก้ปัญหา ความแตกต่างระหว่างการแก้ปัญหากับการตัดสินใจ         หลักการในการแก้ปัญหา วงจร PDCA เพื่อการบรรลุผล ปรับปรุง แก้ไข

 

 จุดเด่น/การนำไปใช้ประโยชน์   

ตำรา เรื่อง การพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานนี้ สิ่งที่จำเป็นและสำคัญลำดับแรกของการพัฒนา คือ ปรัชญาและอุดมการณ์ในการพัฒนาตนเอง เป็นความมุ่งมั่นไขว่คว้าเพื่อเพิ่มสมรรถนะ ขีดความสามารถของตนอันก่อเกิดประโยชน์แก่ตนเองและองค์การที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนี้

 

จุดเด่นที่ 1 การพัฒนาตน

การพัฒนาตน (Personal Development) เป็นการเพิ่มขีดความสามารถ ขยายความเฉลียวฉลาด สติปัญญาเพื่อให้มีความก้าวหน้าในชีวิตส่วนตัวและการงาน ให้ชีวิตมีความหมายและความพึงพอใจ อาจพัฒนาโดยตนเองนำตนเอง หรือมีคนอื่นมานำให้พัฒนาด้วยการให้การกระตุ้นจูงใจ ให้การสนับสนุน แต่ในท้ายที่สุดก็คือเพิ่มความสามารถให้แก่ตน

จุดเด่นที่ 2 การรู้จักตนเอง

ผู้มีการพัฒนาตนต้องรู้จักตน วิเคราะห์ตนเองให้เห็นชัดว่าตนเป็นใคร มาจากไหน ทำอะไร มีอะไรเป็นเป้าหมายของชีวิต โสกราติส นักปราชญ์ชาวกรีกกล่าวว่า “ชีวิตที่ไม่ได้ตรวจสอบ เป็นชีวิตที่ไร้ค่า” คนที่หวังความก้าวหน้า ควรกำหนดจุดหมายปลายทางชีวิตของตน พิจารณาว่าจะนำตนไปสู่จุดหมายของชีวิตได้อย่างไร ต้องทำตนอย่างไรจึงเผชิญสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม การรู้จักตนเองจึงเป็นรากฐานแห่งการนำชีวิตไปสู่จุดหมายได้อย่างราบเรียบ

 จุดเด่นที่ 3 ความสมดุลระหว่างชีวิต การงานและสังคม

เพื่อเป็นคนที่มีพัฒนาการสมดุลทั้งชีวิตส่วนตัวและการงาน วงล้อแห่งชีวิตมีความจำเป็นและสำคัญสำหรับการจะเป็นคนสมบูรณ์  คนต้องพัฒนาชีวิตทั้งหกด้านควบคู่กันไปให้ได้ดุลกัน คือ

  1. สุขภาพและร่างกาย มีร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี จึงดำรงชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนตายไม่อาจทำงานได้ คนป่วยก็ไม่อาจทำงานได้เต็มที่
  2. สติปัญญาและการศึกษา การเรียนรู้และพัฒนาตนตลอด ทำให้เติบโตทั้งความคิดและจิตใจ พร้อมเผชิญหน้าสิ่งท้าทายในงานอาชีพ ทำให้มีทักษะฝ่าฟันสร้างสรรค์
  3. การเงินและอาชีพ การเงินดี ทำให้มีเจตคติบวกและสภาพคล่องในการดำรงชีวิต เป็นส่วนสำคัญในการจัดการงานอาชีพ การมีอาชีพเหมาะกับทักษะก็ทำให้ทำงานอย่างมีความสนุก มีรายได้
  4. ครอบครัวและบ้านเรือน ครอบครัวที่อยู่ครบพร้อมหน้าใกล้ชิด บ้านเรือนที่น่าอยู่ สร้างสัมพันธ์ภาพของคนให้แน่นเหนียว มีจิตใจมั่นคง เป็นแรงใจแก่กัน
  5. จริยธรรมและจิตวิญญาณ ปรัชญาความเชื่อ ศีลธรรม จรรยามารยาท ความเชื่อที่อยู่นอกเหนือสภาพทางวัตถุ เป็นแหล่งแห่งพลังและการสร้างสรรค์ในการเพิ่มการเกื้อหนุนให้แก่คนอื่น
  6. สังคมและวัฒนธรรม ความสามารถในการเข้ากันได้กับผู้อื่น อยู่ร่วมกับคนอื่นในชุมชน ในสังคมโลกได้อย่างกลมเกลียว ทักษะความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคมจำเป็นในการสร้างความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

จุดเด่นที่ 4 เส้นทางอาชีพ

การรู้เส้นทาง ช่วยให้เดินทางรวดเร็ว ถูกต้อง เส้นทางอาชีพก็ช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพมีความเจริญก้าวหน้า เส้นทางอาชีพ คือ โอกาสในการเจริญเติบโตในงานอาชีพ นักขายอาจเริ่มจากการเป็นนักขายฝึกหัด นักขายผู้น้อย นักขายอาวุโส ผู้จัดการฝ่ายขาย ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาด ผู้จัดการฝ่ายการตลาด รองประธานบริษัทฝ่ายการตลาด และเป็นประธานบริษัท หรืออาจจากการเป็นผู้จัดการฝ่ายขายไปรับผิดชอบงานด้านค้าปลีก หรือ งานโฆษณาก็ได้

การรู้เส้นทางอาชีพว่าจะเจริญเติบโตไปได้ในทางใด ทำให้มีการวางแผนชีวิตของตนเองได้ ทำให้มีการตั้งเป้าหมายให้ไปสู่จุดหมายสูงสุดที่ตนต้องการเป็น การรู้เส้นทางอาชีพจึงเป็นทางพัฒนาตนเองอีกทางหนึ่งเปรียบเสมือนรู้จักแผนที่เพื่อเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทาง

ดังนั้น ทุกคนต้องมีอุดมการณ์ในการพัฒนาตนเองก่อนเป็นลำดับแรก

จุดเด่นที่ 5 เป้าหมายในการพัฒนาตนเอง เป็นการปรับปรุงผลิตภาพส่วนตัว คือทำงานได้ผลผลิตมากกว่าปัจจัยนำเข้า เนื่องจากผลิตภาพส่วนตัวของผู้ปฏิบัติงานมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ผลิตภาพเกิดจากความมีประสิทธิผล ความมีประสิทธิภาพในการทำงาน ทำงานได้ตามเป้าหมาย รู้จักใช้นวัตกรรม เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานมีสมรรถนะ คือ ความรู้ ทักษะและเจตคติ กับทั้งทำงานมีประสิทธิภาพ คือ ทำงานได้งานตามปริมาณ ตรงคุณภาพ   โดยใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด ประกอบด้วยเจตคติและการตั้งเป้าหมาย เจตคติเป็นความคิดจิตใจ เป็นฝ่ายนำของการปฏิบัติ มีเจตคติเช่นใดก็จะแสดงท่าทีและพฤติกรรมออกมาเช่นนั้น เจตคติที่ควรมีคือเจตคติด้านบวก  ส่วนการตั้งเป้าหมาย เป็นการกำหนดทิศทางที่ต้องการไปให้ถึง เป็นป้ายบอกทางให้การดำเนินงาน ดำเนินชีวิตได้ตรงความตั้งใจ คาดหวัง หรือมุ่งมาดปรารถนา

จุดเด่นที่ 6 ความเจริญก้าวหน้าของประเทศ อยู่ที่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งทำให้เกิดมาตรฐานการครองชีพสูง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น เนื่องจากได้รับเงินค่าจ้างสูงขึ้น มีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดจากการผลิตที่ได้ผลผลิตต่อหน่วยมากกว่าทรัพยากรที่เป็นปัจจัยนำเข้า มีความแกร่งทางการแข่งขันสูงขึ้น ผลิตภาพของประเทศเป็นตัวชี้วัดอัตราเติบโตของเศรษฐกิจ ในตำราเล่มนี้เริ่มด้วยผลิตภาพ เพื่อให้ทราบแนวคิดว่าการพัฒนาประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานล้วนเสริมผลิตภาพของประเทศเกิดจากผลรวมของผลิตภาพระดับอุตสาหกรรมหรือบริษัท ซึ่งเป็นผลรวมมาจากผลิตภาพของผู้ปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมหรือบริษัท ดังนั้นการเพิ่มผลิตภาพของประเทศจึงอยู่ที่การเพิ่มผลิตของคนทำงานแต่ละคน  มีส่วนโดยตรงต่อการเพิ่มผลิตภาพของประเทศ การทำงานอย่างมีประสิทธิผลคือทำงานได้ตรงตามเป้าหมาย ได้ผลลัพธ์ดังที่กำหนดไว้ ส่วนการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นการทำงานที่ใช้ปัจจัยผลิต คือ แรงงาน วัสดุ เครื่องจักร ได้อย่างประหยัด ในอีกด้านหนึ่ง เชื่อว่า เจตคติ เป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการทำงานเพิ่มผลิตภาพ การมีเจตคติด้านบวก การตั้งเป้าหมายจึงมีผลต่อการทำงานที่มีประสิทธิผลและการทำงานที่มีประสิทธิภาพ โดยที่การทำงานให้ได้ผลตรงตามความต้องการของลูกค้าเป็นการทำงานมีคุณภาพ ดังนั้นคุณภาพของงานหรือผลผลิตทำให้ลูกค้าพึงพอใจ

ลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้ปฏิบัติงานที่จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล นอกจากมีเจตคติด้านบวกแล้ว ยังมีค่านิยม ที่ส่งเสริมการทำงานอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานในองค์การต้องมีกาวผนึกความเป็นปึกแผ่นของคนทำงานเข้าด้วยกัน วัฒนธรรมองค์การ เป็นตัวเชื่อมประสานจิตใจของผู้คนให้เป็นอันหนึ่งน้ำใจเดียวกัน

ผู้ปฏิบัติงานคนใด หากขาดความเชื่อมั่นในตนเอง จะทำงานไม่ค่อยได้ผลมากนัก การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตนเองจึงมีความสำคัญ  แต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน การรู้ความต้องการของมนุษย์ จะช่วยในการจูงใจให้คนทำงานให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผล ส่วนบุคลิกภาพ เป็นส่วนทำให้เข้ากับคนอื่นได้ การทำความเข้าใจต่อกันและกันอาศัยการสื่อสาร  หากไม่เข้าใจหรือมีข้อขัดแย้งก็ต้องอาศัยเรื่องการพิชิตปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน

จะเห็นได้ว่า ตำราเรื่องการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานนี้ ผู้ที่สนใจทุกคนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพทุกศาสตร์ ทุกองค์กรของภาครัฐและภาคเอกชน เช่น การบริหารงานบุคคล การตลาด การบัญชี การท่องเที่ยว และธุรกิจบันเทิง   เป็นต้น

บรรณานุกรม

เนตร์พัณณา ยาวิราช. (2556). การจัดการสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: พิมพ์ครั้งที่ 8, ทริปเพิ้ล กรุ๊ป จำกัด.

พุทธทาส อินทปัญญา (2540). ข้อหัวธรรมในคำกลอน. กรุงเทพฯ: ธรรมสภา.

ระเด่น   ทักษณา. (2542).  มาดต้องตา วาจาต้องใจ ภายในต้องเยี่ยม. กรุงเทพฯ : แว่นแก้ว.

วารินทร์  สินสูงสุด และวันทิพย์ สินสูงสุด. (2544). กิจกรรม 5 ส. สร้างสรรค์มาตรฐานงาน. กรุงเทพฯ: สถาบันเพิ่มผลผลิตบัณฑิตธรรม.

วิเชียร วิทยอุดม. (2551). พฤติกรรมองค์การ. กรุงเทพฯ: พิมพ์ครั้งที่ 4, ธนธัชการพิมพ์ จำกัด.

สมชาติ กิจยรรยง. (2539).  เกมและกิจกรรมเพื่อพัฒนาบุคลากร.กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น.

สุพจน์  รัตนาพันธุ์. (2552). พฤติกรรมองค์การและการจัดการ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ท็อป จำกัด.

Aldag, R. J., & Kuzahara, L. W. (2001). Organizational behavior and management        : An integrated skills approach. OH: South-Western.

Brinkerhoff, R. O., & Dressler, D.E. (1990). Productivity measurement : A guide for       managers and evaluators. New Burly Park: Sage.

Capon, C. (2000).  Understand organizational context. Harlow: Prentice Hall.

Champous, J. E. (2000). Organizational behavior: essential tenets for a new    millennium. Cincinnati: South-Western College.

Crosby, P. B. (1986).  Quality is free. Boston: McGraw-Hill.

Drennan, D. (1999). 12 Ladders to world class performance. London: Kogan Page.

Dubrin, A.J. (2002). Fundamentals of organizational behavior. OH:

South- Western.

Ducker, P. (1997). Productivity concepts and their applications. Singapore:

Prentice Hall.

Griffin, M. (2001). Organizational behavior. New York: Houghton Mifflin.

Guideline on concept and use of the process approach for management system

(2005). ISO 9000:2000. (Online). Available:

http://www.ISO.ch/  (2005, Septembers 8).

Han K. H. (1990). Productivity in transition. Singapore:  McGraw-Hill.

Hodgetts, R. M.(1966). Modern human relations at work. (4th ed.).: Dryden.

Juran, J. M. (1999). Quality control handbook. New York: McGraw-Hill.

Kaplan, R. S., & Norton, D. P. (2001). The strategy-focused organization. Massachusetts:            Harvard Business School.

Kotter, J. P. (2003). Leading change. Boston: Harvard Business School.

Leman, C. M., & Dufrene, D.D. (2002). Business communication. (13th ed.).OH:

South – Western.

Maslow, A. (1970). Motivation and personality. New York: Harbera Row.

National Productivity and Standard Board (1999). Productivity measurement.

Singapore: Author.

Oakland, J. (2000). Total Quality Management. (2nd ed.). Oxford:

Butterworth Heinemann.

Robbins,S. P. (2001). Organizational behavior, (9th ed.). NJ: Prentice Hall.

Robbins S. P., & Mary C. (2003). Management. (7th ed.) Pearson Education.

Rouillard, L. A. (1993). Goals and goal setting. London: Kogan Page.

Saiyadain, M. S. (2003). Organizational behavior. New Delhi: Tata. McGraw-Hill.

Smith, P. R. (2005). Practice management digest. New York: AIA.

Waters, M. (1996). Dictionary of personal development. Shaftsbury Dorset: Element Books.

etc.

 

สำนักพิมพ์วันทิพย์ พิมพ์ที่สยามมิตรการพิมพ์ กทม.

ผศ.ดร.นฤมล สุ่นสวัสดิ์  โทร. 089-7468850

จำนวน   ๓๙๖   หน้า

 

เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

ชื่อผลงานทางวิชาการเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

ประเภทผลงานทางวิชาการ หนังสือคู่มือการท่องเที่ยว

ปีที่พิมพ์ :  ม.ป.ป.

ข้อมูลเพิ่มเติม คู่มือเส้นทางการท่องเที่ยวนี้ ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  ปี 2560, 196 หน้า

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ ผศ.ดร.วิทยา วิสูตรเรืองเดช  ดร.เพียรพิทย์ โรจนปุณยา อ.นราธร สายเส็ง อ.อาทิตย์ อินธาระ และ อ.ตุลย์ จิรโชคโสภณ , สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจของผลงานทางวิชาการ : เนื้อหาสาระของหนังสือคู่มือเส้นทางท่องเที่ยว

คู่มือเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีเล่มนี้ สำเร็จขึ้นด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของ ผศ.ดร.วิทยา วิสูตรเรืองเดชและคณะ ที่ได้ร่วมมือสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าให้ท้องถิ่นและสังคม โดยยึดแนวทางการดำเนินงานตามพระบรมราโชบายของสมเด็จเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ บดินทร เทพยวรางกูร ที่พระราชทานไว้ ดังใจความตอนหนี่งว่า “…..ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ ให้ทำงานให้เข้าเป้าในการยกระดับการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในท้องถิ่น….” กอปรมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้มีศูนย์การศึกษาอู่ทองทวารดีที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จึงนับได้ว่างานชิ้นนี้ ได้สนองพระบรมราโชบายของพระองค์อย่างแท้จริง  ซึ่งคู่มือเส้นทางนี้ ประกอบด้วยข้อมูลทั่วไปของจังหวัดสุพรรณบุรี  อำเภออู่ทอง การสังเคราะห์แหล่งท่องเที่ยวในแต่ละตำบล ตามประเภทการท่องเที่ยว (ตำบลบ้านโข้ง ตำบลพลับพลาไชย ตำบลดอนคา ตำบลหนองโอ่ง ตำบลอู่ทอง ตำบลจระเข้สามพัน  ตำบลสระยายโสม ตำบลยุ้งทะลาย ตำบลกระจัน  ตำบลเจดีย์ ตำบลบ้านดอน ตำบลสระพังลาน ตำบลดอนมะเกลือ  เจดีย์โบราณเมืองอู่ทอง การท่องเที่ยวอู่ทอง และแผนที่เส้นทางปั่นจักรยานเมืองอู่ทอง

 

สรุปสาระสำคัญของคู่มือเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี :

          จังหวัดสุพรรณบุรี มีคำขวัญประจำจังหวัดคือ “ เมืองยุทธหัตถี วรรณคดีขึ้นชื่อ เลืองลือพระเครื่อง  รุ่งเรืองเกษตรกรรม สูงล้ำประวัติศาสตร์ แหล่งปราชญ์ศิลปิน ภาษาถิ่นชวนฟัง” เป็นจังหวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ภาคกลาง มีพื้นที่ 5,358,.01 9 ตารางกิโลเมตร อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ปานกลาง3-10 เมตร มีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม แบ่งเขตการปกครองเป็น 10 อำเภอ คือ เมืองสุพรรณบุรี ดอนเจดีย์ ด่านช้าง เติมบางนางบวช บางปลาม้า ศรีประจันต์ สองพี่น้อง สามชุก หนองหญ้าไซ และอู่ทอง

อำเภออู่ทอง  มีคำขวัญคือ “แหล่งรอยพระพุทธบาท เกียรติประกาศเรื่องทอผ้า เจ้าพ่อพระยาจักร ถิ่นรักไทยทรงดำ ถ้ำเสือพระดี มีคอกช้างดิน ถิ่นเก่าน้ำตก” อำเภอนี้ เป็นอำเภอที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแหล่งศูนย์รวมของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่ประมาณ  641 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น 13 ตำบล  155 หมู่บ้าน ภูมิประเทศแบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ แบบภูเขาและที่สูง แบบลูกเคลื่อนลอนลาด แบบที่ราบลุ่มแม่น้ำจรเข้สามพัน

ในการสังเคราะห์แหล่งท่องเที่ยวในแต่ละตำบลตามประเภทของการท่องเที่ยว มีสถานที่น่าใจทั้งด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และอื่น ๆ ดังนี้

  1. ตำบลบ้านโข่ง          — วัดบ้านดงน้อย
  2. ตำบลพลับพลาไชย — ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร  กลุ่มทอผ้าบ้านขามผ้าไทย
  3. ตำบลดอนคา               — วัดเขาดีสลัก วัดเขากำแพง วัดโพคาราม กลุ่มทอผ้าบ้านหนองดอนคา
  4. ตำบลหนองโอ่ง  – อุทยานพระฤาษีนารอด  NPJ Fantasy วัดเขาถ้ำโกปิดทอง
  5. ตำบาลอู่ทอง – สวนหินธรรมชาติพุหางนาค โรงหล่อวิเชียร ชุมชนบ้านดงเย็น พิพิธภัณฑ์

สถานแห่งชาติอู่ทอง  วิถีชีวิตชาวบ้านโคก วัดเขาทำเทียม

พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ ศาลเจ้าพ่อพระยาจักร

วัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม

  1. ตำบลจรเข้สามพัน  – วนอุทยานพุม่วง วัดถ้ำเขาเสือ วัดโพธาราม กลุ่มทอผ้าวังทอง
  2. ตำบลสระยายโสม – วัดสระยายโสม ศาลยายโสม ศาลเจ้าพ่อสระยายโสม
  3. ตำบลยุ้งลาย – วัดใหม่สิทธาวาส
  4. ตำบลกระจัน – วัดจันทราวาส
  5. ตำบลเจดีย์  – สวนน้ำ C&Y Water Park
  6. ตำบลบ้านดอน  – วัดยางไทยเจริญผล ศูนย์ฟื้นฟูวัฒนธรรมไตดำโบราณ

กลุ่มทอผ้ากี่กระตุกบ้านยางลาว

  1. ตำบลสระพังลาน  – วัดสระพังลาน ศาลปู่สิงหา
  2. ตำบลดอนมะเกลือ  – วัดดอนมะเกลือ ศูนย์วัฒนธรรมชาวไทยทรงดำ

กลุ่มทอผ้าบ้านดอนมะเกลือ

วัดเขาดีสลัก

พระพุทธปุษยคิรีศรีสุวรรณภูมิ     

 

อุทยานพระฤาษีนารอด


 

จุดเด่น/ความน่าสนใจของเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี : มีหลายจุดเด่น เช่น

จุดเด่นที่ 1 คู่มือเส้นทางท่องเที่ยวเล่มนี้ ได้รวบรวมสถานที่ เชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ ของอำเภออู่ทอง รวมทั้งสิ้น 13 ตำบล ประกอบด้วยสถานที่เชิงประวัติศาสตร์  16 แห่ง วัฒนธรรมและประเพณี 15 รายการ ทรัพยาการธรรมชาติ  3 แห่ง และอื่น ๆ 3 แห่ง ด้วยภาพสี สวยสด งดงาม ทั้งเล่ม พร้อมคำอธิบายย่อๆ เพื่อผู้ที่ต้องการศึกษาได้มีความรู้

จุดเด่นที่ 2 เส้นทางการท่องเที่ยวอู่ทอง โดยจักรยาน 2 วัน

วันแรก

9.00 -12.00 น. ศาลเจ้าพ่อพระยาจักร  พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทอง

12.00 น. พักรับประทานอาหาร

13.30-17.00 น. วัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ วัดเขาทำเทียม

 

วันที่สอง

9.00-12..00 น. – วัดเขาดีสลัก

12.00  น. – รับประทานอาหาร

13.30-16.00 น  – วัดเขากำแพง วัดเขาถ้ำเสือ สวนหินธรรมชาติพุหางนาค

 

เส้นทางการท่องเที่ยวอู่ทอง โดยจักรยาน 3 วัน

วันแรก

9.00-12.00 น. – ศาลเจ้าพ่อพระยาจักร พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอู่ทอง

12.00 น. – รับประทานอาหาร ร้านครัวผู้ใหญ่เงาะ

13.30-17.30 น. – วิถีชีวิตบ้านโคก วิถีชีวิตบ้านดงเย็น พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ

วัดเขาทำเทียม

วันที่สอง

9.00 -12.00 น  – ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) วัดเขาตีสลัก

12.00 น. –รับประทานอาหาร

13.00–16.00 น.– วัดเขากำแพง สวนหินธรรมชาติพุหางนาค

วันที่สาม

9.00 -12.00 น.- วัดเขาถ้ำเสือ อุทยานพระฤาษีนารอด

12.00 น.–รับประทานอาหาร

13.00-15.00 น.–วัดเขาถ้ำโกปิดทอง  วัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม

 

จุดเด่นที่ 3 : แผนที่แสดงเส้นทางการท่องเที่ยวโดยจักรยาน ระยะทาง 13 กิโลเมตร

และ 41 กิโลเมตร

จุดเด่นที่ 4 : หนังสือคู่มือเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ฯ  จะมีบาร์โค๊ตเพื่อให้ผู้สนใจสามารถใช้โทรศัพท์มือถือโหลดรายละเอียดของสถานที่ทุกแห่งที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้

 

 

อื่นๆ ตามความเหมาะสม :

คู่มือเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากจะเป็นคู่มือเส้นทางการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวสามารถศึกษาประวัติและรายละเอียดพอสังเขป เกี่ยวกับสถานที่เชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังมีส่วนสำคัญยิ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและสามารถเพิ่มรายได้การท่องเที่ยวให้แก่ชุมชน นำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ซึ่งภายในอำเภออู่ทองยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติที่น่าสนใจอยู่อีกมากมาย เนื่องจากเป็นพื้นที่เมืองโบราณและมีเรื่องราวในพื้นที่ที่ยาวนาน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล สุ่นสวัสดิ์     บรรณากร

คู่มือเส้นทางการท่องเที่ยวฯฉบับสมบูรณ์

เศรษฐศาสตร์มหภาค 1 (Macroeconomics 1)

ชื่อผลงานทางวิชาการเศรษฐศาสตร์มหภาค 1 (Macroeconomics 1)

ประเภทผลงานทางวิชาการ หนังสือเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค 1

ปีที่พิมพ์ พ.ศ. 2560 (ฉบับปรับปรุงใหม่)

ข้อมูลเพิ่มเติม :  สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ ผศ.ดร..กัมพล เชื้อแถว , อาจารย์นเรศ นิภากรพันธ์ , อาจารย์ธีรวีร์

เอี่ยมสุวรรณ และอาจารย์อรรถวิทย์ เฉลียวเกรียงไกร สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจของผลงานทางวิชาการ : เนื้อหาสาระของหนังสือประกอบด้วย

บทที่ 1 ความรู้เบื้องต้นทางเศรษฐศาสตร์ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวิชาเศรษฐศาสตร์ ระบบเศรษฐกิจ ข้อแตกต่างระหว่างวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคและวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์

บทที่ 2 รายได้ประชาชาติ ประเภทของรายได้ประชาชาติ วิธีการจัดทำบัญชีรายได้ประชาชาติ รายได้ประชาชาติที่แท้จริงและเป็นตัวเงิน รายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัว ประโยชน์และข้อควรระวังหรือข้อบกพร่องของบัญชีรายได้ประชาติ

บทที่ 3 องค์ประกอบของความต้องการใช้จ่ายมวลรวมในระบบเศรษฐกิจ การลงทุน การใช้จ่ายของรัฐบาล การส่งออกสุทธิ

บทที่ 4 การกำหนดรายได้ประจำชาติดุลยภาพในระบบเศรษฐกิจ ความต้องการใช้จ่ายมวลรวม การกำหนดระดับรายได้ประชาชาติดุลยภาพ ทฤษฎีตัวทวี ทฤษฎีว่าด้วยตัวเร่งความขัดแย้งของการประหยัด ช่วงห่างการเฟ้อและช่วงห่างการฝืด

บทที่ 5 การเงินและนโยบายการเงิน ความเป็นมาและวิวัฒนาการของการเงิน หน้าที่ของเงิน คุณลักษณะของเงิน ค่าของเงิน อุปทานของเงิน การเปลี่ยนแปลงปริมาณเงิน ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณเงินกับราคาสินค้าและบริการ อุปสงค์ของเงิน การกำหนดอัตราดอกเบี้ยดุลยภาพ การเปลี่ยนแปลงระดับอัตราดอกเบี้ยดุลยภาพ

บทที่ 6 สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ การสร้างเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจ สถาบันการเงินประเภทอื่นๆ

บทที่ 7 การคลังของรัฐบาล งบประมาณแผ่นดิน รายรับของรัฐบาล รายจ่ายของรัฐบาล หน้าที่สาธารณะ นโยบายการคลัง การวิเคราะห์ผลการใช้นโยบายการคลังด้วยตัวทวี

บทที่ 8 การค้าระหว่างประเทศ สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ ประโยชน์ของการค้าระหว่างประเทศ ทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศ การเงินระหว่างประเทศ ดุลการค้า ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ

บทที่ 9 วัฏจักรธุรกิจ เงินเฟ้อและการว่างงาน วิธีการสร้างเส้นวัฏจักรธุรกิจและการวิเคราะห์ ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรธุรกิจ เงินเฟ้อ ประเภทของเงินเฟ้อ สาเหตุของการเกิดเงินเฟ้อ ผลของภาวะเงินเฟ้อ การแก้ปัญหาเงินเฟ้อ การว่างงาน ประเภทของการว่างงาน ผลกระทบของการว่างงานต่อระบบเศรษฐกิจ แนวทางการแก้ปัญหาการว่างงาน

 

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ :

วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับการเลือกในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยตัดสินในว่าจะเลือกผลิตอะไร อย่างไร เพื่อใคร เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์โดยไม่จำกัดเกิดประโยชน์สูงสุด แบ่งเป็น 2 แขนง คือ เศรษฐศาสตร์จุลภาคและมหภาค โดยที่เศรษฐศาสตร์จุลภาคศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเศรษฐกิจหน่วยย่อย ส่วนเศรษฐศาสตร์มหภาค ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมเศรษฐกิจโดยรวม

รายได้ประชาชาติ หมายถึง มูลค่ารวมของสินค้าและการบริการที่ประชาชาติผลิตขึ้นได้ในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยหักค่าใช้จ่ายที่เกินทุนและภาษีทางงอ้อมมีหลายประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเบื้องต้น ผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้นและผลิตภัณฑ์ประชาชาติสุทธิ รายได้ประชาชาติ รายได้ส่วนบุคคลและรายได้ที่สามารถใช้จ่ายได้จริง

องค์ประกอบของความต้องการใช้จ่ายมวลรวมในระบบเศรษฐกิจ มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการใช้จ่ายมวลรวมที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย การเปลี่ยนแปลงการบริโภคและการออม เป็นการเปลี่ยนแปลงระดับการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการออม เช่น สินทรัพย์ของผู้บริโภค โดยกำหนดให้รายได้ที่จ่ายได้จริงคงที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงในลักษณะทำให้เส้นการบริโภคหรือการออมเคลื่อนย้ายไปจากเส้นเดิม การลงทุน หมายถึง การใช้จ่ายในการซื้อสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อการผลิตสินค้าที่มิใช่ซื้อสินค้าเพื่อการบริโภค แต่เป็นการซื้อสินค้าประเภททุนที่ก่อให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการในอนาคต

เงิน (Money) คือ สิ่งใดก็ได้ที่ทุกคนในสังคมยอมรับโดยทั่วไปในฐานะที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ โดยใช้ชำระสินค้าและบริการ การชำระหนี้ในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งยังเป็นมาตรฐานในการวัดมูลค่าสินค้าและบริการทั่วไปอีกด้วย วิวัฒนาการของเงินเริ่มจาก เงินในระยะแรกสังคมเริ่มมีการใช้วัตถุหรือสิ่งของบางชนิดเป็นเงิน เช่น หนังสัตว์ ยาสูบ วัว ควาย ฯลฯ เงินโลหะ เงินเหรียญ เงินกระดาษและระบบใช้เครดิต นโยบายการเงิน หมายถึง นโยบายของธนาคารกลางในการกำกับดูแลปริมาณเงิน และสินเชื่อโดยธนาคารกลางเพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การรักษาเสถียรภาพของระดับราคาสินค้า การส่งเสริมให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น การรักษาองค์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การรักษาดุลยภาพของดุลการชำระเงินระหว่างประเทศและการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม นโยบายการเงินที่สำคัญ มี 3 ประเภท ได้แก่

  1. การลดหรือการเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ
  2. การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย
  3. การปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ

บทบาทและหน้าที่ของสถาบันการเงินประเภทต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อาทิเช่น

– ธนาคารแห่งประเทศไทย (The Bank of Thailand : BOT) ทำหน้าที่ดูแลกำกับ เรื่อง การเงินของประเทศ โดยการออกกฎเกณฑ์และควบคุมการเงิน นำธนบัตรไทยออกใช้หมุนเวียน ซึ่งรวมถึงการควบคุมการจ่ายโอนเงินตราระหว่างประเทศและเฝ้าระวังอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ

ภาวะของธนาคารแห่งประเทศไทย

  1. ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นองค์การของรัฐสังกัดกระทรวงการคลัง ก่อตั้งขึ้นเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485
  2. มีอำนาจในการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจกรรมธนาคารแห่งประเทศไทย มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
  3. มีบทบาทในการออกและพิมพ์ธนบัตรควบคุมธนาคารพาณิชย์ เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันการเงิน

สถาบันการเงินในประเทศไทยที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับมี 14 สถาบัน โดยสถาบันการเงินเหล่านี้อยู่ในความควบคุมของหน่วยงานแตกต่างกันได้แก่ บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ โรงรับจำนำ สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์การเกษตร บริษัทประกันชีวิต บรรษัทธนกิจอุตสาหกรรมขนาดย่อม ฯลฯ เป็นต้น

งบประมานแผ่นดิน หมายถึง แผนการเงินของรัฐบาลที่จัดทำขึ้นเพื่อแสดงรายรับรายจ่ายของรัฐบาล มีวัตถุประสงค์ คือ วางแผนโครงการต่างๆ ที่จะดำเนินการล่วงหน้า การบริหารการคลังมีประสิทธิภาพและจัดทำงบประมาณทำให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือทางนโยบายการคลัง รัฐบาลแต่ละประเทศรวมทั้งประเทศไทย จะมีรายรับนำไปใช้จ่ายสาธารณะส่วนใหญ่มาจากรายได้ ภาษีอากร หมายถึง เงินที่รัฐบาลบังคับด้วยกฎหมายเพื่อเก็บจากประชาชนทั้งภาคครัวเรือนและภาคเอกชนและนำไปใช้จ่ายสาธารณะประโยชน์ต่อส่วนรวม

 

จุดเด่น/ความน่าสนใจของผลงานทางวิชาการ : มีหลายจุดเด่น เช่น

จุดเด่นที่ 1 วิธีการคำนวณรายได้ประชาชาติ สามารถทำได้ 3 วิธี ตามหลักของ UNSNA ประกอบด้วย การคำนวณด้านการผลิต การคำนวณด้านรายได้ การคำนวณด้านรายจ่าย ซึ่งตามหลักการถ้าจัดทำได้อย่างถูกต้องทั้ง 3 ด้าน ยอดจะสมดุลกัน

1.1 วิธการคำนวณรายได้ประชาชาติทางด้านการผลิต (Production Approach)

1.2 วิธีการคำนวณรายได้ประชาชาติทางด้านรายได้ (Income Approach)

1.3 วิธีการคำนวณรายได้ประชาชาติทางด้านรายจ่าย (Expenditure Approach)

สำหรับการคำนวณรายได้ประชาชาติทางด้านรายจ่ายของระบบเศรษฐกิจใด เศรษฐศาสตร์ มี 2 ระยะ คือ ระบบเศรษฐกิจแบบปิด (Close Economic System) และระบบเศรษฐกิจแบบเปิด (Open Economic System) และโยชน์และข้อควรระวังในการใช้บัญชีรายได้ประชาชาติ มีดังนี้

  • ประโยชน์จากบัญชีรายได้ประชาชาติ

1) ประโยชน์ในการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

2) ประโยชน์ด้านการกำหนดเป้าหมายทางเศรษฐกิจของประเทศ

3) ประโยชน์ในการใช้เป็นเครื่องมือวางนโยบายในการเก็บภาษีอากร

4) ประโยชน์ในการใช้เป็นเครื่องมือเทียบเคียงฐานะทางเศรษฐกิจ

ข้อควรระวังหรือข้อบกพร่องของบัญชีรายได้ประชาชาติ

1) การนับซ้ำ

2) สินค้าหรือบริการที่บันทึกจะเป็นแค่สินค้าและบริการที่ผ่านระบบเท่านั้น ส่วนสินค้าให้เปล่าหรือไม่ผ่านระบบตลาดจะไม่นำมาคิด

3) ไม่ได้แสดงวัตถุประสงค์หรือประเภทของสินค้าและบริการที่ผลิตเพิ่มขึ้น

4) บัญชีรายได้ประชาชาตินั้นเพียงแค่ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อบุคคลเพิ่มขึ้น

5) บัญชีรายได้ประชาชาติแสดงเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงในมูลค่าและปริมาณของสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย

จุดเด่นที่ 2 การเปลี่ยนแปลงการลงทุน การลงทุน หมายถึง การเปลี่ยนแปลงระดับการลงทุน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของตัวกำหนดอื่นๆ เปลี่ยนแปลง เช่น อัตราดอกเบี้ย  ในขณะที่รายได้ประชาชาติคงที่โดยการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้จะทำให้เส้นการลงทุนเคลื่อนย้ายไปจากเส้นเดิมทั้งเส้น ดังภาพ

 

การเปลี่ยนแปลงการบริโภคหรือการออม

 

จากภาพ : แกนตั้งแทนการลงทุนและแกนนอนแทนรายได้ประชาชาติ ณ รายได้ประชาชาติ  การลงทุน คือ  ณ จุด A บน เส้น I เมื่อมีการลงทุนเพิ่มขึ้น เส้น I จะย้ายออกจากเส้นเดิม โดยเลื่อนสูงขึ้น เส้น  แต่ถ้าการลงทุนลดลง เส้น I ย้ายออกจากเส้นเดิม โดยเลื่อนต่ำลงเป็นเส้น  การย้ายจากจุด A ไปจุด B หรือ การย้ายจากจุด A ไป C เรียกว่า การเคลื่อนที่ไปตามเส้น

จุดเด่นที่ 3 หน้าที่ของเงิน (Function of Money) ในระบบเศรษฐกิจแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ

3.1  หน้าที่มีสภาพนิ่ง (Static Function) หมายถึง การที่เงินทำหน้าที่ในการช่วยให้การดำเนินงานของระบบเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี

3.2 หน้าที่อันมีสภาพเคลื่อนที่ (Dynamic Function) หมายถึง การที่เงินมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจ กล่าวคือ เมื่อปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นจะทำให้ระดับราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น แต่ปริมาณของเงินในระบบเศรษฐกิจน้องลงย่อมจะทำให้ระดับราคาสินค้าและบริการถูกลง

หน้าที่อันมีสภาพนิ่งที่สำคัญมี 4 อย่างได้แก่

  1. เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน
  2. เป็นมาตรฐานในการวัดมูลค่าของสินค้าและบริการ
  3. เป็นตัวกลางในการรักษามูลค่า
  4. เป็นมาตรฐานการชำระหนี้ในอนาคต

ค่าของเงิน หมายถึง อำนาจซื้อของเงินแต่ละหน่วยในการซื้อสินค้าและบริการ ค่าของเงินจะคงที่เมื่ออำนาจซื้อคงที่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ ค่าของเงินมี 2 ชนิด ค่าของเงินภายในและค่าของเงินภายนอก ลักษณะของเงินในประเทศไทย เงินที่ใช้หมุนเวียนเป็นเงินที่มีมูลค่าไม่เต็มตัว (Fiat Money)  โดยเป็นเงินที่ไม่มีมูลค่าแท้จริง แต่ถูกกำหนดให้เป็นเงินตามคำสั่งของรัฐบาลแบ่งเป็น เหรียญกษาปณ์ (Coins) ธนบัตร (Bank Note) เงินฝากเผื่อเรียก (Demand Deposits) หรือเงินฝากกระแสรายวัน (Current Deposit) คือ เงินฝากที่เจ้าของบัญชีเบิกถอนโดยใช้เช็คได้

 

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : ผลงานทางวิชาการเล่มนี้ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจสำหรับบุคคลทั่วไป นอกจากนักวิชาการ นิสิต นักศึกษา เช่น โครงสร้างอัตราภาษี

หลักในการเก็บภาษีที่สำคัญ คือ อยู่บนพื้นฐานของประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร ความเป็นธรรมและส่งเสริมกระจายรายได้ ภาษีแต่ละชนิดจึงมีโครงสร้างอัตราภาษีที่ใช้ในการจัดเก็บในแต่ละฐานภาษีที่แตกต่างกัน โครงสร้างภาษีมี 3 แบบ ดังนี้

 

  ลักษณะอัตราภาษีเมื่อฐานภาษีเพิ่ม ภาษีที่จัดเก็บ
แบบก้าวหน้า Progressive() เพิ่มขึ้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา , ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ใหม่)
แบบตามสัดส่วน (Proportional) คงที่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม , ภาษีเงินได้บุคคล นิติบุคคล ฯลฯ
แบบถดถอย (Regressive) ลดลง ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ใช้กรณีที่ต้องการส่งเสริมการผลิตนั้นให้ขยายตัว ภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ (เดิม)

 

โครงสร้างอัตราภาษีแบบก้าวหน้า หมายถึง ภาษีชนิดเมื่อฐานภาษีของบุคคล หรือนิติบุคคลนั้นเพิ่มขึ้น จะต้องเสียภาษีในอัตราสูงขึ้น เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อบุคคลมีรายได้เพิ่มขึ้นก็จะเสียอัตราสูงขึ้น

 

เงินได้สุทธิ อัตราภาษี (ร้อยละ)
ไม่เกิน 150,000 บาท ยกเว้น
150,001 – 500,000 บาท 5
300,001 – 500,000 บาท 10
500,001 – 750,000 บาท 15
750,001 – 1,000,000 บาท 20
1,000,001 – 2,000,000 บาท 25
2,000,001 – 4,000,000 บาท 30
4,000,001 ขึ้นไป 35

 

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทย

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล สุ่นสวัสดิ์     บรรณากร

การศึกษาสมบัติเชิงหน้าที่ของแป้งรากบัวและการประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์เค้ก

ชื่อเรื่อง “ การศึกษาสมบัติเชิงหน้าที่ของแป้งรากบัวและการประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์เค้ก ”

โดย อาจารย์กุหลาบ  สิทธิสวนจิกและคณะ
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร

   ความเป็นเลิศด้านการผลิตบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์สุขภาพและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง           

             จุดเด่นของบทความวิจัยนี้คือ :-

   บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษา:-

  1. สมบัติเชิงหน้าที่ของแป้งรากบัวและการประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์เค้ก
  2. การศึกษาการทดแทนข้าวสาลีด้วยแป้งรากบัวพบว่าส่งผลต่อลักษณะทางเคมีกายภาพและคุณภาพทางด้านประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์เค้ก
  3. บทความวิจัยนี้เป็นการประยุกต์นำเอารากบัวที่มีอยู่ในท้องถิ่นจำนวนมากมาแปรรูปทำอาหารเสริมสุขภาพได้เป็นอย่างดี
  4. บทความวิจัยนี้สามารถนำความรู้ไปสู่ท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ท้องถิ่นจะได้นำความรู้ไปแปรรูปรากพืชชนิดต่างๆให้มีคุณค่าทางโภชนาการและสามารถนำไปจำหน่ายได้ งานวิจัยนี้สามารถนำไปต่อยอดทำ Business Unit ได้เป็นอย่างดี
View Fullscreen

ผลของการทดแทนอะซีซัลเฟม-เค ต่อคุณภาพของแยมผลไม้รวม

ชื่อเรื่อง “ ผลของการทดแทนอะซีซัลเฟม-เค ต่อคุณภาพของแยม  ผลไม้รวม”    

โดย อาจารย์กุหลาบ  สิทธิสวนจิกและคณะ
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร

ความเป็นเลิศด้านการผลิตบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์สุขภาพและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง

จุดเด่นของบทความวิจัยนี้คือ :-

 บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษา:-

  1. การตรวจสอบลักษณะทางด้านเคมีกายภาพและประสาทสัมผัสของแยมผลไม้รวม แยมทุกตัวอย่างเตรียมจากตะลิงปลิงและสับปะรด
  2. บทความวิจัยนี้เป็นการนำผลไม้มาแปรรูปจะทำให้ผู้บริโภคมุ่งเน้นอาหารเพื่อสุขภาพให้พลังงานต่ำ เพื่อหลีกเลี่ยงโรคอ้วน
  3. ในการผลิตแยมผลไม้รวมทดแทนน้ำตาลซูโครสด้วยอะซีซัลเฟม-เคที่ระดับร้อยละ10 ผลิตภัณฑ์มีปริมาณกรด ปริมาณของแข็งที่ละลายได้ทั้งหมด ค่าpHเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคในด้านลักษณะปรากฏ สี การกระจายตัว กลิ่น เนื้อสัมผัส รสเปรี้ยว รสหวานและความชอบโดยรวมสูงไม่แตกต่างจากสูตรควบคุม ตลอดจนผลิตภัณฑ์มีค่าพลังงานลดลง
  4. บทความวิจัยนี้สามารถนำความรู้ไปสู่ท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ท้องถิ่นจะได้นำความรู้ไปแปรรูปผลไม้ต่างๆให้มีคุณค่าทางโภชนาการและสามารถนำไปจำหน่ายได้
  5. งานวิจัยนี้สามารถนำไปต่อยอดทำ Business Unit ได้เป็นอย่างดี
View Fullscreen

การประยุกต์ใช้แป้งกล้วยพรีเจลาทิไนซ์ทดแทนมันหมูในผลิตภัณฑ์หมูยอ

ชื่อเรื่อง “ การประยุกต์ใช้แป้งกล้วยพรีเจลาทิไนซ์ทดแทนมันหมูในผลิตภัณฑ์หมูยอ ”

โดย อาจารย์สุดา  ชูถิ่นและคณะ
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร

ความเป็นเลิศด้านการผลิตบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์สุขภาพและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง

จุดเด่นของบทความวิจัยนี้คือ :-

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษา:-

  1. ผลของการใช้แป้งกล้วยพรีเจลาทิไนซ์ในผลิตภัณฑ์หมูยอ
  2. หาปริมาณที่เหมาะสมของการทดแทนไขมันหมูโดยการใช้แป้ง กล้วยพรีเจลาทิไนซ์ในผลิตภัณฑ์หมูยอ
  3. วิเคราะห์สมบัติทางกายภาพ  ทางเคมีและประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์
  4. ผลการวิจัยสามารถช่วยลดปริมาณของไขมันในผลิตภัณฑ์หมูยอลงได้ โดยหมูยอสูตร B20 ได้การยอมรับจากผู้บริโภคมากที่สุด
  5. บทความวิจัยนี้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอด ในการใช้ประโยชน์จากแป้ง กล้วยน้ำว้าในผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆได้และสามารถนำความรู้ไปพัฒนา  ท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
View Fullscreen

ผลของการแช่ในสารละลายโซเดียมคลอไรด์ต่อสมบัติทางเคมี กายภาพและคุณภาพการหุงสุกของข้าวเหนียวนึ่ง

ชื่อเรื่อง “  ผลของการแช่ในสารละลายโซเดียมคลอไรด์ต่อสมบัติทางเคมี กายภาพและคุณภาพการหุงสุกของข้าวเหนียวนึ่ง ”

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฏิวิทย์  ลอยพิมายและคณะ
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร

   ความเป็นเลิศด้านการผลิตบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์สุขภาพและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง              

            จุดเด่นของบทความวิจัยนี้คือ :-

                              บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษา:-

  1. สารละลายโซเดียมคลอไรด์มีผลต่อสมบัติทางเคมี ทางกายภาพและคุณภาพการหุงสุกของข้าวเหนียวนึ่ง
  2. โซเดียมคลอไรด์ มีสมบัติเป็นสารทำให้เปียกและนิยมมา ใช้ถนอมอาหาร    ในอุตสาหกรรมอาหาร
  3. กระบวนการในบทความงานวิจัยนี้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้เป็นอย่างดีและสามรถนำความรู้ไปพัฒนาท้องถิ่นได้ ตลอดจนให้รู้จักการประยุกต์การถนอมอาหาร เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการและเพิ่มรายได้ให้ประชากรในท้องถิ่น
  4. ควรมีการศึกษาผลกระทบของการใช้โซเดียมคลอไรด์ต่อคุณค่าสารอาหารอื่นๆที่สำคัญ เช่น วิตามินอี รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่นภาวะความดันโลหิตสูงและอื่นๆ
  5. บทความวิจัยนี้เป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบัน
View Fullscreen