Author Archives: Ploy

ผลงานสร้างสรรค์ของคณาจารย์ หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาทัศนศิลป์

ศิลปิน : รศ.พีระพงษ์ กุลพิศาล
ชื่อภาพ : ในหลวงรัชกาลที่10
เทคนิค : สีอะคริลิกบนผ้าใบ
ขนาด : 60×80 ซม.
ปีพ.ศ. : 2561

 

ศิลปิน ​: รศ.ประสิทธิ์​ เวชบรรยงรัตน์
ชื่อภาพ : Dizzy​Summer Time
เทคนิค : สีโปสเตอร์บนกระดาษ
ขนาด : 50×80​  ซ.ม.
ปีพ.ศ. : 2562

 

ศิลปิน : รศ.สมชาย  พรหมสุวรรณ
ชื่อภาพ : สีสรรแห่งทะล
เทคนิค : Stained Glass
ขนาด : 40 x 60 เซนติเมตร
ปี พ.ศ. : 2562

 

ศิลปิน : อ.พัทธนันท์ วรรณพงศ์สิริ
ชื่อภาพ : ผึ้งบวช
เทคนิค : Stained Glass
ขนาด : 50 x 40 เซนติเมตร
ปี พ.ศ. : 2561

อ่านเพื่อสร้างปัญญา

ชวลิต  ผู้ภักดี  นำเสนอบทความจากการแสดงปาฐกถาเรื่องดาดๆ ทั่วไป

ซึ่งผู้เข้าฟังล้วนเป็นนิสิตวิชาเอกภาษาไทยที่มาจากคณะครุศาสตร์ ร่วมกับ เอกภาษาไทยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในหัวข้อเรื่อง

“อ่านเพื่อสร้างปัญญา”

“อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว  แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล”

ในขั้นสรุปก็เห็นจะบอกว่า การอ่านบทกวีทีดีนั้น ต้องอ่านออกเสียง จึงจะเกิดการตีบทไปในตัว และย่อมหมายถึงการนำไปสู่ความเข้าใจความหมาย 

ยิ่งอ่านซ้ำ อ่านบ่อย ก็จะเกิดความเข้าใจถึงนัยแห่งอรรถและอารมณ์สุนทรีย์

อย่างแท้จริง นี่แหละเรียกว่า“อ่านเพื่อสร้างปัญญา” 

 


 

อ่านเพื่อสร้างปัญญา

ท่านผู้มีเกียรติและนิสิตที่รักทุกท่าน

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่านผู้ช่วยศาสตรา ดร. ประณีต ม่วงนวลที่กรุณาให้เกียรติผมได้มีโอกาสมาแสดงปาฐกถา  ในหัวข้อเรื่อง “อ่านเพื่อสร้างปัญญา” เมื่อได้รับเชิญก็เห็นว่าเป็นเรื่องดาดๆ ไม่ต้องถึงขั้นปาฐกถา หากจะจัดให้เป็นเชิงสนทนาก็น่าจะพอแล้ว แต่ก็นั่นแหละเมื่อให้เป็น “ปาฐก” ก็ต้องเป็นไปตามนั้น

ดังนั้น ผู้เขียนจึงตั้งกะทู้ขึ้นในกรอบของหัวข้อนี้ เพื่อพาตัวเองไปให้รอดไม่หลุดกรอบ และให้พอเหมาะกับเวลาที่กำหนด  ว่า”อ่านใจสุนทรภู่ผ่านบทประพันธ์” เพื่อจะนำไปสู่  “การอ่านเพื่อสร้างปัญญา” ตามที่ท่านผู้เชิญกำหนดไว้

ในเมื่อเราจะไปหาตัวท่านสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ผมขอเปิดเรื่องด้วยบทกลอนที่สร้างสรรค์ขึ้น

การพินิจพิจารณ์เป็นงานละเอียด

หากท่านเครียดอาจพลั้งหลงลงล้มเหลว

อ่านอะไรเหมือนไฟลวกรวนเรเลว

ลึกดังเหวคือหนังสือในมือเรา

 

วันนี้แปลกไหมล่ะ ปะทะหน้า ด้วยบทกลอนเลยทีเดียว กลอนที่ปะหน้านี้แต่งไว้นานแล้ว ประมาณ พ.ศ.  ๒๕๒๑  ในวาระที่เข้าร่วมการประชุมเรื่องการสร้างกิจกรรมการอ่านเพื่อกระตุ้นให้เด็กไทยมีนิสัยรักการอ่าน ระดับภูมิภาค ณ วิทยาลัยครูจันทบุรี หรือ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ในปัจจุบัน ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงของการระดมสมองของคณาจารย์ในส่วนภาคกลาง

การจัดการประชุมครั้งนั้น เกิดขึ้นเพราะผลวิจัยระดับสากล เสนอต่อองค์การยูเนสโก ว่าเด็กไทยมีสถิติการอ่านหนังสือน้อยที่สุดทั้งจำนวนผู้อ่าน และระดับของการอ่าน  ที่ผลวิจัยออกมาเป็นตัวเลขน้อยจนทำให้องค์กรระดับโลก ต้องทุ่มทุน ๑๐๐ ล้านบาท (สมัยนั้น) ให้กับประเทศไทยจัดระดมสมองเพื่อหาทางให้เด็กไทยมีนิสัยรักการอ่าน

ในฐานะที่ผู้เขียนบทความนี้ได้รับเกียรติเป็นประธานกลุ่มย่อยที่ต้องนำผลสรุปของกลุ่มเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ และเพื่อให้เกิดสีสันในการนำเสนอ จึงคิดเขียนคำกลอนดังกล่าวขึ้นระหว่างรอที่ต้องเป็นผู้สรุปของกลุ่ม

ก่อนอื่น ต้องขออนุญาตคุ้ยเรื่องเล็กๆ อีกสักหน่อยว่า เรื่องก็มีอยู่เพียงนิดเดียวจริงๆ นั่นก็คือ   บังเอิญมีผู้นำเสนอทางโทรทัศน์ ได้เสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับภาษาไทยนี่แหละเป็นรายการสั้นๆ โดยเสนอคำว่า

“อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ”

ซึ่งมาจากบทกลอนของกวีไทยท่านหนึ่งที่ได้รับการยอมรับ และยกย่องให้เป็นกวีของโลกไปเรียบร้อยแล้ว ท่านคงนึกออกซีนะว่าท่านผู้นั้นคือสุนทรภู่บรมครูแห่งคำกลอนที่คนไทยทุกคนภาคภูมิใจอย่างยิ่ง

ผู้นำเสนอกล่าวถึงคำว่า “กาเล” ที่ตามหลังคำว่า ”นินทา” มานั้นขอใช้คำว่าท่านกล่าวหาว่า เป็นคำที่หาความหมายมิได้กวีคงจะเติมเข้าไปเพื่อความคล้องจองตามทำนองทำเนียมสัมผัสเท่านั้น   นับว่ากวีกล่าวขึ้นมาลอยๆ ไม่สื่อความหมายใดๆ ตรงนี้แหละท่านที่เคารพ รักทุกท่าน  ในฐานะที่เป็นผู้รับฟังในวันนั้น  รู้สึกคับข้องใจเป็นอันมาก   และ   รู้สึกผิดหวังเป็นกำลังเพราะท่านผู้วิพากษ์นั้น ท่านก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ใครๆ ยกย่องแล้วว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาและวรรณคดี   ก็เลยพาลคิดไปว่า เอ  ถ้าไม่รู้จริง หรือไม่ได้วิเคราะห์มาก่อน ก็ไม่น่าจะหยิบยกมาบอกมาเล่ากันให้เข้าใจผิด โดยเฉพาะทางสื่อวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อที่แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

เอ้า!เข้าเรื่องกันเลยดีกว่าก่อนอื่นต้องทำความตกลงในเบื้องต้นเสียก่อนว่า ท่านสุนทรภู่ครูกลอนสุนทรหวานนี้ กว่าจะได้รับการยอมรับ  และองค์กรสำคัญยอมรับให้สถาปนาท่านขึ้นเป็นกวีเอกของโลกนั้น ย่อมเกิดแต่การสืบสวน สอบสวน เก็บข้อมูล ผ่านการวิพากษ์และวิจารณ์มาแล้วว่า“ดีเด่น”ในแง่มุมใด เป็นหลายขั้นหลายตอนทีเดียว

 

การที่ผู้นำเสนอในรายการอะไรก็ไม่รู้มาเสนอแนววิเคราะห์ว่า  ท่านผู้รจนาคงไม่มีเจตนาจะให้เกิดความหมายใดๆ  นอกจากจะส่งสัมผัสให้ได้ระหว่าง กาเล กับ เทน้ำ  เพื่อให้ เล สัมผัสกับ เท โดยมีคำว่าเหมือนมาคั่นไว้เท่านั้น นับเป็นการวิเคราะห์ หรือพิพากษาที่น่าเสียดายและพลาดมากที่สุด ถ้าเป็นเช่นนี้นับว่า ก่อให้เกิดความเสียหายในหมู่ผู้ที่พิจารณาให้ท่านบรมครูสุนทรภู่ได้รับการยกย่อง ถึงระดับโลก

ในบทกวีของสุนทรภู่นั้น  นักวิจารณ์ระดับปรมาจารย์ที่ทุกคนยอมรับเป็นเอกฉันท์แล้วว่า ทุกคำที่ไหลหลั่งพรั่งพรูออกมาจากทุกสำนึกที่ท่านจรดปลายปากกาจนปรากฏเป็นบทกวีนั้น ล้วนแต่เป็นคำที่ต้องสรรมาใช้เพื่อสื่อความหมายได้ทั้งสิ้น ไม่มีคำใดไม่บริสุทธิ์หรือพูดง่ายๆ ก็คือ  ไม่มีคำที่ไม่ใช้ หรือขอย้ำ ไม่มีคำที่ใช้ไม่ได้ หรือกล่าวขึ้นมาลอยๆแม้แต่คำเดียว อัจฉริยะในเชิงภาษาและเชิงกวีของท่านจึงควรแก่การยกย่องเป็นที่สุด

 

นอกจากจะใช้ “สื่อสารได้เสนาะความแล้ว ยังเสนาะเสียง   แถมยังแนบแน่นด้วยเสน่ห์คำที่สนองความทุกคำไป”

 

เมื่อเป็นเช่นนี้คำว่า  “กาเล” ของท่านสุนทรภู่ต้องไม่ใช่ธรรมดาแน่ๆผู้เขียนจึงใคร่เสนอแนววิเคราะห์ตามกำลังปัญญาอันด้อยและน้อยนิดกับเขาบ้าง นี่ไม่ใช่ดันทุรังเพื่อให้สุนทรภู่เป็นคนดีบริสุทธิ์หรอกนะ  เพียงแต่จะท้วงติงนักวิเคราะห์ระดับใดก็ตามว่า  ก่อนที่จะลงดาบใครลงไปว่าเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ขอได้โปรดพินิจด้วยเถิดเพราะ “ลึกดังเหวคือหนังสือในมือเรา”

 

“อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ        ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน”

 

อาการสัมผัสในของวรรคแรกคือ  “ทา-กา” นี้เป็นสัมผัสคู่  ส่วนสัมผัสคั่นคือ “เล– เท”ที่ว่าคั่นนั้นคือคำว่า “เหมือน” เป็นคำคั่นระหว่าง “เล กับ เท”เป็นความว่า

“นินทากาเลเหมือนเทน้ำ”

ทุกคนที่ใส่ใจในคำกลอนของสุนทรภู่จะรู้ดีว่าดีว่า  แพรวพราวไปด้วยสัมผัส จนกระทั่งกวีในยุคนั้น ที่ชื่อคุณสุวรรณนำไปล้อเลียน แล้วเขียนเป็นกลอนบทละครเรื่องพระมเหลเถไถ อันนี้แหละที่เปรียบเทียบว่า หลายๆคำที่ปรากฏในคำกลอนอาจไม่สื่อความหมายโดยตรง แต่ถึงกระนั้นคุณสุวรรณก็ยังแอบแฝงอะไรที่น่าคิดไว้ในความรู้สึกของผู้อ่านเป็นแน่แท้เช่น

 

เมื่อนั้น                          พระเมเหเถไถมะไหลถา

สถิตยังแท่นทองกะโปลา      สุขาปาลากะเปเล

 

นี่ขนาดล้อเลียนนะ  ยังได้ความหมายในเชิงความรู้สึกถึงเพียงนี้    คำว่า   “มะไหลถา   กะโปลา  กะเปเล”ประหนึ่งว่าจะหาความหมายไม่ได้ นักวิจารณ์หลายคนก็ว่าผู้รจนาสติเสียแต่เมื่อพิจารณาให้เข้าถึงและเข้าใจแล้ว แท้จริง คุณสุวรรณ ท่านต้องมีนัยที่ลึกกว่าแค่เพียงการล้อเลียนลองอ่านออกเสียงดูทีรึความหมายมันเกิดแต่ในน้ำเสียงใช่รึไม่  เพราะการจะสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้นนั้นต้องใช้ภูมิปัญญา ไม่ใช่ขีดๆเขียนๆอย่างมักง่าย(ขออภัย ไม่สุภาพ)

 

กวีต้องการชี้ให้เห็นว่าภาษาเป็นเรื่องของการใช้ภูมิปัญญาทั้งผู้เขียนและผู้อ่าน  ภาษาเป็นเครื่องมือที่แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์จรรโลงอย่างวิจิตรพิสดาร  อยากให้คนรุ่นใหม่ไปแตะหนังสือเล่มนี้ซักนิด  เพียงแค่แตะก็พอ หรือ  แค่แลไปก็ได้

ปัจจุบันนี้น่าจะไปแอบอยู่ตามร้านหนังสือเล็กๆ แถววังบูรพา ลองไปเดิ่นที่สำนักพิมพ์คลังวิทยาก็น่าจะยังพอมีอยู่  หรือแผงหนังสือเก่าน่ะที่สำคัญท่านต้องอ่านออกเสียงแล้วสำเหนียกนึกเพียงแว่บเดียว (ไม่ใช่แกะทีละคำนะ) ตัวอย่างคำว่า

 

พระมเหลเถไถมะไหลถา  สถิตยังแท่นทองกะโปลา

 

น้ำเสียงมีอะไรฝากไว้นิดๆ    นี่ไม่ใช่ดันทุรังนะอาจไม่ได้ศัพท์ แต่ทว่าได้สำเนียง อ่านไปทั้งเรื่องก็เป็นเรื่องเป็นราวได้ความได้สาระ แล้วจะว่าคำไม่สื่อสารได้อย่างไร เอาเฉพาะคำว่า “กะโปลา” ที่ตามแท่นทองมาติดๆ นั่นแหละ ที่มีนัยที่ตรงกันข้ามกับ  “กะโปโล” อย่างไรล่ะท่าน

ดังนั้น “มะไหลถา” ที่ตาม “พระมเลเถไถ”นี้นั้น   หมายความเอาเองรับรองได้ความแน่นอน ผู้นิพนธ์มิได้เสียสติแต่อย่างใด

 

ก่อนจะไปถึงคำว่า“นินทากาเล”มาได้ยังไงนั้น ขอทำความตกลงในอีกครั้งว่า ข้อความที่ว่า

“อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน”ต้องอ่านเอาความกันก่อนจะเห็นว่า กวีมีเจตนาจะให้ปลง อย่าถือเอาเป็นเหตุปัจจัยให้ต้องกังวล จนเป็นเรื่องราวลุกลามไปเป็นสำคัญหากท่านสังเกตและเก็บความจะพบว่าปรากฏอยู่ในหลายที่หลายครั้งที่กล่าวถึงการนินทา เช่น “แม้แต่องค์พระปฏิมายังราคิน   ………………….. วรรคที่หายไปต่อเอาเองนะ   นี่แหละ ครูกลอนสุนทรภู่ ท่านต้องการจะแฝง (ไม่ได้ฝัง) แง่คิดไว้ทุกหนทุกแห่ง

กลับมาวิเคราะห์กันดีกว่า นั้น น่าจะมีที่มาอยู่สองคำ คือ คำว่า กาลกับคำว่า กาลี  “กาล”หมายถึง เวลา ระยะ ครั้ง หรือคราว  กวีแผลง “กาล – กาละ – กาเล”เพื่อให้ไปสัมผัสกับ เท   และเจตนา ให้หมายความว่า “เวลาใดๆ” การใช้เวลาไปกับการนินทาก็ดี หรือทีได้ยินหรือรู้ หรือเห็นการนินทาก็ตาม  จงได้คิดเสียว่าไม่เจ็บไม่ปวด ไม่ใช่ความยุ่งยาก  ไม่ใช่ความเดือดร้อน เป็นการเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์  แล้วท่านก็ให้พิจารณาหรือลองเอามีดไปกรีดหินดูรึว่ามีร่องรอยบ้างไหมท่านต้องการให้เห็นว่า นั่นไม่เจ็บไม่แสบ ถ้าเป็นเช่นนี้ประโยคเดิมก็น่าจะต้องการใช้คำว่า “กาล” กลอนนี้พื้นเพก็ต้องเป็น

“อันนินทากาลเหมือนเทน้ำ”   เช่นนี้ท่านจึงแผลง “กาล”เป็น  “กาเล”

คราวนี้ถ้าประโยคเดิมเป็น   “อันนินทากาลีเหมือนเทน้ำ”“กาลี” ย่อมไม่ส่งและรับสัมผัสกับ  “เท”ท่านจึงแผลง อี เป็น เอ ตรงนี้ยิ่งชัดเจนมากขึ้น

ส่วนคำว่า “กาลี”  โดยความเข้าใจทั่วไป มีความหมายเป็นที่เข้าใจว่า ชั่วร้าย  หรือ  ใช้ “กาลเวลา” ไปในทางที่เป่าเปลืองอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระแม่อุมา  หรือ ปวารตี ชายาพระอิศวร     ซึ่งการแสดงออกของพระแม่อุมา มีลักษณาการที่โกรธเกี้ยว ดุดัน  แต่นั่นต้องมีเหตุและผลที่ต้องศึกษา หรือแกะรอยให้เข้าถึงเนื้อแห่งความเป็นมาขอความโหดร้ายนั้น

กลับมาที่เรื่องที่กำลังวิเคราะห์กันต่อไป  ดังได้กล่าวโดยหลักแล้วว่า สระอี  แผลงไปเป็น สระเอ  สระไอได้  ดังนี้  “กาเล”  จึงมาจาก กาลี หรือ “กาล”   ที่เป็นคำสำคัญในกอนวรรคนี้  “การนินทากาลี”  นั่นเอง

 

ดังนั้น นัยของเจตนาก็คือ การฆ่าเวลาให้หมดไปกับการนินทา หรือ  นินทาเป็นเรื่องของความมืดมน ความไม่เข้าท่า อย่างที่เรียกว่า “คนจนแต้ม”เท่านั้นจึงนิยมการนินทา  แต่ท่านสุนทรภู่คงไม่มีเจตนาที่จะให้แปลว่าชั่วร้าย   เพราะจะทำให้ผู้ถูกนินทาตัดใจไม่ได้   หากแต่ว่าท่านต้องการให้คิดเสียว่า

“จงอย่าไปถือสาหาความกับคนประเภทนี้” นี่แหละเป็นดีที่สุด

ท่านบรมครูพยายามเปรียบให้เห็นว่า   ไม่ต้องไปอิดหนาระอาใจกับคำนินทา   อย่าไปเสียเวลาหรืออย่าไปทำให้ใจเราต้องขุ่นมัว ให้คิดเสียว่าเป็นเรื่อง ธรรมดาๆ ก็เท่านั้นเอง

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมสรุปได้ว่า ไม่มีคำใดในคำกลอนของสุนทรภู่ เลื่อนลอย ซึ่งไม่ปรากฏคำสอนที่ใดเลยว่า ใช้คำอะไรก็ได้ในประโยค  ทุกประโยค และทุกคำประพันธ์ที่ดีนั้นต้องใช้คำที่ต้องใช้ หรือจำเป็น จริงๆ ซึ่งในที่นี้จะสื่อให้ง่ายก็คือ  “การใช้ใช้เวลาไปกับการนินทาย่อมไม่ยังประโยชน์หรือโทษใดๆ ต่อผู้ถูกนินทา” ก็เท่านั้นเองท่านแนะให้รู้จักปลง  ไม่โกรธ  หรือ ไม่โต้ตอบ

อันที่จริงยังมีคำที่ใช้แล้วยังเป็นปัญหาอีกคำหนึ่งคำนั้นก็คือ“สันดาน ที่สร้างความร้าวฉานขึ้นในหัวใจ ทั้งของผู้ใช้ และผู้ถูกกล่าวขวัญถึง  ซึ่งมุ่งไปในทางขวัญเสียเป็นส่วนใหญ่ในกมลสำนึก

คำว่า “นินทา” ก็ดี “สันดาน” ก็ดี สองคำนี้โบราณท่านใช้ทั้งแง่ดีก็ได้แง่ร้ายก็สนุก ไม่จำเป็นต้องนินทากันในเรื่องร้ายเสมอไป เช่น บางรายก็จับวงคุยกันถึงเพื่อนที่ “แต่ง” เพื่อแต่งตัวดี แต่งหน้าแต่งตาเก่ง แต่ก็สวยเหมาะสมนี่ก็เป็นการนินทาเหมือนกัน เพราะพูดลับหลัง  แต่ทว่าเป็นไปในบางชื่นชม

 

ส่วนคำว่า “สันดาน” ตามศัพท์ แปลว่า “ต่อพร้อม”แต่ผู้บ่นต้องการจะหมายถึงอุปนิสัยพื้นฐาน พูดให้ชัดลงไปก็เห็นจะเป็นว่าอาการใดพฤติกรรมใด หรือสิ่งที่แสดงออกจนเป็นนิสัยอย่างเป็นปกติโดยไม่ต้องดัดกิริยา หรือเสแสร้งพร้อมที่จะแสดงออกได้ทันที ก็เรียกว่า “สันดาน” เช่นในบทสวดมนตร์แปลที่ ว่า

“ส่องสัตว์สันดาน    สว่างกระจ่างใจมล” ลองหาความหมายดูทีรึ

ปัจจุบันจะหมายเอาว่า เป็นคำด่าไม่สุภาพ คำสบประมาท หรือเป็นคำที่กล่าวร้ายผู้อื่นอันที่จริงแล้วโบราณท่านใช้“สันดาน”กับสิ่งดี กิริยาดี กับพฤติกรรมดีๆ ที่ทำสม่ำเสมอ เช่น เด็กที่ชอบอ่านหนังสือเป็นประจำ ว่างเมื่อไรเป็นคว้าหนังสืออ่านทันทีโดยไม่ต้องบอก ต้องเตือนผู้ใหญ่ก็จะทำเสียงพูดเหมือนกับเอือมระอา แต่ทว่าเจือกับน้ำเสียงชื่นชมว่า  “อ้ายหนูมันสันดานชอบอ่านหนังสือ”คนตื่นเช้า ทำงานดี ก็เรียกว่า “สันดานดี” ไม่เห็นต้องร้ายเสมอไป  ต้องขออภัยที่หลุดโลกไปหน่อยนะที่พยายามบ่นมายืดยาว อย่ากระนั้นเลย กลับมาวิเคราะห์คำว่า  “กาเล”กันต่อนะถ้าจะกล่าวให้ชัดลงไปก็คงได้เป็นสามประเด็นด้วยกันคือ

ประเด็นแรก  “อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ” นั้นสุนทรภู่ท่านต้องมีเหตุ มีความหมาย มีที่มาที่ไปแน่นอน การแผลงคำเป็นต่างๆนานานั้นในทางประพันธ์ท่านเรียกว่า “กวียานุโลม” คืออนุโลมเฉพาะกวี แต่ไม่ใช่อนุโลมให้แผลงเรื่อยเปื่อยนะ  ท่านจะเลือกเอาคำว่า  “กาเล”เป็นคำแผลงที่มาจากคำว่า  กาล – กาละ – กาเล หรือจะเลือก กาเล ว่าแผลงมาจากคำว่า กาลี ก็ตามแต่ท่านขออย่างเดียวต้องมีเหตุผลมาอธิบาย นับเป็นอิสระของท่านผู้อ่าน อันนี้เป็นประเด็นในเรื่องที่มาของคำ

ประเด็นที่สองคือ  การแปลเจตนา หรือการตีความบทประพันธ์ ความต้องการอันสำคัญของสุนทรภู่นั้นแน่ชัดทีเดียวว่า“สอนให้ปลง สอนให้ละความโกรธ ละความหงุดหงิดต่อเสียงซุบซิบนินทา และอย่าใฝ่ใจให้รู้จักว่าคนก็คือคนวันยังค่ำ”  นั่นเอง ประสบการณ์ของตัวท่านสุนทรภู่เอง ก็คงถูกนินทามาไม่น้อย ไม่ว่า ชาย หรือ หญิง หรือกล่าวได้ว่า มนุษย์ทุกรูปทุกนามย่อมนินทา ย่อมถูกนินทา และบางครั้งยังบังเอิญนินทาตัวตนด้วยซ้ำ

ประเด็นที่สาม  ผู้วิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลายต้องไม่ผลีผลามหรือ รีบลงดาบทันทีว่าอะไรเป็นอะไรโดยไม่สืบหาที่มาที่ไป  ต้องพยายามคิดไว้ก่อนว่า“กวีที่มีระดับท่านนั้นต้องการแฝงความหมาย  แฝงนัย และ แฝงปัญญาทรรศน์ของท่านไว้แล้ว  การที่ท่านรจนาไว้นั้นท่านต้องมอง หรือ เล็งไว้แล้วว่า ผู้อ่านคือ ผู้ทรงภูมิปัญญาย่อมสนานในคำและหรือกรณีที่ผู้อ่านอ่านกันอย่างดาดๆ ทั่วไปก็จะได้ความสนุกในน้ำเสียงสนานในเรื่องราว มิน่าล่ะ ชะรอยท่านบรมครูจะระแวงว่าลูกหลานเหลนโหลนในวันนี้ จะไม่รับท่านก็เลยกล่าวไว้ ดูเหมือนนอกจากในพระอภัยมณีแล้ว ยังปรากฏในขุนช้างขุนแผนว่า 

“อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว  แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล”

ในขั้นสรุปก็เห็นจะบอกว่า การอ่านบทกวีทีดีนั้น ต้องอ่านออกเสียง จึงจะเกิดการตีบทไปในตัว และย่อมหมายถึงการนำไปสู่ความเข้าใจความหมาย  ยิ่งอ่านซ้ำ อ่านบ่อย ก็จะเกิดความเข้าใจถึงนัยแห่งอรรถและอารมณ์สุนทรีย์อย่างแท้จริง นี่แหละเรียกว่า“อ่านเพื่อสร้างปัญญา”  อย่างไรล่ะ

 ……………..สวัสดี…………………

มองพระอภัยมณีในเชิงอุปลักษณ์ ตอน นางวาลีรูปชั่วตัวดำแต่….

ชวลิต ผู้ภักดี  วิเคราะห์  นางวาลี   ที่เป็นตัวละครตัวหนึ่ง

ใน

พระอภัยมณี ที่ออกมาปรากฏกายอันแปลกประหลาดใน

กมลสำนึกของผู้อ่าน ว่า  ท่านสุนทรภู่ คิดอย่างไรจึงให้

นางวาลีอัปลักษณ์จนเหลือเชื่อ

แต่แท้จริงแล้ว  ทุกการอ่าน ต้องอ่านอย่างพินิจให้เข้าถึง

นางวาลีจึงน่าจะเป็นอุปลักษณ์หนึ่ง ที่พึงพิจารณา


 

มองพระอภัยมณีในเชิงอุปลักษณ์

ตอน

นางวาลีรูปชั่วตัวดำแต่……

                  

           วันนี้เข้าเรื่องเร็วหน่อย เพราะอย่างไรเสีย  ชีวิตและบทบาทของนางผู้นี้ก็สั้นเต็มที่ แต่ก็ต้องยอมรับนะว่า พระเอกของเรื่องนี้ เสียดายอยู่ครามครัน    ศัพท์คำนี้ “วาลี” ผู้วิเคราะห์ได้พยายามสืบค้นในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย์หลาบรอบแล้วก็ไม่พบ  หรืออาจจะเป็นเพราะอ่านข้ามก็เป็นไปได้ เพราะอย่างไรเสีย พจนานุกรมฉบับดังกล่าวก็มากไปด้วยท่านผู้รู้ทั้งสิ้น ท่านคงไม่ละเลยคำเหล่านี้ “นางวาลี” ไปได้

 

           เมื่อเป็นดังที่เล่าขานมาแล้ว ก็คงต้องอาศัยการพิจารณาไปเท่าที่จะสร้างความน่าเชื่อได้บ้าง หรือไม่เช่นนั้นก็ลดภาวะความอยากรู้ให้บรรเทาเบาบางลงได้บ้าง

 

           สุนทรภู่นี่ท่านหนีน้ำไม่พ้นเลย นางที่หนึ่ง ก็มาแต่น้ำ หากแต่ว่ามีชื่อเหมือนติดปีกเป็นลวดลายงามมากมาด้วย ที่สำคัญ ให้ตัวโต เขี้ยวขาวยาวโง้ง ดุเดือดเป็นอันดับแรกออกมาสร้างสีสันให้กับเรื่องนี้อย่าง เสียอยู่นิดเดียว ตัวหนักไปสนุกสนานเมามันไปกับท้องเรื่องอย่างที่เรียกว่าทิ้งไม่ได้

           ส่วนนางที่สองก็น้ำอีก ทรวดทรงองค์เอว ของนางนั้นอ่อนช้อย  แต่เรี่ยวแรงอันเกิดจากความพยายามมากมายเหลือล้น ไม่ดุดัน ราบเรียบไม่มีพิษภัย เพียงมีหางเป็นปลา  ถึงกระนั้นนางก็น่ารักชวนพระอภัยให้เกิดพิสวาสไม่น้อย

         

           สำหรับนางที่จะวิเคราะห์นี้ ถ้าเพียงฟังชื่อโดยไม่อ่านหนังสือเรื่องนี้  เชื่อแน่ว่าร้อยทั้งร้อย ก็คิดว่านางคือน้ำอีกแน่  เพราะนางชื่อ “ววาลี” ซึ่งเสียงคล้าย หรือใกล้เคียงกันมากกับคำว่า  “วารี”  ที่แปลว่า  น้ำ  แต่ที่ไหนได้  เป็น “วาลี”    ผู้วิเคราะห์

มิกล้าระบุว่า ครูบาอาจารย์ที่สอนมานั้นท่านเคยอธิบายไว้หรือไม่ ก็ไม่สู้แน่ใจนัก เพราะระหว่าง “วาลี ฏับ วารี” นั้นใกล้กันจนคิดว่าเป็นคำเดียวกัน    หรือท่านอาจจะแปลความให้แต่เราไม่ได้ยิน หรือว่าไม่ตั้งใจจะฟังก็เป็นได้

ณ  บัดนี้ลองมาวิเคราะห์ กันดูทีรึว่า  “วาลี คืออะไร หมายความ หรือมีที่ไปที่มาของคำนี้อย่างไร

 

วาลี (๑)น่าจะมาจากภาษาฝรั่ง ว่า ดับเบิ้ลยู เอ็ช เอย์ แอล  อี (WHALE)ออกเสียงว่า วาล หรือ เวล ที่นักสัตวศาสตร์ก็ไม่อาจระบุได้ชัดว่า เป็นปลาหรือไม่ หากแต่ทรวดทรงองเอวก็คือปลานั่นเอง เพียงแต่ว่า เป็นสัตว์เลือดอุ่นเลี้ยงลูกด้วยนม  อาศัยอยู่ในทะเลลึก มีทั้งวาลดำ วาลด่าง และฉลามวาล นับเป็นความหลากหลายอยู่ไม่น้อย   ที่คนไทยเราเรียกว่า ปลา “วาฬ” หรือ “วาล”  มาแต่ไหนแต่ไร เดิมเขียนคำนี้สะกดด้วย /ฬ/ จุฬา หรือ ฬ บาลี แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น /ล/  เท่าๆ กับ คำว่า “บาลี” ซึ่งโบราณ เขียนว่า “บาฬี”    ว  สระ อา  ล(ลิง) ก็น่าใช่นะ เพราะบรรดาชายาของพระอภัย ค่อนข้างจะเจอกันในน้ำ อย่างน้อย ก็ ๒ นางแล้ว 

เหตุผลประกอบ “วาล”(๑) ก้มีพอยืนยัน ว่า สมัยที่สุนทรภู่ท่านแต่งเรื่องพระอภัยมณี นั้นเป็นระต้นของรัตนโกสินทร์ ที่ขณะนั้น ชาวตะวันตกเข้ามาเมืองไทยมากมายหลายชาติ ภาษาอังกฤษกำลังอยู่ในความสนใจของคนไทยไม่น้อย

วาลี(๒) มาตามไปวัดบ้าง   วาลี  นี่น่าจะมาจากคำว่า วาล ในภาษาบาลี สันสกฤต ก็เป็นไปได้  ที่แปลว่า หาง  ขนหางสัตว์ ศัพท์คำนี้ ท่าน ปานิณิ ท่านว่า เป็นเพศชาย(ปุงคลิงค์)  เพื่อให้เป็น อิตถีลิงค์ ท่านเลยสวมวิภัติปัจจัย  อี  เข้าไป  วาล จึงเป็นวาลี  จาก วาลี  เป็น วลัย    เป็น  วาลย์  ที่เรา ๆ ท่านๆ นำไปเติมอุปสรรค์  สํ  +  วาลย์  เป็น สังวาลย์

ตกลงจะเอายังไงดี ปลาวาลก็น่ารัก  ขนสัตว์ก็งามอยู่    ลองดูซี     สุนัขไม่มีขน น่ารักมั้ยล่ะไม่อย่างงั้นจะมีคำพังเพยที่ว่า “ไก่งามเพราะขน” ไว้ทำไม

ในกรณีวาลี (๒) นี่ก็น่าคิดอยู่ เพราะประมวลเข้ากับคำพังเพยที่ว่า   “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง”  ซึ่งการวิเคราะห์ให้เข้ากับความเป็นไทยน่าจะเป็นปได้หรือไม่นั้นท่านทั้งหลายต้องเก็บเอาความเฉพาะนางวาลีมาเป็นเครื่องมือสนับสนุน  

          ยังไม่รู้คำตอบว่าท่านสุนทรภู่จะยึด วาล(สัตวน้ำ) ที่มีคุณลักษณะพิเศษจนไม่สามารถจะใช้คำนำหน้า ว่า ปลา มาวิเคราะห์เจาะไช กันให้ถึงก็จะดีกว่า  เมื่อนั้นค่อยตัดสินกันว่าจะเอา(๑)  หรือ(๒)  เป็นคำแปล ให้รู้เรื่องกันไป

 

นิทานของจินตกวีเอกของโลก เรื่องพระอภัยมณี แม้จะเป็นของท่านสุนทรภู่ก็จริง เล่มที่อยู่ในมือท่านทั้งหลายนั้น ท่านวาดไว้ยาวมาก แต่ฉะเพราะ ตอนของนางวาลีนี้จะดำเนินไปดังที่จะกล่าวในย่อหน้าต่อไปนี้

 

การเปิดตัวนางเอก(ตัวละครตัวที่ ๓) ก่อนอื่นต้องยอมรับนะว่า พระอภัยฯ พบนางสุวรรณมาลี ก่อนนางวาลี  แต่กว่าจะได้นางสุวรรณมาลี ก็เหนื่อยมากทีเดียว ก็ได้อุบายจากนางนี่แหละจึงสำเร็จเสร็จสิ้น

 ในส่วนของนางวาลีนั้น  นางเข้ามาเสนอตัวอย่างชนิด ดุเดือด แต่ไม่ดุดัน   เข้ามาในจังหวะ เวลา  และเงื่อนไขที่เหมาะสมจนผู้อ่านคาดเดาไม่ถูก นางหนึ่งงามสุดเดชสุดฤทธิ์ แต่อีกนางหนึ่งจะใช้คำว่าขี้เหร่ก็ยังนับว่าชมอยู่ ต้องเรียกว่าขี้ริ้วชนิดสุดฤทธิ์สุดเดชเลยทีเดียว  ถ้ามองอย่างนักวิจารณ์นวนิยายก็ต้องยอมรับนับถือกลยุทธ์ในการแทรกตัวละครตัวใหม่ให้เข้ามาอย่างแนบเนียนมาก ดังบทที่ว่านี้

 

อยู่มาภายหลังยังมีสตรีหนึ่ง                   อายุถึงสามสิบสี่ไม่ผัว

ชื่อวาลีสีเนื้อนั้นคล้ำมัว                         รูปก็ชั่วชายไม่อาไลยแล

ทั้งกายาหางามไม่พบเห็น                       นั้นเป็นรอยฝีมีแต่แผล

เป็นกำพร้ามาแต่หล่อนยังอ่อนแอ           ได้พึ่งแต่ตายายอยู่ปลายนา

เป็นเชื้อพราหมณ์ความรู้ของผู้เฒ่า         แต่ก่อนเก่าเดิมบุราณนานหนักหนา

เป็นมรดกตกต่อต่อกันมา                      นางอุตส่าห์เรียนเล่าจนเข้าใจ(๓๓๕)

 

การเปิดตัวละครแต่ละตัวของท่านบรมครูผู้มีจินตทัศน์อันวิเศษ ขนาดตัวที่สามแล้วน่าจะให้งานกว่านางสุวรรณมาลี  แต่กลับยิ่งขี้เหร่มามากเสียอีก นี่เอง ที่ท่านทำให้ผู้ คนอ่านถึงติดงอมแงมไง ว่า เมื่อไรเทวาจะอุ้มสมสักที  อุ้มแรก เทวดายังไม่ตื่น เพราะมัวนอนหลับพับไปพับมากับเสียงปี่ เล่นเอาพระอภัยต้องไปปีนภูเขามหึมา ครั้งที่สองก็หลับๆตื่นๆ สวยขึ้นเป็นรูปเป็นทรง สมหน้าสมฐานะแต่ก็ยังต้องออกแรงอีกมาก มาครั้งนี้ก็ หมด  หมดทั้งตัว หาดีไม่ได้  น่าสงสารพระอภัยฯ จริงๆ  ความหล่อของพระอภัยฯ นี่ช่างมี่อุปสรรคมากมายขนาดนี้

 

          มาติดตามต่อไปอีกนิดหนึ่ง นะ นางคนนี้ทำอะไร  เป็นอย่างไร  และคิดอะไร  ทำไมจึงเข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างกลมกลืน หากแต่เป็นความกลมกลืนในความขัดแย้ง

                                                          นางอุตส่าห์เรียนเล่าจนเข้าใจ

รู้ฤกษ์พาฟ้าดินสำแดงเหตุ           ทั้งไตรเพทพิธีคัมภีร์ใสย

คนเจนแจ้งแกล้งเอาเข้าเผาไฟ     มิให้ใครพบปะพระคัมภีร์(๑)

ถึงหน้านาฟ้าฝนจะชุกแล้ง           ช่วยบอกแจ้งตายายให้ย้ายที่

จนได้ผลคนภานางวาลี                เป็นหมอดีดูแลแน่สุดใจ(๒)

 

บทวิเคราะห์ 

นางวาลีมีพฤติกรรมพิเศษที่แปลกแหวกแนวจากคนทั่วไปเหมือนหน้าตาที่อัปลักษณ์กระนั้นหรือ ที่สุนทรภู่ท่านว่าเมื่อเจนจบแล้วนางเผาตำราเสียสิ้น ตาม(๑)  วิเคราะห์ได้ดังนี้

รู้ฤกษ์พาฟ้าดินสำแดงเหตุ           ทั้งไตรเพทพิธีคัมภีร์ใสย

ครั้นเจนแจ้งแกล้งเอาเข้าเผาไฟ   มิให้ใครพบปะพระคัมภีร์(๑)

(๑.๑)ทำอะไร  นางเรียนวิชาเสร็จเรียบร้อยแล้วทำการเผาตำราทิ้ง

นี่เป็นวิธีหนึ่งของคนโบราณแทบทั้งนั้น(ใช้คำว่า แทบ นะ ไม่ทั้งโลก)

(๑.๒)เป็นอย่างไร เป็นคนที่คิดอย่างคนโบราณที่จะมอบวิชาให้เฉพาะลูกคนใดคนหนึ่งที่พิจารณาแล้วว่าสามารถรับและสืบทอดอาชีพนี้ได้ ถ้าไม่มีจะเผาตำราทิ้ง หรือถ้าเป็นเครื่องไม้เครื่องมือก็จะโยนลงน้ำทิ้งให้สูญหายไปพร้อมกับตน อาการหวงแหนวิชานี่มีสืบต่อกันในหลายชาติหลายเผ่าทีเดียว

          (๑.๓)คิดอะไร  พฤติกรรมของนางวาลีที่เผาตำราทิ้ง อาจมองในแง่ที่ว่านางเป็นคนมีปมด้อยจึงต้องการสร้างปมเด่นให้ตนเองอย่างที่ไม่มีใครเทียมนางได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจวิธีหนึ่ง โดยเฉพาะในแง่ของสติปัญญา

(๒)นับเป็นพฤติกรรมที่พิเศษของนางที่ใช้วิชาความรู้ช่วยเกื้อกูลผู้คน ให้เข้าใจในตัวนางหรือกล่าวได้ว่า นั่นคือตัวตนของนางวาลีเชียวละ

ถึงหน้านาฟ้าฝนจะชุกแล้ง           ช่วยบอกแจ้งตายายให้ย้ายที่

จนได้ผลคนภานางวาลี                เป็นหมอดีดูแลแน่สุดใจ(๒)

(๒.๑)   นางวาลีทำอะไร  ทำในสิ่งที่ทุกคนในละแวกนั้น   ต้องยอมรับในความสามารถในความปราดเปรื่องที่สามารถทำนายฟ้าฝนได้ ปัจจุบัน ก็ต้องเรียกว่านักอุตุนิยมวิทยา  และนักอุทกศาสตร์นั่นเอง

(๒.๒)    เป็นอย่างไร  ก็คือแสดงพฤติกรรมที่ว่ามีความห่วงใย ช่วยบอกทางหรือชี้แนะให้ทำหรือแก้ไข ได้เหมาะแก่สถานการณ์จะเห็นได้ว่า นางวาลีใช่ว่าจะชี้แต่ปัญหา หากยังบอกทางแก้ไขอีกด้วย

(๒.๓)   คิดอย่างไร  การคิด เป็นวิธีการลบปมด้อยโดยอาศัยความรู้ และด้วยสติปัญญาอย่างถูกวิธีจนเลื่องลือและยอมรับนับถือกันทั่วไป บุคคลเยี่ยงนี้สมที่จะเป็นที่ปรึกษาผู้บริหารซึ่งหาได้ไม่ง่ายนัก

 

ความคิดเหล่านี้ นางวาลี น่าจะพ้องกับสุภาษิตโบราณที่ท่าน น.ม.ส. ทรงนิพนธ์ขึ้นเป็น โลกนิติคำโคลง ว่า

          ความรู้ดูยิ่งล้ำ         สินทรัพย์      (ต่อให้ด้วยนะ บาทต่อไปน่ะ)

                  

ด้วยปมด้อยเป็นหลัก แต่ประกันในความรู้และสติปัญญา ปณิธานอันแน่วแน่ที่นางวาลีต้องการได้รับจึงอุบัติขึ้นเป็นอุดมการณ์อันสูงสุดที่นางต้องก้าวให้ไกลและไปให้ถึง

 

ถึงรูปชั่วตัวดำแต่น้ำใจ                จะใคร่ได้ผัวดีที่มีบุญ

ทั้งทรวดทรงองค์เอวให้อ้อนแอ้น  เป็นหนุ่มแน่นน่าจูบเหมือนรูปหุ่น

แม้นผัวไพร่ไม่เลยแล้วพ่อคุณ       แต่คร่ำครุ่นครวญหาทุกราตรี(๓๓๕)

 

การวิเคราะห์

ในบทนี้  นับเป็นความปกติของหญิงในทุกยุคทุกสมัย เมื่อเกิดเป็นหญิง

ปณิธานอันสำคัญก็คือ นางต้องเป็นหญิงของชายที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ งามทั้งรูปทรงองค์เอว สรุปให้ง่ายก็คือ ต้องรวยต้องหล่อคงจะไม่ผิด  เหตุผลคือนางเป็นคนจน หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยการแสดงความอนาทรร้อนใจต่อผู้ต้องการความช่วยเหลือ ผลที่ตามคือ 

         

ใครไปมาหาของกำนัลฝาก           พอเลี้ยงปากตามประสาอัชฌาไสย(๓๓๕)

 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นางวาลีต้องทะเยอทยานไขว่คว้า  สุนทรภู่ท่านชี้โดยนิทานแต่ต้องขุดค้นเอาเอง ว่า เมื่อคิดอย่างไร ต้องทำอย่างไร นี่ต้องยึดโยงเอานางวาลีเข้ามาเป็นหลักคิด ใช่ว่าจนแล้วก็ตามจน กรรมแล้วก็ตามกรรม ท่านไม่มีเจตนาเช่นนั้น ดังนั้นความคิดของท่านจึงสำแดงออกมาในบทบาทของนางวาลี เป็นแนวคิด แนวคิดนี้ปรากฎในวรรณกรรมเรื่องหนึ่งมีข้อความดังนี้

 

“ฉันใดชาดานารี      พึงมีสามีแนบกาย”

(ข้อความนี้จะปรากฎในเรื่องใดโปรดหาคำตอบให้ด้วย”

         

ยังอย่าเพ่อด่วนสรุป  นี่เป็นแค่น้ำจิ้มหรือพูดให้เข้ายุคของพระอภัยฯ ก็เรียกว่า ออดัฟมั้ง เพราะหูแยกสำเนียงได้อย่างนี้  ขนาดสถานีรถไฟ  ยังได้ยินว่า สเตแท่น  ผู้ว่าการเขตปกครอง ก็เรียกว่า มิด สะเตอ กัด ฟัน มัน  ชื่อว่านาย แร้งกิน น่ะ คนไทยเก่งขนาด เนาะ

และแล้วนิทานก็ต้องเป็นิทานวันยังค่ำ  ข่าวคราวที่แพร่สะพัดพระอภัยต้องการคนที่ชำนาญการศึกสงคราม สะยัดมาถึงหูนางเข้า โชคชะตาเป็นเหตุบันดาลแน่นอน

         

พอรู้ข่าวเจ้าเมืองผลึกใหม่           พระอภัยพูลสวัสดิ์รัศมี

งามประโลมโฉมเฉิดเลิศโลกีย์      นางวาลีลุ่มหลงปลงฤทัย(๑)

ครั้นรู้ว่าทหารชำนาญศึก             ก็สมนึกยินดีจะมีไหน

อันสงครามความรู้เราเรียนไว้       จะเข้าไปเป็นห้ามพระทรามเชย(๒)

 

บทวิเคราะห์

  • ข่าวว่าพระอภัยฯเจ้าเมืองคนใหม่ของเมืองผลึกรูปงาม ข้อนี้ เป๊ะ ตรงสะเป๊ก
  • ความรู้เรื่องศึกศงคราม ในที่นี้นางหมายถึงตำราพิชัยสงครามแน่นอน ซึ่งนางเรียนรู้มาเป็นอย่างดี

 

นี่แหละท่านที่รัก สุนทรภู่ท่านย้ำเรื่องความรู้ไว้เกือบทุกที่ที่มีโอกาสพาดพิง นับว่าส่วนนี้ก็จัดว่าเป็นสารัตถะ(theme)ของเรื่องทีเดียว ท่านย้ำว่ากระไรคงจำได้นะ

         

มีความรู้อยู่กับตัวกลัวอะไร          ไปข้างหน้าเติบใหญ่จะให้คุณ

 

ตรงนี้ละกระมังที่นางวาลีใช้เป็นเครื่องมือชดเชยความอัปลักษณ์ที่พระเจ้าให้นางมาแต่ต้องขอบคุณพระเจ้าท่านเมื่อท่านปั้นนางให้พิลึกพิลั่นแต่ท่านก็ให้ปัญญา และความกล้าหาญสอดแซมมาด้วย จึงทำให้นางกล้าพูดได้เต็มปากว่า

         

             นางบอกว่าข้าจะไปเป็นหม่อมห้าม     คงสมความปรารถนาอย่าสงไสย

    ทั้งผัวเมียหัวร่ององอไป                     ร้องเรียกให้เพื่อนบ้านช่วยวานแล

 

นี่แหละนางวาลีผู้ทรนงในความรู้ แม้จะถูกหัวเราะเยาะนางก็ไม่ใส่ใจ โดยเฉพาะผู้เฒ่าทั้งสองที่หัวร่อจนตัวงอนั้นเป็นผู้มีพระคุณ และรวมทั้งผู้คนในละแวกบ้าน ทั้งล้อเลียนทั้งถากถาง นางวาลีก็ไม่เก็บมาเป็นความโกรธแค้น นี่เป็นลักษณะหนึ่งที่นับเป็นความพยายามสอดแทรกไว้ในเรื่องอย่างเนียนๆ

         

มาติดตามนางวาลีที่เดินทางไปสมัครงานต่อเถอะว่าจะมีอุปสรรคบ้างไหมหนอ

         

พวกขุนนางต่างพินิจสะกิดเพื่อน   อีนั่นเหมือนตอตะโกทำโอ่โถง(๑)

บ้างก็ว่าหน้าเง้าแต่เขาโค้ง            ต๊ะติ๊งโหน่งนั่งเล่นก็เป็นไร(๒)

นางรู้ว่าข้าเฝ้าเข้าไปนั่ง                กรมวังถามว่ามาแต่ไหน(๓)

นางแจ้งความตามจริงทุกสิ่งไป     ข้าจงใจมาเฝ้าเจ้าแผ่นดิน(๔)

 

ท่านที่รัก บรรทัดต่อบรรทัด มีเนื้อแน่นไปหมด นี่แหละ กลอนของท่านสุนทรภู่ละ

  • ท่าทางของนางวาลีที่มีความเชื่อมั่นสูง ไม่เดือดร้อนต่อสายตาทีล้อเลียน
  • ไม่ต้อนรับขับสู้นั่งเล่นเสียเฉย แถมยังมีอาการเยาะยั่ว
  •  ความเป็นคนช่างสังเกต นางก็รู้ว่าคนกลุ่มนี้เป็นใคร
  • บอกวัตถุประสงค์โดยไม่อ้อมค้อม

 

ท่านผู้ร่วมหลงทาง (๑) – (๔) บ่งชัด ว่านางทรนงในความเป็นตัวตนของนางอย่างแท้จริง  ไม่มีสะทกสะท้าน ทั้งนี้เพราะความเชื่อมั่น อีกทั้งเป็นการตัดบทที่มีผู้คนมาตอแยัง  ยังไม่เท่านั้น พวกปากเปราะเราะร้ายต้องกระเจิดกระเจิง เมื่อนางวาลีผู้คมด้วยปัญญาสวนทันควัน 

         

 

นางฟังคำทำหัวเราะเยาะอำมาตย์     ว่าท่านทาสปัญญาอย่ามาถาม

วิไสยคนทนคงเข้าสงคราม                เป็นแต่ความรู้ไพร่เขาใช้แรง (๑)

อันวิชาข้านี้ดีกว่านั้น                        ของสำคัญใครเขาจะเล่าแถลง

แม้นพระองค์ทรงศักดิ์จักแสดง         มิควรแพร่งพรายให้ใครใครฟัง(๒)

                                                                                       (๓๓๗)

คมชัดลึก  ถึงไส้ถึงก้นบึ้งของหัวใจ  คำว่า “ทาสปัญญา”  ต้องเรียกว่า  นับระดับ กันทีเดียวนี่เพียง(๑) เท่านั้น และแล้วนางวาลีก็สำทับด้วย (๒) ทั้งสอนและก็ตอกย้ำอีกด้วย ว่าต้องบอกกับคนที่มีปัญญาระดับเจ้านายเท่านั้น        

         

          ตามมาให้กระชั้น ตามมาให้ติดๆ เรื่องกำลังจะเข้าด้ายเข้าเข็ม เมือพระอภัยฯประจัญหน้ากับนางวาลี อะไรเป็นอะไร ตามมา

         

พระทรงฟังให้พาเข้ามาพลัน                  เห็นผิวพรรณพักตรานางวาลี

เหมือนคุลาหน้าตุเหมือนปรุหนัง            แลดูดังตะไคร่น้ำดำมิดหมี

แต่กิริยามารยาทประหลาดดี                 เห็นจะมีความรู้อยู่ในใจ(๓๓๗)

 

ลักษณะการโต้ตอบนี้น่าจะเทียบได้กับ “ศรีปราชญ์” ที่โต้คารมกับ เจ้านครเชียงใหม่ที่ว่า

เจ้าเมืองเชียงใหม่ : รังสีบ่สดใส                      สักหยาด

ศรีปราชญ์โต้กลับ  : ดำแต่นอกในแผ้ว   ผ่องเนื้อนพคุณ

 

กลอนหนึ่งบทครึ่งนี้ ว่ากันจะจะ  ก็น่าจะเทียบ

ได้ว่าดูโหงวเฮ้งกันทีเดียว พระอภัยฯ ใช่จะเก่งแต่ควงปี่ แต่แว่บเดียวไม่ทันครบอาการ “เฮง” ทั้งห้า ก็ดูทะลุปรุโปร่งแล้ว นี่แหละ ท่านบรมครูท่านแอบ ท่านซ่อนคมความคิดไว้ในกลอน  เท่าที่พบเห็นมาส่วนใหญ่ ผู้ใหญ่ผู้โตมักจะเลือกคนไว้ทำงาน หน้าตาดี สุภาพ พูดจาอ่อนหวาน สันดานบริสุทธิ์  คร้าบท่าน  คะ  ขา   อ๋อค่ะ  ค่ะๆๆๆ  ได้ค่ะ  ทั้งนี้และทั้งนั้น เพื่อสนองใจตนเอง ว่าเออ  อันตู(ข้า)นี้เก่ง  เก่งจริงๆ  พูดอะไรก็ถูกหมด ไม่มีใครแย้ง หรือ แยงแม้แต่คำ  เด็กพวกนี้ฉลาด  น่ารัก  พูดอะไรก็รู้เรื่องหมด คนอย่างนี้แหละน่าเอาไว้ใกล้ชิด “ไอ้   อี” ที่ดื้อด้าน เถียงคำไม่ตกฟาก ยิ่งเข้ามาใกล้ ยิ่ง…………..อีกยาว อย่าเอามา  (ว่าแล้ว  ปม. อีกแล้ว)  ต่อ ๆไปอย่าแกว่งเสี้ยนไปหาปาก เดี๋ยวเขาก็เก็บเอาหีบไปซุกมือ แล้วจะยุ่งพิลึก

 

          มา…มาดูบทสัมภาษณ์ของพระอภัยฯ ว่าจะจีบนางวาลี ว่าอย่างไร

          บท พระอภัยมณีสัมภาษณ์นางวาลี

 

จึงแย้มเยื้อนเอื้อนโอษฐโปรดประภาษ    เจ้าเป็นปราชญ์ปรีชาจะหาไหน

จะช่วยเราบำรุงซึ่งกรุงไกร                     เราขอบใจจะเลี้ยงให้เที่ยงธรรม์

แต่วิชาวาลีมีไฉน                                  อย่าถือใจแจ้งจริงทุกสิ่งสรรพ์

จะรอนราญการณรงค์คงกระพัน            จะรับรองป้องกันประการใด(๓๓๘)

 

ท่านที่รัก ที่ท็อปฮิตติดอันดับในปัจจุบันเสียจริง เขาเรียกว่า ให้ผู้สมัคร ต้องแสดงวิสัยทรรศน์อย่างไรล่ะท่าน  ใครว่า โบราณอย่างสมัยท่านสุนทรภู่ไม่มี  น่าเสียดาย คนที่พยายามกันเอาพระอภัยฯ ออกจากบทเรียนเสียจริงๆ

 

บทบบาทของวาลี ที่สำแดงออกในระยะเวลาอันสั้นยังมีอีก โดยเฉพาะ คำตอบที่แสงวิสัยทรรศน์ต่อไปนี้ 

 

นางวาลีปรีชาวันทาแถลง                        อันเรียวแรงวิ่งเต้นเห็นไม่ไหว

แม้นผ่านเกล้าเอาแต่ที่ให้มีไชย              เห็นจะได้ดังประสงค์พระทรงธรรม์(๑)

พระฟังคำร่ำว่าค่อยน่ารัก                        ล้วนแหลมหลักลิ้นลมคมขยัน(๒)

จึงตรัสว่าถ้าจะให้มีไชยนั้น                     จะผ่อนผันคิดอ่านประการใด(๓)

นางนบนอบตอบสนองต้องทำเนียบ       ภิปรายเปรียบด้วยปัญญาอัชฌาไสย

ศึกไม่มีที่จะว่าล่วงหน้าไป                       ก็ยังไม่ต้องตำราวิชาการ

แม้นเมื่อไรไพรีมีมาบ้าง                           ดูกำลังข้าศึกซึ่งฮึกหาญ(๔)

จึงปราบปรามตามกระบวรพอควรการ    จะคิดอ่านเอาแต่ใจก็ไม่เคย (๓๓๘)

 

(๑)-(๔) นี้เป็นบทสัมภาษณ์ และตอบสัมภาษณ์ที่หนึ่ง เมื่อถูกถามแบบกระเซ้าเย้าแหย่ นางวาลีก็ประมาณได้ ไม่โกรธเหมือนบริภาษทหารหน้าประตู

(๑) นางตอบชัดถ้อยชัดคำว่าเรียวแรงอย่างนางย่อมไม่มีแน่

(๒) ยังไงล่ะ ว่า พระอภัยฯเห็นความล้ำลึกของนางในทันที  และ

(๓) เป็นการเริ่มคำถามเชิงวิสัยทัศน์แน่นอน

 

          “จึงตรัสว่าถ้าจะให้มีไชยนั้น          จะผ่อนผันคิดอ่านประการใด”

นักสัมภาษณ์เชิงวิสัยทัศน์ โปรดสำเหนียก เทคนิคการถามเป็นอย่างนี้ แล้ววาลีจะตอบยังไง

คำตอบนั้นนับตั้งแต่วรรคแรกของ(๔) คือ

 

          นางนบนอบตอบสนองต้องทำเนียบ       ภิปรายเปรียบด้วยปัญญาอัชฌาไสย

จนถึง  วรรคสุดท้าย                            จะคิดอ่านเอาแต่ใจก็ไม่เคย

 

นางวาลีตอบได้เฉียบขาดจริงๆ  กล่าวคือ นางตอบว่าอย่างไรก็ตอบไม่ได้ เพราะต้องเทียบเคียง พินิจจากคำว่า “ต้องทำเนียบ” คือเทียบนั่นเอง  แล้วสรุปสุดท้ายว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะคิดเอาเอง ต้องรอดูกำลังข้าศึกก่อน จึงจะหาทางคิดตอบโต้ให้มีชัยชนะได้ นี่ก็เป็นอีกบทหนึ่งของความชาญฉลาด  แม้ว่าพระอภัยฯจะทำทีว่าเป็นคำถามที่เปิดกว้างเพื่อหลอกล่อให้นางตอบก็ตาม  จนต้องมีคำถามต่อ

         

พระยินคำล้ำลึกนึกสรรเสริญ                 ฉลาดเกินรูปร่างช่างเฉลย

จึงแสร้งซักยักย้ายภิปรายเปรย               ว่าไม่เคยนั้นก็ควรของนวลนาง

แต่หากว่าข้าศึกมาสิบแสน                     ถึงด้าวแดนดูถนัดไม่ขัดขวาง

จะคิดสู้ผู้เดียวแต่ตัวนาง                        หรือคิดอย่างไรเล่าให้เข้าใจ(๓๓๘)

คำถามที่พระอภัยฯสมมุติขึ้นนี้ จะเป็นด้วยเจตนาหรือพลาดท่านางวาลีไม่อาจพิเคราะห์ได้ ด้วยเหตุที่ทั้งสองเฉลียวฉลาดไม่แพ้กัน จึงเปิดช่องให้นางวาลีพุ่งเข้าเป้าได้ตามที่หมายมั่นมา ตรงไหนรึที่ข้อถามเปิดทางให้นางต่อรอง นั่นก็คือ

 

“จะคิดสู้ผู้เดียวแต่ตัวนาง             หรือคิดอย่างไรเล่าให้เข้าใจ”

นางวาลีตอบทันทีด้วยปัญญาว่า

“ข้าพเจ้าเล่าเรียนความรู้ไว้           ไม่ใช้ไพร่พลมากลำบากกาย

ขอแต่ผู้คู่คิดสักคนหนึ่ง             แต่พอพึ่งพูดได้ดังใจหมาย

  จะผันแปรแก้กันอันตราย          มิให้อายอัปราปัจจามิตร(๓๓๘)    

 

ท่านที่รัก คำตอบของนางวาลีทำเอาพระอภัยฯถึงกับอึ้งไปทีเดียวเจียว จัดได้ว่าประชิดตัวทีเดียว แต่ถึงกระนั้นพระอภัยฯก็ยังต้องการคำตอบที่เป็นเป้าหมายสำคัญของนาง เพื่อความแน่ใจ นี่แหละ ปราชญ์ชนปราชญ์พยายามใช้ลูกล่อลูกชนก็แล้ว หลบเลี่ยงก็แล้ว ในที่สุดนางก็แสดงจุดยืนที่นางมาครั้งนี้ด้วยคารมปราชญ์ที่พระอภัยฯต้องคิดหนัก

 

นางนบนอบตอบรสพจนาตถ์                 คุณพระบาทกรุณาจะหาไหน

แต่ยศศักดิ์จักประทานประการใด           ไม่ชอบใจเจตนามาทั้งนี้

ด้วยเปลี่ยวใจไม่มีที่จะเห็น                     จะขอเป็นองค์พระมเหสี

แม้นโปรดปรานตามความรักจะภักดี       ถ้าแม้นมิเมตตาจะลาไป(๓๓๙)

 

นี่ก็อีกประการหนึ่งที่บรมครูผู้เจนโลกแสดงให้เห็นบุคลิกประจำตัวของนางวาลี ซึ่งหลายคนอาจโกรธที่นางฝู่งเกินฐานะ โดยเฉพาะไม่เกรงอาญาจากพระอภัยฯแต่การณ์ไม่เป็นเช่นนั้น พระอภัยฯไม่กริ้วแต่อย่างใด ความต้องการได้นางในฐานะผู้มีความรู้ยังเป็นหลักในความคิดที่มั่นคง แต่ก็พยายามบ่ายเบี่ยงที่ให้ตำแหน่งที่สูงส่งอยู่ไม่น้อย

          หากแต่ทิฐิของนางวาลีที่มีจุดยืน ประกอบกับความรู้ที่นางเชื่อมั่นว่าจะเป็นที่พึ่งของพระอภัยฯได้ ทำให้นางกล้าหาญที่จะแสดงออก ด้วยวาทะอันปราดเปรื่องต่อไปนี้ จะเกิดอะไร เอ้าตามมา  ตามมาแล้วก็ตามไป

 

นางทูลว่าข้าน้อยนี้รูปชั่ว                   ก็รู้ตัวมั่นคงไม่สงไสย

แต่แสนงามความรู้อยู่ในใจ               เหมือนเพ็ชรไพฑูรย์ฝ้าไม่ราคี(๑)

แล้วหมายว่าฝ่าพระบาทก็มีห้าม        ล้วนงามงามเคยประณตบทศรี

แต่หญิงมีวิชาเช่นข้านี้                      ยังไม่มีไม่เคยเลยทั้งนั้น(๒)

จึงอุตส่าห์มายอมน้อมประณต           ให้พระยศใหญ่ยิ่งทุกสิ่งสรรพ์

บรรดาผู้รู้วิชาสาระพรรณ                  จะหมายมั่นพึ่งพาบารมี(๓)

แม้นทรงศักดิ์รักโฉมประโลมสวาท               ไม่เลี้ยงปราชญ์ไว้บำรุงซึ่งกรุงศรี

ก็ผิดอย่างทางทำเนียบประเวณ๊          เห็นคนดีจะไม่มาสาพิภักดิ์(๔)

ขอพระองค์ทรงตรึกให้ลึกซึ้ง              เป็นที่พึ่งแผ่ไปทั้งไตรจักร

อันรูปหญิงพริ้งเพริศล้ำเลิศลักษณ์ ดีแต่รักรอนราญการโลกีย์(๕)

 

บทวิเคราะห์ต่อไปนี

(๑)– (๕)  นี่ให้ปรัชญาสำหรับผู้บริหารเป็นหลักโดยแท้ เอาสรุปเสียเลยก็น่าไม่เสียเวลา ดังนี้

(๑) อย่าพิจารณาเพียงรูปกาย เหมือนท่านศรีปราชญ์เคยยั่วยิ้มว่า

          “ดำแต่นอกในแผ้ว      ผ่องเนื้อนพคุณ”

ข้อนี้ก็ทำให้เจ้านครเชียงใหม่หงายเงิยไปแล้วหรือ ที่ว่า

 “ความรู้ดูยิ่งล้ำสินทรัพย์  ………………………..” ที่หายไปต่อเอาเองนะ

          ที่กล่าวว่า   “  แต่แสน งาม   ความรู้อยู่ในใจ”  คำว่า งาม ไม่หมายว่าสวย นะ แต่ต้องหมายถึง อร่ามเรือง  เรืองรองที่เจิดจ้า

(๒) ความรู้อาจไม่คู่กับความงามนางวาลี ฉลาดพอที่ชี้นำให้พระอภัยฯ ใช้ความพินิจ และโดยเฉพาะวรรคสุดท้าย  นางห้ามที่งามๆ แวดล้อมพระอภัยฯ นั้นมีแม้สักนางหรือไม่

“แล้วหมายว่าฝ่าพระบาทก็มีห้าม  ล้วนงามงามเคยประณตบทศรี

แต่หญิงมีวิชาเช่นข้านี้                           ยังไม่มีไม่เคยเลยทั้งนั้น(๒)

นี่ก็น่าจะเป็นแนวแฝงที่บรมครูฯ ท่านต้องการจะบอก จะเป็นไปได้กับข้อความที่ว่า

                   “สวยแต่จูบไม่หอม” ก็ยังไหวนะ

 

(๓) นักปราชญ์ย่อมยังความเจริญอย่างแท้จริง

(๔) คนดีมีวิชาย่อมเกื้อกูลต่อความสำเร็จแห่งกิจทั้งปวง

(๕) ให้เปรียบเทียบประโยชน์ที่จะได้ใหม่กับที่มีอยู่เดิม

 

นี่เป็นข้อวิเคราะห์ ที่พยามแคะไค้ออกมาเป็นบทสรุปที่นางวาลีโต้ตอบกับพระอภัยฯในฐานะปราชญ์นะจ๊ะ อย่าเข้าใจผิด ไม่ยังงั้นจะไม่มีที่ทำมาหารับประทานที่บังอาจ    “สอนสังฆราชให้ว่ายน้ำ”

          ดูก่อน  ท่านผู้เจริญด้วยคุณนานัปการ คงไม่ต้องอ้างอิงสรรพคุณ ทั้งรูปสมบัติ ปัญญาสมบัติ  รวมทั้งกาลและเทศสมบัติ ตลอดจน วาทสมบัติของนางวาลี นางมีบทบาทหลายอย่างอันเป็นคุณต่อพระอภัยฯ ต่อบ้านเมือง  ต่อความรูต้องการทั้งหลายที่พระอภัยฯ และบ้านเมืองนี้ต้องการ เพียบ

         

อย่างไรก็ตามความใฝ่สูงของนางที่จะได้ใช้ความรู้ก็สัมฤทธิ์ผลตามเป้าประสงค์ แต่เป้าหมายในสิ่งที่นางต้องการเป็นอันดับสุดยอดคงไปได้เพียงครึ่งทาง บทบาทและหน้าที่ของนางก็ต้องมีอันจบลง ไม่ใช่เป็นเพราะต้องการของท่านบรมครูผู้รจนา แน่นอน ท่านผู้บรรจงผูกเรื่องท่านต้องมีเลศนัยที่จะบอกเงื่อนปมของชีวิต อันเป็นธรรมดาโลก  ว่าคนดีมีปัญญาย่อมเป็นที่ปรารถนาของโลก แต่โลกก็ยุติธรรมพอที่จะต้องนำบุคลากรเหล่านั้นไปใช้ต่อไป ซึ่งบอกไม่ได้ว่า ภพ กัลปที่ไหน เมื่อใด บุคคลเหล่านี้จะปราฏกเมื่อชาติต้องการจริงๆ อยากให้คุณครู กระทรวงศึกษา ปัดฝุ่นหนังสือเรื่องนี้มาใช้อีก ไม่ใช่เป็นมรดกโลก คือยกไว้สูงห้ามแตะต้อง เดี๋ยวเปื่อน เดี๋ยวขาดหมด เพราะเหลืออยู่ฉบับเดียวที่เก็บไว้เป็นมรดก  อยากกู่ก้องให้ก้องโลกว่า หนังสือทุกเล่ม ทุกตัวอักษรมีค่า ยิ่งกว่าทองคำ แน่นอน ทองมีไว้เก็บ โจรภัยเอาไปได้  ความรู้เป๋นอลังการที่ใครก็เฉือนไปไม่ได้ เช่น นางวาลีเป็นตัวอย่างสุดท้าย   คงได้ความหมายแล้วว่า   “วาลี” ของท่านบรมครู คือขนอันเป็นอลังการของสัตว์โลก รวมถึงมนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ คนไหนที่เกลี้ยงเกลาไปที้งตัว ตังแต่ “ศีรษะจรดเท้า” คงไม่เป็นที่ปรารถนา 

 

ดังนั้นเมื่อเลือกที่จะมีขนไม่ได้แต่มนุษย์ก็เลือกที่จะหาความรู้มาประดับให้เงางามเยี่ยงขนได้มิใช่หรือและหากจะกำหนดให้เป็นข้อความที่เป็น อุปลักษณ์ตามเจตนาของท่านสุนทรภู่  “วาลี” ก็คือ  “หญิงผู้มีปัญญาอันเป็นสังวาลย์ประดับเรือนกาย”  นั่นเอง

          คำถามท้ายบทนี้น่าจะเป็นคำถามว่า ในประดาชายาของพระอภัยมณี นั้นนางใดเป็นนางที่พระอภัยฯ ต้องการที่สุด  ตอบมานะ  แล้วจะให้ “ทอระโข่ง” เป็นรางวัล

         

ปากคนฆ่าคนจนม้วยมุด              มากกว่าคมอาวุธเป็นไหนไหน

คมอาวุธฆ่าคนจนบรรลัย   ยังนับได้โดยส่วนจำนวนตาย (นายหรีด  เรืองฤทธิ์)

………………………………………………….

 

ผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบของบทอาศิรวาทในวาระเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมนาถราชินีในรัชกาลที่ ๙

สำนึกใน

พระมหากรุณาธิคุณแห่ง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์บรมราชินีนาถ

ใน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหิตาธิเบศร์

รัชกาลที่ ๙

ข้าพระพุทธเจ้า  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ขวลิต ผู้ภักดี

โดย

นำเสนอผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบของ

บทอาศิรวาท

ใน

วาระเฉลิมพระชนมพรรษา

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

พระบรมนาถราชินีในรัชกาลที่ ๙

พระแม่เจ้าผู้ทรงพระคุณของชาวไทยอันเป็นอเนกประการ อย่างหาที่สุด

 


14.บทเฉลิมพระชนมสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์บรมราชินีนาถ

สุภาษิตพระร่วง

ชวลิต  ผู้ภักดี   นำเสนอ  ท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์ โสภาภรณ์  ทรรพนันทน์   อดีตอาจารย์ประภาควิชาภาษาต่างประเทศ
จากวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จนก้าวเข้าสู่ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

13.สุภาษิตพระร่วง

 

ศรีปราชญ์ ยอดกวีแห่งกรุงศรีอยุธยา

ชวลิต  ผู้ภักดี นำเสนอ  บทความจากความทรงจำของ

รองศาสตราจารย์ไกรนุช  ศิริพูล

อาจารย์อาวุโสจาก  “วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา”

สู่  “สถาบันราชภัฏ”

วิวัฒนาการสู่

“มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา”

แม้ปัจจุบันริริอายุก้าวเข้าสู่ เลข ๙ แล้วแต่ยังมีพลังที่จะ

เขียน เขียน  และเขียน

สมกับที่เป็นครูอย่างมีชีวิตและจิตใจอย่างแท้จริง

 


จากคำนำ ที่ท่านผู้เขียนได้ปรารภไว้ว่า

“ประวัติของศรีปราชญ์ฉบับนี้  เขียนขึ้นจากความทรงจำที่ได้เล่าเรียนมา เมื่อข้าพเจ้าได้เล่าประวัติของศรีปราชญ์ให้สมาชกที่ร่วมเดินทางไปทัศนศึกษาด้วยกันฟัง  หลายท่านอยากได้ประวิติของศรีปราชญ์ และขอร้องให้เขียนไว้ให้ด้วย พบกันครั้งไร ก็ทวงถามอยู่เสมอ ผู้เขียนไม่มีตำหรับตำรับตำราจะค้นคว้า เพราะได้บริจาคหนังสือทั้งหมดให้ห้องสมุดมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และห้องสมุดของวัดในต่างจังหวัดไปแล้ว ประวัติของศรีปราชญ์ฉบับนี้คงไม่สมบูรณ์แน่นอน หากท่านได้รับความพอใจ ความเพลิดเพลิน ขออานิสงส์นี้จงนำสู่เพื่อนสมาชิที่เคยร่วมทัศนศึกษาด้วยกันมาเป็นเวลายาวนาน  ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ และล่วงลับไปแล้วด้วยเทอญ

รักจากใจ

ไกรนุช  ศิริพูล

๑๖ มกราคม ๒๕๕๓

ศรีปราชญ์

ยอดกวีแห่งกรุงศรีอยุธยา

          ศรีปราชญ์เป็นปฏิภาณกวีแห่งกรุงศรีอยุธยา  สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. ๒๑๙๙ – ๒๒๓๑ ทรงพระนามว่า พระรามธิบดีที่ ๓

          สมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นยุคทองของวรรณคดีไทย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งกวีในสมัยนั้น จึงอุดมไปด้วยกวีที่สำคัญๆ หลายท่าน อาทิ

 

 พระมหาราชครู แต่ง

๑. สมุทโฆษคำฉันท์ ยังไม่จบ ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงพระราชนิพนธ์ต่อ ยังไม่ทันจบ  ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมนุชิโนรสแห้งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงนิพนธ์ต่อจนจบ

๒. เสือโคคำฉันท์

๓. จินดามณี เป็นตำราเรียนเล่มแรกของไทย

พระศรีมโหสถ  แต่ง

๑. กาพย์ห่อโคลง เล่าถึงความสนุกสนานของประชาชนในแผ่ดินสมเด็จพระนารยาณ์มหาราช

๒. โคลงเฉลิมพระเกียรติ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

 

ขุนเทพกวี พราหมณ์ชาวเมืองสุโขทัย แต่ง คำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง

พระเยาวราช จากเมืองเชียงใหม่  แต่ง ทวาทศมาส โดยมีขุนพรพมมนตรี ขุนศรีกวีราช ขุนสารประเสริฐ ช่วยแต่งเกลาแก้สำนวนกลอน

ศรีปราชญ์       บุตรพระมหาราชครู บาตำราว่าเป็นบุครพระโหราธิบดี สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นคนคนเดียวกัน คือพระโหราธิบคีรับราชการในตำแหน่งมายาวนาน และเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแก้สมเด็จพระนารายณ์ด้วย จึงได้ชื่อว่าพระมหาราชครูอีกชื่อหนึ่ง

ศรีปราชญ์คงได้รับการอบรม หล่อหลอมความรู้ต่างๆ ด้านวรรณคดีไทยอย่างดีจากบิดา สำนวนภาษา โค กลอน ฉันท์ต่างๆ ของศรีปราชญ์ยังทันสมัย เป็นอมตะมาจนทุกวันนี้

          สันนิษฐานกันว่า ศรีปราชญ์ เดิมชื่อ ศรี มีความสามรถแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์  กลอนได้ ตั้งแด่ยังเยาว์วัย

          มีเรื่องเล่าว่า  เมื่อเด็กอายุประมาณ ๙ ขวบหรือ ๑๐ ขวบ บังอาจแต่งต่อโคลงพระราชนิพนธ์ของสมด็จพระนารายณ์ฯ ที่ทรงค้างไว้สองบาท โดยโคลงพระราชนิพนธ์นี้ สมเด็จพระนารายร์ฯ ทรงพระกรุณาพราชทานให้พระมหาราชครูเอามาแต่งให้จบทั้งบท คือ

อันใดย้ำแก้มแม่                 หมองหมาย

ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย            ลอบกล้ำ

 

          พระมหาราชครูผู้เฒ่า รับเอามาแล้วยังมิทันได้แต่ต่อก็เก็บไว้  รุ่งเช้านึกขึ้นได้จึงไปหยิบดูก็พบว่ามีผู้แต่งเสร็จแล้วอีก ๒ บาท คือ

ผิวชนแต่จักกราย                ยังยาก

ใครจะอาจให้ช้ำ                  ชอกเนื้อเรียมสงวน

 

จนครบสี่บาทของโคลงสี่สุภาพ

โดยที่เป็นเวลากะทันหัน แบทโคลงนั้นก็ดีแล้วคือ

อันใดย้ำแก้มแม่                  หมองหมาย

ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย                       ลอบกล้ำ

ผิวชนแต่จักกราย                           ยังยาก

ใครจะอาจให้ช้ำ                            ชอกเนื้อเรียมสงวน

          สมเด็จพระนารายณ์ฯ รงคุ้นเคยกับพระมหาราชครูดีและชราแล้ว คงจะไม่แต่งข้อความพาดพิงเข้าถึงเรื่องของพระองค์อย่างแหลมคมดังเช่นข้อความในบาทที่สี่นั้นเป็นแน่   จึงมีพระราชดำรัสถาม ก็ทรงทราบว่าผู้แต่งเป๊นบุตรพระมหาราชครู อายะพียงสิบขวบก็ทรงพอพระทัยนัก  ถึงกับทรงขอชมตัว และเมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นหน่วยก้านชั้นเชิงหนูน้อยนักเลงกลอน  ก็ทรงพระกรุณาขอไว้เป็นมหาดเล็ก   พระมหาราชครู หรือพระโหราธิบดีคงจะรู้ด้วยวิชาโหร ว่า “ศรี”ลูกของตนจะอายุสั้นด้วยอาญาแผ่นดิน จึงกราบทูลว่า บุตรของตนยังเป็นเด็ก จะทำผิดด้วยไม่รู้จักที่สูงที่ต่ำ จึงขอพระกรุณาพระราชทานอภัยโทษ แม้วาจะมีผิดถึงตาย ก็ขอให้ยกโทษประหารเป็นเนรเทศแทน ก็ทรงพระกรูราพรราชทานโทษประหารแก่พระมหาราชครู ศรีปราชญ์จึงได้เป็นมหาดเล็กในพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์ฯ แต่นั้นมา

          ในการทรงพระอักษร หรือในโอกาสโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารแต่งบทประพันธ์ถวาย ก็มีพระราชดำรัสให้ศรีปราชญ์อยู่ด้วยทุกครั้ง ทำให้ชื่อเสียงของศรีปราชญ์แพร่ออกไปโดยเร็ว

          ความหนุ่มแก่วัยและความจัดจ้านในคารมของศรีปราชญ์ คงจะได้เป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนทั้งในวัง และนอกวัง

          ในครั้งหนึ่งในราชสำนัก มีกวีสำคัญคือ  “เจ้าเชียงใหม่”  สันนิษฐานว่าอยู่ในฐานะตัวจำนำ  ศรีปราชญ์ได้โต้ฝีปากกับกวีผู้นี้อยู่เสมอ การโต้ตอบหรือประกวดกัน ศรีปราชญ์มักจะเป็นฝ่ายชนะอยู่เสมอ

          มีอยู่ครั้งหนึ่ง  เกิดมีเสียงอึกทึกครึกโครม       สมเด็จพระนารายณ์ ทรงตรัสถามถึงต้นเหตุของเสียงว่าเป็นด้วยเหตุประการใด ด้วยความเป็นปฏิภาณกวีของศรีปราชญ์ จึงกราบทูลเป็นโคงว่า

ครื้นครื้นสนั่นพื้น                       ปฐพี

เสียงตะขาบขับตี                              เร่งร้น

ภูธรภูเรศตี                                        สุรสั่ง     เองแฮ

ร้องสำทับช้างต้น                             เทิดแก้วมาเมือง

          ครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังลพบุรี ในฤดูร้อน เสด็จประพาส “ป่าแก้ว” โปรดให้ข้าราชบริพารแต่งโคลงที่มีความหมายแสดงถึงความรักประกวดกัน

  คู่แข่งคนสำคัญของศรีปราชญ์คือพระเยาวราชแห่งเชียงใหม่ โดยพระเยาวราชขึ้นบทก่อนว่า

ครืนครืนใช่ฟ้ร้อง                     เรียมครวญ

หึ่งหึ่งใช่ลมหวน                               พีไหม้

ฝนตกใช่ฝนนวล                              พี่ทอด      ใจนา

ร้อนใช่ร้อนไฟไหม้                          พีร้อนรนกาม

เป็นการแสดงความคิดแบบกวี  ศรีปราชญ ก็โต้กลับโดยทวนคำคร่ำครวญว่า

เรียมร่ำน้ำเนตรถ้วม                ถึงพรหม

พาหมู่สัตว์ตกจม                             จ่อมม้วย

พระสุเมรุเปื่อยเป็นตม                    ทบท่าว    ลงแฮ

             ————————-                     ——————

                   สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงขัดขึ้นว่า  ศรีปราชญืร้องไห้มากมาย จนน้ำท่วมถึงพรหมโลก ชั้น ๑๕ เขาพระสุมรุซึ่งเป็นหลักของโลกพังทลายหมดแล้ว     จะอยู๋อย่างไร

ศรีปราชญ์ก็แก้ด้วยปฏิภาณ และความรู้ด้านวรรณคดีว่า

หากอักนิฐพรหมฉ้วย                        พี่ไว้จึ่งคง

สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดมาก  จึงตรัสว่า 

“ศรีเอ๋ยเจ้าจงเป็นศรีปราชญ์เถิด”  พรอมกับพระราชทานพระธำรงให้ ๑ วง

          ข่าวที่ได้รับแต่งตั้งเป็น “ศรีปราชญ์” และได้รับพระราชทานแหวน คงเป็นที่เลื่องลือทั้งในวัง นอกวัง   โดยเฉพาะพระเจ้าเชียงใหม่ เห็นว่าชื่อไม่เหมาะสมกับรูป กล่าวตอบโต้เป็นโคลงกันว่า

พระเจ้าเชียงใหม่    :  ศรีเอยพระเจ้าฮื่อ   ปางใด

ศรีปราชญ์           :  ฮื่อเมื่อเสด็จไป      ป่าแก้ว

พระเจ้าเชียงใหม่    :  รัวลีบ่สดใส          สักหยาด

ศรีปราชญ์           :   ดำแต่นอกในแผ้ว     ผ่องเนื้อนพคุณ

          นับเป็นการแก้ได้อย่างงดงาม ทำนองยกย่องตนเองว่า ถึงจะรูปชั่วตัวดำ แต่จิตใจประดุจทองเนื้อเก้า  สำนวนนี้ยังทันสมัยใช้กันมาจนทุกวันนี้        แม้เวลาจะผ่านมากว่า  ๓๐๐  ปี

          ชื่อเสียงของศรีปราชญ์คงโด่งดังไปทั่ว แม้กระทั่งนายประตูก็ทักศรีปราชญ์ว่า 

นายประตู            :  แหวนนี้ท่านได้แต่     ใดมา

ศรีปราชญ์           :  เจ้าพิภพโลกา         ท่านให้

นายประตู            :  ทำชอบสิ่งใดนา       วานบอก

ศรีปราชญ์           :  เราแต่กลอนถวายไท้   ท่านให้รางวัล

          ความหนุ่มคะนอง ความจัดจ้านทางคารม ความทนงตนว่าเป็นเลิศทาการประพันธ์  ปฏภาณดี  ความรู้ดี  แต่ขาดสติ ทำให้ศรีปราชญ์ ต้องรับชะตากรรมอันหลกเลี่ยงมิได้

         

คืนวันลอยกระทง ศรีปราชญ์กล่าวชมกระทงของท้าวศรีจุฬาลักษณ์ว่า

มลักเห็นใบจากเจ้า                  นิรมิต

เป็นสำเภาไพจิตร                             แปดโล้

จักลงระวางวิด                               จวนแก่    อกเอย

แม้หนุ่มวันนั้นโอ้                              พี่เลี้ยงโดยสาร

          “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ตำแหน่งสนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์ฯ เป็นธิดาเจ้าแม่วัดดุสิต หรือ กรมพระเทพามาตร พระนมของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงสมรสกับหม่อมเจ้าเจิดอำไพ มีบุตร ๓ คน  คือ

๑. เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) แม่ทัพใหญ่สมัยพระนารายณ์ฯ

๒. เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตในสมัยพระนารายณ์ฯ

๓. ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสมนเอกของพระนารายณ์ฯ

ตระกูลนี้สืบทอดมาจากพระยารามขุนนางมอญที่อพยพมาไทยในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ มีบุตรหลานรับราชการสืบทอดกันมาจน ถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ซึ่งตระกูลดังกล่าวเป็นต้นตระกูลของ “ราชวงศ์จักรี”(สายเจ้าพระยาโกษาธิบดี – ปาน)

          “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์”พระสนมเอก นัยว่าอายุแก่กว่าสมเด็จพระนารายณ์ฯ เมื่อศรีปราชญ์ไปจี้จุดอ่อนเข้า จึงกล่าวโต้ตอบเชิงดูถูกศรีปราชญ์ว่า

หะหายกระต่ายเต้น                 ชมจันทร์

มันบ่เจียมตัวมัน                              ต่ำต้อย

นกยูงหากกระสัน                            ถึงเมฆ

มันบ่เจียมตัวน้อย                            ต่ำต้อยเดรัจฉาน

          ด้วยนิสัยของศรีปราชญ์ไม่ยอมแพ้ใครอยู่แล้ว มิได้คิดว่าอะไรควรมิควร จึงกล่าวโต้ตอบกลับไปทำนองว่า

หะหายกระต่ายเต้น                 ขมแข

สูงส่งสุดตาแล                                 สู่ฟ้า

ฤดูฤดีแด                                         สัตว์สู่    กันนา

อย่าว่าเราเจ้าข้า                              อยู่พื้นเดียวกัน

          พระสนมโกรธนำความไปกราบทูลสมเด็จพระนารายณ์ฯ ที่ศรีปราชญ์บังอาจกล่าวเกี้ยวประมาทพระสนม ทรงพิจารณาว่า

แม้จะไม่เกี่ยวข้องต้องโทษในส่วนพระองค์ ก็ต้องลงโทษตามกฎมณเฑียรบาล  จึงโปรดให้ศรีปราชญ์ไปทำงานหนัก ขนเลนในพระราชวังถ่ายโทษ  ขณะขนเลนอยู่ บังเอิญพระสนมเดินผ่านไป หรือเจตนาจะไปเยาะเย้ยก็ได้ เรื่องจึงเกิดขึ้นอีกตามเคย  จนต้องโทษหนักเป็นครั้งที่สอง และกระทำผิดในพระราชวัง มีโทษถึงประหารชีวิต แต่โทษประหารได้ยกให้ ตามที่พระมหาราชครูผู้เป็นบิดาได้ขอไว้  จึงให้เนรเทศไปฝากไว้กับพระยานครศรีธรรมราชเป็นการชั่วคราว

          ศรีปราชญ์ขณะนั้นเป็นหนุ่มเต็มตัว ประกอบกับพระยานครฯ กำลังฟื้นฟูด้านกวีอยู่ทางปักษ์ใต้  ศรีปราชญ์จึงได้ใกล้ชิดกับพระยานครฯ  ในฐานะกวีเอกจากกรุงศรีอยุธยา  ในประวัติกล่าวว่าศรีปราชญ์ได้ไปติดต่อเชิงชู้สาวกับนางในของพระยานครฯ  พระยานครฯ จึงพาลหาเหตุจับศรีปราชญ์ประหารชีวิตเสีย  ก่อนประหาร ศรีปราชญ์ได้แต่โคลงไว้บทหนึ่งว่า

ธรณีนี่นี้                    เป็นพยาน

เราก็ศิษย์มีอาจารย์                 หนึ่งบ้าง

เราผิดท่านประหาร                 เราชอบ

เราบ่ผิดท่านมล้าง                  ดาบนี้คืนสนอง

 

ตำราหลายฉบับเขียนว่า ศรีปราชญ์ใช้เท้าเขียนไว้บนพื้นทราย ก่อนทีเพชฌฆาตจะลงดาบ เป็นการแช่งพระยานครฯ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้   เพราะนักโทษประหารจะต้องถูกพันธนาการอย่างหนาแน่น จะเอาเท้อเขียนได้อย่างไร

          เมื่อขาดศรีปราชญ์ การกวีในราชสำนักคงเงียบเหงาไป จึงสมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงโปรดให้เรียกตัวกลับ ครั้นทรงทราบว่าพระนครฯ ได้ประหารศรีปราชญ์เสียแล้ว ก็ทรงพระพิโรธ จึงให้ประหารชีวิตพระยานครฯ ในที่สุด

          บทนิพนธ์ของศรีปราชญ์

๑. อนิรุทธคำฉันท์  สร้างขึ้นเพราะบิดาประมาทว่า แต่ดีแต่โคลง ศรีปราชญ์จึงมุมานะจนสำเร็จ

๒. กำศรวลศรีปราชญ์ แต่งขณะที่เดินทางไปนครศรีธรรมราช ตามพระราชอาญา

๓. โคลงบทอื่นๆ เช่น

เจ้าอย่าย้ายคิ้วให้                   เรียมเหงา

ดูดุจนายพรานเขา                         ล่อเนื้อ

จะยิงก็ยิงเอา                                  อกพี่   ราแม่

เจ็บไป่ปานเจ้าเงื้อ                          เงือดแล้วราถอย

 

โคลงกระทู้ที่ไม่มีความหมาย เช่น

โก    มลเดียรดาษพื้น              สินธู

วา     ลุกาประดับดู                          ดั่งแก้ว

ปา    รังระบัดปู                                ปุยนุ่น    เปรียบฤๅ

เปิด    จอกกระจับแผ้ว                    ผ่องน้ำเห็นปลา

 

ทะ  เลแม่ว่าห้วย                       เรียมฟัง

ลุ่ม   ว่าดอนเรียมหวัง                     ว่าด้วย

ปุ่ม   เปลือกว่าปะการัง                    เรียมร่วม   คำแม่

ปู     ว่าหอยแม้กล้วย                       ว่ากล้ายเรียมตาม

 

รองศาสตราจารย์ ไกนุช  ศิริพูน  คำขอบคุณทุกท่านที่อ่านและนำออกเผยแพร่  ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

*    อ่านเถิดอ่านนะแหม้             อย่าแคลน

อ่านเพิ่มอ่านพูนแสน               สิริล้ำ

อ่านนิดอ่านหน่อยแค่น             อ่านก็    ดีเฮย

อ่านอ่านยิ่งอ่านซ้ำ                  ซาบซึ้งทรวงเกษม*

                                           

*ชวลิต  ผู้ภักดี ประพันธ์

 

……………………………………………………………………………………………

 

รำฤก(รำลึก)จักรีฉัตร

รำฤกจักรีฉัตร

ชวลิต  ผู้ภักดี   ชี้ชวนชนวนเหตุ
องค์อิศเรศเอกมินทราไชยไอศวรรย์
นัยนฤมิตประดิษฐนันทน์
อโยธยานั้นแดนดินแดนทอง
นาครนี้หรือคือ “กรุงเทพทวารวดี”
“ราชวงศ์จักรี”  รามาสนอง
มหาดิลกภพนพรัตน์ ฉัตรประคอง
นพทิศต้องตามตำรามหาภิไธย
ทิศเบื้องบนสืบสนธิ์เทวาพิทักษ์
ปรปักษ์อัครไพรีวินาศวิสัย
สยามรัฐดำรงวรรธน์ด้วยฉัตรชัย
สมสมัยวรวัฒนาสถาพร

View Fullscreen

วิวัฒนาการบ้านสมเด็จ

ชวลิต ผู้ภักดี นําเสนอ วิวัฒนาการของบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
ซึ่งประพันธ์โดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมจิต บรรจงจิตต์
“บ้านสมเด็จเจ้าพระยา จากโรงเรียนมัธยม (Public School) สถาบันการศึกษาที่ถือกําเนิด
โดยพระราชดําริใน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาล ที่ ๕)
สู่ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา อันรุ่งโรจน์ ณ ปัจจุบัน ด้วยเหตุผลที่ว่า
“บ้านสมเด็จเจ้าพระยา” แห่งนี้ ประกอบไปด้วยคณาจารย์ที่สูงไปด้วยศักยภาพอันสมบรูณ์แบบภาคภูมิตลอดมา
ท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์สมจิต บรรจงจิตต์ เป็นทั้งศิษย์เก่า และอาจารย์ประจําภาควิชาภาษาไทยมาแต่สมัยเป็นวิทยาลัยครูจนเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้สืบประวัติ และเรียบเรียงเป็นบทร้อยกรองไว้ และมอบให้ ผศ. ชวลิต พิจารณาลงตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ”ศรีสมเด็จ” ปัจจุบันท่านได้ล่วงรับไปแล้ว ผู้รับมอบพิจารณาแล้วเห็น สมควรอย่างยิ่งที่จะนําเสนอสู่สังคมภายนอกต่อไป

View Fullscreen

พระบรมราโชวาทใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร์ จักรีนฤบดินทร์

ราชา มุขํ มนุสฺสานํ
พระราชาเป็นประมุขของประชาชน

(พุทธศาสนสุภาษิต)

ทะเลเป็นเจ้าแห่ง นทีมหันต์
ทิวะสุริยฉัน แจ่มจ้า
รัตติรัศมีจันทร์  เรืองจรัส
สงฆ์ประมุขแห่งชาวหล้า เหล่าผู้พึ่งบุญ
ผู้ใหญ่ในแว่นแคว้น คือรา ชาแล
ผู้บำบัดทุกข์ประชา ช่วยเกื้อ
เป็นประมุขนาครา ในรัฐ
ทรงทศพิธธรรมเอื้อ ราษฎร์ให้สวัสดี

(ราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ)

“พระบรมราโชวาท ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร์ จักรีนฤบดินทร์”
ผู้ช่วยศาตราจารยช์ วลิต ผู้ภักดี เสนอบทวิเคราะห์ และบทร้อยกรองประกอบ

ทั้งนี้โดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ลินดา เกณฑ์มา ดร. อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
ได้กรุณาให้คำแนะนำปรึกษา

View Fullscreen

 

อยากรู้

ชวลิต ผู้ภักดี แนวทางในการก้าวออกจาก
“คน” สู่ความเป็น “มนุษย์” ที่สมบูรณ์แบบ ในยุค 4.0
ด้วยการท่องหนังสือ สู่การคิดวิเคราะห์
เพื่อ

“อยากรู้”

“ท่องหนังสือ” นั้น ความจริงแล้วโบราณท่านซ่อนนัยไว้อย่างมีนัยสำคัญ ที่ผู้เขียนบทความนี้ใคร่เสนอแนวคิดไว้ คือ ท่องเที่ยวไปกับหนังสือ หรือตัวอักษร ไม่ให้เชื่อหนังสือ หรือตัวอักษรนั้น หากแต่ว่าต้องค้นหาความจริง แล้วผู้ท่องหนังสือจะพบว่า “ตนเองกาลังก้าวไปสู่โลกกว้างอย่างแท้จริง”

View Fullscreen