เมื่อเด็กรอวันผลิบาน

** ดร.จามจุรี  จำเมือง

สวยบริสุทธิ์                    ดุจดังดอกไม้

รอวันเติบใหญ่                 ในวันหน้าเอย

              วัยเยาว์เป็นวัยบริสุทธิ์ ปราศจากการเสแสร้ง คิดอย่างไร เห็นอย่างไรก็พูดเช่นนั้น ไม่ต้องอ้อมค้อม ไม่ปิดบังอำพราง เด็กๆช่างไร้เดียงสายิ่งนัก  เคยมีคนกล่าวไว้ว่า “ เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” ซึ่งแน่นอนว่า หากเรามอบสิ่งดีๆให้เด็กในวันนี้ พวกเขาก็จะเติบโตเป็นคนดีในวันข้างหน้าอย่างมิต้องสงสัย

หากเด็กเปรียบเสมือนกระดาษสีขาว ประสบการณ์ สภาพแวดล้อม การอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว และสังคม ล้วนแต่งแต้มสีสันลงไปบนกระดาษเปล่าแผ่นนั้น วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า จนวันเวลาล่วงไป เด็กก็จะมีสีสันตามรอยแต่งแต้ม บางคนโชคดีได้สีสวยงาม สะอาดชวนมอง ขณะที่บางคนเต็มไปด้วยริ้วรอยของสีเทา สีดำปะปนลงไป มีสุข ทุกข์ ดี เลว คละเคล้าในเด็กเหล่านั้น

กว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่  บางคนมีวัยเด็กอันอบอุ่น อยู่กับครอบครัวที่สมบูรณ์ มีพ่อ แม่ ญาติพี่น้องคอยดูแล ขณะที่บางคนมีวิถีชีวิตในวัยเด็กอย่างยากเข็ญ ครอบครัวแตกแยก ขาดพ่อ ขาดแม่ ขาดคนดูแลเอาใจใส่ การอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็กของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ส่งผลระยะยาวต่อเด็กเมื่อพวกเขาเติบใหญ่

มีสุภาษิตไทยกล่าวว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” หากต้องการฝึกฝน พัฒนาเด็กจึงต้องทำตั้งแต่วัยเยาว์เพราะถ้าปล่อยจนโตขึ้นฝึกหัดอย่างไรก็ไม่ได้ผล จึงต้องอบรมสั่งสอนกันตั้งแต่วัยเด็ก การให้การศึกษาที่ดี อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ส่งผลให้เด็กเติบโตอย่างสมบูรณ์ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุข โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดจนถึงอายุก่อน 10 ปี เป็นช่วงที่เด็กมีความไวต่อการปลูกฝังและส่งเสริมจริยธรรม การปฏิบัติต่อเด็กอย่างเหมาะสม กับพัฒนาทางกายและจิตใจของเด็กจะช่วยป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นเมื่อเขาเข้าสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ (ศุนิสา ทดลา,2560 หน้า 374)

—————————————————-

** ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดมงคลวราราม เขตจอมทอง กรุงเทพฯ

** กรรมการบริหารสมาคมศิษย์เก่าบ้านสมสมเด็จเจ้าพระยาในพระบรมราชูปถัมภ์

 

สภาพปัญหาของเด็ก

สำหรับสภาพสังคมไทยที่ผ่านมาจะพบว่ามีความมั่นคงทางสังคมมากขึ้นแต่ยังมีปัญหาเชิงคุณภาพทั้งด้านสุขภาพ การเรียนรู้ คุณธรรมจริยธรรม สังคมเผชิญกับความเสื่อมถอยทางวัฒนธรรม มีแนวโน้มเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมมากขึ้น (กองบรรณาธิการ วารสารวิชาการ,2559 หน้า 9)   ดังนั้นการจัดการศึกษาของเด็กจึงต้องจัดให้มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก โดยเฉพาะครอบครัว (กุลชลี จงเจริญ,2561) เพราะสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีส่งผลต่อเด็กอย่างมหาศาล เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ทะเลาะกัน ดื่มสุรา ตบตีกัน เด็กจะเห็นภาพไม่ดี เกิดความอับอาย เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีติดตัวเด็กตลอดไป (อัศวิน ขวัญเมือง,2561) การเปลี่ยนแปลงครอบครัวในด้านลบ พ่อแม่ไม่ดูแลลูก ใช้ความรุนแรงกับลูก ส่งผลให้การพัฒนาเด็กเป็นไปได้ยาก(กุลชลี จงเจริญ,2561) ความยากแค้นในวัยเด็ก จะทำให้เขาโหยหาสิ่งที่ขาดแคลนเมื่อโตขึ้น เพื่อทดแทนสิ่งที่ขาดหายไปในวัยเยาว์

 

แม้ยุคสมัยแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะช่วยให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว ข้อมูลข่าวสารและความรู้ใหม่ๆสามารถเผยแพร่ไปได้ทั่วโลกภายในเวลาอันรวดเร็ว ทว่ากลับทำให้อารยธรรมแห่งความสงบสุขของมนุษยชาติที่เคยมีมาค่อยๆเลือนหายไปจากสังคม เกิดความสับสน ทุกข์กังวล ผู้คนขาดความสุขโดยเฉพาะสังคมเมือง ที่ยิ่งความเจริญมีมากขึ้นเท่าไร อาการทุกข์ใจ ป่วยทางจิต ก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องหาทางให้การศึกษาที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหา (จามจุรี จำเมือง,2546-2547 หน้า 39) หากเด็กได้รับการศึกษา ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเพียงพอ จนมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดีก็จะเป็นเกราะป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก

ปัจจุบันพ่อแม่มักมีลูกจำนวนน้อยเพียง 1 หรือ 2 คนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ลูกได้รับการเอาใจจนเกินไป พ่อแม่ ผู้ปกครองตามใจเด็ก การตามใจแทนที่จะส่งผลดีกลับกลายเป็นทำให้เด็กลำพองใจ เห็นแก่ตัว เรียกร้องต้องการตามที่ตนปรารถนาเพราะเห็นว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองตามใจตัวเอง บางคนพยายามเอาใจเด็กด้วยการให้เงิน ให้สิ่งของที่เด็กอยากได้ คาดหวังว่าจะทำให้เด็กรัก โดยขาดความสำนึกว่าเงินทอง สิ่งของที่มอบให้เด็กเป็นเพียงวัตถุภายนอกที่ผู้ใหญ่คิดว่าเด็กอยากได้ ทั้งๆที่เด็กอยากให้พ่อแม่ ผู้ปกครองรักและดูแลเอาใจใส่เขามากกว่า

ศ.ดร.ดวงเดือน พันธุมนาวินและคณะ กล่าวว่า พ่อแม่หรือผู้ปกครองมักรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และมีความเข้าใจน้อยมากถึงความเหมาะสมในการให้รางวัลและการลงโทษเด็ก มักใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล โดยเฉพาะผู้ปกครองที่มีระดับการศึกษาต่ำและฐานะไม่ดี ส่วนผู้ปกครองที่มีฐานะดีจะมีคนคอยเอาใจ ไม่กล้าลงโทษ เมื่อเด็กทำไม่ดีก็ไม่ว่ากล่าว จึงไม่ได้เรียนรู้เรื่องทำผิดต้องถูกลงโทษ เด็กทั้งสองกลุ่มจึงมีข้อจำกัดเช่นกัน (ศุนิสา

ทดลา,2560 หน้า 375)

การพัฒนาเด็กในศตวรรษที่ 21

ประเทศไทยพบปัญหาการพัฒนาเด็กให้มีทักษะหรือคุณสมบัติที่จะดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ใน 3 ด้านคือ

1.ความเชื่อและค่านิยมที่ผิดของผู้ปกครอง พ่อแม่ ผู้ปกครองซึ่งมีความเชื่อว่าผู้มีความรู้มากเป็นคนเก่ง จะมีอนาคตดี มีงานทำที่ดี การประเมินผลวัดกันด้วยความรู้ทางวิชาการเป็นคะแนนสอบ จึงเร่งให้เด็กเรียน เน้นการแข่งขันทางวิชาการ

2.เน้นการเรียนวิชาการระดับปฐมวัย มีการเน้นให้เด็กเรียนมากทางวิชาการตั้งแต่เด็กยังเล็กตั้งแต่ปฐมวัยเพื่อให้สามารถสอบเข้าโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่มีชื่อเสียง เร่งเด็กอ่านให้ออก เขียนได้ นับเลขเป็น จนถึงบวกลบเลขได้ตั้งแต่ปฐมวัย ซึ่งเป็นการสร้างความเครียดให้กับเด็ก กดดันเด็กจนทำให้เด็กเบื่อการเรียน ไม่มีความสุขกับการเรียน

3.ปิดกั้นการพัฒนาสมองของเด็กตามวัยอันควร เมื่อไปเน้นวิชาการทำให้เด็กมีเวลาสำหรับการเล่นลดลง ขาดการฝึกกล้ามเนื้อ มารยาทและจิตสำนึก ขาดการเข้าสังคมกับเพื่อนวัยเดียวกัน จากการวิจัยพบว่า หากเด็กเรียนวิชาการตั้งแต่ปฐมวัยมากเกินไป จะปิดกั้นการพัฒนาสมองของเด็กด้านความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหา เพราะถูกจำกัดให้เรียนแต่วิชาการ ทำให้การพัฒนาสมองมีแค่ความจำเท่านั้น ส่วนเซลล์สมองอื่นๆไม่แตกแขนง ไม่ได้พัฒนาอย่างที่ควรจะเป็นตามวัย ครั้นเมื่อเลยวัยนี้ไปแล้วก็ยากที่จะกลับมาพัฒนาได้อีก (เอกพจน์ สืบญาติ,2561)

การพัฒนาคน พัฒนาเด็กต้องทำให้เขามีความเข้มแข็ง มีคุณภาพ ซึ่งคุณภาพส่วนใหญ่มักไปดูกันที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ในความเป็นจริงต้องดูที่คุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้วยว่าเด็กเป็นคนดี คนเก่งหรือไม่ (กุลชลี จงเจริญ, 2561) ซึ่งหนทางหนึ่งในการนำไปสู่ความสำเร็จคือการสร้างกรอบความคิดเติบโตให้เด็ก กรอบความคิดเติบโตมีความสำคัญต่อบุคคลทั้งในด้านการศึกษาและการเรียนรู้ การปรับตัว สุขภาพจิต หากเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดจำกัดให้เป็นกรอบความคิดเติบโตได้ก็จะเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ได้ (ชนิตา รุ่งเรืองและเสรี ชัดแช้ม,2559 หน้า 9)

 

การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาประชาชนและพัฒนาประเทศที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ไม่เหมือนกับการเพาะปลูกต้นไม้ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีก็สามารถเก็บผลผลิตได้ การศึกษาสำหรับเด็กต้องใช้เวลาเพาะบ่มยาวนานกว่าจะเห็นผล ซึ่งควรมีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ พัฒนาให้เป็นเด็กที่ดี มีคุณธรรม สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข (จามจุรี จำเมือง,2546-2547 หน้า 39-40)

เมื่อเด็กๆไปโรงเรียน เป็นนักเรียน ต่างคนต่างก็นำเอาลักษณะเฉพาะตัว นำอัตลักษณ์ติดตัวไปด้วย จากครอบครัว  สุขภาพร่างกาย ขนบธรรมเนียมประเพณีที่แวดล้อม โรงเรียนจึงต้องขัดเกลานักเรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม หน้าที่ของโรงเรียนที่ต้องทำ ได้แก่

1.ทำให้นักเรียนเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน (Foster a Sense of Belonging) เมื่อรับนักเรียนมาจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง โรงเรียนต้องมีการปรับตัวนักเรียนให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน หากนักเรียนทำได้รวดเร็วก็จะทำให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว และมีสุขภาพจิตที่ดี

2.ทำให้นักเรียนปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง (Help Children Adapt to Change) สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป การเข้าสังคมกับกลุ่มเด็กในห้องที่ไม่คุ้นเคยกันมาก่อน อาจทำให้เกิดความเครียดกับนักเรียนซึ่งครูและผู้บริหารมีส่วนสำคัญที่จะสร้างกิจกรรมให้เด็กมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

3.ทำให้เกิดทัศนคติทางบวก (Accentuate the Positive) การกล่าวชมเชย สร้างความเป็นกันเอง ให้รางวัล ลดการตำหนิ หากนักเรียนทำผิดก็ให้คำแนะนำในการปรับปรุงตัวเองด้วยท่าทีที่เป็นมิตร จะช่วยสร้างทัศนคติทางบวกให้กับนักเรียน

4.ทำให้มีการปรับอารมณ์ได้ดี (Strengthen Children’s Resiliency) การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างครูกับนักเรียนและนักเรียนกับนักเรียน  จะทำให้นักเรียนมีอารมณ์ดี หากมีเรื่องโกรธแค้น ไม่เข้าใจกัน ก็มีการสร้างความเข้าใจกัน มีข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันให้ทุกคนถือปฏิบัติ เป็นวินัยของโรงเรียน จะทำให้นักเรียนมีการปรับอารมณ์ได้ดี เพราะเกิดการยอมรับข้อตกลงของโรงเรียน (จามจุรี จำเมือง,2546-2547 หน้า 40-42 อ้างจาก Whelley & Bryson, 2002)

การพัฒนาศักยภาพของนักเรียน อีกวิธีหนึ่งคือการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียน ครูมีบทบาทในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน หาวิธีการ แนวคิด หลักการ ทฤษฎีทางจิตวิทยามาประยุกต์ในการจัดการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงความถนัดและความสนใจของผู้เรียน (กมล โพธิเย็น,2558-2559 หน้า 121) ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความฉลาด แม้นบริบทของสังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงไป (กุลชลี จงเจริญ, 2561) และการจะทำให้เกิดผลต้องมีความมุ่งมั่น อดทน รู้จักการรอคอย การรอที่บางครั้งดูเหมือนแสนนานนั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมรับกับสิ่งที่จะเดินทางมาถึงก็ได้ (ปะการัง,2560 หน้า 89)

ทิศทางของนโยบายการศึกษาที่จะพัฒนาเด็ก จะสำเร็จได้ต้องมีการปฏิบัติที่ชัดเจน ทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ (กุลชลี จงเจริญ, 2561) ครูต้องสอนให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของเพื่อนมนุษย์และการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม เคารพซึ่งกันและกัน  ครูต้องเตรียมผู้เรียนให้เห็นคุณค่าของเพื่อนมนุษย์ (วาสนา วิสฤตาภา,2560 หน้า 385) สอนให้มองโลกกว้าง ไม่ใช่มองโลกแค่ที่เห็นในชุมชนรอบตัว มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่าเด็กในแหล่งชุมชนแออัดนั้น เด็กชายหลายคนฝันว่าจะทำงานขับรถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ส่วนเด็กหญิงไม่น้อยฝันที่จะทำงานสบาย ได้เงินใช้แบบง่ายๆ (อัศวิน ขวัญเมือง,2561)

ข้อค้นพบจากงานวิจัย ชี้ให้เห็นว่า สาเหตุที่เด็กและเยาวชนจะต้านทานสิ่งยั่วเย้าได้หรือไม่นั้นมาจากองค์ประกอบ 2 ประการคือ ยีนในตัวเองประการหนึ่ง  ส่วนอีกประการหนึ่งคือการเลี้ยงดูและการให้การศึกษาเรียนรู้ ซึ่งผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าการเลี้ยงดูมีผลต่อเด็กมากกว่ายีนในตัวเด็กเอง (อุทัย ดุลยเกษม,2559 หน้า 129)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพของคนในทุกช่วงวัย ให้สนับสนุนการเจริญเติบโตของประเทศไว้ตามช่วงวัย โดยช่วงวัยเด็กให้มีการพัฒนาการที่สมวัยในทุกด้าน วัยเรียน วันรุ่นให้มีทักษะการเรียนรู้ ทักษะชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นภายใต้บริบทสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรม (พัชราภา ตันติชูเวช,2560 หน้า 305)

หากเด็กมีปัญหาด้านการเรียนรู้และการสร้างแรงจูงใจ เราอาจสร้างความสามารถในการเรียนรู้ที่มีความเกี่ยวพันกับแรงจูงใจของผู้เรียนและกรอบความคิดเติบโตให้มีความสัมพันธ์กับการเรียนรู้และแรงจูงใจของผู้เรียน (ชนิตา รุ่งเรืองและเสรี ชัดแช้ม,2559 หน้า 7)

สำหรับการพัฒนาผู้เรียนให้เติบโตเต็มศักยภาพมีจุดเน้น 3 ประการ

1.ต้องการให้ผู้เรียนเติบโตทั้งด้านร่างกาย จิตใจควบคู่กับการมีคุณธรรม จริยธรรมของผู้เรียนอย่างเหมาะสมกับช่วงวัย

2.การเติบโตด้านความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่อการเรียนและการประกอบอาชีพในอนาคตไม่เป็นภาระต่อตนเอง ครอบครัว สังคม

3.การเติบโตด้านทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การมีจิตสำนึกสาธารณะ การเป็นพลเมืองที่สามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นได้อย่างมีความสุขในสังคมที่มีความหลากหลาย (พัชราภา ตันติชูเวช,2560 หน้า 306)

ปัญหาการพัฒนาเด็กในศตวรรษที่ 21 จึงเป็นภาระทั้งของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และสถาบันจัดการศึกษาที่จะต้องดูแล เอาใจใส่ หาทางขจัดปัญหาอันจะทำให้เด็กขาดการเรียนรู้ที่ดี ด้วยการส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาตนเองตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน

การส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยกิจกรรมการเล่น

กิจกรรมการเล่นหมายถึงการกระทำที่ทำให้มีความสุข สนุกสนานโดยไม่คำนึงถึงผลที่จะได้รับ การเล่นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตเด็กโดยเฉพาะวัยเยาว์ เพราะเป็นการเตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา สังคม อารมณ์

การเล่นส่งผลดีต่อเด็กดังนี้

1.ช่วยระบายพลังงานที่เหลือตามธรรมชาติ เด็กเกิดความสนุกสนานขณะที่มีการเล่น

2.เป็นการชดเชยสิ่งที่ขาด ด้วยการแสดงออกทางการเล่น ขณะเล่นเด็กจะเกิดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงที่เป็นรูปธรรม มีการพัฒนาทักษะต่างๆไปพร้อมกัน การเล่นของเด็กจะนำไปสู่ความรับผิดชอบ การเข้าสังคมในวันข้างหน้า

3.เป็นการฝึกการแสดงออกอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์และการเข้ากลุ่มเพื่อน มีการแสดงออกทางร่างกายที่ชัดเจน ฝึกมารยาทในการอยู่ร่วมกันในสังคม มีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม การเล่นมีอิทธิพลต่อเด็กในทุกด้าน (สุนทรี รักความสุข,2561)

กิจกรรมการเล่นที่เหมาะกับการพัฒนาการของเด็ก ได้แก่ การเล่นโดยใช้ศิลปะ และการเล่นโดยใช้ดนตรี

              1.การเล่นโดยใช้ศิลปะจะช่วยให้เด็กพัฒนาการใช้สมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาอย่างสมดุล ช่วยปรับอารมณ์ให้สงบ มีสมาธิ รวมทั้งส่งเสริมพัฒนาการด้านอื่นๆ กิจกรรมศิลปะที่เหมาะกับเด็ก เช่น วาดเส้น วาดภาพต่อเติม ระบายสี ปั้น ประดิษฐ์ตกแต่ง ตัด ฉีก ปะ กระดาษฯ การเล่นโดยใช้ศิลปะช่วยให้เด็กได้คิดอย่างอิสระ ฝึกจินตนาการ ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

              2.การเล่นโดยใช้ดนตรี  ทำให้เกิดความสนุกสนาน มีพัฒนาการด้านร่างกาย ภาษา สังคมและอารมณ์ดี ฝึกการเป็นคนช่างสังเกต ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เด็กมีจิตใจอ่อนโยน ฝึกการแสดงและการควบคุมกล้ามเนื้อ การเล่นดนตรีต้องคำนึงถึงความพร้อมทางร่างกาย สติปัญญาและสังคมของเด็กด้วย (สุนทรี รักความสุข,2561) การมีทักษะทางดนตรีถือว่าเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชนให้มีพัฒนาการที่ดีทั้งทางด้านบุคลิกภาพ อารมณ์ สติปัญญา และเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ (เกศรา มัญชุศรี,2560 หน้า 72)

การส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยกิจกรรมการเล่น เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างองค์ความรู้เพื่อสร้างความสุขให้ผู้เรียนอันประกอบด้วย ความสนใจใฝ่เรียนรู้ ความพึงพอใจในการเรียนและการเห็นคุณค่าในตัวเอง (กมล โพธิเย็น,2558-2559 หน้า 121) กรณีที่การเล่นหรือการเรียนเกิดความขัดแย้งกัน ครูสามารถช่วยเหลือผู้เรียนได้ดังนี้

1.ซักถามถึงต้นเหตุของปัญหา

2.ชี้แจงให้ผู้เรียนเข้าใจสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น

3.ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยให้ผู้เรียนหาวิธีแก้ไขความขัดแย้ง

4.ให้คู่กรณีที่เป็นคู่ขัดแย้งอธิบายวิธีแก้ปัญหา ผลัดกันวิจารณ์ความคิดเห็น

5.ระดมพลังสมองเพื่อหาทางออกของปัญหาในหลายๆวิธี

6.เลือกทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดอันเป็นที่ยอมรับโดยทำข้อตกลงร่วมกัน (จามจุรี จำเมือง,2546-2547 หน้า44 อ้างจาก Quinlan,2004)

 

บทบาทของพ่อแม่ ผู้ปกครองในศตวรรษที่ 21

เด็กในศตวรรษที่ 21  ต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง มีความมั่นใจ ความเชื่อมั่นและศรัทธาในตนเอง

(วาสนา วิสฤตตาภา,2560 หน้า 384) ด้วยเหตุนี้การจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กจึงต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับผู้เรียนแต่ละคน เพื่อวางรากฐานชีวิตให้เจริญงอกงามอย่างสมบูรณ์ มีพัฒนาการสมวัยอย่างสมดุลทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา การจัดการเรียนรู้ส่งเสริมให้ผู้เรียนค้นพบและแสดงออกถึงศักยภาพของตนเอง เพราะการดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่ต้องใช้ศักยภาพที่แตกต่างกันของคนให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการประกอบอาชีพและช่วยเหลือสังคม ดังนั้นการจัดการศึกษาจึงเน้นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองตามความสามารถที่แตกต่างกันระหว่างตนเองกับผู้อื่น ทำให้เกิดการร่วมมือกัน อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งแก่สังคมและประเทศ (ศิริวรรณ วณิชวัฒนวรชัย,2558-2559 หน้า 65) กรณีที่เป็นเด็กประเภทหลังห้อง ไม่ใส่ใจในการเรียนก็ต้องให้โอกาส สร้างแรงบันดาลใจให้เขาเห็นตัวอย่างที่ดีในโลกกว้าง หากเราให้โอกาสเขา เขาก็อาจกลับมาตั้งใจเรียนมากขึ้น(อัศวิน ขวัญเมือง,2561)

นายแพทย์อัศวิน นาคพงศ์พันธุ์ (2560 หน้า 59-60) เสนอแนวคิดว่าเด็กที่มีปัญหาต้องมีการพูดคุยกับพ่อแม่จะได้เข้าใจตรงกันและหาทางปรับปรุงแก้ไข เพราะเด็กแต่ละวัยจะมีปัญหาต่างกัน ถ้าเป็นเด็กเล็กส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องพฤติกรรมดื้อ เอาแต่ใจ ขี้โมโห ส่วนเด็กวัยประถมศึกษาจะเป็นปัญหาเรื่องการเรียน เช่นไม่ตั้งใจเรียน ไม่ส่งการบ้าน พอเป็นวัยรุ่นปัญหาจะต่างออกไป เช่นไม่คุยกับพ่อแม่ ชอบเที่ยวกับเพื่อน ไม่ชอบกลับบ้าน ลองยาเสพติด มีเรื่องชกต่อยฯ ซึ่งเด็กควรดูแลและให้ความสำคัญทุกช่วงวัย เพียงแต่วิธีการดูแลอาจจะต่างกัน

พระอาจารย์อำนวย จิต.ตสํวโร เจ้าอาวาสวัดป่ามณีกาญจน์ จ.นนทบุรี ท่านเทศน์สอนครอบครัวที่มีปัญหาว่าต้องสร้างความเข้าใจกัน ครอบครัวที่มีความสุขต้องรู้จักยอมซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ต่างฝ่ายจะเอาแต่ใจตัวเอง การไม่ยอมมีแต่จะทำให้ทะเลาะกัน ไม่มีอะไรดีขึ้น (อุราณี ทับทอง,2560 หน้า 19)

การเห็นพ่อแม่ คนในครอบครัวทำดี ประพฤติชอบ เป็นตัวอย่างที่ดีกว่าคำสอน การพูดให้เด็กทำดีสู้การทำดีให้เด็กดูไม่ได้ เด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมของคนในครอบครัวและสังคมรอบตัว จึงควรจัดสภาพแวดล้อมของเด็กให้อยู่ในสถานที่อันเหมาะแก่การปลูกฝังสิ่งดีงามในชีวิตให้เด็ก หากพ่อแม่ คนในครอบครัวเป็นผู้มีเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำบุญทำทาน ซื่อสัตย์สุจริต เป็นตัวอย่างที่ดี เด็กๆก็จะเลียนแบบนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและแน่นอนว่าเมื่อโตขึ้น พวกเขาจะซึมซับรับเอาการกระทำดีไปปฏิบัติต่อ หากเด็กๆไม่ใส่ใจในการทำดี เราก็ต้องส่งเสริมให้เขาได้มีโอกาสทำดี เหมือนต้นไม้ถ้าเรารดน้ำ พรวนดินสม่ำเสมอก็จะออกดอก ออกผล แต่ถ้าเราไม่ใส่ใจ เพียงไม่นานก็จะเหี่ยวเฉา จะมาเร่งให้งอกงามทีหลังก็ทำได้ยาก (วริษฐา เสือแผ้ว,2560หน้า 23)

บทบาทของพ่อแม่ ผู้ปกครองในศตวรรษที่ 21 ต้องมุ่งพัฒนาเด็กให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอันเป็นปัจจัยมาจากเทคโนโลยี เด็กควรได้รับการพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้ 4 ประการอันได้แก่ (เอกพจน์ สืบญาติ,2561)

1.สมรรถนะในการสื่อสาร (Communication)

2.สมรรถนะในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Collaboration)

3.สมรรถนะในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking)

4.สมรรถนะในการสร้างสรรค์และผลิตนวัตกรรม (Creativity and Innovation)

พ่อแม่ ผู้ปกครองมีบทบาทอย่างมากต่อเด็กในศตวรรษที่ 21 โลกสมัยเก่าเปลี่ยนแปลงไปจนเกือบหมดสิ้น ทางรอดอย่างเดียวที่พ่อแม่ ผู้ปกครองจะช่วยเหลือเด็กได้ในภายภาคหน้าคือช่วยสร้างโอกาสให้เด็กๆได้มีชีวิตอย่างปลอดภัย สามารถดำรงชีพได้อย่างมั่นคงในวันข้างหน้า

 

การศึกษาสำหรับเด็กไทยในศตวรรษที่ 21

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 กำหนดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ มีการพัฒนาที่สำคัญคือการพัฒนาทุกด้านแบบองค์รวมให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีพื้นฐานทางจริยศาสตร์ เป็นคนดีทั้งทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลก ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความรู้และทักษะพื้นฐานรวมถึงมีเจตคติที่ดีต่อการศึกษา (พัชราภา ตันติชูเวช,2560 หน้า 304) นอกจากนี้ผู้เรียนยุคใหม่ยังควรมีคุณสมบัติอีกอย่างน้อย 7 ประการ ได้แก่ สามารถสร้างผลงานได้ มีความคิดสร้างสรรค์ ร่วมมือกับคนทั่วไป รู้จักและเข้าใจผู้อื่น รับผิดชอบ มีสำนึกทางสังคมและมีจริยธรรม (วาสนา วิสฤตาภา,2560 หน้า 383) อันจะทำให้เด็กได้ประสบความสำเร็จของชีวิตในวันข้างหน้า ซึ่งความสำเร็จนี้ส่วนใหญ่มาจากการเรียนรู้ ฝึกฝน ปฏิบัติและฝ่าฟันอุปสรรค ส่วนโชคชะตาอาจมีส่วนช่วยบ้าง น้อยคนที่มีเป้าหมายแล้วตลอดเส้นทางไปจนถึงปลายทางโรยด้วยกลีบกุหลาบ ส่วนใหญ่ต้องฝ่าฟันทั้งนั้น (รัชกร  วงษ์ยอด,2560 หน้า 37)

ดังนั้นการจัดการศึกษาจึงต้องมีการศึกษาความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน อันเป็นการศึกษาข้อมูลต่างๆเพื่อช่วยให้ผู้สอนทราบว่าผู้เรียนมีความพร้อมในการเรียนมากน้อยเพียงไรและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการออกแบบการเรียนรู้หรือใช้สื่อที่เหมาะสมกับวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน (ศิริวรรณ วณิชวัฒนวรชัย,2558-2559 หน้า 66)

มีงานวิจัยของพัทธนันท์ วงษ์วิชยุตม์ (2558 หน้า 75-76) เรื่องแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานของโรงเรียนอนุบาลราชภัฏกำแพงเพชรและศูนย์เด็กปฐมวัย ผลการวิจัยพบว่าสภาพการดำเนินงานของโรงเรียนอนุบาลราชภัฏกำแพงเพชรและศูนย์เด็กปฐมวัยตามความคิดเห็นของผู้ปกครองโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดได้แก่ด้านการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากชุมชน ด้านอาคารสถานที่ สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ด้านวิชาการและกิจกรรมตามหลักสูตร ด้านบุคลากรและการบริหารจัดการตามลำดับ ส่วนความคิดเห็นของผู้บริหารและบุคลากรโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดได้แก่ด้านการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากชุมชน ด้านบุคลากรและการบริหารจัดการ ด้านอาคารสถานที่ สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ด้านวิชาการและกิจกรรมตามหลักสูตร สำหรับผลการสัมภาษณ์ด้านบุคลากรและการบริหารจัดการพบว่าครูมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย โดยครูส่วนใหญ่จัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้เหมาะสมและสอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กทุกด้าน มีบุคลิกภาพที่เหมาะสม มีความรักและเอาใจใส่ต่อผู้เรียน

ทั้งนี้การที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เติบโตตามศักยภาพ จำเป็นต้องอาศัยผู้มีส่วนร่วมหลายภาคส่วน ประกอบด้วย

1.สถาบันครอบครัว เป็นสถาบันแรกที่มีอิทธิพลอย่างมากในการพัฒนาผู้เรียนให้เติบโตได้เต็มตามศักยภาพ ครอบครัวมีอิทธิพลกับผู้เรียนตั้งแต่การกำหนดคุณลักษณะทางพันธุกรรม เชาวน์ปัญญาและบุคลิกภาพ

2.สถาบันการศึกษา มีความใกล้ชิดกับผู้เรียนรองลงมา บทบาทหน้าที่คือการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เต็มตามศักยภาพ พัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะประสงค์ตามหลักสูตร

3.สังคม เป็นสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบๆผู้เรียน สังคมมีส่วนทำให้ผู้เรียนได้รับรู้ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การติดต่อสื่อสาร ได้เห็นแบบอย่างวิถีการใช้ชีวิต เป็นแบบอย่างให้ผู้เรียนได้รับรู้ เลียนแบบ ทำให้เกิดกระแสค่านิยมตามที่สังคมกำหนด สังคมจึงต้องตอบสนองทางสร้างสรรค์ให้กับผู้เรียน (พัชราภา ตันติชูเวช, 2560 หน้า 310)

การจัดการศึกษาควรสร้างความสุขให้ผู้เรียนอันประกอบด้วย ความสนใจใฝ่เรียนรู้ ความพึงพอใจในการเรียนและการเห็นคุณค่าในตัวเอง (กมล โพธิเย็น,2558-2559 หน้า 121)

สำหรับการเรียนของเด็กนั้น ปัจจัยที่ทำให้ผู้เรียนไม่มีความสุขในการเรียนรู้เกิดจาก

1.ปัจจัยจากตัวผู้เรียน ผู้เรียนมองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียนว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากการเรียน จากสิ่งที่ครูหรือหลักสูตรกำหนด ผู้เรียนไม่ชอบ ไม่พอใจสิ่งที่เรียน ไม่ตรงตามความถนัด ความสนใจที่จะเรียน สิ่งที่เรียนอาจยากหรือซับซ้อนเกินไป ผู้เรียนไม่เห็นหนทางในการเรียนรู้ที่สำคัญคือขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ ไม่มีจุดมุ่งหมายในการเรียน

2.ปัจจัยจากครู ครูไม่มียุทธวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจเนื้อหาสาระจนเกิดความคิดรวบยอด สิ่งที่เรียนไม่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน หรือทำให้ผู้เรียนเกิดความชัดเจนในการเรียน ขณะเดียวกันครูยังขาดความสามารถในการจูงใจ กระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจและมีส่วนร่วมในการเรียน(กมล โพธิเย็น,2558-2559 หน้า 123)

การจัดการศึกษาไม่ใช่การเติมน้ำใส่ลงไปในถังให้มีปริมาณมากขึ้นแต่เป็นการจุดไฟ ไฟแห่งความรู้ความอยากเห็น จุดประกายไฟในแววตาของเด็กให้ลุกโชติช่วงที่จะกระหายใคร่รู้ (กุลชลี จงเจริญ,2561) หากมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเด็กอย่างไม่สนใจกับความเหน็ดเหนื่อย ปัญหาและอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของเด็ก วันหนึ่งเมื่อเราหันกลับไปดูข้างหลัง จะเกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำมา เพราะอนาคตของคนในชาติอยู่ในมือของคนยุคปัจจุบัน หากเราช่วยกันคนละเล็กคนละน้อย สังคมก็จะดีขึ้น (อัศวิน ขวัญเมือง,2561) การจัดการศึกษาให้กับเด็กในโรงเรียนก็เพื่ออบรมสั่งสอนให้เด็กเป็นคนดีมีศีลธรรมและเพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถดำรงชีวิตอย่างสงบสุขในสังคม จุดมุ่งหมายของการศึกษาคือการสร้างสันติสุขอันถาวรให้เกิดขึ้นบนโลกนี้ (จามจุรี จำเมือง,2546-2547 หน้า 46)

การศึกษาสำหรับเด็กในศตวรรษที่ 21 สามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย เด็กสามารถเรียนรู้ได้จากนวัตกรรมใหม่ๆที่ผลิตและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง การศึกษาไม่ได้หมายถึงการเรียนที่โรงเรียนอย่างที่เคยเป็นมา หน้าที่ของผู้ใหญ่ในวันนี้คือจะส่งเสริมอย่างไรให้เด็กได้มีการศึกษาที่ดีพอสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคม

บทสรุป

เราทุกคนล้วนเกิดมาด้วยความต้องการที่จะมีชีวิตที่ยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบ ทุกชีวิตเปลี่ยนแปลงได้ พัฒนาได้ อย่าหยุดอยู่กับความเคยชินที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต จงเรียนรู้และเคยชินกับการเดินไปบนเส้นทางที่จะนำไปสู่ชีวิตที่ยอดเยี่ยมนั้น (งามจิต มุทะธากุล,2561 หน้า 29) ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวย และต้องมีการสร้างความเข้าใจให้ตรงกันว่า คนจนไม่ได้หมายความว่าเป็นคนไม่ดี แต่คนไม่ดีหมายความว่าเขาจะเป็นคนจน ไม่ว่าจะจนใจหรือจนทรัพย์สิน คนจนที่ตั้งใจทำดี แม้นฐานะความเป็นอยู่จะขัดสนแต่ก็สามารถที่จะพัฒนาตนเองให้มีฐานะดีขึ้นได้ ส่วนคนที่ฐานะดีหากประพฤติตัวไม่เหมาะสม ฟุ่มเฟือย เล่นการพนัน ติดอบายมุขก็มีโอกาสหมดตัว กลายเป็นคนยากจนได้เช่นกัน

วิถีชีวิตคนนั้น โชคชะตากำหนดมาส่วนหนึ่ง เราเลือกเกิดไม่ได้ เลือกพ่อแม่ เลือกครอบครัวไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะทำดีหรือทำชั่วได้ รู้จักการอดทน รอคอย หากรู้ว่าโลกเต็มไปด้วยการรอคอย ชีวิตถูกออกแบบมาอย่างนั้น เราก็จะเข้าใจได้ว่าการรอคอยสิ่งหนึ่งสิ่งใด มิใช่เป็นความทุกข์ทรมาน หากคือความหอมหวานของกาลเวลา (ปะการัง,2560 หน้า 89)

สายน้ำไหลไปมิหวนกลับ วันเวลาล่วงไปมิหวนคืน ทางผ่านของกาลเวลาเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของแต่ละบุคคล จากวัยเด็ก สู่วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ก่อนจะเข้าสู่วัยชรา ล้วนเต็มไปด้วยริ้วรอยกรรมที่สั่งสมกันมา สมดังพุทธภาษิตว่า  กม.มุนา วต.ตติ โลโก  สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรม ใครทำกรรมใดไว้ก็ย่อมได้รับผลเช่นนั้น บุคคลใดทำดีย่อมได้ดี บุคคลใดทำชั่วย่อมได้ชั่ว หากเราช่วยกันสร้างโอกาสให้เด็กในวันนี้ ย่อมเชื่อได้ว่าเขาจะเติบโตขึ้นได้อย่างสมบูรณ์

เด็กๆเปรียบเสมือนดอกไม้ รอเพียงสักวันหนึ่ง ที่พวกเขาจะบานเต็มท้องทุ่งของโลกนี้

 

บรรณานุกรม

กมล  โพธิเย็น.(2558-2559,พ.ย.-มี.ค.).การจัดการเรียนรู้เพื่อนำความสุขสู่ผู้เรียน.วารสารศึกษาศาตร์

          มหาวิทยาลัยศิลปากร.13(2),121-131.

กองบรรณาธิการ วารสารวิชาการ.(2559,ต.ค.-ธ.ค.).ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ประเทศ

มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน.วารสารวิชาการ. 19(4),9-23.

กุลชลี จงเจริญ.(2561).ทิศทางการพัฒนาการจัดการศึกษาของกรุงเทพมหานคร.คำบรรยายในการประชุม

         ขับเคลื่อนนโยบายและการบูรณาการด้านการศึกษากรุงเทพมหานคร วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม 2561

ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ.

เกศรา มัญชุศรี.(2560,กุมภาพันธ์).4 สุดยอดเยาวชนคว้ารางวัลชนะเลิศ SET เยาวชนดนตรีฯ ครั้งที่ 19 . 

         ซีเคร็ต.9(207),72.

งามจิต มุทะธากุล.(2560,ก.พ.).ความเคยชิน.ซีเคร็ต.10(230),28-29.

จามจุรี จำเมือง.(2546-2547,พ.ย.-มี.ค.).สุขภาพจิตนักเรียน.วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

15(2),39-47.

ชนิตา รุ่งเรืองและเสรี ชัดแช้ม.(2559,ม.ค.-มิ.ย.).กรอบความคิดเติบโต:แนวทางใหม่แห่งการพัฒนาศักยภาพ

มนุษย์.วิทยาการวิจัยและวิทยาการปัญญา.14(1),1-13.

ปะการัง(นามแฝง).(2560,ปักษ์หลัง มี.ค.).โลกแห่งการรอคอยที่ไม่ทรมาน,ล้อมโลกด้วยรัก.ขวัญเรือน.

49(1088),87-89.

พัชราภา  ตันติชูเวช.(2560).การพัฒนาผู้เรียนให้เติบโตเต็มตามศักยภาพ.ใน ไพฑูรย์ สินลารัตน์และนักรบ

หมี้แสน(บรรณาธิการ),ความเป็นผู้นำทางการศึกษา.(หน้า 303-312).กรุงเทพฯ: วิทยาลัย

ครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

พัทธนันท์ วงษ์วิชยุตม์.(2558,ก.ย.-ธ.ค.).แนวทางการพัฒนาการดำเนินงานของโรงเรียนอนุบาลราชภัฏ

กำแพงเพชรและศูนย์เด็กปฐมวัย.สักทอง วารสารมนุยศาสตร์และสังคมศาสตร์ .21(3),69-85.

รัชกร  วงษ์ยอด.(2560,ธ.ค.).ไม่มีอะไรได้มาโดยง่าย.ซีเคร็ต.10(228),37.

วริษฐา  เสือแผ้ว.(2560,ส.ค.).ส่งลูกไปเป็นเด็กวัด ให้ธรรมสอนชีวิต.ซีเคร็ต.10(220),19-23.

วาสนา วิสฤตาภา.(2560). บทบาทครูในการเตรียมผู้เรียน.ใน ไพฑูรย์ สินลารัตน์และนักรบ หมี้แสน

(บรรณาธิการ),ความเป็นผู้นำทางการศึกษา.(หน้า 378-388).กรุงเทพฯ: วิทยาลัยครุศาสตร์

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

ศิริวรรณ  วณิชวัฒนวัฒนวรชัย. (2558-2559,พ.ย.-มี.ค.).การจัดการเรียนรู้ที่เน้นความแตกต่างระหว่าง

บุคคล. วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.13(2),65-74.

ศุนิสา ทดลา (2560). เป็นครูและผู้นำอย่าลำเอียง.ใน ไพฑูรย์ สินลารัตน์และนักรบ หมี้แสน

(บรรณาธิการ),ความเป็นผู้นำทางการศึกษา.(หน้า 370-377).กรุงเทพฯ: วิทยาลัยครุศาสตร์

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

สุนทรี  รักความสุข.(2561).การส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยกิจกรรมการเล่น.วันที่สืบค้นข้อมูล 5 พฤษภาคม

  1. เข้าถึงได้จาก http://164.115.41.60

อัศวิน  ขวัญเมือง.(2561).นโยบายการศึกษากรุงเทพมหานคร.คำบรรยายในการประชุมขับเคลื่อนนโยบาย

             และการบูรณาการด้านการศึกษากรุงเทพมหานคร วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม 2561 ณ โรงแรม

เอเชีย กรุงเทพฯ.

อุราณี ทับทอง.(2560,ส.ค.).ส่งลูกไปเป็นเด็กวัด ให้ธรรมสอนชีวิต.ซีเคร็ต.10(220),19-23.

อัศวิน  นาคพงศ์พันธุ์.(2560,ปักษ์หลัง มิ.ย.).เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ.ขวัญเรือน.49(1094),129-130.

อุทัย  ดุลยเกษม.(2559,ม.ค.-มิ.ย.). ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูและการให้การศึกษาเรียนรู้แก่เด็กเล็ก.

             วารสารเทคโนโลยีภาคใต้.9(1),129-130.

เอกพจน์ สืบญาติ.(2561). บทบาทของพ่อแม่และผู้ปกครองในการพัฒนาเด็กในศตวรรษที่ 21.วันที่สืบค้น

ข้อมูล 5 พฤษภาคม 2561. เข้าถึงได้จาก http://164.115.41.60