ชื่อผลงานทางวิชาการ : AMAZING LOCAL THAILAND “เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต”
ประเภทผลงานทางวิชาการ : การประกวดแข่งขันพากย์ทัวร์ลีลา
ปีที่พิมพ์ : 2561
ข้อมูลเพิ่มเติม : นิสิตสาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 2 จากการประกวดแข่งขันพากย์ทัวร์ลีลา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2561
ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ : อาจารย์ มนชนก จุลสิกขี อาจารย์อภิญญา นุชนารถ และอาจารย์สุพรรณิการ์ ชาคำรุณ สาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
สาชาวิชาการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สร้างชื่อเสียง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 จากการเข้าร่วมประกวดแข่งขันพากย์ทัวร์ลีลา ในหัวข้อ “Amazing Local Thailand” เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน 2561
ในการแข่งขันในครั้งนี้ จัดโดย สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ภาควิชาสังคมสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ตามโครงการแนวทางส่งเสริมศักยภาพและทักษะในด้านการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ ในหัวข้อ SSRU Tourism Competition 2018 โดยได้เชิญชวนนักศึกษาสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อแสดงศักยภาพในการพากย์ทัวร์ลีลา มีผู้สมัครจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วไประเทศ จำนวน 11 ทีม รางวัลที่ 1 มูลค่า 3,000 บาท รางวัลที่ 2 มูลค่า 2,000 บาท รางวัลที่ 3 มูลค่า 1,000 บาท
สาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ ได้ส่งนิสิตเข้าประกวดแข่งขันพากย์ทัวร์ ในหัวข้อ “Amazing local Thailand เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต” ณ ลานกิจกรรมอาคาร35 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2561 ทางสาขาวิชาการท่องเที่ยวได้มีการเตรียมพร้อมนักศึกษา จำนวน 1 ทีม เพื่อเข้าร่วมแข่งขัน โดยสมาชิกในทีมเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จำนวน 6 คน ดังนี้
ผู้พากย์ คือ น.ส.ศศิทร วรรณทอง
นักแสดงประกอบการพากย์ ประกอบด้วย 1.นายวรุจ จันทร์รวม 2.น.ส.นภสร ปิ่นเมือง 3.น.ส.จิราภรณ์ พรมชาติ 4.น.ส.พลอยไพลิน ศิริมานิตย์ 5.น.ส.กุลวดี หงันเปี่ยม
โดยได้รับรางวัลจากการแข่งขันคือ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับโล่รางวัล เงินรางวัล และประกาศนียบัตรสำหรับนักศึกษาในทีมทุกคน ซึ่งก่อนการแข่งขันทางสาขาวิชาฯได้มีการจัดการเรียนการสอนและการฝึกซ้อมโดยใช้แนวคิด “ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” และที่เกี่ยวข้องกับ
ทฤษฎีและเทคนิคที่ใช้ในการสอนนักศึกษาและฝึกซ้อมก่อนการแข่งขัน อนึ่ง ในการสอนนักศึกษาในศตวรรษที่ 21 นั้น วิจารณ์ พานิช (2555) กล่าวไว้ว่าครูผู้สอนไม่ใช่แค่ มีการเอาใจใส่ศิษย์เท่านั้น ยังต้องมีทักษะในการ “จุดไฟ” ในใจศิษย์ให้รักการเรียนรู้ให้สนุกกับการเรียนรู้หรือให้การเรียนรู้สนุกและกระตุ้นให้อยากเรียนรู้ต่อไปตลอดชีวิต ครูจึงต้องยึดหลัก “สอนน้อย เรียนมาก” คือ ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของเด็ก ครูต้องตอบได้ว่าศิษย์ได้เรียนอะไร และเพื่อให้ศิษย์ได้เรียนสิ่งเหล่านั้น ครูต้องทำอะไร ไม่ทำอะไร ในสภาพเช่นนี้ ครูยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น และท้าทายครูทุกคนอย่างที่สุด ที่จะไม่ทำหน้าที่ครูผิดทางคือทำให้ศิษย์เรียนไม่สนุก หรือเรียนแบบขาดทักษะสำคัญ การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ต้อง “ก้าวข้ามสาระวิชา” ไปสู่การเรียนรู้ “ทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21” ( 21st Century Skills) ที่ครูสอนไม่ได้ นักเรียนต้องเรียนเอง ความหมายคือครูต้องไม่สอน แต่ต้องออกแบบการเรียนรู้ และอำนวยความสะดวก (facilitate) ในการเรียนรู้ ให้นักเรียนเรียนรู้จากการเรียนแบบลงมือทำ แล้วการเรียนรู้ก็จะเกิดจากภายในใจและสมองของตนเอง การเรียนรู้แบบนี้เรียกว่า PBL (Project-Based Learning)
Trilling and Fadel (2009, อ้างถึงใน วิจารณ์ พานิช, 2555) ได้ระบุหลักการหรือปัจจัยสำคัญด้านการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ไว้ 5 ประการคือ
- Authentic learning
การเรียนรู้ที่แท้จริงอยู่ในโลกจริงหรือชีวิตจริง การเรียนวิชาในห้องเรียนยังไม่ใช่การเรียนรู้ที่แท้จริง ยังเป็นการเรียนแบบสมมติ ดังนั้นครูจึงต้องออกแบบการเรียนรู้ให้ศิษย์ได้เรียนในสภาพที่ใกล้เคียงชีวิตจริงที่สุดกล่าวในเชิงทฤษฎีได้ว่า การเรียนรู้ขึ้นอยู่กับบริบทหรือสภาพแวดล้อมในขณะเรียนรู้ ห้องเรียนไม่ใช่บริบทที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึกเพราะห้องเรียนไม่เหมือนสภาพในชีวิตจริง การสมมติโจทย์ที่คล้ายจะเกิดในชีวิตจริงก็ได้ความสมจริงเพียงบางส่วนแต่หากไปเรียนในสภาพจริงก็จะได้การเรียนรู้ในมิติที่ลึกและกว้างขวางกว่าสภาพสมมติการออกแบบการเรียนรู้ให้ศิษย์เกิด “การเรียนรู้ที่แท้” (authentic learning) เป็นความท้าทายต่อครูเพื่อศิษย์ ในสภาพที่มีข้อจำกัดด้านเวลาและทรัพยากรอื่น ๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือ การอบรมบ่มนิสัยหรือการปลูกฝังความเชื่อหรือค่านิยมในถ้อยคำเดิมของเรา
- Mental model building
ความหมายข้อนี้เป็นการเรียนรู้วิธีการนำเอาประสบการณ์มาสั่งสมจนเกิดเป็นกระบวนทัศน์ (หรือความเชื่อ ค่านิยม) และที่สำคัญกว่านั้นคือ สั่งสมประสบการณ์ใหม่ เอามาโต้แย้งความเชื่อหรือ ค่านิยมเดิม ทำให้ละจากความเชื่อเดิมหันมายึดถือความเชื่อหรือกระบวนทัศน์ใหม่ นั่นคือเป็นการเรียนรู้ (how to learn, how to unlearn/ De learn, how to relearn) ไปพร้อม ๆ กัน ทำให้เป็นคนที่มีความคิดเชิงกระบวนทัศน์ ชัดเจน และเกิดการเรียนรู้เชิงกระบวนทัศน์ใหม่ได้ แต่การจะมีทักษะหรือความสามารถขนาดนี้ จำต้องมีความสามารถรับรู้ข้อมูลหลักฐานใหม่ ๆ และนำมาสังเคราะห์เป็นความรู้เชิงกระบวนทัศน์ใหม่ได้
- Internal motivation
การเรียนรู้ที่แท้จริงขับดันด้วยฉันทะ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ภายในตัวคนไม่ใช่ขับดันด้วยอำนาจของครูหรือ พ่อ-แม่ เด็กที่เรียนเพราะไม่อยากขัดใจครูหรือพ่อแม่จะเรียนได้ไม่ดีเท่าเด็กที่เรียนเพราะอยากเรียนเมื่อเด็กมีฉันทะและได้รับการส่งเสริมที่ถูกต้องจากครู วิริยะ จิตตะและวิมังสา (อิทธิบาทสี่) ก็จะตามมา ทำให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึกซึ้งและเชื่อมโยง
- Multiple intelligence
เวลานี้เป็นที่เชื่อกันทั่วไปแล้วว่า มนุษย์เรามีพหุปัญญา (Multiple Intelligence) และเด็กแต่ละคนมีความถนัดหรือปัญญาที่ติดตัวมาแต่กำเนิดต่างกัน รวมทั้งสไตล์การเรียนรู้ก็ต่างกัน ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายต่อครูเพื่อศิษย์ในการจัดการเรียนรู้โดยคำนึงถึงความแตกต่างของเด็กแต่ละคนและจัดให้การเรียนรู้ส่วนหนึ่งเป็นการเรียนรู้เฉพาะตัว (personalized learning) เรื่องนี้มีการวิจัยและการออกแบบการเรียนรู้ได้มากมาย ดังตัวอย่าง Universal Design for Learning ซึ่งก็คือ เครื่องมือสร้างความยืดหยุ่นหลากหลายในการออกแบบการเรียนรู้นั่นเอง
- Social learning
การเรียนรู้เป็นกิจกรรมทางสังคม หากยึดหลักการนี้ครูเพื่อศิษย์ก็จะสามารถออกแบบกระบวนการทางสังคมเพื่อให้ศิษย์เรียนสนุก และเกิดนิสัยรักการเรียน เพราะการเรียนจะไม่ใช่กิจกรรมส่วนบุคคลที่ หงอยเหงา น่าเบื่อ ซึ่งเราสามารถนำทฤษฎีของต่างชาติมาใช้ได้แต่ไม่ควรเชื่อตามหนังสือมากเกินไปจนไม่กล้าทดลองวิธีคิดใหม่ ๆ ที่อาจจะเหมาะสมต่อศิษย์ของเรามากกว่าแนวคิดแบบต่างชาติ เราอาจคิดหลักการเรียนรู้ตามแบบของเราที่เหมาะสมต่อบริบทสังคมไทยขึ้นมาใช้เองก็ได้
ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนและการฝึกซ้อมก่อนการแข่งขันของสาขาวิชาการท่องเที่ยวที่ใช้แนวคิดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ครูผู้สอนจึงไม่เน้นการเป็นผู้สอน แต่เน้นการได้เรียนรู้ของผู้เรียนจากการลงมือ ทำจริงเพื่อให้เกิดทักษะ เนื่องจากทักษะเกิดขึ้นได้จากการฝึกฝน ลงมือปฏิบัติจริงยังสถานการณ์จริงการเรียนรู้แบบนี้เรียกว่า PBL (Project-Based Learning) โดยที่ครูจะทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบและอำนวยความสะดวก มากกว่าเป็นผู้สอน เพราะการเป็นผู้สอนในอดีตจะเป็นลักษณะของการสื่อสารทางเดียว แต่เมื่อผู้เรียนได้ลงมือทำจะเกิดการเรียนรู้และจดจำได้ดีกว่าการบังคับให้ท่องจำแบบในอดีต และเมื่อผู้เรียนถูกกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกสนุกและท้าทายการเรียนและกิจกรรมต่าง ๆ จะเป็นเรื่องไม่น่าเบื่ออีกต่อไป และด้วยนักศึกษากลุ่มดังกล่าวได้เคยมีประสบการณ์ในการทำกิจกรรมและการแข่งขันมาแล้วภายในมหาวิทยาลัยคือโครงการประกวดสุนทรพจน์เฉลิมพระเกียรติฯ (รอบคัดเลือกภายใน) จัดโดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ได้รับรางวัลชมเชย เงินรางวัล พร้อมเกียรติบัตรในการเข้าร่วมประกวด ทำให้นักศึกษามีความกล้าที่จะแสดงออกในทางที่ดี และได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก ซึ่งทุกครั้งเมื่อมีการมอบหมายงาน หรือโครงการให้ จะให้นักศึกษาเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมด้วยตนเองโดยมีครูทำหน้าที่โค้ช ควบคุม ดูแล คอยสนับสนุน อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และทุกครั้งที่จบงานหรือจบโครงการครูและนักศึกษาจะร่วมทำการทบทวน ไตร่ตรอง (Reflection) ว่าเราได้รับอะไรจากการทำโครงการดังกล่าว ครูตั้งคำถามที่ให้เด็กคิดหาคำตอบที่มีได้หลายคำตอบ จะทำให้นักศึกษาเกิดทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ
จากกิจกรรมการแข่งขันดังกล่าว ถือว่าเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศ ความภาคภูมิใจที่คณาจารย์ในสาขาวิชาการท่องเที่ยว ได้พร่ำสอน ทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์ โดยเฉพาะเน้นการฝึกปฏิบัติ จนนิสิตสามารถบูรณาการความรู้ที่ได้ศึกษาภายในมหาวิทยาลัย เข้าร่วมประกวดการแข่งระดับประเทศจนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ซึ่งผลของความสำเร็จ และชัยชนะในครั้งนี้ สามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่สาขาวิชา คณะ และมหาวิทยาลัย ต้องขอชื่นชมไว้ ณ โอกาสนี้ นอกจากนั้น นิสิตยังสามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับจากการแข่งขันไปประยุกต์ ต่อยอดเพื่อการประกอบอาชีพในสายของมัคคุเทศก์ต่อไป
อ้างอิง
วิจารณ์ พานิช. (2555). วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: ตถาตา พับลิเคชั่น
จำกัด.
Bernie Trilling, Charles Fadel. (2009). 21st Century Skills: Learning for Life in Our Times. San Francisco: Jossey-Bass.
ภาพกิจกรรมการแข่งขันพากย์ทัวร์ลีลา