ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ ไม้พุ่มดอกหอมต้นนี้ใครเห็นดอกก็จะสะดุดตาทันที เนื่องจากดอกแบนใหญ่ขนาดฝ่ามือหน้าตาคล้ายไข่ดาว มองเห็นแต่ไกลเพราะดอกชูช่อสวยนอกทรงพุ่มคราวละหลายดอก ผู้เขียนได้รับคำถามถึงชื่อดอกไม้ต้นนี้อยู่เสมอ เมื่อยืนยันว่าชื่อ”ไข่ดาว”จริงๆ ก็จะชื่นชมว่าตั้งชื่อได้เหมาะสมมาก ความสวยงามของดอกอยู่ที่กลีบดอกเป็นสีขาวบริสุทธิ์ส่วนเกสรเพศผู้นับร้อยอันเป็นสีเหลืองอยู่ตรงกลางดอก เห็นควรนำมาเผยแพร่ให้รู้จักกันให้กว้างขวางมากขึ้น

ไข่ดาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ Oncoba spinosa Forsk.

ชื่อสามัญ Fried egg tree, Oncoba

ชื่อวงศ์ FLACOURTIACEAE

ถิ่นกำเนิด แอฟริกาเขตร้อน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้พุ่มรอเลื้อย ลักษณะพุ่มไม่แน่นอนเนื่องจากแตกกิ่งก้านยื่นยาวออกไปไม่มีระเบียบ สูงได้ถึง 5 เมตร ลำต้นมีหนามยาวจำนวนมากและมีช่องอากาศตามกิ่ง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปไข่ ยาว 3.5-14 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบสอบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ผิวใบเกลี้ยง ขอบใบจักซี่ฟันถี่ ใบอ่อนมีสีน้ำตาลแดง ดอกขนาดใหญ่ ออกเดี่ยว ตามซอกใบที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาวบริสุทธิ์ มี 8-10 กลีบ ก้านดอกยาว 1-2 ซม. ดอกบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 7-8 ซม. มีกลิ่นหอมอ่อนๆในช่วงอากาศค่อนข้างเย็น กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ ติดทนที่ขั้วผล เกสรเพศผู้สีเหลืองเป็นเส้นเล็กจำนวนมาก รวมกันอยู่กลางดอก  ทำให้ดูคล้ายไข่ดาว ผลมีเนื้อ ทรงกลม มีสันเล็กน้อย เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4 ซม. ผลแก่สีน้ำตาลแดง เปลือกแข็ง มีสันตื้นๆหลายสัน เมล็ดมีจำนวนมาก รูปไข่ สีน้ำตาลดำ เกลี้ยง ยาว 6-7 มม.แทรกอยู่ในเนื้อผลสีดำ

 

การขยายพันธุ์

1. เพาะกล้าจากเมล็ด โดยแคะเมล็ดออกมาจากเนื้อผล แม้เปอร์เซ็นต์ความงอกจะต่ำแต่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ได้ต้นไข่ดาว

2. การตอนกิ่ง ควรใช้ฮอร์โมนช่วยเร่งการออกราก

 

หมายเหตุ

1.ไข่ดาวมีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา

2.ต้นไข่ดาวเป็นไม้ปลูกง่าย โตเร็ว ในเมืองไทยเรามีปลูกเป็นไม้ประดับแต่ไม่แพร่หลายเนื่องจากทรงพุ่มไม่แน่นอน มีหนามตามลำต้นและกิ่งก้าน ควรตัดแต่งทรงพุ่มให้เป็นรูปทรงที่ต้องการ และตัดหนามออกเพื่อป้องกันอันตราย

3. ต้นไข่ดาวเหมาะสำหรับปลูกในสวนสาธารณะ โดยจำกัดพื้นที่ให้เจริญเติบโตอย่างอิสระ เพื่อให้เห็นความเป็นธรรมชาติของไม้ดอกสวยงามต้นนี้

 

อ้างอิง

หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ  ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลองคณะเกษตร กำแพงแสน  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  วิทยาเขตกำแพงแสน จ. นครปฐม

องค์การสวนพฤกษศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี. 2544. สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4. โอ.เอส.พริ้นติ้งส์เฮาส์, กรุงเทพฯ. 151 หน้า.