ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่กำลังจะมาถึงในปลายเดือนตุลาคม 2560 นั้น สื่อสารมวลชนทุกแขนงต่างก็ออกข่าวเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของพระราชพิธี หนึ่งในความสำคัญของงานพระราชพิธีนี้ที่จะขาดเสียไม่ได้คือ การนำไม้จันทน์หอมมาสร้างพระรองประดับพระโกศ พระบรมศพ รวมทั้งใช้ทำฟืนหรือดอกไม้จันทน์ในพิธีพระราชทานเพลิงศพ ผู้เขียนเห็นสมควรนำความรู้เรื่อง “จันทน์หอม”มาเผยแพร่ให้รู้จักกันพร้อมภาพที่ถ่ายมาจากต้นจริง

 

ไม้จันทน์หอม
ไม้มงคลที่กำลังเป็นที่สนใจในช่วงเวลานี้ นั่นคือไม้จันทน์หอม เพราะเป็นไม้มงคลที่จะนำไปใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

ทำไมถึงใช้ไม้จันทน์หอมในพระราชพิธี
เหตุผลที่ใช้ไม้จันทน์หอมในพระราชพิธี เพราะว่า ไม้จันทน์หอมเป็นไม้มีค่าหายาก จัดเป็นไม้มงคลชั้นสูง ที่ถูกนำไปใช้ในงานพระราชพิธีนับตั้งแต่สมัยโบราณยุคพุทธกาล โดยพบประวัติการใช้ไม้จันทน์หอมในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องนับแต่ยุคประวัติศาสตร์ตอนต้นสมัยอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังพบประวัติที่ระบุในจดหมายเหตุว่า ไม้จันทน์หอมเป็นเครื่องหมายบรรณาการที่สำคัญในช่วงเวลาดังกล่าวอีกด้วย
และด้วยเหตุที่เนื้อไม้จันทน์หอมมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ เนื้อไม้แข็ง มีความละเอียด จึงนิยมนำไม้จันทน์หอมมาสร้างพระรองประดับพระโกศ พระบรมศพ รวมทั้งใช้ทำฟืนหรือดอกไม้จันทน์ในพิธีพระราชทานเพลิงศพมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล เพื่อเป็นเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงว่า ไม่ว่าไม้จันทน์หอมจะเป็นหรือตาย ก็ยังคงมีความหอม เปรียบเหมือนคนที่ตอนมีชีวิตอยู่นั้นได้ทำความดีไว้มากมาย แต่เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว ความดีนั้นก็ยังคงอยู่ ขณะเดียวกัน ความหอมของไม้จันทน์หอมยังช่วยรักษาศพไม่ให้มีกลิ่นเหม็น เนื่องจากในสมัยก่อนยังไม่มีการฉีดยา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม้จันทน์หอมเป็นไม้หายากและมีราคาแพง จึงนำมาใช้เฉพาะในงานพระศพของราชวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น ภายหลังกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงได้คิดค้นให้ใช้ไม้จันทน์หอมทำเป็นแผ่นบาง ๆ มัดเป็นช่อเรียกว่าดอกไม้จันทน์ เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานศพได้นำไปวางที่เผาศพและนิยมใช้จนถึงปัจจุบัน

 

พิธีตัดไม้จันทน์หอม
พิธีตัดไม้จันทน์หอมจะประกอบไปด้วยการบวงสรวง ก่อนจะใช้ขวานทองจามไปที่ต้นไม้ที่ถูกคัดเลือกไว้แล้วในเชิงสัญลักษณ์แต่ยังไม่ได้เป็นการตัดจริง โดยจะต้องรอให้ทางช่างสิบหมู่ออกแบบกำหนดลักษณะไม้ที่ต้องการเสร็จสิ้นก่อน จึงจะทำการตัดจริงได้ อีกทั้งต้นไม้จันทน์หอมที่เลือกจะต้องเป็นต้นที่ตายพรายซึ่งหมายถึงยืนต้นตายเองตามธรรมชาติ โดยพิจารณาจากลักษณะไม้ที่มีเนื้อหอม เนื้อไม้แกร่ง เปลาตรง คุณภาพดี ซึ่งก่อนตัดก็ต้องทำพิธีขอจากรุกขเทวดาโดยพราหมณ์อ่านโองการและตัดตามฤกษ์ดี
ไม้จันทน์หอมที่จะใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นไม้ในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถูกคัดเลือกไว้ 4 ต้นด้วยกัน จากทั้งหมด 19 ต้น คือต้นไม้จันทน์หอมลำดับที่ 10, 11, 14 และ 15 ซึ่งได้รับการคัดเลือกจาก นายจำลอง ยิ่งนึก ผู้อำนวยการกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง และนายฉัตรชัย ปิ่นเงิน หัวหน้างานโหรพราหมณ์ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฝ่ายปกครอง ตลอดจนหน่วยงานเกี่ยวข้อง และทุกต้นยืนต้นตายตามธรรมชาติ มีกลิ่นหอม ลักษณะต้นไม้เปลาตรง ขนาดความโตตั้งแต่ 142-203 เซนติเมตรและสูง11-15เมตร โดยมีกำหนดฤกษ์ตัด เวลา 14.09-14.39 น. ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งมีการตั้งโต๊ะเครื่องบวงสรวง ตลอดจนเครื่องสังเวยต่าง ๆ โดยหลั่งน้ำเทพมนต์เจิมบริเวณต้นไม้จันทน์หอม และลงขวานทองที่ต้นไม้จันทน์หอม ต้นที่ 15 เป็นปฐมฤกษ์ ก่อนจะตัดต้นที่เหลืออีก 3 ต้นพร้อมกัน

 

จันทน์หอม

ชื่อวิทยาศาสตร์ Mansonia gagei Drumm.

ชื่อวงศ์ STERCULIACEAE

ชื่ออื่น จันทน์ จันทน์ชะมด จันทน์ขาว จันทน์พม่า

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูง 10 – 20 เมตร  เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบสีเทาอมขาว เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างโปร่ง กิ่งก้านอ่อน มักห้อยลง  ใบเดี่ยว เรียงสลับ มักออกใบถี่ที่ปลายยอด แผ่นใบรูปรี แกมรูปขอบขนานหรือแกมรูปไข่กลับ กว้าง 3 – 6 เซนติเมตร ยาว 8 – 14 เซนติเมตร ปลายใบแหลมโคนใบเว้า เบี้ยวเล็กน้อย ขอบใบเป็นคลื่นห่าง ๆ  ดอกเล็กสีขาวออกรวมกันเป็นช่อสั้น ๆ ตามปลาย กิ่งและตามง่ามใบ  ผลรูปกระสวย มีปีกบางรูปทรงสามเหลี่ยมสามปีก กว้าง 0.5 – 0.7 เซนติเมตร ยาว 1 – 1.5 เซนติเมตร มีปีก ปีกกว้าง 1 – 1.5 เซนติเมตร ยาว 2.5 – 3 เซนติเมตร

 

การขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

หมายเหตุ

1. จันทน์หอมเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลของจังหวัดนครปฐม

2. ต้นจันทน์หอมที่วัดนรนาถสุนทริการาม ที่เทเวศร์มีขนาดใหญ่ สูงราว 12 เมตร อยู่ข้างพระอุโบสถ์ ผู้สนใจสามารถไปชมได้

 

ประโยชน์

1.เนื้อไม้ กระพี้ สีขาว แก่นสีน้ำตาลเข้ม ใช้ทำหีบใส่เสื้อผ้า เครื่องกลึง เครื่อง แกะสลัก ทำหวี ดอกไม้จันทน์ ธูป น้ำมัน

2.ไม้ที่ตายเองจะมีกลิ่นหอม หอมที่ได้จากการกลั่นชิ้นไม้ ใช้ปรุงเครื่องหอมและเครื่อง สำอาง ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ

3.เนื้อไม้ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้กระหายน้ำและอ่อนเพลีย

 

อ้างอิง 

1.ส่วนเพาะชำกล้าไม้สำนักส่งเสริมการปลูกป่ากรมป่าไม้
   อุทยานแห่งชาติกุยบุรีสำนักอุทยานแห่งชาติ

2. หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 2 มกราคม 2560

3. Kapook.com