Category Archives: ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผัก ไม้ผล ความหลากหลายทางชีวภาพ

นมแมวซ้อน : ไม้สวยดอกหอมหาดูยาก

นมแมวซ้อน : ไม้สวยดอกหอมหาดูยาก

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ นมแมวซ้อน เป็นพรรณไม้ดอกหอม วงศ์เดียวกันกับน้อยหน่า กระดังงา ลำดวน จำปี จำปา

การเวก เป็นต้น พรรณไม้ในวงศ์นี้มีมากชนิด ทุกชนิดจะมีดอกที่มีกลิ่นหอม  มีหลายชนิดที่หาดูยาก รวมทั้ง

“นมแมวซ้อน” ซึ่งเป็นพืชเฉพาะถิ่นที่พบได้ไม่กี่แห่งในประเทศไทย เคยพบที่อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เมื่อปี พ.ศ. 2551 ครั้งล่าสุดมาพบที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2557 เมื่อนำเรื่องและภาพออกเผยแพร่ ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักวิชาการและประชาชนทั่วไปที่สนใจพรรณไม้เป็นจำนวนมาก จึงพิจารณาเห็นว่าสมควรจะนำรายละเอียดทั้งหมดของ“นมแมวซ้อน”มาเผยแพร่สู่สาธารณะชนให้ครบถ้วนกว่าที่ได้เผยแพร่ไปแล้ว เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและอื่นๆต่อไป

 

นมแมวซ้อน

ชื่อวิทยาศาสตร์  Anomianthus dulcis (Dunal) J.Sinclair

ชื่อวงศ์ ANNONACEAE

ชื่ออื่น ๆ ตบหู ตีนตั่งน้อย (นครพนม) ตีนตั่ง (อุบลราชธานี)  นมวัว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้พุ่มรอเลื้อยที่อาศัยไม้อื่นที่อยู่ใกล้เคียงพยุงตัวขึ้นไปที่สูงกิ่งก้านจะยาวได้ประมาณ 4-8 เมตร เปลือกต้นเรียบ เป็นสีเทาดำ เปลือกเหนียว เนื้อไม้แข็ง ปลายกิ่งมีหนามแข็งกระจายห่างๆอยู่ทั่วลำต้น กิ่งอ่อนใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ใบเดี่ยวออกเรียงสลับสองด้านในระนาบเดียวกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับแกมขอบขนาน หรือรูปหอกกลับแกมขอบขนาน ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบจะมีขนาดกว้างกว่าส่วนที่ค่อนมาทางโคนใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 ซม. และยาวประมาณ 12-18 ซม. หน้าใบเกลี้ยง ท้องใบมีขน ก้านใบยาวประมาณ 5 มม. พองเล็กน้อยและมีขนสีน้ำตาลปกคลุม ใบอ่อนมีขนนุ่มทั้งสองด้าน ดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกตามซอกใบและปลายยอด ประมาณ 2-4 ดอก ก้านช่อดอกเรียว ดอกเป็นสีเหลือง สีชมพูอ่อน หรือสีเหลืองอมชมพู ดอกมีลักษณะห้อยลง กลีบดอกมี 6 กลีบ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกบางเป็นรูปไข่ ปลายกลีบดอกแหลม ขอบกลีบดอกบิดเป็นลอนหรือเป็นคลื่น มีขนาดกว้างประมาณ 2 ซม. ยาวประมาณ 2.5-3.5 ซม. ด้านนอกกลีบมีขนนุ่ม กลีบเลี้ยงสีเขียวรูปไข่ มี 3 กลีบ มีขนาดกว้างและยาวประมาณ 0.5 ซม. มีขนนุ่มสีน้ำตาลขึ้นหนาแน่น ออกดอกในช่วงปลายฤดูร้อนถึงต้นฤดูฝน ดอกจะบานวันเดียว มีกลิ่นหอมมากในตอนเย็นจนถึงกลางคืน ผลเป็นผลกลุ่ม มีผลย่อยประมาณ 8-15 ผล ผลย่อยมีลักษณะเป็นรูปกระสวยหรือรูปทรงกระบอกมี 1-3 กระเปาะ ผิวผลเรียบ ผลสดเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนถึงสีส้มแดง มีรสหวาน ภายในมีเมล็ดขนาดเล็ก 1-2 เมล็ด

การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด  ตอนกิ่ง  และแยกเอาไหลที่ขึ้นรอบๆต้นเดิมมาปลูก

สรรพคุณ ลำต้นหรือรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงน้ำนมขณะอยู่ไฟของสตรี

ประโยชน์ ผลสุกมีรสหวาน ใช้รับประทานได้

นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับในสวนไม้หอม โดยทำรั้วหรือซุ้มให้อยู่เป็นเอกเทศ

ฝาง : สมุนไพรหลายร้อยสรรพคุณ

ฝาง : สมุนไพรหลายร้อยสรรพคุณ

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ

“ฝาง” เป็นสมุนไพรที่เป็นที่ยอมรับของแวดวงนักการแพทย์แผนไทยมานาน สรรพคุณของ

“ฝาง”นั้น หากสรุปออกมาจะพบว่าสามารถแก้หรือบรรเทาโรคของมนุษย์ได้ทุกระบบในร่างกาย ทั้งของบุรุษและสตรี ตำราแพทย์แผนไทยทุกเล่มจะมีสูตรยาสมุนไพรนับร้อยสูตรที่มีฝางเป็นส่วนผสม อาจบอกได้ว่า “ฝาง”เป็นสมุนไพรครอบจักรวาล  เชื่อว่าหลายคนรู้จัก “น้ำยาอุทัย”ที่นำมาเจือน้ำดื่มแก้กระหายที่มีมานมนานนั้นมีส่วนผสมของ “แก่นฝาง”ด้วย นอกจากนั้น “ฝาง”ยังถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นเครื่องบรรณาการระหว่างประเทศ และเป็นสินค้าออกของไทยด้วย แสดงว่า “ฝาง”มีความสำคัญมานานในอดีต

บทความทางวิชาการเรื่องนี้ มุ่งให้รู้จักสรรพคุณของ “ฝาง” และเห็นภาพโดยละเอียดของฝางทุกส่วนประกอบ รวมทั้งภาพการนำเอาแก่นฝางมามาใช้ประโชน์ด้วย

 

ฝาง

ชื่อวิทยาศาสตร์  Caesalpinia sappan L.

ชื่อสามัญ  Sappan  , Sappan tree

ชื่อวงศ์ FABACEAE  (CAESALPINIACEAE)

ชื่ออื่น ๆ ขวาง  ฝางแดง หนามโค้ง ฝางส้ม ฝางเสน เป็นต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้พุ่ม ทรงพุ่มแผ่กว้าง สูง 4 – 8 เมตร ลำต้นและกิ่งมีหนามแข็งและโค้งสั้น ๆ อยู่ทั่วไป แก่นเนื้อไม้เป็นสีแดงเข้มหรือส้มแดง ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นออกเรียงสลับ แกนช่อใบยาวประมาณ 20-40 ซม. ใบย่อย 8-15 คู่ ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน มีขนาดกว้างประมาณ 5-10 มม.ยาว 8-20 มม. แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ใบเกลี้ยงหรือมีขนบ้างประปรายทั้งสองด้าน ก้านใบมีขนาดสั้นมากหรือไม่มี หูใบยาวประมาณ 3-4 มม. หลุดร่วงได้ง่าย ดอกออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ยาว20-30 ซม. ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอกสีเหลือง 5 กลีบ ดอกบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 ซม. ขอบกลีบดอกย่น ออกดอกในช่วงต้นฤดูฝนเป็นต้นไป ผลเป็นฝักรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ฝักแบนแข็งเป็นจะงอยแหลมสีเขียวเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีขนาดกว้าง 3-4 ซม. ยาว 6-8 ซม. โคนฝักแคบกว่าปลายฝัก มีเมล็ด 2-4 เมล็ด เมล็ดรูปรี กว้าง 0.8-1 ซม.

หมายเหตุ หากแก่นเนื้อไม้เป็นสีแดงเข้มจะมีรสขมหวานเรียกว่า “ฝางเสน” แต่ถ้าแก่นเนื้อไม้เป็นสีเหลืองส้มจะมีรสฝาดขื่นเรียกว่า “ฝางส้ม”

สรรพคุณของฝาง  มีมากมายหลายประการ เช่น

1. แก่นเนื้อไม้เป็นยาแก้ธาตุพิการ

2. เมล็ดแห้งนำไปต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูงหรืออาจบดเป็นผงกินก็ได้

3. เปลือกลำต้นและเนื้อไม้ ต้มรับประทานเป็นยารักษาวัณโรค

4. แก่นฝาง แก่นไม้แดง รากเดื่อหอมอย่างละเท่ากัน ต้มกินเป็นยาบำรุงร่างกายทั้งบุรุษและสตรี

5. แก่นฝางตากแห้งผสมกับสมุนไพรอื่น นำมาต้มกับน้ำดื่ม เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย

6. แก่นฝาง ต้มกับเถาวัลย์เปรียง และรากเตยอย่างละเท่ากัน แก้กษัย

7. แก่นฝางมีรสฝาด ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงโลหิตและใช้ปรุงเป็นยาบำรุงโลหิตของสตรี

8. แก่นฝางช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก แก้เส้นเลือดอุดตัน จุกเสียดแน่นและเจ็บหน้าอก

9. แก่นฝางช่วยแก้โลหิต แก้ไข้กำเดา แก้กำเดา ทำให้โลหิตเย็น

10. แก่นฝางใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด ไข้ตัวร้อน แก้ไข้ตัวร้อน

11. แก่นฝางแก้ไข้ทับระดู

12. น้ำต้มแก่นฝางเสนช่วยแก้อาการร้อนใน แก้กระหายน้ำได้ดี

13. แก่นฝางมีสรรพคุณแก้เสมหะ ขับเสมหะ

14. แก่นฝางช่วยแก้อาการไอ แก้หวัด

15. แก่นฝางช่วยแก้ปอดพิการ

16. แก่นฝางช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเดิน

17. แก่นช่วยแก้บิด

18. แก่นใช้เป็นยาสมานลำไส้

19. แก่นนำมาต้มกินเป็นยารักษาโรคนิ่วร่วมกับสมุนไพรอื่น

20. แก่นช่วยแก้ปัสสาวะขุ่นข้น

21. แก่นช่วยแก้โลหิตออกทางทวารหนักและทวารเบา ช่วยแก้โลหิตตกหนัก

22. แก่นฝางใช้เข้าตำรับยาบำรุงโลหิต ฟอกโลหิตในกลุ่มยาสตรี ทำให้เลือดดี ช่วยขับโลหิตระดูของสตรี

23. แก่นฝางช่วยลดอาการปวดมดลูกของสตรีหลังการคลอดบุตร

24. แก่นฝางช่วยคุมกำเนิด

25. แก่นฝางช่วยแก้ดีและโลหิต

26. แก่นฝางช่วยขับหนอง ขับหนองในฝีอักเสบ

27. แก่นฝางช่วยแก้คุดทะราด

28. แก่นฝางช่วยรักษามะเร็งเพลิง

29. แก่นและเปลือกฝางใช้เป็นยาฝาดสมานและรักษาแผล

30. แก่นฝางใช้เป็นยาทารักษาโรคผิวหนังบางชนิดและฆ่าเชื้อโรคได้

31. แก่นฝางช่วยแก้น้ำกัดเท้า ช่วยฆ่าเชื้อและสมานแผล

32. แก่นฝางใช้เป็นยาแก้ปวด แก้บวม ปวดบวม แก้ฟกช้ำดำเขียว แก้ช้ำใน

33. แก่นฝางช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย

34. กิ่งนำมาตัดเป็นท่อน ๆ นำไปตากแห้ง แล้วนำไปต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดหลังปวดเอว

35. เนื้อไม้ใช้เป็นส่วนผสมหลักในตำรับยาบำรุงหลังการคลอดบุตรของสตรี

36. เนื้อไม้ผสมกับปูนขาวแล้วบดทาหน้าผากสตรีหลังการคลอดบุตรจะช่วยทำให้เย็นศีรษะลดอาการเจ็บปวด

37.ฝางช่วยรักษา โรคประดง โรคไต ไข้หวัด แก้ไอ หอบหืด ขับปัสสาวะ บำรุงโลหิตของสตรี

 

ประโยชน์ของฝางโดยสรุป มีดังนี้

1. ชาวเมี่ยนจะใช้กิ่งแก่นำไปต้มกินเป็นน้ำชา

2. เป็นน้ำดื่มสมุนไพรฝาง ช่วยบรรเทาอาการร้อนใน แก้เสมหะ บำรุงโลหิต แก้เลือดกำเดา

3. แก่นไม้เมื่อนำมาต้มกับน้ำดื่มผสมกับใบเตยหรือผลมะตูม จะช่วยให้มีสีสันสวยงาม

4. น้ำต้มจากแก่นฝางแดงจะให้สีแดงที่เรียกว่า Sappanin ใช้เป็นส่วนผสมหลักของน้ำยาอุทัย

5. ใช้เป็นสีผสมอาหาร และนิยมนำมาย้อมสีผ้าไหม ผ้าฝ้าย และผ้าขนสัตว์

6. ส่วนฝางส้มจะนำมาต้มสกัดสาร Haematexylin ใช้ย้อมสีนิวเคลียสของเซลล์

7. ทำเป็นสีทาตัวสำหรับงานเทศกาลในอินเดีย

8. ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเนื้อไม้ของต้นฝางถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ

9. ไม้ฝางถูกใช้เป็นเครื่องบรรณาการอย่างหนึ่ง รวมทั้งเคยเป็นสินค้าผูกขาดของรัฐด้วย

10. ภูมิปัญญาชาวบ้านจะใช้แก่นของต้นฝางเสี้ยมให้แหลม ตอกลงบนต้นขนุนจนถึงเนื้อไม้ จะไปกระตุ้นให้ขนุนติดลูกบริเวณที่ตอกลงไป

11. เนื้อไม้ฝางทำเป็นเครื่องเรือนชั้นดี ตกแต่งชักเงาได้ดี โดยสีของเนื้อไม้จะออกแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม

12.ปลูกเป็นไม้ประดับหรือปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงา ดอกดกสีเหลืองสดสวยสดุดตา

อ้างอิง    ขอขอบคุณข้อมูลเว็บไซต์เมดไทย (MedThai)

อินทนิลมี 2 อย่าง…ต่างกันอย่างไร

อินทนิลมี 2 อย่าง…ต่างกันอย่างไร

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ 

อินทนิล”ในธรรมชาติมี 2 ชนิด คือ อินทนิลบกกับอินทนิลน้ำ แต่ที่พบเห็นอยู่เสมอไม่ว่าจะ

เป็นที่ริมถนน ที่ปลูกประดับในสวนสาธารณะหรืออาคารบ้านเรือนทั่วไปคือ “อินทนิลน้ำ”  ส่วน “อินทนิลบก” นั้นจะหาดูได้ยากกว่า ทั้ง 2 ชนิดนี้มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก ผู้พบเห็นมักจะสับสนมองไม่เห็นความแตกต่าง บทความนี้จะให้ความชัดเจนอย่างละเอียด โดยมีภาพประกอบเปรียบเทียบให้เห็นทุกส่วนทั้งใบ ดอก และผล

   

อินทนิลน้ำ

ชื่อวิทยาศาสตร์  Lagerstroemia speciosa Pers.

ชื่อสามัญ  Queen’s Flower, Queen’s Crape Myrtle, Pride of India

วงศ์  LYTHRACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

      ไม้ต้นผลัดใบ สูง 10-25 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง คลุมต่ำ เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบและมีรอยด่าง ใบออกเรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม ใบเดี่ยวรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง 6-10 ซม. ยาว 11-26 ซม. เนื้อใบค่อนข้างหนา เกลี้ยง เป็นมันทั้งสองด้าน ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นบ้างเล็กน้อย ปลายใบแหลม โคนใบกลมมนหรือเบี้ยว ออกดอกในฤดูร้อน เป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง หรือตามง่ามใบใกล้ ๆ ปลายกิ่ง ดอกรวมกันเป็นช่อโต ยาวถึง 30 ซ.ม. จะบานจากโคนช่อไล่ขึ้นไปถึงปลายช่อ  กลีบดอกสีม่วงสด ม่วงปนชมพู หรือชมพู กลีบดอก 6 กลีบ ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.0-7.5 ซม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วย มีสันนูนตามยาวเห็นชัดเจน และมีขนสั้นประปราย กลีบดอกบาง ปลายกลีบพลิ้ว ผิวกลีบเป็นคลื่นเล็กน้อย เกสรผู้จำนวนมาก  ผลเกือบกลม ผิวเกลี้ยง แข็ง ยาว 2-3 ซม. ผลแห้งแล้วแตกตามยาว 5 พู เมล็ดลักษณะแบนจำนวนมาก มีปีกซีกหนึ่งทำให้สามารถแพร่กระจายไปขยายพันธุ์ได้ในรัศมีกว้างไกล

ประโยชน์ใช้สอย

1. เนื้อไม้ นิยมใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนและเครื่องมือการเกษตรต่าง ๆ

2. ใบ รสจืดขมฝาดเย็น ต้มหรือชงน้ำร้อนดื่ม แก้โรคเบาหวาน ขับปัสสาวะ เป็นยาลดความดัน

3. ปลูกประดับอาคารสถานที่ สวนสาธารณะ และทางเดินริมถนน

 


 

อินทนิลบก

ชื่อวิทยาศาสตร์ Lagerstroemia  macrocarpa  Wall.

ชื่อวงศ์ LYTHRACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

     ไม้ต้นผลัดใบ ขนาดกลาง สูง 8 -15 เมตร เรือนยอดทรงสูง กิ่งก้านคลุมต่ำ เปลือกลำต้นขรุขระ เป็นเกล็ด   ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่หรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 6-18 ซม. ยาว 14-40 ซม. โคนใบมน ปลายใบมน แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบเกลี้ยงมันวาว ดอกออกเป็นช่อสั้นๆ ยาว 10-20 ซม.กลีบดอก 6 กลีบ กลีบหนา เป็นสีชมพูอมม่วง ถึงม่วงแดง ดอกตูมเป็นรูปลูกข่าง ส่วนบนมีรอยบุ๋มตามยาว ดอกบานเต็มที่กว้าง 7-12 ซม.  เกสรผู้จำนวนมาก เป็นกระจุกสีเหลืองอยู่กลางดอก ผลเป็นผลแห้งขนาดใหญ่ รูปไข่หรือป้อมรี ยาว 3-4 ซม. เมื่อแก่แตกเป็น 6 แฉก เมล็ดขนาดเล็กสีน้ำตาล จำนวนมาก มีปีกบางโค้งทางด้านบนของปีก ทำให้สามารถแพร่กระจายไปขยายพันธุ์ได้ในรัศมีกว้างไกล

ประโยชน์ใช้สอย

ดอกสวยสะดุดตา นิยมปลูกประดับอาคารสถานที่ สวนสาธารณะ และทางเดินริมถนน

อัญชันสมุนไพรหลายประโยชน์กับความหลากหลายทางชีวภาพ

อัญชันสมุนไพรหลายประโยชน์กับความหลากหลายทางชีวภาพ

ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ

น้อยคนที่จะไม่รู้จัก“อัญชัน”เพราะอัญชันขึ้นอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่งเพราะขยายพันธุ์ง่าย ติดฝักง่าย มีเมล็ดที่สมบูรณ์จำนวนมาก จึงสามารถพบได้ทั้งริมรั้วบ้าน ในสวนหย่อม สวนสาธารณะ ที่รกร้างว่างเปล่า  ในสวนสมุนไพรทุกแห่ง และ แม้กระทั่งในป่า ซึ่งอาจพบว่ามีลักษณะดอกที่แตกต่างกันทั้งรูปแบบและสีสัน ทั้งนี้เพราะอัญชันเป็นพืชปลูกง่ายผสมข้ามได้ง่ายทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ที่สำคัญคือมีสรรพคุณเป็นสมุนไพร และเป็นอาหารได้หลายรูปแบบ  บทความนี้จะให้รายละเอียดทั้งสองด้าน

อัญชัน

ชื่อสามัญ     Blue Pea , Butterfly Pea

ชื่ออื่นๆ    แดงชัน  อัญชัน  เอื้องชัน อังจัน

ชื่อวิทยาศาสตร์     Clitoria ternatea L.

ชื่อวงศ์    LEGUMINOSAE – PAPILIONIOIDEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  

   ไม้ล้มลุกเลื้อยพัน ยาวได้ถึง 5 เมตร ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่(odd pinnate leaf) เรียงสลับ ใบย่อย 5-7 ใบ ใบย่อยรูปไข่ปลายมน กว้าง 2-3.5 ซม. ยาว 3.5-5.5 ซม. ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ กลีบดอกรูปดอกถั่ว สีน้ำเงิน ม่วงหรือขาว ก้านดอกมีใบเกล็ดขนาด 6 มม. จำนวน 2 อันประกบที่ฐานนดอก โคนกลีบและหลังกลีบจะเป็นสีขาวหรือสีขาวหม่น มีทั้งชนิดกลีบดอกซ้อนและกลีบดอกชั้นเดียว(ดอกลา) ชนิดดอกซ้อนจะมี 5 กลีบขนาดใกล้เคียงกัน เบียดกันแน่นเป็นดอกสวยงาม ชนิดดอกลามี 1 กลีบใหญ่ และ 2 กลีบเล็กประกบกันอยู่ตรงกลางดอก  ผลเป็นฝักแบน  รูปดาบ โค้งเล็กน้อย ปลายเป็นจะงอย  กว้าง 1 ซม. ยาว 7-9 ซม. เมื่อแก่เป็นสีฟางแห้ง แห้งแล้วไม่แตก  เมล็ดรูปไต จำนวน 5-7 เมล็ดต่อฝัก

การขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์ง่ายด้วยเมล็ด แต่อาจกลายพันธุ์ หากเปลี่ยนมาปักชำด้วยลำต้นเก่าขนาดหลอดดูดน้ำอัดลมก็จะได้พันธุ์เดิม

ประโยชน์ของอัญชัน มีหลายด้าน ดังนี้

1. เป็นสีแต่งอาหารดอกสีน้ำเงินใช้เป็นสีแต่งอาหารและขนมตามต้องการ มักนิยมใช้แต่งสีน้ำเงินของขนมช่อม่วง ขนมเรไร ขนมน้ำดอกไม้ ข้าวเหนียวสังขยา

2. เป็นอาหาร เช่น ดอกสดของอัญชันในจานสลัด   ดอกอัญชันชุบแป้งทอด ต้มน้ำเป็นเครืองดื่มสีสวย

3. เป็นสมุนไพร ดอกอัญชันสีน้ำเงินมีสารแอนโธไซยานิน (Anthocyanin) มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง ต้านสารอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆได้ดีมากขึ้น  เมล็ดเป็นยาระบาย รากช่วยบำรุงตาแก้ตาฟาง ถูฟันแก้ปวดฟัน ตาแฉะ และปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ นำรากมาถูกับหินผสมกับน้ำฝนใช้หยอดหูและหยอดตา โดยเฉพาะส่วนดอก เป็นต้น

4. เป็นเครื่องสำอาง มีแชมพูสระผมดอกอัญชันวางขายในตลาดหลายตรา โดยระบุว่าผมจะดกดำไว้ในสลาก ในสมัยก่อนหญิงสาวมักนำดอกอัญชันมาเขียนคิ้วให้ดำขลับ ซึ่งมีหลักฐานในนิราศธารโศก และมหาชาติคำหลวง ปัจจุบันก็นิยมนำดอกอัญชันชนิดสีน้ำเงินมาขยำทาคิ้วทารกเพื่อให้คิ้วดกดำและมีรูปร่างตามที่ได้นำก้านพลูมาร่างแบบไว้ก่อนทา

5. เป็นอุปกรณ์การเรียนในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ โดยใช้กลีบดอกอัญชันสดมาตำให้แหลกแล้วเติมน้ำเล็กน้อย กรองด้วยผ้าขาวบาง บีบคั้นเอาน้ำออกมา จะได้น้ำสีน้ำเงินซึ่งเป็นสาร Anthocyanin ใช้เป็นตัวทดสอบความเป็นกรด( indicator) แทนกระดาษลิตมัส(lithmus) ถ้าเติมน้ำมะนาว หรือก้นมดแดงซึ่งมีฟอร์มิคแอสิดลงไปเล็กน้อย น้ำสกัดนั้นจะกลายเป็นสีม่วง

6. เป็นพืชทดลองการผสมพันธุ์พืช  อัญชันเป็นพืชที่ผสมเกสรได้ง่าย และมีอายุให้ดอกเร็ว เหมาะสำหรับนำมาผสมข้ามหาลูกผสมประกอบการเรียน

7. ปลูกเป็นไม้ประดับ ด้วยอัญชันมีดอกที่สวยงามหลายสี ปลูกง่ายออกดอกเร็วและออกดอกทั้งปี

ความหลากหลายทางชีวภาพของอัญชัน

เนื่องจากอัญชันเป็นพืชที่ผสมข้ามกันตามธรรมชาติได้ง่าย  ทำให้เกิดความหลากหลายของรูปร่างและสีของดอกปรากฏให้เห็นหลายแบบ พอสรุปได้ดังนี้

1. สีน้ำเงิน ชนิดกลีบดอกชั้นเดียว  พบว่าความเข้มของสีดอกมีหลายระดับ

2. สีน้ำเงิน ชนิดกลีบดอกซ้อน

3. สีม่วง ชนิดกลีบดอกชั้นเดียว  พบว่าความเข้มของสีดอกมีหลายระดับ

4. สีม่วง ชนิดกลีบดอกซ้อน

5. สีขาว ชนิดกลีบดอกชั้นเดียว

6. สีขาวชนิดกลีบดอกซ้อน

ขอขอบคุณ    โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และ วิกิพีเดีย    

พวงทอง : ไม้สวยชื่อดีมีสามอย่าง

พวงทอง : ไม้สวยชื่อดีมีสามอย่าง

ความนำ

พวงทอง” พรรณไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลสำหรับความเชื่อของคนไทย เมื่อจะปลูกต้นไม้ประดับสวนในบ้านก็มองหาต้นไม้ที่มีชื่อไพเราะและเป็นมงคล พวงทองเป็นชื่อดั้งเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อจากผู้ค้าต้นไม้เพื่อให้ขายได้แต่อย่างใด ปัญหาที่ผู้รักต้นไม้มักจะพบคือผู้ค้าต้นไม้จะถามว่า จะรับพวงพวงแบบไหน ก็จะตอบไม่ถูก เพราะพวงทองมี 3 ชนิด คือ พวงทองต้น พวงทองเครือ และ พวงทองปีกผีเสื้อ ทั้ง3ชนิดนี้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ไม่เหมือนกัน แต่อยู่ในวงศ์เดียวกัน คือวงศ์ MALPIGHIACEAE พวงทองแต่ละชนิดก็มีความสวยงามและมีลักษณะเด่นแตกต่างกัน จึงขอเสนอรายละเอียดของแต่ละชนิดพร้อมภาพประกอบที่เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน จนสามารถแยกชนิดได้ด้วยตนเอง

  

พวงทองต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์  Thryallis glauca;

ชื่อสามัญ Galphimia ,  Gold Shower

ชื่ออื่น  พวงทอง ดอกน้ำผึ้ง

ชื่อวงศ์ MALPIGHIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1-1.5 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลม กิ่งก้านบอบบาง ใบยาวรีแหลม ยาวประมาณ 3 ซม. ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะที่ปลายยอด ช่อยาว 10-12 ซม. กลีบดอก 5 กลีบสีเหลืองสด เกสรผู้ 10 อัน อยู่เป็นกระจุกกลางดอก ขนาดดอกบานเต็มที่ 1.0 ซม. จะบานไล่ขึ้นไปจากโคนช่อ ออกดอกตลอดปี ผลค่อนข้างกลม มี 3 พู เมื่อแก่แตกได้ แต่ไม่ค่อยติดผล ชอบแดดจัด ต้องการน้ำปานกลาง ปลูกได้ดีในดินร่วนซุย

การขยายพันธุ์ การเพาะเมล็ด ปักชำกิ่งและ ตอนกิ่ง

การใช้ประโยชน์ นิยมปลูกเป็นแปลง ตัดเป็นพุ่มเพื่อบังกำแพง ปลูกเป็นแนวรั้ว ในการแต่งสวนหย่อม สวนสาธารณะ


 

พวงทองเครือ

ชื่อวิทยาศาสตร์    Tristellateia australasiae   A. Rich

ชื่อสามัญ       Siam Vine

ชื่ออื่นๆ พวงทองเถา

วงศ์                MALPIGHIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เป็นพันธุ์ไม้เลื้อย อายุหลายปี  มีลำต้นเป็นเถาขนาดเล็ก สามารถเลื้อยเกาะพันสิ่งอื่น ๆ หรือต้นไม้อื่นที่อยู่ใกล้เคียงได้ยาวประมาณ 3 เมตร ลักษณะของเถาจะเป็นสีน้ำตาล ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน แผ่นใบเรียบเกลี้ยง หนาและแข็ง รูปใบมน เกือบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน และขนานไปตามลำต้น ใบกว้าง 4- 5ซม. ยาว 4-6 ซม. ดอกออกเป็นช่อกระจะ ห้อยลง ช่อยาวประมาณ 12 ซม. ช่อละ 5-10 ดอก ดอกเล็ก มี 5 กลีบ กลีบดอกสีเหลือง โคนสอบแคบ ก้านสั้น  ขอบกลีบหยักเป็นริ้วตื้น เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 2-3 ซม. ออกดอกตลอดปี มีกลิ่นหอมเล็กน้อย บางต้นก็ติดผล เป็นผลแห้งสีน้ำตาลเมื่อแก่ มีปีกแบนตามยาว 1 ปีก เมล็ดมักลีบ หมายเหตุ ถ้ากล่าวถึงพวงทอง” แบบสั้นๆ ก็เป็นที่รู้กันว่าหมายถึงพวงทองเครือต้นนี้

การขยายพันธุ์ ปักชำกิ่ง และการตอนกิ่ง

การใช้ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับขึ้นซุ้มหรือทำค้างเป็นเอกเทศไม่ปะปนกับพรรณไม้อื่น


 

พวงทองปีกผีเสื้อ

ชื่อวิทยาศาสตร์  Mascagnia macroptera (Moc. & Sessé ex DC.) Nied

ชื่อสามัญ Yellow Butterfly Bush / Yellow Orchid Vine

ชื่ออื่นๆ ทองนพคุณ
ชื่อวงศ์  MALPIGHIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้เลื้อยขนาดกลาง อายุหลายปี  ยอดเลื้อยพาดไปได้ไกลประมาณ 2-5 เมตร ใบเดี่ยว รูปใบหอกแกมรูปรี ขนาด 2-3.5 x 5-8 ซม. ปลายและโคนแหลม ขอบเรียบ แผ่นใบสีเขียวเข้ม ผิวใบเกลี้ยงดอกออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ช่อละ 5-15 ดอก ดอกทรงกลม กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน 5 กลีบ บางกลีบมีต่อมขนาดใหญ่ 1-2 ต่อม กลีบดอกสีเหลืองสด 5 กลีบ มีก้านกลีบ ขอบกลีบหยักเป็นริ้วตื้น เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 2-3 ซม.ออกดอกตลอดปี ผลสดสีเขียว เมื่อแก่จะแห้งเป็นสีน้ำตาล ไม่แตก มีปีกตามยาว 3 ปีก ปีกด้านข้างทั้งสองมีขนาดใหญ่กว่าปีกกลาง กว้าง 1ซม. ผลสดสีเขียวอ่อน เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ไม่แตก มักไม่ติดเมล็ด

การขยายพันธุ์  เพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง และการตอน

การใช้ประโยชน์  ปลูกเป็นซุ้มไม้เลื้อย มีดอกสีเหลืองสดและผลเหมือนผีเสื้อกางปีก สวยงามแปลกตา

หางนกยูงสีทอง : พรรณไม้กลายพันธุ์

หางนกยูงสีทอง : พรรณไม้กลายพันธุ์

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ

   คนทั่วไปจะรู้จักต้นหางนกยูง ซึ่งหมายถึงหางนกยูงฝรั่ง เป็นอย่างดีที่เป็นชนิดออกดอกสีแดงทั้งต้นในช่วงปลายฤดูร้อนต่อต้นฤดูฝน ช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมของทุกปี นอกจากจะมีดอกสีแดงเข้มสวยงามไปทั้งต้นแล้ว ยังมีหางนกยูงฝรั่งสีแดงที่ลดความเข้มลงหลายระดับสี จนถึงสีส้มสวยงามหลายแบบเช่นกัน บางครั้งอาจพบต้นที่มีเหลือบสีบนกลีบใหญ่ของดอกด้วย ทั้งหมดนี้ก็มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกัน จะติดฝักจำนวนมาก และมีเมล็ดที่สมบูรณ์สามารถนำไปขยายพันธุ์ปลูกได้อย่างแพร่หลาย

   ส่วน “หางนกยูงสีทอง”นั้นเป็นไม้กลายพันธุ์ มีความสวยงามโดดเด่นเป็นพิเศษ แปลกตามากสำหรับผู้พบเห็นเป็นครั้งแรก แต่ที่แตกต่างไปจากหางนกยูงฝรั่งชนิดเดิมที่กล่าวมาแล้วก็คือ “หางนกยูงสีทอง”จะติดฝักจำนวนน้อยมาก หรืออาจไม่ติดฝักเลย ฝักที่ติดก็มีขนาดเล็กและสั้นกว่าปกติ เมล็ดในฝักเป็นอาหารอันโอชะของกระรอก ที่เหลือรอดมาก็มักจะเป็นเมล็ดลีบเป็นส่วนใหญ่ จึงเหลือเมล็ดที่สมบูรณ์ที่สามารถงอกได้จำนวนน้อยมาก “หางนกยูงสีทอง”จึงไม่แพร่หลาย หาดูได้ยาก ต้องขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นแทนการเพาะกล้าจากเมล็ด  ต้นพันธุ์“หางนกยูงสีทอง”จึงมีราคาสูงสำหรับผู้ที่ต้องการนำไปปลูก

 

หางนกยูงสีทอง

ชื่อสามัญ  Golden Flame Tree

ชื่ออื่นๆ นกยูงทอง นกยูงเหลือง หางนกยูงฝรั่งสีทอง หางนกยูงสีเหลือง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Delonix regia (Bojer ex Hook) Raf.

ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE – CAESALPINIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ต้นผลัดใบขนาดใหญ่ สูง 8 – 12 เมตร ทรงพุ่มแผ่กว้างคล้ายร่ม ลำต้นเกลี้ยง เปลือกสีน้ำตาลอ่อน สีครีมถึงสีน้ำตาลเข้ม โคนต้นเป็นพูพอนรอบโคนต้น ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงเวียนสลับและมีใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน ใบย่อยขนาดเล็กเรียวยาวรูปขอบขนานออกตรงข้าม ดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง และซอกกิ่งใกล้ยอด กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลืองทอง เฉพาะกลีบใหญ่ของดอกจะมีเหลือบสีขาวเป็นลายเส้นตามยาวทำให้เพิ่มความสวยงามให้ดอกได้อีก เกสรผู้ยาวโค้งขึ้นมาเหนือกลีบดอก ฝักเป็นลักษณะแบนยาว แห้งแล้วแตก กว้าง 3.54.5 ซม. ยาว 25-35 ซม. สีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ปกติหางนกยูงสีทองจะติดฝักจำนวนน้อยมาก หรืออาจไม่ติดฝักเลย ฝักที่ติดก็มีขนาดเล็กและสั้นกว่าปกติ เมล็ดในฝักก็มักจะลีบเป็นส่วนใหญ่ จึงเหลือเมล็ดที่สมบูรณ์ที่สามารถงอกได้จำนวนน้อยมาก

หมายเหตุ

1.“หางนกยูงสีทอง”เป็นพรรณไม้กลายพันธุ์ จึงติดฝักจำนวนน้อยมาก หรืออาจไม่ติดฝักเลย ฝักที่ติดก็มีขนาดเล็กและสั้นกว่าปกติ เมล็ดในฝักก็มักจะลีบเป็นส่วนใหญ่ จึงเหลือเมล็ดที่สมบูรณ์ที่สามารถงอกได้จำนวนน้อยมาก “หางนกยูงสีทอง”จึงไม่แพร่หลาย จึงต้องขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่น

2. การขยายพันธุ์“หางนกยูงสีทอง”  ทำได้ 2 วิธี คือ การเสียบยอด และทาบกิ่ง โดยใช้ต้นกล้าหางนกยูงฝั่งชนิดเดิมมาเป็นต้นตอ (root stock)  ส่วนการตอนกิ่งนั้นจะไม่ออกราก

3. ประโยชน์ของหางนกยูงฝรั่ง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ และปลูกให้ร่มเงาเมล็ดหางนกยูงที่แก่จัดนำมาต้มให้สุกรับประทานได้ ปรุงเป็นอาหารคาวหวานได้ เป็นที่นิยมในสาธารณรัฐประชาชนลาว

4. ผู้สนใจจะไปชม“หางนกยูงสีทอง” ในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถไปชมได้ที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ มี 6 ต้นหลายขนาด ที่สวนหลวงร.9  มีต้นขนาดเล็กเพียงต้นเดียว ที่วัดมะพร้าวเตี้ย มี 1 ต้นซึ่งมีขนาดเล็กไม่ติดฝักเลย

ขอบคุณ วิกิพีเดีย

ความหลากหลาย การวิเคราะห์พันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของข้าวพันธ์พื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี

ความหลากหลายการวิเคราะห์พันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของข้าวพันธุ์พื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี

ภัทรภร เอื้อรักสกุล, วันทนี สว่างอารมณ์ และ จรัญ ประจันบาล

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

[email protected] และ [email protected]

INTRODUCTION


 

ข้าว (Oryza sativa) เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรในประเทศไทยเป็นอย่างมาก การพัฒนาเพื่อให้ได้สายพันธุ์ข้าวที่ดี มีประสิทธิภาพ ให้ผลผลิตมากและมีคุณภาพเมล็ดที่ดีนั้น จำเป็นต้องมีแหล่งพันธุกรรมข้าวที่ดี พันธุ์ข้าวพื้นเมืองนับเป็นแหล่งพันธุกรรมที่ดีเนื่องจากมีความหลากหลาย มีบางลักษณะเหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นจากการคัดเลือกพัฒนามาเป็นระยะเวลายาวนานจนสามารถเจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ของประเทศ มีคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะเหมาะแก่การอนุรักษ์พันธุกรรมเพื่อเป็นแหล่งพันธุกรรมในการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปจึงนับเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่งหากพันธุ์ข้าวพื้นเมืองต้องสูญไป อีกทั้งจังหวัดปราจีนบุรีเป็นพื้นที่ที่ยังมีการปลูกข้าวอยู่มาก

โครงการวิจัยเรื่อง ความหลากหลาย การวิเคราะห์พันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี นี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1. ศึกษาข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับข้าวพื้นเมืองในเขตจังหวัดปราจีนบุรี
2. ศึกษาความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองบางสายพันธุ์ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี
3. ศึกษาลักษณะพันธุกรรมของข้าวพื้นเมืองบางสายพันธุ์ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี

METHODS


1.ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับข้าวพื้นเมือง
สืบค้น ออกแบบสอบถาม สำรวจเพื่อศึกษาด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับข้าวพื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี

2. ศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง
สืบค้น ออกแบบสอบถาม สอบถาม สำรวจ และเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองบางชนิดในเขตพื้นที่ศึกษาเพื่อศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยา

3. ศึกษาลักษณะพันธุกรรมของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง
(พะยอม โคเบลลี่ วราพงษ์ ชมาฤกษ์ และพูนศักดิ์ เมฆวัฒนากาญจน์, 2550)

3.1 สกัดดีเอ็นเอจากใบของข้าวที่คัดเลือกสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองบางชนิดที่พบในเขตพื้นที่ศึกษา
3.2 ตรวจสอบปริมาณและคุณภาพของดีเอ็นเอ
3.3 ทดสอบโมเลกุลเครื่องหมายเพื่อใช้ตรวจสอบความบริสุทธิ์ของพันธุ์ข้าว
3.3.1) ออกแบบโมเลกุลเครื่องหมายที่ใช้ตรวจสอบ (Wanchana et al., 2003)
3.3.2) ทำปฏิกิริยาลูกโซ่ (polymerase chain reaction)
3.3.3) วิเคราะห์ชิ้นส่วนดีเอ็นเอในตำแหน่งที่สนใจที่เพิ่มจำนวนได้ด้วยเทคนิคพีซีอาร์แยกความแตกต่างของขนาดชิ้นส่วนดีเอ็นเอที่เพิ่มจำนวนได้

RESULTS


2. ผลการศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

2.1 การศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของข้าวพลายงามปราจีนบุรี 

2.2 การศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของข้าวจินตหรา

2.3 การศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของข้าวเขียวใหญ่

2.4 การศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของข้าวขาวบ้านนา

2.5 การศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของข้าวเหลืองอ่อน

2.6 การศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของข้าวเหลืองทอง

 

 

 

 


3. ผลการศึกษาลักษณะพันธุกรรมของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

ลายพิมพ์ดีเอ็นเอจากการเพิ่มปริมาณดีเอ็ นเอด้วยเทคนิค RAPD

1-2 พลายงามปราจีนบุรี1(ปลูกเก็บพันธุ์เอง)จากต่างเมล็ด 
3-4 พลายงามปราจีนบุรี2(ซื้ อพันธุ์) จากต่างเมล็ด
9-10 ขาวบ้านนา จากต่างเมล็ด
13-14 เหลืองทอง จากต่างเมล็ด

5-6 จินตหราจากต่างเมล็ด
7-8 เขียวใหญ่จากต่างเมล็ด
11-12 เหลืองอ่อน จากต่างเมล็ด

RESULTS


1. ผลการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับข้าวพื้นเมือง

ข้าวพื้นเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี พบเป็นข้าวนาปีเหมาะสมกับธรรมชาติของพื้นที่เพาะปลูกที่เป็นที่ราบลุ่มน้าท่วมขังและลึก ไม่ต้องดูแลมาก วัชพืชมีน้อยมาก ข้าวพื้นเมืองยืดตัวหนีน้าได้ดี ต้นเอนบังแสงวัชพืช ไม่ต้องใส่ปุ๋ยมากหรืออาจใส่ครั้งเดียวช่วงหว่านข้าวหรือช่วงข้าวใกล้ตั้งท้องจะออกรวง ศัตรูพืชไม่มากจึงไม่ต้องฉีดยาฆ่าแมลง ต้นทุนโดยรวมจึงไม่สูง  ไม่ว่าปลูกเร็วหรือช้าแต่เมื่อถึงฤดูกาลน้ำที่แดดดีจะออกดอกออกรวงตามเวลาปกติ และเนื่องจากการคมนาคมที่สะดวกถนนหนทางพัฒนาดีเข้าถึงพื้นที่เพาะปลูกรวมถึงการที่ข้าวส่วนใหญ่จะมีโรงสีมารับซื้อทำเป็นแป้งเพื่อส่งทำก๋วยเตี๋ยวหรือเส้นขนมจีนส่งขายในหลายจังหวัดนับว่ามีตลาดที่ดีรองรับบางพื้นที่มีการจองรับซื้อและในหลายพื้นที่จะมีโรงสีจัดรถมารอรับซื้อถึงริมคันนาเพื่ออำนวยสะดวกต่อชาวนา  ด้วยชาวนาบางรายจึงอาจไม่จำเป็นต้องจัดหาพื้นที่หรือยุ้งฉางรองรับข้าวที่เก็บเกี่ยวรอการรับซื้อหรือส่งขายแต่อย่างใด นับเป็นการอำนวยความสะดวกช่วยลดต้นทุนการขนส่งแม้ราคาขายไม่สูงแต่คำนวณกับต้นทุนซึ่งน้อยแล้วจึงมีกำไรค่อนข้างดีจากการสัมภาษณ์พบว่าชาวนาส่วนใหญ่เป็นเจ้าของพื้นที่เพาะปลูกไม่ต้องเช่าทำกินอีกทั้งชาวนาส่วนใหญ่มีรายได้เสริมส่งผลให้ชาวนาในพื้นที่ดังกล่าวมีชีวิตที่มีความสุขดีชาวนาจึงคงนิยมปลูกข้าวพื้นเมืองอย่างกว้างขวางอย่างไรก็ตามประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าวได้เลือนหายไปอย่างมากอีกทั้งลูกหลานชาวนาไม่นิยมทำนาเป็นอาชีพ  ประกอบกับการพัฒนาที่เข้าถึงมากในหลายพื้นที่จึงเริ่มมีนายทุนมากว้านซื้อที่ดินจำนวนมากเพื่อปล่อยเช่าทำนาหรือนำพื้นที่ไปทำรายได้อื่น

CONCLUSIONS


 1. ภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับข้าวพื้นเมือง เริ่มสูญหายไปมาก และเหลือเพียงชาวนาผู้สูงวัยบางรายเท่านั้นที่ยังประกอบพิธีกรรม
2. พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ชาวนาปลูกเหลือเพียงบางสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่และเป็นที่ต้องการของตลาดเท่านั้น
3. การวิเคราะห์ดีเอ็นเอที่สกัดได้ของข้าวสายพันธุ์ต่างๆด้วย marker primer ทั้ ง2 ชนิด ได้แก่ marker primer ITS และ A13 ทำให้ได้รูปแบบลายพิมพ์ดี เอ็นเอที่มีจานวนแถบแตกต่างกันตามแต่ละชนิด พบว่ามี marker primer A13 ให้รูปแบบลายพิมพ์ดีเอ็นเอที่มีความแตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์ ผล การทดลองแสดงให้เห็นว่าเทคนิคอย่างง่าย เช่น RAPD โดยไพรเมอร์12 นิวคลีโอไทด์สามารใช้ในการศึกษาความแตกต่างทางพันธุกรรมของข้าวสาย พันธุ์ท้องถิ่นได้

 REFERENCES

พะยอม โคเบลลี่  วราพงษ์ ชมาฤกษ์ และพูนศักดิ์ เมฆวัฒนากาญจน์. 2550. การตรวจสอบความบริสุทธิ์ของพันธุ์ข้าวด้วยโมเลกุลเครื่องหมาย. วารสารวิชาการข้าว 1(1): 44-51.

อรุณรัตน์ ฉวีราช. (2554). เครื่องหมายระดับโมเลกุลเพื่อการระบุพืช. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.

Wanchana, S., T. Toojinda, S. Tragoonrung and A. Vanavichit. 2003. Duplicated coding sequence in the waxy allele of tropical glutinous rice (Oryza sativa L.) Plant Science 165 : 1193-1199

กิตติกรรมประกาศ

งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งชาติ ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

กล้วยนวล : กล้วยแปลกหาดูยาก

กล้วยนวล : กล้วยแปลกหาดูยาก

 

กล้วยนวล : กล้วยพื้นเมืองที่ต้องอนุรักษ์

ความนำ

   กล้วยนวล ไม่ใช่กล้วยเศรษฐกิจ ชาวบ้านในชนบททางภาคเหนือภาคอีสานจะปลูกไว้กินผลในครัวเรือนหรือแบ่งปันให้เพื่อนบ้านเมือผลแก่ เนื่องจากกล้วยนวลเป็นกล้วยชนิดไม่แตกกอเหมือนกล้วยทั่วไป ตกเครือได้ครั้งเดียวก็จะตายไป ต้องปลูกใหม่ด้วยเมล็ด ทำให้มีการกระจายพันธุ์ช้าและอยู่ในวงจำกัด ถึงแม้ว่ากล้วยนวลจะเป็นกล้วยที่มีเมล็ดขนาดโตที่สุดในบรรดากล้วยด้วยกัน แต่โอกาสที่จะแพร่พันธุ์ด้วยตัวมันเองก็ทำได้ยากเนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น เยาวชนรุ่นใหม่ไม่นิยมกินเพราะเมล็ดมากกว่าเนื้อและรสชาติหวานปนฝาดไม่ถูกปากเลยไม่สนใจจะกิน เลยไม่เพาะกล้า อีกประการหนึ่งคือ เมื่อผลสุกทั้งเครือแล้วร่วงหล่นลงมาที่พื้นดินโอกาสที่เมล็ดจะงอกเองก็เป็นไปได้ยากเพราะเนื้อหุ้มเมล็ดไว้อย่างเหนียวแน่น กว่าเนื้อจะสลายตัวหมดให้เมล็ดมีอิสระในการงอก เมล็ดก็จะเน่าไปแล้ว สาเหตุเหล่านี้ทำให้คนรู้จักกล้วยนวลในวงแคบ เคยมีข่าวใหญ่หน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย ลงข่าวใหญ่ว่ามีต้นกล้วยประหลาด คนแห่ไปกราบไหว้ขอหวยต้นกล้วยประหลาดต้นนั้น ที่เป็นต้นขนาดใหญ่ไม่มีหน่อ ใบยาวสีเทาชี้ขึ้นฟ้า เครือใหญ่มากกาบปลีไม่ร่วงแต่ห่อหุ้มหวีกล้วยซ่อนไว้ตลอดชีวิต หารู้ไม่ว่านั่นคือ “กล้วยนวล” ที่เป็นกล้วยพื้นเมืองหาดูยาก ฉะนั้นจึงขอเชิญชวนให้ปลูกกล้วยนวล เพื่อให้ลูกหลานในภายหน้าได้เห็นคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกล้วยนวล

ชื่อไทย กล้วยนวล 

ชื่อสามัญ Elephant banana , Ensets

ชื่ออื่นๆ กล้วยหัวโต กล้วยศาสนา กล้วยโทน กล้วยหัวโต กล้วยญวน

ชื่อวิทยาศาสตร์  Ensete glaucum (Roxb.) Cheesman

ชื่อวงศ์ MUSACEAE

   เป็นไม้ล้มลุกลำต้นเดี่ยว ไม่มีไหลไม่แตกกอ ไม่มีหน่อที่โคนต้น กาบใบห่อหุ้มกันกลายเป็นลำต้นเทียม ส่วนลำต้นจริงคือส่วนของเหง้าที่อยู่ใต้ดิน ลำต้นเทียมเป็นสีเทามีนวลขาวเหมือนทาแป้ง ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก มีความสูงของต้นประมาณ 4-5 เมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของโคนต้นประมาณ 40-50 เซนติเมตร โคนต้นกว้างอวบใหญ่ แล้วเรียวเล็กขึ้นไป ต้นกล้วยนวลสามารถพบได้ทั่ว ใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปรียาวขอบขนาน ปลายใบยาวคล้ายหาง ส่วนโคนใบมีลักษณะเป็นรูปลิ่ม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 40-60 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-2.2 เมตร แผ่นใบเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบมีนวลหนา ก้านใบยาวเป็นสีเขียวนวล และมีร่องเปิดที่เส้นกลางใบ ส่วนก้านใบสั้น

   ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่คล้ายระฆังห้อยดิ่งลง โดยปลีมีใบประดับขนาดใหญ่สีเขียวเรียงสลับ และชิดติดกันตั้งแต่โคนจนถึงปลาย ดอกหรือปลีมีลักษณะเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ 2 เมตร มีกาบปลีหรือใบประดับเรียงซ้อนเหลื่อมกัน มีนวลติดทนอยู่ด้านใน ใต้กาบใบจะมีหวีกล้วยที่มีดอกมีประมาณ 10-20 ดอก โดยดอกเพศผู้จะอยู่ช่วงปลาย ส่วนดอกเพศเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศจะออกบริเวณช่วงโคน กลีบรวมที่เชื่อมติดกันยาวประมาณ ผลอยู่รวมกันเป็นหวีภายในปลี ผลเดี่ยว ลักษณะของผลเป็นรูปรีสั้น ๆ และมีสันตามยาว3-4สัน ผลมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-9 เซนติเมตร ภายในผลมีเนื้อแทรกอยู่ระหว่างเมล็ด เมล็ดสีดำขนาดใหญ่ ผิวเรียบและแข็งมาก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร เพาะกล้าได้ง่าย

บรรณานุกรม

 สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง ( องค์กรมหาชน ) 65 หมู่ 1 ถ.สุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทร 053-328496-8  แฟกซ์ 053-328494

http://www.halsat.com/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%A5/

https://medthai.com/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%A5/

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%A5

โมกราชินี : พรรณไม้ใหม่ของโลก

โมกราชินี : พรรณไม้ใหม่ของโลก

ความนำ 

   โมกราชินี พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกค้นพบโดยศาสตราจารย์ ดร. ธวัชชัย สันติสุข ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสำรวจและจำแนกพรรณไม้ กรมป่าไม้ ในระหว่างโครงการสำรวจพรรณพฤกษชาติภูเขาหินปูน ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 จาก การศึกษาค้นคว้าเอกสารและตรวจสอบตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงในหอพรรณไม้ต่าง ประเทศที่เกี่ยวข้องหลายประเทศ ยังไม่เคยปรากฏชื่อหรือรายงานลักษณะรูปพรรณของพรรณไม้ชนิดนี้มาก่อน และ Dr. D.J. Middleton ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้วงศ์ APOCYNACEAE ของโลกแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประเทศสหรัฐอเมริกายืนยันและสนับสนุนการยก รูปพรรณไม้สกุลโมกมัน ( Wrightia ) นี้ เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก การค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่นี้มีความสำคัญยิ่งต่อวงการพฤษศาสตร์ เนื่องจากในปัจจุบันโอกาสค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกในวง APOCYNACEAE มีน้อยมาก โดยเฉพาะประเภทไม้ต้น พรรณไม้ใหม่นี้เป็นชนิดที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ มีลักษณะดอกที่สวยงาม จัดเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียว
( Endemic species ) 
พบเฉพาะในประเทศไทย มีสถานภาพเป็นพรรณไม้ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ ชนิดหนึ่งของโลก ( Rare and endangered species ) สมควรที่จะอนุรักษ์และนำมาปลูกขยายพันธุ์ต่อไป กรมป่าไม้จึงขอพระราชทานพระราชานุญาตให้ชื่อพรรณไม้ชนิดใหม่ของสกุล Wrightia ตามพระนามของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ว่า “ Wrightia sirikitiae Middleton & Santisuk ” เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ จากการที่ได้ทรงสนับสนุนและทรงริเริ่มโครงการต่าง ๆ ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่องและเพื่อเป็นสิริ มงคลในวงการ พฤกษศาสตร์ของประเทศไทย

หมายเหตุ หากสนใจจะไปชมโมกราชินีเพื่อศึกษาและบันทึกภาพ ขอแนะนำให้ไปชมที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่ตั้งอยู่หลังสวนจตุจักร มีเพียงต้นเดียว สูงประมาณ 3.5 เมตร สภาพสมบูรณ์มาก ออกดอกดก กลิ่นหอมมาก


 

รายละเอียดของโมกราชินี

ชื่อไทย โมกราชินี

ชื่อวิทยาศาสตร์ Wrightia sirikitiae Middleton & Santisuk

ชื่อวงศ์ APOCYNACEAE

การกระจายพันธุ์ ในเขตภาคกลางตั้งแต่นครสวรรค์ สระบุรี ลพบุรี และสระแก้ว 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

   ไม้ต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง 6 เมตร เปลือกลำต้นขรุขระ สีเทาอมน้ำตาล แตกกิ่งก้านห่างๆ ทำให้ทรงพุ่มโปร่ง ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยวออกตรงข้าม รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง 1.5 – 4 เซนติเมตร ยาว 3 – 10 เซนติเมตร ใบบาง ปลายใบแหลม โคนใบมน ใต้ใบมีขนอ่อนปกคลุม ดอกเดี่ยวออกที่ปลายยอด ดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 – 5 เซนติเมตร กลีบดอก 5 กลีบ สีขาว กลางดอกมีรยางค์เป็นขนยาว กลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน ผลเป็นฝักกลมยาวเป็นแท่งขนาดปลายตะเกียบ ออกเป็นคู่กางออก เมื่อแก่มีสีน้ำตาลและแตกออก ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ปลายเมล็ดมีขนติดที่โคนช่วยกระจายพันธุ์
การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ตอนกิ่งและเสียบยอด

 

บรรณานุกรม

   ปิยะ เฉลิมกลิ่น จิรพันธุ์ ศรีทองกุล และอนันต์ พิริยะภัทรกิจ. พรรณไม้ที่พบครั้งแรกในประเทศไทย.กทม. โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพ. 2551 หน้า 20

   ขอขอบคุณ สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้ 61 ถ.พหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900โทรศัพท์ : (662) 561 42923 # 5103โทรสาร : (662) 579 2740 

ขนุนสำปะลอ : ขนุนที่ไม่ใช่ขนุน

ขนุนสำปะลอ : ขนุนที่ไม่ใช่ขนุน

 

ความนำ

ขนุนสำปะลอ เป็นผลไม้ที่หาดูยากมาก ชั่วชีวิตของคนคนหนึ่งอาจจะไม่เคยเห็นเลยก็ได้ เนื่องจากขนุนสำปะลอเป็นผลไม้ที่ใช้ประโยชน์ได้น้อย บางคนอาจจะเคยเห็นต้นหรือผลของขนุนสำปะลอ แต่ผ่านเลยไปเพราะคิดว่าเป็น “สาเก” ทั้งนี้เพราะเชื่อว่า “ขนุนสำปะลอ ก็น่าจะเป็นขนุนชนิดหนึ่ง รูปร่างหน้าตาก็น่าจะเหมือนขนุน

บทสรุปก็คือขนุนสำปะลอเป็น“สาเกที่มีเมล็ด” นั่นเอง ปกติแล้วสาเกจะไม่มีเมล็ด เมื่อผ่าผลสาเกก็จะพบว่าเป็นเนื้อล้วนๆ  ชาวบ้านก็นำมาปอกเปลือกออกแล้วนำมาเชื่อมหรือแกงบวด ก็จะได้ขนมหวานเนื้อเหนียวนุ่มอร่อย สาเกชนิดข้าวเหนียวจะทำขนมได้อร่อยกว่าสาเกชนิดข้าวเจ้า ส่วนผลของขนุนสำปะลอนั้นจะโตกว่าผลของสาเกเกือบเท่าตัว เปลือกผลมีหนามเหมือนขนุน น่าจะเป็นที่มาของชื่อที่มีคำว่า “ขนุน”ติดมาด้วย  เมื่อผ่าผลของขนุนสำปะลอ ก็จะพบเมล็ดขนาดหัวแม่มืออัดแน่นเต็มผล แต่ละเมล็ดก็มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกัน  ชาวบ้านจะนำเมล็ดของขนุนสำปะลอมาต้มกินหรือเผากินกับน้ำตาลทราย เป็นของกินเล่นในครอบครัว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของขนุนสำปะลอ

ชื่อไทย ขนุนสำปะลอ

ชื่อสามัญ Breadfruit

ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus altilis  Fosberg

ชื่อวงศ์ MORACEAE

 

   ขนุนสำปะลอ เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง 8 เมตร ลำต้นสีน้ำตาลเข้มผิวเรียบ  ทรงพุ่มขนาดกลางถึงใหญ่ ไม่ผลัดใบ ทุกส่วนของลำต้นมียางสีขาว ใบใหญ่หนา สีเขียวเข้ม หน้าใบมันวาว ปลายใบแหลมคม ริมใบหยักลึกหลายหยัก แต่ละหยักไม่เท่ากัน  ลักษณะคล้ายใบสาเก มีใบจำนวนมาก ทำให้ทรงพุ่มแน่นทึบ ให้ร่มเงาได้เป็นอย่างดี ดอกสีเหลืองออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอด ช่อดอกเพศผู้เป็นแท่งยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ห้อยลง ส่วนช่อดอกเพศเมียรูปร่างกลม ออกดอกช่วงปลายฤดูฝน ผลกลมยาว สีเขียว ผิวผลมีหนามเหมือนขนุน เมื่อแก่เต็มที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางผล 12-16 เซนติเมตร ผลยาว 16-22 เซนติเมตร เมื่อสุกจะร่วงลงมา มีเมล็ดจำนวนมาก ขนาด 2x3 เซนติเมตร

 

ประโยชน์

1.บริโภคส่วนเมล็ดโดยนำมาต้มหรือเผา รสชาติคล้ายเมล็ดขนุนหรือเก๋าลัดจีนรวมกัน

2.นิยมปลูกไว้เป็นไม่ร่มเงาในบ้านหรือสวนสาธารณะเพราะทรงพุ่มและใบมีความสวยงามนอกจากกินเมล็ดแล้ว ไม่มีการปลูกเพื่อเศรษฐกิจ

 

  

ภาพเปรียบเทียบผลสาเกกับ ขนุนสำปะลอ

 

ภาพ ขนุนสำปะลอ