ชื่อผลงานทางวิชาการ : วิเคราะห์กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย  ศรศรีวิชัย
Analysis Narrative Strategies through Movie Advertising of 
Thanonchai Sornsriwichai

ประเภทผลงานทางวิชาการ : บทความวิจัย

ปีที่พิมพ์ : 2560

ข้อมูลเพิ่มเติม : ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ในการประชุมวิชาการระดับชาติด้านวิทยาการจัดการ ประจำปี 2560 ครั้งที่ 1 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ : อาจารย์พัชนี  แสนไชย สาขาวิชาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

           บทความวิจัย เรื่อง วิเคราะห์กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณา ของธนญชัย  ศรศรีวิชัย Analysis Narrative Strategies through Movie Advertising of  Thanonchai Sornsriwichaiอาจารย์พัชนี  แสนไชย  สาขาวิชาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีการเล่าเรื่องในภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรศรีวิชัย และเพื่อวิเคราะห์มุมมองและแนวคิดในการสร้างภาพยนตร์ของธนญชัย ศรศรีวิชัย

           จุดเด่นของบทความนี้  เป็นการวิจัยคุณภาพ มีการวิเคราะห์เนื้อหาของภาพยนตร์โฆษณาที่ได้รับรางวัลของธนญชัย โดยใช้การศึกษาแนวคิดการสื่อสารการตลาดยุคดิจิทัล การเล่าเรื่องภาพยนตร์โฆษณา แนวคิดปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) และมรรค 8 เพื่ออธิบายกลวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาและวิเคราะห์มุมมองและแนวคิดในการทำงานของธนญชัย ซึ่งธนญชัย ศรศรีวิชัย เป็นผู้กำกับโฆษณาที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาที่ได้รับรางวัลมากที่สุดในโลก(The Most Awarded Directors in The World) โดยที่ครองตำแน่งนี้ถึง 6 ปีซ้อน ชื่อรางวัลสิงโตเมืองคานส์ จากเทศกาลภาพยนตร์โฆษณาเมืองคานส์ ในประเภท Gold Lions (สิงโตทองคำ) ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดและเป็นที่ใฝ่ฝันของคนทำงานโฆษณาทั่วโลก

           จากงานวิจัยพบว่า ในการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรศรีวิชัย  โครงเรื่อง(Plot) มักสร้างโครงเรื่องจากเรื่องใกล้ตัวของมนุษย์ โดยพยายามหาจุดเชื่อมโยงของตราสินค้า(Brand) แล้วค่อยๆถ่ายทอดออกมาสู่การออกแบบเนื้อหาและสร้างเป็นเรื่องราวผ่านภาพยนตร์โฆษณา แก่นเรื่อง (Theme) มักนำหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นแก่นเรื่องในภาพยนตร์โฆษณา ส่วนมุมมองและแนวคิดในการสร้างภาพยนตร์โฆษณาโดยมีหลักความคิดแบบอภิปรัชญา จึงดำเนินชีวิตการทำงานโดยการใช้หลักมรรคมีองค์ 8 โดยมุ่งสร้างเนื้อหาผ่านภาพยนตร์โฆษณาที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้น ไม่รับงานโฆษณาประเภทเหล้าเบียร์ที่จะมอมเมาคนในสังคม พยายามฝึกลดอัตตาตนเอง สร้างสรรค์ผลงานที่จะเกิดประโยชน์ต่อคนดูและสังคม

ประโยชน์ที่ได้รับจากบทความวิจัยนี้

  1. ทราบและเข้าใจกลวิธีการเล่าเรื่องภาพยนตร์ของธนญชัย ศรศรีวิชัย
  2. เข้าใจมุมมองและแนวคิดในการสร้างภาพยนตร์ของธนญชัย ศรศรีวิชัย
  3. สามารถนำผลการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตรภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย

 

วิเคราะห์กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย  ศรศรีวิชัย
Analysis Narrative Strategies through Movie Advertising of  Thanonchai Sornsriwichai

 

นางสาวพัชนี แสนไชย

อาจารย์ประจำสาขาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

บทคัดย่อ

              งานวิจัยเรื่อง วิเคราะห์กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย  ศรศรีวิชัย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีการเล่าเรื่อง วิเคราะห์มุมมองและแนวคิดในการทำงานของธนญชัย  ศรศรีวิชัย โดยการศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ วิเคราะห์เนื้อหาของภาพยนตร์โฆษณาที่ได้รับรางวัลของธนญชัย โดยใช้การศึกษาแนวคิดการสื่อสารการตลาดยุคดิจิทัล การเล่าเรื่องภาพยนตร์โฆษณา แนวคิดปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) และมรรค 8 เพื่ออธิบายกลวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาและวิเคราะห์มุมมองและแนวคิดในการทำงานของธนญชัย

              ผู้วิจัยพบว่าภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ใช้มุมมองด้านการสื่อสารการตลาดมาวิเคราะห์ผ่านการออกแบบเนื้อหาภาพยนตร์โฆษณาที่เน้นการวิเคราะห์ในด้านการสื่อสาร (communication ) ซึ่งใช้กลวิธีในการสร้างการสื่อสารทางอารมณ์  (emotional communication) ส่วนใหญ่จะเน้นไปในทางการใช้กลวิธีการสร้างอารมณ์ที่ค่อยๆไต่ระดับ จากอารมณ์เศร้า ค่อยๆซาบซึ้ง และมักมีจุดจบด้วยอารมณ์สุขแบบอิ่มเอมใจเสมอ

              ผู้วิจัยพบว่า ในการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรศรีวิชัย มีดังนี้ โครงเรื่อง(Plot) มักสร้างโครงเรื่องจากเรื่องใกล้ตัวของมนุษย์ โดยพยายามหาจุดเชื่อมโยงของตราสินค้า(Brand) แล้วค่อยๆถ่ายทอดออกมาสู่การออกแบบเนื้อหาและสร้างเป็นเรื่องราวผ่านภาพยนตร์โฆษณา แก่นเรื่อง (Theme) มักนำหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นแก่นเรื่องในภาพยนตร์โฆษณา  เช่น การให้ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน ความขัดแย้ง (Conflict) ส่วนใหญ่มักสร้างความขัดแย้งในจิตใจของมนุษย์ ขัดแย้งจากความจน และขัดแย้งจากโอกาสทางสังคม ตัวละคร (Character) มักเป็นตัวละครที่เป็นคนธรรมดา หน้าตาธรรมดา ฐานะธรรมดา แต่ตัวละครหลักเหล่านี้กลับเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมสูง  ฉาก (Setting) ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นฉากที่หรูหราแต่เลือกใช้ฉากที่สะท้อนให้เห็นความเป็นสามัญธรรมดาทั่วไปของมนุษย์ เช่น ท้องถนน, ห้องเช่า, รถเมล์ เป็นต้น สัญลักษณ์พิเศษ (Symbol)     การเลือกใช้โทนภาพที่ออกสีเหลืองๆตุ่นๆ, มุมกล้องและระยะภาพที่สะท้อนอารมณ์ของตัวละครผ่านภาพยนตร์โฆษณา, การใช้ดนตรีบรรเลง อย่างเปียโนและไวโอลิน, เสียงบรรยายที่เป็นเอกลักษณ์หนักแน่นและจริงใจ มุมมองในการเล่าเรื่อง (Point of view) มักมีมุมมองในการเล่าเรื่องมาจากจุดเล็กๆของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในสังคม หรือผ่านเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสังคม

              ปรากฏการณ์ที่พบในภาพยนตร์ของธนญชัย ศรศรีวิชัย มักใช้อารมณ์ต่างๆของมนุษย์มาเป็นตัวนำในการขับเคลื่อน โดยส่วนใหญ่มักจะใช้ อารมณ์เศร้า ซาบซึ้ง หรือบางทีอาจสอดแทรกความตลกขบขันลงไป โดยภาพยนตร์โฆษณาส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงกับสถาบันครอบครัว หรือถ่ายทอดออกมาโดยการเชื่อมั่นในความดี ที่จะเป็นพลังในการคอยขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นเรื่อง “การให้”

              นอกจากนั้น ผู้วิจัยยังพบว่า ธนญชัย ศรศรีวิชัย มีมุมมองและแนวคิดในการสร้างภาพยนตร์โฆษณาโดยมีหลักความคิดแบบอภิปรัชญา เขาจึงดำเนินชีวิตการทำงานโดยการใช้หลักมรรคมีองค์ 8 โดยมุ่งสร้างเนื้อหาผ่านภาพยนตร์โฆษณาที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้น ไม่รับงานโฆษณาประเภทเหล้าเบียร์ที่จะมอมเมาคนในสังคม พยายามฝึกลดอัตตาตนเอง สร้างสรรค์ผลงานที่จะเกิดประโยชน์ต่อคนดูและสังคม

 

คำสำคัญ: กลวิธีการเล่าเรื่อง, ภาพยนตร์โฆษณา, ธนญชัย  ศรศรีวิชัย

 

Abstract

              Research Analyze the narrative strategies through the movie advertising of Thanonchai Sornsriwichai. The objective is to study the narrative strategies. Analyze views and concepts in the work of Thanonchai Sornsriwichai. This study is a qualitative research. Analyze the content of the award-winning commercials of Thanonchai. By studying the concept of digital marketing communication. Storytelling Phenomenological concept and Atthangika-magga: the Noble Eightfold Path 8 to describe the narrative strategies through movie advertising and analysis of the views and concepts of the work of Thanonchai.

              The researcher found that the movie advertising of Thanonchai. Uses the perspective of marketing communication to analyze through content design, advertising, communication.Which uses strategies to create emotional communication, most of which focus on the use of emotional strategies that gradually climb. From sad emotions, gradually grateful and always end with a happy mood.

              The researcher found that. The narrative through the movie advertising of Thanonchai Sornsriwichai is as follows. The plot often creates a story from the human story. By trying to find the link of the brand and gradually conveying it to the design of the content and create a story through the movie advertising. Theme often brings the doctrine of the Buddha as the theme in the movie advertising, such as giving people. Otherwise, without return, conflicts most often conflict in the human mind, the paradox of the poor. The characters are usually ordinary characters, ordinary characters but these main characters are highly moral. The setting is mostly not a luxury scene, but a choice use a scene that reflects common humanity, such as the road, rent, buses, etc. Special symbols the camera angles and the distance that reflect the emotions of the characters through the commercials, the use of instrumental music  piano and violin, the voice is unique, strong and sincere. Point of view views often have a narrative viewpoint from a small group of people in society. Or what’s happening in society.

              The phenomenon found in Thanonchai Sornsriwichai’s movie advertising often uses human emotions as a conductor for driving. Most often, it is used to be sentimental, or perhaps humorous. Most commercials are linked to family institutions or conveyed by the belief in good. To be a force to drive social well. Mostly it is a matter of “giving”

              In addition, the researcher found that Thanonchai Sornsriwichai had the view and idea of ​​creating an movie advertising based on metaphysics. He is living his life by using the Atthangika-magga: the Noble Eightfold Path 8 to create content through commercials that will change society in a better way. Do not accept the beer ads to mescalize people in society. Trying to lower selfish ego without going to the global director’s award and keep practicing with straightforward, minimalist approach. Most beneficial Reliable, benefit the public, benefit people and society.

 

Keywords: Narrative Strategies , Movie Advertising ,Thanonchai Sornsriwichai

 

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
              “ภาพยนตร์” เป็นสื่อสากลแขนงหนึ่ง และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ เป็นเวลาหนึ่งร้อยกว่าปีมาแล้ว ที่ผู้คนพยายามทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ภาพยนตร์สามารถทำให้ผู้คนหลงใหลประทับใจ ภาพยนตร์ส่งผ่านข้อมูลและความคิด แสดงสถานที่และแนวทางการใช้ชีวิตในแบบที่เราไม่เคยรู้จัก ทั้งยังนำเสนอประสบการณ์และความรู้สึกที่มาให้เราพึงพอใจอย่างลึกซึ้ง (Bordwell and Thompson, 2008: 2)

              ดังนั้น ภาพยนตร์จึงถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณา เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการตลาดเพื่อเป้าหมายสูงสุดของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในยุคการตลาด 4.0 การใช้วิธีการเล่าเรื่องของสินค้าด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบสอดแทรกเรื่องราวต่างๆผ่านตัวละคร ใช้อารมณ์ต่างๆ เช่น อารมณ์เศร้า,ซึ้ง,หดหู่,ฮึกเหิม,ทำให้เกิดพลังใจและแรงบันดาลใจ ฯลฯ ของมนุษย์ในการเล่าเรื่อง เป็นกลวิธีการเล่าเรื่องของภาพยนตร์โฆษณาที่มีความน่าสนใจและน่าศึกษาค้นหาคำตอบในการทำการวิจัยเรื่องนี้

              การผลิตภาพยนตร์โฆษณาในยุคดิจิทัล 4.0 นักโฆษณาจึงต้องคิดหากลวิธีสร้างสรรค์ให้มากขึ้นกว่าในอดีต เพราะการเปลี่ยนไปของพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีวิธีการใช้สื่อที่แตกต่างไป สื่อเองก็ขยายขอบเขต (media landscape) วิธีการการเล่าเรื่องจึงกลายเป็นตัวแปรต้นที่มีความสำคัญในการพัฒนาและออกแบบเนื้อหาสื่อเพื่อให้มีความโดดเด่นและน่าสนใจ โดยประเทศไทยมีบริษัทโฆษณาและผู้กำกับโฆษณาที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก คือ ธนญชัย ศรศรีวิชัย ได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาที่ได้รับรางวัลมากที่สุดในโลก(The Most Awarded Directors in The World) โดยที่ครองตำแน่งนี้ถึง 6 ปีซ้อน

              ธนญชัย ศรศรีวิชัย คือ ผู้กำกับที่ได้รับรางวัลสิงโตเมืองคานส์ จากเทศกาลภาพยนตร์โฆษณาเมืองคานส์ ในประเภท Gold Lions (สิงโตทองคำ) ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดและเป็นที่ใฝ่ฝันของคนทำงานโฆษณาทั่วโลก

              ธนญชัย ศรศรีวิชัย มีเอกลักษณ์ในการผลิตภาพยนตร์โฆษณาที่แฝงมุขตลก ใช้โทนภาพสีตุ่นๆ ตัวละครในเรื่องมักเป็นชาวบ้าน รวมถึงการก็ใช้เสียงบรรยายที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งเป็นเสียงของเขาเอง อย่างโฆษณาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) “จน เครียด กินเหล้า” ”เลิกเหล้า เลิกเครียด เลิกจน”, ทิชชู่ของสมาร์ทเพิรส์, สมูทอี, เมืองไทยประกันชีวิต, ไทยประกันชีวิต และภาพยนตร์โฆษณาชุดล่าสุดของผู้กำกับภาพยนตร์คนนี้คือ โฆษณาของบริษัท เงินติดล้อ จำกัด โดยถ่ายทอดเนื้อหาออกมาได้อยากโดดเด่นและน่าสนใจ เกี่ยวกับการเป็นหนี้ของคนไทย โดยใช้หลักทางพระพุทธศาสนามาเป็นแก่นในการนำเสนอ เช่น การใช้สติในการคิดถึงสิ่งที่อยากทำมากที่สุด หาความรู้ แล้วลงมือทำ ทำทีละเล็กทีละน้อย ไม่วอกแวก ไม่คาดหวัง ทำไม่หยุด ทำทุกวัน จนเป็นอิสระและไม่อยากให้คุณกลับมาหาเราอีก นั่นคือ การสอนเรื่องความเพียรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงธรรมเอาไว้ให้กับมนุษย์

              การวิจัยเรื่อง “วิเคราะห์กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย  ศรศรีวิชัย”  ผู้วิจัยมองเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการศึกษา วิธีการออกแบบ กลวิธีการเล่าเรื่องที่โดดเด่น จากผลงานของผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาระดับโลกอย่างธนญชัย ศรศรีวิชัย ผู้ที่มีตัวตนและวิธีคิดที่แตกต่างจากคนอื่น คือ การสลายตัวตนในการทำงานสะท้อนจากการที่เขาได้รับรางวัลแต่กลับไม่ไปรับรางวัลเพราะเกรงว่าตนเองจะมีอัตตา โดยวิธีการคิดดังกล่าวเป็นการใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นแก่นกลางในการดำเนินชีวิตและสะท้อนออกมากลายเป็นผลงานของเขา

              ด้วยสังคมไทยเป็นสังคมพุทธ พุทธศาสนาจึงเป็นศูนย์กลางของศิลปะทุกแขนง รวมทั้งในงานภาพยนตร์โฆษณา ไม่ได้จำกัดแค่ในงานวรรณกรรมเท่านั้น ดังนั้น การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ จึงอยากมุ่งศึกษาวิเคราะห์กลวิธีการเล่าเรื่องในภาพยนตร์โฆษณา และวิเคราะห์มุมมอง แนวคิดในการสร้างภาพยนตร์ของธนญชัย  ศรศรีวิชัย เพื่อให้ได้ผลวิจัยที่จะได้เป็นแนวทาง องค์ความรู้ในการพัฒนาหลักสูตรของสาขาภาพยนตร์หรือวงการภาพยนตร์ในประเทศไทยต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

  1. เพื่อศึกษากลวิธีการเล่าเรื่องในภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย  ศรศรีวิชัย
  2. เพื่อวิเคราะห์มุมมอง และแนวคิดในการสร้างภาพยนตร์ของธนญชัย  ศรศรีวิชัย

 

ขอบเขตของการวิจัย
              การวิจัยครั้งนี้จะศึกษาถึงโครงสร้างการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ รวมทั้งศึกษาแนวคิด รูปแบบแนวทางในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ ของธนญชัย ศรศรีวิชัย โดยคัดเฉพาะเรื่องที่ได้รับรางวัล ได้แก่ เรื่อง

              -Bar B Q Plaza: The Waiter’s Mom พนักงานร้านอาหารก็มีแม่(2558) ได้รับรางวัล Bronze Adfest Awards 2016 || Interactive Lotus -Best Use Of Viral

              – จระเข้ (Crocodile: Cera C-Cure)(2558)ได้รับรางวัล  Bronze Adfest Awards 2016 || Film Lotus – Household Product

              – โฆษณาไทยประกันชีวิต (Thai Life Insurance: Unsung Hero)(2557) ได้รับรางวัล  Short List Cannes Lions 2014 (Film Lions) และGold Adman Awards 2014 (Film Corporate)

              – ทรูมูฟเอช: การให้ คือ การสื่อสารที่ดีที่สุด (True Move H: Giving)(2557) ได้รับรางวัล Bronze Cannes Lions 2014 (PR Lions) และ Silver Adman Awards 2014 (Film Corporate)

 

นิยามศัพท์เฉพาะ

              กลวิธีการเล่าเรื่อง หมายถึง เทคนิควิธีการออกแบบเนื้อหาผ่านองค์ประกอบการเล่าเรื่อง 7 ส่วน ได้แก่ โครงเรื่อง แก่นความคิด บทบาทและคุณสมบัติของตัวละคร ขั้วขัดแย้ง ฉากสัญลักษณ์พิเศษ และจุดยืนการเล่าเรื่อง

              ภาพยนตร์โฆษณา หมายถึง เครื่องมือทางการตลาดที่นำมาใช้เพื่อใช้ในการสื่อสารสินค้าผ่านสื่อภาพยนตร์เพื่อการโฆษณาเพื่อช่วยในการส่งเสริมการขายของสินค้านั้นๆ

              ชัย  ศรศรีวิชัย หมายถึง ผู้กำกับที่ได้รับรางวัลสิงโตเมืองคานส์ จากเทศกาลภาพยนตร์โฆษณาเมืองคานส์ ในประเภท Gold Lions (สิงโตทองคำ) ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาอันดับหนึ่งของโลกที่ได้รับรางวัล 6 ปีซ้อน

              มุมมองและแนวคิด หมายถึง หลักคิดและหลักปฏิบัติที่มนุษย์ใช้ยึดถือเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตและใช้เป็นแนวทางในการทำงาน

 

 

วิธีดำเนินการวิจัย
แผนการดำเนินการ ขอบเขตและวิธีการวิจัย

การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหารูปแบบของภาพยนตร์เป็นกรณีศึกษา เพื่อศึกษาวิเคราะห์ถึงโครงสร้างการเล่าเรื่อง มุมมองและแนวคิดในการสร้างภาพยนตร์ โดยนำเสนอผลการวิจัยแบบพรรณาวิเคราะห์ (Analytical Description) มีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้

  1. ทำการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งประเภทข้อมูลที่ใช้ทำการศึกษา เป็น 2 ประเภท ดังนี้
    1.1 ข้อมูลประเภทเอกสาร ได้แก่ เอกสารอันเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ เรื่องย่อและรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์จากบทความ บทวิเคราะห์ บทสัมภาษณ์ของธนญชัย  ศรศรีวิชัย บทวิจารณ์ภาพยนตร์ออนไลน์
    1.2 ข้อมูลประเภทภาพยนตร์ ได้แก่ ภาพยนตร์ของธนญชัย  ศรศรีวิชัย โดยใช้วิธีการเก็บรวบรวมจากสื่อออนไลน์ (youtube.com)
  2. เรียบเรียงและวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมมา เพื่อชี้ให้เห็นถึงส่วนประกอบต่างๆของเรื่องเล่าโดยใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (Textual Analysis) ซึ่งมีขั้นตอนในการวิเคราะห์ ดังนี้
    2.1 อ่านและศึกษาแหล่งข้อมูลประเภทเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งรับชมข้อมูลภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรศรีวิชัย ได้แก่เรื่อง Bar B Q Plaza: The Waiter’s Mom พนักงานร้านอาหารก็มีแม่, จระเข้ (Crocodile: Cera C-Cure), โฆษณาไทยประกันชีวิต (Thai Life Insurance: Unsung Hero) และทรูมูฟเอช: การให้ คือ การสื่อสารที่ดีที่สุด (True Move H: Giving)
    2.2 วิเคราะห์ข้อมูลและศึกษาเนื้อหาของภาพยนตร์ (Content Analysis) ภายใต้กรอบแนวคิดโครงสร้างการเล่าเรื่อง เพื่อวิเคราะห์ว่าโครงสร้างการเล่าเรื่องได้มากำหนดความหมายของเรื่องเล่าอย่างไร และการวางโครงสร้างการเล่าเรื่องได้มีผลกระทบต่อความเข้าใจสังคมยุคปัจจุบัน การสื่อสารการตลาดโฆษณาดิจิทัล  แนวคิดปรากฏการณ์วิทยาและมรรค 8 ใช้เป็นกรอบในการอธิบาย

 

ผลการวิจัย
          การสื่อสารการตลาดโฆษณายุคดิจิทัล

การสร้างสรรค์งานโฆษณา คือ ความคิดของผู้สร้างสรรค์ที่พยายามทำให้ชิ้นงานโฆษณาสามารถแก้ปัญหาให้กับสินค้าตามวัตถุประสงค์ของผู้โฆษณาอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดงานโฆษณา ในรูปแบบต่างๆที่มีผู้โฆษณาต้องการจะสื่อกับผู้รับสารเพื่อกระตุ้นให้ผู้รับสารเกิดการตอบสนองอย่างที่ผู้โฆษณาต้องการ ดังนั้นเนื้อหาในงานโฆษณาจึงจำเป็นต้องได้รับการสร้างสรรค์อย่างดีๆ (Kotler,1994, p.48)

Customer (ความต้องการของผู้บริโภค), Cost (ต้นทุนของผู้บริโภค) ,Convenience (ความสะดวกในการซื้อ) และCommunication (การสื่อสาร) แทนที่จะสนใจโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมเพียงอย่างเดียว ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับการสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติและภาพลักษณ์ของสินค้า ข้อมูลดังกล่าวจึงต้องสามารถเชื่อมโยงเข้ากับเหตุผลและความรู้สึกของผู้บริโภคได้ การสื่อสารทางอารมณ์ (emotional communication) ได้กลายมาเป็นตัวแปรใหม่ที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคมากขึ้น และนับเป็นจุดเริ่มต้น ของการสื่อสารที่สามารถพัฒนาไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสินค้ากับลูกค้า (Product and customer relationship)

ดังนั้นภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรศรีวิชัย ส่วนใหญ่มักจะเป็นการสื่อสาร (Communication)ที่เน้นไปในการสร้างการสื่อสารทางอารมณ์ (emotional communication)โดยธนญชัย เป็นผู้ริเริ่มใช้กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาแบบนี้มาในยุคแรกๆจนกลายเป็นกระแสในการผลิตภาพยนตร์โฆษณาในปัจจุบัน

ภาพยนตร์ที่ธนญชัย ศรศรีวิชัย ได้สร้างขึ้นมานั้นก็มีด้วยกันหลากหลายอารมณ์ โดยผู้วิจัยจะวิเคราะห์การสื่อสารทางอารมณ์ไปทีละเรื่อง ดังนี้

  1. Bar B Q Plaza: The Waiter’s Mom พนักงานร้านอาหารก็มีแม่(2558)  ได้รับรางวัล Bronze Adfest Awards 2016 || Interactive Lotus -Best Use Of Viral เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวความรักความผูกพันของแม่และลูกที่เป็นพนักงานบาร์บีคิวพลาซ่า สะท้อนอารมณ์และความรู้สึกออกมาผ่านการทำแบบสอบถามและเลือกใช้มุมกล้องเป็นแบบแอบถ่ายโดยที่ตัวละครไม่รู้ตัว (candid) แสดงให้เห็นถึงความจริงใจที่ซ่อนเอาไว้อยู่ในเฟรมภาพ โดยในภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้นั้น มีการวางอารมณ์ในการเล่าเรื่องแบบไต่ระดับความรู้สึก เริ่มต้นด้วยความเศร้า ค่อยๆซาบซึ้ง และจบลงด้วยความอิ่มเอมใจ
  2. จระเข้ (Crocodile: Cera C-Cure)(2558)ได้รับรางวัล Bronze Adfest Awards 2016 || Film Lotus – Household Product เป็นการใช้กลวิธีในการเล่าเรื่อง ที่ให้อารมณ์ในเชิงตลกขบขัน โดยสอดแทรกอารมณ์ผ่านเสียงดนตรี ภาษาพูดของตัวละคร และมุขตลก พร้อมกับการสอดแทรกการขายคุณสมบัติของสินค้าเอาไว้ในภาพยนตร์โฆษณาโดยใช้ระยะเวลาในการขายของเพียงแค่ไม่กี่วินาที
  3. โฆษณาไทยประกันชีวิต (Thai Life Insurance: Unsung Hero)(2557) ได้รับรางวัล  Short List Cannes Lions 2014 (Film Lions) และGold Adman Awards 2014 (Film Corporate)  ธนญชัย ศรศรีวิชัย ใช้วิธีการเล่าเรื่องในภาพยนตร์โฆษณาไทยประกันชีวิต ใช้อารมณ์ความสุขที่เล่าผ่านเรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่ง โดยใช้แก่นทางพระพุทธศาสนามาเป็นกลวิธีในการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ คือ เรื่อง “การให้” โดยไม่หวังผลตอบแทน เล่าผ่านตัวละครผู้ชายที่เป็นคนธรรมดา เขาดำเนินชีวิตด้วยการให้โดยไม่หวังผลแต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ ความสุข ความเข้าใจ ได้ความรัก ได้สิ่งที่เงินหาซื้อไม่ได้
  4. ทรูมูฟเอช: การให้ คือ การสื่อสารที่ดีที่สุด (True Move H: Giving)(2557) ได้รับรางวัล Bronze Cannes Lions 2014 (PR Lions) และ Silver Adman Awards 2014 (Film Corporate) ใช้วิธีการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ทรูมูฟเอช: การให้ คือ การสื่อสารที่ดีที่สุด ถ่ายทอดเรื่องราวปัญหาในสังคม โดยดัดแปลงเรื่องราวมาจากสังคมออนไลน์  โดยภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ใช้อารมณ์สงสาร เศร้า และจบด้วยความซาบซึ้งและอิ่มเอมใจ

สรุป การสื่อสาร (communication )ที่เน้นไปในการสร้างการสื่อสารทางอารมณ์ (emotional communication)ของผู้กำกับธนญชัย ศรศรีวิชัย ที่ได้รับรางวัลทั้ง 4 เรื่องนี้ ส่วนใหญ่จะเน้นไปทางการใช้กลวิธีสร้างอารมณ์ที่ค่อยๆไต่ระดับจากอารมณ์เศร้า ค่อยๆซาบซึ้ง และมักมีจุดจบด้วยอารมณ์สุขแบบอิ่มเอมใจเสมอ

 

แนวคิดโครงสร้างการเล่าเรื่องภาพยนตร์โฆษณา

ผู้วิจัยจะทำการวิเคราะห์โครงสร้างการเล่าเรื่องในธนญชัย ศรศรีวิชัย โดยการใช้กรอบแนวคิดโครงสร้างการเล่าเรื่อง ซึ่งประกอบด้วย7 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ โครงเรื่อง(Plot), แก่นเรื่อง (Theme), ความขัดแย้ง (Conflict), ตัวละคร (Character),ฉาก (Setting),สัญลักษณ์พิเศษ (Symbol)  และมุมมองในการเล่าเรื่อง (Point of view) เป็นส่วนอธิบายลักษณะพิเศษต่างๆที่พบในภาพยนตร์ของธนญชัย ศรศรีวิชัย

  1. Bar B Q Plaza: The Waiter’s Mom พนักงานร้านอาหารก็มีแม่(2558) ได้รับรางวัล Bronze Adfest Awards 2016 || Interactive Lotus -Best Use Of Viral

รูปที่ 1 ภาพโฆษณา Bar B Q Plaza: The Waiter’s Mom พนักงานร้านอาหารก็มีแม่

ที่มา : ยูทูบ Phenomena Bangkok

          โครงเรื่อง(Plot)  ภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านความรู้สึกของพนักงานร้านบาร์บีคิวพลาซ่า(Bar B Q Plaza) ที่ไม่ได้มีโอกาสเจอแม่เหมือนกับลูกคนอื่นๆแต่ภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ก็สร้างสถานการณ์ให้แม่กับลูกจูงมือกันมากินข้าวในร้านบาร์บีคิวพลาซ่า บรรยากาศจึงเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและคราบน้ำตาแห่งความสุขระหว่างแม่กับลูก

          แก่นเรื่อง (Theme) ทุกคนก็มีแม่ไม่เว้นแม้แต่พนักงานตัวเล็กๆในร้านอาหารอย่างร้านบาร์บีคิวพลาซ่า ที่อยากทำหน้าที่ลูกในวันแม่เหมือนกับคนอื่นๆเช่นกัน

          ความขัดแย้ง (Conflict) ความขัดแย้งของความรู้สึกระหว่างหน้าที่การทำงานและหน้าที่ของความเป็นลูก

          ตัวละคร (Character) มีการใช้ตัวละคร 3 กลุ่ม คือ

  1. ตัวละครเป็นกลุ่มพนักงานร้านบาร์บีคิวพลาซ่าที่หลากหลายทั้งอายุ และเพศ ซึ่งเป็นมนุษย์ธรรมดาทั่วๆไปที่มีความรู้สึกรักแม่เหมือนกับคนอื่นๆ
  2. ตัวละครที่เป็นแม่ของพนักงานร้านบาร์บีคิวพลาซ่า
  3. บริษัทบาร์บีคิวพลาซ่า (Bar B Q Plaza) ซึ่งไม่ปรากฏตัวเป็นตัวละครแต่เป็นคนดำเนินเรื่องราวและสร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้น

 

          ฉาก (Setting)

  1. ห้องตอบแบบสอบถามของพนักงาน
  2. ร้านอาหารบาร์บีคิวพลาซ่า

          สัญลักษณ์พิเศษ (Symbol)สัญลักษณ์พิเศษ ในภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้คือ การใช้มุมกล้องแบบแอบถ่ายโดยที่ตัวละครไม่รู้ตัว (candid) ทั้งหมดในการเล่าเรื่อง ซึ่งสัมพันธ์กับการสร้างและออกแบบบทบาทของตัวละครที่เป็นคนธรรมดา จึงแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของตัวละครผ่านเลนส์กล้อง นอกจากนั้นยังเสริมอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครด้วยเสียงดนตรีบรรเลงแบบซึ้งๆ และใช้ตัวหนังสือขึ้นข้อความต่างๆในการร้อยเรียงเรื่องราวและอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครแต่ละคน

          มุมมองในการเล่าเรื่อง (Point of view)  ในมุมมองการเล่าเรื่องผ่านจุดเล็กๆของพนักงานร้านอาหารที่เปรียบเสมือนคนชายขอบของสังคมที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของคนเหล่านี้ออกมาทำให้เห็นจุดยืนของพนักงานที่เป็นกลุ่มคนเล็กๆของสังคม โดยภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ใช้วิธีเล่าแบบมุมมองจากคนใน คนในที่นี้หมายถึงพนักงานร้านบาร์บีคิวพลาซ่าที่ขยายขอบเขตไปยังคนนอกที่เป็นลูกค้าของร้านอาหารบาร์บีคิวพลาซ่าดังคำพูดตอนจบของภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ “ในวันแม่นี้ เราพร้อมแล้ว กับมื้อนี้ที่ดีที่สุด”

2.จระเข้ (Crocodile: Cera C-Cure)(2558)ได้รับรางวัล  Bronze Adfest Awards 2016 || Film Lotus – Household Product

                

รูปที่ 2 ภาพโฆษณา จระเข้ (Crocodile: Cera C-Cure)

ที่มา : ยูทูบ Phenomena Bangkok

          โครงเรื่อง(Plot) เป็นเรื่องราวของสามีภรรยาในยุคหินที่มีปัญหาเรื่องบ้าน ทั้งน้ำซึม น้ำรั่ว สีบ้านไม่สวย การเปลี่ยนกระเบื้อง ป้องกันราดำ และพื้นลื่น โดยทั้งหมดนี้ภรรยาเป็นคนสั่ง และผู้เป็นสามีดำเนินการแก้ไขให้ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ของจระเข้  สุดท้ายหักมุขด้วย เอาจระเข้ที่เป็นสัตว์มาใช้กันภรรยาขี้บ่น ปิดท้ายด้วยสโลแกนนวัตกรรมก่อสร้างความสุขจระเข้มาตรฐานอเมริกา

          แก่นเรื่อง (Theme)ความสุขของมนุษย์ไม่ว่าจะยุคไหนก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับความสงบสุขของบ้านที่สวยงามและคงทน

          ความขัดแย้ง (Conflict)ภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ สร้างความขัดแย้งด้วยการสร้างปัญหาต่างที่เกิดขึ้นภายในบ้าน เช่น บ้านรั่ว น้ำซึม  พื้นลื่น สามารถคลี่คลายได้ด้วยผลิตภัณฑ์จากจระเข้

          ตัวละคร (Character)ตัวละครมี 2 ตัว คือ ภรรยาและสามี โดยภรรยานั้นจะคอยควบคุมดูแลความเรียบร้อยทุกอย่างในบ้าน มีลักษณะเอาแต่ใจตัวเองและขี้บ่น ส่วนสามีมีลักษณะตามใจภรรยาคอยดูแลความเรียบร้อยในบ้านให้กับภรรยาโดยมีผู้ช่วย คือ ผลิตภัณฑ์ของจระเข้

          ฉาก (Setting)บ้านที่เป็นถ้ำของมนุษย์ยุคหิน, บรรยากาศในถ้ำ, นอกถ้ำ, หลังคา และห้องน้ำ

          สัญลักษณ์พิเศษ (Symbol)ภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ใช้ระยะภาพและมุมภาพที่หลากหลาย ทั้งภาพระยะกว้าง (Long shot), ระยะกลาง (Medium shot), ระยะใกล้ (Close up) ส่วนมุมกล้องนั้นภาพมุมปกติ (Normal angle shot),ภาพมุมต่ำ( Low angle shot)และมุมวัตถุ (Objective ) ส่วนเสียงดนตรีนั้นก็ใช้ดนตรีที่ให้จังหวะคึกคักสนุกสนานสร้างอารมณ์ขันให้กับภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ นอกจากนั้นยังมีเสียงพากย์ที่เป็นเอกลักษณ์ของภาพยนตร์โฆษณาอีกด้วย

          มุมมองในการเล่าเรื่อง (Point of view)เป็นการเล่าเรื่องที่เอาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลบำรุงรักษาบ้าน มาเชื่อมโยงเรื่องราวของครอบครัว ที่ย้อนไปในยุคหิน เพราะจะสะท้อนให้เห็นปัญหาเรื่องบ้านที่มีมานาน ทำให้เห็นความแข็งแรงของตราสินค้า และการรักษาบรรยากาศในครอบครัวให้มีความสุข ซึ่งคนในครอบครัวต้องให้ความสำคัญกับบ้านที่เป็นที่อยู่อาศัย

3.โฆษณาไทยประกันชีวิต (Thai Life Insurance: Unsung Hero)(2557) ได้รับรางวัล  Short List Cannes Lions 2014 (Film Lions) และGold Adman Awards 2014 (Film Corporate) 

รูปที่ 3 ภาพโฆษณา ไทยประกันชีวิต (Thai Life Insurance: Unsung Hero)

ที่มา : ยูทูบ Phenomena Bangkok

          โครงเรื่อง(Plot)ดำเนินเรื่องผ่านตัวละครผู้ชายที่เป็นคนธรรมดาทำงานในบริษัทแห่งหนึ่ง ที่ไม่ได้มีรายได้มากมาย แต่ชีวิตเขากลับดำเนินชีวิตด้วย “การให้” โดยไม่หวังผลตอบแทน ให้ธรรมชาติกลับมาสวยงามจากการกระทำสิ่งเล็กๆน้อยๆ ให้น้ำใจด้วยการเข็นรถเข็นช่วยป้าขายของ ให้อาหารแก่สุนัขผู้หิวโหย ให้เงินแก่ขอทานแม่ลูกเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสไปโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือ ให้อาหารแก่คนแก่ผู้อ่อนแอด้วยการซื้อกล้วยไปแขวนไว้ที่หน้าห้อง ให้ที่นั่งด้วยการเสียสละให้กระเป๋ารถเมล์ผู้เหนื่อยล้า และสิ่งที่เขาได้กลับมาจากการให้ก็งดงามเกินคำบรรยาย ที่เงินไม่สามารถหาซื้อได้

           แก่นเรื่อง (Theme)“การให้” โดยไม่หวังผลตอบแทน แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ ความสุข ความเข้าใจ ได้ความรัก ได้สิ่งที่เงินซื้อไม่ได้

          ความขัดแย้ง (Conflict)ความขัดแย้งของอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในการเอาชนะใจตัวเอง ด้วยการให้ผู้อื่น และการเอาชนะสายตาของคนรอบข้างที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของตัวเขา ที่ให้สรรพสิ่งทั้งที่ตัวเองก็ไม่มีเช่นกัน

          ตัวละคร (Character)

ตัวละครผู้ชาย : อายุประมาณ 40 ปี ที่เป็นตัวเอกในการดำเนินเรื่อง จิตใจดี เสียสละ และให้ผู้อื่นจนลืมความสุขส่วนตัว

ต้นมะลิ : เหี่ยวเฉาขาดน้ำก็กลายมาสดชื่นอีกครั้งหลังจากที่ตัวละครชายหนุ่มขยับกระถางมาใกล้น้ำที่ไหลลงมาจากหลังคา

ป้าแม่ค้าขายอาหารรถเข็น : อายุประมาณ 50 ปี ผู้ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ชายที่เป็นตัวเอกของเรื่อง โดยป้าแม่ค้าขายอาหารรถเข็นก็ได้รับความสุขจากการได้รับความช่วยเหลือจากตัวละครเอกผู้ชายและเกิดการให้ต่อผู้อื่นอีกทอดหนึ่ง

สุนัข : ที่หิวโหยหลังจากได้รับอาหารจากตัวละครผู้ชายที่เป็นตัวเอกของเรื่อง ก็กลายเป็นเพื่อนและกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่แสนซื่อสัตย์

ขอทาน 2 แม่ลูก  : หลังจากที่ได้เงินจากตัวละครผู้ชายแล้วลูกของขอทานก็มีเงินไปโรงเรียนและกลับมาสอนแม่ขอทานนับเลข

กระเป๋ารถเมล์ : ผู้หญิงวัยรุ่น ที่มีสีหน้าเหน็ดเหนื่อย ชายหนุ่มเสียสละที่นั่งให้เขาได้นั่งพัก

คุณยาย : วัย 80 ปี ที่ได้รับกล้วยจากชายหนุ่มทุกวัน ก็มีความสุข ตอบแทนชายหนุ่มด้วยอ้อมกอด

เจ้าของร้านแว่นและเจ้าของร้านอาหาร :ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของชายหนุ่มที่ให้เงินขอทานและให้อาหารสุนัข

          ฉาก (Setting) หน้าร้านก๋วยเตี๋ยว, ริมฟุตบาท, ร้านข้าว , สะพานลอย, รถเมล์, หน้าห้องคุณยาย ,บ้าน

          สัญลักษณ์พิเศษ (Symbol)โทนสีภาพใช้สีหม่นๆตุ่นๆให้อารมณ์สงบๆ,ภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ใช้ระยะภาพและมุมภาพที่หลากหลาย ทั้งภาพระยะกว้าง (Long shot), ระยะกลาง (Medium shot), ระยะใกล้ (Close up) ส่วนมุมกล้องนั้นภาพมุมปกติ (Normal angle shot),ภาพมุมต่ำ( Low angle shot)และมุมวัตถุ (Objective ) ให้ความรู้สึกอารมณ์ต่างๆผ่านตัวละครในการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณา ส่วนเสียงดนตรี เป็นดนตรีบรรเลง โดยใช้เสียงเปียโนและไวโอลิน และเสียงการบรรยายโฆษณาที่เป็นเอกลักษณ์ให้ความรู้สึกหนักแน่นของตัวละคร

          มุมมองในการเล่าเรื่อง (Point of view) มุมมองในการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ คือ การเชื่อในความดีผ่านตัวละครผู้ชายที่เป็นคนธรรมดา ไม่ได้มีเงินทอง แต่สิ่งที่เขามี คือ มีน้ำใจที่เสียสละให้กับสรรพสิ่งในโลกใบนี้ โดยใช้เรื่องราวเหล่านี้ไปเชื่อมโยงกับตราสินค้าไทยประกันชีวิต อย่างคำพูดปิดท้ายภาพยนตร์โฆษณาที่ว่า “ไทยประกันชีวิตเชื่อในความดี” เป็นวิธีการสร้างคุณค่าให้กับตราสินค้า(Brand Value)นั่นเอง

4.ทรูมูฟเอช: การให้ คือ การสื่อสารที่ดีที่สุด (True Move H: Giving)(2557) ได้รับรางวัล Bronze Cannes Lions 2014 (PR Lions) และ Silver Adman Awards 2014 (Film Corporate)

รูปที่ 4 ภาพโฆษณา ทรูมูฟเอช: การให้ คือ การสื่อสารที่ดีที่สุด (True Move H: Giving)

ที่มา : ยูทูบ Phenomena Bangkok

          โครงเรื่อง(Plot)เรื่องราวของเด็กผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งยากจนไม่มีเงินแม้กระทั่งจะซื้อยาให้แม่ เลยต้องไปขโมยยาในร้านขายยา แต่ถูกจับได้พร้อมกับโดนเจ้าของร้านด่าและทุบตี หนุ่มเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเห็นเข้าจึงมาช่วยด้วยการจ่ายค่ายาและให้เกาเหลากับเด็กผู้ชาย หลังจากนั้นผ่านไป 30 ปี ชายเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวก็ยังคงช่วยเหลือคนอื่นๆอยู่เสมอ จนกระทั่งเขาล้มป่วยและต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ค่าใช้จ่ายกลับมีราคาสูงมาก ลูกสาวเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อจะได้เงินมารักษาพ่อ แต่แล้วเขาก็ต้องประหลาดใจเมื่อได้รับเอกสารที่มีคนจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้พ่อของเขา โดยคนที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นเด็กผู้ชายที่พ่อของเขาได้ช่วยเหลือเอาไว้ตอนเด็ก ซึ่งในตอนนี้ได้กลายมาเป็นคุณหมอที่รักษาเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวนั่นเอง

          แก่นเรื่อง (Theme)การให้ คือ การสื่อสารที่ดีที่สุด

          ความขัดแย้ง (Conflict)ภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้นั้น มี 2 ประเด็นความขัดแย้ง

ประเด็นที่ 1  เด็กผู้ชาย ที่ถูกความยากจนบีบคั้นจนถึงขั้นจำเป็นต้องไปขโมยยามาเพื่อรักษาแม่

ประเด็นที่ 2 การล้มป่วยของเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวแต่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล

          ตัวละคร (Character)

เด็กผู้ชาย : อายุประมาณ 9 ขวบ ถูกความยากจนบีบคั้นเลยต้องกลายเป็นขโมย ,คุณหมอหนุ่ม :อายุประมาณ 30 ปี เป็นคนเดียวกันกับเด็กผู้ชาย ด้วยความมานะบากบั่นทำให้เขาได้เป็นหมอแล้วกลับมาช่วยเหลือเจ้าของร้านขายก๋วยเตี๋ยว, เจ้าของร้านขายก๋วยเตี๋ยว :มีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยการให้อยู่เสมอๆ ,ลูกสาวเจ้าของหลานขายก๋วยเตี๋ยว :ขี้เหวี่ยง แต่ก็เชื่อฟังพ่อ ,คนจรจัด : ที่คอยมาขออาหารที่ร้านก๋วยเตี๋ยวและเจ้าของร้านขายยา : ขี้โมโห ไม่มีเหตุผล และไม่มีน้ำใจ

          ฉาก (Setting)ร้านขายก๋วยเตี๋ยว(หน้าร้าน,ในร้าน) ,หน้าร้านขายยา, โรงพยาบาล,ห้องพักผู้ป่วยในโรงพยาบาล,ห้องทำงานคุณหมอ

          สัญลักษณ์พิเศษ (Symbol)โทนภาพอมสีเหลืองและภาพโทนสีหม่นๆ  ภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ใช้ระยะภาพและมุมภาพที่หลากหลาย ทั้งภาพระยะกว้าง (Long shot), ระยะกลาง (Medium shot), ระยะใกล้ (Close up) ส่วนมุมกล้องนั้นภาพมุมปกติ (Normal angle shot),ภาพมุมต่ำ( Low angle shot)และมุมวัตถุ (Objective ) ให้ความรู้สึกอารมณ์ต่างๆผ่านตัวละครในการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณา โดยภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ใช้เสียงตัวละครในการเล่าเรื่อง ส่วนเสียงดนตรีใช้ดนตรีบรรเลง จากเปียโนและไวโอลิน

          มุมมองในการเล่าเรื่อง (Point of view)ใช้วิธีการเล่าเรื่องในภาพยนตร์โฆษณาทรูมูฟเอช: การให้ คือ การสื่อสารที่ดีที่สุด ถ่ายทอดเรื่องราวปัญหาในสังคม โดยดัดแปลงเรื่องราวมาจากสังคมออนไลน์  โดยภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ใช้การเล่าเรื่องเพื่อให้ตราสินค้ามีคุณค่า (Brand Value) เพราะทรูมูฟเอช เป็นเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ ผู้ผลิตจึงใช้การให้ไปเชื่อมโยงกับการสื่อสารที่ถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของตัวละครที่สื่อสารกัน และการให้ก็จะถูกเชื่อมโยงกันไปมาไม่มีที่สิ้นสุดดังเช่นภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้

 

สรุป การวิเคราะห์โครงสร้างการเล่าเรื่องในธนญชัย ศรศรีวิชัย ของ โดยการใช้กรอบแนวคิดโครงสร้างการเล่าเรื่อง ซึ่งประกอบด้วย7 องค์ประกอบที่สำคัญครบทุกองค์ประกอบ

 

แนวคิดปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology)

การใช้แนวคิดปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) วิเคราะห์ภาพยนตร์ของธนญชัย ศรศรีวิชัย

นักปรากฏการณ์นิยมเน้นการศึกษากระบวนการเกิดพฤติกรรมต่างๆภายในสังคม และภายหลังในสังคมหรือจากความรู้สึกนึกคิดของสมาชิกสังคมที่เขาศึกษานั้นส่วนใหญ่มักจะอาศัยเทคนิคการให้สมาชิกได้หยุดดำเนินชีวิตตามปกติชั่วคราว แล้วให้คิดว่าความจริงนี้ควรเป็นอย่างไร “ปรากฏการณ์วิทยา คือการศึกษาเกี่ยวกับแก่นแท้” ดังนั้นในภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรีศรีวิชัย ทั้ง 4 เรื่อง ผู้วิจัยจะใช้แนวคิดปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology)มาวิเคราะห์ดังต่อไปนี้

 

สรุป การใช้แนวคิดปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology)

ปรากฏการณ์ที่พบในภาพยนตร์ของธนญชัย ศรศรีวิชัย มักใช้อารมณ์ต่างๆของมนุษย์มาเป็นตัวนำในการขับเคลื่อนภาพยนตร์โฆษณาทั้งตลกขบขัน หรือส่วนใหญ่มักจะใช้อารมณ์เศร้า ซาบซึ้ง และอิ่มเอมใจ โดยภาพยนตร์โฆษณาส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงกับบ้าน สถาบันครอบครัว หรือถ่ายทอดออกมาโดยการเชื่อมั่นในความดี ที่จะเป็นพลังในการคอยขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้น ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการ คือ “การให้” ที่จะเป็นตัวคอยสกัดอัตตาในตัวมนุษย์ออกไป

มรรค 8 มุมมองและแนวคิดในการสร้างภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรศรีวิชัย

มรรค 8 ได้แก่ 1. สัมมาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจถูกต้อง 2. สัมมาสังกัปปะ คือ ความใฝ่ใจถูกต้อง 3. สัมมาวาจา คือ การพูดจาถูกต้อง 4. สัมมากัมมันตะ คือ การกระทำถูกต้อง 5. สัมมาอาชีวะ คือ การดำรงชีพถูกต้อง 6. สัมมาวายามะ คือ ความพากเพียรถูกต้อง 7. สัมมาสติ คือ การระลึกประจำใจถูกต้อง 8. สัมมาสมาธิ คือ การตั้งใจมั่นถูกต้อง

ดังนั้น ภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย จึงมักปรากฏการเล่าเรื่องโฆษณาที่มีจุดเชื่อมไปสู่ความดีงามเพื่อเป็นพลังให้สังคมขับเคลื่อนไปสู่สิ่งที่ดีๆ เบื้องหลังปรัชญาในการทำงานของธนญชัย ศรศรีวิชัยในงานภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้นั้น “กับการคิดสโลแกนนั้น ต้องคิดใส่สิ่งที่มันคลาสสิก แล้วสโลแกนอะไรเป็นสิ่งที่มันอยู่ได้นานที่สุด มันเป็นเรื่องของพุทธ  คือ ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด นำมาปรับใช้กับการทำงาน การโฆษณา ต้องเป็นความคิดที่ถูกต้องตลอดไป วิธีที่จะเล่าเนื้อหาที่ลึกซึ้งให้คนเข้าใจได้ง่าย เหตุการณ์ต้องง่าย ถ้าไม่ง่ายมันจะเล่าลึกไม่ได้ อยากให้คนได้รับคอนเท้นต์นี้มองเห็นความคิดที่อยู่ในภาพยนตร์ หวังว่าอยากให้มองเห็นสิ่งเหล่านี้ หวังว่าความคิดที่ท่านเห็นมันจะเป็นประโยชน์ต่อท่าน ส่วน Bar B Q Plaza ก็ได้เลือกสิ่งที่ดีมาอยู่ในภาพยนตร์โฆษณาของเขาแล้ว เป็นกุศลของคนคิดที่จะทำมันขึ้นมา”

นอกจากนั้นเอกลักษณ์ของตัวละครที่สวมบทบาทในภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ก็มักเป็นคนหน้าตาธรรมดา และมักได้รับคำวิจารณ์ว่า หน้าตาไม่ดี ไม่เข้ากับตัวสินค้า ทำให้ภาพลักษณ์ของสินค้าเสีย ทำให้บ่อยครั้งที่ธนญชัยต้องมีปัญหากับเจ้าของผลิตภัณฑ์ ผู้ซึ่งยึดติดกับค่านิยมในการทำโฆษณาแบบเดิมๆ และความเชื่อที่ว่า คนเราอยากดูแต่สิ่งที่ดีกว่า สิ่งที่ตัวเองอยากจะเป็น แต่ธนญชัยกลับไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีดังกล่าว

ธนญชัยยังกล่าวว่า ตัวเขาโชคดีที่ได้ทำงานกับเจ้าของสินค้าที่เปิดใจกว้าง รวมถึงทีมงานและเอเจนซี่โฆษณาที่มีส่วนทำให้โฆษณาของเขาประสบความสำเร็จ นอกจากนั้นเขายังให้ความสำคัญกับปรัชญาและพระพุทธศาสนา อย่างที่เขาได้กล่าวไว้ว่า “อภิปรัชญา” ทำอย่างเข้าใจ  มีเหตุจึงมีผล มันต้องคิดจากการความเข้าใจมนุษย์ ทำงานทุกอย่างให้ดีขึ้น  ดีที่สุด มีคุณค่า

“เทคนิคทำงานให้ดี คือ การคิดถึงคนอื่น ผู้กำกับมักมีอัตตา มักข่มคนอื่น คิดใหม่ คือ เพื่อคนอื่นมันจะงดงาม คิดยังไงก็ได้ให้คนดูสนุก เล่นกับอารมณ์คนดู เราสนใจว่าคนดูเขาจะรู้สึกยังยังไง ไม่มีตัวกูเข้ามาเกี่ยวสนใจว่าจะควบคุมคนดูแบบไหน ต้องมีจิตวิทยากับคนดู ทำยังไงให้มันเหนือกว่าที่คนดูคิด เมื่อไหร่ก็ตามที่หนังไปช้ากว่าคนดูมันจะไม่น่าสนใจ ทุกอย่างต้องเข้าบริบทและหนังนอกจากสร้างความสนุกแล้วต้องสร้างคุณค่าและเกิดความคิด งานออกแบบไม่ใช่แค่สวยแต่มันต้องเกิดประโยชน์ต่อคน”

จะเห็นได้ว่าธนญชัย มีหลักในการทำงานโดยใช้หลักคิดทางพระพุทธศาสนามาเป็นแก่น ในการดำเนินชีวิตการทำงานโดยมุ่งหวังสร้างสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นในสังคม “บางคนมีต้นทุนแห่งความดี อาวุธที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนได้ คือ ความดี”

สรุป มุมมองและแนวคิดในการสร้างภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรศรีวิชัยมีหลักการความคิดแบบอภิปรัชญา เขาจึงดำเนินชีวิตการทำงานโดยการใช้หลักมรรคมีองค์ 8 โดยมุ่งสร้างเนื้อหาผ่านภาพยนตร์โฆษณาที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้น ไม่รับงานโฆษณาประเภทเหล้าเบียร์ที่จะมอมเมาคนในสังคม พยายามฝึกลดอัตตาตนเองโดยไม่ไปรับรางวัลผู้กับกับระดับโลก และหมั่นฝึกฝนตนเองด้วยการทำงานตรงไปตรงมา ถ้าขายสินค้าก็ต้องง่ายที่สุดน้อยที่สุด ตรงประเด็นที่สุด เกิดประโยชน์มากที่สุด เกิดประโยชน์กับลูกค้าได้โดยตรง เกิดความน่าเชื่อถือ เกิดประโยชน์กับส่วนรวมเกิดประโยชน์กับคนดูและสังคม

 

อภิปรายผล
ภาพยนตร์โฆษณาในยุคดิจิทัล

ภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรศรีวิชัย ส่วนใหญ่มักจะเป็นการ การสื่อสาร (Communication)ที่เน้นไปในการสร้างการสื่อสารทางอารมณ์ (emotional communication)โดยธนญชัย เป็นผู้ริเริ่มใช้กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาแบบนี้ทำมาในยุคแรกๆจนกลายเป็นกระแสในการผลิตภาพยนตร์โฆษณาในปัจจุบัน

การสื่อสาร (communication )ที่เน้นไปในการสร้างการสื่อสารทางอารมณ์ (emotional communication)ของผู้กำกับธนญชัย ศรศรีวิชัย ที่ได้รับรางวัลทั้ง 4 เรื่องนี้ ส่วนใหญ่จะเน้นไปทางการใช้กลวิธีสร้างอารมณ์ที่ค่อยๆไต่ระดับจากอารมณ์เศร้า ค่อยๆซาบซึ้ง และมักมีจุดจบด้วยอารมณ์สุขแบบอิ่มเอมใจเสมอ

 

แนวคิดโครงสร้างการเล่าเรื่องภาพยนตร์โฆษณา

การวิเคราะห์โครงสร้างการเล่าเรื่องในธนญชัย ศรศรีวิชัย โดยการใช้กรอบแนวคิดโครงสร้างการเล่าเรื่อง ซึ่งประกอบด้วย7 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ

          โครงเรื่อง(Plot) โครงเรื่องการเล่าเรื่องในภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรศรีวิชัย นั้นส่วนใหญ่มักสร้างโครงเรื่องจากเรื่องใกล้ตัวของมนุษย์ เช่น เรื่องครอบครัว , เรื่องปฏิสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างในสังคม ที่เป็นจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์โฆษณาหลายๆเรื่องของธนญชัย พยายามหาจุดเชื่อมโยงของตราสินค้าแล้วค่อยถ่ายทอดออกแบบเนื้อหาและสร้างเป็นเรื่องราวผ่านภาพยนตร์โฆษณา

แก่นเรื่อง (Theme) มักนำหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเป็นแก่นเรื่องในภาพยนตร์โฆษณา  เช่น การให้ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน ซึ่งตรงกับวิธีคิดในการทำงานของเขาที่ต้องการสร้างสังคมให้ดีขึ้นผ่านภาพยนตร์โฆษณา

          ความขัดแย้ง (Conflict) ส่วนใหญ่ธนญชัย มักสร้างความขัดแย้งในจิตใจของมนุษย์, ขัดแย้งจากความจน และขัดแย้งจากโอกาสทางสังคม

ตัวละคร (Character) มักเป็นตัวละครที่เป็นคนธรรมดา หน้าตาธรรมดา ฐานะธรรมดา ไม่ได้เป็นดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียง  แต่น่าสนใจตรงตัวละครที่เป็นมนุษย์ธรรมดา แต่ตัวละครหลักเหล่านี้กลับเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมประจำใจ

           ฉาก (Setting) ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นฉากที่หรูหราแต่เลือกใช้ฉากที่สะท้อนให้เห็นความสามัญธรรมดาทั่วไปของมนุษย์ เช่น ท้องถนน, ร้านก๋วยเตี๋ยว, บ้านเก่า ,ห้องเช่า,รถเมล์ เป็นต้น

           สัญลักษณ์พิเศษ (Symbol) การเลือกใช้โทนภาพที่ออกสีเหลืองๆตุ่นๆ ,มุมกล้องและระยะภาพที่สะท้อนอารมณ์ของตัวละครผ่านภาพยนตร์โฆษณา, การใช้ดนตรีบรรเลง อย่างเปียโนและไวโอลิน, เสียงบรรยายที่เป็นเอกลักษณ์หนักแน่นและจริงใจ

            มุมมองในการเล่าเรื่อง (Point of view) ธนญชัย ศรศรีวิชัย มักมีมุมมองในการเล่าเรื่องมาจากเรื่องราวจุดเล็กๆของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในสังคม หรือผ่านเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ส่วนใหญ่มักมีแนวทางในการเล่าเรื่องที่ค่อยๆไต่ระดับอารมณ์จากเศร้า ซาบซึ้งและมักจบด้วยความอิ่มเอมใจเสมอ

 

แนวคิดปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) วิเคราะห์ภาพยนตร์ของธนญชัย ศรศรีวิชัย

           ปรากฏการณ์ที่พบในภาพยนตร์ของธนญชัย ศรศรีวิชัย มักใช้อารมณ์ต่างๆของมนุษย์มาเป็นตัวนำในการขับเคลื่อนภาพยนตร์โฆษณาทั้งตลกขบขัน หรือส่วนใหญ่มักจะใช้อารมณ์เศร้า ซาบซึ้ง และอิ่มเอมใจ โดยภาพยนตร์โฆษณาส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงกับบ้าน สถาบันครอบครัว หรือถ่ายทอดออกมาโดยการเชื่อมั่นในความดี ที่จะเป็นพลังในการคอยขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้น ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการ คือ “การให้” ที่จะเป็นตัวคอยสกัดอัตตาในตัวมนุษย์ออกไป

 

มรรค 8 มุมมองและแนวคิดในการสร้างภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรศรีวิชัย

           คำว่า มรรค แปลว่า ทาง ในที่นี้หมายถึงทางเดินของใจ เป็นการเดินจากความทุกข์ไปสู่ความเป็นอิสระ หลุดพ้นจากทุกข์ซึ่งมนุษย์หลงยึดถือและประกอบขึ้นใส่ตนด้วยอำนาจของอวิชชา มรรคมีองค์แปด คือต้องพร้อมเป็นอันเดียวกันทั้งแปดอย่างดุจเชือกฟั่นแปดเกลียว  ธนญชัยได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆเอาไว้ว่าเขานั้นมีหลักการความคิดแบบอภิปรัชญา เขาจึงดำเนินชีวิตการทำงานโดยการใช้หลักมรรคมีองค์ 8 ได้แก่ 1. สัมมาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจถูกต้อง 2. สัมมาสังกัปปะ คือ ความใฝ่ใจถูกต้อง 3. สัมมาวาจา คือ การพูดจาถูกต้อง 4. สัมมากัมมันตะ คือ การกระทำถูกต้อง 5. สัมมาอาชีวะ คือ การดำรงชีพถูกต้อง 6. สัมมาวายามะ คือ ความพากเพียรถูกต้อง 7. สัมมาสติ คือ การระลึกประจำใจถูกต้อง 8. สัมมาสมาธิ คือ การตั้งใจมั่นถูกต้อง โดยมุ่งสร้างเนื้อหาผ่านภาพยนตร์โฆษณาที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้น ไม่รับงานโฆษณาประเภทเหล้าเบียร์ที่จะมอมเมาคนในสังคม พยายามฝึกลดอัตตาตนเองไม่ไปรับรางวัลผู้กับกับระดับโลก และหมั่นฝึกฝนตนเองด้วยการทำงานแบบตรงไปตรงมา ถ้าขายสินค้าก็ต้องง่ายที่สุดน้อยที่สุด ตรงประเด็นที่สุด เกิดประโยชน์มากที่สุด เกิดประโยชน์กับลูกค้าได้โดยตรง เกิดความน่าเชื่อถือ เกิดประโยชน์กับส่วนรวมเกิดประโยชน์กับคนดูและสังคม

 

ข้อเสนอแนะ
           การศึกษาเรื่อง   การวิเคราะห์กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย  ศรศรีวิชัย  ยังสามารถค้นคว้าได้จากแง่มุมประเด็นรูปแบบความคิดทางศิลปะทางด้านภาพยนตร์  หรือในเรื่องของจิตวิญญาณ แนวคิดทางปรัชญาหรือศาสนาด้านอื่น ๆ     ที่มีความน่าสนใจหรือศึกษาหลักในการดำเนินชีวิตที่จะสามารถนำมาเป็นต้นแบบในการใช้ชีวิตหรือการทำงาน

ภาพยนตร์โฆษณาของธนญชัย ศรศรีวิชัย ได้สะท้อนความเป็นตัวตนได้อย่างชัดเจน สมกับได้รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาของเมืองไทยอันดับหนึ่งของโลก  6 ปีซ้อน ดังนั้นการที่จะศึกษาผลงานของธนญชัย ศรศรีวิชัยอย่างเดียวคงไม่ได้ต้องศึกษาวิธีคิดในการทำงานของเขาแบบลึกซึ้งมากกว่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อวงการภาพยนตร์ของเมืองไทยต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

เขมิกา จินดาวงศ์. (255). การวิเคราะห์โครงสร้างการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล.

ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อบัณฑิตวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ธนญชัย ศรศรีวิชัย ผู้กำกับหนังโฆษณาที่ได้รางวัลมากที่สุดในโลกที่คนไทยไม่เคยรู้ (ตอนที่1) (2560).

สืบค้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560. จาก https://tingtongbear.wordpress.com

บทสัมภาษณ์ คุณต่อ ธนญชัย ศรศรีวิชัย Phenomena. (2560). สืบค้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2560

ประพนธ์ ตติยวรกุลวงศ์. (2553). การเล่าเรื่องและทัศนคติของผู้ชมเกี่ยวกับความรุนแรงในภาพยนตร์ไทย

 และภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด. นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ยูทูบบริษัท ฟีโนมีน่า จำกัด.(2560). สืบค้นเมื่อวันที่15 เมษายน 2560.จาก

https://www.youtube.com/user/PHENOMENA10310

วันณุ พูลสมบัติ. (2555). การวิเคราะห์ภาพยนตร์อเมริกันประเภทโรแมนติก คอมเมดี้ ระหว่างปี ค.ศ. 1990 ถึง 2010. นิเทศศาตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการภาพยนตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เว็บไซต์บริษัท ฟีโนมีน่า จำกัด .(2560). สืบค้นเมื่อวันที่15 เมษายน 2560. จาก

Thanonchai

สุกัญญา กัณหา.2551. การรับรู้เนื้อหาสารในภาพยนตร์รณรงค์ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ทางโทรทัศน์ของ

          สำนักงานนโยบาย และแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน. นิเทศศาตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา

การประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

CIDI Designer Talk Series# 11: ธนญชัย ศรศรีวิชัย (ต่อ ฟิโนมีน่า). (2560). สืบค้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน

2560. จาก https://www.youtube.com/watch?v=LExddTZ1RaY&t=3s