ชื่อผลงานทางวิชาการ : การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน : กรณีศึกษา ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี

ประเภทผลงานทางวิชาการ : บทความวิจัย

ปีที่พิมพ์ : 2560

ข้อมูลเพิ่มเติม : เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารสนเทศ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปีที่ 16    ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม) 2560

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : อาจารย์ ดร.จริยาภรณ์ เจริญชีพ   สาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

    บทความวิจัย เรื่อง การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน: กรณีศึกษา ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี THE PARTICIPATION IN THE MANAGEMENT OF SUSTAINABLE TOURISM: A CASE STUDY OF THAM RONG SUB-DISTRICT BAN LAT DISTRICT PHETCHABURI PROVINCE ผู้ศึกษา คือ อาจารย์ ดร.จริยาภรณ์ เจริญชีพ สาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)ศึกษาความรู้ ความเข้าใจ และการรับรู้ข่าวสารต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 2) เพื่อศึกษาระดับของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 3) เพื่อเปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านความรู้ ความเข้าใจ และการรับรู้ข่าวสารกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 4) เพื่อเสนอแนวทางที่เหมาะสมในการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน  กลุ่มตัวอย่าง คือ คนในชุมชนตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี  จำนวน 359 คนและตัวแทนผู้ที่เกี่ยวข้องในการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยว  โดยใช้วิธีการจัดการสนทนากลุ่ม (Focus group) เพื่อหาแนวทางจากระดับหัวหน้าส่วนต่างๆ  12 คน

สาระสำคัญของบทความวิจัยนี้

  1. การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นอย่างดี
  2. ด้านการรับรู้ข่าวสารต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่วนใหญ่ อยู่ในระดับบ่อยครั้ง และการมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์อยู่ในระดับปานกลาง โดยผู้ตอบแบบสอบถามที่มีเพศ สถานภาพแตกต่างกัน จะมีส่วนร่วมของชุมชนในการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ไม่แตกต่างกัน
  3. คนในชุมชนมีการริเริ่มจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว  มีการรณรงค์ให้ประชาชนในท้องถิ่น มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโดยให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น  จะทำให้เกิดปัญหาบางประการ เช่น บางพื้นที่ไม่สามารถมีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวที่จะนำเข้ามาร่วมวางแผนในการจัดการท่องเที่ยวของชุมชนได้ จึงมีการแบ่งปันผลประโยชน์ไม่ลงตัว

การนำไปใช้ประโยชน์

  1. คนในชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของในทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมของตน
  2. หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในท้องถิ่นทำงานร่วมกันเพื่อจัดการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับชุมชน อันนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป
  3. ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสามารถนำข้อมูลในการส่งเสริมและออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวเส้นทางท่องเที่ยว เชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ได้
  4. นักท่องเที่ยวทั่วไปได้แหล่งท่องเที่ยวแหล่งใหม่ที่น่าสนใจ และน่าเรียนรู้ ซึ่งนำมาซึ่งประสบการณ์นันทนาการและการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพต่อไป

 

การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน: กรณีศึกษา ตำบลถ้ำรงค์อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี

THE PARTICIPATION IN THE MANAGEMENT OF SUSTAINABLE TOURISM: A CASE STUDY OF THAM RONG SUB-DISTRICT BAN LAT DISTRICT PHETCHABURI PROVINCE

 

จริยาภรณ์ เจริญชีพ

สาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

JARIYAPORN CHAROENSHEEP

Social Sciences for Development   Faculty of Humanities and Social Sciences

Bansomdejchaopraya Rajabhat University

บทคัดย่อ

      การวิจัยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาความรู้ ความเข้าใจ และการรับรู้ข่าวสารต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 2) เพื่อศึกษาระดับของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 3) เพื่อเปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านความรู้ ความเข้าใจ และการรับรู้ข่าวสารกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 4) เพื่อเสนอแนวทางที่เหมาะสมในการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

      โดยเป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (mixed method) ใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) กลุ่มตัวอย่างจำนวน 359 คน ใช้แบบสอบถามเก็บรวบรวมข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบสมมติฐาน โดยค่า t-test การวิเคราะห์ ความแปรปรวนทางเดียว (One Way Analysis of Variance) และการสัมภาษณ์โดยการสนทนากลุ่ม (Focus group) เพื่อหาแนวทางจากระดับหัวหน้าส่วนต่างๆ จำนวน 12 คน โดยใช้การตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า (Triangulation)

     ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนมาก มีความรู้ ความเข้าใจ ในการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารบ่อยครั้งในเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่วนระดับของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง (X = 3.08)  กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ แตกต่างกันมีความรู้ ความเข้าใจ การรับรู้ข่าวสาร และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และ 0.01 มีการเสนอให้จัดตั้งกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนด้านการท่องเที่ยวและศึกษาดูงาน ร่วมกับเครือข่ายสถาบันการศึกษาในพื้นที่

ABSTRACT

     The purposes of this research were 1) to study knowledge understanding and information  exposure of public participation in sustainable tourism management 2) to study level of public participation in sustainable tourism management 3) to compare individual, knowledge, understanding and information exposure factor with public participation in sustainable tourism management 4) to submit an appropriated proposal in public participation in sustainable tourism management.

    This research was quantitative mixed method research and qualitative research. There were  359 samples. Data was collected using questionnaire. Data was statistically analyzed in percentage, arithmetic mean, standard deviation, t-distribution, one way analysis of variance and focus group discussion with 12 sector head by using triangulation data check.

    The finding revealed that almost samples have knowledge understanding in public participation in sustainable tourism management. They always get information exposure in public participation in sustainable tourism management. Public participation in sustainable tourism management in generally was in middle level (X=3.08). Samples at difference in aged educational level career and income had difference knowledge understanding information exposure and public participation in sustainable tourism management as significant statistic at 0.05 0.01 level. Suggestions were to establish community enterprise in tourism and filed trip with network of educational institution in the area.

คำสำคัญ : การมีส่วนร่วม การจัดการท่องเที่ยว อย่างยั่งยืน

Keywords : THE PARTICIPATION THE MANAGEMENT SUSTAINABLE

 

บทนำ

     ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งของโลกที่จัดว่ามีทรัพยากรการท่องเที่ยวหลากหลายประเภท กระจายอยู่ในภูมิภาค ทั้งที่เป็นแหล่งธรรมชาติ กึ่งธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งเก่าและใหม่ จนกล่าวได้ว่าเป็นมรดกทางการท่องเที่ยว (Tourism Heritage) อันมีคุณค่าที่เป็นเอกลักษณ์อยู่เป็นจำนวนมาก ในความหลากหลายมีทรัพยากรการท่องเที่ยวส่วนหนึ่ง ซึ่งมีศักยภาพสูง และเหมาะสมที่สามารถจะนำมาพัฒนาและจัดการเพื่อการท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ (Alternative Tourism) ที่มีการอนุรักษ์การท่องเที่ยวสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของชุมชนในท้องถิ่นนั้น

     การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้มีการนำเสนอโครงการปฏิญญารักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือแนวคิด 7 Greens Concept ซึ่งหมายถึงแนวคิดที่สื่อถึงการท่องเที่ยวที่ใส่ใจ หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นนโยบายหลักของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่นำมาใช้เป็นหลักในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งประกอบด้วย Green Heart, Green Logistics, Green Attraction, Green Community, Green Activity, Green Service และGreen Plus โดยเน้นให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมสามารถนำไปปฏิบัติได้ สอดคล้องกับหลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืน และการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขององค์การการท่องเที่ยวโลก (WTO) และสอดรับนโยบายที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้น Green Tourtism ให้ผู้คนตระหนักและส่งเสริมกิจกรรมด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม (หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, 2553)

     การท่องเที่ยวกลายเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลให้ความสำคัญเนื่องจากมีความสำคัญต่อการสร้างรายได้ เพื่อพัฒนาประเทศอย่างมาก และยังเป็นรายได้อันดับต้นๆ ของประเทศ และมีการกระจายไปในหลายภาคอย่างค่อนข้างชัดเจน เช่น การเดินทาง ที่พัก การซื้อของที่ระลึก ภัตตาคาร ร้านค้าต่างๆ จึงมีการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมขยายมากขึ้น เช่น การเพิ่มขึ้นของสถานที่พักทั้งโรงแรมขนาด 5 ดาวไปถึงที่พักแบบพื้นบ้านที่เรียกว่า โฮมสเตย์ การเพิ่มขึ้นของร้านอาหารและบริการอื่นๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ มีการขยายตัวไปในแทบทุกภูมิภาคของไทยก่อให้เกิดการ ตื่นตัว เพราะมองว่าจะเป็นเรื่องง่ายที่จะมีรายได้เพิ่มจากการท่องเที่ยวที่มีผู้มาซื้อสินค้า แต่จากการที่ทรัพยากรการท่องเที่ยวมีจำกัดไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวทางด้านธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นซึ่งผู้ดูแลหรือเป็นเสมือนเจ้าของก็คือประชาชนที่อยู่ในชุมชนนั้นๆ  ว่าจะมีการบริหารจัดการการท่องเที่ยวได้อย่างไร เพราะทรัพยากรทุกอย่างต้องมีข้อจำกัดในการใช้ ทั้งนี้ ซึ่งจากนโยบายการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาโครงการพัฒนาหลายโครงการเป็นโครงการที่ดี แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากมองที่โครงการเป็นตัวตั้งไม่ได้มองที่ประชาชน ดังนั้นการให้บทบาท และความสำคัญของประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นเจ้าของอันเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาที่ยั่งยืน (พจนา สวนศรี, 2546, น.178-179)

  แม้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะก่อประโยชน์มากมาย แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนในท้องถิ่น ทั้งวิถีชีวิตและวัฒนธรรม รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งเกิดจากการแสวงหารายได้ของการท่องเที่ยวของผู้ประกอบการ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ตามมา เช่น ปัญหาขยะมูลฝอยที่เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยว ปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวเป็นต้น โดยมีสาเหตุมาจากขาดการวางแผน  ที่ดี มาตรฐาน คุณภาพ รูปแบบที่เหมาะสม ขาดความรู้ความเข้าใจ และที่สำคัญที่สุดคือ การมีส่วนร่วมของชุมชนทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นของตนเองมากยิ่งขึ้น โดยการส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงดูแลรักษา และจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีความสมบูรณ์ควบคู่ไปกับความเจริญเติบโตของแหล่งท่องเที่ยว   ในพื้นที่เพื่อที่จะคงสภาพความสมบูรณ์ต่อไป

     ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงให้ความสนใจที่จะศึกษา การมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนของชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ศึกษาภาพรวมของความรู้ความเข้าใจและการรับรู้ข่าวสาร เกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขององค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี โดยคาดว่าผลจากการศึกษาที่ได้ในครั้งนี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมากขึ้น และเพื่อให้ได้แนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวในตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย 

  1. เพื่อศึกษาความรู้ ความเข้าใจ และการรับรู้ข่าวสารต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
  2. เพื่อศึกษาระดับของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
  3. เพื่อเปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านความรู้ ความเข้าใจ และการรับรู้ข่าวสาร กับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
  4. เพื่อเสนอแนวทางที่เหมาะสมในการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

 

ขอบเขตของการวิจัย   

          1.1   ขอบเขตประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

     ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้วิเคราะห์จากกลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอ     บ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 3,428 คน มีจำนวน 6 หมู่บ้าน  ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านท่ามะเฟือง   หมู่ที่ 2 บ้านม่วงงาม หมู่ที่ 3 บ้านถ้ำรงค์ หมู่ที่ 4 บ้านไร่กระท้อน หมู่ที่ 5 บ้านดอนตะโก หมูที่ 6 บ้านหนองช้างตาย (องค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำรงค์, 2558)

        กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย  (งานวิจัยเชิงปริมาณ)

      กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างของคนในชุมชนตำบลถ้ำรงค์ได้จำนวน 359 คน โดยคำนวณ กลุ่มตัวอย่างจากสูตรของทาโร่ ยามาเน่ (Taro Yamane, 1960, p.1088-1089 อ้างถึงในพิสณุ  ฟองศรี,  2549, น.110)

   ผู้ให้ข้อมูลหลักสำหรับงานวิจัยเชิงคุณภาพ  ตัวแทนผู้ที่เกี่ยวข้องในการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยว  โดยใช้วิธีการจัดการสนทนากลุ่ม (Focus group) เพื่อหาแนวทางจากระดับหัวหน้าส่วนต่างๆ  12 คน

          1.2   ขอบเขตเนื้อหา

แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม การมีส่วนร่วมของชุมชน การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ความรู้ความเข้าใจ ข้อมูลทั่วไปขององค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำรงค์

          1.3   ขอบเขตพื้นที่

ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี

 

วิธีดำเนินการวิจัย

     1.1   เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

     เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถาม (Questionnaires) การสร้างเครื่องมือในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยสร้างขึ้นโดยการศึกษาเอกสาร ตำราวิชาการ และผลวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ

     ตอนที่ 1 แบบสอบถามข้อมูลปัจจัยส่วนบุคคล ประกอบด้วย เพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ต่อเดือน ลักษณะคำถาม เป็นแบบตรวจสอบรายการ (Checklist) จำนวน 6 ข้อ

     ตอนที่ 2 แบบสอบถามปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วม แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ

1.) ความรู้ ความเข้าใจ สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการมีส่วนร่วม ของชุมชนในด้านการท่องเที่ยว เป็นลักษณะคำถามประเภทปลายปิด โดยให้เลือกเป็นตอบแบบ ถูก ผิด จำนวน    10 ข้อ

2.) การรับรู้ข่าวสาร ซึ่งมีลักษณะเป็นลักษณะแบบสอบถามมาตราส่วนประเมินค่า (Rating Scale) ตามมาตรวัดแบบลิเคิร์ท (Likert Scale อ้างอิงในชิดชนก เชิงเชาว์, 2539, น.163-164) จำนวน 5 ข้อ

     ตอนที่ 3 แบบสอบถามข้อมูลการมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามลำดับ การมีส่วนร่วมในขั้นต่างๆ ซึ่งมีลักษณะเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประเมินค่า (Rating Scale) ตามมาตรวัดแบบ      ลิเคิร์ท (Likert Scale อ้างอิงในชิดชนก เชิงเชาว์, 2539, น.163-164) จำนวน 35 ข้อ

  1. การทดสอบเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย การทดสอบเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วยการทดสอบความเที่ยงตรงของ เนื้อหา (Content Validity Test) และการทดสอบความน่าเชื่อถือ (Reliability Test) ของแบบสอบถาม (Questionnaire) มีวิธีการดังนี้

1.) การทดสอบความเที่ยงตรงของเนื้อหา (Content Validity Test) การวิจัยนี้จะนำ แบบสอบถามที่สร้างเสร็จแล้วมอบให้กับผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ท่าน ตรวจสอบความถูกต้องของ เนื้อหาและทำการแก้ไขตามข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการวิจัย

2.) การทดสอบความน่าเชื่อถือ (Reliability Test) เมื่อผู้วิจัยได้แก้ไขแบบสอบถามตามที่ ผู้ทรงคุณวุฒิระบุเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำแบบสอบถามมาทำการทดสอบความน่าเชื่อถือโดยทำการแจกกับกลุ่มตัวอย่างที่มีความเป็นสภาพความเป็นกลุ่มตัวอย่างซึ่งได้แก่ ประชาชนที่มีภูมิลำเนาตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 30 คน แล้วนำผลมาวิเคราะห์หาค่าความน่าเชื่อถือ (Reliability) โดยการหาค่าความเชื่อมั่นด้วยวิธีการหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค (Cronbach’Alpha Coefficient) โดยกำหนดให้แบบทดสอบที่มีค่า 0.75 ขึ้นไป จึง เป็นความน่าเชื่อถือที่ยอมรับได้ ผลการทดสอบความน่าเชื่อถือได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่า เท่ากับ 0.97 แสดงว่าแบบทดสอบสามารถนำไปใช้ได้

 

1.2   การเก็บรวบรวมข้อมูล

ผู้วิจัยดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูล ดังนี้

1.2.1) แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) ได้จากการศึกษาค้นคว้าจากข้อมูลที่มีผู้รวบรวมไว้ทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชนดังนี้

1.2.1.1) หนังสือทางวิชาการ บทความ วิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ และรายงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

1.2.1.2) เอกสารเผยแพร่ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

1.2.1.3) จุลสาร วารสารต่างๆ

1.2.1.4) ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต

     1.2.2) แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) ได้จากการเก็บแบบสอบถาม เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 359 คน ในชุมชนตำบลถ้ำรงค์ โดยแบ่งเป็น หมูที่ 1 บ้านท่ามะเฟืองจำนวน 56 คน หมู่ที่ 2 บ้านม่วงงามจำนวน 70 คน หมู่ที่ 3 บ้านถ้ำรงค์จำนวน 33 คน หมู่ที่ 4 บ้านไร่กระท้อนจำนวน 50 คน หมู่ที่ 5 บ้านดอนตะโกจำนวน 88 คน หมู่ที่ 6 บ้านหนองช้างตายจำนวน 62 คน

1.3   การวิเคราะห์ข้อมูล

     1.3.1) การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research)

          1.3.1.1) การรายงานผลด้วยสถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) โดยใช้เกณฑ์สมบูรณ์ (Absolute Criteria) ของวัน เดชพิชัย (2532, น.11)

          1.3.1.2) สถิติ T-Test ใช้ในการวิเคราะห์ตัวแปรเชิงกลุ่มกับตัวแปรเชิงปริมาณ หรือทดสอบเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย 2 กลุ่มตัวอย่าง

          1.3.1.3) สถิติ One-Way Anova ใช้ในการวิเคราะห์ตัวแปรเชิงกลุ่มกับตัวแปรเชิงปริมาณหรือทดสอบเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย 3 กลุ่มตัวอย่างขึ้นไป เพื่อคำนวณหาค่า F-Test

          1.3.1.4) การรายงานผลด้วยสถิติเชิงอนุมาน (Inferential Statistics) โดยมีสถิติการวิจัยดังนี้

          1) สมมุติฐาน สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) สถิติ T-Test ใช้ในการวิเคราะห์ตัวแปรเชิงกลุ่มกับตัวแปรเชิงปริมาณ หรือทดสอบเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย 2 กลุ่มตัวอย่าง และสถิติ One-Way Anova  ใช้ในการวิเคราะห์ตัวแปรเชิงกลุ่มกับตัวแปรเชิงปริมาณหรือ ทดสอบเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย 3 กลุ่มตัวอย่างขึ้นไป เพื่อคำนวณหาค่า  F-Test

     1.3.2) การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)

     ระเบียบวิธีวิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการ สัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลัก โดยประเด็นคำถามได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณและนำมาถอดประเด็นเพื่อตั้งเป็นแนวคำถาม ตัวแทนผู้ที่เกี่ยวข้องในการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยใช้วิธีการจัดการสนทนากลุ่ม (Focus group discussion) เพื่อหาแนวทางจากระดับหัวหน้าส่วนต่างๆ 12 คน

     เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

     คณะผู้วิจัยใช้เครื่องมือวิจัยเชิงคุณภาพที่ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจาก แหล่งข้อมูลต่างๆ ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ และใช้เครื่องมือบันทึกเสียงและกล้องถ่ายรูปเป็นเครื่องมือช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยมีรายละเอียดดังนี้

      1.) การสัมภาษณ์ โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เป็นการจัดการสนทนากลุ่ม (Focus group discussion) ซึ่งคำถามจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่าง ยั่งยืนในตำบลถ้ำรงค์ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางในการปฏิบัติที่เหมาะสม

     การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพแบบสามเส้า (Triangulation) ด้วยการจัดหมวดหมู่ ข้อมูลที่ได้จากข้อสัมภาษณ์ การถอดเทป แยกตามประเด็น และแหล่งข้อมูล หลังจากนั้นจึงวิเคราะห์และประเมินความหมายของข้อมูลนั้นตามกรอบบริบทของแหล่งข้อมูลนั้นๆ

ผลการวิจัย

  1. ข้อมูลทั่วไป ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายมีจำนวน 199 คน คิดเป็นร้อยละ 55.4 และเป็นเพศชายจำนวน 159 คน คิดเป็นร้อยละ 44.6 มีอายุระหว่าง 41-50 ปี มีจำนวน 82 คนคิดเป็นร้อยละ 22.8  สถานภาพสมรสมีจำนวน 214 คน คิดเป็นร้อยละ 59.6  การศึกษาอยู่ระดับมัธยมศึกษา/ปวช.หรือต่ำกว่า มีจำนวน 159 คน คิดเป็นร้อยละ 44.3 อาชีพเกษตรกรมจำนวน 140 คนคิดเป็นร้อยละ 39.0 รายได้ต่อเดือนอยู่ระหว่าง 5,000-10,000 บาท จำนวน 151 คน คิดเป็นร้อยละ 42.1
  2. ข้อมูลสำรวจปัจจัยที่มีผลต่อการศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในภาพรวมมีดังนี้

     1) การรวมกลุ่มกันของคนในชุมชนถือเป็นการริเริ่มการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบใช่ จำนวน 322 คน (ร้อยละ 89.7) และตอบไม่ใช่ จำนวน 37 คน (ร้อย ละ 10.3)

     2) การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวของคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณแหล่ง ท่องเที่ยวไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ตอบใช่ จำนวน 265 คน (ร้อยละ 73.8) และตอบไม่ใช่ จำนวน 94 คน (ร้อยละ 26.2)

     3) การจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมีประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจแก่ชุมชนและ ท้องถิ่น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบใช่ จำนวน 313 คน (ร้อยละ 87.2) และตอบไม่ใช่ จำนวน 46 คน (ร้อยละ 12.8)

     4) การจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต้องให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมด้วย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบใช่ จำนวน 304 คน (ร้อยละ 84.7) และตอบไม่ใช่ จำนวน 55 คน (ร้อย ละ 15.3)

     5) การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้นภายในแหล่งท่องเที่ยวไม่นับเป็นผลที่สืบเนื่องจาก การจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบใช่ จำนวน 255 คน (ร้อยละ 71.0) และตอบไม่ใช่จำนวน 104 คน (ร้อยละ 29.0)

     6) การจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบใช่ จำนวน 192 คน (ร้อยละ 53.5) และตอบไม่ใช่ จำนวน 167 คน (ร้อยละ 46.5)

     7) การจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวควรมีการร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ เอกชน และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบใช่ จำนวน 255 คน (ร้อยละ 71.0) และ ตอบไม่ใช่ จำนวน 104 คน (ร้อยละ 29.0)

     8) การรณรงค์ให้ประชาชนในท้องที่มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ของรัฐฝ่ายเดียว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบใช่ จำนวน 217 คน (ร้อยละ 60.4) และตอบไม่ใช่ จำนวน 142 คน (ร้อยละ 39.6)

     9) หลังจากการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์เพียงผู้เดียว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบใช่ จำนวน 211 คน (ร้อยละ 58.8) และตอบ ไม่ใช่ จำนวน 148 คน (ร้อยละ 41.2)

     10) การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจะทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบใช่ จำนวน 222 คน (ร้อยละ 61.8) และตอบไม่ใช่ จำนวน 137 คน (ร้อยละ 38.2)

     ด้านการรับรู้ข่าวสาร ชุมชนรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับการประชุม และจัดกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน จากหอกระจายข่าวหมู่บ้าน (X=3.97) มีตัวแทนจากชุมชนแจ้งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้ทราบ (X=3.56) อยู่ในระดับการรับรู้บ่อยครั้ง มีการจัดการประชุมเพื่อแจ้งข่าวสารแก่ประชาชน (X=3.50) ชุมชนรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับการประชุม และจัดกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น (X=3.35) มีเจ้าหน้าที่รัฐแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้ทราบ (X=3.25) อยู่ในระดับการรับรู้บางครั้ง

     การมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหา และประเด็นปัญหาร่วมกันมีส่วนร่วมในการสำรวจ เก็บข้อมูลของชุมชน (X=3.21) ชุมชนมีส่วนร่วมในการศึกษาสาเหตุของปัญหาชุมชน (X=3.14) ชุมชนมีส่วนร่วมในการช่วยอำนวยความสะดวกในการค้นหาปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน (X=3.10) ชุมชนมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหาและกำหนดประเด็นปัญหาขึ้น (X=3.09) ชุมชนมีส่วนร่วม ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการค้นหาปัญหาของชุมชน (X=43.07) ชุมชนได้ร่วมประเมินความเป็นไปได้ในการดำเนินการต่างๆ ของชุมชน      (X=3.03)  อยู่ในระดับปานกลาง ตามลำดับ

     การมีส่วนร่วมในการวางแผนร่วมกัน มีส่วนร่วมในการวางกฎระเบียบข้อบังคับของแต่ละกิจกรรม (X=3.17) ชุมชนช่วยสนับสนุนด้านอุปกรณ์ต่างๆ ในการวางแผนของชุมชน (X=3.10) ชุมชนช่วยอำนวยความสะดวกในการวางแผนกิจกรรมต่างๆ (X=3.08) ชุมชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการวางแผน (X=3.07) ชุมชนช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการวางแผนชุมชน (X=3.06) ชุมชนมีส่วนร่วมในการเขียนและจัดทำแผนกิจกรรมต่างๆ (X=2.98) อยู่ในระดับปานกลาง ตามลำดับ

     การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานร่วมกัน ช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติกิจกรรม (X=3.12) ชุมชนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติตามแผนหรือกิจกรรมของชุมชน (X=3.11) ชุมชนชักชวนผู้อื่นให้เข้าร่วมกิจกรรมชุมชน (X=3.11) ชุมชนช่วยประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินกิจกรรมของชุมชน (X=3.08) ชุมชนให้การสนับสนุนงบประมาณวัสดุหรืออุปกรณ์ต่างๆ กับชุมชน (X=2.95) ชุมชนช่วยจัดหางบประมาณในการปฏิบัติงานชุมชน (X=2.78)  อยู่ในระดับปานกลางตามลำดับ

     การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ชุมชนร่วมตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน (X=3.10)ชุมชนร่วมกำหนดแผนงานหรือโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชน (X=3.05) ชุมชนร่วมเลือกกิจกรรมในการส่งเสริมการท่องเที่ยว (X=3.00) ชุมชนร่วมกำหนดคัดเลือกบุคลากรในการปฏิบัติกิจกรรมของชุมชน (X=2.96)  ชุมชนร่วมตัดสินใจวางกฎระเบียบของกิจกรรมต่างๆ (X=2.92) ชุมชนร่วมตัดสินใจในการสรุปผลการดำเนินงานของชุมชน (X=2.92) อยู่ในระดับปานกลางตามลำดับ

     การมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผลร่วมกัน ชุมชนมีส่วนร่วมควบคุมกฎเกณฑ์และมาตรการด้านการท่องเที่ยวของชุมชน (X=2.98) ชุมชนมีส่วนร่วมอำนวยความสะดวกและให้การสนับสนุนการประเมินผลชุมชน (Χ=2.96) ชุมชนร่วมติดตามและหาแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานชุมชน (X=2.94) ชุมชนมีส่วนร่วมในการประเมินผลการปฏิบัติงานตามแผนในรอบปีที่ผ่านมา (X=2.94) ชุมชนมีส่วนร่วมวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงานของชุมชน (X=2.94) ชุมชนร่วมประเมินผลกิจกรรมของชุมชน (X=2.92) อยู่ในระดับปานกลางตามลำดับ

     การมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์ ชุมชนได้รับการกระตุ้นให้เกิดความภาคภูมิใจในมรดกของท้องถิ่นและของชาติทำให้เกิดความใส่ใจในการอนุรักษ์ (X=3.51) อยู่ในระดับมาก ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะเวลาคือการส่งเสริมให้การท่องเที่ยวเป็นรายได้เสริมของชุมชน (X=3.49) ชุมชนได้เรียนรู้คุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อรายได้ (X=3.41) ชุมชนได้รับประโยชน์จากการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงระบบสาธารณสุขและการขนส่ง (X=3.34) ชุมชนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาการบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยว (X=3.29) อยู่ในระดับปานกลางตามลำดับ

  1. การทดสอบสมมติฐาน ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า

     3.1) ยอมรับสมมติฐานเป็นจริง

          3.1.1) กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุแตกต่างกันจะมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการ ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแตกต่างกัน ด้านการรับรู้ข่าวสารและด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ความแตกต่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และ 0.01

          3.1.2)  กลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาความแตกต่างกันจะมีส่วนร่วมของชุมชนใน การจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแตกต่างกัน ด้านความรู้ความเข้าใจ ด้านการรับรู้ข่าวสารและ ด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และ 0.01

          3.1.3) กลุ่มตัวอย่างที่มีอาชีพแตกต่างกันจะมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการ ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแตกต่างกัน ด้านการรับรู้ข่าวสารและด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และ 0.01

          3.1.4) กลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ต่อเดือนแตกต่างกันจะมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแตกต่างกัน ด้านการรับรู้ข่าวสาร ความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทาง สถิติที่ระดับ 0.05

     3.2) ปฏิเสธสมมติฐาน

          3.2.1) กลุ่มตัวอย่างที่มีเพศแตกต่างกันจะมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการ ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่แตกต่างกัน ด้านความรู้ความเข้าใจ ด้านการรับรู้ข่าวสารและด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ไม่มีนัยสำคัญทางสถิตที่ระดับ 0.05 ไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้

          3.2.2) กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุแตกต่างกันจะมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการ ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่แตกต่างกัน ด้านความรู้ความเข้าใจ ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้

          3.2.3) กลุ่มตัวอย่างที่มีสถานภาพแตกต่างกันจะมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่แตกต่างกัน ด้านความรู้ความเข้าใจ ด้านการรับรู้ข่าวสารและด้านการ มีส่วนร่วมของชุมชน ไม่มีนัยสำคัญทางสถิตที่ระดับ 0.05 ไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้

          3.2.4) กลุ่มตัวอย่างที่มีอาชีพแตกต่างกันจะมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการ ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่แตกต่างกัน ด้านความรู้ความเข้าใจ ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้

          3.2.5) กลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ต่อเดือนแตกต่างกันจะมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไม่แตกต่างกัน ด้านความรู้ความเข้าใจ และด้านการมีส่วนร่วมของชุมชนไม่มีนัยสำคัญทางสถิตที่ระดับ 0.05 ไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้

  1. การสนทนากลุ่ม พบว่า

     4.1) คนในชุมชนมีการริเริ่มจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ประชาชนเป็นผู้รับผลประโยชน์นั้น

     4.2) มีการรณรงค์ให้ประชาชนในท้องถิ่นมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐฝ่ายเดียว

     4.3) กระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโดยให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมใน การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น  จะทำให้เกิดปัญหาบางประการ เช่น บางพื้นที่ไม่สามารถมีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวที่จะนำเข้ามาร่วมวางแผนในการจัดการท่องเที่ยวของชุมชนได้ จึงมีการแบ่งปันผลประโยชน์ไม่ลงตัว

อภิปรายผล

     จากผลการศึกษาระดับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน: กรณีศึกษา ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี สามารถอภิปรายได้ดังนี้

  1. ลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง

   1.1) จำแนกตามเพศแตกต่างกัน พบว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่แตกต่างกัน ด้านการรับรู้ข่าวสารและด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ กุลจิรา เสาวลักษณ์จินดา (2555) ทำการศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการจัดการแหล่งท่องเที่ยว : กรณีศึกษา อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี พบว่า อายุ ระดับ การศึกษา และอาชีพ ที่แตกต่างกันมีผลต่อการมีส่วนร่วมในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวแตกต่างกัน ส่วนเพศ สถานภาพ และรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่แตกต่างกัน   มีผลต่อการมี  ส่วนร่วมในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวไม่ต่างกัน

   1.2) จำแนกตามอายุที่แตกต่างกัน พบว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแตกต่างกัน ด้านการรับรู้ข่าวสาร และด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ เกศิณี    มรนนท์ (2555) ทำการศึกษาเรื่องศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในตำบลแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี ผลการศึกษา พบว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในตำบลแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี โดยรวมอยู่ในระดับมาก การมีส่วนร่วมมีค่าเฉลี่ยจากมากมาถึงน้อย ดังนั้นการดำเนินการพัฒนามีค่าเฉลี่ยสูงสุด ขั้นการประเมินผลการพัฒนา ขั้นผลการรับผลประโยชน์จากการพัฒนา ขั้นการริเริ่มการพัฒนา และขั้นการวางแผนตามลำดับ ปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ ได้แก่ เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ เวลา และปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมด้านการรับรู้ข่าวสารที่ แตกต่างกัน มีระดับการมีส่วนร่วมโดยรวมแตกต่างกัน

  1.3) จำแนกตามสถานภาพที่แตกต่างกัน พบว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการ ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่แตกต่างกัน ด้านความรู้ความเข้าใจ ด้านการรับรู้ข่าวสารและด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ กุลจิรา เสาวลักษณ์จินดา (2555) ทำการศึกษา เรื่อง การมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการจัดการแหล่งท่องเที่ยว : กรณีศึกษา อำเภออินทร์บุรี จังหวัด สิงห์บุรี พบว่า อายุ ระดับการศึกษา และอาชีพ ที่แตกต่างกันมีผลต่อการมีส่วนร่วมในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวแตกต่างกัน ส่วน เพศ สถานภาพ และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ที่แตกต่างกันมีผลต่อ การมีส่วนร่วมในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวไม่แตกต่างกัน

     1.4) จำแนกตามระดับการศึกษาที่แตกต่างกัน การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้านความรู้ความเข้าใจ ด้านการรับรู้ข่าวสารและด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ เกศิณี มรนนท์ (2555) ทำการศึกษาเรื่องศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใน ตำบลแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี ผลการศึกษา พบว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใน ตำบลแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี โดยรวมอยู่ในระดับมาก การมีส่วนร่วมมีค่าเฉลี่ยจากมากมาถึงน้อย ดังนั้นขั้นการดำเนินการพัฒนา มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ขั้นการประเมินผลการพัฒนา ขั้นผลการรับผลประโยชน์จากการพัฒนา ขั้นการริเริ่มการพัฒนา และขั้นการวางแผนตามลำดับ ปัจจัยด้าน ประชากรศาสตร์ ได้แก่ เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ เวลา และปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมด้านการรับรู้ข่าวสารที่แตกต่างกัน มีระดับการมีส่วนร่วมโดยรวมแตกต่างกัน ส่วนปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ ได้แก่ รายได้ และปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วม ด้านความรู้ ความเข้าใจ ที่แตกต่างการกันมีระดับการมีส่วนร่วมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ 0.05

     1.5) จำแนกตามอาชีพที่แตกต่างกัน พบว่า มีอาชีพแตกต่างกันจะมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแตกต่างกัน ด้านการรับรู้ข่าวสารและด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ เกศิณี มรนนท์ (2555) ทำการศึกษาเรื่องศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในตำบลแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี ผลการศึกษา พบว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในตำบลแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี โดยรวมอยู่ในระดับมาก การมีส่วนร่วมมีค่าเฉลี่ยจากมากมาถึงน้อยดังนี้ ขั้นการดำเนินการพัฒนา มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ขั้นการประเมินผลการพัฒนา ขั้นการรับผลประโยชน์จากการพัฒนา ขั้นการริเริ่มการพัฒนา และขั้นการวางแผนตามลำดับ ปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ ได้แก่ เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ เวลา และปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมด้านการรับรู้ข่าวสารที่แตกต่างกัน       มีระดับการมีส่วนร่วมโดยรวมแตกต่างกัน

     1.6) จำแนกตามรายได้ต่อเดือนที่แตกต่าง พบว่า มีรายได้ต่อเดือนแตกต่างกันจะมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแตกต่างกัน ด้านการรับรู้ข่าวสาร ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ เกศิณี    มรนนท์  (2555)  ทำการศึกษาเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใน ตำบลแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี ผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมด้านการรับรู้ข่าวสารที่แตกต่างกัน มีระดับการมีส่วนร่วมโดยรวมแตกต่างกัน ส่วนปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ ได้แก่ รายได้ และปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมด้าน ความรู้ ความเข้าใจ ที่แตกต่างกันมีระดับการมีส่วนร่วมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ 0.05

  1. การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

     2.1) อภิปรายตามวัตถุประสงค์ข้อแรกของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คือ เพื่อศึกษาความรู้ความเข้าใจต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากการศึกษาการทดสอบความรู้ความเข้าใจของกลุ่มตัวอย่างในท้องถิ่นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พบว่า ในภาพรวมกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากแบบสอบถาม จำนวน 10 ข้อ มีผู้ตอบ 359 คน ซึ่งมีความรู้ ความเข้าใจ อยู่ในระดับมากหรือที่ตอบว่าใช่มากกว่าไม่ใช่ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ ศลิษา หมัดลัง (2549) พบว่า คนในชุมชนบ้านคลองสนกิ่ง อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด ได้กล่าวถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พบว่า ชาวบ้านคลองสนยังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอยู่ในระดับมาก เพราะว่าส่วนใหญ่ทุกชุมชนมีความรู้ความเข้าใจอยู่ในระดับดี เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้จากการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้มีการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการท่องเที่ยว และการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งนำไปสู่การได้รับผลประโยชน์ที่ยั่งยืนจาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จึงจำเป็นที่ชาวบ้านต้องมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเป็นอย่างดี และด้านการรับรู้ข่าวสารต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พบว่า ในภาพรวมกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากแบบสอบถาม จำนวน 5 ข้อ ผู้ตอบแบบสอบถาม 359 คน ส่วนใหญ่มีการรับรู้ข่าวสารอยู่ในระดับบ่อยครั้ง ซึ่งสอดคล้อง กับงานวิจัยของรัตนวดี จุลพันธ์ (2547) ที่ได้ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของประชาชนในท้องถิ่น กรณีศึกษา เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี ได้กล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับ ปัจจัยต่างๆ ของลักษณะทางประชากรศาสตร์ พบว่า อาชีพ ประสบการณ์ในการอบรมกิจกรรม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการรับรู้ผลกระทบที่เกิดจากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สถานภาพทางสังคม และการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ระยะเวลาที่อยู่อาศัยในชุมชน ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการให้คุณค่าต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพราะว่าลักษณะทางประชากรศาสตร์ของคนในชุมชนแตกต่างกัน จึงทำให้มีความคิดเห็นหรือระดับการมีส่วนร่วมของชุมชนแตกต่างกัน และเหมือนกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ มีส่วนทำให้มีระดับ การมีส่วนร่วมมากหรือน้อย

     2.2) อภิปรายตามวัตถุประสงค์ข้อที่สองของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน  เพื่อศึกษาระดับของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พบว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์อยู่ในระดับปานกลาง การมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหาและประเด็นปัญหาร่วมกันอยู่ในระดับปานกลาง การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานร่วมกันอยู่ระดับปานกลาง การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอยู่ในระดับปานกลาง และการมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผลร่วมกันอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งไม่สอดคล้องกับงานวิจัยของ อารีย์ นัยพินิจ และคณะ (2551) ศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวหมู่บ้านบุไทรโฮมสเตย์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา พบว่า ชุมชนมีส่วนร่วมโดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดอยู่ในระดับมากที่สุด มีส่วนร่วมในการลงมติหรือลงความคิดเห็นที่ช่วยกันในการจัดการการท่องเที่ยวทุกครั้งที่มีการประชุมในหมู่บ้าน และการเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนและรับผลประโยชน์ตอบแทน ได้รับผลประโยชน์จาการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยว การมีส่วนร่วมในการวางแผนอยู่ในระดับมาก มีการประชุมวางแผนจัดสถานที่บริเวณหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยรวมอยู่ในระดับมาก มีการเข้าร่วมการตัดสินใจในกิจกรรมรณรงค์รักษาความสะอาด ความสวยงาม และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชน การมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผล โดยรวมอยู่ในระดับมาก และการได้รับข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยวโดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยเฉพาะการได้รับข่าวสารการท่องเที่ยวภายนอกชุมชนจากสื่อต่างๆ

     2.3) อภิปรายตามวัตถุประสงค์ข้อที่สามของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน  เพื่อเปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคลต่อปัจจัยด้านความรู้ ความเข้าใจ และด้านการรับรู้ข่าวสารกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีเพศ สถานภาพแตกต่างกัน จะมีส่วนร่วมของชุมชนในการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ไม่แตกต่างกัน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ  กุลจิรา เสาวลักษณ์จินดา (2555) ทำการศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการจัดการแหล่งท่องเที่ยว : กรณีศึกษา อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี พบว่า อายุ ระดับการศึกษา และอาชีพ ที่แตกต่างกันมีผลต่อการมีส่วนร่วมในการจัดการแหล่ง ท่องเที่ยวแตกต่างกัน  ส่วนเพศ  สถานภาพ  และรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่แตกต่างกันมีผลต่อการมีส่วนร่วมในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวไม่แตกต่างกัน

ข้อเสนอแนะ

จากผลการศึกษาเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะดังนี้

ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยในครั้งต่อไป

1.1) ในการวิจัยครั้งต่อไป ควรศึกษาในด้านความคาดหวังและศึกษาในด้านของนักท่องเที่ยว เพื่อจะได้ทราบว่าปัจจุบันนักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจในการจัดการการท่องเที่ยวมากน้อยเพียงใด เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป

1.2) ควรศึกษาแนวทางการบริหารจัดการ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยว ให้ตรงกับความต้องการ และความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว

1.3) ควรมีการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบระหว่างชุมชนเพื่อให้ทราบถึงชุมชนหรือพื้นที่ใดที่มีส่วนร่วมต่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากกว่ากัน เพื่อที่จะได้ส่งเสริมได้ถูกต้อง

1.4) ควรศึกษาแบบการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ที่เหมาะสมกับท้องถิ่น รวมทั้งแนวทางการ ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น และรูปแบบการส่งเสริมและพัฒนาฝีมือกลุ่มสินค้าพื้นบ้าน สินค้างานฝีมือต่างๆ และสินค้าขึ้นชื่อของแต่ละตำบล

1.5) ควรมีการทำวิจัยเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับการทำแผนงานการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมในแหล่งท่องเที่ยว

1.6) ควรมีการศึกษาเรื่องเส้นทางการเดินทางท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับความต้องการของนักท่องเที่ยว เพื่อเตรียมการรองรับกระแสนิยมของการเดินทางท่องเที่ยวทั้งจากภายในและนอกประเทศ

บรรณานุกรม

กุลจิรา  เสาวลักษณ์จินดา. (2555).  การมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการจัดการแหล่งท่องเที่ยว:  

               กรณีศึกษา อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี. ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต

วิชาเอกการจัดการทั่วไป คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี.

เกศิณี  มรนนท์. (2555).  ศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาแหล่ง

               ท่องเที่ยวใน ตำบลแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต

สาขาวิชาการจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร.

ชิดชนก เชิงเชาว์ (2539). วิธีวิจัยทางการศึกษา. ปัตตานี: ฝ่ายเทคโนโลยีทางการศึกษา

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.

พจนา  สวนศรี. (2546).  คู่มือการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน.กรุงเทพมหานคร : โครงการ

ท่องเที่ยวเพื่อชีวิตและธรรมชาติ.

พิสณุ ฟองศรี. (2549). วิจัยทางการศึกษา “แนวคิดทฤษฎี”. พิมพครั้งที่ 2. กทม. เทียมฝาการพิมพ.

รัตนวดี  จุลพันธุ์. (2547). การมีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของประชาชนใน

               ท้องถิ่น กรณีศึกษา เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี.วิทยานิพนธ์สังคมศาสตรมหาบัณฑิต,

               สาขาวิชาสิ่งแวดล้อม. คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

วัน  เดชพิชัย. (2532). “แบบประเมินตนเองสำหรับผู้บริหาร” ศึกษาศาสตร์, คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัย

               สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี. 5(ตุลาคม 2531 – มกราคม 2532), 1-12.

ศลิษา หมัดลัง. (2549). การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กรณีศึกษา

               ชุมชนบ้านคลองสน กิ่งอำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต).            กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์. (2553).  7 Greens Concept ไม่รู้จัก ไม่อินเทรนด์. สืบค้นเมื่อ

14 ธันวาคม 2555, จาก http:// www.thaipost.net.

องค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำรงค์. (2558). ข้อมูลทั่วไปขององค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำรงค์  

              อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี. เพชรบุรี: ส่วนสวัสดิการสังคม.

อารีย์  นัยพินิจ และ ฐิรชญา มณีเนตร. (2551).  การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการ ท่องเที่ยว

               หมู่บ้านบุไทรโฮมสเตย์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา.

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.