ชื่อผลงานทางวิชาการ : จากวิดีโอถึงออนไลน์ | พฤติกรรมผู้ใช้ กับรูปแบบและช่องทางที่เปลี่ยนไปในการวิจารณ์ภาพยนตร์”

ปีที่พิมพ์ : 2557

ข้อมูลเพิ่มเติม : เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ในวารสารวิทยาการ คณะวิทยาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปีที่ 1 ฉบับที่ 1

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ : อาจารย์ไซนิล สมบูรณ์ สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

                  บทความทางวิชาการ เรื่อง  จากวิดีโอถึงออนไลน์ | พฤติกรรมผู้ใช้ กับรูปแบบและช่องทางที่เปลี่ยนไปในการวิจารณ์ภาพยนตร์” เรียบเรียงโดย อาจารย์ไซนิล สมบูรณ์ สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จจ้าพระยา บทความนี้ มีบทบาทสำคัญควบคู่กับพัฒนาทางการชมภาพยนตร์ของผู้ชมในประเทศไทยเป็นเวลานาน ซึ่งก่อนชมภาพยนตร์การอ่านบทวิจารณ์มีส่วนในการทำผู้ชมภาพยนตร์ตัดสินใจเลือกชมภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ จุดเน้นเนื้อหาในบทความ จะกล่าวถึง  วิวัฒนาการของรูปแบบของการวิจารณ์ภาพยนตร์ ผู้ชมภาพยนตร์ อุปกรณ์การฉายภาพยนตร์ สถานที่ฉายภาพยนตร์ รวมทั้งช่องทางการชมภาพยนตร์ ในยุคต่างๆ ซึ่งมีงานวิจัยได้กล่าวว่า ทิศทางในการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบ และช่องทางของการวิจารณ์ภาพยนตร์นั้น จะเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้บริโภค เป็นการผสมผสานสื่อต่าง ๆ เพื่อการใช้งานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ จึงน่าจับตามองว่า ในอนาคตเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะเข้ามา เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทั้งผู้ชมภาพยนตร์ นักวิจารณ์ และช่องทางการนำเสนอบทวิจารณ์ภาพยนตร์ต่อไปอย่างไร

                  ประโยชน์ที่ได้รับจากงานวิจัยนี้ ช่วยให้เห็นถึงพัฒนาการของการวิจารณ์ภาพยนตร์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นศาสตร์สำคัญที่ช่วยสะท้อนมุมมองและแนวคิดของผู้สร้าง รวมไปถึงการต่อยอดแนวคิดและขยายความศาสตร์การวิจารณ์ภาพยนตร์ ให้เข้าใจในทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในช่องทางและรูปแบบการเสนอ แต่โดยเนื้อหาและความตั้งใจในการส่งเสริมวงการภาพยนตร์ยังคงอยู่เช่นเดิม

 

จากวิดีโอถึงออนไลน์ | พฤติกรรมผู้ใช้ กับรูปแบบและช่องทางที่เปลี่ยนไป

การวิจารณ์ภาพยนตร์”

 

ไซนิล สมบูรณ์
อาจารย์ คณะวิทยาการจัดการ
สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน ภาพยนตร์และมัลติมีเดีย

 

                  การวิจารณ์ภาพยนตร์มีบทบาทสำคัญควบคู่กับพัฒนาการทางการชมภาพยนตร์ของผู้ชมใน ประเทศไทยมาเป็นเวลานานก่อนชมภาพยนตร์การอ่านบทวิจารณ์มีส่วนในการทำให้ผู้ชมตัดสินใจเลือกชม ภาพยนตร์เรื่องนั้นๆงานวิจัยของภานุพลรอดกุล(2556)ได้กล่าวถึงอิทธิพลของบทวิจารณ์ภาพยนตร์ว่า แม้ไม่ได้ส่งผลโดยตรง แต่บทวิจารณ์ มีผลต่อการตัดสินใจของผู้อ่านในการเลือกไปชมภาพยนตร์

                  นอกจากนั้น หลังชมภาพยนตร์ ผู้ชมส่วนหนึ่งมักมีการเสาะแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมของหนัง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเบื้องหลังข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหนังรวมไปถึงการตามอ่านบทวิจารณ์ของหนังที่ตนเองสนใจหรือชื่นชอบเพื่อขยายขอบเขตความเข้าใจและได้แลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆเกี่ยวกับหนังเรื่องนั้นอยู่เสมอ   จึงนับได้ว่าการวิจารณ์ภาพยนตร์นั้นอยู่คู่กับการชมภาพยนตร์ของผู้ชมในบ้านเรามาโดยตลอด

                  การวิจารณ์ภาพยนตร์ในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงรูปแบบและช่องทางมาหลายช่วง ตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยรูปแบบของการวิจารณ์ภาพยนตร์ในยุคแรกจะปรากฏให้เห็นในสื่อสิ่งพิมพ์ อย่างนิตยสาร และหนังสือพิมพ์

                  บทวิจารณ์ในนิตยสารยุคแรกๆมักจะเน้นรูปแบบการเขียนไปในเชิงวิชาการอธิบายเนื้อหาของหนัง ควบคู่ไปกับคุณงามความดีที่หนังมีต่อคนดูเพราะช่องทางในการรับชมภาพยนตร์ของผู้อ่านในยุคนั้นยังมี เพียงโรงภาพยนตร์ในเมืองใหญ่ที่มีข้อจำกัดในการเลือกหนังเข้ามาฉายทำให้ภาพยนตร์สำคัญ  ๆ หลายเรื่องไม่ได้ถูกนำเข้ามาฉาย บทวิจารณ์ จึงตั้งอยู่บนฐานความคิดที่ว่า ผู้อ่านส่วนใหญ่หาชมไม่ได้ จึงต้องอธิบายให้เห็นภาพไปด้วยส่วนในหนังสือพิมพ์มักเป็นบทวิจารณ์สั้นๆเพื่อเชิญชวนผู้คนไปชม ภาพยนตร์ที่ เข้าฉายในช่วงเวลานั้นการเข้ามาของวิดีโอเทป(Videotape)ในช่วงเวลาต่อมาเข้ามาช่วยให้การ ชมภาพยนตร์ไม่จำกัดเฉพาะการต้องไปดูในโรงเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปผู้ชมสามารถรับชมที่บ้านในเวลาใด ก็ได้ทำให้ผู้ชมเข้าถึงหนังได้ง่ายและหลากหลายมากขึ้นแต่อย่างไรก็ตามเนื้อหาของภาพยนตร์ในระบบวิดีโอ เทปเมืองไทยนั้นส่วนมากยังเน้นไปที่การให้ความบันเทิงส่วนหนังเพื่อการศึกษา เช่น หนังของนักสร้างหนัง ในประวัติศาสตร์ที่อยู่ในเนื้อหาตำราเรียนหรือหนังดังของประเทศอื่นๆนอกจากอเมริกาและฮ่องกงยังหา ดูได้ยาก รูปแบบของการวิจารณ์ในยุควิดีโอเทปนี้ยังพบได้ในสื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลักเช่นเดิม เพียงแต่มีหมวดหมู่ การวิจารณ์หรือแนะนำวิดีโอเทปที่น่าสนใจเพิ่มเติมเข้ามา เนื่องจากภาพยนตร์บางเรื่อง อาจไม่ได้เข้าฉาย ในโรงภาพยนตร์แต่มีขายหรือให้เช่าในระบบวิดีโอเทปเลย เช่นหนังเกรดบี หนังทุนน้อย การ์ตูน หรือนอกหนัง กระแสด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้นิตยสารและหนังสือพิมพ์บางฉบับ ต้องมีหมวดหมู่พิเศษ   สำหรับ วิดีโอเพิ่มเติมเข้ามา

                  ช่วงปี พ.ศ. 2541 เป็นยุคเปลี่ยนผ่านระหว่างวิดีโอเทป ไปสู่การรับชมภาพยนตร์ด้วยวิดีโอซีดี (Video cd) หรือ เรียกสั้นๆ ว่า วีซีดี (VCD) ซึ่งมีขนาดที่เล็กกว่า มีความคมชัดมากกว่า มีความจุมากกว่า และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าวิดีโอเทปมากทำให้ความนิยมในตัววิดีโอเทปเริ่มถดถอยลงจนก้าวเข้าสู่ ยุคของวีซีดีเต็มตัวที่มาพร้อมกับการเติบโตของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (Power Computer,PC) ที่ใช้เป็นเครื่อง เล่นวีซีดีไปได้ด้วยในตัวพร้อมกับอินเทอร์เน็ตในไทยเริ่มเป็นที่แพร่หลายและเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ทำให้เกิด ชุมชนออนไลน์ที่ใช้เป็นช่องทางใหม่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ในการเลือกรับชมภาพยนตร์ผ่านช่องทางต่างๆ ได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ดีอินเทอร์เน็ตในยุคแรกยังมีข้อจำกัดในการเชื่อมต่อหลายประการทำให้ช่องทางหลัก ในการรับชมภาพยนตร์ยังคงเป็นโรงภาพยนตร์ควบคู่ไปกับวีซีดีอยู่

                  และเช่นเดียวกันกับในยุควิดีโอเทป การวิจารณ์ภาพยนตร์มีการแยกหมวดหมู่ภาพยนตร์ออกเป็น  2 ประเภท โดยแบ่งเป็นภาพยนตร์ที่กำลังฉายในโรงหรือเรียกว่า หนังชนโรง และ ภาพยนตร์ที่ออกจำหน่าย ในรูปแบบวีซีดี แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป ในยุคนี้คือช่องทางในการวิจารณ์ภาพยนตร์ ช่อง ทางใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามา พร้อมกับอินเทอร์เน็ต และรูปแบบ ของการเขียนบทวิจารณ์ที่หลากหลายมากขึ้น เพราะภาพยนตร์หลาย เรื่องที่เคยหาดูได้ยาก ก็เริ่มหาชมได้บ้างแล้ว

                  ขณะที่โลกของการรับชมภาพยนตร์กำลังเบ่งบานเนื่องจากสามารถหาชมได้ง่ายขึ้น ในยุคนี้เอง ไทยได้ให้ กำเนิดผู้กำกับหนัง นักวิจารณ์หนัง และชุมชนนักดูหนังรุ่นใหม่ๆ ทั้งในด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ก็ได้เกิด นิตยสารเกี่ยวกับ ภาพยนตร์หัวใหม่ๆ ขึ้นมาบนแผงหลายฉบับ  มีการรวบรวมบทวิจารณ์ที่เคย ตีพิมพ์บน นิตยสารหรือสื่ออื่นๆออกมา เป็นหนังสือเล่ม(Pocket book) ในปริมาณถี่มากขึ้น ด้านสื่อดิจิตอลก็เกิด ชุมชนออนไลน์ที่พูดถึงหนังและวิจารณ์หนัง เรื่องต่างๆ หลายแห่ง เช่น เวบไซต์ พันทิป (Pantip.com) และเวบบอร์ดสนทนาต่างๆ อีกทั้งการวิจารณ์ภาพยนตร์ก็มี รูปแบบที่หลากหลายขึ้น จากการอธิบาย หนังทั้งเรื่องให้เห็นภาพ ก็เปลี่ยนมาเป็นการเชิญชวนให้ไปชม และมาร่วม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตีความ วิเคราะห์ และสังเคราะห์ภาพยนตร์เหล่านั้นร่วมกันการมาถึงของดีวีดี (Digital Video Disc, DVD) ที่มีคุณภาพคมชัดกว่า และมีราคาที่สามารถเข้าถึง ได้ง่าย (เพราะเป็นช่วงเดียวกับที่แผ่นผีเป็นที่แพร่หลาย) ทำให้เกิดเวบหนังใหม่ๆและเกิดวัฒนธรรม การวิจารณ์ หนังจาก นักวิจารณ์หน้าใหม่จำนวนมากบนเวบล็อก (weblog) หรือบล็อก (blog) เช่น bloggang.com, exteen.com ซึ่งมีรูปแบบ การเขียนที่หลากหลาย ทั้งกึ่งทางการ เป็นทางการ หรือไม่เป็น ทางการเลย และค่อนข้างมีความอิสระในการนำเสนอ ทั้งรูปแบบและความยาวที่ไม่จำกัดเหมือนในสื่อ สิ่งพิมพ์ ในยุคนี้เองนักวิจารณ์หน้าใหม่หลายคนที่ไม่เคยมีผลงานตีพิมพ์มาก่อน ได้รับความนิยมและ ความเชื่อถือ จากผู้อ่านจนถูกนำไปรวมเป็นหนังสือเล่มและมีชื่อเสียงมาจนถึง ยุคปัจจุบัน

                  แม้การวิจารณ์ภาพยนตร์บนเวบไซต์ต่างๆ และในนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ยังคงมีอยู่ และยังมี อิทธิพลต่อ การตัดสินใจชมภาพยนตร์ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่การเข้ามามีบทบาทของเฟสบุ๊คนั้น ส่งผลกระทบในหลายๆ ด้านในการวิจารณ์ภาพยนตร์ โดยเฉพาะการเสื่อมความนิยมจากการเขียนบท วิจารณ์ลงบนเวบบล็อก

                  ปัจจัยสำคัญ 3 อย่างที่นำมาสู่ การเปลี่ยนผ่านจากยุคดีวีดีมาเป็นยุคปัจจุบัน นั่นคือ เฟซบุ๊ค (Facebook.com) ยูทูป (Youtube.com) และความเร็วของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ที่ทำให้การ ชมภาพยนตร์ออนไลน์มีความง่ายจน ไม่จำเป็นต้องซื้อแผ่นหนังอีก พฤติกรรมผู้ชมถูกปรับเปลี่ยนจาก ยุคของสิ่งที่จับต้องได้ มาสู่สิ่งที่จับต้องไม่ได้ การเลือกชมภาพยนตร์สามารถดาวน์โหลดจากผู้ให้บริการ หรือชมทันทีได้เลยผ่านผู้ให้บริการออนไลน์ ทำให้โลกของการชมภาพยนตร์เปิดกว้างอย่างที่ไม่เคยเป็น มาก่อน และสิ่งใหม่ในโลกของการวิจารณ์ได้เกิดขึ้นนั่นคือการทำคลิปวิจารณ์ แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก และยังเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งควบคู่ไปกับบทวิจารณ์ในช่องทางอื่นเท่านั้น

                  ในปี พ.ศ. 2557 ผู้ใช้บริการเฟซบุ๊คในประเทศไทยมีถึง 26 ล้านคน ซึ่งนับเป็น 1 ใน 3 ของ ประชากรไทยและ อัตราการใช้งานของผู้ใช้รายใหม่มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น จากผลงานวิจัยการวิจารณ์ ภาพยนตร์ : รอยต่อระหว่างวัฒนธรรม สื่อสิ่งพิมพ์กับสื่ออินเทอร์เน็ต (อัญชลี ชัยวรพร และสุทธิพงศ์ นุกูลเอื้ออารุง, 2557) พบว่าการวิจารณ์ภาพยนตร์ใน เฟสบุ๊คได้รับความนิยมมากขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552 เป็นต้นมา จากเดิมที่ใช้เป็นพื้นที่เก็บงานเก่าเท่านั้น ต่อมาเริ่มพบว่า ผู้ใช้สื่ออินเทอร์เน็ต เพื่อการวิจารณ์ จํานวนหนึ่ง พัฒนาข้ามไปเขียนงานวิจารณ์บนสื่อสิ่งพิมพ์ ส่วนนักวิจารณ์อาชีพ ที่เติบโตมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ ก็เริ่มหันมาใช้พื้นที่อินเทอร์เน็ตในการนำเสนองานวิจารณ์ขนาดสั้นหรือประเด็นความคิดแบบไม่เป็นทางการสําหรับงานภาพยนตร์ที่จะไม่ได้รับการตีพิมพ์ ทำให้เห็นการเชื่อมโยงในการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ กับสื่ออินเทอร์เน็ต ที่เต็มไปด้วยพลวัตร ความลื่นไหล และมีความน่าสนใจมากขึ้น

                  รูปแบบของงานวิจารณ์ภาพยนตร์ในเฟสบุ๊คนั้นถูกปรับเปลี่ยนใหม่จากความเป็นทางการใน นิตยสารหรือในเวบบล็อกให้มีความกระชับ สั้น และลดการใช้ภาษาที่เป็นทางการลง เพื่อความเข้าใจง่าย ส่วนใหญ่เน้นไปที่การแสดงทัศนคติต่อภาพยนตร์และเพื่อตอบสนองลักษณะนิสัยใหม่ของผู้อ่านในเฟซบุ๊คจนเกิดเป็นคำที่ใช้หยอกล้อ กันว่า “ยาวไป ไม่อ่าน” ทำให้ต้องมีการใช้ทักษะการใช้ภาษาให้มีความกระชับ รัดกุมและเข้าใจง่ายนอกจากนี้ความเป็นกันเองหรือรูปแบบของภาษานั้นยังขึ้นอยู่กับช่องทางในเฟซบุ๊คอีกด้วย ว่านักวิจารณ์เผยแพร่มันลงไปในช่องทาง ใด เช่น แฟนเพจ(Fanpage) กระทู้ในหน้าส่วนตัวของผู้เขียน (Timeline) หรือกลุ่มที่สนใจเรื่องเดียวกัน(Group) เป็นต้น

                  ถึงแม้จากงานวิจัยของภานุพล รอดกุล (2556) กล่าวถึงแนวโน้มจำนวนผู้อ่านนิตยสาร Filmmax ที่มีจำนวน ลดลงเนื่องมาจากมีสื่อที่หลากหลายในการเข้าถึงมากขึ้น ผู้ชมที่ไม่ใช่นักดูหนังตัวจริงหันไปสนใจ อ่านบทวิจารณ์จากช่องทางอื่นมากขึ้นโดยเฉพาะเฟซบุ๊คที่ไม่มีค่าใช้จ่ายและอ่านเข้าใจได้ง่ายกว่าแต่ผลงาน วิจัยของอัญชลี ชัยวรพร และสุทธิพงศ์ นุกูลเอื้ออารุง (2557) ได้กล่าวว่าทิศทางในการเปลี่ยนแปลงทั้ง รูปแบบ และช่องทางของการวิจารณ์ ภาพยนตร์นั้น จะเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้บริโภค แต่มิได้เป็น ลักษณะทิ้งสิ่งหนึ่งไปสู่สิ่งหนึ่ง แต่เป็นการผสมผสาน สื่อต่างๆเพื่อการใช้งานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ มากกว่า จึงน่าจับตามองว่า ในอนาคต เทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามา เปลี่ยนพฤติกรรมทั้งผู้ชมภาพยนตร์ นักวิจารณ์ และช่องทางในการนำเสนอบทวิจารณ์ไปในทิศทางใดต่อไป

 

บรรณานุกรม

ภาณุพล  รอดกุล (2556).  บทวิจารณ์ภาพยนตร์ในนิตยสารFilmaxกับการตัดสินใจรับชมภาพยนตร์

                  ของผู้ชมภาพยนตร์”.  ปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

อัญชลี ชัยวรพรและสุทธิพงศ์ นุกูลเอื้ออารุง. (2557). การวิจารณ์ภาพยนตร์: รอยต่อระหว่างวัฒนธรรม

                  สื่อสิ่งพิมพ์กับสื่ออินเทอร์เน็ต(เล่ม5). สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.