ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์

 

                    ความนำ ผู้เขียนรู้จักลำไยเถาตั้งแต่เป็นเด็ก เพราะเจ้าของเขาเก็บผลมาขายในตลาดเช้าทั้งๆที่ไม่ใช่ฤดูลำไย เลยขอตามไปดูต้นที่บ้านเขา ก็แปลกใจที่ทำไมมันเลื้อยแบบต้นเฟื่องฟ้า หลังจากนั้นก็ไม่เห็นอีกเลย  เมื่อปีก่อนโชคดีได้พบลำไยเถาคลุมอยู่บนส่วนหนึ่งของหลังคาบ้านของเพื่อนบ้านที่อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม เลยได้ภาพถ่ายมาและขอผลแก่เพื่อเอาเมล็ดมาเพาะกล้าแจกคนที่สนใจ และนำภาพมาเผยแพร่ในเฟสบุ๊ค ก็ได้รับความสนใจกันมากเพราะต่างก็ไม่เคยทราบมาก่อนว่าลำไยแบบนี้ก็มีด้วย ดีใจที่มีคนสนใจอยากปลูกบ้าง จะได้เป็นการอนุรักษ์พรรณไม้เก่าแก่ที่เป็นพันธุกรรมที่แตกต่าง เมื่อมีโอกาสไปที่ต้นเดิมอีก ปรากฏว่าถูกตัดทอนลงมาเกือบหมดทั้งต้น เขาให้เหตุผลว่า หลังคาบ้านจะรับน้ำหนักไม่ได้ อีกเหตุผลหนึ่งคือแม้จะออกผลตลอดปีและดกมาก แต่รสชาติสู้ลำไยทั่วไปไม่ได้ ซื้อกินอร่อยกว่า มองในแง่นักอนุรักษ์ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะนี่เป็นหนึ่งในความหลากหลายทางชีภาพที่อาจจะสูญหายไปในไม่ช้า

                    ลำไยเถาหรือที่ชาวบ้านทางอีสานเรียกว่า”ลำไยเครือ”นั้นเป็นไม้ต้นรอเลื้อย ลำต้นยืดยาวกิ่งก้านห้อยลง สามารถพันหรือปีนป่ายรั้วหรือหลักได้ ออกดอกติดผลตลอดปี เปลือกผลเป็นสีเขียวอมชมพู ขนาดผลใกล้เคียงกับลำไยทั่วไป แต่เมล็ดโตกว่าลำไยทั่วไป เนื้อหุ้มเมล็ดบาง ฉ่ำน้ำ เนื้อค่อนข้างเหลว  มีเนื้อน้อย รสชาติหวานแต่มีกลิ่นคล้ายกำมะถัน ซึ่งบางคนที่เพิ่งเคยกินก็จะบอกว่ามีกลิ่นคาวเล็กน้อย จึงนิยมปลูกไว้ประดับและให้ร่มเงามากกว่าปลูกไว้รับประทาน ลำไยเถาชอบขึ้นในที่ดอน และต้องการแสงแดดเต็มที่

                    ลำไยและลำไยเถา อยู่ในวงศ์เดียวกันคือ SAPINDACEAE สปีชี่ส์เดียวกัน ต่างกันที่วาไรตี้ มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกันเกือบทั้งหมด ยกเว้นลำต้นของลำไยเถาจะอ่อนไหว โอนเอนไม่ตั้งตรง กิ่งก้านส่วนใหญ่จะห้อยลง ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวเหมือนกัน แต่ใบย่อยมีขนาดเล็กกว่า เปลือกผลเมื่อแก่จัดจะมีสีชมพูเหลือบอยู่บนผิวผลอย่างชัดเจน

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ ของลำไย            Dimocarpus longan Lour.

ชื่อวิทยาศาสตร์                       Dimocarpus  longan var.  obtusus Leenh.

 

ลำไยเถา

 

ชื่อวิทยาศาสตร์           Dimocarpus  longan var.  obtusus Leenh.

ชื่อวงศ์                         SAPINDACEAE

ชื่อสามัญ                      Longan

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

                    เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 6 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาล ทรงพุ่มแน่นทึบ ไม่มีรูปร่างที่แน่นอน กิ่งก้านที่แตกมาใหม่จะชูขึ้น ถ้าไม่มีที่เกาะเกี่ยวก็จะงอและห้อยลง   ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ปลายคู่ ใบย่อยมี 3-5 คู่ ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ใบย่อยกว้าง 2-3 ซม. ยาว 4-6 ซม. รูปร่างใบเป็นรูปรีหรือรูปหอก ส่วนปลายใบและฐานใบค่อนข้างป้าน ใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม กว่าด้านล่าง ผิวด้านบนเรียบ ส่วนผิวด้านล่างสากเล็กน้อย ขอบใบเรียบไม่มีหยัก ตัวใบมักม้วนลงไปทางหลังใบตามยาวของตัวใบ ดอกออกเป็นช่อแยกแขนงที่ปลายยอด และอาจเกิดจากตาข้าง ช่อดอกยาวประมาณ 20-30 ซม. มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกสีขาวหรือขาวอมเหลือง เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 6-8 มม. ผลลำไยเถามีรูปทรงกลมหรือทรงเบี้ยวเล็กน้อย เส้นผ่านศูนย์กลางผล 2.5 -3.5 ซม.  ผลแก่มีสีเขียวปนน้ำตาล หรือสีน้ำตาลอมชมพู ผิวเปลือกบาง เรียบ มีตุ่มเล็กๆ ปกคลุมที่ผิวเปลือกด้านนอก เนื้อบาง ฉ่ำน้ำ รสหวาน เมล็ดมีลักษณะกลม เส้นผ่านศูนย์กลางเมล็ด 1.5 – 2.0 ซม.  ผิวมัน สีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ  ส่วนของเมล็ดที่ติดกับขั้วผล มีลักษณะเป็นวงกลมสีขาว ซึ่งเป็นตำแหน่งที่แทงออกมาของต้นกล้า

การขายพันธุ์      เพาะกล้าจากเมล็ด หรือตอนกิ่ง

ประโยชน์ของลำไย

  1. ผลลำไย ใช้รับประทานสดเป็นผลไม้ ที่ประกอบด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินซี วิตามินบี 12 โปรตีน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส โซเดียม โพแทสเซียม ทองแดง เหล็ก เป็นต้น
  2. น้ำลำไยช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย
  3. ทำเป็นอาหารได้ เช่น ข้าวเหนียวเปียกลำไย ลำไยลอยแก้ว วุ้นลำไย
  4. ลำไยอบแห้งมีส่วนช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิวได้ดีกว่าการใช้สารเคมี
  5. ผลลำไยนำมาแปรรูปได้หลากหลาย เช่น การบรรจุกระป๋อง ลำไยอบแห้ง น้ำลำไยพร้อมดื่ม เป็นต้น
  6. เนื้อไม้สีแดงของต้นลำไยมักนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ
  7. ด้านสรรพคุณ ลำไยใช้เป็นยารักษาโรคได้ เช่น เป็นยาแก้ท้องร่วง รักษาโรคมาลาเรีย บรรเทาอาการริดสีดวงทวาร เมล็ดลำไยมีสารบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นงานวิจัยของนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้ผลิตออกมาเป็นหลอดในรูปของครีมนวด ได้รับความนิยมมากอย่างรวดเร็ว เป็นต้น

        

อ้างอิง
http://coursewares.mju.ac.th: แม่โจ้

https://dimocarpuslongan.wordpress.com

http://pirun.kps.ku.ac.th/~b5620104923/a2.html

https://www.thairath.co.th/content/984403