ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ พรรณไม้ชื่อ “สาละ” มี 2 ชนิด คือ สาละลังกา และ สาละอินเดีย ทั้งสองชนิดนี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ก็ยังเกิดความสับสน และเข้าใจผิดถึงความสำคัญมาเนิ่นนานยากที่จะแก้ไข เพราะเป็นความเชื่อทางด้านไสยศาสตร์และโชคลาภ สาละลังกาเป็นไม้ดอกสวยมาก มีลักษณะรูปร่างของดอกที่พิสดาร หาดอกไม้อื่นมาเทียบได้ยาก อีกทั้งผลขนาดใหญ่เท่าตะกร้อก็ดูโดดเด่น ผู้คนเกือบทั้งหมดเชื่อว่าสาละลังกาเป็นพรรณไม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ  พระคุณเจ้าเกือบทุกวัดก็มีความเชื่อเช่นนั้น จึงมีการปลูกสาละลังกาไว้เกือบทุกวัด บางวัดก็ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติกราบไหว้เพื่อขอพร ทั้งที่ความจริงแล้วนั้น ควรจะกราบไหว้ต้น“สาละอินเดีย” ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติโดยตรง ด้วยเป็นต้นไม้วงศ์เดียวกันกับยางนา จึงเห็นแต่ใบทั้งปี ผู้คนจึงไม่ค่อยรู้จัก โอกาสต่อไปจะนำ“สาละอินเดีย”มาให้รู้จักกัน   

 

สาละลังกา

ชื่อวิทยาศาสตร์ Couroupita guianensis Aubl.

ชื่อวงศ์  LECYTHIDACEAE

ชื่อสามัญ Cannon-ball tree

ชื่ออื่น ลูกปืนใหญ่

ถิ่นกำเนิด อเมริกาเขตร้อน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 30 เมตร ผลัดใบหมดทั้งต้นในฤดูหนาว  เรือนยอดทรงกลมหรือรูปไข่ เปลือกลำต้นสีน้ำตาลแกมเทา แตกเป็นร่องและสะเก็ด ใบเดี่ยว  หนา ขนาดใหญ่ เรียงเวียนสลับ เป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง รูปขอบขนานถึงรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบหรือมน ขอบใบจักตื้น  กว้าง 5-8 ซม. ยาว 12-25 ซม.  ดอกสีชมพูอมเหลืองหรือแดง หรือม่วงหรือเหลือบทั้งสามสี  ด้านในสีม่วงอ่อนอมชมพู   มีกลิ่นหอมมาก   ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะขนาดใหญ่ตามลำต้นแม้กระทั่งโคนต้น   ช่อดอกยาว 30-150 ซม.   ปลายช่อโน้มลง   ออกดอกตลอดปี กลีบดอกหนา  6 กลีบ ทุกกลีบมีขนาดเท่ากัน  กลางดอกนูน ก้านชูเกสรเพศผู้ปรับเป็นแผ่นใหญ่สีขาวขนาดเท่ากลีบดอกและพับครึ่งลงมา ทำให้รูปร่างแปลกไปจากดอกไม้อื่น มีสีขนสั้นสีเหลืองคล้ายแปรงที่ปลาย  เกสรเพศผู้เป็นเส้นยาวสีชมพูแกมเหลืองจำนวนมาก ดอกทยอยบานจากโคนไปหาปลายช่อ นานเป็นเดือน ดอกบานเต็มที่กว้าง 5-10 ซม. ผลทรงกลมใหญ่  เส้นผ่าศูนย์กลาง 10-20 ซม. เปลือกเเข็ง สีน้ำตาลปนแดง ผลสุกมีกลิ่นเหม็นเอียน มีเมล็ดรูปไข่จำนวนมากแทรกอยู่ในเนื้อที่เหนียวข้น

การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด

ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับตามสถานที่ราชการ วัด สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ เพราะมีดอกขนาดใหญ่ สวยงาม มีกลิ่นหอม ผลกลมโตคล้ายลูกปืนใหญ่และดกมากก็เป็นสิ่งดึงดูดความสนใจจากผู้คนที่พบเห็น

หมายเหตุ สาละลังกาไม่ได้เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติแต่อย่างใด เนื่องจากสาละลังกามีดอกและผลตลอดปี ออกเป็นงวงยาวตามลำต้นตั้งแต่โคนขึ้นไป ซึ่งผลของของลูกปืนใหญ่มีเปลือกแข็งขนาดส้มโอ หรือตะกร้อ  ซึ่งไม่เหมาะแก่การนั่งพักหรือทำกิจใดๆได้ หากผลร่วงใส่ร่างกายก็อาจทำให้บาดเจ็บได้

อ้างอิง 1. http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/index.php/linkoldfragrant-2/338-couroupita

2.https://sites.google.com/site/councilcoving1/laksna-thang- phvkssastr/sala-langka

3. https://th.wikipedia.org/wiki