ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์

 

                    ความนำ ครั้งแรกที่เห็นผลของ“หงอนไก่ทะเล”เมื่อกว่าสิบปีมาแล้วที่วัดแห่งหนึ่งในอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ก็ได้เห็นถึงความสวยงามของผลขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างแปลก ก็ได้นำมาเก็บสะสมไว้ เมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนานจนถึงปัจจุบันก็ยังอยู่ในสภาพเดิม ก็เลยย้อนกลับไปที่วัดเดิม ปรากฏว่าต้นนั้นไม่อยู่แล้ว เลยเสาะหาแหล่งอื่น พบ 3 ต้นที่สวนหลวง ร.9 และสวนธนบุรีรมย์ อีก 3 ต้น ทั้ง6 ต้นนี้ยังเล็กเพิ่งติดผลไม่มาก  ล่าสุดมาพบที่วัดวังชัยทรัพย์วิมลที่อำเภอบ้านแพ้วเช่นเดิม ต้นใหญ่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ สูงกว่า10เมตร มีผลดกมาก เมื่อนำมาผลที่ร่วงตามพื้นดินใต้ต้นมาให้ที่ประชุมศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพของมหาวิทยาลัยราชภัฏ 19 แห่ง อาจารย์ทุกท่านก็ความสนใจกันเป็นอย่างมาก เพราะต่างก็ไม่เคยเห็นมาก่อน ผู้เขียนเห็นควรเผยแพร่ให้รู้จักกันให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และส่งเสริมให้มีการปลูกมากขึ้น เนื่องจากเป็นพรรณไม้ที่มีประโยชน์หลายด้าน ทั้งด้านให้เนื้อไม้ในการก่อสร้าง ให้ร่มเงา ให้ความสวยงาม เป็นสมุนไพร และผลแห้งที่มีรูปร่างสวยงามยังสามารถนำไปประดิษฐ์เป็นของตกแต่งได้ด้วย

 

หงอนไก่ทะเล

 

ชื่อวิทยาศาสตร์              Heritiera littoralis Ait.

ชื่อวงศ์                          STERCULIACEAE

ชื่ออื่นๆ             ไข่ควาย (กระบี่)  ดุหุน (ตรัง)  หงอนไก่

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้น สูง  5–15 เมตร ทรงพุ่มค่อนข้างกลม เปลือกต้น สีน้ำตาลเทา แตกสะเก็ดตามยาวเป็นร่องตื้นๆ เปลือกต้นชั้นในสีน้ำตาลอมชมพู ระบบรากตื้นจึงพบว่ารากจะเจริญเติบโตบนผิวดิน ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปไข่ ถึงรูปขอบขนาน กว้าง 5–10 ซม. ยาว 10–22 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบกลมมน สอบแคบ หรือเบี้ยวเล็กน้อย ผิวใบเกลี้ยง หลังใบสีเข้ม ท้องใบมีไขสีขาว ขอบใบเรียบ หรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เส้นแขนงใบ 7–15 คู่ ปลายเส้นแขนงใบเชื่อมประสานกันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว 1–2 ซม. ดอกออกเป็นช่อตามง่ามใบ ดอกรูประฆัง สีเหลือง ผลกลมรี มีครีบเป็นสันด้านบน ผิวเกลี้ยงเป็นมัน ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีน้ำตาลแก่ ขนาดกว้างประมาณ 4 ซม. ยาว 5- 6 ซม. เปลือกด้านในเป็นเส้นใย เป็นผลแห้งชนิดไม่แตก เปลือกผลจะแตกอ้าออกเมื่อเมล็ดจะงอกเป็นต้นกล้าเมล็ดค่อนข้างกลม 1 เมล็ดต่อผล

 

การขยายพันธุ์               เพาะกล้าด้วยผลแห้ง จะงอกภายใน 2-3 เดือน

การปลูกและบำรุงรักษา  ปลูกด้วยต้นกล้าที่สูงราว 50 ซม. ช่วงต้นฤดูฝน ในทำเลที่เป็นที่ดอนใกล้แหล่งน้ำหรือริมน้ำที่ได้รับแสงแดดเต็มที่ บำรุงรักษาเหมือนไม้ต้นทั่วไป

การใช้ประโยชน์

  1. เนื้อไม้สีขาว แข็งแรงทนทาน ใช้ทำเสา ทำชิ้นส่วนต่อเรือ และอุปกรณ์ในการก่อสร้างต่างๆ
  2. เมล็ดมีแทนนิน ปรุงเป็นยาแก้ท้องเสียและบิด
  3. เปลือก ใช้ต้มน้ำอมบ้วนปากแก้รำมะนาด ปากอักเสบ
  4. กิ่งอ่อน มีสารเทนนิน ใช้ถูฟันรักษาเหงือก
  5. ใบสวย ปลูกเป็นไม้ประดับ ให้ร่มเงาได้ดี
  6. ผลแห้ง นำมาประดับตกแต่ง หรือประดิดประดอยเป็นรูปร่างต่างๆได้สวยงาม

 

อ้างอิง

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ. วัลลิ์รุกขบุปผชาติตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย.

http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=9484

http://www.doa.go.th/hrc/chumphon (ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร)

http://www.thaikasetsart.com