ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ ผักหวาน หรือผักหวานป่ามีรสชาติหวานมันอร่อย ไม่มีผักใดมาแทนที่ได้  ปรุงเป็นอาหารชนิดใดก็อร่อย แต่เดิมนั้นผักหวานเป็นผักพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเฉพาะในพื้นที่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางบางส่วน ปัจจุบันได้รับความนิยมทั่วประเทศ เป็นเมนูอาหารในภัตตาคารใหญ่ รวมทั้งส่งออกไปหลายประเทศ แม้ราคาในประเทศจะสูงถึงกิโลกรัมละ 300-400 บาทแต่ก็เป็นที่นิยมบริโภคกันมาก การที่หารับประทานได้ค่อนข้างยากเพราะผักชนิดนี้เป็นผักในป่าจะให้ผลผลิตในปลายฤดูหนาวถึงกลางฤดูร้อนประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายนเท่านั้น และส่วนใหญ่จะถูกชาวบ้านที่อาศัยในหมู่บ้านตามชายป่าเก็บยอดอ่อนดอกอ่อนมาบริโภคและขายตามฤดูกาล การเก็บยอดอ่อนรวมทั้งดอกอ่อน ทำให้ประชากรของต้นผักหวานไม่มีโอกาสเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีดอกใหญ่ให้บานก็จะไม่มีผลไม่มีเมล็ดเพื่อขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ อีกทั้งมีพ่อค้าต้นไม้ขุดต้นตอเล็กออกเร่ขาย และขุดล้อมต้นใหญ่ออกไปขายในเมืองในราคาต้นละหลายพันบาท โอกาสจะหมดไปจากป่าก็ยิ่งมีมากขึ้น แม้ในปัจจุบันเกษตรกรหันมาปลูกผักหวานเพื่อการค้ากันมากขึ้น โดยแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญในประเทศไทยอยู่ที่จังหวัดสระบุรี และพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัด แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เพราะผักหวานเป็นพืชที่เจริญเติบโตช้ามาก การบำรุงรักษาก็ยุ่งยากกว่าการปลูกพืชอื่น การปลูกแบบพืชทั่วไปมีโอกาสตายมาก บทความนี้จะให้ความรู้เรื่องผักหวานและการปลูกพร้อมภาพประกอบซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการปลูกเป็นอาชีพที่ถูกวิธีมากขึ้น เพื่อการกระจายรายได้ และเป็นการอนุรักษ์ให้ผักหวานอยู่ในป่าเพื่อเป็นอาหารอันโอชะของชุมชนใกล้ป่าและสัตว์ป่าในระยะยาวต่อไป

 

ผักหวานป่า

ชื่อวิทยาศาสตร์  Melientha suavis Pierre

ชื่อวงศ์  OPILIACEAE 

ชื่ออื่น ผักหวาน 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ สูง 4-11 เมตร เปลือกต้นหนา สีเทาอมสีน้ำตาลอ่อน เรียบ  กิ่งอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม เนื้อไม้มีความแข็ง สะสมอาหารที่รากและลำต้นสำหรับให้ชีวิตรอดในฤดูแล้ง ใบเดี่ยว หนา เนื้อใบกรอบ ขอบใบเรียบ ลักษณะของใบอ่อนเป็นรูปไข่หรือรูปรียาว สีเขียวอ่อน เมื่อใบแก่จะกว้างขึ้น รูปร่างไม่แน่นอน ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบสอบเรียว สีเขียวเข้ม กว้างประมาณ 3-5 ซม. ยาว 4-8 ซม. ดอกออกเป็นช่อยาว 15-20 ซม. ช่อดอกออกจากกิ่งหรือลำต้นหรือตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนก้านดอกเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะมีกลีบสีเขียวอ่อน เกสรสีเหลือง ส่วนดอกเพศเมียจะมีกลีบดอกเป็นสีเขียวเข้ม และก้านดอกจะสั้นกว่าดอกเพศผู้  ผลเดี่ยวติดเป็นพวงบนช่อเดิม ผลรูปไข่ มีขนาดกว้าง 1.5-1.7 ซม. ยาว 2.3-3 ซม. ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีเหลืองส้ม มีเมล็ดเดียว

การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด งอกภายใน 1 เดือน ต้นกล้ามีรากสะสมอาหาร

ประโยชน์ 1. ยอดอ่อน ดอกอ่อน และผลอ่อน รับประทานเป็นผัก โดยอาจนำมาลวกให้สุกแล้วใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ลาบ ใช้เป็นเครื่องเคียง หรืออาจนำไปผัดไฟแดง

2. ใช้ประกอบอาหารชนิดต่าง ๆ เช่น แกงเลียง แกงส้ม แกงอ่อม แกงปลา แกงกะทิสด แกงกับไข่มดแดงหรือปลาแห้ง แกงคั่ว แกงจืด

3. ผลสุกของผักหวานนำมารับประทานเป็นผลไม้ได้ นำเมล็ดไปต้มรับประทานได้เช่นเดียวกับเมล็ดขนุน โดยจะมีรสหวานมัน

4. ผลสุกยังเป็นอาหารของนกและสัตว์ต่าง ๆ

5. ผักหวานเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีน พลังงาน และวิตามินซี อีกทั้งยังมีปริมาณของเส้นใบอาหารอยู่พอสมควร จึงช่วยในการขับถ่ายได้ดี

6. ผักหวานเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ เช่น เบตาแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินซี และสารประกอบฟีนอลิก การรับประทานผักหวานป่าจึงไม่เพียงแต่จะได้คุณค่าทางโภชนาการเท่านั้น หากแต่ยังได้รับสารอาหารที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย จึงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้เป็นอย่างดี

หมายเหตุ 1. ผักหวานเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์OPILIACEAE ซึ่งจัดว่าเป็นวงศ์พิเศษที่ยังไม่มีพืชชนิดใดอยู่ในวงศ์นี้เลย เป็นพืชทนแล้ง แต่ไม่ทนแดด

2. ผักหวานสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ยอดเหลืองและพันธุ์ยอดเขียว โดยพันธุ์ยอดเขียวจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าและเร็วกว่าพันธุ์ยอดเหลือง แต่ลักษณะของทั้งสองสายพันธุ์ก็จะไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ไม่ว่าจะเป็นทรงพุ่ม กิ่ง และแขนงใบ หากไม่สังเกตให้ดี ก็จะไม่เห็นความแตกต่าง 3. ผักหวานป่ากับผักหวานบ้านนั้นไม่ใช่พืชชนิดชนิดเดียวกัน ไม่ได้มีความสัมพันธ์หรือเป็นพืชในตระกูลเดียวกันแต่อย่างใด เพียงแต่มีชื่อเรียกที่พ้องกันเท่านั้น จึงมีการเรียกชื่อผักหวานว่าผักหวานป่า เพื่อให้เกิดความแตกต่าง จากชื่อผักหวานบ้าน

4. ต้นผักหวานป่า มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย จึงพบต้นผักหวานป่าได้ตามป่าเบญจพรรณในที่ราบหรือเชิงเขาที่มีความสูงไม่เกิน 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล และโดยปกติจะชอบขึ้นอยู่บนดินร่วนปนทราย

5. ผักหวานป่าเป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูงได้กว่า 10 เมดร แต่ที่พบโดยทั่วจะมีขนาดเล็ก คล้ายไม้พุ่ม เนื่องจากมีการหักกิ่งเพื่อเด็ดยอดไปบริโภค จึงเป็นการกระตุ้นให้เกิดกิ่งและยอดอ่อนออกด้านข้าง ไม่มีโอกาสสูงตามธรรมชาติ

6. มีพรรณไม้ที่มีลักษณะคล้ายกับผักหวานป่า เช่น ต้นเสน ต้นขี้หนอน หากรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดอาการผิดสำแดงได้ คือ มีอาการคลื่นเหียนอาเจียน คอแห้ง อ่อนเพลีย มึนงง และหมดสติ หากร่างกายอ่อนแอก็อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

การปลูกผักหวาน ผักหวานเป็นพืชที่เจริญเติบโตช้ามาก ผู้ปลูกต้องรอประมาณ 2-3 ปี จึงจะมียอดอ่อนให้เก็บได้ และต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการปลูกต่อไปนี้

1. ผักหวานชอบพื้นที่ที่มีแสงรำไร เป็นพื้นที่ที่มีแสงส่องไม่ตลอดทั้งวัน ชอบอยู่ใต้ร่มไม้อื่นที่ใหญ่กว่า ดังนั้นการปลูกผักหวาน ต้องเลียนแบบธรรมชาติจึงจะได้ผลดี โดยการปลูกแซมกับไม้ชนิดอื่นที่สามารถให้ร่มเงาได้ เช่น แค ทองหลาง กระถิน ซึ่งเป็นพืชวงศ์ถั่วที่ระบบรากสามารถให้ธาตุไนโตรเจนในดิน

2. ต้นพันธุ์ผักหวานที่เหมาะสมคือต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ด ส่วนการตอนกิ่งจะออกรากได้ยาก ถึงแม้จะใช้ฮอร์โมนเร่งราก  การปลูกจากต้นกล้าจะทำให้ได้ต้นที่แตกกิ่งมากกว่าวิธีอื่น

3. การเพาะกล้า ทำได้โดยนำผลที่สุกจัดที่ร่วงจากต้นมาแกะเปลือกผลออกนำเมล็ดออกมา

วางเรียงลงแปลงเพาะที่เตรียมไว้ แล้วเกลี่ยดินให้คลุมเมล็ด หรือเพาะในภาชนะขนาดเล็ก ซึ่งวัสดุปลูกเป็นดินเก่าผสมแกลบดำ และขุยมะพร้าว เมื่องอกแล้วและมีใบ 3-4 ใบก็ย้ายลงปลูกในถุงเพาะขนาด 4×4 นิ้ว ดูแลรดน้ำใส่ปุ๋ยเม็ด เมื่อต้นกล้าสูง 20-30 ซม. ก็นำไปปลูก หรือนำไปจำหน่ายได้

4. วิธีปลูก  เลือกปลูกในที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึง ขุดหลุมกว้างและยาว 1 ฟุต ลึก 1 ฟุต ผสมดินปลูกที่มีมูลสัตว์เป็นส่วนผสมครึ่งหนึ่งลงไปให้เต็มหลุม แล้วนำต้นกล้าออกจากภาชนะเดิมลงปลูก โดยปักไม้หลักพยุงไว้กันล้ม โรยปุ๋ยเม็ดเล็กน้อย แล้วรดน้ำตามทันที

5. การปลูกพืชพี่เลี้ยงเป็นร่มเงาให้แก่ต้นผักหวาน ต้นแคเหมาะสมที่สุด เป็นพืชโตเร็วจะช่วยพลางแสงให้ผักหวานขณะยังเล็กไปจนโต และแคยังให้ยอดให้ดอกเป็นอาหารได้ ควรเตรียมต้นกล้าแคสูง 2- 3 ฟุตไว้ล่วงหน้า เมื่อปลูกผักหวานเสร็จแล้วก็ปลูกต้นแคประกบทั้งด้านซ้ายและขวาทันที ให้ห่างจากต้นผักหวานราว 50 ซม.

6. เมื่อต้นผักหวานโตจนสามารถเก็บยอดขายได้ก็ต้องตัดแต่งกิ่งก้านของต้นแค ไม่ให้เบียดกับทรงพุ่มของผักหวานจนไม่ได้รับแสงแดด

อ้างอิง

1. http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=1559

2. https://medthai.com

3. http://puechkaset.com

4. https://th.wikipedia.org/wiki