ลำไยเถา พรรณไม้ที่ต้องอนุรักษ์

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์

 

                    ความนำ ผู้เขียนรู้จักลำไยเถาตั้งแต่เป็นเด็ก เพราะเจ้าของเขาเก็บผลมาขายในตลาดเช้าทั้งๆที่ไม่ใช่ฤดูลำไย เลยขอตามไปดูต้นที่บ้านเขา ก็แปลกใจที่ทำไมมันเลื้อยแบบต้นเฟื่องฟ้า หลังจากนั้นก็ไม่เห็นอีกเลย  เมื่อปีก่อนโชคดีได้พบลำไยเถาคลุมอยู่บนส่วนหนึ่งของหลังคาบ้านของเพื่อนบ้านที่อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม เลยได้ภาพถ่ายมาและขอผลแก่เพื่อเอาเมล็ดมาเพาะกล้าแจกคนที่สนใจ และนำภาพมาเผยแพร่ในเฟสบุ๊ค ก็ได้รับความสนใจกันมากเพราะต่างก็ไม่เคยทราบมาก่อนว่าลำไยแบบนี้ก็มีด้วย ดีใจที่มีคนสนใจอยากปลูกบ้าง จะได้เป็นการอนุรักษ์พรรณไม้เก่าแก่ที่เป็นพันธุกรรมที่แตกต่าง เมื่อมีโอกาสไปที่ต้นเดิมอีก ปรากฏว่าถูกตัดทอนลงมาเกือบหมดทั้งต้น เขาให้เหตุผลว่า หลังคาบ้านจะรับน้ำหนักไม่ได้ อีกเหตุผลหนึ่งคือแม้จะออกผลตลอดปีและดกมาก แต่รสชาติสู้ลำไยทั่วไปไม่ได้ ซื้อกินอร่อยกว่า มองในแง่นักอนุรักษ์ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะนี่เป็นหนึ่งในความหลากหลายทางชีภาพที่อาจจะสูญหายไปในไม่ช้า

                    ลำไยเถาหรือที่ชาวบ้านทางอีสานเรียกว่า”ลำไยเครือ”นั้นเป็นไม้ต้นรอเลื้อย ลำต้นยืดยาวกิ่งก้านห้อยลง สามารถพันหรือปีนป่ายรั้วหรือหลักได้ ออกดอกติดผลตลอดปี เปลือกผลเป็นสีเขียวอมชมพู ขนาดผลใกล้เคียงกับลำไยทั่วไป แต่เมล็ดโตกว่าลำไยทั่วไป เนื้อหุ้มเมล็ดบาง ฉ่ำน้ำ เนื้อค่อนข้างเหลว  มีเนื้อน้อย รสชาติหวานแต่มีกลิ่นคล้ายกำมะถัน ซึ่งบางคนที่เพิ่งเคยกินก็จะบอกว่ามีกลิ่นคาวเล็กน้อย จึงนิยมปลูกไว้ประดับและให้ร่มเงามากกว่าปลูกไว้รับประทาน ลำไยเถาชอบขึ้นในที่ดอน และต้องการแสงแดดเต็มที่

                    ลำไยและลำไยเถา อยู่ในวงศ์เดียวกันคือ SAPINDACEAE สปีชี่ส์เดียวกัน ต่างกันที่วาไรตี้ มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกันเกือบทั้งหมด ยกเว้นลำต้นของลำไยเถาจะอ่อนไหว โอนเอนไม่ตั้งตรง กิ่งก้านส่วนใหญ่จะห้อยลง ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวเหมือนกัน แต่ใบย่อยมีขนาดเล็กกว่า เปลือกผลเมื่อแก่จัดจะมีสีชมพูเหลือบอยู่บนผิวผลอย่างชัดเจน

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ ของลำไย            Dimocarpus longan Lour.

ชื่อวิทยาศาสตร์                       Dimocarpus  longan var.  obtusus Leenh.

 

ลำไยเถา

 

ชื่อวิทยาศาสตร์           Dimocarpus  longan var.  obtusus Leenh.

ชื่อวงศ์                         SAPINDACEAE

ชื่อสามัญ                      Longan

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

                    เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 6 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาล ทรงพุ่มแน่นทึบ ไม่มีรูปร่างที่แน่นอน กิ่งก้านที่แตกมาใหม่จะชูขึ้น ถ้าไม่มีที่เกาะเกี่ยวก็จะงอและห้อยลง   ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ปลายคู่ ใบย่อยมี 3-5 คู่ ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ใบย่อยกว้าง 2-3 ซม. ยาว 4-6 ซม. รูปร่างใบเป็นรูปรีหรือรูปหอก ส่วนปลายใบและฐานใบค่อนข้างป้าน ใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม กว่าด้านล่าง ผิวด้านบนเรียบ ส่วนผิวด้านล่างสากเล็กน้อย ขอบใบเรียบไม่มีหยัก ตัวใบมักม้วนลงไปทางหลังใบตามยาวของตัวใบ ดอกออกเป็นช่อแยกแขนงที่ปลายยอด และอาจเกิดจากตาข้าง ช่อดอกยาวประมาณ 20-30 ซม. มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกสีขาวหรือขาวอมเหลือง เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 6-8 มม. ผลลำไยเถามีรูปทรงกลมหรือทรงเบี้ยวเล็กน้อย เส้นผ่านศูนย์กลางผล 2.5 -3.5 ซม.  ผลแก่มีสีเขียวปนน้ำตาล หรือสีน้ำตาลอมชมพู ผิวเปลือกบาง เรียบ มีตุ่มเล็กๆ ปกคลุมที่ผิวเปลือกด้านนอก เนื้อบาง ฉ่ำน้ำ รสหวาน เมล็ดมีลักษณะกลม เส้นผ่านศูนย์กลางเมล็ด 1.5 – 2.0 ซม.  ผิวมัน สีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ  ส่วนของเมล็ดที่ติดกับขั้วผล มีลักษณะเป็นวงกลมสีขาว ซึ่งเป็นตำแหน่งที่แทงออกมาของต้นกล้า

การขายพันธุ์      เพาะกล้าจากเมล็ด หรือตอนกิ่ง

ประโยชน์ของลำไย

  1. ผลลำไย ใช้รับประทานสดเป็นผลไม้ ที่ประกอบด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินซี วิตามินบี 12 โปรตีน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส โซเดียม โพแทสเซียม ทองแดง เหล็ก เป็นต้น
  2. น้ำลำไยช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย
  3. ทำเป็นอาหารได้ เช่น ข้าวเหนียวเปียกลำไย ลำไยลอยแก้ว วุ้นลำไย
  4. ลำไยอบแห้งมีส่วนช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิวได้ดีกว่าการใช้สารเคมี
  5. ผลลำไยนำมาแปรรูปได้หลากหลาย เช่น การบรรจุกระป๋อง ลำไยอบแห้ง น้ำลำไยพร้อมดื่ม เป็นต้น
  6. เนื้อไม้สีแดงของต้นลำไยมักนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ
  7. ด้านสรรพคุณ ลำไยใช้เป็นยารักษาโรคได้ เช่น เป็นยาแก้ท้องร่วง รักษาโรคมาลาเรีย บรรเทาอาการริดสีดวงทวาร เมล็ดลำไยมีสารบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นงานวิจัยของนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้ผลิตออกมาเป็นหลอดในรูปของครีมนวด ได้รับความนิยมมากอย่างรวดเร็ว เป็นต้น

        

อ้างอิง
http://coursewares.mju.ac.th: แม่โจ้

https://dimocarpuslongan.wordpress.com

http://pirun.kps.ku.ac.th/~b5620104923/a2.html

https://www.thairath.co.th/content/984403

BSRU DANCIN’ MAN ตัวแทนจากสาขาวิชานาฏยศิลป์ (4ปี) แขนงวิชาเอกนาฏยศิลป์สากล คว้าแชมป์ประเภท CHEER DANCE TEAM และประเภทอื่นอีก 6 ถ้วยรางวัล

การแข่งขันเชียร์ลีดดิ้งชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งที่ ๑๑ 

ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ณ ตึกนันทนาการ มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ทีม BSRU DANCIN’MANของนิสิตแขนงวิชาเอกนาฏยศิลป์สากล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ออกแบบท่าเต้นทั้งหมดโดย อาจารย์วิทวัส กรมณีโรจน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานาฏยศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เป็นผู้ควบคุม ออกแบบท่าเต้นและฝึกซ้อม

 

๑. ถ้วยรางวัลชนะเลิศ ประทานจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ในการแข่งขันเชียร์ลีดดิ้งชิงแชมป์ประเทศไทย ประเภทเต้นประกอบพู่ (Cheer Dance) ระดับอุดมศึกษา

๒. ถ้วยรางวัลชนะเลิศ จากสมาพันธ์กีฬาเชียร์ลีดดิ้งแห่งประเทศไทยและสมาคมเชียร์ลีดดิ้งแห่งประเทศไทย ในการแข่งขันเชียร์ลีดดิ้งชิงแชมป์ประเทศไทย ประเภทเต้นประกอบพู่ (Cheer Dance) ระดับอุดมศึกษา

รายชื่อนิสิต ดังต่อไปนี้

  1. นาย วีระศิลป์ มาลี
  2. นาย กิตติศักดิ์ สาระแสน
  3. นาย อับดุลมาตีฟ สะมะแอ
  4. นางสาว ณัฐริกา คุ้มถิ่นแก้ว
  5. นาย อรรถพล สุริราช
  6. นางสาว ธรรมสรณ์ บรรดา
  7. นาย ณัฐวุฒิ หลวงขวา
  8. นาย ทรงภพ วุฒิวิกัยการ
  9. นางสาว ธนาภรณ์ มังกรแก้ว
  10. นางสาว สุทธิดา สว่างศรี
  11. นาย สุกฤษฎิ์ มูลชัย
  12. นางสาว มนัญญา มีวัฒนา

๓. ถ้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ จากสมาพันธ์กีฬาเชียร์ลีดดิ้งแห่งประเทศไทยและสมาคมเชียร์ลีดดิ้งแห่งประเทศไทย ในการแข่งขันเชียร์ลีดดิ้งชิงแชมป์ประเทศไทย ประเภทเต้นคู่ประกอบพู่ (Double Cheer Dance) ระดับอุดมศึกษา

รายชื่อนิสิต ดังต่อไปนี้

  1. นาย อับดุลมาตีฟ สะมะแอ
  2. นาย ณัฐวุฒิ หลวงขวา

 


๔. ถ้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ จากสมาพันธ์กีฬาเชียร์ลีดดิ้งแห่งประเทศไทยและสมาคมเชียร์ลีดดิ้งแห่งประเทศไทย ในการแข่งขันเชียร์ลีดดิ้งชิงแชมป์ประเทศไทย ประเภทเต้นคู่ประกอบพู่ (Double Cheer Dance) ระดับอุดมศึกษา

รายชื่อนิสิต ดังต่อไปนี้

  1. นาย วีระศิลป์ มาลี
  2. นาย กิตติศักดิ์ สาระแสน

๕. ถ้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๔ จากสมาพันธ์กีฬาเชียร์ลีดดิ้งแห่งประเทศไทยและสมาคมเชียร์ลีดดิ้งแห่งประเทศไทย ในการแข่งขันเชียร์ลีดดิ้งชิงแชมป์ประเทศไทย ประเภทเต้นคู่ประกอบพู่ (Double Cheer Dance) ระดับอุดมศึกษา

รายชื่อนิสิต ดังต่อไปนี้

  1. นาย อภิวัฒน์ เลื่อมไธสง
  2. นางสาว พีรยา แซ่น้า

๖. ถ้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๕ จากสมาพันธ์กีฬาเชียร์ลีดดิ้งแห่งประเทศไทยและสมาคมเชียร์ลีดดิ้งแห่งประเทศไทย ในการแข่งขันเชียร์ลีดดิ้งชิงแชมป์ประเทศไทย ประเภทเต้นคู่ประกอบพู่ (Double Cheer Dance) ระดับอุดมศึกษา

รายชื่อนิสิต ดังต่อไปนี้

  1. นาย เสริมศักดิ์ ไชยงาม
  2. นาย ณฐ์ชญา ฟ้ากลาง

นิสิตที่เป็นนักกีฬาตัวสำรอง ทีมงานเบื้องหลัง เครื่องแต่งกาย แต่งหน้า ทำผมและสวัสดิการต่างๆ

  1. นาย วัชรพล กลั่นเอี่ยม
  2. นางสาว วันวิสา ชังช่างเรือ
  3. นาย รังสรรค์ สุวรรณสกนธ์
  4. นาย อมรศักดิ์ ภาสุระธีระ

สนับสนุนโดยคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย, ศูนย์ความเป็นเลิศตามอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ชื่อผลงานทางวิชาการ                การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ประเภทผลงานทางวิชาการ        บทความวิชาการ

ปีที่พิมพ์                                   2560

ข้อมูลเพิ่มเติม                           เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ในการประชุมวิชาการระดับชาติด้านการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  ครั้ง่ที่ 1  (วันที่ 16 มิถุนายน 2560)

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดถนอม ตันเจริญ

               บทความ เรื่อง   การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ( Community Based Tourism Management for Sustainable Tourism Development)ผู้เขียน คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดถนอม ตันเจริญ สาขาการเป็นผู้ประกอบการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้กล่าวถึง ลักษณะสำคัญของการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยเน้นคนในชุมชนต้องเป็นศูนย์กลาง  ยึดมั่นต่อความเป็นธรรม  มีประชาธิปไตย มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมด้วยกระบวนการส่งผ่านวัฒนธรรมไปสู่คนรุ่นต่อๆ ไป  รวมทั้งต้องมีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ จึงจะส่งผลให้ชุมชนมีอาชีพและมีรายได้อย่างต่อเนื่อง สู่ความสำเร็จของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป


 

การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

Community Based Tourism Management for Sustainable Tourism Development

                                                                                  ดร.สุดถนอม ตันเจริญ[*]

 

บทคัดย่อ

ด้วยลักษณะสำคัญของการท่องเที่ยวโดยชุมชน ประกอบด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนโดยรวม ด้วยกระบวนการทางสังคมที่มุ่งการพัฒนาโดยมีคนในชุมชนเป็นศูนย์กลาง การรวมตัวกันเป็นองค์กรชุมชนที่ยึดมั่นต่อความเป็นธรรมในการจัดการ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนและเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงสะท้อนมิติเชิงการเมือง รวมถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรม ด้วยกระบวนการส่งผ่านวัฒนธรรมไปสู่คนรุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งเป็นผลของการจัดการทรัพยากรในชุมชนด้วยสมาชิกของชุมชนนั้น ๆ ลักษณะสุดท้ายคือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผลของความร่วมมือกันในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนจะส่งผลให้ชุมชนมีอาชีพและมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ปราศจากการทำลายสิ่งแวดล้อม ทุกปัจจัยจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการก้าวไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

 คำสำคัญ: การท่องเที่ยวโดยชุมชน การมีส่วนร่วม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

 

Abstract

               The essential aspects of Community Based Tourism (CBT) which consists of community economy which provide benefits to the community as a whole. For social aspect, as community organizations that they focus on people-centered development, social justice. Community participation, responsiveness for community needs and democratization are required as the political aspect. And cultural aspect, local culture passes on to the next generation and cultural preservation. The final aspect of environmental preservation and natural resource management rights with environmental responsibility and natural resource preservation are required. Such result of Community Based Tourism will effect to more career and continuous income without evvironment damages. All mention is vital factors of Community Based Tourism Management leading to the success of real sustainable tourism development.

 Keywords: Tourism Based Tourism, Participation, Environmental Preservation, Sustainable Tourism


บทนำ

               การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism หรือ CBT) เป็นแนวคิดที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนำมาจัดการในชุมชนท้องถิ่น ตลอด  2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยรูปแบบของการจัดการโดยคนในชุมชน หรือเจ้าของพื้นที่ (Host Management) เช่น ประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ Etsuko (2008) แห่งมหาวิทยาลัย Okazaki Kobe ได้ศึกษาและพบว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นตัวแบบของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ กระบวนการความร่วมมือ และความคิดสร้างสรรค์ในกลุ่มสังคม การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนขยายตัวอย่างรวดเร็วและในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงภายในและภายนอกชุมชนมากขึ้น ทั้งนี้รูปแบบของการจัดการโดยชุมชนถูกคาดหวังว่าเป็นวิธีการจัดการท่องเที่ยวแบบหนึ่งที่มีศักยภาพ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการ และสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งทรัพยากรการท่องเที่ยวในตัวเอง (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2559)

               สำหรับประเทศไทย กระแสการพัฒนาเพื่อสนับสนุนการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของคนในท้องถิ่น รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจและสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 (มาตรา 46 และ 56) โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพึ่งตนเอง และการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการธุรกิจชุมชน (มาตรา 78) รวมถึงแนวโน้มการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ตามแนวคิดการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วม (กอบกุล รายะนาคร, 2550) แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับพบว่ามีปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในหลายพื้นที่ที่นักวิจัยศึกษารูปแบบและแนวทางการพัฒนาการจัดการการท่องเที่ยวประเภทต่าง ๆ และการท่องเที่ยวโดยการจัดการร่วมกันของชุมชนเองก็พบว่า ปัญหาเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการจัดการ ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน

               ท่ามกลางกระแสท้องถิ่นนิยม ที่มุ่งเน้นให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนท้องถิ่น ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 พอสรุปได้ว่า ในมาตรา 46 และมาตรา 56 กล่าวถึงการให้สิทธิชุมชนท้องถิ่นในการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและการตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นตามมาตรา 78 รวมทั้งแนวคิดการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง

               แนวคิดของการเดินทางท่องเที่ยวในโลกปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจะคำนึงถึงความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจมากกว่าด้านอื่น โดยเฉพาะเรื่องของการตอบสนองความพึงพอใจที่คุ้มกับค่าใช้จ่าย ในขณะที่นักท่องเที่ยวบางกลุ่มก็เห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มุ่งปกป้องสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมประเพณีที่สื่อจากโบราณสถาน ศิลปวัตถุ การแสดง ในขณะที่มีนักท่องเที่ยวที่ต้องการท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสกับวิถีชาวบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ และดูเหมือนจะเป็นกระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในภาพรวม เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนถูกกล่าวขานและมุ่งพัฒนาอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เนื่องจากปัญหาที่เกิดจากภาวะโลกร้อนประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลต่อความตระหนักในการอยู่รอดและอยู่ได้ของคนส่วนใหญ่ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นได้จากความเชื่อมโยงขององค์ประกอบสำคัญในกระบวนการมีส่วนร่วม คือร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม

               ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาอุปสรรคของการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในหลายพื้นที่ เช่น การศึกษาศักยภาพชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า ชุมชนมีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ในด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ด้านการเมือง พบว่า ไม่สามารถดำเนินการจัดการอย่างเป็นระบบและแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจนได้ ด้านเศรษฐกิจ พบว่า ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน และ ด้านสังคมและวัฒนธรรม พบว่า มีการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างชุมชนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว เพื่อตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของวิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ พบว่า ชุมชนขาดการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง และ การมีส่วนร่วมของชุมชนในการได้รับประโยชน์ พบว่า ชุมชนไม่มีการรวมตัวกันเพื่อประกอบธุรกิจ ร่วมกัน และส่วนใหญ่ชุมชนจะมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยว (วรรณวิมล ภู่นาค, 2557) ชี้ให้เห็นว่าชุมชนตระหนักถึงการเรียนรู้ ทั้งด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และการอนุรักษ์วัฒนธรรม แต่ขาดความร่วมมือ เช่นเดียวกับผลการวิจัยเรื่อง การท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชนและท้องถิ่น (สุดถนอม ตันเจริญ, 2559) ซึ่งพบว่า องค์กรชุมชนถูกจัดตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีการจัดการและการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ภายใต้จิตสำนึกในการพัฒนาตนเอง แต่ความความเข้มแข็งในชุมชนที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนยังขาดความร่วมมือร่วมใจและแรงสนับสนุนความเข้มแข็งของกลุ่มในระยะยาว

               นอกจากปัญหาและอุปสรรคในชุมชนเองแล้ว การท่องเที่ยวยังประสบกับปัญหามลภาวะและส่งผลกระทบต่อสังคมหรือชุมชนนั้น ๆ เพราะการเติบโตของการท่องเที่ยวที่มีผลดีทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เช่น ปัญหาการทําลายทัศนียภาพ ค่าครองชีพสูงขึ้น วิถีชีวิตของชุมชนเปลี่ยนไปเป็นสังคมเมืองและสูญเสียความเป็นตัวตนหรือเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้ การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนจึงเป็นทางออกที่ดีสำหรับการลดและขจัดปัญหานี้ เพราะการท่องเที่ยวโดยชุมชนในบริบทของพื้นที่แหล่งทรัพยากรอันหลากหลายของชุมชน การพิจารณาการใช้ประโยชน์ในประเด็นนี้เป็นการเน้นการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติเป็นหลัก มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น รวมถึงแหล่งวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศในพื้นที่ ดังนั้น การท่องเที่ยวโดยชุมชน จึงตั้งอยู่บนฐานคิดที่เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการผสมผสานจุดมุ่งหมายของการฟื้นฟูและอนุรักษ์สภาพแวดล้อม รวมทั้งอัตลักษณ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆของชุมชนอันมีวิถีชีวิตและจารีตประเพณีแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีจุดมุ่งหมายให้คนในชุมชนรู้จักการสร้างสำนึกท้องถิ่น เร่งเร้าความภาคภูมิใจในความเป็นอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมประเพณีของตน รวมทั้งสามารถให้คำอธิบายกับคนนอกหรือนักท่องเที่ยวได้รับรู้ และเข้าใจในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น ความสวยงามและคุณค่า ตลอดจนการสื่อให้เห็นพัฒนาการของวัฒนธรรม จารีตประเพณีทั้งนี้เพื่อให้คนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การเคารพต่อความเชื่อ ศักดิ์ศรีและสิทธิในการเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ วัฒนธรรม ประเพณี และพิธีกรรมของชุมชน โดยเน้นการจัดการท่องเที่ยวบนเงื่อนไขของการจัดการที่มีความรับผิดชอบที่จะช่วยกันลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ทั้งนี้มุ่งให้มีการจัดการที่ยั่งยืนครอบคลุมถึงการอนุรักษ์

การท่องเที่ยวโดยชุมชน

               ด้วยลักษณะสำคัญของการท่องเที่ยวโดยชุมชนด้วยชุมชนเอง ซึ่งประกอบด้วยมิติการจัดการและการพัฒนา 5 ด้านคือ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม (Mintzberg, 2009) สรุปได้ว่า การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้องมีการส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชน โดยการพัฒนาที่มีคนในชมชนเป็นศูนย์กลาง และมีลักษณะด้านการเมืองคือรูปแบบการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง รวมถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมส่งผ่านวัฒนธรรมไปสู่คนรุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งเป็นผลของการจัดการทรัพยากรในชุมชนด้วยสมาชิกของชุมชนนั้น ๆ ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในความหมายของการเป็นผู้ประกอบการ มีการจ้างงาน การจัดการที่ดิน จัดหาสินค้าและบริการให้แก่นักท่องเที่ยว ไปพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และชุมชนนั้นก็มีอาชีพและมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น การท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ประสบความสำเร็จยังแสดงให้เห็นถึงการที่นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน เป็นองค์ประกอบสำคัญของธุรกิจบริการที่ชุมชนนำเสนอแก่นักท่องเที่ยวทุกประเภท (Middleton, 1998) ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาที่ปราศจากการทำลายสิ่งแวดล้อมที่นำมาซึ่งความสำเร็จของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

               การท่องเที่ยวโดยชุมชนจัดว่าเป็นการมุ่งบทบาทสำคัญของการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน จำเป็นต้องมีหน่วยงานรัฐและเอกชนทุกส่วนสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานการท่องเที่ยวมีหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง

               การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว ในความหมายที่ครอบคลุมทรัพยากรการท่องเที่ยว ซึ่งหมายความถึง พื้นที่ สิ่งของ กิจกรรม และหรือมิติอื่นใดที่สามารถให้คุณค่าเชิงการท่องเที่ยว เช่น ความสวยงามตามธรรมชาติคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ เป็นต้น แก่นักท่องเที่ยว ทั้งนี้ ทรัพยากรการท่องเที่ยวสามารถปรากฏได้ทั้งในลักษณะของรูปธรรมที่สามารถสัมผัสได้ด้วยการจับต้อง เช่น สิ่งก่อสร้าง ของที่ระลึก ถ้ำ และน้ำตก เป็นต้น และในลักษณะของนามธรรมที่ไม่สามารถสัมผัสได้ด้วยการจับต้องแต่สามารถสัมผัสได้ด้วยทางอื่น เช่น ภูมิปัญญาทอ้งถิ่น ภาษาความเป็นชนเผ่า และการเล่นการแสดงพื้นบ้าน เป็นต้น รวมถึงสถานที่ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว กิจกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นที่ มีลักษณะเด่นดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว (มนัส สุวรรณ และคณะ, 2541)

               พจนา สวนศรี (2546: 15) กล่าวถึง องค์ประกอบหลักของการท่องเที่ยวโดยชุมชนว่ามีอยู่ 4 ด้าน คือ 1) ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม 2) องค์กรชุมชน 3) การจัดการ 4) การเรียนรู้ จากผลการวิจัย เรื่อง การท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชนและท้องถิ่น (สุดถนอม ตันเจริญ, 2559) ชี้ให้เห็นว่า องค์กรชุมชนถูกจัดตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีการจัดการและการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ภายใต้จิตสำนึกในการพัฒนาตนเอง พึ่งพาตนเอง คิดเป็นทำเป็น มีความพยายามในการเรียนรู้พัฒนา เกิดรายได้เพิ่มขึ้นมีการรวมตัวกัน สร้างความเข้มแข็งในชุมชน นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามความคาดหวังและความพยายามที่จะดำเนินการเพื่อให้เป็นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามที่ วีระพล ทองมา (2555) อธิบายไว้คือ 1) ด้านเศรษฐกิจ 2) ด้านสังคมวัฒนธรรม 3) สิ่งแวดล้อม และสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนคือการรวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญา สืบสานสืบทอด ตลอดจนการนำไปใช้ประโยชน์ได้ เกิดความรัก ความภาคภูมิในความรู้สึกเป็นเจ้าของ มีส่วนร่วมในทรัพยากรของชุมชน และเกิดกระบวนการเรียนรู้การทำงานร่วมกันในที่สุด ในความหมายของผลกระทบด้านบวกของการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน

               จากแนวคิด หลักการ ความหมาย ลักษณะสำคัญและองค์ประกอบของการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น พอสรุปได้ว่า ความสำเร็จของการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนและการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจหรือการยกระดับรายได้และกระจายงานหรือผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ผ่านกระบวนการจัดการ การมีส่วนร่วม และการดำเนินงานขององค์กรชุมชนที่เป็นทางการ เช่น สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เป็นต้น ที่เข้าใจและพึงพอใจในเป้าหมายเดียวกัน โดยใช้ทรัพยากรของชุมชนเอง รวมถึงสถานที่ และการนำเสนอบริการท่องเที่ยวหรือข้อมูลเชิงวัฒนธรรม โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างชัดเจน

               แนวทางป้องกันและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้เสื่อมโทรม โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนกับการจัดการท่องเที่ยว โดยให้ชุมชนเข้ามารับรู้และมีส่วนร่วมในการแสดงความต้องการ ความริเริ่ม เสนอความคิดเห็น ร่วมประชุม ให้ข้อมูล วิเคราะห์ตัดสินใจ และพัฒนากระบวนการ/ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นอย่างแท้จริง และเป็นการกระจายรายได้การยกระดับคุณภาพชีวิตและเป็นการจัดการทรัพยากรของท้องถิ่นด้วย โดยการสร้างฐานความรู้ความเข้าใจในด้านต่างๆ ให้กับชุมชนก่อน เช่น หลักการ แนวทาง ลักษณะของทรัพยากรการท่องเที่ยว ลักษณะและพฤติกรรมของกลุ่มตลาด เพื่อให้ชุมชนมีความสามารถในการ จัดการและพัฒนาทรัพยากรและการท่องเที่ยวได้อย่างเป็นระบบ ถูกต้องและเหมาะสม (อริสรา เสยานนท์, 2552)

               จากผลการวิจัยของสุดถนอม ตันเจริญ (2559) ศักยภาพด้านการจัดการเกี่ยวกับการกระจายผลประโยชน์ที่เกิดจากการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้อย่างเป็นธรรม และศักยภาพด้านองค์กรชุมชน เกี่ยวกับชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของและเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา สร้างเสริมงานและรายได้ให้แก่ชุมชน มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด แสดงว่า สมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าผลประโยชน์ที่ชาวบ้านได้รับจากการท่องเที่ยวในพื้นที่ยังไม่มีความเป็นธรรมเท่าที่ควร อีกทั้งพวกเขายังต้องการการมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้านต่าง ๆ มากขึ้น เช่นเดียวกับผลการวิจัยของ นรินทร์ สังข์รักษา สุภาภรณ์ พรหมฤาษี และ ธีรังกูร วรบำรุงกุล (2559) ที่พบว่า แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวต้องการบทบาทของ 5 ส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน นักท่องเที่ยว และสถาบันการศึกษา ซึ่งจะช่วยกันสร้างแรงจูงใจแก่นักท่องเที่ยว ทั้งด้านความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมต่าง ๆ ความปลอดภัย ความเป็นมิตร และสิ่งอำนวยความสะดวก ล้วนต้องการผู้บริหารและคนจากทุกฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ดังนั้นองค์ประกอบสำคัญของความร่วมมือในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้องอาศัยสมาชิกในชุมชนรวมทั้งภาครัฐ (ท้องถิ่น) และเอกชนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยคำนึงการผลิต การใช้ไป จากทรัพยากร (การท่องเที่ยว) ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ในขณะที่ทุกฝ่ายก็ต้องช่วยกันปกป้องคุ้มครองให้คงอยู่และมีมากขึ้น มิใช่เพียงแต่สมาชิกในชุมชนเท่านั้น ดังภาพที่ 1

การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

               การพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืนเกิดจากการร่วมคิดร่วมทำด้วยความเต็มใจเพราะมีเป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข พร้อม ๆ ไปกับความเจริญงอกงามเชิงวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เพราะการท่องเที่ยวเป็นที่มาของรายได้ เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์ ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิตอันดีงาม และเป็นเครื่องมือ ในการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนนั้น ได้แก่ นักท่องเที่ยว เจ้าของแหล่งท่องเที่ยว รวมไปถึงผู้ประกอบการทุกประเภท

การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

               แนวคิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) หลักการที่สำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ของ World Tourism Organization (2016) (1) มีการดำเนินการจัดการภายใต้ ขีดความสามารถของระบบธรรมชาติมีการทดแทนการฟื้นฟูให้สามารถผลิตและ ให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ตลอดไป โดยไม่ลดถอยหรือเสื่อมโทรมลง ตระหนัก ถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและความต้องการของชุมชน (2) มีการกระจาย ประโยชน์อย่างเป็นธรรมสู่ท้องถิ่น (3) ให้ประสบการณ์นันทนาการที่มีคุณค่าแก่นักท่องเที่ยว (4) ให้ผู้มาเยือนหรือนักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ ทรัพยากรและวิถีชีวิต (5) การออกแบบที่กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่น และใช้วัสดุในท้องถิ่น (6) เน้นการผสมผสานการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนสู่แผนพัฒนา ระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับประเทศ (7) เน้นข้อมูลพื้นฐานเพื่อเป็นฐานการ ตัดสินใจและการติดตามตรวจสอบ

               องค์การการท่องเที่ยวแห่งโลก (WTO, 2016) ได้ให้คำจำกัดความล่าสุดของการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (sustainable Tourism) ว่าการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนจะไม่ใช่เป็นเพียงแค่การท่องเที่ยวขนาดเล็กหรือการตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche tourism segments) หากแต่การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนจะต้องครอบคลุมถึงการตลาดโดยรวมหรือที่เรารู้จักกันในชื่อที่เรียกว่า “การท่องเที่ยวแบบมวลชน” (Mass tourism) โดยทั่วไปการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน หมายถึง การท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญต่อการเสมอภาคระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสังคมและวัฒนธรรมของคนทั้งในรุ่นปัจจุบันต่อไปจนถึงคนในอนาคต ดังนั้น หลักการและแนวคิดที่สำคัญของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในคำจำกัดความของ WTO จึงประกอบด้วย

  • การท่องเที่ยวต้องตระหนักและใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด
  • การเคารพในสังคม วัฒนธรรม และประเพณีของประชาชนพื้นเมือง รวมไปถึงการรู้จักปรับตัวและเข้าใจถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมและประเพณีของแต่ละชุมชน
  • การสร้างความเจริญมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนควรก่อให้เกิดการกระจายของรายได้อย่างเป็นธรรมและทั่งถึงแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการท่องเที่ยว (tourism stakeholder) นอกจากนี้ ยังควรที่จะก่อให้เกิดการจ้างงานและการสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น รวมไปถึงการมีส่วนสำคัญในการช่วยลดความยากจนในท้องถิ่นด้วย

               การพัฒนาการท่องเที่ยวทั้งหมดต้องมุ่งสู่ความยั่งยืน (All tourism should be Sustainable Tourism) ตามคำกล่าวของ Dowling (1995) เขาอธิบายภาพรวมว่า หลักการที่ต้องปฏิบัติจริงจัง ได้แก่ การดําเนินกิจการการท่องเที่ยวในขอบเขตความสามารถการรองรับของธรรมชาติชุมชน ขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม และวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชุมชนกับกิจกรรมการท่องเที่ยว ภายใต้การตระหนักในกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน เอกลักษณ์และอัตลักษณ์ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ดังนั้นจึงต้องมีการประสานการจัดการร่วมกัน เพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ ชุมชน ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชน อีกทั้งป้องกันปัญหาเรื่องผลประโยชน์และความขัดแย้งด้วยการประสานความต้องการและกําหนดแผนงานทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนของการดำรงอยู่และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น

 

สรุปและข้อเสนอแนะ

               ผู้เขียนเห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้ยั่งยืน โดยการจัดการการท่องเที่ยวที่มีจิตสำนึกและมีความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศโดยเฉพาะแม่น้ำลำคลอง การจัดการท่องเที่ยวที่สร้างความรู้และให้ความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น และต้องการให้ประชาชนในท้องถิ่นมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการ/กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน สอดคล้องกับแนวคิดของ อุษาวดี พูลพิพัฒน์ (2545) ที่ว่า การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนโดยชุมชนมีส่วนร่วม เป็นการท่องเที่ยวที่มีความต่อเนื่อง มีคุณภาพ และมีความสมดุลด้านความต้องการของชุมชนท้องถิ่นและขีดความสามารถของทรัพยากรที่มี และผลการวิจัยของเทพรัตน์ จันทพันธ์ และวิวัฒน์ ฤทธิมา (2556) พบว่าการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนของตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา มีรูปแบบของฐานการเรียนรู้ในชุมชน ซึ่งลักษณะของฐานองค์ความรู้ ประกอบด้วยกิจกรรมของแหล่งเรียนรู้ การท่องเที่ยวโดยชุมชนของตำบลบ้านขาว คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม มีการกำหนดทิศทางโดยชุมชน การจัดการโดยชุมชน เพื่อชุมชน โดยที่ชุมชนมีบทบาทในฐานะเจ้าของ มีสิทธิในการจัดการดูแลเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้มาเยือน และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน องค์กร ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ เข้ามาร่วมคิดร่วมวางแผน มีส่วนร่วมในการดำเนินการในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เช่นเดียวกับผลการวิจัยของ สุดถนอม ตันเจริญ (2558)  พบว่าการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และป้ายประชาสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์เผยแพร่ความรู้ด้านการสื่อสารการตลาดกับการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมไทย เป็นที่สนใจของชุมชนอย่างมาก รวมถึงการเรียนรู้ของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การจัดกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มศักยภาพในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนได้คือสามารถพึ่งตนเองได้ด้วยการจัดการร่วมกันของสมาชิกในชุมชน (สุดถนอม ตันเจริญ, 2559)

               หลายพื้นที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องของการกระจายผลประโยชน์ ดังนั้นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนนั้น ได้แก่ นักท่องเที่ยว เจ้าของแหล่งท่องเที่ยว รวมไปถึงผู้ประกอบการทุกประเภท การเพิ่มศักยภาพของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับการสร้างงานสร้างรายได้ภายในชุมชน ต้องมีการวางแผนร่วมกันของทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันและลดปัญหาความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความสามัคคีและร่วมมือร่วมใจกันทำงานเพื่อส่วนรวม และสร้างความสามารถพึ่งตนเองได้ ยังต้องการการแนะนำจากผู้นำชุมชน รวมถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

               นอกจากนั้น ผู้บริหาร ผู้นำชุมชน ธุรกิจชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรเน้นการสร้างตราสินค้าแหล่งท่องเที่ยว (Destination Branding) เพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชนอย่างยั่งยืน ได้กลายเป็นแนวคิดที่สำคัญแนวคิดหนึ่งในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พร้อม ๆ กับ การรณรงค์เพื่อป้องกันและลดการต่อต้านการเจริญเติบโต อันเนื่องมาจากการพัฒนา แต่ต้องเน้นข้อจำกัดของการเจริญเติบโต และการท่องเที่ยวต้องจัดการบริหารภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากรของชุมชน

               ด้านสมาชิกของชุมชนและผู้นำชุมชนควรร่วมหารือกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการวางแผนและจัดการการท่องเที่ยว มุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นหลักและคำนึงถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับงานต่าง ๆ อย่างระมัดระวัง โดยอาศัยการแสดงความคิดเห็นด้วยฉันทามติทุกขั้นตอน และเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน ชุมชนทุกพื้นที่ทุกจังหวัดมีจุดเด่นทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนนั้น ๆ อยู่แล้ว ควรศึกษาและทำความเข้าใจในความเป็นมาอย่างลึกซึ้งและจริงจัง เพื่อดึงออกมาเป็นจุดดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวได้มุกประเภท เช่น แหล่งท่องเที่ยวโดดเด่นเชิงวัฒนธรรม วัดและโบราณสถาน ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและจูงใจให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีเอกลักษณ์และมีความเป็นระเบียบที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้

เอกสารอ้างอิง

กอบกุล รายะนาคร. (2550). กฎหมายกับสิ่งแวดล้อม.  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน.

เทพรัตน์ จันทพันธ์ และวิวัฒน์ ฤทธิมา. (2556). เรื่อง การท่องเที่ยวโดยชุมชนของตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัด

พจนา สวนศรี. (2546). คู่มือการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน. กรุงเทพมหานคร: โครงการท่องเที่ยวเพื่อชีวิตและธรรมชาติ.

มนัส สุวรรณ และคณะ. (2541). โครงการศึกษาแนวทางและการจัดการท่องเที่ยวในพื้นที่รับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลและสภาตำบล. กรุงเทพฯ: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

วรรณวิมล ภู่นาค. (2557). ศักยภาพชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน: กรณีศึกษาตลาดนํ้าอัมพวา. วารสารบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลา ปีที่ 26(1) หน้า 63-74.

วีระพล ทองมา. (2555). การท่องเที่ยวสีเขียว: เรื่องจริงหรือแค่ภาพลวงตา รายงานผลการดำเนินโครงการสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 2 จังหวัดเชียงใหม่.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. (2559). การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2559 จาก http://www.trf.or.th/index.php?option=com _content&view=article &id=957:2012-07-01-03-23-01&catid=35:research-orum&Itemid=146

สุดถนอม ตันเจริญ. (2558). ประเพณีลอยกระทงกับการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและการอนุรักษ์วัฒนธรรม. รายงานสืบเนื่องการประชุมวิชาการระดับชาติสหวิทยาการเอเชียอาคเนย์ 2558 วันที่ 25 มิถุนายน 2558 กรุงเทพฯ (หน้า 496-502) กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์.

สงขลา. รายงานสืบเนื่องการประชุมหาดใหญ่วิชาการ ครั้งที่ 4 วันที่ 10 พฤษภาคม 2556 หน้า 71-78..

นรินทร์ สังข์รักษา สุภาภรณ์ พรหมฤาษี และ ธีรังกูร วรบำรุงกุล. (2559). รูปแบบและพฤติกรรมท่องเที่ยวที่ไร้ความรีบเร่งของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย    วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยการหอการค้า ไทย มนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์. 36, 2: 1-19.

อริสรา เสยานนท์. (2552). การป้องกันการเสื่อมโทรมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของตลาดน้ำ

อัมพวา . วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย. ปีที่ 29 ฉบับที่ 4 หน้า 163-172, สืบค้นจาก http://www.utcc.ac.th/public_content/files/001/29_4-13.pdf29(4) 52

อุษาวดี พลพิพัฒน์. (2545). การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน: กรณีศึกษาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชนในประเทศไทย. จุลสารการท่องเที่ยว. 21(4) หน้า 38-48.

Dowling, R.K. (1995). Regional ecotourism development plans: Theory and practice. Paperpresented in the regional Symposium of the geography of sustainable tourism: In Australia, New Zealand, SouthWest Pacific and South-East Asia, Canberra, Australia, September.

Etsuko, Okazaki. (2008). A Community-Based Tourism Model: Its Conception and Use. Journal of Sustainable Tourism, 16(5) pp. 511–529. Retrieved from http://www.tandfonline.com/doi/abs/10. 1080/09669580802159594#.VfAGANJVhBc

Middleton, V. T. C., & Hawkins, R. (1998). Sustainable tourism: A Marketing perspective.Massachusetts: Butterworth-Heinemann.

Mintzberg, H. (2009). Rebuilding companies as communities. Harvard Business Review (July–August 2009).

WTO. (World Tourism Organization). Tourism, a factor of sustainable development. Retrieved on 10 November 2016 from http://ethics.unwto.org/en/content/global-code-ethics-tourism-article-3

สาละลังกา ไม้ดอกสวยที่มักสับสน

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ พรรณไม้ชื่อ “สาละ” มี 2 ชนิด คือ สาละลังกา และ สาละอินเดีย ทั้งสองชนิดนี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ก็ยังเกิดความสับสน และเข้าใจผิดถึงความสำคัญมาเนิ่นนานยากที่จะแก้ไข เพราะเป็นความเชื่อทางด้านไสยศาสตร์และโชคลาภ สาละลังกาเป็นไม้ดอกสวยมาก มีลักษณะรูปร่างของดอกที่พิสดาร หาดอกไม้อื่นมาเทียบได้ยาก อีกทั้งผลขนาดใหญ่เท่าตะกร้อก็ดูโดดเด่น ผู้คนเกือบทั้งหมดเชื่อว่าสาละลังกาเป็นพรรณไม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ  พระคุณเจ้าเกือบทุกวัดก็มีความเชื่อเช่นนั้น จึงมีการปลูกสาละลังกาไว้เกือบทุกวัด บางวัดก็ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติกราบไหว้เพื่อขอพร ทั้งที่ความจริงแล้วนั้น ควรจะกราบไหว้ต้น“สาละอินเดีย” ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติโดยตรง ด้วยเป็นต้นไม้วงศ์เดียวกันกับยางนา จึงเห็นแต่ใบทั้งปี ผู้คนจึงไม่ค่อยรู้จัก โอกาสต่อไปจะนำ“สาละอินเดีย”มาให้รู้จักกัน   

 

สาละลังกา

ชื่อวิทยาศาสตร์ Couroupita guianensis Aubl.

ชื่อวงศ์  LECYTHIDACEAE

ชื่อสามัญ Cannon-ball tree

ชื่ออื่น ลูกปืนใหญ่

ถิ่นกำเนิด อเมริกาเขตร้อน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 30 เมตร ผลัดใบหมดทั้งต้นในฤดูหนาว  เรือนยอดทรงกลมหรือรูปไข่ เปลือกลำต้นสีน้ำตาลแกมเทา แตกเป็นร่องและสะเก็ด ใบเดี่ยว  หนา ขนาดใหญ่ เรียงเวียนสลับ เป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง รูปขอบขนานถึงรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบหรือมน ขอบใบจักตื้น  กว้าง 5-8 ซม. ยาว 12-25 ซม.  ดอกสีชมพูอมเหลืองหรือแดง หรือม่วงหรือเหลือบทั้งสามสี  ด้านในสีม่วงอ่อนอมชมพู   มีกลิ่นหอมมาก   ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะขนาดใหญ่ตามลำต้นแม้กระทั่งโคนต้น   ช่อดอกยาว 30-150 ซม.   ปลายช่อโน้มลง   ออกดอกตลอดปี กลีบดอกหนา  6 กลีบ ทุกกลีบมีขนาดเท่ากัน  กลางดอกนูน ก้านชูเกสรเพศผู้ปรับเป็นแผ่นใหญ่สีขาวขนาดเท่ากลีบดอกและพับครึ่งลงมา ทำให้รูปร่างแปลกไปจากดอกไม้อื่น มีสีขนสั้นสีเหลืองคล้ายแปรงที่ปลาย  เกสรเพศผู้เป็นเส้นยาวสีชมพูแกมเหลืองจำนวนมาก ดอกทยอยบานจากโคนไปหาปลายช่อ นานเป็นเดือน ดอกบานเต็มที่กว้าง 5-10 ซม. ผลทรงกลมใหญ่  เส้นผ่าศูนย์กลาง 10-20 ซม. เปลือกเเข็ง สีน้ำตาลปนแดง ผลสุกมีกลิ่นเหม็นเอียน มีเมล็ดรูปไข่จำนวนมากแทรกอยู่ในเนื้อที่เหนียวข้น

การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด

ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับตามสถานที่ราชการ วัด สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ เพราะมีดอกขนาดใหญ่ สวยงาม มีกลิ่นหอม ผลกลมโตคล้ายลูกปืนใหญ่และดกมากก็เป็นสิ่งดึงดูดความสนใจจากผู้คนที่พบเห็น

หมายเหตุ สาละลังกาไม่ได้เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติแต่อย่างใด เนื่องจากสาละลังกามีดอกและผลตลอดปี ออกเป็นงวงยาวตามลำต้นตั้งแต่โคนขึ้นไป ซึ่งผลของของลูกปืนใหญ่มีเปลือกแข็งขนาดส้มโอ หรือตะกร้อ  ซึ่งไม่เหมาะแก่การนั่งพักหรือทำกิจใดๆได้ หากผลร่วงใส่ร่างกายก็อาจทำให้บาดเจ็บได้

อ้างอิง 1. http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/index.php/linkoldfragrant-2/338-couroupita

2.https://sites.google.com/site/councilcoving1/laksna-thang- phvkssastr/sala-langka

3. https://th.wikipedia.org/wiki

 

จิกสวน…ดอกสวยยอดอ่อนกินอร่อย

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ พรรณไม้ในวงศ์จิก หรือ FAMILY LECYTHIDACEAE มีชื่อคำว่า“จิก”นำหน้าหลายชื่อ ล้วนแล้วแต่เป็นพรรณไม้ดอกสวยมีกลิ่นหอม และดอกบานกลางคืน เช่น จิกทะเล จิกนา จิกนมยาน จิกนา จิกเศรษฐี และจิกสวน เป็นต้น ผู้พบเห็นจิกเหล่านี้ก็จะสับสนว่า ต้นที่พบเป็นจิกชนิดใด บทความนี้ขอเขียนถึง “จิกสวน” ก่อน เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว เนื่องจากจิกสวนที่ผู้เขียนปลูกไว้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยามากว่า10ปีนั้นกำลังออกดอกส่งกลิ่นหอม ดอกที่ร่วงอยู่ตามพื้นใต้โคนต้นก็ยังสวยสะดุดตา  ผู้พบเห็นก็จะสงสัยว่าต้นอะไร ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ผลคล้ายแอปเปิลนั้นกินได้หรือไม่ บทความนี้จะให้ความกระจ่างพร้อมภาพประกอบ

 

จิกสวน

ชื่อวิทยาศาสตร์  Barringtonia racemosa (L.) Spreng

ชื่อวงศ์ LECYTHIDACEAE หรือ BARRINGTONIACEAE)[

ชื่อสามัญ  Powderpuff tree,  Bottle brush oak

ชื่ออื่น จิกน้ำ จิกบ้าน  

ถิ่นกำเนิด ไทย และกระจายพันธุ์ไปถึงอินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย ตอนใต้ของแอฟริกา จนถึงหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เนื่องจากผลมีน้ำหนักเบา ลอยน้ำได้ดี ทำให้กระจายพันธุ์ไปได้แพร่หลายและรวดเร็ว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้ถึง 20 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกลำต้นสีน้ำตาลปนเทา มีลักษณะขรุขระ เปลือกชั้นในเป็นสีน้ำตาลอ่อนถึงสีชมพู มีเส้นใยเหนียว ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเรียงเวียนรอบกิ่ง เป็นกระจุกหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ รูปไข่กลีบแกมรูปขอบขนาน หรือรูปหอก ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบแคบ ขอบใบหยักตื้นมนและละเอียด หรือเป็นจักฟันเลื่อยเล็กน้อย  กว้าง 10-15 ซม. ยาว 20-30 ซม. ยอดอ่อนสีน้ำตาลแดง มันวาว  แล้วเปลี่ยนเป็นสีเขียว เนื้อใบหนา  หยาบ ก้านใบสั้นและเป็นครีบเล็กน้อย ดอกเป็นช่อกระจะที่ปลายยอดและห้อยลง  ช่อดอกมีความยาวประมาณ 30-90 ซม. ก้านช่อดอกเป็นสีชมพูอมเขียว ดอกทยอยบานตั้งแต่โคนช่อดอกลงไปวันละ 5-10 ดอก หลายวันจนกว่าจะบานหมดทั้งช่อ กลีบดอกสีชมพู 4 กลีบ ปลายกลีบแหลม กว้าง 0.5-1.0 ซม. ยาว 1.5-2.5 ซม. กลีบเลี้ยง 2-4 กลีบ ติดกันเป็นแผ่นเดียว เกสรเพศผู้เป็นเส้นเล็กสีชมพูเข้มจำนวนมาก ยาว 2.5-4 ซม. โคนเกสรเชื่อมติดกัน โคนก้านเป็นสีชมพูเข้มกว่าส่วนบน เรียงเป็นชั้น 5-6 ชั้น ออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน มีกลิ่นหอม บานกลางคืน และร่วงโรยตอนเช้ามืด ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ผลเป็นรูปลูกข่าง หัวป้านปลายตัดตรงจนแหลม โคนแคบเกือบเป็นรูปสามเหลี่ยม กลีบเลี้ยงติดที่ขั้วผลจนผลแก่ ผลกว้าง 4-6 ซม. ยาว 5-7 ซม. มีเมล็ดเดียว รูปไข่ ผิวเป็นร่อง

การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด และ การตอนกิ่ง

สภาพนิเวศน์ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ระบายน้ำได้ดี มีแสงแดดรำไรถึงแสงแดดจัด ชอบน้ำมาก ขึ้นได้ดีตามริมน้ำ ขอบป่าพรุ หรือในที่ลุ่ม ที่ชื้นแฉะ หรือบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง เช่น ตามริมฝั่งแม่น้ำ คูคลอง ร่องสวน เป็นต้น

ประโยชน์ 1. ใบอ่อนของต้นจิกสวน นำมาใช้รับประทานเป็นผักสดกับอาหารรสจัดพวกลาบ น้ำพริก และอาหารภาคใต้  มีรสชาติดีเฉพาะตัว ค่อนข้างฝาดแต่มัน นิยมรับประทานกันไม่เฉพาะในคนไทยเท่านั้น แต่คนชาติอื่น ๆ ก็นิยมรับประทานเช่นกัน

2. ดอกของต้นจิกมีความสวยงาม มีกลิ่นหอม อีกทั้ง ใบ ผล และทรงพุ่มก็สวยงาม จึงนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ทั้งในบ้าน ในวัด สวนสาธารณะ และสถานที่อื่นๆอีกมาก

3. เนื้อไม้จิกสวนเป็นไม้เนื้ออ่อน มีสีขาวแกมสีแดง มีความเหนียว สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างในร่มได้ดี หรือนำมาใช้ในการทำเครื่องมือเครื่องใช้ ครก สาก เครื่องเรือน ทำเรือ ทำพาย ทำเกวียน เป็นต้น

4. ผลแห้งของจิสวน นำมาตกแต่ง หรือประดิษฐ์เป็นของประดับได้สวยงาม

หมายเหตุ ต้นจิกสวน เป็นต้นไม้ในพระพุทธประวัติ  ในพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า หลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ได้ทรงย้ายไปประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นจิก 7 วัน และในระหว่างนั้นเองก็ได้มีฝนตกพรำและมีลมหนาวพัดตลอดเวลา ก็ได้มีพญานาคตนหนึ่งชื่อพระยามุจลินท์นาคราช ได้แผ่พังพานปกป้องพระพุทธเจ้าจากฝนและลมหนาวตลอดทั้ง 7 วันใต้ต้นจิก นี่คือมูลเหตุของการสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง 1. http://book.baanlaesuan.com/plant-library/wild-guava/

2. https://medthai.com

3. https://th.wikipedia.org/wiki

 

ม่อนไข่…ผลไม้หลายชื่อ

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ “ม่อนไข่” มีอีกชื่อที่นิยมเรียกกันคือ “เซียนท้อ” และมีอีกหลายชื่อ เป็นไม้ผลที่มีผลสวย ใบสวย นิยมปลูกเป็นไม้ประดับมากกว่าที่จะปลูกไว้รับประทานผล บางบ้านก็เก็บมาวางขายหน้าบ้านดีกว่าปล่อยให้ร่วงทิ้ง บางจังหวัดก็มีวางขายในตลาดตลอดปี เช่น ตลาดวโรรส จังหวัดเชียงใหม่ มีหลายร้าน ร้านละกว่าสิบกิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 60-80 บาท ผู้ขายต้องติดชื่อไว้ จะได้ไม่ต้องตอบคำถามตลอดทั้งวัน เคยเห็นผู้คนรุมล้อมดู“ม่อนไข่”ผลไม้แปลกในตลาดนัดที่อัมพวา เพราะเป็นผลไม้ที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นมาก่อน จึงเขียนบทความนี้มาเผยแพร่ให้รู้จัก“ม่อนไข่”กันกว้างขวางยิ่งขึ้น 

 

ม่อนไข่

ชื่อวิทยาศาสตร์  Pouteria campechiana (Kunth) Baehni

ชื่อวงศ์ SAPOTACEAE

ชื่อสามัญ  Canistel, Egg fruit, Tiesa, Yellow sapote, Chesa, Laulu lavulu

ชื่ออื่น เซียนท้อ ลูกท้อ ท้อไข่ ท้อเขมร  ทิสซา ท้อเทวดา ละมุดเขมร ละมุดสวรรค์ 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้มากกว่า 8 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของต้น 30-50 ซม. กิ่งก้านและลำต้นมียางสีขาว ลำต้นค่อนข้างตรง และแตกแขนงสาขาที่ความสูงประมาณ 1 เมตรเหนือระดับดิน   กิ่งอ่อนเป็นสีน้ำตาล ทรงพุ่มโปร่งกว้าง กว้าง 7-8 เมตร ใบเดี่ยว สีเขียวเข้มเป็นมันและบางเรียงสลับ ออกรวมกันเป็นกระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง  ใบรูปหอก ปลายใบเรียวแหลม กว้าง 7-9 ซม. ยาว 15-28 ซม. ก้านใบด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน ดอกเดี่ยว ออกเป็นช่อสั้นๆจำนวนมากตามซอกใบใกล้ปลายยอด ช่อละ 2-3 ดอก  กลีบดอกเล็ก ปลายแหลมสีขาวนวล จำนวน 24 กลีบ เรียงซ้อนกันสองชั้น มีกลิ่นหอม เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 1–1.5 ซม. ผลเดี่ยว ทรงกลมรี ปลายผลแหลมหรือมีจะงอย กว้าง 6-8 ซม. ยาว 8-11 ซม. โคนผลกว้างมนและสอบแคบลงมาที่ก้นผลคล้ายลูกข่าง สีเขียวเรียบเนียน เมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองอ่อนถึงเหลืองเข้ม  เปลือกผลบาง ขั้วผลใหญ่แต่สั้น เนื้อในผลเป็นสีเหลืองสด ลักษณะร่วนคล้ายไข่แดงต้ม รสหวาน มีเมล็ดขนาดใหญ่ 1 ถึง 2 เมล็ด  รูปรีสีน้ำตาล เพาะกล้าได้ง่าย

ถิ่นกำเนิด มีถิ่นกำเนิดในประเทศในทวีปอเมริกาใต้ เช่น เม็กซิโก เบลีซ กัวเตมาลา คอสตาริกาเอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส ปานามา นิการากัว

การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด จะงอกภายใน 1 เดือน

ประโยชน์ 1. ผลม่อนไข่ รับประทานเป็นผลไม้สด มีรสหวาน หอม ชาวฟลอริดานิยมรับประทานร่วมกับเกลือ พริกไทย มายองเนส หรือน้ำมะนาว

2. นำผลมาทำเป็นขนมได้ เช่น แพนเค้ก แยม คัสตาร์ด ทาร์ต 

3. ผลสุกอบให้สุก แล้วนำมาผสมกับนมหรือโยเกิร์ต

4. ปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะผลสวย ใบสวย และให้ร่มเงาได้ดีเนื่องจากไม่มีการผลัดใบ

5.เนื้อไม้มีความละเอียดและแข็ง สามารถนำมาใช้ทำเป็นไม้กระดานหรือใช้ในงานก่อสร้างได้

หมายเหตุ ม่อนไข่เป็นพืชในวงศ์เดียวกันกับ ละมุด ละมุดสีดา พิกุล จึงมีลักษณะหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะส่วนของดอก ที่นอกจากจะคล้ายกันแล้วยังมีกลิ่นหอมเหมือนกัน

1. https://medthai.com

2. https://th.wikipedia.org/wiki

เกาลัดไทย ไม้ผลสีสวยเมล็ดกินได้

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ “เกาลัดไทย” ไม้ประดับผลสวย แต่เมล็ดกินได้ นิยมปลูกประดับในสวนมาระยะหนึ่ง นอกจากใบขนาดใหญ่ จะสวยงามด้วยความหนาและมันวาวแล้ว เมื่อออกดอกสีชมพูเป็นช่อใหญ่ก็สวย แล้วเมื่อติดผลก็ยิ่งสวยด้วยสีส้มแดงเป็นพวงหลายขนาด ผู้คนที่พบเห็นก็สงสัยว่าไม้ต้นนี้ชื่ออะไร มาจากไหน ทำไมถึงชื่อว่า “เกาลัดไทย” กินได้หรือไม่ ปลูกอย่างไร คำถามเหล่านี้จะนำมาเฉลยโดยละเอียดพร้อมภาพประกอบที่ถ่ายมาจากต้นจริง

            “เกาลัดไทย” ไม่ได้เป็นไม้ไทย แต่ที่ได้ชื่อว่าเกาลัดไทยทั้งที่มาจากจีน ก็เป็นเพราะคำว่า เกาลัด หรือ เกาลัดจีน ที่คั่วขายที่เยาวราช ก็เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว บางแห่งก็เลยเรียกเกาลัดไทยว่า “เกาลัดเทียม” เพราะไม้ต้นนี้ไม่ใช่พวกเกาลัด(เกาลัค) อยู่คนละวงศ์กับเกาลัดที่คั่วขายกันในราคาแพง

            “เกาลัดไทย”เป็นพืชถิ่นเดิมของจีนตอนใต้ บริเวณกวางตุ้ง กวางสี ยูนนาน ไต้หวัน แล้วแพร่กระจายไปยังอินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น รวมทั้งไทย ผลเป็นผลแห้งแล้ว เปลือกเหนียวเหมือนหนังมีสีส้มหรือสีแดงหุ้มเมล็ดสีดำไว้ข้างใน เมื่อแก่จัดผลจะแตกด้านหนึ่งทำให้เห็นความสวยงามของเมล็ดสีดำตัดกับสีแดงของเปลือกผล เนื้อในเมล็ดสีเหลือง ต้มสุกแล้วเนื้อในเมล็ดจะเป็นสีเหลืองสด เมื่อนำเมล็ดไปต้มหรือคั่วให้สุกก็รับประทานได้ เนื้อไม้นำไปทำเฟอร์นิเจอร์ได้ เนื้อไม้มีเรซินมาก นำไปใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมได้

 

เกาลัดไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Sterculia monosperma Vent

ชื่อวงศ์ STERCULIACEAE

ชื่อสามัญ Chestnut

ชื่ออื่น เกาลัด เกาลัดเทียม เกาลัดเมือง บ่าเกาลัด

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้น ไม่ผลัดใบ สูง 4-20 เมตร เปลือกสีน้ำตาลอ่อน เรียบหรือแตกเป็นร่องเล็กตามยาว ใบเดี่ยว เรียงสลับ มักกระจุกที่ปลายกิ่ง รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง 5-15 ซม. ยาว 10-30 ซม. โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ผิวใบหนา มัน และเรียบหรือย่นเล็กน้อย ก้านใบยาว 2-10 ซม.

ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง แบบแยกแขนง แตกแขนงย่อยจำนวนมาก ยาวได้ถึง 35 ซม. ดอกย่อยเล็ก สีชมพูอมเขียว กลีบเลี้ยงโคนติดกัน ปลายแผ่ออกเป็นรูปกรวย แยกเป็น 5 แฉก แต่ละแฉกโค้งงุ้มและติดกันบริเวณปลายกลีบ ไม่มีกลีบดอก ผลแห้งแล้วแตก รูปกระสวย เปลือกผลหนาสีส้มถึงแดงเข้ม เมื่อแก่จะปริแยกออกจากกันด้านหนึ่ง เมล็ด 1-3 เมล็ด ผิวเกลี้ยง สีน้ำตาลแดงถึงดำ เนื้อในสีขาวหรือเหลืองอ่อน กินได้เมื่อทำให้สุกด้วยการต้มหรือคั่ว

การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด งอกได้ง่ายมากเนื่องจากไม่มีระยะพักตัว

ประโยชน์ 1. ปลูกเป็นไม้ประดับ ด้วยความสวยของ ใบ ดอก ผล เมล็ด และทรงพุ่ม

2. นำเมล็ดไปต้มหรือคั่วให้สุกต้มรับประทานเป็นของขบเคี้ยวแบบเกาลัดจีน

3. เนื้อไม้นำไปทำเฟอร์นิเจอร์ได้

การปลูกและบำรุงรักษา ต้องการแดดจัดจะให้ความเจริญเติบโตเต็มที่ หากได้แสงแดงน้อยหรือร่มรำไรจะเจริญเติบโตช้า ชอบพื้นที่ดินร่วนปนทราย หน้าดินลึก อินทรียวัตถุมาก น้ำและอากาศถ่ายเทสะดวก ความชื้นสูง แต่ไม่มีน้ำขัง ใส่อินทรียวัตถุสลับกับปุ๋ยเคมี ปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโต ตัดแต่งกิ่งที่เกะกะออกนอกทิศทางให้ได้ทรงพุ่มที่สวยงามหลังฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่หมดผลในฤดูฝนแล้ว

อ้างอิง

1. https://eherb.hrdi.or.th/search_result_details.php?herbariumID

2. https://www.facebook.com/241731832551450/photos/pcb.

3. https://portkd.wordpress.com

4. https://th.wikipedia.org/wiki

บัวสวรรค์…ไม้พุ่มดอกสวยมีกลิ่นหอม

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ ผู้เขียนได้รับคำถามอยู่เสมอทั้งในสถานที่ต่างๆและทั้งการสื่อสารเข้ามาถามเกี่ยวกับไม้พุ่มดอกสวยต้นนี้ “บัวสวรรค์” หรือ “กัตตาเวีย” เป็นไม้ดอกที่มีถิ่นกำเนิดมาจากตะวันออกกลาง แอฟริกาตะวันออก โคลัมเบีย และปานามา ซึ่งเป็นประเทศในเขตร้อนชื้น ดังนั้นการนำบัวสวรรค์มาปลูกในเมืองไทยจึงสามารถเจริญเติบโตได้ดี ออกดอกดกและสวยงามน่าประทับใจผู้ปลูกเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งมีกลิ่นหอมชวนดม ทรงพุ่มสวยงามตามธรรมชาติ มีความสูงพอเหมาะที่จะปลูกเป็นไม้ประดับ สำหรับผลสวยๆรูปร่างคล้ายฝักบัวนั้นก็มีเมล็ดขนาดใหญ่หลายเมล็ด สามารถแกะออกมาจากผลที่แก่จัดนำมาเพาะกล้าไปปลูกเพิ่มเติม หรือแจกจ่ายให้เพื่อนฝูง รวมทั้งอาจตอนกิ่งขายได้

 

บัวสวรรค์

ชื่อวิทยาศาสตร์  Gustavia gracillima Miers

ชื่อวงศ์  LECYTHIDACEAE

ชื่อสามัญ  Gustavia, Gutzlaffia

ชื่ออื่น บัวฝรั่ง

ฤดูการออกดอก ออกดอกช่ในฤดูฝน

ถิ่นกำเนิด ตะวันออกกลาง แอฟริกาตะวันออก โคลัมเบีย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้พุ่ม หรือหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 2-5 เมตร ไม่ผลัดใบ เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้ม ลำต้นตรง แตกกิ่งก้านในระดับต่ำ ทรงพุ่มแน่น มักออกดอกในทรงพุ่ม  จะมีปุ่มปมหลายขนาดปรากฏอยู่ทั่วไปรอบลำต้น ผิวลำต้นหยาบขรุขระ ใบเดี่ยวรูปหอก เวียนเรียงสลับเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ขอบใบเป็นคลื่น มีจักฟันเลื่อยตื้นๆบ้างช่วงปลายใบ โคนใบสอบ ปลายใบแหลมยาวคล้ายหาง ผิวใบมันวาวสีเขียว ขนาดใบกว้าง 5-8 ซม. ยาว 13-25 ซม. ดอกเดี่ยว ออกเป็นช่อ ตามซอกใบใกล้ยอด หรือตามกิ่งแก่ในทรงพุ่ม ช่อละ 5-10 ดอก กลีบดอกหนา 8-9 กลีบ ซ้อนเหลื่อมกัน สีชมพูอ่อน ลักษณะค่อนข้างกลม ขอบกลีบเป็นคลื่นหยัก งอ ปลายกลีบจะมีสีชมพูเข้มกว่าโคนกลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 7-10 ซม. เกสรเพศผู้สีเหลืองก้านสีชมพูจำนวนมากอยู่ตรงกลาง งุ้มเข้าหากันเป็นวงกลม คล้ายดอกบัวหลวง แต่ดอกมักออกซ่อนอยู่ภายในทรงพุ่ม ถ้าไม่สังเกตก็จะไม่พบดอกที่กำลังบาน เมื่อกลีบดอกและเกสรร่วงก็จะติดผลอ่อนสีเขียว ผลจะมีลักษณะคล้ายฝักบัวหลวงหรือรูประฆังคว่ำขนาด 3-4.5 ซม. เมื่อแก่สีน้ำตาลอมเขียว ผิวขรุขระ ภายในผลมีเนื้อสีเหลืองและมีเมล็ดสีดำขนาดใหญ่ 2-3 เมล็ด เมล็ดกลมแต่เบี้ยว ขนาด 0.8-1.5 ซม. ที่ขั้วเมล็ดมีเนื้อสีเหลืองติดอยู่

การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด ปักชำ และตอนกิ่ง ต้นจากการเพาะเมล็ดจะใช้เวลาในการออกดอก ราว 5 ปี การปักชำหรือตอนกิ่งจะออกดอกเร็วกว่ามาก

การดูแลรักษา   เป็นพันธุ์ไม้ที่ดูแลง่าย ทนต่อสภาพแวดล้อม ชอบแสงแดดจัดและน้ำปานกลางถึงมาก หากแสงแดดรำไรจะออกดอกน้อย สีดอกซีด หมั่นรดน้ำพรวนดินในระยะแรกปลูก ให้ปุ๋ยเม็ดสูตรเสมอทุกต้นฤดูฝนก่อนการออกดอก และใส่ปุ๋ยอีกครั้งตอนปลายฤดูฝน

ข้อดีการปลูกของบัวสวรรค์ ดอกสวย มีกลิ่นหอม ใบร่วงน้อยมาก เหมาะที่จะปลูกพลางแสงที่จะเข้าตัวบ้าน

ทั้งทางทิศตะวันออกและตะวันตก   

   

อ้างอิง

1. http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/index.php/linkoldfragrant-2/291-gustavia

2. http://maidokmaipradab.blogspot.com/2012/01/buaswan.html

3. https://th.wikipedia.org/wiki

มะกอก…ไม้ป่ามีคุณค่าทางเศรษฐกิจ

ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ มะกอก มีหลายชนิด ได้แก่ มะกอก(หรือมะกอกป่า) มะกอกฝรั่ง มะกอกน้ำ และมะกอกโอลีฟ แต่ละชนิดก็มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์และความสำคัญแตกต่างกันไป ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ“มะกอก”ซึ่งมีหลายชื่อ เช่น มะกอกไทย มะกอกป่าเพราะพบในป่าเต็งรังทั่วประเทศไทย บางแห่งเรียกว่า “มะกอกส้มตำ” อันเนื่องมาจากนิยมนำมาใส่ในส้มตำซึ่งทำให้ส้มตำเกิดรสชาติหวานหอมอมฝาด แม้ว่าจะทำให้สีของส้มตำเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลก็ตาม อาหารพื้นเมืองทางเหนือและทางอีสานหลายชนิดจะมีมะกอกเป็นส่วนผสมเพื่อให้ความเปรี้ยงแทนมะนาว เช่น น้ำพริกต่างๆ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่อยู่ห่างไกลจากป่าจะรู้จักมะกอกอย่างผิวเผิน ทั้งที่มะกอกถูกนำมาใช้บริโภคทั้งส่วนที่เป็นยอดอ่อน ผลอ่อน และผลแก่ มะกอกป่ากลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในระดับท้องถิ่นที่มีจำหน่ายในตลาดทุกระดับ บทความนี้จะช่วยเผยแพร่ความรู้เรื่องมะกอกให้รู้จักโดยละเอียด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษา และสามารถขยายพันธุ์เองได้

 

มะกอก

ชื่อวิทยาศาสตร์  Spondias pinnata (L. f.) Kurz

ชื่อวงศ์ ANACARDIACEAE

ชื่อสามัญ  Hog plum, Wild Mango

ชื่ออื่น กอกกุก กอกเขา  กอกป่า บักกอก มะกอกไทย มะกอกป่า มะกอกส้มตำ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

            ไม้ต้นผลัดใบ สูง 15-25 เมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม แตกกิ่งก้านโปร่ง กิ่งมักห้อยลง เปลือกต้นเป็นสีเทา หนา เรียบ มีปุ่มปมบ้างเล็กน้อย และมีรูอากาศตามลำต้น กิ่งอ่อนมีรอยแผลการหลุดร่วงของใบ เปลือก ใบ และผลมีกลิ่นหอม ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ปลายใบคี่ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 4-6 คู่ ออกตรงข้ามกันหรือเยื้องกันเล็กน้อย ใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบมนเบี้ยวหรือขอบไม่เท่ากัน ขอบใบเรียบ กว้าง 3-4 ซม. ยาว 7-12 ซม. แผ่นใบนุ่ม หนาเป็นมัน ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง หลังใบเรียบเกลี้ยง ส่วนท้องใบเรียบ มีก้านใบยาว 12-16 ซม. ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน โดยจะออกเป็นช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่งหรือออกตามซอกใบ มีดอกย่อยจำนวนมากและมีขนาดเล็ก จะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์  ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ฉ่ำน้ำ ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้าง 2.5-3.5 ซม. และยาว 4-5.5 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนผลแก่เป็นสีเหลืองอมเขียวถึงเหลืองอ่อน มีจุดประสีดำบนผิว มีกลิ่นหอมและมีรสเปรี้ยว ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยวขนาดใหญ่และแข็งมาก ผิวเมล็ดเป็นเสี้ยนและขรุขระ มีหลายคัพภะทำให้งอกได้ต้นกล้าหลายต้น

การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด ปักชำ และตอนกิ่ง

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิม อยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย

ประโยชน์ 1. ผลอ่อนนำมาฝานบางๆใส่อาหารประเภทยำ ผลสุกนำมาใส่ส้มตำ น้ำพริก ยำ และใช้ประกอบอาหารอื่น ๆ ที่ต้องการรสเปรี้ยว โดยจะมีรสเปรี้ยวและฝาดเล็กน้อยแต่มีกลิ่นหอม เนื้อในของผลสุกนำมาทำน้ำผลไม้หรือทำเป็นเครื่องดื่ม  ที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ

2. ยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวอมฝาด มีกลิ่นหอมใช้รับประทานเป็นผัก โดยรับประทานร่วมกับน้ำพริก ลาบ ส้มตำ น้ำตก อาหารเวียดนาม และอาหารประเภทยำที่มีรสจัด ชาวเหนือนิยมนำมาสับผสมลงไปในลาบ เพื่อช่วยให้รสชาติไม่เลี่ยนและอร่อยขึ้น ช่อดอกมะกอกก็ใช้กินแบบดิบได้เช่นกัน

3. ผลมะกอกที่ร่วงอยู่บนพื้นจะเป็นอาหารของสัตว์ป่าได้เป็นอย่างดี พรานป่ามักจะเฝ้าต้นมะกอกเพื่อรอส่องสัตว์ป่าที่เข้ามากินผล

4. ยางจากต้นมีลักษณะใสเป็นสีน้ำตาลปนแดง ไม่ละลายน้ำ แต่จะเกิดเป็นเมือก สามารถนำมาทำเป็นกาวใช้ติดของใช้และกระดาษว่าว

5. เนื้อไม้มะกอกเป็นไม้เนื้ออ่อน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ทำไม้จิ้มฟัน ทำกล่องไม้ขีด ทำกล่องใส่ของ ทำหีบศพ ฯลฯ

สรรพคุณของมะกอก

1. เปลือกต้น ใบ และผล ใช้กินเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยแก้ร้อนใน เป็นยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ

2. เนื้อในผลมีสรรพคุณช่วยแก้ธาตุพิการ เพราะน้ำดีไม่ปกติและกระเพาะอาหารพิการ

3. ผลมีรสเปรี้ยวอมหวาน สรรพคุณช่วยแก้โรคขาดแคลเซียมได้ มีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด

อ้างอิง

1. https://medthai.com

2. https://www.thai-thaifood.com/th

3. https://th.wikipedia.org/wiki

 

ความหลากหลายของจุลินทรีย์ในดินจากพื้นที่ป่าชุมชนบ้านศรีสรรเพชญ์ที่มีความสามารถในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช

ความหลากหลายของจุลินทรีย์ในดินจากพื้นที่ป่าชุมชน

บ้านศรีสรรเพชญ์ที่มีความสามารถในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช

รุ่งลักษณ์ แก้ววิเชียร1, จรัญ ประจันบาล1 และวิชัย ปทุมชาติพัฒน์1

1คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

บทคัดย่อ

            การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแบคทีเรียและยีสต์จากตัวอย่างดินในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านศรีสรรเพชญ์ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีความสามารถในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชซึ่งดำเนินงานวิจัยโดยคัดแยกแบคทีเรียและยีสต์จากตัวอย่างดิน 21 ตัวอย่าง แล้วคัดเลือกแบคทีเรียและยีสต์ที่มีสมบัติในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชในระดับห้องปฏิบัติการ คือ ความสามารถในการละลายฟอสเฟต การผลิตสารซิเดอร์โรฟอร์ การสร้างอินโดล-3-แอซิติก และการตรึงก๊าซไนโตรเจน จากนั้นเลือกแบคทีเรียและยีสต์ที่มีสมบัติในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชที่ดีที่สุดมาทดสอบการส่งเสริมการเจริญเติบโตของข้าวในระดับกระถางทดลอง จากผลการวิจัยพบว่าแบคทีเรียทั้งหมด 122 ไอโซเลต สามารถละลายฟอสเฟตได้ 27 ไอโซเลต ผลิตสารซิเดอโรฟอร์ 19 ไอโซเลต สร้างกรดอินโดล-3-แอซิติก 24 ไอโซเลต และตรึงก๊าซไนโตรเจน 13 ไอโซเลต และพบยีสต์ที่คัดแยกได้ 40 ไอโซเลต สามารถละลายฟอสเฟต 11 ไอโซเลต ผลิตสารซิเดอโรฟอร์และสร้างกรด อินโดล-3-แอซิติกทุกไอโซเลต และสามารถเจริญในอาหาร nitrogen free medium (NFM) 39 ไอโซเลต จากการศึกษาความสามารถของแบคทีเรียและยีสต์ที่คัดเลือก 12 ไอโซเลตต่อการเจริญเติบโตของข้าว ได้แก่ แบคทีเรีย 7 ไอโซเลต คือ BSP48 BSP97 BSP102 BSP107 BSP108 BSP110 และ BSP114 และยีสต์ 5 ไอโซเลต คือ YSP3 YSP24 YSP27 YSP35 และ YSP40 พบว่า แบคทีเรียไอโซเลต BSP114 สามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตของข้าวได้ดีที่สุด ซึ่งมีค่าความสูงของต้นข้าวเท่ากับ 16.89±3.62 เซนติเมตรซึ่งสูงกว่าต้นข้าวชุดควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติคิดเป็นร้อยละ 24.2 ของความสูงต้นข้าวชุดควบคุม ซึ่งจะนำไปพัฒนาเพื่อเป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชให้กับเกษตรกรต่อไป และจากการจัดจำแนกแบคทีเรียและยีสต์ด้วยอนุกรมวิธานระดับโมเลกุลโดยการหาลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ 16S rRNA gene และบริเวณ D1/D2 ของ LSU rRNA gene ตามลำดับ พบว่าแบคทีเรีย 7 ไอโซเลตจัดจำแนกเป็น Enterobacter sp., (BSP48 และ BSP110), Brachybacterium sp. (BSP97), Enterobacter kobei (BSP102), Moraxella osloensis (BSP107), Pantoea sp. (BSP108), Bacillus sp. (BSP114) และยีสต์ 5 ไอโซเลตจัดจำแนกเป็น Brettanomyces naardenensis (YSP3 และ YSP24), Candida glabrata (YSP27 และ YSP40) และ Tortispora caseinolytica (YSP35)

คำสำคัญ : จุลินทรีย์ในดิน, ป่าชุมชนบ้านศรีสรรเพชญ์, การส่งเสริมการเจริญของพืช

Diversity of Microorganism in Soil from Ban Sri Sanphet Community Forestry with the Capability of Plant Growth Promoter Rungluk Kaewwichian1, Jaran Prajanban1 & Wichai Pathumchartpat1

1Faculty of Science and Technology, Bansomdejchaopraya Rajabhat University

Abstract

            This research aims to study the bacteria and yeast in soil from Ban Sri Sanphet community forestry, U-thong district, Suphan Buri province with the capability of plant growth promoting. Bacteria and yeast were isolated from 21 soil samples, there were investigated the capability of plant growth promoting in the laboratory, i.e. Phosphate solubilization, siderophore production, indole-3-acetic acid production and nitrogen fixation. Bacteria and yeast are the highest capability of plant growth promoting were examined in the pot experiment. The results showed that from bacteria 122 isolates found 27 isolates solubilized phosphate, 19 isolates produced siderophore, 24 isolates produced indole-3-acetic acid and 13 isolates fixed nitrogen and yeast 40 isolates found 11 isolates solubilized phosphate, all isolates produced siderophore and indole-3-acetic acid and 39 isolates grew in nitrogen free medium (NFM). According to the study the ability of bacteria and yeast 12 isolates on the promoting rice growth, including seven bacterial isolates were BSP48, BSP97, BSP102, BSP107, BSP108, BSP110 and BSP114 and five yeast isolates were YSP3, YSP24, YSP27, YSP35 and YSP40 found bacterial isolate BSP114, that can promote the growth of rice. The height of rice was 16.89±3.62 cm, which is higher than the rice in control statistically significant, representing 24.2 percent of the height of rice in control. This result will lead to the development of microorganisms that help promote the growth of crops to farmers in the future. Moreover, the results of bacteria and yeast identification showed that bacteria seven isolates were identified as Enterobacter sp., (BSP48 and BSP110), Brachybacterium sp. (BSP97), Enterobacter kobei (BSP102), Moraxella osloensis (BSP107), Pantoea sp. (BSP108), Bacillus sp. (BSP114) and yeast five isolates were identified as Brettanomyces naardenensis (YSP3 and YSP24), Candida glabrata (YSP27 and YSP40) and Tortispora caseinolytica (YSP35)

Key word: Microorganism in soil, Ban Sri Sanphet Community forestry, Plant growth promoter

 

 

บทที่ 4

ผลการวิจัย

การเก็บตัวอย่างดิน

            ผลจากการสุ่มเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านศรีสรรเพชญ์ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ตัวอย่างดินทั้งหมด 21 ตัวอย่าง บันทึกลักษณะทางกายภาพแล้วพบว่าตัวอย่างดินมีลักษณะเป็นดินร่วน มีสีน้ำตาลแดง สีน้ำตาลเข้ม และสีดำ มีค่าความชื้นร้อยละ 1.88 ถึง10.97 มีค่าพีเอชอยู่ในช่วง 6.10 ถึง 8.04 และมีปริมาณอินทรียวัตถุร้อยละ 4.05±0.35 ถึง 6.55±0.00 ซึ่งจัดอยู่ในระดับสูงถึงสูงมาก ดังแสดงในตารางที่ 4.1

การคัดแยกจุลินทรีย์

            นำตัวอย่างดินมาแยกจุลินทรีย์ทั้งแบคทีเรียและยีสต์ด้วยวิธี dilution plate techniques บนอาหาร nutrient agar (NA) และ Yeats extract-Malt extract (YM) agar ที่ปรับ pH 5.5 เพื่อคัดแยกแบคทีเรียและยีสต์ตามลำดับ ทำการเลือกเก็บลักษณะโคโลนีของจุลินทรีย์แต่ละชนิดที่มีลักษณะแตกต่างกัน เช่น ลักษณะรูปร่างและสีของโคโลนี ตลอดจนลักษณะที่เห็นภายใต้กล้องจุลทรรศน์ แล้วทำให้เชื้อบริสุทธิ์ด้วยวิธี cross streak จากตัวอย่างดินทั้งหมด 21 ตัวอย่าง พบว่าได้แบคทีเรียทั้งหมด 122 ไอโซเลต และได้ยีสต์ทั้งหมด 40 ไอโซเลต (ตารางที่ 4.2)

ตารางที่ 4.1 ลักษณะทางกายภาพ ความชื้น พีเอช และปริมาณสารอินทรีย์ของตัวอย่างดินในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านศรีสรรเพชญ์ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

จุดที่

ลักษณะทางกายภาพ

ค่าความชื้น (ร้อยละ)

ค่าพีเอช

ปริมาณสารอินทรีย์ (ร้อยละ)

ระดับสารอินทรีย์

1

ดินร่วน เนื้อละเอียด

สีน้ำตาลแดง

10.07

7.17

5.88±0.06

สูงมาก

2

ดินร่วน เนื้อละเอียด

สีน้ำตาลแดง

4.84

8.04

4.89±0.08

สูงมาก

3

ดินร่วน เนื้อละเอียด

สีน้ำตาลเข้ม

7.69

7.50

วิเคราะห์ค่าไม่ได้

4

ดินร่วน เนื้อละเอียด

สีน้ำตาลแดง

5.97

6.10

วิเคราะห์ค่าไม่ได้

5

ดินร่วน เนื้อละเอียด

สีน้ำตาลแดง

8.00

7.12

วิเคราะห์ค่าไม่ได้

6

ดินร่วน เนื้อละเอียด

สีน้ำตาลเข้ม

5.94

7.13

6.55±0.00

สูงมาก

7

ดินร่วน เนื้อละเอียด

สีน้ำตาลเข้ม

8.46

6.85

วิเคราะห์ค่าไม่ได้

8

ดินร่วน เนื้อละเอียด

สีน้ำตาลแดง

10.97

7.92

4.13±0.17

สูง

9

ดินร่วน เนื้อละเอียด

สีน้ำตาลเข้ม

6.63

7.45

วิเคราะห์ค่าไม่ได้

10

ดินร่วน เนื้อละเอียด

สีน้ำตาลแดง

2.68

7.44

4.05±0.35

สูง

11

ดินร่วน เนื้อละเอียด

สีน้ำตาลแดง

4.58

7.72

5.68±0.20

สูงมาก

12

ดินร่วน เนื้อละเอียด

สีน้ำตาลแดง

2.07

7.26

4.42±0.25

สูง

13

ดินร่วน เนื้อละเอียด

สีน้ำตาลแดง

1.94

6.10

6.05±0.21

สูงมาก

14

ดินร่วน เนื้อละเอียด

สีน้ำตาลแดง

1.88

7.14

4.90±0.39

สูงมาก

15

ดินร่วน เนื้อละเอียด

สีน้ำตาลแดง

4.86

7.47

วิเคราะห์ค่าไม่ได้

16

ดินร่วน เนื้อละเอียด

สีน้ำตาลแดง

3.57

7.69

6.11±0.31

สูงมาก

17

ดินร่วน เนื้อละเอียด

สีน้ำตาลแดง

4.51

6.36

วิเคราะห์ค่าไม่ได้

18

ดินร่วน เนื้อละเอียด

สีดำ

4.53

6.43

วิเคราะห์ค่าไม่ได้

19

ดินร่วน เนื้อละเอียด

สีน้ำตาลแดง

4.83

6.76

6.26±0.04

สูงมาก

20

ดินร่วน เนื้อละเอียด

สีดำ

3.80

7.62

วิเคราะห์ค่าไม่ได้

21

ดินร่วน เนื้อละเอียด

สีน้ำตาลเข้ม

3.89

7.73

4.94±0.18

สูงมาก

หมายเหตุ: การแปลผลระดับสารอินทรีย์

ระดับ (rating)

ต่ำมาก

ต่ำ

ค่อนข้างต่ำ

ปานกลาง

ค่อนข้างสูง

สูง

สูงมาก

พิสัย

(ร้อยละ)

< 0.5

0.5-1.0

1.1-1.5

1.6-2.5

2.6-3.5

3.6-4.5

> 4.5

ตารางที่ 4.2 ผลการคัดแยกจุลินทรีย์ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านศรีสรรเพชญ์ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

ตัวอย่างดิน จุดที่

จำนวน

แบคทีเรีย(ไอโซเลต)

รหัสแบคทีเรีย

จำนวนยีสต์

(ไอโซเลต)

รหัสยีสต์

1

6

BSP1, BSP2, BSP3, BSP4, BSP5, BSP120

3

YSP1, YSP2, YSP3

2

5

BSP6, BSP7, BSP8, BSP9, BSP10

0

3

6

BSP11, BSP12, BSP13, BSP14, BSP15, BSP16

3

YSP4, YSP5, YSP6

4

6

BSP17, BSP18, BSP19, BSP20, BSP21, BSP22

3

YSP7, YSP8, YSP9

5

6

BSP23, BSP24, BSP25, BSP26, BSP27, BSP28

5

YSP10, YSP11,

YSP12, YSP13,

YSP14

6

5

BSP29, BSP30, BSP31, BSP32, BSP121

1

YSP15

7

6

BSP33, BSP34, BSP35, BSP36, BSP37, BSP38

4

YSP16, YSP17,

YSP18, YSP19

8

3

BSP39, BSP40, BSP41

2

YSP20, YSP21

9

5

BSP42, BSP43, BSP44, BSP45, BSP46

2

YSP22, YSP23

10

6

BSP47, BSP48, BSP49, BSP50, BSP51, BSP52

1

YSP24

11

4

BSP53, BSP54, BSP55, BSP56

1

YSP25

12

5

BSP57, BSP58, BSP59, BSP60, BSP61

0

13

5

BSP62, BSP63, BSP64, BSP65, BSP66

0

14

6

BSP67, BSP68, BSP69, BSP70, BSP71, BSP72

2

YSP26, YSP27

15

7

BSP73, BSP74, BSP75, BSP76, BSP77, BSP78, BSP79

2

YSP28, YSP29

16

6

BSP80, BSP81, BSP82, BSP83, BSP84, BSP85

0

17

7

BSP86, BSP87, BSP88, BSP89, BSP90, BSP91, BSP92

4

YSP30, YSP31,

YSP32, YSP33

18

8

BSP93, BSP94, BSP95, SP 96, BSP97, BSP98, BSP99, BSP100

2

YSP34, YSP35

19

6

BSP101, BSP102, BSP103, BSP104, BSP105, BSP106

3

YSP36, YSP37,

YSP38

20

7

BSP107, BSP108, BSP109, BSP110, BSP111, BSP112, BSP113

1

YSP39

21

7

BSP114, BSP115, BSP116, BSP117, BSP118, BSP119, BSP122

1

YSP40

รวม

122

ไอโซเลต

40

ไอโซเลต

 

การศึกษาความสามารถของจุลินทรีย์ต่อการส่งเสริมการเจริญเติบโตพืชในระดับห้องปฏิบัติการ

1) ศึกษาความสามารถในการละลายฟอสเฟต

            จากการทดสอบความสามารถในการละลายฟอสเฟตของแบคทีเรียจำนวน 122 ไอโซเลต และยีสต์จำนวน 40 ไอโซเลตที่คัดแยกได้จากตัวอย่างดินในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านศรีสรรเพชญ์บนอาหาร Pikovskaya’s agar โดยทดสอบไอโซเลตละ 3 ซ้ำ พบแบคทีเรียที่สามารถละลายฟอสเฟตได้จำนวน 27 ไอโซเลต คิดเป็นร้อยละ 22.1 ของแบคทีเรียที่คัดแยกได้ทั้งหมด และมียีสต์ที่สามารถละลายฟอสเฟตได้จำนวน 11 ไอโซเลต คิดเป็นร้อยละ 27.5 ของยีสต์ที่คัดแยกได้ทั้งหมด (ภาพที่ ข1-ข2) จากการเปรียบเทียบความสามารถในการละลายฟอสเฟตของจุลินทรีย์พบว่าไอโซเลตที่ละลายฟอสเฟตได้ดีที่สุด 10 อันดับแรก คือ ไอโซเลต BSP48, BSP110, BSP121, BSP114, BSP97, BSP107, BSP108, YSP27, BSP102, BSP20, YSP35, BSP113 และ YSP3 (ตารางที่ 4.3)

ตารางที่ 4.3 ค่าเฉลี่ยขนาดบริเวณใสหรือส้มรอบโคโลนีของจุลินทรีย์ 10 อันดับแรกที่สามารถละลายฟอสเฟตได้ดีที่สุดบนอาหาร Pikovskaya’s agar

อันดับ

ไอโซเลต

ค่าเฉลี่ยขนาดบริเวณใสหรือส้มรอบโคโลนี (เซนติเมตร)

1

BSP48

1.58 ± 0.03a

2

BSP110

1.55 ± 0.03a

3

BSP121

1.48 ± 0.05a

4

BSP114

1.22 ± 0.04b

5

BSP97, BSP107, BSP108

0.93 ± 0.03c

6

YSP27

0.82 ± 0.02cd

7

BSP102

0.78 ± 0.04de

8

BSP20, YSP35

0.75 ± 0.04de

9

BSP113

0.70 ± 0.00e

10

YSP3

0.68 ± 0.02e

2) ศึกษาความสามารถในการผลิตกรดอินโดล-3-แอซิติก

            ผลการทดสอบการสร้างกรดอินโดล-3-แอซิติก (ภาพที่ ข3) ซึ่งพบว่าแบคทีเรีย 24 ไอโซเลตสามารถสร้างกรดอินโดล-3-แอซิติกได้ที่ความเข้มข้น 4.17-829.59 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร และยีตส์ทุกไอโซเลตสามารถสร้างกรดอินโดล-3-แอซิติกได้ที่ความเข้มข้น 1.67-27.50 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร โดยจุลินทรีย์ที่สร้างกรดอินโดล-3-แอซิติกที่ดีที่สุด 10 อันดับแรกเป็นแบคทีเรียทั้งหมด (ตารางที่ 4.4)

ตารางที่ 4.4 ปริมาณกรดอินโดล-3-แอซิติกของจุลินทรีย์ 10 อันดับแรกที่ผลิตได้สูงที่สุด

อันดับ

ไอโซเลต

ปริมาณกรดอินโดล-3-แอซิติก (ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร)

1

BSP113

829.58 ±  4.25a

2

BSP111

752.29 ± 97.26a

3

BSP97

637.08 ±  2.37b

4

BSP105

541.46 ± 70.18c

5

BSP100

539.79 ± 88.07c

6

BSP108

527.08 ± 31.29c

7

BSP110

342.08 ±  6.51d

8

BSP102 

264.17 ± 53.87de

9

BSP115

247.92 ± 21.07de

10

BSP48

204.38 ± 38.80e

3) ศึกษาความสามารถในการสร้างสารซิเดอร์โรฟอร์

จากการทดสอบการสร้างสารซิเดอร์โรฟอร์ของจุลินทรีย์ที่คัดแยกได้ พบแบคทีเรียที่สร้างสารซิเดอร์โรฟอร์ได้ 19 ไอโซเลต ซึ่งแสดงขนาดโซนสีส้มเหลืองรอบคอโลนีได้ตั้งแต่ 0.22-0.87 เซนติเมตร และพบว่ายีสต์ทุกไอโซเลตสามารถสร้างสารซิเดอร์โรฟอร์ได้ โดยสร้างโซนสีส้มเหลืองรอบคอโลนีขนาดตั้งแต่ 0.23-2.23 เซนติเมตร แสดงไอโซเลตที่สร้างสารซิเดอร์โรฟอร์ได้ดีที่สุด 10 อันดับแรกดังตารางที่ 4.5

ตารางที่ 4.5 ค่าเฉลี่ยขนาดโซนสีส้มเหลืองรอบคอโลนีของจุลินทรีย์ 10 อันดับแรกที่สร้างสาร

ซิเดอร์โรฟอร์ได้ดีที่สุดบนอาหาร chrome azurol S agar

อันดับ

ไอโซเลต

ค่าเฉลี่ยโซนสีส้มเหลืองรอบโคโลนี (เซนติเมตร)

1

YSP6

2.23±0.26a

2

BSP122

0.87±0.04b

3

BSP22

0.72±0.04bc

4

BSP115

0.70±0.03bc

5

YSP30

0.65±0.06bc

6

YSP27

0.62±0.04bc

7

BSP48

0.60±0.05bc

8

BSP97, YSP21, YSP32

0.57±0.03c

9

YSP8

0.55±0.08c

10

YSP14

0.50±0.05c

4) ศึกษาความสามารถในการตรึงก๊าซไนโตรเจน

            จากการนำแบคทีเรียที่มีความสามารถในการละลายฟอสเฟต การสร้างกรดอินโดล-3-แอซิติก และผลิตสารซิเดอร์โรฟอร์ได้ มาทดสอบความสามารถในการตรึงไนโตรเจนในอาหารเหลวที่ปราศจากไนโตรเจน พบว่ามีแบคทีเรียจำนวน 10 ไอโซเลต ที่สามารถเจริญได้ในอาหารเหลวที่ปราศจากไนโตรเจน โดยมีลักษณะการเจริญบนผิวหน้าอาหารและมีความขุ่นในหลอดอาหารเหลว และจากการทดสอบความสามารถของยีสต์ในการตรึงก๊าซไนโตรเจนพบว่า มียีสต์ 38 ไอโซเลตที่สามารถเจริญในอาหาร NFM โดยบางไอโซเลตเจริญบนผิวหน้าบางไอโซเลตเจริญเป็นเม็ดเล็ก ๆ และบางไอโซเลตเจริญทั่วทั้งอาหารโดยทำให้อาหารขุ่น คือ YSP1, YSP2, YSP3, YSP4, YSP5, YSP6, YSP7, YSP8, YSP9, YSP10, YSP11, YSP12, YSP13, YSP14, YSP16, YSP17, YSP18, YSP19, YSP20, YSP21, YSP22, YSP23, YSP24, YSP25, YSP26, YSP27, YSP28, YSP30, YSP31, YSP32, YSP33, YSP34, YSP35, YSP36, YSP37, YSP38, YSP39 และ YSP40

 

4.4 ศึกษาจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชในระดับกระถางทดลอง

            วิเคราะห์ผลการทดสอบความสามารถของจุลินทรีย์ต่อการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชในระดับห้องปฏิบัติการเพื่อคัดเลือกแบคทีเรียและยีสต์ที่มีคุณสมบัติในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชที่ดีที่สุดมาทดสอบในระดับกระถางทดลองโดยเลือกจุลินทรีย์ที่มีสมบัติครบและเลือกจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการละลายฟอสเฟตได้ดีที่สุด ซึ่งคัดเลือกได้จุลินทรีย์มาทดสอบทั้งหมด 12 ไอโซเลต (ตารางที่ 4.6) เป็นแบคทีเรีย 7 ไอโซเลต คือ BSP48, BSP97, BSP102, BSP107, BSP108, BSP110 และ BSP114 และยีสต์ 5 ไอโซเลต คือ YSP3, YSP24, YSP27, YSP35 และ YSP40 ทดสอบการส่งเสริมการเจริญเติบโตของข้าวพื้นเมืองพันธุ์        ฝาบาตร โดยวัดความยาวราก ความสูงของต้น และน้ำหนักแห้ง (ภาพที่ ข4-ข13) พบว่าแบคทีเรียไอโซเลต BSP114 สามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตของข้าวในด้านความสูงของต้นได้ดีที่สุด โดยทำให้ต้นกล้าข้าวมีความสูงเท่ากับ 16.89±3.62 เซนติเมตรซึ่งสูงกว่าต้นกล้าข้าวชุดควบคุมอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติคิดเป็นร้อยละ 24.20 รองลงมาคือยีสต์ไอโซเลต YSP35 ซึ่งทำให้ต้นกล้าข้าวมีความสูงเท่ากับ 15.52±2.37 เซนติเมตรซึ่งสูงกว่าต้นกล้าข้าวชุดควบคุมคิดเป็นร้อยละ 21.44 นอกจากนี้แบคทีเรียไอโซเลต BSP108 ทำให้ต้นกล้าข้าวมีน้ำหนักแห้งสูงที่สุดเท่ากับ 0.029±0.006 กรัมต่อต้นซึ่งสูงกว่าต้นกล้าข้าวชุดควบคุมอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติคิดเป็นร้อยละ 45  (ตารางที่ 4.7) นอกจากนี้ยังทดสอบการส่งเสริมการเจริญเติบโตของข้าวโพดโดยวัดความยาวราก ความสูงของต้น และน้ำหนักแห้ง (ภาพที่ ข14-ข15) พบว่ายีสต์ ไอโซเลต YSP35 สามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตของข้าวโพดในด้านความยาวของรากได้ดีที่สุด โดยทำให้ต้นกล้าข้าวโพดมีความยาวรากเท่ากับ 28.18±5.02 เซนติเมตรซึ่งยาวกว่ารากต้นกล้าข้าวโพดชุดควบคุมอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติคิดเป็นร้อยละ 22.62 ยีสต์ไอโซเลต YSP24 ซึ่งทำให้ต้นกล้าข้าวโพดมีความสูงเท่ากับ 27.79±2.27 เซนติเมตรซึ่งสูงกว่าต้นกล้าข้าวโพดชุดควบคุมคิดเป็นร้อยละ 6.8 นอกจากนี้แบคทีเรียไอโซเลต BSP110 ทำให้ต้นกล้าข้าวมีน้ำหนักแห้งสูงที่สุดเท่ากับ 0.25±0.02 กรัมต่อต้นซึ่งสูงกว่าต้นกล้าข้าวชุดควบคุมอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติคิดเป็นร้อยละ 19.05 (ตารางที่ 4.8)

ตารางที่ 4.6 ความสามารถของจุลินทรีย์ที่ถูกคัดเลือกไปทดสอบในระดับกระถางทดลอง

ไอโซเลต

ค่าเฉลียโซนสีส้มหรือใสรอบโคโลนีจากการทดสอบความสามารถในการละลายฟอสเฟต (ซม.)

ค่าเฉลี่ยโซนสีส้มหรือเหลืองรอบโคโลนีจากการทดสอบการสร้าง

สารซิเดอร์โรฟอร์ (ซม.)

ปริมาณอินโดล

-3-แอซิติก

(µg/ml)

การตรึงก๊าซไนโตรเจน

BSP48

1.58±0.03a

0.60±0.09a

204.38±38.80

+

BSP97

0.93±0.03c

0.57±0.03ab

637.09±2.37

+

BSP102

0.78±0.04de

0.48±0.03abc

264.17±53.87

+

BSP107

0.93±0.03c

0.48±0.06abc

114.97±11.34

+

BSP108

0.93±0.03c

0.45±0.05bcd

527.08±31.29

+

BSP110

1.55±0.03a

0.53±0.12abc

342.08±6.51

+

BSP114

1.22±0.04b

0.53±0.06abc

133.33±5.67

+

YSP3

0.68±0.02e

0.33±0.03d

   9.21±0.14

+

YSP24

0.67±0.06e

0.50±0.05abc

   7.55±0.21

+

YSP27

0.82±0.02cd

0.62±0.08a

   3.12± 0.48

+

YSP35

0.75±0.04de

0.45±0.05bcd

  11.01±0.94

+

YSP40

0.73±0.02de

0.40±0.13cd

   6.42±6.12

+

 

ตารางที 4.7 ผลการทดสอบการส่งเสริมการเติบโตของข้าวพื้นเมืองพันธุ์ฝาบาตรในกระถางทดลองด้วยการใช้จุลินทรีย์

ไอโซเลต

การส่งเสริมการเจริญของต้นกล้าข้าว

ค่าเฉลี่ยความยาวราก (ซม./ต้น)

ค่าเฉลี่ยความสูงของต้น (ซม./ต้น)

ค่าเฉลี่ยน้ำหนักแห้ง

ของต้น (กรัม/ต้น)

control

10.20±1.27a

13.60±1.83bcd

0.020±0.000bcd

BSP48

  7.67±0.83c

12.01±2.32d

0.023±0.005b

BSP97

  8.37±0.74bc

14.33±2.74bc

0.018±0.006d

BSP102

  8.61±0.97b

14.23±1.74bc

0.020±0.000bcd

BSP107

  8.29±0.96bc

14.39±1.66bc

0.020±0.000bcd

BSP108

  9.88±0.82a

12.91±1.49cd

0.029±0.006a

BSP110

  8.21±0.48bc

14.94±1.82abc

0.022±0.004bc

BSP114

  9.62±1.32a

16.89±3.62a

0.019±0.003cd

YSP3

10.14±0.96a

11.74±2.23de

0.018±0.001d

YSP24

  8.71±1.37ab

  9.30±1.06e

0.017±0.001d

YSP27

  8.65±0.55b

12.16±1.92d

0.018±0.002d

YSP35

  9.74±0.81a

15.52±2.37abc

0.021±0.006abc

YSP40

  9.27±0.96a

12.40±1.43d

0.019±0.001d

 

ตารางที่ 4.8 ผลการทดสอบการส่งเสริมการเติบโตของข้าวโพดในกระถางทดลองด้วยการใช้จุลินทรีย์

ไอโซเลต

การส่งเสริมการเจริญของต้นกล้าข้าวโพด

ค่าเฉลี่ยความยาวราก (ซม./ต้น)

ค่าเฉลี่ยความสูงของต้น (ซม./ต้น)

ค่าเฉลี่ยน้ำหนักแห้ง

ของต้น (กรัม/ต้น)

control

  22.98±2.98bc

26.02±2.17abc

0.21±0.02bc

BSP48

  19.91±3.42cde

25.13±2.60abcd

0.21±0.03bc

BSP97

  21.84±3.51cd

25.97±3.13abc

0.24±0.03ab

BSP102

  18.66±3.67de

24.07±2.97cd

0.22±0.02ab

BSP107

  18.56±1.94de

24.68±2.39bcd

0.23±0.01ab

BSP108

  21.02±2.95cd

26.88±2.16ab

0.21±0.02b

BSP110

  16.61±3.33e

27.02±2.83ab

0.25±0.02a

BSP114

  22.03±3.82cd

22.74±2.73d

0.22±0.01ab

YSP3

  18.13±3.84de

26.21±1.72abc

0.18±0.08c

YSP24

  19.85±4.20cde

27.79±2.27a

0.23±0.02ab

YSP27

  26.85±4.31a

24.96±2.51bcd

0.22±0.02ab

YSP35

  28.18±5.02a

25.63±2.11abc

0.22±0.02ab

YSP40

  26.50±6.75ab

23.73±4.20cd

0.23±0.05ab

 

4.5 การจัดจำแนกชนิดของจุลินทรีย์โดยใช้วิธีทางอณูพันธุศาสตร์

            จากการนำจุลินทรีย์ที่มีสมบัติในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชได้ดีที่สุดจำนวน 12  ไอโซเลต คือ แบคทีเรียจำนวน 7 ไอโซเลต ได้แก่ BSP48, BSP97, BSP102, BSP107, BSP108, BSP110 และ BSP114 และยีสต์ 5 ไอโซเลต ได้แก่ YSP3, YSP24, YSP27, YSP35 และ YSP40 นำมาจัดจำแนกชนิดของแบคทีเรียด้วยเทคนิคทางด้านอณูพันธุศาสตร์โดยการวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ 16S rDNA และจัดจำแนกยีสต์โดยการวิเคราะห์ลำดับ นิวคลีโอไทด์บริเวณ D1/D2 ของ LSU rDNA เปรียบเทียบกับฐานข้อมูล GenBank ของ National Center for Biotechnology Information (NCBI) จากการวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ 16S rDNA พบว่า แบคทีเรียไอโซเลต BSP48 มีลำดับนิวคลีโอไทด์ใกล้เคียงกับ Enterobacter xiangfangensis ร้อยละ 99.72, ใกล้เคียงกับ Enterobacter hormaechei subsp. oharae ร้อยละ 99.59 และใกล้เคียงกับ Enterobacter hormaechei subsp. steigerwaltii ร้อยละ 99.45 จากการเปรียบเทียบความเหมือนของลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ 16S rDNAกับแบคทีเรียที่ใกล้เคียงดังกล่าวไม่สามารถระบุชนิดที่แน่ชัดได้ จำเป็นต้องศึกษาลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณยีนอื่น หรือศึกษาลักษณะอื่นเพิ่มเติม จึงสรุปได้เพียงว่าแบคทีเรียไอโซเลต BSP48 จัดจำแนกเป็น Enterobacter sp. แบคทีเรียไอโซเลต BSP97 ใกล้เคียงกับ Brachybacterium paraconglomeratum และ Brachybacterium conglomeratum ร้อยละ 99 จากการเปรียบเทียบความเหมือนของลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ 16S rDNA กับแบคทีเรียที่ใกล้เคียงดังกล่าวไม่สามารถระบุชนิดที่แน่ชัดได้ จำเป็นต้องศึกษาลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณยีนอื่น หรือศึกษาลักษณะอื่นเพิ่มเติม จึงสรุปได้เพียงว่า แบคทีเรียไอโซเลต BSP97 จัดจำแนกเป็น Brachybacterium sp. แบคทีเรียไอโซเลต BSP102 ใกล้เคียงกับ Enterobacter kobei ร้อยละ 100 ดังนั้น แบคทีเรียไอโซเลต BSP102 จัดจำแนกเป็น Enterobacter kobei แบคทีเรีย ไอโซเลต BSP107 เมื่อเปรียบเทียบลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ 16S rDNA พบว่าใกล้เคียงกับ Enhydrobacter aerosaccus มากที่สุด ร้อยละ 99.45 โดยจากการศึกษาความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการเปรียบเทียบกับแบคทีเรียใกล้เคียงพบว่าแบคทีเรียไอโซเลต BSP107 มีวิวัฒนาการใกล้เคียงกับ Moraxella osloensis และ Enhydrobacter aerosaccus โดยการจัดลำดับอนุกรมวิธานของ Enhydrobacter ด้วยข้อมูลลำดับนิวคลีโอไทด์และการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการพบว่ามีการจัดลำดับอนุกรมวิธานแตกต่างไปจากเอกสารรายงานเสนอชื่อแบคทีเรีย Enhydrobacter aerosaccus (Staley et al., 1987) จากข้อมูลดังกล่าวจึงอาจมีความเป็นไปได้ว่าข้อมูลลำดับนิวคลีโอไทด์ของ Enhydrobacter aerosaccus อาจมีความคลาดเคลื่อนและแบคทีเรียไอโซเลต BSP107 เป็นสมาชิกของแบคทีเรียสกุล Moraxella โดยมีความใกล้เคียงกับ Moraxella osloensis ดังนั้นแบคทีเรียไอโซเลต BSP107 จักจำแนกเป็น Moraxella osloensis แบคทีเรียไอโซเลต BSP108 ใกล้เคียงกับ Pantoea dispersa และ Pantoea agglomerans ร้อยละ 99 จากการเปรียบเทียบความเหมือนของลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ 16S rDNA กับแบคทีเรียที่ใกล้เคียงดังกล่าวไม่สามารถระบุชนิดที่แน่ชัดได้ จำเป็นต้องศึกษาลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณยีนอื่น หรือศึกษาลักษณะอื่นเพิ่มเติม จึงสรุปได้เพียงว่า แบคทีเรียไอโซเลต BSP108 จัดจำแนกเป็น Pantoea sp. แบคทีเรียไอโซเลต SP110 ใกล้เคียงกับ Enterobacter cloacae และ Enterobacter hormaechei ร้อยละ 99 จากการเปรียบเทียบความเหมือนของลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ 16S rDNA กับแบคทีเรียที่ใกล้เคียงดังกล่าวไม่สามารถระบุชนิดที่แน่ชัดได้ จำเป็นต้องศึกษาลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณยีนอื่น หรือศึกษาลักษณะอื่นเพิ่มเติม จึงสรุปได้เพียงว่า แบคทีเรียไอโซเลต BSP110 จัดจำแนกเป็น Enterobacter sp. และแบคทีเรีย ไอโซเลต BSP114 เมื่อเปรียบเทียบลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ 16S rDNA ในฐานข้อมูล พบว่าแบคทีเรียไอโซเลต BSP114 มีลำดับนิวคลีโอไทด์ใกล้เคียงกับแบคทีเรีย 2 ชนิด ได้แก่ Bacillus anthracis และ Bacillus cereus มากที่สุด ร้อยละ 99.59 จากการศึกษาความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการร่วมกับการเปรียบเทียบความเหมือนของลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ 16S rDNA กับแบคทีเรียใกล้เคียงดังกล่าวพบว่าไม่สามารถแยกความแตกต่างของแบคทีเรียดังกล่าวได้จึงทำให้ไม่สามารถระบุชนิดของแบคทีเรียไอโซเลต BSP114 ได้จำเป็นต้องศึกษาลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณยีนอื่น หรือศึกษาลักษณะอื่นเพิ่มเติม ดังนั้นแบคทีเรียไอโซเลต BSP114 จัดจำแนกเป็น Bacillus sp.

            จากหลักการจัดจำแนกยีสต์ด้วยเทคนิคทางด้านอณูพันธุศาสตร์โดยการเปรียบเทียบความเหมือนของลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ D1/D2 ของ LSU rRNA gene ซึ่งมีขนาดประมาณ 500-600 นิวคลีโอไทด์ ของยีสต์ที่จัดจำแนกกับลำดับนิวคลีโอไทด์ที่อยู่ในฐานข้อมูล GenBank ซึ่งพิจารณาจากหลักเกณฑ์ของ Kurtzman and Robnett (1998) กล่าวคือ เมื่อเปรียบเทียบลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ D1/D2 ของ LSU rRNA gene กับยีสต์ชนิดที่มีความใกล้เคียงที่สุดจากฐานข้อมูล หากมีการแทนที่ของลำดับนิวคลีโอไทด์มากกว่าร้อยละ 1 (มีการแทนที่ของลำดับนิวคลีโอด์ 6 นิวคลีโอไทด์ ใน 600 นิวคลีโอไทด์) สามารถจัดจำแนกเป็นยีสต์ต่างชนิดกัน แต่หากว่ามีนิวคลีโอไทด์ต่างกัน 0 – 3 นิวคลีโอไทด์ อาจจัดจำแนกเป็นชนิดเดียวกัน (conspecific species) หรือเป็นชนิดที่ใกล้ชิดกันมาก (sister species) จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวสามารถจัดจำแนกยีสต์ที่มีสมบัติในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช จำนวน 5 ไอโซเลต ดังนี้ ไอโซเลต YSP3 และ YSP24 เป็นชนิดที่ใกล้ชิดกับ Brettanomyces naardenensis (AY969108) ร้อยละ 99.7 และ 99.1 ตามลำดับ ดังนั้น ไอโซเลต YSP3 และ YSP24 จัดจำแนกเป็น Brettanomyces naardenensis ไอโซเลต YSP27 และ SP40 เป็นชนิดที่ใกล้ชิดกับ Candida glabrata (U44808) ร้อยละ 99.6 และ 99.5 ตามลำดับ ดังนั้น ไอโซเลต YSP27 และ SP40 จัดจำแนกเป็น Candida glabrata และไอโซเลต YSP35 เป็นชนิดที่ใกล้ชิดกับ Tortispora caseinolytica (KC681889) ร้อยละ 99.0 ดังนั้น ไอโซเลต YSP35 จัดจำแนกเป็น Tortispora caseinolytica ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่ายีสต์ที่พบในดินที่มีสมบัติในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชจำนวน 5 ไอโซเลต จัดจำแนกเป็นแอสโคมัยซีตัสยีสต์ 3 ชนิด ใน 2 สกุล ได้แก่ Brettanomyces naardenensis, Candida glabrata และ Tortispora caseinolytica