ผศ.วิชัย  ปทุมชาติพัฒน์


ความนำ มะกอก มีหลายชนิด ได้แก่ มะกอก(หรือมะกอกป่า) มะกอกฝรั่ง มะกอกน้ำ และมะกอกโอลีฟ แต่ละชนิดก็มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์และความสำคัญแตกต่างกันไป ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ“มะกอก”ซึ่งมีหลายชื่อ เช่น มะกอกไทย มะกอกป่าเพราะพบในป่าเต็งรังทั่วประเทศไทย บางแห่งเรียกว่า “มะกอกส้มตำ” อันเนื่องมาจากนิยมนำมาใส่ในส้มตำซึ่งทำให้ส้มตำเกิดรสชาติหวานหอมอมฝาด แม้ว่าจะทำให้สีของส้มตำเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลก็ตาม อาหารพื้นเมืองทางเหนือและทางอีสานหลายชนิดจะมีมะกอกเป็นส่วนผสมเพื่อให้ความเปรี้ยงแทนมะนาว เช่น น้ำพริกต่างๆ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่อยู่ห่างไกลจากป่าจะรู้จักมะกอกอย่างผิวเผิน ทั้งที่มะกอกถูกนำมาใช้บริโภคทั้งส่วนที่เป็นยอดอ่อน ผลอ่อน และผลแก่ มะกอกป่ากลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในระดับท้องถิ่นที่มีจำหน่ายในตลาดทุกระดับ บทความนี้จะช่วยเผยแพร่ความรู้เรื่องมะกอกให้รู้จักโดยละเอียด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษา และสามารถขยายพันธุ์เองได้

 

มะกอก

ชื่อวิทยาศาสตร์  Spondias pinnata (L. f.) Kurz

ชื่อวงศ์ ANACARDIACEAE

ชื่อสามัญ  Hog plum, Wild Mango

ชื่ออื่น กอกกุก กอกเขา  กอกป่า บักกอก มะกอกไทย มะกอกป่า มะกอกส้มตำ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

            ไม้ต้นผลัดใบ สูง 15-25 เมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม แตกกิ่งก้านโปร่ง กิ่งมักห้อยลง เปลือกต้นเป็นสีเทา หนา เรียบ มีปุ่มปมบ้างเล็กน้อย และมีรูอากาศตามลำต้น กิ่งอ่อนมีรอยแผลการหลุดร่วงของใบ เปลือก ใบ และผลมีกลิ่นหอม ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ปลายใบคี่ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 4-6 คู่ ออกตรงข้ามกันหรือเยื้องกันเล็กน้อย ใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบมนเบี้ยวหรือขอบไม่เท่ากัน ขอบใบเรียบ กว้าง 3-4 ซม. ยาว 7-12 ซม. แผ่นใบนุ่ม หนาเป็นมัน ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง หลังใบเรียบเกลี้ยง ส่วนท้องใบเรียบ มีก้านใบยาว 12-16 ซม. ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน โดยจะออกเป็นช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่งหรือออกตามซอกใบ มีดอกย่อยจำนวนมากและมีขนาดเล็ก จะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์  ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ฉ่ำน้ำ ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้าง 2.5-3.5 ซม. และยาว 4-5.5 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนผลแก่เป็นสีเหลืองอมเขียวถึงเหลืองอ่อน มีจุดประสีดำบนผิว มีกลิ่นหอมและมีรสเปรี้ยว ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยวขนาดใหญ่และแข็งมาก ผิวเมล็ดเป็นเสี้ยนและขรุขระ มีหลายคัพภะทำให้งอกได้ต้นกล้าหลายต้น

การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด ปักชำ และตอนกิ่ง

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิม อยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย

ประโยชน์ 1. ผลอ่อนนำมาฝานบางๆใส่อาหารประเภทยำ ผลสุกนำมาใส่ส้มตำ น้ำพริก ยำ และใช้ประกอบอาหารอื่น ๆ ที่ต้องการรสเปรี้ยว โดยจะมีรสเปรี้ยวและฝาดเล็กน้อยแต่มีกลิ่นหอม เนื้อในของผลสุกนำมาทำน้ำผลไม้หรือทำเป็นเครื่องดื่ม  ที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ

2. ยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวอมฝาด มีกลิ่นหอมใช้รับประทานเป็นผัก โดยรับประทานร่วมกับน้ำพริก ลาบ ส้มตำ น้ำตก อาหารเวียดนาม และอาหารประเภทยำที่มีรสจัด ชาวเหนือนิยมนำมาสับผสมลงไปในลาบ เพื่อช่วยให้รสชาติไม่เลี่ยนและอร่อยขึ้น ช่อดอกมะกอกก็ใช้กินแบบดิบได้เช่นกัน

3. ผลมะกอกที่ร่วงอยู่บนพื้นจะเป็นอาหารของสัตว์ป่าได้เป็นอย่างดี พรานป่ามักจะเฝ้าต้นมะกอกเพื่อรอส่องสัตว์ป่าที่เข้ามากินผล

4. ยางจากต้นมีลักษณะใสเป็นสีน้ำตาลปนแดง ไม่ละลายน้ำ แต่จะเกิดเป็นเมือก สามารถนำมาทำเป็นกาวใช้ติดของใช้และกระดาษว่าว

5. เนื้อไม้มะกอกเป็นไม้เนื้ออ่อน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ทำไม้จิ้มฟัน ทำกล่องไม้ขีด ทำกล่องใส่ของ ทำหีบศพ ฯลฯ

สรรพคุณของมะกอก

1. เปลือกต้น ใบ และผล ใช้กินเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยแก้ร้อนใน เป็นยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ

2. เนื้อในผลมีสรรพคุณช่วยแก้ธาตุพิการ เพราะน้ำดีไม่ปกติและกระเพาะอาหารพิการ

3. ผลมีรสเปรี้ยวอมหวาน สรรพคุณช่วยแก้โรคขาดแคลเซียมได้ มีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด

อ้างอิง

1. https://medthai.com

2. https://www.thai-thaifood.com/th

3. https://th.wikipedia.org/wiki