Category Archives: การผลิตบัณฑิตครู

วรรณคดีในแบบเรียนภาษาไทย

วรรณคดีในแบบเรียนภาษาไทย

นางสาวกิติยา รัศมีแจ่ม

View Fullscreen

สังคมไทยและสังคมโลกในศตวรรษที่ ๒๑ (Thai and Global Society in ๒๑st Century)

สังคมไทยและสังคมโลกในศตวรรษที่ ๒๑ (Thai and Global Society in ๒๑st Century)

นางระพีพรรณ ภู่ผกาพันธ์พงษ์ ตัณฑรัตน์

View Fullscreen

เทคนิคการสอนวิชาเคมีเรื่องปริมาณสัมพันธ์และปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมี

กรกฎ เพ็ชร์หัสณะโยธิน


 

 

เทคนิคการสอนวิชาเคมีเรื่องโปรตีนและไขมัน

บรรยายโดย : ธิดา อมร


 

 

ครูชอบธรรม

 

ดร. ธนภัทร  จันทร์เจริญ*


 

ทําอยํางไรจึงส่งเสริมเด็กไทยก้าวสู่ที่ 1 ในอาเซียน

 

ดร. ธนภัทร  จันทร์เจริญ*


 

               จุดมุ่งหมายสูงสุดในการพัฒนาประเทศของทุกชนชาติก็คือ การก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำ (The Best) และผู้นำที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อนานาอารยประเทศก็คือ ผู้นำทางด้านการศึกษา เพราะการศึกษาถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคมให้มีความรู้ ความสามารถ และศักยภาพเพียงพอที่จะส่งต่อแรงขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาประเทศในมิติอื่นๆ ให้เจริญก้าวหน้าต่อไปโดยลำดับได้ ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) และได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกว่าเป็นผู้นำที่มีศักยภาพและมีบทบาทอย่างมากต่อการดำเนินงานของกลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง แต่ในขณะเดียวกันกลับพบว่า คุณภาพการจัดการศึกษาของไทยลดต่ำลงเรื่อยๆ อย่างน่าใจหายเมื่อเทียบกับผลการประเมินในรอบปีที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากผลการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาทั้งที่ดำเนินการโดยหน่วยงานภายในประเทศ เช่น ผลการสอบ O-Net และหน่วยงานจากต่างประเทศ เช่น ผลการสอบ PISA เป็นต้น กอปรกับข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ได้จากผลการตรวจประเมินคุณภาพสถานศึกษาของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ที่สรุปในภาพรวมว่า ระดับการเรียนรู้ของเด็กไทยในวิชาหลักลดต่ำลง ขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการแก้ปัญหา ฯลฯ นอกจากนี้ (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, ม.ป.ป., น. 6) ผลการประเมินการศึกษาภาพรวมของไทยชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่ไม่แตกต่างกันมากนักคือ ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับเกือบรั้งท้าย ในขณะที่สิงคโปร์มีศักยภาพการศึกษาภาพรวมดีกว่าไทยและประเทศสมาชิกอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นถึงระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของประเทศไทยทั้งสิ้น ประเด็นสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องฉุคิดก็คือ รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาต่างก็มุ่งส่งเสริมและพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามแนวคิดและรูปแบบวิธีการต่างๆ ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด แต่เหตุใดผลการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของไทยจึงยังคงไม่บรรลุผลตามที่คาดหวังไว้

               การพัฒนาประเทศให้สามารถก้าวเข้าสู่การแข่งขันในเวทีประชาคมอาเซียนได้นั้น สิ่งสำคัญ คือ ต้องพัฒนากระบวนการศึกษาของชาติให้มีมาตรฐานทางวิชาการในระดับสากล (International Standard) ให้ได้ก่อน เพราะการศึกษาจะเป็นเครื่องมืออันสำคัญที่จะช่วยพัฒนาคนให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพเพื่อที่จะสามารถพัฒนาสังคมให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน อีกทั้งจะสามารถนำพาประเทศชาติก้าวพ้นเวทีการแข่งขันในระดับต่างๆ ได้อีกด้วย การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจึงถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะพัฒนาคุณภาพคนไทยให้มีศักยภาพก้าวไกลไปสู่มาตรฐานสากล โดยเฉพาะการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิตในอนาคตของเด็กและเยาวชน โดยเหตุนี้การปฏิรังสรรค์การศึกษาของไทยจึงคำนึงถึงแนวความคิดเดิมๆ ที่เน้นเพียงแค่อ่านออก เขียนเป็นและสื่อสารได้นั้นคงไม่เพียงพอ ต้องกำหนดจุดมุ่งหมายใหม่ที่ก้าวไกลไปมากกว่าเดิม คือ พัฒนาให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำที่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) และก้าวนำการพัฒนาตนเองของประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนที่สามารถพัฒนาการศึกษาของตนให้ก้าวหน้าไปมากอย่างคาดไม่ถึง  การขับเคลื่อนด้านการศึกษาของประเทศไทยจึงมีโจทย์สำคัญว่าจะส่งเสริมผู้เรียนให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นที่ 1 ในอาเซียนได้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังคงเป็นข้อคำถามที่ท้าทายความคิดของนักวิชาการ นักการศึกษาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนทุกฝ่ายให้ต้องขบคิดกันต่อไป ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นบุคลากรคนหนึ่งที่อยู่ในแวดวงการศึกษามานานมองเห็นว่าแนวความคิดสำคัญสำหรับการจัดการศึกษาของไทยที่จะ “ส่งเสริมเด็กไทยก้าวสู่ที่ 1 ในอาเซียน” นั้นมีอยู่ 5 ประการ ดังนี้

  1. ล้มเลิกความเชื่อว่า “เราสู้เขาไม่ได้”

               ในอดีตที่ผ่านมามีผู้นำหรือบุคคลสำคัญจำนวนไม่น้อยได้กล่าวไว้ว่า “คิดทำการใหญ่ ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง” และการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายที่สุดก็คือ การเปลี่ยนแปลงความเชื่อ  เพราะ “ความเชื่อ” เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เมื่อมนุษย์มีความเชื่ออย่างไรก็จะคิด ปฏิบัติ และดำเนินวิถีชีวิตไปตามความเชื่อเหล่านั้น หากเราพิจารณาถึงผลที่ได้รับจากความเชื่อก็จะพบว่า ความเชื่อบางเรื่องราวนั้นเป็นสิ่งดีงาม สร้างสรรค์ จรรโลงสังคม และชี้นำไปสู่การพัฒนาให้เกิดความเจริญก้าวหน้าอย่างคาดไม่ถึง ความเชื่อเหล่านี้จึงควรได้รับการถ่ายทอดและส่งต่อไปยังอนุชนรุ่นหลังให้ได้สัมผัสและใช้ประโยชน์สืบต่อกันไป ทำนองเดียวกันก็มี    ความเชื่ออีกส่วนหนึ่งที่ปลูกฝังหรือสร้างค่านิยมให้คนนิ่งเฉย ดูดาย ไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงชะตากรรมชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น ความเชื่อในลักษณะนี้จึงเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการพัฒนาในทุกๆ ด้าน และสมควรที่จะปรับเปลี่ยนหรือล้มเลิกความเชื่อเหล่านั้นไปเสีย เพื่อมิให้ส่งผลต่อความคิดอ่านของบุคคลอันเป็นอุปสรรคสำหรับการพัฒนาต่อไป

               ในแวดวงการศึกษาก็เช่นกันมีผู้บริหาร ครูผู้สอน ผู้เรียน ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวจำนวนหนึ่งซึ่งยึดหลักความเชื่ออันล้าหลังที่มีมาแต่ช้านานว่า “เราสู้เขา (ประเทศเพื่อนบ้าน) ไม่ได้” แนวความเชื่อนี้จึงก่อให้เกิดอุปสรรคที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาของชาติ เพราะส่งผลให้บุคคลขาดแรงกระตุ้น แรงบันดาลใจและ ความเพียรพยายามที่จะเสาะแสวงหาหรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์มาใช้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ระบบการจัดการศึกษาของไทยก้าวหน้าต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพได้ ที่สำคัญแต่ละบุคคลซึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ครูผู้สอน ผู้เรียน ผู้ปกครองหรือแม้แต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็จะปฏิบัติภารกิจของตนเองไปตามหน้าที่เท่านั้น มิได้คำนึงถึงความสมบูรณ์ ความสำเร็จ และความก้าวหน้าจากงานในหน้าที่ความรับผิดชอบของตน ดังนั้นความจำเป็นพื้นฐานประการแรกสำหรับการพัฒนาการศึกษาให้สามารถส่งเสริมเด็กไทยก้าวเป็นที่ 1 ในอาเซียนได้นั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องล้มเลิกความเชื่ออันเป็นอุปสรรคนี้แล้วสร้างความเชื่อที่ก่อให้เกิดพลังอันยิ่งใหญ่มีความหวังหรือเห็นทางรอดของเราขึ้นใหม่ว่า “เขาสู้เราไม่ได้” เพราะความเชื่อนี้จะสร้างแรงผลักดันภายในทั้งตัวบุคคลและประเทศชาติจนก่อให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมและแสวงหาปัจจัยสนับสนุนต่างๆ มาสนับสนุนระบบ   การจัดการศึกษาของไทยให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาผู้เรียนสู่ความเป็นเลิศได้

  1. จัดระบบโรงเรียนหรือการศึกษาแนวใหม่ (เด็กได้เรียนรู้จากคนอื่น ฝึกให้มาก ปฏิบัติให้เป็น อดทนและรับผิดชอบ)

               การปฏิรูปการศึกษาของไทยที่ผ่านมาเป็นการปฏิรูปตามฐานคิดเดิม วิถีของการปฏิรูปจึงวนเวียนอยู่ในกรอบคิดติดยึด (Mindset) และบริบทเดิมๆ มิได้เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทหรือ Context ของสังคมในยุคปัจจุบัน (สุมน อมรวิวัฒน์, 2554, น. 2) แนวทางการจัดการศึกษาจึงไม่สะท้อนถึงทิศทางหรือกระแสการศึกษาที่ชัดเจนอย่างเพียงพอว่า เราต้องให้การศึกษาของเรานำพาคนและสังคมของเราให้เป็นและเป็นไปอย่างไร (ไพฑูรย์  สินลารัตน์, 2555, น. 1) การศึกษาการศึกษาของไทยจึงอยู่ในสภาวะที่ไม่ก้าวหน้าไปตามความคาดหวัง ระบบโรงเรียนของประเทศไทยในปัจจุบันไม่สามารถแข่งขันกับหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ จะเห็นได้จากประเทศที่เคยล้าหลังมากกว่าไทยอย่างเวียดนามปัจจุบันก็กลับมีผล    การประเมินทางด้านการศึกษา (PISA) แซงหน้าประเทศไทยไปแล้ว ดังนั้นหากเรายังไม่ตื่นตัวและรีบยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างจริงจังและเร่งด่วน ผลการประเมินทางด้านการศึกษาของเราในครั้งถัดไปก็คงจะลดอันดับลงไปเรื่อยๆ  ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งผลให้ผลการประเมินดังกล่าวสามารถยกระดับสูงขึ้นได้นั้นก็คือ    การจัดระบบโรงเรียนหรือการศึกษาแนวใหม่ เพื่อมุ่งส่งเสริมผู้เรียนให้มีคุณลักษณะ ดังนี้

               1) เรียนรู้จากคนอื่น (Experiential Learning) ในชีวิตจริงการเรียนรู้บางเรื่องราวนั้น เราก็ไม่ได้มีเวลามากพอสำหรับการลองผิดลองถูก จึงจำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้จากคนอื่น เนื่องจากประหยัดเวลาและย่นระยะทางในการเรียนรู้ได้ การทบทวนประสบการณ์จากอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่นรวมทั้งการศึกษาเรื่องราวจากบุคคลและสิ่งรอบข้างในปัจจุบันจะเป็นแนวทางให้เราวางอนาคตได้ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น การเรียนรู้จากคนอื่นจึงทำให้เรามองเห็นผลดีและข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นอันจะรวมเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าซึ่งผู้เรียนสามารถนำมาปรับใช้ในการเรียนรู้และการดำเนินชีวิตของตนเองให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

               2)  ฝึกให้มาก ปฏิบัติให้เป็น (Learning by Doing) โดยเดินตามแนวคิดที่ว่า “Practice Make Perfect”  ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นและต้องเติมเต็มลงในหลักสูตรการศึกษาของไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะระบบการศึกษาของไทยแม้แต่ในช่วงหลังการปฏิรูปการศึกษาในปี พ.ศ. 2542 ก็ตาม การจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาครูผู้สอนก็ยังคงยึดตำราเป็นตัวตั้ง เน้นวิชาการความรู้มากกว่าการฝึกปฏิบัติและการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงโลกแห่งการเรียนรู้เข้ากับชีวิตจริง กิจกรรมการเรียนการสอนก็เน้นการแข่งขันมากกว่าการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  ที่สำคัญวิธีการวัดและประเมินผลก็เน้นการสอบที่เป็นข้อเขียนและภาคทฤษฎีมากกว่าการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง (Authentic Assessment) ที่ฝึกให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองอย่างจริงจังหรือคิดสร้างผลผลิต (Product) ขึ้นเองอย่างสร้างสรรค์ การจัดการศึกษาจึงต้องก้าวข้ามสาระวิชา (Subject Matter) ไปสู่การเรียนรู้ที่เน้นทักษะและการปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดทักษะแห่งการเรียนรู้ (Learning Skills) อันจะสามารถนำไปประยุกต์ในการเรียนรู้และการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

               3) มีความอดทนและรับผิดชอบ สืบเนื่องมาจากประเทศไทยใช้ระบบการศึกษาทางเดียวมานาน และแม้ว่าพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จะมีหลักการที่ดีในหลายเรื่องหลายประเด็น แต่ในทางปฏิบัติกลับยังมองไม่เห็นผลเท่าที่ควร จุดอ่อนที่สำคัญของผู้ที่จบการศึกษาในระบบของไทย คือ ไม่อดทน และไม่รับผิดชอบ แต่เรากลับพบว่าทักษะเหล่านี้เป็นจุดเด่นและมีอยู่ในผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ (ประเวศ  วะสี, 2559) ดังนั้น การศึกษาของไทยจึงมีหน้าที่ที่จะต้องปรับเปลี่ยนและเสริมสร้างพฤติกรรมของผู้เรียนให้มี  ความอดทน คือ เป็นคนที่ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคใดๆ มีความตั้งมั่น ตั้งใจ ไม่ล้มเลิกหรือละทิ้งภาระงานหรือหน้าที่ลงกลางคัน ควบคู่ไปกับการมีความรับผิดชอบ ทั้งในเรื่องของตนเอง ชุมชน สังคมและประเทศชาติ เพื่อที่จะสร้างเด็กไทยในอนาคตให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพควบคู่ไปกับการมีคุณธรรม

  1. ต่อยอดศักยภาพของเด็กไทยให้ถึงจุดสูงสุด

               เมื่อพูดถึงความรู้ ความสามารถ และศักยภาพของเด็กไทย ถือได้ว่าไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก เพราะในรอบหลายปีที่ผ่านๆ มา เด็กไทยได้ก้าวขึ้นสู่เวทีการแข่งขันในระดับนานาชาติและเวทีโลกมาแล้วมากมาย ที่สำคัญได้คว้ารางวัลกลับมาให้คนไทยทั้งประเทศได้ชื่นชมอย่างน่าภาคภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็นรางวัลประเภทเดี่ยวหรือประเภททีม เช่น รางวัลการแข่งขันวิชาการโอลิมปิกเอเชีย การแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ  การแข่งขันคณิตศาสตร์นานาชาติ การประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ IEYI รางวัลความคิดสร้างสรรค์โลก รางวัลแชมป์หุ่นยนต์นานาชาติ (World Robot Game) ฯลฯ ถือได้ว่าเป็นการสร้างชื่อเสียงและประกาศเกียรติภูมิของประเทศไทยให้ชาติอื่นได้เห็นถึงความสามารถของเด็กไทย และนี่นับเป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วเด็กไทยจำนวนไม่น้อยมีความรู้ ความสามารถและมีความพร้อมใน    การพัฒนาตนเอง เพียงแค่ได้รับการส่งเสริมและการสนับสนุนที่เป็นระบบอย่างต่อเนื่องและถูกต้องเท่านั้น ซึ่งสามารถกระทำได้โดย

               1) ครูผู้สอนต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ท้าทายความสามารถของผู้เรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความรู้ความสามารถของตนเองผ่านกิจกรรมการเรียนทั้งในระบบกลุ่มและรายบุคคล อันจะส่งผลให้ผู้เรียนได้ค้นพบความสามารถของตนเองจากการเรียนรู้และครูได้ค้นพบตัวตน (ทั้งพรสวรรค์และพรแสวง) ที่แท้จริง ของศิษย์

               2) จากนั้นครูก็มีหน้าที่ที่จะต้องออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการและต่อยอดความสามารถของผู้เรียนแต่ละคนให้ก้าวไปสู่การพัฒนาตนเองอย่างเต็มตามศักยภาพสูงสุด โดยเน้นให้ผู้เรียนได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้ทางวิชาการหรือภาคทฤษฎีควบคู่ไปกับการฝึกฝนให้มากและปฏิบัติให้เป็นจนเกิดทักษะที่จำเป็น (Skills) ความเชี่ยวชาญหรือชำนาญ (Relate) และเกิดการเรียนรู้แบบรู้จริง (Mastery)

               3) สถานศึกษา ครูผู้สอนและผู้ปกครองต้องส่งเสริมและสนับสนุนผู้เรียนให้กล้าที่จะออกไปเผชิญโลกภายนอกตามสภาพแห่งความเป็นจริงและแสวงหาประสบการณ์ตรงที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองทั้งในด้านการเรียนและการดำเนินชีวิตในอนาคตจากการเข้าร่วมกิจกรรมนอกห้องเรียนหรือแสดงความสามารถบนเวทีการแข่งขันในทุกระดับ

               4) การดำเนินการดังกล่าวมิอาจสำเร็จได้โดยครูผู้สอนเพียงฝ่ายเดียว จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องกัน นับตั้งแต่ฝ่ายนโยบาย ฝ่ายบริหาร เพื่อนครู ผู้ปกครองเรื่อยลงมาจนถึงตัวผู้เรียนเอง จึงจะส่งเสริมให้ระบบการจัดการศึกษาของไทยสามารถต่อยอดศักยภาพของเด็กไทยให้พัฒนาก้าวหน้าถึงจุดสูงสุดได้อย่างสมบูรณ์

 

  1. ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง

               นานาประเทศต่างให้การยอมรับว่า “ภาษาอังกฤษ” เป็นภาษาโลก เพราะการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศทั้งในด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจการค้า ความร่วมมือในด้านต่างๆ ฯลฯ และรวมไปถึงด้านการศึกษาต่างต้องพึ่งพิงภาษาอังกฤษด้วยกันทั้งสิ้น นอกจากนี้การติดต่อสื่อสารในระดับภูมิภาคอย่างเช่นกลุ่มประชาคมอาเซียนก็ยังบัญญัติในกฎบัตรอาเซียนข้อที่ 34 ว่า “The Working Language of ASEAN shall be English” แปลความได้ว่าภาษาที่ใช้ในการทำงานของอาเซียน คือ ภาษาอังกฤษ จากความหมายข้างต้นนี้มิได้ตีความเพียงแค่ว่าเป็นการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารระหว่างกันสำหรับการทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ในองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของภาครัฐและภาคเอกชนเท่านั้น แต่ทว่าตีความรวมไปถึงการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาของอาเซียนสำหรับการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วนของประชาคมอาเซียนด้วย ซึ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแต่นี้ไปพลเมืองใน 10 ประเทศอาเซียนจะต้องใช้ภาษาอังกฤษกันมากขึ้น นอกเหนือไปจากการใช้ภาษาแม่หรือภาษาประจำชาติของตน ภาษาอังกฤษจึงกลายเป็นภาษากลางของมนุษยชาติ เป็นภาษาที่พลโลกต้องใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างกันเป็นหลักทุกประเทศจึงจำเป็นต้องบรรจุวิชาภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองรองลงมาจากภาษาประจำชาติเป็นแกนหลักของหลักสูตรการศึกษาทุกระดับนับตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงการศึกษาตลอดชีวิต นั่นหมายความว่าทุกคนที่เป็นพลโลกจำเป็นต้องเรียนรู้และใช้ภาษาอังกฤษให้ได้ นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการ พนักงานรัฐ-เอกชน นักเรียน นักศึกษา เด็กและเยาวชน รวมไปจนถึงชาวไร่ ชาวนา และชาวบ้านทั่วไป ฯลฯ ด้วย

               ประเทศไทยถือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้จัดระบบการศึกษาตามแนวคิดดังกล่าว คือ ได้กำหนดให้การเรียนภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ เป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้หนึ่งในการจัดหลักสูตรการศึกษาเริ่มตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานไปจนถึงระดับอุดมศึกษา นับว่าผู้เรียนทุกคนได้รับโอกาสที่จะเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการใช้ภาษาอังกฤษทุกชั้นปีต่อเนื่องกันไปเป็นเวลายาวนานหลายปีมาก แต่ผลสรุปกลับพบว่า คนไทยมีขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในระดับที่มีคุณภาพจำนวนน้อย แม้ว่าปัจจุบันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากแต่เดิมบ้างก็ตาม ทั้งนี้ก็เนื่องมากจากการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง ขาดการกำกับติดตามที่เป็นระบบ การจัดการเรียนการสอนส่วนใหญ่เน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้หลักไวยากรณ์ (Grammar) หรือหลักทฤษฎีโดยการท่องจำมากกว่าการได้ฝึกปฏิบัติทักษะ (Skills) การฟัง พูด อ่าน และเขียนซึ่งเป็นหัวใจหลักสำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ภาษาอย่างจริงจัง ที่สำคัญกิจกรรมการเรียนการสอนมักจะถูกจำกัดอยู่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยมที่มีสื่อประกอบการเรียนการสอนอย่างหลากหลาย แต่ขาดการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงหรือสถานการณ์จริงตามสภาพที่ควรจะเป็น สิ่งเหล่านี้นับเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งสิ้น และจริงอยู่ที่ว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างชาติต่างแดน โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้วจึงเป็นเรื่องยากที่จะเรียนรู้ได้เสมอเหมือนกันทุกคน ทุกวัย และทุกวัฒนธรรม แต่หากครูผู้สอนได้เน้นย้ำให้ความสำคัญและจัดการเรียนการสอนอย่างจริงจังโดยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกให้มาก (ใช้มากๆ) และปฏิบัติให้เป็น (ใช้บ่อยๆ) ในสถานการณ์จริงนอกห้องเรียน เช่น ในชุมชนที่มีชาวต่างชาติ ตลาด แหล่งท่องเที่ยว สถานีโดยสาร ฯลฯ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสัมผัสและฝึกใช้ภาษาโดยตรง นอกจากนี้ครูยังต้องวางแผนให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกทักษะเพิ่มเติมจากสื่อออนไลน์และโลกโซเชียล (Social Network) ที่มีอยู่อย่างมากมายจากการดูหนัง ฟังเพลง ชมโฆษณา อ่านป้ายกำกับสินค้าฯลฯ เพียงเท่านี้เด็กไทยก็จะสามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษให้มีขีดความสามารถที่สูงขึ้นได้ อันจะสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในค้นคว้าและแสวงหาความรู้ รวมทั้งติดต่อสื่อสารกับมิตรประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอย่างจริงจังและหวังผลในระดับก้าวหน้า (Progressive) เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะของประกรไทยให้สามารถก้าวเข้าสู่ระบบการแข่งขันและการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์ในฐานะประชาคมอาเซียนและพลโลกได้

 

  1. เปลี่ยนปรัชญาชีวิตของคนไทยใหม่

               การดำรงชีวิตของมนุษย์จำเป็นต้องมีหลักในการยึดถือและปฏิบัติ หลักดังกล่าวนั้นเรียกว่า “ปรัชญาชีวิต” (Philosophy of Life) เป็นทัศนะซึ่งบุคคลจะยึดถือและให้คุณค่าอันนำไปสู่พฤติกรรมต่างๆ ที่มนุษย์แสดงออกมา และภายใต้การดำเนินชีวิตของมนุษย์ก็จะถูกขับเคลื่อนไปด้วยกลไกของความคิดดังกล่าว มนุษย์ทุกคน (ไม่ว่าเจ้าตัวจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) จึงต่างก็มีปรัชญาในการดำรงชีวิตของตนเพื่อทำหน้าที่กำหนดและตัดสินใจว่าจะเลือกประพฤติกับใครและปฏิบัติตนอย่างไร ปรัชญาชีวิตจึงเป็นรากฐานเริ่มต้นอันสำคัญของความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์ รวมทั้งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางชีวิตของแต่ละบุคคล ซึ่ง Thomas Carlyle (อ้างใน อมร แสงมณี, 2554) ได้กล่าวไว้ว่า คนที่ไม่มีเป้าหมายชีวิตก็เหมือนเรือที่ไร้หางเสือ (A Man without a Goal is Like a Ship without a Rudder) ชีวิตของบุคคลเหล่านั้นจึงดำเนินไปแบบไร้ทิศทาง

               ปรัชญาชีวิตเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์มากและหลายต่อหลายคนอาจจะมองข้ามไปเพราะนึกว่าไม่สำคัญและไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต แท้ที่จริงแล้วการดำเนินชีวิตประจำวันของเราแทบทุกเรื่องนั้นล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับปรัชญาชีวิตทั้งสิ้น และเมื่อวิเคราะห์การดำเนินชีวิตของคนไทยในอดีต ก็อาจกล่าวได้ว่าน่าจะมีหลักปรัชญาชีวิตที่ว่า “อยู่รอดหรืออยู่ดีได้ก็เพียงพอแล้ว” เพราะในการดำเนินชีวิตประจำวันมักจะพึงพอใจกับสภาพที่มีอยู่ เป็นอยู่ หรือบางคนก็ถึงขั้นวางเฉยไม่ต้องการดิ้นรนหรือขวนขวายพยายามเพื่อที่จะนำพาตนเองไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต หลักคิดนี้ก็ไม่ผิดแปลกอะไรมากนักและอาจเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียด้วย เพราะสภาพสังคมและเศรษฐกิจในขณะนั้นมิได้มีการแข่งขันและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รุนแรงและเป็นพลวัตรเหมือนเช่นปัจจุบัน ในภาพรวมๆ ประชากรจึงสามารถดำเนินชีวิตผ่านไปได้อย่างปกติ ผิดไปจากปัจจุบันที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รุนแรง และซับซ้อนในทุกมิติทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และการศึกษา อันเป็นผลมาจากการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ในโลกต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีความเชื่อมโยงระหว่างกัน และในขณะเดียวกันก็เกิดการแข่งขันระหว่างกันมากขึ้นด้วย ต่างคนต่างมุ่งหวังที่จะพัฒนาประเทศชาติของตนให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศหรือก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ประเทศไทยเป็นสังคมหน่วยหนึ่งของโลกจึงต้องน้อมรับการเปลี่ยนแปลงและ     ความจำเป็นในการพัฒนาตนเองตามแนวคิดดังกล่าวข้างต้นด้วย หลักปรัชญาชีวิตเดิมๆ ที่เคยใช้กันมาและยังคงใช้กันอยู่จึงไม่อาจดำเนินต่อไปได้ เพราะเมื่อเรากำหนดเป้าหมายใหม่ที่จะขับเคลื่อนประเทศและพัฒนาเด็กไทยให้เป็นที่หนึ่งในอาเซียนแล้วก็จำเป็นต้องเปลี่ยนหลักปรัชญาชีวิตที่ว่า “อยู่รอดหรืออยู่ดีได้ก็เพียงพอแล้ว” มาสู่    “อยู่รอดหรือวางเฉยไม่ได้ ต้องหวังก้าวไปให้ถึงจุดสูงสุด” เพราะหลักคิดนี้จะช่วยกระตุ้นและชี้นำแนวทางใหม่ในการดำเนินชีวิตของคนไทยให้ตระหนัก เตรียมพร้อมและก้าวสู่วงจรการแข่งขันสำหรับการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้านอย่างมีประสิทธิภาพและมีจุดมุ่งหมายต่อไป

               จากแนวคิดที่ได้นำเสนอมาในเบื้องต้น เป็นเพียงมุมมองหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความจริงตามสภาพที่ปรากฏอยู่ในระบบการจัดการศึกษาของไทยในปัจจุบัน เป็นภาพสะท้อนอีกมุมมองหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นและแนวทางที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้ก้าวทันกับโลกในยุคปัจจุบันและก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำของอาเซียนอย่างมีคุณภาพ แนวความคิดนี้เป็นเพียงความคิดหนึ่งที่เกิดจากการมองภาพการศึกษาไทยจากประสบการณ์ที่เคยทำหน้าที่ทั้งเป็นครูผู้สอนและผู้ร่วมบริหารในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมานานกว่า 10 ปี กอปรกับการศึกษาข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ได้ศึกษาและค้นพบจากแหล่งข้อมูลต่างๆ อีกทั้งยังได้ติดตามสภาพปัจจุบันและความเคลื่อนไหวทางการศึกษามาโดยตลอด หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถจุดประกายความคิด (Inspire) ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งระดับนโยบาย ฝ่ายบริหาร ครูผู้สอนและผู้ปกครองให้นำไปคิดต่อยอดและเชื่อมโยงไปสู่การลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อส่งเสริมเด็กไทยให้ก้าวสู่ที่ 1 ในอาเซียนสมดังเจตนารมณ์ให้ได้

 

บรรณานุกรม

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (ม.ป.ป.). การเตรียมความพร้อมประเทศไทยสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน.สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2560. จาก http://kpi.ac.th/media/pdf/M7_214.pdf.

ประเวศ วะสี. (2559). “หมอประเวศ” ชี้จุดอ่อนเรียนจบไทย “ทำงานไม่เป็น-ไม่อดทน-ขาดความรับผิดชอบ”แนะ 3 ทางเลือกจัดการศึกษา. สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2559. จาก http://www.manager.co.th/qol/viewnews.aspx?NewsID=9590000050618.

ไพฑูรย์ สินลารัตน์. (2555). ผู้นำเชิงสร้างสรรค์และผลิตภาพ: กระบวนทัศน์ใหม่และผู้นำใหม่ทางการศึกษา.(พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุมน อมรวิวัฒน์. (2554). ครุศึกษากับความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย. กรุงเทพฯ:  หจก. โรงพิมพ์วัชรินทร์ พี. พี.

อมร แสงมณี. (2554). คนที่ไม่มีเป้าหมายชีวิตก็เหมือนเรือที่ไร้หางเสือ. สืบค้นเมื่อ 21 ธันวาคม 2559.จาก http://languagemiracle.blogspot.com/2010/10/blog-post_30.html.

การประยุกต์ใช้ ESD ในการสอนวิชาภาษาอังกฤษ

ชื่อผลงานทางวิชาการ                     การประยุกต์ใช้ ESD ในการสอนวิชาภาษาอังกฤษ

ประเภทผลงานทางวิชาการ              บทความทางวิชาการ

ปีที่เขียนบทความทางวิชาการ          ๒๕๕๒

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ           อาจารย์สายสุนีย์     อุลิศ     อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษ คณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

            อาจารย์สายสุนีย์    อุลิศ  ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนจากคณะครุศาสตร์   มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา   เข้าร่วมประชุมปฏิบัติการระดับภูมิภาค การศึกษาเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน  (Education  for  Sustainable  Development : ESD)    .สถาบันพัฒนาครู  คณาจารย์    และบุคลากรทางการศึกษาจังหวัดนครปฐม    หลังจากเสร็จสิ้นการอบรมแล้วสิ่งที่ตกตะกอน  ESD ได้รับการเผยแพร่จากอาจารย์สายสุนีย์  อุลิศ

            โดยอธิบายให้เห็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไปสู่  สังคม  สิ่งแวดล้อม   เศรษฐกิจ     และมีวัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อมโยงอันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะการใช้ชีวิตประจำวันในระดับท้องถิ่นและระดับโลก

            บทความวิชาการยังระบุถึงวิสัยทัศน์ของผู้ผ่านการศึกษา ESD สามารถใช้กระบวนการคิดไตร่ตรอง   แสดงความเห็นหาเหตุและผล  หาวิธีการและการป้องกัน  รวมทั้งเกิดจิตสำนึกทีมีต่อส่วนรวมในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่จะช่วยแก้ไขเรื่องต่างๆให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น   รายละเอียดสามารถสืบค้นได้จาก  web-online ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

รศ.ดร.อำนวย    เดชชัยศรี    บรรณากร

ผลจากการนำ ESD ประยุกต์ใช้ในการสอนภาษาอังกฤษ

สรุปผลงานทางวิชาการ

ชื่อผลงานทางวิชาการ                ผลจากการนำ ESD ประยุกต์ใช้ในการสอนภาษาอังกฤษ

ประเภทผลงานทางวิชาการ         บทความทางวิชาการ

ปีที่เขียนบทความทางวิชาการ      ๒๕๕๓

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ       อาจารย์สายสุนีย์ อุลิศ  อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษ คณะครุศาสตร์   มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพพระยา

            ผู้เขียนได้เคยนำเสนอการประยุกต์ใช้ ESDในการสอนภาษาอังกฤษ  นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งองค์การสหประชาชาติด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมให้การสนับสนุน  ไม่เพียงแต่มุมมองแค่วงการศึกษาเท่านั้นยังมีความสำคัญเกี่ยวข้องด้านการทำธุรกิจการค้า  การทำงานอื่นๆในระดับสูงที่ต้องอาศัยความรู้และทักษะความสามารถทางภาษาอังกฤษ ผลจากการนำ ESD ประยุกต์ใช้ในการสอนภาษาอังกฤษ ก่อให้เกิดผลดีต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาด้านการศึกษในประเด็นหลักๆได้แก่   ด้านความรู้   ด้านการทำงาน   ด้านสังคม ด้านคุณธรรม ด้านการพัฒนาผู้เรียน ด้านการสอน ด้านวัฒนธรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ   

ในรายละเอียดสามารถสืบค้นได้จาก web-online  ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

รศ.ดร.อำนวย   เดชชัยศรี   บรรณากร


 

การวิจัยทางการศึกษา

แบบฟอร์มสำหรับการนำเสนอบทสรุปผลงานทางวิชาการ

ชื่อผลงานทางวิชาการ :          การวิจัยทางการศึกษา

ประเภทผลงานทางวิชาการ :    เอกสารประกอบการสอน วิชาการวิจัยทางการศึกษา

ปีที่พิมพ์ :                         พ.ศ. 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม :                   สาขาวิชาการประเมินและวิจัยทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ :  นางเพชราวดี จงประดับเกียรติ ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : การวิจัยเป็นการค้นคว้าหาความจริง (Reliable Knowledge) เพื่อที่จะนำมาช่วยในการแก้ไขปัญหา หรือตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ หรือ การวิจัย คือ การศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ หรือทดลองอย่างละเอียด เพื่อค้นคว้าหาข้อเท็จจริงหรือความรู้ใหม่ เพื่อนำมาตั้งเป็นกฎเกณฑ์ ทฤษฎี หรือแนวทางในการปฏิบัติหรือแนวทางในการแก้ปัญหาต่อไป

R E S E A R C H มีความหมายดังนี้

R = Recruitment & Relationship หมายถึง การฝึกคนให้มีความรู้ รวมทั้งรวบรวมความรู้และปฏิบัติงานร่วมกัน การติดต่อสัมพันธ์และประสานงานกัน

E = Education & Efficiency หมายถึง ผู้วิจัยจะต้องมีการศึกษามีความรู้และสมรรถภาพในการวิจัยสูง

S = Science & Stimulation หมายถึง ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ผู้วิจัยจะต้องมีความคิดริเริ่มและกระตือรือร้นในการทำวิจัย

E = Education & Environment หมายถึง ต้องเป็นผู้รู้จักประเมินผลงานที่ทำและสามารถใช้สิ่งแวดล้อมให้เป็นประโยชน์

A = Aim & Attitude หมายถึง มีเป้าหมายที่แน่นอนและมีทัศนคติที่ดีต่อการวิจัย

R = Result หมายถึง การยอมรับผลของการวิจัย เพราะเป็นผลที่ได้จากการค้นคว้าอย่างมีระบบ

C = Curiosity หมายถึง ผู้วิจัยต้องเป็นผู้อยากรู้อยากเห็น มีความสนใจและขวนขวายในการวิจัยอยู่ตลอดเวลา

H = Horizon หมายถึง ผลการวิจัยทำให้ทราบและเข้าใจปัญหาต่างๆ ถ้ายังไม่ชัดเจน ผู้วิจัยจะต้องดำเนินการต่อไปจนกว่าจะได้ผลเป็นที่พอใจ

ดังนั้นการวิจัย คือ การค้นคว้าหาข้อเท็จจริงใหม่ๆ ในสาขาวิชาต่างๆ โดยอาศัยระเบียบวิธีการวิจัย (Research Method) ซึ่งมีลักษณะเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method)

ขั้นตอนของการวิจัยประกอบด้วย

  1. กำหนดหัวข้อปัญหาที่ทำการวิจัย (Topic Selection)
  2. ศึกษาค้นคว้าเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง (Literature Survey)
  3. กำหนดสมมุติฐานในการวิจัย (Research Hypothesis) และข้อตกลงเบื้องต้น (Research Assumption)
  4. กำหนดแผนการวิจัย (Research Planning)
  5. สร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย (Research Tool)
  6. เก็บรวบรวมข้อมูล (Data Collection)
  7. จัดกระทำข้อมูล (Data Processing)
  8. วิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis)
  9. สรุปผลการวิจัย (Data Conclusion)
  10. รายงานผลการวิจัย (Research Report)

การจัดประเภทของการวิจัยตามลักษณะของข้อมูลสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่ การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) กับ การวิจัยเชิงคุณภาพ (Quanlitative Research)

การจัดประเภทของการวิจัยตามประโยชน์ของการวิจัยสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ การวิจัยพื้นฐานหรือการวิจัยบริสุทธิ์ (Basic or Pure Research) กับการวิจัยประยุกต์ (Applied Research)

การจัดประเภทของการวิจัยตามระเบียบวิธีการวิจัยสามารถแบ่งได้ 3 ประเภท คือ การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Research) การวิจัยเชิงบรรยายหรือเชิงพรรณนา (Descriptive Research)

การจัดประเภทของการวิจัยตามสาขาวิชา สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยทางสังคมศาสตร์

การจัดประเภทการวิจัยตามการใช้ระดับการศึกษาค้นคว้าเป็นเกณฑ์ สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ การวิจัยเชิงสำรวจ (Exploratory Research) และการวิจัยเพื่อทดสอบสมมุติฐาน (Hypothesis-testing Research)

ปัญหาการวิจัยเป็นสิ่งที่ผู้วิจัยต้องการรู้ ต้องการเข้าใจเป็นความต้องการที่จะศึกษา ใฝ่ที่จะรู้และเข้าใจ เป็นสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อผู้วิจัย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดประเด็นปัญญาการวิจัย เพราะปัญหาของการวิจัยเป็นตัวกำหนดเป้าหมายของการวิจัยและเป็นเครื่องชี้แนะแนวทางในการวิจัย         แนวทางในการรวบรวมข้อมูลและช่วยในการเตรียมเครื่องมือสำหรับเก็บข้อมูล ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยนำทางในการวิจัยดำเนินไปได้สะดวกรวดเร็วและเป็นตัวการสำคัญในการตั้งสมมุติฐานด้วย การเลือกหัวข้อปัญหา ผู้วิจัยต้องให้คำนิยามของปัญหาที่เลือกมาว่ามีตัวแปรอะไร โครงสร้างและวิธีการวิจัยด้วย

การกำหนดจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ในกาวิจัยสำคัญมาก เพราะช่วยขยายความหมายของชื่อเรื่องให้ชัดเจน ต้องเขียนให้สื่อความหมายชัดเจน อาจเป็นประโยคคำถามหรือบอกเล่าก็ได้ สมมุติฐาน หมายถึง การคาดคะเนคำตอบล่วงหน้าอย่างสมเหตุสมผล คือ เป็นการตอบคำถามตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ฯลฯ เป็นต้น

การสุ่มประชากรและกลุ่มตัวอย่าง นักวิจัยต้องเลือกตัวแทนของกลุ่มประชากรที่มีคุณสมบัติตรงกันกับกลุ่มประชากรมาทำการศึกษาวิจัยแทน แล้วสรุปผลการวิจัยไปสู่กลุ่มประชากรได้ เรียกกลุ่มตัวอย่าง ลักษณะของกลุ่มตัวอย่างที่ดี ต้องมีลักษณะความเป็นตัวแทนที่ดี และขนาดของกลุ่มตัวอย่างต้องมีจำนวนพอเหมาะที่จะทำการทดสอบเพื่อนำผลไปสรุปเป็นผลจากกลุ่มประชากรได้ การกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่าง ดังนี้ การสุ่มตัวอย่างโดยอาศัยความน่าจะเป็น (Probability Sampling) การสุ่มตัวอย่างโดยไม่ใช้ความน่าจะเป็น (Non – Probability Sampling) และการสุ่มโดยใช้ความน่าจะเป็นและไม่ใช้ความน่าจะเป็น (Combination of Probability Sampling)

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ทั้งการวิจัยทางการศึกษาและวิจัยสังคมศาสตร์ที่ใช้กันมาก ได้แก่ แบบสอบถาม แบบทดสอบ การสังเกต การสัมภาษณ์ มาตรประมาณค่า แบบสำรวจและแบบทดสอบทางจิตวิทยา การวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis of data) เริ่มจากการนำข้อมูลมาจัดระเบียบด้วยการแยกประเภทให้เป็นหมวดหมู่ในรูปการอ่านเข้าใจ และสะดวกต่อการวิเคราะห์ สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ร้อยละ (Percentage หรือ %) การวัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลาง นิยมใช้ 3 วิธี คือ ฐานนิยม (Mode) มัธยฐาน (Median) และค่าเฉลี่ย (Mean) และการวัดการกระจาย คือ ลักษณะความแตกต่างกันภายในข้อมูล อาจมีแพร่กระจายนิยมใช้มี 3 วิธี คือ พิสัย (Range) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และความแปรปรวน (Variance)

การทดสอบสมมุติฐาน เป็นการใช้วิธีการทางสถิติในการทดสอบสมมุติฐาน เพื่อนำไปสู่การสรุปหรือการตัดสินใจว่าสมมุติฐานที่ตั้งไว้เป็นจริงหรือไม่ ประกอบด้วย สมมุติฐานการวิจัยมี 2 ชนิด คือ สมมุติฐานแบบมีทิศทาง กับไม่มีทิศทางและสมมุติฐานทางสถิติ แปลมาจากสมมุติฐานทางการวิจัยซึ่งเป็นข้อความ ในรูปสัญลักษณ์โครงสร้างทางคณิตศาสตร์มี 2 ชนิด คือ สมมุติฐานเป็นกลางหรือสมมุติฐานไม่มีนัยสำคัญกับสมมุติฐานทางเลือกหรือสมมุติฐานมีนัยสำคัญ

 

สรุปสาระสำคัญ / ความน่าสนใจของหนังสือการวิจัยทางการศึกษา : พบว่ามีสาระสำคัญที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ มีหลายประเด็น

ประเด็นที่ 1 การกำหนดจรรยาบรรณนักวิจัย นักวิจัย หมายถึง ผู้ที่ดำเนินการค้นคว้าความรู้อย่างเป็นระบบ เพื่อตอบประเด็นที่สงสัยโดยมีระเบียบวิธีอันเป็นที่ยอมรับในแต่ละศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ระเบียบจะต้องครอบคลุมทั้งแนวคิดมโนทัศน์ และวิธีการที่ใช้เป็นการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

จรรยาบรรณ หมายถึง หลักความประพฤติอันเหมาะสมแสดงถึงคุณธรรมและจริยธรรมในการประกอบอาชีพที่กลุ่มบุคคล แต่ละสาขาวิชาชีพประมวลขึ้นไว้เป็นหลักเพื่อให้สมาชิกในสาขาวิชาชีพนั้นยึดถือเพื่อรักษาชื่อเสียงและส่งเสริมเกียรติคุณของสาขาวิชาชีพของตน

จรรยาบรรณของนักวิจัย จัดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระเบียบวิธีวิจัย เนื่องด้วยในกระบวนการ ค้นคว้าวิจัย นักวิจัยจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับสิ่งที่ศึกษา การวิจัยจึงต้องส่งผลกระทบในทางลบต่อสิ่งที่ศึกษา จำเป็นต้องมีความรอบคอบระมัดระวัง การวิจัยเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อการวางแผนและกำหนดนโยบายในการพัฒนาประเทศทุกด้าน โดยเฉพาะในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถของหลักวิจัยที่จะต้องศึกษาขึ้นอยู่กับคุณธรรม จริยธรรมของนักวิจัยในการทำงานวิจัย ผลงานวิจัยที่ด้อยคุณภาพด้วยสาเหตุใดก็ตาม ถ้าเผยแพร่ออกไปอาจเป็นผลเสียต่อทางวิชาการและประเทศชาติได้

ดังนั้นสภาวิจัยแห่งชาติ จึงกำหนดจรรยาบรรณนักวิจัย ไว้เป็นแนวทางสำหรับนักวิจัยยึดถือ ปฏิบัติ เพื่อให้การดำเนินงานวิจัยตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมและหลักวิชาการที่เหมาะสม ตลอดจนประกันมาตรฐานของการศึกษาค้นคว้าให้เป็นไปอย่างมีศักดิ์ศรีของนักวิจัย 9 ประการได้แก่

  1. นักวิจัยต้องซื่อสัตย์และมีคุณธรรมในทางวิชาการและการจัดการ
  2. นักวิจัยต้องตระหนักถึงพันธกรณีในการทำงานวิจัยตามข้อตกลงที่ทำไว้กับหน่วยงานที่สนับสนุนการวิจัยและต่อหน่วยงานที่ตนสังกัด
  3. นักวิจัยต้องมีพื้นฐานความรู้ในสาขาวิชาที่ทำการวิจัย
  4. นักวิจัยต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ศึกษาวิจัย
  5. นักวิจัยต้องเคารพศักดิ์ศรีและสิทธิของมนุษย์ที่ใช้เป็นตัวอย่างในการวิจัย
  6. นักวิจัยต้องมีอิสระทางความคิด โดยปราศจากอคติ ในทุกขั้นตอนของการวิจัย
  7. นักวิจัยพึงนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทางที่ชอบ
  8. นักวิจัยพึงเคารพความคิดเห็นทางวิชาการของผู้อื่น
  9. นักวิจัยพึงมีความรับผิดชอบต้อสังคมทุกระดับ

ประเด็นที่ 2 การวิเคราะห์ข้อมูลและแปรผล เป็นกระบวนการ (Data Analysis) เป็นกระบวนการต่อจากการจัดกระทำข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลจะเป็นการทดสอบสมมุติฐานที่ตั้งไว้ ว่าข้อมูลที่รวบรวมได้นั้นสนับสนุนหรือปฏิเสธ สมมุติฐานโดยพิจารณาจากค่าทางสถิติตามกระบวนการวิเคราะห์ที่กำหนดไว้ในแผนการวิจัย

การแปลผลข้อมูล เป็นกระบวนการภายหลังการวิเคราะห์ข้อมูลหรือภายหลังการทดสอบสมมุติฐานแล้ว ต้องแปลเฉพาะในส่วนที่วิเคราะห์มาได้เท่านั้น และสรุปผลเพียงข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ตามสมมุติฐาน โดยอาศัยประสบการณ์และการอ่านผลการวิจัยของผู้อื่นในด้านที่ตนทำการวิจัยอยู่ จะช่วยให้แปลผลได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น

ประเด็นที่ 3 สรุปและอภิปรายผลการวิจัย (Data Conclusion) เป็นการสรุปข้อความ ผลที่ได้รับจากการวิจัยว่าผลลัพท์ทั้งหมดเป็นอย่างไร มีอะไรที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ การอภิปรายผลการวิจัยต้องคำนึงถึงจุดประสงค์และสมมุติฐานของการวิจัยเป็นสำคัญ จะต้องอภิปรายเพื่อให้ทราบว่างานวิจัยนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้เพียงใด สมมุติฐานที่กำหนดไว้จริงหรือไม่เพราะเหตุใด ผลการวิจัยที่สนับสนุนหรือขัดแย้งกับผลการวิจัยของผู้อื่นอย่างไรบ้าง การสรุปผลการวิจัยที่ดีจะช่วยให้ผู้อ่านทราบเนื้อหาสาระที่สำคัญของงานวิจัยนั้นรวดเร็ว ถูกต้อง และใช้เวลาน้อย โดยเฉพาะงานวิจัยประเภทสำรวจจะอภิปรายไปพร้อมกับการสรุปผลแต่ถ้าเป็นการวิจัยเชิงทดลอง กึ่งทดลอง จะแยกอภิปรายผลก่อนอ่านผลการวิจัย จึงสรุปผลการวิจัย

สำหรับการอภิปรายผลการวิจัย ต้องศึกษาทฤษฎี กฎเกณฑ์ หลักเหตุผลต่างๆ ตลอดผลการวิจัยของผู้อื่นเพื่อเป็นแนวทางในการอภิปรายและนำหลักเหตุผลที่ใช้ไปตั้งสมมุติฐานเป็นแนวทางในการอภิปรายผลได้ และต้องมีการเสนอแนะในประเด็น จุดอ่อน จุดบกพร่องและข้อจำกัดของการวิจัย แนวทางในการนำผลการวิจัยไปใช้และแนวทางในการทำวิจัยต่อไป และการเขียนรายงานผลการวิจัย (Research Report) นั้นเป็นกระบวนการขั้นสุดท้ายของการวิจัย เพื่อเสนอผลงานอย่างมีระบบ เพื่อเผยแพร่ผลงานที่ได้รับจากการวิจัยไปสู่บุคคลที่เกี่ยวข้อง และเป็นแนวทางในการวิจัยแก่ผู้อื่นต่อไป

 

จุดเด่น / ความน่าสนใจเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้พบว่า :  ในประเด็นการเขียนโครงร่างการวิจัยและรายงานการวิจัย

โครงร่างการวิจัย (Research Proposal) เป็นแบบแผนการดำเนินงานที่วางไว้อย่างมีระบบและเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวิจัยให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยจะทำให้ผู้วิจัยทราบว่าจะต้องทำอะไรบ้างในแต่ละขั้นตอน และทราบว่าขั้นตอนใดควรทำก่อนหรือหลัง

ส่วนประกอบของโครงร่างการวิจัย ประกอบด้วย

  1. ชื่อเรื่อง หรือหัวข้อปัญหาวิจัย จะต้องเขียนโดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ชัดเจน ไม่ใช้ภาษาพูด ชื่อเรื่องต้องระบุว่าจะต้องศึกษาอะไร กับใครและศึกษาในแง่มุมใด
  2. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาหรือภูมิหลังเป็นการเขียนให้ทราบว่าปัญหานี้มีที่มาอย่างไร มีสภาพการณ์อย่างไร มีความสำคัญอย่างไร มีมูลเหตุใด ผู้วิจัยจึงทำการวิจัยหัวข้อนั้นๆ ควรมีการอ้างอิงทฤษฎี หลักการและข้อเท็จจริงพื้นฐานเพื่อสนับสนุนให้ปัญหามีน้ำหนักขึ้น
  3. วัตถุประสงค์การวิจัย จัดเป็นหัวใจสำคัญของการทำวิจัย ซึ่งเป็นการแสดงให้ทราบถึงเป้าหมายของผู้วิจัยว่าต้องการศึกษาอะไร กับใครในแง่มุมใด ลักษณะของการเขียนต้องเฉพาะเจาะจงลงไปจากชื่อเรื่อง การวิจัยที่กำหนดไว้จะได้ทราบถึงตัวแปรที่ต้องศึกษาตลอดจนรูปแบบการวิจัยด้วย
  4. ความสำคัญของการวิจัย เขียนเพื่อแสดงให้ทราบว่าหัวข้อวิจัยนั้นมีคุณค่า ประโยชน์ หรือมีความสำคัญอย่างไร การพิจารณาคุณค่า พิจารณาได้ 2 ลักษณะ คือ มีคุณค่าด้านเสริมความรู้ในสาขาวิชานั้นๆ และมีคุณค่าที่จะนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหา หรือปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  5. ขอบเขตของการวิจัย ระบุหัวข้อปัญหาที่วิจัยมีขอบข่ายกว้างมากน้อยเพียงใด ศึกษาให้ครอบคลุมกับประชากรที่ต้องการศึกษา จึงต้องกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนเกี่ยวกับประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ตัวแปรที่ศึกษา รวมทั้งสภาพการณ์บางอย่างที่ควรจำกัดขอบข่ายไว้
  6. คำนิยามศัพท์เฉพาะ เป็นการให้ความหมายของคำกลุ่มคำ หรือตัวแปรที่ศึกษาให้เป็นที่กระจ่างชัดเจน โดยเฉพาะการนิยามศัพท์ที่เป็นตัวแปรตาม ต้องนิยามในลักษณะนิยามปฏิบัติการ สามารถสังเกตและวัดผลได้
  7. การศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เขียนเกี่ยวกับทฤษฎี หลักการ ข้อเท็จจริง แนวคิดของผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องที่วิจัยและใช้เป็นแนวทางในการตั้งสมมุติฐาน การสรุปและอภิปรายผลการวิจัยด้วย
  8. สมมุติฐานการวิจัย เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าอย่างสมเหตุสมผล เขียนให้เป็นลักษณะของข้อความที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ แต่ต้องสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของกาวิจัย
  9. วิธีดำเนินการวิจัย เขียนให้เห็นว่าจะศึกษากับใคร ใช้เครื่องมืออะไร รวบรวมข้อมูลอย่างไร และจะวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร ประกอบด้วย ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย สร้างเองหรือปรับปรุงจากผู้อื่น การเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล
  10. งบประมาณค่าใช้จ่าย ชี้แจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งหมดเป็นจำนวนเท่าใด
  11. ระยะเวลาในการดำเนินการวิจัย เขียนให้ชัดเจนว่าขั้นตอนใด ระยะเวลาแต่ละขั้นตอน
  12. บรรณานุกรม ต้องอ้างอิงหนังสือ ตำรา งานวิจัยต่างๆ ที่ได้ศึกษา ต้องเขียนให้ถูกต้องตามหลักการเขียนบรรณานุกรม

 

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : การวิจัยทางการศึกษาจำเป็นต้องมีการรายงานการวิจัยด้วย จัดว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการวิจัย เป็นการเผยแพร่ความรู้และข้อค้นพบที่ได้ไปสู่ผู้อื่นด้วย ประโยชน์ของการายงานการวิจัยมี 2 ประการ คือ

  1. เป็นการบันทึกผลงานไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้เป็นสิ่งอ้างอิงในการศึกษาปัญหาที่เกี่ยวข้อง
  2. เป็นการสื่อสารให้ผู้อื่นทราบแนวคิดของผู้วิจัยในการศึกษาปัญหานั้นๆ และรายละเอียดการศึกษาทุกขั้นตอน

รูปแบบของการรายงานการวิจัยประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ

ก. ส่วนหน้า (Preliminary Section of front matter)

ข. ส่วนเนื้อเรื่อง (The Body of The Report or Test)

ค. ส่วนที่เป็นเอกสารอ้างอิง (Reference Section)

การประเมินผลการวิจัยต้องพิจารณาประเมินผลทุกขั้นตอน ต้องประเมินในด้านต่างๆ ดังนี้

  1. หัวข้อเรื่อง ความกะทัดรัดหัวข้อเรื่อง ความชัดเจน สื่อความหมายตรงประเด็นที่ต้องการวิจัย ฯลฯ เป็นต้น
  2. ปัญหาที่นำมาการวิจัย การกำหนดก่อน-หลัง การกำหนดวัตถุประสงค์ ขอบเขตของปัญหา ฯลฯ เป็นต้น
  3. รายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้อง ต้องประเมินตัวแปร การสุ่มตัวอย่าง การวิเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ เป็นต้น
  4. สมมุติฐานของการวิจัย สอดคล้องกับทฤษฎี ทดสอบได้เพียงใด สมเหตุสมผล ฯลฯ เป็นต้น
  5. การวางแผนการวิจัย กำหนดไว้สามารถนำไปสู่คำตอบของปัญหาหรือไม่ สามารถควบคุมการแปรสภาพและความคลาดเคลื่อนเพียงใด ฯลฯ เป็นต้น
  6. การสุ่มตัวอย่างและการเก็บรวบรวมข้อมูล การกำหนดขอบเขตของกลุ่มประชากร ใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่าง ฯลฯ เป็นต้น
  7. การวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผลการวิเคราะห์ ความเหมาะสมของสถิติที่นำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ เป็นต้น
  8. การย่อและสรุปผลการวิจัย ชื่อเรื่อง ส่วนประกอบตอนต้น ฯลฯ เป็นต้น
  9. การรายงานผลการวิจัย ชื่อเรื่อง ส่วนประกอบตอนต้น ฯลฯ เป็นต้น

 

 

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู            บรรณากร

ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อ สร้างสรรค์ด้วยปัญญา พร้อมการเรียนรู้แบบร่วมกัน เพื่อการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสําคัญ

 

ฤดี  กมลสวัสดิ์


 

View Fullscreen