แบบฟอร์มสำหรับการนำเสนอบทสรุปผลงานทางวิชาการ
ชื่อผลงานทางวิชาการ : การวิจัยทางการศึกษา
ประเภทผลงานทางวิชาการ : เอกสารประกอบการสอน วิชาการวิจัยทางการศึกษา
ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2559
ข้อมูลเพิ่มเติม : สาขาวิชาการประเมินและวิจัยทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นางเพชราวดี จงประดับเกียรติ ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : การวิจัยเป็นการค้นคว้าหาความจริง (Reliable Knowledge) เพื่อที่จะนำมาช่วยในการแก้ไขปัญหา หรือตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ หรือ การวิจัย คือ การศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ หรือทดลองอย่างละเอียด เพื่อค้นคว้าหาข้อเท็จจริงหรือความรู้ใหม่ เพื่อนำมาตั้งเป็นกฎเกณฑ์ ทฤษฎี หรือแนวทางในการปฏิบัติหรือแนวทางในการแก้ปัญหาต่อไป
R E S E A R C H มีความหมายดังนี้
R = Recruitment & Relationship หมายถึง การฝึกคนให้มีความรู้ รวมทั้งรวบรวมความรู้และปฏิบัติงานร่วมกัน การติดต่อสัมพันธ์และประสานงานกัน
E = Education & Efficiency หมายถึง ผู้วิจัยจะต้องมีการศึกษามีความรู้และสมรรถภาพในการวิจัยสูง
S = Science & Stimulation หมายถึง ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ผู้วิจัยจะต้องมีความคิดริเริ่มและกระตือรือร้นในการทำวิจัย
E = Education & Environment หมายถึง ต้องเป็นผู้รู้จักประเมินผลงานที่ทำและสามารถใช้สิ่งแวดล้อมให้เป็นประโยชน์
A = Aim & Attitude หมายถึง มีเป้าหมายที่แน่นอนและมีทัศนคติที่ดีต่อการวิจัย
R = Result หมายถึง การยอมรับผลของการวิจัย เพราะเป็นผลที่ได้จากการค้นคว้าอย่างมีระบบ
C = Curiosity หมายถึง ผู้วิจัยต้องเป็นผู้อยากรู้อยากเห็น มีความสนใจและขวนขวายในการวิจัยอยู่ตลอดเวลา
H = Horizon หมายถึง ผลการวิจัยทำให้ทราบและเข้าใจปัญหาต่างๆ ถ้ายังไม่ชัดเจน ผู้วิจัยจะต้องดำเนินการต่อไปจนกว่าจะได้ผลเป็นที่พอใจ
ดังนั้นการวิจัย คือ การค้นคว้าหาข้อเท็จจริงใหม่ๆ ในสาขาวิชาต่างๆ โดยอาศัยระเบียบวิธีการวิจัย (Research Method) ซึ่งมีลักษณะเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method)
ขั้นตอนของการวิจัยประกอบด้วย
- กำหนดหัวข้อปัญหาที่ทำการวิจัย (Topic Selection)
- ศึกษาค้นคว้าเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง (Literature Survey)
- กำหนดสมมุติฐานในการวิจัย (Research Hypothesis) และข้อตกลงเบื้องต้น (Research Assumption)
- กำหนดแผนการวิจัย (Research Planning)
- สร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย (Research Tool)
- เก็บรวบรวมข้อมูล (Data Collection)
- จัดกระทำข้อมูล (Data Processing)
- วิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis)
- สรุปผลการวิจัย (Data Conclusion)
- รายงานผลการวิจัย (Research Report)
การจัดประเภทของการวิจัยตามลักษณะของข้อมูลสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่ การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) กับ การวิจัยเชิงคุณภาพ (Quanlitative Research)
การจัดประเภทของการวิจัยตามประโยชน์ของการวิจัยสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ การวิจัยพื้นฐานหรือการวิจัยบริสุทธิ์ (Basic or Pure Research) กับการวิจัยประยุกต์ (Applied Research)
การจัดประเภทของการวิจัยตามระเบียบวิธีการวิจัยสามารถแบ่งได้ 3 ประเภท คือ การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Research) การวิจัยเชิงบรรยายหรือเชิงพรรณนา (Descriptive Research)
การจัดประเภทของการวิจัยตามสาขาวิชา สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยทางสังคมศาสตร์
การจัดประเภทการวิจัยตามการใช้ระดับการศึกษาค้นคว้าเป็นเกณฑ์ สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ การวิจัยเชิงสำรวจ (Exploratory Research) และการวิจัยเพื่อทดสอบสมมุติฐาน (Hypothesis-testing Research)
ปัญหาการวิจัยเป็นสิ่งที่ผู้วิจัยต้องการรู้ ต้องการเข้าใจเป็นความต้องการที่จะศึกษา ใฝ่ที่จะรู้และเข้าใจ เป็นสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อผู้วิจัย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดประเด็นปัญญาการวิจัย เพราะปัญหาของการวิจัยเป็นตัวกำหนดเป้าหมายของการวิจัยและเป็นเครื่องชี้แนะแนวทางในการวิจัย แนวทางในการรวบรวมข้อมูลและช่วยในการเตรียมเครื่องมือสำหรับเก็บข้อมูล ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยนำทางในการวิจัยดำเนินไปได้สะดวกรวดเร็วและเป็นตัวการสำคัญในการตั้งสมมุติฐานด้วย การเลือกหัวข้อปัญหา ผู้วิจัยต้องให้คำนิยามของปัญหาที่เลือกมาว่ามีตัวแปรอะไร โครงสร้างและวิธีการวิจัยด้วย
การกำหนดจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ในกาวิจัยสำคัญมาก เพราะช่วยขยายความหมายของชื่อเรื่องให้ชัดเจน ต้องเขียนให้สื่อความหมายชัดเจน อาจเป็นประโยคคำถามหรือบอกเล่าก็ได้ สมมุติฐาน หมายถึง การคาดคะเนคำตอบล่วงหน้าอย่างสมเหตุสมผล คือ เป็นการตอบคำถามตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ฯลฯ เป็นต้น
การสุ่มประชากรและกลุ่มตัวอย่าง นักวิจัยต้องเลือกตัวแทนของกลุ่มประชากรที่มีคุณสมบัติตรงกันกับกลุ่มประชากรมาทำการศึกษาวิจัยแทน แล้วสรุปผลการวิจัยไปสู่กลุ่มประชากรได้ เรียกกลุ่มตัวอย่าง ลักษณะของกลุ่มตัวอย่างที่ดี ต้องมีลักษณะความเป็นตัวแทนที่ดี และขนาดของกลุ่มตัวอย่างต้องมีจำนวนพอเหมาะที่จะทำการทดสอบเพื่อนำผลไปสรุปเป็นผลจากกลุ่มประชากรได้ การกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่าง ดังนี้ การสุ่มตัวอย่างโดยอาศัยความน่าจะเป็น (Probability Sampling) การสุ่มตัวอย่างโดยไม่ใช้ความน่าจะเป็น (Non – Probability Sampling) และการสุ่มโดยใช้ความน่าจะเป็นและไม่ใช้ความน่าจะเป็น (Combination of Probability Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ทั้งการวิจัยทางการศึกษาและวิจัยสังคมศาสตร์ที่ใช้กันมาก ได้แก่ แบบสอบถาม แบบทดสอบ การสังเกต การสัมภาษณ์ มาตรประมาณค่า แบบสำรวจและแบบทดสอบทางจิตวิทยา การวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis of data) เริ่มจากการนำข้อมูลมาจัดระเบียบด้วยการแยกประเภทให้เป็นหมวดหมู่ในรูปการอ่านเข้าใจ และสะดวกต่อการวิเคราะห์ สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ร้อยละ (Percentage หรือ %) การวัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลาง นิยมใช้ 3 วิธี คือ ฐานนิยม (Mode) มัธยฐาน (Median) และค่าเฉลี่ย (Mean) และการวัดการกระจาย คือ ลักษณะความแตกต่างกันภายในข้อมูล อาจมีแพร่กระจายนิยมใช้มี 3 วิธี คือ พิสัย (Range) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และความแปรปรวน (Variance)
การทดสอบสมมุติฐาน เป็นการใช้วิธีการทางสถิติในการทดสอบสมมุติฐาน เพื่อนำไปสู่การสรุปหรือการตัดสินใจว่าสมมุติฐานที่ตั้งไว้เป็นจริงหรือไม่ ประกอบด้วย สมมุติฐานการวิจัยมี 2 ชนิด คือ สมมุติฐานแบบมีทิศทาง กับไม่มีทิศทางและสมมุติฐานทางสถิติ แปลมาจากสมมุติฐานทางการวิจัยซึ่งเป็นข้อความ ในรูปสัญลักษณ์โครงสร้างทางคณิตศาสตร์มี 2 ชนิด คือ สมมุติฐานเป็นกลางหรือสมมุติฐานไม่มีนัยสำคัญกับสมมุติฐานทางเลือกหรือสมมุติฐานมีนัยสำคัญ
สรุปสาระสำคัญ / ความน่าสนใจของหนังสือการวิจัยทางการศึกษา : พบว่ามีสาระสำคัญที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ มีหลายประเด็น
ประเด็นที่ 1 การกำหนดจรรยาบรรณนักวิจัย นักวิจัย หมายถึง ผู้ที่ดำเนินการค้นคว้าความรู้อย่างเป็นระบบ เพื่อตอบประเด็นที่สงสัยโดยมีระเบียบวิธีอันเป็นที่ยอมรับในแต่ละศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ระเบียบจะต้องครอบคลุมทั้งแนวคิดมโนทัศน์ และวิธีการที่ใช้เป็นการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล
จรรยาบรรณ หมายถึง หลักความประพฤติอันเหมาะสมแสดงถึงคุณธรรมและจริยธรรมในการประกอบอาชีพที่กลุ่มบุคคล แต่ละสาขาวิชาชีพประมวลขึ้นไว้เป็นหลักเพื่อให้สมาชิกในสาขาวิชาชีพนั้นยึดถือเพื่อรักษาชื่อเสียงและส่งเสริมเกียรติคุณของสาขาวิชาชีพของตน
จรรยาบรรณของนักวิจัย จัดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระเบียบวิธีวิจัย เนื่องด้วยในกระบวนการ ค้นคว้าวิจัย นักวิจัยจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับสิ่งที่ศึกษา การวิจัยจึงต้องส่งผลกระทบในทางลบต่อสิ่งที่ศึกษา จำเป็นต้องมีความรอบคอบระมัดระวัง การวิจัยเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อการวางแผนและกำหนดนโยบายในการพัฒนาประเทศทุกด้าน โดยเฉพาะในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถของหลักวิจัยที่จะต้องศึกษาขึ้นอยู่กับคุณธรรม จริยธรรมของนักวิจัยในการทำงานวิจัย ผลงานวิจัยที่ด้อยคุณภาพด้วยสาเหตุใดก็ตาม ถ้าเผยแพร่ออกไปอาจเป็นผลเสียต่อทางวิชาการและประเทศชาติได้
ดังนั้นสภาวิจัยแห่งชาติ จึงกำหนดจรรยาบรรณนักวิจัย ไว้เป็นแนวทางสำหรับนักวิจัยยึดถือ ปฏิบัติ เพื่อให้การดำเนินงานวิจัยตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมและหลักวิชาการที่เหมาะสม ตลอดจนประกันมาตรฐานของการศึกษาค้นคว้าให้เป็นไปอย่างมีศักดิ์ศรีของนักวิจัย 9 ประการได้แก่
- นักวิจัยต้องซื่อสัตย์และมีคุณธรรมในทางวิชาการและการจัดการ
- นักวิจัยต้องตระหนักถึงพันธกรณีในการทำงานวิจัยตามข้อตกลงที่ทำไว้กับหน่วยงานที่สนับสนุนการวิจัยและต่อหน่วยงานที่ตนสังกัด
- นักวิจัยต้องมีพื้นฐานความรู้ในสาขาวิชาที่ทำการวิจัย
- นักวิจัยต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ศึกษาวิจัย
- นักวิจัยต้องเคารพศักดิ์ศรีและสิทธิของมนุษย์ที่ใช้เป็นตัวอย่างในการวิจัย
- นักวิจัยต้องมีอิสระทางความคิด โดยปราศจากอคติ ในทุกขั้นตอนของการวิจัย
- นักวิจัยพึงนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทางที่ชอบ
- นักวิจัยพึงเคารพความคิดเห็นทางวิชาการของผู้อื่น
- นักวิจัยพึงมีความรับผิดชอบต้อสังคมทุกระดับ
ประเด็นที่ 2 การวิเคราะห์ข้อมูลและแปรผล เป็นกระบวนการ (Data Analysis) เป็นกระบวนการต่อจากการจัดกระทำข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลจะเป็นการทดสอบสมมุติฐานที่ตั้งไว้ ว่าข้อมูลที่รวบรวมได้นั้นสนับสนุนหรือปฏิเสธ สมมุติฐานโดยพิจารณาจากค่าทางสถิติตามกระบวนการวิเคราะห์ที่กำหนดไว้ในแผนการวิจัย
การแปลผลข้อมูล เป็นกระบวนการภายหลังการวิเคราะห์ข้อมูลหรือภายหลังการทดสอบสมมุติฐานแล้ว ต้องแปลเฉพาะในส่วนที่วิเคราะห์มาได้เท่านั้น และสรุปผลเพียงข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ตามสมมุติฐาน โดยอาศัยประสบการณ์และการอ่านผลการวิจัยของผู้อื่นในด้านที่ตนทำการวิจัยอยู่ จะช่วยให้แปลผลได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น
ประเด็นที่ 3 สรุปและอภิปรายผลการวิจัย (Data Conclusion) เป็นการสรุปข้อความ ผลที่ได้รับจากการวิจัยว่าผลลัพท์ทั้งหมดเป็นอย่างไร มีอะไรที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ การอภิปรายผลการวิจัยต้องคำนึงถึงจุดประสงค์และสมมุติฐานของการวิจัยเป็นสำคัญ จะต้องอภิปรายเพื่อให้ทราบว่างานวิจัยนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้เพียงใด สมมุติฐานที่กำหนดไว้จริงหรือไม่เพราะเหตุใด ผลการวิจัยที่สนับสนุนหรือขัดแย้งกับผลการวิจัยของผู้อื่นอย่างไรบ้าง การสรุปผลการวิจัยที่ดีจะช่วยให้ผู้อ่านทราบเนื้อหาสาระที่สำคัญของงานวิจัยนั้นรวดเร็ว ถูกต้อง และใช้เวลาน้อย โดยเฉพาะงานวิจัยประเภทสำรวจจะอภิปรายไปพร้อมกับการสรุปผลแต่ถ้าเป็นการวิจัยเชิงทดลอง กึ่งทดลอง จะแยกอภิปรายผลก่อนอ่านผลการวิจัย จึงสรุปผลการวิจัย
สำหรับการอภิปรายผลการวิจัย ต้องศึกษาทฤษฎี กฎเกณฑ์ หลักเหตุผลต่างๆ ตลอดผลการวิจัยของผู้อื่นเพื่อเป็นแนวทางในการอภิปรายและนำหลักเหตุผลที่ใช้ไปตั้งสมมุติฐานเป็นแนวทางในการอภิปรายผลได้ และต้องมีการเสนอแนะในประเด็น จุดอ่อน จุดบกพร่องและข้อจำกัดของการวิจัย แนวทางในการนำผลการวิจัยไปใช้และแนวทางในการทำวิจัยต่อไป และการเขียนรายงานผลการวิจัย (Research Report) นั้นเป็นกระบวนการขั้นสุดท้ายของการวิจัย เพื่อเสนอผลงานอย่างมีระบบ เพื่อเผยแพร่ผลงานที่ได้รับจากการวิจัยไปสู่บุคคลที่เกี่ยวข้อง และเป็นแนวทางในการวิจัยแก่ผู้อื่นต่อไป
จุดเด่น / ความน่าสนใจเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้พบว่า : ในประเด็นการเขียนโครงร่างการวิจัยและรายงานการวิจัย
โครงร่างการวิจัย (Research Proposal) เป็นแบบแผนการดำเนินงานที่วางไว้อย่างมีระบบและเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวิจัยให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยจะทำให้ผู้วิจัยทราบว่าจะต้องทำอะไรบ้างในแต่ละขั้นตอน และทราบว่าขั้นตอนใดควรทำก่อนหรือหลัง
ส่วนประกอบของโครงร่างการวิจัย ประกอบด้วย
- ชื่อเรื่อง หรือหัวข้อปัญหาวิจัย จะต้องเขียนโดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ชัดเจน ไม่ใช้ภาษาพูด ชื่อเรื่องต้องระบุว่าจะต้องศึกษาอะไร กับใครและศึกษาในแง่มุมใด
- ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาหรือภูมิหลังเป็นการเขียนให้ทราบว่าปัญหานี้มีที่มาอย่างไร มีสภาพการณ์อย่างไร มีความสำคัญอย่างไร มีมูลเหตุใด ผู้วิจัยจึงทำการวิจัยหัวข้อนั้นๆ ควรมีการอ้างอิงทฤษฎี หลักการและข้อเท็จจริงพื้นฐานเพื่อสนับสนุนให้ปัญหามีน้ำหนักขึ้น
- วัตถุประสงค์การวิจัย จัดเป็นหัวใจสำคัญของการทำวิจัย ซึ่งเป็นการแสดงให้ทราบถึงเป้าหมายของผู้วิจัยว่าต้องการศึกษาอะไร กับใครในแง่มุมใด ลักษณะของการเขียนต้องเฉพาะเจาะจงลงไปจากชื่อเรื่อง การวิจัยที่กำหนดไว้จะได้ทราบถึงตัวแปรที่ต้องศึกษาตลอดจนรูปแบบการวิจัยด้วย
- ความสำคัญของการวิจัย เขียนเพื่อแสดงให้ทราบว่าหัวข้อวิจัยนั้นมีคุณค่า ประโยชน์ หรือมีความสำคัญอย่างไร การพิจารณาคุณค่า พิจารณาได้ 2 ลักษณะ คือ มีคุณค่าด้านเสริมความรู้ในสาขาวิชานั้นๆ และมีคุณค่าที่จะนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหา หรือปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- ขอบเขตของการวิจัย ระบุหัวข้อปัญหาที่วิจัยมีขอบข่ายกว้างมากน้อยเพียงใด ศึกษาให้ครอบคลุมกับประชากรที่ต้องการศึกษา จึงต้องกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนเกี่ยวกับประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ตัวแปรที่ศึกษา รวมทั้งสภาพการณ์บางอย่างที่ควรจำกัดขอบข่ายไว้
- คำนิยามศัพท์เฉพาะ เป็นการให้ความหมายของคำกลุ่มคำ หรือตัวแปรที่ศึกษาให้เป็นที่กระจ่างชัดเจน โดยเฉพาะการนิยามศัพท์ที่เป็นตัวแปรตาม ต้องนิยามในลักษณะนิยามปฏิบัติการ สามารถสังเกตและวัดผลได้
- การศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เขียนเกี่ยวกับทฤษฎี หลักการ ข้อเท็จจริง แนวคิดของผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องที่วิจัยและใช้เป็นแนวทางในการตั้งสมมุติฐาน การสรุปและอภิปรายผลการวิจัยด้วย
- สมมุติฐานการวิจัย เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าอย่างสมเหตุสมผล เขียนให้เป็นลักษณะของข้อความที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ แต่ต้องสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของกาวิจัย
- วิธีดำเนินการวิจัย เขียนให้เห็นว่าจะศึกษากับใคร ใช้เครื่องมืออะไร รวบรวมข้อมูลอย่างไร และจะวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร ประกอบด้วย ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย สร้างเองหรือปรับปรุงจากผู้อื่น การเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล
- งบประมาณค่าใช้จ่าย ชี้แจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งหมดเป็นจำนวนเท่าใด
- ระยะเวลาในการดำเนินการวิจัย เขียนให้ชัดเจนว่าขั้นตอนใด ระยะเวลาแต่ละขั้นตอน
- บรรณานุกรม ต้องอ้างอิงหนังสือ ตำรา งานวิจัยต่างๆ ที่ได้ศึกษา ต้องเขียนให้ถูกต้องตามหลักการเขียนบรรณานุกรม
อื่นๆ ตามความเหมาะสม : การวิจัยทางการศึกษาจำเป็นต้องมีการรายงานการวิจัยด้วย จัดว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการวิจัย เป็นการเผยแพร่ความรู้และข้อค้นพบที่ได้ไปสู่ผู้อื่นด้วย ประโยชน์ของการายงานการวิจัยมี 2 ประการ คือ
- เป็นการบันทึกผลงานไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้เป็นสิ่งอ้างอิงในการศึกษาปัญหาที่เกี่ยวข้อง
- เป็นการสื่อสารให้ผู้อื่นทราบแนวคิดของผู้วิจัยในการศึกษาปัญหานั้นๆ และรายละเอียดการศึกษาทุกขั้นตอน
รูปแบบของการรายงานการวิจัยประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ
ก. ส่วนหน้า (Preliminary Section of front matter)
ข. ส่วนเนื้อเรื่อง (The Body of The Report or Test)
ค. ส่วนที่เป็นเอกสารอ้างอิง (Reference Section)
การประเมินผลการวิจัยต้องพิจารณาประเมินผลทุกขั้นตอน ต้องประเมินในด้านต่างๆ ดังนี้
- หัวข้อเรื่อง ความกะทัดรัดหัวข้อเรื่อง ความชัดเจน สื่อความหมายตรงประเด็นที่ต้องการวิจัย ฯลฯ เป็นต้น
- ปัญหาที่นำมาการวิจัย การกำหนดก่อน-หลัง การกำหนดวัตถุประสงค์ ขอบเขตของปัญหา ฯลฯ เป็นต้น
- รายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้อง ต้องประเมินตัวแปร การสุ่มตัวอย่าง การวิเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ เป็นต้น
- สมมุติฐานของการวิจัย สอดคล้องกับทฤษฎี ทดสอบได้เพียงใด สมเหตุสมผล ฯลฯ เป็นต้น
- การวางแผนการวิจัย กำหนดไว้สามารถนำไปสู่คำตอบของปัญหาหรือไม่ สามารถควบคุมการแปรสภาพและความคลาดเคลื่อนเพียงใด ฯลฯ เป็นต้น
- การสุ่มตัวอย่างและการเก็บรวบรวมข้อมูล การกำหนดขอบเขตของกลุ่มประชากร ใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่าง ฯลฯ เป็นต้น
- การวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผลการวิเคราะห์ ความเหมาะสมของสถิติที่นำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ เป็นต้น
- การย่อและสรุปผลการวิจัย ชื่อเรื่อง ส่วนประกอบตอนต้น ฯลฯ เป็นต้น
- การรายงานผลการวิจัย ชื่อเรื่อง ส่วนประกอบตอนต้น ฯลฯ เป็นต้น
รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร