ดร. ธนภัทร  จันทร์เจริญ*


 

               จุดมุ่งหมายสูงสุดในการพัฒนาประเทศของทุกชนชาติก็คือ การก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำ (The Best) และผู้นำที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อนานาอารยประเทศก็คือ ผู้นำทางด้านการศึกษา เพราะการศึกษาถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคมให้มีความรู้ ความสามารถ และศักยภาพเพียงพอที่จะส่งต่อแรงขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาประเทศในมิติอื่นๆ ให้เจริญก้าวหน้าต่อไปโดยลำดับได้ ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) และได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกว่าเป็นผู้นำที่มีศักยภาพและมีบทบาทอย่างมากต่อการดำเนินงานของกลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง แต่ในขณะเดียวกันกลับพบว่า คุณภาพการจัดการศึกษาของไทยลดต่ำลงเรื่อยๆ อย่างน่าใจหายเมื่อเทียบกับผลการประเมินในรอบปีที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากผลการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาทั้งที่ดำเนินการโดยหน่วยงานภายในประเทศ เช่น ผลการสอบ O-Net และหน่วยงานจากต่างประเทศ เช่น ผลการสอบ PISA เป็นต้น กอปรกับข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ได้จากผลการตรวจประเมินคุณภาพสถานศึกษาของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ที่สรุปในภาพรวมว่า ระดับการเรียนรู้ของเด็กไทยในวิชาหลักลดต่ำลง ขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการแก้ปัญหา ฯลฯ นอกจากนี้ (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, ม.ป.ป., น. 6) ผลการประเมินการศึกษาภาพรวมของไทยชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่ไม่แตกต่างกันมากนักคือ ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับเกือบรั้งท้าย ในขณะที่สิงคโปร์มีศักยภาพการศึกษาภาพรวมดีกว่าไทยและประเทศสมาชิกอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นถึงระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของประเทศไทยทั้งสิ้น ประเด็นสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องฉุคิดก็คือ รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาต่างก็มุ่งส่งเสริมและพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามแนวคิดและรูปแบบวิธีการต่างๆ ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด แต่เหตุใดผลการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของไทยจึงยังคงไม่บรรลุผลตามที่คาดหวังไว้

               การพัฒนาประเทศให้สามารถก้าวเข้าสู่การแข่งขันในเวทีประชาคมอาเซียนได้นั้น สิ่งสำคัญ คือ ต้องพัฒนากระบวนการศึกษาของชาติให้มีมาตรฐานทางวิชาการในระดับสากล (International Standard) ให้ได้ก่อน เพราะการศึกษาจะเป็นเครื่องมืออันสำคัญที่จะช่วยพัฒนาคนให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพเพื่อที่จะสามารถพัฒนาสังคมให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน อีกทั้งจะสามารถนำพาประเทศชาติก้าวพ้นเวทีการแข่งขันในระดับต่างๆ ได้อีกด้วย การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจึงถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะพัฒนาคุณภาพคนไทยให้มีศักยภาพก้าวไกลไปสู่มาตรฐานสากล โดยเฉพาะการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิตในอนาคตของเด็กและเยาวชน โดยเหตุนี้การปฏิรังสรรค์การศึกษาของไทยจึงคำนึงถึงแนวความคิดเดิมๆ ที่เน้นเพียงแค่อ่านออก เขียนเป็นและสื่อสารได้นั้นคงไม่เพียงพอ ต้องกำหนดจุดมุ่งหมายใหม่ที่ก้าวไกลไปมากกว่าเดิม คือ พัฒนาให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำที่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) และก้าวนำการพัฒนาตนเองของประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนที่สามารถพัฒนาการศึกษาของตนให้ก้าวหน้าไปมากอย่างคาดไม่ถึง  การขับเคลื่อนด้านการศึกษาของประเทศไทยจึงมีโจทย์สำคัญว่าจะส่งเสริมผู้เรียนให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นที่ 1 ในอาเซียนได้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังคงเป็นข้อคำถามที่ท้าทายความคิดของนักวิชาการ นักการศึกษาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนทุกฝ่ายให้ต้องขบคิดกันต่อไป ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นบุคลากรคนหนึ่งที่อยู่ในแวดวงการศึกษามานานมองเห็นว่าแนวความคิดสำคัญสำหรับการจัดการศึกษาของไทยที่จะ “ส่งเสริมเด็กไทยก้าวสู่ที่ 1 ในอาเซียน” นั้นมีอยู่ 5 ประการ ดังนี้

  1. ล้มเลิกความเชื่อว่า “เราสู้เขาไม่ได้”

               ในอดีตที่ผ่านมามีผู้นำหรือบุคคลสำคัญจำนวนไม่น้อยได้กล่าวไว้ว่า “คิดทำการใหญ่ ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง” และการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายที่สุดก็คือ การเปลี่ยนแปลงความเชื่อ  เพราะ “ความเชื่อ” เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เมื่อมนุษย์มีความเชื่ออย่างไรก็จะคิด ปฏิบัติ และดำเนินวิถีชีวิตไปตามความเชื่อเหล่านั้น หากเราพิจารณาถึงผลที่ได้รับจากความเชื่อก็จะพบว่า ความเชื่อบางเรื่องราวนั้นเป็นสิ่งดีงาม สร้างสรรค์ จรรโลงสังคม และชี้นำไปสู่การพัฒนาให้เกิดความเจริญก้าวหน้าอย่างคาดไม่ถึง ความเชื่อเหล่านี้จึงควรได้รับการถ่ายทอดและส่งต่อไปยังอนุชนรุ่นหลังให้ได้สัมผัสและใช้ประโยชน์สืบต่อกันไป ทำนองเดียวกันก็มี    ความเชื่ออีกส่วนหนึ่งที่ปลูกฝังหรือสร้างค่านิยมให้คนนิ่งเฉย ดูดาย ไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงชะตากรรมชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น ความเชื่อในลักษณะนี้จึงเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการพัฒนาในทุกๆ ด้าน และสมควรที่จะปรับเปลี่ยนหรือล้มเลิกความเชื่อเหล่านั้นไปเสีย เพื่อมิให้ส่งผลต่อความคิดอ่านของบุคคลอันเป็นอุปสรรคสำหรับการพัฒนาต่อไป

               ในแวดวงการศึกษาก็เช่นกันมีผู้บริหาร ครูผู้สอน ผู้เรียน ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวจำนวนหนึ่งซึ่งยึดหลักความเชื่ออันล้าหลังที่มีมาแต่ช้านานว่า “เราสู้เขา (ประเทศเพื่อนบ้าน) ไม่ได้” แนวความเชื่อนี้จึงก่อให้เกิดอุปสรรคที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาของชาติ เพราะส่งผลให้บุคคลขาดแรงกระตุ้น แรงบันดาลใจและ ความเพียรพยายามที่จะเสาะแสวงหาหรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์มาใช้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ระบบการจัดการศึกษาของไทยก้าวหน้าต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพได้ ที่สำคัญแต่ละบุคคลซึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ครูผู้สอน ผู้เรียน ผู้ปกครองหรือแม้แต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็จะปฏิบัติภารกิจของตนเองไปตามหน้าที่เท่านั้น มิได้คำนึงถึงความสมบูรณ์ ความสำเร็จ และความก้าวหน้าจากงานในหน้าที่ความรับผิดชอบของตน ดังนั้นความจำเป็นพื้นฐานประการแรกสำหรับการพัฒนาการศึกษาให้สามารถส่งเสริมเด็กไทยก้าวเป็นที่ 1 ในอาเซียนได้นั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องล้มเลิกความเชื่ออันเป็นอุปสรรคนี้แล้วสร้างความเชื่อที่ก่อให้เกิดพลังอันยิ่งใหญ่มีความหวังหรือเห็นทางรอดของเราขึ้นใหม่ว่า “เขาสู้เราไม่ได้” เพราะความเชื่อนี้จะสร้างแรงผลักดันภายในทั้งตัวบุคคลและประเทศชาติจนก่อให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมและแสวงหาปัจจัยสนับสนุนต่างๆ มาสนับสนุนระบบ   การจัดการศึกษาของไทยให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาผู้เรียนสู่ความเป็นเลิศได้

  1. จัดระบบโรงเรียนหรือการศึกษาแนวใหม่ (เด็กได้เรียนรู้จากคนอื่น ฝึกให้มาก ปฏิบัติให้เป็น อดทนและรับผิดชอบ)

               การปฏิรูปการศึกษาของไทยที่ผ่านมาเป็นการปฏิรูปตามฐานคิดเดิม วิถีของการปฏิรูปจึงวนเวียนอยู่ในกรอบคิดติดยึด (Mindset) และบริบทเดิมๆ มิได้เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทหรือ Context ของสังคมในยุคปัจจุบัน (สุมน อมรวิวัฒน์, 2554, น. 2) แนวทางการจัดการศึกษาจึงไม่สะท้อนถึงทิศทางหรือกระแสการศึกษาที่ชัดเจนอย่างเพียงพอว่า เราต้องให้การศึกษาของเรานำพาคนและสังคมของเราให้เป็นและเป็นไปอย่างไร (ไพฑูรย์  สินลารัตน์, 2555, น. 1) การศึกษาการศึกษาของไทยจึงอยู่ในสภาวะที่ไม่ก้าวหน้าไปตามความคาดหวัง ระบบโรงเรียนของประเทศไทยในปัจจุบันไม่สามารถแข่งขันกับหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ จะเห็นได้จากประเทศที่เคยล้าหลังมากกว่าไทยอย่างเวียดนามปัจจุบันก็กลับมีผล    การประเมินทางด้านการศึกษา (PISA) แซงหน้าประเทศไทยไปแล้ว ดังนั้นหากเรายังไม่ตื่นตัวและรีบยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างจริงจังและเร่งด่วน ผลการประเมินทางด้านการศึกษาของเราในครั้งถัดไปก็คงจะลดอันดับลงไปเรื่อยๆ  ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งผลให้ผลการประเมินดังกล่าวสามารถยกระดับสูงขึ้นได้นั้นก็คือ    การจัดระบบโรงเรียนหรือการศึกษาแนวใหม่ เพื่อมุ่งส่งเสริมผู้เรียนให้มีคุณลักษณะ ดังนี้

               1) เรียนรู้จากคนอื่น (Experiential Learning) ในชีวิตจริงการเรียนรู้บางเรื่องราวนั้น เราก็ไม่ได้มีเวลามากพอสำหรับการลองผิดลองถูก จึงจำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้จากคนอื่น เนื่องจากประหยัดเวลาและย่นระยะทางในการเรียนรู้ได้ การทบทวนประสบการณ์จากอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่นรวมทั้งการศึกษาเรื่องราวจากบุคคลและสิ่งรอบข้างในปัจจุบันจะเป็นแนวทางให้เราวางอนาคตได้ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น การเรียนรู้จากคนอื่นจึงทำให้เรามองเห็นผลดีและข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นอันจะรวมเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าซึ่งผู้เรียนสามารถนำมาปรับใช้ในการเรียนรู้และการดำเนินชีวิตของตนเองให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

               2)  ฝึกให้มาก ปฏิบัติให้เป็น (Learning by Doing) โดยเดินตามแนวคิดที่ว่า “Practice Make Perfect”  ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นและต้องเติมเต็มลงในหลักสูตรการศึกษาของไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะระบบการศึกษาของไทยแม้แต่ในช่วงหลังการปฏิรูปการศึกษาในปี พ.ศ. 2542 ก็ตาม การจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาครูผู้สอนก็ยังคงยึดตำราเป็นตัวตั้ง เน้นวิชาการความรู้มากกว่าการฝึกปฏิบัติและการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงโลกแห่งการเรียนรู้เข้ากับชีวิตจริง กิจกรรมการเรียนการสอนก็เน้นการแข่งขันมากกว่าการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  ที่สำคัญวิธีการวัดและประเมินผลก็เน้นการสอบที่เป็นข้อเขียนและภาคทฤษฎีมากกว่าการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง (Authentic Assessment) ที่ฝึกให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองอย่างจริงจังหรือคิดสร้างผลผลิต (Product) ขึ้นเองอย่างสร้างสรรค์ การจัดการศึกษาจึงต้องก้าวข้ามสาระวิชา (Subject Matter) ไปสู่การเรียนรู้ที่เน้นทักษะและการปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดทักษะแห่งการเรียนรู้ (Learning Skills) อันจะสามารถนำไปประยุกต์ในการเรียนรู้และการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

               3) มีความอดทนและรับผิดชอบ สืบเนื่องมาจากประเทศไทยใช้ระบบการศึกษาทางเดียวมานาน และแม้ว่าพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จะมีหลักการที่ดีในหลายเรื่องหลายประเด็น แต่ในทางปฏิบัติกลับยังมองไม่เห็นผลเท่าที่ควร จุดอ่อนที่สำคัญของผู้ที่จบการศึกษาในระบบของไทย คือ ไม่อดทน และไม่รับผิดชอบ แต่เรากลับพบว่าทักษะเหล่านี้เป็นจุดเด่นและมีอยู่ในผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ (ประเวศ  วะสี, 2559) ดังนั้น การศึกษาของไทยจึงมีหน้าที่ที่จะต้องปรับเปลี่ยนและเสริมสร้างพฤติกรรมของผู้เรียนให้มี  ความอดทน คือ เป็นคนที่ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคใดๆ มีความตั้งมั่น ตั้งใจ ไม่ล้มเลิกหรือละทิ้งภาระงานหรือหน้าที่ลงกลางคัน ควบคู่ไปกับการมีความรับผิดชอบ ทั้งในเรื่องของตนเอง ชุมชน สังคมและประเทศชาติ เพื่อที่จะสร้างเด็กไทยในอนาคตให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพควบคู่ไปกับการมีคุณธรรม

  1. ต่อยอดศักยภาพของเด็กไทยให้ถึงจุดสูงสุด

               เมื่อพูดถึงความรู้ ความสามารถ และศักยภาพของเด็กไทย ถือได้ว่าไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก เพราะในรอบหลายปีที่ผ่านๆ มา เด็กไทยได้ก้าวขึ้นสู่เวทีการแข่งขันในระดับนานาชาติและเวทีโลกมาแล้วมากมาย ที่สำคัญได้คว้ารางวัลกลับมาให้คนไทยทั้งประเทศได้ชื่นชมอย่างน่าภาคภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็นรางวัลประเภทเดี่ยวหรือประเภททีม เช่น รางวัลการแข่งขันวิชาการโอลิมปิกเอเชีย การแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ  การแข่งขันคณิตศาสตร์นานาชาติ การประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ IEYI รางวัลความคิดสร้างสรรค์โลก รางวัลแชมป์หุ่นยนต์นานาชาติ (World Robot Game) ฯลฯ ถือได้ว่าเป็นการสร้างชื่อเสียงและประกาศเกียรติภูมิของประเทศไทยให้ชาติอื่นได้เห็นถึงความสามารถของเด็กไทย และนี่นับเป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วเด็กไทยจำนวนไม่น้อยมีความรู้ ความสามารถและมีความพร้อมใน    การพัฒนาตนเอง เพียงแค่ได้รับการส่งเสริมและการสนับสนุนที่เป็นระบบอย่างต่อเนื่องและถูกต้องเท่านั้น ซึ่งสามารถกระทำได้โดย

               1) ครูผู้สอนต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ท้าทายความสามารถของผู้เรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความรู้ความสามารถของตนเองผ่านกิจกรรมการเรียนทั้งในระบบกลุ่มและรายบุคคล อันจะส่งผลให้ผู้เรียนได้ค้นพบความสามารถของตนเองจากการเรียนรู้และครูได้ค้นพบตัวตน (ทั้งพรสวรรค์และพรแสวง) ที่แท้จริง ของศิษย์

               2) จากนั้นครูก็มีหน้าที่ที่จะต้องออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการและต่อยอดความสามารถของผู้เรียนแต่ละคนให้ก้าวไปสู่การพัฒนาตนเองอย่างเต็มตามศักยภาพสูงสุด โดยเน้นให้ผู้เรียนได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้ทางวิชาการหรือภาคทฤษฎีควบคู่ไปกับการฝึกฝนให้มากและปฏิบัติให้เป็นจนเกิดทักษะที่จำเป็น (Skills) ความเชี่ยวชาญหรือชำนาญ (Relate) และเกิดการเรียนรู้แบบรู้จริง (Mastery)

               3) สถานศึกษา ครูผู้สอนและผู้ปกครองต้องส่งเสริมและสนับสนุนผู้เรียนให้กล้าที่จะออกไปเผชิญโลกภายนอกตามสภาพแห่งความเป็นจริงและแสวงหาประสบการณ์ตรงที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองทั้งในด้านการเรียนและการดำเนินชีวิตในอนาคตจากการเข้าร่วมกิจกรรมนอกห้องเรียนหรือแสดงความสามารถบนเวทีการแข่งขันในทุกระดับ

               4) การดำเนินการดังกล่าวมิอาจสำเร็จได้โดยครูผู้สอนเพียงฝ่ายเดียว จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องกัน นับตั้งแต่ฝ่ายนโยบาย ฝ่ายบริหาร เพื่อนครู ผู้ปกครองเรื่อยลงมาจนถึงตัวผู้เรียนเอง จึงจะส่งเสริมให้ระบบการจัดการศึกษาของไทยสามารถต่อยอดศักยภาพของเด็กไทยให้พัฒนาก้าวหน้าถึงจุดสูงสุดได้อย่างสมบูรณ์

 

  1. ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง

               นานาประเทศต่างให้การยอมรับว่า “ภาษาอังกฤษ” เป็นภาษาโลก เพราะการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศทั้งในด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจการค้า ความร่วมมือในด้านต่างๆ ฯลฯ และรวมไปถึงด้านการศึกษาต่างต้องพึ่งพิงภาษาอังกฤษด้วยกันทั้งสิ้น นอกจากนี้การติดต่อสื่อสารในระดับภูมิภาคอย่างเช่นกลุ่มประชาคมอาเซียนก็ยังบัญญัติในกฎบัตรอาเซียนข้อที่ 34 ว่า “The Working Language of ASEAN shall be English” แปลความได้ว่าภาษาที่ใช้ในการทำงานของอาเซียน คือ ภาษาอังกฤษ จากความหมายข้างต้นนี้มิได้ตีความเพียงแค่ว่าเป็นการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารระหว่างกันสำหรับการทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ในองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของภาครัฐและภาคเอกชนเท่านั้น แต่ทว่าตีความรวมไปถึงการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาของอาเซียนสำหรับการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วนของประชาคมอาเซียนด้วย ซึ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแต่นี้ไปพลเมืองใน 10 ประเทศอาเซียนจะต้องใช้ภาษาอังกฤษกันมากขึ้น นอกเหนือไปจากการใช้ภาษาแม่หรือภาษาประจำชาติของตน ภาษาอังกฤษจึงกลายเป็นภาษากลางของมนุษยชาติ เป็นภาษาที่พลโลกต้องใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างกันเป็นหลักทุกประเทศจึงจำเป็นต้องบรรจุวิชาภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองรองลงมาจากภาษาประจำชาติเป็นแกนหลักของหลักสูตรการศึกษาทุกระดับนับตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงการศึกษาตลอดชีวิต นั่นหมายความว่าทุกคนที่เป็นพลโลกจำเป็นต้องเรียนรู้และใช้ภาษาอังกฤษให้ได้ นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการ พนักงานรัฐ-เอกชน นักเรียน นักศึกษา เด็กและเยาวชน รวมไปจนถึงชาวไร่ ชาวนา และชาวบ้านทั่วไป ฯลฯ ด้วย

               ประเทศไทยถือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้จัดระบบการศึกษาตามแนวคิดดังกล่าว คือ ได้กำหนดให้การเรียนภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ เป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้หนึ่งในการจัดหลักสูตรการศึกษาเริ่มตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานไปจนถึงระดับอุดมศึกษา นับว่าผู้เรียนทุกคนได้รับโอกาสที่จะเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการใช้ภาษาอังกฤษทุกชั้นปีต่อเนื่องกันไปเป็นเวลายาวนานหลายปีมาก แต่ผลสรุปกลับพบว่า คนไทยมีขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในระดับที่มีคุณภาพจำนวนน้อย แม้ว่าปัจจุบันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากแต่เดิมบ้างก็ตาม ทั้งนี้ก็เนื่องมากจากการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง ขาดการกำกับติดตามที่เป็นระบบ การจัดการเรียนการสอนส่วนใหญ่เน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้หลักไวยากรณ์ (Grammar) หรือหลักทฤษฎีโดยการท่องจำมากกว่าการได้ฝึกปฏิบัติทักษะ (Skills) การฟัง พูด อ่าน และเขียนซึ่งเป็นหัวใจหลักสำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ภาษาอย่างจริงจัง ที่สำคัญกิจกรรมการเรียนการสอนมักจะถูกจำกัดอยู่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยมที่มีสื่อประกอบการเรียนการสอนอย่างหลากหลาย แต่ขาดการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงหรือสถานการณ์จริงตามสภาพที่ควรจะเป็น สิ่งเหล่านี้นับเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งสิ้น และจริงอยู่ที่ว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างชาติต่างแดน โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้วจึงเป็นเรื่องยากที่จะเรียนรู้ได้เสมอเหมือนกันทุกคน ทุกวัย และทุกวัฒนธรรม แต่หากครูผู้สอนได้เน้นย้ำให้ความสำคัญและจัดการเรียนการสอนอย่างจริงจังโดยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกให้มาก (ใช้มากๆ) และปฏิบัติให้เป็น (ใช้บ่อยๆ) ในสถานการณ์จริงนอกห้องเรียน เช่น ในชุมชนที่มีชาวต่างชาติ ตลาด แหล่งท่องเที่ยว สถานีโดยสาร ฯลฯ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสัมผัสและฝึกใช้ภาษาโดยตรง นอกจากนี้ครูยังต้องวางแผนให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกทักษะเพิ่มเติมจากสื่อออนไลน์และโลกโซเชียล (Social Network) ที่มีอยู่อย่างมากมายจากการดูหนัง ฟังเพลง ชมโฆษณา อ่านป้ายกำกับสินค้าฯลฯ เพียงเท่านี้เด็กไทยก็จะสามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษให้มีขีดความสามารถที่สูงขึ้นได้ อันจะสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในค้นคว้าและแสวงหาความรู้ รวมทั้งติดต่อสื่อสารกับมิตรประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอย่างจริงจังและหวังผลในระดับก้าวหน้า (Progressive) เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะของประกรไทยให้สามารถก้าวเข้าสู่ระบบการแข่งขันและการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์ในฐานะประชาคมอาเซียนและพลโลกได้

 

  1. เปลี่ยนปรัชญาชีวิตของคนไทยใหม่

               การดำรงชีวิตของมนุษย์จำเป็นต้องมีหลักในการยึดถือและปฏิบัติ หลักดังกล่าวนั้นเรียกว่า “ปรัชญาชีวิต” (Philosophy of Life) เป็นทัศนะซึ่งบุคคลจะยึดถือและให้คุณค่าอันนำไปสู่พฤติกรรมต่างๆ ที่มนุษย์แสดงออกมา และภายใต้การดำเนินชีวิตของมนุษย์ก็จะถูกขับเคลื่อนไปด้วยกลไกของความคิดดังกล่าว มนุษย์ทุกคน (ไม่ว่าเจ้าตัวจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) จึงต่างก็มีปรัชญาในการดำรงชีวิตของตนเพื่อทำหน้าที่กำหนดและตัดสินใจว่าจะเลือกประพฤติกับใครและปฏิบัติตนอย่างไร ปรัชญาชีวิตจึงเป็นรากฐานเริ่มต้นอันสำคัญของความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์ รวมทั้งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางชีวิตของแต่ละบุคคล ซึ่ง Thomas Carlyle (อ้างใน อมร แสงมณี, 2554) ได้กล่าวไว้ว่า คนที่ไม่มีเป้าหมายชีวิตก็เหมือนเรือที่ไร้หางเสือ (A Man without a Goal is Like a Ship without a Rudder) ชีวิตของบุคคลเหล่านั้นจึงดำเนินไปแบบไร้ทิศทาง

               ปรัชญาชีวิตเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์มากและหลายต่อหลายคนอาจจะมองข้ามไปเพราะนึกว่าไม่สำคัญและไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต แท้ที่จริงแล้วการดำเนินชีวิตประจำวันของเราแทบทุกเรื่องนั้นล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับปรัชญาชีวิตทั้งสิ้น และเมื่อวิเคราะห์การดำเนินชีวิตของคนไทยในอดีต ก็อาจกล่าวได้ว่าน่าจะมีหลักปรัชญาชีวิตที่ว่า “อยู่รอดหรืออยู่ดีได้ก็เพียงพอแล้ว” เพราะในการดำเนินชีวิตประจำวันมักจะพึงพอใจกับสภาพที่มีอยู่ เป็นอยู่ หรือบางคนก็ถึงขั้นวางเฉยไม่ต้องการดิ้นรนหรือขวนขวายพยายามเพื่อที่จะนำพาตนเองไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต หลักคิดนี้ก็ไม่ผิดแปลกอะไรมากนักและอาจเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียด้วย เพราะสภาพสังคมและเศรษฐกิจในขณะนั้นมิได้มีการแข่งขันและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รุนแรงและเป็นพลวัตรเหมือนเช่นปัจจุบัน ในภาพรวมๆ ประชากรจึงสามารถดำเนินชีวิตผ่านไปได้อย่างปกติ ผิดไปจากปัจจุบันที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รุนแรง และซับซ้อนในทุกมิติทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และการศึกษา อันเป็นผลมาจากการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ในโลกต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีความเชื่อมโยงระหว่างกัน และในขณะเดียวกันก็เกิดการแข่งขันระหว่างกันมากขึ้นด้วย ต่างคนต่างมุ่งหวังที่จะพัฒนาประเทศชาติของตนให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศหรือก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ประเทศไทยเป็นสังคมหน่วยหนึ่งของโลกจึงต้องน้อมรับการเปลี่ยนแปลงและ     ความจำเป็นในการพัฒนาตนเองตามแนวคิดดังกล่าวข้างต้นด้วย หลักปรัชญาชีวิตเดิมๆ ที่เคยใช้กันมาและยังคงใช้กันอยู่จึงไม่อาจดำเนินต่อไปได้ เพราะเมื่อเรากำหนดเป้าหมายใหม่ที่จะขับเคลื่อนประเทศและพัฒนาเด็กไทยให้เป็นที่หนึ่งในอาเซียนแล้วก็จำเป็นต้องเปลี่ยนหลักปรัชญาชีวิตที่ว่า “อยู่รอดหรืออยู่ดีได้ก็เพียงพอแล้ว” มาสู่    “อยู่รอดหรือวางเฉยไม่ได้ ต้องหวังก้าวไปให้ถึงจุดสูงสุด” เพราะหลักคิดนี้จะช่วยกระตุ้นและชี้นำแนวทางใหม่ในการดำเนินชีวิตของคนไทยให้ตระหนัก เตรียมพร้อมและก้าวสู่วงจรการแข่งขันสำหรับการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้านอย่างมีประสิทธิภาพและมีจุดมุ่งหมายต่อไป

               จากแนวคิดที่ได้นำเสนอมาในเบื้องต้น เป็นเพียงมุมมองหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความจริงตามสภาพที่ปรากฏอยู่ในระบบการจัดการศึกษาของไทยในปัจจุบัน เป็นภาพสะท้อนอีกมุมมองหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นและแนวทางที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้ก้าวทันกับโลกในยุคปัจจุบันและก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำของอาเซียนอย่างมีคุณภาพ แนวความคิดนี้เป็นเพียงความคิดหนึ่งที่เกิดจากการมองภาพการศึกษาไทยจากประสบการณ์ที่เคยทำหน้าที่ทั้งเป็นครูผู้สอนและผู้ร่วมบริหารในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมานานกว่า 10 ปี กอปรกับการศึกษาข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ได้ศึกษาและค้นพบจากแหล่งข้อมูลต่างๆ อีกทั้งยังได้ติดตามสภาพปัจจุบันและความเคลื่อนไหวทางการศึกษามาโดยตลอด หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถจุดประกายความคิด (Inspire) ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งระดับนโยบาย ฝ่ายบริหาร ครูผู้สอนและผู้ปกครองให้นำไปคิดต่อยอดและเชื่อมโยงไปสู่การลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อส่งเสริมเด็กไทยให้ก้าวสู่ที่ 1 ในอาเซียนสมดังเจตนารมณ์ให้ได้

 

บรรณานุกรม

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (ม.ป.ป.). การเตรียมความพร้อมประเทศไทยสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน.สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2560. จาก http://kpi.ac.th/media/pdf/M7_214.pdf.

ประเวศ วะสี. (2559). “หมอประเวศ” ชี้จุดอ่อนเรียนจบไทย “ทำงานไม่เป็น-ไม่อดทน-ขาดความรับผิดชอบ”แนะ 3 ทางเลือกจัดการศึกษา. สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2559. จาก http://www.manager.co.th/qol/viewnews.aspx?NewsID=9590000050618.

ไพฑูรย์ สินลารัตน์. (2555). ผู้นำเชิงสร้างสรรค์และผลิตภาพ: กระบวนทัศน์ใหม่และผู้นำใหม่ทางการศึกษา.(พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุมน อมรวิวัฒน์. (2554). ครุศึกษากับความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย. กรุงเทพฯ:  หจก. โรงพิมพ์วัชรินทร์ พี. พี.

อมร แสงมณี. (2554). คนที่ไม่มีเป้าหมายชีวิตก็เหมือนเรือที่ไร้หางเสือ. สืบค้นเมื่อ 21 ธันวาคม 2559.จาก http://languagemiracle.blogspot.com/2010/10/blog-post_30.html.