Category Archives: จิตวิญญาณความเป็นครู คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ

จิตวิทยาการแนะแนวสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

ชื่อผลงานทางวิชาการ : วิชา จิตวิทยาการแนะแนวสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

ประเภทผลงานทางวิชาการ : เอกสารประกอบการเรียนการสอนวิชา จิตวิทยาการแนะแนวสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : สาขาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์ เป็นเอกสารสำหรับแจกผู้เรียน

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : สาขาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจของผลงาน : ความหมายของคำว่าเด็กพิเศษ หรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษมีขอบเขต 3 ประการ ได้แก่ ความบกพร่อง คือ การสูญเสีย/ผิดปกติของจิตใจและสรีระ/โครงสร้างและหน้าที่ของร่างกาย ไร้สมรถภาพ คือ การมีข้อจำกัดหรือขาดความสามารถอันเป็นผลจากความบกพร่องจนไม่สามารถทำกิจกรรมได้ และความเสียเปรียบ คือ การมีความจำกัดหรืออุปสรรคกีดกันเพราะความบกพร่องและไร้สมรรถภาพ ดังนั้นทางการแพทย์จึงเรียกว่า พิการ องค์การอนามัยโลกได้แบ่งเด็กพิการเป็นลักษณะบกพร่องทางสติปัญญา บกพร่องทางการได้ยิน และบกพร่องทางการมองเห็น เป็นต้น

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : เอกสารประกอบการเรียนการสอนเล่มนี้ ได้สรุปสาระสำคัญว่าทางการแพทย์ได้จัดประเภทความต้องการพิเศษ เพื่อการบำบัดรักษาตามสภาพความพิการเป็น พิการทางแขน ขา ลำตัว พิการทางหู พิการทางสายตา พิการทางสติปัญญา และพิการทางอารมณ์และจิตใจ กองการศึกษาเพื่อคนพิการ กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดประเภทเด็กที่มีความต้องการพิเศษตามลักษณะที่ได้ดำเนินการบริการทางการศึกษา โดยแบ่งเป็น เด็กพิเศษประเภทตาบอด หูหนวก ปัญญาอ่อน ทางร่างกายรวมทั้งการเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลและขาดโอกาสเรียนหรือเด็กศึกษาสงเคราะห์ เช่น เด็กชาวเขา ชาวเรือ ชาวเกาะ ฯลฯ เป็นต้น

       การให้ความช่วยเหลือสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ด้วยวิธีการให้ทำกิจกรรมหลากหลายเริ่มจากง่ายไปยากจัดนันทนาการให้สนุกสนานปรับพฤติกรรม เช่น การใช้แรงเสริม ให้รางวัล เป็นต้น และจัดศิลปะบำบัดเน้นทางความคิดและสร้างสรรค์ การเรียนสามารถเรียนร่วมในระดับประถมศึกษาได้และสามารถฝึกอาชีพงานง่ายๆ ได้ ส่วนมัธยมต้องจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียน ส่วนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนต้องให้สอดคล้องกับความต้องการ ความสามารถของเด็ก ๆ แต่ละคน

       สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จำเป็นต้องใช้ภาษามือแทนพยัญชนะ สระและวรรณยุกต์ การอ่านริมฝีปาก เป็นการสื่อสารทั้ง 2 วิธี เพื่อให้เด็กสามารถเดาความหมายในการแสดงออกของผู้พูด ควรเริ่มจากการฝึกฟัง ฝึกการอ่าน ฝึกภาษามือและการสะกดนิ้ว และการสื่อสารระบบรวมและท่านแนะคำพูด

       เด็กพิการทางสายตามี 2 ประเภท คือ บอดสนิทกับบอดไม่สนิท/บอดบางส่วน ผู้สอนควรปฏิบัติต่อเด็กที่บกพร่องทางตา ไม่ควรพูดกับเด็กในลักษณะที่ทำให้เขารู้สึกว่าพิการ อย่าเสียงดังจนเกินไป ใช้น้ำเสียงปกติ การทักทายควรใช้มือสัมผัส มอบหมายงานพิเศษให้เหมือนคนอื่นๆ และความฝึกให้เด็กตาบอดได้มีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่นๆ บ้าง

       เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ระบบกระดูกกล้ามเนื้อพิการแต่กำเนิด แขนขาด้วนแต่กำเนิด การให้ความช่วยเหลือสามารถทำได้หลายอย่างในบุคคลเดียวกัน ต้องเลี้ยงดูให้ความรักพาออกสู่สังคมบ้าง ฝึกหัดให้ทำกิจกรรมต่างๆ สม่ำเสมอ ด้วยอารมณ์ที่มั่นคงปรับสภาพสิ่งแวดล้อมเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนไหว เช่น พื้นทางเดิน ห้องน้ำประตู โต๊ะเก้าอี้ สื่อและอุปกรณ์พิเศษ แนวการสอนหลักสูตรทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษาไม่ควรแตกต่างจากเด็กปกติ และมีการเพิ่มเติมหลักสูตร เช่น การฝึกการเคลื่อนไหว โดยการสอนให้วางแผนเดินทางในบริเวณรอบๆ โรงเรียน เป็นต้น

       เด็กออทิสติกจะมีความบกพร่องทางพัฒนาการด้านการสื่อสาร ภาษา และด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น จะมีลักษณะทางพฤติกรรมและอารมณ์ที่บกพร่อง เช่น พฤติกรรมซ้ำๆ ผิดปกติ เล่นมือโบกไปมา หรือหมุนตัวรอบๆ ติดต่อกัน การให้ความช่วยเหลือต้องมีผู้รู้เกี่ยวกับเด็กทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์ของแด็กแต่ละคนอย่างละเอียด การจัดการเรียนการสอนต้องเตรียมบุคลิกจะสร้างความเข้าใจเด็กเหล่านี้ ครูต้องทำแผนการสอนเป็นรายบุคคล เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาเด็กไปในทิศทางที่พึงประสงค์ ส่งผลให้เด็กประสบความสำเร็จได้

จุดเด่น /ความน่าสนใจของเอกสารเล่มนี้ : พบว่าสถานศึกษาทุกระดับทุกสังกัดต้องพิจารณารับเด็กเข้าเรียนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 43 กำหนดว่า “บุคคลควรย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” สถานศึกษาไม่สามารถปฏิเสธการรับเด็กไม่ได้ การช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาในชั้นเรียน ปกตินั้นผู้สอนต้องพยายามให้ทำงานตามความสามารถให้คำสั่งของบทเรียนอย่างชัดเจน ช่วยถ่ายทอดการเรียนรู้จากโรงเรียนไปยังบ้านและจากบ้านมายังโรงเรียน และให้พวกเด็กสามารถนำทักษะ ความรู้ต่างๆ ไปใช้ที่บ้านได้

อื่นๆ ตามความเหมาะสม/การนำไปใช้ประโยชน์ : ฐานะมหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาที่เด็กที่มีความต้องการพิเศษมาศึกษา เช่น เด็กตาบอด หูหนวก ออทิสติก ฯลฯ เป็นต้นนั้น ทุกสาขาวิชาทุกคณะวิชาไม่ควรปฏิเสธการรับเข้าศึกษา ควรส่งเสริมฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่งฐานะมนุษยชาติคนหนึ่งของสังคม ดังนั้นมหาวิทยาลัยควร

       1. กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ กิจกรรม สื่อ ควรมีความยืดหยุ่นตามสภาพเหตุการณ์ สิ่งแวดล้อมความสนใจ ความต้องการที่จำเป็น และความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน
2. ผู้สอนควรจัดแผนการเรียนการสอน โดยผสมผสาน การสอนแบบตัวต่อตัวกับการสอนกลุ่มย่อยกลุ่มใหญ่ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามศักยภาพและยังคงมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างเหมาะสม
3. ผู้สอนควรคำนึงถึงการสอนเชิงพฤติกรรม ซึ่งจะช่วยเหลือให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไปพร้อมทั้งเพิ่มความมั่นใจในตัวเองขึ้น เช่น การวิเคราะห์งาน เป็นต้น
4. ผู้สอนควรจัดโอกาสให้ผู้เรียนได้นำทักษะที่เรียนรู้แล้วไปฝึกปฏิบัตินอกห้องเรียน ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตประจำวัน
5. ผู้สอนควรได้รับการสนับสนุน สื่อ อุปกรณ์ ในการช่วยสอนจากมหาวิทยาลัย หรือดูจากผู้เชี่ยวชาญ

 

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร

การประยุกต์จิตวิทยาเพื่อการเรียนรู้

ชื่อผลงานทางวิชาการ : การประยุกต์จิตวิทยาเพื่อการเรียนรู้

ประเภทผลงานทางวิชาการ : หนังสือ ประยุกต์ความรู้ทางจิตวิทยามาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : จัดพิมพ์โดยคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จัดจำหน่ายโดย ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิมพ์ที่ โรงพิมพ์พลัฎฐกรการพิมพ์

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : นางสาวเปรมสุรีย์ เชื่อมทอง ตำแหน่งทางวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สังกัดสาขาวิชาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจของผลงาน : ธรรมชาติและพัฒนาการของผู้เรียนจำแนกทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม ทางเพศและสติปัญญา องค์ประกอบให้บุคคลแตกต่างกัน อาทิเช่น พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ทฤษฎีพัฒนาการและพัฒนาการของเด็กวัยเรียน ประกอบด้วย ทฤษฎีพัฒนาการของเพียเจต์ ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของบรูเนอร์ ทฤษฎีพัฒนาการของฮิริคสัน ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์และทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์ก

       การเรียนรู้เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ค่อนข้างถาวรเป็นผลมาจากประสบการณ์และการฝึกฝนเกิดขึ้นตลอดชีวิตขึ้นอยู่กับปัจจัย คือ ระบบปราสาท สติปัญญา อายุ ความตั้งใจ แรงจูงใจ อารมณ์ วิธีการเรียน เนื้อหาและสถานการณ์ที่เรียนและเป้าหมาย การวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ในชั้นเรียนเป็นกิจกรรมสำคัญที่จะบอกให้ครูและผู้ที่เกี่ยวข้องรู้พฤติกรรมของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ต้องวัดและประเมินผลตามสภาพความเป็นจริงอย่างต่อเนื่องในด้านความรู้ ความคิด พฤติกรรม วิธีการฝึกทักษะกระบวนการและผลการปฏิบัติจริง โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์และการตรวจผลงาน เป็นต้น สำหรับเนื้อหาเรื่อง การจัดสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนประสิทธิภาพการเรียนรู้ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ สภาพแวดล้อมทางกายภาพและสภาพแวดล้อมด้านจิตใจ

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : ความแตกต่างระหว่างบุคคลในการเรียนรู้หรือการสร้างพฤติกรรมใหม่เกี่ยวข้องกับความสามารถทางด้านสติปัญญา ความคิด ความจำ การแก้ปัญหา ตลอดจนการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์แวดล้อมอย่างเหมาะสมกระบวนการทางจิตวิทยาในการสืบค้นความรู้เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มี 6 ขั้นตอน ได้แก่ ดั้งปัญหา ตั้งสมมุติฐาน รวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การประเมินผลและสรุปผลและการนำไปใช้ วิธีการเก็บข้อมูลทางจิตวิทยาที่นิยมใช้ในทางจิตวิทยามีการสังเกต การสัมภาษณ์ ฯลฯ เป็นต้น

       ทฤษฎีพัฒนาการและพัฒนาการของเด็กวัยเรียนของเพียเจต์ เน้นพัฒนาการของมนุษย์ คือ ผลของกระบวนการปรับตัวที่เกิดจากการเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมของมนุษย์ ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของบูรเนอร์ อธิบายถึงการเจริญเติบโตทางสติปัญญา 3 ขั้น คือ ขั้นการเอนเนกทีฟ ขั้นพัฒนาการไอโคนิกและขั้นซิมโปลิก ทฤษฎีของเอริคสัน เน้นพัฒนาการด้านจิตสังคมอันเป็นผลมาจากเปลี่ยนแปลงจะเกิดกับบุคลที่ประสบภาวะวิกฤติ ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กเพราะเป็นรากฐานของการพัฒนาการทางบุคลิกภาพตอนวัยผู้ใหญ่ บุคลิกภาพของมนุษย์มีผลมาจากผลรวม 5 ปีแรก และทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์ก สร้างทฤษฎีเกี่ยวกับการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมตามขั้นตอน แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถทางสติปัญญา ขั้นตอนพัฒนาทางจริยธรรมมี 6 ขั้นตอน อาทิเช่น ขั้นหลบหลีกการถูกลงโทษ ขั้นการแสวงหารางวัล ขั้นการทำตามเพื่อน ฯลฯ เป็นต้น

ตัวอย่าง แนวทางการส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก

ลักษณะ

แนวทางการส่งเสริม

1. ลักษณะทางร่างกาย

– มีความคล่องแคล้ว ว่องไว ไม่อยู่นิ่ง

– ควรจัดกิจกรรมให้มีการเคลื่อนไหวคุยกันได้บ้าง ปล่อยให้เด็กได้พักผ่อนบ่อยๆ และให้มีส่วนร่วมในกิจกรรม

 2. ลักษณะทางอารมณ์

– จะมีความอ่อนไหวง่ายต่อการติเตียนและการเยอะเย้ย ถากถาง ชอบการชมเชยและการยอมรับจะนิยมชื่นชมครู

 – ควรระมัดระวัง หลีกเลี่ยงคำพูดถากถาง ซึ่งจะไปกระทบความรู้สึกของเด็กและเป็นสาเหตุของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อไป

3. ลักษณะทางสติปัญญา

– มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ

 – ในการสอนของครูควรสร้างแรงจูงใจใฝ่รู้ให้แก่เด็กอย่างสม่ำเสมอ

       ลักษณะการเรียนรู้ที่ดีมี 5 ประการ คือ เกิดจากกระบวนการที่สร้างความเข้าใจกับความหมายสิ่งที่รับรู้ การเรียนรู้ที่ดีต้องตั้งอยู่บนรากฐานของสิ่งที่รู้อยู่ก่อน เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นต้น ปัจจัยสำคัญต่อการเรียนรู้ประกอบด้วย ระบบปราสาท สติปัญญา อายุ ความตั้งใจ แรงจูงใจ อารมณ์ เนื้อหาของสิ่งที่รู้ สถานการณ์ที่เรียนรู้และวิธีเรียนที่ถูกต้อง วิธีการส่งเสริมการเรียนรู้แบบพหุปัญหา ได้แก่ ด้านภาษา ด้านตรรกและคณิตศาสตร์ ด้านภาพมิติสัมพันธ์ เป็นต้น

       ทฤษฎีการเรียนรู้และการประยุกต์สู่การสอน ประกอบด้วย ทฤษฎีความสัมพันธ์เชื่อมโยงของธอรันไดค์ ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก ทฤษฎีการวางเงื่อนไขของวัตสัน ทฤษฎีการเรียนรู้ของทอลแมน เป็นต้น ฯลฯ สำหรับการเรียนรู้ตามแนวทางพุทธศาสนา แบ่งผู้เรียนเป็น 3 ระดับ คือ ระดับปริยัติ ระดับปฏิบัติและระดับปฏิเวธ กระบวนการเรียนรู้มี 4 ประเภท คือ ความมีอิสระ เรียนรู้ตามความจริง คิดไตร่ตรองอย่างแยบคาย การมีจิตใจที่เป็นกลาง และทฤษฎีการเรียนรู้ตามแนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้ 5 ทฤษฎี ดังนี้ ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความสุข ทฤษฎีการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพและลักษณะนิสัย

จุดเด่นของผลงานทางวิชาการ : หนังสือการประยุกต์จิตวิทยาเพื่อการเรียนรู้มีจุดเด่นจากเนื้อหา และการนำหลักการของทฤษฎีมาประยุกต์กับกระบวนการบริหารจัดการทางการจัดการเรียนการสอนโดยเฉพาะการจัดสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนประสิทธิภาพการเรียนรู้จำแนกเป็น 2 ประเภท คือ สภาพแวดล้อมภายในห้องเรียนกับสภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียน ดังนั้นการจัดสภาพแวดล้อมให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมุ่งเน้นด้านกายภาพและด้านจิตใจทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน สำหรับสภาพแวดล้อมด้านกายภาพประกอบด้วยอาคารสถานที่ สภาพห้องเรียน สื่อ อุปกรณ์การเรียนการสอน และสภาพแวดล้อมด้านจิตใจซึ่งเป็นบรรยากาศของการสร้างความอบอุ่นเป็นมิตร มีความเอื้ออาทรและมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างนักเรียนกับครูและบุคลากรในโรงเรียน ทำให้สามารถใช้ชีวิตในการเรียนรู้อย่างมีความสุข

การนำไปใช้กับมหาวิทยาลัย : จากเนื้อหาและจุดเด่นข้างต้นนั้น มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการจัดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารจัดว่าเป็นบุคคลสำคัญในการจัดสภาพแวดล้อมให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพได้ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยควรสนับสนุนให้คณาจารย์ทุกคณะวิชาสนใจแก้ปัญหาจากการสอนด้วยวิธีการทำวิจัยชั้นเรียน (Classroom Research) เพื่อแก้ปัญหาและนำผลการวิจัยมาพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนได้และเป็นการพัฒนาครูไปสู่ความเป็นเลิศ มีอิสระทางวิชาการด้วย

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : จากประโยชน์ของการทำวิจัยชั้นเรียนนั้น คณะวิชาทั้ง 5 คณะ ควรนำผลงานการวิจัยชั้นเรียนมาเป็นเครื่องประเมินผลการสอนและประเมินความดีความชอบประจำปีด้วย ซึ่งการนี้ทางสำนักวิจัยหรือคณะวิชาควรจัดสรรงบประมาณการจัดทำวิจัยเรื่องละ 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) หรือสาขาวิชาสามารถจัดสรรงบประมาณให้แก่คณาจารย์ที่สังกัดในแต่ละวิชาด้วยก็จะยิ่งทำให้คณาจารย์มีขวัญกำลังใจมากขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอน

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร

การบริหารจัดการประกันคุณภาพการศึกษา

ชื่อผลงานทางวิชาการ : การบริหารและการประกันคุณภาพการศึกษา

ประเภทผลงานทางวิชาการ : เอกสารประกอบการสอนวิชา การบริหารการศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษา

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : พิมพ์ที่โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด กรุงเทพมหานคร

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ: รองศาสตราจารย์ ดร. มณี เหมทานนท์ และคณะ

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : ทฤษฎีรูปแบบและระบบการบริหารการศึกษาที่มีความหมายว่า การจัดการหรือการบริหารเป็นกระบวนการดำเนินงานของคณะบุคคลที่ร่วมมือกันประกอบกิจกรรม โดยนำปัจจัยต่างๆ มาดำเนินการอย่างมีแบบแผนมีประสิทธิภาพและเกิดผลบรรลุตามวัตถุประสงค์ ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ คน (Man) เงิน (Money) วัสดุ (Materials) วิธีการ (Method) งานของฝ่ายบริหารจำเป็นต้องอาศัยทักษะ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านทักษะเทคนิค ด้านทักษะมนุษย์และทักษะด้านความคิด เพราะการบริหารจัดการเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์

ทฤษฎีการบริหารจัดการจำแยกได้ 4 แนวทาง คือ 1. การจัดการตามแนววิทยาศาสตร์ 2. การจัดการแนวมนุษย์สัมพันธ์ 3. การจัดการแนวกระบวนการ และข้อ 4. การจัดการแนวสมัยใหม่ บุคคลสำคัญ ประกอบด้วย Frederick Taylor , Henry Gantt , Frank Gilbert.

การบริหารการศึกษา ต้องอาศัยทรัพยากรและกระบวนการบริหารจัดการที่สำคัญ คือ การวางแผน การจัดองค์การ การจัดคนให้เหมาะสมกับงาน การสั่งการ และการควบคุม

การบริหารจัดการสถานศึกษาเป็นกิจกรรมต่างๆ ที่บุคคลหลายฝ่ายหลายคนมาร่วมกันดำเนินการ ภารกิจของสถานศึกษาในด้านการบริหารจัดการศึกษาประกอบด้วย สถานศึกษาอาจจัดการศึกษาได้ทั้ง 3 รูปแบบ (ในระบบ นอกระบบและความอัธยาศัย) เน้นการปฏิรูปการเรียนรู้ ต้องประเมินผลผู้เรียนด้วยวิธีแบบประสมประสานและวิธีที่หลากหลาย มีบทบาทโดยตรงจัดทำสาระของหลักสูตร มีบทบาทโดยตรงในการเรียนรู้และพัฒนาชุมชน ต้องจัดระบบแบบประกันคุณภาพ ระดมทรัพยากรมาใช้จัดการศึกษา ฯลฯ เป็นต้น สำหรับภารกิจหลักของการบริหารจัดการสถานศึกษา คือ การบริหารงานด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านบุคคลและด้านบริหารทั่วไป

หลักการและระบบการประกันคุณภาพการศึกษา คือ กระบวนการควบคุมคุณภาพการทำกิจกรรมหรือการปฏิบัติภารกิจอย่างมีระบบตามแบบแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในมีแนวคิดในการดำเนินงาน 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1. การพัฒนาคุณภาพ 2. การตรวจสอบคุณภาพ และ 3. การประเมินคุณภาพ ในการจัดทำการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ต้องมีระบบวางแผน (Plan) ปฏิบัติตามแผน (Do) ตรวจสอบประเมินผล (Check) และพัฒนาปรับปรุงอยู่เสมอ (Act) ซึ่งเป็นหลักการบริหารคุณภาพครบวงจร PDCA ของเดมมิ่ง (Demming)

สรุปสาระสำคัญ : พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ในข้อสรุปที่ว่าสถานศึกษาจะต้องพัฒนาการจัดการศึกษาของตนและแสดงความรับผิดชอบให้ประจักษ์แก่สังคมว่าสถานศึกษามีประสิทธิภาพ 2 ประเด็นหลัก คือ ผู้เรียนทุกคนมีความรู้ความสามารถและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างแท้จริงและสถานศึกษามีศักยภาพในการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนบรรลุผลตามมาตรฐานอย่างแท้จริง โดยยึดหลักว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด สำหรับหลักการประกันคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ให้แยกเป็นระบบการประกันคุณภาพภายในและภายนอก เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้เกี่ยวข้องว่าผู้เรียนทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย การจัดระบบบริหารและสารสนเทศ การพัฒนามาตรฐานการศึกษา การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา การตรวจสอบและทบทวนคุณภาพการศึกษา การประเมินคุณภาพการศึกษา การรายงานคุณภาพการศึกษาประจำปีและการผดุงระบบการประกันคุณภาพการศึกษา

จุดเด่น / ความน่าสนใจจากสาระสำคัญ: การจัดการศึกษาเป็นกระบวนการที่มีระบบ มีเป้าหมายชัดเจน คือ การพัฒนาคุณภาพมนุษย์ทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา คุณธรรม ค่านิยม ความคิด ความประพฤติปฏิบัติ ฯลฯ เป็นต้น ดังนั้นในการจัดการศึกษาทุกระดับต้องร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

บทบาทของผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาประกอบด้วย คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ครู-อาจารย์และบุคลากรอื่นๆ ผู้ปกครองและชุมชน

การนำไปใช้ประโยชน์ : มหาวิทยาลัยจัดว่าเป็นสถานศึกษาระดับอุดมศึกษารูปแบบหนึ่ง จำเป็นต้องสร้างกลยุทธ์เกี่ยวกับความร่วมมือในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชนและนิสิตนักศึกษา ในรูป

1. การส่งเสริมผู้นำชุมชนรอบๆ มหาวิทยาลัย เพราะเป็นแกนนำในการพัฒนาทุกด้าน โดยการเปิดโอกาสให้เข้าร่วมเป็นกรรมการในมหาวิทยาลัย เช่น กรรมการส่งเสริมกิจกรรมหรือเปิดโอกาสรับคำแนะนำจากชุมชนในทุกๆ เรื่อง

2. ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน เพื่อให้สามารถพัฒนาตนเองได้ หรือเสริมสร้างพลังให้คนในชุมชนสามารถพึ่งตนเอง โดยเน้นการมีส่วนร่วม

3. ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทุกด้าน และเชื่อมต่อประสบการณ์ระหว่างบุคคลและชุมชน โดยผ่านกระบวนการกลุ่มและเครือข่ายการเรียนรู้

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : มหาวิทยาลัย ต้องเรียนรู้เข้าใจทรัพยากรชุมชนที่สะสมอยู่แต่ละแห่ง ทั้งที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น รวมทั้งวัฒนธรรม ประเพณี กฎเกณฑ์ แนวปฏิบัติและองค์ความรู้ต่างๆ ในการดำรงชีวิตของคนในชุมชนและสังคม เพื่อนำมาจัดการบริหารจัดการทุกๆ ด้านในมหาวิทยาลัย โดยเน้นกระบวนการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่ด้านบริหารงานบุคคล งานวิชาการ งานวัฒนธรรม และงานด้านการผลิตบัณฑิตด้วย

ความเป็นครู

ชื่อผลงานทางวิชาการ : “ความเป็นครู”

ประเภทผลงานทางวิชาการ : ตำรา วิชา ความเป็นครู

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด เงินทุนโปรแกรมวิชาการบริหารการศึกษา

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ / ตำแหน่งทางวิชาการ  : โปรแกรมวิชาการบริหารการศึกษา            รองศาสตราจารย์ ดร. มณี เหมทานนท์ และคณะ

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : เน้นหลักการ แนวคิดของครู ที่มีคุณสมบัติที่มีภาระหนักในการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ เพื่อสร้างศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีมีคุณภาพ การจำแนกประเภทของครูตามกฎหมายมีครูอาชีพ อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา และบุคลากรอื่นที่ทำหน้าที่สนับสนุน อาทิเช่น ศึกษานิเทศก์ วิทยากร ครูช่วยสอน และเจ้าหน้าที่อื่นในวงการครู สำหรับครูในอนาคต ได้แก่ ครูโดยวัฒนธรรม ครูโดยอาชีพ ครูโดยธรรมชาติ ครูโดยเทคโนโลยี และครูโดยตนเอง หลักการของครูที่นำไปปฏิบัติ คือ คำว่า “Teacher” คือ T = Teach            E = Example  A = Ability  C = Characteristic  H = Health  E = Enthusiasm R = Responsibility

สรุปสาระสำคัญ : ครูอาชีพตามแนวปฏิรูปการศึกษา มีภาระงานดังนี้

1. เพื่อให้ตนเองมีคำตอบถูกหลายๆ คำตอบ

2. ครูต้องรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคล

3. วิเคราะห์หลักสูตร

4. เตรียมการสอนก่อนเข้าห้องเรียน

5. จดบันทึกข้อดี ข้อเสีย ของการจัดการเรียนการสอนเป็นบันทึกสั้นๆ

6. ปรับปรุงออกแบบการเรียนการสอน

7. เผยแพร่รูปแบบการเรียนการสอนของตนเอง

8. ต้องจัดการเรียนการสอนทุกคาบ

นอกจาก 8 ประการนี้ พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแด่ครูถือเป็นปฏิบัติอย่างยิ่ง 4 ประการ ได้แก่

1. ครูต้องมีความรักและเมตตา

2. ครูต้องมีความเสียสละและอดทน

3. ครูต้องทำความดีเพื่อความดี

4. ครูต้องถึงพร้อมด้วยความรู้ ความดีและความสามารถ

ลักษณะของวิชาชีพชั้นสูง และยกระดับคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพครู ให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 81 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 53 กำหนดให้วิชาชีพครูต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยองค์กรคุรุสภา พร้อมทั้งกำหนดวันสำคัญของครู คือ วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี ส่วนสหประชาชาติกำหนดวัน “ครูโลก” วันที่ 5 ตุลาคม ของทุกปี

ระเบียบคุรุสภาว่าด้วย จรรยาบรรณครู พ.ศ. 2539 เพื่อเป็นหลักในการปฏิบัติ ประกอบด้วย

จรรยาบรรณ ข้อที่ 1 : ครูต้องรักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความไว้วางใจช่วยเหลือส่งเสริมในการให้การศึกษาอย่างเสมอภาคกัน

จรรยาบรรณ ข้อที่ 2 : ครูต้องอบรมสั่งสอน ฝึกฝนสร้างความรู้ ทักษะ และนิสัยที่ถูกต้องดีงามให้แก่ศิษย์อย่างเต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ

จรรยาบรรณ ข้อที่ 3 : ครูต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ทั้งทางกาย วาจา ใจ

จรรยาบรรณ ข้อที่ 4 : ครูต้องไม่กระทำงานเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจอารมณ์และสังคมของมนุษย์

จรรยาบรรณ ข้อที่ 5 : ครูต้องไม่แสวงหาประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากลูกศิษย์ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติและไม่ใช้ศิษย์ กระทำการใดๆ อันเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ

จรรยาบรรณ ข้อที่ 6 : ครูย่อมพัฒนาตนเองทั้งในด้านวิชาชีพ ด้านบุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจสังคม และการเมืองอยู่เสมอ

จรรยาบรรณ ข้อที่ 7 : ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครูและเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพ

จรรยาบรรณ ข้อที่ 8 : ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์

จุดเด่น / ความน่าสนใจและการนำไปใช้ประโยชน์ : หนังสือเรียนเล่มนี้มีจุดเด่น คือ การพัฒนาค่านิยมในวิชาชีพครูโดยอาศัยปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น ผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชาของครูอาจารย์ทุกระดับชั้น จะต้องปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีในด้านคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่ดีงาม

สำหรับการนำเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ไปใช้ประโยชน์นั้น สถาบัน องค์กรผลิตครู ควรนำเนื้อหาของความเป็นครูไปสอนนิสิต / นักศึกษา ที่จะออกไปประกอบอาชีพครูมีความมั่นใจในบุคลิกภาพของตนเองเบื้องต้น และพัฒนาปรับปรุงปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้ดีให้สังคมยอมรับ นั้นคือ บุคลิกภาพภายในและภายนอก โดยการสร้างศรัทธาในอาชีพครูตามหลักพุทธศาสนา คือ ฉันทะ เมตตาและกัลยาณมิตร เพื่อการพัฒนาจิตสำนึกและวิญญาณครูในขณะเดียวกัน ซึ่งความศรัทธาประกอบด้วย 3 มิติ ได้แก่ ศรัทธาต่อตนเอง ศรัทธาต่อครู และศรัทธาต่อองค์กรวิชาชีพครู

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กำเนิดจากฝึกหัดครู -> วิทยาลัยครู -> สถาบันราชภัฏ  และมหาวิทยาลัยราชภัฏ นั้น ปัจจุบันก็ยังผลิตนิสิตนักศึกษาสายวิชาชีพครู ควรพิจารณาผู้สอนวิชาความเป็นครูให้มีประสบการณ์ทางการเป็นผู้ผลิตครู และเป็นต้นแบบที่ดีทั้งด้านบุคลิกภาพภายในและภายนอก