ชื่อผลงานทางวิชาการ : การบริหารและการประกันคุณภาพการศึกษา

ประเภทผลงานทางวิชาการ : เอกสารประกอบการสอนวิชา การบริหารการศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษา

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : พิมพ์ที่โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด กรุงเทพมหานคร

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ: รองศาสตราจารย์ ดร. มณี เหมทานนท์ และคณะ

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : ทฤษฎีรูปแบบและระบบการบริหารการศึกษาที่มีความหมายว่า การจัดการหรือการบริหารเป็นกระบวนการดำเนินงานของคณะบุคคลที่ร่วมมือกันประกอบกิจกรรม โดยนำปัจจัยต่างๆ มาดำเนินการอย่างมีแบบแผนมีประสิทธิภาพและเกิดผลบรรลุตามวัตถุประสงค์ ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ คน (Man) เงิน (Money) วัสดุ (Materials) วิธีการ (Method) งานของฝ่ายบริหารจำเป็นต้องอาศัยทักษะ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านทักษะเทคนิค ด้านทักษะมนุษย์และทักษะด้านความคิด เพราะการบริหารจัดการเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์

ทฤษฎีการบริหารจัดการจำแยกได้ 4 แนวทาง คือ 1. การจัดการตามแนววิทยาศาสตร์ 2. การจัดการแนวมนุษย์สัมพันธ์ 3. การจัดการแนวกระบวนการ และข้อ 4. การจัดการแนวสมัยใหม่ บุคคลสำคัญ ประกอบด้วย Frederick Taylor , Henry Gantt , Frank Gilbert.

การบริหารการศึกษา ต้องอาศัยทรัพยากรและกระบวนการบริหารจัดการที่สำคัญ คือ การวางแผน การจัดองค์การ การจัดคนให้เหมาะสมกับงาน การสั่งการ และการควบคุม

การบริหารจัดการสถานศึกษาเป็นกิจกรรมต่างๆ ที่บุคคลหลายฝ่ายหลายคนมาร่วมกันดำเนินการ ภารกิจของสถานศึกษาในด้านการบริหารจัดการศึกษาประกอบด้วย สถานศึกษาอาจจัดการศึกษาได้ทั้ง 3 รูปแบบ (ในระบบ นอกระบบและความอัธยาศัย) เน้นการปฏิรูปการเรียนรู้ ต้องประเมินผลผู้เรียนด้วยวิธีแบบประสมประสานและวิธีที่หลากหลาย มีบทบาทโดยตรงจัดทำสาระของหลักสูตร มีบทบาทโดยตรงในการเรียนรู้และพัฒนาชุมชน ต้องจัดระบบแบบประกันคุณภาพ ระดมทรัพยากรมาใช้จัดการศึกษา ฯลฯ เป็นต้น สำหรับภารกิจหลักของการบริหารจัดการสถานศึกษา คือ การบริหารงานด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านบุคคลและด้านบริหารทั่วไป

หลักการและระบบการประกันคุณภาพการศึกษา คือ กระบวนการควบคุมคุณภาพการทำกิจกรรมหรือการปฏิบัติภารกิจอย่างมีระบบตามแบบแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในมีแนวคิดในการดำเนินงาน 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1. การพัฒนาคุณภาพ 2. การตรวจสอบคุณภาพ และ 3. การประเมินคุณภาพ ในการจัดทำการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ต้องมีระบบวางแผน (Plan) ปฏิบัติตามแผน (Do) ตรวจสอบประเมินผล (Check) และพัฒนาปรับปรุงอยู่เสมอ (Act) ซึ่งเป็นหลักการบริหารคุณภาพครบวงจร PDCA ของเดมมิ่ง (Demming)

สรุปสาระสำคัญ : พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ในข้อสรุปที่ว่าสถานศึกษาจะต้องพัฒนาการจัดการศึกษาของตนและแสดงความรับผิดชอบให้ประจักษ์แก่สังคมว่าสถานศึกษามีประสิทธิภาพ 2 ประเด็นหลัก คือ ผู้เรียนทุกคนมีความรู้ความสามารถและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างแท้จริงและสถานศึกษามีศักยภาพในการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนบรรลุผลตามมาตรฐานอย่างแท้จริง โดยยึดหลักว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด สำหรับหลักการประกันคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ให้แยกเป็นระบบการประกันคุณภาพภายในและภายนอก เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้เกี่ยวข้องว่าผู้เรียนทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย การจัดระบบบริหารและสารสนเทศ การพัฒนามาตรฐานการศึกษา การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา การตรวจสอบและทบทวนคุณภาพการศึกษา การประเมินคุณภาพการศึกษา การรายงานคุณภาพการศึกษาประจำปีและการผดุงระบบการประกันคุณภาพการศึกษา

จุดเด่น / ความน่าสนใจจากสาระสำคัญ: การจัดการศึกษาเป็นกระบวนการที่มีระบบ มีเป้าหมายชัดเจน คือ การพัฒนาคุณภาพมนุษย์ทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา คุณธรรม ค่านิยม ความคิด ความประพฤติปฏิบัติ ฯลฯ เป็นต้น ดังนั้นในการจัดการศึกษาทุกระดับต้องร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

บทบาทของผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาประกอบด้วย คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ครู-อาจารย์และบุคลากรอื่นๆ ผู้ปกครองและชุมชน

การนำไปใช้ประโยชน์ : มหาวิทยาลัยจัดว่าเป็นสถานศึกษาระดับอุดมศึกษารูปแบบหนึ่ง จำเป็นต้องสร้างกลยุทธ์เกี่ยวกับความร่วมมือในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชนและนิสิตนักศึกษา ในรูป

1. การส่งเสริมผู้นำชุมชนรอบๆ มหาวิทยาลัย เพราะเป็นแกนนำในการพัฒนาทุกด้าน โดยการเปิดโอกาสให้เข้าร่วมเป็นกรรมการในมหาวิทยาลัย เช่น กรรมการส่งเสริมกิจกรรมหรือเปิดโอกาสรับคำแนะนำจากชุมชนในทุกๆ เรื่อง

2. ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน เพื่อให้สามารถพัฒนาตนเองได้ หรือเสริมสร้างพลังให้คนในชุมชนสามารถพึ่งตนเอง โดยเน้นการมีส่วนร่วม

3. ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทุกด้าน และเชื่อมต่อประสบการณ์ระหว่างบุคคลและชุมชน โดยผ่านกระบวนการกลุ่มและเครือข่ายการเรียนรู้

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : มหาวิทยาลัย ต้องเรียนรู้เข้าใจทรัพยากรชุมชนที่สะสมอยู่แต่ละแห่ง ทั้งที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น รวมทั้งวัฒนธรรม ประเพณี กฎเกณฑ์ แนวปฏิบัติและองค์ความรู้ต่างๆ ในการดำรงชีวิตของคนในชุมชนและสังคม เพื่อนำมาจัดการบริหารจัดการทุกๆ ด้านในมหาวิทยาลัย โดยเน้นกระบวนการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่ด้านบริหารงานบุคคล งานวิชาการ งานวัฒนธรรม และงานด้านการผลิตบัณฑิตด้วย