ชื่อผลงานทางวิชาการ : วิชา จิตวิทยาการแนะแนวสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

ประเภทผลงานทางวิชาการ : เอกสารประกอบการเรียนการสอนวิชา จิตวิทยาการแนะแนวสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : สาขาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์ เป็นเอกสารสำหรับแจกผู้เรียน

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ : สาขาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจของผลงาน : ความหมายของคำว่าเด็กพิเศษ หรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษมีขอบเขต 3 ประการ ได้แก่ ความบกพร่อง คือ การสูญเสีย/ผิดปกติของจิตใจและสรีระ/โครงสร้างและหน้าที่ของร่างกาย ไร้สมรถภาพ คือ การมีข้อจำกัดหรือขาดความสามารถอันเป็นผลจากความบกพร่องจนไม่สามารถทำกิจกรรมได้ และความเสียเปรียบ คือ การมีความจำกัดหรืออุปสรรคกีดกันเพราะความบกพร่องและไร้สมรรถภาพ ดังนั้นทางการแพทย์จึงเรียกว่า พิการ องค์การอนามัยโลกได้แบ่งเด็กพิการเป็นลักษณะบกพร่องทางสติปัญญา บกพร่องทางการได้ยิน และบกพร่องทางการมองเห็น เป็นต้น

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : เอกสารประกอบการเรียนการสอนเล่มนี้ ได้สรุปสาระสำคัญว่าทางการแพทย์ได้จัดประเภทความต้องการพิเศษ เพื่อการบำบัดรักษาตามสภาพความพิการเป็น พิการทางแขน ขา ลำตัว พิการทางหู พิการทางสายตา พิการทางสติปัญญา และพิการทางอารมณ์และจิตใจ กองการศึกษาเพื่อคนพิการ กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดประเภทเด็กที่มีความต้องการพิเศษตามลักษณะที่ได้ดำเนินการบริการทางการศึกษา โดยแบ่งเป็น เด็กพิเศษประเภทตาบอด หูหนวก ปัญญาอ่อน ทางร่างกายรวมทั้งการเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลและขาดโอกาสเรียนหรือเด็กศึกษาสงเคราะห์ เช่น เด็กชาวเขา ชาวเรือ ชาวเกาะ ฯลฯ เป็นต้น

       การให้ความช่วยเหลือสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ด้วยวิธีการให้ทำกิจกรรมหลากหลายเริ่มจากง่ายไปยากจัดนันทนาการให้สนุกสนานปรับพฤติกรรม เช่น การใช้แรงเสริม ให้รางวัล เป็นต้น และจัดศิลปะบำบัดเน้นทางความคิดและสร้างสรรค์ การเรียนสามารถเรียนร่วมในระดับประถมศึกษาได้และสามารถฝึกอาชีพงานง่ายๆ ได้ ส่วนมัธยมต้องจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียน ส่วนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนต้องให้สอดคล้องกับความต้องการ ความสามารถของเด็ก ๆ แต่ละคน

       สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จำเป็นต้องใช้ภาษามือแทนพยัญชนะ สระและวรรณยุกต์ การอ่านริมฝีปาก เป็นการสื่อสารทั้ง 2 วิธี เพื่อให้เด็กสามารถเดาความหมายในการแสดงออกของผู้พูด ควรเริ่มจากการฝึกฟัง ฝึกการอ่าน ฝึกภาษามือและการสะกดนิ้ว และการสื่อสารระบบรวมและท่านแนะคำพูด

       เด็กพิการทางสายตามี 2 ประเภท คือ บอดสนิทกับบอดไม่สนิท/บอดบางส่วน ผู้สอนควรปฏิบัติต่อเด็กที่บกพร่องทางตา ไม่ควรพูดกับเด็กในลักษณะที่ทำให้เขารู้สึกว่าพิการ อย่าเสียงดังจนเกินไป ใช้น้ำเสียงปกติ การทักทายควรใช้มือสัมผัส มอบหมายงานพิเศษให้เหมือนคนอื่นๆ และความฝึกให้เด็กตาบอดได้มีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่นๆ บ้าง

       เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ระบบกระดูกกล้ามเนื้อพิการแต่กำเนิด แขนขาด้วนแต่กำเนิด การให้ความช่วยเหลือสามารถทำได้หลายอย่างในบุคคลเดียวกัน ต้องเลี้ยงดูให้ความรักพาออกสู่สังคมบ้าง ฝึกหัดให้ทำกิจกรรมต่างๆ สม่ำเสมอ ด้วยอารมณ์ที่มั่นคงปรับสภาพสิ่งแวดล้อมเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนไหว เช่น พื้นทางเดิน ห้องน้ำประตู โต๊ะเก้าอี้ สื่อและอุปกรณ์พิเศษ แนวการสอนหลักสูตรทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษาไม่ควรแตกต่างจากเด็กปกติ และมีการเพิ่มเติมหลักสูตร เช่น การฝึกการเคลื่อนไหว โดยการสอนให้วางแผนเดินทางในบริเวณรอบๆ โรงเรียน เป็นต้น

       เด็กออทิสติกจะมีความบกพร่องทางพัฒนาการด้านการสื่อสาร ภาษา และด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น จะมีลักษณะทางพฤติกรรมและอารมณ์ที่บกพร่อง เช่น พฤติกรรมซ้ำๆ ผิดปกติ เล่นมือโบกไปมา หรือหมุนตัวรอบๆ ติดต่อกัน การให้ความช่วยเหลือต้องมีผู้รู้เกี่ยวกับเด็กทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์ของแด็กแต่ละคนอย่างละเอียด การจัดการเรียนการสอนต้องเตรียมบุคลิกจะสร้างความเข้าใจเด็กเหล่านี้ ครูต้องทำแผนการสอนเป็นรายบุคคล เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาเด็กไปในทิศทางที่พึงประสงค์ ส่งผลให้เด็กประสบความสำเร็จได้

จุดเด่น /ความน่าสนใจของเอกสารเล่มนี้ : พบว่าสถานศึกษาทุกระดับทุกสังกัดต้องพิจารณารับเด็กเข้าเรียนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 43 กำหนดว่า “บุคคลควรย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” สถานศึกษาไม่สามารถปฏิเสธการรับเด็กไม่ได้ การช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาในชั้นเรียน ปกตินั้นผู้สอนต้องพยายามให้ทำงานตามความสามารถให้คำสั่งของบทเรียนอย่างชัดเจน ช่วยถ่ายทอดการเรียนรู้จากโรงเรียนไปยังบ้านและจากบ้านมายังโรงเรียน และให้พวกเด็กสามารถนำทักษะ ความรู้ต่างๆ ไปใช้ที่บ้านได้

อื่นๆ ตามความเหมาะสม/การนำไปใช้ประโยชน์ : ฐานะมหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาที่เด็กที่มีความต้องการพิเศษมาศึกษา เช่น เด็กตาบอด หูหนวก ออทิสติก ฯลฯ เป็นต้นนั้น ทุกสาขาวิชาทุกคณะวิชาไม่ควรปฏิเสธการรับเข้าศึกษา ควรส่งเสริมฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่งฐานะมนุษยชาติคนหนึ่งของสังคม ดังนั้นมหาวิทยาลัยควร

       1. กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ กิจกรรม สื่อ ควรมีความยืดหยุ่นตามสภาพเหตุการณ์ สิ่งแวดล้อมความสนใจ ความต้องการที่จำเป็น และความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน
2. ผู้สอนควรจัดแผนการเรียนการสอน โดยผสมผสาน การสอนแบบตัวต่อตัวกับการสอนกลุ่มย่อยกลุ่มใหญ่ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามศักยภาพและยังคงมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างเหมาะสม
3. ผู้สอนควรคำนึงถึงการสอนเชิงพฤติกรรม ซึ่งจะช่วยเหลือให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไปพร้อมทั้งเพิ่มความมั่นใจในตัวเองขึ้น เช่น การวิเคราะห์งาน เป็นต้น
4. ผู้สอนควรจัดโอกาสให้ผู้เรียนได้นำทักษะที่เรียนรู้แล้วไปฝึกปฏิบัตินอกห้องเรียน ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตประจำวัน
5. ผู้สอนควรได้รับการสนับสนุน สื่อ อุปกรณ์ ในการช่วยสอนจากมหาวิทยาลัย หรือดูจากผู้เชี่ยวชาญ

 

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู บรรณากร