แบบฟอร์มสำหรับการนำเสนอบทสรุปผลงานทางวิชาการ

 

ชื่อผลงานทางวิชาการ :           ทฤษฎีการเกิดความคิดสร้างสรรค์เชิงจิตวิเคราะห์

ประเภทผลงานทางวิชาการ :     บทความทางวิชาการ

ปีที่พิมพ์ :                         พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๐

ข้อมูลเพิ่มเติม :                   สาขาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ลงวารสารครุศาสตร์สาร มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๑ ISNN : ๑๙๐๖-๑๑๗x

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ :   นางสาวปัญจนาฎ วรวัฒนชัย ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สาขาวิชาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจของผลงานทางวิชาการ : นักจิตวิทยาได้มีการนำแนวคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanlysis Theory) ของซิกมันต์ ฟรอยด์มาอธิบายการเกิดความคิดสร้างสรรค์เชิงจิตวิเคราะห์ด้วยกระบวนการทางจิตเกี่ยวกับการทำงานของจิตไร้สำนึก (Unconscious Mind) ซึ่งอยู่ภายใต้สัญชาตญาณแห่งการมีชีวิต (Life Instincts) และสัญชาตญาณแห่งความตาย (Death Instincts) จะปลดปล่อยพลังออกมาโดยเฉพาะพลังลิปิโด (Libido) ที่เกิดจากแรงขับทางเพศ (Sex Drive) จากสัญชาตญาณแห่งการมีชีวิตซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนาของสังคม จึงต้องปรับตัวด้วยการทดเทิด (Sullimation) เพื่อชดเชยความรู้สึกที่เก็บกดในจิตไร้สำนึกให้สังคมยอมรับได้ จึงเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์

            แนวความคิดทั่วไปของทฤษฎีจิตวิเคราะห์

            บุคคลสำคัญผู้นำแนวคิดนี้ คือ ซิกมัน ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เป็นผู้ก่อกำเนิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis Theory) ได้กล่าวเอาไว้ว่า พฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์มีแรงจูงใจมาจากจิตไร้สำนึก (Unconscious Motivation) เป็นสาเหตุสำคัญของพฤติกรรมและอิทธิพลต่อบุคลิกภาพของมนุษย์และมีสัญชาตญาณติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจะผลักดันออกมาในรูปความฝัน การพูดพลั้งปาก หรืออาการผิดปกติทางด้านจิตใจในด้านต่างๆ เช่น โรคจิต และโรคประสาท เป็นต้น นอกจากนั้นยังได้ศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ว่า มนุษย์เกิดมาพร้อมกับแรงขับทางสัญชาตญาณ (Instinctual Drive) และเป็นพลังงานที่สามารถเปลี่ยนแปลงเคลื่อนที่ได้ ด้วยเหตุนี้จิตไร้สำนึกจึงเป็นพลังงานรูปหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงและไม่หยุดนิ่งแต่จะแสดงออกมาในรูปแบบของสัญชาตญาณทางเพศ (Sexual Instinct) ซึ่งไม่ได้หมายถึงความต้องการทางเพศ (วิจิตพาณี เจริญขวัญ ,๒๕๕๒ : ๖๒-๖๓) ด้วยเหตุนี้การทำงานของจิตไร้สำนึกจะทำให้เกิดการกระตุ้นบุคคลออกไปตามความพึงพอใจของตน จิตไร้สำนึกจึงเป็นบ่อเกิดที่ยิ่งใหญ่ของพลังงานที่กำเนิดและกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์

            การทำงานของจิตไร้สำนึกใช้กระบวนการปฐมภูมิ (Primary Process) เป็นกระบวนการคิดที่ไม่มีความเป็นเหตุเป็นผลจึงเป็นการคิดแบบเด็กทารกไม่คำนึงถึงเวลา สถานที่ และความเป็นจริง แสดงออกเพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดตามหลักการแสวงหาความสุข (Pleasure Principle) ตัวอย่างกระบวนการคิดแบบนี้ เช่น ความฝัน การนอนละเมอ และการเผลอพลั้งปาก เป็นต้น การแสดงออกเช่นนี้ย่อมทำให้พฤติกรรมของมนุษย์ไม่เป็นที่ยอมรับได้ จึงต้องอาศัยกระบวนการทุติยภูมิ (Secondary Process) เป็นกระบวนการคิดในระดับจิตสำนึก (Conscious) และระดับจิตก่อนสำนึก (Preconscious) เป็นกระบวนการคิดที่เราใช้ในชีวิตประจำวันอยู่ภายใต้หลักความเป็นจริง (Reality Principle) ยึดความถูกต้องเป็นเหตุเป็นผล (ณรงค์ฤทธิ์ สุริยะ, ๒๕๔๙ : ๑๔-๑๕)

            นอกจากนี้ฟรอยด์ (Freud) ยังได้วิเคราะห์โครสร้างของบุคลิกภาพภายใต้การทำงานของจิตมนุษย์ ๓ ส่วน ที่เรียกว่า อิด (Id)  อีโก้ (Ego) ซุปเปอร์อีโก้ (Superego) ซึ่งมีลักษณะดังนี้ (William,๒๐๑๔ : ๑-๓)

            ๑. อิด (Id)  เป็นส่วนพื้นฐานที่ติดตัวมากำเนิดและอยู่ภายใต้จิตไร้สำนึก (Unconscious) และไม่ได้มีการติดต่อกับโลกความจริง จึงเป็นส่วนที่ไม่มีเหตุผล (Irrational) ทำงานตอบสนองสัญชาตญาณตามหลักความพอใจ (Pleasure Principle) เท่านั้น

            ๒. อีโก้ (Ego) เป็นส่วนที่พัฒนามาจากอิดเนื่องจากตั้งแต่วัยทารกมนุษย์เริ่มตระหนักว่าไม่สามารถทำอะไรได้ตามความพอใจได้ทุกอย่างในโลกแห่งความจริง อีโก้ต้องทำหน้าที่รับรู้และตอบสนองตามความจริงที่ได้รับจากโลกภายนอก โดยมีการตอบสนองหรือแสดงออกที่เหมาะสมตามสภาพความเป็นจริงที่เราเป็นอยู่ ด้วยเหตุนี้ระบบการทำงานของอีโก้จึงอยู่ในกระบวนการขั้นทุติย

            ๓. ซุปเปอร์อีโก้ (Superego) เป็นตัวแทนภายในของมโนธรรม คุณธรรมและความคิดของสังคม ซุปเปอร์อีโก้ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนของมโนธรรม (Conscience) เป็นผลมาจากค่านิยมที่พ่อแม่ถ่ายทอดให้ลูกว่าสิ่งใดดีควรประพฤติปฏิบัติอย่างไร และส่วนของอุดมคติของอีโก้ (Ego-Ideal) พัฒนามาจากการเอาแบบอย่าง (Identification) จากบุคคลที่เคารพรัก เช่น พ่อแม่และบุคคลใกล้ชิด ทำให้เด็กรับรู้ว่าสิ่งใดควรประพฤติปฏิบัติ

            จะเห็นได้ว่าแนวคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์เน้นความสำคัญในเรื่องจิตไร้สำนึก ซึ่งเชื่อว่าเป็นเหตุจูงใจให้มนุษย์มีพฤติกรรมแทบทุกอย่างจะเห็นได้ว่าการทำงานของจิตทั้ง ๓ ระดับ และฟรอยด์ เป็นคนแรกที่ได้ให้ความคิดเกี่ยวกับแรงผลักดันจิตไร้สำนึก (Unconscious Drive) หรือแรงจูงใจไร้สำนึก (Unconscious Motivation) ว่าเป็นสาเหตุสำคัญของพฤติกรรมและมีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพของมนุษย์และมีสัญชาตญาณติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด

 

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ :

การเกิดความคิดสร้างสรรค์ตามแนวเชิงจิตวิเคราะห์

            ฟรอยด์ กล่าวว่า มนุษย์มีสัญชาตญาณพื้นฐานที่สำคัญ คือ สัญชาตญาณแห่งการมีชีวิต (Life Instincts) เป็นแรงขับทางเพศ (Sexual Drive) หรือความรัก (Eros) เป็นพลังชีวิตซึ่งมีคำที่เรียกพลังการแสดงออกนี้ว่า ลิบิโด (Libido) และสัญชาตญาณแห่งความตาย (Death Instincts) เป็นแรงขับทางก้าวร้าว (Aggression) ความพินาศหรือความตาย (Thanatos) สำหรับแรงขับของความก้าวร้าวไม่มีคำเฉพาะเรียกในส่วนของลิบิโด (Libido) ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และมีภาวะของการเพิ่มขึ้นของความตึงเครียดและในส่วนแรงขับความก้าวร้าว (Thanatos) มีการเคลื่อนไหวสู่สภาวะสมดุล มีการกำจัดของความตึงเครียดทั้งหมด ด้วยเหตุนี้มนุษย์ทุกคนจะถูกกระตุ้นให้ขับเคลื่อนเพื่อเกิดความสมดุลของพลังทั้งสองแรง ขับพื้นฐานทั้งสองมีจุดเริ่มต้นจากโครงสร้างบุคลิกภาพส่วนที่เรียกว่า อิด ซึ่งอยู่ในจิตไร้สำนึก แต่ถูกควบคุมด้วย อีโก้ (Ego) ทำงานภายใต้จิตสำนึก (Conscious) ด้วยการใช้กลวิธานป้องกันตนเองที่เรียกว่า การทดเทิด (Sublimation) เพื่อแสดงออกให้สังคมยอมรับได้ ผู้เขียนสรุปไว้ ดังภาพ ระดับจิตมนุษย์ของฟรอยด์

 

            จากภาพระดับจิตมนุษย์ของฟรอยด์ จะเห็นได้ว่า กาทดเทิด (Sublimation) จะเป็นกลไกป้องกันตนเอง เพื่อชดเชยความรู้สึกที่เก็บกดในจิตไร้สำนึกที่แสดงออกมาไม่ได้ ศิลปินจึงใช้งานศิลปะเป็นกลไกป้องกันตนเอง การสร้างงานศิลปะเป็นการทำตามที่ใจตนเองปรารถนาแต่อยู่ภายใต้หลักการความเป็นจริงหรือข้อห้ามตามกฎของศีลธรรมอันดี ศิลปะจึงเป็นการแสดงออกเพื่อจัดการกับแรงกดดันภายในจิตต่างๆ เพื่อทำงานตามจินตนาการด้วยการทดเทิดซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งที่สังคมยอมรับ จากความฝันปละการจินตนาการสามารถนำสู่สาธารณะให้ได้ชื่นชมกัน

            การทดเทิดกับความคิดสร้างสรรค์

            จากการศึกษาของฟรอยด์ (Freud) เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ได้ให้ข้อคิดว่า ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากการใช้กลวิธานในการป้องกันตนเอง (Defense Mechanism) ในส่วนของโครงสร้างบุคลิกภาพอีโก้ (Ego) ที่คอยควบคุมและปรับให้แรงขับทางเพศ คือ ลิบิโด (Libido) แสดงออกด้วยการปรับตัวแบบทดเทิด ซึ่งการปรับตัวในลักษณะนี้เป็นการใช้กระบวนการทุติยภูมิในระดับจิตสำนึก (Conscious) ยึดความถูกต้อง (Reality) ของบุคคลเพื่อทดเทิดแรงขับทางเพศ (Sexual Drive) และความปรารถนาที่จะมีความสุข (Pleasure) ในระดับจิตไร้สำนึกทำงานในขั้นปฐมภูมิ (Primary Process) จะอยู่เบื้องหลังความฝันและการจินตนาการของมนุษย์เช่นเดียวกับซัลวาโน (Slvano, ๒๐๐๗ : ออนไลน์) มีความเห็นสอดคล้องกับฟรอยด์ (Freud) ว่า กระบวนการความคิดสร้างสรรค์จะเกี่ยวข้องกับการรวมตัวกันระหว่างกระบวนการปฐมและกระบวนการทุติยภูมิ เพื่อสังเคราะห์สิ่งมหัศจรรย์และเขาเสริมว่ากระบวนการสหัชญาณ (Intuitive Processes) เป็นการหยั่งรู้โดยสัญชาตญาณเปรียบได้กับกระบวนการปฐมภูมิและกระบวนการทางปัญญา (Intellectual Process) เปรียบได้กับกระบวนการทุติยภูมิ

            นอกจากนี้แรงจูงใจของมนุษย์ทุกคนมีเป้าหมายอยู่ที่มีการเพิ่มความพึงพอใจของความต้องการตามสัญชาตญาณโดยเฉพาะอย่างยวดยิ่งความต้องการทางเพศและความก้าวร้าว แต่การปรับตัวด้วยการทดเทิด จะเป็นการเปลี่ยนแปลงของแรงขับที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่เหมาะสมไปสู่กิจกรรมที่มีประโยชน์ในรูปแบบของกลวิธานการป้องกันตนเองเพื่อเบี่ยงเบนพลังงานจากการแสวงหาความสุขที่ไม่สามารถบรรลุได้หรือถูกห้ามเพราะความไม่ถูกต้องตามหลักศีลธรรมให้ได้รับการยอมรับจากสังคม ด้วยเหตุนี้คุณสมบัติของการทดเทิด จากจิตสำนึกจึงเป็นกลไกการเกิดของความคิดสร้างสรรค์ ผู้เขียนสรุปไว้ดังภาพ การทดเทิดกับการคิดสร้างสรรค์

 

 

กลวิธานป้องกันตนเอง (Defense Mechanism) การทดเทิด

(Sublimation) เกิดความคิดสร้างสรรค์

ภาพ การทดเทิดกับความคิดสร้างสรรค์

 

            จากภาพ การทดเทิดกับความคิดสร้างสรรค์จะเห็นได้ว่าแรงขับทางเพศของพลังลิบิโด (Libido) ทำงานภายใต้หลักความสุข (Pleasure Principle) ผ่านกระบวนการปฐมภูมิ (Primary Process) นับเป็นบ่อเกิดของความคิดสร้างสรรค์เพราะพฤติกรรมที่ผ่านกระบวนการนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมจึงต้องอาศัยกระบวนการทุติยภูมิ เพื่อเปลี่ยนพลังลิบิโดให้สอดคล้องตามวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมด้วยรูปแบบการทดเทิดทำให้บุคคลสามารถแสดงความรู้สึกของความต้องการทางเพศออกมาในรูปผลงานทางศิลปะ วรรณกรรม และกิจกรรมอื่นๆ ดังเช่น ศิลปินจะใช้การทดเทิดเป็นกลไกป้องกันตนเองเพื่อชดเชยความรู้สึกที่เก็บกดในจิตไร้สำนึกที่แสดงออกมาไม่ได้ การสร้างงานศิลปะจึงเป็นการทำตามที่ใจตนเองปรารถนาแต่อยู่ภายใต้หลักการความเป็นจริงหรือข้อห้ามตามกฎของศีลธรรมอันดี งานศิลปะจึงเป็นการแสดงออกเพื่อจัดการกับแรงกดดันภายในจิตต่างๆ ได้ทำงานตามจินตนาการด้วยการทดเทิดซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งที่สังคมยอมรับ เพื่อนำความฝันและจินตนาการการออกสู่สาธารณะให้ได้ชื่นชมกัน

            รูปแบบลิบิโดกับความคิดสร้างสรรค์

            ฟรอยด์ ยอมรับว่า จากประสบการณ์รักษาคนไข้ทางคลินิกของเขาทำให้เห็นความสำคัญของเรื่องเพศเพิ่มมากขึ้น เพราะอิทธิพลต่อพฤติกรรมการแสดงออกทางบุคลิกภาพของมนุษย์ ลิบิโด มีอยู่ ๓ ชนิด มีแหล่งกำเนิดต่างกันและมีชื่อเรียกต่างกัน ดังนี้ (James and Rudolph, ๑๙๖๒ : ๕๙๓ ; วนิช สุธารัตน์ , ๒๕๔๗ : ๑๘๖-๑๘๘)

            ๑. ลิบิโดแห่งความรัก (Erotic Type)

            ลิบิโดชนิดนี้แหล่งกำเนิดมาจากอิด ซึ่งเป็นส่วนที่ค่อนข้างใหญ่ที่สุดของลิบิโด (Libido) จะแสดงออกทางความรักเป็นสิ่งสำคัญ เป็นพลังผลักดันทำให้บุคคลสนใจแต่เฉพาะเรื่องความรัก และอยากให้ผู้อื่นรักตนเองกลัวการสูญเสียความรัก ดังนั้นการแสดงออกในเรื่องของความรักและความต้องการทางเพศจึงมักจะค่อนข้างรุนแรง ปราศจากความยับยั้งชั่งใจ จนบางครั้งเป็นความก้าวร้าว (Aggressive)

            ๒. ลิบิโดแห่งความหลงใหล (Obsessional Type)

            ลิบิโดชนิดนี้มีกำเนิดมาจาดซุปเปอร์อีโก้ ที่แยกออกจากอีโก้เพราะถูกกดดัน ลักษณะของผู้มีลิบิโดชนิดนี้เด่นจะมีจิตสำนึกหวาดกลัวที่จะสูญเสียความรักจึงกล้าแสดงออกด้วยการพึ่งพาสิ่งภายนอก ทำให้มีความศรัทธา เลื่อมใสหลงใหลในสิ่งต่างๆ แต่มีความเชื่อมั่นในตนเองค่อนข้างมาก ซึ่งอาจจะกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นและหลงใหลในเรื่องบางเรื่องอย่างรุนแรงบุคคลพวกนี้จะรู้สึกหวั่นไหวต่อเรื่องคุณธรรมจริยธรรมมากกว่าการกลัวว่าใครจะรักหรือไม่รัก อย่างไรก็ตามลิบิโดชนิดนี้มีพลังผลักดันทางเพศอยู่เบื้องหลัง

            ๓. ลิบิโดแห่งความหลงรักตนเอง (Narcissistic Type)

            ลิบิโดชนิดนี้แหล่งกำเนิดส่วนใหญ่มาจากอีโก้ (Ego) เป็นประสบการณ์ทางอารมณ์ของบุคคลเพื่อเอาชนะอุปสรรคที่มากระทบ ด้วยความมุ่งมั่นปกป้องรักษาตนเองเพื่อรักษาจิตไร้สำนึกให้คงเดิม ทำให้บุคคลเห็นแก่ตนเอง มีความกระตือรือร้น ก้าวร้าว และลักษณะเป็นผู้นำ ดังนั้นการแสดงออกทั้งหลายตามที่กล่าวมาจึงจัดอยู่ในระดับที่สังคมสามารถยอมรับได้

            รูปแบบของลิบิโดที่กล่าวมาทั้ง ๓ ชนิด อาจผสมผสานกันได้ ถ้าลิบิโดสองชนิดสามารถรวมกันเรียกว่าลิบิโดชนิดผสม (Mixed Type) ได้แก่ (๑) การผสมผสานของลิบิโดแห่งความรักกับลิบิโดแห่งความหลงใหล (Eeotic Obsessional) (๒) การผสมผสานลิบิโดแห่งความหลงรักตนเองกับลิบิโดแห่งความหลงใหล (Narcissistic Obsessionsl) และ (๓) การผสมผสานลิบิโดแห่งความรักกับลิบิโดแห่งความหลงรักตนเอง (Erotic Narcissistic)

            การผสมผสานของลิบิโดที่มีความสำคัญ คือ ลิบิโดแห่งความรักกับลิบิโดแห่งความหลงรักตนเอง (Erotic-Narcissistic) เป็นรูปแบบที่มีคุณค่ามากที่สุดเพราะเชื่อมโยงระหว่างคุณธรรมจริยธรรมกับสังคมอย่างสร้างสรรค์ก่อให้เกิดผลงานทั้งศิลปะ วิทยาศาสตร์ และสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณค่าต่อมวลมนุษยชาติ ดังนั้นลิบิโดแห่งความหลงรักตนเอง (Narcissistic Type) ซึ่งมีตำแหน่งอยู่ในส่วนจิตสำนึก (Conscious) จึงเป็นศูนย์กลางของการเกิดความคิดสร้างสรรค์เพราะลิบิโดชนิดนี้สามารถที่จะรวมกับลิบิโดที่อยู่ในจิตใจส่วนของจิตสำนึก (Conscious) ด้วยกัน คือ ลิบิโดแห่งความหลงใหล (Obsessional Type) ขณะเดียวกันก็สามารถจะเปลี่ยนรูปมาจากลิบิโดที่มาจากจิตไร้สำนึก คือ ลิบิโดแห่งความรัก (Erotic Type) ก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเกิดการรวมกันหรือเกิดการเปลี่ยนรูปก็ตามเป็นการใช้กลวิธานป้องกันตนเอง คือ การทดเทิด เท่านั้น ผลที่เกิดขึ้น คือ ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งแสดงออกมาในรูปที่มีประโยชน์ มีคุณค่าสร้างสังคม (วนิช สุธารัตน์, ๒๕๔๗ : ๑๘๘-๑๘๙) ผู้เขียนได้สร้างกรอบของการผสมผสานลิบิโด ดังภาพ การผสมผสานลิบิโด

 

            จากภาพ การผสมผสานลิบิโด (Libido) จะเห็นได้ว่าต้นกำเนิดของความคิดสร้างสรรค์ตามแนวคิดการเกิดความคิดสร้างสรรค์เชิงจิตวิเคราะห์ คือ เกิดจากการผสมผสานของลิบิโดแห่งความศรัทธาหลงใหล (Obsessional Type) กับลิบิโดแห่งความหลงรักตนเอง (Narcissistic Type) และความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงรูปของลิบิโดแห่งความรัก (Erotic Type) ที่เกิดจากความต้องการทางเพศไปเป็นลิบิโดแห่งความหลงรักตนเอง (Narcissistic Type)

 

จุดเด่น / ความน่าสนใจของเนื้อหาในบทความ :  กรณีตัวอย่างบุคคลสำคัญที่เกิดความคิดสร้างสรรค์ตามแนวคิดเชิงจิตวิเคราะห์

            ฟรอยด์ (Freud) ได้กล่าวว่าผลงานของศิลปินที่ยิ่งใหญ่ทุกคนล้วนเกิดจากกลไกทางจิตในระดับจิตไร้สำนึกที่นำเสนอออกมาเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่งดงาม เขาได้เสนอกรณีศึกษาศิลปินชื่อดังเจ้าของผลงานภาพวาด “โมนาลิซ่า” คือ ลีโอนาโด ดา วินชี่ (Leonardo Da Vinci) ซึ่งเป็นศิลปินวาดภาพ นักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ที่มีชีวิตอยู่ในยุคเรอแนสซองส์ (Renaissance) ช่วง ค.ศ. ๑๔๕๒ – ๑๕๑๙

            ฟรอยด์ ได้เขียนเรื่องน่าประทับใจเกี่ยวกับดาวินชี่ ในปี ค.ศ. ๑๙๑๐ ในชื่อว่า “ลีโอนาโด ดาวินชี่ : ความทรงจำในวัยเด็ก” (Leonardo da Vinci and A Memory of His Childhood) งานเขียนของฟรอยด์เป็นที่น่าทึ่งเพราะเป็นการวิเคราะห์ศิลปินในยุคเรอแนสซองซ์ของท่านนี้ด้วยทฤษฎีทางจิตวิทยาเป็นคนแรกด้วยการเชื่อมโยงระหว่างจิตใจภายในของดาวินชี่กับบทบาทความเป็นศิลปินของเขาจากภาพวาดมาริซ่า (Monna Lisa) และภาพวาดเซนแอน และมาดอนนากับเด็ก (Sant’Anna and the Madonna with the Child) เพื่อเป็นการวิเคราะห์ชีวิตในวัยเด็กของดาวินชี่และจากการศึกษาชีวิตในวัยเด็กของดาวินชี่ เขาเป็นลูกนอกสมรสที่มีความทรงจำในวัยเด็กที่มีแต่ความวิตกกังวลและซึ่งฟรอยด์ พบว่า ดาวินชี่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ (Homosexual) ทำให้ต้องเก็บกดและอดกลั้นมาตลอดชีวิต การเก็บกดทางเพศตั้งแต่ในวัยเด็กของเขาเกิดจากปมอีดีปุส (Oedipus Cpmplex) ในช่วงวัย ๓ – ๕ ขวบ ที่ไม่สามารถพัฒนาเทียบบทบาทความเป็นชายจากบิดาได้จึงทำให้ดาวินชี่ไม่สามารถก้าวข้ามปมนี้ได้เกิดการตราตรึงในใจเพราะประสบการณ์อบรมเลี้ยงดูของมารดาด้วยความรักและความโอนโยนทำให้เขาซึมซับลักษณะนิสัยความเป็นหญิงจากมารดาเป็นเหตุให้เขาต้องปรับตัวแบบทดเทิดเพื่อสนองพลังผลักดันทางเพศที่เรียกว่า ลิบิโด (Libido) ซึ่งเขารู้ว่าพลังด้านนี้จะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมจึงเป็นความกดดันที่กลายเป็นแรงขับให้แสดงออกมาในงานศิลปะตอบสนองความสุขในจิตไร้สำนึก บุคคลที่มีชื่อเสียงทางศิลปะและวิทยาศาสตร์มีความคิดสร้างสรรค์ด้วยพลังผลักดันทางเพศที่เรียกว่า ลิบิโด อยู่ในตัวเกือบทุกคน (Ruwan, ๒๐๑๕ : online cited from Freund, ๑๙๑๐)

            ฟรอยด์ได้พิจารณาการเก็บกด (Repression) และการทดเทิด (Sublimation) ร่วมกันพบว่า การทดเทิดเป็นทางออกของการเก็บกดเพื่อแสดงออกในสิ่งที่ปรารถนาแต่ต้องให้สังคมยอมรับได้ และด้วยผลงานทางด้านศิลปะเองสามารถถือเป็นกลวิธานป้องกันของศิลปินเพราะเป็นการเติมเต็มความปรารถนาหรือพึงพอใจในการจินตนาการของเขาโดยปฏิเสธความจริงหรือสิ่งที่ต้องห้ามผิดหลักศีลธรรม (Ken,๒๐๐๙ : ๔๒)

            สรุป ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์เชิงจิตวิเคราะห์นั้นเห็นว่า ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากความขัดแย้งระหว่างแรงขับทางเพศ ซึ่งถูกผลักดันออกมาโดยจิตไร้สำนึก (Unconscious) กับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในสังคม ดังนั้นเพื่อให้แรงขับทางเพศ (Sex Drive) ได้เสนอออกมาในรูปแบบพฤติกรรมที่สังคมยอมรับได้จึงเปลี่ยนเป็นความคิดสร้างสรรค์ ฟรอยด์ (Freud) ยังให้ทรรศนะเพิ่มเติมว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นลักษณะของความร่าเริง แจ่มใส ผ่อนคลาย อิสระหรือลักษณะของความเป็นเด็ก ซึ่งบริสุทธิ์เป็นธรรมชาติเป็นไปตามสภาพที่แท้จริงไม่เสแสร้งหรือปรุงแต่งและมีความคิดแจ่มใส บริสุทธิ์ สนุกสนาน ไม่มียึดติดต่อสิ่งใดและไม่เคร่งเครียด

 

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : บทความทางวิชาการ เรื่องทฤษฎีการเกิดความคิดสร้างสรรค์ เชิงจิตวิเคราะห์ มีเนื้อหาและแนวคิดทางด้านจิตวิทยาที่สามารถนำไปใช้กับกลุ่มงานอื่นๆ ได้ทุกสายงาน อาทิเช่น

คำสำคัญ : การเกิดความคิดสร้างสรรค์ การทดเทิดกับความคิดสร้างสรรค์

            แนวคิดทฤษฎีการเกิดความคิดสร้างสรรค์มาจากนักจิตวิทยาหลายคนได้พยายามศึกษาค้นหาคำตอบว่า ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรเป็นสาเหตุมีกลไกและส่วนประกอบอะไรบ้างและแต่ละส่วนนั้นทำหน้าที่อย่างไร ดังเช่น ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์เชิงจิตวิเคราะห์ ซึ่งทฤษฎีนี้มีแนวคิดที่พยายามอธิบายการเกิดความคิดสร้างสรรค์ตามแนวทางของตนเองที่มีความแตกต่างกันไป การทำความเข้าใจการเกิดความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละแนวคิดจะได้รับความรู้และมีมุมมองกว้างมากขึ้นสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์แก่ผู้เรียนได้

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู            บรรณากร