3.7 ข้อเสนอแนะ

       ผลการวิจัยครั้งนี้นำไปสู่ข้อเสนอแนะในการประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขตธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร ดังต่อไปนี้

       3.7.1 ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงเพื่อพัฒนาศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยว

       1) การจัดเตรียมการจัดการพื้นที่ในแหล่งท่องเที่ยวให้มีความพร้อมบนทางเดินให้มีพื้นผิวเรียบกันไม่ขรุขระ ไม่มีสิ่งกีดขวาง อยู่ในระดับเดียวกับพื้นลานจอดรถ หากอยู่ต่างระดับให้มีทางลาดขึ้นลง ทางเดินจากภายนอกเข้าสู่อาคาร หากมีพื้นต่างระดับกันให้ใช้สีทาหรือติดเครื่องหมายให้ชัดเจน ตำแหน่งทางเข้าสู่ตัวอาคารมีขนาดใหญ่ถูกต้อง ตามมาตรฐานสามารถนำรถเข็นของผู้พิการเข้าได้และตำแหน่งทางเข้าอาคารมีความสะดวกเข้าถึงได้ มีทางลาด พื้นผิวทางลาดใช้วัสดุกันลื่น ธรณีประตูมีขอบทั้งสองด้านมีความลาดเอียงให้สะดวกสำหรับเก้าอี้เข็นคนพิการและคนพิการที่ใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน

       2) ห้องสุขา ห้องน้ำ ภายในแหล่งท่องเที่ยวจะต้องสร้างเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อนักท่องเที่ยวผู้พิการทางการเคลื่อนไหว เช่น มีรายจับบันไดลักษณะกลมทั้งสองข้าง บันไดมีการติดตั้งวัสดุกันลื่น ประตูบานเลื่อน มีราวจับจากปากประตูทางเข้าไปยังห้องสุขา พื้นห้องน้ำใช้วัสดุกันลื่น ติดตั้งสัญญาณไฟสำหรับเตือน หรือเรียกหาในระหว่างผู้พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายติดอยู่ในห้องน้ำ มีราวจับในแนวดิ่งและแนวนอนในห้องสุขา และมีสุขาที่สะอาดและเพียงพอต่อการใช้งานสำหรับผู้พิการ

       3) สภาพแวดล้อมภายในแหล่งท่องเที่ยวต้องมีการจัดการดูแลเพื่อให้นักท่องเที่ยวผู้พิการทางการเคลื่อนไหวได้ชมภายในบริเวณ เช่น ให้มีทางเข้าและทางออกสำหรับเก้าอี้เข็นคนพิการที่บริเวณจำหน่ายสินค้า ให้มีช่องจ่ายเงินสำหรับเก้าอี้เข็นคนพิการอย่างน้อย 1 ช่อง พื้นทางเท้าต้องเรียบ หากมี สิ่งกีดขวางที่จำเป็นบนทางเท้า เช่น เสาไฟฟ้า ป้ายบอกทาง ให้จัดอยู่ในแนวเดียวกัน และทำผิวต่างสัมผัส ให้คนพิการ ทางการมองเห็นทราบก่อนสิ่งกีดขวางนั้น ให้มีทางลาดจากทางเท้าลงสู่พื้นถนนบริเวณทางข้ามถนนทางแยก หรือถนนซอยและตรงเกาะกลาง และทำผิวต่างสัมผัสสำหรับคนพิการทางการมองเห็นทางลาด ทางข้ามถนนที่ไม่มีไฟสัญญาณจราจร และมีพื้นผิวต่างระดับกันให้ทาสีให้เห็นชัด โดยสีที่ใช้มีความคมชัดตัดกับสีผิวเดิม

       4) มีป้ายแสดงข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวโดยให้มีผังของอาคาร สถานที่ตั้งไว้ด้านหน้าภายนอกอาคารบริเวณที่เห็นชัดเจน ป้ายหรือผังบอกทางทุกแห่งให้มีสีที่ชัดเจนหรือมีแสงสว่างมีป้ายบอกทางเข้าถึงและมีป้ายติดตั้งในตำแหน่งที่มองเห็นชัดและนักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นได้ง่าย

       5) ผู้ให้บริการในแต่ละสถานที่ต้องมีสถานที่ติดต่อสอบถามให้จัดสถานที่สำหรับผู้ใช้เก้าอี้เข็นและผู้มีร่างกายเตี้ยกว่าระดับปกติสามารถเข้าไปติดต่อได้โดยให้โต๊ะหรือเคาน์เตอร์ และให้มีที่ว่างข้างใต้ให้เก้าอี้เข็นสอดเข้าไปได้ มีเอกสารชี้แจงสำหรับคนพิการทางการหรือสื่อความหมาย มีศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวและมีมัคคุเทศก์ประจำสถานที่ไว้คอยบรรยาย และมีข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวทันสมัยและปรับเหมาะสมกับผู้พิการผู้ใหญ่และเด็ก

       6) หน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องควรมีการส่งเสริมและให้ความสำคัญต่อ    การพัฒนาและปรับปรุงในหลายๆ ด้าน เพราะกรุงเทพมหานครถือได้ว่าเป็นเมืองหลวงของประเทศเป็นจุดสำคัญที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาแวะพักและท่องเที่ยว ดังนั้นภาครัฐ ภาคเอกชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหันมาให้ความร่วมมือในการพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้มีความสะดวกแก่ผู้พิการให้มากขึ้น

       7) การบริหารจัดการถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดการท่องเที่ยว การบริหารจัดการจึงต้องอาศัยองค์ประกอบหลาย เช่น ท่านเจ้าอาวาส เจ้าหน้าที่ดูแล ประชาชนในชุมชนรอบๆ แหล่งท่องเที่ยว โดยจัดทำความสะอาด ปลูกต้นไม้ ให้ความร่มรื่น การสร้างกิจกรรมต่างๆ ประชาสัมพันธ์ในด้านศิลปวัฒนธรรม การของความร่วมมือหน่วยงานอื่นๆ อีกที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ กรมศิลปากร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หน่วยงานราชการเหล่าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรม

       3.7.2 ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป

       สำหรับผู้ที่ทำวิจัยในครั้งต่อไป ผู้ศึกษาวิจัยขอเสนอแนะให้มีการทำการศึกษาในรูปแบบของการศึกษาอารยสถาปัตยกรรมกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว เนื่องจากการศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาถึงศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวถึงความพร้อมในการจัดการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุ จึงเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ