2. วัตถุประสงค์ของการวิจัย

       2.1 สำรวจและศึกษาศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ที่สามารถจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว

       2.2 ประเมินศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ที่สามารถจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว

       2.3 เพื่อเสนอเส้นทางเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว และจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหวในพื้นที่เขตธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร

 

3. วิธีการดำเนินการวิจัย

       จากการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey research) การประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขตธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร เพื่อจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว และการใช้การเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative Data) เป็นหลักและได้กำหนดประชากรที่จะศึกษา และเลือกแหล่งท่องเที่ยวที่จะศึกษาในเขตฝั่งธนบุรี โดยมีรายละเอียดวิธีดำเนินการวิจัยดังต่อไปนี้

       3.1 สำรวจพื้นที่ศึกษาและตรวจสอบทรัพยากร

       3.2 กลุ่มประชากรที่ใช้ในการวิจัย

       3.3 การสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

       3.4 การเก็บรวบรวมข้อมูล

       3.5 การวิเคราะห์ข้อมูล

       3.1 สำรวจพื้นที่ศึกษาและตรวจสอบทรัพยากร

       ผู้วิจัยได้ทำการสำรวจและทำการกำหนดพื้นที่ในเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร เนื่องจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา อยู่ในเขตพื้นที่ฝั่งธนบุรี มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีหลากหลายและมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว เพื่อจะหาแนวทางการศึกษาที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยทำการเก็บข้อมูลทั่วไป และข้อมูลพื้นฐานในลักษณะทางกายภาพ การรักษาสภาพแวดล้อม การมีส่วนร่วม ด้านศิลปวัฒนธรรม และด้านการบริหารและจัดการ ของภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยวผู้พิการทางการเคลื่อนไหว และทำการสำรวจทรัพยากรการท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อให้ทราบถึงลักษณะการจัดการและภาพปัญหาในเบื้องต้นเพื่อใช้ในการพัฒนาเครื่องมือต่อไป

              3.1.1 กลุ่มประชากรที่ใช้ในการศึกษา

              ประชากรที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้แบ่งประชากรออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

              1. ภาครัฐ ผู้วิจัยได้กำหนดการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง โดยกลุ่มตัวอย่างในครั้งนี้มีจำนวน 7 คน ตามรายละเอียดในตารางที่ 1

              ตาราง 1 จำนวนหน่วยงานภาครัฐ

กลุ่มตัวอย่างหน่วยงานภาครัฐ

จำนวน (คน)

     เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือราชพิธี

1

     เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ศิริราช

1

     พระสงฆ์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร                

1

     เจ้าหน้าที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า

1

     พระสงฆ์วัดกัลยาณมิตรวรวิหาร

1

     ผู้นำชุมชนกุฏีจีน

1

     หน้าหน้าที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์

1

รวม

7

              2. ภาคเอกชน ผู้วิจัยได้กำหนดการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง โดยกลุ่มตัวอย่างในครั้งนี้มีจำนวน 7 คน ตามรายละเอียดในตาราง 2

              ตาราง 1 จำนวนหน่วยงานเอกชน

กลุ่มตัวอย่างหน่วยงานเอกชน

จำนวน (คน)

     ร้านอาหาร

2

     ร้านขายของที่ระลึก

4

     มัคคุเทศก์

1

     รวม

7

              3. ประชาชนท้องถิ่น ได้แก่ ประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยว โดยผู้วิจัยได้กำหนดการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง โดยกลุ่มตัวอย่างในครั้งนี้มีจำนวน 8 คน

              4. นักท่องเที่ยวผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ได้แก่ นักท่องเที่ยวผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่ทางผู้วิจัยได้ดำเนินจัดทำโครงการสำรวจและจัดทำข้อมูลทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขตธนบุรีเพื่อพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว โดยได้บูรณาการการเรียนการเรียนการสอนในรายวิชาการวางแผนและการจัดรายการนำเที่ยว โดยจัดกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักท่องเที่ยวผู้พิการทางการเคลื่อนไหว เพื่อที่จะได้กลุ่มเป้าหมายได้ตรงโดยผู้วิจัยได้เลือกไว้ จำนวน 18 คน

              3.1.2 การสร้างเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

              เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาในแต่ละแบบจะได้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลจากภาคสนามแล้วนำมาวิเคราะห์และประมวลผลดังนี้คือ

       3.3.1 ข้อมูลจากการสังเกตการณ์โดยการลงสำรวจพื้นที่ในแหล่งท่องเที่ยว จำนวน 7 แห่ง แล้วนำมาสรุปประเด็นเนื้อหาของการสังเกตการณ์ในภาพรวมและทำการวิเคราะห์ในเชิงพรรณนา

       3.3.2 ข้อมูลจากการประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวมีขั้นตอนในการวิเคราะห์ดังต่อไปนี้

       1) แบบสอบสำหรับสอบถามความคิดเห็นของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนท้องถิ่น

       แบบสอบถามความคิดเห็นของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนท้องถิ่น ต่อแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร โดยแบ่งออกเป็น 3 ตอน ดังนี้

       – ตอนที่ 1 ข้อมูลพื้นฐานทั่วไป โดยถามแบบปลายปิด โดยมี เพศ อายุ สถานภาพ การศึกษา อาชีพ รายได้ต่อเดือน

       – ตอนที่ 2 แบบสอบถามความคิดเห็นต่อศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขตธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยแบ่งเกณฑ์ตัวบ่งชี้ศักยภาพ ออกเป็น 5 ด้าน คือ ด้านลักษณะทางกายภาพ ด้านการรักษาสภาพแวดล้อม ด้านการมีส่วนร่วม ด้านศิลปวัฒนธรรม และด้านการบริหารจัดการ

       – ตอนที่ 3 ข้อเสนอแนะในการจัดการแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งมีลักษณะแบบปลายเปิด

       2) การเก็บรวบรวมข้อมูลจากภาคสนามนำมาวิเคราะห์และประมวลผล โดยการดำเนินจัดทำโครงการสำรวจและจัดทำข้อมูลทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขตธนบุรี เพื่อพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ซึ่งจัดกลุ่มเป้าหมายผู้พิการทางการเคลื่อนไหว จำนวน 18 คน มีแบบสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวผู้พิการต่อแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขตธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร ในการจัดเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว จากแบบสอบถามความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวผู้พิการทางการเคลื่อนไหวแบ่งออกเป็น 4 ตอน ดังนี้

       ตอนที่ 1 ข้อมูลพื้นฐานทั่วไป โดยถามแบบปลายปิด โดยมี เพศ อายุ ระดับการศึกษา สถานภาพ อาชีพ รายได้ต่อเดือน แหล่งรายได้ อุปสรรคต่อการท่องเที่ยว

       ตอนที่ 2 ข้อมูลพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวผู้พิการ

       ตอนที่ 3 แบบสอบถามความคิดเห็นต่อศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขตธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร

       ตอนที่ 4 ข้อเสนอแนะในการจัดการแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งมีลักษณะแบบปลายเปิด

       3) การวิเคราะห์ข้อมูลศักยภาพในแหล่งท่องเที่ยว โดยวิธีการบรรยาย และใช้สถิติ พรรณนา ได้ประยุกต์วิธีการวัดแบบมาตราส่วนประเมินค่าของ ซึ่งใช้แบบ Likert Scale โดยแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ระดับความคิดเห็นน้อยที่สุด = 1 ระดับความคิดเห็นน้อย = 2 ระดับความคิดเห็นปานกลาง = 3 ระดับความคิดเห็นมาก = 4  และระดับความคิดเห็นมากที่สุด = 5

       3.3.3 การเก็บรวบรวมข้อมูล

       ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยดำเนินการดังนี้

       1) การศึกษาจากแนวความคิด ทฤษฎี ค้นคว้าข้อมูลจากหลายแหล่ง ได้แก่ ตำรา บทความ วิทยานิพนธ์การค้นคว้าอิสระ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง อินเตอร์เน็ต เป็นกรอบแนวทางคิดทางการศึกษา

       2) ทำหนังสือจากสาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อขอความร่วมมือในการเข้าร่วมโครงการสำรวจและจัดทำข้อมูลทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขตธนบุรี เพื่อพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มเป้าหมายผู้พิการทางการเคลื่อนไหว คือ สถานสงเคราะห์คนพิการและทุพพลภาพพระประแดง

       3) ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยให้นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนวิชาการวางแผนและการจัดรายการนำเที่ยว ปีการศึกษา 1/2557 โดยจัดทำโครงการขึ้นเพื่อให้นิสิตได้มีการวางแผนและการจัดรายการนำเที่ยวสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว โดยระดมสมองเพื่อดำเนินการจัดกิจกรรมทางการท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ซึ่งให้นิสิตได้ดำเนินการจัดทำโครงการสำรวจและจัดทำข้อมูลทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขตธนบุรี เพื่อพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ซึ่งจัดกลุ่มเป้าหมายผู้พิการทางการเคลื่อนไหว จำนวน 18 คน มีแบบสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวผู้พิการต่อแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขตธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร

       3.3.4 การวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้วิจัยดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถาม โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการคำนวณวิธีการทางสถิติที่ใช้ คือ สถิติการบรรยาย (Descriptive Statistic) ประกอบด้วย ความถี่ ค่าร้อยละ  และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน