3.6 อภิปรายผลการวิจัย

       จากการสำรวจ วิเคราะห์และสรุปผล ผู้ศึกษาดำเนินการสำรวจแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขตธนบุรีจังหวัดกรุงเทพมหานคร เพื่อจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว พบว่า สถานที่ท่องเที่ยวที่ดำเนินการสำรวจสามารถจัดระดับศักยภาพออกเป็น 5 ด้าน คือ ด้านลักษณะทางกายภาพ ด้านการรักษาสภาพแวดล้อม ด้านการมีส่วนร่วม ด้านศิลปวัฒนธรรม และด้านการบริหารและจัดการ จากสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในเขตพื้นที่ธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 แห่ง ซึ่งสอดคล้อง จารุจน์ กลิ่นดีปลี (2541) กล่าวว่าหลักเกณฑ์การพิจารณาศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยว คือ เกณฑ์การประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวที่ครอบคลุมองค์ประกอบด้านพื้นที่ เกณฑ์การประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวที่ครอบคลุมองค์ประกอบด้านการจัดการ เกณฑ์การประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวที่ครอบคลุมองค์ประกอบด้านกิจกรรมและกระบวนการ และเกณฑ์การประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวที่ครอบคลุมองค์ประกอบด้านการมีส่วนร่วม

       การวิเคราะห์ศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขตธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยผู้ตอบแบบสอบถามภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนท้องถิ่น ที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง มีความเห็นว่าในภาพรวมศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวอยู่ในระดับมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่าแหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ธนบุรีมีความพร้อมใน การรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้พิการทางการเคลื่อนไหว เมื่อพิจารณาศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวโดยจัด 3 อันดับแรก ผู้ตอบแบบสอบถามได้บ่งชี้ศักยภาพ ในด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านการมีส่วนร่วม และด้านลักษณะทางกายภาพ จะเห็นว่าศักยภาพที่กล่าวมานั้นเป็นเรื่องของคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยว มีความเป็นมาทางด้านประวัติศาสตร์ มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ จึงเป็นสิ่งดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับที่วิวัฒน์ชัย บุณยภักดิ์. (2531 : 42-43) ได้ยกตัวอย่างแนวคิดในการจัดศักยภาพหรือความสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวโดยพิจารณาจากคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยว และความพร้อมของแหล่งท่องเที่ยวโดยจำแนกเป็นลักษณะ 5 ลักษณะคือ สภาพการเข้าถึง สิ่งอำนวยความสะดวก สภาพแวดล้อม ข้อจำกัดในการรองรับนักท่องเที่ยว ความมีชื่อเสียงในปัจจุบัน สำหรับตัวบ่งชี้ศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น ด้านการบริหารและจัดการและการรักษาสภาพแวดล้อม เป็นลำดับรองลงมา เมื่อประเมินแล้วอยู่ในระดับมาก ดังนั้นการประเมินดังกล่าวเป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นถึงเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ธนบุรี ซึ่งแต่ละแหล่งท่องเที่ยวนั้นเป็นหน่วยงานของรัฐที่คอยดูแล ตามที่ ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท (2558) กล่าวว่า การบริหารจัดการในส่วนของภาครัฐ ประกอบด้วย การบริหารจัดการทำแผนและนโยบายการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศ การบริหารจัดการในการนำแผนไปปฏิบัติให้ได้ตามนโยบายในทุกภาคส่วน การบริหารจัดการติดตามและวิเคราะห์การปฏิบัติงานในทุกภาคส่วน การบริหารจัดการควบคุมการใช้งบประมาณให้เป็นไปตามแผนและนโยบายการบริหารจัดการเครือข่ายทั้งส่วนของภาครัฐและส่วนของภาคเอกชนให้ทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ

       จากการสำรวจศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 7 แห่ง พบว่าแหล่งท่องเที่ยวมีความหลากหลาย เมื่อพิจารณาศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวซึ่งอยู่ในภาพรวมระดับมาก โดยจัด 3 อันดับแรก จากผู้ตอบแบบสอบถามมีความคิดเห็นต่อศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวมากที่สุด คือ พิพิธภัณฑ์ศิริราช รองลงมาคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือราชพิธี และวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารโดยเฉพาะศักยภาพด้านศิลปวัฒนธรรมจะมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้านการมีส่วนร่วม และด้านการบริหารและจัดการ ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท (2558) กล่าวว่า การบริหารจัดการทำแผนและนโยบายการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศต้องคำนึงถึงด้านเศรษฐกิจ สังคมสิ่งแวดล้อม และความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่   การคำนึงถึงการเติบโตของการท่องเที่ยวทั้งรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยว แผนและนโยบายต้องชัดเจน จะเอารายได้หรือจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นตัวกำหนดนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มใช้จ่ายไม่เท่ากัน นักท่องเที่ยวทุกคนมีต้นทุนทั้งที่วัดเป็นตัวเงินได้ และที่วัดเป็นตัวเงินไม่ได้ สินค้าท่องเที่ยวเป็นทรัพย์สินของคนไทยทั้งแผ่นดิน ต้องคำนึงว่ารายได้ตกอยู่กับใคร งบประมาณที่รัฐนำไปพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวเหมาะสมและคุ้มค่ากับการเจริญเติบโตของการท่องเที่ยวหรือไม่ มีผลกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างไร ด้านสังคมสิ่งแวดล้อม นักท่องเที่ยวหมายถึงผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ เมื่อมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากจะทำให้คนท้องถิ่นในสถานที่ท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ ทั้งด้านดี และไม่ดี การจัดทำแผนและนโยบายในส่วนนี้ จะต้องพิจารณาถึงการบริหารจัดการสถานที่ให้ได้รับผลกระทบด้านลบน้อยที่สุดทั้งด้าน ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน สภาพแวดล้อม การรักษาวัฒนธรรมและอารยะธรรมที่ดีงามของชุมชน ด้านความมั่นคง การท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคนต่างชาติหรือคนต่างท้องถิ่น มีทั้งนักท่องเที่ยวจริงและผู้ที่แฝงตัวเป็นนักท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวกที่จัดหาให้กับนักท่องเที่ยว เช่น แผนที่ หรือบางธุรกิจที่แอบแฝงมากับธุรกิจท่องเที่ยว อาจจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ทั้งด้านการปกครองและด้านเศรษฐกิจ

       จากการประเมินศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยว โดยผู้ศึกษาได้กำหนดเส้นทางสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ซึ่งนำข้อมูลจากการสำรวจจากกลุ่มเป้าหมายในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนท้องถิ่นนำมาจัดเส้นทางท่องเที่ยวเส้นทางที่ 1 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี–พิพิธภัณฑ์ศิริราช วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า สำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว พบว่าในภาพรวมศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวโดยจัด 3 อันดับแรก ผู้ตอบแบบสอบถามได้บ่งชี้ศักยภาพ ในด้านการมีส่วนร่วม ด้านศิลปวัฒนธรรม และด้านการรักษาสภาพแวดล้อม จะเห็นได้ว่าศักยภาพที่นักท่องเที่ยวทางการเคลื่อนไหวมองว่าชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวมีความเข้มแข็งของชุมชนและวัฒนธรรม การมีส่วนในการบริหารจัดการ พร้อมทั้งมีความโดดเด่นและความงดงามทั้งในด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมทั้งในมลภาวะของเสียง ฝุ่นละออง เป็นต้น ผลจากการประเมินแหล่งท่องเที่ยว     มีความเห็นว่าในภาพรวมศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวอยู่ในระดับมาก จะมีความโดดเด่นและความเป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแห่ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความน่าสนใจ มีคุณค่าทางการศึกษาและเรียนรู้ ตลอดจนมีการบริหารจัดการมีสิ่งอำนวยความสะดวก ป้ายบอก ห้องน้ำ มีเจ้าหน้าที่ดูแล มาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งพิทักษ์ ศิริวงศ์ และปัทมอร เส็งแดง (2554) กล่าวว่า ความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม ได้แก่ การมี ทางลาด และกว้างเพียงพอสำหรับรถเข็น การมีเส้นทางสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหวและมีสิ่งอำนวยความสะดวก

       จากการศึกษาครั้งนี้เมื่อพิจารณาผลของการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่าจากศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว 7 แห่ง ในพื้นที่ธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร ผู้ศึกษาขอเสนอเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว จำนวน 3 เส้นทาง ดังนี้คือ

เส้นทางที่ 1 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี–พิพิธภัณฑ์ศิริราช–วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า

เส้นทางที่ 2 อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่าชุมชนกุฎีจีน-ป้อมวิไชยประสิทธิ์-พิพิธภัณฑ์ศิริราช

เส้นทางที่ 3 วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร-ป้อมวิไชยประสิทธิ์-วัดกัลยาณมิตรวรวิหารชุมชนกุฎีจีน

       การนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ผู้ศึกษาได้อาศัยหลักการจัดเส้นทางเพื่อให้เหมาะสมกับนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้พิการทางการเคลื่อนไหว การเก็บรวบรวมข้อมูลจากภาคสนามนำมาวิเคราะห์และประมวลผล โดยการดำเนินกำหนดเส้นทางและจัดทำโครงการสำรวจและจัดทำข้อมูลทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขตธนบุรีเพื่อพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหวและอาศัยข้อมูลจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวผู้พิการมาประกอบการจัดเส้นทาง โดยการจัดเส้นทางตาม Harvay M. Rubnstein (1992 : 21-22) กล่าวว่า การจัดเส้นทางแบบผสมผสาน หลักการจัดเส้นทางท่องเที่ยวแบบผสมผสาน คือ การกำหนดเส้นทาง ควรสำรวจ และสังเกตการณ์จากพฤติกรรมนักท่องเที่ยว ประกอบกับแนวโน้มที่ควรจะเป็นในการจัดเส้นทาง เริ่มต้นจากการพิจารณาตำแหน่งของแหล่งท่องเที่ยวประเภทต่างๆ จัดลำดับความสำคัญ และความน่าสนใจ จากนั้นจึงควรพิจารณาความสามารถในการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เข้าด้วยกัน และการจัดเส้นทางให้มีความแตกต่าง การกำหนดเส้นทางอาจทำขึ้นหลายเส้นทางหรือหลายระบบก็ได้ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีเวลาต่างกัน ความแตกต่างกันอันเนื่องจากความสนใจของนักท่องเที่ยว เช่น เส้นทางสำหรับผู้สนใจศิลปะ และวัฒนธรรมอาจพานักท่องเที่ยวไปตามแม่น้ำลำคลองเพื่อดูวิถีชีวิต และสภาพบ้านเมือง หรืออาจเป็นเส้นทางที่มีความหลากหลายและมีความน่าสนใจหลายด้านอยู่ร่วมกัน โดยผู้ศึกษาจากเส้นทางที่มีระยะทางไม่ไกลกันมากนักและในการเข้าถึงยังสถานที่มีศักยภาพในการเข้าถึงและมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากที่สุด เพื่อสะดวกในการเดินทางสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว