บทนำ

1. ความสำคัญและที่มา

       ปัญหาเรื่องของความพิการอาจเป็นหนึ่งในหลายๆ สิ่งที่สังคมรับรู้แต่ไม่ได้ให้ความใส่ใจมากพอเพียง อีกทั้งนิยามสากลของคำว่าความพิการยังมีความเข้าใจต่างกัน อาทิ ในสหรัฐอเมริกาเรียกผู้พิการว่า        แฮนดีแคป (Handicap) ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่ต้องการแต้มต่อจากผู้อื่นแต่ในสหราชอาณาจักร กลับเรียกว่า ดิสเอเบิล (Disable) หรือผู้ไร้ความสามารถ ทัศนคติที่แตกต่างกันนี้ล้วนมีผลต่อปฏิสัมพันธ์ที่ผู้พิการได้รับจากบุคคลทั่วไปได้ ทั้งนี้ทัศนะและมายาคติกับความพิการอาจเกิดจากการละเลยความจริงที่ว่า ไม่แน่ว่าสักวันหนึ่งเราเองก็อาจจะต้องเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องรับผลของความพิการด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะมาจากความเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุต่างๆ ผู้พิการในปัจจุบันมีจำนวนไม่ใช่น้อยที่ไม่ได้มีความพิการมาตั้งแต่กำเนิด ความพิการส่งผลกระทบทั้งด้านจิตใจและการดำรงชีวิตหากเกิดกับ   ผู้อยู่ในวัยเรียนจะส่งผลต่อการพัฒนาทางทักษะและสติปัญญาด้วย และการขาดสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางเพื่อเข้าถึงการศึกษาสำหรับพวกเขาก็เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการทางสติปัญญา และการประกอบสัมมาอาชีวะของผู้พิการในสังคมไทยเป็นอย่างมาก (ภัทรกิติ์ โกมลกิติ 2551 : 63)

       จากการสำรวจความพิการของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2550 พบว่าประเทศไทยมีผู้พิการประมาณ 1.9 ล้านคน อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด และกว่า 3 หมื่นคนอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครฯ และสามารถจำแนกประเภทความพิการออกได้ดังนี้ 1) พิการทางร่างกาย เดินได้      2) พิการทางร่างกายเดินไม่ได้ใช้เก้าอี้เข็น 3) พิการทางการได้ยิน (หูหนวก หูตึง) 4) พิการทางการมองเห็น (ตาบอด สายตาเรือนลาง) 5) พิการทางสติปัญญา (ปัญญาอ่อน) 6) พิการทางการเรียนรู้ (learning Disorder, LD) และ 7) พิการทางจิตใจ หรือ พฤติกรรมออทิสติก

       โดยสถิติที่แจ้งไว้ในเดือนกันยายน 2550 มีผู้พิการที่ได้รับการจดทะเบียนเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู สมรรถภาพทางการแพทย์การศึกษาและอาชีพแล้ว 721,489 คน หรือประมาณร้อยละ38 ของผู้พิการทั้งหมด โดยแยกเป็นพิการร่างกาย (แขนขา) 349,332 คน พิการทางการได้ยินเป็นใบ้ 98,349 คน สติปัญญา 91,992 คน ที่เหลือเป็นผู้พิการตาบอด พิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม จากการสำรวจนี้เราจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นการพิการทางร่างกายประเภทแขนขา อย่างไรก็ตามการให้บริการผู้พิการทุกประเภท ยังมีอุปสรรคเนื่องจาก    ผู้พิการส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 อยู่ในพื้นที่ชนบท ทำให้การเดินทางยากลำบาก และค่าใช้จ่ายในการเดินทางจะสูงกว่าคนทั่วไปหลายเท่า เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ให้บริการรองรับกับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ทำให้มักไม่ค่อยเดินทางไปโรงพยาบาล จึงไม่สามารถขึ้นทะเบียนเพื่อเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพตาม พ.ร.บ. ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการปี พ.ศ. 2534 ได้ นอกจากนี้จากการสำรวจผู้พิการอายุตั้งแต่ 5-30 ปี รวม 2.3 แสนคน พบว่าร้อยละ 81.7 ไม่เคยเรียน หรือกำลังเรียนอยู่, ร้อยละ18.3 กำลังเรียนอยู่    ร้อยละ 9.5 กำลังเรียนในระดับประถมศึกษา รองลงมา คือร้อยละ 6.0 กำลังเรียนระดับมัธยมศึกษา และมีเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้นที่ศึกษาในระดับปริญญา และหากพิจารณาด้านการมีงานทำพบว่าร้อยละ 65 ไม่มีงานทำ ส่วนที่เหลือคือร้อยละ 35 ทำงานประเภทต่างๆ อาทิ งานบริการร้านค้า งานทักษะทางการเกษตร อาชีพพื้นฐาน และงานฝีมือต่างๆ นับว่าคนพิการในประเทศไทยมีจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดโอกาสในหลายๆ ด้านทั้งที่เป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรจะหันมามองถึงปัญหาเหล่านี้ ดังจะเห็นในปัจจุบันนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีข้อจำกัดทางกายภาพ เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการท่องเที่ยว แต่เนื่องจากประสบปัญหา และอุปสรรคในเรื่องข้อมูลข่าวสารเพื่อวางแผนการท่องเที่ยว หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นถึงความสำคัญของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ และพร้อมอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการในเรื่องข้อมูลข่าวสารเพื่อการวางแผน     การท่องเที่ยว การจัดให้มีระบบการบริการขนส่งที่เอื้ออำนวยสำหรับผู้พิการ แหล่งท่องเที่ยว สถานที่พัก รวมถึงการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนดังกล่าวอย่างเป็นระบบและครบวงจรย่อมทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีความสนใจเดินท่องเที่ยว รวมทั้งผู้พิการจากต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย นับว่าในประเทศไทยบางสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งเริ่มมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการมากขึ้นโดยเฉพาะสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ได้เห็นถึงความสำคัญเรื่องการออกแบบหรือสิ่งก่อสร้างสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งทำให้คาดการได้ว่าอีกไม่นานเมืองไทยจะมีแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถพร้อมให้บริการสำหรับผู้พิการมากขึ้น ผู้พิการเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีความต้องการเหมือนกับคนทั่วไปในสังคม มีวิถีชีวิตมิได้แตกต่างอะไรกับคนในสังคมหากแต่ความบกพร่องทางกายนั้นอาจส่งผลให้การเข้าถึงในหลายๆ กิจกรรมนั้นมีอุปสรรคอยู่บ้าง และสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คงเป็นเรื่องของการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการด้วยเช่นกันที่ถือเป็นสิ่งสำคัญและเป็นปัจจัยหลักระดับต้นๆ ที่สามารถช่วยให้ผู้พิการสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเองอย่างมีความสุข (ธนายุส ธนธิติ 2549 : 3) เมื่อมองถึงการท่องเที่ยวคนส่วนมากจะให้ความสำคัญกับคนที่มีฐานะที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ แต่สังคมไทยในอดีตไม่เห็นความสำคัญของผู้พิการ แม้ว่าต่อมาจะสนับสนุนในเรื่องของการศึกษา และเริ่มจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ เช่น ลิฟท์ ห้องน้ำ ฯลฯ ก็ตาม แต่ในเรื่องของการท่องเที่ยวซึ่งทำรายได้ให้กับประเทศอันดับหนึ่งนั้นยังไม่ได้รับการสนับสนุนให้คนพิการได้ท่องเที่ยวจะมีอยู่บ้างก็จะเป็นลักษณะของชมรมหรือสมาคมบางแห่งเท่านั้น ซึ่งในประเทศไทยยังไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอสำหรับผู้พิการทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชน

       ดังนั้นทางสาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ ได้เปิดสอนรายวิชาการวางแผนและการจัดรายการนำเที่ยว และรายวิชางานมัคคุเทศก์ ซึ่งในรายวิชาดังกล่าวมีความมุ่งหมายให้นักศึกษาได้มีความรู้ความสามารถในการวางแผนและสามารถจัดรายการนำเที่ยวได้ ตลอดจนมีแนวคิดในการออกแบบโปรแกรมรายการนำเที่ยวให้เหมาะสมกับแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ได้ นอกจากการเรียนการสอนภายในห้องเรียนแล้วทางผู้สอนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นิสิตได้มีความสามารถในการวางแผนและสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อให้สอดคล้องการออกแบบโปรแกรมการจัดรายการนำเที่ยว พร้อมกันนั้นเพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า พร้อมกับการเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานจริง ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับการการวางแผนและอการจัดรายการนำเที่ยว  การปฏิบัติงานของมัคคุเทศก์ นอกจากจะให้บริการแก่บุคคลหรือนักท่องเที่ยวปกติแล้วทางผู้สอนได้ให้นิสิตได้มองถึงผู้ด้อยโอกาสทางการท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดโอกาสในการเดินทางท่องเที่ยวไปในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยกำหนดขอบเขตการสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวในเขตฝั่งธนบุรีและจัดกิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยวให้กับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ซึ่งจะเป็นประโยชน์และเป็นกำลังใจให้แก่ผู้พิการ ผู้วิจัยจึงมีความต้องการสำรวจการประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขตธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานครเพื่อจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว เพื่อที่จะได้ให้ทุกหน่วยงานหรือส่วนที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักและเล็งถึงปัญหาใน การนำไปสู่การแก้ปัญหาเพื่อให้ปราศจากอุปสรรคในการท่องเที่ยวหลุดพ้นจากการเป็นคนชายขอบของสังคม มีสิทธิเท่าเทียมกับคนทั่วๆ ไปได้เข้าถึงในสิ่งอำนวยความสะดวก พร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากบริการด้านการท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างเท่าเทียมกับคนทุกคนในสังคม