วิเคราะห์องค์ประกอบในการแสดง ชุด สามนักขาชมไพร

วิเคราะห์เครื่องแต่งกาย

ภาพที่ 6 เครื่องแต่งกายนางสำมนักขา

       ศิราภรณ์

       ศิราภรณ์หรือเครื่องประดับ มาจากคำว่า “ศีรษะ” และ “อาภรณ์” หมายความถึงเครื่องประดับสำหรับใช้สวมใส่ศีรษะเช่น ชฎามงกุฎ ซึ่งเป็นชื่อเรียกเครื่องประดับศีรษะละครตัวพระ ที่มีวิวัฒนาการมาจากการโพกผ้าของพวกชฏิล ชฏาที่ใช้ในการแสดงโขนละครในปัจจุบัน ช่างผู้ชำนาญงานมักจะนิยมทำเป็นแบบมีเกี้ยว 2 ชั้น มีกรอบหน้า กรรเจียกจร ติดดอกไม้ทัด ดอกไม้ร้าน ประดับตามชั้นเชิงบาตร ซึ่งลักษณะของชฏานี้ เป็นการจำลองรูปแบบมาจากพระชฏาของพระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากชฏามงกุฏแล้ว แม้แต่หัวโขน ก็จัดอยู่ในประเภทเครื่องศิราภรณ์ เช่นกัน ในงานวิจัยนี้ได้กล่าวถึง “หัวโขน” ของนางสำมนักขา ซึ่งมีลักษณะ ใบหน้าสีเขียวสด ปากแสยะ ตาจระเข้ ศีรษะโล้น สวมกระบังหน้า ไม่สมมงกุฎ นอกจากนี้ยังทำเป็นหน้าสีทองอีกแบบหนึ่ง

       ความแตกต่างของหัวโขนนางสำมนักขาทั้งสองแบบ เป็นรูปแบบทางเชิงเล่นของช่างผู้ทำหัวโขนที่ใช้สีทองเพราะว่า นางสำมนักขานั้นเป็นยักษิณี ซึ่งจะต้องแต่งตัวให้สวยงาม แล้วจึงออกไปเที่ยวป่า จึงเลือกสีทองมาใช้เพื่อสื่อถึงความผุดผ่องของผิวพรรณ

       จารีตในการสวมหัวโขนนั้น ผู้ที่แสดงจะต้อง ไหว้หัวโขนก่อนทุกครั้ง เพื่อเป็นความสิริมงคลแก่ตัวผู้แสดง ในการทำศีรษะโขนนอกจากมีการเจาะรูจากช่างบริเวณ ดวงตา แล้วยังมีการเจาะรูบริเวณปากของหัวโขน ซึ่งรูบริเวณปากนี้เองที่ใช้สอดใส่สิ่งที่เรียกว่า “เชือกคาบ” ( ลักษณะของคือเชือกด้ายม้วนเป็นเกลียวยาวประมาณ 3 นิ้ว โดยผูกกึ่งกลางกับไม้ขนาดเล็กยาวประมาณ 1 นิ้ว ) มาสอดใส่ในตำแหน่งรูบริเวณปาก และเมื่อสวมศีรษะเรียบร้อยแล้ว ผู้แสดงจะคาบเชือกคาบ เพื่อยึดตำแหน่งของหัวโขนไม่เคลื่อนที่ในระหว่างทำการแสดง ซึ่งอีกทั้งตัวนางสามนักขานั้นจะต้องมีการทัดดอกไม้และอุบะทางด้านซ้ายของหัวโขน ตามจารีตในการแสดงโขน

       พัสตราภรณ์

       พัสตราภรณ์ หรือเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเช่น เสื้อหรือฉลององค์ ในสมัยโบราณการแสดงโขนจะใช้เสื้อคอกลมผ่าด้านหน้าตลอด มีการต่อแขนเสื้อแบบต่อตรงและเสริมเป้าสี่เหลี่ยมตรงบริเวณใต้รักแร้ แต่ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนให้ทันตามยุคสมัย เป็นเสื้อคอกลมสำเร็จรูป มี 2 แบบคือแบบเสื้อแขนสั้นและแขนยาว เว้าวงแขน สีเสื้อและสีแขนเสื้อแตกต่างกัน ปักลวดลาย สำหรับตัวนางจะมีผ้าห่มนางโดยเฉพาะ ลักษณะเป็นผ้าสไบแถบ ปักลวดลายตามความยาวของสไบเช่น ลายพุ่ม ลายกรวยเชิง ฯลฯ ห่มโอบจากทางด้านหลังให้ชายสไบทั้งสองข้างเสมอกัน การห่มผ้าในการแสดงโขนมีวิธีการห่มที่แตกต่างกัน สำหรับตัวนางที่เป็นนางกษัตริย์และตัวนางที่เป็นยักษ์ ตัวนางที่เป็นนางกษัตริย์ จะห่มผ้าแบบเพลาะไขว้ติดกันไว้ที่ด้านหลัง ทิ้งช่วงบริเวณหน้าอก คว้านบริเวณช่วงลำคอเหมือนกับการห่มแบบสองชาย และสำหรับตัวนางที่เป็นนางยักษ์ จะห่มแบบผ้าห่มผืนใหญ่ ปักลายพุ่มข้าวบิณฑ์ที่มีลักษณะลวดลายเป็นสัตว์ต่าง ๆ เช่น หน้าสิงห์ เป็นต้น

ผ้าห่มนาง ลักษณะของผ้าห่มนางของนางสามนักขานั้น มีสีแดงขลิบเขียว ความยาว 61 นิ้ว กว้าง 30 นิ้ว ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าผ้าห่มนางทั่วไป เพราะว่าผู้แสดงมีรูปร่างใหญ่ ลวดลายที่ปักเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์และลายใบเทศโต เชิงเป็นลายหน้าสิงห์โค้งมน ซึ่งผู้วิจัยได้วิเคราะห์ ว่าลักษณะของห่มนางยักษ์ มีลักษณะคล้ายกันกับปิดก้นของยักษ์ผู้ชาย

 เสื้อในนางแขนยาว สีเขียวเข้มของนางสามนักขามี 2 แบบ คือ
เสื้อแขนยาว คอกลม ผ่าหน้าตลอด ไม่มีลวดลาย
เสื้อแขนยาว คอกลม ผ่าหน้าตลอด มีการปักเป็นลวดลายปล้องสลับกับลายประจำยาม บริเวณแขนทั้งสองข้าง

       จากที่ผู้วิจัยได้ศึกษาเสื้อในนางของนางสำมนักขา ที่มีการผ่าหน้าตลอด เพื่อใช้ในการเย็บให้เข้ารูป ตามแบบจารีตการแต่งกายยืนเครื่องตัวนาง สีที่ปรากฏที่บ่งบอกถึงตัวนางสามนักขา ว่าเป็นสีเขียว ดังบทประพันธ์ใน โคลงประจาภาพ ที่ว่า

“ ฉวีกายสกลวรรณ เขียวสด สะอาดนอ ”

กรองคอหรือนวมนาง สีเขียว มีลักษณะกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 15 นิ้ว รอบวงมีลักษณะหยักตลอดรอบวง ปักลายประจายาม ก้ามปู และลายกระจัง แซมด้วยพลอยสี

ผ้านุ่ง สีเขียว มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าความกว้าง 35 นิ้ว ความยาว 60 นิ้ว มีวิธีการนุ่งที่เรียกว่า “ หน้านาง ”

ผ้าคาดเอว เป็นผ้าดิบ ความยาวประมาณ 1.30 – 2 เมตร