Category Archives: ไม่มีหมวดหมู่

(บทที่ 4) ขั้นตอนการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัล

    มาถึงบทนี้เราคงรู้จักกล้องดิจิทัลและมีความรู้พื้นฐานเบื้องต้นที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัลกันบ้างแล้ว บทนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับขั้นตอนของการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัล โดยจะนำหลักการพื้นฐานที่ได้กล่าวไว้ในบทที่ 3 มาประยุกต์ใช้ให้เห็นว่าสามารถนำมาสู่การปฏิบัติจริงได้อย่างไร ขั้นตอนในการถ่ายภาพดิจิทัลที่จะเรียนรูกั้นมี 9 ขั้นตอน ดังนี้

  1. การเปิดกล้องและเลือกโหมดการทำงาน
  2. การตั้งค่าการทำงานพื้นฐาน
  3. การเลือกฟอร์แมตและขนาดของไฟล์ภาพ
  4. การเลือกโหมดการถ่ายภาพ
  5. การจัดองค์ประกอบภาพ
  6. การวัดแสง
  7. การปรับโฟกัส
  8. การกดชัตเตอร์
  9. การดูผลงานภาพที่ถ่ายออกมา

การแสดงให้เห็นขั้นตอนต่าง ๆ ดังกล่าวในการถ่ายภาพดิจิทัลนั้น เนื่องจากเมนูของกล้องแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อแตกต่างกัน ในที่นี้จึงจะอธิบายให้เห็นภาพโดยรวม ส่วนวิธีสั่งงานของกล้องแต่ละตัวนั้นให้ผู้อ่านศึกษาจากคู่มือของกล้องรุ่นนั้น ๆ เอง

ขั้นตอนที่ 1 การเปิดกล้องและเลือกโหมดการทำงาน

    การเปิดกล้อง
    กล้องดิจิทัลจะมีปุ่ม เปิด-ปิด เหมือนกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป กล้องบางรุ่นจะ เปิด-ปิด กล้องด้วยการกดปุ่ม บางรุ่นก็ใช้วิธีการ เปิด-ปิดแบบหมุนปุ่ม บางรุ่น ใช้วิธีการเลื่อนฝาที่ปิดหน้ากล้อง

  • ปุ่มเปิด-ปิดแบบกด มักจะมีข้อความ ON/OFF กำกับไว้ เมื่อกดปุ่มหนึ่งครั้งจะเป็นการเปิดกล้องและเมื่อกดซ้ำกล้องก็จะปิด ส่วนการเลือกโหมดการทำงานจะมีปุ่มอีกต่างหาก
  • ฝาเลื่อนเปิด-ปิด การทำงานกล้องบางรุ่นใช้วิธีเปิด-ปิดโดยการเลื่อนฝาที่ปิดหน้ากล้อง เมื่อเลื่อนฝาออกก็จะเปิดการทำงานของกล้องถ้ากล้องใช้เลนส์ซูมเลนส์จะยื่นออกมา แต่ถ้าไม่ใช่เลนส์ซูมเลนส์จะไม่ยื่นออกมา เมื่อเลื่อนฝาปิด เลนส์จะหดกลับเข้าไปก็จะปิดการทำงานของกล้อง
  • ปุ่มเปิด-ปิดแบบหมุน ปุ่มเปิด-ปิดแบบหมุนกล้องบางรุ่นปุ่มนี้จะรวมอยู่กับปุ่มเลือกโหมดการทำงานด้วย โดยสามารถหมุนปุ่มไปที่โหมดถ่ายภาพหรือโหมดแสดงภาพได้ด้วย และถ้าจะปิดก็หมุนปุ่มมาที่ OFF แต่กล้องส่วนใหญ่ปุ่มเปิด-ปิดแบบหมุนจะแยกออกมาต่างหากจากปุ่มเลือกโหมดการทำงาน

    การเลือกโหมดการทำงาน
เมื่อเปิดการทำงานของกล้องแล้วเราจะต้องเลือกโหมดการทำงานซึ่งมี 2 โหมดใหญ่ ๆ คือ

  • โหมดถ่ายภาพ (Camera , Record หรือ Shooting) ใช้สำหรับการถ่ายภาพและปรับตั้งค่าต่าง ๆ เพื่อการถ่ายภาพ เช่น การปรับตั้งค่า White Balance การเลือกระดับคุณภาพของภาพที่ถ่าย การปรับตั้งค่าความไวของแสง ฯลฯ เป็นต้น
  • โหมดแสดงภาพ (Display หรือ Preview) ใช้สำหรับเปิดชมภาพที่ถ่ายไว้แล้วออกมาดูทางจอ LCD ของตัวกล้อง และสามารถเข้าไปจัดการกับภาพที่ถ่ายไว้แล้วได้อีก เช่น ลบทิ้ง หรือสั่งให้แสดงภาพแบบสไลด์โชว์ ฯลฯ เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 2 การตั้งค่าการทำงานพื้นฐาน

    ตั้งวันที่และเวลา
เมื่อเปิดใช้กล้องครั้งแรกก่อนถ่ายภาพควรตั้งวันที่ และเวลาให้ถูกต้องเสียก่อน ซึ่งการตั้งค่านั้นจะแตกต่างกันไปแล้วแต่รุ่นและยี่ห้อของกล้อง เช่นการตั้งวันที่และเวลาของกล้อง Nikon D90 สามารถเลือกโซนเวลาได้ทั่วโลก ถ้าเป็นประเทศไทยเราให้เลื่อนไปที่แผนที่ประเทศไทยก็จะแสดงชื่อเมือง Bangkok ขึ้นมา จากนั้นตั้งวันที่และเวลาให้ตรงกับปัจจุบัน โดยเลือกฟอร์แมตของวันที่ได้ตามต้องการวิธีการตั้งทำตามขั้นตอนดังนี้

การตั้งวันที่และเวลาช่วยให้เราทราบว่า ถ่ายภาพวันไหน เวลาใด กล้องจะบันทึกข้อมูลไว้เหมือนคอมพิวเตอร์ที่บันทึกข้อมูลวันเวลาไว้ แต่วันเวลาจะไม่บันทึกลงไปบนภาพโดยตรง ซึ่งการบันทึกลงบนภาพโดยตรงนั้นจะขึ้นอยู่กับความสามารถของกล้อง กล้องบางตัวอาจมีเมนูให้แสดงวันเวลา ไว้บนภาพได้ แต่การบันทึกวัน เวลา ลงบนภาพโดยตรงบางครั้งก็ไปลดความสวยงามของภาพลงเพราะมี วัน เวลา ไปปรากฏให้รบกวนสายตา

    การตั้งชื่อโฟลเดอร์เพื่อบันทึกภาพ
ตามปกติแล้วถาพถ่าย จะถูกเก็บลงในโฟลเดอร์ที่กล้องสร้างขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อใส่การ์ดหน่วยความจำแล้วเปิดสวิตช์ กล้องจะตั้งชื่อโฟลเดอร์ในการ์ดหน่วยความจำเป็นตัวเลข 3 หลัก แล้วตามด้วยยี่ห้อหรือรุ่นของกล้อง เช่น กล้อง Nikon รุ่น D90 จะตั้งชื่อโฟลเดอร์ว่า 100NCD90 โดยแต่ละโฟลเดอร์จะเก็บภาพได้สูงสุด 999 ภาพ เมื่อถ่ายภาพจะเรียงลำดับหมายเลขภาพนับต่อจากหมายเลขสูงสุดที่มีอยู่ในโฟลเดอร์ หากโฟลเดอร์ที่เลือกไว้มีภาพอยู่แล้วครบ 999 ภาพ หรือหมายเลขภาพสูงสุดอยู่ที่ 9999 กล้องจะสร้างโฟลเดอร์ให้ใหม่โดยอัตโนมัติ เป็น 101NCD90 มีชื่อโฟลเดอร์เหมือนกันแต่หมายเลข 3 หลักด้านหน้าจะเป็นลำดับถัดไป

    ส่วนชื่อของไฟล์ภาพ ก็จะมีส่วนที่เป็นตัวเลขเรียงลำดับกันไปเรื่อย ๆ เหมือนกัน เช่น DSC_0001.JPG , DSC_0002.JPG……..บางยี่ห้อก็ตั้งชื่อไฟเป็น PICT 0001.JPG , PICT 0002.JPG เมื่อถ่ายภาพไป 3 ภาพ แล้วลบไฟล์ที่ 3 ออก จากนั้นถ่ายต่อใหม่ชื่อไฟล์ที่ถ่ายใหม่จะเป็นลำดับที่ 3 เหมือนเดิม แต่ถ้าลบไฟล์ที่ 2 ออกไปไฟล์ที่ 3 ยังอยู่ เมื่อถ่ายต่อชื่อไฟล์จะเป็นลำดับที่ 4 ไฟล์ที่ 2 จะหายไปดังนี้ DSC_0001.JPG , DSC_003.JPG , DSC_0004.JPG นอกจากนี้กล้องบางรุ่นสามารถตั้งชื่อโฟลเดอร์เองได้ และชื่อไฟล์ภาพก็ยังสามารถกำหนดได้ว่าต้องการให้ตัวเลขของชื่อไฟล์ภาพนั้นเรียงลำดับกันไปตั้งแต่เริ่มใช้กล้อง หรือให้เริ่มต้นนับภาพที่1ใหม่ทุกครั้งที่ฟอร์แมตการ์ดหน่วยความจำและสามารถลบโฟลเดอร์ภาพที่ไม่ต้องการได้อีกด้วย

    การเปิดและปิดจอ LCD
    กล้องดิจิทัลคอมแพ็คมักจะเล็งภาพทางจอ LCD ซึ่งขณะที่เปิดไว้ จะกินไฟตลอดเวลาไม่ว่าเราจะถ่ายภาพหรือไม่ จึงควรตั้งให้กล้องปิดตัวเองเมื่อไม่ได้ใช้นาน ๆ เพื่อป้องกันลืมปิดจนแบตเตอรี่หมดและเพื่อเป็นการประหยัดพลังงานเมื่อแบตเตอรี่ใกล้หมดแนะนำให้ปิดจอ LCD โดยกดปุ่มชื่อ Monitor หรือ Display เป็นต้น แล้วใช้วิธีเล็งภาพทางช่องมองภาพแทน หลังจากถ่ายเสร็จจึงค่อยเปิดจอ LCD เพื่อดูภาพ

    การปรับความสว่างของจอ LCD
    เวลาถ่ายภาพในที่ที่มีแสงสว่างมากจอ LCD มักจะมองไม่ค่อยเห็น เราสามารถเพิ่มความสว่างของจอ LCD ให้สว่างขึ้นได้ ดังเช่น กล้อง Nikon D90 มีวิธีการปรับความสว่างของจอ LCD ดังนี้

    การตั้งหน้าจอให้สว่างมากไปก็มีผลเสียเช่นกัน เพราะอาจเป็นการหลอกตาตัวเอง คือมองดูภาพในจอ LCD แล้วภาพสว่างชัดเจนดี แต่ภาพที่ถ่ายออกมาจริงกลับมีความสว่างน้อยกว่าที่มองจากจอ LCD

    การตั้งค่าความไวแสง
    สามารถตั้งแบบ Auto หรือเลือกแบบตั้งเอง ถ้าตั้งไว้ที่ Auto เวลานำกล้องไปถ่ายในที่มีแสงน้อยกล้องจะปรับค่าความไวแสงให้สูงขึ้น เพื่อให้เราสามารถถ่ายภาพได้ในความเร็วชัตเตอร์ที่มือสามารถถือกล้องถ่ายได้ แต่ถ้าเราเลือกแบบตั้งเองถ้าตั้งค่าความไวแสงไว้ต่ำ เวลาถ่ายภาพในที่มีแสงน้อยกล้องจะปรับความเร็วชัตเตอร์ให้ช้าลงเพื่อให้แสงเพียงพอ ก็ต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วยเพื่อไม่ให้ภาพสั่นหรือปรับค่าความไวแสงเองให้สูงขึ้นก็ได้

    การตั้งคา่ White Balance
    ปกตินิยมตั้งไว้ที่ Auto แต่เมื่อถ่ายออกมาแล้วสียังเพี้ยน จึงปรับค่า White Balance ใหม่ให้ตรงกับสภาพแสงที่จะถ่าย เช่น ปรับตั้งเป็น Daylight, Cloudy, Tungsten ฯลฯ เป็นต้น

   การตั้งค่าตามมาตรฐานของโรงงาน
    เมื่อเราปรับตั้งค่าการทำงานฟังก์ชันต่าง ๆ เพิ่มเติมจากมาตรฐานที่ตั้งมาจากโรงงาน ช่วยให้ถ่ายภาพได้ตามวัตถุประสงค์ของเรา แต่เมื่อปรับไปแล้วเรามักจะลืมไป ว่าปรับตั้งอะไรเพิ่มเติมไปบ้างทำให้กล้องทำงานไม่เหมือนกับค่าที่ตั้งมาจากโรงงาน กรณีนี้เราสามารถปรับตั้งค่าให้กลับสู่มาตรฐานเดิมที่ตั้งมาจากโรงงานได้ (วิธีการตั้งแล้วแต่กล้องแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อให้ศึกษาจากคู่มือกล้องที่ใช้อยู่)

ขั้นตอนที่ 3 การเลือกฟอร์แมตและขนาดของภาพ
กล้องดิจิทัลส่วนใหญ่นิยมจัดเก็บข้อมูลภาพไว้ในสื่อบันทึกภาพเป็นฟอร์แมต JPEG และ LAW เป็นหลัก ทั้ง 2 รูปแบบมีคุณสมบัติแตกต่างกันดังนี้

    ไฟล์ JPEG (Join Photographic Experts Group)

    เป็นฟอร์แมตที่ใช้เทคโนโลยีการบีบอัดเพื่อลดขนาดข้อมูลแบบ Lossy Compression โดยยอมเสียคุณภาพของภาพไปบ้าง เช่น จุดภาพ 2 จุดที่อยู่ติดกันและมีสีใกล้เคียงกันอาจถูกบีบอัดให้เป็นสีเดียวกัน ทำให้ภาพที่มีขนาดกว้างและสูงเท่ากันอาจมีขนาดไฟล์ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับภาพนั้น ๆ ว่ามีสีใกล้เคียงกันมากน้อยเพียงใด ถ้าภาพมีสีสันหลากสีขนาดไฟล์จะมีขนาดใหญ่กว่าภาพที่มีสีพื้นเรียบ ๆ ไฟล์ JPEG จะมีนามสกุลเป็น .JPEG

    การบันทึกภาพแบบไฟล์ JPEG เมื่อเซ็นเซอร์รับแสงที่ผ่านเลนส์มาแล้วจะส่งมาที่หน่วยประมวลผลเพื่อทำการบีบอัด เราสามารถกำหนดให้กล้องบีบอัด(ความละเอียดของภาพ) ได้ว่าจะให้บีบอัดมากน้อยเพียงใด โดยทั่วไปแล้วสามารถเลือกได้ 3 ระดับ คือ High, Normal และ Low ถ้าเลือกแบบ High จะบีบอัดน้อยภาพที่ได้จะมีคุณภาพสูง สูญเสียรายละเอียดน้อยมากแต่ขนาดของไฟล์จะมีขนาดใหญ่ ถ้าต้องการไฟล์ที่มีขนาดเล็กก็ให้เลือกแบบ Low ขนาดของไฟล์จะมีขนาดเล็กมากทำให้เก็บภาพได้จำนวนมาก แต่ภาพที่ได้ก็จะสูญเสียรายละเอียดไปมากเช่นกัน การถ่ายภาพปกติทั่ว ๆ ไปมักจะตั้งแบบ Normal แต่ถ้าเรามีการ์ดหน่วยความจำที่ใช้บันทึกภาพได้มากขอแนะนำให้เลือกตั้งแบบ High ไว้ก่อนเพื่อให้ได้คุณภาพดีที่สุด เมื่อเวลาเราจะนำไปใช้งาน เช่น ใช้ภาพประกอบในการจัดทำเว็บไซต์เราสามารถลดขนาดไฟล์ภาพให้มีขนาดเล็กลงได้ ถ้าจะใช้กับงานสิ่งพิมพ์ขนาดใหญ่เราก็สามารถเลือกเอาไฟล์ที่ตั้งแบบ High ไปใช้ได้เช่นกัน

    ข้อพึงระวังอย่าเซฟไฟล์ JPEG ซ้ำกันหลาย ๆ ครั้งในไฟล์เดียวกัน กล่าวคือเมื่อนำไฟล์ภาพไปตกแต่งด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป เช่น โปรแกรม Photoshop เมื่อตกแต่งเสร็จแล้วควรเลือกคำสั่ง Save As บันทึกเป็นชื่อไฟล์ใหม่ ไม่ควรบันทึกทับไฟล์เดิมเพราะจะทำให้คุณภาพของภาพลดลง ยิ่งบันทึกทับไฟล์เดิมบ่อยเท่าไรคุณภาพของภาพก็จะลดลงมากเท่านั้น

    ไฟล์ RAW (ไม่ใช่คำย่อเป็นคำตรงตัวแปลว่า “ดิบ”)

    กล้องดิจิทัลบางรุ่นสามารถจัดเก็บไฟล์ภาพฟอร์แมต RAW ได้ ซึ่งไฟล์ RAW เป็นการบันทึกข้อมูลดิบที่ออกมาจากตัวเซ็นเซอร์ของกล้องโดยตรง ไม่ผ่านการดัดแปลงของหน่วยประมวลผลในตัวกล้อง ไฟล์ RAW มีข้อดี-ข้อด้อยดังนี้

    ข้อดี

  • เก็บข้อมูลไว้ครบถ้วนตามที่เซ็นเซอร์ของกล้องรับมา สามารถเก็บข้อมูลเฉดสีได้ถึง 14 บิต ต่อ 1 แม่สี เท่ากับ 16,384 เฉดในแต่ละแม่สี (คิดได้จากเอา 2 ยกกำลัง 14 เท่ากับ 16,384) คือ สีแดง 16,384 เฉด สีเขียว 16,384 เฉด สีน้ำเงิน 16,384 เฉด ทำให้สามารถแยกเฉดสีได้ดีกว่าไฟล์ JPEG ที่เก็บข้อมูลเฉดสีได้เพียง 8 บิต ต่อ 1 แม่สี คือ สีแดง 256 เฉด สีเขียว 256 เฉด สีน้ำเงิน 256 เฉด เท่านั้น
  • เมื่อนำไฟล์ RAW มาตกแต่งภาพด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป เช่น Photoshop จะสามารถปรับค่าต่าง ๆ เพื่อตกแต่งได้ดี เช่น การตั้งค่า White Balance การชดเชยแสง การปรับค่าความคมชัด ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งไฟล์ JPEG ก็สามารถตกแต่งได้แต่ไม่มากเพราะข้อมูลภาพมีจำนวนเฉดสีน้อย
  • สามารถปรับแต่ง White Balance ได้ภายในกล้องหลังจากที่ถ่ายไปแล้วข้อด้อย
  • ไฟล์ RAW มีขนาดใหญ่กว่าไฟล์ JPEG 3-4 เท่าตัว ทำให้เปลืองเนื้อที่ในการ์ดหน่วยความจำ
  • ก่อนที่จะนำไปใช้งานต่าง ๆ ต้องแปลงไฟล์ RAW ให้เป็นไฟล์ JPEG หรือไฟล์ฟอร์แมตอื่นที่โปรแกรมสำเร็จรูปทั่ว ๆ ไปสามารถใช้งานได้ เพราะโปรแกรมสำเร็จรูปส่วนใหญ่ที่ใช้กันอยู่ไม่สามารถนำไฟล์ RAW ไปใช้ได้โดยตรง
  • ไฟล์ RAW ที่ถ่ายจากกล้องแต่ละยี่ห้อและแต่ละรุ่นจะมีนามสกุลที่แตกต่างกัน เช่น นามสกุล .NEF ของ Nikon และ .CR2 ของ Cannon ฯลฯ เป็นต้น ทำให้ต้องUpdate ไฟล์ LAW ใหม่ ๆ อยู่เสมอเมื่อมีกล้องตัวใหม่ ๆ ออกมา

กล้อง D-SLR ที่ผลิตออกมาใหม่ ๆ สามารถถ่ายภาพครั้งเดียวออกมาเป็นไฟล์ RAW + JPEG ได้พร้อมกัน เพื่อนำไฟล์ JPEG ไปใช้งานได้ทันทีและเก็บไฟล์ RAW ไว้ตกแต่งแก้ไขได้อีก หรือจะเลือกบันทึกภาพแบบใดแบบหนึ่งก็ได้ตามความเหมาะสม

ขนาดของภาพ ก่อนถ่ายต้องกำหนดขนาดของภาพก่อนว่าต้องการภาพขนาดไหน กล้องแต่ละรุ่นสามารถถ่ายภาพได้ขนาดที่แตกต่างกัน เช่น กล้อง D-SLR รุ่น D90 ของ Nikon กำหนดขนาดของภาพได้ 3 ขนาด คือ L (ใหญ่ที่สุด) M (ขนาดกลาง) S (ขนาดเล็ก)

  • L มีความละเอียด 4,288 × 2,848 พิกเซล (12.2 ล้านพิกเซล) ได้ภาพขนาด 21.4 × 14.2 นิ้ว
  • M มีความละเอียด 3,216 × 2,136 พิกเซล (6.9 ล้านพิกเซล) ได้ภาพขนาด 16.1× 10.7 นิ้ว
  • S มีความละเอียด 2,144 × 1,424 พิกเซล (3.1 ล้านพิกเซล) ได้ภาพขนาด 10.7 × 7.1 นิ้ว

(ตัวเลขขนาดภาพที่พิมพ์ ใช้ความละเอียดการพิมพ์ที่ 200 PPI ) วิธีการตั้งขนาดภาพมีดังนี้

    จะเห็นได้ว่าการกำหนดขนาดของภาพก็คือการกำหนดให้กล้องบีบอัดไฟล์ภาพเพื่อให้ได้ความละเอียดของภาพตามต้องการดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นเอง กล้องบางยี่ห้อกำหนดเป็นค่าความละเอียดของภาพ High, Normal และ Low บางยี่ห้อกำหนดเป็นขนาดของภาพ L (ใหญ่ที่สุด) M (ขนาดกลาง) S (ขนาดเล็ก) ซึ่งถ้าตั้งเป็นค่า High กล้องจะบีบอัดไฟล์ภาพน้อยภาพที่ได้จะมีคุณภาพสูง สูญเสียรายละเอียดน้อยและภาพที่ได้จะมีขนาดใหญ่ ในทางตรงกันข้ามถ้าตั้งค่าเป็น Low กล้องก็จะบีบอัดไฟล์ภาพมาก ทำให้สูญเสียรายละเอียดของภาพไปมากและภาพที่ได้จะมีขนาดเล็ก แต่ทั้งนี้ขนาดของภาพยังขึ้นอยู่กับเซ็นเซอร์รับแสงของกล้องแต่ละตัวด้วยว่า สามารถรับรายละเอียดได้จำนวนมากน้อยเพียงใดซึ่งทำให้การตั้งค่าถ่ายภาพขนาดเล็กของกล้องที่เซ็นเซอร์มีจำนวนพิกเซลสูง เมื่อถ่ายออกมาแล้วอาจได้ภาพที่มีขนาดใหญ่กว่าหรือเท่ากับกล้องที่เซ็นเซอร์มีจำนวนพิกเซลน้อยที่ตั้งขนาดภาพไว้ใหญ่ที่สุดก็ได้

ขั้นตอนที่ 4 การเลือกโหมดการถ่ายภาพ

    กล้องดิจิทัลแต่ละยี่ห้อแต่ละรุ่นจะมีโหมดการถ่ายภาพมาให้เราเลือกใช้มากน้อยไม่เท่ากัน แต่โหมดที่สำคัญ ๆ ในการถ่ายภาพจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ถ้าหากเราต้องการใช้กล้องแบบง่าย ๆประเภทเล็งแล้วถ่ายเลยไม่อยากปรับโน่นปรับนี่ให้วุ่นวาย ก็เลือกโหมดการถ่ายภาพแบบโปรแกรมสำเร็จรูปซึ่งจะรวมโหมดออโต้ไว้ค้วย เหมาะสำหรับผู้ถ่ายภาพมือใหม่ที่เริ่มหัดถ่ายภาพ จะทำให้ได้ภาพที่ดีมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นจึงค่อยเปลี่ยนมาใช้โหมดการถ่ายภาพชั้นสูงการเลือกโหมดเพียงแค่หมุนปุ่มโหมดการถ่ายภาพ ให้ขีดแสดงตำแหน่งตรงกับโหมดที่เราต้องการเท่านั้น

    โหมดการถ่ายภาพแบบโปรแกรมสำเร็จรูป มีโหมดย่อยที่สำคัญ ๆ ดังนี้

Auto โหมดการถ่ายภาพแบบอัตโนมัติ เมื่อเลือกใช้โหมดนี้กล้องจะปรับ ขนาดรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ให้เหมาะกับสภาพแสงเอง และยังตั้งค่าอื่น ๆ ให้โดยอัตโนมัติอีก เช่น ค่าWhite Balance ซึ่งมักจะตั้งค่าให้เป็น Auto White Balance และจะตั้งระบบโฟกัสภาพให้เป็น Auto Focus เมื่อแสงไม่พอแฟลชก็จะเปิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ผู้ใช้เพียงแต่เล็งภาพแล้วกดปุ่มชัตเตอร์อย่างเดียว โดยกล้องไม่ยอมให้ผู้ถ่ายปรับค่าอะไรได้เลย เหมาะสำหรับถ่ายภาพทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะภาพที่ถ่ายในเวลากลางวันที่มีแสงสว่างเพียงพอกับการถือกล้องถ่ายด้วยมือ

 

โหมดการถ่ายภาพอัติโนมัติแบบปิดแฟลช (Flash Off) การใช้งานเหมือนโหมด Auto แต่จะปิดแฟลชเพื่อให้กล้องบันทึกภาพในสภาพแสงน้อยโดยไม่ใชแฟลช จะทำให้ภาพดูเป็นธรรมชาติสมจริง แต่เมื่อถ่ายภาพในที่ที่มีแสงน้อยกล้องจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำอาจทำให้ภาพสั่นไหวจึงควรใช้ขาตั้งกล้องช่วยในการถ่ายภาพ

 

โหมดถ่ายภาพบุคคล Portrait เมื่อเลือกโหมดนี้กล้องจะปรับรูรับแสงให้กว้าง ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ฉากหลังเบลอทำให้ตัวแบบเด่นชัดขึ้นมาและได้ภาพที่นุ่มนวล ถ่ายทอดสีผิวได้อย่างสวยงาม

 โหมดถ่ายภาพทิวทัศน์ (Landscape) โหมดนี้เหมาะสำหรับถ่ายภาพทิวทัศน์ เช่น ทะเล ภูเขา น้ำตก โดยกล้องจะพยายามปรับรูรับแสงให้แคบที่สุดเพื่อให้เกิดภาพชัดลึก และโปรแกรมในกล้องจะปรับเน้นภาพให้มีสีสันสดใสกว่าระบบบันทึกภาพแบบอื่น ๆ แต่เนื่องจากกล้องจะปรับหน้า กล้องแคบทำให้ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ดังนั้นถ้าถ่ายภาพทิวทัศน์ในสภาพแสงน้อย ๆ ควรใช้ขาตั้ง กล้องช่วยเพื่อให้ได้ภาพคมชัดมากที่สุด

โหมดถ่ายภาพ ระยะใกล้ (Macro) โหมดนี้เหมาะสำหรับถ่ายภาพสิ่งที่มีขนาดเล็กในระยะใกล้มาก ๆ เช่น แมลง ดอกไม้ ใบหญ้า ฯลฯ เป็นต้น โดยกล้องจะปรับเลนส์ให้ทำงานแบบ Macro เปิดรูรับแสงแคบ ๆ เพื่อให้ได้ระยะชัดที่ดี เนื่องจากเลนส์Macro จะมีระยะชัดที่น้อยมาก หากถ่ายวัตถุที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ควรใช้ขาตั้งกล้องเพื่อให้ได้ภาพที่มีความคมชัดสูง

โหมดถ่ายภาพกีฬา/ภาพเเคลื่อนไหว (Sport/Action) โหมดถ่ายภาพกีฬา/ภาพเเคลื่อนไหว (Sport/Action) โหมดนี้เหมาะสำหรับถ่ายภาพวัตถุที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เช่น ภาพกีฬา การแข่งเรือ การต่อสู้กับจระเข้ นกบิน รถที่กำลังวิ่งกล้องจะตั้งความเร็วชัตเตอร์สูงสุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้สามารถจับภาพที่กำลังเคลื่อนไหวให้หยุดนิ่ง

 

 โหมดถ่ายบุคคลกลางคืน (Night Portrait) โหมดนี้เหมาะสำหรับถ่ายภาพบุคคลตอนกลางคืน หรือในสภาพแสงน้อย เช่น แสงสี ก่อนและหลังดวงอาทิตย์ขึ้นและตก หรือแสงภายในอาคาร ถ้าเราต้องการถ่ายภาพคนและต้องการเก็บรายละเอียดของสภาพแสงดังกล่าวไว้ด้วย โหมดนี้จะช่วยได้โดยกล้องจะใช้แฟลช ร่วมกับความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ๆ ทำให้ภาพคนชัดเจนเพราะได้รับแสงแฟลช ในขณะเดียวกันสภาพแสงหลังภาพคนซึ่งอยู่ห่างไกลออกไป ก็จะชัดเจนขึ้นด้วย เพราะเราใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเปิดรับแสงนาน ๆ ทำให้ภาพมีรายละเอียดครบถ้วนฉากหลังไม่มืดดูเป็นธรรมชาติ

    โหมดการถ่ายภาพชั้นสูง

เมื่อเรามีประสบการณ์ในการถ่ายภาพมากขึ้น ถ้าต้องการปรับระบบต่าง ๆ ในการถ่ายภาพด้วยตนเองเพื่อให้ได้ภาพตามวัตถุประสงค์ที่เราต้องการได้ดียิ่งขึ้น ก็ให้เลือกโหมดการถ่ายภาพชั้นสูงซึ่งมีโหมดย่อยที่สำคัญ 4 โหมด เขียนสัญลัษณ์เป็นตัวอักษร P, S, A, M รายละเอียดมีดังนี้

P Program : ระบบถ่ายภาพโปรแกรมอัตโนมัติ โหมดนี้ทำงานคล้ายโหมด Auto โดยกล้องจะเลือกขนาดรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมกับสภาพแสงให้โดยอัตโนมัติ แต่ต่างกับโหมด Auto ตรงที่เราสามารถตั้งค่าฟังก์ชันการใช้งานในส่วนอื่น ๆ ได้เอง เช่น ตั้งค่า White Balance ค่าความไวแสง และค่าการชดเชยแสง ฯลฯ เป็นต้น ทำให้ได้ภาพออกมาตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ โหมดนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ถ่ายภาพที่ต้องการใช้งานง่าย ๆ และสามารถควบคุมกล้องได้เอง

S Shutter Priority : ปรับขนาดรูรับแสงอัตโนมัติ กล้องบางยี่ห้อใช้สัญลักษณ์ Tv (Time Value) โหมดนี้ให้ผู้ถ่ายภาพเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการก่อน จากนั้นกล้องจะเลือกขนาดรูรับแสงที่เหมาะสมกับสภาพแสงในขณะนั้นให้ เพื่อให้ภาพมีค่าแสงพอดี ไม่มืด หรือสว่างเกินไป เราเลือกใช้โหมดนี้เมื่อพิจารณาเห็นว่าความเร็วชัตเตอร์มีผลต่อภาพที่ถ่าย เช่น ต้องการถ่ายภาพให้เห็นการเคลื่อนที่ของวัตถุก็เลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ หรือถ้าต้องการถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนไหวให้หยุดนิ่งก็เลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงเป็นต้น

 

A Aperture Priority : ปรับความเร็วชัตเตอร์อัตโนมัติ กล้องบางยี่ห้อใช้สัญลักษณ์ Av (Aperture Value) โหมดนี้ให้ผู้ถ่ายภาพเลือกขนาดรูรับแสงที่ต้องการก่อน แล้วกล้องจะเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมตามสภาพแสงในขณะนั้นให้ เราเลือกใช้โหมดนี้เมื่อพิจารณาให้ความสำคัญกับขนาดรูรับแสงว่ามีผลต่อภาพที่ถ่าย เช่น ต้องการถ่ายภาพบุคคลให้มีฉากหลังเบลอก็ต้องเลือกปรับค่ารูรับแสงให้กว้าง ๆ จะทำให้ภาพมีระยะชัดตื้น ฉากหลังจะเบลอตัวบุคคลจะเด่นคมชัดแต่ถ้าเราต้องการถ่ายภาพทิวทัศน์ ที่ต้องการให้ภาพมีระยะชัดลึกมาก ๆ ก็ต้องเลือกปรับค่ารูรับแสงให้แคบ ๆ จะได้ภาพที่มีระยะชัดลึก

 M Manual Exposure : ปรับค่าการเปิดรับแสงเอง โหมดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีความรู้ในการถ่ายภาพดีพอสมควร เพราะต้องปรับเลือกขนาดรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ตามที่ต้องการเองเพื่อให้เหมาะกับลักษณะของภาพที่ต้องการ โดยดูค่าปริมาณของแสงสว่างว่า พอดี มากเกินไป หรือน้อยเกินไป จากสเกลวัดแสงที่แสดงไว้ในช่องมองภาพ

 

สเกลวัดแสงในช่องมองภาพ

    เมื่อใช้โหมดนี้ เราสามารถตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ได้ต่ำถึง ชัตเตอร์ B (Bulb) ซึ่งเป็นความเร็วชัตเตอร์ที่ออกแบบมา เพื่อให้เปิดม่านชัตเตอร์ค้างไว้จนกว่าจะปล่อยนิ้วออกจากปุ่มชัตเตอร์ ทำให้สามารถเปิดรับแสงได้นานเท่าที่ต้องการ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์กลางคืน หรือภาพพลุ ดอกไม้ไฟ ฯลฯ เป็นต้น

    การใช้ความเร็วชัตเตอร์ B ต้องใช้ขาตั้งกล้อง และสายลั่นชัตเตอร์ช่วยเพื่อลดการสั่นไหว ทำให้ภาพที่ได้มีความคมชัด นอกจากนี้เรายังสามารถ ตั้งค่าทำงานอื่น ๆ ได้ด้วยตนเองทั้งหมด เช่นWhite Balance, ค่าความไวแสงฯลฯ เป็นต้น

นอกจากการถ่ายภาพด้วยโหมดโปรแกรมสำเร็จรูปและโหมดการถ่ายภาพชั้นสูงแล้ว กล้องดิจิทัลบางรุ่นโดยเฉพาะกล้อง D-SLR ยังมีโหมดการถ่ายภาพพิเศษแบบต่างๆ ให้เลือกใช้อีก อาทิเช่น

    โหมดการถ่ายภาพต่อเนื่อง (Continuous หรือ Sequential Shooting หรือ Drive Mode) หมายถึงการถ่ายภาพนิ่งเป็นชุด แต่ละภาพห่างกันเพียงเสี้ยววินาที ทำให้ได้ภาพจำนวนมากไว้คัดเลือกเอาเฉพาะภาพที่ดี โหมดนี้เหมาะสำหรับการถ่ายภาพที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น การแข่งขันกีฬานกกำลังบิน ท่าทางการร่ายรำ

    ฟังก์ชันสำหรับการถ่ายภาพต่อเนื่องอาจอยู่ในเมนูของกล้องหรือเป็นปุ่มอยู่บนตัวกล้อง ต้องศึกษาดูจากคู่มือของกล้องแต่ละรุ่น โดยมากมักใช้คำว่า Continuous, Drive Mode หรือใช้สัญลักษณ์แทน เวลาถ่ายภาพเมื่อกดชัตเตอร์ค้างไว้กล้องจะถ่ายภาพไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะปล่อยนิ้วตัวอย่าง เช่น กล้อง D-SLR ของ Nikon D90 มีโหมดถ่ายภาพต่อเนื่องถึง 3 ลักษณะคือ

  • ถ่ายภาพต่อเนื่องทีละภาพ หลังจากกดปุ่มชัตเตอร์แล้วต้องปล่อยนิ้วออกก่อนแล้วกดใหม่ ใช้สัญลักษณ์  แทน
  • ถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วต่ำ เลือกได้ 1-4 ภาพ/วินาที โดยกดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้ใช้สัญลักษณ์  แทน
  • ถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง 4.5 ภาพ/วินาที โดยกดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้ใช้สัญลักษณ์  แทน

การถ่ายภาพต่อเนื่องเป็นชุดกล้องจะใช้การวัดแสง ความเร็วชัตเตอร์ ขนาดรูรับแสง เหมือนกันหมดทุกภาพในชุดนั้นๆ ดังนั้นถ้าหากขณะถ่ายภาพต่อเนื่องเกิดสภาพแสงเปลี่ยนไปอย่างมาก เช่น มีการปิดหรือเปิดไฟบางดวงสว่างจ้าขึ้นมา จะทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาแสงไม่พอดีควรหยุดถ่ายภาพ แล้วให้กล้องวัดแสงใหม่ก่อนถ่ายภาพชุดต่อไป

    โหมดถ่ายภาพคร่อม (Auto Bracketing)

กล้องดิจิทัลบางรุ่น สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องโดยมีการชดเชยแสงให้ในตัวหรือมีการปรับเปลี่ยน White Balance ให้ในการถ่ายภาพต่อเนื่อง ดังนี้

  • การถ่ายภาพคร่อมแบบชดเชยแสง เมื่อกล้องวัดแสงได้ค่ามาค่าหนึ่งซึ่งเป็นค่าแสงที่พอดี การถ่ายภาพคร่อมจะทำให้เราได้ภาพปกติ และภาพที่ชดเชยแสงไปทางบวกกับภาพชดเชยแสงทางลบพร้อมๆ กัน กล้องบางรุ่นยังสามารถเลือกได้อีกว่าไม่เอา 3 ภาพ เอาแค่ถ่ายภาพคร่อม 2 ภาพ คือภาพปกติกับภาพชดเชยแสงทางบวก หรือภาพปกติกับภาพชดเชยแสงทางลบ วิธีการถ่ายภาพคร่อมแบบนี้ ให้เลือกโหมดถ่ายภาพต่อเนื่อง จากนั้นเลือกชนิดการถ่ายภาพคร่อมแบบชดเชยแสงซึ่งการปรับตั้งการถ่ายภาพคร่อมแบบชดเชยแสงของกล้องแต่ละประเภทแต่ละรุ่นจะแตกต่างกันออกไป (ให้ดูวิธีการตั้งค่าตามคู่มือของกล้องรุ่นนั้นๆ) เมื่อจะถ่ายภาพคร่อมก็เพียงแต่กดชัตเตอร์ค้างไว้เหมือนการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง กล้อง
    จะถ่ายภาพออกมาตามที่เราตั้งค่าชดเชยแสงไว้

  • การถ่ายภาพคร่อมแบบ White Balance มีวิธีการคล้ายกับการถ่ายภาพคร่อมแบบชดเชยแสง เพียงแต่เป็นการถ่ายภาพคร่อมที่มีการใช้ค่า White Balance ที่แตกต่างกันว่าต้องการอุณหภูมิสีเป็นอย่างไร

ขั้นตอนที่ 5 การจัดองค์ประกอบภาพ

การถ่ายภาพที่ดี ควรให้ความสำคัญกับการจัดองค์ประกอบของภาพเพื่อให้ภาพออกมาสวยต้องคำนึงอยู่เสมอว่าเราจะจัดวางวัตถุหลักที่จะถ่ายอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสิ่งใดก็ตาม การมองภาพจะต้องดูให้ทั่วทั้งกรอบภาพ ไม่ใช่มองแค่วัตถุหลักที่เราจะถ่ายเท่านั้น ซึ่งรายละเอียดในการจัดองค์ประกอบภาพจะได้กล่าวถึงในบทต่อไป

ขั้นตอนที่ 6 การวัดแสง

ก่อนถ่ายภาพทุกครั้งจะต้อง “วัดแสง” เพื่อให้ทราบค่าแสงที่สะท้อนออกมาจากวัตถุที่เราจะถ่ายทำให้บันทึกแสง (ภาพถ่าย) ได้อย่างถูกต้องและได้ภาพที่ดีตามความต้องการ (รายละเอียดเรื่องการวัดแสงได้กล่าวไว้แล้วในบทที่ 3 )

ขั้นตอนที่ 7 การปรับโฟกัสภาพ

    เป็นการปรับภาพวัตถุที่เราจะถ่ายให้คมชัดก่อนที่จะกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ ซึ่งระบบโฟกัสมีหลายรูปแบบ โดยปกติเราจะจัดองค์ประกอบภาพก่อนแล้วจึงปรับโฟกัสภาพภายหลังจากนั้นจึงกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ แต่มีบางกรณีเราจำเป็นต้องปรับโฟกัสภาพก่อนแล้วล็อคโฟกัสไว้จึงค่อยมาจัดองค์ประกอบภาพภายหลังดังที่กล่าวไว้แล้วในบทที่ผ่านมา และกดชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพต่อไป

ขั้นตอนที่ 8 การกดชัตเตอร์

    เป็นการกดปุ่มชัตเตอร์เพื่อการถ่ายภาพลงไปจนสุด ให้กล้องเปิดม่านชัตเตอร์ให้แสงผ่านรูรับแสงเข้าไปยังเซ็นเซอร์ การกดปุ่มชัตเตอร์ต้องนิ่งไม่สั่นและต้องรอจังหวะของวัตถุที่จะถ่ายด้วยว่า จังหวะใดควรกดชัตเตอร์ เช่น ถ่ายรูปคนก็ต้องรอดู สีหน้าอารมณ์ รอยยิ้ม กิริยา ท่าทาง ต่าง ๆ ถ้าเหมาะสมก็กดชัตเตอร์ทันทีจะได้ภาพที่สวยงาม

ขั้นตอนที่ 9 การดูผลงานภาพที่ถ่ายออกมา

    การดูภาพที่ถ่ายออกมาได้ทันทีหลังจากที่กดชัตเตอร์ถ่ายไปแล้วเป็นข้อดีของกล้องดิจิทัล ที่ทำให้ทราบว่าภาพที่ถ่ายไปใช้งานได้หรือไม่ หรือถ้ายังไม่ถูกใจจะได้ถ่ายซ่อมใหม่ได้ทันที ซึ่งเราสามารถตั้งเวลาให้กล้องแสดงภาพหลังจากที่ถ่ายไปแล้วได้อีกว่าจะให้กล้องแสดงภาพเป็นเวลานานเท่าไร เช่น กำหนดให้แสดงภาพเป็นเวลา 4, 10, 20 วินาที หรือ 1, 5, 10 นาที แล้วจึงปิด ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนอกจากนี้ยังสามารถซูมภาพดูรายละเอียดของภาพได้อีกว่าถ่ายชัดเจนหรือไม่ และกล้องบางรุ่นยังสามารถบันทึกข้อมูลแสดงรายละเอียดในการถ่ายภาพแต่ละภาพแสดงออกมาให้ดูได้อีกด้วย เช่น ขนาดรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ การดูผลงานภาพที่ถ่ายออกมาทางจอ LCD ควรดูทั้งความมืด ความสว่างการจัดองค์ประกอบภาพ และที่สำคัญคือความคมชัดของภาพ ในด้านความคมชัดของภาพนั้นการมองจากจอ LCD มองลำบากมากเนื่องจากจอมีขนาดเล็กเมื่อมองรวม ๆ จะเห็นว่าภาพคมชัด แต่เมื่อนำมาเปิดดูที่คอมพิวเตอร์หรือพิมพ์ภาพออกมาดูปรากฏว่าภาพเบลอไม่คมชัด ดังนั้นเพื่อให้เกิดความแน่นอนว่าภาพที่ถ่ายออกมาคมชัดดี หลังจากที่ถ่ายเสร็จจึงควรซูมภาพดูจะทำให้มองเห็นว่าภาพคมชัดหรือไม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพที่สำคัญ ๆ ควรซูมภาพดูทุกครั้งหลังการถ่าย

สรุป

ขั้นตอนในการถ่ายภาพดิจิทัลที่สำคัญมี 9 ขั้นตอน ดังนี้

  1. การเปิดกล้องและเลือกโหมดการทำงาน กล้องบางรุ่นจะ เปิด-ปิดกล้อง ด้วยการกดปุ่มบางรุ่นใช้วิธีการเปิด-ปิดแบบหมุนปุ่ม บางรุ่นใช้วิธีการเลื่อนฝาที่หน้ากล้อง เมื่อเปิดการทำงานของกล้องแล้วเราจะต้องเลือกโหมดการทำงานซึ่งมี 2 โหมดใหญ่ ๆ คือ 1)โหมดการถ่ายภาพ ใช้สำหรับการถ่ายภาพและปรับตั้งค่าต่าง ๆ เพื่อการถ่ายภาพ เช่น การปรับตั้งค่า White Balance การเลือกระดับคุณภาพของภาพที่ถ่าย การปรับตั้งค่าความไวของแสง ฯลฯ เป็นต้น 2) โหมดการแสดงภาพ ใช้สำหรับเปิดชมภาพที่ถ่ายไว้แล้วออกมาดูทางจอ LCD ของตัวกล้อง และสามารถเข้าไปจัดการกับภาพที่ถ่ายไว้แล้วได้อีก เช่น ลบทิ้ง หรือสั่งให้แสดงภาพแบบสไลด์โชว์ ฯลฯ เป็นต้น
  2. การตั้งค่าการทำงานพื้นฐาน เมื่อเปิดใช้กล้องครั้งแรกก่อนถ่ายภาพควรตั้งค่าต่าง ๆ ที่สำคัญก่อน เช่น ตั้งวันที่และเวลา การตั้งชื่อโฟลเดอร์เพื่อบันทึกภาพ การเปิดและปิดหน้าจอ การปรับความสว่างของจอ LCD ตั้งค่าความไวแสง ตั้งค่า White Balance ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งวิธีการปรับค่าเหล่านี้มีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่กล้องแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อให้ศึกษาจากคู่มือกล้องที่ใช้อยู่
  3. การเลือกฟอร์แมตและขนาดของไฟล์ภาพ ส่วนใหญ่นิยมจัดเก็บข้อมูลภาพไว้ในสื่อบันทึกภาพเป็นฟอร์แมต JPEG และ LAW เป็นหลัก ทั้ง 2 รูปแบบมีคุณสมบัติแตกต่างกันดังนี้
    ไฟล์ JPEG เป็นฟอร์แมตที่ใช้เทคโนโลยีการบีบอัดเพื่อลดขนาดข้อมูลแบบ Lossy Compression โดยยอมเสียคุณภาพของภาพไปบ้าง เช่น จุดภาพ 2 จุดที่อยู่ติดกันและมีสีใกล้เคียงกันอาจถูกบีบอัดให้เป็นสีเดียวกัน ทำให้ภาพที่มีขนาดกว้างและสูงเท่ากันอาจมีขนาดไฟล์ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับภาพนั้น ๆ ว่ามีสีใกล้เคียงกันมากน้อยเพียงใด ถ้าภาพมีสีสันหลากสีขนาดไฟล์จะมีขนาดใหญ่กว่าภาพที่มีสีพื้นเรียบ ๆ ไฟล์ JPEG จะมีนามสกุลเป็น .JPEG สามารถเลือกคุณภาพได้ 3 ระดับ คือ High, Normal และ Low ถ้าเลือกแบบ High จะบีบอัดน้อยภาพที่ได้จะมีคุณภาพสูง สูญเสียรายละเอียดน้อยมากแต่ขนาดของไฟล์จะมีขนาดใหญ่ ถ้าต้องการไฟล์ที่มีขนาดเล็กก็ให้เลือกแบบ Low ขนาดของไฟล์จะมีขนาดเล็กมากทำให้
    เก็บภาพได้จำนวนมาก แต่ภาพที่ได้ก็จะสูญเสียรายละเอียดไปมากเช่นกัน ส่วนไฟล์ภาพฟอร์แมต RAWเป็นการบันทึกข้อมูลดิบที่ออกมาจากตัวเซ็นเซอร์ของกล้องโดยตรง ไม่ผ่านการดัดแปลงของหน่วยประมวลผลในตัวกล้อง ไฟล์ RAW มีข้อดีตรงเก็บข้อมูลไว้ครบถ้วนตามที่เซ็นเซอร์ของกล้องรับมา เมื่อนำไฟล์ RAW มาตกแต่งภาพด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป เช่น Photoshop จะสามารถปรับค่าต่าง ๆ เพื่อตกแต่งได้ดี แต่ไฟล์ RAW มีขนาดใหญ่กว่าไฟล์ JPEG 3-4 เท่าตัว ทำให้เปลืองเนื้อที่ในการ์ดหน่วยความจำและเมื่อตกแต่งเสร็จก่อนที่จะนำไปใช้งานต่าง ๆ ต้องแปลงไฟล์ RAW ให้เป็นไฟล์ JPEG หรือไฟล์ฟอร์แมตอื่นที่โปรแกรมสำเร็จรูปทั่ว ๆ ไปสามารถใช้งานได้ เพราะโปรแกรมสำเร็จรูปส่วนใหญ่ที่ใช้กันอยู่ไม่สามารถนำไฟล์ RAW ไปใช้ได้โดยตรง สำหรับขนาดของภาพนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการบีบอัดไฟล์ดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าบีบอัดน้อยมีความ ละเอียดมากภาพก็มีขนาดใหญ่ ถ้าบีบอัดมากมีความละเอียดน้อยภาพก็มีขนาดเล็ก โดยทั่วไปสามารถ กำหนดขนาดของภาพได้ 3 ขนาด คือ L (ใหญ่ที่สุด) M (ขนาดกลาง) S (ขนาดเล็ก)
  4. การเลือกโหมดการถ่ายภาพ โหมดการถ่ายภาพที่สำคัญมี 2 โหมดคือ 1) โหมดการถ่ายภาพแบบโปรแกรมสำเร็จรูป มีโหมดย่อยที่สำคัญ ๆ ดังนี้ โหมด Auto เมื่อเลือกใช้กล้องจะปรับขนาดรูรับ แสงและความเร็วชัตเตอร์ให้เหมาะกับสภาพแสงเอง และยังตั้งค่าอื่น ๆ ที่สำคัญให้โดยอัตโนมัติ เหมาะ สำหรับถ่ายภาพทั่ว ๆ ไป โหมดการถ่ายภาพอัติโนมัติแบบปิดแฟลช การใช้งานเหมือนโหมด Auto แต่จะปิดแฟลชเพื่อให้กล้องบันทึกภาพในสภาพแสงน้อยโดยไม่ใชแฟลช จะทำให้ภาพดูเป็นธรรมชาติสมจริง โหมดถ่ายภาพบุคคล เมื่อเลือกโหมดนี้กล้องจะปรับรูรับแสงให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ฉากหลังเบลอทำให้ตัวแบบเด่นชัดขึ้นมาและได้ภาพที่นุ่มนวล ถ่ายทอดสีผิวได้อย่างสวยงาม โหมดถ่ายภาพทิวทัศน์ เหมาะสำหรับถ่ายภาพทิวทัศน์ เช่น ทะเล ภูเขา น้ำตก โดยกล้องจะพยายามปรับรูรับแสงให้แคบที่สุดเพื่อให้เกิดภาพชัดลึก และโปรแกรมในกล้องจะปรับเน้นภาพให้มีสีสันสดใสกว่าระบบบันทึกภาพแบบอื่น ๆ โหมดถ่ายภาพระยะใกล้ เหมาะสำหรับถ่ายภาพสิ่งที่มีขนาดเล็กในระยะใกล้มาก ๆ เช่น แมลง ดอกไม้ ใบหญ้า โดยกล้องจะปรับเลนส์ให้ทำงานแบบ Macro เปิดรูรับแสงแคบ ๆ เพื่อให้ได้ระยะชัดที่ดี โหมดถ่ายภาพกีฬา/ภาพเเคลื่อนไหว เหมาะสำหรับถ่ายภาพวัตถุที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เช่น ภาพกีฬา ภาพนกบิน รถที่กำลังวิ่ง กล้องจะตั้งความเร็วชัตเตอร์สูงสุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้สามารถจับภาพที่กำลังเคลื่อนไหวให้หยุดนิ่ง โหมดถ่ายบุคคลกลางคืน โหมดนี้เหมาะสำหรับถ่ายภาพบุคคลตอนกลางคืนหรือในสภาพแสงน้อย แต่ต้องการถ่ายภาพคนและต้องการเก็บรายละเอียดของสภาพแสงดังกล่าวไว้ด้วย 2) โหมดการถ่ายภาพชั้นสูง มีโหมดย่อยที่สำคัญ 4 โหมดดังนี้ โหมด P Program : ระบบถ่ายภาพโปรแกรมอัตโนมัติ ทำงานคล้ายโหมด Auto แต่ต่างกับโหมดAuto ตรงที่เราสามารถตั้งค่าฟังก์ชันการใช้งานในส่วนอื่น ๆ ได้เอง เช่น ตั้งค่า White Balance ค่าความ
    ไวแสง และค่าการชดเชยแสง ฯลฯ เป็นต้น โหมดนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ถ่ายภาพที่ต้องการใช้งานง่าย ๆและสามารถควบคุมกล้องได้เอง โหมด S Shutter Priority : ปรับขนาดรูรับแสงอัตโนมัติ โหมดนี้ให้ผู้ถ่ายภาพเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการก่อน จากนั้นกล้องจะเลือกขนาดรูรับแสงที่เหมาะสมกับสภาพแสงในขณะนั้นให้ โหมด A Aperture Priority : ปรับความเร็วชัตเตอร์อัตโนมัติ โหมดนี้ให้ผู้ถ่ายภาพเลือกขนาดรูรับแสงที่ต้องการก่อน แล้วกล้องจะเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมตามสภาพ แสงในขณะนั้นให้ โหมด M Manual Exposure : ปรับค่าการเปิดรับแสงเอง โหมดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีความรู้ในการถ่ายภาพดีพอสมควร เพราะต้องปรับเลือกขนาดรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ตามที่ต้องการเองเพื่อให้เหมาะกับลักษณะของภาพที่ต้องการ เมื่อใช้โหมดนี้เราสามารถตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ได้ต่ำถึง ชัตเตอร์ B (Blub) ซึ่งเป็นความเร็วชัตเตอร์ที่ออกแบบมาเพื่อให้เปิดม่านชัตเตอร์ค้างไว้จนกว่าจะปล่อยนิ้วออกจากปุ่มชัตเตอร์ ทำให้สามารถเปิดรับแสงได้นานเท่าที่ต้องการ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์กลางคืน หรือภาพพลุ ดอกไม้ไฟ ฯลฯ เป็นต้น
  5. การจัดองค์ประกอบภาพ การจัดองค์ประกอบของภาพ เพื่อให้ภาพออกมาสวยต้องคำนึงอยู่เสมอว่าเราจะจัดวางวัตถุหลักที่จะถ่ายอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสิ่งใดก็ตาม การมองภาพจะต้องดูให้ทั่วทั้งกรอบภาพไม่ใช่มองแค่วัตถุหลักที่เราจะถ่ายเท่านั้น
  6. การวัดแสง ก่อนถ่ายภาพทุกครั้งจะต้อง “วัดแสง” เพื่อให้ทราบค่าแสงที่สะท้อนออกมาจากวัตถุที่เราจะถ่าย ทำให้ภาพถ่ายได้อย่างถูกต้องและได้ภาพที่ดีตามความต้องการ
  7. การปรับโฟกัส เป็นการปรับภาพวัตถุที่เราจะถ่ายให้คมชัดก่อนที่จะกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ ซึ่งระบบโฟกัสมีหลายรูปแบบ โดยปกติเราจะจัดองค์ประกอบภาพก่อนแล้วจึงปรับโฟกัสภาพภายหลังจากนั้นจึงกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ แต่มีบางกรณีเราจำเป็นต้องปรับโฟกัสภาพก่อนแล้วล็อคโฟกัสไว้จึงค่อยมาจัดองค์ประกอบภาพภายหลัง และกดชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพต่อไป
  8. การกดชัตเตอร์ การกดปุ่มชัตเตอร์ต้องนิ่งไม่สั่นและต้องรอจังหวะของวัตถุที่จะถ่ายด้วยว่าจังหวะใดควรกดชัตเตอร์ เช่น ถ่ายรูปคนก็ต้องรอดู สีหน้า อารมณ์ รอยยิ้มต่าง ๆ ถ้าเหมาะสมก็กดชัตเตอร์ทันทีจะได้ภาพที่สวยงาม
  9. การดูผลงานภาพที่ถ่ายออกมา การดูภาพที่ถ่ายออกมาได้ทันทีหลังจากที่กดชัตเตอร์ถ่ายไปแล้วเป็นข้อดีของกล้องดิจิทัล ที่ทำให้ทราบว่าภาพที่ถ่ายไปใช้งานได้หรือไม่ หรือถ้ายังไม่ถูกใจจะได้ถ่ายซ่อมใหม่ได้ทันที ในการดูภาพควรซูมภาพดูจะทำให้มองเห็นว่าภาพคมชัดหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพที่สำคัญ ๆ ควรซูมภาพดูทุกครั้งเพื่อให้แน่นอนว่าภาพที่ถ่ายออกมาคมชัดดีการถ่ายภาพตามขั้นตอนดังกล่าว ถ้าฝึกปฏิบติเป็นประจำจะทำให้การถ่ายภาพมีระบบ ทำให้ภาพที่ถ่ายออกมามีคุณภาพดี

การถ่ายภาพตามขั้นตอนดังกล่าว ถ้าฝึกปฏิบัติเป็นประจำจะทำให้การถ่ายภาพมีระบบ ทำให้ภาพที่ถ่ายออกมามีคุณภาพดี

 

(บทที่ 3) พื้นฐานเบื้องต้นสำหรับการถ่ายภาพดิจิทัล

บทที่ 3
พื้นฐานเบื้องต้นสำหรับการถ่ายภาพดิจิทัล

    ก่อนที่จะนำกล้องดิจิทัลออกไปถ่ายภาพ เราควรมีพื้นฐานความรู้เบื้องต้นสำหรับการถ่ายภาพดิจิทัลกันก่อน เพื่อนำไปปรับใช้กับกล้องดิจิทัลของเราให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพและได้ภาพที่ถ่ายออกมาสวยงามตรงตามวัตถุประสงค์ของการถ่ายภาพในแต่ละครั้ง ดังนั้นในบทนี้จะเป็นการปูพื้นฐานให้ทราบเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่นักถ่ายภาพควรทราบไว้เป็นเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นกล้องดิจิทัลประเภทใดก็ตามก็สามารถนำความรู้เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ได้

ความเร็วชัตเตอร์ (Shutter Speed)

    ความเร็วชัตเตอร์ คือ ระยะเวลาที่กล้องเปิดม่านชัตเตอร์รับแสงเพื่อบันทึกภาพ กล่าวคือ กล้องดิจิทัลทุกประเภท จะมีม่านชัตเตอร์ไว้ป้องกันไม่ให้แสงเข้าไปสู่เซ็นเซอร์ในขณะที่เรายังไม่ถ่ายภาพ พอเรากดปุ่มชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพกล้องจะเปิดม่านชัตเตอร์ปล่อยให้แสงเข้าไปสู่เซ็นเซอร์เพื่อบันทึกภาพระยะเวลาหนึ่งแล้วจึงปิด ระยะเวลาที่ม่านชัตเตอร์เปิดจนถึงปิดนี้เรียกว่า “ความเร็วชัตเตอร์” ความเร็วชัตเตอร์ ส่วนใหญ่จะบอกค่าเป็นตัวเลขเศษส่วนหน่วยเป็นวินาทีซึ่งถือว่าเร็วมาก (เปิด-ปิดม่านชัตเตอร์เร็วมาก) เช่น 1/1000, 1/500,1/250, 1/125, 1/60, 1/30, 1/15, 1/8, 1/4, 1/2, และ 1 วินาที เป็นต้น (เรียงลำดับความเร็วชัตเตอร์จากเร็วไปหาช้า) แต่ละช่วงความเร็วเรียกว่าห่างกัน 1 Stop ดังนั้นความเร็ว ชัตเตอร์ 1/1000 วินาที ก็จะเร็วกว่า1/500 วินาที 1Stop เมื่อเร็วกว่าก็จะส่งผลให้แสงผ่านเข้าสู่เซ็นเซอร์ได้น้อยกว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าวถ้าเราเปิดรูรับแสงเท่ากัน ภาพที่ถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์1/500 วินาที แล้วได้ภาพออกมาสวยงามแสงปกติ(Normal) จะทำให้ภาพที่ถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์1/1000 วินาที ได้ภาพออกมามืดกว่าภาพที่ถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/500 วินาที เรียกว่าถ่าย Under ไปเพราะแสงเข้าไปยังเซ็นเซอร์น้อยกว่า และในทางตรงกันข้ามภาพที่ถ่ายด้วยความเร็ว 1/250 วินาทีจะได้ภาพออกมาสว่างกว่าภาพที่ถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/500 เรียกว่าถ่าย Over ไป เพราะแสงเข้าไปยังเซ็นเซอร์มากกว่า

    ความเร็วชัตเตอร์สูง คือ เปิด-ปิดม่านชัตเตอร์เร็วมาก ๆ ทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาสามารถหยุด การเคลื่อนไหวของวัตถุที่ถ่ายได้ เช่น ใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/1000, 1/500, 1/250 วินาที อย่างไรก็ตาม ความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสม สำหรับหยุดสิ่งที่เคลื่อนไหวนี้ยังขึ้นอยู่กับความเร็วของสิ่งที่เคลื่อนไหว ด้วย ยิ่งวัตถุที่เราถ่ายมีการเคลื่อนไหวที่เร็ว มาก ก็ยิ่งต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงมากขึ้น เพื่อหยุดการเคลื่อนไหวนั้น เช่น ถ้าเป็นภาพ คนวิ่งเราอาจใช้ความเร็วชัตเตอร์แค่ 1/500 วินาที ก็หยุดคนวิ่งได้แล้ว แต่ถ้าเป็นภาพ รถแข่งกำลังวิ่งอย่างรวดเร็ว เราอาจต้องใช้ ความเร็วชัตเตอร์สูงถึง 1/2000 วินาที จึงจะสามารถหยุดรถแข่งได้นิ่งสนิท

 

    ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ คือเปิดม่านชัตเตอร์แล้วปิดม่านชัตเตอร์ช้า จึงทำให้เห็นการเคลื่อนไหว ของวัตถุที่ถ่าย เช่น ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/8, 1/2, 1 วินาที แต่เมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำควรใช้ขาตั้งกล้องช่วย ถ้าถือกล้องด้วยมือจะทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาสั่นไหว ถ้าหากเราต้องการให้ภาพถ่ายที่เป็นภาพนิ่งของเราสื่อความหมายแสดงให้เห็นการเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆในภาพ ต้องถ่ายโดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ค่อนข้างต่ำ เพื่อเน้นให้สิ่งที่เคลื่อนไหวนั้นดูเบลอ ไม่คมชัด แต่จุดเด่นของภาพลักษณะนี้อยู่ที่การเลือกนำเสนอบางสิ่งที่หยุดนิ่งควบคู่ไปกับบางสิ่งที่เคลื่อนไหว แล้วเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำให้เหมาะสมจะมองเห็นสิ่งที่เคลื่อนไหวเบลอแต่สิ่งที่ไม่เคลื่อนไหวจะมองเห็นชัดนิ่งอยู่ในภาพเดียวกัน ทำให้รู้สึกได้ถึงการเคลื่อนไหวของสิ่งที่เบลอนั้นผ่านสิ่งที่ชัดเจนในภาพการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำนี้ก็เช่นกัน ถ้าเราใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำมาก (ช้ามาก) แต่วัตถุเคลื่อนไหวเร็ว เราอาจจับภาพการเคลื่อนไหวของวัตถุเป็นทางลายไม่สวยงาม ดังนั้นถ้าอยากได้ภาพที่วัตถุเคลื่อนไหวสวยงาม ก็ต้องเลือกความเร็วชัตเตอร์ต่ำให้สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของวัตถุที่เราจะถ่ายด้วย ต้องฝึกและทดลองถ่ายดู

รูรับแสง (Aperture)
รูรับแสงบางครั้งเรียกว่าหน้ากล้อง เปรียบเสมือนช่องที่ควบคุมให้แสงเข้าสู่เลนส์ ซึ่งรูรับแสงนี้เป็นไดอะแฟรม (Diaphragm) สามารถปรับความกว้างได้เพื่อควบคุมปริมาณแสงที่ผ่านไป รูรับแสงที่กว้างทำให้รับแสงได้มากและรวดเร็วกว่ารูรับแสงที่แคบ เลนส์ที่สามารถปิดรูรับแสงได้กว้างช่วยให้เรามีโอกาสถ่ายภาพได้หลากหลายกว่าเลนส์ที่เปิดรูรับแสงได้แคบ เพราะเลนส์ที่เปิดรูรับแสงได้กว้างก็สามารถหรี่รูรับแสงลงได้เท่ากับเลนส์ที่เปิดรูรับแสงได้แคบ ซึ่งขนาดของรูรับแสงนี้มีผลต่อภาพที่เราถ่ายออกมา ดังจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป

ขนาดของรูรับแสงนั้นจะวัดเป็นหน่วย f-Stop หรือ f-Number เช่น f/1.4, f/2, f 2.8, f/4, f/5.6,f/8, f/11, f/16 และ f/22 แต่ละช่วงของขนาดรูรับแสงเรียกว่าห่างกัน 1 Stop ค่า f-Number เป็นค่าที่ไม่มีหน่วย เพราะเป็นค่าอัตราส่วนระหว่างทางยาวโฟกัสของเลนส์ (หน่วยเป็น mm) ต่อเส้นผ่าศูนย์กลางของช่องเปิดรูรับแสง (หน่วยเป็น mm เช่นกัน) ถ้าเขียนออกมาเป็นสูตรจะได้ดังนี้

f-Number = Focal Length / Diameter

ถ้าเลนส์มีทางยาวโฟกัส 100 mm และมีเส้นผ่าศูนย์กลางของช่องรูรับแสงเท่ากับ 25 mm จะแทนค่าสูตรได้ดังนี้

f-Number = 100 mm / 25 mm

จะได้ f-Number = 4 (ไม่มีหน่วยเพราะหน่วย mm หารกัน จึงตัดออกไป) เขียนสัญลักษณ์ได้เป็น f/4 แสดงว่าเปิดหน้ากล้อง(รูรับแสง) เท่ากับ f/4 นั่นเอง เลนส์ตัวเดียวกันนี้ถ้าเราหรี่รูรับแสงลงให้เหลือเส้นผ่าศูนย์กลางของช่องรูรับแสงเพียง 12.5 mm จะแทนค่าในสูตรได้

f-Number = 100 mm / 12.5 mm

จะได้ f-Number = 8 เขียนสัญลักษณ์ได้เป็น f/8 แสดงว่าเปิดหน้ากล้องท่ากับ f/8 ต่อไปลองเปลี่ยนเลนส์เป็น200 mm และมีเส้นผ่าศูนย์กลางของช่องรูรับแสงเท่ากับ 25 mm เหมือนในตอนแรก คราวนี้จะไม่ได้ค่าการเปิดหน้ากล้องเท่ากับ f/4 แล้ว แต่จะได้เท่ากับ f/8 แทน ดังนี้

f-Number = 200 mm / 25 mm

จะได้ f-Number = 8 เขียนสัญลักษณ์ได้เป็น f/8 แสดงว่าเปิดหน้ากล้องเท่ากับ f/8 ถ้าเลนส์ 200 mm เปิดหน้ากล้องขนาด f/4 จะได้เส้นผ่าศูนย์กลางของช่องรูรับแสงกว้างถึง 50 mm ดังนี้

f-Number = 200 mm / 50 mm

จะได้ f-Number = 4

    จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 100 mm กับเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 200 mmเมื่อเปิดหน้ากล้อง f/4 เท่ากัน จะได้ขนาดของรูรับแสงที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เท่ากัน กล่าวคือเลนส์ทางยาวโฟกัส 100 mm เปิดหน้ากล้อง f/4 ได้ขนาดรูรับแสงมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 25 mm ส่วนเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 200 mm เปิดหน้ากล้อง f/4 ได้ขนาดรูรับแสงมีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างถึง 50 mm

    ด้วยเหตุนี้ ค่า f /…..ของเลนส์แต่ละตัวแม้จะมีค่า f /….. เท่ากัน ก็ไม่ได้หมายความว่าช่องเปิดรูรับแสงจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากัน เพราะมันเป็นอัตราส่วนระหว่างทางยาวโฟกัสของเลนส์กับเส้นผ่าศูนย์กลางของช่องเปิดรูรับแสง

    ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเลนส์อะไรก็ตาม ถ้าเปิดค่า f /….. เดียวกันแล้วย่อมทำให้แสงไปกระทบเซ็นเซอร์ของกล้องดิจิทัลในปริมาณที่เท่ากันเสมอ เราจึงไม่สนใจว่าในขณะนั้นกล้องเปิดรูรับแสงมีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างเท่าใด สิ่งที่เราต้องการรู้เพียงว่าในขณะที่ถ่ายภาพนั้นเปิดรูรับแสง f /….. เท่าใดก็พอแล้ว

    ค่า f-Number นั้นห่างกันเป็นขั้น Stop เช่น f/1.4 , f/2 ห่างกัน 1 Stop ค่า f-Number ยิ่งมากขึ้นรูรับแสงจะยิ่งแคบลงทำให้แสงผ่านเข้าไปยังเซ็นเซอร์ได้น้อย ในทางตรงกันข้ามค่า f-Number ยิ่งน้อยลงเท่าใด รูรับแสงยิ่งกว้างมากขึ้น ทำให้แสงผ่านเข้าไปยังเซ็นเซอร์ได้มาก ดังนั้นถ้าเราถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/250 วินาที่ เปิดขนาดรูรับแสง f/8 แล้วภาพออกมาสวยงามได้สถาพแสงเป็นปกติ (Normal) เมื่อนำกล้องตัวนั้นไปถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์เดียวกัน แต่เปลี่ยนขนาดของรูรับแสงเป็น f/16 จะทำให้ได้ภาพที่มืดไป เรียกว่าถ่าย Under และถ้าถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์เดียวกันแต่เปลี่ยนขนาดรูรับแสงเป็น f/4 ภาพที่ได้ก็จะสว่างไปเรียกว่าถ่าย Over

    ขนาดของรูรับแสงที่กว้างและแคบนอกจากจะส่งผลให้ภาพมืดและสว่างไปแล้ว ยังส่งผลต่อการถ่ายภาพในเรื่องของ ระยะชัดลึก (Depth of Field) ถ้า f-Number มีค่าน้อย (รูรับแสงกว้าง) จะทำให้ได้ภาพที่มีลักษณะ ชัดตื้น หมายความว่า ถ้าเราโฟกัสไปที่วัตถุใดวัตถุหนึ่ง บริเวณที่ราโฟกัสจะคมชัดแต่บริเวณที่เลยออกไปทางด้านหลังจากสิ่งที่เราโฟกัสจะดูเบลอไม่คมชัด รวมทั้งบริเวณด้านหน้าด้วยเช่นกันจะไม่คมชัด แต่ถ้าเราเปิดรูรับแสงที่มีค่า f-Number มาก (รูรับแสงจะแคบ) ภาพที่ได้จะมีลักษณะชัดลึก หมายความว่า เมื่อเราโฟกัสไปยังวัตถุที่จะถ่ายชัดแล้ว บริเวณด้านหลังและด้านหน้าของวัตถุที่เราโฟกัสก็จะดูคมชัดด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์

    เมื่อเรามีความรู้เกี่ยวกับความเร็วชัตเตอร์และขนาดของรูรับแสงแล้ว จะเห็นว่าค่าทั้งสองมี ความสัมพันธ์กันในเรื่องของการเปิดรับแสงให้เข้าไปสู่เซ็นเซอร์ โดยปกติแล้วการถ่ายภาพที่สวยงามจะต้องมีปริมาณแสงที่พอดี ให้เห็นรายละเอียดของวัตถุที่เราถ่ายได้ครบตามต้องการ ไม่น้อยไปจนมืดและไม่มากเกินไปจนสีซีดขาว ปริมาณแสงที่เหมาะสมเกิดจากความสัมพันธ์ของความเร็วชัตเตอร์กับขนาดของรูรับแสงนั่นเอง

    ถ้าเราเปิดรูรับแสงกว้าง แสงจะเข้าไปมากก็ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงเพื่อเปิด-ปิดให้แสงเข้าไปในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เปิดให้แสงเข้าไปนานเกินไป ก็จะได้ภาพที่มีสภาพแสงปกติ แต่ถ้าเราเปิดรูรับแสงแคบแสงจะเข้าได้น้อย ก็ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพื่อเปิดให้แสงเข้าไปเป็นเวลานานมากขึ้นก็จะได้ภาพที่มีสภาพแสงปกติเช่นกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์

ความไวแสง (ISO)

    ISO ย่อมาจาก International Organization for Standardization ซึ่งเป็นหน่วยงานสากลที่คอยบัญญัติมาตรฐานต่าง ๆ ออกมามากมาย ในการถ่ายภาพก็เช่นกันองค์การนี้ได้กำหนดมาตรฐานขึ้นมาเพื่อให้กล้องดิจิทัลทุกตัวถ่ายภาพออกมาพอดีตรงตามมาตรฐานเดียวกัน
ค่า ISO นี้จะหมายถึง ความไวต่อแสง (Light Sensitivity) ของตัวเซ็นเซอร์ในกล้องดิจิทัล (หากเป็นกล้องใช้ฟิล์ม จะเป็นคุณสมบัติทางเคมีของฟิล์มแต่ละม้วนโดยเป็นค่าที่ใช้แสดงความไวต่อแสงของฟิล์มม้วนนั้น) ตัวเซ็นเซอร์ของกล้องดิจิทัลสามารถเร่งให้เซ็นเซอร์ไวต่อแสงมากหรือน้อยได ้เช่น เร่งจาก ISO 100 ไปเป็น 200, 400 ขึ้นไปได้เรื่อย ๆ สุดแล้วแต่ความสามารถของกล้องแต่ละตัวจะปรับเร่ง ISO ได้มากน้อยแค่ไหน ค่า ISO แต่ละค่าจะมีความไวแสงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของค่าเดิม เช่น ISO 25, 50, 100, 200, 400, 800, 1600, 3200, 6400 ฯลฯ เป็นต้น ดังนั้นหากเราตั้งค่ารูรับแสงและ ความเร็วชัตเตอร์ของกล้องดิจิทัลไว้คงที่แต่เปลี่ยนค่า ISO ให้มากขึ้นหรือน้อยลง ภาพที่ได้ก็จะสว่างขึ้น หรือมืดลงตามไปด้วย ซึ่งในการปรับเปลี่ยนค่าแต่ละขั้นของ ISO เพื่มขึ้นหรือลดลงจะทำให้กล้องดิจิทัลสามารถรับแสงเพิ่มขึ้นหรือลดลงขั้นละ 1 Stop ด้วย

การวัดแสง (Metering)

    การถ่ายภาพใด ๆ ก็ตามสิ่งที่ต้องทำทุกครั้งคือ “การวัดแสง” เพื่อให้ทราบค่าแสงที่สะท้อนออกมาจากวัตถุที่จะถ่าย ทำให้สามารถบันทึกแสง (ภาพถ่าย) ได้อย่างถูกต้องและได้ภาพที่ดีตามความต้องการกล้องดิจิทัลทุกตัวจะมีเซลวัดแสงติดมาด้วย เซลนี้จะวัดปริมาณแสงสะท้อนจากวัตถุแล้วนำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานทางอุตสาหกรรมการถ่ายภาพ คือ “ค่าการสะท้อนแสงของวัตถุสีเทา 18 %” หมายความว่าถ้าวัตถุได้รับแสงไป 100 ส่วน จะสะท้อนกลับออกมา 18 ส่วน ระบบวัดแสงจะยึดค่านี้เป็น “ค่ากลาง” เพื่อเปรียบเทียบกับสภาพแสงที่จะถ่ายภาพ ถ้าวัดแสงสะท้อนออกมามากกว่า 18 % แสดงว่าสว่างเกินไป ถ้าวัดแสงสะท้อนออกมาน้อยกว่า 18 % แสดงว่ามืดเกินไป ถ้าวัดแสงสะท้อนได้ 18 % ถือว่าได้แสงพอดี (โดยกล้องจะปรับค่าแสงสะท้อนจากวัตถุที่ถ่ายให้เท่ากับแสงสะท้อนจากวัตถุสีเทา 18% ก่อน แล้วจึงนำไปเปรียบกับค่ามาตรฐานอุตสาหกรรมว่าแสงพอดีที่ขนาดรูรับแสงเท่าไรความเร็วชัตเตอร์เท่าใด)
การวัดแสงที่ถูกต้องเที่ยงตรงจะต้องวัดจากแผ่นกระดาษสีเทาที่มีค่าสะท้อนแสง 18 % โดยวัดตรงจุดที่เราจะถ่ายภาพ แต่ในสภาพแวดล้อมจริงที่เราถ่ายภาพเราอาจวัดแสงจากส่วนใดส่วนหนึ่งที่มีการสะท้อนแสงใกล้เคียงกับสีเทา 18 % เช่น วัดแสงที่เงาของผ้าขาว เงาของก้อนเมฆ ผนังตึก ฯลฯ เป็นต้น ที่เราสามารถใช้เป็นจุดอ้างอิงสำหรับหาค่าการเปิดรูรับแสงที่ถูกต้องได้ ระบบวัดแสงของกล้องไม่ได้มองเห็นสีสันของวัตถุที่เราถ่าย แต่จะมองทุกอย่างเป็นปริมาณของแสงเท่านั้น นั่นแสดงว่าวัตถุที่มีสีบางสีถ้ามีการสะท้อนแสงใกล้เคียงกับสีเทา 18% เวลาถ่ายภาพออกมาก็จะได้สีสันถูกต้องได้แสงพอดี แต่ในวัตถุบางสีที่มีการสะท้อนของแสงมากหรือน้อยกว่า 18 % ก็อาจมีปัญหาว่าวัดแสงพอดีแล้วกลับได้ภาพมืดไป สว่างไป มีสีสันเพี้ยนไปก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายภาพที่มีพื้นที่ฉากหลังมากกว่าพื้นที่ของวัตถุที่เราจะถ่าย มักทำให้กล้องถูกสีของฉากหลังหลอกและพยายามปรับค่าแสงของฉากหลังออกมาให้เท่ากับค่าของสีเทา 18% ดังนั้นหากเราถ่ายภาพที่มีฉากหลังมากแล้วสะท้อนแสงออกมามากกว่าค่าสีเทา 18 % เช่น สะท้อนออกมา 70 % กล้องก็จะลดการบันทึกแสงสะท้อนลงให้เหลือเพียง 18 % ภาพที่ออกมาจึงดูสีเพี้ยนไป เช่น การถ่ายภาพที่มีวัตถุสีขาวเป็นฉากหลัง วัตถุสีขาวมีค่าการสะท้อนแสง มากกว่า 18 % ทำให้กล้องไปลดแสงลงจากปกติ ให้เหลือเพียง 18 % ทำให้ฉากสีขาวในภาพที่ถ่ายออกมา กลายเป็นสีเทาสีไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง

    ถ้าหากเราถ่ายภาพที่มีฉากหลัง(หรือพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาพ) ที่สะท้อนแสงน้อยกว่าค่าของสีเทา 18% เช่น สะท้อนออกมาเพียง 10 % กล้องก็จะเพิ่มการบันทึกแสงสะท้อนให้ได้เท่ากับค่าแสงที่ 18 % เช่น วัตถุสีดำ มีค่าสะท้อนแสง น้อยกว่า 18 % ทำให้กล้องไปเพิ่มการรับแสงขึ้นจากปกติ เพื่อให้ได้ค่าเท่ากับสีเทา 18 %ทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาสีฉากหลังไม่ดำสนิท ตามความเป็นจริง

    จากตัวอย่างที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ถ้าวัตถุที่ถ่ายสะท้อนแสงได้เท่ากับสีเทา 18 % ก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าวัตถุที่ถ่ายนั้นมีค่าการสะท้อนแสงมากกว่าหรือน้อยกว่าสีเทา 18 % ก็จะทำให้ค่าวัดแสงภายในตัวกล้องผิดพลาด จึงทำให้ภาพที่ออกมาไม่เหมือนกับที่ตามองเห็น เพื่อแก้ไขปัญหานี้จึงต้องมีการ “ชดเชยแสง”

การชดเชยแสง

    เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดจากการวัดแสงอันเนื่องมาจากเครื่องวัดแสงในตัวกล้องจะพยายามวัดค่าให้ได้ค่ากลางของการสะท้อนแสงคือสีเทา 18 % ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ถ่ายภาพที่จะต้องหาทางบอกให้เครื่องวัดแสงทราบว่า วัตถุที่เราจะถ่ายนั้นมีค่าการสะท้อนแสงมากหรือน้อยกว่าสีเทา 18 % ซึ่งเราเรียกวิธีนี้ว่า “การชดเชยแสง”

    วัตถุสีขาว : ชดเชยแสงทาง “บวก” ถ้าวัตถุที่เราถ่ายมีสีขาวซึ่งมีค่าสะท้อนสงมากกว่าสีเทา 18 % กล้องจะพยายามลดแสงลงให้ได้แสงเท่ากับสีเทา 18 % เพื่อให้ได้แสงพอดี แต่ในกรณีนี้กลับส่งผลให้สีที่ควรจะเป็นสีขาวกลับเป็นสีเทาหม่น ๆ ไป ดังนั้นเพื่อให้กล้องบันทึกภาพได้สีขาวอย่างถูกต้อง เราจะต้องบอกให้กล้องรับแสงมากขึ้นกว่าปกติ โดยวิธีการเปิดรูรับแสงให้กว้างมากขึ้น หรือใช้ความเร็วชัตเตอร์ให้ช้าลง หรือปรับค่า ISO ให้สูงขึ้น ตามที่เราได้เรียนรู้มาแล้วว่าสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการถ่ายภาพโดยผู้เรียบเรียง 105 mm, f/5.6, 1/13 Sec., ISO 200 วัดแสงปกติ ฉากสีดำออกมาไม่ดำสนิทรับแสงของกล้อง ซึ่งเราเรียกวิธีการนี้ว่า “การชดเชยแสงในทางบวก” ส่วนจะชดเชย +2 หรือ +1 ก็แล้วแต่ความสว่างหรือความขาวและปริมาณพื้นที่ของสิ่งนั้นที่อยู่ในภาพ ถ้าสิ่งนั้นมีความสว่างหรือขาวมากและเป็นพื้นที่ใหญ่ในภาพก็ให้ชดเชยแสงมากหน่อย เช่น +2 แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่ค่อยสว่างมากหรือขาวไม่มากและมีพื้นที่ไม่ใหญ่มากในภาพ ก็อาจชดเชยแสงแค่ +1 ก็เพียงพอ

    วัตถุสีดำ : ชดเชยแสงทาง “ลบ” ถ้าวัตถุที่เราถ่ายเป็นวัตถุสีดำมีค่าสะท้อนแสงน้อยกว่าสีเทา 18% กล้องจะพยายามเพิ่มการรับแสงให้มากขึ้นให้ได้แสงเท่ากับสีเทา 18% เพื่อให้ได้แสงพอดี แต่กรณีนี้กลับส่งผลให้สีที่ควรจะเป็นสีดำกลับเป็นสีเทาหมอง ๆ ไป ดังนั้นเพื่อให้กล้องบันทึกภาพให้ได้สีดำอย่างถูกต้อง เราต้องบอกกล้องให้รับแสงน้อยลงกว่าปกติ โดยวิธีการหรี่รูรับแสงให้แคบลง หรือใช้ความเร็วชัตเตอร์ให้เร็วขึ้น หรือปรับค่า ISO ให้น้อยลง วิธีการนี้เรียกว่า “การชดเชยแสงทางลบ” ส่วนจะชดเชย -2 หรือ -1 ก็แล้วแต่ความมืดหรือความดำและปริมาณพื้นที่ของสิ่งนั้นที่อยู่ในภาพ ถ้าสิ่งนั้นมีความมืดมากหรือดำมากและเป็นพื้นที่ใหญ่ในภาพก็ให้ชดเชยแสงมากหน่อย เช่น -2 แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่
ค่อยมืดมากหรือดำไม่มากและมีพื้นที่ไม่ใหญ่มากในภาพ ก็อาจชดเชยแสงเพียงแค่ -1 ก็พอเพียง

ระบบวัดแสงแบบต่าง ๆ ของกล้องดิจิทัล

    ในกล้องดิจิทัลจะมีฟังก์ชันของระบบวัดแสง ให้เราสามารถเลือกใช้ได้ทันทีให้เหมาะกับงานถ่ายภาพของเรา ระบบวัดแสงที่นิยมใช้กันมี 3 รูปแบบดังนี้ (วีรนิจ ทรรทรานนท์, 2548 : 104-105)

    1. ระบบวัดแสงแบบเฉลี่ยหลายส่วน (Multi-Segment Metering) เป็นระบบที่ใช้ง่ายที่สุดถ้าถ่ายถาพโดยเลือกใช้โหมดอัตโนมัติต่างๆ ที่มีมาให้ กล้องส่วนใหญ่ก็จะตั้งระบบวัดแสงระบบนี้ให้ทันทีการวัดแสงแบบนี้กล้องบางยี่ห้อก็เรียกว่า การวัดแสงระแบบ Matrix บางยี่ห้อก็เรียกว่าการวัดแสงแบบ Zone การวัดแสงแบบเฉลี่ยหลายส่วน จะทำการตรวจวัดปริมาณแสงโดยรับข้อมูลจากเซลล์รับภาพทั่วทั้งเซ็นเซอร์ตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีการแบ่งส่วนเอาไว้มาทำการคำนวณตามน้ำหนักของแต่ละพื้นที่ที่กำหนดไว้ โดยอาจให้น้ำหนักกับจุดที่ทำการโฟกัสมากกว่าจุดอื่นๆ แล้วเฉลี่ยออกมาเป็นค่าแสงที่เหมาะสม ระบบนี้เหมาะกับการถ่ายภาพที่สภาพแสงไม่แตกต่างกันมากเกินไป แต่ไม่เหมาะกับสภาพแสงที่มีความแตกต่างกันมาก เช่น การถ่ายภาพย้อนแสง มักเกิดการวัดแสงที่ผิดพลาดได้ง่าย

    2. ระบบวัดแสงแบบเฉลี่ยกลางภาพ (Center-Weighted Average Metering) ระบบวัดแสงระบบนี้ค่าแสงจากจุดกึ่งกลางภาพจะถูกให้น้ำหนักในการคำนวณมากกว่าพื้นที่โดยรอบ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพ ที่มีวัตถุหลักอยู่ตรงบริเวณกลางภาพและมีพื้นที่ในภาพใหญ่พอสมควร เช่น ภาพถ่ายบุคคล ภาพงานสถาปัตยกรรม ภาพถ่ายมาโคร ฯลฯ เป็นต้น

    3. ระบบวัดแสงเฉพาะจุด (Spot Metering) เป็นระบบที่วัดแสงได้แม่นยำที่สุด ระบบวัดแสงตนเองเพื่อปรับตั้งค่า การเปิดรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ หรือ ค่า ISO ให้ถูกต้องมากที่สุด
เช่น การถ่ายภาพในสภาพแสงที่ต่างกันมาก คือมีส่วนที่สว่างมากและมีส่วนที่มืดมากในบริเวณที่จะถ่ายภาพ จึงต้องวัดแสงทีละจุดแล้วนำมาเฉลี่ยน้ำหนักที่ได้ด้วยวิธีคิดหรือประสบการณ์ของตนเอง เพื่อตั้งค่าต่าง ๆ ในการถ่ายภาพให้ถูกต้องทำให้ได้ภาพออกมาดั่งใจที่ต้องการสิ่งที่ได้จากการวัดแสงคือ ทำให้เราทราบว่าควรเปิดขนาดรูรับแสงของกล้องกว้างเท่าไรควรใช้ความเร็วชัตเตอร์เท่าใด จะตั้งค่า ISO เท่าไรดีจึงเหมาะสม นอกจากนี้การตั้งระบบวัดแสงที่ต่างกันจะได้ค่าขนาดของรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ออกมาไม่เหมือนกัน ดังนั้นควรเลือกตั้งระบบวัดแสงให้เหมาะสมกับลักษณะงานถ่ายภาพของเราด้วยระบบนี้ค่าแสงจากจุดกึ่งกลางภาพจะถูกให้น้ำหนักในการคำนวณมากกว่าพื้นที่โดยรอบ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพ ที่มีวัตถุหลักอยู่ตรงบริเวณกลางภาพและมีพื้นที่ในภาพใหญ่พอสมควร เช่น ภาพถ่ายบุคคล ภาพงานสถาปัตยกรรม ภาพถ่ายมาโคร ฯลฯ

    สิ่งที่ได้จากการวัดแสงคือ ทำให้เราทราบว่าควรเปิดขนาดรูรับแสงของกล้องกว้างเท่าไรควรใช้ความเร็วชัตเตอร์เท่าใด จะตั้งค่า ISO เท่าไรดีจึงเหมาะสม นอกจากนี้การตั้งระบบวัดแสงที่
ต่างกันจะได้ค่าขนาดของรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ออกมาไม่เหมือนกัน ดังนั้นควรเลือกตั้งระบบวัดแสงให้เหมาะสมกับลักษณะงานถ่ายภาพของเราด้วย

การโฟกัสภาพ (Focus)

    เป็นการปรับภาพวัตถุที่เราจะถ่ายให้คมชัดก่อนที่จะกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ การปรับโฟกัสภาพมีทั้งระบบโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติ (Auto Focus) เพียงแต่กดปุ่มชัตเตอร์ลงไปครึ่งหนึ่งกล้องจะปรับโฟกัสภาพให้ชัดเอง อีกระบบหนึ่งเป็นระบบโฟกัสภาพด้วยมือ (Manual Focus) ต้องใช้มือหมุนปรับที่เลนส์เพื่อให้ภาพคมชัด กล้องดิจิทัลทุกรุ่นจะมีระบบโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติมาให้ ถ้าเป็นกล้องดิจิทัลคอมแพ็คที่ราคาไม่สูงมากนักมักจะมีระบบโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติมาให้อย่างเดียว แต่ถ้าเป็นกล้องดิจิทัลคอมแพ็คในระดับราคาที่สูงขึ้นกับกล้อง D-SLR จะมีระบบโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติและระบบโฟกัสภาพด้วยมือมาให้ทั้ง 2 แบบ

    ระบบโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติ โดยทั่ว ๆ ไปแบ่งได้ 2 ประเภท

    1. ระบบโฟกัสภาพจุดเดียว (Center Focus) ระบบนี้จะปรับภาพให้ชัดที่สุดตรงกลางภาพการใช้ระบบโฟกัสภาพประเภทนี้จะทำงานได้ดีในสถานการณ์ทั่วไป หรือภาพที่ต้องการวางวัตถุหลักไว้กลางภาพ

    2. ระบบโฟกัสภาพหลายจุด (Multi Focus) ระบบนี้จะมีจุดโฟกัสหลาย ๆ จุด อาจมี 5 จุด 9 จุดหรือ 11 จุด กระจายอยู่ภายในกรอบเฟรมที่เราจะถ่ายภาพ เราสามารถเลือกจุดโฟกัสภาพได้เอง โดยเลื่อนแถบแสดงตำแหน่งโฟกัสภาพไปยังตำแหน่งจุดดังกล่าวที่เราต้องการโฟกัสภาพ การโฟกัสภาพด้วยระบบนี้ให้ผลดีในกรณีที่เราวางวัตถุหลักไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของภาพที่ไม่ใช่ตรงกลางระบบโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติในกล้องดิจิทัลคอมแพ็คส่วนใหญ่จะไม่มีออปชั่นของการโฟกัสภาพให้เลือกอีก แต่หากเป็นกล้อง D-SLR หรือกล้องดิจิทัลคอมแพ็คในระดับสูงๆ จะมีออปชั่นรูปแบบของการโฟกัสอัตโนมัติให้เลือกอีกด้วย และมักมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ยี่ห้อของกล้อง

    ระบบโฟกัสภาพด้วยมือ ระบบนี้มักพบในกล้อง D-SLR และในกล้องดิจิทัลคอมแพ็คระดับสูง ๆ ทำให้ผู้ใช้สามารถปรับโฟกัสได้เองอย่างอิสระเพียงแต่เล็งภาพจากช่องมองไปยังวัตถุที่ต้องการถ่ายแล้วปรับหมุนวงแหวนที่ตัวเลนส์เพื่อปรับโฟกัสให้ภาพชัด ถ้าโฟกัสจนได้ภาพที่ชัดสมบูรณ์แล้วจะมีไฟแสดงให้เห็นในช่องมองว่าภาพคมชัดแล้ว นอกจากนี้ระบบโฟกัสภาพด้วยมือยังสามารถช่วยแก้ปัญหาข้อผิดพลาดจากการใช้ระบบโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติได้อีกด้วย ดังจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป

    การเลือกระบบโฟกัสภาพ ควรเลือกให้เหมาะกับลักษณะงานที่จะถ่ายภาพ การใช้ระบบโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติ จะเหมาะสมกับงานที่ต้องการใช้ความเร็ว ในการโฟกัสภาพแล้วรีบกดชัตเตอร์ เช่นการถ่ายภาพเหตุการณ์หรือพิธีการต่าง ๆ หากใช้ระบบโฟกัสภาพด้วยมืออาจถ่ายภาพไม่ทัน แต่ในบางกรณี เช่น การถ่ายภาพผ่านลูกกรงหรือถ่ายภาพในสภาพแสงที่มีการตัดกันตํ่า ระบบโฟกัสแบบอัตโนมัติอาจทำงานผิดพลาดได้จำเป็นต้องใช้ระบบโฟกัสภาพด้วยมือแทน

    ปัญหาจากการโฟกัสภาพและวิธีการแก้ไข ปัญหาจากการโฟกัสภาพที่สำคัญ ๆ มีดังนี้

    1. การโฟกัสวัตถุที่อยู่ด้านข้างของภาพ กรณีนี้ถ้าจัดวัตถุที่จะถ่ายให้อยู่ด้านข้างแล้วกดชัตเตอร์ถ่ายทันที กล้องจะไปโฟกัสที่ฉากหลังหรือวัตถุที่ไม่สำคัญแทน

    วิธีแก้ไข ถ้าเป็นกล้องที่มีระบบโฟกัสภาพหลายจุด ก็เพียงแค่เลือกจุดโฟกัสให้ตรงกับวัตถุที่เราต้องการถ่ายเท่านั้นวัตถุที่เราถ่ายก็จะคมชัด แต่ถ้าเป็นกล้องที่มีระบบโฟกัสภาพจุดเดียวก็ต้องแก้ปัญกาโดยวิธี “ล็อคโฟกัส” มีขั้นตอนดังนี้

  • จัดภาพให้วัตถุที่จะถ่ายอยู่ตรงกลางภาพก่อนแล้วกดปุ่มชัตเตอร์เบา ๆ ลงไป
    ครึ่งหนึ่ง กล้องก็จะโฟกัสภาพไปยังวัตถุที่จะถ่าย
  • ค้างนิ้วที่กดปุ่มชัตเตอร์ครึ่งหนึ่งเอาไว้ แล้วค่อยเลื่อนจัดองค์ประกอบภาพใหม่
    ให้วัตถุที่จะถ่ายมาอยู่ด้านข้างของภาพ จึงค่อยกดชัตเตอร์ลงไปจนสุดเพื่อ
    ถ่ายภาพ ก็จะได้ภาพวัตถุที่อยู่ด้านข้างของภาพคมชัด

    2. การโฟกัสวัตถุที่อยู่ด้านหลังลูกกรง ถ้าเราต้องการถ่ายภาพผ่านลูกกรงระบบโฟกัสแบบอัตโนมัติมักจะโฟกัสภาพลูกกรงแทนที่จะโฟกัสภาพหลังลูกกรงตามที่เราต้องการ

    วิธีแก้ไข

  • แนบกล้องชิดลูกกรงจนกล้องสามารถจับภาพหลังลูกกรงได้โดยไม่มีลูกกรงบัง
  • ถ้าไม่สามารถเข้าใกล้ลูกกรงได้ ให้ใช้วิธีการโฟกัสภาพวัตถุอื่นที่มีระยะห่าง
    ใกล้เคียงกับวัตถุที่เราจะถ่ายหลังลูกกรง แล้วล็อคโฟกัสไว้จึงค่อยย้ายมาถ่ายวัตถุ
    หลังลูกกรงอีกทีหนึ่ง
    แก้ไขโดย โฟกัสที่ใบหน้าก่อนและล็อคโฟกัสไว้ แล้วจัดองค์ประกอบภาพใหม่ จึงกดชัตเตอร์
    ถ่ายภาพโดยผู้เรียบเรียง
  • ใช้วิธีปรับโฟกัสด้วยมือ จะทำให้เราสามารถโฟกัสภาพวัตถุที่เราจะถ่ายหลัง
    ลูกกรงได้คมชัด

    3. กล้องโฟกัสภาพได้ช้า ถ้าเราต้องการถ่ายภาพในสภาพแสงที่มีการตัดกันต่ำหรือแสงน้อยเกินไป การโฟกัสภาพด้วยระบบอัตโนมัติจะทำได้ช้าหาจุดโฟกัสไม่ค่อยได้ ทำให้กดชัตเตอร์ไม่ลง

    วิธีแก้ไข

  • ใช้กล้องที่มีไฟส่องช่วยหาโฟกัสอัตโนมัติมาถ่าย กล่าวคือ เมื่อระบบโฟกัสภาพ
    แบบอัตโนมัติไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากสภาพแสงมีการตัดกันต่ำหรือแสง
    น้อยเกินไป กล้องจะช่วยหาจุดโฟกัสโดยส่องไฟเพื่อเพิ่มความสว่างและทำให้
    สภาพแสงมีการตัดกันสูงขึ้น จึงสามารถปรับโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติได้
  • ให้เปลี่ยนมาใช้วิธีปรับโฟกัสด้วยมือแทน

 

ความสมดุลของสีขาว White Balance

    ความสมดุลของสีขาวคือ การทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาได้สีขาวที่เป็นสีขาวจริง ๆ ไม่ใช่สีขาวอมเทาหรือสีขาวอมเหลือง ถ้าทำให้สีขาวเป็นสีขาวที่แท้จริงแล้วสีอื่น ๆ ก็จะถูกต้องตามไปด้วย การทำให้สีขาวเป็นสีขาวที่แท้จริงสำหรับกล้องดิจิทัลนั้นทำได้โดยการตั้งค่า White Balance ให้ตรงกับสภาพแสงที่เราจะถ่าย
ภาพที่เราถ่ายส่วนใหญ่จะมาจากแหล่งกำเนิดแสงคือ แสงจากดวงอาทิตย์ในเวลากลางวัน (ช่วงเวลาประมาณ 9.00 น. – 15.00 น.) จะให้แสงสีขาว เมื่อถ่ายภาพในช่วงเวลาดังกล่าวและตั้ง White Balance แบบแสงอาทิตย์จะได้ภาพที่มีสีสันถูกต้องตามธรรมชาติ วัตถุที่มีสีขาวจะปรากฏเป็นสีขาวจริงแต่ถ้าเราถ่ายภาพตอนเช้าตรู่ และช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ตก หรือถ่ายภาพด้วยแสงประดิษฐ์ต่าง ๆ การใช้ White Balance แบบแสงอาทิตย์จะทำให้ภาพของวัตถุที่ถ่ายออกมามีสีผิดเพื้ยนไปต้องแก้ไขโดยปรับWhite Balance ให้ตรงกับสภาพแสงที่จะถ่ายภาพ กล้องดิจิทัลแต่ละรุ่นจะมีฟังก์ชันให้เลือกปรับ White Balance คล้าย ๆ กัน โดยแบ่งออกตามสภาพสีของแหล่งกำเนิดแสงดังนี้

Auto White Balance บางทีใช้คำย่อว่า AWB ถ้าเลือกใช้ White Balance แบบนี้ กล้องจะปรับความสมดุลของสีขาวให้เองโดยอัตโนมัติ กล้องจะรู้เองว่าภาพที่เรากำลังจะถ่ายนั้น มีสภาพแสงที่เกิดจากแหล่งกำเนิดแสงชนิดใด แล้วกล้องก็จะปรับตามสภาพแสงให้เราทันที ในการถ่ายภาพมักนิยมตั้ง White Balance แบบนี้ไว้ก่อน แต่มีบางสถานการณ์ ที่ทำให้กล้องไม่สามารถหาค่าที่เหมาะสม ให้กับการถ่ายภาพในสถานการณ์นั้น ๆ โดยเฉพาะในภาพที่มีสีใดสีหนึ่งอยู่มากเกินไปก็อาจจะหลอก AWB ให้ถ่ายภาพออกมาแล้วสีเพี้ยนได้ เราสามารถแก้ไขได้โดยเข้าไปปรับตั้งค่า White Balance ให้ตรงกับสภาพแสงที่เราจะถ่ายก็จะได้ภาพที่มีสีสันถูกต้อง

เหมาะกับสภาพแสงอาทิตย์ที่ถ่ายกลางแจ้งในวันที่อากาศสดใสช่วงเวลา 9.00 น. – 15.00 น. จะได้สีสันถูกต้องแต่ในช่วงเช้าตรู่หรือช่วงเย็นถ้าตั้งค่า White Balance แบบนี้ ภาพที่ถ่ายออกมาจะมีสีส้มแดง ถ้าต้องการสีให้ถูกต้องเหมือนจริงให้เลือก White Balance แบบ Auto

 บางรุ่นใช้คำว่า Incandescent การถ่ายภาพในสถานที่ซึ่งใช้หลอดไฟแบบไส้หลอดกลม ๆ จะให้ภาพที่มีสีโทนสีส้มแดงปนเหลือง หากใช้ White Balance แบบ Auto แล้วภาพยังมีโทนสีส้มแดงหรือมีสีเหลืองปนอยู่ให้เปลี่ยนมาใช้ White Balance แบบนี้จะทำให้ได้ภาพที่มีสีสันถูกต้องมากกว่า โดยกล้องจะเพิ่มโทนสีฟ้าเพื่อหักล้างกับสีส้มแดงทำให้ได้ภาพที่มีสีสันถูกต้อง

ในวันที่ท้องฟ้ามีเมฆมาก ครึ้มฟ้า ครึ้มฝน ไม่มีแดดออก หรือถ่ายภาพในที่ร่มเงาไม้ จะให้ภาพที่มีสีฟ้าปนอยู่ หากใช้ White Balance แบบ Auto แล้วยังมีโทนสีฟ้าอยู่ ให้เปลี่ยนมาใช้White Balance แบบนี้จะได้สีที่ถูกต้องมากขึ้น

  การถ่ายภาพในอาคารด้วยแสงจากหลอด Fluorescent สีจะออกมาในโทนฟ้าอมเขียว ถ้าใช้ White Balance แบบ Auto แล้วยังมีสีฟ้าอมเขียวอยู่ให้เปลี่ยนมาใช้ White Balance แบบนี้จะได้สีที่ถูกต้อง


การปรับตั้งสมดุลของสีขาวขึ้นใช้เอง

    การปรับสมดุลสีขาวที่เที่ยงตรงและแม่นยำที่สุดคือการปรับตั้งเอง เรียกว่า Custom White Balance หรือ Preset วิธีการปรับตั้งจะแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ยี่ห้อและรุ่นของกล้อง แต่วิธีการมาจากพื้นฐานเดียวกันคือ
1. หากระดาษสีขาวหรือสีเทา 18 % มาวางไว้ตรงบริเวณที่จะถ่ายภาพ
2. ซูมกล้องเข้าไปยังกระดาษสีขาวหรือสีเทา 18 % ให้เต็มเฟรม
3. ทำการตั้งค่า White Balance ตามคู่มือของกล้องที่ใช้ ค่า White Balance จะถูกบันทึกไว้ให้เราเลือกใช้ตามสภาพแสงลักษณะต่าง ๆ สุดแล้วแต่เราจะทำการตั้งค่าในสภาพแสงเช่นไรบ้าง กล้องบางรุ่นสามารถบันทึกค่า White Balance ที่เราตั้งค่าไว้ได้ถึง 5 ค่า บางกรณีถ้าอยากได้ภาพดูแปลกตา มีสีไม่ตรงกับความเป็นจริง ก็ลองปรับ White Balance ไม่ให้ตรงกับสภาพแสงในขณะนั้น ก็จะได้ภาพที่มีสีผิดเพี้ยนไป แต่ความผิดเพี้ยนดังกล่าวอาจทำให้ภาพดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ดังภาพด้านล่าง
บางกรณีถ้าอยากได้ภาพดูแปลกตา มีสีไม่ตรงกับความเป็นจริง ก็ลองปรับ White Balance ไม่ให้ตรงกับสภาพแสงในขณะนั้น ก็จะได้ภาพที่มีสีผิดเพี้ยนไป แต่ความผิดเพี้ยนดังกล่าวอาจทำให้ภาพดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ดังภาพด้านล่าง

การเล็งภาพด้วยช่องมองภาพกับการเล็งด้วยจอภาพ LCD

    ในการถ่ายภาพเราจะต้องเล็งภาพผ่านกล้องก่อนที่จะกดชัตเตอร์ กล้องดิจิทัลมีที่สำหรับใช้เล็งภาพ 2 ส่วน คือ ช่องมองภาพ (Viewfinder) และจอ LCD (Liquid Crystal Display)

    ช่องมองภาพ สร้างขึ้นจากระบบของเลนส์เมื่อมองผ่านช่องนี้ออกไปจะเห็นขอบเขตบริเวณและวัตถุที่จะถ่ายภาพ โดยไม่ต้องใช้พลังงานใด ๆ จากแบตเตอรี่ กล้องดิจิทัลคอมแพ็คทั่ว ๆ ไป ภาพที่เรามองเห็นจากช่องมองภาพอาจมีความแตกต่างไปจากภาพที่บันทึกได้จริงจากเซ็นเซอร์ โดยเฉพาะเมื่อต้องถ่ายวัตถุในระยะใกล้ ๆ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะช่องมองภาพกับเลนส์ถูกวางไว้ในตำแหน่งที่ต่างกันซึ่งผู้ผลิตได้พยายามแก้ไขปัญหาการเหลื่อมของภาพ (Parallax) ด้วยการพิมพ์เส้นไกด์ลงบนช่องมองภาพเพื่อแสดงขอบเขตบริเวณที่ภาพจะบันทึกได้จริงไว้ให้ผู้ถ่ายภาพ ใช้เป็นแนวทางในการจัดองค์ประกอบองค์ประกอบภาพให้อยู่ภายในกรอบของเส้นไกด์นั้น

    สำหรับกล้อง D-SLR แสงจากวัตถุที่เราจะถ่ายจะพุ่งเข้าสู่เลนส์แล้วสะท้อนกระจกส่งภาพขึ้นไปสู่ช่องมองภาพ ภาพที่ถ่ายได้จึงเหมือนกับภาพที่มองจากช่องมองภาพ แต่ก็มองเห็นเพียง 96 % ยังไม่ครบ 100 % ดังนั้นเวลาจัดองค์ประกอบภาพก็ต้องเผื่อบริเวณที่ช่องมองภาพมองไม่เห็นไว้ด้วยเพราะเวลาถ่ายภาพออกมาอาจติดในส่วนที่เราไม่ต้องการเข้ามาด้วย แต่การเล็งด้วยช่องมองภาพไม่สามารถทราบได้ว่าภาพที่ถ่ายออกมาจะมีความมืด-สว่างตามที่ตามองเห็นหรือไม่

    จอภาพ LCD การเล็งภาพจากจอ LCD ภาพที่เราเห็นเป็นภาพจริงจากตัวเซ็นเซอร์ เนื่องจากกล้องดิจิทัลจะนำข้อมูลจากตัวเซ็นเซอร์มาปรับค่าต่าง ๆ ตามที่ตั้งไว้แล้วแสดงให้เห็นทางจอภาพ LCD ดังนั้นเราจึงสามารถจัดองค์ประกอบภาพให้เหมาะสม และปรับสภาพแสงให้มีความสว่างหรือมืดได้ตามต้องการแล้วจึงกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ กล้องดิจิทัลหลายรุ่นสามารถบิดจอภาพ LCD ไปในมุมต่าง ๆ ได้ช่วยให้เกิดความสะดวกในการเล็งภาพเพื่อถ่ายภาพในมุมแปลก ๆ และยังสามารถสั่งให้กล้องทำงานผ่านทางจอ LCD ในระบบสัมผัสได้อีกด้วย แต่การเล็งภาพจากจอ LCD ในที่กลางแจ้งมักมองเห็นภาพไม่ค่อยชัดเจนเพราะจอ LCD มีความสว่างจำกัด ขณะนี้กล้องดิจิทัลบางยี่ห้อพยายามแก้ปัญหานี้โดยการทำ Electronic Viewfinder คือใช้วิธีการเล็งผ่านช่องมองภาพที่ดูเหมือนเป็น Viewfinder ซึ่งช่วยป้องกันแสงเข้าไปรบกวน แต่ภายในความจริงยังคงเป็นจอภาพ LCD ความละเอียดสูงที่มีขนาดเล็กทำให้ประหยัดแบตเตอรี่กว่าจอใหญ่และยังทำให้มองเห็นภาพเหมือนที่ถ่ายได้จริงอีกด้วย นอกจากนี้เดิมทีกล้อง D-SLR ไม่สามารถเล็งภาพขณะถ่ายจากจอ LCD ต้อง เล็งภาพจากช่องมองภาพเท่านั้น แต่ในปัจจุบันกล้อง D-SLR หลายรุ่นหลาย ยี่ห้อสามารถเลือกเล็งภาพขณะถ่ายจากจอภาพ LCD ได้แล้ว

การวิเคราะห์เปรียบเทียบจุดเด่น-จุดด้อยของการเล็งภาพจากช่องมองภาพกับจอ LCD

ช่องมองภาพ จอภาพ LCD
  1. ประหยัดพลังงานแบตเตอรี่
  2. เห็นภาพไม่ครบ 100% ในกล้อง D-SLR และทำให้เกิดปัญหา Parallax ในกล้องดิจิทัลประเภทคอมแพ็ค
  3. มองเห็นภาพเฉพาะ ออปติคอลซูมเท่านั้น
  4. ไม่เห็นผลจากการปรับชดเชยแสง
  5. ต้องเล็งภาพไปในทิศทางเดียวกับหน้ากล้องทำให้ลำบากต่อการเล็งภาพเพื่อให้ได้ภาพมุมแปลก ๆ
  6. เห็นภาพได้ชัดแม้จะอยู่กลางแดดจ้า
  1. เปลืองพลังงานแบตเตอรี่มากกว่า
  2. มองเห็นภาพในขอบเขตเหมือนที่ถ่ายจริง 100%
  3. มองเห็นภาพทั้งออปติคอลซูมและดิจิทัลซูม
  4. มองเห็นภาพจากการปรับชดเชยแสงได้ทันที
  5. กล้องบางรุ่นจอภาพ LCD บิดทำมุมต่างๆได้ไม่จำเป็นต้องเล็งภาพไปในทิศทางเดียวกับหน้ากล้อง ทำให้สะดวกต่อการถ่ายภาพในมุมแปลก ๆ
  6. มองเห็นภาพที่จอ LCD ไม่ชัดในที่ที่มีแสงสว่างจ้า

    จากการการวิเคราะห์เปรียบเทียบจุดเด่น-จุดด้อยของการเล็งภาพจากช่องมองภาพกับจอ LCD จะเห็นได้ว่า ต่างก็มีทั้งจุดเด่น-จุดด้อย พอ ๆ กัน แต่เท่าที่พบนักถ่ายภาพจากกล้องดิจิทัลแบบคอมแพ็คส่วนใหญ่นิยมเล็งภาพจากจอภาพ LCD เพราะกล้องมีขนาดเล็กถือสะดวกและมองภาพจากจอภาพ LCD เห็นภาพใหญ่ดี นอกเสียจากว่าแบตเตอรี่ใกล้หมดจึงต้องเปลี่ยนมาเล็งภาพจากช่องมองภาพแทนแต่ในทางตรงกันข้ามกล้อง D-SLR ส่วนใหญ่นักถ่ายภาพกลับนิยมมองภาพจากช่องมองภาพเพราะมองชัดเจนดี และตัวกล้องมีขนาดใหญ่การมองด้วยช่องมองภาพช่วยทำให้จับถือกล้องขณะถ่ายได้นิ่งถนัดมือด้วย นอกเสียจากว่าเป็นกล้อง D-SLR ที่จอภาพ LCD ปรับหมุนได้ก็มีการเล็งภาพจากจอภาพ LCDบ้างในกรณีที่ต้องการถ่ายภาพในมุมที่แปลก ๆ เท่านั้น

สรุป

    พื้นฐานความรู้เบื้องต้นสำหรับการถ่ายภาพดิจิทัล เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อนำไปปรับใช้กับกล้องดิจิทัล ให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ พื้นฐานความรู้ที่สำคัญมีดังนี้

    ความเร็วชัตเตอร์ คือ ระยะเวลาที่กล้องเปิดม่านชัตเตอร์รับแสงเพื่อบันทึกภาพ จะบอกค่าเป็นตัวเลขเศษส่วนหน่วยเป็นวินาที เช่น 1/1000, 1/500, 1/125, 1/60, 1/30, 1/15, 1/8, 1/4, 1/2, และ 1 วินาทีแต่ละช่วงห่างกัน 1 Stop ดังนั้นความเร็วชัตเตอร์ 1/1000 วินาที ก็จะเร็วกว่า 1/500 วินาที 1 Stop เมื่อเร็วกว่าแสงก็จะผ่านเข้าสู่เซ็นเซอร์ได้น้อยกว่า ถ้าใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง คือ เปิด-ปิด ม่านชัตเตอร์เร็วมากจะสามารถหยุดการเคลื่อนไหวของวัตถุที่ถ่ายได้ ยิ่งวัตถุที่เราถ่ายมีการเคลื่อนไหวเร็วมากก็ยิ่งต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงมากขึ้นเพื่อหยุดการเคลื่อนไหวนั้น เช่น ภาพคนวิ่งเราอาจใช้ความเร็วชัตเตอร์แค่1/500 วินาที ก็หยุดคนวิ่งได้แล้ว แต่ถ้าเป็นรถแข่งกำลังวิ่งอย่างรวดเร็วเอาจต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงถึง 1/2000 วินาที จึงจะสามารถหยุดรถแข่งได้นิ่งสนิท ส่วนความเร็วชัตเตอร์ต่ำ คือเปิดม่านชัตเตอร์แล้วปิดม่านชัตเตอร์ช้า เช่น 1/8, 1/2, 1 วินาที จะทำให้เห็นการเคลื่อนไหวของวัตถุที่ถ่ายเป็นทางเบลอๆ และควรใช้ขาตั้งกล้องช่วย ถ้าถือกล้องด้วยมือจะทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาสั่นไหว

    รูรับแสง หรือหน้ากล้องเป็นไดอะแฟรม สามารถปรับความกว้างได้เพื่อควบคุมปริมาณแสงที่ผ่านไปสู่เซ็นเซอร์รับแสง รูรับแสงที่กว้างทำให้รับแสงได้มากและรวดเร็วกว่ารูรับแสงที่แคบ ช่วยให้ถ่ายภาพได้หลากหลายกว่าเลนส์ที่เปิดรูรับแสงได้แคบ ขนาดของรูรับแสงนั้นจะวัดเป็นหน่วย f-Stopหรือ f-Number เช่น f /1.4, f /2, f /2.8, f /4, f /5.6, f /8, f /11, f /16 และ f /22 แต่ละช่วงของขนาดรูรับแสงห่างกัน 1 Stop ค่า f-Number เป็นค่าอัตราส่วนระหว่างทางยาวโฟกัสของเลนส์ ต่อเส้นผ่าศูนย์กลางของช่องเปิดรูรับแสง ค่า f-Number ยิ่งมากขึ้น รูรับแสงจะยิ่งแคบลง ทำให้แสงผ่านเข้าไปยังเซ็นเซอร์ได้น้อย ในทางตรงกันข้าม ค่า f-Number ยิ่งน้อยลงรูรับแสงยิ่งกว้างมากขึ้น ทำให้แสงผ่านเข้าไปยังเซ็นเซอร์ได้มาก ดังนั้นถ้าถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/250 วินาที่ เปิดขนาดรูรับแสง f/8 แล้วภาพออกมาแสงสีสวยงามป็นปกติ ถ้าเปลี่ยนขนาดของรูรับแสงเป็น f/16 ก์จะทำให้ได้ภาพที่มืดไป เรียกว่าถ่าย Under หรือปลี่ยนขนาดรูรับแสงเป็น f/4 ภาพที่ได้ก็จะสว่างไปเรียกว่า ถ่าย Over ขนาดของรูรับแสงที่กว้างและแคบยังส่งผลต่อการถ่ายภาพในเรื่องของ ระยะชัดลึก ถ้า f-Number มีค่าน้อย จะทำให้
ได้ภาพที่มีลักษณะชัดตื้น หมายความว่า ถ้าเราโฟกัสไปที่วัตถุใดวัตถุหนึ่ง บริเวณที่ราโฟกัสจะคมชัดแต่บริเวณที่เลยออกไปทางด้านหลังและด้านหน้าจากสิ่งที่เราโฟกัสจะดูเบลอไม่คมชัด ถ้าเปิดรูรับแสงที่มีค่า f-Number มาก ภาพที่ได้จะมีลักษณะชัดลึก หมายความว่า เมื่อเราโฟกัสไปยังวัตถุที่จะถ่ายชัดแล้วบริเวณด้านหลังและด้านหน้าของวัตถุที่เราโฟกัสก็จะดูคมชัดด้วย

  ความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ ถ้าเปิดรูรับแสงกว้างแสงจะเข้าไปมากก็ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงเพื่อเปิด-ปิดให้แสงเข้าไปในระยะเวลาสั้นๆ ไม่เปิดให้แสงเข้าไปนานเกินไปก็จะได้ภาพที่มีสภาพแสงปกติ แต่ถ้าเราเปิดรูรับแสงแคบแสงจะเข้าได้น้อย ก็ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพื่อเปิดให้แสงเข้าไปเป็นเวลานานมากขึ้น ก็จะได้ภาพที่มีสภาพแสงปกติเช่นกัน

    ความไวแสง (ISO) หมายถึง ความไวต่อแสงของตัวเซ็นเซอร์ในกล้องดิจิทัล สามารถเร่งให้เซ็นเซอร์ไวต่อแสงมากหรือน้อยได้ เช่น เร่งจาก ISO 100 ไปเป็น 200, 400 ขึ้นไปได้เรื่อย ๆ สุดแล้วแต่ความสามารถของกล้องแต่ละตัว ค่า ISO แต่ละค่าจะมีความไวแสงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของค่าเดิม เช่น ISO 25, 50, 100, 200, 400, 800, 3200, 6400 ฯลฯ เป็นต้น ดังนั้นหากเราตั้งค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ไว้คงที่แต่เปลี่ยนค่า ISO ให้มากขึ้นหรือน้อยลง ภาพที่ได้ก็จะสว่างขึ้นหรือมืดลงตามไปด้วย

    การวัดแสง ก่อนถ่ายภาพต้องวัดแสงเพื่อทราบค่าแสงที่สะท้อนออกมาจากวัตถุที่จะถ่าย จึงจะถ่ายภาพได้แสงถูกต้อง กล้องดิจิทัลทุกตัวจะมีเซลวัดแสงติดมาด้วยเซลนี้จะวัดปริมาณแสงสะท้อนจากวัตถุแล้วนำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานทางอุตสาหกรรมการถ่ายภาพ คือ “ค่าการสะท้อนแสงของวัตถุสีเทา 18 %” หมายความว่า ถ้าวัตถุได้รับแสงไป 100 ส่วน จะสะท้อนกลับออกมา 18 ส่วนระบบวัดแสงจะยึดค่านี้เป็น “ค่ากลาง” เพื่อเปรียบเทียบกับสภาพแสงที่จะถ่ายภาพ ถ้าวัดแสงสะท้อนออกมามากกว่า 18 % แสดงว่าสว่างเกินไป ถ้าวัดแสงสะท้อนออกมาน้อยกว่า 18 % แสดงว่ามืดเกินไปถ้าวัดแสงสะท้อนได้ 18% ถือว่าได้แสงพอดี วัตถุบางสีมีการสะท้อนแสงใกล้เคียงกับสีเทา 18% เมื่อถ่ายภาพออกมาก็จะได้สีสันถูกต้องได้แสงพอดี แต่วัตถุบางสีมีการสะท้อนของแสงมากหรือน้อยกว่า18% ก็อาจมีปัญหาว่าวัดแสงพอดีแล้วกลับได้ภาพมืดไปหรือสว่างไปหรือมีสีสันเพี้ยนไป เช่น การถ่ายภาพที่มีวัตถุสีขาวเป็นฉากหลัง วัตถุสีขาวมีค่าการสะท้อนแสงมากกว่า 18 % ทำให้กล้องไปลดแสงลงจากปกติให้เหลือเพียง 18 % ทำให้สีขาวในภาพที่ถ่ายออกมากลายเป็นสีเทา 18 % ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง แต่ถ้าหากถ่ายภาพที่มีฉากหลังเป็นวัตถุสีดำมีค่าสะท้อนแสงน้อยกว่า 18 % ทำให้กล้องไปเพิ่มการรับแสงขึ้นจากปกติเพื่อให้ได้ค่าเท่ากับสีเทา 18 % ทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาสีดำกลายเป็นสีเทา18% ซึ่งไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงจึงต้องแก้ไขโดยการชดเชยแสง ถ้าวัตถุที่เราถ่ายมีพื้นที่ส่วนใหญ่หรือฉากหลังเป็นสีขาวให้ชดเชยแสงทางบวกโดยเปิดรูรับแสงให้กว้างมากขึ้น หรือใช้ความเร็วชัตเตอร์ให้ช้าลง หรือปรับค่า ISO ให้สูงขึ้น ส่วนจะชดเชย +2 หรือ +1 ก็แล้วแต่ความสว่างหรือความขาวและปริมาณพื้นที่ของสิ่งนั้นที่อยู่ในภาพ ถ้าวัตถุที่ถ่ายมีพื้นที่ส่วนใหญ่หรือฉากหลังเป็นสีดำให้ชดเชยแสงทางลบ โดยวิธีการหรี่รูรับแสงให้แคบลง หรือใช้ความเร็วชัตเตอร์ให้เร็วขึ้น หรือปรับค่า ISO ให้น้อยลง ส่วนจะชดเชย -2 หรือ-1 ก็แล้วแต่ความมืดหรือความดำและปริมาณพื้นที่ของสิ่งนั้นที่อยู่ในภาพระบบวัดแสงที่นิยมใช้กันมี 3 รูปแบบ คือ 1)ระบบวัดแสงแบบเฉลี่ยหลายส่วน 2)ระบบวัดแสงแบบเฉลี่ยกลางภาพ 3)ระบบวัดแสงเฉพาะจุด การวัดแสงทำให้เราทราบว่าควรเปิดขนาดรูรับแสงกว้างเท่าไรควรใช้ความเร็วชัตเตอร์เท่าใด จะตั้งค่า ISO เท่าไร จึงจะเหมาะสม

    การโฟกัสภาพ เป็นการปรับภาพวัตถุที่จะถ่ายให้คมชัดก่อนกดชัตเตอร์ มีทั้งระบบโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติ เพียงแต่กดปุ่มชัตเตอร์ลงไปครึ่งหนึ่งกล้องจะปรับโฟกัสภาพให้ชัดเอง โดยทั่วไปมี 2 ประเภท คือ 1)ระบบโฟกัสภาพจุดเดียว ระบบนี้จะปรับภาพให้ชัดที่สุดตรงกลางภาพ ใช้ได้ดีในสถานการณ์ทั่วไป หรือภาพที่ต้องการวางวัตถุหลักไว้กลางภาพ 2)ระบบโฟกัสภาพหลายจุด ระบบนี้จะมีจุดโฟกัสหลาย ๆ จุด อาจมี 5 จุด 9 จุด หรือ 11 จุด กระจายอยู่ภายในกรอบเฟรมที่เราจะถ่ายภาพเราสามารถเลือกจุดโฟกัสภาพได้เองโดยเลื่อนแถบแสดงตำแหน่งโฟกัสภาพไปยังตำแหน่งจุดดังกล่าวที่ต้องการโฟกัส ให้ผลดีในกรณีที่วางวัตถุหลักไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของภาพที่ไม่ใช่ตรงกลาง อีกระบบหนึ่งเป็นระบบโฟกัสภาพด้วยมือ มักพบในกล้อง D-SLR และในกล้องดิจิทัลคอมแพ็คระดับสูง ผู้ใช้สามารถปรับโฟกัสได้เองอย่างอิสระโดยหมุนวงแหวนที่ตัวเลนส์เพื่อโฟกัสให้ภาพชัด ใช้ได้ดีในการถ่ายภาพในสภาพแสงที่มีการตัดกันต่ำ และช่วยแก้ปัญหาข้อผิดพลาดจากการใช้ระบบโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติได้

    ความสมดุลของสีขาว คือ การทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาได้สีขาวที่เป็นสีขาวจริง ๆ ไม่ใช่สีขาวอมเทาหรือสีสีขาวอมเหลือง ทำได้โดยการตั้งค่า White Balance ให้ตรงกับสภาพแสงที่เราจะถ่าย เช่นตั้งค่า White Balance แบบ Auto กล้องจะปรับความสมดุลของสีขาวให้เองโดยอัตโนมัติ กล้องจะรู้เองว่าภาพที่เรากำลังจะถ่ายนั้นมีสภาพแสงที่เกิดจากแหล่งกำเนิดแสงชนิดใด แล้วกล้องก็จะปรับตามสภาพแสงให้เราทันที แบบ Daylight จะเหมาะกับสภาพแสงอาทิตย์ที่ถ่ายกลางแจ้งในวันที่อากาศสดใสช่วงเวลา 9.00 น.– 15.00 น. แบบ Tungsten เหมาะกับการถ่ายภาพในสถานที่ซึ่งใช้หลอดไฟแบบไส้หลอดกลม ๆ แบบ Cloudy เหมาะกับการถ่ายภาพในวันที่ท้องฟ้ามีเมฆมาก ครึ้มฟ้า ครึ้มฝนไม่มีแดดออก แบบ Fluorescent เหมาะกับการถ่ายภาพในอาคารด้วยแสงจากหลอด Fluorescent

    ช่องมองภาพ เมื่อมองผ่านช่องนี้ออกไปจะเห็นขอบเขตบริเวณและวัตถุที่จะถ่ายภาพ โดยไม่ต้องใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ กล้องดิจิทัลคอมแพ็คทั่ว ๆ ไป ภาพที่เรามองเห็นจากช่องมองภาพอาจมีความแตกต่างไปจากภาพที่บันทึกได้จริงจากเซ็นเซอร์ ซึ่งผู้ผลิตได้พยายามแก้ไขปัญหาการเหลื่อมของภาพ ด้วยการพิมพ์เส้นไกด์ที่มีลักษณะโปร่งใสลงบนช่องมองภาพเพื่อแสดงขอบเขตบริเวณที่ภาพจะบันทึกได้จริงไว้ให้ผู้ถ่ายภาพใช้เป็นแนวทางในการจัดองค์ประกอบภาพให้อยู่ภายในกรอบเส้นไกด์นั้นแต่สำหรับกล้อง D-SLR แสงจากวัตถุที่เราจะถ่ายจะพุ่งเข้าสู่เลนส์แล้วสะท้อนกระจกส่งภาพขึ้นไปสู่ช่องมองภาพ ภาพที่ถ่ายได้จึงเหมือนกับภาพที่มองจากช่อง มองภาพ แต่ก็มองเห็นเพียง 96 % ยังไม่ครบ 100 % ดังนั้นเวลาจัดองค์ประกอบภาพก็ต้องเผื่อบริเวณที่ช่องมองภาพมองไม่เห็นไว้ด้วย

    จอภาพ LCD ภาพที่เราเห็นเป็นภาพจริงจากตัวเซ็นเซอร์ เนื่องจากกล้องดิจิทัลจะนำข้อมูลจากตัวเซ็นเซอร์มาปรับค่าต่าง ๆ ตามที่ตั้งไว้แล้วแสดงให้เห็นทางจอภาพ LCD ดังนั้นเราจึงสามารถจัดองค์ประกอบภาพให้เหมาะสมและปรับสภาพแสงให้มีความสว่างหรือมืดได้ตามต้องการ แล้วจึงกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ

พื้นฐานความรู้เหล่านี้จะทำให้ผู้อ่านเรียนรู้ขั้นตอนการถ่ายภาพในบทต่อไป เข้าใจได้ง่ายขึ้น

(บทที่ 2) การเลือกใช้เลนส์และอุปกรณ์เสริมเพื่อการถ่ายภาพดิจิทัล

บทที่ 2
การเลือกใช้เลนส์และอุปกรณ์เสริมเพื่อการถ่ายภาพดิจิทัล

    เลนส์เป็นส่วนที่สำคัญมากส่วนหนึ่งของกล้องดิจิทัล เปรียบเสมือนดวงตาของกล้องถ่ายภาพ แสงที่สะท้อนจากวัตถุจะผ่านเลนส์เข้าไปยังเซ็นเซอร์รับภาพ ทำให้เกิดภาพในลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทของเลนส์ เลนส์แต่ละประเภทจะเหมาะกับการถ่ายภาพที่แตกต่างกัน ถ้าชอบภาพทิวทัศน์ก็ต้องเลือกเลนส์ที่ถ่ายได้ในมุมกว้าง ถ้าชอบถ่ายภาพแมลงต่าง ๆ ก็ต้องเลือกเลนส์สำหรับถ่ายภาพระยะใกล้ ๆ โดยทั่วไปกล้องคอมแพ็คจะมีเลนส์ที่ติดมากับตัวกล้องถอดเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้จึงต้องเลือกกล้องที่มีเลนส์ที่ให้มาเหมาะกับการถ่ายภาพในลักษณะที่เราชอบ แต่สำหรับกล้อง D-SLR สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ ทำให้เราสามารถเลือกใช้เลนส์ได้หลายประเภทตามลักษณะภาพที่เราต้องการ นอกจากนี้ในการถ่ายภาพดิจิทัลนั้นอุปกรณ์เสริม เช่น ฟิลเตอร์ ขาตั้งกล้อง สายลั่นชัตเตอร์ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกสบายให้กับการถ่ายภาพได้มาก ดังนั้นในบทนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเลนส์และอุปกรณ์เสริมเพื่อการถ่ายภาพดิจิทัลกัน เพื่อเลือกใช้ให้เหมาะกับงานถ่ายภาพของเรา

ความหมายของสัญลักษณ์ที่หน้าเลนส์หรือตัวเลนส์
ที่หน้าเลนส์หรือที่ตัวเลนส์ของกล้องดิจิทัล จะมีตัวเลขและตัวอักษรเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว เลนส์ ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้แสดงให้ทราบถึงคุณสมบัติของเลนส์และยี่ห้อของเลนส์ตัวนั้น ดังนี้

 

  • ยี่ห้อของเลนส์ (Name of Lens) กล้องดิจิทัลที่ใช้เลนส์ที่มีคุณภาพมักจะบอกยี่ห้อของชิ้น
    เลนส์ไว้ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในด้านคุณภาพของเลนส์ เช่น Nikkor Lens, Canon
    Lens, Carl Zeiss Lens, Leica Lens, Schneider Lens ฯลฯ เป็นต้น
  • ทางยาวโฟกัส (Focal Length) หมายถึง ระยะความห่างจากเลนส์ไปถึงเซ็นเซอร์รับภาพ
    ซึ่งเป็นระยะที่สั้นที่สุดที่ทำให้ปรากฏภาพบนเซ็นเซอร์รับภาพชัดเจน โดยจะบอกเป็น
    ตัวเลขตามหลังด้วยหน่วยวัดระยะเป็นมิลลิเมตร (mm) เช่น 50 mm , 105 mm ตัวเลข
    เหล่านี้ ถ้าบอกมาเพียงค่าเดียว เช่น 50 mm แสดงว่าเลนส์ตัวนั้นมีทางยาวโฟกัส 50 mm
    ไม่สามารถเปลี่ยนระยะทางยาวโฟกัสได้เรียกว่า “เลนส์ฟิกซ์” (Fix Lens) แต่ถ้าตัวเลขนั้น
    บอกเป็นลักษณะของช่วงความยาวโฟกัส เช่น 18 – 105 mm เรียกว่าเลนส์ซูม (Zoom Lens)
    สามารถเลือกระยะทางยาวโฟกัสในการถ่ายภาพได้ตามช่วงที่บอกไว้ เลนส์ที่มีทางยาว
    โฟกัสสั้นจะสามารถรับภาพได้ในมุมกว้าง ส่วนเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสยาวจะสามารถรับ
    ภาพระยะไกล ๆ ได้ดี แต่มุมรับภาพจะแคบ
  • ขนาดรูรับแสง (Aperture range) เป็นขนาดของการเปิดรูรับแสงเพื่อให้แสงผ่านเข้าไปยัง
    เซ็นเซอร์รับภาพ โดยตัวเลขที่บอกไว้คือขนาดรูรับแสงที่กว้างที่สุดที่เลนส์สามารถเปิดได้
    เช่น ระบุว่า 1 : 2.8 นั่นก็คือเปิดรูรับแสงได้กว้างสุด 2.8 เลนส์บางตัวบอกขนาดรูรับแสง
    เป็นช่วงเช่น 1 : 3.5 – 4.5 ซึ่งจะใช้ควบคู่กับเลนส์ที่บอกทางยาวโฟกัสเป็นช่วง เช่น
    18 – 105 mm หมายความว่า ถ้าเราถ่ายภาพที่ทางยาวโฟกัส 18 mm เราจะเปิดรูรับแสงได้
    กว้างสุด 3.5 แต่ถ้าเราถ่ายภาพที่ทางยาวโฟกัส 105 mm เราจะเปิดหน้ากล้องได้กว้างที่สุด
    4.5 มีเลนส์บางตัวบอกทางยาวโฟกัสไว้เป็นช่วง แต่บอกขนาดขนาดรูรับแสงไว้เพียง
    ค่าเดียว เช่น 24 – 70 mm 1 : 2.8 หมายความว่าไม่ว่าจะถ่ายภาพที่ระยะ 24 mm หรือ
    70 mm ก็ยังสามารถเปิดขนาดรูรับแสงได้กว้างสุด 2.8 ค่าเดียวตลอดช่วงทางยาวโฟกัส

ธรรมชาติของเลนส์และการเลือกใช้งาน
การเลือกใช้เลนส์โดยทั่วไปแล้วจะเป็นเรื่องของกล้องประเภท D-SLR เพราะเป็นกล้องที่เรา
สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ แต่ถึงแม้กล้องดิจิทัลแบบคอมแพ็คจะมีเลนส์ติดมากับตัวกล้องถอดเปลี่ยน
ไม่ได้ แต่ก็จะบอกทางยาวโฟกัสและขนาดรูรับแสงมาให้ทราบ ทำให้เราสามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับ
งานหรือตรงกับความต้องการของเราได้เช่นกัน ก่อนที่เราจะเลือกใช้เลนส์ประเภทใดนั้นควรทำความ
รู้จักกับเลนส์และลักษณะของภาพที่ถ่ายได้จากเลนส์แต่ละประเภทกันก่อน เพื่อจะได้ตัดสินใจเลือกใช้
เลนส์ได้ถูกต้องเหมาะสมกับงาน ดังนี้

ประเภทของเลนส์
เราสามารถแบ่งเลนส์ออกเป็นกลุ่มตามช่วงของทางยาวโฟกัส ซึ่งเป็นตัวบอกให้ทราบถึงองศา
ในการรับภาพ (มุมรับภาพ) โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ดังนี้ (ปิยะฉัตร แกหลง, 2551 : 61-65)

  • เลนส์มุมกว้าง (Wide Angle Lens) เป็นเลนส์ที่สามารถรับภาพได้ในมุมที่กว้าง ส่วนใหญ่มักมี
    ทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 35mm ลงไป ยิ่งทางยาวโฟกัสสั้นมากเท่าไรก็ยิ่งทำให้สามารถรับภาพได้ในมุมที่
    กว้างมากขึ้น ถ้าเป็นเลนส์ซูมมักจะมีทางยาวโฟกัสช่วงประมาณ 24 – 35 mm เลนส์ประเภทนี้จะให้
    ระยะชัด (Depth of Field) ค่อนข้างมากหรือที่เรียกกันว่าชัดลึก กล่าวคือจะทำให้ภาพมีความชัดเจน
    ตั้งแต่ฉากหน้าไปจนถึงฉากหลัง จึงเหมาะแก่การถ่ายภาพทิวทัศน์และเหมาะแก่การถ่ายภาพในที่แคบ
    ที่มีเนื้อที่จำกัดไม่สามารถถอยหลังห่างออกไปเพื่อเก็บภาพได้หมด นั่นหมายถึงถ้าเราใช้เลนส์ที่มี
    ทางยาวโฟกัส 50 mm ถ่ายภาพในที่แคบจะเก็บภาพไม่หมดเพราะเราถอยหลังห่างออกไปไม่ได้ แต่ใน
    ตำแหน่งเดียวกันนี้เลนส์มุมกว้างสามารถเก็บภาพได้หมด เลนส์ประเภทนี้หากมีทางยาวโฟกัสต่ำกว่า
    24 mm จัดเป็นเลนส์มุมกว้างมากจะเก็บภาพได้กว้างมากขึ้นแต่มีข้อเสียคือภาพที่ออกมาอาจบิดเบี้ยว
    ได้ง่าย

  • เลนส์มาตรฐาน (Normal Lens) เป็นเลนส์ที่มีมุมรับภาพใกล้เคียงกับที่ตาคนเรามองเห็น มีทาง
    ยาวโฟกัสประมาณ 50 mm ถ้าเป็นเลนส์ซูมก็จะมีทางยาวโฟกัสระหว่าง 35 – 70 mm เป็นเลนส์ที่แทบ
    ไม่ก่อให้เกิดความผิดเพี้ยนของภาพ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพทั่วไป เช่น ภาพบุคคล ภาพเหตุการณ์
    และวิถีชีวิตทั่ว ๆ ไป เลนส์ประเภทนี้มักมีรูรับแสงค่อนข้างกว้าง จึงสามาถถ่ายภาพได้ในที่มีแสงสว่าง
    น้อย

  • เลนส์ถ่ายไกล (Telephoto Lens) เป็นเลนส์ที่สามารถดึงภาพจากระยะไกลให้ใกล้เข้ามา ทำให้
    สามารถถ่ายภาพในสถานที่ที่เราไม่สามารถเข้าไปใกล้สิ่งที่จะถ่ายได้ เช่น การแข่งขันกีฬา สัตว์ป่า และ
    นก ฯลฯ เป็นต้น เลนส์ประเภทนี้มีมุมรับภาพแคบและมีระยะชัดน้อยหรือที่เรียกกันว่าชัดตื้น ทำให้ฉาก
    หลังที่อยู่ไกลออกไปจากสิ่งที่ถ่าย เบลอ ไม่คมชัด สิ่งที่ถ่ายจะดูเด่นขึ้น ทางยาวโฟกัสของเลนส์ประเภท
    นี้มักจะมีค่ามากกว่า 80 mm ขึ้นไป ยิ่งมีค่ามากเท่าไรก็ยิ่งรับภาพได้มุมแคบลงหรือเรียกว่าซูมภาพ
    เข้ามาได้มากขึ้น หากเป็นเลนส์ถ่ายไกลพิเศษอาจมีทางยาวโฟกัสมากถึง 800 – 2000 mm เช่น เลนส์
    สำหรับถ่ายภาพดวงดาว เป็นต้น

ถ้าพิจารณาตามลักษณะพิเศษของเลนส์ สามารถแบ่งเลนส์ออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้อีก เช่น

  • เลนส์ตาปลา (Fisheye Lens) เป็นเลนส์มุมกว้างชนิดพิเศษ
    มีทางยาวโฟกัสประมาณ 4 – 16 mm สามารถรับภาพได้กว้างถึง
    180 องศา ภาพที่ออกมาจะมีลักษณะโค้งเบี้ยว ๆ ดูแล้วแปลกตาดี

  • เลนส์มาโคร (Macro Lens) เป็นเลนส์ที่สามารถ ถ่ายภาพได้ในระยะใกล้พิเศษ อาจเข้าไปถ่ายได้ใกล้ถึง 1-2 ซม.
    จากวัตถุที่จะถ่ายเลยทีเดียว ทำให้ได้ภาพวัตถุที่มีขนาดใหญ่ เลนส์ประเภทนี้เหมาะสำหรับใช้ถ่ายภาพวัตถุเล็ก ๆ ให้เห็น
    รายละเอียดชัดเจน เช่น ภาพแมลง ดอกไม้ เครื่องประดับ และ ยังสามารถใช้ถ่ายภาพทั่วไปได้เช่นเดียวกับเลนส์ประเภทอื่น ๆ
    ที่มีทางยาวโฟกัสเท่ากัน เลนส์มาโครจะบอกอัตราขยายภาพไว้เป็นสัดส่วนของขนาดวัตถุที่ปรากฏบนเซ็นเซอร์ : ขนาด
    ของวัตถุจริง เช่น เลนส์อัตราขยาย 1:1 หมายถึงหากวัตถุมีขนาด 1 ซม. เมื่อเข้าไปถ่ายใกล้วัตถุที่สุดภาพที่ไปตกบน
    เซ็นเซอร์ก็จะมีขนาด 1 ซม. เท่ากัน แต่ถ้ากำหนดอัตราขยายเป็น 1:2 ภาพที่ไปตกบนเซ็นเซอร์จะมี
    ขนาด 0.5 ซม. เลนส์ประเภทนี้มีทางยาวโฟกัสได้หลายค่า เช่น 50 , 85 , 100 mm เป็นต้น ซึ่งทางยาว
    โฟกัสจะมีผลต่อการเข้าใกล้วัตถุเพื่อให้ได้ภาพที่มีขนาดเท่าที่ต้องการ เช่น เลนส์มาโครที่มีทางยาว
    โฟกัส 50 mm ก็จะต้องเข้าใกล้วัตถุมากกว่าเลนส์มาโครที่มีทางยาวโฟกัส 100 mm เพื่อให้ได้ภาพวัตถุ
    ที่มีขนาดเท่ากัน

 

  • เลนส์ซูม (Zoom Lens) เป็นเลนส์ที่สามารถเปลี่ยนทางยาวโฟกัสได้หลาย ๆ ค่าภายในตัวมัน
    เอง ทำให้สะดวกต่อการใช้งานแต่ประสิทธิภาพสู้เลนส์ฟิกซ์ (เลนส์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนทางยาวโฟกัส)
    ไม่ได้เมื่อเปรียบเทียบภาพถ่ายที่ออกมา ณ ตำแหน่งทางยาวโฟกัสเดียวกัน เลนส์ชนิดนี้มีช่วงทางยาว
    โฟกัสให้เลือกหลายช่วง เช่น เลนส์ซูมช่วงถ่ายภาพมุมกว้าง 24–50 mm เลนส์ซูมช่วงถ่ายภาพ
    ระยะไกลขนาด 80-200 mm และเลนส์ซูมช่วงถ่ายภาพมุมกว้างไปจนถึงถ่ายภาพระยะไกล เช่น
    24–105 mm , 28–200 mm สุดแท้แต่ทางผู้ผลิตจะออกแบบมา

 

  • เลนส์ในกล้องดิจิทัลคอมแพ็ค จะเป็นเลนส์ซูมเป็นส่วนใหญ่ และจะเขียนบอกทางยาวโฟกัสไว้
    2 ค่า ที่หน้าเลนส์เหมือนกัน แต่ค่าที่เขียนมักเป็นเลขจำนวนที่น้อย เช่น 6.3–18.9 mm นั่นเป็นเพราะ
    เซ็นเซอร์รับภาพในกล้องดิจิทัลประเภทคอมแพ็ค มีขนาดเล็กกว่ากล้องใช้ฟิล์ม จึงต้องใช้เลนส์ที่มีทางยาว
    โฟกัสสั้นกว่ากล้องใช้ฟิล์มในการปรับแสงให้ตกพอดีกับเซ็นเซอร์รับภาพ แต่เมื่อคนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับค่า
    ของกล้องที่ใช้ฟิล์ม ผู้ผลิตกล้องดิจิทัลจึงมักเขียนไว้ในคู่มือว่าทางยาวโฟกัสจริงของเลนส์นั้นเทียบเท่ากับ
    กล้องใช้ฟิล์ม 35 mm ช่วงที่เท่าไร

นอกจากนี้กล้องดิจิทัลแบบคอมแพ็คส่วนใหญ่ นิยมบอก ความสามารถในการ
เปลี่ยนทางยาวโฟกัส หรือความสามารถในการซูม เป็นจำนวนเท่า (X) เช่น 3X, 4X,
10X เป็นต้น แต่กล้องที่มีความสามารถในการซูม ที่บอกเป็นจำนวน X เท่ากัน เช่น ซูม
ได้ 3X เท่ากันอาจจะมีทางยาวโฟกัสไม่เท่ากัน เพราะความสามารถในการซูม 3X ได้มาจากการนำค่า
ทางยาวโฟกัสสูงที่สุดเป็นตัวตั้งแล้วหารด้วยค่าทางยาวโฟกัสต่ำที่สุด เช่น กล้อคอมแพ็คของ Canon มี
ทางยาวโฟกัส 7.8-23.4 mm ก็นำ 23.4 เป็นตัวตั้งแล้วหารด้วย 7.8 เท่ากับ 3 นั่นคือสามารถซูมขยายภาพ
ได้ 3 เท่า หรือ 3X นั่นเอง ส่วนกล้อง SONY มีทางยาวโฟกัส 5.8-17.4 mm ก็นำ 17.4 ตั้งแล้ว
หารด้วย 5.8 เท่ากับ 3 นั่นคือสามารถซูมได้ 3 เท่า หรือ 3X นั่นเอง แสดงให้เห็นว่าถึงแม้จะ
มีความสามารถในการซูม 3X  เท่ากัน แต่มีทางยาวโฟกัสไม่เท่ากัน ดังนั้นเวลาเลือกซื้อ
กล้อง อย่าดูแต่ความสามารถในการซูม(X) เท่านั้น ให้ดูช่วงทางยาวโฟกัสประกอบด้วยว่าตรงกับความต้องการของเราหรือไม่

การซูมแบบออฟติคอล (Optical Zoom) และการซูมแบบดิจิทัล (Digital Zoom)

  • การซูมแบบออฟติคอล
    เป็นการซูมโดยมีการเคลื่อนไหวของชิ้นเลนส์ภายในตัวเลนส์เพื่อเปลี่ยนทางยาวโฟกัส บางที
    เรียกว่า “ซูมเลนส์” ภาพที่ได้จะเป็นภาพที่เกิดจากการซูมจากเลนส์จริงๆ จึงมีคุณภาพเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์
    ถึงแม้จะซูมเข้าไปมาก ๆ เพื่อถ่ายภาพ ก็ยังคงเห็นรายละเอียดชัดเจนภาพไม่แตก ดังนั้นในการเลือกซื้อ
    กล้องดิจิทัลต้องดูด้วยว่ากล้องตัวนั้นสามารถซูมแบบ Optical ได้กี่ X เป็นสำคัญถ้ามีค่าสูง ๆ ยิ่งซูม
    ได้มาก เช่น 4X จะซูมเข้าใกล้ได้มากกว่า 3X เป็นต้น
  • การซูมแบบดิจิทัล
    เป็นการซูมที่เกิดจากการทำงานของซอฟต์แวร์ในกล้อง โดยนำภาพที่ได้จากการซูมแบบ
    ออฟติคอลมาขยายให้ใหญ่ขึ้น ทำให้ดูเหมือนว่าสามารถซูมภาพได้มากขึ้น ภาพที่ได้จึงมีคุณภาพไม่ค่อย
    ดีและไม่คมชัดเท่ากับการซูมแบบออฟติคอล การซูมแบบนี้จึงไม่เป็นที่นิยมใช้เท่าไรนักนอกจากจำเป็น
    จริง ๆ กล้องดิจิทัลประเภทคอมแพ็คบางรุ่นจะบอกแต่ค่าดิจิทัลซูมเท่านั้น ซึ่งจะมีตัวเลขสูงเพื่อให้ดูว่า
    ซูมได้มาก เช่น 14X ดังนั้นจึงควรตรวจสอบให้ดีว่ากล้องดิจิทัลตัวนี้ซูมแบบออฟติคอลได้เท่าไร
    และซูมแบบดิจิทัลได้เท่าไร ก่อนที่จะเลือกนำมาใช้

ระบบป้องกันภาพสั่นไหว
การสั่นไหวของภาพอาจเกิดขึ้นเมื่อต้องถือกล้องถ่ายด้วยมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ความเร็ว
ชัตเตอร์ต่ำ ๆ ระบบป้องกันภาพสั่นไหวจะเข้ามาช่วยไม่ให้เกิดอาการดังกล่าวได้บ้างถ้ามือสั่นไม่มาก
ดังนั้นเวลาถ่ายภาพมือต้องนิ่ง ถ้าใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำมาก ๆ ก็ต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วย ระบบป้องกัน
ภาพสั่นไหวมีทั้งในกล้องดิจิทัลประเภท D-SLR และประเภทคอมแพ็ค ซึ่งมีอยู่ 2 รูปแบบ ดังนี้

  1. ระบบป้องกันภาพสั่นไหวโดยการขยับชิ้นเลนส์ เป็นระบบที่อาศัยตัวเซ็นเซอร์วัดความเร็ว
    เชิงมุมของการสั่นจำนวน 2 ตัว ทำหน้าที่วัดการขยับหรือการสั่นไหวในแนวนอน 1 ตัว
    และวัดการขยับหรือการสั่นไหวในแนวดิ่งอีก 1 ตัว ซึ่งจะทำให้ทราบว่าขณะนั้นเลนส์มี
    การสั่นไหวไปในทิศทางใด จากนั้นระบบคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วภายในระบบป้องกัน
    ภาพสั่นไหวในตัวเลนส์ ก็จะสั่งการระบบขับเคลื่อนชิ้นเลนส์ให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่
    ชดเชยกับอาการสั่นไหวที่มันตรวจพบ ซึ่งจะทำให้แสงที่ผ่านเลนส์ไปนั้นยังคงตกลงที่เดิม
    เมื่อแสงตกกระทบที่เดิมจะทำให้ภาพดู
    เหมือนว่าไม่มีการสั่นไหวเกิดขึ้น
  2. ระบบป้องกันการสั่นไหวของภาพโดยขยับเซ็นเซอร์รับภาพภายในตัวกล้อง
    ระบบนี้แทนที่จะใช้การขยับชิ้นเลนส์เพื่อชดเชยอาการสั่นของกล้อง แต่กลับ
    ใช้วิธีขยับตัวเซ็นเซอร์รับภาพ ให้อยู่ในตำแหน่งที่รับภาพได้นิ่ง ๆ แทน

มอเตอร์ออโต้โฟกัส

ในกระบอกตัวเลนส์ถ่ายภาพ จะมีการเคลื่อนไหวชิ้นเลนส์ในลักษณะเข้า-ออกเพื่อปรับโฟกัส
ปัจจุบันการถ่ายภาพจะเป็นระบบโฟกัสแบบอัตโนมัติ (Auto Focus) ดังนั้นภายในกระบอกตัวเลนส์จึง
มีมอเตอร์ขนาดเล็กคอยขับเคลื่อนชิ้นเลนส์ โดยกล้องจะส่งคำสั่งไปยังมอเตอร์เพื่อขับเคลื่อนชิ้นเลนส์
ดังกล่าวให้โฟกัสภาพได้ชัดเจน

การเคลือบผิวเลนส์ (Coating)

การเคลือบผิวเลนส์ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากสำหรับเลนส์ที่ถ่ายภาพด้วยระบบดิทัล เพราะ
ถ้าหากไม่มีการเคลือบผิวเลนส์หรือเคลือบไม่ดี จะทำให้เกิดการสะท้อน (Reflect) ที่ผิวเลนส์กลับไป
กลับมา เพราะในกระบอกตัวเลนส์มีชิ้นเลนส์มากกว่า 1 ชิ้น นอกจากนี้ที่ผิวของตัวเซ็นเซอร์รับภาพเอง
ก็ยังสามารถสะท้อนแสงกลับมาหาเลนส์ชิ้นหลัง แล้วเกิดการสะท้อนย้อนกลับเข้าไปในกระบอกตัว
เลนส์ได้อีก ทำใหภ้ าพที่ถ่ายออกมามีลักษณะเปน็ วงสีสว่างหลาย ๆ วงปรากฏขึ้นในภาพ เราเรียกวา่ เกิด
อาการโกสท์ (Ghost) และแฟลร์ (Flare) ขึ้นในภาพ ทำให้คุณภาพของภาพเสียไป
การเคลือบผิวเลนส์ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ เช่น การเคลือบผิวเลนส์แบบ Nano ของ
เลนส์ค่าย Nikon ใช้ระบบเทคโนโลยีในการจัดการเคลือบผิวด้วยความละเอียดในระดับอนุภาคโมเลกุล
เน้นความสำคัญของช่องว่างระหว่างโมเลกุลที่เคลือบผิวอยู่ ทำให้แสงเดินทางผ่านเข้าไปได้ดีขึ้น ลดการ
สูญเสียของปริมาณแสงที่จะหายไปจากการสะท้อนกลับ และช่วยลดดัชนีการหักเหของแสงทำให้แสง
ผ่านชิ้นเลนส์ไปตกกระทบที่เซ็นเซอร์รับภาพได้อย่างมีคุณภาพ

ชิ้นเลนส์

คุณภาพของภาพถ่ายที่ออกมานั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสี การรักษาคุณภาพของแสง เกิดขึ้น
จากการใช้เลนส์ที่มีชิ้นเลนส์ที่มีคุณภาพ เพราะชิ้นเลนส์แต่ละชิ้นกว่าจะผลิตออกมาได้ต้องผ่านการ
คำนวณทางคณิตศาสตร์และการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์กันอย่างหนักหน่วงทั้งวัสดุ และการทำให้ได้
รูปร่างออกมาเป็นชิ้นเลนส์ ซึ่งเลนส์บางตัวอาจจะมีชิ้นเลนส์ประกอบกันถึง 10 ชิ้น ภาพที่ถ่ายออกมา
จากเลนส์ที่ทำมาจากชิ้นเลนส์ที่ดีกับชิ้นเลนส์ธรรมดา เราสามารถมองเห็นถึงความแตกต่างของภาพได้
อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสี ความนุ่มนวล ความมีมิติ และความสมจริง ความมีชีวิตชีวาของภาพ

อุปกรณ์เสริมสำหรับกล้องดิจิทัล

อุปกรณ์เสริมสำหรับกล้องดิจิทัล เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกสบาย
ให้กับการถ่ายภาพได้มากมาย อุปกรณ์เสริมบางอย่างไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อในทันทีที่ซื้อกล้อง เพราะ
อุปกรณ์บางชิ้นเป็นอุปกรณ์เพิ่มความสามารถให้กับกล้อง ซึ่งผู้ใช้จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญทางการ
ถ่ายภาพมากพอสมควร จึงจะสามารถเลือกซื้ออุปกรณ์เสริมเหล่านั้นมาใช้ให้ตรงกับความต้องการและ
ตรงตามวัตถุประสงค์ของการถ่ายภาพได้ อุปกรณ์เสริมสำหรับกล้องดิจิทัลที่น่าสนใจมีดังนี้

อุปกรณ์เพิ่มประสิทธิภาพให้กับเลนส์ของกล้องดิจิทัลคอมแพ็ค

  1. Adaptor Tube เป็นท่อที่ต่อครอบลงไปด้านหน้าเลนส์ของกล้อง (ใช้เฉพาะกับกล้องดิจิทัล
    คอมแพ็ค) เพื่อให้สามารถใส่อุปกรณ์เสริมสำหรับเลนส์ได้ เช่น ฟิลเตอร์ หรือ Conversion Lens
  2. Conversion Lens ใช้สำหรับเพิ่มขีดความสามารถให้กับเลนส์ที่มีอยู่แล้วโดยจะใส่ไว้หน้า
    เลนส์เพื่อช่วยเพิ่มหรือลดทางยาวโฟกัส ทำให้ได้มุมรับภาพที่กว้างขึ้นหรือแคบลง โดยไม่ทำให้เกิดการ
    สูญเสียแสงในเลนส์ Conversion Lens มี 2 ชนิด คือ
  • Wide Conversion Lens (WC) ใช้ครอบที่หน้าเลนส์เพื่อเพิ่มมุมมองของภาพให้กว้าง
    ออกไปมากกว่าปกติ โดยจะระบุเป็นตัวคูณ เช่น WC 0.7X หมายความว่าเมื่อเรา
    ใส่อุปกรณ์ตัวนี้ ก็จะลดระยะการซูมให้น้อยลง กลายเป็น 0.7 เท่า เช่น ใช้ครอบด้านหน้า
    ของกล้องดิจิทัลที่มีเลนส์ซูมระยะ 3X อยู่แล้วก็จะกลายเป็น 3×0.7 = 2.1X ทำให้ได้
    มุมมองที่กว้างขึ้น
  • Tele Conversion Lens (TC) ใช้ครอบที่หน้าเลนส์เพื่อเพิ่มระยะการซูมให้ไกลขึ้น โดยจะ
    ระบุเป็นตัวคูณ เช่น TC 1.4X หมายความว่า เมื่อเราใส่อุปกรณ์ตัวนี้จะทำให้เพิ่มระยะ
    การซูมออกไปได้อีก 1.4 เท่า เช่นใช้ครอบด้านหน้าของกล้องดิจิทัลที่มีเลนส์ซูมระยะ 3X
    อยู่แล้ว ก็จะกลายเป็น 3 × 1.4 = 4.2 X ทำให้ซูมได้ไกลขึ้น

ฟิลเตอร์ (Filter)

ฟิลเตอร์ เป็นแก้วหรือพลาสติกโปร่งใสที่ใช้ครอบหน้าเลนส์เพื่อช่วยลดน้ำหนักของแสงให้ดู
สวยงาม ช่วยเพิ่มสีของวัตถุให้ดูอิ่มขึ้นหรือทำให้ต่างออกไปจากธรรมชาติก็ได้ เราต้องเลือกขนาด
ฟิลเตอร์ให้เหมาะกับเลนส์ของเรา ขนาดที่ว่านี้คือเส้นผ่าศูนย์กลางของเลนส์ที่เราใช้ (เลนส์แต่ละรุ่นอาจ
มีขนาดหน้าเลนส์ไม่เท่ากัน ถึงแม้จะผลิตมาจากบริษัทเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน หรือมีระยะโฟกัสเท่ากัน)
ซึ่งที่ตัวเลนส์จะเขียนบอกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเอาไว้ว่าเลนส์ของเรามีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าไร ก็
ต้องใช้ฟิลเตอร์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากัน ฟิลเตอร์มีมากหลายชนิด ที่สำคัญ ๆ มีดังนี้

  • ฟิลเตอร์ยูวี (UV Filter) เป็นฟิลเตอร์สำหรับถ่ายภาพกลางแจ้งหรือในที่ที่มีแสงสะท้อน
    มาก ๆ ฟิลเตอร์ตัวนี้จะช่วยตัดรังสีอุลตร้าไวโอเล็ต ซึ่งเป็นตัวทำให้ภาพออกสีม่วงเวลา
    ถ่ายภาพในที่แดดจัด ๆ ฟิลเตอร์ยูวีจะไม่มีผลต่อค่าแสงที่ได้ไม่ว่าจะใส่หรือถอดฟิลเตอร์
    ออกจะมีค่าเท่ากัน โดยทั่วไปจึงนิยมใส่ฟิลเตอร์ยูวีไว้เพื่อป้องกันหน้าเลนส์มากกว่าที่
    จะต้องการผลที่เกิดขึ้นกับภาพ
  • ฟิลเตอร์ C-PL (Circular Polarize Filter) เป็นฟิลเตอร์ที่เหมาะกับการถ่ายภาพทิวทัศน์
    ช่วยทำให้ภาพทิวทัศน์ที่ถ่ายออกมาดูสวยสดงดงามกว่าปกติเป็นอย่างมาก เช่น ทำให้
    ท้องฟ้าส่วนที่เป็นสีฟ้าดูเข้มขึ้น ช่วยทำให้ก้อนเมฆดูเป็นปุยขาวสวยงามมากขึ้น ดอกไม้
    ใบไม้ดูสดใสกว่าปกติ ถ้าถ่ายพื้นน้ำทะเลจะดูสีสันสดใสมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยตัดแสง
    สะท้อนบนผิววัตถุได้อีกด้วย วิธีใช้งาน
    ฟิลเตอร์ C-PL ให้มีประสิทธิภาพนั้นต้อง
    ฝึกฝนพอสมควร เนื่องจากฟิลเตอร์ C-PL
    ประกอบด้วยกระจก 2 ชั้นอยู่ในวงแหวน ชั้น
    หน้าสุดจะหมุนได้รอบ ถ้าจะถ่ายภาพท้องฟ้า
    โดยใช้ฟิลเตอร์ C-PL เวลาถ่ายพยายามให้
    ดวงอาทิตย์อยู่ด้านข้างตัวเราจะได้ผลดี แล้ว
    จึงค่อย ๆ หมุนฟิลเตอร์ C-PL ให้ได้สีท้องฟ้าเข้มตามต้องการ

 

  • ฟิลเตอร์ลดทอนแสง ND Filter เป็นฟิลเตอร์สีเทาช่วยในการลดแสงสว่างที่จะผ่านเลนส์
    เข้าไปโดยไม่ทำให้โทนสีของภาพเปลี่ยน จึงเรียกว่า Neutral Density (ND) โดยที่ Neutral
    แปลว่าเป็นกลางสีไม่เปลี่ยน ส่วนคำว่า Density แปลว่าความเข้ม หมายถึง ทำหน้าที่ในการ
    ลดแสงที่จะผ่านเข้าไปในเลนส์ให้น้อยกว่าปกติ ใช้ในกรณีที่ต้องการถ่ายภาพด้วยความเร็ว
    ชัตเตอร์ต่ำแต่แสงสว่างมากเกินไปต้องใช้ฟิลเตอร์ ND ช่วยลดแสงเพื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์
    ต่ำถ่ายได้ เช่น ถ่ายภาพน้ำตกให้เห็นสายน้ำไหลต่อเนื่องด้วยความเร็วชัตเตอร์
    ต่ำ ฟิลเตอร์ ND นี้จะมีตัวเลขกำกับความเข้มอยู่ด้วย เริ่มจาก ND2 หมายถึง
    ความสามารถในการลดแสงให้เหลือผ่านเข้าไปในเลนส์เพียง 50 เปอร์เซ็นต์ของ
    แสงด้านนอก ในขณะที่ ND4 จะลดแสงให้เหลือผ่านเข้าไปในเลนส์แค่ 25 เปอร์เซ็นต์ของ
    แสงด้านนอกและ ND8 จะลดแสงให้เหลือผ่านเข้าไปในเลนส์เพียงแค่ 12.5 เปอร์เซ็นต์ของ
    แสงด้านนอกตามลำดับ การเลือกใช้งานก็ขึ้นอยู่กับเราว่าต้องการลดแสงมากน้อยเพียงใด

ฟิลเตอร์ยังมีอีกมากมายหลายแบบ เช่น ฟิลเตอร์แบบ Star ที่ช่วยทำให้ถ่ายภาพแสงไฟเป็น
แฉก ๆ ฟิลเตอร์ Soft ช่วยทำให้ภาพดูนุ่มนวลฟุ้ง ๆ เหมือนภาพในฝัน ฟิลเตอร์สีต่าง ๆ เพื่อย้อมสี
ท้องฟ้าให้ดูแปลกออกไป ฟิลเตอร์ชนิดนี้ควรใช้แบบที่เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมอย่าใช้แบบวงกลมเพราะถ้าใช้
แบบวงกลมจะต้องจัดเส้นขอบฟ้าไว้ตรงกลางภาพเท่านั้น (ในทางปฏิบัติไม่นิยมวางเส้นขอบฟ้าไว้ตรง
กลาง) เพราะไม่สามารถขยับฟิลเตอร์ขึ้นลงได้ แต่ถ้าใช้ฟิลเตอร์แบบสี่เหลี่ยมจะสามารถขยับแนว
ไล่โทนสี ขึ้น-ลง ให้สัมพันธ์กับเส้นขอบฟ้าได้ตามต้องการ ซึ่งความสามารถของโปรแกรมตกแต่งภาพ
ก็สามารถทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาบางลักษณะเหมือนกับใส่ฟิลเตอร์ดังกล่าวได้เช่นกัน ดังนั้นจึงไม่ขอ
กล่าวถึงรายละเอียดของฟิลเตอร์ดังกล่าว

แฟลชภายนอก (External Flash)

โดยทั่วไปกล้องดิจิทัลจะมีแฟลชมาให้ในตัวกล้องอยู่แล้วแต่กำลังส่องสว่างของแฟลชที่ให้มา
จะมีน้อย กำลังไฟในการส่องสว่างของแฟลชโดยทั่วไปจะเรียกเป็นค่า Guide Number หรือ GN ซึ่งจะ
บ่งบอกให้ทราบว่าสามารถถ่ายภาพด้วยแฟลชตัวนี้ได้ไกลแค่ไหน ค่า GN มากยิ่งมีกำลังส่องสว่างมาก
แฟลชที่ให้มากับกล้องจะมีค่า GN น้อยทำให้สามารถถ่ายภาพด้วยแฟลชที่ให้มาได้ไกลแค่ 3 เมตร ถ้า
ไกลเกินกว่า 3 เมตร แสงไฟแฟลชจะส่องไปไม่ถึงวัตถุที่ถ่ายหรือไปถึงแต่กำลังส่องสว่างก็จะไม่พอทำ
ให้ภาพออกมามืด ดังนั้นจึงต้องเพิ่มแฟลชภายนอกเข้าไปเพื่อเพิ่มกำลังส่องสว่างของแฟลช นอกจากนี้
แฟลชภายนอกยังสามารถปรับทิศทาง ก้ม-เงย หมุนซ้าย หมุนขวา เพื่อให้แสงแฟลชไปในทิศทางที่เรา
ต้องการได้ เช่น ปรับแฟลชให้เงยขึ้นไปกระทบเพดาลห้องแล้วสะท้อนมายังตัวแบบที่ถ่าย ทำให้ได้ภาพ
นุ่มนวล มองดูมีมิติมากขึ้น และยังสามารถแก้ปัญหาตาแดง (Red-eye) ที่มักเกิดขึ้นเมื่อใช้แฟลชในตัว
กล้องถ่ายภาพคน เพราะระยะของแฟลชอยู่ใกล้กับเลนส์มาก ดังนั้นถ้าติดตั้งแฟลชภายนอกให้ห่างและ
สูงจากเลนส์จนพ้นมุมสะท้อนภาพก็จะทำให้ตาของแบบที่เราถ่ายไม่แดง กล้อง D-SLR ทุกรุ่นสามารถ
ติดตั้งแฟลชภายนอกได้ แต่กล้องดิจิทัลแบบคอมแพ็คมีเพียงบางรุ่นที่สามารถติดตั้งแฟลชภายนอกได้
แฟลชภายนอกมีหลายประเภท ในบางครั้งแฟลชและกล้องยี่ห้อเดียวกันก็ยังใช้ด้วยกันไม่ได้เพราะเป็น
แฟลชรุ่นเก่า บางคนก็ต้องการใช้แฟลชในค่ายอิสระจึงต้องศึกษาสอบถามข้อมูลให้ดีว่าใช้กับกล้องของ
เราได้หรือไม่

ขาตั้งกล้อง (Tripod)

ขาตั้งกล้อง เป็นอุปกรณ์เสริมที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพที่ต้องการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ๆ
เพราะจะช่วยให้กล้องอยู่นิ่งไม่เกิดการสั่นไหวขึ้นในขณะถ่ายภาพ การถ่ายภาพบางอย่างถ้าต้องการ
คุณภาพของภาพที่ดีเลิศ แม้จะใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงก็มักจะใช้ขาตั้งกล้องช่วยในการถ่ายภาพ เพื่อให้
ได้ภาพที่คมชัดไม่สั่นไหว
ขาตั้งกล้องมีหลายรูปแบบ มีทั้งแบบขาเดียว (Monopod) ขาตั้งกล้องแบบนี้ช่างภาพจะใช้เพื่อ
รับน้ำหนักของกล้องกับเลนส์และใช้ขาตั้งยันพื้นเอาไว้ ช่วยให้ต้นแขนไม่ต้องแบกภาระรับน้ำหนักของ
กล้องมากเกินไป แต่ต้องใช้มือจับประคองตัวกล้องเอาไว้และเวลาถ่ายก็ต้องพยายามให้ตัวกล้องอยู่นิ่ง
มากที่สุด ขาตั้งกล้องที่นิยมและพบเห็นมากที่สุดก็คือขาตั้งกล้องชนิด 3 ขา (Tripod) ขาตั้งกล้องในยุค
ปัจจุบันไม่ได้ใช้เพียงเพื่อตั้งกล้องให้นิ่งเฉย ๆ เท่านั้น บางรุ่นยังสามารถกางราบได้ถึงพื้น หรือหักเป็น
มุมเอียงในลักษณะต่าง ๆ เพื่อการถ่ายภาพในมุมที่แปลกออกไปได้ด้วย แต่ก็ยังคงความนิ่งและความ
มั่นคงเอาไว้ ขาตั้งกล้องมีส่วนประกอบที่สำคัญใหญ่ ๆ 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็น “ขา” และส่วนที่เป็น “หัว”
ขาตั้งกล้องที่มีราคาแพง ส่วนที่เป็นหัวกับส่วนที่เป็นขามักจะแยกกันขาย

วัสดุที่ใช้ทำขาตั้งกล้องมีมากมาย เช่น เหล็ก อลูมิเนียม พลาสติก ฯลฯ เป็นต้น แต่ที่นิยมใช้กัน
มากเป็นขาตั้งกล้องที่ทำจาก “คาร์บอนไฟเบอร์” ข้อดีคือมีน้ำหนักเบาและแข็งแรงทนทาน แต่ก็มีข้อเสีย
คือเนื่องจากมันเบา ดังนั้นเวลาถ่ายภาพที่ต้องการความนิ่งและมั่นคงก็ต้องหาอะไรหนัก ๆ มาถ่วงเอาไว้
จะได้นิ่งยิ่งขึ้น สิ่งที่สามารถหามาถ่วงได้ง่ายก็คือกระเป๋ากล้องนั่นเอง โดยแขวนไว้กับแกนกลางของขา
ตั้งกล้องเพื่อช่วยถ่วงให้นิ่ง ส่วนหัวของขาตั้งกล้องก็มีหลายแบบเช่นกันแต่ที่นิยมใช้กันมากมี 2 แบบ
คือ “หัวแพน”และ“หัวบอล” หัวแพนมักจะมีก้านที่หมุนได้ยื่นออกมาจากส่วนหัวเพื่อปรับมุมก้ม-มุมเงย
แนวตั้ง-แนวนอน ซึ่งให้ความแม่นยำในการปรับมุมกล้องได้ค่อนข้างดี แต่มีจุดด้อยคือต้องใช้เวลาใน
การปรับมากกว่าหัวบอล และก้านหมุนที่ยื่นออกมานั้นก็ทำให้เกะกะในการปรับหัวขาตั้งกล้องด้วย
หัวของขาตั้งกล้องอีกประเภทหนึ่งคือ “หัวบอล” สามารถกลิ้งไปมาได้ทุกทิศทุกทางและมีตัวล็อคเพื่อ
หยุดให้มันอยู่กับที่ หัวของขาตั้งกล้องแบบนี้ช่างภาพนิยมใช้มากเพราะมันยืดหยุ่นและรวดเร็วในการ
ปรับองศาของกล้องและไม่เกะกะมากนัก แต่จะมีน้ำหนักมากกว่าและราคาสูงกว่าหัวแพนด้วย ดังนั้น
พอสรุปได้ว่าขาตั้งกล้องแบบหัวบอลให้ความคล่องตัวสูงกว่าหัวแพน แต่ขาตั้งกล้องแบบหัวแพนจะให้
ความแม่นยำในการปรับมุมกล้องมากกว่าหัวบอล ก็แล้วแต่ใครจะชอบเลือกใช้แบบไหน

สายลั่นชัตเตอร์

สายลั่นชัตเตอร์ ช่วยให้เรากดปุ่มชัตเตอร์ได้โดยไม่ต้องแตะตัวกล้องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด
แรงสั่นสะเทือนใด ๆ ขึ้นกับตัวกล้อง ภาพถ่ายประเภทสายน้ำตกที่นุ่มพริ้ว ภาพดวงอาทิตย์ตกยามเย็น
มักนิยมใช้สายลั่นชัเตอร์ เพราะถ้ากล้องสั่นไหวเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาไม่สมบูรณ์
สายลั่นชัตเตอร์ในยุคดิจิทัลสามารถกดแช่และล็อคปุ่มให้กดแช่อยู่ได้นานตามที่เราต้องการ ซึ่งเหมาะ
สำหรับถ่ายภาพรูปดวงดาวบนท้องฟ้าในเวลากลางคืนที่ต้องกดชัตเตอร์แช่ไว้เป็นเวลานาน ๆ นอกจากนี้
สายลั่นชัตเตอร์บางประเภทยังมีระบบควบคุมตัวกล้องในบางฟังก์ชันได้ และยังสามารถควบคุมแบบไร้สาย
(รีโมท) ได้ด้วย สายลั่นชัตเตอร์แบบมีสายมีข้อดีคือ

การใช้ไม่ยุ่งยากเพียงแต่เสียบเชื่อมเข้ากับกล้องก็กดใช้ได้แล้ว แต่มีข้อจำกัดคือเราต้องอยู่ใกล้ ๆ กล้อง
เพราะสายลั่นชัตเตอร์ไม่ยาว ส่วนแบบรีโมทมีข้อดีคือสามารถอยู่ห่างจากตัวกล้องได้ ทำให้สามารถ
ถ่ายภาพตัวเองในแอ็คชั่นต่าง ๆ ได้เลยโดยถือรีโมทไว้ในมือ แต่มีข้อจำกัดคือการใช้งานถ้าเราอยู่
หลังกล้อง อาจจะส่งสัญญาณลั่นชัตเตอร์ไปยังกล้องไม่ได้ เพราะเซ็นเซอร์รับสัญญาณพวกนี้มักอยู่
ด้านหน้าของตัวกล้อง ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งคือรีโมทต้องใช้แบตเตอรี่ในตัว ซึ่งถ้าแบตเตอรี่หมดก็
ใช้งานไม่ได้

แบตเตอรี่ (Battery)

กล้องดิจิทัลเป็นกล้องที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการควบคุมการทำงานไม่ว่าจะเป็นการซูมภาพ
การกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ การบันทึกภาพลงหน่วยความจำ หรือแม้แต่การดูภาพจากจอภาพของกล้อง
ล้วนแล้วแต่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้น ซึ่งพลังงานไฟฟ้าของกล้องดิจิทัลก็คือแบตเตอรี่ หรือที่เรียกกัน
ว่า “ถ่าน” นั่นเอง กล้องดิจิทัลแต่ละตัวจะใช้แบตเตอรี่ไม่เหมือนกัน แบตเตอรี่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
ใหญ่ ๆ คือแบตเตอรี่แบบใช้ครั้งเดียว และแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้
แบตเตอรี่แบบใช้ครั้งเดียว
เมื่อใช้ไฟจนหมดแล้วไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ราคาไม่แพงมากนักและหาซื้อได้ง่ายตาม
ท้องตลาดทั่วไป เช่น แบตเตอรี่แบบถ่านไฟAA ธรรมดา แบบนี้กระแสไฟหมดเร็ว ตากล้องจึงหันมา
นิยมใช้แบตเตอรี่แบบถ่านไฟ Alkaline ขนาด AA แทน ซึ่งหาซื้อได้ง่ายมากและใช้ได้นานกว่า
แบตเตอรี่แบบถ่านไฟ AA ธรรมดา

แบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้
สามารถใช้งานได้นานและเมื่อใช้ไฟจนหมดแล้วสามารถนำกลับมาชาร์จไฟเพื่อใช้ต่อไปได้อีก
ราคาจะแพงกว่าแบบใช้ครั้งเดียว แต่เมื่อคำนวณจากจำนวนครั้งที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้นับว่า
คุ้มค่ากว่ามาก แบตเตอรี่แบบนี้ยังแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

  • แบตเตอรี่แบบ Nickel Cadmium (NiCD) เป็นแบตเตอรี่รุ่นเก่าส่วนใหญ่จะมีขนาด AA ซึ่ง
    กล้องรุ่นใหม่ไม่นิยมใช้กันแล้ว เพราะให้กำลังไฟต่ำ อายุการใช้งานสั้น แบตเตอรี่แบบนี้ควร
    ใช้ให้ไฟหมดก่อน จึงค่อยนำไปชาร์จไฟใหม่ถ้าหากยังใช้ไฟไม่หมด มีกระแสไฟฟ้าตกค้าง
    อยู่ในแบตเตอรี่เมื่อนำไปชาร์จไฟใหม่จะทำให้แบตเตอรี่เก็บประจุไฟฟ้าได้น้อยกว่าเดิม เป็น
    สาเหตุทำให้ระยะเวลาในการใช้งานลดลง ที่เรียกว่าเกิดอาการ Memory Effect
  • แบตเตอรี่แบบ Nickel Metal Hydride (NiMH)มีขนาดเท่ากับ NiCD คือมีขนาดเท่ากับ AA แต่
    มีประสิทธิภาพดีกว่า NiCD เพราะสามารถจ่ายกระแสไฟได้สม่ำเสมอกว่า และไม่เกิดอาการ
    Memory Effect
  • แบตเตอรี่แบบ Lithium Ion (Li-Ion) เป็น
    แบตเตอรี่ที่มีขนาด และรูปร่างแตกต่างกันไป
    ตามลักษณะเฉพาะของกล้องแต่ละยี่ห้อ สามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้มาก น้ำหนักเบา ไม่เกิด
    Memory Effect ทำให้สามารถใช้งานได้นาน ข้อควรระวังไม่ควรปล่อยให้ไฟของ
    แบตเตอรี่ Li-Ion หมดและทิ้งไว้เป็นเวลานานกว่า 1 เดือน เพราะจะทำให้แบตเตอรี่หมด
    สภาพการประจุไฟฟ้าใหม่ คือมันจะชาร์จไฟไม่เข้า ถ้าจะเก็บแบตเตอรี่ Li-Ion ไว้โดยไม่ใช้
    เป็นเวลานาน ๆ ให้ชาร์จไฟให้เต็มก่อนแล้วจึงถอดจากตัวกล้องเก็บไว้

แท่นชาร์จแบตเตอรี่

มี 2 รูปแบบคือ แบบชาร์จช้ากับแบบชาร์จเร็ว การชาร์จแบบเร็วจะใช้เวลาชาร์จเพียง 2-3
ชั่วโมงเท่านั้น แต่ประจุไฟฟ้าที่ชาร์จเข้าแบตเตอรี่จะไม่เต็มที่เท่าการชาร์จแบบช้าที่ต้องใช้เวลาในการ
ชาร์จประมาณ 4-5 ชั่วโมง การชาร์จแบบช้าช่วยถนอมแบตเตอรี่มากกว่าและเกิดความร้อนน้อยกว่า
แท่นชาร์จบางรุ่นสามารถเลือกชาร์จได้ทั้งแบบช้าและแบบเร็ว หลาย ๆ คนชอบแท่นชาร์จแบบเร็ว
เพราะประหยัดเวลาซึ่งเหมาะสำหรับเวลาไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ ที่ต้องถ่ายภาพตลอดเวลาและมีเวลาจำกัด
จึงจำเป็นต้องชาร์จแบบเร็วก่อนเมื่อมีเวลาว่างพอค่อยเอามาชาร์จกับแท่นที่ชาร์จแบบช้า ซึ่งจะช่วยทำให้
แบตเตอรี่ใช้งานได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

แบตเตอรี่กริป (Battery Grip)

นิยมใช้กันมากกับกล้อง D-SLR วัตถุประสงค์หลักของอุปกรณ์เสริมตัวนี้ก็เพื่อเพิ่มปริมาณ
กระแสไฟให้มากขึ้นทำให้สามารถถ่ายภาพได้อย่างต่อเนื่อง มากกว่าการใช้แบตเตอรี่ปกติ เพราะมันทำ
ให้กล้องสามารถบรรจุแบตเตอรี่แบบ Li-Ion ได้ถึง 2 ก้อนพร้อม ๆ กัน และสามารถใช้แบตเตอรี่ชนิด
AA ได้ในยามฉุกเฉิน โดยจะมีรางสำหรับใส่แบตเตอรี่ชนิด AA มาให้ต่างหากอีก 1 ชิ้น (โดยปกติทั่วๆ
ไปจะใช้ประมาณ 6 ก้อน) นอกจากนี้มันจะมีปุ่มกดชัตเตอร์สำหรับแนวตั้งมาให้ใช้ด้วย ช่วยให้เรา
สามารถถ่ายภาพแนวตั้งได้นิ่งกว่าเดิม เพราะสามารถแนบข้อศอกขวากับลำตัวได้มั่นคงกว่า และอาจมี
ปุ่มฟังก์ชันอื่นให้อีก แบตเตอรี่กริปมีหลายรุ่นต้องเลือกใช้ให้ตรงกับกล้องของเรา บางรุ่นเมื่อติดตั้ง
แบตเตอรี่กริปแล้วทำให้สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้เร็วขึ้นกว่าเดิม บางรุ่นจะมีอุปกรณ์สำหรับการส่ง
ข้อมูลภาพแบบไร้สายหรือเชื่อมต่อสาย LAN กับคอมพิวเตอร์หรือเซิร์ฟเวอร์ได้ด้วย ช่วยให้การสำรอง
ไฟล์ภาพหรือการถ่ายภาพในสตูดิโอสะดวกมากยิ่งขึ้น

สรุป

เลนส์เป็นส่วนที่สำคัญมากส่วนหนึ่งของกล้องดิจิทัล แสงที่สะท้อนจากวัตถุจะผ่านเลนส์เข้า
ไปยังเซ็นเซอร์รับภาพทำให้เกิดภาพในลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทของเลนส์ เราสามารถ
แบ่งเลนส์ออกเป็นกลุ่มตามช่วงของทางยาวโฟกัส ซึ่งเป็นตัวบอกถึงองศาในการรับภาพได้ดังนี้

  • เลนส์มาตรฐาน เป็นเลนส์ที่มีมุมรับภาพใกล้เคียงกับที่ตาคนเรามองเห็น มีทางยาวโฟกัส
    ประมาณ 50 mm ถ้าเป็นเลนส์ซูมก็จะมีทางยาวโฟกัสระหว่าง 35 – 70 mm
  • เลนส์มุมกว้าง เป็นเลนส์ที่สามารถรับภาพได้ในมุมที่กว้างกว่าเลนส์มาตรฐาน ส่วนใหญ่มักมี
    ทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 35 mm ลงไป ยิ่งทางยาวโฟกัสสั้นมากเท่าไรก็ทำให้สามารถรับภาพได้ในมุมที่
    กว้างขึ้น ถ้าเป็นเลนส์ซูมมักจะมีทางยาวโฟกัสช่วงประมาณ 24 – 35 mm
  • เลนส์ถ่ายไกล เป็นเลนส์ที่สามารถดึงภาพจากระยะไกลให้ใกล้เข้ามา ทำให้สามารถถ่ายภาพใน
    สถานที่ที่เราไม่สามารถเข้าใกล้สิ่งที่จะถ่ายได้ ทางยาวโฟกัสของเลนส์ประเภทนี้มักจะมีค่ามากกว่า
    80 mm ขึ้นไป หากเป็นเลนส์ถ่ายไกลพิเศษอาจมีทางยาวโฟกัสมากถึง 800 – 2000 mm เช่นเลนส์
    สำหรับถ่ายภาพดวงดาว เป็นต้น

เลนส์ที่ติดมากับกล้องดิจิทัลทั่ว ๆ ไป ส่วนใหญ่สามารถเปลี่ยนทางยาวโฟกัสได้ซึ่งเรียกว่า
เลนส์ซูม การซูมในกล้องดิจิทัลสามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่

  • การซูมแบบออฟติคอล เป็นการซูมโดยมีการเคลื่อนไหวของชิ้นเลนส์ภายในตัวเลนส์เพื่อ
    เปลี่ยนทางยาวโฟกัส ภาพที่ได้จะเป็นภาพที่เกิดจากการซูมจากเลนส์จริง ๆ จึงมีคุณภาพเต็มร้อย
    เปอร์เซ็นต์ กล้องดิจิทัลแบบคอมแพ็คส่วนใหญ่ นิยมบอกความสามารถในการเปลี่ยนทางยาวโฟกัส
    หรือความสามารถในการซูมเป็นจำนวนเท่า (X) เช่น 3X, 4X, 10X เป็นต้น โดยการนำค่าทางยาวโฟกัส
    สูงที่สุดเป็นตัวตั้งแล้วหารด้วยค่าทางยาวโฟกัสต่ำที่สุด เช่น ทางยาวโฟกัส 7.1-21.3 mm ก็นำ 21.3 เป็น
    ตัวตั้งแล้วหารด้วย 7.1 เท่ากับ 3 แสดงว่าสามารถซูมขยายภาพได้ 3 เท่า นั่นก็คือ 3X นั่นเอง
  • การซูมแบบดิจิทัล เป็นการซูมที่เกิดจากการทำงานของซอฟต์แวร์ในกล้อง โดยนำภาพที่ได้
    จากการซูมแบบออฟติคอลมาขยายให้ใหญ่ขึ้น ทำให้ดูเหมือนว่าสามารถซูมภาพได้มากขึ้น ภาพที่ได้จึง
    มีคุณภาพไม่ค่อยดีและไม่คมชัดเท่ากับการซูมแบบออฟติคอล จึงไม่นิยมใช้

ในปัจจุบันเลนส์ในกล้องดิจิทัลมีคุณภาพดีขึ้น เพราะใช้เลนส์ที่มีชิ้นเลนส์ที่มีคุณภาพ มีการใช้
เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำในการเคลือบผิวเลนส์ มีระบบโฟกัสแบบอัตโนมัติ และมีระบบป้องกันภาพ
สั่นไหว ทำใหถ่ายภาพสะดวกและมีคุณภาพมากขึ้น

อุปกรณ์เสริมสำหรับกล้องดิจิทัล เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกสบาย
ให้กับการถ่ายภาพได้มากมาย อุปกรณ์เสริมสำหรับกล้องดิจิทัลที่น่าสนใจมีดังนี้

อุปกรณ์เพิ่มประสิทธิภาพให้กับเลนส์ของกล้องดิจิทัลคอมแพ็ค ได้แก่ Adaptor Tube เป็นท่อที่
ต่อครอบลงไปด้านหน้าเลนส์ของกล้อง เพื่อให้สามารถใส่อุปกรณ์เสริมสำหรับเลนส์ได้ เช่น
Conversion Lens ใช้สำหรับเพิ่มขีดความสามารถให้กับเลนส์ที่มีอยู่แล้วโดยจะใส่ไว้หน้าเลนส์เพื่อช่วย
เพิ่มหรือลดทางยาวโฟกัสทำให้ได้มุมรับภาพที่กว้างขึ้น ได้แก่ Wide Conversion Lens (WC) หรือ
เพิ่มระยะการซูมให้ไกลขึ้น ได้แก่ Tele Conversion Lens (TC)

  • ฟิลเตอร์ เป็นแก้วหรือพลาสติกโปร่งใสที่ใช้ครอบหน้าเลนส์เพื่อช่วยลดน้ำหนักของแสงให้ดู
    สวยงาม ช่วยเพิ่มสีของวัตถุให้ดูอิ่มขึ้น หรือทำให้ต่างออกไปจากธรรมชาติก็ได้ ฟิลเตอร์มีมากหลาย
    ชนิด ที่สำคัญ ๆ มีดังนี้ ฟิลเตอร์ยูวี (UV Filter) เป็นฟิลเตอร์สำหรับถ่ายภาพกลางแจ้งช่วยตัดรังสี
    อุลตร้าไวโอเล็ต ซึ่งเป็นตัวทำให้ภาพออกสีม่วงเวลาถ่ายภาพในที่แดดจัด ๆ ฟิลเตอร์ยูวีจะไม่มีผลต่อค่า
    แสงที่ได้ไม่ว่าจะใส่หรือถอดฟิลเตอร์ออกจะมีค่าเท่ากัน จึงนิยมใส่ฟิลเตอร์ยูวีไว้เพื่อป้องกันหน้าเลนส์
    มากกว่าที่จะต้องการผลที่เกิดขึ้นกับภาพ ฟิลเตอร์ C-PL (Circular Polarize Filter) เป็นฟิลเตอร์ที่เหมาะ
    กับการถ่ายภาพทิวทัศน์ ช่วยทำให้ภาพทิวทัศน์ที่ถ่ายออกมาดูสวยสดงดงามกว่าปกติเป็นอย่างมาก เช่น
    ทำให้ท้องฟ้าส่วนที่เป็นสีฟ้าดูเข้มขึ้น ฟิลเตอร์ลดทอนแสง ND Filter เป็นฟิลเตอร์สีเทาช่วยในการลด
    แสงสว่างที่จะผ่านเลนส์เข้าไปโดยไม่ทำให้โทนสีของภาพเปลี่ยน จึงเรียกว่า Neutral Density (ND)
    ใช้ในกรณีที่ต้องการถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำแต่แสงสว่างมากเกินไปต้องใช้ฟิลเตอร์ND ช่วยลด
    แสงเพื่อให้สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำถ่ายได้
  • แฟลชภายนอก แฟลชที่ให้มากับกล้องจะมีกำลังส่องสว่างน้อย ทำให้สามารถถ่ายภาพด้วย
    แฟลชที่ให้มาได้ไกลแค่ 3 เมตร ถ้าไกลเกินกว่า 3 เมตร แสงไฟแฟลชจะส่องไปไม่ถึงวัตถุที่ถ่ายหรือไป
    ถึงแต่กำลังส่องสว่างก็จะไม่พอทำให้ภาพออกมามืด ดังนั้นจึงต้องเพิ่มแฟลชภายนอกเข้าไปเพื่อเพิ่ม
    กำลังส่องสว่างของแฟลช นอกจากนี้แฟลชภายนอกยังสามารถปรับทิศทาง ก้ม-เงย หมุนซ้าย หมุนขวา
    เพื่อให้แสงแฟลชไปในทิศทางที่เราต้องการได้
  • ขาตั้งกล้อง เป็นอุปกรณ์เสริมที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพที่ต้องการใช้ความเร็ว ชัตเตอร์ต่ำ ๆ
    เพราะจะช่วยให้กล้องอยู่นิ่งไม่สั่นไหวในขณะถ่ายภาพ มีทั้งแบบขาเดียว (Monopod) และแบบ 3 ขา
    (Tripod) ส่วนหัวของขาตั้งกล้องก็มีหลายแบบเช่นกันแต่ที่นิยมใช้กันมากมี 2 แบบ คือ “หัวแพน”
    และ “หัวบอล” หัวแพนมักจะมีก้านที่หมุนได้ยื่นออกมาจากส่วนหัวเพื่อปรับมุมก้ม-มุมเงย แนวตั้ง
    แนวนอน ให้ความแม่นยำในการปรับมุมกล้องได้ค่อนข้างดี แต่ต้องใช้เวลาในการปรับมากกว่าหัวบอล
    และก้านหมุนที่ยื่นออกมาทำให้เกะกะในการปรับอีกด้วย ส่วนขาตั้งกล้องแบบ “หัวบอล” สามารถกลิ้ง
    ไปมาได้ทุกทิศทุกทางและมีตัวล็อคเพื่อหยุดให้มันอยู่กับที่ได้ ช่างภาพนิยมใช้มากเพราะมันยืดหยุ่นและ
    รวดเร็วในการปรับองศาของกล้องและไม่เกะกะมากนัก
  • สายลั่นชัตเตอร์ ช่วยให้เรากดปุ่มชัตเตอร์ได้โดยไม่ต้องแตะตัวกล้องเพื่อป้องกันไม่ให้กล้อง
    สั่นสะเทือน มักนิยมใช้สายลั่นชัเตอร์กับการถ่ายประเภทสายน้ำตกที่นุ่มพริ้ว ภาพดวงอาทิตย์ตกยามเย็น
    เพราะถ้ากล้องสั่นไหวเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาไม่สมบูรณ์
  • แบตเตอรี่ กล้องดิจิทัลแต่ละตัวจะใช้แบตเตอรี่ไม่เหมือนกัน แบตเตอรี่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
    ใหญ่ ๆ คือ แบตเตอรี่แบบใช้ครั้งเดียว และแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้ แบตเตอรี่แบบใช้ครั้งเดียว เช่น
    แบตเตอรี่แบบถ่านไฟAA ธรรมดา แบบนี้กระแสไฟหมดเร็ว ตากล้องจึงหันมานิยมใช้แบตเตอรี่แบบ
    ถ่านไฟ Alkaline ขนาด AA แทน ทำให้ใช้ได้นานกว่า สำหรับ แบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้ แบ่งออกเป็น
    3 ประเภท คือ 1) แบตเตอรี่แบบ Nickel Cadmium (NiCD) ส่วนใหญ่จะมีขนาด AA แบตเตอรี่แบบนี้
    ควรใช้ให้ไฟหมดก่อนจึงค่อยนำไปชาร์จไฟใหม่ ถ้าหากยังใช้ไฟไม่หมดมีกระแสไฟฟ้าตกค้างอยู่ใน
    แบตเตอรี่ เมื่อนำไปชาร์จไฟใหม่จะทำให้แบตเตอรี่เก็บประจุไฟฟ้าได้น้อยกว่าเดิม เป็นสาเหตุทำให้
    ระยะเวลาในการใช้งานลดลง ที่เรียกว่าเกิดอาการ Memory Effect 2) แบตเตอรี่แบบ Nickel Metal
    Hydride (NiMH) มีขนาดเท่ากับ NiCD คือมีขนาดเท่ากับ AA แต่มีประสิทธิภาพดีกว่าแบบ NiCD
    เพราะสามารถจ่ายกระแสไฟได้สม่ำเสมอกว่าและไม่เกิดอาการ Memory Effect 3) แบตเตอรี่แบบ
    Lithium Ion (Li-Ion) มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะของกล้องแต่ละยี่ห้อ
    สามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้มาก น้ำหนักเบา ไม่เกิด Memory Effect ทำให้สามารถใช้งานได้นาน
  • แท่นชาร์จแบตเตอรี่ มี 2 รูปแบบคือ แบบชาร์จช้ากับแบบชาร์จเร็ว การชาร์จแบบเร็วจะใช้เวลา
    ชาร์จเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ประจุไฟฟ้าที่ชาร์จเข้าแบตเตอรี่จะไม่เต็มที่เท่าการชาร์จแบบช้าที่ต้อง
    ใช้เวลาในการชาร์จประมาณ 4-5 ชั่วโมง การชาร์จแบบช้าช่วยถนอมแบตเตอรี่มากกว่าและเกิดความ
    ร้อนน้อยกว่า
  • แบตเตอรี่กริป นิยมใช้กันมากกับกล้อง D-SLR วัตถุประสงค์หลักของอุปกรณ์เสริมตัวนี้ก็เพื่อ
    เพิ่มปริมาณกระแสไฟให้มากขึ้น ทำให้สามารถถ่ายภาพได้อย่างต่อเนื่องมากกว่าการใช้แบตเตอรี่ปกติ
    เพราะมันทำให้กล้องสามารถบรรจุแบตเตอรี่แบบ Li-Ion ได้ถึง 2 ก้อนพร้อม ๆ กัน และสามารถใส่
    แบตเตอรี่ชนิด AA ได้ในยามฉุกเฉิน

ดังนั้น ในการถ่ายภาพควรเลือกใช้เลนส์ให้เหมาะสมกับประเภทของกล้อง และวัตถุประสงค์
ของการถ่ายภาพแต่ละประเภท ควรเตรียมอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ให้พร้อมเพื่อการถ่ายภาพที่มีคุณภาพ
และเตรียมพร้อมที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็นนักถ่ายภาพระดับมืออาชีพต่อไป

 

(บทที่ 1) การถ่ายภาพด้วยระบบดิจิทัล

บทที่ 1

รู้จักกล้องดิจิทัล

    การถ่ายภาพได้รับความนิยมเป็นอันมาก ภาพหนึ่งภาพสามารถสื่อความหมายแทนคำพูดได้เป็นพันคำ และยังช่วยบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ไว้เป็นหลักฐานให้คนรุ่นหลังใช้ศึกษาหาความรู้ได้เป็นอย่างดี ใครๆ ก็สามารถถ่ายภาพได้ ด้วยสายตาที่เพ่งพินิจ ด้วยจินตนาการบางอย่างในหัวใจ ด้วยมืออันเขม็งแน่ว รวมทั้งมีความรู้ด้านเทคนิคบ้างเล็กน้อย การถ่ายภาพมีวิวัฒนาการรวดเร็วยิ่ง กระแสความนิยมกล้องดิจิทัล (Digital Camera) ได้เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ด้วยคุณสมบัติที่น่าสนใจหลาย ๆ ประการดังจะได้แนะนำให้รู้จักกล้องดิจิทัลเป็นลำดับขั้นไป

ความหมายของกล้องดิจิทัล

    กล้องดิจิทัล คือกล้องถ่ายภาพที่ไม่ต้องใช้ฟิล์ม แต่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่าเซ็นเซอร์ เป็นตัวรับแสงผ่านการประมวลผลได้ภาพดิจิทัล บันทึกไว้ในรูปของไฟล์ในสื่อบันทึกภาพภายในกล้องซึ่งสามารถส่งต่อไปยังคอมพิวเตอร์ เพื่อตกแต่งภาพด้วยโปรแกรมต่าง ๆ แล้วพิมพ์ออกมาเป็นภาพหรือส่งผ่านอินเทอร์เน็ต และใช้งานในลักษณะอื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย บนพื้นผิวของเซ็นเซอร์รับภาพจะแบ่งออกเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่เรียกกันว่า พิกเซล (Pixel) ซึ่งแต่ละพิกเซลจะบันทึกข้อมูล 1 จุดภาพ เมื่อรวมกันหลาย ๆ จุดอัดกันแน่นจะกลายเป็นภาพที่สามารถมองเห็นได้ว่าเป็นภาพอะไร

ภาพแสดงเซ็นเซอร์ภายในกล้องดิจิทัล

วิเคราะห์จุดเด่นของกล้องดิจิทัลกับกล้องที่ใช้ฟิล์ม

ระบบถ่ายภาพของกล้องดิจิทัลและกล้องที่ใช้ฟิล์มจะคล้ายคลึงกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่าง เห็นได้ชัดคือระบบบันทึกภาพ ที่กล้องดิจิทัลใช้ตัวเซ็นเซอร์เป็นตัวรับภาพแทนฟิล์มแล้วแปลงเป็น สัญญาณดิจิทัลบันทึกลงอุปกรณ์เก็บข้อมูล บางคนอาจเลือกใช้กล้องดิจิทัล แต่บางคนอาจยังชอบใช้ กล้องชนิดใช้ฟิล์ม เพราะกล้องทั้งสองแบบมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป พอสรุปได้ดังนี้

จุดเด่นของกล้องดิจิทัล

1. ไม่ต้องใช้ฟิล์ม ใช้ตัวเซ็นเซอร์เป็นตัวรับภาพแล้วเแปลงเป็นสัญาณดิจิทัลบันทึกลงอุปกรณ์ เก็บข้อมูลเป็นไฟล์ภาพ สามารถถ่ายภาพได้มากโดยไม่ต้องเสียค่าฟิล์มให้เปลืองเงิน

2. ดูภาพได้ทันที รวดเร็ว ไม่ต้องรอลุ้นเหมือนกล้องใช้ฟิล์มว่าถ่ายไปแล้วภาพจะออกมาดี หรือไม่ เพราะต้องนำฟิล์มไปผ่านกระบวนการล้างแล้วอัดออกมาเป็นภาพ บางครั้งถ่ายเสีย ไปแล้วก็ไม่สามารถกลับไปถ่ายใหม่ได้อีก แต่ถ้าใช้กล้องดิจิทัลเมื่อถ่ายเสร็จปุ๊บก็สามารถ เปิดดูภาพได้ทันทีที่จอภาพของกล้อง ถ้าภาพออกมาไม่ดีหรือไม่ถูกใจก็ลบทิ้งแล้วถ่ายใหม่ เดี๋ยวนั้นได้เลย

3. สามารถปรับเปลี่ยนค่าความไวแสงได้ตลอดเวลาที่ถ่ายภาพ แต่ถ้าเป็นกล้องใช้ฟิล์มเมื่อ กล้องตัวนั้นใส่ฟิล์มที่มีค่าความไวแสงเท่าใด ก็ต้องถ่ายภาพด้วยค่าความไวแสงเท่านั้นไป จนกว่าฟิล์มจะหมดม้วน เช่น ใส่ฟิล์มที่มีค่าความไวแสง 100 ก็ต้องถ่ายภาพด้วยค่า ความไวแสง 100 ไปจนกว่าฟิล์มจะหมดม้วน ถ้าจำเป็นต้องไปถ่ายภาพในที่มืดมาก ๆ ก็จะ เปลี่ยนค่าความไวแสงให้มากขึ้นไม่ได้ ซึ่งกล้องดิจิทัลสามารถเปลี่ยนค่าความไวแสงได้ ทันที ทำให้สามารถถ่ายภาพได้แทบทุกสภาพแสง

4. สามารถปรับปรุงแก้ไขภาพเบื้องต้นได้ภายในกล้อง ด้วยโปรแกรมที่ให้มากับตัวกล้อง เช่น การตัดบางส่วนของภาพที่ไม่ต้องการออกไป การแก้ไขภาพที่มืดไปให้สว่างขึ้น ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งกล้องถ่ายภาพที่ใช้ฟิล์มทำไม่ได้ภายในตัวกล้อง

5. ใช้งานร่วมกับคอมพิวเตอร์ได้ง่าย สามารถต่อกล้องดิจิทัลเข้ากับคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง แล้วโหลดภาพจากกล้องดิจิทัลมาเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังสามารถตกแต่งภาพ ที่ถ่ายมาได้ตามใจที่เราต้องการ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปช่วยในการตกแต่งภาพซึ่งมีอยู่ มากมายหลายโปรแกรม แต่ถ้าเป็นกล้องที่ใช้ฟิล์มกว่าจะใช้งานร่วมกับคอมพิวเตอร์ได้ ต้องนำภาพหรือฟิล์มไปผ่านเครื่องสแกนภาพ เพื่อแปลงให้เป็นไฟล์ดิจิทัลก่อนจึงจะนำเข้า คอมพิวเตอร์ได้ 3

6. ไฟล์ภาพดิจิทัลที่สำเนาเก็บไว้ในสื่อบันทึกข้อมูลแบบต่าง ๆ สามารถเก็บไว้ได้นานโดยที่ คุณภาพไม่ผิดเพื้ยนเลย แต่สำหรับกล้องที่ใช้ฟิล์มถึงแม้ว่าฟิล์มจะมีอายุการใช้งานที่ ยาวนาน แต่ถ้าไม่ได้รับการเก็บรักษาดูแลเป็นอย่างดี ก็จะทำให้ฟิล์มเสื่อมคุณภาพได้อย่าง รวดเร็วและภาพถ่ายดี ๆ ที่เราสะสมไว้ก็จะมีสีสันผิดเพี้ยนไป แล้วภาพเหล่านั้นก็จะจาก เราไปแบบไม่มีวันกลับคืนมา

7. ผู้ใช้กล้องดิจิทัลสามารถพิมพ์ภาพที่ถ่ายได้ด้วยตนเอง โดยต่อเชื่อมกล้องดิจิทัลเข้ากับ เครื่องพิมพ์ภาพ ซึ่งสามารถซื้อหามาใช้ได้ง่ายหรือจะส่งไปพิมพ์ภาพ (อัดภาพ) ตามร้าน ถ่ายภาพทั่วไป โดยสามารถเลือกภาพที่ต้องการอัดได้ไม่จำเป็นต้องอัดทุกภาพ ทำให้ ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่ากล้องที่ใช้ฟิล์มที่ต้องเสียทั้งค่าล้างฟิล์มและค่าอัดภาพ และต้อง อัดทุกภาพทั้งม้วนทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูง

8. กล้องดิจิทัลหลายรุ่นสามารถบันทึกภาพเคลื่อนไหวได้ ซึ่งกล้องที่ใช้ฟิล์มทำไม่ได้

จุดเด่นของกล้องที่ใช้ฟิล์ม

1. ความละเอียดของภาพที่ได้จากกล้องที่ใช้ฟิล์มนั้น จะมีความละเอียดมากกว่ากล้องดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟิล์มที่มีความไวแสงต่ำ ๆ ยิ่งมีความละเอียดมาก ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน กล้องดิจิทัลจะพัฒนาตัวเซ็นเซอร์รับภาพที่มีความละเอียดสูงสิบกว่าล้านพิกเซลขึ้นไป แต่ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านถ่ายภาพส่วนใหญ่ ยังคงแสดงความเห็นว่าความละเอียดของภาพที่ได้ จากฟิล์มนั้นสูงกว่าภาพที่ได้จากกล้องดิจิทัล ยิ่งเป็นภาพที่ขยายใหญ่ ๆ ด้วยแล้ว กล้องที่ใช้ ฟิล์มจะขยายภาพที่ให้ความละเอียดดีกว่า

2. สีของภาพที่ได้จากกล้องที่ใช้ฟิล์ม สามารถไล่น้ำหนักสีได้ดีกว่ากล้องดิจิทัล ทำให้ภาพที่ ออกมาดูสมจริง มีมิติ มากกว่ากล้องดิจิทัล

3. กล้องที่ใช้ฟิล์ม จะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่น้อย ยิ่งเป็นกล้องที่ใช้ฟิล์มที่ควบคุมระบบ ต่าง ๆ เองไม่ใช่ระบบอัตโนมัติด้วยแล้วจะใช้พลังงานน้อยมาก แต่สำหรับกล้องดิจิทัล การควบคุมระบบการทำงานต่าง ๆ ในตัวกล้องต้องใช้พลังงานทั้งสิ้น กล้องตัวใดมีจอ แสดงภาพที่ใหญ่ก็ต้องใช้พลังงานมากยิ่งขึ้น

จากที่กล่าวมา จะพบว่ากล้องดิจิทัลมีจุดเด่นหลายประการที่ดีกว่ากล้องที่ใช้ฟิล์ม ด้วยเหตุผล ดังกล่าวทำให้ปัจจุบันมีผู้นิยมใช้กล้องดิจิทัลกันอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ผู้ผลิตกล้องหลายบริษัทได้ พยายามแก้ไขข้อบกพร่องของกล้องดิจิทัลในด้าน ความละเอียด สีสัน และความมีมิติของภาพให้ ใกล้เคียงกับกล้องที่ใช้ฟิล์มแล้ว

ประเภทของกล้องดิจิทัล

กล้องดิจิทัลแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามหลักสากล โดยอาศัยการใช้งานและคุณสมบัติ ของกล้อง ดังนี้ (อรวินท์ เมฆพิรุณ, 2551 : 21)

1. กล้องคอมแพ็ค (Compact Digital Camera)

2. กล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว หรือ D-SLR (Digital Single Lens Reflex Camera)

กล้องคอมแพ็ค

เป็นกล้องที่ได้รับความนิยมอย่างสูง มีเลนส์ติดมากับตัวกล้องแบบถาวรไม่สามารถถอดเปลี่ยน เลนส์ได้ รูปทรงของกล้องประเภทนี้มีความหลากหลาย มีทั้งขนาดเล็กกระทัดรัด แบนและบาง ใส่กระเป๋าเสื้อได้ และที่เหมือนกับกล้องถ่ายรูปแบบคอมแพ็คที่ใช้ฟิล์มก็คือ น้ำหนักของกล้องจะเบา เหมาะแก่การพกพา กล้องถูกออกแบบมาให้เหมาะกับผู้ใช้งานทั่วไป ทำให้กล้องประเภทนี้ใช้งาน ได้ง่าย สามารถเลือกรูปแบบการถ่ายภาพแบบอัติโนมัติได้หลากหลายรูปแบบ เช่น คำสั่งถ่ายภาพบุคคล ภาพทิวทัศน์ ภาพระยะใกล้ ภาพกีฬา ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งคำสั่งเหล่านี้จะช่วยให้ถ่ายภาพได้ดีขึ้นโดยไม่ต้อง มีความรู้เรื่องการถ่ายภาพมากนัก

กล้องคอมแพ็ค หลากหลายรูปแบบ

นอกจากนี้ ยังมีกล้องคอมแพ็คอีกประเภทหนึ่งที่มี รูปร่าง และความสามารถในการใช้งานคล้ายกล้อง D-SLR เพียงแต่ถอดเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้เท่านั้น แต่มีจุดเด่นคือ พกพาสะดวก ใช้งานง่าย และราคาไม่แพงมากนักเป็นกล้องคอมแพ็คระดับสูง

กล้องคอมแพ็คระดับสูง

กล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว (D-SLR)

กล้องดิจิทัลประเภทนี้เหมาะสำหรับ มือสมัครเล่นที่จริงจัง หรือกึ่งมืออาชีพจนถึงระดับมืออาชีพ จุดสำคัญของกล้องประเภทนี้คือสามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ กล้อง D-SLR มักจะมาพร้อมกับคุณสมบัติที่มากมาย อาทิเช่น โปรแกรมการถ่ายภาพแบบต่าง ๆ และยังสามารถปรับแต่งเองได้ด้วยมือทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการโฟกัส การวัดแสง และความเร็วชัตเตอร์ ดังนั้นผู้ใช้ควรมีพื้นความรู้ในการถ่ายภาพดีพอสมควร นอกจากนี้กล้อง D-SLR ยังสามารถมองภาพจากช่องมองภาพผ่านเลนส์ ทำให้มองเห็นภาพที่ใกล้เคียงกับภาพจากเซ็นเซอร์ ซึ่งมีกลไกการทำงานโดยใช้ปริซึม 5 เหลี่ยม และกระจกสะท้อนภาพ เมื่อแสงผ่านเข้าสู่เลนส์จะกระทบกับกระจกสะท้อนภาพไปยังปริซึมและออกไปยังช่องมองภาพ เมื่อกดชัตเตอร์ถ่ายภาพกระจกสะท้อนภาพจะกระดกขึ้นทำแสงตกกระทบสู่ตัวเซ็นเซอร์รับภาพ

ส่วนประกอบของกล้องดิจิทัล

กล้องดิจิทัลทั้งแบบคอมแพ็คและกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว จะมีส่วนประกอบที่สำคัญคล้ายคลึงกันดังนี้

กล้อง D-SLR

กระบวนการถ่ายภาพด้วยระบบดิจิทัล

กระบวนการถ่ายภาพด้วยระบบดิจิทัล เริ่มต้นด้วยการเปิดสวิทช์เพื่อให้กล้องทำงาน แล้วส่องกล้องเล็งไปยังวัตถุที่ต้องการถ่ายภาพ เมื่อแสงจากแหล่งกำเนิดแสง เช่น แสงอาทิตย์ แสงไฟที่ติดตั้งไว้เพื่อการถ่ายภาพส่องไปยังวัตถุ วัตถุจะสะท้อนแสงผ่านเข้ามาทางเลนส์ของกล้อง ซึ่งประกอบด้วยชิ้นเลนส์หลายชิ้นรวมกันเป็นชุด แสงที่ผ่านเลนส์จะตกกระทบลงบนเซ็นเซอร์รับภาพแล้วถูกแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัล (สัญญาณดิจิทัล) ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปประมวลผลร่วมกับข้อมูลการกำหนดค่าต่าง ๆ ภายในกล้อง เช่น การกำหนดขนาดของภาพ การกำหนดค่าความไวแสง แล้วส่งไปจัดเก็บไว้เป็นไฟล์ในสื่อบันทึกข้อมูลซึ่งส่วนใหญ่เป็นการ์ดหน่วยความจำ จากนั้นก็นำมาแสดงภาพที่จอ LCD ของกล้องและสามารถนำออกมาแสดงภาพที่คอมพิวเตอร์หรือโทรทัศน์ และนำไปพิมพ์หรืออัดขยายภาพได้

    ไฟล์ภาพที่ได้จากกล้องดิจิทัลที่พบมากที่สุดในปัจจุบันคือไฟล์รูปแบบ Jpeg ซึ่งเป็นไฟล์ที่ถูกบีบอัดแล้ว ทำให้สามารถถ่ายภาพได้เป็นจำนวนมากไม่เปลืองเนื้อที่ในการเก็บข้อมูลลงการ์ดหน่วยความจำ ซึ่งการบีบอัดนี้ทำได้หลายระดับตั้งแต่บีบอัดให้เล็กลงไม่กี่เท่าจนถึงเล็กลงเป็นสิบหรือร้อยเท่า แล้วแต่ว่าจะยอมให้ข้อมูลของภาพนั้นมีคุณภาพลดลงหรือมีความผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับมากน้อยแค่ไหน ยิ่งบีบอัดมากก็ยิ่งเพี้ยนมาก ถ้าบีบอัดน้อยก็จะเพี้ยนเล็กน้อยจนแทบมองไม่เห็นความแตกต่างเมื่อมองดูด้วยตาเปล่า การบีบอัดข้อมูลด้วยวิธีนี้จะลดข้อมูลของภาพแต่ละภาพลงไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับว่าสีของจุดต่าง ๆ ในภาพนั้นมีลักษณะอย่างไร ซ้ำกันหรือใกล้เคียงกันมากน้อยแค่ไหนถ้าซ้ำกันหรือใกล้เคียงกันก็บีบอัดได้มาก ดังนั้นจะสังเกตเห็นได้ว่าการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัลตัวเดียวกันและถ่ายด้วยความละเอียดเดียวกัน เมื่อถ่ายแต่ละครั้งจนเต็มการ์ดหน่วยความจำ จำนวนภาพที่ได้มักไม่เท่ากัน นอกจากนี้กล้องดิจิทัลส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาบ้างในการบีบอัดข้อมูลให้มีขนาดเล็กลง รวมถึงการบันทึกข้อมูลเหล่านั้นลงในการ์ดหน่วยความจำ แล้วจึงนำมาแสดงผลที่จอภาพ LCD ดังนั้นหลังจากกดชัตเตอร์ใหบั้นทึกภาพแลว้ จึงมักต้องรอเวลาสักครู่เพื่อให้กล้องพร้อมที่จะถ่ายภาพต่อไป

เซ็นเซอร์รับภาพในกล้องดิจิทัล

สิ่งหนึ่งของกล้องดิจิทัลที่มีความสำคัญมาก และทำให้กล้องดิจิทัลแตกต่างจากกล้องใช้ฟิล์มอย่างเห็นได้ชัดเจนคือ เซ็นเซอร์รับภาพ (Image Device หรือ Image Sensor) ตัวเซ็นเซอร์นี้จะทำหน้าที่รับภาพหรือแสงแทนฟิล์ม บนพื้นผิวของเซ็นเซอร์ถูกแบ่งออกเป็นส่วนเล็ก ๆ เรียกว่า พิกเซล แต่ละพิกเซลจะบันทึกข้อมูล 1 จุดภาพ เมื่อรวมกันหลาย ๆ จุดอัดกันแน่นจะกลายเป็นภาพที่สามารถมองเห็นได้ว่าเป็นภาพอะไร

ประเภทของเซ็นเซอร์

เซ็นเซอร์รับภาพที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบ CCD (ซีซีดี) และ CMOS (ซีมอส)

เซ็นเซอร์แบบ CCD

เซ็นเซอร์รับภาพแบบ CCD ย่อมาจาก Charge Coupled Device โดยปกติ CCD จะรับรู้ได้เพียงว่ามีแสงสว่างมากหรือน้อนเท่านั้นที่มาตกกระทบ ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นสีอะไรดังนั้นเพื่อให้บันทึกภาพเป็นสีได้จึงเคลือบเซ็นเซอร์ด้วยฟิลเตอร์ที่เป็นแม่สีของแสง 3 สี คือ แดง เขียว น้ำเงิน เมื่อ CCD รับแสงมาแล้วจะเปลี่ยนค่าแสงเป็นประจุไฟฟ้าและแปลงเป็นสัญญาณแอนาล็อก ส่งเข้าสู่วงจรเปลี่ยนค่าแอนาล็อกเป็นสัญญาณดิจิทัลอีกที เพื่อนำไปประมวลผลเป็นภาพที่มีสีสันธรรมชาติต่อไป

ขณะนี้หลายบริษัทต่างแข่งขันกันออกเทคโนโลยีของ CCD ที่มีความละเอียดสูงขึ้น มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่มีบริษัทหนึ่งที่มีเทคโนโลยีที่แตกต่างออกไปคือ Fuji ที่ใช้เทคโนโลยีที่มีชื่อว่า Super CCD มีการจัดเรียง CCD แบบรวงผึ้งโดยผสมผสานเทคโนโลยีทางด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์แบบ Interpolate จะทำให้ได้ภาพขนาดใหญ่มากขึ้นกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากกระบวนการคำนวณภายในหน่วยประมวลผลของกล้องเพื่อจำลองภาพขึ้นมาใหม่ให้เหมือนกับการถ่ายภาพด้วยกล้องที่มีความละเอียดสูงทั้ง ๆ ที่ใช้ CCD ขนาดเท่าเดิม เช่น CCD ปกติมีความละเอียด 3.2 ล้านพิกเซล ถ้าใช้เทคโนโลยี Super CCD จะสามารถเพิ่มความละเอียดของภาพได้สูงถึง 5 ล้านพิกเซล แต่คุณภาพของภาพที่ได้จะด้อยกว่ากล้องที่ใช้ CCD แบบ 5 ล้านพิกเซลแท้ ๆ เล็กน้อย

เซ็นเซอร์แบบ CMOS

CMOS ย่อมาจาก Complementary Metal Oxide Semiconductor ในแต่ละพิกเซลของ CMOS นอกจากจะประกอบไปด้วยตัวรับแสงแล้ว ยังมีส่วนแปลงประจุไฟฟ้าให้เป็นสัญญาณแอนาล็อกและเปลี่ยนค่าเป็นสัญญาณดิจิทัลได้ในทันที ไม่ต้องส่งออกไปแปลงเหมือน CCD เมื่อมีวงจรต่าง ๆ ประกอบเข้ามาจึงทำให้พื้นที่ส่วนรับแสงน้อยลง มีความไวแสงต่ำและเกิดสัญญานรบกวนในภาพมาก แต่ต้นทุนต่ำกว่าเนื่องจากสามารถรวมทุกอย่างไว้ในวงจรเดียวได้เลย ดังนั้นเมื่อก่อน CMOS จึงใช้อยู่ในกล้องคุณภาพต่ำ แต่ในปัจจุบัน CMOS ได้รับการพัฒนาในหลาย ๆ ส่วน ทำให้รับแสงได้ไวขึ้นและสัญญาณรบกวนน้อยลง จนทำให้มีการนำ CMOS ไปใช้ในกล้องระดับคุณภาพสูงแล้ว

จะเลือกกล้องดิจิทัลที่ใช้เซ็นเซอร์แบบ CCD หรือ CMOS ดี

มาถึงจุดนี้ท่านผู้อ่านคงหนักใจซิครับว่าแล้วเราจะเลือกใช้กล้องดิจิทัล ที่ใช้เซ็นเซอร์รับภาพ แบบไหนดีระหว่าง CCD กับ CMOS อย่าเพิ่งหนักใจไปครับเรามาลองพิจารณาจุดเด่น-จุดด้อย ของ CCD กับ CMOS ในแต่ละประเด็นกันก่อน ดังนี้

  • ด้านความรวดเร็วในการตอบสนอง CMOS จะมีวงจรแปลงสัญญาณแสงในแต่ละพิกเซล เลย ส่วน CCD ตัวรับแสงจะรับแสงอย่างเดียวและจะส่งค่าที่ได้ออกมาให้วงจรที่มีหน้าที่ แปลงสัญญาณอีกที ทำให้ CMOS ประมวลผล ได้รวดเร็วกว่า CCD
  • คุณภาพในการรับแสง (Dynamic Range) ประเด็นนี้ CCD ๆได้เปรียบอย่างมาก เนื่องจาก ตัวรับแสงของ CCD มีแต่ส่วนรับแสงเพียงอย่างเดียว ต่างกับ CMOS ที่ต้องมีวงจรแปลง สัญญาณในแต่ละพิกเซลด้วย ดังนั้นในขนาดเซ็นเซอร์ที่เท่ากันส่วนรับแสงของ CCD จะมี ขนาดใหญ่กวา่ เนื่องจากไม่ต้องเสียพื้นที่ไปใหว้ งจรอื่น ๆ เหมือน CMOS ทำให้ภาพมี ความละเอียดและสีสันดีกว่า CMOS
  • การใช้พลังงาน ข้อนี้ CMOS เหนือกว่าเนื่องจากสามารถรวมวงจรต่าง ๆ ไว้ในตัวได้เลย ต่างจาก CCD ที่ต้องมีวงจรแปลงค่าเพิ่มขึ้นมา

ดังนั้นพอจะสรุปได้ว่า ในแง่ของการทำงาน (ความเร็ว การใช้พลังงาน) CMOS ได้เปรียบ ส่วนในแง่คุณภาพของภาพ CCD ได้เปรียบ แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีในการผลิตสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ ช่องว่างข้อได้เปรียบของเซ็นเซอร์ทั้ง 2 แบบ ถูกลดต่ำลงโดยหากจะย้อนหลังกลับไป 3-4 ปีก่อน ตอนนั้นทุกคนก็คงคิดว่า CCD จะเอาชนะ CMOS ได้อย่างแน่นอน เนื่องจากข้อได้เปรียบในเรื่อง คุณภาพและความละเอียดที่พัฒนาได้ง่ายกว่า แต่สิ่งที่ CMOS มีแล้วเป็นจุดสำคัญที่สุดคือในเรื่องของ ต้นทุนที่ต่ำกว่า เนื่องจากสามารถรวมทุกอย่างไว้ในวงจรเดียวได้เลย ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยีการผลิตที่ สูงขึ้นทำให้หลาย ๆ บริษัทเหลียวกลับมามอง CMOS อีกครั้ง ดังนั้นหากถามว่าถ้าจะเลือกซื้อกล้อง ดิจิทัลสักตัวควรเลือกซื้อกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์แบบ CCDหรือCMOS ดีกว่ากัน คงต้องตอบว่า“ไม่ต้องไป สนใจหรอก” หากว่ากล้องตัวนั้นถ่ายรูปออกมาแล้ว ความคมชัด สีสันถูกใจเราแล้วละก็ ชนิดของ เซ็นเซอร์ที่ใช้ก็คงไม่ใช่สิ่งสำคัญ

ขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพ

ขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพในกล้องดิจิทัลทั่ว ๆ ไป มีขนาดเล็กกว่าเฟรมภาพของกล้องฟิล์ม 35 mm และเซ็นเซอร์รับภาพของกล้องดิจิทัลก็มีหลายขนาด ถูกออกแบบมาให้เหมาะกับกล้องดิจิทัล แต่ละรุ่น โดยกล้องดิจิทัลคอมแพ็ค จะมีเซ็นเซอร์รับภาพ เล็กกว่ากล้อง D-SLR ขนาดเซ็นเซอร์รับภาพ ใหญ่ขึ้นเท่าไรคุณภาพของภาพที่ถ่ายได้ก็จะยิ่งดีมากขึ้น

 

เซ็นเซอร์รับภาพขนาดต่าง ๆ

ภาพด้านบนนี้ แสดงให้เห็นถึงขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพของกล้องรุ่นต่าง ๆ จะเห็นว่าเมื่อเปรียบเทียบกับฟิล์ม 35 mm ที่มีขนาด 36 x 24 mm แล้ว เซ็นเซอร์ของกล้องดิจิทัลส่วนใหญ่จะเล็กกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้องดิจิทัลคอมแพ็ค ส่วนเซ็นเซอร์ของกล้องดิจิทัล D-SLR ที่มีเซ็นเซอร์แบบ Full frame จะมีขนาดเท่ากับฟิล์ม 35 mm

ขนาดของเซ็นเซอร์ยังมีผลต่อมุมรับภาพที่สามารถถ่ายได้ (ในกรณีที่ใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวกัน) เช่น กล้องตัวที่ 1 มีเซ็นเซอร์รับภาพขนาด 18 x 13.5 mm กล้องตัวที่ 2 มีเซ็นเซอร์รับภาพขนาด 23.6 x 15.8 mm (กล้องตัวที่ 2 มีขนาดเซ็นเซอร์ใหญ่กว่าตัวที่ 1) หากใช้เลนส์ทางยาวโฟกัส 50 mm เหมือนกันในการถ่ายภาพ ณ ตำแหน่งเดียวกัน ผลที่ได้คือ ภาพที่ถ่ายด้วยกล้องตัวที่ 2 ซึ่งมีเซ็นเซอร์ใหญ่กว่าจะสามารถเก็บภาพได้มุมกว้างกว่ากล้องตัวที่ 1 แต่ถ้าหากนำกล้องตัวที่ 2 มาเปรียบเทียบกับกล้องดิจิทัล Full Frame ที่มีขนาดใหญ่กว่าแล้ว กล้องแบบ Full Frame จะให้ความครอบคลุมภาพมากกว่า หรืออาจกล่าวได้ว่าขนาดเซ็นเซอร์รับภาพยิ่งใหญ่ขึ้นก็สามารถเก็บภาพในมุมที่กว้างขึ้น

มุมรับภาพของเซ็นเซอร์ขนาดต่างกัน เมื่อใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสเท่ากัน

ความละเอียดของเซ็นเซอร์รับภาพ

ความละเอียดของเซ็นเซอร์รับภาพเป็นค่าของจำนวนพิกเซลในเซ็นเซอร์รับภาพ มักจะบอกค่าเป็น ล้านพิกเซล (Megapixel)” และบอกไว้ 2 ค่า คือ

  1. ความละเอียดทั้งหมด (Total Pixels) คือ จำนวนพิกเซลทั้งหมดบนเซ็นเซอร์รับภาพตามที่ถูกผลิตออกมา เช่น บอกว่า Total : 52 Megapixel
  2. ความละเอียดที่ใช้ได้จริง (Effective Pixels) คือ จำนวนพิกเซลของภาพที่ถ่ายได้จริงจากกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ตัวนั้น เช่น บอกว่า Effective : 50 Megapixel

ดังนั้นเวลาเลือกซื้อกล้องควรดูที่ค่า Effective เป็นหลัก ความละเอียดที่ใช้ได้จริงของเซ็นเซอร์รับภาพมีความสัมพันธ์กันกับขนาด ความกว้าง x ความยาว ของภาพ ถ้านำเอาความกว้างและความยาวที่มากที่สุดที่กล้องสามารถถ่ายได้มาคูณกัน ก็จะได้ความละเอียดที่ใช้ได้จริงของเซ็นเซอร์ตัวนั้น เช่นกล้องดิจิทัลถ่ายภาพได้ขนาดใหญ่ที่สุดเท่ากับ 3,872 x 2,592 พิกเซล เมื่อนำมาคูณกันแล้วจะได้ค่า 10,036,224 พิกเซล (หรือประมาณ 10 ล้าน พิกเซล)

คำว่า ความละเอียดที่เขียนอยู่ในรูป ความกว้าง x ความยาว ที่มากที่สุดที่กล้องสามารถถ่ายได้ หรือความละเอียดของภาพว่ามีความละเอียดกี่ล้านพิกเซลนั้น บอกเพียงว่ามีจุด (พิกเซล) อยู่กี่จุดในภาพนั้น แต่ไม่ได้บอกให้รู้ว่าเมื่อนำภาพมาพิมพ์ลงบนกระดาษแล้วจะมีขนาดความกว้างยาวเท่าไรเนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับความละเอียดของการพิมพ์ด้วย โดยทั่วไปการพิมพ์ภาพควรมีความละเอียดอยู่ที่ 300 PPI ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในสิ่งพิมพ์ทั่ว ๆ ไป คำว่า 300 PPI หมายถึง ภาพนั้นมีความละเอียด 300 จุด ต่อตารางนิ้ว หากไฟล์ภาพมีขนาด 3,872 x 2,592 พิกเซล (กล้องความละเอียด 10 ล้านพิกเซล) ก็จะได้ภาพขนาด 12.9 x 8.64 นิ้ว (ในกรณีไม่มีการย่อขยายภาพ คือ 1 จุด ของภาพจะพิมพ์ลงไปเป็น 1 จุด บนกระดาษจริงพอดี เพราะความยาว 3,872 จุด จะพิมพ์ได้ขนาด 3,872 ÷ 300 = 12.9 นิ้ว ในขณะที่ความกว้าง 2,592 จุดจะพิมพ์ได้ขนาด 2,592 ÷ 300 = 8.64 นิ้ว) นอกจากนี้ยังสามารถย่อขยาย ภาพได้อีก

จุดขาวบนภาพ (Dead/Hot Pixel)

ภาพที่เราถ่ายออกมาถ้าเกิดเป็นจุดขาวเล็ก ๆ บางครั้งมีเพียง 1-2 พิกเซล ซึ่งถือว่าเล็กมาก เมื่อเทียบกับจำนวนนับล้านที่อยู่ในภาพ ถ้าไม่นำไปขยายใหญ่หรือซูมภาพเข้าไปอาจมองไม่เห็นแต่บางครั้งจุดเหล่านี้ ก็มีมากจนสามารถสังเกตเห็นได้ในขนาดภาพปกติ จุดขาว ๆ เหล่านี้เรียกว่า Dead Pixel และ Hot Pixel ซึ่งมีลักษณะเป็นจุดสีขาวเหมืนกันแต่เรียกแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสาเหตุ การเกิด

การเกิด Dead Pixel

Dead Pixel แปลว่า พิกเซลตายคือพิกเซลเสียนั่นเอง ลักษณะของภาพที่เกิด Dead Pixel จะมีลักษณะเป็นจุดสีขาวเล็ก ๆ บนภาพ และมักจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่ถ่ายภาพ ไม่ว่าจะถ่ายในที่สว่างหรือในที่มืดก็จะเกิดเป็นจุดขาวๆตรงตำแหน่งเดิมตลอดเวลาเพราะเซ็นเซอร์บริเวณนั้นไม่สามารถรับแสงได้แล้ว

การเกิด Hot Pixel

Hot Pixel เกิดขึ้นเนื่องจากเซ็นเซอร์รับแสงมากเกินไปหรือรับแสงเป็นเวลานานเกินไป เช่นภาพถ่ายกลางคืนที่ต้องเปิดชัตเตอร์เป็นเวลานาน ๆ ทำให้เซลล์ซึ่งอยู่ในตัวเซ็นเซอร์ไม่สามารถวิเคราะห์และแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้าได้ถูกต้อง จึงแสดงเป็นจุดสีขาวบนภาพนั้นเรียกว่า Hot Pixelแปลว่า พิกเซลร้อนและกล้องที่ใช้งานมานานแล้ว CCD จะเริ่มเสื่อมทำให้เกิด Hot Pixel ได้เช่นกันภาพถ่ายเวลากลางคืนจะสังเกต Hot Pixel ได้ง่ายเพราะภาพมีสีเข้มจุดสีขาวจะมองสะดุดตา ส่วนภาพที่ถ่ายเวลากลางวันแสงสว่างจ้ามาก ๆ ก็อาจเกิด Hot Pixel ได้ แต่จะสังเกตไม่ค่อยเห็นเพราะภาพมีสีอ่อนสว่างทำให้มองเห็นจุดสีขาวได้ยาก

การตรวจสอบ Dead/Hot Pixel

การตรวสอบ Dead/Hot Pixel ทำได้โดยใช้โปรแกรม Dead Pixel Test ซึ่สามารถดาวน์โหลด โปรแกรมได้ที่ htt://www.starzen.com.com/imaging/deadpixeltest.htm วิธีทดสอบมีขั้นตอนดังนี้

  1. ให้เอาฝากล้องปิดที่หน้าเลนส์และใช้ผ้าสีดำปิดที่ตรงช่องมองด้วย เพื่อไม่ให้แสงใด ๆ เข้าไป
  2. ถ้ากล้องสามารถปรับรูปแบบไฟล์ที่จะบันทึกได้ให้บันทึกไฟล์แบบ TIFF เพื่อให้ได้คุณภาพดีที่สุด
  3. ตั้งค่าความละเอียดของภาพสูงสุดเท่าที่กล้องจะทำได้
  4. จากนั้นให้ถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/30 วินาที 1 วินาที และ 2 วินาที ตามลำดับ
  5. เมื่อถ่ายเสร็จให้โอนข้อมูลภาพเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์
  6. เปิดโปรแกรม Dead Pixel Test คลิกปุ่ม Browse
  7. เลือกไฟล์ภาพที่ถ่ายไว้
  8. เสร็จแล้วคลิกปุ่ม Test
  9. โปรแกรมจะแสดงรายละเอียดออกมา โดยจะตั้งค่าความสว่าง (Luminance) ไว้ระหว่าง60-250 ซึ่งหมายถึงหากพิกเซลใดมีค่าความสว่างตั้งแต่ 60-249 ก็จะรายงานว่าเป็นHot Pixel แต่ถ้ามีค่าความสว่างมากกว่า 250 จะรายงานว่าเป็น Dead Pixel และบอกตำแหน่งที่เกิด Dead/Hot Pixel ไว้ด้วยว่าเกิดที่ตำแหน่ง X , Y เท่าใด ดังตัวอย่าง

ตัวอย่างผลการทดสอบไฟล์ภาพจากกล้อง Nikon D90 ปรากฏว่า ไม่มี Dead / Hot Pixels

ตัวอย่างผลการทดสอบไฟล์ภาพจากกล้อง Konica KD-510Z ปรากฏว่า มี0 Dead Pixels 23 Hot Pixels

การเกิด Hot Pixel ที่ยอมรับกันได้นั้น ควรเป็นการเกิด Hot Pixel เมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำกว่า 4 วินาที แต่ถ้าเกิด Hot Pixel ที่ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงกว่านี้ แสดงว่าเซ็นเซอร์ของกล้องตัวนั้นมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน ดังนั้นเวลาซื้อกล้องอย่าลืมให้ทางร้านทำการทดสอบ Dead/Hot Pixel ก่อนจะได้ไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง

สื่อบันทึกภาพ

สื่อบันทึกภาพ เป็นการ์ดหน่วยความจำที่ใช้ในการบันทึกภาพ หลังจากที่แสงผ่านเลนส์จะมาตกกระทบที่เซ็นเซอร์รับภาพแล้วส่งไปประมวลผลภายในกล้อง จากนั้นจะถูกส่งไปบันทึกลงที่การ์ดหน่วยความจำ ซึ่งมีทั้งแบบถอดเปลี่ยนไม่ได้และแบบถอดเปลี่ยนได้

ประเภทของสื่อบันทึกภาพ

ปัจจุบันกล้องดิจิทัลมีความละเอียดสูงมาก ทำให้ต้องใช้การ์ดหน่วยความจำที่มีความจุมากขึ้นจึงนิยมใช้การ์ดหน่วยความจำแบบถอดเปลี่ยนได้ การ์ดหน่วยความจำแบบถอดเปลี่ยนได้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ Flash Memory และ Magnetic Disks

  1. Flash Memory เป็นการ์ดหน่วยความจำที่เก็บข้อมูลในรูปแบบชิป ซึ่งใช้กระบวนการทางไฟฟ้าในการบันทึกข้อมูล ทำให้ขณะบันทึกข้อมูลจะไม่มีการเคลื่อนไหวชิ้นส่วนใด ๆในการ์ดหน่วยความจำนั้น
  2. Magnetic Disks เป็นการ์ดหน่วยความจำแบบจานแม่เหล็ก ซึ่งจะบันทึกข้อมูลลงบนจานแม่เหล็ก โดยขณะที่บันทึกข้อมูลจานแม่เหล็กจะหมุนด้วยความเร็วสูง ทำให้มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลาแบบเดียวกับฮาร์ดดิสก์ในคอมพิวเตอร์นั่นเอง

ในปัจจุบันนิยมเก็บข้อมูลด้วยการ์ดหน่วยความจำแบบ Flash Memory เพราะทนทานและเก็บข้อมูลได้น่าเชื่อถือกว่า เนื่องจากเก็บข้อมูลด้วยชิปไม่มีชิ้นส่วนใด ๆ เคลื่อนไหวภายใน ดังนั้นในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะการ์ดหน่วยความจำแบบ Flash Memory ซึ่งมีหลายชนิดกล้องดิจิทัลแต่ละรุ่นก็จะใช้แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้การ์ดหน่วยความจำชนิดหนึ่ง ๆ ยังมีผู้ผลิตออกมาหลายยี่ห้อ และได้รับการพัฒนาให้มีความจุมากขึ้น ถ่ายโอนข้อมูลได้เร็วจึ้น เวลาเลือกใช้ต้องดูความสามารถของกล้องด้วยว่าสามารถรองรับการ์ดหน่วยความจำชนิดใด ใช้ได้กับชนิดที่ถ่ายโอนข้อมูลความเร็วสูง (High Speed)ได้หรือไม่ การ์ดหน่วยความจำประเภท Flash Memory ที่นิยมใช้มีดังนี้ (อรวินทร์ เมฆพิรุณ, 2551 : 44-45 ; วีรนิจ ทรรทรานนท์, 2552 : 110 ; “เจาะลึกการ์ดหน่วยความจำสำหรับอุปกร์ดิจิทัล ตอนที่ 1.” 2552, ออนไลน์ ; “เรามาทำความรู้จักกับการ์ดหน่วยความจำชนิดต่าง ๆ ดีกว่า.” 2552, ออนไลน์ การ์ดหน่วยความจำแบบแฟลชและอัตราความเร็ว X.” 2552, ออนไลน์)

(สารบัญ) การถ่ายภาพด้วยระบบดิจิทัล

สารบัญ

หน้า

คำนำ…………………………………………………………………………………………………………………………… -1-

สารบัญ……………………………………………………………………………………………………………………….. -3-

บทที่ 1 รู้จักกล้องดิจิทัล………………………………………………………………………………… 1

ความหมายของกล้องดิจิทัล……………………………………………………………………………… 1

วิเคราะห์จุดเด่นของกล้องดิจิทัลกับกล้องใช้ฟิล์ม………………………………………………… 2

ประเภทของกล้องดิจิทัล………………………………………………………………………………….. 4

กล้องคอมแพ็ค……………………………………………………………………………………… 4

กล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว (D – SLR)…………………………………………………… 5

ส่วนประกอบของกล้องดิจิทัล………………………………………………………………………….. 6

กระบวนการถ่ายภาพด้วยระบบดิจิทัล……………………………………………………………….. 8

เซ็นเซอร์รับภาพในกล้องดิจิทัล………………………………………………………………………… 9

ประเภทของเซ็นเซอร์…………………………………………………………………………….. 9

เซ็นเซอร์แบบ CCD……………………………………………………………………………….. 10

เซ็นเซอร์แบบ CMOS…………………………………………………………………………….. 11

จะเลือกกล้องดิจิทัลที่ใช้เซ็นเซอร์แบบ CCD หรือ CMOS ดี………………………… 12

ขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพ……………………………………………………………………… 13

ความละเอียดของเซ็นเซอร์รับภาพ…………………………………………………………… 14

จุดขาวบนภาพ (Dead/Hot Pixel)………………………………………………………………………. 15

การเกิด Dead Pixel………………………………………………………………………………… 15

การเกิด Hot Pixel………………………………………………………………………………….. 16

การตรวจสอบ Dead/Hot Pixel………………………………………………………………… 16

สื่อบันทึกภาพ………………………………………………………………………………………………… 18

ประเภทของสื่อบันทึกภาพ……………………………………………………………………… 18

CompactFlash Card (CF Card)………………………………………………………………… 19

Multimedia Card (MMC Card)………………………………………………………………. 19

Secure Digital Card (SD Card )……………………………………………………………… 20

Secure Digital Extended Capacity (SDXC)………………………………………………. 21

xD – Picture Card ……………………………………………………………………………….. 21

Memory Stick……………………………………………………………………………………… 21

Memory Stick Pro………………………………………………………………………………… 22

Memory Stick Duo……………………………………………………………………………….. 22

Memory Stick Pro Duo…………………………………………………………………………. 22

การ์ดหน่วยความจำแบบแฟลช (Flash Memory) และอัตราความเร็ว X………… 23

การดูแลรักษากล้องดิจิทัล………………………………………………………………………………… 23

การดูแลรักษากล้องดิจิทัลเมื่อนำไปใช้นอกสถานที่……………………………………. 23

การดูแลรักษากล้องเมื่อไม่ได้ใช้……………………………………………………………… 26

สรุป……………………………………………………………………………………………………………… 27

บทที่ 2 การเลือกใช้เลนส์และอุปกรณ์เสริมเพื่อการถ่ายภาพดิจิทัล……………………….. 31

ความหมายของสัญลักษณ์ที่หน้าเลนส์หรือตัวเลนส์…………………………………………….. 31

ธรรมชาติของเลนส์และการเลือกใช้งาน…………………………………………………………….. 33

ประเภทของเลนส์………………………………………………………………………………….. 33

เลนส์มุมกว้าง………………………………………………………………………………………… 33

เลนส์มาตรฐาน……………………………………………………………………………………… 34

เลนส์ถ่ายไกล………………………………………………………………………………………… 34

เลนส์ตาปลา………………………………………………………………………………………….. 35

เลนส์มาโคร………………………………………………………………………………………….. 36

เลนส์ซูม……………………………………………………………………………………………….. 37

การซูมแบบออฟติคอล (Optical Zoom) และการซูมแบบดิจิทัล (Digital Zoom)………. 38

การซูมแบบออฟติคอล…………………………………………………………………………… 38

การซูมแบบดิจิทัล…………………………………………………………………………………. 39

ระบบป้องกันภาพสั่นไหว……………………………………………………………………………….. 39

มอเตอร์ออโต้โฟกัส………………………………………………………………………………………… 40

การเคลือบผิวเลนส์…………………………………………………………………………………………. 40

ชิ้นเลนส์……………………………………………………………………………………………………….. 40

อุปกรณ์เสริมสำหรับกล้องดิจิทัล………………………………………………………………………. 41

อุปกรณ์เพิ่มประสิทธิภาพให้กับเลนส์ของกล้องดิจิทัลคอมแพ็ค……………………………. 41

Adaptor Tube ………………………………………………………………………………………. 41

Conversion Lens ………………………………………………………………………………….. 41

ฟิลเตอร์…………………………………………………………………………………………………………. 42

ฟิลเตอร์ยูวี……………………………………………………………………………………………. 42

ฟิลเตอร์ C-PL……………………………………………………………………………………….. 43

ฟิลเตอร์ลดทอนแสง ND………………………………………………………………………… 44

แฟลชภายนอก ………………………………………………………………………………………………. 47

ขาตั้งกล้อง…………………………………………………………………………………………………….. 48

สายลั่นชัตเตอร์………………………………………………………………………………………………. 49

แบตเตอรี่……………………………………………………………………………………………………….. 50

แบตเตอรี่แบบใช้ครั้งเดียว………………………………………………………………………. 50

แบตเตอร์รี่แบบชาร์จไฟได้……………………………………………………………………… 51

แท่นชาร์จแบตเตอรี่………………………………………………………………………………………… 52

แบตเตอรี่กริป………………………………………………………………………………………………… 52

สรุป……………………………………………………………………………………………………………… 54

บทที่ 3 พื้นฐานเบื้องต้นสำหรับการถ่ายภาพดิจิทัล…………………………………………… 57

ความเร็วชัตเตอร์…………………………………………………………………………………………….. 57

ความเร็วชัตเตอร์สูง……………………………………………………………………………….. 58

ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ………………………………………………………………………………… 59

รูรับแสง………………………………………………………………………………………………………… 59

ความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์……………………………………………. 62

ความไวแสง…………………………………………………………………………………………………… 63

การวัดแสง…………………………………………………………………………………………………….. 64

การชดเชยแสง………………………………………………………………………………………. 66

ระบบวัดแสงแบบต่าง ๆ ของกล้องดิจิทัล………………………………………………….. 68

การโฟกัสภาพ………………………………………………………………………………………………… 70

ระบบโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติ………………………………………………………………… 70

ระบบโฟกัสภาพด้วยมือ…………………………………………………………………………. 71

ปัญหาจากการโฟกัสภาพและวิธีการแก้ไข………………………………………………… 72

ความสมดุลของสีขาว……………………………………………………………………………………… 74

Auto White Balance………………………………………………………………………………. 75

Daylight………………………………………………………………………………………………. 75

Tungsten………………………………………………………………………………………………. 76

Cloudy…………………………………………………………………………………………………. 77

Fluorescent…………………………………………………………………………………………… 77

การปรับตั้งสมดุลของสีขาวขึ้นใช้เอง……………………………………………………….. 78

การเล็งภาพด้วยช่องมองภาพกับการเล็งด้วยจอภาพ LCD…………………………………….. 79

ช่องมองภาพ…………………………………………………………………………………………. 79

จอภาพ LCD…………………………………………………………………………………………. 80

การวิเคราะห์เปรียบเทียบจุดเด่นจุดด้อยของการเล็งภาพจากช่องมองภาพกับจอ LCD……. 81

สรุป……………………………………………………………………………………………………………… 81

บทที่ 4 ขั้นตอนการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัล……………………………………………………. 85

ขั้นตอนที่ 1 การเปิดกล้องและเลือกโหมดการทำงาน…………………………………………… 85

การเปิดกล้อง………………………………………………………………………………………… 85

การเลือกโหมดการทำงาน………………………………………………………………………. 86

ขั้นตอนที่ 2 การตั้งค่าการทำงานพื้นฐาน……………………………………………………………. 87

ตั้งวันที่และเวลา…………………………………………………………………………………….. 87

การตั้งชื่อโฟลเดอร์เพื่อบันทึกภาพ…………………………………………………………… 88

การเปิดและปิดจอ LCD………………………………………………………………………….. 88

การปรับความสว่างของจอ LCD…………………………………………………………….. 90

การตั้งค่าความไวแสง…………………………………………………………………………….. 90

การตั้งค่า White Balance………………………………………………………………………… 90

การตั้งค่าตามมาตรฐานของโรงงาน………………………………………………………….. 91

ขั้นตอนที่ 3 การเลือกฟอร์แมตและขนาดของภาพ……………………………………………….. 91

ไฟล์ JPEG…………………………………………………………………………………………… 91

ไฟล์ RAW……………………………………………………………………………………………. 92

ขนาดของภาพ……………………………………………………………………………………….. 93

ขั้นตอนที่ 4 การเลือกโหมดการถ่ายภาพ…………………………………………………………….. 94

โหมดการถ่ายภาพแบบโปรแกรมสำเร็จรูป……………………………………………….. 95

โหมดการถ่ายภาพชั้นสูง…………………………………………………………………………. 100

โหมดการถ่ายภาพต่อเนื่อง……………………………………………………………………… 104

โหมดถ่ายภาพคร่อม………………………………………………………………………………. 105

ขั้นตอนที่ 5 การจัดองค์ประกอบภาพ………………………………………………………………… 107

ขั้นตอนที่ 6 การวัดแสง……………………………………………………………………………………. 107

ขั้นตอนที่ 7 การปรับโฟกัสภาพ………………………………………………………………………… 108

ขั้นตอนที่ 8 การกดชัตเตอร์………………………………………………………………………………. 108

ขั้นตอนที่ 9 การดูผลงานภาพที่ถ่ายออกมา…………………………………………………………. 108

สรุป……………………………………………………………………………………………………………… 110

บทที่ 5 ศิลปะในการถ่ายภาพดิจิทัล………………………………………………………………… 113

การจัดองค์ประกอบภาพ………………………………………………………………………………….. 113

เลือกฉากหลังที่เหมาะสม……………………………………………………………………….. 113

ความสมดุลของภาพ………………………………………………………………………………. 114

การนำลักษณะของเส้นมาสร้างภาพ…………………………………………………………. 115

การใช้เส้นนำสายตา……………………………………………………………………………….. 117

รูปทรงและรูปร่าง………………………………………………………………………………….. 117

กฏสามส่วน………………………………………………………………………………………….. 119

จุดตัดเก้าช่อง………………………………………………………………………………………… 120

รายละเอียดบนพื้นผิวของสิ่งที่ถ่าย…………………………………………………………… 121

ภาพลวดลาย…………………………………………………………………………………………. 122

เว้นที่ว่างสร้างความน่าสนใจ………………………………………………………………….. 122

ความสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน………………………………………………….. 123

หากรอบให้กับภาพที่ถ่าย………………………………………………………………………. 126

เรื่องของแสง………………………………………………………………………………………………… 127

ทิศทางของแสง…………………………………………………………………………………… 127

การจัดแสงเบื้องต้น……………………………………………………………………………… 129

คุณภาพของแสง…………………………………………………………………………………. 132

เวลาที่เหมาะสมกับการถ่ายภาพ……………………………………………………………………… 134

มุมกล้อง……………………………………………………………………………………………………… 134

มุมปกติ……………………………………………………………………………………………… 135

มุมก้ม………………………………………………………………………………………………… 135

มุมเงย………………………………………………………………………………………………… 136

มุมแปลกๆ………………………………………………………………………………………….. 137

โทนสีกับการถ่ายภาพ……………………………………………………………………………………. 137

โทนสีกลมกลืน…………………………………………………………………………………… 138

โทนสีตัดกัน……………………………………………………………………………………….. 138

จับภาพตรง จังหวะอันเหมาะ”…………………………………………………………………….. 139

สรุป……………………………………………………………………………………………………………. 140

บทที่ 6 การสร้างสรรค์ภาพถ่ายดิจิทัลแบบต่าง ๆ……………………………………………. 143

การถ่ายภาพบุคคล……………………………………………………………………………………….. 143

การถ่ายภาพบุคคลเดี่ยว……………………………………………………………………….. 143

การถ่ายภาพหมู่ …………………………………………………………………………………. 149

การถ่ายภาพเด็ก…………………………………………………………………………………………… 150

การถ่ายภาพทิวทัศน์…………………………………………………………………………………….. 152

การถ่ายภาพทิวทัศน์ทั่วๆ ไป………………………………………………………………… 152

การถ่ายภาพดวงอาทิตย์ขึ้น ตก ………………………………………………………….. 156

การถ่ายภาพเงาดำ………………………………………………………………………………… 158

การถ่ายภาพน้ำตก ………………………………………………………………………………. 159

การถ่ายภาพกลางคืน…………………………………………………………………………………….. 160

การถ่ายภาพสถาปัตยามค่ำคืน……………………………………………………………….. 161

การถ่ายภาพการเคลื่อนที่ของแสงไฟ……………………………………………………… 162

การถ่ายภาพแสงไฟตอนกลางคืนให้เป็นแฉก………………………………………….. 163

การถ่ายภาพการแสดงและแสงสี…………………………………………………………… 164

การถ่ายภาพคนในที่มีแสงน้อยยามค่ำคืน……………………………………………….. 165

การถ่ายภาพพลุ…………………………………………………………………………………… 166

การถ่ายภาพวัตถุกำลังเคลื่อนที่………………………………………………………………………. 167

การถ่ายภาพวัตถุกำลังเคลื่อนที่ให้หยุดนิ่ง………………………………………………. 167

การถ่ายภาพให้เห็นการเคลื่อนที่ของวัตถุ……………………………………………….. 168

การแพนกล้องตามวัตถุที่เคลื่อนที่…………………………………………………………. 169

การถ่ายภาพกีฬา…………………………………………………………………………………. 169

การถ่ายภาพหน้าจอโทรทัศน์หรือจอคอมพิวเตอร์…………………………………… 171

การถ่ายภาพขาวดำ…………………………………………………………………………………….. 172

การถ่ายภาพ Candid……………………………………………………………………………….. 173

การถ่ายภาพระยะใกล้…………………………………………………………………………………… 174

การถ่ายภาพสัตว์………………………………………………………………………………………….. 175

สรุป…………………………………………………………………………………………………………… 176

บทที่ 7 การโอนและจัดการไฟล์ภาพด้วย Adobe Bridge CS4………………………….. 181

ส่วนประกอบสำคัญของ Adobe Bridge CS4………………………………………………… 181

แถบเครื่องมือพื้นฐาน……………………………………………………………………………………. 182

การเลือก Workspace เพื่อการใช้งาน……………………………………………………………. 182

ESSENTIALS…………………………………………………………………………………… 182

FILMSTRIP………………………………………………………………………………………. 183

METADATA……………………………………………………………………………………. 183

OUTPUT…………………………………………………………………………………………… 184

KEYWORD………………………………………………………………………………………. 184

PREVIEW…………………………………………………………………………………………. 185

LIGHT TABLE…………………………………………………………………………………. 185

FOLDERS……………………………………………………………………………………….. 186

การโอนไฟล์ภาพไว้ในคอมพิวเตอร์ด้วย Adobe Bridge CS4…………………………. 186

การดูภาพแบบเต็มจอในโหมด Full Screen……………………………………………………. 191

การดูภาพแบบ Slideshow…………………………………………………………………………… 192

การหมุนภาพ……………………………………………………………………………………………….. 193

การหมุนภาพเฉพาะทัมบ์เนล………………………………………………………………… 193

การหมุนภาพจริง………………………………………………………………………………… 194

การเข้าถึงไฟล์หรือโฟลเดอร์ที่เก็บภาพ……………………………………………………………. 196

การคัดกรองภาพ………………………………………………………………………………………….. 197

การคัดกรองภาพด้วยวิธีRating …………………………………………………………. 197

การคัดกรองภาพด้วยการสร้าง Label …………………………………………………… 200

การคัดกรองภาพด้วยพาเนล FILTER ……………………………………………………. 202

การคัดกรองภาพจากพาเนล COLLECTIONS………………………………………….. 203

การเปิดดูข้อมูลและเพิ่มข้อมูลให้กับไฟล์ภาพ………………………………………………….. 206

การค้นหาภาพด้วยพาเนล KEYWORDS ………………………………………………………… 208

การลบภาพหรือโฟลเดอร์ออกจาก Bridge…………………………………………………….. 211

การใช้งานคำสั่งอัตโนมัติร่วมกับ Photoshop…………………………………………………. 212

การปรับขนาดภาพ…………………………………………………………………………..212

การต่อภาพพาโนรามา………………………………………………………………………… 213

สรุป…………………………………………………………………………………………………………….. 214

บทที่ 8 การตกแต่งและพิมพ์ภาพด้วย Adobe Photoshop CS4………………………… 215

ส่วนประกอบของหน้าจอ Photoshop CS4…………………………………………………….. 215

การเปิดไฟล์ภาพ…………………………………………………………………………………………… 216

การบันทึกไฟล์ภาพ……………………………………………………………………………………………. 218

การปิดไฟล์ภาพและออกจากโปรแกรม Photoshop………………………………………………. 219

การวิเคราะห์ภาพถ่ายด้วย Histogram…………………………………………………………………. 220

การแก้ไขความมืดสว่างของภาพ…………………………………………………………………………. 223

การปรับแก้ภาพที่ถ่ายย้อนแสงให้สว่างขึ้น…………………………………………………………… 224

การปรับภาพที่มีความเปรียบต่างของแสงน้อยให้คมชัดขึ้น…………………………………….. 225

การเปลี่ยนสีให้ภาพด้วย Hue/Saturation…………………………………………………………… 225

การเปลี่ยนภาพสีเป็นภาพขาวดำ และโทนภาพสีซีเปีย…………………………………………. 227

การแก้ White Balance ………………………………………………………………………………….. 228

การปรับสีให้สดใสทั่วทั้งภาพ……………………………………………………………………………. 230

การทำฉากหลังให้เบลอ…………………………………………………………………………………….. 231

การแก้ไขภาพถ่ายบุคคลตาแดง………………………………………………………………………….. 233

การลบ สิว ไฝ ฝ้า บนใบหน้า…………………………………………………………………………….. 234

การลบพื้นหลังภาพเดิมและเปลี่ยนพื้นหลังภาพใหม่…………………………………………….. 235

การต่อภาพพาโนรามา……………………………………………………………………………………… 237

การปรับแต่งขนาดของภาพด้วย Image Size………………………………………………………. 241

การปรับแต่งขนาดและความละเอียดของภาพเพื่อนำเสนอผ่านเว็บไซต์หรือส่งอีเมล………. 241

การปรับแต่งขนาดและความละเอียดของภาพสำหรับสิ่งพิมพ์……………………….. 245

การตั้งค่าและการพิมพ์ภาพ……………………………………………………………………………….. 246

การปรับสัดส่วนภาพก่อนนำไปอัดขยายที่ร้าน…………………………………………………….. 248

สรุป………………………………………………………………………………………………………………. 251

บรรณานุกรม……………………………………………………………………………………………….. 253

(คำนำ) การถ่ายภาพด้วยระบบดิจิทัล

คำนำ

    ทุกวันนี้กล้องดิจิทัลกำลังได้รับความนิยมสูงมากในวงการถ่ายภาพ ทั้งนี้เนื่องจากกล้องดิจิทัล ไม่ต้องใช้ฟิล์มทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ส่วนหนึ่ง กล้องดิจิทัลจะถ่ายภาพออกมาเป็นไฟล์ดิจิทัล สามารถดูภาพได้ทันทีหลังจากถ่าย ไม่ต้องเสียเวลาไปล้างอัดขยายภาพมาดู และถ้าพบว่าภาพที่ถ่ายเสีย หรือถ่ายออกมาไม่เป็นที่พอใจ ก็สามารถถ่ายแกไ้ ขใหม่ได้ในทันที นอกจากนี้ไฟล์ภาพที่ถ่ายออกมายังสามารถนำไปตกแต่งด้วยโปรแกรมต่างๆ เพื่อนำไปใช้งานได้อย่างหลากหลาย นำไปพิมพ์ภาพเองหรือส่งไปอัดขยายภาพได้ที่ร้านอัดขยายภาพดิจิทัลทั่วไป

    การถ่ายภาพและการตกแต่งภาพเป็นของคู่กัน เป็นงานศิลปะที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และการฝึกฝนเพื่อให้เกิดทักษะและความชำนาญ การเรียนรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพด้วยระบบดิจิทัลจะช่วยให้ถ่ายภาพออกมาสวยงามและนำไปตกแต่งได้ง่าย ในทางตรงกันข้ามถ้าใครไม่มีความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพด้วยระบบดิจิทัล มักจะถ่ายภาพออกมาไม่ดีและยากลำบากต่อการตกแต่งภาพ ดังนั้นภาพที่สวยงามส่วนใหญ่จะถูกถ่ายออกมาดีเป็นเบื้องต้น และนำไปผ่านกระบวนการตกแต่งภาพให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงได้ภาพออกมาดังที่ใจต้องการ

    หนังสือการถ่ายภาพด้วยระบบดิจิทัลนี้ จะให้ความรู้ตั้งแต่แนะนำให้รู้จักกล้องดิจิทัล รู้จักการเลือกใช้เลนส์และอุปกรณ์เสริมเพื่อการถ่ายภาพดิจิทัล มีพื้นฐานเบื้องต้นสำหรับการถ่ายภาพดิจิทัลทำความเข้าใจกับขั้นตอนการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัล เรียนรู้หลักการทางศิลปะในการถ่ายภาพดิจิทัล เพื่อนำไปสร้างสรรค์ภาพถ่ายดิจิทัลแบบต่าง ๆ จากนั้นจึงโอนและจัดการไฟล์ภาพด้วย Adobe Bridge CS4 เพื่อทำการตกแต่งและพิมพ์ภาพด้วย Adobe Photoshop CS4

    ผู้เรียบเรียงจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือการถ่ายภาพด้วยระบบดิจิทัลนี้ จะเป็นแนวทางให้ผู้อ่านได้นำไปประยุกต์ใช้ในการถ่ายภาพและตกแต่งภาพดิจิทัลได้เป็นอย่างดี

ผศ. ดร.ศักดิ์คเรศ ประกอบผล
29 กรกฎาคม 2553