บทที่ 3
พื้นฐานเบื้องต้นสำหรับการถ่ายภาพดิจิทัล

    ก่อนที่จะนำกล้องดิจิทัลออกไปถ่ายภาพ เราควรมีพื้นฐานความรู้เบื้องต้นสำหรับการถ่ายภาพดิจิทัลกันก่อน เพื่อนำไปปรับใช้กับกล้องดิจิทัลของเราให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพและได้ภาพที่ถ่ายออกมาสวยงามตรงตามวัตถุประสงค์ของการถ่ายภาพในแต่ละครั้ง ดังนั้นในบทนี้จะเป็นการปูพื้นฐานให้ทราบเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่นักถ่ายภาพควรทราบไว้เป็นเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นกล้องดิจิทัลประเภทใดก็ตามก็สามารถนำความรู้เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ได้

ความเร็วชัตเตอร์ (Shutter Speed)

    ความเร็วชัตเตอร์ คือ ระยะเวลาที่กล้องเปิดม่านชัตเตอร์รับแสงเพื่อบันทึกภาพ กล่าวคือ กล้องดิจิทัลทุกประเภท จะมีม่านชัตเตอร์ไว้ป้องกันไม่ให้แสงเข้าไปสู่เซ็นเซอร์ในขณะที่เรายังไม่ถ่ายภาพ พอเรากดปุ่มชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพกล้องจะเปิดม่านชัตเตอร์ปล่อยให้แสงเข้าไปสู่เซ็นเซอร์เพื่อบันทึกภาพระยะเวลาหนึ่งแล้วจึงปิด ระยะเวลาที่ม่านชัตเตอร์เปิดจนถึงปิดนี้เรียกว่า “ความเร็วชัตเตอร์” ความเร็วชัตเตอร์ ส่วนใหญ่จะบอกค่าเป็นตัวเลขเศษส่วนหน่วยเป็นวินาทีซึ่งถือว่าเร็วมาก (เปิด-ปิดม่านชัตเตอร์เร็วมาก) เช่น 1/1000, 1/500,1/250, 1/125, 1/60, 1/30, 1/15, 1/8, 1/4, 1/2, และ 1 วินาที เป็นต้น (เรียงลำดับความเร็วชัตเตอร์จากเร็วไปหาช้า) แต่ละช่วงความเร็วเรียกว่าห่างกัน 1 Stop ดังนั้นความเร็ว ชัตเตอร์ 1/1000 วินาที ก็จะเร็วกว่า1/500 วินาที 1Stop เมื่อเร็วกว่าก็จะส่งผลให้แสงผ่านเข้าสู่เซ็นเซอร์ได้น้อยกว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าวถ้าเราเปิดรูรับแสงเท่ากัน ภาพที่ถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์1/500 วินาที แล้วได้ภาพออกมาสวยงามแสงปกติ(Normal) จะทำให้ภาพที่ถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์1/1000 วินาที ได้ภาพออกมามืดกว่าภาพที่ถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/500 วินาที เรียกว่าถ่าย Under ไปเพราะแสงเข้าไปยังเซ็นเซอร์น้อยกว่า และในทางตรงกันข้ามภาพที่ถ่ายด้วยความเร็ว 1/250 วินาทีจะได้ภาพออกมาสว่างกว่าภาพที่ถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/500 เรียกว่าถ่าย Over ไป เพราะแสงเข้าไปยังเซ็นเซอร์มากกว่า

    ความเร็วชัตเตอร์สูง คือ เปิด-ปิดม่านชัตเตอร์เร็วมาก ๆ ทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาสามารถหยุด การเคลื่อนไหวของวัตถุที่ถ่ายได้ เช่น ใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/1000, 1/500, 1/250 วินาที อย่างไรก็ตาม ความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสม สำหรับหยุดสิ่งที่เคลื่อนไหวนี้ยังขึ้นอยู่กับความเร็วของสิ่งที่เคลื่อนไหว ด้วย ยิ่งวัตถุที่เราถ่ายมีการเคลื่อนไหวที่เร็ว มาก ก็ยิ่งต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงมากขึ้น เพื่อหยุดการเคลื่อนไหวนั้น เช่น ถ้าเป็นภาพ คนวิ่งเราอาจใช้ความเร็วชัตเตอร์แค่ 1/500 วินาที ก็หยุดคนวิ่งได้แล้ว แต่ถ้าเป็นภาพ รถแข่งกำลังวิ่งอย่างรวดเร็ว เราอาจต้องใช้ ความเร็วชัตเตอร์สูงถึง 1/2000 วินาที จึงจะสามารถหยุดรถแข่งได้นิ่งสนิท

 

    ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ คือเปิดม่านชัตเตอร์แล้วปิดม่านชัตเตอร์ช้า จึงทำให้เห็นการเคลื่อนไหว ของวัตถุที่ถ่าย เช่น ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/8, 1/2, 1 วินาที แต่เมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำควรใช้ขาตั้งกล้องช่วย ถ้าถือกล้องด้วยมือจะทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาสั่นไหว ถ้าหากเราต้องการให้ภาพถ่ายที่เป็นภาพนิ่งของเราสื่อความหมายแสดงให้เห็นการเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆในภาพ ต้องถ่ายโดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ค่อนข้างต่ำ เพื่อเน้นให้สิ่งที่เคลื่อนไหวนั้นดูเบลอ ไม่คมชัด แต่จุดเด่นของภาพลักษณะนี้อยู่ที่การเลือกนำเสนอบางสิ่งที่หยุดนิ่งควบคู่ไปกับบางสิ่งที่เคลื่อนไหว แล้วเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำให้เหมาะสมจะมองเห็นสิ่งที่เคลื่อนไหวเบลอแต่สิ่งที่ไม่เคลื่อนไหวจะมองเห็นชัดนิ่งอยู่ในภาพเดียวกัน ทำให้รู้สึกได้ถึงการเคลื่อนไหวของสิ่งที่เบลอนั้นผ่านสิ่งที่ชัดเจนในภาพการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำนี้ก็เช่นกัน ถ้าเราใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำมาก (ช้ามาก) แต่วัตถุเคลื่อนไหวเร็ว เราอาจจับภาพการเคลื่อนไหวของวัตถุเป็นทางลายไม่สวยงาม ดังนั้นถ้าอยากได้ภาพที่วัตถุเคลื่อนไหวสวยงาม ก็ต้องเลือกความเร็วชัตเตอร์ต่ำให้สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของวัตถุที่เราจะถ่ายด้วย ต้องฝึกและทดลองถ่ายดู

รูรับแสง (Aperture)
รูรับแสงบางครั้งเรียกว่าหน้ากล้อง เปรียบเสมือนช่องที่ควบคุมให้แสงเข้าสู่เลนส์ ซึ่งรูรับแสงนี้เป็นไดอะแฟรม (Diaphragm) สามารถปรับความกว้างได้เพื่อควบคุมปริมาณแสงที่ผ่านไป รูรับแสงที่กว้างทำให้รับแสงได้มากและรวดเร็วกว่ารูรับแสงที่แคบ เลนส์ที่สามารถปิดรูรับแสงได้กว้างช่วยให้เรามีโอกาสถ่ายภาพได้หลากหลายกว่าเลนส์ที่เปิดรูรับแสงได้แคบ เพราะเลนส์ที่เปิดรูรับแสงได้กว้างก็สามารถหรี่รูรับแสงลงได้เท่ากับเลนส์ที่เปิดรูรับแสงได้แคบ ซึ่งขนาดของรูรับแสงนี้มีผลต่อภาพที่เราถ่ายออกมา ดังจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป

ขนาดของรูรับแสงนั้นจะวัดเป็นหน่วย f-Stop หรือ f-Number เช่น f/1.4, f/2, f 2.8, f/4, f/5.6,f/8, f/11, f/16 และ f/22 แต่ละช่วงของขนาดรูรับแสงเรียกว่าห่างกัน 1 Stop ค่า f-Number เป็นค่าที่ไม่มีหน่วย เพราะเป็นค่าอัตราส่วนระหว่างทางยาวโฟกัสของเลนส์ (หน่วยเป็น mm) ต่อเส้นผ่าศูนย์กลางของช่องเปิดรูรับแสง (หน่วยเป็น mm เช่นกัน) ถ้าเขียนออกมาเป็นสูตรจะได้ดังนี้

f-Number = Focal Length / Diameter

ถ้าเลนส์มีทางยาวโฟกัส 100 mm และมีเส้นผ่าศูนย์กลางของช่องรูรับแสงเท่ากับ 25 mm จะแทนค่าสูตรได้ดังนี้

f-Number = 100 mm / 25 mm

จะได้ f-Number = 4 (ไม่มีหน่วยเพราะหน่วย mm หารกัน จึงตัดออกไป) เขียนสัญลักษณ์ได้เป็น f/4 แสดงว่าเปิดหน้ากล้อง(รูรับแสง) เท่ากับ f/4 นั่นเอง เลนส์ตัวเดียวกันนี้ถ้าเราหรี่รูรับแสงลงให้เหลือเส้นผ่าศูนย์กลางของช่องรูรับแสงเพียง 12.5 mm จะแทนค่าในสูตรได้

f-Number = 100 mm / 12.5 mm

จะได้ f-Number = 8 เขียนสัญลักษณ์ได้เป็น f/8 แสดงว่าเปิดหน้ากล้องท่ากับ f/8 ต่อไปลองเปลี่ยนเลนส์เป็น200 mm และมีเส้นผ่าศูนย์กลางของช่องรูรับแสงเท่ากับ 25 mm เหมือนในตอนแรก คราวนี้จะไม่ได้ค่าการเปิดหน้ากล้องเท่ากับ f/4 แล้ว แต่จะได้เท่ากับ f/8 แทน ดังนี้

f-Number = 200 mm / 25 mm

จะได้ f-Number = 8 เขียนสัญลักษณ์ได้เป็น f/8 แสดงว่าเปิดหน้ากล้องเท่ากับ f/8 ถ้าเลนส์ 200 mm เปิดหน้ากล้องขนาด f/4 จะได้เส้นผ่าศูนย์กลางของช่องรูรับแสงกว้างถึง 50 mm ดังนี้

f-Number = 200 mm / 50 mm

จะได้ f-Number = 4

    จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 100 mm กับเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 200 mmเมื่อเปิดหน้ากล้อง f/4 เท่ากัน จะได้ขนาดของรูรับแสงที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เท่ากัน กล่าวคือเลนส์ทางยาวโฟกัส 100 mm เปิดหน้ากล้อง f/4 ได้ขนาดรูรับแสงมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 25 mm ส่วนเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 200 mm เปิดหน้ากล้อง f/4 ได้ขนาดรูรับแสงมีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างถึง 50 mm

    ด้วยเหตุนี้ ค่า f /…..ของเลนส์แต่ละตัวแม้จะมีค่า f /….. เท่ากัน ก็ไม่ได้หมายความว่าช่องเปิดรูรับแสงจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากัน เพราะมันเป็นอัตราส่วนระหว่างทางยาวโฟกัสของเลนส์กับเส้นผ่าศูนย์กลางของช่องเปิดรูรับแสง

    ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเลนส์อะไรก็ตาม ถ้าเปิดค่า f /….. เดียวกันแล้วย่อมทำให้แสงไปกระทบเซ็นเซอร์ของกล้องดิจิทัลในปริมาณที่เท่ากันเสมอ เราจึงไม่สนใจว่าในขณะนั้นกล้องเปิดรูรับแสงมีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างเท่าใด สิ่งที่เราต้องการรู้เพียงว่าในขณะที่ถ่ายภาพนั้นเปิดรูรับแสง f /….. เท่าใดก็พอแล้ว

    ค่า f-Number นั้นห่างกันเป็นขั้น Stop เช่น f/1.4 , f/2 ห่างกัน 1 Stop ค่า f-Number ยิ่งมากขึ้นรูรับแสงจะยิ่งแคบลงทำให้แสงผ่านเข้าไปยังเซ็นเซอร์ได้น้อย ในทางตรงกันข้ามค่า f-Number ยิ่งน้อยลงเท่าใด รูรับแสงยิ่งกว้างมากขึ้น ทำให้แสงผ่านเข้าไปยังเซ็นเซอร์ได้มาก ดังนั้นถ้าเราถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/250 วินาที่ เปิดขนาดรูรับแสง f/8 แล้วภาพออกมาสวยงามได้สถาพแสงเป็นปกติ (Normal) เมื่อนำกล้องตัวนั้นไปถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์เดียวกัน แต่เปลี่ยนขนาดของรูรับแสงเป็น f/16 จะทำให้ได้ภาพที่มืดไป เรียกว่าถ่าย Under และถ้าถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์เดียวกันแต่เปลี่ยนขนาดรูรับแสงเป็น f/4 ภาพที่ได้ก็จะสว่างไปเรียกว่าถ่าย Over

    ขนาดของรูรับแสงที่กว้างและแคบนอกจากจะส่งผลให้ภาพมืดและสว่างไปแล้ว ยังส่งผลต่อการถ่ายภาพในเรื่องของ ระยะชัดลึก (Depth of Field) ถ้า f-Number มีค่าน้อย (รูรับแสงกว้าง) จะทำให้ได้ภาพที่มีลักษณะ ชัดตื้น หมายความว่า ถ้าเราโฟกัสไปที่วัตถุใดวัตถุหนึ่ง บริเวณที่ราโฟกัสจะคมชัดแต่บริเวณที่เลยออกไปทางด้านหลังจากสิ่งที่เราโฟกัสจะดูเบลอไม่คมชัด รวมทั้งบริเวณด้านหน้าด้วยเช่นกันจะไม่คมชัด แต่ถ้าเราเปิดรูรับแสงที่มีค่า f-Number มาก (รูรับแสงจะแคบ) ภาพที่ได้จะมีลักษณะชัดลึก หมายความว่า เมื่อเราโฟกัสไปยังวัตถุที่จะถ่ายชัดแล้ว บริเวณด้านหลังและด้านหน้าของวัตถุที่เราโฟกัสก็จะดูคมชัดด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์

    เมื่อเรามีความรู้เกี่ยวกับความเร็วชัตเตอร์และขนาดของรูรับแสงแล้ว จะเห็นว่าค่าทั้งสองมี ความสัมพันธ์กันในเรื่องของการเปิดรับแสงให้เข้าไปสู่เซ็นเซอร์ โดยปกติแล้วการถ่ายภาพที่สวยงามจะต้องมีปริมาณแสงที่พอดี ให้เห็นรายละเอียดของวัตถุที่เราถ่ายได้ครบตามต้องการ ไม่น้อยไปจนมืดและไม่มากเกินไปจนสีซีดขาว ปริมาณแสงที่เหมาะสมเกิดจากความสัมพันธ์ของความเร็วชัตเตอร์กับขนาดของรูรับแสงนั่นเอง

    ถ้าเราเปิดรูรับแสงกว้าง แสงจะเข้าไปมากก็ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงเพื่อเปิด-ปิดให้แสงเข้าไปในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เปิดให้แสงเข้าไปนานเกินไป ก็จะได้ภาพที่มีสภาพแสงปกติ แต่ถ้าเราเปิดรูรับแสงแคบแสงจะเข้าได้น้อย ก็ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพื่อเปิดให้แสงเข้าไปเป็นเวลานานมากขึ้นก็จะได้ภาพที่มีสภาพแสงปกติเช่นกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์

ความไวแสง (ISO)

    ISO ย่อมาจาก International Organization for Standardization ซึ่งเป็นหน่วยงานสากลที่คอยบัญญัติมาตรฐานต่าง ๆ ออกมามากมาย ในการถ่ายภาพก็เช่นกันองค์การนี้ได้กำหนดมาตรฐานขึ้นมาเพื่อให้กล้องดิจิทัลทุกตัวถ่ายภาพออกมาพอดีตรงตามมาตรฐานเดียวกัน
ค่า ISO นี้จะหมายถึง ความไวต่อแสง (Light Sensitivity) ของตัวเซ็นเซอร์ในกล้องดิจิทัล (หากเป็นกล้องใช้ฟิล์ม จะเป็นคุณสมบัติทางเคมีของฟิล์มแต่ละม้วนโดยเป็นค่าที่ใช้แสดงความไวต่อแสงของฟิล์มม้วนนั้น) ตัวเซ็นเซอร์ของกล้องดิจิทัลสามารถเร่งให้เซ็นเซอร์ไวต่อแสงมากหรือน้อยได ้เช่น เร่งจาก ISO 100 ไปเป็น 200, 400 ขึ้นไปได้เรื่อย ๆ สุดแล้วแต่ความสามารถของกล้องแต่ละตัวจะปรับเร่ง ISO ได้มากน้อยแค่ไหน ค่า ISO แต่ละค่าจะมีความไวแสงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของค่าเดิม เช่น ISO 25, 50, 100, 200, 400, 800, 1600, 3200, 6400 ฯลฯ เป็นต้น ดังนั้นหากเราตั้งค่ารูรับแสงและ ความเร็วชัตเตอร์ของกล้องดิจิทัลไว้คงที่แต่เปลี่ยนค่า ISO ให้มากขึ้นหรือน้อยลง ภาพที่ได้ก็จะสว่างขึ้น หรือมืดลงตามไปด้วย ซึ่งในการปรับเปลี่ยนค่าแต่ละขั้นของ ISO เพื่มขึ้นหรือลดลงจะทำให้กล้องดิจิทัลสามารถรับแสงเพิ่มขึ้นหรือลดลงขั้นละ 1 Stop ด้วย

การวัดแสง (Metering)

    การถ่ายภาพใด ๆ ก็ตามสิ่งที่ต้องทำทุกครั้งคือ “การวัดแสง” เพื่อให้ทราบค่าแสงที่สะท้อนออกมาจากวัตถุที่จะถ่าย ทำให้สามารถบันทึกแสง (ภาพถ่าย) ได้อย่างถูกต้องและได้ภาพที่ดีตามความต้องการกล้องดิจิทัลทุกตัวจะมีเซลวัดแสงติดมาด้วย เซลนี้จะวัดปริมาณแสงสะท้อนจากวัตถุแล้วนำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานทางอุตสาหกรรมการถ่ายภาพ คือ “ค่าการสะท้อนแสงของวัตถุสีเทา 18 %” หมายความว่าถ้าวัตถุได้รับแสงไป 100 ส่วน จะสะท้อนกลับออกมา 18 ส่วน ระบบวัดแสงจะยึดค่านี้เป็น “ค่ากลาง” เพื่อเปรียบเทียบกับสภาพแสงที่จะถ่ายภาพ ถ้าวัดแสงสะท้อนออกมามากกว่า 18 % แสดงว่าสว่างเกินไป ถ้าวัดแสงสะท้อนออกมาน้อยกว่า 18 % แสดงว่ามืดเกินไป ถ้าวัดแสงสะท้อนได้ 18 % ถือว่าได้แสงพอดี (โดยกล้องจะปรับค่าแสงสะท้อนจากวัตถุที่ถ่ายให้เท่ากับแสงสะท้อนจากวัตถุสีเทา 18% ก่อน แล้วจึงนำไปเปรียบกับค่ามาตรฐานอุตสาหกรรมว่าแสงพอดีที่ขนาดรูรับแสงเท่าไรความเร็วชัตเตอร์เท่าใด)
การวัดแสงที่ถูกต้องเที่ยงตรงจะต้องวัดจากแผ่นกระดาษสีเทาที่มีค่าสะท้อนแสง 18 % โดยวัดตรงจุดที่เราจะถ่ายภาพ แต่ในสภาพแวดล้อมจริงที่เราถ่ายภาพเราอาจวัดแสงจากส่วนใดส่วนหนึ่งที่มีการสะท้อนแสงใกล้เคียงกับสีเทา 18 % เช่น วัดแสงที่เงาของผ้าขาว เงาของก้อนเมฆ ผนังตึก ฯลฯ เป็นต้น ที่เราสามารถใช้เป็นจุดอ้างอิงสำหรับหาค่าการเปิดรูรับแสงที่ถูกต้องได้ ระบบวัดแสงของกล้องไม่ได้มองเห็นสีสันของวัตถุที่เราถ่าย แต่จะมองทุกอย่างเป็นปริมาณของแสงเท่านั้น นั่นแสดงว่าวัตถุที่มีสีบางสีถ้ามีการสะท้อนแสงใกล้เคียงกับสีเทา 18% เวลาถ่ายภาพออกมาก็จะได้สีสันถูกต้องได้แสงพอดี แต่ในวัตถุบางสีที่มีการสะท้อนของแสงมากหรือน้อยกว่า 18 % ก็อาจมีปัญหาว่าวัดแสงพอดีแล้วกลับได้ภาพมืดไป สว่างไป มีสีสันเพี้ยนไปก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายภาพที่มีพื้นที่ฉากหลังมากกว่าพื้นที่ของวัตถุที่เราจะถ่าย มักทำให้กล้องถูกสีของฉากหลังหลอกและพยายามปรับค่าแสงของฉากหลังออกมาให้เท่ากับค่าของสีเทา 18% ดังนั้นหากเราถ่ายภาพที่มีฉากหลังมากแล้วสะท้อนแสงออกมามากกว่าค่าสีเทา 18 % เช่น สะท้อนออกมา 70 % กล้องก็จะลดการบันทึกแสงสะท้อนลงให้เหลือเพียง 18 % ภาพที่ออกมาจึงดูสีเพี้ยนไป เช่น การถ่ายภาพที่มีวัตถุสีขาวเป็นฉากหลัง วัตถุสีขาวมีค่าการสะท้อนแสง มากกว่า 18 % ทำให้กล้องไปลดแสงลงจากปกติ ให้เหลือเพียง 18 % ทำให้ฉากสีขาวในภาพที่ถ่ายออกมา กลายเป็นสีเทาสีไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง

    ถ้าหากเราถ่ายภาพที่มีฉากหลัง(หรือพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาพ) ที่สะท้อนแสงน้อยกว่าค่าของสีเทา 18% เช่น สะท้อนออกมาเพียง 10 % กล้องก็จะเพิ่มการบันทึกแสงสะท้อนให้ได้เท่ากับค่าแสงที่ 18 % เช่น วัตถุสีดำ มีค่าสะท้อนแสง น้อยกว่า 18 % ทำให้กล้องไปเพิ่มการรับแสงขึ้นจากปกติ เพื่อให้ได้ค่าเท่ากับสีเทา 18 %ทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาสีฉากหลังไม่ดำสนิท ตามความเป็นจริง

    จากตัวอย่างที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ถ้าวัตถุที่ถ่ายสะท้อนแสงได้เท่ากับสีเทา 18 % ก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าวัตถุที่ถ่ายนั้นมีค่าการสะท้อนแสงมากกว่าหรือน้อยกว่าสีเทา 18 % ก็จะทำให้ค่าวัดแสงภายในตัวกล้องผิดพลาด จึงทำให้ภาพที่ออกมาไม่เหมือนกับที่ตามองเห็น เพื่อแก้ไขปัญหานี้จึงต้องมีการ “ชดเชยแสง”

การชดเชยแสง

    เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดจากการวัดแสงอันเนื่องมาจากเครื่องวัดแสงในตัวกล้องจะพยายามวัดค่าให้ได้ค่ากลางของการสะท้อนแสงคือสีเทา 18 % ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ถ่ายภาพที่จะต้องหาทางบอกให้เครื่องวัดแสงทราบว่า วัตถุที่เราจะถ่ายนั้นมีค่าการสะท้อนแสงมากหรือน้อยกว่าสีเทา 18 % ซึ่งเราเรียกวิธีนี้ว่า “การชดเชยแสง”

    วัตถุสีขาว : ชดเชยแสงทาง “บวก” ถ้าวัตถุที่เราถ่ายมีสีขาวซึ่งมีค่าสะท้อนสงมากกว่าสีเทา 18 % กล้องจะพยายามลดแสงลงให้ได้แสงเท่ากับสีเทา 18 % เพื่อให้ได้แสงพอดี แต่ในกรณีนี้กลับส่งผลให้สีที่ควรจะเป็นสีขาวกลับเป็นสีเทาหม่น ๆ ไป ดังนั้นเพื่อให้กล้องบันทึกภาพได้สีขาวอย่างถูกต้อง เราจะต้องบอกให้กล้องรับแสงมากขึ้นกว่าปกติ โดยวิธีการเปิดรูรับแสงให้กว้างมากขึ้น หรือใช้ความเร็วชัตเตอร์ให้ช้าลง หรือปรับค่า ISO ให้สูงขึ้น ตามที่เราได้เรียนรู้มาแล้วว่าสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการถ่ายภาพโดยผู้เรียบเรียง 105 mm, f/5.6, 1/13 Sec., ISO 200 วัดแสงปกติ ฉากสีดำออกมาไม่ดำสนิทรับแสงของกล้อง ซึ่งเราเรียกวิธีการนี้ว่า “การชดเชยแสงในทางบวก” ส่วนจะชดเชย +2 หรือ +1 ก็แล้วแต่ความสว่างหรือความขาวและปริมาณพื้นที่ของสิ่งนั้นที่อยู่ในภาพ ถ้าสิ่งนั้นมีความสว่างหรือขาวมากและเป็นพื้นที่ใหญ่ในภาพก็ให้ชดเชยแสงมากหน่อย เช่น +2 แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่ค่อยสว่างมากหรือขาวไม่มากและมีพื้นที่ไม่ใหญ่มากในภาพ ก็อาจชดเชยแสงแค่ +1 ก็เพียงพอ

    วัตถุสีดำ : ชดเชยแสงทาง “ลบ” ถ้าวัตถุที่เราถ่ายเป็นวัตถุสีดำมีค่าสะท้อนแสงน้อยกว่าสีเทา 18% กล้องจะพยายามเพิ่มการรับแสงให้มากขึ้นให้ได้แสงเท่ากับสีเทา 18% เพื่อให้ได้แสงพอดี แต่กรณีนี้กลับส่งผลให้สีที่ควรจะเป็นสีดำกลับเป็นสีเทาหมอง ๆ ไป ดังนั้นเพื่อให้กล้องบันทึกภาพให้ได้สีดำอย่างถูกต้อง เราต้องบอกกล้องให้รับแสงน้อยลงกว่าปกติ โดยวิธีการหรี่รูรับแสงให้แคบลง หรือใช้ความเร็วชัตเตอร์ให้เร็วขึ้น หรือปรับค่า ISO ให้น้อยลง วิธีการนี้เรียกว่า “การชดเชยแสงทางลบ” ส่วนจะชดเชย -2 หรือ -1 ก็แล้วแต่ความมืดหรือความดำและปริมาณพื้นที่ของสิ่งนั้นที่อยู่ในภาพ ถ้าสิ่งนั้นมีความมืดมากหรือดำมากและเป็นพื้นที่ใหญ่ในภาพก็ให้ชดเชยแสงมากหน่อย เช่น -2 แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่
ค่อยมืดมากหรือดำไม่มากและมีพื้นที่ไม่ใหญ่มากในภาพ ก็อาจชดเชยแสงเพียงแค่ -1 ก็พอเพียง

ระบบวัดแสงแบบต่าง ๆ ของกล้องดิจิทัล

    ในกล้องดิจิทัลจะมีฟังก์ชันของระบบวัดแสง ให้เราสามารถเลือกใช้ได้ทันทีให้เหมาะกับงานถ่ายภาพของเรา ระบบวัดแสงที่นิยมใช้กันมี 3 รูปแบบดังนี้ (วีรนิจ ทรรทรานนท์, 2548 : 104-105)

    1. ระบบวัดแสงแบบเฉลี่ยหลายส่วน (Multi-Segment Metering) เป็นระบบที่ใช้ง่ายที่สุดถ้าถ่ายถาพโดยเลือกใช้โหมดอัตโนมัติต่างๆ ที่มีมาให้ กล้องส่วนใหญ่ก็จะตั้งระบบวัดแสงระบบนี้ให้ทันทีการวัดแสงแบบนี้กล้องบางยี่ห้อก็เรียกว่า การวัดแสงระแบบ Matrix บางยี่ห้อก็เรียกว่าการวัดแสงแบบ Zone การวัดแสงแบบเฉลี่ยหลายส่วน จะทำการตรวจวัดปริมาณแสงโดยรับข้อมูลจากเซลล์รับภาพทั่วทั้งเซ็นเซอร์ตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีการแบ่งส่วนเอาไว้มาทำการคำนวณตามน้ำหนักของแต่ละพื้นที่ที่กำหนดไว้ โดยอาจให้น้ำหนักกับจุดที่ทำการโฟกัสมากกว่าจุดอื่นๆ แล้วเฉลี่ยออกมาเป็นค่าแสงที่เหมาะสม ระบบนี้เหมาะกับการถ่ายภาพที่สภาพแสงไม่แตกต่างกันมากเกินไป แต่ไม่เหมาะกับสภาพแสงที่มีความแตกต่างกันมาก เช่น การถ่ายภาพย้อนแสง มักเกิดการวัดแสงที่ผิดพลาดได้ง่าย

    2. ระบบวัดแสงแบบเฉลี่ยกลางภาพ (Center-Weighted Average Metering) ระบบวัดแสงระบบนี้ค่าแสงจากจุดกึ่งกลางภาพจะถูกให้น้ำหนักในการคำนวณมากกว่าพื้นที่โดยรอบ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพ ที่มีวัตถุหลักอยู่ตรงบริเวณกลางภาพและมีพื้นที่ในภาพใหญ่พอสมควร เช่น ภาพถ่ายบุคคล ภาพงานสถาปัตยกรรม ภาพถ่ายมาโคร ฯลฯ เป็นต้น

    3. ระบบวัดแสงเฉพาะจุด (Spot Metering) เป็นระบบที่วัดแสงได้แม่นยำที่สุด ระบบวัดแสงตนเองเพื่อปรับตั้งค่า การเปิดรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ หรือ ค่า ISO ให้ถูกต้องมากที่สุด
เช่น การถ่ายภาพในสภาพแสงที่ต่างกันมาก คือมีส่วนที่สว่างมากและมีส่วนที่มืดมากในบริเวณที่จะถ่ายภาพ จึงต้องวัดแสงทีละจุดแล้วนำมาเฉลี่ยน้ำหนักที่ได้ด้วยวิธีคิดหรือประสบการณ์ของตนเอง เพื่อตั้งค่าต่าง ๆ ในการถ่ายภาพให้ถูกต้องทำให้ได้ภาพออกมาดั่งใจที่ต้องการสิ่งที่ได้จากการวัดแสงคือ ทำให้เราทราบว่าควรเปิดขนาดรูรับแสงของกล้องกว้างเท่าไรควรใช้ความเร็วชัตเตอร์เท่าใด จะตั้งค่า ISO เท่าไรดีจึงเหมาะสม นอกจากนี้การตั้งระบบวัดแสงที่ต่างกันจะได้ค่าขนาดของรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ออกมาไม่เหมือนกัน ดังนั้นควรเลือกตั้งระบบวัดแสงให้เหมาะสมกับลักษณะงานถ่ายภาพของเราด้วยระบบนี้ค่าแสงจากจุดกึ่งกลางภาพจะถูกให้น้ำหนักในการคำนวณมากกว่าพื้นที่โดยรอบ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพ ที่มีวัตถุหลักอยู่ตรงบริเวณกลางภาพและมีพื้นที่ในภาพใหญ่พอสมควร เช่น ภาพถ่ายบุคคล ภาพงานสถาปัตยกรรม ภาพถ่ายมาโคร ฯลฯ

    สิ่งที่ได้จากการวัดแสงคือ ทำให้เราทราบว่าควรเปิดขนาดรูรับแสงของกล้องกว้างเท่าไรควรใช้ความเร็วชัตเตอร์เท่าใด จะตั้งค่า ISO เท่าไรดีจึงเหมาะสม นอกจากนี้การตั้งระบบวัดแสงที่
ต่างกันจะได้ค่าขนาดของรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ออกมาไม่เหมือนกัน ดังนั้นควรเลือกตั้งระบบวัดแสงให้เหมาะสมกับลักษณะงานถ่ายภาพของเราด้วย

การโฟกัสภาพ (Focus)

    เป็นการปรับภาพวัตถุที่เราจะถ่ายให้คมชัดก่อนที่จะกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ การปรับโฟกัสภาพมีทั้งระบบโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติ (Auto Focus) เพียงแต่กดปุ่มชัตเตอร์ลงไปครึ่งหนึ่งกล้องจะปรับโฟกัสภาพให้ชัดเอง อีกระบบหนึ่งเป็นระบบโฟกัสภาพด้วยมือ (Manual Focus) ต้องใช้มือหมุนปรับที่เลนส์เพื่อให้ภาพคมชัด กล้องดิจิทัลทุกรุ่นจะมีระบบโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติมาให้ ถ้าเป็นกล้องดิจิทัลคอมแพ็คที่ราคาไม่สูงมากนักมักจะมีระบบโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติมาให้อย่างเดียว แต่ถ้าเป็นกล้องดิจิทัลคอมแพ็คในระดับราคาที่สูงขึ้นกับกล้อง D-SLR จะมีระบบโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติและระบบโฟกัสภาพด้วยมือมาให้ทั้ง 2 แบบ

    ระบบโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติ โดยทั่ว ๆ ไปแบ่งได้ 2 ประเภท

    1. ระบบโฟกัสภาพจุดเดียว (Center Focus) ระบบนี้จะปรับภาพให้ชัดที่สุดตรงกลางภาพการใช้ระบบโฟกัสภาพประเภทนี้จะทำงานได้ดีในสถานการณ์ทั่วไป หรือภาพที่ต้องการวางวัตถุหลักไว้กลางภาพ

    2. ระบบโฟกัสภาพหลายจุด (Multi Focus) ระบบนี้จะมีจุดโฟกัสหลาย ๆ จุด อาจมี 5 จุด 9 จุดหรือ 11 จุด กระจายอยู่ภายในกรอบเฟรมที่เราจะถ่ายภาพ เราสามารถเลือกจุดโฟกัสภาพได้เอง โดยเลื่อนแถบแสดงตำแหน่งโฟกัสภาพไปยังตำแหน่งจุดดังกล่าวที่เราต้องการโฟกัสภาพ การโฟกัสภาพด้วยระบบนี้ให้ผลดีในกรณีที่เราวางวัตถุหลักไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของภาพที่ไม่ใช่ตรงกลางระบบโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติในกล้องดิจิทัลคอมแพ็คส่วนใหญ่จะไม่มีออปชั่นของการโฟกัสภาพให้เลือกอีก แต่หากเป็นกล้อง D-SLR หรือกล้องดิจิทัลคอมแพ็คในระดับสูงๆ จะมีออปชั่นรูปแบบของการโฟกัสอัตโนมัติให้เลือกอีกด้วย และมักมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ยี่ห้อของกล้อง

    ระบบโฟกัสภาพด้วยมือ ระบบนี้มักพบในกล้อง D-SLR และในกล้องดิจิทัลคอมแพ็คระดับสูง ๆ ทำให้ผู้ใช้สามารถปรับโฟกัสได้เองอย่างอิสระเพียงแต่เล็งภาพจากช่องมองไปยังวัตถุที่ต้องการถ่ายแล้วปรับหมุนวงแหวนที่ตัวเลนส์เพื่อปรับโฟกัสให้ภาพชัด ถ้าโฟกัสจนได้ภาพที่ชัดสมบูรณ์แล้วจะมีไฟแสดงให้เห็นในช่องมองว่าภาพคมชัดแล้ว นอกจากนี้ระบบโฟกัสภาพด้วยมือยังสามารถช่วยแก้ปัญหาข้อผิดพลาดจากการใช้ระบบโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติได้อีกด้วย ดังจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป

    การเลือกระบบโฟกัสภาพ ควรเลือกให้เหมาะกับลักษณะงานที่จะถ่ายภาพ การใช้ระบบโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติ จะเหมาะสมกับงานที่ต้องการใช้ความเร็ว ในการโฟกัสภาพแล้วรีบกดชัตเตอร์ เช่นการถ่ายภาพเหตุการณ์หรือพิธีการต่าง ๆ หากใช้ระบบโฟกัสภาพด้วยมืออาจถ่ายภาพไม่ทัน แต่ในบางกรณี เช่น การถ่ายภาพผ่านลูกกรงหรือถ่ายภาพในสภาพแสงที่มีการตัดกันตํ่า ระบบโฟกัสแบบอัตโนมัติอาจทำงานผิดพลาดได้จำเป็นต้องใช้ระบบโฟกัสภาพด้วยมือแทน

    ปัญหาจากการโฟกัสภาพและวิธีการแก้ไข ปัญหาจากการโฟกัสภาพที่สำคัญ ๆ มีดังนี้

    1. การโฟกัสวัตถุที่อยู่ด้านข้างของภาพ กรณีนี้ถ้าจัดวัตถุที่จะถ่ายให้อยู่ด้านข้างแล้วกดชัตเตอร์ถ่ายทันที กล้องจะไปโฟกัสที่ฉากหลังหรือวัตถุที่ไม่สำคัญแทน

    วิธีแก้ไข ถ้าเป็นกล้องที่มีระบบโฟกัสภาพหลายจุด ก็เพียงแค่เลือกจุดโฟกัสให้ตรงกับวัตถุที่เราต้องการถ่ายเท่านั้นวัตถุที่เราถ่ายก็จะคมชัด แต่ถ้าเป็นกล้องที่มีระบบโฟกัสภาพจุดเดียวก็ต้องแก้ปัญกาโดยวิธี “ล็อคโฟกัส” มีขั้นตอนดังนี้

  • จัดภาพให้วัตถุที่จะถ่ายอยู่ตรงกลางภาพก่อนแล้วกดปุ่มชัตเตอร์เบา ๆ ลงไป
    ครึ่งหนึ่ง กล้องก็จะโฟกัสภาพไปยังวัตถุที่จะถ่าย
  • ค้างนิ้วที่กดปุ่มชัตเตอร์ครึ่งหนึ่งเอาไว้ แล้วค่อยเลื่อนจัดองค์ประกอบภาพใหม่
    ให้วัตถุที่จะถ่ายมาอยู่ด้านข้างของภาพ จึงค่อยกดชัตเตอร์ลงไปจนสุดเพื่อ
    ถ่ายภาพ ก็จะได้ภาพวัตถุที่อยู่ด้านข้างของภาพคมชัด

    2. การโฟกัสวัตถุที่อยู่ด้านหลังลูกกรง ถ้าเราต้องการถ่ายภาพผ่านลูกกรงระบบโฟกัสแบบอัตโนมัติมักจะโฟกัสภาพลูกกรงแทนที่จะโฟกัสภาพหลังลูกกรงตามที่เราต้องการ

    วิธีแก้ไข

  • แนบกล้องชิดลูกกรงจนกล้องสามารถจับภาพหลังลูกกรงได้โดยไม่มีลูกกรงบัง
  • ถ้าไม่สามารถเข้าใกล้ลูกกรงได้ ให้ใช้วิธีการโฟกัสภาพวัตถุอื่นที่มีระยะห่าง
    ใกล้เคียงกับวัตถุที่เราจะถ่ายหลังลูกกรง แล้วล็อคโฟกัสไว้จึงค่อยย้ายมาถ่ายวัตถุ
    หลังลูกกรงอีกทีหนึ่ง
    แก้ไขโดย โฟกัสที่ใบหน้าก่อนและล็อคโฟกัสไว้ แล้วจัดองค์ประกอบภาพใหม่ จึงกดชัตเตอร์
    ถ่ายภาพโดยผู้เรียบเรียง
  • ใช้วิธีปรับโฟกัสด้วยมือ จะทำให้เราสามารถโฟกัสภาพวัตถุที่เราจะถ่ายหลัง
    ลูกกรงได้คมชัด

    3. กล้องโฟกัสภาพได้ช้า ถ้าเราต้องการถ่ายภาพในสภาพแสงที่มีการตัดกันต่ำหรือแสงน้อยเกินไป การโฟกัสภาพด้วยระบบอัตโนมัติจะทำได้ช้าหาจุดโฟกัสไม่ค่อยได้ ทำให้กดชัตเตอร์ไม่ลง

    วิธีแก้ไข

  • ใช้กล้องที่มีไฟส่องช่วยหาโฟกัสอัตโนมัติมาถ่าย กล่าวคือ เมื่อระบบโฟกัสภาพ
    แบบอัตโนมัติไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากสภาพแสงมีการตัดกันต่ำหรือแสง
    น้อยเกินไป กล้องจะช่วยหาจุดโฟกัสโดยส่องไฟเพื่อเพิ่มความสว่างและทำให้
    สภาพแสงมีการตัดกันสูงขึ้น จึงสามารถปรับโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติได้
  • ให้เปลี่ยนมาใช้วิธีปรับโฟกัสด้วยมือแทน

 

ความสมดุลของสีขาว White Balance

    ความสมดุลของสีขาวคือ การทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาได้สีขาวที่เป็นสีขาวจริง ๆ ไม่ใช่สีขาวอมเทาหรือสีขาวอมเหลือง ถ้าทำให้สีขาวเป็นสีขาวที่แท้จริงแล้วสีอื่น ๆ ก็จะถูกต้องตามไปด้วย การทำให้สีขาวเป็นสีขาวที่แท้จริงสำหรับกล้องดิจิทัลนั้นทำได้โดยการตั้งค่า White Balance ให้ตรงกับสภาพแสงที่เราจะถ่าย
ภาพที่เราถ่ายส่วนใหญ่จะมาจากแหล่งกำเนิดแสงคือ แสงจากดวงอาทิตย์ในเวลากลางวัน (ช่วงเวลาประมาณ 9.00 น. – 15.00 น.) จะให้แสงสีขาว เมื่อถ่ายภาพในช่วงเวลาดังกล่าวและตั้ง White Balance แบบแสงอาทิตย์จะได้ภาพที่มีสีสันถูกต้องตามธรรมชาติ วัตถุที่มีสีขาวจะปรากฏเป็นสีขาวจริงแต่ถ้าเราถ่ายภาพตอนเช้าตรู่ และช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ตก หรือถ่ายภาพด้วยแสงประดิษฐ์ต่าง ๆ การใช้ White Balance แบบแสงอาทิตย์จะทำให้ภาพของวัตถุที่ถ่ายออกมามีสีผิดเพื้ยนไปต้องแก้ไขโดยปรับWhite Balance ให้ตรงกับสภาพแสงที่จะถ่ายภาพ กล้องดิจิทัลแต่ละรุ่นจะมีฟังก์ชันให้เลือกปรับ White Balance คล้าย ๆ กัน โดยแบ่งออกตามสภาพสีของแหล่งกำเนิดแสงดังนี้

Auto White Balance บางทีใช้คำย่อว่า AWB ถ้าเลือกใช้ White Balance แบบนี้ กล้องจะปรับความสมดุลของสีขาวให้เองโดยอัตโนมัติ กล้องจะรู้เองว่าภาพที่เรากำลังจะถ่ายนั้น มีสภาพแสงที่เกิดจากแหล่งกำเนิดแสงชนิดใด แล้วกล้องก็จะปรับตามสภาพแสงให้เราทันที ในการถ่ายภาพมักนิยมตั้ง White Balance แบบนี้ไว้ก่อน แต่มีบางสถานการณ์ ที่ทำให้กล้องไม่สามารถหาค่าที่เหมาะสม ให้กับการถ่ายภาพในสถานการณ์นั้น ๆ โดยเฉพาะในภาพที่มีสีใดสีหนึ่งอยู่มากเกินไปก็อาจจะหลอก AWB ให้ถ่ายภาพออกมาแล้วสีเพี้ยนได้ เราสามารถแก้ไขได้โดยเข้าไปปรับตั้งค่า White Balance ให้ตรงกับสภาพแสงที่เราจะถ่ายก็จะได้ภาพที่มีสีสันถูกต้อง

เหมาะกับสภาพแสงอาทิตย์ที่ถ่ายกลางแจ้งในวันที่อากาศสดใสช่วงเวลา 9.00 น. – 15.00 น. จะได้สีสันถูกต้องแต่ในช่วงเช้าตรู่หรือช่วงเย็นถ้าตั้งค่า White Balance แบบนี้ ภาพที่ถ่ายออกมาจะมีสีส้มแดง ถ้าต้องการสีให้ถูกต้องเหมือนจริงให้เลือก White Balance แบบ Auto

 บางรุ่นใช้คำว่า Incandescent การถ่ายภาพในสถานที่ซึ่งใช้หลอดไฟแบบไส้หลอดกลม ๆ จะให้ภาพที่มีสีโทนสีส้มแดงปนเหลือง หากใช้ White Balance แบบ Auto แล้วภาพยังมีโทนสีส้มแดงหรือมีสีเหลืองปนอยู่ให้เปลี่ยนมาใช้ White Balance แบบนี้จะทำให้ได้ภาพที่มีสีสันถูกต้องมากกว่า โดยกล้องจะเพิ่มโทนสีฟ้าเพื่อหักล้างกับสีส้มแดงทำให้ได้ภาพที่มีสีสันถูกต้อง

ในวันที่ท้องฟ้ามีเมฆมาก ครึ้มฟ้า ครึ้มฝน ไม่มีแดดออก หรือถ่ายภาพในที่ร่มเงาไม้ จะให้ภาพที่มีสีฟ้าปนอยู่ หากใช้ White Balance แบบ Auto แล้วยังมีโทนสีฟ้าอยู่ ให้เปลี่ยนมาใช้White Balance แบบนี้จะได้สีที่ถูกต้องมากขึ้น

  การถ่ายภาพในอาคารด้วยแสงจากหลอด Fluorescent สีจะออกมาในโทนฟ้าอมเขียว ถ้าใช้ White Balance แบบ Auto แล้วยังมีสีฟ้าอมเขียวอยู่ให้เปลี่ยนมาใช้ White Balance แบบนี้จะได้สีที่ถูกต้อง


การปรับตั้งสมดุลของสีขาวขึ้นใช้เอง

    การปรับสมดุลสีขาวที่เที่ยงตรงและแม่นยำที่สุดคือการปรับตั้งเอง เรียกว่า Custom White Balance หรือ Preset วิธีการปรับตั้งจะแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ยี่ห้อและรุ่นของกล้อง แต่วิธีการมาจากพื้นฐานเดียวกันคือ
1. หากระดาษสีขาวหรือสีเทา 18 % มาวางไว้ตรงบริเวณที่จะถ่ายภาพ
2. ซูมกล้องเข้าไปยังกระดาษสีขาวหรือสีเทา 18 % ให้เต็มเฟรม
3. ทำการตั้งค่า White Balance ตามคู่มือของกล้องที่ใช้ ค่า White Balance จะถูกบันทึกไว้ให้เราเลือกใช้ตามสภาพแสงลักษณะต่าง ๆ สุดแล้วแต่เราจะทำการตั้งค่าในสภาพแสงเช่นไรบ้าง กล้องบางรุ่นสามารถบันทึกค่า White Balance ที่เราตั้งค่าไว้ได้ถึง 5 ค่า บางกรณีถ้าอยากได้ภาพดูแปลกตา มีสีไม่ตรงกับความเป็นจริง ก็ลองปรับ White Balance ไม่ให้ตรงกับสภาพแสงในขณะนั้น ก็จะได้ภาพที่มีสีผิดเพี้ยนไป แต่ความผิดเพี้ยนดังกล่าวอาจทำให้ภาพดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ดังภาพด้านล่าง
บางกรณีถ้าอยากได้ภาพดูแปลกตา มีสีไม่ตรงกับความเป็นจริง ก็ลองปรับ White Balance ไม่ให้ตรงกับสภาพแสงในขณะนั้น ก็จะได้ภาพที่มีสีผิดเพี้ยนไป แต่ความผิดเพี้ยนดังกล่าวอาจทำให้ภาพดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ดังภาพด้านล่าง

การเล็งภาพด้วยช่องมองภาพกับการเล็งด้วยจอภาพ LCD

    ในการถ่ายภาพเราจะต้องเล็งภาพผ่านกล้องก่อนที่จะกดชัตเตอร์ กล้องดิจิทัลมีที่สำหรับใช้เล็งภาพ 2 ส่วน คือ ช่องมองภาพ (Viewfinder) และจอ LCD (Liquid Crystal Display)

    ช่องมองภาพ สร้างขึ้นจากระบบของเลนส์เมื่อมองผ่านช่องนี้ออกไปจะเห็นขอบเขตบริเวณและวัตถุที่จะถ่ายภาพ โดยไม่ต้องใช้พลังงานใด ๆ จากแบตเตอรี่ กล้องดิจิทัลคอมแพ็คทั่ว ๆ ไป ภาพที่เรามองเห็นจากช่องมองภาพอาจมีความแตกต่างไปจากภาพที่บันทึกได้จริงจากเซ็นเซอร์ โดยเฉพาะเมื่อต้องถ่ายวัตถุในระยะใกล้ ๆ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะช่องมองภาพกับเลนส์ถูกวางไว้ในตำแหน่งที่ต่างกันซึ่งผู้ผลิตได้พยายามแก้ไขปัญหาการเหลื่อมของภาพ (Parallax) ด้วยการพิมพ์เส้นไกด์ลงบนช่องมองภาพเพื่อแสดงขอบเขตบริเวณที่ภาพจะบันทึกได้จริงไว้ให้ผู้ถ่ายภาพ ใช้เป็นแนวทางในการจัดองค์ประกอบองค์ประกอบภาพให้อยู่ภายในกรอบของเส้นไกด์นั้น

    สำหรับกล้อง D-SLR แสงจากวัตถุที่เราจะถ่ายจะพุ่งเข้าสู่เลนส์แล้วสะท้อนกระจกส่งภาพขึ้นไปสู่ช่องมองภาพ ภาพที่ถ่ายได้จึงเหมือนกับภาพที่มองจากช่องมองภาพ แต่ก็มองเห็นเพียง 96 % ยังไม่ครบ 100 % ดังนั้นเวลาจัดองค์ประกอบภาพก็ต้องเผื่อบริเวณที่ช่องมองภาพมองไม่เห็นไว้ด้วยเพราะเวลาถ่ายภาพออกมาอาจติดในส่วนที่เราไม่ต้องการเข้ามาด้วย แต่การเล็งด้วยช่องมองภาพไม่สามารถทราบได้ว่าภาพที่ถ่ายออกมาจะมีความมืด-สว่างตามที่ตามองเห็นหรือไม่

    จอภาพ LCD การเล็งภาพจากจอ LCD ภาพที่เราเห็นเป็นภาพจริงจากตัวเซ็นเซอร์ เนื่องจากกล้องดิจิทัลจะนำข้อมูลจากตัวเซ็นเซอร์มาปรับค่าต่าง ๆ ตามที่ตั้งไว้แล้วแสดงให้เห็นทางจอภาพ LCD ดังนั้นเราจึงสามารถจัดองค์ประกอบภาพให้เหมาะสม และปรับสภาพแสงให้มีความสว่างหรือมืดได้ตามต้องการแล้วจึงกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ กล้องดิจิทัลหลายรุ่นสามารถบิดจอภาพ LCD ไปในมุมต่าง ๆ ได้ช่วยให้เกิดความสะดวกในการเล็งภาพเพื่อถ่ายภาพในมุมแปลก ๆ และยังสามารถสั่งให้กล้องทำงานผ่านทางจอ LCD ในระบบสัมผัสได้อีกด้วย แต่การเล็งภาพจากจอ LCD ในที่กลางแจ้งมักมองเห็นภาพไม่ค่อยชัดเจนเพราะจอ LCD มีความสว่างจำกัด ขณะนี้กล้องดิจิทัลบางยี่ห้อพยายามแก้ปัญหานี้โดยการทำ Electronic Viewfinder คือใช้วิธีการเล็งผ่านช่องมองภาพที่ดูเหมือนเป็น Viewfinder ซึ่งช่วยป้องกันแสงเข้าไปรบกวน แต่ภายในความจริงยังคงเป็นจอภาพ LCD ความละเอียดสูงที่มีขนาดเล็กทำให้ประหยัดแบตเตอรี่กว่าจอใหญ่และยังทำให้มองเห็นภาพเหมือนที่ถ่ายได้จริงอีกด้วย นอกจากนี้เดิมทีกล้อง D-SLR ไม่สามารถเล็งภาพขณะถ่ายจากจอ LCD ต้อง เล็งภาพจากช่องมองภาพเท่านั้น แต่ในปัจจุบันกล้อง D-SLR หลายรุ่นหลาย ยี่ห้อสามารถเลือกเล็งภาพขณะถ่ายจากจอภาพ LCD ได้แล้ว

การวิเคราะห์เปรียบเทียบจุดเด่น-จุดด้อยของการเล็งภาพจากช่องมองภาพกับจอ LCD

ช่องมองภาพ จอภาพ LCD
  1. ประหยัดพลังงานแบตเตอรี่
  2. เห็นภาพไม่ครบ 100% ในกล้อง D-SLR และทำให้เกิดปัญหา Parallax ในกล้องดิจิทัลประเภทคอมแพ็ค
  3. มองเห็นภาพเฉพาะ ออปติคอลซูมเท่านั้น
  4. ไม่เห็นผลจากการปรับชดเชยแสง
  5. ต้องเล็งภาพไปในทิศทางเดียวกับหน้ากล้องทำให้ลำบากต่อการเล็งภาพเพื่อให้ได้ภาพมุมแปลก ๆ
  6. เห็นภาพได้ชัดแม้จะอยู่กลางแดดจ้า
  1. เปลืองพลังงานแบตเตอรี่มากกว่า
  2. มองเห็นภาพในขอบเขตเหมือนที่ถ่ายจริง 100%
  3. มองเห็นภาพทั้งออปติคอลซูมและดิจิทัลซูม
  4. มองเห็นภาพจากการปรับชดเชยแสงได้ทันที
  5. กล้องบางรุ่นจอภาพ LCD บิดทำมุมต่างๆได้ไม่จำเป็นต้องเล็งภาพไปในทิศทางเดียวกับหน้ากล้อง ทำให้สะดวกต่อการถ่ายภาพในมุมแปลก ๆ
  6. มองเห็นภาพที่จอ LCD ไม่ชัดในที่ที่มีแสงสว่างจ้า

    จากการการวิเคราะห์เปรียบเทียบจุดเด่น-จุดด้อยของการเล็งภาพจากช่องมองภาพกับจอ LCD จะเห็นได้ว่า ต่างก็มีทั้งจุดเด่น-จุดด้อย พอ ๆ กัน แต่เท่าที่พบนักถ่ายภาพจากกล้องดิจิทัลแบบคอมแพ็คส่วนใหญ่นิยมเล็งภาพจากจอภาพ LCD เพราะกล้องมีขนาดเล็กถือสะดวกและมองภาพจากจอภาพ LCD เห็นภาพใหญ่ดี นอกเสียจากว่าแบตเตอรี่ใกล้หมดจึงต้องเปลี่ยนมาเล็งภาพจากช่องมองภาพแทนแต่ในทางตรงกันข้ามกล้อง D-SLR ส่วนใหญ่นักถ่ายภาพกลับนิยมมองภาพจากช่องมองภาพเพราะมองชัดเจนดี และตัวกล้องมีขนาดใหญ่การมองด้วยช่องมองภาพช่วยทำให้จับถือกล้องขณะถ่ายได้นิ่งถนัดมือด้วย นอกเสียจากว่าเป็นกล้อง D-SLR ที่จอภาพ LCD ปรับหมุนได้ก็มีการเล็งภาพจากจอภาพ LCDบ้างในกรณีที่ต้องการถ่ายภาพในมุมที่แปลก ๆ เท่านั้น

สรุป

    พื้นฐานความรู้เบื้องต้นสำหรับการถ่ายภาพดิจิทัล เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อนำไปปรับใช้กับกล้องดิจิทัล ให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ พื้นฐานความรู้ที่สำคัญมีดังนี้

    ความเร็วชัตเตอร์ คือ ระยะเวลาที่กล้องเปิดม่านชัตเตอร์รับแสงเพื่อบันทึกภาพ จะบอกค่าเป็นตัวเลขเศษส่วนหน่วยเป็นวินาที เช่น 1/1000, 1/500, 1/125, 1/60, 1/30, 1/15, 1/8, 1/4, 1/2, และ 1 วินาทีแต่ละช่วงห่างกัน 1 Stop ดังนั้นความเร็วชัตเตอร์ 1/1000 วินาที ก็จะเร็วกว่า 1/500 วินาที 1 Stop เมื่อเร็วกว่าแสงก็จะผ่านเข้าสู่เซ็นเซอร์ได้น้อยกว่า ถ้าใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง คือ เปิด-ปิด ม่านชัตเตอร์เร็วมากจะสามารถหยุดการเคลื่อนไหวของวัตถุที่ถ่ายได้ ยิ่งวัตถุที่เราถ่ายมีการเคลื่อนไหวเร็วมากก็ยิ่งต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงมากขึ้นเพื่อหยุดการเคลื่อนไหวนั้น เช่น ภาพคนวิ่งเราอาจใช้ความเร็วชัตเตอร์แค่1/500 วินาที ก็หยุดคนวิ่งได้แล้ว แต่ถ้าเป็นรถแข่งกำลังวิ่งอย่างรวดเร็วเอาจต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงถึง 1/2000 วินาที จึงจะสามารถหยุดรถแข่งได้นิ่งสนิท ส่วนความเร็วชัตเตอร์ต่ำ คือเปิดม่านชัตเตอร์แล้วปิดม่านชัตเตอร์ช้า เช่น 1/8, 1/2, 1 วินาที จะทำให้เห็นการเคลื่อนไหวของวัตถุที่ถ่ายเป็นทางเบลอๆ และควรใช้ขาตั้งกล้องช่วย ถ้าถือกล้องด้วยมือจะทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาสั่นไหว

    รูรับแสง หรือหน้ากล้องเป็นไดอะแฟรม สามารถปรับความกว้างได้เพื่อควบคุมปริมาณแสงที่ผ่านไปสู่เซ็นเซอร์รับแสง รูรับแสงที่กว้างทำให้รับแสงได้มากและรวดเร็วกว่ารูรับแสงที่แคบ ช่วยให้ถ่ายภาพได้หลากหลายกว่าเลนส์ที่เปิดรูรับแสงได้แคบ ขนาดของรูรับแสงนั้นจะวัดเป็นหน่วย f-Stopหรือ f-Number เช่น f /1.4, f /2, f /2.8, f /4, f /5.6, f /8, f /11, f /16 และ f /22 แต่ละช่วงของขนาดรูรับแสงห่างกัน 1 Stop ค่า f-Number เป็นค่าอัตราส่วนระหว่างทางยาวโฟกัสของเลนส์ ต่อเส้นผ่าศูนย์กลางของช่องเปิดรูรับแสง ค่า f-Number ยิ่งมากขึ้น รูรับแสงจะยิ่งแคบลง ทำให้แสงผ่านเข้าไปยังเซ็นเซอร์ได้น้อย ในทางตรงกันข้าม ค่า f-Number ยิ่งน้อยลงรูรับแสงยิ่งกว้างมากขึ้น ทำให้แสงผ่านเข้าไปยังเซ็นเซอร์ได้มาก ดังนั้นถ้าถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/250 วินาที่ เปิดขนาดรูรับแสง f/8 แล้วภาพออกมาแสงสีสวยงามป็นปกติ ถ้าเปลี่ยนขนาดของรูรับแสงเป็น f/16 ก์จะทำให้ได้ภาพที่มืดไป เรียกว่าถ่าย Under หรือปลี่ยนขนาดรูรับแสงเป็น f/4 ภาพที่ได้ก็จะสว่างไปเรียกว่า ถ่าย Over ขนาดของรูรับแสงที่กว้างและแคบยังส่งผลต่อการถ่ายภาพในเรื่องของ ระยะชัดลึก ถ้า f-Number มีค่าน้อย จะทำให้
ได้ภาพที่มีลักษณะชัดตื้น หมายความว่า ถ้าเราโฟกัสไปที่วัตถุใดวัตถุหนึ่ง บริเวณที่ราโฟกัสจะคมชัดแต่บริเวณที่เลยออกไปทางด้านหลังและด้านหน้าจากสิ่งที่เราโฟกัสจะดูเบลอไม่คมชัด ถ้าเปิดรูรับแสงที่มีค่า f-Number มาก ภาพที่ได้จะมีลักษณะชัดลึก หมายความว่า เมื่อเราโฟกัสไปยังวัตถุที่จะถ่ายชัดแล้วบริเวณด้านหลังและด้านหน้าของวัตถุที่เราโฟกัสก็จะดูคมชัดด้วย

  ความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ ถ้าเปิดรูรับแสงกว้างแสงจะเข้าไปมากก็ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงเพื่อเปิด-ปิดให้แสงเข้าไปในระยะเวลาสั้นๆ ไม่เปิดให้แสงเข้าไปนานเกินไปก็จะได้ภาพที่มีสภาพแสงปกติ แต่ถ้าเราเปิดรูรับแสงแคบแสงจะเข้าได้น้อย ก็ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพื่อเปิดให้แสงเข้าไปเป็นเวลานานมากขึ้น ก็จะได้ภาพที่มีสภาพแสงปกติเช่นกัน

    ความไวแสง (ISO) หมายถึง ความไวต่อแสงของตัวเซ็นเซอร์ในกล้องดิจิทัล สามารถเร่งให้เซ็นเซอร์ไวต่อแสงมากหรือน้อยได้ เช่น เร่งจาก ISO 100 ไปเป็น 200, 400 ขึ้นไปได้เรื่อย ๆ สุดแล้วแต่ความสามารถของกล้องแต่ละตัว ค่า ISO แต่ละค่าจะมีความไวแสงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของค่าเดิม เช่น ISO 25, 50, 100, 200, 400, 800, 3200, 6400 ฯลฯ เป็นต้น ดังนั้นหากเราตั้งค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ไว้คงที่แต่เปลี่ยนค่า ISO ให้มากขึ้นหรือน้อยลง ภาพที่ได้ก็จะสว่างขึ้นหรือมืดลงตามไปด้วย

    การวัดแสง ก่อนถ่ายภาพต้องวัดแสงเพื่อทราบค่าแสงที่สะท้อนออกมาจากวัตถุที่จะถ่าย จึงจะถ่ายภาพได้แสงถูกต้อง กล้องดิจิทัลทุกตัวจะมีเซลวัดแสงติดมาด้วยเซลนี้จะวัดปริมาณแสงสะท้อนจากวัตถุแล้วนำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานทางอุตสาหกรรมการถ่ายภาพ คือ “ค่าการสะท้อนแสงของวัตถุสีเทา 18 %” หมายความว่า ถ้าวัตถุได้รับแสงไป 100 ส่วน จะสะท้อนกลับออกมา 18 ส่วนระบบวัดแสงจะยึดค่านี้เป็น “ค่ากลาง” เพื่อเปรียบเทียบกับสภาพแสงที่จะถ่ายภาพ ถ้าวัดแสงสะท้อนออกมามากกว่า 18 % แสดงว่าสว่างเกินไป ถ้าวัดแสงสะท้อนออกมาน้อยกว่า 18 % แสดงว่ามืดเกินไปถ้าวัดแสงสะท้อนได้ 18% ถือว่าได้แสงพอดี วัตถุบางสีมีการสะท้อนแสงใกล้เคียงกับสีเทา 18% เมื่อถ่ายภาพออกมาก็จะได้สีสันถูกต้องได้แสงพอดี แต่วัตถุบางสีมีการสะท้อนของแสงมากหรือน้อยกว่า18% ก็อาจมีปัญหาว่าวัดแสงพอดีแล้วกลับได้ภาพมืดไปหรือสว่างไปหรือมีสีสันเพี้ยนไป เช่น การถ่ายภาพที่มีวัตถุสีขาวเป็นฉากหลัง วัตถุสีขาวมีค่าการสะท้อนแสงมากกว่า 18 % ทำให้กล้องไปลดแสงลงจากปกติให้เหลือเพียง 18 % ทำให้สีขาวในภาพที่ถ่ายออกมากลายเป็นสีเทา 18 % ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง แต่ถ้าหากถ่ายภาพที่มีฉากหลังเป็นวัตถุสีดำมีค่าสะท้อนแสงน้อยกว่า 18 % ทำให้กล้องไปเพิ่มการรับแสงขึ้นจากปกติเพื่อให้ได้ค่าเท่ากับสีเทา 18 % ทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาสีดำกลายเป็นสีเทา18% ซึ่งไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงจึงต้องแก้ไขโดยการชดเชยแสง ถ้าวัตถุที่เราถ่ายมีพื้นที่ส่วนใหญ่หรือฉากหลังเป็นสีขาวให้ชดเชยแสงทางบวกโดยเปิดรูรับแสงให้กว้างมากขึ้น หรือใช้ความเร็วชัตเตอร์ให้ช้าลง หรือปรับค่า ISO ให้สูงขึ้น ส่วนจะชดเชย +2 หรือ +1 ก็แล้วแต่ความสว่างหรือความขาวและปริมาณพื้นที่ของสิ่งนั้นที่อยู่ในภาพ ถ้าวัตถุที่ถ่ายมีพื้นที่ส่วนใหญ่หรือฉากหลังเป็นสีดำให้ชดเชยแสงทางลบ โดยวิธีการหรี่รูรับแสงให้แคบลง หรือใช้ความเร็วชัตเตอร์ให้เร็วขึ้น หรือปรับค่า ISO ให้น้อยลง ส่วนจะชดเชย -2 หรือ-1 ก็แล้วแต่ความมืดหรือความดำและปริมาณพื้นที่ของสิ่งนั้นที่อยู่ในภาพระบบวัดแสงที่นิยมใช้กันมี 3 รูปแบบ คือ 1)ระบบวัดแสงแบบเฉลี่ยหลายส่วน 2)ระบบวัดแสงแบบเฉลี่ยกลางภาพ 3)ระบบวัดแสงเฉพาะจุด การวัดแสงทำให้เราทราบว่าควรเปิดขนาดรูรับแสงกว้างเท่าไรควรใช้ความเร็วชัตเตอร์เท่าใด จะตั้งค่า ISO เท่าไร จึงจะเหมาะสม

    การโฟกัสภาพ เป็นการปรับภาพวัตถุที่จะถ่ายให้คมชัดก่อนกดชัตเตอร์ มีทั้งระบบโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติ เพียงแต่กดปุ่มชัตเตอร์ลงไปครึ่งหนึ่งกล้องจะปรับโฟกัสภาพให้ชัดเอง โดยทั่วไปมี 2 ประเภท คือ 1)ระบบโฟกัสภาพจุดเดียว ระบบนี้จะปรับภาพให้ชัดที่สุดตรงกลางภาพ ใช้ได้ดีในสถานการณ์ทั่วไป หรือภาพที่ต้องการวางวัตถุหลักไว้กลางภาพ 2)ระบบโฟกัสภาพหลายจุด ระบบนี้จะมีจุดโฟกัสหลาย ๆ จุด อาจมี 5 จุด 9 จุด หรือ 11 จุด กระจายอยู่ภายในกรอบเฟรมที่เราจะถ่ายภาพเราสามารถเลือกจุดโฟกัสภาพได้เองโดยเลื่อนแถบแสดงตำแหน่งโฟกัสภาพไปยังตำแหน่งจุดดังกล่าวที่ต้องการโฟกัส ให้ผลดีในกรณีที่วางวัตถุหลักไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของภาพที่ไม่ใช่ตรงกลาง อีกระบบหนึ่งเป็นระบบโฟกัสภาพด้วยมือ มักพบในกล้อง D-SLR และในกล้องดิจิทัลคอมแพ็คระดับสูง ผู้ใช้สามารถปรับโฟกัสได้เองอย่างอิสระโดยหมุนวงแหวนที่ตัวเลนส์เพื่อโฟกัสให้ภาพชัด ใช้ได้ดีในการถ่ายภาพในสภาพแสงที่มีการตัดกันต่ำ และช่วยแก้ปัญหาข้อผิดพลาดจากการใช้ระบบโฟกัสภาพแบบอัตโนมัติได้

    ความสมดุลของสีขาว คือ การทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาได้สีขาวที่เป็นสีขาวจริง ๆ ไม่ใช่สีขาวอมเทาหรือสีสีขาวอมเหลือง ทำได้โดยการตั้งค่า White Balance ให้ตรงกับสภาพแสงที่เราจะถ่าย เช่นตั้งค่า White Balance แบบ Auto กล้องจะปรับความสมดุลของสีขาวให้เองโดยอัตโนมัติ กล้องจะรู้เองว่าภาพที่เรากำลังจะถ่ายนั้นมีสภาพแสงที่เกิดจากแหล่งกำเนิดแสงชนิดใด แล้วกล้องก็จะปรับตามสภาพแสงให้เราทันที แบบ Daylight จะเหมาะกับสภาพแสงอาทิตย์ที่ถ่ายกลางแจ้งในวันที่อากาศสดใสช่วงเวลา 9.00 น.– 15.00 น. แบบ Tungsten เหมาะกับการถ่ายภาพในสถานที่ซึ่งใช้หลอดไฟแบบไส้หลอดกลม ๆ แบบ Cloudy เหมาะกับการถ่ายภาพในวันที่ท้องฟ้ามีเมฆมาก ครึ้มฟ้า ครึ้มฝนไม่มีแดดออก แบบ Fluorescent เหมาะกับการถ่ายภาพในอาคารด้วยแสงจากหลอด Fluorescent

    ช่องมองภาพ เมื่อมองผ่านช่องนี้ออกไปจะเห็นขอบเขตบริเวณและวัตถุที่จะถ่ายภาพ โดยไม่ต้องใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ กล้องดิจิทัลคอมแพ็คทั่ว ๆ ไป ภาพที่เรามองเห็นจากช่องมองภาพอาจมีความแตกต่างไปจากภาพที่บันทึกได้จริงจากเซ็นเซอร์ ซึ่งผู้ผลิตได้พยายามแก้ไขปัญหาการเหลื่อมของภาพ ด้วยการพิมพ์เส้นไกด์ที่มีลักษณะโปร่งใสลงบนช่องมองภาพเพื่อแสดงขอบเขตบริเวณที่ภาพจะบันทึกได้จริงไว้ให้ผู้ถ่ายภาพใช้เป็นแนวทางในการจัดองค์ประกอบภาพให้อยู่ภายในกรอบเส้นไกด์นั้นแต่สำหรับกล้อง D-SLR แสงจากวัตถุที่เราจะถ่ายจะพุ่งเข้าสู่เลนส์แล้วสะท้อนกระจกส่งภาพขึ้นไปสู่ช่องมองภาพ ภาพที่ถ่ายได้จึงเหมือนกับภาพที่มองจากช่อง มองภาพ แต่ก็มองเห็นเพียง 96 % ยังไม่ครบ 100 % ดังนั้นเวลาจัดองค์ประกอบภาพก็ต้องเผื่อบริเวณที่ช่องมองภาพมองไม่เห็นไว้ด้วย

    จอภาพ LCD ภาพที่เราเห็นเป็นภาพจริงจากตัวเซ็นเซอร์ เนื่องจากกล้องดิจิทัลจะนำข้อมูลจากตัวเซ็นเซอร์มาปรับค่าต่าง ๆ ตามที่ตั้งไว้แล้วแสดงให้เห็นทางจอภาพ LCD ดังนั้นเราจึงสามารถจัดองค์ประกอบภาพให้เหมาะสมและปรับสภาพแสงให้มีความสว่างหรือมืดได้ตามต้องการ แล้วจึงกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ

พื้นฐานความรู้เหล่านี้จะทำให้ผู้อ่านเรียนรู้ขั้นตอนการถ่ายภาพในบทต่อไป เข้าใจได้ง่ายขึ้น