บทที่ 2
การเลือกใช้เลนส์และอุปกรณ์เสริมเพื่อการถ่ายภาพดิจิทัล

    เลนส์เป็นส่วนที่สำคัญมากส่วนหนึ่งของกล้องดิจิทัล เปรียบเสมือนดวงตาของกล้องถ่ายภาพ แสงที่สะท้อนจากวัตถุจะผ่านเลนส์เข้าไปยังเซ็นเซอร์รับภาพ ทำให้เกิดภาพในลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทของเลนส์ เลนส์แต่ละประเภทจะเหมาะกับการถ่ายภาพที่แตกต่างกัน ถ้าชอบภาพทิวทัศน์ก็ต้องเลือกเลนส์ที่ถ่ายได้ในมุมกว้าง ถ้าชอบถ่ายภาพแมลงต่าง ๆ ก็ต้องเลือกเลนส์สำหรับถ่ายภาพระยะใกล้ ๆ โดยทั่วไปกล้องคอมแพ็คจะมีเลนส์ที่ติดมากับตัวกล้องถอดเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้จึงต้องเลือกกล้องที่มีเลนส์ที่ให้มาเหมาะกับการถ่ายภาพในลักษณะที่เราชอบ แต่สำหรับกล้อง D-SLR สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ ทำให้เราสามารถเลือกใช้เลนส์ได้หลายประเภทตามลักษณะภาพที่เราต้องการ นอกจากนี้ในการถ่ายภาพดิจิทัลนั้นอุปกรณ์เสริม เช่น ฟิลเตอร์ ขาตั้งกล้อง สายลั่นชัตเตอร์ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกสบายให้กับการถ่ายภาพได้มาก ดังนั้นในบทนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเลนส์และอุปกรณ์เสริมเพื่อการถ่ายภาพดิจิทัลกัน เพื่อเลือกใช้ให้เหมาะกับงานถ่ายภาพของเรา

ความหมายของสัญลักษณ์ที่หน้าเลนส์หรือตัวเลนส์
ที่หน้าเลนส์หรือที่ตัวเลนส์ของกล้องดิจิทัล จะมีตัวเลขและตัวอักษรเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว เลนส์ ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้แสดงให้ทราบถึงคุณสมบัติของเลนส์และยี่ห้อของเลนส์ตัวนั้น ดังนี้

 

  • ยี่ห้อของเลนส์ (Name of Lens) กล้องดิจิทัลที่ใช้เลนส์ที่มีคุณภาพมักจะบอกยี่ห้อของชิ้น
    เลนส์ไว้ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในด้านคุณภาพของเลนส์ เช่น Nikkor Lens, Canon
    Lens, Carl Zeiss Lens, Leica Lens, Schneider Lens ฯลฯ เป็นต้น
  • ทางยาวโฟกัส (Focal Length) หมายถึง ระยะความห่างจากเลนส์ไปถึงเซ็นเซอร์รับภาพ
    ซึ่งเป็นระยะที่สั้นที่สุดที่ทำให้ปรากฏภาพบนเซ็นเซอร์รับภาพชัดเจน โดยจะบอกเป็น
    ตัวเลขตามหลังด้วยหน่วยวัดระยะเป็นมิลลิเมตร (mm) เช่น 50 mm , 105 mm ตัวเลข
    เหล่านี้ ถ้าบอกมาเพียงค่าเดียว เช่น 50 mm แสดงว่าเลนส์ตัวนั้นมีทางยาวโฟกัส 50 mm
    ไม่สามารถเปลี่ยนระยะทางยาวโฟกัสได้เรียกว่า “เลนส์ฟิกซ์” (Fix Lens) แต่ถ้าตัวเลขนั้น
    บอกเป็นลักษณะของช่วงความยาวโฟกัส เช่น 18 – 105 mm เรียกว่าเลนส์ซูม (Zoom Lens)
    สามารถเลือกระยะทางยาวโฟกัสในการถ่ายภาพได้ตามช่วงที่บอกไว้ เลนส์ที่มีทางยาว
    โฟกัสสั้นจะสามารถรับภาพได้ในมุมกว้าง ส่วนเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสยาวจะสามารถรับ
    ภาพระยะไกล ๆ ได้ดี แต่มุมรับภาพจะแคบ
  • ขนาดรูรับแสง (Aperture range) เป็นขนาดของการเปิดรูรับแสงเพื่อให้แสงผ่านเข้าไปยัง
    เซ็นเซอร์รับภาพ โดยตัวเลขที่บอกไว้คือขนาดรูรับแสงที่กว้างที่สุดที่เลนส์สามารถเปิดได้
    เช่น ระบุว่า 1 : 2.8 นั่นก็คือเปิดรูรับแสงได้กว้างสุด 2.8 เลนส์บางตัวบอกขนาดรูรับแสง
    เป็นช่วงเช่น 1 : 3.5 – 4.5 ซึ่งจะใช้ควบคู่กับเลนส์ที่บอกทางยาวโฟกัสเป็นช่วง เช่น
    18 – 105 mm หมายความว่า ถ้าเราถ่ายภาพที่ทางยาวโฟกัส 18 mm เราจะเปิดรูรับแสงได้
    กว้างสุด 3.5 แต่ถ้าเราถ่ายภาพที่ทางยาวโฟกัส 105 mm เราจะเปิดหน้ากล้องได้กว้างที่สุด
    4.5 มีเลนส์บางตัวบอกทางยาวโฟกัสไว้เป็นช่วง แต่บอกขนาดขนาดรูรับแสงไว้เพียง
    ค่าเดียว เช่น 24 – 70 mm 1 : 2.8 หมายความว่าไม่ว่าจะถ่ายภาพที่ระยะ 24 mm หรือ
    70 mm ก็ยังสามารถเปิดขนาดรูรับแสงได้กว้างสุด 2.8 ค่าเดียวตลอดช่วงทางยาวโฟกัส

ธรรมชาติของเลนส์และการเลือกใช้งาน
การเลือกใช้เลนส์โดยทั่วไปแล้วจะเป็นเรื่องของกล้องประเภท D-SLR เพราะเป็นกล้องที่เรา
สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ แต่ถึงแม้กล้องดิจิทัลแบบคอมแพ็คจะมีเลนส์ติดมากับตัวกล้องถอดเปลี่ยน
ไม่ได้ แต่ก็จะบอกทางยาวโฟกัสและขนาดรูรับแสงมาให้ทราบ ทำให้เราสามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับ
งานหรือตรงกับความต้องการของเราได้เช่นกัน ก่อนที่เราจะเลือกใช้เลนส์ประเภทใดนั้นควรทำความ
รู้จักกับเลนส์และลักษณะของภาพที่ถ่ายได้จากเลนส์แต่ละประเภทกันก่อน เพื่อจะได้ตัดสินใจเลือกใช้
เลนส์ได้ถูกต้องเหมาะสมกับงาน ดังนี้

ประเภทของเลนส์
เราสามารถแบ่งเลนส์ออกเป็นกลุ่มตามช่วงของทางยาวโฟกัส ซึ่งเป็นตัวบอกให้ทราบถึงองศา
ในการรับภาพ (มุมรับภาพ) โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ดังนี้ (ปิยะฉัตร แกหลง, 2551 : 61-65)

  • เลนส์มุมกว้าง (Wide Angle Lens) เป็นเลนส์ที่สามารถรับภาพได้ในมุมที่กว้าง ส่วนใหญ่มักมี
    ทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 35mm ลงไป ยิ่งทางยาวโฟกัสสั้นมากเท่าไรก็ยิ่งทำให้สามารถรับภาพได้ในมุมที่
    กว้างมากขึ้น ถ้าเป็นเลนส์ซูมมักจะมีทางยาวโฟกัสช่วงประมาณ 24 – 35 mm เลนส์ประเภทนี้จะให้
    ระยะชัด (Depth of Field) ค่อนข้างมากหรือที่เรียกกันว่าชัดลึก กล่าวคือจะทำให้ภาพมีความชัดเจน
    ตั้งแต่ฉากหน้าไปจนถึงฉากหลัง จึงเหมาะแก่การถ่ายภาพทิวทัศน์และเหมาะแก่การถ่ายภาพในที่แคบ
    ที่มีเนื้อที่จำกัดไม่สามารถถอยหลังห่างออกไปเพื่อเก็บภาพได้หมด นั่นหมายถึงถ้าเราใช้เลนส์ที่มี
    ทางยาวโฟกัส 50 mm ถ่ายภาพในที่แคบจะเก็บภาพไม่หมดเพราะเราถอยหลังห่างออกไปไม่ได้ แต่ใน
    ตำแหน่งเดียวกันนี้เลนส์มุมกว้างสามารถเก็บภาพได้หมด เลนส์ประเภทนี้หากมีทางยาวโฟกัสต่ำกว่า
    24 mm จัดเป็นเลนส์มุมกว้างมากจะเก็บภาพได้กว้างมากขึ้นแต่มีข้อเสียคือภาพที่ออกมาอาจบิดเบี้ยว
    ได้ง่าย

  • เลนส์มาตรฐาน (Normal Lens) เป็นเลนส์ที่มีมุมรับภาพใกล้เคียงกับที่ตาคนเรามองเห็น มีทาง
    ยาวโฟกัสประมาณ 50 mm ถ้าเป็นเลนส์ซูมก็จะมีทางยาวโฟกัสระหว่าง 35 – 70 mm เป็นเลนส์ที่แทบ
    ไม่ก่อให้เกิดความผิดเพี้ยนของภาพ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพทั่วไป เช่น ภาพบุคคล ภาพเหตุการณ์
    และวิถีชีวิตทั่ว ๆ ไป เลนส์ประเภทนี้มักมีรูรับแสงค่อนข้างกว้าง จึงสามาถถ่ายภาพได้ในที่มีแสงสว่าง
    น้อย

  • เลนส์ถ่ายไกล (Telephoto Lens) เป็นเลนส์ที่สามารถดึงภาพจากระยะไกลให้ใกล้เข้ามา ทำให้
    สามารถถ่ายภาพในสถานที่ที่เราไม่สามารถเข้าไปใกล้สิ่งที่จะถ่ายได้ เช่น การแข่งขันกีฬา สัตว์ป่า และ
    นก ฯลฯ เป็นต้น เลนส์ประเภทนี้มีมุมรับภาพแคบและมีระยะชัดน้อยหรือที่เรียกกันว่าชัดตื้น ทำให้ฉาก
    หลังที่อยู่ไกลออกไปจากสิ่งที่ถ่าย เบลอ ไม่คมชัด สิ่งที่ถ่ายจะดูเด่นขึ้น ทางยาวโฟกัสของเลนส์ประเภท
    นี้มักจะมีค่ามากกว่า 80 mm ขึ้นไป ยิ่งมีค่ามากเท่าไรก็ยิ่งรับภาพได้มุมแคบลงหรือเรียกว่าซูมภาพ
    เข้ามาได้มากขึ้น หากเป็นเลนส์ถ่ายไกลพิเศษอาจมีทางยาวโฟกัสมากถึง 800 – 2000 mm เช่น เลนส์
    สำหรับถ่ายภาพดวงดาว เป็นต้น

ถ้าพิจารณาตามลักษณะพิเศษของเลนส์ สามารถแบ่งเลนส์ออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้อีก เช่น

  • เลนส์ตาปลา (Fisheye Lens) เป็นเลนส์มุมกว้างชนิดพิเศษ
    มีทางยาวโฟกัสประมาณ 4 – 16 mm สามารถรับภาพได้กว้างถึง
    180 องศา ภาพที่ออกมาจะมีลักษณะโค้งเบี้ยว ๆ ดูแล้วแปลกตาดี

  • เลนส์มาโคร (Macro Lens) เป็นเลนส์ที่สามารถ ถ่ายภาพได้ในระยะใกล้พิเศษ อาจเข้าไปถ่ายได้ใกล้ถึง 1-2 ซม.
    จากวัตถุที่จะถ่ายเลยทีเดียว ทำให้ได้ภาพวัตถุที่มีขนาดใหญ่ เลนส์ประเภทนี้เหมาะสำหรับใช้ถ่ายภาพวัตถุเล็ก ๆ ให้เห็น
    รายละเอียดชัดเจน เช่น ภาพแมลง ดอกไม้ เครื่องประดับ และ ยังสามารถใช้ถ่ายภาพทั่วไปได้เช่นเดียวกับเลนส์ประเภทอื่น ๆ
    ที่มีทางยาวโฟกัสเท่ากัน เลนส์มาโครจะบอกอัตราขยายภาพไว้เป็นสัดส่วนของขนาดวัตถุที่ปรากฏบนเซ็นเซอร์ : ขนาด
    ของวัตถุจริง เช่น เลนส์อัตราขยาย 1:1 หมายถึงหากวัตถุมีขนาด 1 ซม. เมื่อเข้าไปถ่ายใกล้วัตถุที่สุดภาพที่ไปตกบน
    เซ็นเซอร์ก็จะมีขนาด 1 ซม. เท่ากัน แต่ถ้ากำหนดอัตราขยายเป็น 1:2 ภาพที่ไปตกบนเซ็นเซอร์จะมี
    ขนาด 0.5 ซม. เลนส์ประเภทนี้มีทางยาวโฟกัสได้หลายค่า เช่น 50 , 85 , 100 mm เป็นต้น ซึ่งทางยาว
    โฟกัสจะมีผลต่อการเข้าใกล้วัตถุเพื่อให้ได้ภาพที่มีขนาดเท่าที่ต้องการ เช่น เลนส์มาโครที่มีทางยาว
    โฟกัส 50 mm ก็จะต้องเข้าใกล้วัตถุมากกว่าเลนส์มาโครที่มีทางยาวโฟกัส 100 mm เพื่อให้ได้ภาพวัตถุ
    ที่มีขนาดเท่ากัน

 

  • เลนส์ซูม (Zoom Lens) เป็นเลนส์ที่สามารถเปลี่ยนทางยาวโฟกัสได้หลาย ๆ ค่าภายในตัวมัน
    เอง ทำให้สะดวกต่อการใช้งานแต่ประสิทธิภาพสู้เลนส์ฟิกซ์ (เลนส์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนทางยาวโฟกัส)
    ไม่ได้เมื่อเปรียบเทียบภาพถ่ายที่ออกมา ณ ตำแหน่งทางยาวโฟกัสเดียวกัน เลนส์ชนิดนี้มีช่วงทางยาว
    โฟกัสให้เลือกหลายช่วง เช่น เลนส์ซูมช่วงถ่ายภาพมุมกว้าง 24–50 mm เลนส์ซูมช่วงถ่ายภาพ
    ระยะไกลขนาด 80-200 mm และเลนส์ซูมช่วงถ่ายภาพมุมกว้างไปจนถึงถ่ายภาพระยะไกล เช่น
    24–105 mm , 28–200 mm สุดแท้แต่ทางผู้ผลิตจะออกแบบมา

 

  • เลนส์ในกล้องดิจิทัลคอมแพ็ค จะเป็นเลนส์ซูมเป็นส่วนใหญ่ และจะเขียนบอกทางยาวโฟกัสไว้
    2 ค่า ที่หน้าเลนส์เหมือนกัน แต่ค่าที่เขียนมักเป็นเลขจำนวนที่น้อย เช่น 6.3–18.9 mm นั่นเป็นเพราะ
    เซ็นเซอร์รับภาพในกล้องดิจิทัลประเภทคอมแพ็ค มีขนาดเล็กกว่ากล้องใช้ฟิล์ม จึงต้องใช้เลนส์ที่มีทางยาว
    โฟกัสสั้นกว่ากล้องใช้ฟิล์มในการปรับแสงให้ตกพอดีกับเซ็นเซอร์รับภาพ แต่เมื่อคนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับค่า
    ของกล้องที่ใช้ฟิล์ม ผู้ผลิตกล้องดิจิทัลจึงมักเขียนไว้ในคู่มือว่าทางยาวโฟกัสจริงของเลนส์นั้นเทียบเท่ากับ
    กล้องใช้ฟิล์ม 35 mm ช่วงที่เท่าไร

นอกจากนี้กล้องดิจิทัลแบบคอมแพ็คส่วนใหญ่ นิยมบอก ความสามารถในการ
เปลี่ยนทางยาวโฟกัส หรือความสามารถในการซูม เป็นจำนวนเท่า (X) เช่น 3X, 4X,
10X เป็นต้น แต่กล้องที่มีความสามารถในการซูม ที่บอกเป็นจำนวน X เท่ากัน เช่น ซูม
ได้ 3X เท่ากันอาจจะมีทางยาวโฟกัสไม่เท่ากัน เพราะความสามารถในการซูม 3X ได้มาจากการนำค่า
ทางยาวโฟกัสสูงที่สุดเป็นตัวตั้งแล้วหารด้วยค่าทางยาวโฟกัสต่ำที่สุด เช่น กล้อคอมแพ็คของ Canon มี
ทางยาวโฟกัส 7.8-23.4 mm ก็นำ 23.4 เป็นตัวตั้งแล้วหารด้วย 7.8 เท่ากับ 3 นั่นคือสามารถซูมขยายภาพ
ได้ 3 เท่า หรือ 3X นั่นเอง ส่วนกล้อง SONY มีทางยาวโฟกัส 5.8-17.4 mm ก็นำ 17.4 ตั้งแล้ว
หารด้วย 5.8 เท่ากับ 3 นั่นคือสามารถซูมได้ 3 เท่า หรือ 3X นั่นเอง แสดงให้เห็นว่าถึงแม้จะ
มีความสามารถในการซูม 3X  เท่ากัน แต่มีทางยาวโฟกัสไม่เท่ากัน ดังนั้นเวลาเลือกซื้อ
กล้อง อย่าดูแต่ความสามารถในการซูม(X) เท่านั้น ให้ดูช่วงทางยาวโฟกัสประกอบด้วยว่าตรงกับความต้องการของเราหรือไม่

การซูมแบบออฟติคอล (Optical Zoom) และการซูมแบบดิจิทัล (Digital Zoom)

  • การซูมแบบออฟติคอล
    เป็นการซูมโดยมีการเคลื่อนไหวของชิ้นเลนส์ภายในตัวเลนส์เพื่อเปลี่ยนทางยาวโฟกัส บางที
    เรียกว่า “ซูมเลนส์” ภาพที่ได้จะเป็นภาพที่เกิดจากการซูมจากเลนส์จริงๆ จึงมีคุณภาพเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์
    ถึงแม้จะซูมเข้าไปมาก ๆ เพื่อถ่ายภาพ ก็ยังคงเห็นรายละเอียดชัดเจนภาพไม่แตก ดังนั้นในการเลือกซื้อ
    กล้องดิจิทัลต้องดูด้วยว่ากล้องตัวนั้นสามารถซูมแบบ Optical ได้กี่ X เป็นสำคัญถ้ามีค่าสูง ๆ ยิ่งซูม
    ได้มาก เช่น 4X จะซูมเข้าใกล้ได้มากกว่า 3X เป็นต้น
  • การซูมแบบดิจิทัล
    เป็นการซูมที่เกิดจากการทำงานของซอฟต์แวร์ในกล้อง โดยนำภาพที่ได้จากการซูมแบบ
    ออฟติคอลมาขยายให้ใหญ่ขึ้น ทำให้ดูเหมือนว่าสามารถซูมภาพได้มากขึ้น ภาพที่ได้จึงมีคุณภาพไม่ค่อย
    ดีและไม่คมชัดเท่ากับการซูมแบบออฟติคอล การซูมแบบนี้จึงไม่เป็นที่นิยมใช้เท่าไรนักนอกจากจำเป็น
    จริง ๆ กล้องดิจิทัลประเภทคอมแพ็คบางรุ่นจะบอกแต่ค่าดิจิทัลซูมเท่านั้น ซึ่งจะมีตัวเลขสูงเพื่อให้ดูว่า
    ซูมได้มาก เช่น 14X ดังนั้นจึงควรตรวจสอบให้ดีว่ากล้องดิจิทัลตัวนี้ซูมแบบออฟติคอลได้เท่าไร
    และซูมแบบดิจิทัลได้เท่าไร ก่อนที่จะเลือกนำมาใช้

ระบบป้องกันภาพสั่นไหว
การสั่นไหวของภาพอาจเกิดขึ้นเมื่อต้องถือกล้องถ่ายด้วยมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ความเร็ว
ชัตเตอร์ต่ำ ๆ ระบบป้องกันภาพสั่นไหวจะเข้ามาช่วยไม่ให้เกิดอาการดังกล่าวได้บ้างถ้ามือสั่นไม่มาก
ดังนั้นเวลาถ่ายภาพมือต้องนิ่ง ถ้าใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำมาก ๆ ก็ต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วย ระบบป้องกัน
ภาพสั่นไหวมีทั้งในกล้องดิจิทัลประเภท D-SLR และประเภทคอมแพ็ค ซึ่งมีอยู่ 2 รูปแบบ ดังนี้

  1. ระบบป้องกันภาพสั่นไหวโดยการขยับชิ้นเลนส์ เป็นระบบที่อาศัยตัวเซ็นเซอร์วัดความเร็ว
    เชิงมุมของการสั่นจำนวน 2 ตัว ทำหน้าที่วัดการขยับหรือการสั่นไหวในแนวนอน 1 ตัว
    และวัดการขยับหรือการสั่นไหวในแนวดิ่งอีก 1 ตัว ซึ่งจะทำให้ทราบว่าขณะนั้นเลนส์มี
    การสั่นไหวไปในทิศทางใด จากนั้นระบบคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วภายในระบบป้องกัน
    ภาพสั่นไหวในตัวเลนส์ ก็จะสั่งการระบบขับเคลื่อนชิ้นเลนส์ให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่
    ชดเชยกับอาการสั่นไหวที่มันตรวจพบ ซึ่งจะทำให้แสงที่ผ่านเลนส์ไปนั้นยังคงตกลงที่เดิม
    เมื่อแสงตกกระทบที่เดิมจะทำให้ภาพดู
    เหมือนว่าไม่มีการสั่นไหวเกิดขึ้น
  2. ระบบป้องกันการสั่นไหวของภาพโดยขยับเซ็นเซอร์รับภาพภายในตัวกล้อง
    ระบบนี้แทนที่จะใช้การขยับชิ้นเลนส์เพื่อชดเชยอาการสั่นของกล้อง แต่กลับ
    ใช้วิธีขยับตัวเซ็นเซอร์รับภาพ ให้อยู่ในตำแหน่งที่รับภาพได้นิ่ง ๆ แทน

มอเตอร์ออโต้โฟกัส

ในกระบอกตัวเลนส์ถ่ายภาพ จะมีการเคลื่อนไหวชิ้นเลนส์ในลักษณะเข้า-ออกเพื่อปรับโฟกัส
ปัจจุบันการถ่ายภาพจะเป็นระบบโฟกัสแบบอัตโนมัติ (Auto Focus) ดังนั้นภายในกระบอกตัวเลนส์จึง
มีมอเตอร์ขนาดเล็กคอยขับเคลื่อนชิ้นเลนส์ โดยกล้องจะส่งคำสั่งไปยังมอเตอร์เพื่อขับเคลื่อนชิ้นเลนส์
ดังกล่าวให้โฟกัสภาพได้ชัดเจน

การเคลือบผิวเลนส์ (Coating)

การเคลือบผิวเลนส์ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากสำหรับเลนส์ที่ถ่ายภาพด้วยระบบดิทัล เพราะ
ถ้าหากไม่มีการเคลือบผิวเลนส์หรือเคลือบไม่ดี จะทำให้เกิดการสะท้อน (Reflect) ที่ผิวเลนส์กลับไป
กลับมา เพราะในกระบอกตัวเลนส์มีชิ้นเลนส์มากกว่า 1 ชิ้น นอกจากนี้ที่ผิวของตัวเซ็นเซอร์รับภาพเอง
ก็ยังสามารถสะท้อนแสงกลับมาหาเลนส์ชิ้นหลัง แล้วเกิดการสะท้อนย้อนกลับเข้าไปในกระบอกตัว
เลนส์ได้อีก ทำใหภ้ าพที่ถ่ายออกมามีลักษณะเปน็ วงสีสว่างหลาย ๆ วงปรากฏขึ้นในภาพ เราเรียกวา่ เกิด
อาการโกสท์ (Ghost) และแฟลร์ (Flare) ขึ้นในภาพ ทำให้คุณภาพของภาพเสียไป
การเคลือบผิวเลนส์ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ เช่น การเคลือบผิวเลนส์แบบ Nano ของ
เลนส์ค่าย Nikon ใช้ระบบเทคโนโลยีในการจัดการเคลือบผิวด้วยความละเอียดในระดับอนุภาคโมเลกุล
เน้นความสำคัญของช่องว่างระหว่างโมเลกุลที่เคลือบผิวอยู่ ทำให้แสงเดินทางผ่านเข้าไปได้ดีขึ้น ลดการ
สูญเสียของปริมาณแสงที่จะหายไปจากการสะท้อนกลับ และช่วยลดดัชนีการหักเหของแสงทำให้แสง
ผ่านชิ้นเลนส์ไปตกกระทบที่เซ็นเซอร์รับภาพได้อย่างมีคุณภาพ

ชิ้นเลนส์

คุณภาพของภาพถ่ายที่ออกมานั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสี การรักษาคุณภาพของแสง เกิดขึ้น
จากการใช้เลนส์ที่มีชิ้นเลนส์ที่มีคุณภาพ เพราะชิ้นเลนส์แต่ละชิ้นกว่าจะผลิตออกมาได้ต้องผ่านการ
คำนวณทางคณิตศาสตร์และการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์กันอย่างหนักหน่วงทั้งวัสดุ และการทำให้ได้
รูปร่างออกมาเป็นชิ้นเลนส์ ซึ่งเลนส์บางตัวอาจจะมีชิ้นเลนส์ประกอบกันถึง 10 ชิ้น ภาพที่ถ่ายออกมา
จากเลนส์ที่ทำมาจากชิ้นเลนส์ที่ดีกับชิ้นเลนส์ธรรมดา เราสามารถมองเห็นถึงความแตกต่างของภาพได้
อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสี ความนุ่มนวล ความมีมิติ และความสมจริง ความมีชีวิตชีวาของภาพ

อุปกรณ์เสริมสำหรับกล้องดิจิทัล

อุปกรณ์เสริมสำหรับกล้องดิจิทัล เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกสบาย
ให้กับการถ่ายภาพได้มากมาย อุปกรณ์เสริมบางอย่างไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อในทันทีที่ซื้อกล้อง เพราะ
อุปกรณ์บางชิ้นเป็นอุปกรณ์เพิ่มความสามารถให้กับกล้อง ซึ่งผู้ใช้จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญทางการ
ถ่ายภาพมากพอสมควร จึงจะสามารถเลือกซื้ออุปกรณ์เสริมเหล่านั้นมาใช้ให้ตรงกับความต้องการและ
ตรงตามวัตถุประสงค์ของการถ่ายภาพได้ อุปกรณ์เสริมสำหรับกล้องดิจิทัลที่น่าสนใจมีดังนี้

อุปกรณ์เพิ่มประสิทธิภาพให้กับเลนส์ของกล้องดิจิทัลคอมแพ็ค

  1. Adaptor Tube เป็นท่อที่ต่อครอบลงไปด้านหน้าเลนส์ของกล้อง (ใช้เฉพาะกับกล้องดิจิทัล
    คอมแพ็ค) เพื่อให้สามารถใส่อุปกรณ์เสริมสำหรับเลนส์ได้ เช่น ฟิลเตอร์ หรือ Conversion Lens
  2. Conversion Lens ใช้สำหรับเพิ่มขีดความสามารถให้กับเลนส์ที่มีอยู่แล้วโดยจะใส่ไว้หน้า
    เลนส์เพื่อช่วยเพิ่มหรือลดทางยาวโฟกัส ทำให้ได้มุมรับภาพที่กว้างขึ้นหรือแคบลง โดยไม่ทำให้เกิดการ
    สูญเสียแสงในเลนส์ Conversion Lens มี 2 ชนิด คือ
  • Wide Conversion Lens (WC) ใช้ครอบที่หน้าเลนส์เพื่อเพิ่มมุมมองของภาพให้กว้าง
    ออกไปมากกว่าปกติ โดยจะระบุเป็นตัวคูณ เช่น WC 0.7X หมายความว่าเมื่อเรา
    ใส่อุปกรณ์ตัวนี้ ก็จะลดระยะการซูมให้น้อยลง กลายเป็น 0.7 เท่า เช่น ใช้ครอบด้านหน้า
    ของกล้องดิจิทัลที่มีเลนส์ซูมระยะ 3X อยู่แล้วก็จะกลายเป็น 3×0.7 = 2.1X ทำให้ได้
    มุมมองที่กว้างขึ้น
  • Tele Conversion Lens (TC) ใช้ครอบที่หน้าเลนส์เพื่อเพิ่มระยะการซูมให้ไกลขึ้น โดยจะ
    ระบุเป็นตัวคูณ เช่น TC 1.4X หมายความว่า เมื่อเราใส่อุปกรณ์ตัวนี้จะทำให้เพิ่มระยะ
    การซูมออกไปได้อีก 1.4 เท่า เช่นใช้ครอบด้านหน้าของกล้องดิจิทัลที่มีเลนส์ซูมระยะ 3X
    อยู่แล้ว ก็จะกลายเป็น 3 × 1.4 = 4.2 X ทำให้ซูมได้ไกลขึ้น

ฟิลเตอร์ (Filter)

ฟิลเตอร์ เป็นแก้วหรือพลาสติกโปร่งใสที่ใช้ครอบหน้าเลนส์เพื่อช่วยลดน้ำหนักของแสงให้ดู
สวยงาม ช่วยเพิ่มสีของวัตถุให้ดูอิ่มขึ้นหรือทำให้ต่างออกไปจากธรรมชาติก็ได้ เราต้องเลือกขนาด
ฟิลเตอร์ให้เหมาะกับเลนส์ของเรา ขนาดที่ว่านี้คือเส้นผ่าศูนย์กลางของเลนส์ที่เราใช้ (เลนส์แต่ละรุ่นอาจ
มีขนาดหน้าเลนส์ไม่เท่ากัน ถึงแม้จะผลิตมาจากบริษัทเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน หรือมีระยะโฟกัสเท่ากัน)
ซึ่งที่ตัวเลนส์จะเขียนบอกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเอาไว้ว่าเลนส์ของเรามีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าไร ก็
ต้องใช้ฟิลเตอร์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากัน ฟิลเตอร์มีมากหลายชนิด ที่สำคัญ ๆ มีดังนี้

  • ฟิลเตอร์ยูวี (UV Filter) เป็นฟิลเตอร์สำหรับถ่ายภาพกลางแจ้งหรือในที่ที่มีแสงสะท้อน
    มาก ๆ ฟิลเตอร์ตัวนี้จะช่วยตัดรังสีอุลตร้าไวโอเล็ต ซึ่งเป็นตัวทำให้ภาพออกสีม่วงเวลา
    ถ่ายภาพในที่แดดจัด ๆ ฟิลเตอร์ยูวีจะไม่มีผลต่อค่าแสงที่ได้ไม่ว่าจะใส่หรือถอดฟิลเตอร์
    ออกจะมีค่าเท่ากัน โดยทั่วไปจึงนิยมใส่ฟิลเตอร์ยูวีไว้เพื่อป้องกันหน้าเลนส์มากกว่าที่
    จะต้องการผลที่เกิดขึ้นกับภาพ
  • ฟิลเตอร์ C-PL (Circular Polarize Filter) เป็นฟิลเตอร์ที่เหมาะกับการถ่ายภาพทิวทัศน์
    ช่วยทำให้ภาพทิวทัศน์ที่ถ่ายออกมาดูสวยสดงดงามกว่าปกติเป็นอย่างมาก เช่น ทำให้
    ท้องฟ้าส่วนที่เป็นสีฟ้าดูเข้มขึ้น ช่วยทำให้ก้อนเมฆดูเป็นปุยขาวสวยงามมากขึ้น ดอกไม้
    ใบไม้ดูสดใสกว่าปกติ ถ้าถ่ายพื้นน้ำทะเลจะดูสีสันสดใสมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยตัดแสง
    สะท้อนบนผิววัตถุได้อีกด้วย วิธีใช้งาน
    ฟิลเตอร์ C-PL ให้มีประสิทธิภาพนั้นต้อง
    ฝึกฝนพอสมควร เนื่องจากฟิลเตอร์ C-PL
    ประกอบด้วยกระจก 2 ชั้นอยู่ในวงแหวน ชั้น
    หน้าสุดจะหมุนได้รอบ ถ้าจะถ่ายภาพท้องฟ้า
    โดยใช้ฟิลเตอร์ C-PL เวลาถ่ายพยายามให้
    ดวงอาทิตย์อยู่ด้านข้างตัวเราจะได้ผลดี แล้ว
    จึงค่อย ๆ หมุนฟิลเตอร์ C-PL ให้ได้สีท้องฟ้าเข้มตามต้องการ

 

  • ฟิลเตอร์ลดทอนแสง ND Filter เป็นฟิลเตอร์สีเทาช่วยในการลดแสงสว่างที่จะผ่านเลนส์
    เข้าไปโดยไม่ทำให้โทนสีของภาพเปลี่ยน จึงเรียกว่า Neutral Density (ND) โดยที่ Neutral
    แปลว่าเป็นกลางสีไม่เปลี่ยน ส่วนคำว่า Density แปลว่าความเข้ม หมายถึง ทำหน้าที่ในการ
    ลดแสงที่จะผ่านเข้าไปในเลนส์ให้น้อยกว่าปกติ ใช้ในกรณีที่ต้องการถ่ายภาพด้วยความเร็ว
    ชัตเตอร์ต่ำแต่แสงสว่างมากเกินไปต้องใช้ฟิลเตอร์ ND ช่วยลดแสงเพื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์
    ต่ำถ่ายได้ เช่น ถ่ายภาพน้ำตกให้เห็นสายน้ำไหลต่อเนื่องด้วยความเร็วชัตเตอร์
    ต่ำ ฟิลเตอร์ ND นี้จะมีตัวเลขกำกับความเข้มอยู่ด้วย เริ่มจาก ND2 หมายถึง
    ความสามารถในการลดแสงให้เหลือผ่านเข้าไปในเลนส์เพียง 50 เปอร์เซ็นต์ของ
    แสงด้านนอก ในขณะที่ ND4 จะลดแสงให้เหลือผ่านเข้าไปในเลนส์แค่ 25 เปอร์เซ็นต์ของ
    แสงด้านนอกและ ND8 จะลดแสงให้เหลือผ่านเข้าไปในเลนส์เพียงแค่ 12.5 เปอร์เซ็นต์ของ
    แสงด้านนอกตามลำดับ การเลือกใช้งานก็ขึ้นอยู่กับเราว่าต้องการลดแสงมากน้อยเพียงใด

ฟิลเตอร์ยังมีอีกมากมายหลายแบบ เช่น ฟิลเตอร์แบบ Star ที่ช่วยทำให้ถ่ายภาพแสงไฟเป็น
แฉก ๆ ฟิลเตอร์ Soft ช่วยทำให้ภาพดูนุ่มนวลฟุ้ง ๆ เหมือนภาพในฝัน ฟิลเตอร์สีต่าง ๆ เพื่อย้อมสี
ท้องฟ้าให้ดูแปลกออกไป ฟิลเตอร์ชนิดนี้ควรใช้แบบที่เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมอย่าใช้แบบวงกลมเพราะถ้าใช้
แบบวงกลมจะต้องจัดเส้นขอบฟ้าไว้ตรงกลางภาพเท่านั้น (ในทางปฏิบัติไม่นิยมวางเส้นขอบฟ้าไว้ตรง
กลาง) เพราะไม่สามารถขยับฟิลเตอร์ขึ้นลงได้ แต่ถ้าใช้ฟิลเตอร์แบบสี่เหลี่ยมจะสามารถขยับแนว
ไล่โทนสี ขึ้น-ลง ให้สัมพันธ์กับเส้นขอบฟ้าได้ตามต้องการ ซึ่งความสามารถของโปรแกรมตกแต่งภาพ
ก็สามารถทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาบางลักษณะเหมือนกับใส่ฟิลเตอร์ดังกล่าวได้เช่นกัน ดังนั้นจึงไม่ขอ
กล่าวถึงรายละเอียดของฟิลเตอร์ดังกล่าว

แฟลชภายนอก (External Flash)

โดยทั่วไปกล้องดิจิทัลจะมีแฟลชมาให้ในตัวกล้องอยู่แล้วแต่กำลังส่องสว่างของแฟลชที่ให้มา
จะมีน้อย กำลังไฟในการส่องสว่างของแฟลชโดยทั่วไปจะเรียกเป็นค่า Guide Number หรือ GN ซึ่งจะ
บ่งบอกให้ทราบว่าสามารถถ่ายภาพด้วยแฟลชตัวนี้ได้ไกลแค่ไหน ค่า GN มากยิ่งมีกำลังส่องสว่างมาก
แฟลชที่ให้มากับกล้องจะมีค่า GN น้อยทำให้สามารถถ่ายภาพด้วยแฟลชที่ให้มาได้ไกลแค่ 3 เมตร ถ้า
ไกลเกินกว่า 3 เมตร แสงไฟแฟลชจะส่องไปไม่ถึงวัตถุที่ถ่ายหรือไปถึงแต่กำลังส่องสว่างก็จะไม่พอทำ
ให้ภาพออกมามืด ดังนั้นจึงต้องเพิ่มแฟลชภายนอกเข้าไปเพื่อเพิ่มกำลังส่องสว่างของแฟลช นอกจากนี้
แฟลชภายนอกยังสามารถปรับทิศทาง ก้ม-เงย หมุนซ้าย หมุนขวา เพื่อให้แสงแฟลชไปในทิศทางที่เรา
ต้องการได้ เช่น ปรับแฟลชให้เงยขึ้นไปกระทบเพดาลห้องแล้วสะท้อนมายังตัวแบบที่ถ่าย ทำให้ได้ภาพ
นุ่มนวล มองดูมีมิติมากขึ้น และยังสามารถแก้ปัญหาตาแดง (Red-eye) ที่มักเกิดขึ้นเมื่อใช้แฟลชในตัว
กล้องถ่ายภาพคน เพราะระยะของแฟลชอยู่ใกล้กับเลนส์มาก ดังนั้นถ้าติดตั้งแฟลชภายนอกให้ห่างและ
สูงจากเลนส์จนพ้นมุมสะท้อนภาพก็จะทำให้ตาของแบบที่เราถ่ายไม่แดง กล้อง D-SLR ทุกรุ่นสามารถ
ติดตั้งแฟลชภายนอกได้ แต่กล้องดิจิทัลแบบคอมแพ็คมีเพียงบางรุ่นที่สามารถติดตั้งแฟลชภายนอกได้
แฟลชภายนอกมีหลายประเภท ในบางครั้งแฟลชและกล้องยี่ห้อเดียวกันก็ยังใช้ด้วยกันไม่ได้เพราะเป็น
แฟลชรุ่นเก่า บางคนก็ต้องการใช้แฟลชในค่ายอิสระจึงต้องศึกษาสอบถามข้อมูลให้ดีว่าใช้กับกล้องของ
เราได้หรือไม่

ขาตั้งกล้อง (Tripod)

ขาตั้งกล้อง เป็นอุปกรณ์เสริมที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพที่ต้องการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ๆ
เพราะจะช่วยให้กล้องอยู่นิ่งไม่เกิดการสั่นไหวขึ้นในขณะถ่ายภาพ การถ่ายภาพบางอย่างถ้าต้องการ
คุณภาพของภาพที่ดีเลิศ แม้จะใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงก็มักจะใช้ขาตั้งกล้องช่วยในการถ่ายภาพ เพื่อให้
ได้ภาพที่คมชัดไม่สั่นไหว
ขาตั้งกล้องมีหลายรูปแบบ มีทั้งแบบขาเดียว (Monopod) ขาตั้งกล้องแบบนี้ช่างภาพจะใช้เพื่อ
รับน้ำหนักของกล้องกับเลนส์และใช้ขาตั้งยันพื้นเอาไว้ ช่วยให้ต้นแขนไม่ต้องแบกภาระรับน้ำหนักของ
กล้องมากเกินไป แต่ต้องใช้มือจับประคองตัวกล้องเอาไว้และเวลาถ่ายก็ต้องพยายามให้ตัวกล้องอยู่นิ่ง
มากที่สุด ขาตั้งกล้องที่นิยมและพบเห็นมากที่สุดก็คือขาตั้งกล้องชนิด 3 ขา (Tripod) ขาตั้งกล้องในยุค
ปัจจุบันไม่ได้ใช้เพียงเพื่อตั้งกล้องให้นิ่งเฉย ๆ เท่านั้น บางรุ่นยังสามารถกางราบได้ถึงพื้น หรือหักเป็น
มุมเอียงในลักษณะต่าง ๆ เพื่อการถ่ายภาพในมุมที่แปลกออกไปได้ด้วย แต่ก็ยังคงความนิ่งและความ
มั่นคงเอาไว้ ขาตั้งกล้องมีส่วนประกอบที่สำคัญใหญ่ ๆ 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็น “ขา” และส่วนที่เป็น “หัว”
ขาตั้งกล้องที่มีราคาแพง ส่วนที่เป็นหัวกับส่วนที่เป็นขามักจะแยกกันขาย

วัสดุที่ใช้ทำขาตั้งกล้องมีมากมาย เช่น เหล็ก อลูมิเนียม พลาสติก ฯลฯ เป็นต้น แต่ที่นิยมใช้กัน
มากเป็นขาตั้งกล้องที่ทำจาก “คาร์บอนไฟเบอร์” ข้อดีคือมีน้ำหนักเบาและแข็งแรงทนทาน แต่ก็มีข้อเสีย
คือเนื่องจากมันเบา ดังนั้นเวลาถ่ายภาพที่ต้องการความนิ่งและมั่นคงก็ต้องหาอะไรหนัก ๆ มาถ่วงเอาไว้
จะได้นิ่งยิ่งขึ้น สิ่งที่สามารถหามาถ่วงได้ง่ายก็คือกระเป๋ากล้องนั่นเอง โดยแขวนไว้กับแกนกลางของขา
ตั้งกล้องเพื่อช่วยถ่วงให้นิ่ง ส่วนหัวของขาตั้งกล้องก็มีหลายแบบเช่นกันแต่ที่นิยมใช้กันมากมี 2 แบบ
คือ “หัวแพน”และ“หัวบอล” หัวแพนมักจะมีก้านที่หมุนได้ยื่นออกมาจากส่วนหัวเพื่อปรับมุมก้ม-มุมเงย
แนวตั้ง-แนวนอน ซึ่งให้ความแม่นยำในการปรับมุมกล้องได้ค่อนข้างดี แต่มีจุดด้อยคือต้องใช้เวลาใน
การปรับมากกว่าหัวบอล และก้านหมุนที่ยื่นออกมานั้นก็ทำให้เกะกะในการปรับหัวขาตั้งกล้องด้วย
หัวของขาตั้งกล้องอีกประเภทหนึ่งคือ “หัวบอล” สามารถกลิ้งไปมาได้ทุกทิศทุกทางและมีตัวล็อคเพื่อ
หยุดให้มันอยู่กับที่ หัวของขาตั้งกล้องแบบนี้ช่างภาพนิยมใช้มากเพราะมันยืดหยุ่นและรวดเร็วในการ
ปรับองศาของกล้องและไม่เกะกะมากนัก แต่จะมีน้ำหนักมากกว่าและราคาสูงกว่าหัวแพนด้วย ดังนั้น
พอสรุปได้ว่าขาตั้งกล้องแบบหัวบอลให้ความคล่องตัวสูงกว่าหัวแพน แต่ขาตั้งกล้องแบบหัวแพนจะให้
ความแม่นยำในการปรับมุมกล้องมากกว่าหัวบอล ก็แล้วแต่ใครจะชอบเลือกใช้แบบไหน

สายลั่นชัตเตอร์

สายลั่นชัตเตอร์ ช่วยให้เรากดปุ่มชัตเตอร์ได้โดยไม่ต้องแตะตัวกล้องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด
แรงสั่นสะเทือนใด ๆ ขึ้นกับตัวกล้อง ภาพถ่ายประเภทสายน้ำตกที่นุ่มพริ้ว ภาพดวงอาทิตย์ตกยามเย็น
มักนิยมใช้สายลั่นชัเตอร์ เพราะถ้ากล้องสั่นไหวเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาไม่สมบูรณ์
สายลั่นชัตเตอร์ในยุคดิจิทัลสามารถกดแช่และล็อคปุ่มให้กดแช่อยู่ได้นานตามที่เราต้องการ ซึ่งเหมาะ
สำหรับถ่ายภาพรูปดวงดาวบนท้องฟ้าในเวลากลางคืนที่ต้องกดชัตเตอร์แช่ไว้เป็นเวลานาน ๆ นอกจากนี้
สายลั่นชัตเตอร์บางประเภทยังมีระบบควบคุมตัวกล้องในบางฟังก์ชันได้ และยังสามารถควบคุมแบบไร้สาย
(รีโมท) ได้ด้วย สายลั่นชัตเตอร์แบบมีสายมีข้อดีคือ

การใช้ไม่ยุ่งยากเพียงแต่เสียบเชื่อมเข้ากับกล้องก็กดใช้ได้แล้ว แต่มีข้อจำกัดคือเราต้องอยู่ใกล้ ๆ กล้อง
เพราะสายลั่นชัตเตอร์ไม่ยาว ส่วนแบบรีโมทมีข้อดีคือสามารถอยู่ห่างจากตัวกล้องได้ ทำให้สามารถ
ถ่ายภาพตัวเองในแอ็คชั่นต่าง ๆ ได้เลยโดยถือรีโมทไว้ในมือ แต่มีข้อจำกัดคือการใช้งานถ้าเราอยู่
หลังกล้อง อาจจะส่งสัญญาณลั่นชัตเตอร์ไปยังกล้องไม่ได้ เพราะเซ็นเซอร์รับสัญญาณพวกนี้มักอยู่
ด้านหน้าของตัวกล้อง ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งคือรีโมทต้องใช้แบตเตอรี่ในตัว ซึ่งถ้าแบตเตอรี่หมดก็
ใช้งานไม่ได้

แบตเตอรี่ (Battery)

กล้องดิจิทัลเป็นกล้องที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการควบคุมการทำงานไม่ว่าจะเป็นการซูมภาพ
การกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ การบันทึกภาพลงหน่วยความจำ หรือแม้แต่การดูภาพจากจอภาพของกล้อง
ล้วนแล้วแต่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้น ซึ่งพลังงานไฟฟ้าของกล้องดิจิทัลก็คือแบตเตอรี่ หรือที่เรียกกัน
ว่า “ถ่าน” นั่นเอง กล้องดิจิทัลแต่ละตัวจะใช้แบตเตอรี่ไม่เหมือนกัน แบตเตอรี่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
ใหญ่ ๆ คือแบตเตอรี่แบบใช้ครั้งเดียว และแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้
แบตเตอรี่แบบใช้ครั้งเดียว
เมื่อใช้ไฟจนหมดแล้วไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ราคาไม่แพงมากนักและหาซื้อได้ง่ายตาม
ท้องตลาดทั่วไป เช่น แบตเตอรี่แบบถ่านไฟAA ธรรมดา แบบนี้กระแสไฟหมดเร็ว ตากล้องจึงหันมา
นิยมใช้แบตเตอรี่แบบถ่านไฟ Alkaline ขนาด AA แทน ซึ่งหาซื้อได้ง่ายมากและใช้ได้นานกว่า
แบตเตอรี่แบบถ่านไฟ AA ธรรมดา

แบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้
สามารถใช้งานได้นานและเมื่อใช้ไฟจนหมดแล้วสามารถนำกลับมาชาร์จไฟเพื่อใช้ต่อไปได้อีก
ราคาจะแพงกว่าแบบใช้ครั้งเดียว แต่เมื่อคำนวณจากจำนวนครั้งที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้นับว่า
คุ้มค่ากว่ามาก แบตเตอรี่แบบนี้ยังแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

  • แบตเตอรี่แบบ Nickel Cadmium (NiCD) เป็นแบตเตอรี่รุ่นเก่าส่วนใหญ่จะมีขนาด AA ซึ่ง
    กล้องรุ่นใหม่ไม่นิยมใช้กันแล้ว เพราะให้กำลังไฟต่ำ อายุการใช้งานสั้น แบตเตอรี่แบบนี้ควร
    ใช้ให้ไฟหมดก่อน จึงค่อยนำไปชาร์จไฟใหม่ถ้าหากยังใช้ไฟไม่หมด มีกระแสไฟฟ้าตกค้าง
    อยู่ในแบตเตอรี่เมื่อนำไปชาร์จไฟใหม่จะทำให้แบตเตอรี่เก็บประจุไฟฟ้าได้น้อยกว่าเดิม เป็น
    สาเหตุทำให้ระยะเวลาในการใช้งานลดลง ที่เรียกว่าเกิดอาการ Memory Effect
  • แบตเตอรี่แบบ Nickel Metal Hydride (NiMH)มีขนาดเท่ากับ NiCD คือมีขนาดเท่ากับ AA แต่
    มีประสิทธิภาพดีกว่า NiCD เพราะสามารถจ่ายกระแสไฟได้สม่ำเสมอกว่า และไม่เกิดอาการ
    Memory Effect
  • แบตเตอรี่แบบ Lithium Ion (Li-Ion) เป็น
    แบตเตอรี่ที่มีขนาด และรูปร่างแตกต่างกันไป
    ตามลักษณะเฉพาะของกล้องแต่ละยี่ห้อ สามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้มาก น้ำหนักเบา ไม่เกิด
    Memory Effect ทำให้สามารถใช้งานได้นาน ข้อควรระวังไม่ควรปล่อยให้ไฟของ
    แบตเตอรี่ Li-Ion หมดและทิ้งไว้เป็นเวลานานกว่า 1 เดือน เพราะจะทำให้แบตเตอรี่หมด
    สภาพการประจุไฟฟ้าใหม่ คือมันจะชาร์จไฟไม่เข้า ถ้าจะเก็บแบตเตอรี่ Li-Ion ไว้โดยไม่ใช้
    เป็นเวลานาน ๆ ให้ชาร์จไฟให้เต็มก่อนแล้วจึงถอดจากตัวกล้องเก็บไว้

แท่นชาร์จแบตเตอรี่

มี 2 รูปแบบคือ แบบชาร์จช้ากับแบบชาร์จเร็ว การชาร์จแบบเร็วจะใช้เวลาชาร์จเพียง 2-3
ชั่วโมงเท่านั้น แต่ประจุไฟฟ้าที่ชาร์จเข้าแบตเตอรี่จะไม่เต็มที่เท่าการชาร์จแบบช้าที่ต้องใช้เวลาในการ
ชาร์จประมาณ 4-5 ชั่วโมง การชาร์จแบบช้าช่วยถนอมแบตเตอรี่มากกว่าและเกิดความร้อนน้อยกว่า
แท่นชาร์จบางรุ่นสามารถเลือกชาร์จได้ทั้งแบบช้าและแบบเร็ว หลาย ๆ คนชอบแท่นชาร์จแบบเร็ว
เพราะประหยัดเวลาซึ่งเหมาะสำหรับเวลาไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ ที่ต้องถ่ายภาพตลอดเวลาและมีเวลาจำกัด
จึงจำเป็นต้องชาร์จแบบเร็วก่อนเมื่อมีเวลาว่างพอค่อยเอามาชาร์จกับแท่นที่ชาร์จแบบช้า ซึ่งจะช่วยทำให้
แบตเตอรี่ใช้งานได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

แบตเตอรี่กริป (Battery Grip)

นิยมใช้กันมากกับกล้อง D-SLR วัตถุประสงค์หลักของอุปกรณ์เสริมตัวนี้ก็เพื่อเพิ่มปริมาณ
กระแสไฟให้มากขึ้นทำให้สามารถถ่ายภาพได้อย่างต่อเนื่อง มากกว่าการใช้แบตเตอรี่ปกติ เพราะมันทำ
ให้กล้องสามารถบรรจุแบตเตอรี่แบบ Li-Ion ได้ถึง 2 ก้อนพร้อม ๆ กัน และสามารถใช้แบตเตอรี่ชนิด
AA ได้ในยามฉุกเฉิน โดยจะมีรางสำหรับใส่แบตเตอรี่ชนิด AA มาให้ต่างหากอีก 1 ชิ้น (โดยปกติทั่วๆ
ไปจะใช้ประมาณ 6 ก้อน) นอกจากนี้มันจะมีปุ่มกดชัตเตอร์สำหรับแนวตั้งมาให้ใช้ด้วย ช่วยให้เรา
สามารถถ่ายภาพแนวตั้งได้นิ่งกว่าเดิม เพราะสามารถแนบข้อศอกขวากับลำตัวได้มั่นคงกว่า และอาจมี
ปุ่มฟังก์ชันอื่นให้อีก แบตเตอรี่กริปมีหลายรุ่นต้องเลือกใช้ให้ตรงกับกล้องของเรา บางรุ่นเมื่อติดตั้ง
แบตเตอรี่กริปแล้วทำให้สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้เร็วขึ้นกว่าเดิม บางรุ่นจะมีอุปกรณ์สำหรับการส่ง
ข้อมูลภาพแบบไร้สายหรือเชื่อมต่อสาย LAN กับคอมพิวเตอร์หรือเซิร์ฟเวอร์ได้ด้วย ช่วยให้การสำรอง
ไฟล์ภาพหรือการถ่ายภาพในสตูดิโอสะดวกมากยิ่งขึ้น

สรุป

เลนส์เป็นส่วนที่สำคัญมากส่วนหนึ่งของกล้องดิจิทัล แสงที่สะท้อนจากวัตถุจะผ่านเลนส์เข้า
ไปยังเซ็นเซอร์รับภาพทำให้เกิดภาพในลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทของเลนส์ เราสามารถ
แบ่งเลนส์ออกเป็นกลุ่มตามช่วงของทางยาวโฟกัส ซึ่งเป็นตัวบอกถึงองศาในการรับภาพได้ดังนี้

  • เลนส์มาตรฐาน เป็นเลนส์ที่มีมุมรับภาพใกล้เคียงกับที่ตาคนเรามองเห็น มีทางยาวโฟกัส
    ประมาณ 50 mm ถ้าเป็นเลนส์ซูมก็จะมีทางยาวโฟกัสระหว่าง 35 – 70 mm
  • เลนส์มุมกว้าง เป็นเลนส์ที่สามารถรับภาพได้ในมุมที่กว้างกว่าเลนส์มาตรฐาน ส่วนใหญ่มักมี
    ทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 35 mm ลงไป ยิ่งทางยาวโฟกัสสั้นมากเท่าไรก็ทำให้สามารถรับภาพได้ในมุมที่
    กว้างขึ้น ถ้าเป็นเลนส์ซูมมักจะมีทางยาวโฟกัสช่วงประมาณ 24 – 35 mm
  • เลนส์ถ่ายไกล เป็นเลนส์ที่สามารถดึงภาพจากระยะไกลให้ใกล้เข้ามา ทำให้สามารถถ่ายภาพใน
    สถานที่ที่เราไม่สามารถเข้าใกล้สิ่งที่จะถ่ายได้ ทางยาวโฟกัสของเลนส์ประเภทนี้มักจะมีค่ามากกว่า
    80 mm ขึ้นไป หากเป็นเลนส์ถ่ายไกลพิเศษอาจมีทางยาวโฟกัสมากถึง 800 – 2000 mm เช่นเลนส์
    สำหรับถ่ายภาพดวงดาว เป็นต้น

เลนส์ที่ติดมากับกล้องดิจิทัลทั่ว ๆ ไป ส่วนใหญ่สามารถเปลี่ยนทางยาวโฟกัสได้ซึ่งเรียกว่า
เลนส์ซูม การซูมในกล้องดิจิทัลสามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่

  • การซูมแบบออฟติคอล เป็นการซูมโดยมีการเคลื่อนไหวของชิ้นเลนส์ภายในตัวเลนส์เพื่อ
    เปลี่ยนทางยาวโฟกัส ภาพที่ได้จะเป็นภาพที่เกิดจากการซูมจากเลนส์จริง ๆ จึงมีคุณภาพเต็มร้อย
    เปอร์เซ็นต์ กล้องดิจิทัลแบบคอมแพ็คส่วนใหญ่ นิยมบอกความสามารถในการเปลี่ยนทางยาวโฟกัส
    หรือความสามารถในการซูมเป็นจำนวนเท่า (X) เช่น 3X, 4X, 10X เป็นต้น โดยการนำค่าทางยาวโฟกัส
    สูงที่สุดเป็นตัวตั้งแล้วหารด้วยค่าทางยาวโฟกัสต่ำที่สุด เช่น ทางยาวโฟกัส 7.1-21.3 mm ก็นำ 21.3 เป็น
    ตัวตั้งแล้วหารด้วย 7.1 เท่ากับ 3 แสดงว่าสามารถซูมขยายภาพได้ 3 เท่า นั่นก็คือ 3X นั่นเอง
  • การซูมแบบดิจิทัล เป็นการซูมที่เกิดจากการทำงานของซอฟต์แวร์ในกล้อง โดยนำภาพที่ได้
    จากการซูมแบบออฟติคอลมาขยายให้ใหญ่ขึ้น ทำให้ดูเหมือนว่าสามารถซูมภาพได้มากขึ้น ภาพที่ได้จึง
    มีคุณภาพไม่ค่อยดีและไม่คมชัดเท่ากับการซูมแบบออฟติคอล จึงไม่นิยมใช้

ในปัจจุบันเลนส์ในกล้องดิจิทัลมีคุณภาพดีขึ้น เพราะใช้เลนส์ที่มีชิ้นเลนส์ที่มีคุณภาพ มีการใช้
เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำในการเคลือบผิวเลนส์ มีระบบโฟกัสแบบอัตโนมัติ และมีระบบป้องกันภาพ
สั่นไหว ทำใหถ่ายภาพสะดวกและมีคุณภาพมากขึ้น

อุปกรณ์เสริมสำหรับกล้องดิจิทัล เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกสบาย
ให้กับการถ่ายภาพได้มากมาย อุปกรณ์เสริมสำหรับกล้องดิจิทัลที่น่าสนใจมีดังนี้

อุปกรณ์เพิ่มประสิทธิภาพให้กับเลนส์ของกล้องดิจิทัลคอมแพ็ค ได้แก่ Adaptor Tube เป็นท่อที่
ต่อครอบลงไปด้านหน้าเลนส์ของกล้อง เพื่อให้สามารถใส่อุปกรณ์เสริมสำหรับเลนส์ได้ เช่น
Conversion Lens ใช้สำหรับเพิ่มขีดความสามารถให้กับเลนส์ที่มีอยู่แล้วโดยจะใส่ไว้หน้าเลนส์เพื่อช่วย
เพิ่มหรือลดทางยาวโฟกัสทำให้ได้มุมรับภาพที่กว้างขึ้น ได้แก่ Wide Conversion Lens (WC) หรือ
เพิ่มระยะการซูมให้ไกลขึ้น ได้แก่ Tele Conversion Lens (TC)

  • ฟิลเตอร์ เป็นแก้วหรือพลาสติกโปร่งใสที่ใช้ครอบหน้าเลนส์เพื่อช่วยลดน้ำหนักของแสงให้ดู
    สวยงาม ช่วยเพิ่มสีของวัตถุให้ดูอิ่มขึ้น หรือทำให้ต่างออกไปจากธรรมชาติก็ได้ ฟิลเตอร์มีมากหลาย
    ชนิด ที่สำคัญ ๆ มีดังนี้ ฟิลเตอร์ยูวี (UV Filter) เป็นฟิลเตอร์สำหรับถ่ายภาพกลางแจ้งช่วยตัดรังสี
    อุลตร้าไวโอเล็ต ซึ่งเป็นตัวทำให้ภาพออกสีม่วงเวลาถ่ายภาพในที่แดดจัด ๆ ฟิลเตอร์ยูวีจะไม่มีผลต่อค่า
    แสงที่ได้ไม่ว่าจะใส่หรือถอดฟิลเตอร์ออกจะมีค่าเท่ากัน จึงนิยมใส่ฟิลเตอร์ยูวีไว้เพื่อป้องกันหน้าเลนส์
    มากกว่าที่จะต้องการผลที่เกิดขึ้นกับภาพ ฟิลเตอร์ C-PL (Circular Polarize Filter) เป็นฟิลเตอร์ที่เหมาะ
    กับการถ่ายภาพทิวทัศน์ ช่วยทำให้ภาพทิวทัศน์ที่ถ่ายออกมาดูสวยสดงดงามกว่าปกติเป็นอย่างมาก เช่น
    ทำให้ท้องฟ้าส่วนที่เป็นสีฟ้าดูเข้มขึ้น ฟิลเตอร์ลดทอนแสง ND Filter เป็นฟิลเตอร์สีเทาช่วยในการลด
    แสงสว่างที่จะผ่านเลนส์เข้าไปโดยไม่ทำให้โทนสีของภาพเปลี่ยน จึงเรียกว่า Neutral Density (ND)
    ใช้ในกรณีที่ต้องการถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำแต่แสงสว่างมากเกินไปต้องใช้ฟิลเตอร์ND ช่วยลด
    แสงเพื่อให้สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำถ่ายได้
  • แฟลชภายนอก แฟลชที่ให้มากับกล้องจะมีกำลังส่องสว่างน้อย ทำให้สามารถถ่ายภาพด้วย
    แฟลชที่ให้มาได้ไกลแค่ 3 เมตร ถ้าไกลเกินกว่า 3 เมตร แสงไฟแฟลชจะส่องไปไม่ถึงวัตถุที่ถ่ายหรือไป
    ถึงแต่กำลังส่องสว่างก็จะไม่พอทำให้ภาพออกมามืด ดังนั้นจึงต้องเพิ่มแฟลชภายนอกเข้าไปเพื่อเพิ่ม
    กำลังส่องสว่างของแฟลช นอกจากนี้แฟลชภายนอกยังสามารถปรับทิศทาง ก้ม-เงย หมุนซ้าย หมุนขวา
    เพื่อให้แสงแฟลชไปในทิศทางที่เราต้องการได้
  • ขาตั้งกล้อง เป็นอุปกรณ์เสริมที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพที่ต้องการใช้ความเร็ว ชัตเตอร์ต่ำ ๆ
    เพราะจะช่วยให้กล้องอยู่นิ่งไม่สั่นไหวในขณะถ่ายภาพ มีทั้งแบบขาเดียว (Monopod) และแบบ 3 ขา
    (Tripod) ส่วนหัวของขาตั้งกล้องก็มีหลายแบบเช่นกันแต่ที่นิยมใช้กันมากมี 2 แบบ คือ “หัวแพน”
    และ “หัวบอล” หัวแพนมักจะมีก้านที่หมุนได้ยื่นออกมาจากส่วนหัวเพื่อปรับมุมก้ม-มุมเงย แนวตั้ง
    แนวนอน ให้ความแม่นยำในการปรับมุมกล้องได้ค่อนข้างดี แต่ต้องใช้เวลาในการปรับมากกว่าหัวบอล
    และก้านหมุนที่ยื่นออกมาทำให้เกะกะในการปรับอีกด้วย ส่วนขาตั้งกล้องแบบ “หัวบอล” สามารถกลิ้ง
    ไปมาได้ทุกทิศทุกทางและมีตัวล็อคเพื่อหยุดให้มันอยู่กับที่ได้ ช่างภาพนิยมใช้มากเพราะมันยืดหยุ่นและ
    รวดเร็วในการปรับองศาของกล้องและไม่เกะกะมากนัก
  • สายลั่นชัตเตอร์ ช่วยให้เรากดปุ่มชัตเตอร์ได้โดยไม่ต้องแตะตัวกล้องเพื่อป้องกันไม่ให้กล้อง
    สั่นสะเทือน มักนิยมใช้สายลั่นชัเตอร์กับการถ่ายประเภทสายน้ำตกที่นุ่มพริ้ว ภาพดวงอาทิตย์ตกยามเย็น
    เพราะถ้ากล้องสั่นไหวเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาไม่สมบูรณ์
  • แบตเตอรี่ กล้องดิจิทัลแต่ละตัวจะใช้แบตเตอรี่ไม่เหมือนกัน แบตเตอรี่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
    ใหญ่ ๆ คือ แบตเตอรี่แบบใช้ครั้งเดียว และแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้ แบตเตอรี่แบบใช้ครั้งเดียว เช่น
    แบตเตอรี่แบบถ่านไฟAA ธรรมดา แบบนี้กระแสไฟหมดเร็ว ตากล้องจึงหันมานิยมใช้แบตเตอรี่แบบ
    ถ่านไฟ Alkaline ขนาด AA แทน ทำให้ใช้ได้นานกว่า สำหรับ แบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้ แบ่งออกเป็น
    3 ประเภท คือ 1) แบตเตอรี่แบบ Nickel Cadmium (NiCD) ส่วนใหญ่จะมีขนาด AA แบตเตอรี่แบบนี้
    ควรใช้ให้ไฟหมดก่อนจึงค่อยนำไปชาร์จไฟใหม่ ถ้าหากยังใช้ไฟไม่หมดมีกระแสไฟฟ้าตกค้างอยู่ใน
    แบตเตอรี่ เมื่อนำไปชาร์จไฟใหม่จะทำให้แบตเตอรี่เก็บประจุไฟฟ้าได้น้อยกว่าเดิม เป็นสาเหตุทำให้
    ระยะเวลาในการใช้งานลดลง ที่เรียกว่าเกิดอาการ Memory Effect 2) แบตเตอรี่แบบ Nickel Metal
    Hydride (NiMH) มีขนาดเท่ากับ NiCD คือมีขนาดเท่ากับ AA แต่มีประสิทธิภาพดีกว่าแบบ NiCD
    เพราะสามารถจ่ายกระแสไฟได้สม่ำเสมอกว่าและไม่เกิดอาการ Memory Effect 3) แบตเตอรี่แบบ
    Lithium Ion (Li-Ion) มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะของกล้องแต่ละยี่ห้อ
    สามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้มาก น้ำหนักเบา ไม่เกิด Memory Effect ทำให้สามารถใช้งานได้นาน
  • แท่นชาร์จแบตเตอรี่ มี 2 รูปแบบคือ แบบชาร์จช้ากับแบบชาร์จเร็ว การชาร์จแบบเร็วจะใช้เวลา
    ชาร์จเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ประจุไฟฟ้าที่ชาร์จเข้าแบตเตอรี่จะไม่เต็มที่เท่าการชาร์จแบบช้าที่ต้อง
    ใช้เวลาในการชาร์จประมาณ 4-5 ชั่วโมง การชาร์จแบบช้าช่วยถนอมแบตเตอรี่มากกว่าและเกิดความ
    ร้อนน้อยกว่า
  • แบตเตอรี่กริป นิยมใช้กันมากกับกล้อง D-SLR วัตถุประสงค์หลักของอุปกรณ์เสริมตัวนี้ก็เพื่อ
    เพิ่มปริมาณกระแสไฟให้มากขึ้น ทำให้สามารถถ่ายภาพได้อย่างต่อเนื่องมากกว่าการใช้แบตเตอรี่ปกติ
    เพราะมันทำให้กล้องสามารถบรรจุแบตเตอรี่แบบ Li-Ion ได้ถึง 2 ก้อนพร้อม ๆ กัน และสามารถใส่
    แบตเตอรี่ชนิด AA ได้ในยามฉุกเฉิน

ดังนั้น ในการถ่ายภาพควรเลือกใช้เลนส์ให้เหมาะสมกับประเภทของกล้อง และวัตถุประสงค์
ของการถ่ายภาพแต่ละประเภท ควรเตรียมอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ให้พร้อมเพื่อการถ่ายภาพที่มีคุณภาพ
และเตรียมพร้อมที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็นนักถ่ายภาพระดับมืออาชีพต่อไป