มาถึงบทนี้เราคงรู้จักกล้องดิจิทัลและมีความรู้พื้นฐานเบื้องต้นที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัลกันบ้างแล้ว บทนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับขั้นตอนของการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัล โดยจะนำหลักการพื้นฐานที่ได้กล่าวไว้ในบทที่ 3 มาประยุกต์ใช้ให้เห็นว่าสามารถนำมาสู่การปฏิบัติจริงได้อย่างไร ขั้นตอนในการถ่ายภาพดิจิทัลที่จะเรียนรูกั้นมี 9 ขั้นตอน ดังนี้

  1. การเปิดกล้องและเลือกโหมดการทำงาน
  2. การตั้งค่าการทำงานพื้นฐาน
  3. การเลือกฟอร์แมตและขนาดของไฟล์ภาพ
  4. การเลือกโหมดการถ่ายภาพ
  5. การจัดองค์ประกอบภาพ
  6. การวัดแสง
  7. การปรับโฟกัส
  8. การกดชัตเตอร์
  9. การดูผลงานภาพที่ถ่ายออกมา

การแสดงให้เห็นขั้นตอนต่าง ๆ ดังกล่าวในการถ่ายภาพดิจิทัลนั้น เนื่องจากเมนูของกล้องแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อแตกต่างกัน ในที่นี้จึงจะอธิบายให้เห็นภาพโดยรวม ส่วนวิธีสั่งงานของกล้องแต่ละตัวนั้นให้ผู้อ่านศึกษาจากคู่มือของกล้องรุ่นนั้น ๆ เอง

ขั้นตอนที่ 1 การเปิดกล้องและเลือกโหมดการทำงาน

    การเปิดกล้อง
    กล้องดิจิทัลจะมีปุ่ม เปิด-ปิด เหมือนกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป กล้องบางรุ่นจะ เปิด-ปิด กล้องด้วยการกดปุ่ม บางรุ่นก็ใช้วิธีการ เปิด-ปิดแบบหมุนปุ่ม บางรุ่น ใช้วิธีการเลื่อนฝาที่ปิดหน้ากล้อง

  • ปุ่มเปิด-ปิดแบบกด มักจะมีข้อความ ON/OFF กำกับไว้ เมื่อกดปุ่มหนึ่งครั้งจะเป็นการเปิดกล้องและเมื่อกดซ้ำกล้องก็จะปิด ส่วนการเลือกโหมดการทำงานจะมีปุ่มอีกต่างหาก
  • ฝาเลื่อนเปิด-ปิด การทำงานกล้องบางรุ่นใช้วิธีเปิด-ปิดโดยการเลื่อนฝาที่ปิดหน้ากล้อง เมื่อเลื่อนฝาออกก็จะเปิดการทำงานของกล้องถ้ากล้องใช้เลนส์ซูมเลนส์จะยื่นออกมา แต่ถ้าไม่ใช่เลนส์ซูมเลนส์จะไม่ยื่นออกมา เมื่อเลื่อนฝาปิด เลนส์จะหดกลับเข้าไปก็จะปิดการทำงานของกล้อง
  • ปุ่มเปิด-ปิดแบบหมุน ปุ่มเปิด-ปิดแบบหมุนกล้องบางรุ่นปุ่มนี้จะรวมอยู่กับปุ่มเลือกโหมดการทำงานด้วย โดยสามารถหมุนปุ่มไปที่โหมดถ่ายภาพหรือโหมดแสดงภาพได้ด้วย และถ้าจะปิดก็หมุนปุ่มมาที่ OFF แต่กล้องส่วนใหญ่ปุ่มเปิด-ปิดแบบหมุนจะแยกออกมาต่างหากจากปุ่มเลือกโหมดการทำงาน

    การเลือกโหมดการทำงาน
เมื่อเปิดการทำงานของกล้องแล้วเราจะต้องเลือกโหมดการทำงานซึ่งมี 2 โหมดใหญ่ ๆ คือ

  • โหมดถ่ายภาพ (Camera , Record หรือ Shooting) ใช้สำหรับการถ่ายภาพและปรับตั้งค่าต่าง ๆ เพื่อการถ่ายภาพ เช่น การปรับตั้งค่า White Balance การเลือกระดับคุณภาพของภาพที่ถ่าย การปรับตั้งค่าความไวของแสง ฯลฯ เป็นต้น
  • โหมดแสดงภาพ (Display หรือ Preview) ใช้สำหรับเปิดชมภาพที่ถ่ายไว้แล้วออกมาดูทางจอ LCD ของตัวกล้อง และสามารถเข้าไปจัดการกับภาพที่ถ่ายไว้แล้วได้อีก เช่น ลบทิ้ง หรือสั่งให้แสดงภาพแบบสไลด์โชว์ ฯลฯ เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 2 การตั้งค่าการทำงานพื้นฐาน

    ตั้งวันที่และเวลา
เมื่อเปิดใช้กล้องครั้งแรกก่อนถ่ายภาพควรตั้งวันที่ และเวลาให้ถูกต้องเสียก่อน ซึ่งการตั้งค่านั้นจะแตกต่างกันไปแล้วแต่รุ่นและยี่ห้อของกล้อง เช่นการตั้งวันที่และเวลาของกล้อง Nikon D90 สามารถเลือกโซนเวลาได้ทั่วโลก ถ้าเป็นประเทศไทยเราให้เลื่อนไปที่แผนที่ประเทศไทยก็จะแสดงชื่อเมือง Bangkok ขึ้นมา จากนั้นตั้งวันที่และเวลาให้ตรงกับปัจจุบัน โดยเลือกฟอร์แมตของวันที่ได้ตามต้องการวิธีการตั้งทำตามขั้นตอนดังนี้

การตั้งวันที่และเวลาช่วยให้เราทราบว่า ถ่ายภาพวันไหน เวลาใด กล้องจะบันทึกข้อมูลไว้เหมือนคอมพิวเตอร์ที่บันทึกข้อมูลวันเวลาไว้ แต่วันเวลาจะไม่บันทึกลงไปบนภาพโดยตรง ซึ่งการบันทึกลงบนภาพโดยตรงนั้นจะขึ้นอยู่กับความสามารถของกล้อง กล้องบางตัวอาจมีเมนูให้แสดงวันเวลา ไว้บนภาพได้ แต่การบันทึกวัน เวลา ลงบนภาพโดยตรงบางครั้งก็ไปลดความสวยงามของภาพลงเพราะมี วัน เวลา ไปปรากฏให้รบกวนสายตา

    การตั้งชื่อโฟลเดอร์เพื่อบันทึกภาพ
ตามปกติแล้วถาพถ่าย จะถูกเก็บลงในโฟลเดอร์ที่กล้องสร้างขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อใส่การ์ดหน่วยความจำแล้วเปิดสวิตช์ กล้องจะตั้งชื่อโฟลเดอร์ในการ์ดหน่วยความจำเป็นตัวเลข 3 หลัก แล้วตามด้วยยี่ห้อหรือรุ่นของกล้อง เช่น กล้อง Nikon รุ่น D90 จะตั้งชื่อโฟลเดอร์ว่า 100NCD90 โดยแต่ละโฟลเดอร์จะเก็บภาพได้สูงสุด 999 ภาพ เมื่อถ่ายภาพจะเรียงลำดับหมายเลขภาพนับต่อจากหมายเลขสูงสุดที่มีอยู่ในโฟลเดอร์ หากโฟลเดอร์ที่เลือกไว้มีภาพอยู่แล้วครบ 999 ภาพ หรือหมายเลขภาพสูงสุดอยู่ที่ 9999 กล้องจะสร้างโฟลเดอร์ให้ใหม่โดยอัตโนมัติ เป็น 101NCD90 มีชื่อโฟลเดอร์เหมือนกันแต่หมายเลข 3 หลักด้านหน้าจะเป็นลำดับถัดไป

    ส่วนชื่อของไฟล์ภาพ ก็จะมีส่วนที่เป็นตัวเลขเรียงลำดับกันไปเรื่อย ๆ เหมือนกัน เช่น DSC_0001.JPG , DSC_0002.JPG……..บางยี่ห้อก็ตั้งชื่อไฟเป็น PICT 0001.JPG , PICT 0002.JPG เมื่อถ่ายภาพไป 3 ภาพ แล้วลบไฟล์ที่ 3 ออก จากนั้นถ่ายต่อใหม่ชื่อไฟล์ที่ถ่ายใหม่จะเป็นลำดับที่ 3 เหมือนเดิม แต่ถ้าลบไฟล์ที่ 2 ออกไปไฟล์ที่ 3 ยังอยู่ เมื่อถ่ายต่อชื่อไฟล์จะเป็นลำดับที่ 4 ไฟล์ที่ 2 จะหายไปดังนี้ DSC_0001.JPG , DSC_003.JPG , DSC_0004.JPG นอกจากนี้กล้องบางรุ่นสามารถตั้งชื่อโฟลเดอร์เองได้ และชื่อไฟล์ภาพก็ยังสามารถกำหนดได้ว่าต้องการให้ตัวเลขของชื่อไฟล์ภาพนั้นเรียงลำดับกันไปตั้งแต่เริ่มใช้กล้อง หรือให้เริ่มต้นนับภาพที่1ใหม่ทุกครั้งที่ฟอร์แมตการ์ดหน่วยความจำและสามารถลบโฟลเดอร์ภาพที่ไม่ต้องการได้อีกด้วย

    การเปิดและปิดจอ LCD
    กล้องดิจิทัลคอมแพ็คมักจะเล็งภาพทางจอ LCD ซึ่งขณะที่เปิดไว้ จะกินไฟตลอดเวลาไม่ว่าเราจะถ่ายภาพหรือไม่ จึงควรตั้งให้กล้องปิดตัวเองเมื่อไม่ได้ใช้นาน ๆ เพื่อป้องกันลืมปิดจนแบตเตอรี่หมดและเพื่อเป็นการประหยัดพลังงานเมื่อแบตเตอรี่ใกล้หมดแนะนำให้ปิดจอ LCD โดยกดปุ่มชื่อ Monitor หรือ Display เป็นต้น แล้วใช้วิธีเล็งภาพทางช่องมองภาพแทน หลังจากถ่ายเสร็จจึงค่อยเปิดจอ LCD เพื่อดูภาพ

    การปรับความสว่างของจอ LCD
    เวลาถ่ายภาพในที่ที่มีแสงสว่างมากจอ LCD มักจะมองไม่ค่อยเห็น เราสามารถเพิ่มความสว่างของจอ LCD ให้สว่างขึ้นได้ ดังเช่น กล้อง Nikon D90 มีวิธีการปรับความสว่างของจอ LCD ดังนี้

    การตั้งหน้าจอให้สว่างมากไปก็มีผลเสียเช่นกัน เพราะอาจเป็นการหลอกตาตัวเอง คือมองดูภาพในจอ LCD แล้วภาพสว่างชัดเจนดี แต่ภาพที่ถ่ายออกมาจริงกลับมีความสว่างน้อยกว่าที่มองจากจอ LCD

    การตั้งค่าความไวแสง
    สามารถตั้งแบบ Auto หรือเลือกแบบตั้งเอง ถ้าตั้งไว้ที่ Auto เวลานำกล้องไปถ่ายในที่มีแสงน้อยกล้องจะปรับค่าความไวแสงให้สูงขึ้น เพื่อให้เราสามารถถ่ายภาพได้ในความเร็วชัตเตอร์ที่มือสามารถถือกล้องถ่ายได้ แต่ถ้าเราเลือกแบบตั้งเองถ้าตั้งค่าความไวแสงไว้ต่ำ เวลาถ่ายภาพในที่มีแสงน้อยกล้องจะปรับความเร็วชัตเตอร์ให้ช้าลงเพื่อให้แสงเพียงพอ ก็ต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วยเพื่อไม่ให้ภาพสั่นหรือปรับค่าความไวแสงเองให้สูงขึ้นก็ได้

    การตั้งคา่ White Balance
    ปกตินิยมตั้งไว้ที่ Auto แต่เมื่อถ่ายออกมาแล้วสียังเพี้ยน จึงปรับค่า White Balance ใหม่ให้ตรงกับสภาพแสงที่จะถ่าย เช่น ปรับตั้งเป็น Daylight, Cloudy, Tungsten ฯลฯ เป็นต้น

   การตั้งค่าตามมาตรฐานของโรงงาน
    เมื่อเราปรับตั้งค่าการทำงานฟังก์ชันต่าง ๆ เพิ่มเติมจากมาตรฐานที่ตั้งมาจากโรงงาน ช่วยให้ถ่ายภาพได้ตามวัตถุประสงค์ของเรา แต่เมื่อปรับไปแล้วเรามักจะลืมไป ว่าปรับตั้งอะไรเพิ่มเติมไปบ้างทำให้กล้องทำงานไม่เหมือนกับค่าที่ตั้งมาจากโรงงาน กรณีนี้เราสามารถปรับตั้งค่าให้กลับสู่มาตรฐานเดิมที่ตั้งมาจากโรงงานได้ (วิธีการตั้งแล้วแต่กล้องแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อให้ศึกษาจากคู่มือกล้องที่ใช้อยู่)

ขั้นตอนที่ 3 การเลือกฟอร์แมตและขนาดของภาพ
กล้องดิจิทัลส่วนใหญ่นิยมจัดเก็บข้อมูลภาพไว้ในสื่อบันทึกภาพเป็นฟอร์แมต JPEG และ LAW เป็นหลัก ทั้ง 2 รูปแบบมีคุณสมบัติแตกต่างกันดังนี้

    ไฟล์ JPEG (Join Photographic Experts Group)

    เป็นฟอร์แมตที่ใช้เทคโนโลยีการบีบอัดเพื่อลดขนาดข้อมูลแบบ Lossy Compression โดยยอมเสียคุณภาพของภาพไปบ้าง เช่น จุดภาพ 2 จุดที่อยู่ติดกันและมีสีใกล้เคียงกันอาจถูกบีบอัดให้เป็นสีเดียวกัน ทำให้ภาพที่มีขนาดกว้างและสูงเท่ากันอาจมีขนาดไฟล์ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับภาพนั้น ๆ ว่ามีสีใกล้เคียงกันมากน้อยเพียงใด ถ้าภาพมีสีสันหลากสีขนาดไฟล์จะมีขนาดใหญ่กว่าภาพที่มีสีพื้นเรียบ ๆ ไฟล์ JPEG จะมีนามสกุลเป็น .JPEG

    การบันทึกภาพแบบไฟล์ JPEG เมื่อเซ็นเซอร์รับแสงที่ผ่านเลนส์มาแล้วจะส่งมาที่หน่วยประมวลผลเพื่อทำการบีบอัด เราสามารถกำหนดให้กล้องบีบอัด(ความละเอียดของภาพ) ได้ว่าจะให้บีบอัดมากน้อยเพียงใด โดยทั่วไปแล้วสามารถเลือกได้ 3 ระดับ คือ High, Normal และ Low ถ้าเลือกแบบ High จะบีบอัดน้อยภาพที่ได้จะมีคุณภาพสูง สูญเสียรายละเอียดน้อยมากแต่ขนาดของไฟล์จะมีขนาดใหญ่ ถ้าต้องการไฟล์ที่มีขนาดเล็กก็ให้เลือกแบบ Low ขนาดของไฟล์จะมีขนาดเล็กมากทำให้เก็บภาพได้จำนวนมาก แต่ภาพที่ได้ก็จะสูญเสียรายละเอียดไปมากเช่นกัน การถ่ายภาพปกติทั่ว ๆ ไปมักจะตั้งแบบ Normal แต่ถ้าเรามีการ์ดหน่วยความจำที่ใช้บันทึกภาพได้มากขอแนะนำให้เลือกตั้งแบบ High ไว้ก่อนเพื่อให้ได้คุณภาพดีที่สุด เมื่อเวลาเราจะนำไปใช้งาน เช่น ใช้ภาพประกอบในการจัดทำเว็บไซต์เราสามารถลดขนาดไฟล์ภาพให้มีขนาดเล็กลงได้ ถ้าจะใช้กับงานสิ่งพิมพ์ขนาดใหญ่เราก็สามารถเลือกเอาไฟล์ที่ตั้งแบบ High ไปใช้ได้เช่นกัน

    ข้อพึงระวังอย่าเซฟไฟล์ JPEG ซ้ำกันหลาย ๆ ครั้งในไฟล์เดียวกัน กล่าวคือเมื่อนำไฟล์ภาพไปตกแต่งด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป เช่น โปรแกรม Photoshop เมื่อตกแต่งเสร็จแล้วควรเลือกคำสั่ง Save As บันทึกเป็นชื่อไฟล์ใหม่ ไม่ควรบันทึกทับไฟล์เดิมเพราะจะทำให้คุณภาพของภาพลดลง ยิ่งบันทึกทับไฟล์เดิมบ่อยเท่าไรคุณภาพของภาพก็จะลดลงมากเท่านั้น

    ไฟล์ RAW (ไม่ใช่คำย่อเป็นคำตรงตัวแปลว่า “ดิบ”)

    กล้องดิจิทัลบางรุ่นสามารถจัดเก็บไฟล์ภาพฟอร์แมต RAW ได้ ซึ่งไฟล์ RAW เป็นการบันทึกข้อมูลดิบที่ออกมาจากตัวเซ็นเซอร์ของกล้องโดยตรง ไม่ผ่านการดัดแปลงของหน่วยประมวลผลในตัวกล้อง ไฟล์ RAW มีข้อดี-ข้อด้อยดังนี้

    ข้อดี

  • เก็บข้อมูลไว้ครบถ้วนตามที่เซ็นเซอร์ของกล้องรับมา สามารถเก็บข้อมูลเฉดสีได้ถึง 14 บิต ต่อ 1 แม่สี เท่ากับ 16,384 เฉดในแต่ละแม่สี (คิดได้จากเอา 2 ยกกำลัง 14 เท่ากับ 16,384) คือ สีแดง 16,384 เฉด สีเขียว 16,384 เฉด สีน้ำเงิน 16,384 เฉด ทำให้สามารถแยกเฉดสีได้ดีกว่าไฟล์ JPEG ที่เก็บข้อมูลเฉดสีได้เพียง 8 บิต ต่อ 1 แม่สี คือ สีแดง 256 เฉด สีเขียว 256 เฉด สีน้ำเงิน 256 เฉด เท่านั้น
  • เมื่อนำไฟล์ RAW มาตกแต่งภาพด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป เช่น Photoshop จะสามารถปรับค่าต่าง ๆ เพื่อตกแต่งได้ดี เช่น การตั้งค่า White Balance การชดเชยแสง การปรับค่าความคมชัด ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งไฟล์ JPEG ก็สามารถตกแต่งได้แต่ไม่มากเพราะข้อมูลภาพมีจำนวนเฉดสีน้อย
  • สามารถปรับแต่ง White Balance ได้ภายในกล้องหลังจากที่ถ่ายไปแล้วข้อด้อย
  • ไฟล์ RAW มีขนาดใหญ่กว่าไฟล์ JPEG 3-4 เท่าตัว ทำให้เปลืองเนื้อที่ในการ์ดหน่วยความจำ
  • ก่อนที่จะนำไปใช้งานต่าง ๆ ต้องแปลงไฟล์ RAW ให้เป็นไฟล์ JPEG หรือไฟล์ฟอร์แมตอื่นที่โปรแกรมสำเร็จรูปทั่ว ๆ ไปสามารถใช้งานได้ เพราะโปรแกรมสำเร็จรูปส่วนใหญ่ที่ใช้กันอยู่ไม่สามารถนำไฟล์ RAW ไปใช้ได้โดยตรง
  • ไฟล์ RAW ที่ถ่ายจากกล้องแต่ละยี่ห้อและแต่ละรุ่นจะมีนามสกุลที่แตกต่างกัน เช่น นามสกุล .NEF ของ Nikon และ .CR2 ของ Cannon ฯลฯ เป็นต้น ทำให้ต้องUpdate ไฟล์ LAW ใหม่ ๆ อยู่เสมอเมื่อมีกล้องตัวใหม่ ๆ ออกมา

กล้อง D-SLR ที่ผลิตออกมาใหม่ ๆ สามารถถ่ายภาพครั้งเดียวออกมาเป็นไฟล์ RAW + JPEG ได้พร้อมกัน เพื่อนำไฟล์ JPEG ไปใช้งานได้ทันทีและเก็บไฟล์ RAW ไว้ตกแต่งแก้ไขได้อีก หรือจะเลือกบันทึกภาพแบบใดแบบหนึ่งก็ได้ตามความเหมาะสม

ขนาดของภาพ ก่อนถ่ายต้องกำหนดขนาดของภาพก่อนว่าต้องการภาพขนาดไหน กล้องแต่ละรุ่นสามารถถ่ายภาพได้ขนาดที่แตกต่างกัน เช่น กล้อง D-SLR รุ่น D90 ของ Nikon กำหนดขนาดของภาพได้ 3 ขนาด คือ L (ใหญ่ที่สุด) M (ขนาดกลาง) S (ขนาดเล็ก)

  • L มีความละเอียด 4,288 × 2,848 พิกเซล (12.2 ล้านพิกเซล) ได้ภาพขนาด 21.4 × 14.2 นิ้ว
  • M มีความละเอียด 3,216 × 2,136 พิกเซล (6.9 ล้านพิกเซล) ได้ภาพขนาด 16.1× 10.7 นิ้ว
  • S มีความละเอียด 2,144 × 1,424 พิกเซล (3.1 ล้านพิกเซล) ได้ภาพขนาด 10.7 × 7.1 นิ้ว

(ตัวเลขขนาดภาพที่พิมพ์ ใช้ความละเอียดการพิมพ์ที่ 200 PPI ) วิธีการตั้งขนาดภาพมีดังนี้

    จะเห็นได้ว่าการกำหนดขนาดของภาพก็คือการกำหนดให้กล้องบีบอัดไฟล์ภาพเพื่อให้ได้ความละเอียดของภาพตามต้องการดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นเอง กล้องบางยี่ห้อกำหนดเป็นค่าความละเอียดของภาพ High, Normal และ Low บางยี่ห้อกำหนดเป็นขนาดของภาพ L (ใหญ่ที่สุด) M (ขนาดกลาง) S (ขนาดเล็ก) ซึ่งถ้าตั้งเป็นค่า High กล้องจะบีบอัดไฟล์ภาพน้อยภาพที่ได้จะมีคุณภาพสูง สูญเสียรายละเอียดน้อยและภาพที่ได้จะมีขนาดใหญ่ ในทางตรงกันข้ามถ้าตั้งค่าเป็น Low กล้องก็จะบีบอัดไฟล์ภาพมาก ทำให้สูญเสียรายละเอียดของภาพไปมากและภาพที่ได้จะมีขนาดเล็ก แต่ทั้งนี้ขนาดของภาพยังขึ้นอยู่กับเซ็นเซอร์รับแสงของกล้องแต่ละตัวด้วยว่า สามารถรับรายละเอียดได้จำนวนมากน้อยเพียงใดซึ่งทำให้การตั้งค่าถ่ายภาพขนาดเล็กของกล้องที่เซ็นเซอร์มีจำนวนพิกเซลสูง เมื่อถ่ายออกมาแล้วอาจได้ภาพที่มีขนาดใหญ่กว่าหรือเท่ากับกล้องที่เซ็นเซอร์มีจำนวนพิกเซลน้อยที่ตั้งขนาดภาพไว้ใหญ่ที่สุดก็ได้

ขั้นตอนที่ 4 การเลือกโหมดการถ่ายภาพ

    กล้องดิจิทัลแต่ละยี่ห้อแต่ละรุ่นจะมีโหมดการถ่ายภาพมาให้เราเลือกใช้มากน้อยไม่เท่ากัน แต่โหมดที่สำคัญ ๆ ในการถ่ายภาพจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ถ้าหากเราต้องการใช้กล้องแบบง่าย ๆประเภทเล็งแล้วถ่ายเลยไม่อยากปรับโน่นปรับนี่ให้วุ่นวาย ก็เลือกโหมดการถ่ายภาพแบบโปรแกรมสำเร็จรูปซึ่งจะรวมโหมดออโต้ไว้ค้วย เหมาะสำหรับผู้ถ่ายภาพมือใหม่ที่เริ่มหัดถ่ายภาพ จะทำให้ได้ภาพที่ดีมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นจึงค่อยเปลี่ยนมาใช้โหมดการถ่ายภาพชั้นสูงการเลือกโหมดเพียงแค่หมุนปุ่มโหมดการถ่ายภาพ ให้ขีดแสดงตำแหน่งตรงกับโหมดที่เราต้องการเท่านั้น

    โหมดการถ่ายภาพแบบโปรแกรมสำเร็จรูป มีโหมดย่อยที่สำคัญ ๆ ดังนี้

Auto โหมดการถ่ายภาพแบบอัตโนมัติ เมื่อเลือกใช้โหมดนี้กล้องจะปรับ ขนาดรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ให้เหมาะกับสภาพแสงเอง และยังตั้งค่าอื่น ๆ ให้โดยอัตโนมัติอีก เช่น ค่าWhite Balance ซึ่งมักจะตั้งค่าให้เป็น Auto White Balance และจะตั้งระบบโฟกัสภาพให้เป็น Auto Focus เมื่อแสงไม่พอแฟลชก็จะเปิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ผู้ใช้เพียงแต่เล็งภาพแล้วกดปุ่มชัตเตอร์อย่างเดียว โดยกล้องไม่ยอมให้ผู้ถ่ายปรับค่าอะไรได้เลย เหมาะสำหรับถ่ายภาพทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะภาพที่ถ่ายในเวลากลางวันที่มีแสงสว่างเพียงพอกับการถือกล้องถ่ายด้วยมือ

 

โหมดการถ่ายภาพอัติโนมัติแบบปิดแฟลช (Flash Off) การใช้งานเหมือนโหมด Auto แต่จะปิดแฟลชเพื่อให้กล้องบันทึกภาพในสภาพแสงน้อยโดยไม่ใชแฟลช จะทำให้ภาพดูเป็นธรรมชาติสมจริง แต่เมื่อถ่ายภาพในที่ที่มีแสงน้อยกล้องจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำอาจทำให้ภาพสั่นไหวจึงควรใช้ขาตั้งกล้องช่วยในการถ่ายภาพ

 

โหมดถ่ายภาพบุคคล Portrait เมื่อเลือกโหมดนี้กล้องจะปรับรูรับแสงให้กว้าง ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ฉากหลังเบลอทำให้ตัวแบบเด่นชัดขึ้นมาและได้ภาพที่นุ่มนวล ถ่ายทอดสีผิวได้อย่างสวยงาม

 โหมดถ่ายภาพทิวทัศน์ (Landscape) โหมดนี้เหมาะสำหรับถ่ายภาพทิวทัศน์ เช่น ทะเล ภูเขา น้ำตก โดยกล้องจะพยายามปรับรูรับแสงให้แคบที่สุดเพื่อให้เกิดภาพชัดลึก และโปรแกรมในกล้องจะปรับเน้นภาพให้มีสีสันสดใสกว่าระบบบันทึกภาพแบบอื่น ๆ แต่เนื่องจากกล้องจะปรับหน้า กล้องแคบทำให้ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ดังนั้นถ้าถ่ายภาพทิวทัศน์ในสภาพแสงน้อย ๆ ควรใช้ขาตั้ง กล้องช่วยเพื่อให้ได้ภาพคมชัดมากที่สุด

โหมดถ่ายภาพ ระยะใกล้ (Macro) โหมดนี้เหมาะสำหรับถ่ายภาพสิ่งที่มีขนาดเล็กในระยะใกล้มาก ๆ เช่น แมลง ดอกไม้ ใบหญ้า ฯลฯ เป็นต้น โดยกล้องจะปรับเลนส์ให้ทำงานแบบ Macro เปิดรูรับแสงแคบ ๆ เพื่อให้ได้ระยะชัดที่ดี เนื่องจากเลนส์Macro จะมีระยะชัดที่น้อยมาก หากถ่ายวัตถุที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ควรใช้ขาตั้งกล้องเพื่อให้ได้ภาพที่มีความคมชัดสูง

โหมดถ่ายภาพกีฬา/ภาพเเคลื่อนไหว (Sport/Action) โหมดถ่ายภาพกีฬา/ภาพเเคลื่อนไหว (Sport/Action) โหมดนี้เหมาะสำหรับถ่ายภาพวัตถุที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เช่น ภาพกีฬา การแข่งเรือ การต่อสู้กับจระเข้ นกบิน รถที่กำลังวิ่งกล้องจะตั้งความเร็วชัตเตอร์สูงสุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้สามารถจับภาพที่กำลังเคลื่อนไหวให้หยุดนิ่ง

 

 โหมดถ่ายบุคคลกลางคืน (Night Portrait) โหมดนี้เหมาะสำหรับถ่ายภาพบุคคลตอนกลางคืน หรือในสภาพแสงน้อย เช่น แสงสี ก่อนและหลังดวงอาทิตย์ขึ้นและตก หรือแสงภายในอาคาร ถ้าเราต้องการถ่ายภาพคนและต้องการเก็บรายละเอียดของสภาพแสงดังกล่าวไว้ด้วย โหมดนี้จะช่วยได้โดยกล้องจะใช้แฟลช ร่วมกับความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ๆ ทำให้ภาพคนชัดเจนเพราะได้รับแสงแฟลช ในขณะเดียวกันสภาพแสงหลังภาพคนซึ่งอยู่ห่างไกลออกไป ก็จะชัดเจนขึ้นด้วย เพราะเราใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเปิดรับแสงนาน ๆ ทำให้ภาพมีรายละเอียดครบถ้วนฉากหลังไม่มืดดูเป็นธรรมชาติ

    โหมดการถ่ายภาพชั้นสูง

เมื่อเรามีประสบการณ์ในการถ่ายภาพมากขึ้น ถ้าต้องการปรับระบบต่าง ๆ ในการถ่ายภาพด้วยตนเองเพื่อให้ได้ภาพตามวัตถุประสงค์ที่เราต้องการได้ดียิ่งขึ้น ก็ให้เลือกโหมดการถ่ายภาพชั้นสูงซึ่งมีโหมดย่อยที่สำคัญ 4 โหมด เขียนสัญลัษณ์เป็นตัวอักษร P, S, A, M รายละเอียดมีดังนี้

P Program : ระบบถ่ายภาพโปรแกรมอัตโนมัติ โหมดนี้ทำงานคล้ายโหมด Auto โดยกล้องจะเลือกขนาดรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมกับสภาพแสงให้โดยอัตโนมัติ แต่ต่างกับโหมด Auto ตรงที่เราสามารถตั้งค่าฟังก์ชันการใช้งานในส่วนอื่น ๆ ได้เอง เช่น ตั้งค่า White Balance ค่าความไวแสง และค่าการชดเชยแสง ฯลฯ เป็นต้น ทำให้ได้ภาพออกมาตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ โหมดนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ถ่ายภาพที่ต้องการใช้งานง่าย ๆ และสามารถควบคุมกล้องได้เอง

S Shutter Priority : ปรับขนาดรูรับแสงอัตโนมัติ กล้องบางยี่ห้อใช้สัญลักษณ์ Tv (Time Value) โหมดนี้ให้ผู้ถ่ายภาพเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการก่อน จากนั้นกล้องจะเลือกขนาดรูรับแสงที่เหมาะสมกับสภาพแสงในขณะนั้นให้ เพื่อให้ภาพมีค่าแสงพอดี ไม่มืด หรือสว่างเกินไป เราเลือกใช้โหมดนี้เมื่อพิจารณาเห็นว่าความเร็วชัตเตอร์มีผลต่อภาพที่ถ่าย เช่น ต้องการถ่ายภาพให้เห็นการเคลื่อนที่ของวัตถุก็เลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ หรือถ้าต้องการถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนไหวให้หยุดนิ่งก็เลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงเป็นต้น

 

A Aperture Priority : ปรับความเร็วชัตเตอร์อัตโนมัติ กล้องบางยี่ห้อใช้สัญลักษณ์ Av (Aperture Value) โหมดนี้ให้ผู้ถ่ายภาพเลือกขนาดรูรับแสงที่ต้องการก่อน แล้วกล้องจะเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมตามสภาพแสงในขณะนั้นให้ เราเลือกใช้โหมดนี้เมื่อพิจารณาให้ความสำคัญกับขนาดรูรับแสงว่ามีผลต่อภาพที่ถ่าย เช่น ต้องการถ่ายภาพบุคคลให้มีฉากหลังเบลอก็ต้องเลือกปรับค่ารูรับแสงให้กว้าง ๆ จะทำให้ภาพมีระยะชัดตื้น ฉากหลังจะเบลอตัวบุคคลจะเด่นคมชัดแต่ถ้าเราต้องการถ่ายภาพทิวทัศน์ ที่ต้องการให้ภาพมีระยะชัดลึกมาก ๆ ก็ต้องเลือกปรับค่ารูรับแสงให้แคบ ๆ จะได้ภาพที่มีระยะชัดลึก

 M Manual Exposure : ปรับค่าการเปิดรับแสงเอง โหมดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีความรู้ในการถ่ายภาพดีพอสมควร เพราะต้องปรับเลือกขนาดรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ตามที่ต้องการเองเพื่อให้เหมาะกับลักษณะของภาพที่ต้องการ โดยดูค่าปริมาณของแสงสว่างว่า พอดี มากเกินไป หรือน้อยเกินไป จากสเกลวัดแสงที่แสดงไว้ในช่องมองภาพ

 

สเกลวัดแสงในช่องมองภาพ

    เมื่อใช้โหมดนี้ เราสามารถตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ได้ต่ำถึง ชัตเตอร์ B (Bulb) ซึ่งเป็นความเร็วชัตเตอร์ที่ออกแบบมา เพื่อให้เปิดม่านชัตเตอร์ค้างไว้จนกว่าจะปล่อยนิ้วออกจากปุ่มชัตเตอร์ ทำให้สามารถเปิดรับแสงได้นานเท่าที่ต้องการ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์กลางคืน หรือภาพพลุ ดอกไม้ไฟ ฯลฯ เป็นต้น

    การใช้ความเร็วชัตเตอร์ B ต้องใช้ขาตั้งกล้อง และสายลั่นชัตเตอร์ช่วยเพื่อลดการสั่นไหว ทำให้ภาพที่ได้มีความคมชัด นอกจากนี้เรายังสามารถ ตั้งค่าทำงานอื่น ๆ ได้ด้วยตนเองทั้งหมด เช่นWhite Balance, ค่าความไวแสงฯลฯ เป็นต้น

นอกจากการถ่ายภาพด้วยโหมดโปรแกรมสำเร็จรูปและโหมดการถ่ายภาพชั้นสูงแล้ว กล้องดิจิทัลบางรุ่นโดยเฉพาะกล้อง D-SLR ยังมีโหมดการถ่ายภาพพิเศษแบบต่างๆ ให้เลือกใช้อีก อาทิเช่น

    โหมดการถ่ายภาพต่อเนื่อง (Continuous หรือ Sequential Shooting หรือ Drive Mode) หมายถึงการถ่ายภาพนิ่งเป็นชุด แต่ละภาพห่างกันเพียงเสี้ยววินาที ทำให้ได้ภาพจำนวนมากไว้คัดเลือกเอาเฉพาะภาพที่ดี โหมดนี้เหมาะสำหรับการถ่ายภาพที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น การแข่งขันกีฬานกกำลังบิน ท่าทางการร่ายรำ

    ฟังก์ชันสำหรับการถ่ายภาพต่อเนื่องอาจอยู่ในเมนูของกล้องหรือเป็นปุ่มอยู่บนตัวกล้อง ต้องศึกษาดูจากคู่มือของกล้องแต่ละรุ่น โดยมากมักใช้คำว่า Continuous, Drive Mode หรือใช้สัญลักษณ์แทน เวลาถ่ายภาพเมื่อกดชัตเตอร์ค้างไว้กล้องจะถ่ายภาพไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะปล่อยนิ้วตัวอย่าง เช่น กล้อง D-SLR ของ Nikon D90 มีโหมดถ่ายภาพต่อเนื่องถึง 3 ลักษณะคือ

  • ถ่ายภาพต่อเนื่องทีละภาพ หลังจากกดปุ่มชัตเตอร์แล้วต้องปล่อยนิ้วออกก่อนแล้วกดใหม่ ใช้สัญลักษณ์  แทน
  • ถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วต่ำ เลือกได้ 1-4 ภาพ/วินาที โดยกดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้ใช้สัญลักษณ์  แทน
  • ถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง 4.5 ภาพ/วินาที โดยกดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้ใช้สัญลักษณ์  แทน

การถ่ายภาพต่อเนื่องเป็นชุดกล้องจะใช้การวัดแสง ความเร็วชัตเตอร์ ขนาดรูรับแสง เหมือนกันหมดทุกภาพในชุดนั้นๆ ดังนั้นถ้าหากขณะถ่ายภาพต่อเนื่องเกิดสภาพแสงเปลี่ยนไปอย่างมาก เช่น มีการปิดหรือเปิดไฟบางดวงสว่างจ้าขึ้นมา จะทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาแสงไม่พอดีควรหยุดถ่ายภาพ แล้วให้กล้องวัดแสงใหม่ก่อนถ่ายภาพชุดต่อไป

    โหมดถ่ายภาพคร่อม (Auto Bracketing)

กล้องดิจิทัลบางรุ่น สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องโดยมีการชดเชยแสงให้ในตัวหรือมีการปรับเปลี่ยน White Balance ให้ในการถ่ายภาพต่อเนื่อง ดังนี้

  • การถ่ายภาพคร่อมแบบชดเชยแสง เมื่อกล้องวัดแสงได้ค่ามาค่าหนึ่งซึ่งเป็นค่าแสงที่พอดี การถ่ายภาพคร่อมจะทำให้เราได้ภาพปกติ และภาพที่ชดเชยแสงไปทางบวกกับภาพชดเชยแสงทางลบพร้อมๆ กัน กล้องบางรุ่นยังสามารถเลือกได้อีกว่าไม่เอา 3 ภาพ เอาแค่ถ่ายภาพคร่อม 2 ภาพ คือภาพปกติกับภาพชดเชยแสงทางบวก หรือภาพปกติกับภาพชดเชยแสงทางลบ วิธีการถ่ายภาพคร่อมแบบนี้ ให้เลือกโหมดถ่ายภาพต่อเนื่อง จากนั้นเลือกชนิดการถ่ายภาพคร่อมแบบชดเชยแสงซึ่งการปรับตั้งการถ่ายภาพคร่อมแบบชดเชยแสงของกล้องแต่ละประเภทแต่ละรุ่นจะแตกต่างกันออกไป (ให้ดูวิธีการตั้งค่าตามคู่มือของกล้องรุ่นนั้นๆ) เมื่อจะถ่ายภาพคร่อมก็เพียงแต่กดชัตเตอร์ค้างไว้เหมือนการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง กล้อง
    จะถ่ายภาพออกมาตามที่เราตั้งค่าชดเชยแสงไว้

  • การถ่ายภาพคร่อมแบบ White Balance มีวิธีการคล้ายกับการถ่ายภาพคร่อมแบบชดเชยแสง เพียงแต่เป็นการถ่ายภาพคร่อมที่มีการใช้ค่า White Balance ที่แตกต่างกันว่าต้องการอุณหภูมิสีเป็นอย่างไร

ขั้นตอนที่ 5 การจัดองค์ประกอบภาพ

การถ่ายภาพที่ดี ควรให้ความสำคัญกับการจัดองค์ประกอบของภาพเพื่อให้ภาพออกมาสวยต้องคำนึงอยู่เสมอว่าเราจะจัดวางวัตถุหลักที่จะถ่ายอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสิ่งใดก็ตาม การมองภาพจะต้องดูให้ทั่วทั้งกรอบภาพ ไม่ใช่มองแค่วัตถุหลักที่เราจะถ่ายเท่านั้น ซึ่งรายละเอียดในการจัดองค์ประกอบภาพจะได้กล่าวถึงในบทต่อไป

ขั้นตอนที่ 6 การวัดแสง

ก่อนถ่ายภาพทุกครั้งจะต้อง “วัดแสง” เพื่อให้ทราบค่าแสงที่สะท้อนออกมาจากวัตถุที่เราจะถ่ายทำให้บันทึกแสง (ภาพถ่าย) ได้อย่างถูกต้องและได้ภาพที่ดีตามความต้องการ (รายละเอียดเรื่องการวัดแสงได้กล่าวไว้แล้วในบทที่ 3 )

ขั้นตอนที่ 7 การปรับโฟกัสภาพ

    เป็นการปรับภาพวัตถุที่เราจะถ่ายให้คมชัดก่อนที่จะกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ ซึ่งระบบโฟกัสมีหลายรูปแบบ โดยปกติเราจะจัดองค์ประกอบภาพก่อนแล้วจึงปรับโฟกัสภาพภายหลังจากนั้นจึงกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ แต่มีบางกรณีเราจำเป็นต้องปรับโฟกัสภาพก่อนแล้วล็อคโฟกัสไว้จึงค่อยมาจัดองค์ประกอบภาพภายหลังดังที่กล่าวไว้แล้วในบทที่ผ่านมา และกดชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพต่อไป

ขั้นตอนที่ 8 การกดชัตเตอร์

    เป็นการกดปุ่มชัตเตอร์เพื่อการถ่ายภาพลงไปจนสุด ให้กล้องเปิดม่านชัตเตอร์ให้แสงผ่านรูรับแสงเข้าไปยังเซ็นเซอร์ การกดปุ่มชัตเตอร์ต้องนิ่งไม่สั่นและต้องรอจังหวะของวัตถุที่จะถ่ายด้วยว่า จังหวะใดควรกดชัตเตอร์ เช่น ถ่ายรูปคนก็ต้องรอดู สีหน้าอารมณ์ รอยยิ้ม กิริยา ท่าทาง ต่าง ๆ ถ้าเหมาะสมก็กดชัตเตอร์ทันทีจะได้ภาพที่สวยงาม

ขั้นตอนที่ 9 การดูผลงานภาพที่ถ่ายออกมา

    การดูภาพที่ถ่ายออกมาได้ทันทีหลังจากที่กดชัตเตอร์ถ่ายไปแล้วเป็นข้อดีของกล้องดิจิทัล ที่ทำให้ทราบว่าภาพที่ถ่ายไปใช้งานได้หรือไม่ หรือถ้ายังไม่ถูกใจจะได้ถ่ายซ่อมใหม่ได้ทันที ซึ่งเราสามารถตั้งเวลาให้กล้องแสดงภาพหลังจากที่ถ่ายไปแล้วได้อีกว่าจะให้กล้องแสดงภาพเป็นเวลานานเท่าไร เช่น กำหนดให้แสดงภาพเป็นเวลา 4, 10, 20 วินาที หรือ 1, 5, 10 นาที แล้วจึงปิด ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนอกจากนี้ยังสามารถซูมภาพดูรายละเอียดของภาพได้อีกว่าถ่ายชัดเจนหรือไม่ และกล้องบางรุ่นยังสามารถบันทึกข้อมูลแสดงรายละเอียดในการถ่ายภาพแต่ละภาพแสดงออกมาให้ดูได้อีกด้วย เช่น ขนาดรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ การดูผลงานภาพที่ถ่ายออกมาทางจอ LCD ควรดูทั้งความมืด ความสว่างการจัดองค์ประกอบภาพ และที่สำคัญคือความคมชัดของภาพ ในด้านความคมชัดของภาพนั้นการมองจากจอ LCD มองลำบากมากเนื่องจากจอมีขนาดเล็กเมื่อมองรวม ๆ จะเห็นว่าภาพคมชัด แต่เมื่อนำมาเปิดดูที่คอมพิวเตอร์หรือพิมพ์ภาพออกมาดูปรากฏว่าภาพเบลอไม่คมชัด ดังนั้นเพื่อให้เกิดความแน่นอนว่าภาพที่ถ่ายออกมาคมชัดดี หลังจากที่ถ่ายเสร็จจึงควรซูมภาพดูจะทำให้มองเห็นว่าภาพคมชัดหรือไม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพที่สำคัญ ๆ ควรซูมภาพดูทุกครั้งหลังการถ่าย

สรุป

ขั้นตอนในการถ่ายภาพดิจิทัลที่สำคัญมี 9 ขั้นตอน ดังนี้

  1. การเปิดกล้องและเลือกโหมดการทำงาน กล้องบางรุ่นจะ เปิด-ปิดกล้อง ด้วยการกดปุ่มบางรุ่นใช้วิธีการเปิด-ปิดแบบหมุนปุ่ม บางรุ่นใช้วิธีการเลื่อนฝาที่หน้ากล้อง เมื่อเปิดการทำงานของกล้องแล้วเราจะต้องเลือกโหมดการทำงานซึ่งมี 2 โหมดใหญ่ ๆ คือ 1)โหมดการถ่ายภาพ ใช้สำหรับการถ่ายภาพและปรับตั้งค่าต่าง ๆ เพื่อการถ่ายภาพ เช่น การปรับตั้งค่า White Balance การเลือกระดับคุณภาพของภาพที่ถ่าย การปรับตั้งค่าความไวของแสง ฯลฯ เป็นต้น 2) โหมดการแสดงภาพ ใช้สำหรับเปิดชมภาพที่ถ่ายไว้แล้วออกมาดูทางจอ LCD ของตัวกล้อง และสามารถเข้าไปจัดการกับภาพที่ถ่ายไว้แล้วได้อีก เช่น ลบทิ้ง หรือสั่งให้แสดงภาพแบบสไลด์โชว์ ฯลฯ เป็นต้น
  2. การตั้งค่าการทำงานพื้นฐาน เมื่อเปิดใช้กล้องครั้งแรกก่อนถ่ายภาพควรตั้งค่าต่าง ๆ ที่สำคัญก่อน เช่น ตั้งวันที่และเวลา การตั้งชื่อโฟลเดอร์เพื่อบันทึกภาพ การเปิดและปิดหน้าจอ การปรับความสว่างของจอ LCD ตั้งค่าความไวแสง ตั้งค่า White Balance ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งวิธีการปรับค่าเหล่านี้มีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่กล้องแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อให้ศึกษาจากคู่มือกล้องที่ใช้อยู่
  3. การเลือกฟอร์แมตและขนาดของไฟล์ภาพ ส่วนใหญ่นิยมจัดเก็บข้อมูลภาพไว้ในสื่อบันทึกภาพเป็นฟอร์แมต JPEG และ LAW เป็นหลัก ทั้ง 2 รูปแบบมีคุณสมบัติแตกต่างกันดังนี้
    ไฟล์ JPEG เป็นฟอร์แมตที่ใช้เทคโนโลยีการบีบอัดเพื่อลดขนาดข้อมูลแบบ Lossy Compression โดยยอมเสียคุณภาพของภาพไปบ้าง เช่น จุดภาพ 2 จุดที่อยู่ติดกันและมีสีใกล้เคียงกันอาจถูกบีบอัดให้เป็นสีเดียวกัน ทำให้ภาพที่มีขนาดกว้างและสูงเท่ากันอาจมีขนาดไฟล์ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับภาพนั้น ๆ ว่ามีสีใกล้เคียงกันมากน้อยเพียงใด ถ้าภาพมีสีสันหลากสีขนาดไฟล์จะมีขนาดใหญ่กว่าภาพที่มีสีพื้นเรียบ ๆ ไฟล์ JPEG จะมีนามสกุลเป็น .JPEG สามารถเลือกคุณภาพได้ 3 ระดับ คือ High, Normal และ Low ถ้าเลือกแบบ High จะบีบอัดน้อยภาพที่ได้จะมีคุณภาพสูง สูญเสียรายละเอียดน้อยมากแต่ขนาดของไฟล์จะมีขนาดใหญ่ ถ้าต้องการไฟล์ที่มีขนาดเล็กก็ให้เลือกแบบ Low ขนาดของไฟล์จะมีขนาดเล็กมากทำให้
    เก็บภาพได้จำนวนมาก แต่ภาพที่ได้ก็จะสูญเสียรายละเอียดไปมากเช่นกัน ส่วนไฟล์ภาพฟอร์แมต RAWเป็นการบันทึกข้อมูลดิบที่ออกมาจากตัวเซ็นเซอร์ของกล้องโดยตรง ไม่ผ่านการดัดแปลงของหน่วยประมวลผลในตัวกล้อง ไฟล์ RAW มีข้อดีตรงเก็บข้อมูลไว้ครบถ้วนตามที่เซ็นเซอร์ของกล้องรับมา เมื่อนำไฟล์ RAW มาตกแต่งภาพด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป เช่น Photoshop จะสามารถปรับค่าต่าง ๆ เพื่อตกแต่งได้ดี แต่ไฟล์ RAW มีขนาดใหญ่กว่าไฟล์ JPEG 3-4 เท่าตัว ทำให้เปลืองเนื้อที่ในการ์ดหน่วยความจำและเมื่อตกแต่งเสร็จก่อนที่จะนำไปใช้งานต่าง ๆ ต้องแปลงไฟล์ RAW ให้เป็นไฟล์ JPEG หรือไฟล์ฟอร์แมตอื่นที่โปรแกรมสำเร็จรูปทั่ว ๆ ไปสามารถใช้งานได้ เพราะโปรแกรมสำเร็จรูปส่วนใหญ่ที่ใช้กันอยู่ไม่สามารถนำไฟล์ RAW ไปใช้ได้โดยตรง สำหรับขนาดของภาพนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการบีบอัดไฟล์ดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าบีบอัดน้อยมีความ ละเอียดมากภาพก็มีขนาดใหญ่ ถ้าบีบอัดมากมีความละเอียดน้อยภาพก็มีขนาดเล็ก โดยทั่วไปสามารถ กำหนดขนาดของภาพได้ 3 ขนาด คือ L (ใหญ่ที่สุด) M (ขนาดกลาง) S (ขนาดเล็ก)
  4. การเลือกโหมดการถ่ายภาพ โหมดการถ่ายภาพที่สำคัญมี 2 โหมดคือ 1) โหมดการถ่ายภาพแบบโปรแกรมสำเร็จรูป มีโหมดย่อยที่สำคัญ ๆ ดังนี้ โหมด Auto เมื่อเลือกใช้กล้องจะปรับขนาดรูรับ แสงและความเร็วชัตเตอร์ให้เหมาะกับสภาพแสงเอง และยังตั้งค่าอื่น ๆ ที่สำคัญให้โดยอัตโนมัติ เหมาะ สำหรับถ่ายภาพทั่ว ๆ ไป โหมดการถ่ายภาพอัติโนมัติแบบปิดแฟลช การใช้งานเหมือนโหมด Auto แต่จะปิดแฟลชเพื่อให้กล้องบันทึกภาพในสภาพแสงน้อยโดยไม่ใชแฟลช จะทำให้ภาพดูเป็นธรรมชาติสมจริง โหมดถ่ายภาพบุคคล เมื่อเลือกโหมดนี้กล้องจะปรับรูรับแสงให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ฉากหลังเบลอทำให้ตัวแบบเด่นชัดขึ้นมาและได้ภาพที่นุ่มนวล ถ่ายทอดสีผิวได้อย่างสวยงาม โหมดถ่ายภาพทิวทัศน์ เหมาะสำหรับถ่ายภาพทิวทัศน์ เช่น ทะเล ภูเขา น้ำตก โดยกล้องจะพยายามปรับรูรับแสงให้แคบที่สุดเพื่อให้เกิดภาพชัดลึก และโปรแกรมในกล้องจะปรับเน้นภาพให้มีสีสันสดใสกว่าระบบบันทึกภาพแบบอื่น ๆ โหมดถ่ายภาพระยะใกล้ เหมาะสำหรับถ่ายภาพสิ่งที่มีขนาดเล็กในระยะใกล้มาก ๆ เช่น แมลง ดอกไม้ ใบหญ้า โดยกล้องจะปรับเลนส์ให้ทำงานแบบ Macro เปิดรูรับแสงแคบ ๆ เพื่อให้ได้ระยะชัดที่ดี โหมดถ่ายภาพกีฬา/ภาพเเคลื่อนไหว เหมาะสำหรับถ่ายภาพวัตถุที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เช่น ภาพกีฬา ภาพนกบิน รถที่กำลังวิ่ง กล้องจะตั้งความเร็วชัตเตอร์สูงสุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้สามารถจับภาพที่กำลังเคลื่อนไหวให้หยุดนิ่ง โหมดถ่ายบุคคลกลางคืน โหมดนี้เหมาะสำหรับถ่ายภาพบุคคลตอนกลางคืนหรือในสภาพแสงน้อย แต่ต้องการถ่ายภาพคนและต้องการเก็บรายละเอียดของสภาพแสงดังกล่าวไว้ด้วย 2) โหมดการถ่ายภาพชั้นสูง มีโหมดย่อยที่สำคัญ 4 โหมดดังนี้ โหมด P Program : ระบบถ่ายภาพโปรแกรมอัตโนมัติ ทำงานคล้ายโหมด Auto แต่ต่างกับโหมดAuto ตรงที่เราสามารถตั้งค่าฟังก์ชันการใช้งานในส่วนอื่น ๆ ได้เอง เช่น ตั้งค่า White Balance ค่าความ
    ไวแสง และค่าการชดเชยแสง ฯลฯ เป็นต้น โหมดนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ถ่ายภาพที่ต้องการใช้งานง่าย ๆและสามารถควบคุมกล้องได้เอง โหมด S Shutter Priority : ปรับขนาดรูรับแสงอัตโนมัติ โหมดนี้ให้ผู้ถ่ายภาพเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่ต้องการก่อน จากนั้นกล้องจะเลือกขนาดรูรับแสงที่เหมาะสมกับสภาพแสงในขณะนั้นให้ โหมด A Aperture Priority : ปรับความเร็วชัตเตอร์อัตโนมัติ โหมดนี้ให้ผู้ถ่ายภาพเลือกขนาดรูรับแสงที่ต้องการก่อน แล้วกล้องจะเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมตามสภาพ แสงในขณะนั้นให้ โหมด M Manual Exposure : ปรับค่าการเปิดรับแสงเอง โหมดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีความรู้ในการถ่ายภาพดีพอสมควร เพราะต้องปรับเลือกขนาดรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ตามที่ต้องการเองเพื่อให้เหมาะกับลักษณะของภาพที่ต้องการ เมื่อใช้โหมดนี้เราสามารถตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ได้ต่ำถึง ชัตเตอร์ B (Blub) ซึ่งเป็นความเร็วชัตเตอร์ที่ออกแบบมาเพื่อให้เปิดม่านชัตเตอร์ค้างไว้จนกว่าจะปล่อยนิ้วออกจากปุ่มชัตเตอร์ ทำให้สามารถเปิดรับแสงได้นานเท่าที่ต้องการ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์กลางคืน หรือภาพพลุ ดอกไม้ไฟ ฯลฯ เป็นต้น
  5. การจัดองค์ประกอบภาพ การจัดองค์ประกอบของภาพ เพื่อให้ภาพออกมาสวยต้องคำนึงอยู่เสมอว่าเราจะจัดวางวัตถุหลักที่จะถ่ายอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสิ่งใดก็ตาม การมองภาพจะต้องดูให้ทั่วทั้งกรอบภาพไม่ใช่มองแค่วัตถุหลักที่เราจะถ่ายเท่านั้น
  6. การวัดแสง ก่อนถ่ายภาพทุกครั้งจะต้อง “วัดแสง” เพื่อให้ทราบค่าแสงที่สะท้อนออกมาจากวัตถุที่เราจะถ่าย ทำให้ภาพถ่ายได้อย่างถูกต้องและได้ภาพที่ดีตามความต้องการ
  7. การปรับโฟกัส เป็นการปรับภาพวัตถุที่เราจะถ่ายให้คมชัดก่อนที่จะกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ ซึ่งระบบโฟกัสมีหลายรูปแบบ โดยปกติเราจะจัดองค์ประกอบภาพก่อนแล้วจึงปรับโฟกัสภาพภายหลังจากนั้นจึงกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ แต่มีบางกรณีเราจำเป็นต้องปรับโฟกัสภาพก่อนแล้วล็อคโฟกัสไว้จึงค่อยมาจัดองค์ประกอบภาพภายหลัง และกดชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพต่อไป
  8. การกดชัตเตอร์ การกดปุ่มชัตเตอร์ต้องนิ่งไม่สั่นและต้องรอจังหวะของวัตถุที่จะถ่ายด้วยว่าจังหวะใดควรกดชัตเตอร์ เช่น ถ่ายรูปคนก็ต้องรอดู สีหน้า อารมณ์ รอยยิ้มต่าง ๆ ถ้าเหมาะสมก็กดชัตเตอร์ทันทีจะได้ภาพที่สวยงาม
  9. การดูผลงานภาพที่ถ่ายออกมา การดูภาพที่ถ่ายออกมาได้ทันทีหลังจากที่กดชัตเตอร์ถ่ายไปแล้วเป็นข้อดีของกล้องดิจิทัล ที่ทำให้ทราบว่าภาพที่ถ่ายไปใช้งานได้หรือไม่ หรือถ้ายังไม่ถูกใจจะได้ถ่ายซ่อมใหม่ได้ทันที ในการดูภาพควรซูมภาพดูจะทำให้มองเห็นว่าภาพคมชัดหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพที่สำคัญ ๆ ควรซูมภาพดูทุกครั้งเพื่อให้แน่นอนว่าภาพที่ถ่ายออกมาคมชัดดีการถ่ายภาพตามขั้นตอนดังกล่าว ถ้าฝึกปฏิบติเป็นประจำจะทำให้การถ่ายภาพมีระบบ ทำให้ภาพที่ถ่ายออกมามีคุณภาพดี

การถ่ายภาพตามขั้นตอนดังกล่าว ถ้าฝึกปฏิบัติเป็นประจำจะทำให้การถ่ายภาพมีระบบ ทำให้ภาพที่ถ่ายออกมามีคุณภาพดี