ชวลิต ผู้ภักดี  วิเคราะห์  นางวาลี   ที่เป็นตัวละครตัวหนึ่ง

ใน

พระอภัยมณี ที่ออกมาปรากฏกายอันแปลกประหลาดใน

กมลสำนึกของผู้อ่าน ว่า  ท่านสุนทรภู่ คิดอย่างไรจึงให้

นางวาลีอัปลักษณ์จนเหลือเชื่อ

แต่แท้จริงแล้ว  ทุกการอ่าน ต้องอ่านอย่างพินิจให้เข้าถึง

นางวาลีจึงน่าจะเป็นอุปลักษณ์หนึ่ง ที่พึงพิจารณา


 

มองพระอภัยมณีในเชิงอุปลักษณ์

ตอน

นางวาลีรูปชั่วตัวดำแต่……

                  

           วันนี้เข้าเรื่องเร็วหน่อย เพราะอย่างไรเสีย  ชีวิตและบทบาทของนางผู้นี้ก็สั้นเต็มที่ แต่ก็ต้องยอมรับนะว่า พระเอกของเรื่องนี้ เสียดายอยู่ครามครัน    ศัพท์คำนี้ “วาลี” ผู้วิเคราะห์ได้พยายามสืบค้นในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย์หลาบรอบแล้วก็ไม่พบ  หรืออาจจะเป็นเพราะอ่านข้ามก็เป็นไปได้ เพราะอย่างไรเสีย พจนานุกรมฉบับดังกล่าวก็มากไปด้วยท่านผู้รู้ทั้งสิ้น ท่านคงไม่ละเลยคำเหล่านี้ “นางวาลี” ไปได้

 

           เมื่อเป็นดังที่เล่าขานมาแล้ว ก็คงต้องอาศัยการพิจารณาไปเท่าที่จะสร้างความน่าเชื่อได้บ้าง หรือไม่เช่นนั้นก็ลดภาวะความอยากรู้ให้บรรเทาเบาบางลงได้บ้าง

 

           สุนทรภู่นี่ท่านหนีน้ำไม่พ้นเลย นางที่หนึ่ง ก็มาแต่น้ำ หากแต่ว่ามีชื่อเหมือนติดปีกเป็นลวดลายงามมากมาด้วย ที่สำคัญ ให้ตัวโต เขี้ยวขาวยาวโง้ง ดุเดือดเป็นอันดับแรกออกมาสร้างสีสันให้กับเรื่องนี้อย่าง เสียอยู่นิดเดียว ตัวหนักไปสนุกสนานเมามันไปกับท้องเรื่องอย่างที่เรียกว่าทิ้งไม่ได้

           ส่วนนางที่สองก็น้ำอีก ทรวดทรงองค์เอว ของนางนั้นอ่อนช้อย  แต่เรี่ยวแรงอันเกิดจากความพยายามมากมายเหลือล้น ไม่ดุดัน ราบเรียบไม่มีพิษภัย เพียงมีหางเป็นปลา  ถึงกระนั้นนางก็น่ารักชวนพระอภัยให้เกิดพิสวาสไม่น้อย

         

           สำหรับนางที่จะวิเคราะห์นี้ ถ้าเพียงฟังชื่อโดยไม่อ่านหนังสือเรื่องนี้  เชื่อแน่ว่าร้อยทั้งร้อย ก็คิดว่านางคือน้ำอีกแน่  เพราะนางชื่อ “ววาลี” ซึ่งเสียงคล้าย หรือใกล้เคียงกันมากกับคำว่า  “วารี”  ที่แปลว่า  น้ำ  แต่ที่ไหนได้  เป็น “วาลี”    ผู้วิเคราะห์

มิกล้าระบุว่า ครูบาอาจารย์ที่สอนมานั้นท่านเคยอธิบายไว้หรือไม่ ก็ไม่สู้แน่ใจนัก เพราะระหว่าง “วาลี ฏับ วารี” นั้นใกล้กันจนคิดว่าเป็นคำเดียวกัน    หรือท่านอาจจะแปลความให้แต่เราไม่ได้ยิน หรือว่าไม่ตั้งใจจะฟังก็เป็นได้

ณ  บัดนี้ลองมาวิเคราะห์ กันดูทีรึว่า  “วาลี คืออะไร หมายความ หรือมีที่ไปที่มาของคำนี้อย่างไร

 

วาลี (๑)น่าจะมาจากภาษาฝรั่ง ว่า ดับเบิ้ลยู เอ็ช เอย์ แอล  อี (WHALE)ออกเสียงว่า วาล หรือ เวล ที่นักสัตวศาสตร์ก็ไม่อาจระบุได้ชัดว่า เป็นปลาหรือไม่ หากแต่ทรวดทรงองเอวก็คือปลานั่นเอง เพียงแต่ว่า เป็นสัตว์เลือดอุ่นเลี้ยงลูกด้วยนม  อาศัยอยู่ในทะเลลึก มีทั้งวาลดำ วาลด่าง และฉลามวาล นับเป็นความหลากหลายอยู่ไม่น้อย   ที่คนไทยเราเรียกว่า ปลา “วาฬ” หรือ “วาล”  มาแต่ไหนแต่ไร เดิมเขียนคำนี้สะกดด้วย /ฬ/ จุฬา หรือ ฬ บาลี แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น /ล/  เท่าๆ กับ คำว่า “บาลี” ซึ่งโบราณ เขียนว่า “บาฬี”    ว  สระ อา  ล(ลิง) ก็น่าใช่นะ เพราะบรรดาชายาของพระอภัย ค่อนข้างจะเจอกันในน้ำ อย่างน้อย ก็ ๒ นางแล้ว 

เหตุผลประกอบ “วาล”(๑) ก้มีพอยืนยัน ว่า สมัยที่สุนทรภู่ท่านแต่งเรื่องพระอภัยมณี นั้นเป็นระต้นของรัตนโกสินทร์ ที่ขณะนั้น ชาวตะวันตกเข้ามาเมืองไทยมากมายหลายชาติ ภาษาอังกฤษกำลังอยู่ในความสนใจของคนไทยไม่น้อย

วาลี(๒) มาตามไปวัดบ้าง   วาลี  นี่น่าจะมาจากคำว่า วาล ในภาษาบาลี สันสกฤต ก็เป็นไปได้  ที่แปลว่า หาง  ขนหางสัตว์ ศัพท์คำนี้ ท่าน ปานิณิ ท่านว่า เป็นเพศชาย(ปุงคลิงค์)  เพื่อให้เป็น อิตถีลิงค์ ท่านเลยสวมวิภัติปัจจัย  อี  เข้าไป  วาล จึงเป็นวาลี  จาก วาลี  เป็น วลัย    เป็น  วาลย์  ที่เรา ๆ ท่านๆ นำไปเติมอุปสรรค์  สํ  +  วาลย์  เป็น สังวาลย์

ตกลงจะเอายังไงดี ปลาวาลก็น่ารัก  ขนสัตว์ก็งามอยู่    ลองดูซี     สุนัขไม่มีขน น่ารักมั้ยล่ะไม่อย่างงั้นจะมีคำพังเพยที่ว่า “ไก่งามเพราะขน” ไว้ทำไม

ในกรณีวาลี (๒) นี่ก็น่าคิดอยู่ เพราะประมวลเข้ากับคำพังเพยที่ว่า   “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง”  ซึ่งการวิเคราะห์ให้เข้ากับความเป็นไทยน่าจะเป็นปได้หรือไม่นั้นท่านทั้งหลายต้องเก็บเอาความเฉพาะนางวาลีมาเป็นเครื่องมือสนับสนุน  

          ยังไม่รู้คำตอบว่าท่านสุนทรภู่จะยึด วาล(สัตวน้ำ) ที่มีคุณลักษณะพิเศษจนไม่สามารถจะใช้คำนำหน้า ว่า ปลา มาวิเคราะห์เจาะไช กันให้ถึงก็จะดีกว่า  เมื่อนั้นค่อยตัดสินกันว่าจะเอา(๑)  หรือ(๒)  เป็นคำแปล ให้รู้เรื่องกันไป

 

นิทานของจินตกวีเอกของโลก เรื่องพระอภัยมณี แม้จะเป็นของท่านสุนทรภู่ก็จริง เล่มที่อยู่ในมือท่านทั้งหลายนั้น ท่านวาดไว้ยาวมาก แต่ฉะเพราะ ตอนของนางวาลีนี้จะดำเนินไปดังที่จะกล่าวในย่อหน้าต่อไปนี้

 

การเปิดตัวนางเอก(ตัวละครตัวที่ ๓) ก่อนอื่นต้องยอมรับนะว่า พระอภัยฯ พบนางสุวรรณมาลี ก่อนนางวาลี  แต่กว่าจะได้นางสุวรรณมาลี ก็เหนื่อยมากทีเดียว ก็ได้อุบายจากนางนี่แหละจึงสำเร็จเสร็จสิ้น

 ในส่วนของนางวาลีนั้น  นางเข้ามาเสนอตัวอย่างชนิด ดุเดือด แต่ไม่ดุดัน   เข้ามาในจังหวะ เวลา  และเงื่อนไขที่เหมาะสมจนผู้อ่านคาดเดาไม่ถูก นางหนึ่งงามสุดเดชสุดฤทธิ์ แต่อีกนางหนึ่งจะใช้คำว่าขี้เหร่ก็ยังนับว่าชมอยู่ ต้องเรียกว่าขี้ริ้วชนิดสุดฤทธิ์สุดเดชเลยทีเดียว  ถ้ามองอย่างนักวิจารณ์นวนิยายก็ต้องยอมรับนับถือกลยุทธ์ในการแทรกตัวละครตัวใหม่ให้เข้ามาอย่างแนบเนียนมาก ดังบทที่ว่านี้

 

อยู่มาภายหลังยังมีสตรีหนึ่ง                   อายุถึงสามสิบสี่ไม่ผัว

ชื่อวาลีสีเนื้อนั้นคล้ำมัว                         รูปก็ชั่วชายไม่อาไลยแล

ทั้งกายาหางามไม่พบเห็น                       นั้นเป็นรอยฝีมีแต่แผล

เป็นกำพร้ามาแต่หล่อนยังอ่อนแอ           ได้พึ่งแต่ตายายอยู่ปลายนา

เป็นเชื้อพราหมณ์ความรู้ของผู้เฒ่า         แต่ก่อนเก่าเดิมบุราณนานหนักหนา

เป็นมรดกตกต่อต่อกันมา                      นางอุตส่าห์เรียนเล่าจนเข้าใจ(๓๓๕)

 

การเปิดตัวละครแต่ละตัวของท่านบรมครูผู้มีจินตทัศน์อันวิเศษ ขนาดตัวที่สามแล้วน่าจะให้งานกว่านางสุวรรณมาลี  แต่กลับยิ่งขี้เหร่มามากเสียอีก นี่เอง ที่ท่านทำให้ผู้ คนอ่านถึงติดงอมแงมไง ว่า เมื่อไรเทวาจะอุ้มสมสักที  อุ้มแรก เทวดายังไม่ตื่น เพราะมัวนอนหลับพับไปพับมากับเสียงปี่ เล่นเอาพระอภัยต้องไปปีนภูเขามหึมา ครั้งที่สองก็หลับๆตื่นๆ สวยขึ้นเป็นรูปเป็นทรง สมหน้าสมฐานะแต่ก็ยังต้องออกแรงอีกมาก มาครั้งนี้ก็ หมด  หมดทั้งตัว หาดีไม่ได้  น่าสงสารพระอภัยฯ จริงๆ  ความหล่อของพระอภัยฯ นี่ช่างมี่อุปสรรคมากมายขนาดนี้

 

          มาติดตามต่อไปอีกนิดหนึ่ง นะ นางคนนี้ทำอะไร  เป็นอย่างไร  และคิดอะไร  ทำไมจึงเข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างกลมกลืน หากแต่เป็นความกลมกลืนในความขัดแย้ง

                                                          นางอุตส่าห์เรียนเล่าจนเข้าใจ

รู้ฤกษ์พาฟ้าดินสำแดงเหตุ           ทั้งไตรเพทพิธีคัมภีร์ใสย

คนเจนแจ้งแกล้งเอาเข้าเผาไฟ     มิให้ใครพบปะพระคัมภีร์(๑)

ถึงหน้านาฟ้าฝนจะชุกแล้ง           ช่วยบอกแจ้งตายายให้ย้ายที่

จนได้ผลคนภานางวาลี                เป็นหมอดีดูแลแน่สุดใจ(๒)

 

บทวิเคราะห์ 

นางวาลีมีพฤติกรรมพิเศษที่แปลกแหวกแนวจากคนทั่วไปเหมือนหน้าตาที่อัปลักษณ์กระนั้นหรือ ที่สุนทรภู่ท่านว่าเมื่อเจนจบแล้วนางเผาตำราเสียสิ้น ตาม(๑)  วิเคราะห์ได้ดังนี้

รู้ฤกษ์พาฟ้าดินสำแดงเหตุ           ทั้งไตรเพทพิธีคัมภีร์ใสย

ครั้นเจนแจ้งแกล้งเอาเข้าเผาไฟ   มิให้ใครพบปะพระคัมภีร์(๑)

(๑.๑)ทำอะไร  นางเรียนวิชาเสร็จเรียบร้อยแล้วทำการเผาตำราทิ้ง

นี่เป็นวิธีหนึ่งของคนโบราณแทบทั้งนั้น(ใช้คำว่า แทบ นะ ไม่ทั้งโลก)

(๑.๒)เป็นอย่างไร เป็นคนที่คิดอย่างคนโบราณที่จะมอบวิชาให้เฉพาะลูกคนใดคนหนึ่งที่พิจารณาแล้วว่าสามารถรับและสืบทอดอาชีพนี้ได้ ถ้าไม่มีจะเผาตำราทิ้ง หรือถ้าเป็นเครื่องไม้เครื่องมือก็จะโยนลงน้ำทิ้งให้สูญหายไปพร้อมกับตน อาการหวงแหนวิชานี่มีสืบต่อกันในหลายชาติหลายเผ่าทีเดียว

          (๑.๓)คิดอะไร  พฤติกรรมของนางวาลีที่เผาตำราทิ้ง อาจมองในแง่ที่ว่านางเป็นคนมีปมด้อยจึงต้องการสร้างปมเด่นให้ตนเองอย่างที่ไม่มีใครเทียมนางได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจวิธีหนึ่ง โดยเฉพาะในแง่ของสติปัญญา

(๒)นับเป็นพฤติกรรมที่พิเศษของนางที่ใช้วิชาความรู้ช่วยเกื้อกูลผู้คน ให้เข้าใจในตัวนางหรือกล่าวได้ว่า นั่นคือตัวตนของนางวาลีเชียวละ

ถึงหน้านาฟ้าฝนจะชุกแล้ง           ช่วยบอกแจ้งตายายให้ย้ายที่

จนได้ผลคนภานางวาลี                เป็นหมอดีดูแลแน่สุดใจ(๒)

(๒.๑)   นางวาลีทำอะไร  ทำในสิ่งที่ทุกคนในละแวกนั้น   ต้องยอมรับในความสามารถในความปราดเปรื่องที่สามารถทำนายฟ้าฝนได้ ปัจจุบัน ก็ต้องเรียกว่านักอุตุนิยมวิทยา  และนักอุทกศาสตร์นั่นเอง

(๒.๒)    เป็นอย่างไร  ก็คือแสดงพฤติกรรมที่ว่ามีความห่วงใย ช่วยบอกทางหรือชี้แนะให้ทำหรือแก้ไข ได้เหมาะแก่สถานการณ์จะเห็นได้ว่า นางวาลีใช่ว่าจะชี้แต่ปัญหา หากยังบอกทางแก้ไขอีกด้วย

(๒.๓)   คิดอย่างไร  การคิด เป็นวิธีการลบปมด้อยโดยอาศัยความรู้ และด้วยสติปัญญาอย่างถูกวิธีจนเลื่องลือและยอมรับนับถือกันทั่วไป บุคคลเยี่ยงนี้สมที่จะเป็นที่ปรึกษาผู้บริหารซึ่งหาได้ไม่ง่ายนัก

 

ความคิดเหล่านี้ นางวาลี น่าจะพ้องกับสุภาษิตโบราณที่ท่าน น.ม.ส. ทรงนิพนธ์ขึ้นเป็น โลกนิติคำโคลง ว่า

          ความรู้ดูยิ่งล้ำ         สินทรัพย์      (ต่อให้ด้วยนะ บาทต่อไปน่ะ)

                  

ด้วยปมด้อยเป็นหลัก แต่ประกันในความรู้และสติปัญญา ปณิธานอันแน่วแน่ที่นางวาลีต้องการได้รับจึงอุบัติขึ้นเป็นอุดมการณ์อันสูงสุดที่นางต้องก้าวให้ไกลและไปให้ถึง

 

ถึงรูปชั่วตัวดำแต่น้ำใจ                จะใคร่ได้ผัวดีที่มีบุญ

ทั้งทรวดทรงองค์เอวให้อ้อนแอ้น  เป็นหนุ่มแน่นน่าจูบเหมือนรูปหุ่น

แม้นผัวไพร่ไม่เลยแล้วพ่อคุณ       แต่คร่ำครุ่นครวญหาทุกราตรี(๓๓๕)

 

การวิเคราะห์

ในบทนี้  นับเป็นความปกติของหญิงในทุกยุคทุกสมัย เมื่อเกิดเป็นหญิง

ปณิธานอันสำคัญก็คือ นางต้องเป็นหญิงของชายที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ งามทั้งรูปทรงองค์เอว สรุปให้ง่ายก็คือ ต้องรวยต้องหล่อคงจะไม่ผิด  เหตุผลคือนางเป็นคนจน หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยการแสดงความอนาทรร้อนใจต่อผู้ต้องการความช่วยเหลือ ผลที่ตามคือ 

         

ใครไปมาหาของกำนัลฝาก           พอเลี้ยงปากตามประสาอัชฌาไสย(๓๓๕)

 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นางวาลีต้องทะเยอทยานไขว่คว้า  สุนทรภู่ท่านชี้โดยนิทานแต่ต้องขุดค้นเอาเอง ว่า เมื่อคิดอย่างไร ต้องทำอย่างไร นี่ต้องยึดโยงเอานางวาลีเข้ามาเป็นหลักคิด ใช่ว่าจนแล้วก็ตามจน กรรมแล้วก็ตามกรรม ท่านไม่มีเจตนาเช่นนั้น ดังนั้นความคิดของท่านจึงสำแดงออกมาในบทบาทของนางวาลี เป็นแนวคิด แนวคิดนี้ปรากฎในวรรณกรรมเรื่องหนึ่งมีข้อความดังนี้

 

“ฉันใดชาดานารี      พึงมีสามีแนบกาย”

(ข้อความนี้จะปรากฎในเรื่องใดโปรดหาคำตอบให้ด้วย”

         

ยังอย่าเพ่อด่วนสรุป  นี่เป็นแค่น้ำจิ้มหรือพูดให้เข้ายุคของพระอภัยฯ ก็เรียกว่า ออดัฟมั้ง เพราะหูแยกสำเนียงได้อย่างนี้  ขนาดสถานีรถไฟ  ยังได้ยินว่า สเตแท่น  ผู้ว่าการเขตปกครอง ก็เรียกว่า มิด สะเตอ กัด ฟัน มัน  ชื่อว่านาย แร้งกิน น่ะ คนไทยเก่งขนาด เนาะ

และแล้วนิทานก็ต้องเป็นิทานวันยังค่ำ  ข่าวคราวที่แพร่สะพัดพระอภัยต้องการคนที่ชำนาญการศึกสงคราม สะยัดมาถึงหูนางเข้า โชคชะตาเป็นเหตุบันดาลแน่นอน

         

พอรู้ข่าวเจ้าเมืองผลึกใหม่           พระอภัยพูลสวัสดิ์รัศมี

งามประโลมโฉมเฉิดเลิศโลกีย์      นางวาลีลุ่มหลงปลงฤทัย(๑)

ครั้นรู้ว่าทหารชำนาญศึก             ก็สมนึกยินดีจะมีไหน

อันสงครามความรู้เราเรียนไว้       จะเข้าไปเป็นห้ามพระทรามเชย(๒)

 

บทวิเคราะห์

  • ข่าวว่าพระอภัยฯเจ้าเมืองคนใหม่ของเมืองผลึกรูปงาม ข้อนี้ เป๊ะ ตรงสะเป๊ก
  • ความรู้เรื่องศึกศงคราม ในที่นี้นางหมายถึงตำราพิชัยสงครามแน่นอน ซึ่งนางเรียนรู้มาเป็นอย่างดี

 

นี่แหละท่านที่รัก สุนทรภู่ท่านย้ำเรื่องความรู้ไว้เกือบทุกที่ที่มีโอกาสพาดพิง นับว่าส่วนนี้ก็จัดว่าเป็นสารัตถะ(theme)ของเรื่องทีเดียว ท่านย้ำว่ากระไรคงจำได้นะ

         

มีความรู้อยู่กับตัวกลัวอะไร          ไปข้างหน้าเติบใหญ่จะให้คุณ

 

ตรงนี้ละกระมังที่นางวาลีใช้เป็นเครื่องมือชดเชยความอัปลักษณ์ที่พระเจ้าให้นางมาแต่ต้องขอบคุณพระเจ้าท่านเมื่อท่านปั้นนางให้พิลึกพิลั่นแต่ท่านก็ให้ปัญญา และความกล้าหาญสอดแซมมาด้วย จึงทำให้นางกล้าพูดได้เต็มปากว่า

         

             นางบอกว่าข้าจะไปเป็นหม่อมห้าม     คงสมความปรารถนาอย่าสงไสย

    ทั้งผัวเมียหัวร่ององอไป                     ร้องเรียกให้เพื่อนบ้านช่วยวานแล

 

นี่แหละนางวาลีผู้ทรนงในความรู้ แม้จะถูกหัวเราะเยาะนางก็ไม่ใส่ใจ โดยเฉพาะผู้เฒ่าทั้งสองที่หัวร่อจนตัวงอนั้นเป็นผู้มีพระคุณ และรวมทั้งผู้คนในละแวกบ้าน ทั้งล้อเลียนทั้งถากถาง นางวาลีก็ไม่เก็บมาเป็นความโกรธแค้น นี่เป็นลักษณะหนึ่งที่นับเป็นความพยายามสอดแทรกไว้ในเรื่องอย่างเนียนๆ

         

มาติดตามนางวาลีที่เดินทางไปสมัครงานต่อเถอะว่าจะมีอุปสรรคบ้างไหมหนอ

         

พวกขุนนางต่างพินิจสะกิดเพื่อน   อีนั่นเหมือนตอตะโกทำโอ่โถง(๑)

บ้างก็ว่าหน้าเง้าแต่เขาโค้ง            ต๊ะติ๊งโหน่งนั่งเล่นก็เป็นไร(๒)

นางรู้ว่าข้าเฝ้าเข้าไปนั่ง                กรมวังถามว่ามาแต่ไหน(๓)

นางแจ้งความตามจริงทุกสิ่งไป     ข้าจงใจมาเฝ้าเจ้าแผ่นดิน(๔)

 

ท่านที่รัก บรรทัดต่อบรรทัด มีเนื้อแน่นไปหมด นี่แหละ กลอนของท่านสุนทรภู่ละ

  • ท่าทางของนางวาลีที่มีความเชื่อมั่นสูง ไม่เดือดร้อนต่อสายตาทีล้อเลียน
  • ไม่ต้อนรับขับสู้นั่งเล่นเสียเฉย แถมยังมีอาการเยาะยั่ว
  •  ความเป็นคนช่างสังเกต นางก็รู้ว่าคนกลุ่มนี้เป็นใคร
  • บอกวัตถุประสงค์โดยไม่อ้อมค้อม

 

ท่านผู้ร่วมหลงทาง (๑) – (๔) บ่งชัด ว่านางทรนงในความเป็นตัวตนของนางอย่างแท้จริง  ไม่มีสะทกสะท้าน ทั้งนี้เพราะความเชื่อมั่น อีกทั้งเป็นการตัดบทที่มีผู้คนมาตอแยัง  ยังไม่เท่านั้น พวกปากเปราะเราะร้ายต้องกระเจิดกระเจิง เมื่อนางวาลีผู้คมด้วยปัญญาสวนทันควัน 

         

 

นางฟังคำทำหัวเราะเยาะอำมาตย์     ว่าท่านทาสปัญญาอย่ามาถาม

วิไสยคนทนคงเข้าสงคราม                เป็นแต่ความรู้ไพร่เขาใช้แรง (๑)

อันวิชาข้านี้ดีกว่านั้น                        ของสำคัญใครเขาจะเล่าแถลง

แม้นพระองค์ทรงศักดิ์จักแสดง         มิควรแพร่งพรายให้ใครใครฟัง(๒)

                                                                                       (๓๓๗)

คมชัดลึก  ถึงไส้ถึงก้นบึ้งของหัวใจ  คำว่า “ทาสปัญญา”  ต้องเรียกว่า  นับระดับ กันทีเดียวนี่เพียง(๑) เท่านั้น และแล้วนางวาลีก็สำทับด้วย (๒) ทั้งสอนและก็ตอกย้ำอีกด้วย ว่าต้องบอกกับคนที่มีปัญญาระดับเจ้านายเท่านั้น        

         

          ตามมาให้กระชั้น ตามมาให้ติดๆ เรื่องกำลังจะเข้าด้ายเข้าเข็ม เมือพระอภัยฯประจัญหน้ากับนางวาลี อะไรเป็นอะไร ตามมา

         

พระทรงฟังให้พาเข้ามาพลัน                  เห็นผิวพรรณพักตรานางวาลี

เหมือนคุลาหน้าตุเหมือนปรุหนัง            แลดูดังตะไคร่น้ำดำมิดหมี

แต่กิริยามารยาทประหลาดดี                 เห็นจะมีความรู้อยู่ในใจ(๓๓๗)

 

ลักษณะการโต้ตอบนี้น่าจะเทียบได้กับ “ศรีปราชญ์” ที่โต้คารมกับ เจ้านครเชียงใหม่ที่ว่า

เจ้าเมืองเชียงใหม่ : รังสีบ่สดใส                      สักหยาด

ศรีปราชญ์โต้กลับ  : ดำแต่นอกในแผ้ว   ผ่องเนื้อนพคุณ

 

กลอนหนึ่งบทครึ่งนี้ ว่ากันจะจะ  ก็น่าจะเทียบ

ได้ว่าดูโหงวเฮ้งกันทีเดียว พระอภัยฯ ใช่จะเก่งแต่ควงปี่ แต่แว่บเดียวไม่ทันครบอาการ “เฮง” ทั้งห้า ก็ดูทะลุปรุโปร่งแล้ว นี่แหละ ท่านบรมครูท่านแอบ ท่านซ่อนคมความคิดไว้ในกลอน  เท่าที่พบเห็นมาส่วนใหญ่ ผู้ใหญ่ผู้โตมักจะเลือกคนไว้ทำงาน หน้าตาดี สุภาพ พูดจาอ่อนหวาน สันดานบริสุทธิ์  คร้าบท่าน  คะ  ขา   อ๋อค่ะ  ค่ะๆๆๆ  ได้ค่ะ  ทั้งนี้และทั้งนั้น เพื่อสนองใจตนเอง ว่าเออ  อันตู(ข้า)นี้เก่ง  เก่งจริงๆ  พูดอะไรก็ถูกหมด ไม่มีใครแย้ง หรือ แยงแม้แต่คำ  เด็กพวกนี้ฉลาด  น่ารัก  พูดอะไรก็รู้เรื่องหมด คนอย่างนี้แหละน่าเอาไว้ใกล้ชิด “ไอ้   อี” ที่ดื้อด้าน เถียงคำไม่ตกฟาก ยิ่งเข้ามาใกล้ ยิ่ง…………..อีกยาว อย่าเอามา  (ว่าแล้ว  ปม. อีกแล้ว)  ต่อ ๆไปอย่าแกว่งเสี้ยนไปหาปาก เดี๋ยวเขาก็เก็บเอาหีบไปซุกมือ แล้วจะยุ่งพิลึก

 

          มา…มาดูบทสัมภาษณ์ของพระอภัยฯ ว่าจะจีบนางวาลี ว่าอย่างไร

          บท พระอภัยมณีสัมภาษณ์นางวาลี

 

จึงแย้มเยื้อนเอื้อนโอษฐโปรดประภาษ    เจ้าเป็นปราชญ์ปรีชาจะหาไหน

จะช่วยเราบำรุงซึ่งกรุงไกร                     เราขอบใจจะเลี้ยงให้เที่ยงธรรม์

แต่วิชาวาลีมีไฉน                                  อย่าถือใจแจ้งจริงทุกสิ่งสรรพ์

จะรอนราญการณรงค์คงกระพัน            จะรับรองป้องกันประการใด(๓๓๘)

 

ท่านที่รัก ที่ท็อปฮิตติดอันดับในปัจจุบันเสียจริง เขาเรียกว่า ให้ผู้สมัคร ต้องแสดงวิสัยทรรศน์อย่างไรล่ะท่าน  ใครว่า โบราณอย่างสมัยท่านสุนทรภู่ไม่มี  น่าเสียดาย คนที่พยายามกันเอาพระอภัยฯ ออกจากบทเรียนเสียจริงๆ

 

บทบบาทของวาลี ที่สำแดงออกในระยะเวลาอันสั้นยังมีอีก โดยเฉพาะ คำตอบที่แสงวิสัยทรรศน์ต่อไปนี้ 

 

นางวาลีปรีชาวันทาแถลง                        อันเรียวแรงวิ่งเต้นเห็นไม่ไหว

แม้นผ่านเกล้าเอาแต่ที่ให้มีไชย              เห็นจะได้ดังประสงค์พระทรงธรรม์(๑)

พระฟังคำร่ำว่าค่อยน่ารัก                        ล้วนแหลมหลักลิ้นลมคมขยัน(๒)

จึงตรัสว่าถ้าจะให้มีไชยนั้น                     จะผ่อนผันคิดอ่านประการใด(๓)

นางนบนอบตอบสนองต้องทำเนียบ       ภิปรายเปรียบด้วยปัญญาอัชฌาไสย

ศึกไม่มีที่จะว่าล่วงหน้าไป                       ก็ยังไม่ต้องตำราวิชาการ

แม้นเมื่อไรไพรีมีมาบ้าง                           ดูกำลังข้าศึกซึ่งฮึกหาญ(๔)

จึงปราบปรามตามกระบวรพอควรการ    จะคิดอ่านเอาแต่ใจก็ไม่เคย (๓๓๘)

 

(๑)-(๔) นี้เป็นบทสัมภาษณ์ และตอบสัมภาษณ์ที่หนึ่ง เมื่อถูกถามแบบกระเซ้าเย้าแหย่ นางวาลีก็ประมาณได้ ไม่โกรธเหมือนบริภาษทหารหน้าประตู

(๑) นางตอบชัดถ้อยชัดคำว่าเรียวแรงอย่างนางย่อมไม่มีแน่

(๒) ยังไงล่ะ ว่า พระอภัยฯเห็นความล้ำลึกของนางในทันที  และ

(๓) เป็นการเริ่มคำถามเชิงวิสัยทัศน์แน่นอน

 

          “จึงตรัสว่าถ้าจะให้มีไชยนั้น          จะผ่อนผันคิดอ่านประการใด”

นักสัมภาษณ์เชิงวิสัยทัศน์ โปรดสำเหนียก เทคนิคการถามเป็นอย่างนี้ แล้ววาลีจะตอบยังไง

คำตอบนั้นนับตั้งแต่วรรคแรกของ(๔) คือ

 

          นางนบนอบตอบสนองต้องทำเนียบ       ภิปรายเปรียบด้วยปัญญาอัชฌาไสย

จนถึง  วรรคสุดท้าย                            จะคิดอ่านเอาแต่ใจก็ไม่เคย

 

นางวาลีตอบได้เฉียบขาดจริงๆ  กล่าวคือ นางตอบว่าอย่างไรก็ตอบไม่ได้ เพราะต้องเทียบเคียง พินิจจากคำว่า “ต้องทำเนียบ” คือเทียบนั่นเอง  แล้วสรุปสุดท้ายว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะคิดเอาเอง ต้องรอดูกำลังข้าศึกก่อน จึงจะหาทางคิดตอบโต้ให้มีชัยชนะได้ นี่ก็เป็นอีกบทหนึ่งของความชาญฉลาด  แม้ว่าพระอภัยฯจะทำทีว่าเป็นคำถามที่เปิดกว้างเพื่อหลอกล่อให้นางตอบก็ตาม  จนต้องมีคำถามต่อ

         

พระยินคำล้ำลึกนึกสรรเสริญ                 ฉลาดเกินรูปร่างช่างเฉลย

จึงแสร้งซักยักย้ายภิปรายเปรย               ว่าไม่เคยนั้นก็ควรของนวลนาง

แต่หากว่าข้าศึกมาสิบแสน                     ถึงด้าวแดนดูถนัดไม่ขัดขวาง

จะคิดสู้ผู้เดียวแต่ตัวนาง                        หรือคิดอย่างไรเล่าให้เข้าใจ(๓๓๘)

คำถามที่พระอภัยฯสมมุติขึ้นนี้ จะเป็นด้วยเจตนาหรือพลาดท่านางวาลีไม่อาจพิเคราะห์ได้ ด้วยเหตุที่ทั้งสองเฉลียวฉลาดไม่แพ้กัน จึงเปิดช่องให้นางวาลีพุ่งเข้าเป้าได้ตามที่หมายมั่นมา ตรงไหนรึที่ข้อถามเปิดทางให้นางต่อรอง นั่นก็คือ

 

“จะคิดสู้ผู้เดียวแต่ตัวนาง             หรือคิดอย่างไรเล่าให้เข้าใจ”

นางวาลีตอบทันทีด้วยปัญญาว่า

“ข้าพเจ้าเล่าเรียนความรู้ไว้           ไม่ใช้ไพร่พลมากลำบากกาย

ขอแต่ผู้คู่คิดสักคนหนึ่ง             แต่พอพึ่งพูดได้ดังใจหมาย

  จะผันแปรแก้กันอันตราย          มิให้อายอัปราปัจจามิตร(๓๓๘)    

 

ท่านที่รัก คำตอบของนางวาลีทำเอาพระอภัยฯถึงกับอึ้งไปทีเดียวเจียว จัดได้ว่าประชิดตัวทีเดียว แต่ถึงกระนั้นพระอภัยฯก็ยังต้องการคำตอบที่เป็นเป้าหมายสำคัญของนาง เพื่อความแน่ใจ นี่แหละ ปราชญ์ชนปราชญ์พยายามใช้ลูกล่อลูกชนก็แล้ว หลบเลี่ยงก็แล้ว ในที่สุดนางก็แสดงจุดยืนที่นางมาครั้งนี้ด้วยคารมปราชญ์ที่พระอภัยฯต้องคิดหนัก

 

นางนบนอบตอบรสพจนาตถ์                 คุณพระบาทกรุณาจะหาไหน

แต่ยศศักดิ์จักประทานประการใด           ไม่ชอบใจเจตนามาทั้งนี้

ด้วยเปลี่ยวใจไม่มีที่จะเห็น                     จะขอเป็นองค์พระมเหสี

แม้นโปรดปรานตามความรักจะภักดี       ถ้าแม้นมิเมตตาจะลาไป(๓๓๙)

 

นี่ก็อีกประการหนึ่งที่บรมครูผู้เจนโลกแสดงให้เห็นบุคลิกประจำตัวของนางวาลี ซึ่งหลายคนอาจโกรธที่นางฝู่งเกินฐานะ โดยเฉพาะไม่เกรงอาญาจากพระอภัยฯแต่การณ์ไม่เป็นเช่นนั้น พระอภัยฯไม่กริ้วแต่อย่างใด ความต้องการได้นางในฐานะผู้มีความรู้ยังเป็นหลักในความคิดที่มั่นคง แต่ก็พยายามบ่ายเบี่ยงที่ให้ตำแหน่งที่สูงส่งอยู่ไม่น้อย

          หากแต่ทิฐิของนางวาลีที่มีจุดยืน ประกอบกับความรู้ที่นางเชื่อมั่นว่าจะเป็นที่พึ่งของพระอภัยฯได้ ทำให้นางกล้าหาญที่จะแสดงออก ด้วยวาทะอันปราดเปรื่องต่อไปนี้ จะเกิดอะไร เอ้าตามมา  ตามมาแล้วก็ตามไป

 

นางทูลว่าข้าน้อยนี้รูปชั่ว                   ก็รู้ตัวมั่นคงไม่สงไสย

แต่แสนงามความรู้อยู่ในใจ               เหมือนเพ็ชรไพฑูรย์ฝ้าไม่ราคี(๑)

แล้วหมายว่าฝ่าพระบาทก็มีห้าม        ล้วนงามงามเคยประณตบทศรี

แต่หญิงมีวิชาเช่นข้านี้                      ยังไม่มีไม่เคยเลยทั้งนั้น(๒)

จึงอุตส่าห์มายอมน้อมประณต           ให้พระยศใหญ่ยิ่งทุกสิ่งสรรพ์

บรรดาผู้รู้วิชาสาระพรรณ                  จะหมายมั่นพึ่งพาบารมี(๓)

แม้นทรงศักดิ์รักโฉมประโลมสวาท               ไม่เลี้ยงปราชญ์ไว้บำรุงซึ่งกรุงศรี

ก็ผิดอย่างทางทำเนียบประเวณ๊          เห็นคนดีจะไม่มาสาพิภักดิ์(๔)

ขอพระองค์ทรงตรึกให้ลึกซึ้ง              เป็นที่พึ่งแผ่ไปทั้งไตรจักร

อันรูปหญิงพริ้งเพริศล้ำเลิศลักษณ์ ดีแต่รักรอนราญการโลกีย์(๕)

 

บทวิเคราะห์ต่อไปนี

(๑)– (๕)  นี่ให้ปรัชญาสำหรับผู้บริหารเป็นหลักโดยแท้ เอาสรุปเสียเลยก็น่าไม่เสียเวลา ดังนี้

(๑) อย่าพิจารณาเพียงรูปกาย เหมือนท่านศรีปราชญ์เคยยั่วยิ้มว่า

          “ดำแต่นอกในแผ้ว      ผ่องเนื้อนพคุณ”

ข้อนี้ก็ทำให้เจ้านครเชียงใหม่หงายเงิยไปแล้วหรือ ที่ว่า

 “ความรู้ดูยิ่งล้ำสินทรัพย์  ………………………..” ที่หายไปต่อเอาเองนะ

          ที่กล่าวว่า   “  แต่แสน งาม   ความรู้อยู่ในใจ”  คำว่า งาม ไม่หมายว่าสวย นะ แต่ต้องหมายถึง อร่ามเรือง  เรืองรองที่เจิดจ้า

(๒) ความรู้อาจไม่คู่กับความงามนางวาลี ฉลาดพอที่ชี้นำให้พระอภัยฯ ใช้ความพินิจ และโดยเฉพาะวรรคสุดท้าย  นางห้ามที่งามๆ แวดล้อมพระอภัยฯ นั้นมีแม้สักนางหรือไม่

“แล้วหมายว่าฝ่าพระบาทก็มีห้าม  ล้วนงามงามเคยประณตบทศรี

แต่หญิงมีวิชาเช่นข้านี้                           ยังไม่มีไม่เคยเลยทั้งนั้น(๒)

นี่ก็น่าจะเป็นแนวแฝงที่บรมครูฯ ท่านต้องการจะบอก จะเป็นไปได้กับข้อความที่ว่า

                   “สวยแต่จูบไม่หอม” ก็ยังไหวนะ

 

(๓) นักปราชญ์ย่อมยังความเจริญอย่างแท้จริง

(๔) คนดีมีวิชาย่อมเกื้อกูลต่อความสำเร็จแห่งกิจทั้งปวง

(๕) ให้เปรียบเทียบประโยชน์ที่จะได้ใหม่กับที่มีอยู่เดิม

 

นี่เป็นข้อวิเคราะห์ ที่พยามแคะไค้ออกมาเป็นบทสรุปที่นางวาลีโต้ตอบกับพระอภัยฯในฐานะปราชญ์นะจ๊ะ อย่าเข้าใจผิด ไม่ยังงั้นจะไม่มีที่ทำมาหารับประทานที่บังอาจ    “สอนสังฆราชให้ว่ายน้ำ”

          ดูก่อน  ท่านผู้เจริญด้วยคุณนานัปการ คงไม่ต้องอ้างอิงสรรพคุณ ทั้งรูปสมบัติ ปัญญาสมบัติ  รวมทั้งกาลและเทศสมบัติ ตลอดจน วาทสมบัติของนางวาลี นางมีบทบาทหลายอย่างอันเป็นคุณต่อพระอภัยฯ ต่อบ้านเมือง  ต่อความรูต้องการทั้งหลายที่พระอภัยฯ และบ้านเมืองนี้ต้องการ เพียบ

         

อย่างไรก็ตามความใฝ่สูงของนางที่จะได้ใช้ความรู้ก็สัมฤทธิ์ผลตามเป้าประสงค์ แต่เป้าหมายในสิ่งที่นางต้องการเป็นอันดับสุดยอดคงไปได้เพียงครึ่งทาง บทบาทและหน้าที่ของนางก็ต้องมีอันจบลง ไม่ใช่เป็นเพราะต้องการของท่านบรมครูผู้รจนา แน่นอน ท่านผู้บรรจงผูกเรื่องท่านต้องมีเลศนัยที่จะบอกเงื่อนปมของชีวิต อันเป็นธรรมดาโลก  ว่าคนดีมีปัญญาย่อมเป็นที่ปรารถนาของโลก แต่โลกก็ยุติธรรมพอที่จะต้องนำบุคลากรเหล่านั้นไปใช้ต่อไป ซึ่งบอกไม่ได้ว่า ภพ กัลปที่ไหน เมื่อใด บุคคลเหล่านี้จะปราฏกเมื่อชาติต้องการจริงๆ อยากให้คุณครู กระทรวงศึกษา ปัดฝุ่นหนังสือเรื่องนี้มาใช้อีก ไม่ใช่เป็นมรดกโลก คือยกไว้สูงห้ามแตะต้อง เดี๋ยวเปื่อน เดี๋ยวขาดหมด เพราะเหลืออยู่ฉบับเดียวที่เก็บไว้เป็นมรดก  อยากกู่ก้องให้ก้องโลกว่า หนังสือทุกเล่ม ทุกตัวอักษรมีค่า ยิ่งกว่าทองคำ แน่นอน ทองมีไว้เก็บ โจรภัยเอาไปได้  ความรู้เป๋นอลังการที่ใครก็เฉือนไปไม่ได้ เช่น นางวาลีเป็นตัวอย่างสุดท้าย   คงได้ความหมายแล้วว่า   “วาลี” ของท่านบรมครู คือขนอันเป็นอลังการของสัตว์โลก รวมถึงมนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ คนไหนที่เกลี้ยงเกลาไปที้งตัว ตังแต่ “ศีรษะจรดเท้า” คงไม่เป็นที่ปรารถนา 

 

ดังนั้นเมื่อเลือกที่จะมีขนไม่ได้แต่มนุษย์ก็เลือกที่จะหาความรู้มาประดับให้เงางามเยี่ยงขนได้มิใช่หรือและหากจะกำหนดให้เป็นข้อความที่เป็น อุปลักษณ์ตามเจตนาของท่านสุนทรภู่  “วาลี” ก็คือ  “หญิงผู้มีปัญญาอันเป็นสังวาลย์ประดับเรือนกาย”  นั่นเอง

          คำถามท้ายบทนี้น่าจะเป็นคำถามว่า ในประดาชายาของพระอภัยมณี นั้นนางใดเป็นนางที่พระอภัยฯ ต้องการที่สุด  ตอบมานะ  แล้วจะให้ “ทอระโข่ง” เป็นรางวัล

         

ปากคนฆ่าคนจนม้วยมุด              มากกว่าคมอาวุธเป็นไหนไหน

คมอาวุธฆ่าคนจนบรรลัย   ยังนับได้โดยส่วนจำนวนตาย (นายหรีด  เรืองฤทธิ์)

………………………………………………….