ชวลิต  ผู้ภักดี  นำเสนอบทความจากการแสดงปาฐกถาเรื่องดาดๆ ทั่วไป

ซึ่งผู้เข้าฟังล้วนเป็นนิสิตวิชาเอกภาษาไทยที่มาจากคณะครุศาสตร์ ร่วมกับ เอกภาษาไทยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในหัวข้อเรื่อง

“อ่านเพื่อสร้างปัญญา”

“อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว  แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล”

ในขั้นสรุปก็เห็นจะบอกว่า การอ่านบทกวีทีดีนั้น ต้องอ่านออกเสียง จึงจะเกิดการตีบทไปในตัว และย่อมหมายถึงการนำไปสู่ความเข้าใจความหมาย 

ยิ่งอ่านซ้ำ อ่านบ่อย ก็จะเกิดความเข้าใจถึงนัยแห่งอรรถและอารมณ์สุนทรีย์

อย่างแท้จริง นี่แหละเรียกว่า“อ่านเพื่อสร้างปัญญา” 

 


 

อ่านเพื่อสร้างปัญญา

ท่านผู้มีเกียรติและนิสิตที่รักทุกท่าน

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่านผู้ช่วยศาสตรา ดร. ประณีต ม่วงนวลที่กรุณาให้เกียรติผมได้มีโอกาสมาแสดงปาฐกถา  ในหัวข้อเรื่อง “อ่านเพื่อสร้างปัญญา” เมื่อได้รับเชิญก็เห็นว่าเป็นเรื่องดาดๆ ไม่ต้องถึงขั้นปาฐกถา หากจะจัดให้เป็นเชิงสนทนาก็น่าจะพอแล้ว แต่ก็นั่นแหละเมื่อให้เป็น “ปาฐก” ก็ต้องเป็นไปตามนั้น

ดังนั้น ผู้เขียนจึงตั้งกะทู้ขึ้นในกรอบของหัวข้อนี้ เพื่อพาตัวเองไปให้รอดไม่หลุดกรอบ และให้พอเหมาะกับเวลาที่กำหนด  ว่า”อ่านใจสุนทรภู่ผ่านบทประพันธ์” เพื่อจะนำไปสู่  “การอ่านเพื่อสร้างปัญญา” ตามที่ท่านผู้เชิญกำหนดไว้

ในเมื่อเราจะไปหาตัวท่านสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ผมขอเปิดเรื่องด้วยบทกลอนที่สร้างสรรค์ขึ้น

การพินิจพิจารณ์เป็นงานละเอียด

หากท่านเครียดอาจพลั้งหลงลงล้มเหลว

อ่านอะไรเหมือนไฟลวกรวนเรเลว

ลึกดังเหวคือหนังสือในมือเรา

 

วันนี้แปลกไหมล่ะ ปะทะหน้า ด้วยบทกลอนเลยทีเดียว กลอนที่ปะหน้านี้แต่งไว้นานแล้ว ประมาณ พ.ศ.  ๒๕๒๑  ในวาระที่เข้าร่วมการประชุมเรื่องการสร้างกิจกรรมการอ่านเพื่อกระตุ้นให้เด็กไทยมีนิสัยรักการอ่าน ระดับภูมิภาค ณ วิทยาลัยครูจันทบุรี หรือ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ในปัจจุบัน ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงของการระดมสมองของคณาจารย์ในส่วนภาคกลาง

การจัดการประชุมครั้งนั้น เกิดขึ้นเพราะผลวิจัยระดับสากล เสนอต่อองค์การยูเนสโก ว่าเด็กไทยมีสถิติการอ่านหนังสือน้อยที่สุดทั้งจำนวนผู้อ่าน และระดับของการอ่าน  ที่ผลวิจัยออกมาเป็นตัวเลขน้อยจนทำให้องค์กรระดับโลก ต้องทุ่มทุน ๑๐๐ ล้านบาท (สมัยนั้น) ให้กับประเทศไทยจัดระดมสมองเพื่อหาทางให้เด็กไทยมีนิสัยรักการอ่าน

ในฐานะที่ผู้เขียนบทความนี้ได้รับเกียรติเป็นประธานกลุ่มย่อยที่ต้องนำผลสรุปของกลุ่มเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ และเพื่อให้เกิดสีสันในการนำเสนอ จึงคิดเขียนคำกลอนดังกล่าวขึ้นระหว่างรอที่ต้องเป็นผู้สรุปของกลุ่ม

ก่อนอื่น ต้องขออนุญาตคุ้ยเรื่องเล็กๆ อีกสักหน่อยว่า เรื่องก็มีอยู่เพียงนิดเดียวจริงๆ นั่นก็คือ   บังเอิญมีผู้นำเสนอทางโทรทัศน์ ได้เสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับภาษาไทยนี่แหละเป็นรายการสั้นๆ โดยเสนอคำว่า

“อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ”

ซึ่งมาจากบทกลอนของกวีไทยท่านหนึ่งที่ได้รับการยอมรับ และยกย่องให้เป็นกวีของโลกไปเรียบร้อยแล้ว ท่านคงนึกออกซีนะว่าท่านผู้นั้นคือสุนทรภู่บรมครูแห่งคำกลอนที่คนไทยทุกคนภาคภูมิใจอย่างยิ่ง

ผู้นำเสนอกล่าวถึงคำว่า “กาเล” ที่ตามหลังคำว่า ”นินทา” มานั้นขอใช้คำว่าท่านกล่าวหาว่า เป็นคำที่หาความหมายมิได้กวีคงจะเติมเข้าไปเพื่อความคล้องจองตามทำนองทำเนียมสัมผัสเท่านั้น   นับว่ากวีกล่าวขึ้นมาลอยๆ ไม่สื่อความหมายใดๆ ตรงนี้แหละท่านที่เคารพ รักทุกท่าน  ในฐานะที่เป็นผู้รับฟังในวันนั้น  รู้สึกคับข้องใจเป็นอันมาก   และ   รู้สึกผิดหวังเป็นกำลังเพราะท่านผู้วิพากษ์นั้น ท่านก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ใครๆ ยกย่องแล้วว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาและวรรณคดี   ก็เลยพาลคิดไปว่า เอ  ถ้าไม่รู้จริง หรือไม่ได้วิเคราะห์มาก่อน ก็ไม่น่าจะหยิบยกมาบอกมาเล่ากันให้เข้าใจผิด โดยเฉพาะทางสื่อวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อที่แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

เอ้า!เข้าเรื่องกันเลยดีกว่าก่อนอื่นต้องทำความตกลงในเบื้องต้นเสียก่อนว่า ท่านสุนทรภู่ครูกลอนสุนทรหวานนี้ กว่าจะได้รับการยอมรับ  และองค์กรสำคัญยอมรับให้สถาปนาท่านขึ้นเป็นกวีเอกของโลกนั้น ย่อมเกิดแต่การสืบสวน สอบสวน เก็บข้อมูล ผ่านการวิพากษ์และวิจารณ์มาแล้วว่า“ดีเด่น”ในแง่มุมใด เป็นหลายขั้นหลายตอนทีเดียว

 

การที่ผู้นำเสนอในรายการอะไรก็ไม่รู้มาเสนอแนววิเคราะห์ว่า  ท่านผู้รจนาคงไม่มีเจตนาจะให้เกิดความหมายใดๆ  นอกจากจะส่งสัมผัสให้ได้ระหว่าง กาเล กับ เทน้ำ  เพื่อให้ เล สัมผัสกับ เท โดยมีคำว่าเหมือนมาคั่นไว้เท่านั้น นับเป็นการวิเคราะห์ หรือพิพากษาที่น่าเสียดายและพลาดมากที่สุด ถ้าเป็นเช่นนี้นับว่า ก่อให้เกิดความเสียหายในหมู่ผู้ที่พิจารณาให้ท่านบรมครูสุนทรภู่ได้รับการยกย่อง ถึงระดับโลก

ในบทกวีของสุนทรภู่นั้น  นักวิจารณ์ระดับปรมาจารย์ที่ทุกคนยอมรับเป็นเอกฉันท์แล้วว่า ทุกคำที่ไหลหลั่งพรั่งพรูออกมาจากทุกสำนึกที่ท่านจรดปลายปากกาจนปรากฏเป็นบทกวีนั้น ล้วนแต่เป็นคำที่ต้องสรรมาใช้เพื่อสื่อความหมายได้ทั้งสิ้น ไม่มีคำใดไม่บริสุทธิ์หรือพูดง่ายๆ ก็คือ  ไม่มีคำที่ไม่ใช้ หรือขอย้ำ ไม่มีคำที่ใช้ไม่ได้ หรือกล่าวขึ้นมาลอยๆแม้แต่คำเดียว อัจฉริยะในเชิงภาษาและเชิงกวีของท่านจึงควรแก่การยกย่องเป็นที่สุด

 

นอกจากจะใช้ “สื่อสารได้เสนาะความแล้ว ยังเสนาะเสียง   แถมยังแนบแน่นด้วยเสน่ห์คำที่สนองความทุกคำไป”

 

เมื่อเป็นเช่นนี้คำว่า  “กาเล” ของท่านสุนทรภู่ต้องไม่ใช่ธรรมดาแน่ๆผู้เขียนจึงใคร่เสนอแนววิเคราะห์ตามกำลังปัญญาอันด้อยและน้อยนิดกับเขาบ้าง นี่ไม่ใช่ดันทุรังเพื่อให้สุนทรภู่เป็นคนดีบริสุทธิ์หรอกนะ  เพียงแต่จะท้วงติงนักวิเคราะห์ระดับใดก็ตามว่า  ก่อนที่จะลงดาบใครลงไปว่าเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ขอได้โปรดพินิจด้วยเถิดเพราะ “ลึกดังเหวคือหนังสือในมือเรา”

 

“อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ        ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน”

 

อาการสัมผัสในของวรรคแรกคือ  “ทา-กา” นี้เป็นสัมผัสคู่  ส่วนสัมผัสคั่นคือ “เล– เท”ที่ว่าคั่นนั้นคือคำว่า “เหมือน” เป็นคำคั่นระหว่าง “เล กับ เท”เป็นความว่า

“นินทากาเลเหมือนเทน้ำ”

ทุกคนที่ใส่ใจในคำกลอนของสุนทรภู่จะรู้ดีว่าดีว่า  แพรวพราวไปด้วยสัมผัส จนกระทั่งกวีในยุคนั้น ที่ชื่อคุณสุวรรณนำไปล้อเลียน แล้วเขียนเป็นกลอนบทละครเรื่องพระมเหลเถไถ อันนี้แหละที่เปรียบเทียบว่า หลายๆคำที่ปรากฏในคำกลอนอาจไม่สื่อความหมายโดยตรง แต่ถึงกระนั้นคุณสุวรรณก็ยังแอบแฝงอะไรที่น่าคิดไว้ในความรู้สึกของผู้อ่านเป็นแน่แท้เช่น

 

เมื่อนั้น                          พระเมเหเถไถมะไหลถา

สถิตยังแท่นทองกะโปลา      สุขาปาลากะเปเล

 

นี่ขนาดล้อเลียนนะ  ยังได้ความหมายในเชิงความรู้สึกถึงเพียงนี้    คำว่า   “มะไหลถา   กะโปลา  กะเปเล”ประหนึ่งว่าจะหาความหมายไม่ได้ นักวิจารณ์หลายคนก็ว่าผู้รจนาสติเสียแต่เมื่อพิจารณาให้เข้าถึงและเข้าใจแล้ว แท้จริง คุณสุวรรณ ท่านต้องมีนัยที่ลึกกว่าแค่เพียงการล้อเลียนลองอ่านออกเสียงดูทีรึความหมายมันเกิดแต่ในน้ำเสียงใช่รึไม่  เพราะการจะสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้นนั้นต้องใช้ภูมิปัญญา ไม่ใช่ขีดๆเขียนๆอย่างมักง่าย(ขออภัย ไม่สุภาพ)

 

กวีต้องการชี้ให้เห็นว่าภาษาเป็นเรื่องของการใช้ภูมิปัญญาทั้งผู้เขียนและผู้อ่าน  ภาษาเป็นเครื่องมือที่แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์จรรโลงอย่างวิจิตรพิสดาร  อยากให้คนรุ่นใหม่ไปแตะหนังสือเล่มนี้ซักนิด  เพียงแค่แตะก็พอ หรือ  แค่แลไปก็ได้

ปัจจุบันนี้น่าจะไปแอบอยู่ตามร้านหนังสือเล็กๆ แถววังบูรพา ลองไปเดิ่นที่สำนักพิมพ์คลังวิทยาก็น่าจะยังพอมีอยู่  หรือแผงหนังสือเก่าน่ะที่สำคัญท่านต้องอ่านออกเสียงแล้วสำเหนียกนึกเพียงแว่บเดียว (ไม่ใช่แกะทีละคำนะ) ตัวอย่างคำว่า

 

พระมเหลเถไถมะไหลถา  สถิตยังแท่นทองกะโปลา

 

น้ำเสียงมีอะไรฝากไว้นิดๆ    นี่ไม่ใช่ดันทุรังนะอาจไม่ได้ศัพท์ แต่ทว่าได้สำเนียง อ่านไปทั้งเรื่องก็เป็นเรื่องเป็นราวได้ความได้สาระ แล้วจะว่าคำไม่สื่อสารได้อย่างไร เอาเฉพาะคำว่า “กะโปลา” ที่ตามแท่นทองมาติดๆ นั่นแหละ ที่มีนัยที่ตรงกันข้ามกับ  “กะโปโล” อย่างไรล่ะท่าน

ดังนั้น “มะไหลถา” ที่ตาม “พระมเลเถไถ”นี้นั้น   หมายความเอาเองรับรองได้ความแน่นอน ผู้นิพนธ์มิได้เสียสติแต่อย่างใด

 

ก่อนจะไปถึงคำว่า“นินทากาเล”มาได้ยังไงนั้น ขอทำความตกลงในอีกครั้งว่า ข้อความที่ว่า

“อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน”ต้องอ่านเอาความกันก่อนจะเห็นว่า กวีมีเจตนาจะให้ปลง อย่าถือเอาเป็นเหตุปัจจัยให้ต้องกังวล จนเป็นเรื่องราวลุกลามไปเป็นสำคัญหากท่านสังเกตและเก็บความจะพบว่าปรากฏอยู่ในหลายที่หลายครั้งที่กล่าวถึงการนินทา เช่น “แม้แต่องค์พระปฏิมายังราคิน   ………………….. วรรคที่หายไปต่อเอาเองนะ   นี่แหละ ครูกลอนสุนทรภู่ ท่านต้องการจะแฝง (ไม่ได้ฝัง) แง่คิดไว้ทุกหนทุกแห่ง

กลับมาวิเคราะห์กันดีกว่า นั้น น่าจะมีที่มาอยู่สองคำ คือ คำว่า กาลกับคำว่า กาลี  “กาล”หมายถึง เวลา ระยะ ครั้ง หรือคราว  กวีแผลง “กาล – กาละ – กาเล”เพื่อให้ไปสัมผัสกับ เท   และเจตนา ให้หมายความว่า “เวลาใดๆ” การใช้เวลาไปกับการนินทาก็ดี หรือทีได้ยินหรือรู้ หรือเห็นการนินทาก็ตาม  จงได้คิดเสียว่าไม่เจ็บไม่ปวด ไม่ใช่ความยุ่งยาก  ไม่ใช่ความเดือดร้อน เป็นการเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์  แล้วท่านก็ให้พิจารณาหรือลองเอามีดไปกรีดหินดูรึว่ามีร่องรอยบ้างไหมท่านต้องการให้เห็นว่า นั่นไม่เจ็บไม่แสบ ถ้าเป็นเช่นนี้ประโยคเดิมก็น่าจะต้องการใช้คำว่า “กาล” กลอนนี้พื้นเพก็ต้องเป็น

“อันนินทากาลเหมือนเทน้ำ”   เช่นนี้ท่านจึงแผลง “กาล”เป็น  “กาเล”

คราวนี้ถ้าประโยคเดิมเป็น   “อันนินทากาลีเหมือนเทน้ำ”“กาลี” ย่อมไม่ส่งและรับสัมผัสกับ  “เท”ท่านจึงแผลง อี เป็น เอ ตรงนี้ยิ่งชัดเจนมากขึ้น

ส่วนคำว่า “กาลี”  โดยความเข้าใจทั่วไป มีความหมายเป็นที่เข้าใจว่า ชั่วร้าย  หรือ  ใช้ “กาลเวลา” ไปในทางที่เป่าเปลืองอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระแม่อุมา  หรือ ปวารตี ชายาพระอิศวร     ซึ่งการแสดงออกของพระแม่อุมา มีลักษณาการที่โกรธเกี้ยว ดุดัน  แต่นั่นต้องมีเหตุและผลที่ต้องศึกษา หรือแกะรอยให้เข้าถึงเนื้อแห่งความเป็นมาขอความโหดร้ายนั้น

กลับมาที่เรื่องที่กำลังวิเคราะห์กันต่อไป  ดังได้กล่าวโดยหลักแล้วว่า สระอี  แผลงไปเป็น สระเอ  สระไอได้  ดังนี้  “กาเล”  จึงมาจาก กาลี หรือ “กาล”   ที่เป็นคำสำคัญในกอนวรรคนี้  “การนินทากาลี”  นั่นเอง

 

ดังนั้น นัยของเจตนาก็คือ การฆ่าเวลาให้หมดไปกับการนินทา หรือ  นินทาเป็นเรื่องของความมืดมน ความไม่เข้าท่า อย่างที่เรียกว่า “คนจนแต้ม”เท่านั้นจึงนิยมการนินทา  แต่ท่านสุนทรภู่คงไม่มีเจตนาที่จะให้แปลว่าชั่วร้าย   เพราะจะทำให้ผู้ถูกนินทาตัดใจไม่ได้   หากแต่ว่าท่านต้องการให้คิดเสียว่า

“จงอย่าไปถือสาหาความกับคนประเภทนี้” นี่แหละเป็นดีที่สุด

ท่านบรมครูพยายามเปรียบให้เห็นว่า   ไม่ต้องไปอิดหนาระอาใจกับคำนินทา   อย่าไปเสียเวลาหรืออย่าไปทำให้ใจเราต้องขุ่นมัว ให้คิดเสียว่าเป็นเรื่อง ธรรมดาๆ ก็เท่านั้นเอง

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมสรุปได้ว่า ไม่มีคำใดในคำกลอนของสุนทรภู่ เลื่อนลอย ซึ่งไม่ปรากฏคำสอนที่ใดเลยว่า ใช้คำอะไรก็ได้ในประโยค  ทุกประโยค และทุกคำประพันธ์ที่ดีนั้นต้องใช้คำที่ต้องใช้ หรือจำเป็น จริงๆ ซึ่งในที่นี้จะสื่อให้ง่ายก็คือ  “การใช้ใช้เวลาไปกับการนินทาย่อมไม่ยังประโยชน์หรือโทษใดๆ ต่อผู้ถูกนินทา” ก็เท่านั้นเองท่านแนะให้รู้จักปลง  ไม่โกรธ  หรือ ไม่โต้ตอบ

อันที่จริงยังมีคำที่ใช้แล้วยังเป็นปัญหาอีกคำหนึ่งคำนั้นก็คือ“สันดาน ที่สร้างความร้าวฉานขึ้นในหัวใจ ทั้งของผู้ใช้ และผู้ถูกกล่าวขวัญถึง  ซึ่งมุ่งไปในทางขวัญเสียเป็นส่วนใหญ่ในกมลสำนึก

คำว่า “นินทา” ก็ดี “สันดาน” ก็ดี สองคำนี้โบราณท่านใช้ทั้งแง่ดีก็ได้แง่ร้ายก็สนุก ไม่จำเป็นต้องนินทากันในเรื่องร้ายเสมอไป เช่น บางรายก็จับวงคุยกันถึงเพื่อนที่ “แต่ง” เพื่อแต่งตัวดี แต่งหน้าแต่งตาเก่ง แต่ก็สวยเหมาะสมนี่ก็เป็นการนินทาเหมือนกัน เพราะพูดลับหลัง  แต่ทว่าเป็นไปในบางชื่นชม

 

ส่วนคำว่า “สันดาน” ตามศัพท์ แปลว่า “ต่อพร้อม”แต่ผู้บ่นต้องการจะหมายถึงอุปนิสัยพื้นฐาน พูดให้ชัดลงไปก็เห็นจะเป็นว่าอาการใดพฤติกรรมใด หรือสิ่งที่แสดงออกจนเป็นนิสัยอย่างเป็นปกติโดยไม่ต้องดัดกิริยา หรือเสแสร้งพร้อมที่จะแสดงออกได้ทันที ก็เรียกว่า “สันดาน” เช่นในบทสวดมนตร์แปลที่ ว่า

“ส่องสัตว์สันดาน    สว่างกระจ่างใจมล” ลองหาความหมายดูทีรึ

ปัจจุบันจะหมายเอาว่า เป็นคำด่าไม่สุภาพ คำสบประมาท หรือเป็นคำที่กล่าวร้ายผู้อื่นอันที่จริงแล้วโบราณท่านใช้“สันดาน”กับสิ่งดี กิริยาดี กับพฤติกรรมดีๆ ที่ทำสม่ำเสมอ เช่น เด็กที่ชอบอ่านหนังสือเป็นประจำ ว่างเมื่อไรเป็นคว้าหนังสืออ่านทันทีโดยไม่ต้องบอก ต้องเตือนผู้ใหญ่ก็จะทำเสียงพูดเหมือนกับเอือมระอา แต่ทว่าเจือกับน้ำเสียงชื่นชมว่า  “อ้ายหนูมันสันดานชอบอ่านหนังสือ”คนตื่นเช้า ทำงานดี ก็เรียกว่า “สันดานดี” ไม่เห็นต้องร้ายเสมอไป  ต้องขออภัยที่หลุดโลกไปหน่อยนะที่พยายามบ่นมายืดยาว อย่ากระนั้นเลย กลับมาวิเคราะห์คำว่า  “กาเล”กันต่อนะถ้าจะกล่าวให้ชัดลงไปก็คงได้เป็นสามประเด็นด้วยกันคือ

ประเด็นแรก  “อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ” นั้นสุนทรภู่ท่านต้องมีเหตุ มีความหมาย มีที่มาที่ไปแน่นอน การแผลงคำเป็นต่างๆนานานั้นในทางประพันธ์ท่านเรียกว่า “กวียานุโลม” คืออนุโลมเฉพาะกวี แต่ไม่ใช่อนุโลมให้แผลงเรื่อยเปื่อยนะ  ท่านจะเลือกเอาคำว่า  “กาเล”เป็นคำแผลงที่มาจากคำว่า  กาล – กาละ – กาเล หรือจะเลือก กาเล ว่าแผลงมาจากคำว่า กาลี ก็ตามแต่ท่านขออย่างเดียวต้องมีเหตุผลมาอธิบาย นับเป็นอิสระของท่านผู้อ่าน อันนี้เป็นประเด็นในเรื่องที่มาของคำ

ประเด็นที่สองคือ  การแปลเจตนา หรือการตีความบทประพันธ์ ความต้องการอันสำคัญของสุนทรภู่นั้นแน่ชัดทีเดียวว่า“สอนให้ปลง สอนให้ละความโกรธ ละความหงุดหงิดต่อเสียงซุบซิบนินทา และอย่าใฝ่ใจให้รู้จักว่าคนก็คือคนวันยังค่ำ”  นั่นเอง ประสบการณ์ของตัวท่านสุนทรภู่เอง ก็คงถูกนินทามาไม่น้อย ไม่ว่า ชาย หรือ หญิง หรือกล่าวได้ว่า มนุษย์ทุกรูปทุกนามย่อมนินทา ย่อมถูกนินทา และบางครั้งยังบังเอิญนินทาตัวตนด้วยซ้ำ

ประเด็นที่สาม  ผู้วิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลายต้องไม่ผลีผลามหรือ รีบลงดาบทันทีว่าอะไรเป็นอะไรโดยไม่สืบหาที่มาที่ไป  ต้องพยายามคิดไว้ก่อนว่า“กวีที่มีระดับท่านนั้นต้องการแฝงความหมาย  แฝงนัย และ แฝงปัญญาทรรศน์ของท่านไว้แล้ว  การที่ท่านรจนาไว้นั้นท่านต้องมอง หรือ เล็งไว้แล้วว่า ผู้อ่านคือ ผู้ทรงภูมิปัญญาย่อมสนานในคำและหรือกรณีที่ผู้อ่านอ่านกันอย่างดาดๆ ทั่วไปก็จะได้ความสนุกในน้ำเสียงสนานในเรื่องราว มิน่าล่ะ ชะรอยท่านบรมครูจะระแวงว่าลูกหลานเหลนโหลนในวันนี้ จะไม่รับท่านก็เลยกล่าวไว้ ดูเหมือนนอกจากในพระอภัยมณีแล้ว ยังปรากฏในขุนช้างขุนแผนว่า 

“อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว  แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล”

ในขั้นสรุปก็เห็นจะบอกว่า การอ่านบทกวีทีดีนั้น ต้องอ่านออกเสียง จึงจะเกิดการตีบทไปในตัว และย่อมหมายถึงการนำไปสู่ความเข้าใจความหมาย  ยิ่งอ่านซ้ำ อ่านบ่อย ก็จะเกิดความเข้าใจถึงนัยแห่งอรรถและอารมณ์สุนทรีย์อย่างแท้จริง นี่แหละเรียกว่า“อ่านเพื่อสร้างปัญญา”  อย่างไรล่ะ

 ……………..สวัสดี…………………