บทที่  5

 

สรุป  อภิปรายผล  และข้อเสนอแนะ

การวิจัยเชิงสำรวจเรื่องการพัฒนาเหตุผลเชิงจริยธรรมของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  4  โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมกับการแสดงบทบาทสมมุติมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาเหตุผลเชิงจริยธรรมของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  4  โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมกับการแสดงบทบาทสมมุติ  2) เพื่อเปรียบเทียบเหตุผลเชิงจริยธรรมของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  4  ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมกับการแสดงบทบาทสมมุติและเปรียบเทียบเหตุผลเชิงจริยธรรมก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้การวิจัยเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  4   โรงเรียนพระหฤทัยดอนเมือง  จังหวัดกรุงเทพมหานคร  ปีการศึกษา  2554 จำนวน  28   คน    เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่   แผนการจัดการเรียนรู้ที่เหตุผลเชิงจริยธรรมและแบบทดสอบวัดเหตุผลเชิงจริยธรรม   สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ  ค่าร้อยละ  ค่าเฉลี่ย  ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t-test)

สรุปผลการวิจัย

       จากการวิจัย เรื่องการพัฒนาเหตุผลเชิงจริยธรรมของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  4  โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมกับการแสดงบทบาทสมมุติ    สรุปผลการวิจัย     ดังนี้

       1. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4   โรงเรียนพระหฤทัยดอนเมือง  จำนวน  28  คนหลังจากจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมกับการแสดงบทบาทสมมุติ มีคะแนนผ่านเกณฑ์ร้อยละ  80 ทุกคน

       2. ผลการเปรียบเทียบเหตุผลเชิงจริยธรรมของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  4  โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมกับการแสดงบทบาทสมมุติ  หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01  แสดงว่าการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมกับการแสดงบทบาทสมมุติแล้วทำให้นักเรียนมีเหตุผลเชิงจริยธรรมหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน

อภิปรายผล

       1. จากการศึกษาพบว่านักเรียนที่ได้รับการสอนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมกับการแสดงบทบาทสมมุติ มีคะแนนเฉลี่ยของเหตุผลเชิงจริยธรรมของนักเรียนโดยรวมแต่ละขั้น คือ  ขั้นเตรียมนำเข้าสู่บทเรียนสามารถทำให้นักเรียนนั่งสมาธิอย่างตั้งใจนึกถึงสิ่งที่นักเรียนเคยปฏิบัติด้วยอย่างมีเหตุผลได้เป็นอย่างดี    ขั้นแสดงบทบาทสมมุติทำให้นักเรียนสามารถลงมือปฏิบัติด้วยตนเองและสามารถที่จะให้เหตุผลได้ดียิ่งขึ้น  ขั้นทำงานกลุ่มระดมสมองทำให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิดโดยการให้เหตุผลกับเพื่อนได้อย่างมีความสุข    ขั้นทำงานกลุ่มนักเรียนได้กล้าแสดงความคิดกล้าแสดงออกได้ร่วมมือกันกับเพื่อนโดยแบ่งปันให้เพื่อนได้ทราบเหตุผล  ขั้นสรุปทำให้นักเรียนสามารถแบ่งปันประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนพร้อมทั้งครูยังให้นักเรียนช่วยกันสรุปหาเหตุผลของการปฏิบัติให้เกิดขึ้นกับนักเรียนในชีวิตประจำวันโดยอย่างมีเหตุผล  ผ่านเกณฑ์การประเมิน (ร้อยละ 80 ) ทุกคน    ผู้วิจัยได้กำหนดปัญหาหรือสถานการณ์ใหม่ๆ  เปิดโอกาสให้นักเรียนกล้าคิด กล้าแสดงออกอย่างมีเหตุผลได้หลายๆ วิธีเพื่อให้นักเรียนได้ค้นพบวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดและให้นักเรียนฝึกคิดอยู่เสมอเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนคิดเป็น  ทำเป็นและแก้ปัญหาเป็นและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน  ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ ดวงเดือน ปนาทกูล  (2548:บทคัดย่อ)  ได้ทำการศึกษาการพัฒนาผู้เรียนโดยใช้การเรียนรู้แบบร่วมมือ

       2. จากการศึกษาพบว่านักเรียนที่ได้รับการสอนโดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมกับการแสดงบทบาทสมมุติอย่างมีเหตุผลเชิงจริยธรรมหลังสูงกว่าก่อนเรียน  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้  ทั้งนี้เนื่องจากการการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมกับการแสดงบทบาทสมมุติเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีขั้นตอนชัดเจน  ได้กิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมกับการแสดงบทบาทสมมุติ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลายและกระตุ้นให้เกิดความแตกต่างทางความคิดเพื่อท้าทายให้ผู้เรียน มีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบและฝึกปฏิบัติบ่อยๆทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องๆ จึงช่วยให้นักเรียนมีเหตุผลเชิงจริยธรรมสูงขึ้น  ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ เรืองศักดิ์    ภาคีพร  (2548 : บทคัดย่อ)  ผลการวิจัยพบว่า  การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบทบาทสมมติ  ทำให้นักเรียนมีความสุข สนุกสนาน  ได้ถูกต้อง  ทำให้ผู้เรียนมีความคิดอย่างมีเหตุผล      และสอดคล้องกับงานวิจัยของ พิไลพร  ไชยพูล (2544 : 41-42) พัฒนาเหตุผลเชิงจริยธรรมเรื่องความมีระเบียบวินัยในตนเอง  พบว่าก่อนสอนนักเรียนมีเหตุผลเชิงจริยธรรมอยู่ในระดับ  3  คืออยู่ในระดับที่ทำตามความคาดหวังของสังคม แต่หลังสอนนักเรียนมีเหตุผลเชิงจริยธรรมอยู่ในระดับ 4

ข้อเสนอแนะ

1.  ข้อเสนอแนะเพื่อการนำไปปฏิบัติ

       1.1 ในการสอนพัฒนาเหตุผลเชิงจริยธรรมของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมกับการแสดงบทบาทสมมุติ ผู้สอนควรมีการเตรียมตัวล่วงหน้ามาอย่างดี โดยศึกษาขั้นตอนต่างๆให้เข้าใจเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมในการใช้เหตุผลให้ได้มากที่สุด

       1.2 ในขั้นเตรียมนำเข้าสู่บทเรียนครูให้นักเรียนนั่งสมาธิโดยผู้สอนควรสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองในการเรียนการสอนและช่วยกระตุ้นให้นักเรียนสนใจการคิดเหตุเชิงจริยธรรมโดยใช้เทคนิคต่างๆ เช่น การใช้การเสริมกำลังใจ

       1.3 ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เป็นขั้นระดมสมองครูควรเปิดโอกาสให้นักเรียนลงมือเป็นผู้กำหนดขึ้นมาเอง ให้มากที่สุด  เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักคิดแก้ปัญหาและปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

       1.4 ในการจัดกิจกรรมของแต่ละขั้นของพฤติกรรมที่ควรส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ให้มากยิ่งขึ้น

2. ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป

       2.1 ควรศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเหตุผลเชิงจริยธรรมของนักเรียนโดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมกับการแสดงบทบาทสมมุติ ไปใช้ในระดับชั้นอื่นๆ

       2.2 ควรนำแผนการจัดการเรียนรู้โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมกับการแสดงบทบาทสมมุติในรายวิชาอื่นๆ

       2.3 ควรเปรียบเทียบการพัฒนาเหตุผลเชิงจริยธรรมโดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับการสอนแบบแสดงละคร