ลักษณะของการบัญชีต้นทุน

       จากวัตถุประสงค์ทั้ง 4 ข้อ ของการบัญชีต้นทุน จะเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์ 2 ข้อแรก เป็นหน้าที่งานของบัญชีการเงิน ส่วน 2 ข้อหลัง เป็นงานทางด้านบัญชีเพื่อการจัดการ (บัญชีบริหาร) กล่าวคือการบัญชีต้นทุนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำงบการเงิน เพื่อรายงานผลการดำเนินงานเสนอต่อบุคคลภายนอก ด้วยการใช้หลักการบัญชีต้นทุนคำนวณต้นทุนสินค้าและบริการ และการตีราคาสินค้าคงเหลือตามหลักการบัญชีที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบัญชีการเงิน (Financial Accounting) ในขณะที่ฝ่ายบริหารซึ่งเป็นบุคคลภายในองค์กร ก็จะเป็นต้องใช้ฃ้อมูลต้นทุนมาวิเคราะห์หาแนวทางในการวางแผนเพื่อการควบคุมและการตัดสินใจ โดยอาศัยข้อมูลในอดีตซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ ในขณะเดียวกันข้อมูลในอดีตก็จะเป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารในการประมาณการและพยากรณ์ต้นทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ผู้บริหารสามารถวางแผนและตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการ ซึ่งถือเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการบัญชีบริหาร (Managerial Accounting) (รูปที่ 1.3)

       ดังนั้นการบัญชีต้นทุน (Cost Accounting) จึงเป็นวิธีการบัญชีที่รวบรวมต้นทุนสินค้าและบริการตามลักษณะการผลิตที่แตกต่างกันเพื่อใช้ประโยชน์ในการวัดผลการดำเนินงานและยังอำนวยประโยชน์ต่อฝ่ายบริหารในการนำไปใช้ในการวางแผนและควบคุมตัดสินใจอีกด้วย

รูปที่ 1.3 ลักษณะของการบัญชีต้นทุน

 

ขอบเขตของการบัญชีต้นทุน

โดยลักษณะของการบัญชีต้นทุนซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ

       1. ข้อมูลบัญชีการเงินการรวบรวมสะสมคำนวณหาต้นทุนสินค้าและบริการและ

       2. ข้อมูลบัญชีบริหารการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการวางแผนควบคุมและการตัดสินใจของฝ่ายบริหารนั้น

       ในการศึกษาจะขอกล่าวเฉพาะส่วนที่ 1 คือ การรวบรวม สะสม เพื่อคำนวณหาต้นทุนสินค้าและบริการ ซึ่งจะเป็นข้อมูลต้นทุนสำหรับฝ่ายบริหาร ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในวิชาการบัญชีต้นทุน 2 หรือบัญชีต้นทุนเพื่อการตัดสินใจ

       “การบัญชีต้นทุนที่จะกล่าวต่อไปนี้จึงมุ่งเน้นที่จะศึกษาถึงหลักและวิธีการบัญชีสำหรับกิจการอุตสาหกรรม เพื่อการคำนวณต้นทุนสินค้า ต่อหน่วย (Product Cost) อันจะนำไปสู่การคำนวณต้นทุน สินค้าขาย (Cost of goods Sold) ในระหว่างงวดตามระบบต้นทุนจ่ายจริง (Actual Cost) และระบบ ต้นทุนปกติ (Normal Cost) เพื่อรวบรวมต้นทุนตามลักษณะการผลิต ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการผลิตแบบงานสั่งทำ (Job Order), การผลิตแบบช่วงการผลิต (Process Cost) หรือลักษณะของผลิตภัณฑ์ร่วมและผลิตภัณฑ์พลอยได้ (Joint Product – By Product) นอกจากนี้ยังศึกษาถึงระบบบัญชีต้นทุน มาตรฐาน (Standard Cost) ซึ่งจะเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์หาผลแตกต่างเนื่องจากประสิทธิภาพการผลิตและเป็นแนวทางในการวางแผนปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานต่อไป

       อนึ่ง ตำราเล่มนี้ ยังประกอบด้วยเนื้อหาทั้งหมด 7 บทเรียนแต่ละบทเรียนมีเนื้อหารายละเอียดสรุปย่อๆดังนี้