Category Archives: ดนตรี ภาษา ศิลปวัฒนธรรมและนาฏยศิลป์และการแสดง

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) มหาบุรุษรัตโนดม เลิศจงรักภักดีจักรีวงศ์ บทบาทสะท้อนจากวรรณกรรม “ข้าบดินทร์”

สุพิชญาย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา

ชวนศึกษาวรรณกรรมให้เข้ากับยุคสมัยที่ การสื่อสารในระบบ IT. ที่นิสิตนักศึกษาตลอดจนผู้สนใจที่ถือว่า

“การอ่านคือชีวิต”

ในหนทางที่แปลกไปจากระบบเดิมๆ หรือที่เรียกว่า โดย ขนบการอ่าน  ให้เปลี่ยนมาเป็น

“การศึกษาวรรณกรรมแบบแปรรูป”

ดูบ้าง เชื่อว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่สร้างความอยากรู้อยากเห็นในการวิเคราะห์เจาะลึกจากวรรณกรรมที่เป็นต้นฉบับได้อย่างสนุกสนานยิ่งๆ ขึ้น

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) มหาบุรุษรัตโนดม เลิศจงรักภักดีจักรีวงศ์

บทบาทสะท้อนจากวรรณกรรม “ข้าบดินทร์”

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) มหาบุรุษรัตโนดม เลิศจงรักภักดีจักรีวงศ์

บทบาทสะท้อนจากวรรณกรรม “ข้าบดินทร์”

โดย 

อาจารย์สุพิชฌาย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา

อาจารย์ประจำสาขาวิชาษาไทย

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

    “ถึงเจ้าจักเป็นเศษเสี้ยวธุลีของแผ่นดิน เจ้าจงรู้ว่า ตัวเองมีความหมายต่อแผ่นดินเพียงใด จงทำตัวเป็นเศษธุลีที่มีค่าของแผ่นดิน เพื่อเจ้าจักได้ชื่อว่าเกิดมาเป็นข้าแผ่นดิน เป็นข้าบดินทร์”

    นี่คือคำโปรยปกของวรรณกรรมเรื่อง “ข้าบดินทร์”เล่มที่ ๑  ของ วรรณวรรธน์ ซึ่งเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ชาติไทยในช่วงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าในเมืองไทยมากขึ้น

    เรื่องราวของ “ข้าบดินทร์” เริ่มจากจากตัวละครเอกฝ่ายชาย “เหม” บุตรชายแห่งพระยาบริรักษ์ต้องกลายเป็นตะพุ่นเลี้ยงช้าง เพราะบิดาถูกใส่ร้าย พระยาบริรักษ์ถูกกล่าวหาว่าฆ่าวิลาศ (ฝรั่ง) ตาย จึงต้องกลายเป็นนักโทษรอพิจารณาคดี สุดท้ายท่านพระยาบริรักษ์ จึง ‘จำใจ’ ต้องยอมรับสารภาพทั้งที่ไม่ได้ก่อความผิดนี้ขึ้นและต้องโทษถูกโบย ๕๐ที แต่พระยาบริรักษ์ทนพิษบาดแผลไม่ไหว จึงสิ้นชีวิตในที่สุด เจ้าเหมบุตรชายจึงกลายเป็นตะพุ่นเลี้ยงช้างตั้งแต่นั้นมา หลังจากที่กลายเป็นตะพุ่นช้างและเรียนรู้วิชาคชศาสตร์จนได้เป็น เสดียง  ต่อมาโชคชะตาทำให้เขาได้พบกับ ลำดวน นางละครสาวสวยที่รู้จักสนิทสนมกับเขามาแต่ในวัยเด็ก เหมยังจำภาพของลำดวน ซึ่งเป็นคนเดียวที่กล้าช่วยเหลือเขาในยามเป็นนักโทษได้แม่นยำ จึงบังเกิดเป็นความรัก  เหมพยายามทำทุกอย่างเพื่อพิชิตใจแม่ของลำดวน เมื่อเหมกับลำดวนรักกัน เหมจึงไต่เต้าจากตะพุ่นช้างเป็นนายทหารผู้กล้าจนมียศถาบรรดาศักดิ์ ทำให้เขาได้แต่งงานกับลำดวนหญิงคนรักสมใจ

    จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า “เหม” เป็นบุคคลหนึ่งที่มีความมุ่งมั่นจนสามารถประสบความสำเร็จ ความสำเร็จของเหมมีบุคคลหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก ท่านผู้นั้นคือ “คุณชายช่วง” เนื่องจากเหมเป็นถึงลูกชายเจ้าพระยาจึงมีโอกาสพบ “คุณชายช่วง”ในคราวที่เหมติดตามไปกับเจ้าคุณบิดาในงานแต่งงานของทับทิม พี่สาวของลำดวน เหมสนใจศึกษาภาษาวิลาศ (ฝรั่ง)ซึ่งตรงกับความสนใจของ “คุณชายช่วง” ที่สนใจภาษาวิลาศ (ฝรั่ง) เช่นกัน จึงทำให้คุณชายช่วงคิดจะสนับสนุนเหมด้านการศึกษาเพื่อรับใช้บ้านเมือง

    “ข้าบดินทร์”ได้กล่าวถึงคุณชายช่วงว่า “…คุณชายช่วง บุตรชายของท่านเจ้าพระยาพระคลัง…คุณชายช่วงท่านเป็นคนหนุ่มที่สนใจในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับภาษาอังกฤษอยู่ไม่น้อย จึงคบหาสหายที่สนใจภาษาวิลาศด้วยกัน…” (ข้าบดินทร์, ๒๕๕๕ : ๑๓๒-๑๓๓)  “คุณชายช่วง”ที่กล่าวถึงก็คือ สมเด็จเจ้าพระบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) นั่นเอง

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)เป็นรัฐบุรุษสำคัญท่านหนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์

    เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเมืองการปกครองของไทย โดยเริ่มเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่ง “สมเด็จเจ้าพระยา” เป็นคนสุดท้าย 

    สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รัชกาลที่ ๕ เป็นบุตรชายคนโตของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิส บุนนาค) หลานปู่เจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดี (บุนนาค) คุณชายช่วงเป็นพระญาติผู้น้องในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สกุลบุนนาคเป็นตระกูลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ คนในตระกูลนี้ดำรงตำแหน่งเป็นสมุหพระกลาโหม ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๕

    คุณชายช่วงเป็นบุคคลกลุ่มหัวก้าวหน้าในสมัยนั้น และเป็นหนึ่งในขุนนางไม่กี่คนที่พูดภาษาอังกฤษได้ นอกจากนี้ยังเป็นชาวสยามคนแรกที่สามารถต่อเรือรบฝรั่งสำเร็จ และมีความสนใจวิทยาการตะวันตกมากทั้ง วิทยาการการพิมพ์ การแพทย์ การทหาร และการก่อสร้าง เป็นต้น

    ช่วงยุคพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) พระยาศรีสุริยวงศ์ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าที่สมุหพระกลาโหม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตราศรพระขรรค์พระราชทานสำหรับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ ๔๓ ปี นับเป็นข้าราชการที่มีอายุน้อยที่สุดในตำแหน่งสมุหพระกลาโหม (อุ้มสม,๒๕๕๖ : ออนไลน์)

   ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ด้วยพระชันษาเพียง ๑๕ พระชันษา พระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ ราชาคณะ และที่ประชุมเสนาบดี   จึงเห็นสมควรแต่งตั้งให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่๕ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๑๖ มีอำนาจอาญาสิทธิ์ที่จะปกครองประเทศ และประหารชีวิตผู้กระทำความผิดขั้นอุกฤษฏ์ได้ ท่านปฏิบัติราชการโดยอาศัยเที่ยงธรรมซื่อตรง มิได้เห็นแก่ผู้ใด จะกล่าวตัดสินสิ่งใด จะให้เป็นคุณประโยชน์ทั่วกัน (ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม , ๒๕๕๒ : ๙๗๙ – ๙๘๐)  ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รัชกาลที่ ๕ โปรดให้เลื่อนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ถือศักดินา ๓๐,๐๐๐

    สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๕ เวลา ๕ ทุ่มเศษ บนเรือที่ปากคลองกระทุ่มแบน สิริรวมอายุได้ ๗๔ ปี ๒๗ วัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ทำพิธีพระราชทานเพลิงศพของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์อย่างสมเกียรติ ณ วัดบุปผาราม ธนบุรี เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๗

    หากจะกล่าวว่า “ข้าบดินทร์”ได้เล่าเรื่องราวของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ตั้งแต่บิดานำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) เมื่ออายุราว ๑๖ ปี (บางตำราว่า ๑๕ ปี) ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ได้เป็นนายชัยขรรค์ มหาดเล็กหุ้มแพร  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ เลื่อนนายชัยขรรค์เป็นหลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็ก (อายุราว ๒๕ ปี) ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า ” หลวงนายสิทธิ์” ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็น จมื่นไวยวร-นาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก และในตอนปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นเรื่องราวในวัยหนุ่มของท่านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)นั่นเอง

    “คุณชายช่วง”พบเหมครั้งแรกครั้งที่เหมแสดงความรู้ภาษาวิลาศ(ฝรั่ง)  เนื่องจากมีขุนนางท่านหนึ่งเขียนภาษาวิลาศให้คุณชายช่วงดูแล้วเหมทราบว่าผิด  เมื่อเหมทักท้วงจึงทำให้คุณชายช่วงสนใจในตัวเหมมาก ดังความว่า

     “อ้ายหนุ่ม เอาเรือมาส่งคืนข้าที”

      ชายคนที่ดูท่าวางก้ามร้องบอกเด็กหนุ่ม เหมถึงกลับจ้องมองดูตัวหนังสือบนใบไม้นั่นทีเดียว ชายคนนั้นคงคิดว่าตัวสะกดที่ปรากฏอยู่บนใบไม้นี้หมายถึง “เรือ”ในภาษาวิลาศจริง ๆ อย่างนั้นหรือ

      ทุกตัวสะกดเหมือนคำว่า ship ที่แหม่มมาเรียเคยสอนไว้ แต่ตัวสุดท้ายกลับลงท้ายด้วยตัว b

      “รู้จักเรือไหม…นี่ไง” ชายคนนั้นชี้นิ้วกร่าง ๆ ไปบนตัวหนังสือบนใบไม้

       “อ้ายหนุ่มดูไว้เป็นบุญตา นี่เป็นตัวหนังสือวิลาศคำว่า เรือ ข้ากำลังเขียนให้คุณชายช่วงดูว่าภาษาวิลาศ คำว่า “เรือ” เขาเรียกว่า ชิบ แบบนี้”

       เหมมองดูอย่างนึกขันเต็มทีพลายส่ายหน้า บุคคลที่ถูกเรียกว่า คุณชายช่วงรับใบไม้ในมือต่อจากชายท่ากร่างไปเพ่งพินิจโดยไม่ปริปากพูดจาอะไร ดวงตาเป็นประกายของ คุณชายช่วง แลดูเงียบขรึมนั้นคมกริบ จ้องดูใบไม้ในมือสลับกับใบหน้าเด็กหนุ่มที่ทำท่าอมยิ้มเหมือนเห็นเป็นเรื่องขบขัน

       “เรือแบบนี้กระผมไม่รู้จักหรอกขอรับ”

        …. “ขอรับ เป็นเรือวิลาศครึ่งลำเช่นนั้นก็ได้”

        เหมตอบกลั้นหัวเราะ แต่บุรุษที่ถูกเรียกว่าคุณชายช่วงหันมามองดูเด็กหนุ่มอย่างสงสัย

         … “อ้ายหนุ่มคนนี้มันพูดให้คิด…คุณหลวงจำตัวที่แหม่มเขาเขียนมาได้ถูกต้องอยู่นา” คุณชายช่วงมองดูตัวหนังสือภาษาอังกฤษบนใบไม้แล้วหันไปถาม

         หลวงมหาเทพหัวเราะกลบเกลื่อน รู้สึกถึงความไม่เชื่อใจที่คุณชายเอ่ยทักเช่นนั้น

         “จะไปใส่ใจทำไม กับเด็กรุ่นกระทงมันก็เป็นเช่นนี้ คงพูดอะไรเลอะเทอะไปตามประสา”

          หากคุณชายช่วงกลับมองตามแผ่นหลังเด็กหนุ่มคนนั้นอย่างสะดุดใจ

(วรรณวรรธน์ , ๒๕๕๕ : ๑๓๑ –๑๓๒, ๑๓๓)

    จากข้อความข้างต้นทำให้ คุณชายช่วงสนใจเหมเรียกเหมว่า “อ้ายวิลาศครึ่งลำ” จนทำให้เหมเกรงว่าเจ้าคุณบิดาของตน ซึ่งไม่ชอบใจที่ตนไปเรียนภาษาวิลาศจับได้ว่าตนใฝ่ใจกับพวกวิลาศ ถึงกระนั้น คุณชายช่วงก็ช่วยแก้ไขสถานการณ์ไม่ให้เหมถูกเจ้าคุณบริรักษ์ ผู้เป็นบิดาว่ากล่าว อีกทั้งออกปากชมเหมว่า “ท่านเจ้าคุณบริรักษ์ อ้ายหนุ่มคนนี้ฉลาดรอบรู้เทียวนัก เจอตัวกันก็ดีแล้ว กระผมยังใคร่อยากเจรจาถามไถ่กับมันอยู่” (ข้าบดินทร์ , ๒๕๕๕ : ๑๔๑) อีกทั้ง คุณชายช่วง ยังใช้ปฏิภาณไหวพริบคลี่คลายสถานการณ์ที่หลวงสรอรรถไม่มีสัมมาคารวะต่อเจ้าพระยาบริรักษ์ได้อย่างทันท่วงที  ความว่า

        “ท่านเจ้าคุณบริรักษ์ขึ้นเรือนเถิดขอรับ ขอเชิญท่านขึ้นก่อน กระผมเป็นผู้น้อยขอเดินตามหลังจึงเป็นการสมควร” นายชัยขรรค์หันไปเชิญพระยาบริรักษ์อย่างสุภาพ

         “ขอบใจนายชัยขรรค์”

          พระยาบริรักษ์รู้สึกถึงเหตุการณ์กลับกลาย บุตรชายคนใหญ่ของท่านเจ้าพระยามาคลี่คลายเรื่องตึงเครียดได้ทันเวลา

          นายชัยขรรค์ผู้นี้ ไหวพริบเฉียบแหลมนักเทียว ยกย่องผู้สูงศักดิ์ต่อหน้าผู้คน เพื่อให้ใครอื่นรู้จักประมาณฐานะตน รู้ที่สูงที่ต่ำ ว่าควรวางตัวไว้ ณ สถานใด

          “อ้ายเรือวิลาศครึ่งลำ เอ็งก็ตามขึ้นไปบนเรือนด้วย จะมาเดินเปะปะข้างล่างมีปากเสียงกับใครอยู่ใย ข้ากำลังมีเรื่องอยากคุยกับเอ็งอยู่”

           เหมยืนหัวใจคับพอง นายชัยขรรค์มหาดเล็กกำลังเรียกขานตนให้ตามขึ้นไปบนเรือนด้วยเช่นนั้นหรือ ท่านคงจะใส่ใจในเรื่องของชนชาววิลาศอยู่เช่นเดียวกัน

(วรรณวรรธน์, ๒๕๕๕ : ๑๔๓)

    “คุณชายช่วง หรือ นายชัยขรรค์”ถูกชะตาและต้องการจะส่งเสริมความก้าวหน้าทางการศึกษาแก่เหม ถึงขนาดออกปากขอเหมจากพระบริรักษ์ด้วยตนเอง ความว่า

              “ท่านเจ้าคุณบริรักษ์ขอท่านอย่าได้รังเกียจ หากลูกชายคนนี้ของท่านบวชเรียนเมื่อใด วานส่งคนไปแจ้งข่าวกระผมที่พระมหานคร กระผมตั้งใจจักใคร่ขอร่วมเป็นโยมอุปัฏฐาก”…

               …คุณชายช่วงบุตรชายคนโตของท่านเจ้าคุณหาบน**ถวายตัวรับราชการมาจนถึงตำแหน่งนายชัยขรรค์หุ้มแพร เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าท่านเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเพียงใด หากเจ้าเหมได้เข้าไปรับราชการอยู่กับท่านก็นับว่าลูกชายของตนมีวาสนาจะได้ใกล้ชิดผู้ใหญ่ ได้ใช้ความรู้ความสามารถสนองพระเดชพระคุณ แม้ที่เจ้าเหมเกิดไปต้องอัธยาศัยบุตรชายของท่านเจ้าคุณหาบน ด้วย สิ่งที่ท่านมองไม่เห็นดีเห็นงามมาแต่ไหนแต่ไรก็ตาม แต่เมื่อได้ยินว่าลูกชายถูกออกปากตามนั้น อีกใจหนึ่งจึงอดปลาบปลื้มมิได้ (วรรณวรรธน์ , ๒๕๕๕ : ๑๔๗ – ๑๔๘)

    แม้ยามที่เหมต้องโทษจากการที่บิดาถูกใส่ร้ายทั้งๆที่ไม่ได้ทำความผิด คุณชายช่วงซึ่งได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงสิทธิ์นายเวร”ก็ให้ความสนใจและใส่ใจเหมและมารดาเสมอ และท่านก็เมตตาอ้ายบุษย์ อดีตทาสหนุ่มของเหมด้วย  ดังตอนที่เหมได้พบกับบุษย์ และระลึกถึงความเมตตาจากคุณชายช่วง  ความว่า

     “หลวงสิทธิ์นายเวร คุณชายช่วงท่านนั่นหรือ” เหมถึงกับยกมือท่วมหัว “ท่านมีน้ำใจกับครอบครัวข้าจริง ยามข้าติดตะพุ่นอยู่ที่พระมหานคร มีแต่ท่านที่ส่งข้าวส่งน้ำไปเยี่ยมเยียนมิได้ขาด นี่ท่านยังมีน้ำใจดูแลเอ็งอีก อ้ายบุษย์เอ๋ย อย่างไรก่อนตายข้าก็ต้องกลับไปกราบเท้าท่านให้จงได้สักครั้งหนึ่ง”

(ข้าบดินทร์ , ๒๕๕๕ : ๕๒๔)

    ต่อมาเมื่อเหมอาสาสู้รบกับญวนจนได้รับพระราชทานอภัยโทษจากตะพุ่นหญ้าช้าง แล้วเข้ารับราชการทหาร เหมได้มีโอกาสมาพักกับบุษย์ในเรือนแถวบ้านพักของ “คุณชายช่วง หรือ หลวงสิทธิ์” ซึ่งหน้าบ้านของท่านแปลกกว่าคนอื่นๆเพราะได้เขียนภาษาวิลาศ (ฝรั่ง)ไว้หน้าบ้านด้วย ความว่า

เมื่อเดินมาถึงหน้ารั้วไม้ระแนงบ้านพักของท่าน มีแผ่นป้ายไม้หน้าบ้านตัวโตเป็นภาษาอังกฤษ เหมเดินตามทุกคนมาเรื่อย หยุดยืนมองป้ายแผ่นนั้น นิ่งเป็นนาน

          “อ่านอันใดอยู่หรือคุณเหม” จนบุษย์หันมาดู

          “ท่านหลวงสิทธิ์สั่งให้คนเขียนตัวหนังสือวิลาศไว้ ท่านว่าทำเช่นนี้ฝรั่งจะได้รู้ว่าเราก็เข้าใจมารยาทและภาษาของเขาเช่นกัน…

           ที่นี่บ้านหลวงสิทธิ์นายเวร ยินดีต้อนรับ

           หลายปีที่ผ่านมา หลวงสิทธิ์นายเวรคงได้ศึกษาภาษาวิลาศจนแตกฉาน สมกับที่ท่านตั้งใจไว้ เหมนึกถึงท่านแล้วให้ตื้นตัน หากไม่รับคราวเคราะห์ครั้งนั้น ป่านนี้เขาเองคงมีโอกาสรับความอนุเคราะห์จากท่าน ได้ร่ำเรียนภาษาวิลาศแตกฉานสมใจ  (วรรณวรรธน์, ๒๕๕๕ : ๕๖๖ – ๕๖๗)

    ความช่วยเหลือเจือจุนจากคุณชายช่วงที่มีมาถึงเหมนั้น เป็นความกรุณาอย่างหาที่สุดมิได้ ตั้งแต่เหมเยาว์วัย ตกอับและรุ่งเรืองขึ้น  “คุณชายช่วง”ก็แสดงถึงน้ำใจและความอาทรแก่เหมและมารดาของเหมเรื่อยมา จึงอาจกล่าวได้ว่า ท่านเป็นคนมองคนได้อย่างทะลุปรุโปร่ง เป็นคนมองการณ์ไกล และพร้อมสนับสนุนคนให้ก้าวหน้า เพื่อรับใช้แผ่นดิน เมื่อท่านเห็นว่าเหมเป็นคนเฉลียวฉลาด ใฝ่รู้ใฝ่เรียน เมื่อต้องประสบเคราะห์กรรมที่ตนไม่ได้ก่อ “คุณชายช่วง”ก็ยังช่วยเหลือเหมมิได้ขาด ดังตอนที่เหมระลึกถึงพระคุณของ “คุณชายช่วง หรือ หลวงสิทธิ์นายเวร”ว่า

        …เหมจำได้แม่น เมื่อต้องเป็นตะพุ่นอยู่ที่โรงช้างต้นข้างวังท่าพระ สองคนแม่ลูกได้รับข้าวปลาอาหารจากคนของคุณชายช่วงอยู่เสมอ ท่านไม่ลืมให้คนนำอาหารไปให้ทานจนได้กินอิ่มกินเต็มขึ้นบ้าง ไม่ใช่เวียนแต่ขออาหารจากโรงทานหน้าพระบรมมหาราชวังกินประทังหิวทั้งยังมอบสินรางวัลให้แก่ขุนคชบาลที่ดูแลสองตะพุ่นแม่ลูก เพื่อเป็นสินน้ำใจคอยดูแลช่วยเหลือไม่ใช้งานยากลำบาก

          เขาได้รับความช่วยเหลือจากคุณชายช่วงอยู่เป็นประจำ กระทั่งถูกเกณฑ์ย้ายให้ไปเป็นตะพุ่นตามหัวเมืองเพื่อเกี่ยวหญ้ามาเลี้ยงช้างในพระมหานคร นั่นเองที่ทำให้เขาต้องออกเดินทางรอนแรมไปเรื่อย….

(วรรณวรรธน์ , ๒๕๕๕ : ๕๖๗)

    นอกจาก “คุณชายช่วง” จะเป็นคนสมัยใหม่สนใจภาษาวิลาศ (ฝรั่ง)แล้ว ท่านยังสนใจในวิทยาการใหม่ๆของฝรั่งด้วย เช่น ท่านมีโรงต่อเรือของท่านเอง ดังที่เหมไปพบคุณชายช่วงที่โรงต่อเรือในบริเวณบ้านท่าน ดังนี้

         เหมก้มมองผ่านละแวกระแนงรั้วไม้ที่เต็มไปด้วยพุ่มไม้ครึ้มตา เห็นด้านหลังเรือนกลุ่มใหญ่ยังมีโรงไม้ขนาดมหึมาตั้งอยู่ หากเดาไม่ผิด นั่นคงเป็นเรือรบที่ท่านหลวงสิทธิ์นายเวรสนใจศึกษาวิชาต่อเรือมาแต่ไหนแต่ไรกระมัง ในกองทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังท่านก็มีเรือกำปั่นที่ดัดแปลงเป็นเรือรบอยู่หลายลำ แต่ที่หลวงนายสิทธิ์ท่านขะมักเขม้นสนใจทำอยู่นี่ คงเป็นเรือรบดั่งเช่นฝรั่งวิลาศอังกฤษหรือพุทธะเกศเป็นแน่…ร่างผอมบางของท่านนั่งอยู่บนแท่นไม้ดูบ่าวและฝรั่งสองสามคนสนทนากัน…

       ….หลายสิ่งหลายอย่างที่หลวงสิทธิ์เล่าให้เขาฟังวันนั้น ล้วนชักนำความสนใจแก่เหมเป็นอย่างมาก ทั้งที่ท่านยังรับราชการนายเวรมหาดเล็ก แต่ได้ให้ความสนใจกับสิ่งรอบตัวไม่ให้เล็ดลอดสายตา ระยะหลังฝรั่งวิลาศได้เข้ามาทำการค้าติดต่อยังกรุงเทพพระมหานครเป็นจำนวนมากขึ้น

(วรรณวรรธน์ , ๒๕๕๕ : ๕๖๗, ๕๖๙)

    ต่อมาหลวงสิทธิ์นายเวร (คุณชายช่วง)ได้ขอให้เหมมาช่วยราชการท่าน ซึ่งในบทสนทนาได้กล่าวเน้นย้ำของการเป็น “ข้าบดินทร์” ที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อแทนคุณแผ่นดิน ความว่า

      หลวงนายสิทธิ์รับฟังความเห็นเขาพลางพยักหน้าเห็นความ

     “มีเจ้ามาช่วยคิดแบบนี้ดีนัก คนแบบนี้สิที่ข้าอยากได้มาร่วมงาน เจ้าเหมอย่ากระนั้นเลย ข้าจะขอเจ้าคุณหาบนช่วยกราบเรียนเจ้าคุณผู้ใหญ่*** ให้เจ้ามาช่วยงานที่พระมหานครดู เจ้าเองก็มีความรู้ความสามารถเรื่องวิลาศอยู่ คงจะเป็นหูเป็นตาข้าได้มากกว่านี้

       “สุดแท้แต่ท่านจะเมตตาขอรับ กระผมเกิดเป็นข้าแผ่นดินผืนนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าได้อยู่กับเจ้านายท่านใด หากได้ใช้ความสามารถรับใช้ต่อแผ่นดินดังเช่นเจ้าคุณพ่อผมเคยกระทำมา ก็ถือว่าได้ทำตามคำของท่าน กระผมไม่เสียชาติเกิดแล้วขอรับ”

       “เหม เจ้าคิดเช่นนี้ประเสริฐนัก เวลานี้เรามีปัญหาบ้านเมืองอยู่รอบด้าน เรื่องต่างชาตินี้แต่ก่อนก็เคยมองเป็นความแปลกใหม่ แต่ระยะหลังที่ผ่านมากลับมีเรื่องเกี่ยวกับวิลาศให้ต้องคิดต้องไตร่ตรองมากขึ้น ข้าถึงต้องเอาใจใส่และเอาจริงเอาจังเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวิลาศมากขึ้น”

        เหมก้มกราบรับคำหลวงสิทธิ์นายเวร เขาก็คิดเห็นเช่นเดียวกัน

(วรรณวรรธน์ , ๒๕๕๕ : ๕๗๑ – ๕๗๒)

    ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) จมื่นไวยวรนาถ(คุณชายช่วง) ได้รับการแต่งตั้งเป็น “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์” ดังความว่า

                เจ้าพระยาพระคลังในแผ่นดินใหม่ ได้รับการเลื่อนยศเป็น สมเด็จเจ้าพระยาศรีประยูรวงศ์ หรือที่เรียกกันว่า สมเด็จพระองค์ใหญ่ ส่วนจมื่นไวยวรนาถได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นที่นับหน้าถือตากันเป็นอย่างมากทั้งในประเทศและนอกประเทศ และกับชาวต่างประเทศ นอกจากภาษา ท่านยังสนใจในเรื่องการเดินเรือกลไฟของวิลาศอยู่เช่นเคย ทำให้มีคนไทยที่เชี่ยวชาญภาษาวิลาศตลอดจนภาษาอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น ทางทหารก็มีความเข้มแข็งขึ้น เมื่อไทยมีการพัฒนาเรือรบให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศมากขึ้น ผู้คนบนผืนแผ่นดินไทยล้วนมีความสุขกับการใช้ชีวิตของตน

(วรรณวรรธน์ , ๒๕๕๕ : ๗๑๒)

    เรื่องราวของข้าบดินทร์ในช่วงสุดท้าย เมื่อเหมมีเหตุไม่สามารถกลับเข้ารับราชการได้ เนื่องจากทางวิลาศ(ฝรั่ง)ต้องการตัวไปเพื่อลงโทษ คราวที่นายห้างหันแตร (โรเบิร์ต ฮันเตอร์ )ต้องการบังคับขายเรือกลไฟให้แก่ไทย แต่ด้วยราคาสูงเกินไปและเรือเก่ามาก ไทยจึงไม่ตกลง นายห้างขู่ว่าจะใช้ปืนยิงพระบรมมหาราชวัง โดยอ้างว่าจะยิงสลุตเนื่องในโอกาสฉลองวันเกิดของกัปตันเรือบราวน์  เหมเป็นผู้แก้ไขสถานการณ์จนไทยไม่ต้องเสียเงินซื้อกลไฟจำนวนมาก ซึ่งเหตุการณ์นี้สร้างความแค้นใจให้แก่ฝั่งวิลาศมาก ถึงขนาดนำเรือรบมาปิดน่านน้ำ เหมใช้สติปัญญาจนรอดมาได้ แต่ก็ไม่สามารถกลับไปรับราชการได้อีก เมื่อไทยจะส่งราชทูตถวายเครื่องราชบรรณาการต่อสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (คุณชายช่วง) จึงได้เดินทางมาหาเหมเพื่อให้ช่วยราชการครั้งนี้  ความว่า

         “มีคนมาถามหาคุณพ่อนะสิเจ้าคะ”… มีคนตามหาเขา ?

          เหมหันขวับมองไปตามนิ้วกลม คนกลุ่มหนึ่งยืนมองดูเขาอยู่ด้านหลังนั้น ท่ามกลางผู้คนขวักไขว่ ชายร่างผอมที่ยืนเด่นเป็นสง่าตรงนั้น เห็นเพียงแวบแรกแม้จะอยู่ในผ้าลายพื้นปราศจากสมปัก แต่เขาย่อมจดจำท่านได้เป็นอย่างดี เจ้าคุณไวย คุณชายช่วง…ร่างสูงใหญ่  ก้มลงกราบด้วยความดีใจ

          “ท่านเจ้าคุณไวย”

          “อันที่จริงต้องเป็นข้าที่ดีใจเห็นเอ็งยังมีชีวิต”

          ท่านเจ้าคุณไวยเอ่ยกับเขาเบา ๆ หกปีที่เขาหลบหายออกมาอยู่ที่นี่ เป็นควาญช้างของเพนียดท่านขุนศรีไชยทิตย ….

          “ข้าจะไปลพบุรี เห็นว่าเขามีงานคล้องช้างที่เพนียดเลยแวะมาดู คิดอยู่แล้วว่าต้องเจอเจ้า”

           ฟังแล้วให้ตื้นตันนัก ท่านเจ้าคุณไวยยังไม่ลืมอ้ายเหมคนนี้ หลายปีที่ผ่านมา ท่านเรียกเขาเข้าไปรับราชการกับท่าน แต่ด้วยความเกรงใจเรื่องที่ก่อไว้ ทำให้ไม่กล้ากลับไปรับราชการตามเดิม หากท่านเจ้าคุณไวยไม่เคยลดละความพยายามตลอดมาจนถึงวันนี้

           “คราวนี้มีงานใหญ่ อยากให้เจ้าช่วยเหลือ”

      ……เมื่อสองปีก่อน สมเด็จพระราชินีวิคตอเรียนางพญาวิลาศ ส่งคนมาถวายเครื่องราชบรรณาการที่พระมหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงจักส่งคณะราชทูตจากไทยไปถวายเครื่องราชบรรณาการนางพญาวิลาศ เพื่อเป็นการตอบแทน

              “เจ้าคิดเอาเถิด ในเวลานี้คนของเราต้องไปต่างแดน แต่ถึงทุกวันนี้เราจะมีคนรู้วิลาศมากขึ้น แต่หลายคนก็ไม่รู้วิธีศึกเอาตัวรอดอย่างนักดาบ คนที่ฝึกดาบเอาตัวรอดได้ก็ไม่เอาดีทางภาษา เราจึงมีคนรู้วิลาศและเก่งดาบทันคนอยู่แทบจะนับหัวได้ แต่ข้ารู้ว่ามีบางคนที่วิลาศเกรงกลัว แต่พวกนั้นไม่รู้ว่ายังมีชีวิตอยู่…หากแต่ได้คนคนนี้ไป ข้าจะวางใจว่าคณะทูตนี้จักปลอดภัยกลับมา”

             เขากล้ำกลืนก้อนแข็งในคอ ท่านเจ้าคุณไวยเจาะจงมาที่ตน

             “ข้าจึงใคร่อยากให้เอ็งเดินทางไปในฐานะคนธรรมดา แสร้งว่าเป็นหมอนวด แต่แท้จริงก็เพื่อดูแลทั้ง ๑๕ เพื่อทำให้ข้าอุ่นใจว่าทั้งหมดจะปลอดภัยจากเล่ห์กลของคนวิลาศ”

              ปกปิดอดีตหลวงสุรบดินทร์ให้ร่วมเดินทางในฐานะคนธรรมดา ทำหน้าที่ดูแลคณะทูตเช่นนั้นหรือ เพราะหากไปในฐานะหลวงสุรบดินทร์ จนวิลาศรับทราบคงจะขัดเคืองเป็นเรื่องใหญ่ แต่ท่านก็จำเป็นหวังจักให้เขาไป เพื่อดูแลคณะทูตที่กล่าวมา

              …ไม่ต้องห่วงดอก ข้าเคยรับปากจะดูแลลูกเมียเอ็งไว้ ข้าไม่เคยลืม ที่สำคัญ เจ้าลำดวนมันก็หลานข้า ลูกหลานเอ็งก็เหมือนลูกหลานข้าเช่นกัน ยิ่งหากเอ็งรับปากราชการคราวนี้ ข้าจะบำรุงพวกมันยิ่งกว่าลูกหลานของข้าเสียด้วยซ้ำไป”

               เหมได้แต่นั่งฟังนิ่งงัน

              ท่านจึงได้กล่าวคำสั้น ๆ ให้เขาตัดสินใจ “หากเอ็งยังคิดว่าตัวเองเป็นข้าแผ่นดิน คราวนี้ก็จงอย่าเลี่ยงข้า”

(วรรณวรรธน์, ๒๕๕๕ : ๗๑๕ – ๗๑๖, ๗๑๗ – ๗๑๘)

    จากที่กล่าวมาทั้งหมดสามารถสรุป สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) มหาบุรุษรัตโนดม เลิศจงรักภักดีจักรีวงศ์ บทบาทสะท้อนละคร “ข้าบดินทร์”ได้ว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นบุคคลที่เก่งงาน เก่งคน และเก่งความรอบรู้ จึงทำให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย และหากพินิจในเชิงวรรณกรรมแล้ว สมเด็จเจ้าพระบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ทำให้ตัวละครอย่าง “เหม” มีความเด่นชัดขึ้น ในเรื่องของความจงรักภักดีต่อแผ่นดินไทย เพราะท่านมีส่วนสำคัญอย่างมากที่สนับสนุน ส่งเสริม ผลักดัน จนเหม สามารถเป็น “ข้าบดินทร์” ได้อย่างแท้จริง


เอกสารอ้างอิง

ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. (๒๕๕๑). สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค). พิมพ์ครั้งที่ ๓.    

         กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊ค.

วรรณวรรธน์. (๒๕๕๕). ข้าบดินทร์ เล่ม ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บ้านวรรณกรรม.

————-. (๒๕๕๕). ข้าบดินทร์ เล่ม ๒. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บ้านวรรณกรรม.

อุ้มสม (นามแฝง).  (๒๕๕๖). ข้าบดินทร์ // วรรณวรรธน์ (ออนไลน์). จาก

           http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=aumsom&month=01-02- 

           2013&group=1&gblog=21. สืบค้นเมื่อ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘.

วัฒนธรรมของการแบ่งปันวัฒนธรรมตู้เย็นและเศรษฐศาสตร์ของการแบ่งปัน

วัฒนธรรมของการแบ่งปันวัฒนธรรมตู้เย็นและเศรษฐศาสตร์ของการแบ่งปัน

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สิงห์ สิงห์ขจร

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารในองค์การ

คณะวิทยาการจัดการ มรภ. บ้านสมเด็จเจ้าพระยา

     สภาพสังคมไทยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา วิถีชีวิตของคนไทยแบบดั้งเดิมกำลังเสื่อมหาย ความอบอุ่น ความมีน้ำใจและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติเริ่มลดน้อยเสื่อมถอยลงไป การรับเอาวัฒนธรรมค่านิยมตะวันตกและความเจริญทางด้านวัตถุเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาซับซ้อนมากมายในสังคม เพราะสังคมต่างมองและยอมรับว่า ค่านิยมเหล่านี้จะนำตัวเองไปสู่ความทันสมัย ความเจริญรุ่งเรืองเท่าเทียมกับอารยประเทศได้ จนทำให้สังคมกลายเป็นสังคมที่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นเกิดความเห็นแก่ตัวมากยิ่งขึ้น ทำให้ลืมไปว่าแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่สังคมควรให้ความสำคัญและไม่ควรละเลยก็คือการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข การช่วยเหลือแบ่งปัน ร่วมมือซึ่งกันและกันในสังคม และจุดเริ่มต้นที่จะทำให้สังคมเป็นสังคมที่เจริญอย่างแท้จริง

     ในอดีตสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน การแบ่งปันที่พบเห็นได้อย่างชินตาในสังคมไทยคือการแบ่งปันอาหาร บ้านไหนมีการทำอาหารแกงประเภทต่างๆ เมื่อทำเสร็จแล้วก็จะนำมาแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านคนในชุมชน รวมไปถึงผักและผลไม้ ยังไม่รวมถึงเนื้อสัตว์ประเภทต่างๆที่นำมาแบ่งปันกันให้กับคนในชุมชน ซึ่งเป็นสังคมไทยในอดีต ปัจจุบันสังคมแห่งการแบ่งปันอย่างในอดีตได้เลือนหายไป เหตุใดที่สังคมแห่งการแบ่งปันจึงหายไป หรืออาจจะเกิดจากการที่ตู้เย็นได้รับความนิยมเป็นที่แพร่หลายในสังคมไทย ซึ่งตู้เย็นนั้นสามารถเก็บถนอมอาหารได้เป็นระยะเวลานานทำให้เกิดการหวงแหนทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่ ทั้งที่เก็บไว้ในตู้เย็นแล้วจะได้นำออกมาใช้ใหม่เมื่อไรก็ไม่รู้ แต่เก็บไว้ก่อน วัฒนธรรมตู้เย็นทำให้การแบ่งปันของคนในสังคมเปลี่ยนไป อาจจะอธิบายได้โดยทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม (Cultural Diffusion Theory) ของโรเจอร์ (Roger,1973) การแพร่กระจายทางวัฒนธรรมเป็นกระบวนการที่มีลักษณะสำคัญของวัฒนธรรมหนึ่งแพร่กระจายไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง โดยปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมใหม่  วัฒนธรรมเปลี่ยนไปเพราะนวัตกรรม วัฒนธรรมตู้เย็นเกิดจากนวัตกรรมที่เรียกว่าตู้เย็นทำให้วัฒนธรรมของการแบ่งปันในสังคมไทยถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นวัฒนธรรมตู้เย็น

     จากคำบอกเล่าสังคมอีสานเน้นการแบ่งปันการเอื้อเฟื้อภายในครอบครัวและกลุ่มเครือญาติไว้สูงมาก ดังคำสุภาษิตที่ว่า บ่กินผักบ่มีเหยื่อท้อง บ่เอาพี่น้องสิเสียหน่อแนวดี หมายความว่า ไม่กินผักไม่มีกากอาหาร ไม่รักพี่น้องย่อมเสียญาติเสียเผ่าพันธุ์ กินบ่ปันหมู่ บาดห่างูเขียวเกี้ยว บ่มีไผเอาออก หมายความว่า กินไม่แบ่งปันคนอื่น เมื่อมีอันตรายใครจะช่วยเหลือ (จารุวรรณ,2540) ซึ่งในอดีตชาวบ้านมีการแบ่งปันสิ่งของให้กันในชุมชน บ้านไหนทำอาหารอะไรก็นำมาแบ่งปันกันให้กับคนในชุมชน แต่ภายหลังจากการที่คนในชุมชนที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานคร และได้นำตู้เย็นที่นายจ้างหรือเจ้าของกิจการได้เปลี่ยนตู้เย็นและยกตู้เย็นเครื่องเก่าให้กับคนในชุมชนแล้วคนในชุมชนกลับมายังชุมชนก็ได้นำตู้เย็นกลับมาใช้ในพื้นที่แล้วนั้นทำให้สังคมแห่งการแบ่งปันในชุมชนเริ่มลดน้อยลง จากอดีตที่มีการถามกันเวลามีเสียงตำพริกโดยใช้ครกของบ้านข้างๆว่าวันนี้ทำอะไรกินกัน คนบ้านข้างๆก็จะบอกว่าทำแกงอะไร และจะลงท้ายด้วยว่าทำเสร็จแล้วจะแบ่งไปให้นะ แต่ในปัจจุบันหากมีการถามกันเวลามีเสียงตำพริกโดยใช้ครก ก็จะได้คำตอบว่าทำน้ำพริก ทั้งๆที่จริงกลิ่นของอาหารที่ทำเป็นแกงเขียวหวาน การแบ่งปันได้เลือนหายไปจากคนในชุมชนหลังจากการเข้ามาของตู้เย็น ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าสังคมแห่งการการแบ่งปันในอดีตนั้นอาจจะเกิดจากการที่ไม่สามารถจะเก็บรักษาทรัพยากรของตนเองได้ การแบ่งปันให้กับคนในชุมชนอาจจะดีกว่าปล่อยให้ทรัพยากรนั้นเสียไปโดยไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แต่ในบางครั้งก็มีการเก็บของไว้ในตู้เย็นจนหมดอายุหรือเสียไปก็ต้องนำไปทิ้งอยู่ดี แล้วทำไมถึงต้องหวงแหนทรัพยากรของตนเองที่เก็บไว้ใส่ตู้เย็นแล้วก็นำเอาออกมาทิ้งอยู่ดี หากนำมาแบ่งปันให้คนรอบข้างจะดีกว่าหรือไม่ อย่าคิดว่าเก็บเผื่อไว้ก่อนเดี๋ยวเผื่อจะมีประโยชน์ในอนาคต ซึ่งปัญหาดังกล่าวหากมองเป็นภาพใหญ่ขึ้นมานั้นจะทำให้เห็นว่าประเทศต่างๆบนโลกนี้ ในปัจจุบันนั้นมีความหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติที่ตนเองมีอยู่มากยิ่งขึ้น ปัญหาพลังงาน ปัญหาภาวะโลกร้อน ปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำ ปัญหาอุทกภัย ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติของประเทศต่างๆบนโลกนี้ เริ่มมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ภาพที่อาจจะสะท้อนให้เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้นในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

     แม่น้ำโขงนั้นเป็นแม่น้ำสายนานาชาติ ที่มีความยาวทั้งหมด 4,909 กิโลเมตร มีการร่วมกันใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำไล่ลงมาจนถึงประเทศปลายน้ำก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลลงสู่ทะเล ประเทศจีน ประเทศเมียนมาร์ ประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา และประเทศเวียดนาม ได้ร่วมกันใช้ทรัพยากรธรรมชาติจากแม่น้ำโขงร่วมกันหลายร้อยหรืออาจจะหลายพันปี การเรียกชื่อแม่น้ำก็มีการเรียกแตกต่างกันไปตามประเทศที่แม่น้ำไหลผ่าน อย่างในประเทศจีนมีชื่อเรียกว่า แม่น้ำหลานชางเจียง ในส่วนของประเทศพม่า และประเทศลาว เรียกว่า แม่น้ำของ แต่ในประเทศไทยเรียกว่า แม่น้ำโขง ซึ่งแม่น้ำโขงเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า แร่ธาตุต่างๆ และแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี มีประชากรประมาณ 300 ล้านคน อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขง มีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก สามารถปลูกข้าวมีผลผลิตประมาณ 32 ล้านตันต่อปี ทำการประมงและผลผลิตจากแหล่งนิเวศน์น้ำสูงมากถึง 2 ล้านตันต่อปี 

     ประเทศจีนได้สร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าบนแม่น้ำโขง เขื่อนพลังงานไฟฟ้า 5 เขื่อนที่สร้างแล้วเสร็จ ในแม่น้ำโขงตอนบน เพื่อผลิตไฟฟ้า โดยมีเขื่อนมันวานเป็นเขื่อนแรกของโครงการที่ถูกสร้างขึ้นและแล้วเสร็จในปี 2539 เขื่อนดาเชาฉาน เป็นเขื่อนที่สองแล้วเสร็จในปี 2546 เขื่อนที่สามคือเขื่อน เสี่ยววาน แล้วเสร็จในปี 2555 ด้วยขนาดความสูง 292 เมตรนี้ เขื่อนเสี่ยววานกลายเป็นหนึ่งในเขื่อน ที่มีความสูงที่สุดในโลก  เขื่อนที่สี่คือเขื่อนกอนเกาเฉียว แล้วเสร็จในปี 2555  เขื่อนที่ห้าคือเขื่อนนัวจาตู้ แล้วเสร็จในปี 2557 และยังมีเขื่อนที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 7 เขื่อนบนแม่น้ำโขง เขื่อนวุนอองหลง เขื่อนหลี่ตี้ เขื่อนเหมี่ยวเว่ย เขื่อนหวงเติ้ง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และเขื่อนกูฉุย เขื่อนตู้ป่า เขื่อนต้าหัวเฉียว ที่เตรียมการปรับพื้นที่เพื่อสร้างเขื่อน ซึ่งรวมทั้งหมดเขื่อนพลังงานไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงที่อยู่ในประเทศจีนรวมถึง 12 เขื่อนซึ่งทางประเทศจีนมีแผนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า 28 เขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนบน ในอนาคตประเทศจีนก็จะมีเขื่อนพลังงานไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงจำนวน 28 เขื่อนหรือตู้เย็นจำนวน 28 ตู้

     ในส่วนของแม่น้ำโขงตอนล่าง ประเทศลาว ประเทศไทย ประเทศกัมพูชาและประเทศ เวียดนาม มีแผนสร้างเขื่อนและโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ 11 โครงการเขื่อนไซยะบุรี เป็นเขื่อนแรก เริ่มก่อสร้างเมื่อปลายปี  2555 และเขื่อนดอนสะโฮง อยู่ระหว่างการเตรียมการซึ่งอยู่ในประเทศลาว และอีกเขื่อน โครงการเขื่อนปากแบ่ง, เขื่อนหลวงพระบาง, เขื่อนปากลาย, เขื่อนสะนะคาม และเขื่อนลาดเสือ ในประเทศลาว  เขื่อนปากชมและเขื่อนบ้านกุ่ม บริเวณชายแดนไทย-ลาว  เขื่อนสตึงเตร็ง และเขื่อนซำบอ ในประเทศกัมพูชา ในอนาคตประเทศลาวก็จะมีเขื่อนพลังงานไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงจำนวน 7 เขื่อนหรือตู้เย็นจำนวน 7 ตู้ ประเทศไทยและประเทศลาวก็จะมีเขื่อนพลังงานไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงจำนวน 2 เขื่อนหรือตู้เย็นจำนวน 2 ตู้ และสุดท้ายประเทศกัมพูชาก็จะมีเขื่อนพลังงานไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงจำนวน 2 เขื่อนหรือตู้เย็นจำนวน 2 ตู้

     เขื่อนพลังงานไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงจะมีรวมทั้งหมด 39 เขื่อนตลอดความยาวของแม่น้ำโขง 4,909 กิโลเมตร (Ly,2013) ซึ่งเขื่อนพลังงานไฟฟ้าบนแม่น้ำโขง เปรียบได้กับตู้เย็นของแต่ละประเทศที่พยายามจะกักเก็บทรัพยากรธรรมชาติ ที่ตนเองมีอยู่โดยไม่คิดถึงการแบ่งปันเหมือนในอดีต ซึ่งไม่คิดว่าแม่น้ำโขงที่เคยใช้ร่วมกันมาเป็นร้อยเป็นพันปี อาจจะทำให้คนที่อยู่ปลายน้ำจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยและใช้ประโยชน์ในบริเวณแม่น้ำโขง จะเป็นอย่างไรเพียงแค่เก็บทรัพยากรที่ตนเองสามารถเก็บไว้ได้ให้อยู่กับตนเองนานที่สุด

     ซึ่งในปัจจุบันนั้นมีอีกแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับการหวงแหนทรัพยากรคือแนวคิดเศรษฐศาสตร์ของการแบ่งปัน (Sharing Economy) ที่โลกออนไลน์ทำให้คนบนโลกและองค์กรต่างๆได้แบ่งปันทรัพยากรและใช้ทรัพยากรที่ใช้แล้วให้คนอื่น เป็นการสร้างมูลค่าของทรัพยากรนั้นมากขึ้นโดยลดการทำลายสิ่งแวดล้อม มีความหมายครอบคลุมระบบของเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เกิดการร่วมกันเข้าถึงการบริโภคสินค้าและบริการตลอดจนข้อมูลข่าวสาร หัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจนี้ก็คือเทคโนโลยีสารสนเทศที่เชื่อมโยงให้เกิดการร่วมกันใช้หรือแบ่งปันส่วนที่เหลืออยู่และไม่ได้ใช้ (excess capacity) ของหลายสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา

     ซึ่งแนวคิดดังกล่าวมาจากหนังสือชื่อ “What’s Mine is Yours (2010)” โดย Rachel Botsman เสนอความคิดในเรื่องการบริโภคชนิดร่วมมือกัน (collaborative consumption) ซึ่งหมายถึงการแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยน ตั้งแต่รถยนต์ ห้องในโรงแรม โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ อย่างหลากหลายลักษณะในระดับกว้างขวาง ทั้งการแบ่งปัน (Sharing) การแลกเปลี่ยน (Bartering) การให้ยืม (Lending) การเช่า (Renting) การให้เป็นของขวัญ (Gifting) การสลับกันใช้ (Swapping) ซึ่งทั้งหมดเป็นไปได้ก็เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ อินเตอร์เน็ต พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปการใช้งาน “Social Networks” ของผู้คนทั่วโลกที่ติดต่อสื่อสาร สร้างปฏิสัมพันธ์กันหลากหลายรูปแบบ ทำให้เกิดความสำเร็จของการบริโภคแบบร่วมมือกัน (วรากรณ์,2556) ข้อดีของการบริโภคชนิดร่วมมือกันคือด้านสังคม ในยุคสมัยที่ครอบครัวแยกกันไปคนละทิศละทางและเราอาจจะไม่รู้จักคนบนท้องถนน การได้แบ่งปันสิ่งต่างๆ แม้แต่กับคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ก็อาจกลายเป็นความสัมพันธ์ที่มีความหมายได้

     กลุ่มอุตสาหกรรมที่นำแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปันมาปรับใช้กับธุรกิจ ได้แก่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Travel) ธุรกิจให้บริการโดยสารทางรถยนต์รถเช่าและแบ่งปันรถยนต์กันใช้ (Car sharing) ธุรกิจการเงิน (Finance) ธุรกิจจัดหาบุคคลเข้าทำงาน (Staffing) และธุรกิจบริการเพลงหรือวิดีโอแบบสตรีมมิ่ง (Music and video streaming)  สำหรับโครงสร้างแบบ Sharing Economy หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อการบริโภคชนิดร่วมมือกัน (Collaborative Consumption) และการทำธุรกิจจากเพื่อนสู่เพื่อน (Peer to Peer: P2P) เป็นการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ (พสุ,2557) ซึ่งช่วยให้บุคคลหรือองค์กรสามารถสร้างรายได้จากสิ่งของหรือทรัพย์สินที่ตนมีมากเกินความจำเป็นหรือไม่ได้ใช้แล้ว (Excess capacity) ผ่านการสื่อสารบนเครือข่ายออนไลน์เชื่อมต่อระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการในการเข้าถึงสินค้าหรือบริการ โดยผู้รับบริการจะอาศัยข้อมูลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นพื้นฐานที่ช่วยในการตัดสินใจ ตั้งแต่รถยนต์ ห้องพัก ไปจนถึง เสื้อผ้า ของมือสอง และ กระเป๋าแบรนด์เนม ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเป็นไปได้เพราะการสื่อสารบนเครือข่ายออนไลน์

ตัวอย่างของธุรกิจยอดฮิตแบบ Sharing Economy ที่กำลังเป็นกระแสในสังคมออนไลน์ทั่วโลก ได้แก่

     Airbnb เว็บไซต์ศูนย์รวมพักอาศัยที่เชื่อถือได้โดยเปิดให้คนลงทะเบียนที่พัก ค้นหาและจองสถานที่พักทั่วโลกผ่านระบบออนไลน์หรือผ่านแอพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ การเปิดให้ผู้ที่มีห้องพักว่างสามารถปล่อยเช่าห้องในระยะเวลาที่ต้องการ และมีทีมช่างภาพเดินทางไปถ่ายภาพห้องพักให้ออกมาสวยงามและน่าสนใจ และสำหรับนักท่องเที่ยวเองก็สามารถเปิดเว็บไซต์ Airbnb เพื่อค้นหาห้องพักที่ต้องการ ที่แตกต่างจากเว็บไซต์ให้บริการจองที่พักทั่วไปนั้นคือ รายการที่พักที่ขึ้นทะเบียนบนเว็บไซต์ของ Airbnb นักท่องเที่ยวสามารถค้นหาที่พักที่ตรงตามความต้องการได้จากรายการที่พักกว่า 350,000 แห่งใน 192 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ปัจจุบัน Airbnb มีที่พักในประเทศไทยมีมากกว่า 1,300 แห่ง โดย 400 แห่งนั้นตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ, 250 แห่งในภูเก็ต และ 170 แห่งที่เกาะสมุย ยังมีที่พักในจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศไทย (ประชาชาติธุรกิจ,2556) ซึ่งทาง Airbnb เป็นตัวกลางเพื่อเชื่อมต่อระหว่างผู้ที่ต้องการห้องพัก และเจ้าของห้องพักที่มีห้องว่างเหลืออยู่ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของที่พักและผู้เข้าพักที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ และ Airbnb ทำให้ที่ผู้เข้าพักสามารถจองที่พักจากเจ้าของที่พัก โดยเน้นการนำเสนอประสบการณ์ของผู้เข้าพักและเจ้าของที่พัก และเชื่อมโยงคนที่มีที่พักว่างกับคนที่กำลังมองหาที่พักเข้าหากัน ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโดยเฉลี่ยกว่า 425,000 รายต่อคืน และมีเครือข่ายการให้บริการใน 190 ประเทศทั่วโลก

     อีกตัวอย่างคือ Walking Tour Free ที่กระจายตัวไปยังเมืองใหญ่ๆทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ลอนดอน ปารีส โรม ซานฟรานซิสโก ริโอเดอจาเนโร บูคาเรส โตเกียว โซล ฮานอย และกรุงเทพมหานคร โดยมีไกด์ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ในเมืองนั้นๆ จะมีการออกแบบการทัวร์โดยใช้การเดินและบรรยายความเป็นมาในเมืองนั้นๆ โดยผู้ที่สนใจเพียงแจ้งชื่อไปทางอีเมล์ที่มีอยู่หรือไปรอตามสถานที่ตามเวลานัด ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่าย (ทิปเป็นน้ำใจให้แก่ไกด์โดยไม่กำหนดเงินขั้นต่ำ) โดยที่จะมีผู้ร่วมเดินทางในการเดินเท้าท่องเที่ยวด้วยจะมากหรือน้อยแล้วแต่ช่วงเวลา รวมไปถึงการจัดโปรแกรมเดินทัวร์ในรูปแบบต่างๆ เดินทัวร์ประวัติศาสตร์ เดินทัวร์สถานที่สำคัญ เดินทัวร์ช่วงเวลากลางคืน เดินทัวร์แบบดูธรรมชาติในเมืองใหญ่ เดินทัวร์วัดวาอาราม เดินทัวร์แนะนำร้านอาหาร ซึ่งเป็นการแบ่งปันข้อมูลของคนในพื้นที่ในเมืองนั้นๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเลือกที่จะเดินไปจนสุดโปรแกรมทัวร์หรือจะหยุดในสถานที่ตนเองชื่นชอบก็ได้ กระแสของ Walking Tour Free เกิดจากที่ในปัจจุบันมีการท่องเที่ยวด้วยตนเองมากยิ่งขึ้นการเดินเพื่อท่องเที่ยวในเมืองต่างๆ โดยมีไกด์ท้องถิ่นนำทางและให้ข้อมูลในแบบคนพื้นที่ทำให้นักท่องเที่ยวให้ความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งคนในพื้นที่ที่เป็นไกด์นำเที่ยวบางครั้งอาจจะเป็นนักศึกษา พนักงานบริษัท หรือเจ้าของกิจการ ที่มีเวลาว่างอยากเดินออกกำลังกายและอยากพบปะผู้คนจากหลากหลายประเทศ โดยคนในพื้นที่ที่เป็นไกด์นำเที่ยวก็จะได้ทิปเป็นสินน้ำใจในการพาท่องเที่ยว

     Uber ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง การเรียกแท็กซี่ผ่านแอพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ โดยลูกค้าจะต้องเปิดพิกัด GPS เพื่อให้พนักงานขับรถทราบว่าอยู่ที่ไหน ระบบของ Uber จะค้นหาแท็กซี่ว่างที่อยู่ใกล้ที่สุด และกำหนดให้มารับ โดยทราบว่าคนขับรถแท็กซี่คันนั้นเป็นใคร และรถแท็กซี่คันที่จะมารับนั้นอยู่ที่ไหน ในส่วนของราคาการจ้างแท็กซี่จาก Uber นั้นสามารถดูราคาล่วงหน้าผ่านแอพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ว่าจากต้นทางไปยังปลายทางต้องจ่ายเงินเท่าไร การจ่ายเงินไม่ต้องใช้เงินสดเพราะระบบของ Uber ใช้วิธีผูกบัตรเครดิตไว้กับบัญชีผู้ใช้ แล้วหักค่าโดยสารจากบัญชีบัตรเครดิตแทน Uber ยังมีระบบควบคุมคุณภาพการให้บริการ โดยสามารถให้คะแนนคนขับแท็กซี่ว่ามีการขับรถอย่างไร การให้บริการสุภาพไหม สภาพของรถยนต์สะอาดไหม และสามารถดูประวัติคนขับรถแท็กซี่ได้ล่วงหน้าผ่านแอพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ (Uberresearch ,2015) ระบบนี้ช่วยให้คนขับรถแท็กซี่ในสังกัดของ Uber ต้องประพฤติตัวดีอยู่เสมอ เพราะลูกค้าสามารถแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการได้ตลอดเวลา

     เศรษฐศาสตร์ของการแบ่งปัน (Sharing Economy) ทำให้เห็นว่าผู้คนในโลกก็มีความต้องการที่จะแบ่งปันในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ถ้าจะเก็บไว้อย่างไร้ค่า หากสิ่งนั้นยังสามารถทำให้เกิดประโยชน์โดยการสื่อสารบนเครือข่ายออนไลน์ที่เชื่อมโยงคนทั้งโลกแล้วประกาศออกไปให้เห็นว่ามีของสิ่งนั้นอยู่ สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ที่เป็นเจ้าของ โดยมีช่องทางที่ถูกสร้างโดยเฉพาะในกลุ่มประเภทต่างๆ ซึ่งอยู่ในพื้นฐานที่ทุกคนสามารถมาใช้ทรัพยากรร่วมกันโดยเจ้าของทรัพยากรนั้นก็เกิดรายได้จากทรัพยากรที่เหลือใช้ สิ่งสำคัญคือประเด็นเรื่องความไว้วางใจ (Trust) ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายโครงสร้างธุรกิจแบบ Sharing Economy มากที่สุด (the economist,2013) เพราะผูกติดไปกับประเด็นเรื่องของความปลอดภัย ธุรกิจในลักษณะนี้เน้นการแชร์ หรือแบ่งปันทรัพยากรผ่านการสื่อสารบนเครือข่ายออนไลน์ ใช้สินค้าและบริการกับคนแปลกหน้า ไม่ว่าจะผู้ที่นำรถมาให้บริการรับส่ง หรือผู้ที่เปิดบ้านให้เช่า รวมไปถึงผู้ที่เข้ามาใช้บริการเอง ดังนั้น ธุรกิจลักษณะนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากผู้ประกอบการไม่สามารถหามาตรการสร้างความไว้วางใจต่อการให้บริการ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าจะไม่โดนโกง หรือถูกทำร้ายจากมิจฉาชีพที่แอบแฝงมา ผู้ประกอบการต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยในการให้บริการ การตรวจสอบประวัติของพนักงาน รวมทั้งนำข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์การใช้งานจริงของลูกค้าผ่านการสื่อสารบนเครือข่ายออนไลน์ ที่มาเขียนรีวิวหรือให้ความคิดเห็นไว้บนสังคมออนไลน์หรือบนแอพพลิเคชั่นนั้นๆมาประมวลผล เพื่อปรับปรุงความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะสะท้อนกลับมายังผู้ให้บริการรายนั้นๆว่ามีการบริการเป็นอย่างไร ประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับจาก Sharing Economy คือ ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และช่วยให้การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นเรื่องง่ายๆ การสื่อสารบนเครือข่ายออนไลน์จับคู่ความต้องการของผู้บริโภคให้ตรงกับทรัพยากรที่มีอยู่ในตลาดได้ง่าย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น     

     วัฒนธรรมของการแบ่งปันของสังคมไทยหายไปกับวัฒนธรรมตู้เย็นที่หวงแหนทรัพยากร แต่ในต่างประเทศเศรษฐศาสตร์ของการแบ่งปัน (Sharing Economy) กำลังกลายเป็นวัฒนธรรมของการแบ่งปัน ซึ่งสังคมไทยที่คุ้นชินกับวัฒนธรรมของการแบ่งปันคงต้องกลับมามองว่าจะปรับตัวอย่างไรในวัฒนธรรมของการแบ่งปันแบบใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศไทย เพียงแค่เปิดตู้เย็นดูว่ามีอะไรที่เก็บไว้แล้วอาจจะไม่มีประโยชน์ไม่ทำให้เกิดรายได้ ก็นำออกมาจากตู้เย็นมาลองทำ Sharing Economy อาจจะทำให้เกิดรายได้จากสิ่งที่เก็บไว้แล้วไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งหากมองในมุมของวัฒนธรรมนั้นสามารถวัดได้ โดยนำวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาเปรียบเทียบกันและพิจารณาคุณลักษณะที่สูงกว่าหรือด้อยกว่าของแต่ละวัฒนธรรม แต่ไม่มีวัฒนธรรมใดที่ดีกว่าหรือเลวกว่ากัน

บรรณานุกรม

ภาษาไทย

กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุลย์.(2553). ทฤษฏีสังคมสงเคราะห์ร่วมสมัย. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

จุฑาวรรณ ผดุงชีวิต .(2551). วัฒนธรรม การสื่อสาร และอัตลักษณ์. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

จารุวรรณ ธรรมวัต, นรินทร์พุดลา และ อรอนงค์รุทรทวนิ. (2540). วัฒนธรรมการบริโภคอาหารของชาว อีสาน ภูมิปัญญาและมรดกจากธรรมชาติ. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ณรงค์ ศรีสวัสดิ์ .(2555). การประยุกต์ทฤษฏีสังคมวิทยาในสังคมไทย. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ศิริรัตน์ แอดสกุล .(2555). ความรู้เบื้องต้นทางสังคมวิทยา.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุภางค์ จันทวานิช .(2553). ทฤษฏีสังคมวิทยา. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เสาวภา ไพทยวัฒน์. (2538). พื้นฐานวัฒนธรรมไทยแนวทางอนุรักษ์และการพัฒนา.

       กรุงเทพ : การศาสนา.

สนิท สมัครการ. (2545). การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมกับการพัฒนาสังคม. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.

อคิน รพีพัฒน์. (2551). วัฒนธรรมคือความหมาย: ทฤษฎีและวิธีการของคลิฟฟอร์ด เกียร์ซ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธร.

อมรา พงศาพิชญ์. (2542). ความหลากหลายทางวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ภาษาอังกฤษ

Barker,M., Barker,D., Bormann,N., Neher,K (2013) Social Media Marketing A Strategic Approach. South-Western Cengage Learning .

Bassham,G.,  Irwin,W.,  Nardone,H.,  Wallace,J.M. (2011) Critical Thinking. New York : McGraw-Hill Companies Inc.

Botsman, R., & Rogers, R. (2010). What’s Mine Is Yours: The Rise of Collaborative Consumption. New York, NY: HarperBusiness.

Clow,K.E. & Baack,D. (2014) Intergrated Advertising Promotion and Marketing Communications. London : Pearson Education Inc.

Henry,A. (1998). Consumer behavior and marketing action.(6th ed). Cincinnati, OH :

South-Western College.

Keller,K.L. (2013) Strategic Brand Management Building Measuring and Managing Brand Equity. London : Pearson Education Inc.

Kerlinger,N.F. & Lee,H.B. (2000) Foundations of Behavioral Research. New York : Wadsworth Cengage Learning.

Kotler,P. & Lee,S. (2005) Corporate Social Responsibility. New Jersey : John Wiley & Sons Inc.

Ly,K., Larsen,H., Duyen,N.V. (2013). 2013 Lower Mekong Regional Water Quality Monitoring Report, MRC Technical Paper No. 51. Mekong River Commission, Vientiane, 63 pp.

Martin,J.M. & Nakayama,T.K. (2014) Experiencing Intercultural Communication. New York: McGraw-Hill Companies Inc.

Rogers, E. M. (1973). Communication strategies for familly plamming.  New York: The Free Press.

Salt,S. (2011) Social Location Marketing. Indiana :Que Publishing.

Taylor, E. (1988). Primitive culture: The science of culture. In P.Bohannan & M. Glazer (Eds.), High points in anthropology. New York : McGraw-Hill.

ออนไลน์

การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง (3): โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เปลี่ยนแม่น้ำโขง ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว! (2556, 3 ตุลาคม) สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558, จากhttp://thaipublica.org/2012/10/dam-on-the-mekong-river-3/

เขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบน (2551,15 สิงหาคม) สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558,จากhttp://www.livingriversiam.org/4river-tran/4mk/_sub-th-upper-dam.html

พสุ เดชะรินทร์. (2557,15 เมษายน). ผลกระทบจาก Collaborative Economy.กรุงเทพธุรกิจ,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558, จากhttp://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/574353#sthash.Z2qAZurr.dpuf

วรากรณ์ สามโกเศศ (2556,1 ตุลาคม). sharecations กำลังระบาดในโลก.กรุงเทพธุรกิจ,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558, จาก http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/533355

อภิมหาเขื่อนยักษ์ หายนะแม่น้ำโขง (2558, 23 มกราคม) ไทยรัฐออนไลน์,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558, จาก http://www.thairath.co.th/content/476376

Airbnb-กูเกิล ผนึกพันธมิตร รับจองห้องพักออนไลน์เฟื่อง (2556, 23 เมษายน) ประชาชาติธุรกิจ,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558, จาก http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1366703285

Consumer Intelligence Series The Sharing Economy (2015) PricewaterhouseCoopers ,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558, จาก http://www.pwc.com/us/en/industry/entertainment-media/publications/consumer-intelligence-series/assets/pwc-cis-sharing-economy.pdf

Dimensions for Funders (2015) uberresearch ,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558, จาก http://www.uberresearch.com/

Mekong/Lancang River ( 2013, 1 August)  International Rivers ,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558, จากhttp://www.internationalrivers.org/campaigns/mekong-lancang-river

The rise of the sharing economy (2013, 9 March) the economist ,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558, จาก http://www.economist.com/news/leaders/21573104-internet-everything-hire-rise-sharing-economy

WWF ย้ำต้องหยุดสร้างเขื่อน ก่อนแม่น้ำโขงถูกทำลายทั้งสาย (2556,10 มกราคม)  WWF ,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558, จาก http://www.wwf.or.th/?207221/WWF-Regional-cooperation-on-Mekong-River-in-tatters

Xayaburi Hydropower Project Prior Consultation Process (2011, 22 April) Mekong River CommissionFor Sustainable Development,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558, จาก http://www.mrcmekong.org/news-and-events/consultations/xayaburi-hydropower-project-prior-consultation-process/

กฎหมายกับวัฒนธรรมการแสดงความรักในที่สาธารณะ

ชนินทร  มณีดำต่อความเป็นห่วงวัฒนธรรมอันดีงามที่กำลังมีบทบาทในสังคมไทย มุ่งศึกษากฏหมายเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางความรักในที่สาธารณะของประชาชนไทยในปัจจุบัน ซึ่งมีพฤติกรรมการแสดงออกซึ่งความรัก เช่นการกอดจูบในที่สาธารณะกันมากขึ้น จึงควรพิจารณาพฤติกรรมดังกล่าวในแง่ความชอบด้วยกฏหมายซึ่งเป็นปทัสฐานอย่างหนึ่งในสังคม โดยการกระทำดังกล่าวมีบทบัญญัติแห่งประมวลกกฏหมายอาญามาตรา ๓๓๘ ได้บัญญิติไว้ว่า    “ผู้ใดกระทำการอันควรขายหน้าต่อธารกำนัล          โดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอย่างอื่นต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท”

กฎหมายกับวัฒนธรรมการแสดงความรักในที่สาธารณะ

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชนินทร์ มณีดำ

อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศษสตร์และสังคมศาสตร์

wp-2131230

Figure1 time square วันประกาศชัยชนะBytesMaster (http://bytesdaily.blogspot.com/2013_06_01_archive.html)

บทคัดย่อ

ในปัจจุบัน วัฒนธรรมการแสดงความรักในที่สาธารณะของคนหนุ่มสาว  ไม่ว่าจะเป็นการกอด จูบ ลูบไล้ สัมผัสร่างกายซึ่งกันและกัน  ต่างเริ่มแพร่หลายขึ้นในสังคมไทยดังที่เราจะเห็นได้ตามห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง หรือแหล่งวัยรุ่นต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องศึกษาถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความรักดังกล่าวว่า  ว่ายังมีความเหมาะสมที่จะช่วยรักษาปทัสฐานอันดีงามของสังคม  หรือจัดเป็นโทษที่ล้นพ้นสมัยไปแล้ว ในบทความชิ้นนี้

Abstract

Nowadays, the physical touching is widespread in public place among Thai teenagers which can see in Department Store, night club and public road. This article, the author will describe about the suitable of the expression of  love law in public place. Moreover, the author will express whether this law is suitable or out of date

วัฒนธรรมการแสดงออกซึ่งความรักในปัจจุบัน

จากกระแสปัจเจกชนนิยมที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การแสดงความรักในที่สาธารณะของคนหนุ่มสาว  ไม่ว่าจะเป็นการกอด จูบ ลูบไล้ สัมผัสร่างกายซึ่งกันและกัน  ต่างเริ่มแพร่หลายขึ้นในสังคมไทยดังที่เราจะเห็นได้              ตามห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง หรือแหล่งวัยรุ่นต่าง ๆ

ในช่วงเดือน พฤษจิกายน 2557 ก็ได้มีข่าวคลิปภาพถ่ายวีดีทัศน์ที่ก่อกระแสสังคม โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์กันในสื่ออีเลคทรอนิคในขณะนั้นอย่างกว้างขวาง เนื้อหาภาพถ่ายวีดีทัศน์เกี่ยวกับ การที่มีคู่รักเพศหญิง ( ทอม-ดี้ ) ซึ่งได้โดยสารบนรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นที่สาธารณะ  ได้มีการแสดงความรักกอดจูบกันโดยเปิดเผย  โดยภายใภาพถ่ายวีดีทัศน์ชุดดังกล่าวได้มีพลเมืองดีหลายท่าน  พยายามต่อว่าถึงความไม่เหมาะสมในการกระทำดังกล่าว   ซึ่งเมื่อภาพถ่ายวีดีโอชุดนั้นเผยแพร่ต่อสาธารณชน  ก็ได้มีผู้แสดงความคิดเห็นมากมาย ซึ่งตามทรรศนะของจอห์น สจ๊วตมิลล์ ความจริงอันเป็นที่สุดจะปรากฎหากเปิดโอกาสให้สังคมได้ทำการถกเถียงปัญหาดังกล่าวอย่างเต็มที่  ซึ่งผู้เขียนได้สังเกตทรรศนะของมหาชนต่อเรื่องดังกล่าวและพยายามแยกแยะแนวคิดที่แตกต่างหลากหลายออกมาได้โดยสังเขปสองแนวทาง  ดังนี้

1.แนวคิดฝั่งสนับสนุนการแสดงความรักในที่สาธารณะอย่างเปิดเผย  แนวคิดนี้เชื่อในเสรีภาพในการแสดงออกของปัจเจกชนซึ่งมีอุดมการณ์เสรีนิยมกำกับ  โดยมีทรรศนะต้องตรงกันอย่างชัดแจ้งว่า เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความรักนี้ หากแสดงออกด้วยวิธีการจูบปากซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการแสดงความรักสากล ( หลายวัฒนธรรมเช่นอังกฤษใช้การจูบเป็นการทักทาย หรือแม้แต่ประเทศไทยเองในงานมงคลสมรส จุดหนึ่งที่เด่นในพิธีการคือการจูบกันของคู่บ่าวสาว  สามารถทำได้ แม้จะกระทำกันในที่สาธารณะ ตราบเท่าที่การแสดงออกนั้นไม่กระทบกระเทือนเสรีภาพของผู้อื่น

2. แนวคิดฝั่งต่อต้านการแสดงความรักในที่สาธารณะอย่างเปิดเผย  แนวคิดนี้มาจากอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ซึ่งมีทรรศนะต้องตรงกันว่า  การใช้เสรีภาพแสดงออกซึ่งความรักดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ทำลายรากฐานของวัฒนธรรมอันดีงามในสังคมไทย  โดยมีทรรศนะต้องตรงกันว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นสิ่งแปลกปลอมจากวัฒนธรรมของต่างประเทศ  ซึ่งจะมาทำลายสิ่งดีงามในวัฒนธรรมไทย  เป็นที่น่าสังเกตว่าแนวคิดอนุรักษ์นิยมดังกล่าวมีอุดมการณ์ชาตินิยมกำกับอยู่ด้วย ( และน่าสังเกตว่าบุคคลกลุ่มหลังมีแนวโน้มที่เห็นว่าการเข้าไปว่ากล่าวตักเตือนบุคคลที่กระทำการแสดงความรักทางสาธารณะดังกล่าว สามารถกระทำได้โดยชอบ )

ความขัดแย้งดังกล่าวถือว่าเป็นกรณีที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจมาก  สำหรับหลายหัวข้อวิชา ทั้งสังคมศาสตร์  รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์  พฤติกรรมศาสตร์ ตลอดจนจิตวิทยาการทดลอง แต่ผู้เขียนขอเลือก กฎหมายอันเป็นปทัสฐานหนึ่งที่ใช้ชี้วัดความถูกผิด ของผู้คน เกิดขึ้นพร้อมกับวิวัฒนาการมาจากจิตวิญญาณประชาชาติ  : ปรีดี เกษมทรัพย์ (2553 น. 230 – 231  ) ในสังคมเป็นแกนกลางในการศึกษาว่ากฎหมายมีมุมมองต่อเรื่องดังกล่าวอย่างไร

กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง

    ก่อนจะพิเคราะห์ถึงเรื่องกฎหมายอันเป็นปทัสฐานหนึ่งของสังคม เราต้องมาพิเคราะห์ถึงสภาพสังคมไทยเสียก่อน โดยเฉพาะค่านิยมทางด้านเพศของประเทศไทยที่ถือเป็นอุดมคติ ตามอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมในปัจจุบัน     ที่หญิงชาย จะต้องทำการรักนวลสงวนตัว ไม่แสดงออกซึงความรักอย่างเกินเลยในที่สาธารณะ จะสงวนแสดงความรักและการมีเพศสัมพันธ์ไว้กับคู่สมรสของตน  ตลอดจนการนุ่งห่มก็ต้องมีการเปิดเผยร่างกายแต่น้อย มีการปิดของสงวนไว้อย่างมิดชิดทั้งชายหญิงนั้น  แม้ผู้เขียนจะเห็นว่าเป็นค่านิยมในเชิงจริยธรรมของประเทศอังกฤษในยุคพระราชินีวิคตอเรีย  ที่ประเทศไทยเพิ่งรับเข้ามาในยุค Westernization หรือการปรับให้เป็นตะวันตก ในสมัยรัชการที่ 5 เท่านั้น ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มมาตรฐานทางจริยธรรมในระดับที่สูงกว่าค่านิยมของไทยเดิมที่ค่อนข้างมีเสรีภาพทางเพศทั้งทางด้านการแสดงความรักต่อที่สาธารณะ และการเปิดเผยร่างกายมากกว่านี้  ซึ่งผู้เขียนขอยกตัวอย่างการอธิบายด้วยหลักฐานเชิงโบราณคดีโดยสังเขปดังนี้

  ส่วนหนึ่งของภาพจิตรกรรมการแสดงความรักอย่างเปิดเผยของชายหญิงในวัดพระแก้วในสมัยรัตนโกสินทร์ http://atcloud.com/stories/47300

ร้อยกรองในวรรณคดีลิลิตพระลอซึ่งเชื่อกันว่าแต่งขึ้น กล่าวถึงการเสพเมถุนแบบหนึ่งชายสองหญิงระหว่างพระลอตัวเอกและพระเพื่อนพระแพง อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ

สะเทือนฟ้าฟื้นลั่น สรวงสวรรค์

พื้นแผ่นดินแดยัน หย่อนไส้

คลื่นอึงอรร- ณพเฟื่อง ฟองนา

แลทั่วทิศไม้ไหล้ โยกเยื้องอัศจรรย์ ฯ

ขุนสีห์คลึงคู่เคล้า สาวสีห์

สารแนบนางคชลี ลาสเหล้น

ทรายทองย่องยงกรี- ฑาชื่น ชมนา

กะต่ายกะแตเต้น ตอบเต้าสมสมร ฯ

ทินกรกรก่ายเกี้ยว เมียงบัว

บัวบ่บานหุบกลัว ภู่ย้ำ

ภุมรีภมรมัว เมาซราบ บัวนา

ซอนนอกในกลีบกล้ำ กลิ่นกลัวเกสร ฯ

บคลาไคลน้อยหนึ่ง ฤๅหยุด อยู่นา

ยังใคร่ปองประติยุทธ์ ไป่ม้วย

ปรานีดอกบัวบุษป์ บชื่น ชมนา

หุบอยู่บบานด้วย ดอกสร้อยสัตบรรณ ฯ

    เป็นที่น่าสงสัยและตั้งคำถามว่า ค่านิยมทางเพศตามอุดมคติวิคตอเรีย  เป็นสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมของไทยแท้หรือไม่ เพราะความเป็นไทยที่แท้จริงคือการผสมผสานความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของต่างชาติ  แต่อย่างไรก็ตามค่านิยมทางเพศที่ไทยเราได้รับมาจากยุควิคตอเรียดังกล่าว ก็อาจถือได้ว่าได้เกลื่อนกลืนกันกลายเป็นวัฒนธรรมจารีตนิยมของไทยในปัจจุบันไปเรียบร้อย  และในตามหลักการวิวัฒนาการของกฎหมายถือว่าค่านิยมทางเพศดังกล่าวถือว่ากลายเป็น “กฎหมายประเพณีของไทย” เนื่องจากมีสภาพบังคับทางศีลธรรมที่ว่าใครไม่ปฎิบัติตามจะรู้สึกว่าผิด และเป็นสิ่งที่ประชาชนประพฤติปฎิบัติกันมาอย่างนมนาน ( ในแง่ที่ว่าปฎิบัติมาตั้งแต่เกิด เพราะค่านิยมดังกล่าวแม้ประเทศไทยจะเพิ่งรับมาในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ก็ถือว่านมนามพอที่จะเข้าองค์ประกอบการเกิดขึ้นของกฎหมายประเพณี ) : ปรีดี เกษมทรัพย์ ( 2553 น.287-308) และรัฐก็ได้มอบสภาพบังคับโดยได้บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญามาตรา 388   แต่เนื่องจากความเจริญทาง สังคมไทยในปัจจุบันค่อนข้างเป็นสังคมจารีตนิยม  ซึ่งนับวันจะถูกท้าทายจากอุดมการณ์เสรีนิยมมากขึ้น ๆจึงจำเป็นที่ศึกษาถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความรักดังกล่าวว่า  ยังมีความเหมาะสมที่จะช่วยรักษาปทัสฐานอันดีงามของสังคม  หรือจัดเป็นโทษที่ล้นพ้นสมัยไปแล้ว

    กฎหมายของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการแสดงออกซึ่งค่านิยมทางเพศดังกล่าว อยู่ในส่วนของบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งหากมองในมุมมองสำนักกฎหมายประเทศเยอรมันนี จะถือว่ากฎหมายอันว่าด้วยความผิดและการลงโทษนี้เป็นสาขาหนึ่งในกฎหมายมหาชน ที่รัฐมุ่งใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการควบคุมพฤติกรรมบุคคลในสังคมหรืออาจกล่าวได้ว่าความผิดทางอาญามาจาก “ปทัสฐาน” ในสังคมนั่นเอง : คณิต ณ นคร(2551, น. 130 -131)   ในส่วนความผิดเกี่ยวกับเพศซึ่งมักเป็นความผิดที่มีโทษค่อนข้างหนักนั้น ได้มีบทบัญญัติเฉพาะไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ภาคความผิด ลักษณะ 9 นซึ่งเป็นกรณีที่ไม่ตรงกับวัตถุที่บทความนี้มุ่งศึกษานัก  แต่บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการแสดงออกซึ่งค่านิยมทางเพศ  การแสดงความรักในที่สาธารณะนั้นกฎหมายไทยได้เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการประพฤติผิดปทัสถานอันกระทบต่อการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในสังคมที่ร้ายแรงพอสมควรจนได้กำหนดเป็นความผิดอาญาไว้   :คณิต ณ นคร(2551, น. 130 -131 )   ซึ่งมีบทบัญญัติที่สามารถปรับใช้ได้โดยตรงดังนี้  คือ บทบัญญัติหมวดลหุโทษ  มาตรา 388ซึ่งอาจารย์ทวีเกียรติมีความเห็นว่าเป็นบทบัญญัติลหุโทษในส่วนของความผิดอันเกี่ยวกับศีลธรรมอันดี :ทวีเกียรติ  มีนะกนิษฐ (2550, น.  419) ซึ่งบัญญัติว่า  “ผู้ใดกระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล โดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอย่างอื่น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท”  ซึ่งฐานความผิดตามมาตรา 388 ดังกล่าวอาจแยกองค์ประกอบของความผิดนี้ได้ กล่าวคือ”   องค์ประกอบภายนอกของความผิด       แบ่งออกได้เป็นสองลักษณะคือ

1.ผู้ใดกระทำการอันควรขายหน้าต่อธารกำนัล โดยเปลือยหรือโดยเปิดเผยร่างกาย ( ซึ่งลักษณะของการกระทำความผิดดังกล่าวอาจอยู่นอกขอบเขตของการศึกษาตามบทความฉบับนี้ แต่ก็เป็นกรณีที่สมควรจะกระทำการศึกษาในงานเขียนวิชาการชิ้นต่อไป )

2. ผู้ใดกระทำการอันควรขายหน้าต่อธารกำนัล โดยกระทำการลามกอย่างอื่น ( ซึ่งเป็นกรณีโดยตรงที่บทความนี้มุ่งศึกษาถึงขอบเขตของการกระทำใดว่า “ควรขายหน้าต่อธารกำนัล หรือเป็นการกระทำการลามกอย่างอื่น” หรือไม่ ซึ่งผู้เขียนบทความจะทำการศึกษาโดยละเอียดต่อไป ) อาจแยกธาตุในส่วนองค์ประกอบที่ว่า  การกระทำใดถือเป็นการกระทำต่อหน้าธารกำนัล”นั้นตามกฎหมายอาญาให้ หมายความถึงการกระทำที่ประชาชนเห็นได้ ( ตามฎีกาที่ 770/2482 และฎีกาที่  1231 /2482 ) และ อ.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ได้ให้ความเห็นว่าต่อหน้าธารกำนัล จะเป็นความผิดได้ก็ต่อเมื่อมีคนเห็นเท่านั้น ดี ทวีเกียรติ  มีนะกนิษฐ (2550, น. 421)หากไฟดับหรือไม่มีผู้พบเห็นไม่ถือเป็นการกระทำต่อหน้าธารกำนัล ( ตามฎีกาที่ 932 / 2529  และ ฎีกาที่ 1173/2508 )

    แต่การตีความคำว่า “การกระทำใดอันควรเป็นการขายหน้า” นั้นแม้จะไม่เคยมีการวิเคราะห์ไว้โดยคำพิพากษาของศาลฎีกาว่า หมายถึงการกระทำในระดับใด แต่ทว่าอาจารย์ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ  ได้ให้ความเห็นไว้ว่า หมายถึง การกระทำที่น่าอับอาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของประชาชนและขนบธรรมเนียมประเพณี ส่วนมากมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรมทางเพศ และอาจารย์จิตติ ติงศภัทริย์ ได้เคยให้ความเห็นไว้ในกฎหมายอาญาของท่านว่า  การกระทำอันควรขายหน้าน่าจะหมายถึง การกระทำที่เป็นที่อับอายแก่ผู้พบเห็น ไม่จำกัดเฉพาะเกี่ยวกับความใคร่หรือเพศเท่านั้น  เช่น การแต่งกายชุดว่ายน้ำมาซื้อของที่สนามหลวง : จิตติ ติงศภัทยิ์( 2548น. 1223)

    ในส่วนของการกระทำลามกอย่างอื่นด้วยนั้นเมื่อพิจารณาจากต้นร่างบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญามาตรา 388 ซึ่งได้แก่กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127  ซึ่งได้บัญญัติว่า ผู้ใดเปลือยกาย หรือกระทำการอย่างอื่น ๆ อันควรขายหน้าต่อธารกำนัล ท่านว่ามันมีความผิด ต้องระวางโทษชั้น 4 และรวมความในมาตรา  337(1) ที่ว่า ผู้ใดแสดงวาจาลามกอนาจารต่อหน้าธารกำนัล ท่านว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษชั้น 3  เข้าไว้ ในความหมายของคำว่ากระทำการลามกอย่างอื่นด้วย    ตลอดจนพิเคราะห์ถึงถ้อยคำในบทบัญญัติมาตรา 388 เอง  จะเห็นได้ว่า  การกระทำลามกอย่างอื่นนั้น จะต้องอยู่ในระดับเดียวกันกับ การเปลือย หรือการเปิดเผยเนื้อตัวร่างกายนั่นเอง

    ศาลฎีกาได้เคยใช้ดุลพินิจตีความไว้ในคดีที่ 1173/2507  สามีโกรธภรรยาจึงแก้ผ้าภรรยากลางถนนจัดเป็นความผิดฐานนี้  ตลอดจนได้มีการขยายการใช้ดุลพินิจให้ การกระทำลามกอย่างอื่นให้รวมถึงการว่ากล่าวกันด้วยคำอนาจารด้วย   ด่าคำว่า “……..” ใช้คำเช่น “เจ้าหน้าที่………” ถือเป็นการกระทำลามกอย่างอื่นตามมาตรานี้ ( ฏีกา 578/2478  291/2482  1231/2482 ) และในช่วงถัดมาศาลได้ขยายดุลพินิจการปรับใช้กฎหมายดังกล่าวให้ขยายรวมถึงการด่ากันด้วยคำหยาบคายด้วย   แต่อย่างไรก็ตามตั้งแต่ พ.ศ.2528 ยังไม่มีคำพิพากษาฎีกาในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด : ประภาศ อวยชัย  (2546, น. 3618-3619)

    กรณีอันเป็นที่น่าศึกษาว่า หากเป็นการจูบกอดแสดงความรักกันในที่สาธารณะ ศาลจะมีดุลพินิจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีดังกล่าวอย่างไร ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีคำพิพากษาในกรณีดังกล่าว  ซึ่งอาจจะเป็นเพราะสาเหตุที่สภาพของความผิดเองที่เป็นความผิดลหุโทษ เจ้าพนักงานสอบสวนสามารถเปรียบเทียบปรับเพื่อให้คดีสิ้นสุดลงได้  และเจ้าพนักงานมักจะใช้ดุลพินิจเอาโทษผู้กระทำความผิดในส่วนของการกระทำที่เข้าองค์ประกอบ  ผู้ใดกระทำการอันควรขายหน้าต่อธารกำนัล โดยเปลือยหรือโดยเปิดเผยร่างกายซึ่งหมายความถึงการเปลือยให้เห็นอวัยวะเพศชายหรือทวารหนัก  ตลอดจนการเปลือยอก  หรือเปลือยให้เห็นอวัยวะเพศหรือรูทวารหนักในเพศหญิง  ตัวอย่างเช่นกรณี นายเพชรทาย วงคำเหลา (http://www.oknation.net/blog/black/2009/03/19/entry-1) หรือหม่ำ จ๊กมกแก้ผ้าโชว์อวัยวะเพศ หรือสาววัยรุ่นที่ เปลือยอกในวันสงกรานต์ (http://www.bangkokbiznews.com/ )

    แม้นว่าในส่วนของการแสดงความรักในที่สาธารณนี้แม้ยังไม่เคยมีฎีกาที่พิพากษาตัดสินก็จริง  แต่จากแนวคำอธิบายของศาสตราจารย์ประภาศ อวยชัย นั้นเห็นว่า การกระทำการลามกอย่างอื่น แม้ไม่เปลือยหรือเปิดเผยร่างกายก็เป็นความผิดได้ เช่น แค่แสดงท่าร่วม ประเวณีให้คนดู  ชายหญิงกอดจูบลูบไล้กันท่ามกลางสายตาผู้คนที่เดินผ่านไปมา  ( ประภาศ อวยชัย 3617-3618 ) และอาจารย์สภิตย์ ไพเราะ ให้ความเห็นไว้ว่าต้องพิเคราะห์ถึง ประเพณีและอายุประกอบด้วย   เช่น มารดาเปิดนมให้ลูกกินไม่เป็นการลามกแต่อย่างไร สถิต ไพเราะและอาจารย์หยุด แสงอุทัย  ปรมาจารย์กฎหมายหัวก้าวหน้าท่านหนึ่งได้ให้ความเห็นไว้ด้วยเช่นกันว่า  ชายหญิงแสดงความรักต่อกัน เป็นความผิดตามมาตรานี้ : หยุด  แสงอุทัย (2553, น.  401-402)

    เมื่อพิเคราห์ถึงแนวทางการให้ความหมายของการกระทำการลามกอย่างอื่น ของปรมาจารย์กฎหมายท่านต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น   และ พิเคราะห์ถึงแนวทางการใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวางมากของศาลกรณีความผิดตามมาตรา 388 กล่าวคือ ศาลได้ตีความกว้างขวางไปยังคำหยาบในเชิงอนาจารให้รวมเป็นการกระทำลามกอย่างอื่นด้วย ตลอดจนแนวทางจารีตนิยมจากแนวทางการใช้กฎหมายของศาลยุติธรรมในไทย  จะเห็นได้ว่าศาลและเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่  น่าจะพิเคราะห์พฤติกรรมการแสดงความรักในที่สาธารณะ  ว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 388 นั่นเอง  ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ มีโทษปรับอย่างเดียวไม่เกินห้าร้อยบาทนั่นเอง   ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจในการศึกษาต่อไปว่าการปรับใช้กฎหมายดังกล่าวถือเป็นขัดต่อสิทธิมนุษยชนเกินสมควรหรือไม่

    เนื่องจากการปฎิวัติระบบการติดต่อสื่อสารคมนาคม และการเปิดกว้างทางความคิดแบบเสรีนิยม โลกในปัจจุบันซึ่งเรียกว่ายุค “โลกแบน” อันหมายถึงโลกยุคใหม่ที่ความสามารถในการติดต่อสื่อสารสามารถชนะเขตพรมแดนได้  การเป็นวัฒนธรรมเดียวกันของทั้งโลก มิได้มีการแบ่งแยกกันด้วยเขตประเทศมากขึ้นในประเทศหรือภูมิภาคที่สิทธิเสรีภาพ ของมนุษยชนได้รับความคุ้มครองอย่างดี เช่น ทวีปยุโรป  สิทธิการแสดงออกทางเพศ เช่นการแสดงความรักในที่สาธารณะจะได้รับความคุ้มครอง  การเปลือยอกสำหรับสตรีสามารถทำได้ทุกที่ หรือแม้กระทั่งการเปลือยอวัยวะเพศ ล้วนแล้วแต่สามารถทำได้หากมีการขออนุญาตจากสาธารณะก่อน   จึงควรที่เจ้าพนักงาน หรือศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณาความผิดตามมาตรา 388 นี้ควรนำเอาหลักคิดจากประเทศตะวันตกที่มีการประกันเสรีภาพของประชาชนอย่างดี มาประกอบดุลพินิจตน  ไม่ใช่จะอ้างอิงใช้ดุลพินิจว่าการกระทำใดเป็นการ  “กระทำลามกอย่างอื่น” จากมุมมองแง่ความเป็นไทยสมัย Westernlization อย่างเดียว

    สรุป ในปัจจุบัน สืบเนื่องจากกระแสโลกาภิวัฒน์ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งแต่ละวัฒนธรรมในโลกล้วนวิวัฒนาการไปในแนวทางเดียวกัน คือมีทิศทางมุ่งหน้าต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของเพื่อนมนุษย์ และตระหนักถึงเสรีภาพในการกระทำของตนเช่นกัน ทำให้วัฒนธรรมลักษณะปัจเจกชนนิยม เสรีนิยมแพร่หลายในแต่ละสังคม รวมทั้งในประเทศไทย ซึ่งในบทความชิ้นนี้ได้มุ่งศึกษากฎหมายเกี่ยวกับวัฒนธรรมการแสดงออกทางความรักในที่สาธารณะของประชาชนไทยในปัจจุบัน  ซึ่งมีพฤติกรรมการแสดงออกซึ่งความรัก เช่นการกอดจูบในที่สาธารณะกันมากขึ้น จึงควรพิจารณาพฤติกรรมดังกล่าวในแง่ความชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นปทัสฐานอย่างหนึ่งในสังคม  โดยการกระทำดังกล่าวมีบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 338 ได้บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดกระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล โดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอย่างอื่น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท   ซึ่งการกอดจูบในที่สาธารณะนั้นยังไม่เคยมีการตีความโดยองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะองค์กรตุลาการว่า เป็นการกระทำอันควรขายหน้าต่อธารกำนัลโดยการกระทำลามกอย่างอื่นหรือไม่  ซึ่งหากพิจารณาตามมาตรฐานสากลแล้วควรจะถือว่าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นการกระทำลามกอย่างอื่น โดยสภาพ จึงจะสอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัฒน์ในคริสต์ศตวรรษที่ 21


อ้างอิง

คณิต ณ นคร(2551). กฎหมายอาญาภาคทั่วไป. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือกฎหมายวิญญูชน.

ทวีเกียรติ  มีนะกนิษฐ (2550).หลักกฎหมายอาญาภาคทั่วไป. (พิมพ์ครั้งที่ 9). กรุงเทพฯ : วิญญูชน.

ทวีเกียรติ  มีนะกนิษฐ (2556). คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิดและลหุโทษ. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : วิญญูชน.

ปรีดี เกษมทรัพย์ ( 2553 ).นิติปรัชญา .(พิมพ์ครั้งที่ 11 ).กรุงเทพฯ :โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์                                              

ประภาศ  อวยชัย  (2546). ประมวลกฎหมายอาญา เล่มที่ 6 มาตรา 309 ถึงมาตรา 398 พร้อมด้วยคำอธิบายและย่อข้อกฎหมายจากคำพิพากษาฎีกา ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ถึง 2546 (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมชูปถัมภ์.

สถิต ไพเราะ  คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญาภาค มาตรา 209 – 287 และมาตรา 367 – 398. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ พลสยาม พริ้นติ้ง (ประเทศไทย).

หยุด  แสงอุทัย (2553). กฎหมายอาญาภาค2 – 3. (พิมพ์ครั้งที่ 11). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาลัยธรรมศาสตร์.