วัฒนธรรมของการแบ่งปันวัฒนธรรมตู้เย็นและเศรษฐศาสตร์ของการแบ่งปัน

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สิงห์ สิงห์ขจร

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารในองค์การ

คณะวิทยาการจัดการ มรภ. บ้านสมเด็จเจ้าพระยา

     สภาพสังคมไทยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา วิถีชีวิตของคนไทยแบบดั้งเดิมกำลังเสื่อมหาย ความอบอุ่น ความมีน้ำใจและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติเริ่มลดน้อยเสื่อมถอยลงไป การรับเอาวัฒนธรรมค่านิยมตะวันตกและความเจริญทางด้านวัตถุเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาซับซ้อนมากมายในสังคม เพราะสังคมต่างมองและยอมรับว่า ค่านิยมเหล่านี้จะนำตัวเองไปสู่ความทันสมัย ความเจริญรุ่งเรืองเท่าเทียมกับอารยประเทศได้ จนทำให้สังคมกลายเป็นสังคมที่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นเกิดความเห็นแก่ตัวมากยิ่งขึ้น ทำให้ลืมไปว่าแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่สังคมควรให้ความสำคัญและไม่ควรละเลยก็คือการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข การช่วยเหลือแบ่งปัน ร่วมมือซึ่งกันและกันในสังคม และจุดเริ่มต้นที่จะทำให้สังคมเป็นสังคมที่เจริญอย่างแท้จริง

     ในอดีตสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน การแบ่งปันที่พบเห็นได้อย่างชินตาในสังคมไทยคือการแบ่งปันอาหาร บ้านไหนมีการทำอาหารแกงประเภทต่างๆ เมื่อทำเสร็จแล้วก็จะนำมาแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านคนในชุมชน รวมไปถึงผักและผลไม้ ยังไม่รวมถึงเนื้อสัตว์ประเภทต่างๆที่นำมาแบ่งปันกันให้กับคนในชุมชน ซึ่งเป็นสังคมไทยในอดีต ปัจจุบันสังคมแห่งการแบ่งปันอย่างในอดีตได้เลือนหายไป เหตุใดที่สังคมแห่งการแบ่งปันจึงหายไป หรืออาจจะเกิดจากการที่ตู้เย็นได้รับความนิยมเป็นที่แพร่หลายในสังคมไทย ซึ่งตู้เย็นนั้นสามารถเก็บถนอมอาหารได้เป็นระยะเวลานานทำให้เกิดการหวงแหนทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่ ทั้งที่เก็บไว้ในตู้เย็นแล้วจะได้นำออกมาใช้ใหม่เมื่อไรก็ไม่รู้ แต่เก็บไว้ก่อน วัฒนธรรมตู้เย็นทำให้การแบ่งปันของคนในสังคมเปลี่ยนไป อาจจะอธิบายได้โดยทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม (Cultural Diffusion Theory) ของโรเจอร์ (Roger,1973) การแพร่กระจายทางวัฒนธรรมเป็นกระบวนการที่มีลักษณะสำคัญของวัฒนธรรมหนึ่งแพร่กระจายไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง โดยปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมใหม่  วัฒนธรรมเปลี่ยนไปเพราะนวัตกรรม วัฒนธรรมตู้เย็นเกิดจากนวัตกรรมที่เรียกว่าตู้เย็นทำให้วัฒนธรรมของการแบ่งปันในสังคมไทยถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นวัฒนธรรมตู้เย็น

     จากคำบอกเล่าสังคมอีสานเน้นการแบ่งปันการเอื้อเฟื้อภายในครอบครัวและกลุ่มเครือญาติไว้สูงมาก ดังคำสุภาษิตที่ว่า บ่กินผักบ่มีเหยื่อท้อง บ่เอาพี่น้องสิเสียหน่อแนวดี หมายความว่า ไม่กินผักไม่มีกากอาหาร ไม่รักพี่น้องย่อมเสียญาติเสียเผ่าพันธุ์ กินบ่ปันหมู่ บาดห่างูเขียวเกี้ยว บ่มีไผเอาออก หมายความว่า กินไม่แบ่งปันคนอื่น เมื่อมีอันตรายใครจะช่วยเหลือ (จารุวรรณ,2540) ซึ่งในอดีตชาวบ้านมีการแบ่งปันสิ่งของให้กันในชุมชน บ้านไหนทำอาหารอะไรก็นำมาแบ่งปันกันให้กับคนในชุมชน แต่ภายหลังจากการที่คนในชุมชนที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานคร และได้นำตู้เย็นที่นายจ้างหรือเจ้าของกิจการได้เปลี่ยนตู้เย็นและยกตู้เย็นเครื่องเก่าให้กับคนในชุมชนแล้วคนในชุมชนกลับมายังชุมชนก็ได้นำตู้เย็นกลับมาใช้ในพื้นที่แล้วนั้นทำให้สังคมแห่งการแบ่งปันในชุมชนเริ่มลดน้อยลง จากอดีตที่มีการถามกันเวลามีเสียงตำพริกโดยใช้ครกของบ้านข้างๆว่าวันนี้ทำอะไรกินกัน คนบ้านข้างๆก็จะบอกว่าทำแกงอะไร และจะลงท้ายด้วยว่าทำเสร็จแล้วจะแบ่งไปให้นะ แต่ในปัจจุบันหากมีการถามกันเวลามีเสียงตำพริกโดยใช้ครก ก็จะได้คำตอบว่าทำน้ำพริก ทั้งๆที่จริงกลิ่นของอาหารที่ทำเป็นแกงเขียวหวาน การแบ่งปันได้เลือนหายไปจากคนในชุมชนหลังจากการเข้ามาของตู้เย็น ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าสังคมแห่งการการแบ่งปันในอดีตนั้นอาจจะเกิดจากการที่ไม่สามารถจะเก็บรักษาทรัพยากรของตนเองได้ การแบ่งปันให้กับคนในชุมชนอาจจะดีกว่าปล่อยให้ทรัพยากรนั้นเสียไปโดยไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แต่ในบางครั้งก็มีการเก็บของไว้ในตู้เย็นจนหมดอายุหรือเสียไปก็ต้องนำไปทิ้งอยู่ดี แล้วทำไมถึงต้องหวงแหนทรัพยากรของตนเองที่เก็บไว้ใส่ตู้เย็นแล้วก็นำเอาออกมาทิ้งอยู่ดี หากนำมาแบ่งปันให้คนรอบข้างจะดีกว่าหรือไม่ อย่าคิดว่าเก็บเผื่อไว้ก่อนเดี๋ยวเผื่อจะมีประโยชน์ในอนาคต ซึ่งปัญหาดังกล่าวหากมองเป็นภาพใหญ่ขึ้นมานั้นจะทำให้เห็นว่าประเทศต่างๆบนโลกนี้ ในปัจจุบันนั้นมีความหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติที่ตนเองมีอยู่มากยิ่งขึ้น ปัญหาพลังงาน ปัญหาภาวะโลกร้อน ปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำ ปัญหาอุทกภัย ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติของประเทศต่างๆบนโลกนี้ เริ่มมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ภาพที่อาจจะสะท้อนให้เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้นในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

     แม่น้ำโขงนั้นเป็นแม่น้ำสายนานาชาติ ที่มีความยาวทั้งหมด 4,909 กิโลเมตร มีการร่วมกันใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำไล่ลงมาจนถึงประเทศปลายน้ำก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลลงสู่ทะเล ประเทศจีน ประเทศเมียนมาร์ ประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา และประเทศเวียดนาม ได้ร่วมกันใช้ทรัพยากรธรรมชาติจากแม่น้ำโขงร่วมกันหลายร้อยหรืออาจจะหลายพันปี การเรียกชื่อแม่น้ำก็มีการเรียกแตกต่างกันไปตามประเทศที่แม่น้ำไหลผ่าน อย่างในประเทศจีนมีชื่อเรียกว่า แม่น้ำหลานชางเจียง ในส่วนของประเทศพม่า และประเทศลาว เรียกว่า แม่น้ำของ แต่ในประเทศไทยเรียกว่า แม่น้ำโขง ซึ่งแม่น้ำโขงเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า แร่ธาตุต่างๆ และแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี มีประชากรประมาณ 300 ล้านคน อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขง มีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก สามารถปลูกข้าวมีผลผลิตประมาณ 32 ล้านตันต่อปี ทำการประมงและผลผลิตจากแหล่งนิเวศน์น้ำสูงมากถึง 2 ล้านตันต่อปี 

     ประเทศจีนได้สร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าบนแม่น้ำโขง เขื่อนพลังงานไฟฟ้า 5 เขื่อนที่สร้างแล้วเสร็จ ในแม่น้ำโขงตอนบน เพื่อผลิตไฟฟ้า โดยมีเขื่อนมันวานเป็นเขื่อนแรกของโครงการที่ถูกสร้างขึ้นและแล้วเสร็จในปี 2539 เขื่อนดาเชาฉาน เป็นเขื่อนที่สองแล้วเสร็จในปี 2546 เขื่อนที่สามคือเขื่อน เสี่ยววาน แล้วเสร็จในปี 2555 ด้วยขนาดความสูง 292 เมตรนี้ เขื่อนเสี่ยววานกลายเป็นหนึ่งในเขื่อน ที่มีความสูงที่สุดในโลก  เขื่อนที่สี่คือเขื่อนกอนเกาเฉียว แล้วเสร็จในปี 2555  เขื่อนที่ห้าคือเขื่อนนัวจาตู้ แล้วเสร็จในปี 2557 และยังมีเขื่อนที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 7 เขื่อนบนแม่น้ำโขง เขื่อนวุนอองหลง เขื่อนหลี่ตี้ เขื่อนเหมี่ยวเว่ย เขื่อนหวงเติ้ง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และเขื่อนกูฉุย เขื่อนตู้ป่า เขื่อนต้าหัวเฉียว ที่เตรียมการปรับพื้นที่เพื่อสร้างเขื่อน ซึ่งรวมทั้งหมดเขื่อนพลังงานไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงที่อยู่ในประเทศจีนรวมถึง 12 เขื่อนซึ่งทางประเทศจีนมีแผนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า 28 เขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนบน ในอนาคตประเทศจีนก็จะมีเขื่อนพลังงานไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงจำนวน 28 เขื่อนหรือตู้เย็นจำนวน 28 ตู้

     ในส่วนของแม่น้ำโขงตอนล่าง ประเทศลาว ประเทศไทย ประเทศกัมพูชาและประเทศ เวียดนาม มีแผนสร้างเขื่อนและโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ 11 โครงการเขื่อนไซยะบุรี เป็นเขื่อนแรก เริ่มก่อสร้างเมื่อปลายปี  2555 และเขื่อนดอนสะโฮง อยู่ระหว่างการเตรียมการซึ่งอยู่ในประเทศลาว และอีกเขื่อน โครงการเขื่อนปากแบ่ง, เขื่อนหลวงพระบาง, เขื่อนปากลาย, เขื่อนสะนะคาม และเขื่อนลาดเสือ ในประเทศลาว  เขื่อนปากชมและเขื่อนบ้านกุ่ม บริเวณชายแดนไทย-ลาว  เขื่อนสตึงเตร็ง และเขื่อนซำบอ ในประเทศกัมพูชา ในอนาคตประเทศลาวก็จะมีเขื่อนพลังงานไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงจำนวน 7 เขื่อนหรือตู้เย็นจำนวน 7 ตู้ ประเทศไทยและประเทศลาวก็จะมีเขื่อนพลังงานไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงจำนวน 2 เขื่อนหรือตู้เย็นจำนวน 2 ตู้ และสุดท้ายประเทศกัมพูชาก็จะมีเขื่อนพลังงานไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงจำนวน 2 เขื่อนหรือตู้เย็นจำนวน 2 ตู้

     เขื่อนพลังงานไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงจะมีรวมทั้งหมด 39 เขื่อนตลอดความยาวของแม่น้ำโขง 4,909 กิโลเมตร (Ly,2013) ซึ่งเขื่อนพลังงานไฟฟ้าบนแม่น้ำโขง เปรียบได้กับตู้เย็นของแต่ละประเทศที่พยายามจะกักเก็บทรัพยากรธรรมชาติ ที่ตนเองมีอยู่โดยไม่คิดถึงการแบ่งปันเหมือนในอดีต ซึ่งไม่คิดว่าแม่น้ำโขงที่เคยใช้ร่วมกันมาเป็นร้อยเป็นพันปี อาจจะทำให้คนที่อยู่ปลายน้ำจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยและใช้ประโยชน์ในบริเวณแม่น้ำโขง จะเป็นอย่างไรเพียงแค่เก็บทรัพยากรที่ตนเองสามารถเก็บไว้ได้ให้อยู่กับตนเองนานที่สุด

     ซึ่งในปัจจุบันนั้นมีอีกแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับการหวงแหนทรัพยากรคือแนวคิดเศรษฐศาสตร์ของการแบ่งปัน (Sharing Economy) ที่โลกออนไลน์ทำให้คนบนโลกและองค์กรต่างๆได้แบ่งปันทรัพยากรและใช้ทรัพยากรที่ใช้แล้วให้คนอื่น เป็นการสร้างมูลค่าของทรัพยากรนั้นมากขึ้นโดยลดการทำลายสิ่งแวดล้อม มีความหมายครอบคลุมระบบของเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เกิดการร่วมกันเข้าถึงการบริโภคสินค้าและบริการตลอดจนข้อมูลข่าวสาร หัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจนี้ก็คือเทคโนโลยีสารสนเทศที่เชื่อมโยงให้เกิดการร่วมกันใช้หรือแบ่งปันส่วนที่เหลืออยู่และไม่ได้ใช้ (excess capacity) ของหลายสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา

     ซึ่งแนวคิดดังกล่าวมาจากหนังสือชื่อ “What’s Mine is Yours (2010)” โดย Rachel Botsman เสนอความคิดในเรื่องการบริโภคชนิดร่วมมือกัน (collaborative consumption) ซึ่งหมายถึงการแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยน ตั้งแต่รถยนต์ ห้องในโรงแรม โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ อย่างหลากหลายลักษณะในระดับกว้างขวาง ทั้งการแบ่งปัน (Sharing) การแลกเปลี่ยน (Bartering) การให้ยืม (Lending) การเช่า (Renting) การให้เป็นของขวัญ (Gifting) การสลับกันใช้ (Swapping) ซึ่งทั้งหมดเป็นไปได้ก็เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ อินเตอร์เน็ต พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปการใช้งาน “Social Networks” ของผู้คนทั่วโลกที่ติดต่อสื่อสาร สร้างปฏิสัมพันธ์กันหลากหลายรูปแบบ ทำให้เกิดความสำเร็จของการบริโภคแบบร่วมมือกัน (วรากรณ์,2556) ข้อดีของการบริโภคชนิดร่วมมือกันคือด้านสังคม ในยุคสมัยที่ครอบครัวแยกกันไปคนละทิศละทางและเราอาจจะไม่รู้จักคนบนท้องถนน การได้แบ่งปันสิ่งต่างๆ แม้แต่กับคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ก็อาจกลายเป็นความสัมพันธ์ที่มีความหมายได้

     กลุ่มอุตสาหกรรมที่นำแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปันมาปรับใช้กับธุรกิจ ได้แก่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Travel) ธุรกิจให้บริการโดยสารทางรถยนต์รถเช่าและแบ่งปันรถยนต์กันใช้ (Car sharing) ธุรกิจการเงิน (Finance) ธุรกิจจัดหาบุคคลเข้าทำงาน (Staffing) และธุรกิจบริการเพลงหรือวิดีโอแบบสตรีมมิ่ง (Music and video streaming)  สำหรับโครงสร้างแบบ Sharing Economy หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อการบริโภคชนิดร่วมมือกัน (Collaborative Consumption) และการทำธุรกิจจากเพื่อนสู่เพื่อน (Peer to Peer: P2P) เป็นการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ (พสุ,2557) ซึ่งช่วยให้บุคคลหรือองค์กรสามารถสร้างรายได้จากสิ่งของหรือทรัพย์สินที่ตนมีมากเกินความจำเป็นหรือไม่ได้ใช้แล้ว (Excess capacity) ผ่านการสื่อสารบนเครือข่ายออนไลน์เชื่อมต่อระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการในการเข้าถึงสินค้าหรือบริการ โดยผู้รับบริการจะอาศัยข้อมูลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นพื้นฐานที่ช่วยในการตัดสินใจ ตั้งแต่รถยนต์ ห้องพัก ไปจนถึง เสื้อผ้า ของมือสอง และ กระเป๋าแบรนด์เนม ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเป็นไปได้เพราะการสื่อสารบนเครือข่ายออนไลน์

ตัวอย่างของธุรกิจยอดฮิตแบบ Sharing Economy ที่กำลังเป็นกระแสในสังคมออนไลน์ทั่วโลก ได้แก่

     Airbnb เว็บไซต์ศูนย์รวมพักอาศัยที่เชื่อถือได้โดยเปิดให้คนลงทะเบียนที่พัก ค้นหาและจองสถานที่พักทั่วโลกผ่านระบบออนไลน์หรือผ่านแอพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ การเปิดให้ผู้ที่มีห้องพักว่างสามารถปล่อยเช่าห้องในระยะเวลาที่ต้องการ และมีทีมช่างภาพเดินทางไปถ่ายภาพห้องพักให้ออกมาสวยงามและน่าสนใจ และสำหรับนักท่องเที่ยวเองก็สามารถเปิดเว็บไซต์ Airbnb เพื่อค้นหาห้องพักที่ต้องการ ที่แตกต่างจากเว็บไซต์ให้บริการจองที่พักทั่วไปนั้นคือ รายการที่พักที่ขึ้นทะเบียนบนเว็บไซต์ของ Airbnb นักท่องเที่ยวสามารถค้นหาที่พักที่ตรงตามความต้องการได้จากรายการที่พักกว่า 350,000 แห่งใน 192 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ปัจจุบัน Airbnb มีที่พักในประเทศไทยมีมากกว่า 1,300 แห่ง โดย 400 แห่งนั้นตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ, 250 แห่งในภูเก็ต และ 170 แห่งที่เกาะสมุย ยังมีที่พักในจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศไทย (ประชาชาติธุรกิจ,2556) ซึ่งทาง Airbnb เป็นตัวกลางเพื่อเชื่อมต่อระหว่างผู้ที่ต้องการห้องพัก และเจ้าของห้องพักที่มีห้องว่างเหลืออยู่ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของที่พักและผู้เข้าพักที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ และ Airbnb ทำให้ที่ผู้เข้าพักสามารถจองที่พักจากเจ้าของที่พัก โดยเน้นการนำเสนอประสบการณ์ของผู้เข้าพักและเจ้าของที่พัก และเชื่อมโยงคนที่มีที่พักว่างกับคนที่กำลังมองหาที่พักเข้าหากัน ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโดยเฉลี่ยกว่า 425,000 รายต่อคืน และมีเครือข่ายการให้บริการใน 190 ประเทศทั่วโลก

     อีกตัวอย่างคือ Walking Tour Free ที่กระจายตัวไปยังเมืองใหญ่ๆทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ลอนดอน ปารีส โรม ซานฟรานซิสโก ริโอเดอจาเนโร บูคาเรส โตเกียว โซล ฮานอย และกรุงเทพมหานคร โดยมีไกด์ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ในเมืองนั้นๆ จะมีการออกแบบการทัวร์โดยใช้การเดินและบรรยายความเป็นมาในเมืองนั้นๆ โดยผู้ที่สนใจเพียงแจ้งชื่อไปทางอีเมล์ที่มีอยู่หรือไปรอตามสถานที่ตามเวลานัด ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่าย (ทิปเป็นน้ำใจให้แก่ไกด์โดยไม่กำหนดเงินขั้นต่ำ) โดยที่จะมีผู้ร่วมเดินทางในการเดินเท้าท่องเที่ยวด้วยจะมากหรือน้อยแล้วแต่ช่วงเวลา รวมไปถึงการจัดโปรแกรมเดินทัวร์ในรูปแบบต่างๆ เดินทัวร์ประวัติศาสตร์ เดินทัวร์สถานที่สำคัญ เดินทัวร์ช่วงเวลากลางคืน เดินทัวร์แบบดูธรรมชาติในเมืองใหญ่ เดินทัวร์วัดวาอาราม เดินทัวร์แนะนำร้านอาหาร ซึ่งเป็นการแบ่งปันข้อมูลของคนในพื้นที่ในเมืองนั้นๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเลือกที่จะเดินไปจนสุดโปรแกรมทัวร์หรือจะหยุดในสถานที่ตนเองชื่นชอบก็ได้ กระแสของ Walking Tour Free เกิดจากที่ในปัจจุบันมีการท่องเที่ยวด้วยตนเองมากยิ่งขึ้นการเดินเพื่อท่องเที่ยวในเมืองต่างๆ โดยมีไกด์ท้องถิ่นนำทางและให้ข้อมูลในแบบคนพื้นที่ทำให้นักท่องเที่ยวให้ความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งคนในพื้นที่ที่เป็นไกด์นำเที่ยวบางครั้งอาจจะเป็นนักศึกษา พนักงานบริษัท หรือเจ้าของกิจการ ที่มีเวลาว่างอยากเดินออกกำลังกายและอยากพบปะผู้คนจากหลากหลายประเทศ โดยคนในพื้นที่ที่เป็นไกด์นำเที่ยวก็จะได้ทิปเป็นสินน้ำใจในการพาท่องเที่ยว

     Uber ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง การเรียกแท็กซี่ผ่านแอพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ โดยลูกค้าจะต้องเปิดพิกัด GPS เพื่อให้พนักงานขับรถทราบว่าอยู่ที่ไหน ระบบของ Uber จะค้นหาแท็กซี่ว่างที่อยู่ใกล้ที่สุด และกำหนดให้มารับ โดยทราบว่าคนขับรถแท็กซี่คันนั้นเป็นใคร และรถแท็กซี่คันที่จะมารับนั้นอยู่ที่ไหน ในส่วนของราคาการจ้างแท็กซี่จาก Uber นั้นสามารถดูราคาล่วงหน้าผ่านแอพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ว่าจากต้นทางไปยังปลายทางต้องจ่ายเงินเท่าไร การจ่ายเงินไม่ต้องใช้เงินสดเพราะระบบของ Uber ใช้วิธีผูกบัตรเครดิตไว้กับบัญชีผู้ใช้ แล้วหักค่าโดยสารจากบัญชีบัตรเครดิตแทน Uber ยังมีระบบควบคุมคุณภาพการให้บริการ โดยสามารถให้คะแนนคนขับแท็กซี่ว่ามีการขับรถอย่างไร การให้บริการสุภาพไหม สภาพของรถยนต์สะอาดไหม และสามารถดูประวัติคนขับรถแท็กซี่ได้ล่วงหน้าผ่านแอพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ (Uberresearch ,2015) ระบบนี้ช่วยให้คนขับรถแท็กซี่ในสังกัดของ Uber ต้องประพฤติตัวดีอยู่เสมอ เพราะลูกค้าสามารถแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการได้ตลอดเวลา

     เศรษฐศาสตร์ของการแบ่งปัน (Sharing Economy) ทำให้เห็นว่าผู้คนในโลกก็มีความต้องการที่จะแบ่งปันในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ถ้าจะเก็บไว้อย่างไร้ค่า หากสิ่งนั้นยังสามารถทำให้เกิดประโยชน์โดยการสื่อสารบนเครือข่ายออนไลน์ที่เชื่อมโยงคนทั้งโลกแล้วประกาศออกไปให้เห็นว่ามีของสิ่งนั้นอยู่ สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ที่เป็นเจ้าของ โดยมีช่องทางที่ถูกสร้างโดยเฉพาะในกลุ่มประเภทต่างๆ ซึ่งอยู่ในพื้นฐานที่ทุกคนสามารถมาใช้ทรัพยากรร่วมกันโดยเจ้าของทรัพยากรนั้นก็เกิดรายได้จากทรัพยากรที่เหลือใช้ สิ่งสำคัญคือประเด็นเรื่องความไว้วางใจ (Trust) ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายโครงสร้างธุรกิจแบบ Sharing Economy มากที่สุด (the economist,2013) เพราะผูกติดไปกับประเด็นเรื่องของความปลอดภัย ธุรกิจในลักษณะนี้เน้นการแชร์ หรือแบ่งปันทรัพยากรผ่านการสื่อสารบนเครือข่ายออนไลน์ ใช้สินค้าและบริการกับคนแปลกหน้า ไม่ว่าจะผู้ที่นำรถมาให้บริการรับส่ง หรือผู้ที่เปิดบ้านให้เช่า รวมไปถึงผู้ที่เข้ามาใช้บริการเอง ดังนั้น ธุรกิจลักษณะนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากผู้ประกอบการไม่สามารถหามาตรการสร้างความไว้วางใจต่อการให้บริการ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าจะไม่โดนโกง หรือถูกทำร้ายจากมิจฉาชีพที่แอบแฝงมา ผู้ประกอบการต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยในการให้บริการ การตรวจสอบประวัติของพนักงาน รวมทั้งนำข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์การใช้งานจริงของลูกค้าผ่านการสื่อสารบนเครือข่ายออนไลน์ ที่มาเขียนรีวิวหรือให้ความคิดเห็นไว้บนสังคมออนไลน์หรือบนแอพพลิเคชั่นนั้นๆมาประมวลผล เพื่อปรับปรุงความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะสะท้อนกลับมายังผู้ให้บริการรายนั้นๆว่ามีการบริการเป็นอย่างไร ประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับจาก Sharing Economy คือ ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และช่วยให้การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นเรื่องง่ายๆ การสื่อสารบนเครือข่ายออนไลน์จับคู่ความต้องการของผู้บริโภคให้ตรงกับทรัพยากรที่มีอยู่ในตลาดได้ง่าย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น     

     วัฒนธรรมของการแบ่งปันของสังคมไทยหายไปกับวัฒนธรรมตู้เย็นที่หวงแหนทรัพยากร แต่ในต่างประเทศเศรษฐศาสตร์ของการแบ่งปัน (Sharing Economy) กำลังกลายเป็นวัฒนธรรมของการแบ่งปัน ซึ่งสังคมไทยที่คุ้นชินกับวัฒนธรรมของการแบ่งปันคงต้องกลับมามองว่าจะปรับตัวอย่างไรในวัฒนธรรมของการแบ่งปันแบบใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศไทย เพียงแค่เปิดตู้เย็นดูว่ามีอะไรที่เก็บไว้แล้วอาจจะไม่มีประโยชน์ไม่ทำให้เกิดรายได้ ก็นำออกมาจากตู้เย็นมาลองทำ Sharing Economy อาจจะทำให้เกิดรายได้จากสิ่งที่เก็บไว้แล้วไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งหากมองในมุมของวัฒนธรรมนั้นสามารถวัดได้ โดยนำวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาเปรียบเทียบกันและพิจารณาคุณลักษณะที่สูงกว่าหรือด้อยกว่าของแต่ละวัฒนธรรม แต่ไม่มีวัฒนธรรมใดที่ดีกว่าหรือเลวกว่ากัน

บรรณานุกรม

ภาษาไทย

กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุลย์.(2553). ทฤษฏีสังคมสงเคราะห์ร่วมสมัย. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

จุฑาวรรณ ผดุงชีวิต .(2551). วัฒนธรรม การสื่อสาร และอัตลักษณ์. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

จารุวรรณ ธรรมวัต, นรินทร์พุดลา และ อรอนงค์รุทรทวนิ. (2540). วัฒนธรรมการบริโภคอาหารของชาว อีสาน ภูมิปัญญาและมรดกจากธรรมชาติ. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ณรงค์ ศรีสวัสดิ์ .(2555). การประยุกต์ทฤษฏีสังคมวิทยาในสังคมไทย. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ศิริรัตน์ แอดสกุล .(2555). ความรู้เบื้องต้นทางสังคมวิทยา.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุภางค์ จันทวานิช .(2553). ทฤษฏีสังคมวิทยา. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เสาวภา ไพทยวัฒน์. (2538). พื้นฐานวัฒนธรรมไทยแนวทางอนุรักษ์และการพัฒนา.

       กรุงเทพ : การศาสนา.

สนิท สมัครการ. (2545). การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมกับการพัฒนาสังคม. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.

อคิน รพีพัฒน์. (2551). วัฒนธรรมคือความหมาย: ทฤษฎีและวิธีการของคลิฟฟอร์ด เกียร์ซ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธร.

อมรา พงศาพิชญ์. (2542). ความหลากหลายทางวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ภาษาอังกฤษ

Barker,M., Barker,D., Bormann,N., Neher,K (2013) Social Media Marketing A Strategic Approach. South-Western Cengage Learning .

Bassham,G.,  Irwin,W.,  Nardone,H.,  Wallace,J.M. (2011) Critical Thinking. New York : McGraw-Hill Companies Inc.

Botsman, R., & Rogers, R. (2010). What’s Mine Is Yours: The Rise of Collaborative Consumption. New York, NY: HarperBusiness.

Clow,K.E. & Baack,D. (2014) Intergrated Advertising Promotion and Marketing Communications. London : Pearson Education Inc.

Henry,A. (1998). Consumer behavior and marketing action.(6th ed). Cincinnati, OH :

South-Western College.

Keller,K.L. (2013) Strategic Brand Management Building Measuring and Managing Brand Equity. London : Pearson Education Inc.

Kerlinger,N.F. & Lee,H.B. (2000) Foundations of Behavioral Research. New York : Wadsworth Cengage Learning.

Kotler,P. & Lee,S. (2005) Corporate Social Responsibility. New Jersey : John Wiley & Sons Inc.

Ly,K., Larsen,H., Duyen,N.V. (2013). 2013 Lower Mekong Regional Water Quality Monitoring Report, MRC Technical Paper No. 51. Mekong River Commission, Vientiane, 63 pp.

Martin,J.M. & Nakayama,T.K. (2014) Experiencing Intercultural Communication. New York: McGraw-Hill Companies Inc.

Rogers, E. M. (1973). Communication strategies for familly plamming.  New York: The Free Press.

Salt,S. (2011) Social Location Marketing. Indiana :Que Publishing.

Taylor, E. (1988). Primitive culture: The science of culture. In P.Bohannan & M. Glazer (Eds.), High points in anthropology. New York : McGraw-Hill.

ออนไลน์

การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง (3): โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เปลี่ยนแม่น้ำโขง ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว! (2556, 3 ตุลาคม) สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558, จากhttp://thaipublica.org/2012/10/dam-on-the-mekong-river-3/

เขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบน (2551,15 สิงหาคม) สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558,จากhttp://www.livingriversiam.org/4river-tran/4mk/_sub-th-upper-dam.html

พสุ เดชะรินทร์. (2557,15 เมษายน). ผลกระทบจาก Collaborative Economy.กรุงเทพธุรกิจ,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558, จากhttp://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/574353#sthash.Z2qAZurr.dpuf

วรากรณ์ สามโกเศศ (2556,1 ตุลาคม). sharecations กำลังระบาดในโลก.กรุงเทพธุรกิจ,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558, จาก http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/533355

อภิมหาเขื่อนยักษ์ หายนะแม่น้ำโขง (2558, 23 มกราคม) ไทยรัฐออนไลน์,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558, จาก http://www.thairath.co.th/content/476376

Airbnb-กูเกิล ผนึกพันธมิตร รับจองห้องพักออนไลน์เฟื่อง (2556, 23 เมษายน) ประชาชาติธุรกิจ,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558, จาก http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1366703285

Consumer Intelligence Series The Sharing Economy (2015) PricewaterhouseCoopers ,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558, จาก http://www.pwc.com/us/en/industry/entertainment-media/publications/consumer-intelligence-series/assets/pwc-cis-sharing-economy.pdf

Dimensions for Funders (2015) uberresearch ,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558, จาก http://www.uberresearch.com/

Mekong/Lancang River ( 2013, 1 August)  International Rivers ,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558, จากhttp://www.internationalrivers.org/campaigns/mekong-lancang-river

The rise of the sharing economy (2013, 9 March) the economist ,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558, จาก http://www.economist.com/news/leaders/21573104-internet-everything-hire-rise-sharing-economy

WWF ย้ำต้องหยุดสร้างเขื่อน ก่อนแม่น้ำโขงถูกทำลายทั้งสาย (2556,10 มกราคม)  WWF ,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558, จาก http://www.wwf.or.th/?207221/WWF-Regional-cooperation-on-Mekong-River-in-tatters

Xayaburi Hydropower Project Prior Consultation Process (2011, 22 April) Mekong River CommissionFor Sustainable Development,1.// สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2558, จาก http://www.mrcmekong.org/news-and-events/consultations/xayaburi-hydropower-project-prior-consultation-process/