สุพิชญาย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา

ชวนศึกษาวรรณกรรมให้เข้ากับยุคสมัยที่ การสื่อสารในระบบ IT. ที่นิสิตนักศึกษาตลอดจนผู้สนใจที่ถือว่า

“การอ่านคือชีวิต”

ในหนทางที่แปลกไปจากระบบเดิมๆ หรือที่เรียกว่า โดย ขนบการอ่าน  ให้เปลี่ยนมาเป็น

“การศึกษาวรรณกรรมแบบแปรรูป”

ดูบ้าง เชื่อว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่สร้างความอยากรู้อยากเห็นในการวิเคราะห์เจาะลึกจากวรรณกรรมที่เป็นต้นฉบับได้อย่างสนุกสนานยิ่งๆ ขึ้น

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) มหาบุรุษรัตโนดม เลิศจงรักภักดีจักรีวงศ์

บทบาทสะท้อนจากวรรณกรรม “ข้าบดินทร์”

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) มหาบุรุษรัตโนดม เลิศจงรักภักดีจักรีวงศ์

บทบาทสะท้อนจากวรรณกรรม “ข้าบดินทร์”

โดย 

อาจารย์สุพิชฌาย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา

อาจารย์ประจำสาขาวิชาษาไทย

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

    “ถึงเจ้าจักเป็นเศษเสี้ยวธุลีของแผ่นดิน เจ้าจงรู้ว่า ตัวเองมีความหมายต่อแผ่นดินเพียงใด จงทำตัวเป็นเศษธุลีที่มีค่าของแผ่นดิน เพื่อเจ้าจักได้ชื่อว่าเกิดมาเป็นข้าแผ่นดิน เป็นข้าบดินทร์”

    นี่คือคำโปรยปกของวรรณกรรมเรื่อง “ข้าบดินทร์”เล่มที่ ๑  ของ วรรณวรรธน์ ซึ่งเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ชาติไทยในช่วงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าในเมืองไทยมากขึ้น

    เรื่องราวของ “ข้าบดินทร์” เริ่มจากจากตัวละครเอกฝ่ายชาย “เหม” บุตรชายแห่งพระยาบริรักษ์ต้องกลายเป็นตะพุ่นเลี้ยงช้าง เพราะบิดาถูกใส่ร้าย พระยาบริรักษ์ถูกกล่าวหาว่าฆ่าวิลาศ (ฝรั่ง) ตาย จึงต้องกลายเป็นนักโทษรอพิจารณาคดี สุดท้ายท่านพระยาบริรักษ์ จึง ‘จำใจ’ ต้องยอมรับสารภาพทั้งที่ไม่ได้ก่อความผิดนี้ขึ้นและต้องโทษถูกโบย ๕๐ที แต่พระยาบริรักษ์ทนพิษบาดแผลไม่ไหว จึงสิ้นชีวิตในที่สุด เจ้าเหมบุตรชายจึงกลายเป็นตะพุ่นเลี้ยงช้างตั้งแต่นั้นมา หลังจากที่กลายเป็นตะพุ่นช้างและเรียนรู้วิชาคชศาสตร์จนได้เป็น เสดียง  ต่อมาโชคชะตาทำให้เขาได้พบกับ ลำดวน นางละครสาวสวยที่รู้จักสนิทสนมกับเขามาแต่ในวัยเด็ก เหมยังจำภาพของลำดวน ซึ่งเป็นคนเดียวที่กล้าช่วยเหลือเขาในยามเป็นนักโทษได้แม่นยำ จึงบังเกิดเป็นความรัก  เหมพยายามทำทุกอย่างเพื่อพิชิตใจแม่ของลำดวน เมื่อเหมกับลำดวนรักกัน เหมจึงไต่เต้าจากตะพุ่นช้างเป็นนายทหารผู้กล้าจนมียศถาบรรดาศักดิ์ ทำให้เขาได้แต่งงานกับลำดวนหญิงคนรักสมใจ

    จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า “เหม” เป็นบุคคลหนึ่งที่มีความมุ่งมั่นจนสามารถประสบความสำเร็จ ความสำเร็จของเหมมีบุคคลหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก ท่านผู้นั้นคือ “คุณชายช่วง” เนื่องจากเหมเป็นถึงลูกชายเจ้าพระยาจึงมีโอกาสพบ “คุณชายช่วง”ในคราวที่เหมติดตามไปกับเจ้าคุณบิดาในงานแต่งงานของทับทิม พี่สาวของลำดวน เหมสนใจศึกษาภาษาวิลาศ (ฝรั่ง)ซึ่งตรงกับความสนใจของ “คุณชายช่วง” ที่สนใจภาษาวิลาศ (ฝรั่ง) เช่นกัน จึงทำให้คุณชายช่วงคิดจะสนับสนุนเหมด้านการศึกษาเพื่อรับใช้บ้านเมือง

    “ข้าบดินทร์”ได้กล่าวถึงคุณชายช่วงว่า “…คุณชายช่วง บุตรชายของท่านเจ้าพระยาพระคลัง…คุณชายช่วงท่านเป็นคนหนุ่มที่สนใจในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับภาษาอังกฤษอยู่ไม่น้อย จึงคบหาสหายที่สนใจภาษาวิลาศด้วยกัน…” (ข้าบดินทร์, ๒๕๕๕ : ๑๓๒-๑๓๓)  “คุณชายช่วง”ที่กล่าวถึงก็คือ สมเด็จเจ้าพระบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) นั่นเอง

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)เป็นรัฐบุรุษสำคัญท่านหนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์

    เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเมืองการปกครองของไทย โดยเริ่มเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่ง “สมเด็จเจ้าพระยา” เป็นคนสุดท้าย 

    สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รัชกาลที่ ๕ เป็นบุตรชายคนโตของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิส บุนนาค) หลานปู่เจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดี (บุนนาค) คุณชายช่วงเป็นพระญาติผู้น้องในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สกุลบุนนาคเป็นตระกูลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ คนในตระกูลนี้ดำรงตำแหน่งเป็นสมุหพระกลาโหม ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๕

    คุณชายช่วงเป็นบุคคลกลุ่มหัวก้าวหน้าในสมัยนั้น และเป็นหนึ่งในขุนนางไม่กี่คนที่พูดภาษาอังกฤษได้ นอกจากนี้ยังเป็นชาวสยามคนแรกที่สามารถต่อเรือรบฝรั่งสำเร็จ และมีความสนใจวิทยาการตะวันตกมากทั้ง วิทยาการการพิมพ์ การแพทย์ การทหาร และการก่อสร้าง เป็นต้น

    ช่วงยุคพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) พระยาศรีสุริยวงศ์ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าที่สมุหพระกลาโหม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตราศรพระขรรค์พระราชทานสำหรับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ ๔๓ ปี นับเป็นข้าราชการที่มีอายุน้อยที่สุดในตำแหน่งสมุหพระกลาโหม (อุ้มสม,๒๕๕๖ : ออนไลน์)

   ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ด้วยพระชันษาเพียง ๑๕ พระชันษา พระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ ราชาคณะ และที่ประชุมเสนาบดี   จึงเห็นสมควรแต่งตั้งให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่๕ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๑๖ มีอำนาจอาญาสิทธิ์ที่จะปกครองประเทศ และประหารชีวิตผู้กระทำความผิดขั้นอุกฤษฏ์ได้ ท่านปฏิบัติราชการโดยอาศัยเที่ยงธรรมซื่อตรง มิได้เห็นแก่ผู้ใด จะกล่าวตัดสินสิ่งใด จะให้เป็นคุณประโยชน์ทั่วกัน (ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม , ๒๕๕๒ : ๙๗๙ – ๙๘๐)  ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รัชกาลที่ ๕ โปรดให้เลื่อนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ถือศักดินา ๓๐,๐๐๐

    สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๕ เวลา ๕ ทุ่มเศษ บนเรือที่ปากคลองกระทุ่มแบน สิริรวมอายุได้ ๗๔ ปี ๒๗ วัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ทำพิธีพระราชทานเพลิงศพของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์อย่างสมเกียรติ ณ วัดบุปผาราม ธนบุรี เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๗

    หากจะกล่าวว่า “ข้าบดินทร์”ได้เล่าเรื่องราวของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ตั้งแต่บิดานำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) เมื่ออายุราว ๑๖ ปี (บางตำราว่า ๑๕ ปี) ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ได้เป็นนายชัยขรรค์ มหาดเล็กหุ้มแพร  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ เลื่อนนายชัยขรรค์เป็นหลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็ก (อายุราว ๒๕ ปี) ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า ” หลวงนายสิทธิ์” ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็น จมื่นไวยวร-นาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก และในตอนปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นเรื่องราวในวัยหนุ่มของท่านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)นั่นเอง

    “คุณชายช่วง”พบเหมครั้งแรกครั้งที่เหมแสดงความรู้ภาษาวิลาศ(ฝรั่ง)  เนื่องจากมีขุนนางท่านหนึ่งเขียนภาษาวิลาศให้คุณชายช่วงดูแล้วเหมทราบว่าผิด  เมื่อเหมทักท้วงจึงทำให้คุณชายช่วงสนใจในตัวเหมมาก ดังความว่า

     “อ้ายหนุ่ม เอาเรือมาส่งคืนข้าที”

      ชายคนที่ดูท่าวางก้ามร้องบอกเด็กหนุ่ม เหมถึงกลับจ้องมองดูตัวหนังสือบนใบไม้นั่นทีเดียว ชายคนนั้นคงคิดว่าตัวสะกดที่ปรากฏอยู่บนใบไม้นี้หมายถึง “เรือ”ในภาษาวิลาศจริง ๆ อย่างนั้นหรือ

      ทุกตัวสะกดเหมือนคำว่า ship ที่แหม่มมาเรียเคยสอนไว้ แต่ตัวสุดท้ายกลับลงท้ายด้วยตัว b

      “รู้จักเรือไหม…นี่ไง” ชายคนนั้นชี้นิ้วกร่าง ๆ ไปบนตัวหนังสือบนใบไม้

       “อ้ายหนุ่มดูไว้เป็นบุญตา นี่เป็นตัวหนังสือวิลาศคำว่า เรือ ข้ากำลังเขียนให้คุณชายช่วงดูว่าภาษาวิลาศ คำว่า “เรือ” เขาเรียกว่า ชิบ แบบนี้”

       เหมมองดูอย่างนึกขันเต็มทีพลายส่ายหน้า บุคคลที่ถูกเรียกว่า คุณชายช่วงรับใบไม้ในมือต่อจากชายท่ากร่างไปเพ่งพินิจโดยไม่ปริปากพูดจาอะไร ดวงตาเป็นประกายของ คุณชายช่วง แลดูเงียบขรึมนั้นคมกริบ จ้องดูใบไม้ในมือสลับกับใบหน้าเด็กหนุ่มที่ทำท่าอมยิ้มเหมือนเห็นเป็นเรื่องขบขัน

       “เรือแบบนี้กระผมไม่รู้จักหรอกขอรับ”

        …. “ขอรับ เป็นเรือวิลาศครึ่งลำเช่นนั้นก็ได้”

        เหมตอบกลั้นหัวเราะ แต่บุรุษที่ถูกเรียกว่าคุณชายช่วงหันมามองดูเด็กหนุ่มอย่างสงสัย

         … “อ้ายหนุ่มคนนี้มันพูดให้คิด…คุณหลวงจำตัวที่แหม่มเขาเขียนมาได้ถูกต้องอยู่นา” คุณชายช่วงมองดูตัวหนังสือภาษาอังกฤษบนใบไม้แล้วหันไปถาม

         หลวงมหาเทพหัวเราะกลบเกลื่อน รู้สึกถึงความไม่เชื่อใจที่คุณชายเอ่ยทักเช่นนั้น

         “จะไปใส่ใจทำไม กับเด็กรุ่นกระทงมันก็เป็นเช่นนี้ คงพูดอะไรเลอะเทอะไปตามประสา”

          หากคุณชายช่วงกลับมองตามแผ่นหลังเด็กหนุ่มคนนั้นอย่างสะดุดใจ

(วรรณวรรธน์ , ๒๕๕๕ : ๑๓๑ –๑๓๒, ๑๓๓)

    จากข้อความข้างต้นทำให้ คุณชายช่วงสนใจเหมเรียกเหมว่า “อ้ายวิลาศครึ่งลำ” จนทำให้เหมเกรงว่าเจ้าคุณบิดาของตน ซึ่งไม่ชอบใจที่ตนไปเรียนภาษาวิลาศจับได้ว่าตนใฝ่ใจกับพวกวิลาศ ถึงกระนั้น คุณชายช่วงก็ช่วยแก้ไขสถานการณ์ไม่ให้เหมถูกเจ้าคุณบริรักษ์ ผู้เป็นบิดาว่ากล่าว อีกทั้งออกปากชมเหมว่า “ท่านเจ้าคุณบริรักษ์ อ้ายหนุ่มคนนี้ฉลาดรอบรู้เทียวนัก เจอตัวกันก็ดีแล้ว กระผมยังใคร่อยากเจรจาถามไถ่กับมันอยู่” (ข้าบดินทร์ , ๒๕๕๕ : ๑๔๑) อีกทั้ง คุณชายช่วง ยังใช้ปฏิภาณไหวพริบคลี่คลายสถานการณ์ที่หลวงสรอรรถไม่มีสัมมาคารวะต่อเจ้าพระยาบริรักษ์ได้อย่างทันท่วงที  ความว่า

        “ท่านเจ้าคุณบริรักษ์ขึ้นเรือนเถิดขอรับ ขอเชิญท่านขึ้นก่อน กระผมเป็นผู้น้อยขอเดินตามหลังจึงเป็นการสมควร” นายชัยขรรค์หันไปเชิญพระยาบริรักษ์อย่างสุภาพ

         “ขอบใจนายชัยขรรค์”

          พระยาบริรักษ์รู้สึกถึงเหตุการณ์กลับกลาย บุตรชายคนใหญ่ของท่านเจ้าพระยามาคลี่คลายเรื่องตึงเครียดได้ทันเวลา

          นายชัยขรรค์ผู้นี้ ไหวพริบเฉียบแหลมนักเทียว ยกย่องผู้สูงศักดิ์ต่อหน้าผู้คน เพื่อให้ใครอื่นรู้จักประมาณฐานะตน รู้ที่สูงที่ต่ำ ว่าควรวางตัวไว้ ณ สถานใด

          “อ้ายเรือวิลาศครึ่งลำ เอ็งก็ตามขึ้นไปบนเรือนด้วย จะมาเดินเปะปะข้างล่างมีปากเสียงกับใครอยู่ใย ข้ากำลังมีเรื่องอยากคุยกับเอ็งอยู่”

           เหมยืนหัวใจคับพอง นายชัยขรรค์มหาดเล็กกำลังเรียกขานตนให้ตามขึ้นไปบนเรือนด้วยเช่นนั้นหรือ ท่านคงจะใส่ใจในเรื่องของชนชาววิลาศอยู่เช่นเดียวกัน

(วรรณวรรธน์, ๒๕๕๕ : ๑๔๓)

    “คุณชายช่วง หรือ นายชัยขรรค์”ถูกชะตาและต้องการจะส่งเสริมความก้าวหน้าทางการศึกษาแก่เหม ถึงขนาดออกปากขอเหมจากพระบริรักษ์ด้วยตนเอง ความว่า

              “ท่านเจ้าคุณบริรักษ์ขอท่านอย่าได้รังเกียจ หากลูกชายคนนี้ของท่านบวชเรียนเมื่อใด วานส่งคนไปแจ้งข่าวกระผมที่พระมหานคร กระผมตั้งใจจักใคร่ขอร่วมเป็นโยมอุปัฏฐาก”…

               …คุณชายช่วงบุตรชายคนโตของท่านเจ้าคุณหาบน**ถวายตัวรับราชการมาจนถึงตำแหน่งนายชัยขรรค์หุ้มแพร เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าท่านเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเพียงใด หากเจ้าเหมได้เข้าไปรับราชการอยู่กับท่านก็นับว่าลูกชายของตนมีวาสนาจะได้ใกล้ชิดผู้ใหญ่ ได้ใช้ความรู้ความสามารถสนองพระเดชพระคุณ แม้ที่เจ้าเหมเกิดไปต้องอัธยาศัยบุตรชายของท่านเจ้าคุณหาบน ด้วย สิ่งที่ท่านมองไม่เห็นดีเห็นงามมาแต่ไหนแต่ไรก็ตาม แต่เมื่อได้ยินว่าลูกชายถูกออกปากตามนั้น อีกใจหนึ่งจึงอดปลาบปลื้มมิได้ (วรรณวรรธน์ , ๒๕๕๕ : ๑๔๗ – ๑๔๘)

    แม้ยามที่เหมต้องโทษจากการที่บิดาถูกใส่ร้ายทั้งๆที่ไม่ได้ทำความผิด คุณชายช่วงซึ่งได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงสิทธิ์นายเวร”ก็ให้ความสนใจและใส่ใจเหมและมารดาเสมอ และท่านก็เมตตาอ้ายบุษย์ อดีตทาสหนุ่มของเหมด้วย  ดังตอนที่เหมได้พบกับบุษย์ และระลึกถึงความเมตตาจากคุณชายช่วง  ความว่า

     “หลวงสิทธิ์นายเวร คุณชายช่วงท่านนั่นหรือ” เหมถึงกับยกมือท่วมหัว “ท่านมีน้ำใจกับครอบครัวข้าจริง ยามข้าติดตะพุ่นอยู่ที่พระมหานคร มีแต่ท่านที่ส่งข้าวส่งน้ำไปเยี่ยมเยียนมิได้ขาด นี่ท่านยังมีน้ำใจดูแลเอ็งอีก อ้ายบุษย์เอ๋ย อย่างไรก่อนตายข้าก็ต้องกลับไปกราบเท้าท่านให้จงได้สักครั้งหนึ่ง”

(ข้าบดินทร์ , ๒๕๕๕ : ๕๒๔)

    ต่อมาเมื่อเหมอาสาสู้รบกับญวนจนได้รับพระราชทานอภัยโทษจากตะพุ่นหญ้าช้าง แล้วเข้ารับราชการทหาร เหมได้มีโอกาสมาพักกับบุษย์ในเรือนแถวบ้านพักของ “คุณชายช่วง หรือ หลวงสิทธิ์” ซึ่งหน้าบ้านของท่านแปลกกว่าคนอื่นๆเพราะได้เขียนภาษาวิลาศ (ฝรั่ง)ไว้หน้าบ้านด้วย ความว่า

เมื่อเดินมาถึงหน้ารั้วไม้ระแนงบ้านพักของท่าน มีแผ่นป้ายไม้หน้าบ้านตัวโตเป็นภาษาอังกฤษ เหมเดินตามทุกคนมาเรื่อย หยุดยืนมองป้ายแผ่นนั้น นิ่งเป็นนาน

          “อ่านอันใดอยู่หรือคุณเหม” จนบุษย์หันมาดู

          “ท่านหลวงสิทธิ์สั่งให้คนเขียนตัวหนังสือวิลาศไว้ ท่านว่าทำเช่นนี้ฝรั่งจะได้รู้ว่าเราก็เข้าใจมารยาทและภาษาของเขาเช่นกัน…

           ที่นี่บ้านหลวงสิทธิ์นายเวร ยินดีต้อนรับ

           หลายปีที่ผ่านมา หลวงสิทธิ์นายเวรคงได้ศึกษาภาษาวิลาศจนแตกฉาน สมกับที่ท่านตั้งใจไว้ เหมนึกถึงท่านแล้วให้ตื้นตัน หากไม่รับคราวเคราะห์ครั้งนั้น ป่านนี้เขาเองคงมีโอกาสรับความอนุเคราะห์จากท่าน ได้ร่ำเรียนภาษาวิลาศแตกฉานสมใจ  (วรรณวรรธน์, ๒๕๕๕ : ๕๖๖ – ๕๖๗)

    ความช่วยเหลือเจือจุนจากคุณชายช่วงที่มีมาถึงเหมนั้น เป็นความกรุณาอย่างหาที่สุดมิได้ ตั้งแต่เหมเยาว์วัย ตกอับและรุ่งเรืองขึ้น  “คุณชายช่วง”ก็แสดงถึงน้ำใจและความอาทรแก่เหมและมารดาของเหมเรื่อยมา จึงอาจกล่าวได้ว่า ท่านเป็นคนมองคนได้อย่างทะลุปรุโปร่ง เป็นคนมองการณ์ไกล และพร้อมสนับสนุนคนให้ก้าวหน้า เพื่อรับใช้แผ่นดิน เมื่อท่านเห็นว่าเหมเป็นคนเฉลียวฉลาด ใฝ่รู้ใฝ่เรียน เมื่อต้องประสบเคราะห์กรรมที่ตนไม่ได้ก่อ “คุณชายช่วง”ก็ยังช่วยเหลือเหมมิได้ขาด ดังตอนที่เหมระลึกถึงพระคุณของ “คุณชายช่วง หรือ หลวงสิทธิ์นายเวร”ว่า

        …เหมจำได้แม่น เมื่อต้องเป็นตะพุ่นอยู่ที่โรงช้างต้นข้างวังท่าพระ สองคนแม่ลูกได้รับข้าวปลาอาหารจากคนของคุณชายช่วงอยู่เสมอ ท่านไม่ลืมให้คนนำอาหารไปให้ทานจนได้กินอิ่มกินเต็มขึ้นบ้าง ไม่ใช่เวียนแต่ขออาหารจากโรงทานหน้าพระบรมมหาราชวังกินประทังหิวทั้งยังมอบสินรางวัลให้แก่ขุนคชบาลที่ดูแลสองตะพุ่นแม่ลูก เพื่อเป็นสินน้ำใจคอยดูแลช่วยเหลือไม่ใช้งานยากลำบาก

          เขาได้รับความช่วยเหลือจากคุณชายช่วงอยู่เป็นประจำ กระทั่งถูกเกณฑ์ย้ายให้ไปเป็นตะพุ่นตามหัวเมืองเพื่อเกี่ยวหญ้ามาเลี้ยงช้างในพระมหานคร นั่นเองที่ทำให้เขาต้องออกเดินทางรอนแรมไปเรื่อย….

(วรรณวรรธน์ , ๒๕๕๕ : ๕๖๗)

    นอกจาก “คุณชายช่วง” จะเป็นคนสมัยใหม่สนใจภาษาวิลาศ (ฝรั่ง)แล้ว ท่านยังสนใจในวิทยาการใหม่ๆของฝรั่งด้วย เช่น ท่านมีโรงต่อเรือของท่านเอง ดังที่เหมไปพบคุณชายช่วงที่โรงต่อเรือในบริเวณบ้านท่าน ดังนี้

         เหมก้มมองผ่านละแวกระแนงรั้วไม้ที่เต็มไปด้วยพุ่มไม้ครึ้มตา เห็นด้านหลังเรือนกลุ่มใหญ่ยังมีโรงไม้ขนาดมหึมาตั้งอยู่ หากเดาไม่ผิด นั่นคงเป็นเรือรบที่ท่านหลวงสิทธิ์นายเวรสนใจศึกษาวิชาต่อเรือมาแต่ไหนแต่ไรกระมัง ในกองทัพเรือเจ้าพระยาพระคลังท่านก็มีเรือกำปั่นที่ดัดแปลงเป็นเรือรบอยู่หลายลำ แต่ที่หลวงนายสิทธิ์ท่านขะมักเขม้นสนใจทำอยู่นี่ คงเป็นเรือรบดั่งเช่นฝรั่งวิลาศอังกฤษหรือพุทธะเกศเป็นแน่…ร่างผอมบางของท่านนั่งอยู่บนแท่นไม้ดูบ่าวและฝรั่งสองสามคนสนทนากัน…

       ….หลายสิ่งหลายอย่างที่หลวงสิทธิ์เล่าให้เขาฟังวันนั้น ล้วนชักนำความสนใจแก่เหมเป็นอย่างมาก ทั้งที่ท่านยังรับราชการนายเวรมหาดเล็ก แต่ได้ให้ความสนใจกับสิ่งรอบตัวไม่ให้เล็ดลอดสายตา ระยะหลังฝรั่งวิลาศได้เข้ามาทำการค้าติดต่อยังกรุงเทพพระมหานครเป็นจำนวนมากขึ้น

(วรรณวรรธน์ , ๒๕๕๕ : ๕๖๗, ๕๖๙)

    ต่อมาหลวงสิทธิ์นายเวร (คุณชายช่วง)ได้ขอให้เหมมาช่วยราชการท่าน ซึ่งในบทสนทนาได้กล่าวเน้นย้ำของการเป็น “ข้าบดินทร์” ที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อแทนคุณแผ่นดิน ความว่า

      หลวงนายสิทธิ์รับฟังความเห็นเขาพลางพยักหน้าเห็นความ

     “มีเจ้ามาช่วยคิดแบบนี้ดีนัก คนแบบนี้สิที่ข้าอยากได้มาร่วมงาน เจ้าเหมอย่ากระนั้นเลย ข้าจะขอเจ้าคุณหาบนช่วยกราบเรียนเจ้าคุณผู้ใหญ่*** ให้เจ้ามาช่วยงานที่พระมหานครดู เจ้าเองก็มีความรู้ความสามารถเรื่องวิลาศอยู่ คงจะเป็นหูเป็นตาข้าได้มากกว่านี้

       “สุดแท้แต่ท่านจะเมตตาขอรับ กระผมเกิดเป็นข้าแผ่นดินผืนนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าได้อยู่กับเจ้านายท่านใด หากได้ใช้ความสามารถรับใช้ต่อแผ่นดินดังเช่นเจ้าคุณพ่อผมเคยกระทำมา ก็ถือว่าได้ทำตามคำของท่าน กระผมไม่เสียชาติเกิดแล้วขอรับ”

       “เหม เจ้าคิดเช่นนี้ประเสริฐนัก เวลานี้เรามีปัญหาบ้านเมืองอยู่รอบด้าน เรื่องต่างชาตินี้แต่ก่อนก็เคยมองเป็นความแปลกใหม่ แต่ระยะหลังที่ผ่านมากลับมีเรื่องเกี่ยวกับวิลาศให้ต้องคิดต้องไตร่ตรองมากขึ้น ข้าถึงต้องเอาใจใส่และเอาจริงเอาจังเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวิลาศมากขึ้น”

        เหมก้มกราบรับคำหลวงสิทธิ์นายเวร เขาก็คิดเห็นเช่นเดียวกัน

(วรรณวรรธน์ , ๒๕๕๕ : ๕๗๑ – ๕๗๒)

    ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) จมื่นไวยวรนาถ(คุณชายช่วง) ได้รับการแต่งตั้งเป็น “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์” ดังความว่า

                เจ้าพระยาพระคลังในแผ่นดินใหม่ ได้รับการเลื่อนยศเป็น สมเด็จเจ้าพระยาศรีประยูรวงศ์ หรือที่เรียกกันว่า สมเด็จพระองค์ใหญ่ ส่วนจมื่นไวยวรนาถได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นที่นับหน้าถือตากันเป็นอย่างมากทั้งในประเทศและนอกประเทศ และกับชาวต่างประเทศ นอกจากภาษา ท่านยังสนใจในเรื่องการเดินเรือกลไฟของวิลาศอยู่เช่นเคย ทำให้มีคนไทยที่เชี่ยวชาญภาษาวิลาศตลอดจนภาษาอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น ทางทหารก็มีความเข้มแข็งขึ้น เมื่อไทยมีการพัฒนาเรือรบให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศมากขึ้น ผู้คนบนผืนแผ่นดินไทยล้วนมีความสุขกับการใช้ชีวิตของตน

(วรรณวรรธน์ , ๒๕๕๕ : ๗๑๒)

    เรื่องราวของข้าบดินทร์ในช่วงสุดท้าย เมื่อเหมมีเหตุไม่สามารถกลับเข้ารับราชการได้ เนื่องจากทางวิลาศ(ฝรั่ง)ต้องการตัวไปเพื่อลงโทษ คราวที่นายห้างหันแตร (โรเบิร์ต ฮันเตอร์ )ต้องการบังคับขายเรือกลไฟให้แก่ไทย แต่ด้วยราคาสูงเกินไปและเรือเก่ามาก ไทยจึงไม่ตกลง นายห้างขู่ว่าจะใช้ปืนยิงพระบรมมหาราชวัง โดยอ้างว่าจะยิงสลุตเนื่องในโอกาสฉลองวันเกิดของกัปตันเรือบราวน์  เหมเป็นผู้แก้ไขสถานการณ์จนไทยไม่ต้องเสียเงินซื้อกลไฟจำนวนมาก ซึ่งเหตุการณ์นี้สร้างความแค้นใจให้แก่ฝั่งวิลาศมาก ถึงขนาดนำเรือรบมาปิดน่านน้ำ เหมใช้สติปัญญาจนรอดมาได้ แต่ก็ไม่สามารถกลับไปรับราชการได้อีก เมื่อไทยจะส่งราชทูตถวายเครื่องราชบรรณาการต่อสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (คุณชายช่วง) จึงได้เดินทางมาหาเหมเพื่อให้ช่วยราชการครั้งนี้  ความว่า

         “มีคนมาถามหาคุณพ่อนะสิเจ้าคะ”… มีคนตามหาเขา ?

          เหมหันขวับมองไปตามนิ้วกลม คนกลุ่มหนึ่งยืนมองดูเขาอยู่ด้านหลังนั้น ท่ามกลางผู้คนขวักไขว่ ชายร่างผอมที่ยืนเด่นเป็นสง่าตรงนั้น เห็นเพียงแวบแรกแม้จะอยู่ในผ้าลายพื้นปราศจากสมปัก แต่เขาย่อมจดจำท่านได้เป็นอย่างดี เจ้าคุณไวย คุณชายช่วง…ร่างสูงใหญ่  ก้มลงกราบด้วยความดีใจ

          “ท่านเจ้าคุณไวย”

          “อันที่จริงต้องเป็นข้าที่ดีใจเห็นเอ็งยังมีชีวิต”

          ท่านเจ้าคุณไวยเอ่ยกับเขาเบา ๆ หกปีที่เขาหลบหายออกมาอยู่ที่นี่ เป็นควาญช้างของเพนียดท่านขุนศรีไชยทิตย ….

          “ข้าจะไปลพบุรี เห็นว่าเขามีงานคล้องช้างที่เพนียดเลยแวะมาดู คิดอยู่แล้วว่าต้องเจอเจ้า”

           ฟังแล้วให้ตื้นตันนัก ท่านเจ้าคุณไวยยังไม่ลืมอ้ายเหมคนนี้ หลายปีที่ผ่านมา ท่านเรียกเขาเข้าไปรับราชการกับท่าน แต่ด้วยความเกรงใจเรื่องที่ก่อไว้ ทำให้ไม่กล้ากลับไปรับราชการตามเดิม หากท่านเจ้าคุณไวยไม่เคยลดละความพยายามตลอดมาจนถึงวันนี้

           “คราวนี้มีงานใหญ่ อยากให้เจ้าช่วยเหลือ”

      ……เมื่อสองปีก่อน สมเด็จพระราชินีวิคตอเรียนางพญาวิลาศ ส่งคนมาถวายเครื่องราชบรรณาการที่พระมหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงจักส่งคณะราชทูตจากไทยไปถวายเครื่องราชบรรณาการนางพญาวิลาศ เพื่อเป็นการตอบแทน

              “เจ้าคิดเอาเถิด ในเวลานี้คนของเราต้องไปต่างแดน แต่ถึงทุกวันนี้เราจะมีคนรู้วิลาศมากขึ้น แต่หลายคนก็ไม่รู้วิธีศึกเอาตัวรอดอย่างนักดาบ คนที่ฝึกดาบเอาตัวรอดได้ก็ไม่เอาดีทางภาษา เราจึงมีคนรู้วิลาศและเก่งดาบทันคนอยู่แทบจะนับหัวได้ แต่ข้ารู้ว่ามีบางคนที่วิลาศเกรงกลัว แต่พวกนั้นไม่รู้ว่ายังมีชีวิตอยู่…หากแต่ได้คนคนนี้ไป ข้าจะวางใจว่าคณะทูตนี้จักปลอดภัยกลับมา”

             เขากล้ำกลืนก้อนแข็งในคอ ท่านเจ้าคุณไวยเจาะจงมาที่ตน

             “ข้าจึงใคร่อยากให้เอ็งเดินทางไปในฐานะคนธรรมดา แสร้งว่าเป็นหมอนวด แต่แท้จริงก็เพื่อดูแลทั้ง ๑๕ เพื่อทำให้ข้าอุ่นใจว่าทั้งหมดจะปลอดภัยจากเล่ห์กลของคนวิลาศ”

              ปกปิดอดีตหลวงสุรบดินทร์ให้ร่วมเดินทางในฐานะคนธรรมดา ทำหน้าที่ดูแลคณะทูตเช่นนั้นหรือ เพราะหากไปในฐานะหลวงสุรบดินทร์ จนวิลาศรับทราบคงจะขัดเคืองเป็นเรื่องใหญ่ แต่ท่านก็จำเป็นหวังจักให้เขาไป เพื่อดูแลคณะทูตที่กล่าวมา

              …ไม่ต้องห่วงดอก ข้าเคยรับปากจะดูแลลูกเมียเอ็งไว้ ข้าไม่เคยลืม ที่สำคัญ เจ้าลำดวนมันก็หลานข้า ลูกหลานเอ็งก็เหมือนลูกหลานข้าเช่นกัน ยิ่งหากเอ็งรับปากราชการคราวนี้ ข้าจะบำรุงพวกมันยิ่งกว่าลูกหลานของข้าเสียด้วยซ้ำไป”

               เหมได้แต่นั่งฟังนิ่งงัน

              ท่านจึงได้กล่าวคำสั้น ๆ ให้เขาตัดสินใจ “หากเอ็งยังคิดว่าตัวเองเป็นข้าแผ่นดิน คราวนี้ก็จงอย่าเลี่ยงข้า”

(วรรณวรรธน์, ๒๕๕๕ : ๗๑๕ – ๗๑๖, ๗๑๗ – ๗๑๘)

    จากที่กล่าวมาทั้งหมดสามารถสรุป สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) มหาบุรุษรัตโนดม เลิศจงรักภักดีจักรีวงศ์ บทบาทสะท้อนละคร “ข้าบดินทร์”ได้ว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นบุคคลที่เก่งงาน เก่งคน และเก่งความรอบรู้ จึงทำให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย และหากพินิจในเชิงวรรณกรรมแล้ว สมเด็จเจ้าพระบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ทำให้ตัวละครอย่าง “เหม” มีความเด่นชัดขึ้น ในเรื่องของความจงรักภักดีต่อแผ่นดินไทย เพราะท่านมีส่วนสำคัญอย่างมากที่สนับสนุน ส่งเสริม ผลักดัน จนเหม สามารถเป็น “ข้าบดินทร์” ได้อย่างแท้จริง


เอกสารอ้างอิง

ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. (๒๕๕๑). สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค). พิมพ์ครั้งที่ ๓.    

         กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊ค.

วรรณวรรธน์. (๒๕๕๕). ข้าบดินทร์ เล่ม ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บ้านวรรณกรรม.

————-. (๒๕๕๕). ข้าบดินทร์ เล่ม ๒. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บ้านวรรณกรรม.

อุ้มสม (นามแฝง).  (๒๕๕๖). ข้าบดินทร์ // วรรณวรรธน์ (ออนไลน์). จาก

           http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=aumsom&month=01-02- 

           2013&group=1&gblog=21. สืบค้นเมื่อ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘.