บทที่ 2

ทฤษฎีและเอกสารที่เกี่ยวข้อง

   การพัฒนาระบบสหกรณ์ร้านค้า มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด ผ่านเว็บไซต์ ทางผู้พัฒนาได้ทำการศึกษาหลักการทฤษฎีต่างๆ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแหล่งที่มาของข้อมูลที่มีความจำเป็นในการพัฒนาระบบ เพื่อที่ทำให้ได้มีระบบงานที่มีความถูกต้องและรวดเร็วในการดำเนินงาน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.  สหกรณ์ร้านค้า

2.  ระบบฐานข้อมูล

3.  ฐานข้อมูล MySQL

4.  โปรแกรมภาษา PHP

5.  การวิเคราะห์และออกแบบระบบ

6.  งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

สหกรณ์ร้านค้า

1.  ความหมายของสหกรณ์ร้านค้า

สหกรณ์ร้านค้าหรือสหกรณ์ผู้บริโภค คือร้านค้าที่ผู้บริโภครวมตัวกันจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคมาจำหน่ายแก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป โดยมิได้แสวงหากำไร แต่เพื่อจัดการเอาเปรียบและความไม่เป็นธรรมในการซื้อสินค้าสหกรณ์ร้านค้าส่วนใหญ่จัดตั้งในเขตชุมชนเมือง หรืออาณาบริเวณที่มีประชากรหนาแน่น มีทั้งที่จัดขึ้นในกลุ่มประชาชนโดยทั่วไปในสถาบันการศึกษา หรือองค์การอื่นๆ(วิวัฒน์ เมฆอรุณ, 2526, น.6)

สหกรณ์ร้านค้า เป็นสหกรณ์ที่ตั้งขึ้นโดยผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองหรือย่านชุมชน หรือในสถาบันศึกษา สหกรณ์ร้านค้ามีความมุ่งหมายเพื่อให้บริการขัดหาเครื่องอุปโภคและบริโภคมาจำหน่ายแก่สมาชิกในราคายุติธรรม(ประพันธ์ ธรรมไชย, 2526, น.64)

2.  วัตถุประสงค์

วัตถุประสงค์ของสหกรณ์ร้านค้า พอสรุปได้ดังนี้

1)  จัดหาสิ่งของและบริการที่สมาชิกต้องการมาจำหน่าย

2)  ช่วยจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของสมาชิก

3)  ส่งเสริมความรู้ทางการค้า และการสหกรณ์แก่สมาชิก

4)  ส่งเสริมให้รู้จักการประหยัดการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

5)  ร่วมมือกับสหกรณ์และสถาบันอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

3.  รูปแบบของร้านสหกรณ์

3.1  แบ่งตามขนาดธุรกิจ ประเภท และชนิดของสินค้า ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดคือ

1)  ร้านสหกรณ์ขนาดเล็ก (Cooperative Shop and Store) มีการหมุนเวียนของสินค้าต่อปีประมาณ 8-15 ล้านบาท มีสินค้าต่างๆประมาณ 2,400 รายการ

2)  ร้านสหกรณ์แบบซุปเปอร์มาร์เก็ต (Cooperative Super Market) มีการหมุนเวียนของสินค้าประมาณ 2,400 – 10,000 รายการ(ประเภทอาหารร้อยละ50–80 และสินค้าอื่นร้อยละ20 – 50)

3)  ร้านสหกรณ์แบบสรรพสินค้า (Cooperative Department Store) มีการหมุนเวียนสินค้าต่อปีประมาณ 80 – 240 ล้านบาท มีรายการสินค้าประมาณ 10,000 – 70,000 รายการ โดยแยกเป็นสินค้าประเภทอาหารร้อยละ 25 และสินค้าที่มิใช่ประเภทอาหารร้อยละ 75

3.2  ร้านสหกรณ์แบบมีสาขาและไม่มีสาขา

1)  ร้านสหกรณ์แบบมีสาขา ได้แก่ร้านสหกรณ์ขนาดใหญ่ ซึ่งควบหรือรวมสหกรณ์เล็กเข้าด้วยกัน บางทีก็มีร้านสหกรณ์แบบซุปเปอร์มาร์เก็ต 1 ร้านหรือมากกว่าก็ได้ สหกรณ์แบบนี้มีสินค้าหมุนเวียนสูง มีอำนาจซื้อได้มาก

2)  ร้านสหกรณ์แบบไม่มีสาขา เป็นสหกรณ์ขั้นปฐมส่วนมากเป็นสหกรณ์ขนาดเล็ก ซึ่งขายสินค้าให้แก่สมาชิกในท้องถิ่น ปริมาณการหมุนเวียนของสินค้าในร้านไม่มากนัก การซื้อสินค้าเข้าร้านส่วนมากซื้อจากพ่อค้าขายส่งในท้องถิ่นนั้นๆ สหกรณ์แบบนี้ดำเนินงานค่อนข้างโดดเดี่ยว แยกต่างหากจากสหกรณ์ร้านค้าอื่นๆ ปัญหาสำคัญก็คือสหกรณ์เช่นนี้ไม่สามารถแข่งกับร้านค้าอื่นๆ ในเมื่อสหกรณ์ต้องซื้อสินค้าจากพ่อค้าขายส่งเอกชน

3.3  ร้านสหกรณ์แบบปิดและร้านสหกรณ์แบบเปิด

1)  ร้านสหกรณ์แบบปิด คือร้านสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นในหน่วยงานหรือองค์การใดองค์การหนึ่ง สมาชิกส่วนใหญ่หรือทั้งหมด เป็นบุคคลที่ทำงานในองค์การหรือหน่วยงานนั้น

2)  ร้านสหกรณ์แบบเปิด คือร้านสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นโดยเปิดรับสมาชิกทั่วไป
ทุกสาขาอาชีพ สำหรับบริการชุมชนต่างๆ

4.  ตัวอย่างสหกรณ์ร้านค้า

4.1  ร้านสหกรณ์ กรุงเทพ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2482 มีสาขาถึง 4 สาขา โดยมีผู้จัดการแต่ละสาขาเป็นผู้ดูแลการปฏิบัติงานของร้านสหกรณ์แต่ละสาขา ได้แก่ สาขาพระปิ่นเกล้า(สาขาใหญ่) สาขาบางลำพู สาขาเอกมัย และสาขาลาดหญ้า ถือว่าเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่มีจำนวนสมาชิกถึง 129,049 คน สรรหาสินค้าที่มีคุณค่า มีคุณภาพ มาให้บริการแก่สมาชิกและประชาชนทั่วไปให้ได้รับความสะดวกในการอุปโภคและบริโภค ในราคาที่ยุติธรรม และที่สำคัญยังเน้นการจัดกิจกรรมตามเทศกาลต่างๆ เพื่อดึงดูดให้สมาชิกและลูกค้าเข้ามาแวะชมหรือเลือกซื้อสินค้าด้วย (สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1, 2554, ออนไลน์)

4.2  ร้านสหกรณ์จังหวัดตราด จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2496 สหกรณ์แห่งนี้ได้รางวัลโล่เกียรติยศสหกรณ์ดีเด่นระดับภาค ปี 2557 ติดอันดับ 1 สหกรณ์ร้านค้าที่มีรายได้มากที่สุดในปี พ.ศ. 2555 สหกรณ์แห่งนี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อจำหน่ายสินค้าให้แก่สหกรณ์ เอกชน ผู้แทนจำหน่ายสินค้า และอื่น ๆ อีกทั้ง สมาชิกสหกรณ์หรือผู้บริโภคสินค้าสามารถเข้าถึงสินค้าของสหกรณ์ได้ง่ายขึ้น มีนโยบายให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการดูแลสหกรณ์และยึดถือประโยชน์ของสมาชิกเป็นหลัก ทำให้สหกรณ์ยกระดับร้านค้าให้มีขนาดใหญ่ขึ้นรองรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการมากถึงวันละ 2,000 – 3,000 คน สหกรณ์ได้รับเลือกให้เป็นศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2555 ซึ่งทำหน้าที่กระจายสินค้าของสหกรณ์ส่งไปยังจุดจำหน่ายต่างๆ ทั้งภายในจังหวัดตราด ซึ่งมีร้านค้าในหมู่บ้านและชุมชนในจังหวัดตราด ประมาณ 160 แห่ง จังหวัดใกล้เคียง และประเทศกัมพูชา พร้อมรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี (AEC) ปีที่ผ่านมามียอดขายสูงถึงปีละ 1,000 ล้านบาท (สำนักงานสหกรณ์จังหวัดตราด, 2556, ออนไลน์)

4.3  ห้าง Migros เป็นสหพันธ์สหกรณ์ผู้บริโภคในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1925 โดยมีความหมายว่า กึ่งขายส่งเป็นวิธีปฏิวัติขายสินค้าแนวใหม่ เริ่มแรกเป็นลักษณะร้านค้าเคลื่อนที่ ขายสินค้าอุปโภคและบริโภค กลายมาเป็นห้างสรรพสินค้าในเวลาต่อมา ปัจจุบันห้างสรรพสินค้า Migros มีสาขาทั้งหมด 623 สาขาและมีพนักงานประมาณ 86,393 คนปัจจุบันเป็นบริษัทค้าปลีกที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของสวิตเซอร์แลนด์ (วิวัฒน์ เมฆอรุณ, 2526, น.48)

5. หลักสำคัญของสหกรณ์ร้านค้า

5.1 เปิดรับสมาชิกโดยทั่วไป (Open Membership) สหกรณ์จะเปิดรับสมาชิกทุกกลุ่ม ไม่จำกัดเพศ โดยรวมกลุ่มกันอย่างน้อย 250 คน ร่วมกันจัดตั้งสหกรณ์ โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างด้านลัทธิทางการเมือง ศาสนา เชื้อชาติและผิวพันธุ์ แต่จะปฏิเสธที่จะรับบุคคลที่มีคุณลักษณะหรือนิสัยไม่ดีเข้าเป็นสมาชิก

5.2  การควบคุมตามระบอบประชาธิปไตย (One man one vote) สหกรณ์เป็นองค์การประชาธิปไตย บุคคลย่อมมีเสรีภาพ ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน กิจการของสหกรณ์จะบริหารโดยบุคคลที่ได้รับเลือกหรือแต่งตั้งตามวิธีที่สมาชิกได้ตกลงกัน มีสิทธิเท่าเทียมกันในการออกเสียง (สมาชิก 1 คน 1 เสียง) ออกเสียงแทนกันไม่ได้ บางคนถือหลายหุ้นแต่จะออกได้เพียงเสียงเดียวเท่านั้น แต่ถ้าเป็นบริษัทจำกัด การออกเสียงจะถือเสียงตามหุ้นส่วนมาก ใครถือมากก็จะมีจำนวนเสียงมาก และถ้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทแล้ว ก็จะมีอำนาจควบคุมบริษัทได้

5.3  การค้าเป็นเงินสด (Cash trading) การค้าด้วยเงินสดเป็นกฎที่ดีในการดำเนินธุรกิจ การละเลยกฎข้อนี้ทำให้ร้านสหกรณ์จำนวนมากประสบความลำบาก ร้านสหกรณ์ที่ขายด้วยเงินสินเชื่อ จะทำให้ทุนดำเนินงานส่วนหนึ่งจมอยู่ที่ลูกหนี้ ไม่อาจทำทุนที่จมอยู่นี้มาขยายงานได้ และอาจทำให้ก่อหนี้สูญ ทำให้ร้านสหกรณ์ดำเนินกิจการไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร

5.4  การให้ศึกษาแก่สมาชิก (Membership Education) สหกรณ์ทั่งปวงจะต้องจัดการศึกษาให้แก่สมาชิก เจ้าหน้าที่สหกรณ์ พนักงานสหกรณ์และประชาชนโดยทั่วไปในหลักการและวิธีการของสหกรณ์ เพื่อให้สมาชิกได้เข้าใจถึงสิทธิและความรับผิดชอบของเขาที่จะมีต่อสหกรณ์

5.5  ความเป็นกลางทางการเมืองและศาสนา (Political and Religions Neutrality) จุดประสงค์ของการตั้งสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในหมู่สมาชิกโดยไม่ฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดหรือศาสนาใด โดยการรับสมาชิกจะไม่คำนึงถึงความแตกต่างในศาสนาและลัทธิการเมือง

5.6  ดำเนินธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยง (No unusual risk assumption) การดำเนินธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยงเป็นวิธีที่ดี แต่เราไม่ได้ถือว่าเป็นหลักสหกรณ์เพราะว่าไม่มีเกณฑ์ที่จะวัดความเสี่ยงภัยได้อย่างถูกต้องแน่นอน และพยายามหลีกเลี่ยงการดำเนินธุรกิจแบบเสี่ยงเพื่อแสวงหากำไร (Speculative)

5.7  จำกัดเงินปันผลตามหุ้น (Limited interest on stock) การถือหุ้นของร้านสหกรณ์นั้นเท่ากับสมาชิกมีส่วนเป็นเจ้าของและเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย การจำกัดเงินปันผลตามหุ้นของร้านสหกรณ์ทำให้สหกรณ์ได้มีเงินลงทุนต่ำกว่าเงินกู้ และเพื่อบริการสมาชิกได้ซื้อสินค้าในราคาต่ำเท่าที่จะทำได้

5.8  ขายสินค้าตามราคาท้องตลาด (Goods sold at regular retail prices) ร้านสหกรณ์ใช้นโยบายขายสินค้าตามท้องตลาด เพื่อจะทำให้ร้านสหกรณ์มีเงินออมสุทธิมากขึ้น ขยายการดำเนินธุรกิจได้ง่าย ป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกได้รับประโยชน์จากการซื้อของในราคาต่ำ

6.  ประวัติของสหกรณ์ร้านค้า

   สหกรณ์ร้านค้า เป็นสหกรณ์ประเภทหนึ่งที่ผู้บริโภครวมกันจัดตั้งขึ้น เพื่อจัดหาสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคและรวบรวมผลิตผล ผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายแก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป ในต่างประเทศนิยมเรียกว่า “สหกรณ์ของแม่บ้าน” โดยจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ในประเภทสหกรณ์ร้านค้า มีสภาพเป็นนิติบุคคล ซึ่งสมาชิกผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นเจ้าของ สมาชิกลงทุนร่วมกันในสหกรณ์ด้วยความสมัครใจ เพื่อแก้ไขความเดือนร้อนในการซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค และเพื่อผดุงฐานะทางเศรษฐกิจของตนและหมู่คณะ เมื่อสิ้นปีสหกรณ์มีกำไรสุทธิประจำปีสมาชิกจะได้รับเงินปันผล ตามหุ้น และเงินเฉลี่ยคืนตามส่วนที่ได้ทำธุรกิจกับสหกรณ์

   ประเทศไทยได้เริ่มจัดตั้งสหกรณ์ร้านค้าเมื่อปี พ.ศ. 2480 โดยตั้งขึ้นในหมู่ชาวชนบทของอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่สหกรณ์ร้านค้านี้ก็ต้องเลิกไป ต่อมาได้มีการจัดตั้งสหกรณ์ร้านค้าเพิ่มขึ้นอีกหลาย ๆ แห่ง อนึ่ง สหกรณ์ร้านค้าที่ดำเนินงานประสบความสำเร็จมักจะเป็นสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นในตัวเมืองซึ่งประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น และสหกรณ์ร้านค้าที่ตั้งขึ้นในหน่วยงานราชการและหน่วยงานเอกชน สำหรับสหกรณ์ร้านค้าในชนบทนั้นมักดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

   ในรอบปี 2554 มีสหกรณ์ร้านค้าทั้งสิ้นจำนวน 273 แห่ง ดำเนินธุรกิจตามปกติเพียง 179 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 64.16 ของจำนวนสหกรณ์ร้านค้าทั้งสิ้น สมาชิกของสหกรณ์มีจำนวน 725,425 คน ดำเนินธุรกิจตามวัตถุประสงค์หลักของสหกรณ์ มีปริมาณธุรกิจรวม 6,048.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 576.01 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.53 การดำเนินงานของสหกรณ์อยู่ภายใต้ทุนดำเนินงานทั้งสิ้น 2,436.02 ล้านบาท แบ่งเป็นแหล่งเงินทุนภายใน 2,092.15 ล้านบาท และแหล่งเงินทุนภายนอก 343.87 ล้านบาท สามารถสร้างผลกำไรสุทธิประจำปีโดยรวม 165.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 4.88 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.03 สหกรณ์ที่มีกำไรสุทธิรวม 153 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 85.47 ของสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจ และสหกรณ์ที่ดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 26 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 14.53 เมื่อพิจารณาแต่ละด้านของสหกรณ์ปรากฏผลดังนี้

7.  การเติบโตของกิจการ

   ระหว่างปีกิจการสหกรณ์ร้านค้ามีการขยายตัว โดยลงทุนเพิ่มขึ้นในสินทรัพย์จำนวน 166.71 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียน จำนวน 103.54 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของ เงินสดและเงินฝากธนาคาร และลูกหนี้ สำหรับสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน จำนวน 63.17 ล้านบาท อยู่ในรูปของที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ และอื่น ๆ ตามลำดับ

   สำหรับผลการดำเนินงาน พบว่าสหกรณ์มียอดขายและบริการในปี 2554 จำนวน 5,909.47 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 5,406.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 503.11 ล้านบาท บ่งชี้ให้เห็นว่าสินค้าและบริการของสหกรณ์ยังคงได้รับการตอบรับจากสมาชิกและบุคคลทั่วไปเป็นอย่างดี ดังนั้นในภาพรวม จะเห็นว่าสหกรณ์ยังสามารถดำเนินงานไปได้ด้วยดีเป็นปกติ มีการเติบโตของทั้งสินทรัพย์และรายได้

8.  สภาพคล่อง

   ในรอบปี 2554 สหกรณ์ลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์หมุนเวียน เท่ากับ 103.54 ล้านบาท ขณะที่มีหนี้สินหมุนเวียนเพิ่มเท่ากับ 74.91 ล้านบาท เมื่อพิจารณาอัตราส่วนสินทรัพย์หมุนเวียนต่อหนี้สินหมุนเวียนมีค่าค่อนข้างสูงเท่ากับ 3.30 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2553 เท่ากับ 3.59 เท่า พบว่าความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นมีระดับที่ลดลงไปจากเดิมแต่สภาพคล่องยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเป็นปกติ พิจารณาจากคุณภาพของสินทรัพย์หมุนเวียน เช่น ลูกหนี้เงินกู้ และสินค้าคงเหลือ พบว่ายังมีคุณภาพดีโดยดูได้จากอัตราลูกหนี้เงินกู้ระยะสั้นที่ชำระหนี้ได้ตามกำหนดต่อหนี้ที่ถึงกำหนดชำระสูงถึงร้อยละ 98.41 และมีอัตราการหมุนของสินค้าเท่ากับ 20.53 ครั้ง

9.  ประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์    

   เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2554 และปี 2553 สหกรณ์มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจำนวน 166.71 ล้านบาท ในขณะที่ยอดขายเพิ่มขึ้น 503.11 ล้านบาท เมื่อพิจารณาข้อมูลแล้วพบว่าอัตราการเพิ่มของยอดขายเร็วกว่าอัตราการเพิ่มของสินทรัพย์รวม ลักษณะดังกล่าวส่งผลให้อัตราส่วนการขายต่อสินทรัพย์รวม มีค่าสูงกว่าเดิมจากปี 2553 เท่ากับ 2.38 เป็น 2.43 ในปี 2554

   สำหรับอัตราส่วนยอดขายต่อสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนในปี 2554 เท่ากับ 8.16 ปี 2553 เท่ากับ 8.18 สะท้อนถึงประสิทธิภาพการใช้สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนในการสร้างรายได้ลดลงกว่าเดิมเล็กน้อย แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง จึงสามารถกล่าวได้ว่าประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ของสหกรณ์ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีสามารถยอมรับได้

10.  ความสามารถในการทำกำไร

   รายได้จากการขายและบริการของสหกรณ์ในปี 2554 จำนวน 5,909.47 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 5,406.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 503.11 ล้านบาท พบว่าผลการดำเนินงานของสหกรณ์มีการสร้างรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีส่งผลให้มีกำไรเพิ่มขึ้น 4.88 ล้านบาท เมื่อหันมาดูถึงต้นทุนขายต่อยอดขายอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 92 ทั้ง 2 ปี ถึงแม้ว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นแต่สัดส่วนต้นทุนขายต่อยอดขายก็ไม่ลดลง จึงทำให้ผลกำไรที่ได้ไม่สูงไปกว่าเดิมมากนัก ดังนั้นสหกรณ์ควรที่จะหามาตรการในการลดหรือประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นบางตัวลงเพื่อคงสภาพที่ดีของสหกรณ์ต่อไป

   จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นสรุปได้ว่า ฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของสหกรณ์ร้านค้าในรอบปี 2554 อยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่มีข้อสังเกตว่าสหกรณ์มีปัญหาสัดส่วนต้นทุนขายค่อนข้างสูงทั้งที่ยอดขายมีระดับเพิ่มสูงขึ้น แม้การดำเนินงานมีกำไร แต่ถ้าเข้าไปตรวจสอบและแก้ปัญหาในจุดนี้จะช่วยให้ผลการดำเนินงานในด้านกำไรของสหกรณ์ดีขึ้นกว่าระดับที่เป็นอยู่ได้

   แต่อย่างไรก็ตามในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันสูง ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อที่เกิดขึ้นแทบทุกที่สามารถเข้าถึงประชาชนทุกหมู่เหล่า สหกรณ์ร้านค้าจึงจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจและบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ให้ครองใจสมาชิกที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์นั้นยังคงทำธุรกิจกับสหกรณ์ต่อ และเพิ่มจำนวนสมาชิกที่ไม่เคยทำธุรกิจกับสหกรณ์ให้หันมาทำธุรกิจกับสหกรณ์ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของสหกรณ์ต่อไป

   ร้านสหกรณ์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 1,360 คน การจัดการและการบริการยังคงเป็นรูปแบบเดิมคือมีการคำนวณหรือเก็บข้อมูลโดยใช้แฟ้มเอกสารแล้วจัดเรียงตามหมวดหมู่ ข้อมูลบางรายการทำการจดบันทึกด้วยลายมือของพนักงานสหกรณ์ จึงทำให้การค้นหาข้อมูล และการตรวจสอบเป็นไปอย่างยากลำบาก หรือข้อมูลอาจผิดพลาดได้ และการสรุปรวบรวมประจำปีทำได้อย่างยากลำบาก จึงจำเป็นต้องมีระบบจัดการข้อมูลต่างๆของทางร้านสหกรณ์ เพื่อสร้างการทำงานได้อย่างเป็นระบบ การดำเนินงานมีทิศทางที่ชัดเจน เกิดความเชื่อถือ พึงพอใจและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กรซึ่งจะส่งผลในการกลับมาใช้บริการอีกในโอกาสต่อไป

   ดังนั้นการพัฒนาระบบสหกรณ์ร้านค้า มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด ผ่านเว็บไซต์ เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ค้นหาข้อมูลสะดวกสบาย รวดเร็ว เป็นระบบมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญยังลดภาระการทำงานของพนักงานสหกรณ์ได้เป็นอย่างดี จึงสามารถตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างชัดเจน

ระบบฐานข้อมูล

   ระบบฐานข้อมูล (Database System) หมายถึง โครงสร้างสารสนเทศที่ประกอบด้วยรายละเอียดของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกันที่จะนำมาใช้ในระบบต่าง ๆ ร่วมกัน

   ระบบฐานข้อมูล จึงนับว่าเป็นการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งผู้ใช้สามารถจัดการกับข้อมูลได้ในลักษณะต่าง ๆ ทั้งการเพิ่ม การแก้ไข การลบ ตลอดจนการเรียกดูข้อมูล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการประยุกต์นำเอาระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการจัดการฐานข้อมูล (มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม, 2552, ออนไลน์)

1.  นิยามและคำศัพท์พื้นฐานเกี่ยวกับระบบฐานข้อมูล

บิท (Bit) หมายถึง หน่วยของข้อมูลที่มีขนาดเล็กที่สุด

ไบท์ (Byte) หมายถึง หน่วยของข้อมูลที่กิดจากการนำบิทมารวมกันเป็นตัวอักขระ (Character)

เขตข้อมูล (Field) หมายถึง หน่วยของข้อมูลที่ประกอบขึ้นจากตัวอักขระตั้งแต่หนึ่งตัวขึ้นไปมารวมกันแล้วได้ความหมายของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ชื่อ ที่อยู่ เป็นต้น

ระเบียน (Record) หมายถึง หน่วยของข้อมูลที่เกิดจากการนเอาเขตข้อมูลหลาย ๆ เขตข้อมูลมารวมกัน เพื่อเกิดเป็นข้อมูลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ข้อมูลของนักศึกษา 1 ระเบียน (1 คน)
จะประกอบด้วยรหัสประจำตัวนักศึกษา 1 เขตข้อมูล ชื่อนักศึกษา 1 เขตข้อมูล ที่อยู่ 1 เขตข้อมูล

แฟ้มข้อมูล (File) หมายถึงหน่วยของข้อมูลที่เกิดจากการนำข้อมูลหลาย ๆ ระเบียนที่เป็นเรื่องเดียวกันมารวมกัน เช่น แฟ้มข้อมูลนักศึกษา แฟ้มข้อมูลลูกค้า แฟ้มข้อมูลพนักงาน

ส่วนในระบบฐานข้อมูล มีคำศัพท์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้

เอนทิตี้ (Entity) หมายถึง ชื่อของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ได้แก่ คน สถานที่ สิ่งของ การกระทำ
ซึ่งต้องการจัดเก็บข้อมูลไว้ เช่น เอนทิตี้ลูกค้า เอนทิตี้พนักงาน

เอนทิตี้ชนิดอ่อนแอ (Weak Entity) เป็นเอนทิตี้ที่ไม่มีความหมาย หากขาดเอนทิตี้อื่นในฐานข้อมูล

แอททริบิวต์ (Attribute) หมายถึง รายละเอียดข้อมูลที่แสดงลักษณะและคุณสมบัติของเอนทิตี้หนึ่ง ๆ เช่นเอนทิตี้นักศึกษา ประกอบด้วย

– แอทริบิวต์รหัสนักศึกษา

– แอททริบิวต์ชื่อนักศึกษา

– แอททริบิวต์ที่อยู่นักศึกษา

ความสัมพันธ์ (Relationships) หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างเอนทิตี้ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างเอนทิตี้นักศึกษาและเอนทิตี้คณะวิชา เป็นลักษณะว่า นักศึกษาแต่ละคนเรียนอยู่คณะวิชาใดคณะวิชาหนึ่ง

ความสัมพันธ์ระหว่างเอนทิตี้ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

  1) ความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง (One-to-one Relationships) เป็นการแสดงความสัมพันธ์ของข้อมูลในเอนทิตี้หนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับข้อมูลในอีกเอนทิตี้หนึ่งในลักษณะหนึ่งต่อหนึ่ง (1:1)

  2) ความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อกลุ่ม (One-to-many Relationships) เป็นการแสดงความสัมพันธ์ของข้อมูลในเอนทิตี้หนึ่ง ที่มีความสัมพันธ์กับข้อมูลหลาย ๆ ข้อมูลในอีกเอนทิตี้หนึ่ง ในลักษณะ (1:m)

  3) ความสัมพันธ์แบบกลุ่มต่อกลุ่ม (Many-to-many Relationships) เป็นการแสดงความสัมพันธ์ของข้อมูลสองเอนทิตี้ในลักษณะกลุ่มต่อกลุ่ม (m:n)

จากคำศัพท์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบฐานข้อมูลที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงอาจให้นิยามของฐานข้อมูลในอีกลักษณะได้ว่า ฐานข้อมูลอาจหมายถึง โครงสร้างสารสนเทศ ที่ประกอบด้วยหลาย ๆ เอนทิตี้ที่มีความสัมพันธ์กันความสำคัญของการประมวลผลแบบระบบฐานข้อมูล

จากการจัดเก็บข้อมูลรวมเป็นฐานข้อมูลจะก่อให้เกิดประโยชน์ดังนี้

1) สามารถลดความซ้ำซ้อนของข้อมูลได้

  การเก็บข้อมูลชนิดเดียวกันไว้หลาย ๆ ที่ ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน (Redundancy) ดังนั้นการนำข้อมูลมารวมเก็บไว้ในฐานข้อมูล จะช่วยลดปัญหาการเกิดความซ้ำซ้อนของข้อมูลได้ โดยระบบจัดการฐานข้อมูล (Database Management System : DBMS) จะช่วยควบคุมความซ้ำซ้อนได้ เนื่องจากระบบจัดการฐานข้อมูลจะทราบได้ตลอดเวลาว่ามีข้อมูลซ้ำซ้อนกันอยู่ที่ใดบ้าง

2) หลีกเลี่ยงความขัดแย้งของข้อมูลได้

  หากมีการเก็บข้อมูลชนิดเดียวกันไว้หลาย ๆ ที่และมีการปรับปรุงข้อมูลเดียวกันนี้ แต่ปรับปรุงไม่ครบทุกที่ที่มีข้อมูลเก็บอยู่ก็จะทำให้เกิดปัญหาข้อมูลชนิดเดียวกัน อาจมีค่าไม่เหมือนกันในแต่ละที่ที่เก็บข้อมูลอยู่ จึงก่อให้เกิดความขัดแย้งของข้อมูลขึ้น (Inconsistency)

3) สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้

  ฐานข้อมูลจะเป็นการจัดเก็บข้อมูลรวมไว้ด้วยกัน ดังนั้นหากผู้ใช้ต้องการใช้ข้อมูลในฐานข้อมูลที่มาจากแฟ้มข้อมูลต่างๆ ก็จะทำได้โดยง่าย

4) สามารถรักษาความถูกต้องเชื่อถือได้ของข้อมูล

  บางครั้งพบว่าการจัดเก็บข้อมูลในฐานข้อมูลอาจมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น เช่น จากการที่ผู้ป้อนข้อมูลป้อนข้อมูลผิดพลาดคือป้อนจากตัวเลขหนึ่งไปเป็นอีกตัวเลขหนึ่ง โดยเฉพาะกรณีมีผู้ใช้หลายคนต้องใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลร่วมกัน หากผู้ใช้คนใดคนหนึ่งแก้ไขข้อมูลผิดพลาด
ก็ทำให้ผู้อื่นได้รับผลกระทบตามไปด้วย ในระบบจัดการฐานข้อมูล (DBMS) จะสามารถใส่กฎเกณฑ์เพื่อควบคุมความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

5) สามารถกำหนดความเป็นมาตรฐานเดียวกันของข้อมูลได้

  การเก็บข้อมูลร่วมกันไว้ในฐานข้อมูลจะทำให้สามารถกำหนดมาตรฐานของข้อมูลได้รวมทั้งมาตรฐานต่าง ๆ ในการจัดเก็บข้อมูลให้เป็นไปในลักษณะเดียวกันได้ เช่นการกำหนดรูปแบบการเขียนวันที่ ในลักษณะ วัน/เดือน/ปี หรือ ปี/เดือน/วัน ทั้งนี้จะมีผู้ที่คอยบริหารฐานข้อมูลที่เราเรียกว่า ผู้บริหารฐานข้อมูล (Database Administrator : DBA) เป็นผู้กำหนดมาตรฐานต่างๆ

6) สามารถกำหนดระบบความปลอดภัยของข้อมูลได้

ระบบความปลอดภัยในที่นี้ เป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ใช้ที่ไม่มีสิทธิมาใช้ หรือมาเห็นข้อมูลบางอย่างในระบบ ผู้บริหารฐานข้อมูลจะสามารถกำหนดระดับการเรียกใช้ข้อมูลของผู้ใช้แต่ละคนได้ตามความเหมาะสม

  7) เกิดความเป็นอิสระของข้อมูล

  ในระบบฐานข้อมูลจะมีตัวจัดการฐานข้อมูลที่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงกับฐานข้อมูล โปรแกรมต่าง ๆ อาจไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างข้อมูลทุกครั้ง ดังนั้นการแก้ไขข้อมูลบางครั้ง จึงอาจกระทำเฉพาะกับโปรแกรมทีเรียกใช้ข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงเท่านั้น ส่วนโปรแกรมที่ไม่ได้เรียกใช้ข้อมูลดังกล่าว ก็จะเป็นอิสระจากการเปลี่ยนแปลง

2.  การประยุกต์ใช้ฐานข้อมูลในงานซื้อขายสินค้า

การประยุกต์ใช้ฐานข้อมูลในงานต่าง ๆ ได้แก่ การขายปลีก ระบบบัญชีเจ้าหนี้ และระบบบัญชีสินค้าคงคลัง เป็นต้น ซึ่งการประยุกต์ใช้ฐานข้อมูลกับการขายปลีก ทำให้องค์กรสามารถออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ทำให้สามารถจัดทำรายงานการขายประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ในงานซื้อขายสินค้าในห้างสรรพสินค้า ระบบบัญชีเจ้าหนี้จะเกิดขึ้นเมื่อองค์กรมีการสั่งซื้อสินค้าเข้ามา การบันทึกข้อมูลใบสั่งซื้อสินค้าด้วยการใช้เทคนิคระบบจัดการฐานข้อมูล จะทำให้สามารถพิมพ์รายงานเรียงตามลำดับวันที่ค้างชำระได้ ซึ่งรายงานนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาใช้เพื่อการบริหารจัดการการเงิน ขององค์กรให้มีประสิทธิภาพได้ และยังสามารถพิมพ์เช็คชำระหนี้รวมทั้งบันทึกรายการชำระหนี้ได้ จึงทำให้สามารถจัดทำรายงานสรุปการจ่ายเงินในแต่ละวันได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

ดังนั้น การประยุกต์ใช้ฐานข้อมูลในงานซื้อขายสินค้า จึงช่วยให้ผู้บริหารขององค์กร สามารถหาคำตอบในเรื่องต่าง ๆ ต่อไปนี้ได้ เช่น ความต้องการสินค้าของลูกค้าเพิ่มมากขึ้นหรือลดลง สินค้าชนิดใดที่ได้รับความนิยมหรือเสื่อมความนิยม องค์กรเป็นหนี้การค้าหน่วยงานบริษัทใดบ้าง เป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด เป็นต้น จากตัวอย่างที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า หากองค์กร
มีการประยุกต์ใช้ฐานข้อมูลในการดำเนินงานแล้ว ผู้บริหารจะสามารถทำการวางแผนและตัดสินใจ เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และทันเวลา

ฐานข้อมูล MySQL

   MySQL เป็นโปรแกรมจัดการฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ (Relational Database Management System หรือ RDBMS) เป็นฐานข้อมูลที่สามารถจัดเก็บ ค้นหา เรียงข้อมูลและดึงข้อมูล MySQL มีความสามารถให้ผู้ใช้งานเข้าดึงข้อมูลได้หลายๆคนในเวลาเดียวกันได้และมีการเข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็ว มีการกำหนดการเข้าใช้งานของผู้ใช้ในแบบต่างๆอย่างเหมาะสม ปลอดภัย (อุทัย เซ่งอั้น, 2556, ออนไลน์)

   ปัจจุบัน MySQL ได้ใช้งานแพร่หลายโดยเป็นโปรแกรม Open Source License แต่ก็มีแบบ Commercial License ให้ใช้ด้วย โดยคุณสมบัติจะแตกต่างกันออกไป

   หากเราต้องการสร้างเว็บไซต์สักหนึ่งแห่ง จะต้องทำการเลือกอุปกรณ์สำหรับทำ Web Server  ระบบปฏิบัติการ โปรแกรม Web Server โปรแกรมฐานข้อมูล และสคริปภาษาโปรแกรม ตัวเลือกต่างๆนี้ขึ้นอยู่กับหลายๆคน หลายเหตุผล เช่น มีระบบปฏิบัติการไม่กี่โปรแกรม ที่สามารถใช้งานได้ทุก Hardware หรือ ทุกภาษาไม่สามารถเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลได้ เป็นต้น

   จากประโยคข้างต้นนี้ PHP เป็นภาษาที่สนับสนุนทุกๆ OS ไม่ว่าจะเป็น Windows หรือ Linux ซึ่ง MySQL ก็สามารถสนับสนุนหลายๆ OS เช่นกัน โดยเฉพาะระบบปฏิบัติการ Linux ที่ทำให้ PHP ทำงานได้ประสิทธิภาพ และปัจจุบันมีการออกแบบ package โปรแกรมติดตั้ง PHP ก็จะติดตั้ง MySQL มาให้ทันที ทั้งสะดวกแก่การทำงานและมีตัวจัดการฐานข้อมูลซึ่งเป็นโปรแกรมเว็บบราวเซอร์ที่พัฒนามาจากภาษา PHP มีชื่อว่า PhpMyAdmin

โปรแกรมภาษา PHP

   ในบรรดาภาษาที่ใช้เขียนโปรแกรมเว็บแอพพลิเคชันในปัจจุบันมีหลายภาษา PHP ก็เป็นภาษาหนึ่งที่นิยมและใครๆหลายคนก็รู้จัก ด้วยคุณสมบัติของความง่ายของตัวภาษา และเป็น Open source ที่ใช้งานได้ฟรี อีกทั้งยังมีเครื่องมือ Appserv ที่ช่วยให้การติดตั้งภาษา PHP ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ง่ายขึ้น ทำให้หลายคนไม่พลาดที่จะนำภาษา PHP มาพัฒนาเป็นเว็บไซต์ของตน (อนรรฆนงค์ คุณมณี, 2554, น.6)

   ในช่วงแรกภาษาที่นิยมใช้งานบนระบบเครือข่าย คือ ภาษา HTML (Hypertext Markup Language) แต่ภาษา HTML มีลักษณะเป็น Static คือ ภาษาที่มีลักษณะของข้อมูลคงที่ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบันที่นิยมใช้ระบบเครือข่าย Internet เป็นศูนย์กลางในการติดต่อระหว่างกัน ทำให้ต้องการใช้เว็บไซต์ที่มีลักษณะเป็นแบบ Dynamic คือ เว็บไซต์ที่ข้อมูลสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยอัตโนมัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ผู้เขียนเว็บไซต์เป็นผู้กำหนด และการควบคุมการทำงานเหล่านี้จะกระทำโดยโปรแกรมภาษาสคริปต์ เช่น ภาษา PHP ซึ่งเป็นภาษาหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน (กิตติ ภักดีวัฒนะกุล, 2547, น.5)

    PHP ย่อมาจากคำว่า “Personal Home Page Tool” เป็น Server Side Script ที่มีการทำงานที่ฝั่งของเครื่องคอมพิวเตอร์ Server ซึ่งรูปแบบในการเขียนคำสั่งการทำงานนั้นจะมีลักษณะคล้ายกับภาษา Perl หรือภาษา C และสามารถที่จะใช้ร่วมกับภาษา HTML ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้รูปแบบเว็บเพจมีความสามารถเพิ่มขึ้นในด้านของการเขียนโปรแกรม ในการสร้างเว็บจะใช้ Script อยู่ 2 แบบด้วยกันคือ (ภควัฒน์ สุทธิจันทร์, 2558, ออนไลน์)

Server-Side Script เป็นลักษณะของภาษาที่ทำงานบนเครื่อง Server เช่น CGI, ASP

Client-Side Script เป็นลักษณะของภาษาที่ทำงานบนเครื่องผู้ใช้เช่น JavaScript, VBScript

       ความสามารถของ PHP นั้น สามารถที่จะทำงานเกี่ยวกับ Dynamic Web ได้ทุกรูปแบบ เหมือนกับ CGI หรือ ASP ไม่ว่าจะเป็นการดูแลจัดการระบบฐานข้อมูล ระบบรักษาความปลอดภัยของเว็บเพจ การรับ – ส่ง Cookies เป็นต้น

       แต่ที่เป็นคุณสมบัติเด่นของ PHP ก็น่าจะเป็นการติดต่อกับโปรแกรมจัดการระบบฐานข้อมูล ที่มีอยู่มากมาย ซึ่งฐานข้อมูลที่ PHP สนับสนุนมีดังนี้

Adabas D        InterBase Solid           Microsoft Access

dBase              mSQL                         Sybase

Empress          MySQL                      Velocis

FilePro            Oracle                         Unix dbm

Informix          PostgreSQL                SQL Server

ประโยชน์ที่ได้รับจาก PHP

  ในปัจจุบัน Website ต่างๆได้มีการพัฒนาในด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว เช่น เรื่องของความสวยงามและแปลกใหม่ การบริการข่าวสารข้อมูลที่ทันสมัย เป็นสื่อกลางในการติดต่อ และสิ่งหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยม เป็นอย่างมากซึ่ง ถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติรูปแบบการขายของก็คือ
E-commerce
ซึ่งเจ้าของสินค้าต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีร้านค้าจริงและไม่จำเป็นต้องจ้างคนขายของอีกต่อไป ร้านค้าและตัวสินค้านั้น จะไปปรากฏอยู่บน Website แทน และการซื้อขายก็เกิดขึ้นบนโลกของ Internet แล้ว PHP ช่วยเราให้เป็นเจ้าของร้านบน Internet ได้อย่างไร PHP เป็นภาษาสคริปต์ที่มีความสามารถสูง สำหรับการพัฒนา Web Site และความสามารถที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งของ PHP คือ database enabled web page ทำให้เอกสารของ HTML สามารถที่จะเชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูล (database) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว จึงทำให้ความต้องการในเรื่องการจัดรายการสินค้าและรับรายการสั่งของตลอดจนการจัดเก็บ ข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญผ่านทาง Internet เป็นไปได้อย่างง่ายดาย

เหตุผลที่ PHP ได้รับความนิยม

1.  เป็นของฟรี ว่ากันว่าสุดยอดของ Web Server ในฝันของผู้ใช้ที่รู้จักคุณค่าของเงินก็คือ ระบบปฏิบัติการ Linux, โปรแกรมเว็บ Apache, โปรแกรมฐานข้อมูล MySQL, และ Server Site Script อย่าง PHP เพราะทุกอย่างฟรีหมด

2.  มีความเร็ว อะไรที่เกิดมาทีหลังย่อมได้เปรียบ คำพูดนี้ดูเหมือนจะเป็นจริงเสมอ เพราะ PHP นำเอาข้อดีของทั้ง C, Perl และ Java มาผนวกเข้าด้วยกัน ทำให้ทำงานได้รวดเร็วกว่า CGI หรือแม้แต่ ASP และมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อใช้กับ Apache Server เพราะไม่ต้องใช้โปรแกรมจากภายนอก

3.  Open Source การพัฒนาของโปรแกรมไม่ได้ยึดติดกับบุคคลหรือกลุ่มคนเล็กๆ แต่เปิดโอกาสให้โปรแกรมเมอร์ทั่วไปได้เข้ามาช่วยกันพัฒนา ทำให้มีคนใช้งานจำนวนมาก และพัฒนาได้เร็วขึ้น

4.  Crossable Platform ใช้ได้กับหลายๆระบบปฏิบัติการไม่ว่าบน Windows ,Unix , Linux หรืออื่นๆ โดยแทบจะไม่ต้องเปลี่ยนแปลงโค้ดคำสั่งเลย

5.  เรียนรู้ง่าย เนื่องจาก PHP ฝังเข้าไปใน HTML และใช้โครงสร้างและไวยากรณ์ภาษาง่ายๆ

6.  ใช้ร่วมกับ XML ได้ทันที

7.  ใช้ร่วมกับ Database ได้เกือบทุกยี่ห้อ ดังกล่าวไปแล้วข้างต้น

8.  ใช้กับระบบแฟ้มข้อมูลได้

9.  ใช้ร่วมกับข้อมูลตัวอักษรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

10.  ใช้กับโครงสร้างข้อมูลได้ทั้งแบบ Scalar, Array, Associative arra

11.  ใช้กับการประมวลผลภาพได้

การวิเคราะห์และออกแบบระบบ

ระบบ คือกลุ่มขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกันเพื่อจุดประสงค์อันเดียวกัน ระบบอาจจะประกอบด้วยบุคลากร เครื่องมือ เครื่องใช้ พัสดุ วิธีการ ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องมีระบบจัดการอันหนึ่งเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์อันเดียวกัน เช่น ระบบการเรียนการสอน มีจุดประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอน (จรณิต แก้วกังกาล, 2543)

การวิเคราะห์ระบบและการออกแบบ

การวิเคราะห์และออกแบบระบบคือ วิธีการที่ใช้ในการสร้างระบบสารสนเทศขึ้นมาใหม่ในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง หรือระบบย่อยของธุรกิจ นอกจากการสร้างระบบสารสนเทศใหม่แล้ว การวิเคราะห์ระบบช่วยในการแก้ไขระบบสารสนเทศเดิมที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นด้วยก็ได้ การวิเคราะห์ระบบก็คือ การหาความต้องการ (Requirements) ของระบบสารสนเทศว่าคืออะไร หรือต้องการเพิ่มเติมอะไรเข้ามาในระบบ และการออกแบบก็คือ การนำเอาความต้องการของระบบมาเป็นแบบแผนหรือเรียกว่าพิมพ์เขียวในการสร้างระบบสารสานเทศนั้นให้ใช้งานได้จริง ตัวอย่างระบบสารสนเทศ เช่น ระบบการขาย ความต้องการของระบบก็คือ สามารถติดตามยอดขายได้เป็นระยะ

ขั้นตอนการวิเคราะห์และออกแบบระบบ

1.  การศึกษาเบื้องต้น (Preliminary Study Phase)

การศึกษาเบื้องต้น ประกอบด้วยการดำเนินงาน 2 ส่วน คือ

การสำรวจเบื้องต้น  (Preliminary Investigation)   เป็นการหาสาเหตุหรือปัญหาที่ทำให้การทำงานในระบบงานที่ใช้อยู่ไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ แล้วจัดทำเป็นเอกสาร รายงานให้ผู้บริหารทราบว่า ควรมีการแก้ไขระบบงานอย่างไรบ้าง ให้ผู้บริหารพิจารณาในขั้นต้น ยอมรับว่ามีปัญหาจริงหรือไม่

ถ้ายอมรับปัญหา อนุมัติให้นักวิเคราะห์ระบบทำการศึกษาความเป็นไปได้

ถ้าไม่ยอมรับปัญหา ยุติโครงการ

ศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study)  มีเป้าหมายการศึกษา 2 ประการคือ

1.1 การเข้าใจและกำหนดปัญหาที่แท้จริงของระบบ

1.2 การค้นหาวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ที่สุด ที่จะเข้าไปแก้ปัญหานั้นโดยจะต้องมีความเหมาะสมกับคนในองค์กร ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ หรืองบประมาณต้องเปรียบเทียบต้นทุนของระบบเก่ากับระบบใหม่ และความเหมาะสมทางด้านเทคโนโลยี ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันกับระบบงาน

   นักวิเคราะห์ระบบเป็นผู้รายงานศึกษาความเป็นไปได้ หรือความเหมาะสมแสดงขอบเขตของปัญหาและแนวทางแก้ไข รายละเอียดของระบบงานใหม่และระบบงานเดิม เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนของระบบงานเดิมและระบบงานใหม่ กำหนดตารางเวลาในการวางระบบงานใหม่เสนอต่อผู้บริหาร ผู้บริหารตัดสินใจว่า จะดำเนินการต่อไปหรือไม่ ถ้าตัดสินใจให้ดำเนินโครงการ นักวิเคราะห์ระบบจะดำเนินการในขั้นต่อไป

2.  การวิเคราะห์ระบบ (System Analysis Phase)

การวิเคราะห์ระบบ  เป็นการศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดต่าง ๆ ของระบบงานเดิมทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร หลังจากนั้นจำกำหนดความต้องการของระบบงานใหม่ ขั้นตอนในการวิเคราะห์ระบบ

2.1 ศึกษาวิเคราะห์ระบบงานเดิม โดยใช้เทคนิคการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ได้แก่การศึกษาเอกสารที่มีอยู่เดิม การสัมภาษณ์ผู้ใช้ ผู้บริหารตรวจสอบวิธีการทำงาน เพื่อให้ทราบรายละเอียดของงานทั้งหมด จุดสำคัญของระบบ

2.2 กำหนดความต้องการของระบบใหม่  และแสดงสถานภาพการทำงาน Input ที่ต้องนำมาใช้ Output  ที่ต้องการ

2.3 รายงานสรุปการวิเคราะห์ระบบ รายละเอียดงานเดิมและระบบต้องการของระบบงานใหม่ และอธิบายถึงวิธีการทำงานและสิ่งที่ต้องแก้ไข

3.  การออกแบบระบบ (System Design)

นักวิเคราะห์ระบบจำนำแผนภาพต่างๆที่เขียนขึ้นในการวิเคราะห์มาแปลงเป็นแผนภาพลำดับขั้น แสดงความสัมพันธ์ของโปรแกรมที่ต้องเขียนในระบบ และจัดโครงสร้างของข้อมูลและโปรแกรม ออกแบบฟอร์ม ข้อมูลที่ Input ออกแบบรายงาน การแสดงผลบนจอภาพโดยให้มีลักษณะใช้งานง่าย และป้องกันข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย (Security) ของระบบ รวมทั้งออกแบบขั้นตอนกระบวนการในการทำงานด้วย

4.  การพัฒนาระบบ (System Development Phase)

โปรแกรมเมอร์ดำเนินการเขียน    โปรแกรมตามข้อมูลเฉพาะของการออกแบบที่นักวิเคราะห์ระบบจัดทำไว้ และทดสอบโปรแกรมว่าทำงานถูกต้องหรือไม่ มีการทดสอบกับข้อมูลที่ใช้ปฏิบัติงานจริง  การตรวจสอบผลจะต้องกระทำร่วมกันทั้งนักวิเคราะห์ระบบ โปรแกรมเมอร์และผู้ใช้ เพื่อค้นหาว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นที่ใดบ้าง วิธีการนี้เรียกว่า “Structure Walkthrough”  ต้องทดสอบจนแน่ใจว่าไม่มีข้อผิดพลาด  ในขั้นตอนนี้จะต้องจัดทำคู่มือการใช้งาน

5.  การนำไปใช้งาน (System Implementation Phase)

การนำระบบไปใช้งาน เมื่อระบบผ่านการทดสอบแล้วมี 2 ขั้นตอนคือ

5.1 การฝึกหัด และอบรมเจ้าพนักงาน (Personal Training and Education) จะต้องฝึกอบรมทั้งผู้ปฏิบัติงาน  และผู้ที่มีส่วนในการเรียกใช้ข้อมูลจากระบบ สามารถทำได้หลายวิธีการ ควรเลือกวิธีการที่ฝึกปฏิบัติงานจริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และปฏิบัติงานได้ไม่ติดขัด

5.2  การเปลี่ยนแปลงระบบ(System Conversion)ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ วิธีการประมวลผล วิธีการทำงาน รวมถึงการป้อนข้อมูลหรือถ่ายโอนข้อมูล วิธีการเปลี่ยนแปลงระบบนั้น มีหลายวิธีให้เลือกใช้ให้เหมาะสมกับหน่วยงานหรือกิจกรรมขององค์การภายใต้การดูแลของนักวิเคราะห์ระบบได้แก่

1)  การเปลี่ยนแปลงโดยตรง (Direct Conversion) เป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบบเก่าเป็นระบบใหม่ทันที วิธีนี้ประหยัดค่าใช้จ่ายแต่เสี่ยงต่อการผิดพลาด

2)  การเปลี่ยนแปลงแบบคู่ขนาน (Parallel Conversion) ดำเนินงานในระบบใหม่ควบคู่ไปกับระบบเดิมระยะหนึ่ง ดูผลลัพธ์เปรียบเทียบแล้วดีจึงจะเปลี่ยนทั้งหมด วิธีนี้ไม่มีความเสี่ยงในการผิดพลาด แต่เสียค่าใช้จ่ายสูง ต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่หรือมีการทำงานล่วงเวลา

3)  เปลี่ยนแปลงทีละส่วนงานหรือหน่วยงาน วิธีนี้ลดความเสี่ยงในการผิดพลาด
การควบคุมดูแลทำได้โดยใกล้ชิด แต่เสียค่าใช้จ่ายสูงเช่นกัน

4)  การเปลี่ยนทีละระบบย่อย คือ การเปลี่ยนช้าๆ ในระบบงานย่อย ที่มีขนาดเล็กก่อน ข้อดีคือ ผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้องปรับตัวได้ง่ายขึ้น แต่เสียเวลามากค่าใช้จ่ายสูง

6.  การบำรุงรักษาระบบ (Maintenance Phase)

   การบำรุงรักษา  คือ การปรับปรุงแก้ไขโปรแกรมหลังจากที่ได้มีการใช้งานไปแล้ว สาเหตุที่ทำให้เกิดการแก้ไข มี 2 ประการ คือ

6.1  ความผิดพลาดของโปรแกรม  จากสถิติในการพัฒนาโปรแกรมทั้งหมด 40% ของค่าใช้จ่ายในการแก้ไขโปรแกรม สาเหตุอาจจะจากข้อมูลที่จัดทำขึ้นเพื่อทดสอบไม่ครอบคลุมทุกเงื่อนไขของปัญหา หรือปัจจัยต่าง ๆ ในขณะทดสอบโปรแกรมไม่เหมือนกับขณะปฏิบัติงานจริง อาจจะมีเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดการณ์มาก่อนในขณะออกแบบและพัฒนาระบบ

6.2  การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจหรือกิจกรรมขององค์การและสภาพแวดล้อมของระบบ เช่น ธุรกิจกำลังขยายตัวต้องการรายงานมากขึ้น เทคโนโลยีการสื่อสารเปลี่ยนแปลงไป การปรับปรุงการทำงานให้เร็วขึ้นเพื่อการแข่งขันทางธุรกิจ เป็นต้น

   ระบบที่ดีควรแก้ไขเพิ่มเติมสิ่งที่ต้องการได้ การปรับปรุงแก้ไขดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องทำตลอดอายุการใช้งานของระบบ นักวิเคราะห์ระบบจะต้องเป็นผู้คิดหาวิธีการในการบำรุงรักษา และปรับปรุงระบบที่จะเกิดขึ้น โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ทั้งนี้หากจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขโปรแกรมในส่วนสำคัญใหญ่ นักวิเคราะห์ระบบก็จำเป็นที่จะต้องไปเริ่มดำเนินการตั้งแต่ขั้นตอนแรกอีก วนเวียนไปในลักษณะนี้ จึงมีผู้เรียกขั้นตอนการวิเคราะห์และออกแบบระบบนี้ว่า วงจรการพัฒนาระบบ (SDLC : System Development Life Circle)

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

งานวิจัยในประเทศ

กุลรพี ศิวาพรรักษ์ (2544, น.16) ได้ทำการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการบริหารกิจการสหกรณ์ร้านค้า ซึ่งเป็นกิจการเกี่ยวกับการซื้อ-ขายสินค้า โดยเป็นระบบสมาชิก จะมีเงินปันผลยอดซื้อสินค้าให้แก่สมาชิกเมื่อสิ้นปี ระบบซอฟต์แวร์สำหรับการบริหารกิจการสหกรณ์ร้านค้านี้จะช่วยแก้ปัญหาในการจัดเก็บข้อมูล การซื้อ-ขายสินค้า การจัดทำระบบสินค้าคงคลัง ทะเบียนสมาชิก การปันผลให้แก่สมาชิก แบะการสรุปผลกำไรขาดทุน โดยการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการบริหารกิจการสหกรณ์ร้านค้า ได้กำหนดขอบเขตของงานออกเป็น 2 ส่วน คือ ระบบงานซื้อขายสินค้า และระบบงานทะเบียนสมาชิก การทดสอบเพื่อหาประสิทธิภาพของระบบงานนี้ ทำการทดสอบแบบ Black-Box Testing

วัชรพงษ์ ณ เชียงใหม่ (2546, น.11) ได้ทำการพัฒนาระบบสหกรณ์ร้านค้าออนไลน์ ร้านสหกรณ์ลำปาง มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อพัฒนาแบบจำลองระบบสหกรณ์ร้านค้าออนไลน์สำหรับร้านสหกรณ์ลำปางจำกัด โดยประยุกต์ระบบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) เข้ากับระบบงานสหกรณ์ร้านค้า การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ เป็นการศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบสหกรณ์ร้านค้า ซึ่งทำการจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคให้กับสมาชิกและบุคคลทั่วไป โดยใช้เทคโนโลยีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะสามารถตอบสนองความต้องการของสมาชิกและลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการจัดทำระบบตะกร้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการเรียกดูข้อมูลสมาชิก และสถิติการสั่งซื้อของสมาชิกแต่ละรายการในระบบออนไลน์ จัดทำระบบบริการการคาดการณ์เกี่ยวกับการปันผลให้กับสมาชิกเมื่อสิ้นปี ระบบการตรวจสอบปริมาณสินค้าที่นำมาจำหน่าย โดยระบบจะทำการออกรายงานรายชื่อสินค้าที่เหลือน้อย เพื่อเสนอการสั่งซื้อสินค้ามาวางจำหน่ายต่อไป จัดทำระบบบริการข้อมูลและกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับกิจการของสหกรณ์

ถวิล รุ่งเรืองโชค (2548, น.39) ได้ทำการพัฒนาระบบงานสหกรณ์ออมทรัพย์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยระบบออกแบบให้มีผู้ใช้งาน 4 กลุ่ม คือผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ สมาชิก และผู้ดูแระบบ ซึ่งระบบมีส่วนช่วยในการตัดสินใจการบริหารงานของคณะกรรมการ ช่วยในส่วนของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการจัดการงานข้อมูลต่าง ๆ สมาชิกสามารถตรวจดูข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ของตนเองได้ อีกทั้งยังสามารถส่งข้อมูลการขอกู้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตได้ ผู้ดูแลระบบสามารถจัดการผู้ใช้ในระบบ และกำหนดระดับความปลอดภัย เพื่อให้ระบบมีประสิทธิภาพในการทำงาน ลักษณะของระบบงานสหกรณ์ออมทรัพย์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นเว็บแอพพลิเคชั่น โดยทำการพัฒนาด้วยโปรแกรมภาษา ASP.NET (Active Server Pages .NET) บนระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows 2000 Server และระบบการจัดการฐานข้อมูล MicrosoftSQL Server 2000
การประเมินประสิทธิภาพของระบบโดยผู้เชี่ยวชาญและผู้ใช้จำนวน 30 คน โดยใช้แบบสอบถามมาตราส่วนประเมินค่าชนิด 5 ระดับ ผลการประเมินประสิทธิภาพของระบบสหกรณ์ออมทรัพย์บนอินเตอร์เน็ต มีประสิทธิภาพอยู่ในระดับดี ( x = 4.15, SD = 0.67) สรุปได้ว่าระบบสหกรณ์ออมทรัพย์บนอินเตอร์เน็ตที่พัฒนาขึ้นสามารถนำไปใช้งานได้อย่างเหมาะสม

สันติ พันไธสง (2554, .16) ได้ทำระบบการจัดการฐานข้อมูลสำหรับร้านค้าปลีก มาช่วยจัดการฐานข้อมูลที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มวิเคราะห์ปัญหาที่พบบ่อยในกระบวนการการทำงานต่างๆ ของร้านค้าปลีก และนำเทคโนโลยีในปัจจุบันมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบงานนี้ ช่วยลดปัญหาข้อผิดพลาดต่างๆ ในการบริหารจัดการร้านค้าปลีกเพื่อนำไปวางแผนสำหรับการจัดการร้านค้าต่อไป

ศุนัย วิลาสังข์ (2556, น.42) ได้ทำระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และหาประสิทธิภาพของระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของบริษัท วรรณดีกรุ๊ป เบเกอรี่ จำกัด เพื่อเป็นการพัฒนาระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จากข้อมูลที่ได้ทำการวิเคราะห์และออกแบบไว้ ใช้ระบบ PHP เป็นระบบที่ใช้ในการพัฒนา ระบบฐานข้อมูลเป็น MySQL เพื่อสนับสนุนและเพิ่มช่องทางในการติดต่อสื่อสารและอำนวยความสะดวกในการซื้อขายผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตขึ้น

งานวิจัยในต่างประเทศ

ซุ๊ดนา คุดาหรี (Swapna Kodali, 2007, p.3) ได้ทำการพัฒนาระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ขายหนังสือออนไลน์ บนเว็บบราวเซอร์ ผู้ใช้งานสามารถดูข้อมูลรายละเอียดสินค้า และเพิ่มตะกร้าสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานที่ต้องการสั่งซื้อ โปรแกรมนี้ได้จัดทำโดยใช้โปรแกรมภาษา ASP.NET

จี๋ ฮั่น(Jie Zhang, 2010, p.15) ได้พัฒนาเว็บไซต์ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์โดยการใช้ WAMP ซึ่งเป็นชุดของซอฟท์แวร์ซึ่งประกอบด้วย Windows , Apache , MySQL , PHP สำหรับจำลองเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นเซิฟเวอร์ส่วนตัว ใช้ทฤษฎีการสร้างหลายอย่าง ตั้งแต่ การดำเนินการทางด้านคำนวณทางคณิตศาสตร์ ด้านตัวอักษร ด้านฐานข้อมูล ด้านไฟล์ข้อมูล สร้างโปรแกรมโดยใช้การ Analysis การดีไซน์ระบบ และทดสอบเสมือนจริงโดยมีเครื่องคอมพิวเตอร์ไคลเอนต์ เครื่องเซิฟเวอร์ตัวกลาง เครื่องเซิฟเวอร์เก็บฐานข้อมูล เรียกว่าการออกแบบสถาปัตยกรรมระบบ 3-Tier

อับดุลลาห์ ซาเลห์ อัลกวาตานิ และ โรเบิร์ต กู๊ดวิน(Abdullah Saleh Alqahtani And Robert Goodwin, 2012, p.54) ได้ทำการพัฒนาแอพพลิเคชั่นระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์มือถือ สามารถใช้ได้กับระบบปฏิบัติการ Android และ IOS เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกดูสินค้า หรือสั่งซื้อสินค้าได้จากโทรศัพท์มือถือได้ทันที ผู้พัฒนาใช้โปรแกรม PhoneGap และ Spree ในการเชื่อมต่อกับระบบปฏิบัติการโทรศัพท์มือถือ ภาษาที่ใช้ในการเขียนคือ JSON ทดสอบโปรแกรมโดยใช้อีมูเลเตอร์ของระบบปฏิบัติการ Android และ IOS

ประโยชน์จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

จากตัวอย่างงานวิจัยที่ได้ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศนี้ ผู้วิจัยได้ศึกษาวิธีการ แนวคิดของการพัฒนา รวมไปถึงการใช้โปรแกรมที่ใช้ในการพัฒนาระบบอีกด้วย ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยให้ระบบสหกรณ์ร้านค้ามหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด เป็นระบบที่สมบูรณ์ น่าเชื่อถือ สามารถบันทึกข้อมูลต่างๆได้อย่างถูกต้อง และทำให้สมาชิกและพนักงานร้านสหกรณ์ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ