บทที่ 1

บทนำ

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

   ร้านสหกรณ์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก ด้วยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์ มีคณะกรรมการที่เข้ามาดำเนินการที่มาจาก อาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เป็นสมาชิกจำนวน 1,360 คน (พเยาว์ ทิมประเสริฐ, สัมภาษณ์, 2558) โดยจำนวนสมาชิกร้านสหกรณ์ และผู้ใช้บริการที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอีกจำนวนหนึ่งและเพิ่มมากขึ้นทุกขณะโดยที่การบริหาร การจัดการและการบริการยังคงเป็นรูปแบบเดิม และอีกทั้งยังมีคู่แข่งที่มีอยู่รอบๆมหาวิทยาลัย อาทิ ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ซึ่งเป็นที่นิยมของนักศึกษาผู้บริหารสหกรณ์จึงต้องตระหนักและเข้าใจถึงความต้องการและความคาดหวังของสมาชิกและลูกค้าที่จะได้รับคือการบริการที่มีคุณภาพ สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นจึงต้องมีเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้เข้ามาใช้บริการสามารถรับรู้ได้ว่าสหกรณ์มีการบริการที่ดี ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อถือ พึงพอใจและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร ซึ่งจะส่งผลในการกลับมาใช้บริการอีกในโอกาสต่อไป

   จากการดำเนินงานของร้านสหกรณ์มาร่วม 39 ปี คณะกรรมการบริหารสหกรณ์จึงเล็งเห็นว่าจำเป็นต้องมีการปรับระบบ เพื่อรองรับการแข่งขันทางด้านการบริการและการขายที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยมีส่วนช่วยในด้านความสะดวกสบายได้อย่างดี บริษัท ร้านค้าต่างๆเริ่มนำเทคโนโลยีในรูปแบบของเว็บไซต์มาช่วยในการโฆษณาร้านเพื่อดึงดูดคนที่เข้ามาเปิดเว็บไซต์ ให้หันมาใช้บริการกับทางร้าน และเว็บไซต์ยังมีความสามารถจัดเก็บข้อมูลซึ่งเป็นทางเลือกอีกทางเพื่อไม่ให้ข้อมูลสูญหายหากเกิดเหตุสุดวิสัย ดังนั้นจึงไม่มีใครที่จะปฏิเสธในการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

   ด้วยสาเหตุดังกล่าวคณะกรรมการบริหารสหกรณ์มหาวิทยาลัยมีความเข้าใจและเห็นด้วยกับการพัฒนาระบบร้านสหกรณ์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาผ่านเว็บไซต์ให้สามารถค้นหาข้อมูลสะดวกสบาย รวดเร็ว เป็นระบบมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญยังลดภาระการทำงานของพนักงานสหกรณ์ได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ผู้ศึกษาซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกร้านสหกรณ์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จึงมีความสนใจที่จะศึกษาการทำระบบร้านสหกรณ์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด โดยการนำภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ PHP มาช่วยในการจัดทำระบบสหกรณ์บนเว็บไซต์และจัดการฐานข้อมูลสหกรณ์โดยใช้ฐานข้อมูลของ MySQL ทั้งนี้เพื่อนำผลที่ได้ไปใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของสหกรณ์และขจัดปัญหาต่างๆข้างต้น อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความพึงพอใจให้แก่พนักงานสหกรณ์และสมาชิก รวมถึงเป็นการนำไปสู่การค้นคว้างานกิจการของสหกรณ์ในด้านอื่นต่อไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1.  เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพระบบสหกรณ์ร้านค้า มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด ผ่านเว็บไซต์

2.  เพื่อหาความพึงพอใจของผู้ใช้ระบบสหกรณ์ร้านค้า มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ผ่านเว็บไซต์

สมมติฐานของการวิจัย

1. พนักงานและสมาชิกสหกรณ์สามารถใช้งานเว็บไซต์สหกรณ์ร้านค้า มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด

2. ประสิทธิภาพของระบบสหกรณ์ร้านค้า มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด ผ่านเว็บไซต์อยู่ในระดับดีขึ้นไป

3. ผู้ใช้ระบบสหกรณ์มีความพึงพอใจในการใช้ระบบสหกรณ์ร้านค้า มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด ผ่านเว็บไซต์อยู่ในระดับดีขึ้นไป

ขอบเขตการวิจัย

1.  ขอบเขตด้านประชากร

ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นผู้ใช้ระบบ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกและพนักงานของร้านสหกรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด จำนวน 1,368 คน

2.  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัยครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

2.1  พนักงานของร้านสหกรณ์จำนวน 8 คน

2.2  สมาชิกของร้านสหกรณ์ที่รับเงินปันผลทุกปี จำนวน 67 คนโดยใช้การสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) รวมทั้งสิ้น 75 คน

3.  เครื่องมือที่ในการเก็บข้อมูล

งานวิจัยมีการกำหนดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้เครื่องมือที่ในการเก็บข้อมูล ดังนี้

แบบประเมินความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ระบบสหกรณ์ร้านค้า มหาวิทยาลัย
ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด

แบบประเมินประสิทธิภาพของระบบโดยผู้เชี่ยวชาญ ระบบสหกรณ์ร้านค้า มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด

แบบประเมินความพึงพอใจ ระบบสหกรณ์ร้านค้า มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด

4. ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย

ตัวแปรอิสระ ได้แก่ ระบบสหกรณ์ร้านค้า มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด ผ่านเว็บไซด์

ตัวแปรตาม ได้แก่ ประสิทธิภาพของระบบสหกรณ์ร้านค้า มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด และ ความพึงพอใจของผู้ใช้ระบบสหกรณ์ร้านค้า มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด

5. ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัย

ระหว่างเดือนมีนาคม 2558 มิถุนายน 2559

ประโยชน์ที่ได้รับ

1.  ร้านสหกรณ์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด ได้ระบบข้อมูลสหกรณ์ร้านค้าที่มีประสิทธิภาพ

2. การพัฒนาเว็บไซต์สหกรณ์ร้านค้ามหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด

นิยามศัพท์เฉพาะ

ระบบสหกรณ์ร้านค้ามหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด ผ่านเว็บไซต์ หมายถึง ระบบที่ผู้วิจัยได้ทำการพัฒนาโดยการนำปัจจัยต่างๆ ได้แก่ พนักงานและสมาชิกสหกรณ์ ข้อมูลสหกรณ์ รวมถึงแนวคิด และกระบวนการการทำระบบผ่านทางเว็บไซต์มาทำงานร่วมกัน เพื่อให้ทางร้านสหกรณ์ได้ใช้บันทึกข้อมูล บริหารจัดการข้อมูลต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สมาชิกสหกรณ์ หมายถึง ผู้ที่มีอายุครบ 20 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป สัญชาติไทย เข้าเป็นสมาชิกร้านสหกรณ์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด ตามข้อบังคับที่ได้ลงลายมือชื่อในทะเบียนสมาชิก และได้ชำระค่าหุ้นตามจำนวนครบถ้วนแล้ว โดยสมาชิกแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ อาจารย์ พนักงาน ลูกจ้าง นักศึกษาสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

พนักงานสหกรณ์ หมายถึง พนักงานที่ทำงานในร้านสหกรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด และยังเป็นสมาชิกสหกรณ์ด้วย

ผู้บริหารสหกรณ์ หมายถึง ผู้ที่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหรือผู้มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบร้านสหกรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด มีหน้าที่สร้างวิสัยทัศน์บริหารจัดการทีมงานและควบคุมการทำงานไปสู่ความสำเร็จได้

ผู้ใช้ระบบสหกรณ์ร้านค้า หมายถึง บุคคลที่ใช้ระบบสหกรณ์ร้านค้ามหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด ผ่านเว็บไซต์ ซึ่งจะมี สมาชิกสหกรณ์ พนักงานสหกรณ์ ผู้บริหารสหกรณ์ รวมไปถึงบุคคลทั่วไปที่เปิดดูระบบร้านสหกรณ์ผ่านทางเว็บไซต์

ระดับการศึกษา หมายถึง การศึกษาขั้นสูงสุดของสมาชิกสหกรณ์แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโทขึ้นไป

กรอบแนวคิดในการวิจัย

จากการศึกษาทฤษฎี แนวคิด และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบเว็บไซต์ ผู้วิจัยได้เล็งเห็นถึงปัญหาในด้านต่าง ๆ ของร้านสหกรณ์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด เช่นปัญหาด้านการตรวจสอบข้อมูลสมาชิกสหกรณ์ การบันทึกเงินปันผล การออกใบเสร็จรับเงินและรายงานการขายสินค้า ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ ผู้วิจัยสามารถนำมาเป็นกรอบแนวความคิด
ในการพัฒนาระบบสหกรณ์ร้านค้า มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำกัด ผ่านเว็บไซต์ได้ดังนี้