ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์ และคณะ


บทคัดย่อ

   ข้าวเป็นพืชที่คนไทยปลูกเพื่อบริโภคและเพื่อการค้ามาตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน ในพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวบริเวณต่างๆ ในประเทศไทยจะพบสายพันธุ์ต่างชนิดกันจำนวนมาก แต่เนื่องจากปัจจุบันวิถีการปลูกข้าวของเกษตรกรจะเน้นการปลูกข้าวสายพันธุ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาดทำให้ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเริ่มลดน้อยลง การวิจัยในครั้งนี้จึงศึกษาความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนสายพันธุ์พบว่าในพื้นที่ศึกษามีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่สำรวจพบจำนวนทั้งสิ้น 5 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ฝาบาตร รากแห้ง เหลืองอ่อน ขาวหลวง และพญาชม นอกจากนี้ข้าวทั้ง 5 สายพันธุ์ ได้นำมาศึกษาลักษณะความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม โดยอาศัยเทคนิค RAPD ซึ่งใช้             ไพรเมอร์ที่มีลำดับเบสแบบสุ่ม 3 ชนิด คือ OPAV-06, OPAA-14 และ OPAA-09 ผลของการเกิดลายพิมพ์ดีเอ็นเอให้ผลชัดเจนเฉพาะไพรเมอร์ OPAA-14 และ OPAA-09 โดยที่ไพรเมอร์ OPAA-14 สามารถสร้างแถบดีเอ็นเอที่จำเพาะต่อข้าวแต่ละสายพันธุ์ เมื่อนำลักษณะลายพิมพ์  ดีเอ็นเอมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมโดยใช้โปรแกรม NTSYSpc v.2.21q ทำให้ได้ค่าสัมประสิทธิ์ความเหมือนอยู่ระหว่าง 0.52 – 0.87 และสามารถจำแนกพันธุ์ข้าวออกเป็น            3 กลุ่ม โดยข้าวพญาชมมีลักษณะทางพันธุกรรมที่ต่างจากกลุ่มอื่นมากที่สุด งานวิจัยนี้จะทำให้ทราบถึงจำนวนชนิดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์และการศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับนำไปปรับปรุงพันธุ์ข้าวต่อไป

คำสำคัญ : ความหลากหลายทางพันธุกรรม, พันธุ์ข้าวพื้นเมือง, อำเภออู่ทอง

Abstract

   Thai rice cultivars are an essential food crop for consuming and dealing since in the past to present. In Thailand, there are many rice cultivars that generally found in several regions. At present, the plantation of rice tends to produce for supplying as the market demand, which resulting to the decrease of diversity of rice cultivars. The purpose of this research, therefore, is to study the diversity of local rice at U-thong district, Suphanburi province, in order to collect the kinds of rice cultivars. We found that there were five local rice cultivars in this area, including Pha-bath, Rak-haeng, Leung-on, Kaw-loung, and Phaya-chom. Also, we further determined the genetic relationship among these rice cultivars based on RAPD technique by using 3 primers, OPAV-06, OPAA-14, and OPAA-09. The result demonstrated that the DNA fingerprint generated by OPAA-14 was appropriate to analyze genetic similarity. The data from RAPD was analyzed via NTSYSpc v.2.21q software which obtained the coefficient of genetic distance between 0.52 – 0.87. This consequence could be utilized to classify the local rice cultivars into three groups by which Phaya-chom differentially displayed genetic property from the other groups. This research provides the data of local rice cultivars leading to the rice conservation and the genetic study of rice is also useful for the improvement of rice cultivar

Key word: Genetic diversity, Local rice cultivar, Amphoe U-thong


 

บทที่ 1

บทนำ

   ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย และการผลิตข้าวก็เป็นอาชีพหลักของเกษตรกรชาวไทย โดยจำนวนเกษตรกรทั้งประเทศ (5.6 ล้านครัวเรือน) มีชาวนา 3.7 ล้านครัวเรือน และมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวปีละประมาณ 63-64 ล้านไร่ ได้ผลผลิตปีละประมาณ 28 – 30 ล้านตัน ซึ่งผลผลิตข้าวกว่า             ร้อยละ 55 ถูกใช้บริโภคภายในประเทศ และประมาณร้อยละ 45 ถูกส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศทั่วโลก (อิงออน สีแก้ว, 2554) ทำให้การผลิตข้าวในปัจจุบันมุ่งเน้นการผลิต          เชิงพาณิชย์ด้วยการทำนาโดยใช้พันธุ์ข้าวพันธุ์เดียว ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการ และให้ผลผลิตต่อไร่สูง ส่งผลให้ชาวนามีการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองทั่วๆ ไปน้อยลง เป็นผลให้ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองก็ลดน้อยลงไปอย่างมาก  โดยฉวีวรรณ วุฒิญาโณ (2543) ได้รายงานพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีมีจำนวนทั้งหมด 95 สายพันธุ์ และในพื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มีจำนวนทั้งสิ้น 8 สายพันธุ์ อย่างไรก็ตามแม้ว่าข้าวพันธุ์พื้นเมืองจะให้ผลผลิตต่ำ แต่พันธุ์ข้าวพื้นเมืองมีความสามารถในการปรับตัวค่อนข้างสูง และมีความทนทานต่อโรคและแมลงได้ดี ทำให้ข้าวพื้นเมืองมีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูงกระจายในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ดังนั้นการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการแยกความแตกต่างกันของสายพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เนื่องจากพันธุ์ข้าวพื้นเมืองหลายสายพันธุ์            มีลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่ใกล้เคียงกันจำเป็นต้องอาศัยเทคนิคทางชีวโมเลกุลใช้เป็นเครื่องมือที่จะช่วยสนับสนุนการจำแนกทางสัณฐานวิทยาอีกทางหนึ่ง เทคนิค RAPD (random amplified polymorphism DNA) เป็นเทคนิคที่เพิ่มปริมาณดีเอ็นเอจากดีเอ็นเอต้นแบบที่ไม่ทราบลำดับนิวคลีโอไทด์โดยใช้ไพรเมอร์แบบสุ่ม (random primer) ความยาว 10 นิวคลีโอไทด์และอาศัยปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรส (polymerase chain reaction; PCR) เพื่อสร้างลายพิมพ์           ดีเอ็นเอ (DNA fingerprint) การใช้ RAPD ในการศึกษาความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตสามารถทำได้ง่าย สะดวกรวดเร็วเพราะไม่ต้องการเครื่องมือที่ซับซ้อนในการทดลอง (Arif et al., 2010) ดังนั้นในการศึกษาครั้งนี้จึงได้ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในการสำรวจความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเพื่อศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในเขตพื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อศึกษาความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่คงอยู่ในพื้นที่อำเภออู่ทอง
  2. เพื่อศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในพื้นที่อำเภออู่ทอง
  3. เพื่อศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในพื้นที่อำเภออู่ทอง

ขอบเขตของการวิจัย

1. การรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในพื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
2. การศึกษาด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับข้าวพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
3. การศึกษาคุณลักษณะทางการเกษตรของข้าวพันธุ์พื้นเมืองแต่ละสายพันธุ์
4. การสร้างฐานข้อมูลความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์


 

บทที่ 2

ทบทวนวรรณกรรม

2.1 ข้าว

ข้าวเป็นพืชวงศ์ (Family) เดียวกับหญ้า เป็นพืชอาหารหลักของคนไทยและคนเอเชีย ประเทศต่างๆ ในโลกต่างก็รู้จักข้าว แม้ว่าคนในประเทศจะไม่ได้บริโภคข้าวเป็นหลัก สำหรับคนไทยมีความสัมพันธ์กับข้าวอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใดในประเทศก็จะพบเห็นนาข้าว ดังนั้นข้าวจึงเป็นพืชที่สำคัญสำหรับคนไทยมากที่สุด และยังมีพื้นที่สำหรับเพาะปลูกข้าวมากกว่าพืชชนิดอื่นๆ จึงกล่าวได้ว่าข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นพืชที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศมาตลอดจนถึงปัจจุบัน

คนไทยบริโภคข้าววันละ 2 – 3 มื้อ เฉลี่ยแล้วประมาณ 109 – 120 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือ 320 กรัมต่อคนต่อวัน และเป็น 100 กรัมต่อคนต่อมื้อ (ประพาส วีระแพทย์, 2555) ในปีพุทธศักราช 2550 ประเทศไทยได้ใช้ข้าวสำหรับบริโภคภายในประเทศประมาณ 10.73 ล้านตันข้าวสาร และส่งไปขายต่างประเทศประมาณ 9.20 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งคิดเป็นมูลค่าได้ประมาณ 119,215 ล้านบาท นับว่าเป็นรายได้หลักอย่างหนึ่งของประเทศ

ภาพที่ 2.1 ลักษณะเมล็ดข้าวสารพื้นเมืองพันธุ์ฝาบาตร

   ประเทศในเอเชียปลูกและบริโภคข้าว ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของโลกและหากพิจารณาประเทศกำลังพัฒนานั้นปริมาณดังกล่าวคิดเป็น 96 เปอร์เซ็นต์ของโลก (Hossain and Narciso, 2004) ประชากรประเทศไทยประมาณ 64.24 ล้านคน บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก โดยข้าวที่ปลูกในประเทศไทย นั้นใช้บริโภคประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์ และ ส่งออกประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกมานานกว่าหนึ่งทศวรรษซึ่ง สร้างรายได้ประมาณ 1,700 ถึง 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาต่อปี (Vanichanont, 2004) ประเทศหลักที่นำเข้าข้าวจากประเทศไทยคือ อินโดนีเซีย ไนจีเรีย อิหร่าน สหรัฐอเมริกา และ สิงคโปร์ (Asia BioBusiness, 2006) โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประมาณการเบื้องต้นเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปี  (ณ เดือนธันวาคม 2557) ว่าในปีการผลิต 2557/58 มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี จำนวน 61.74 ล้านไร่ คาดว่าจะมีผลผลิตข้าวเปลือกนาปีรวมทั้งหมด 27.106 ล้านตัน สำหรับข้าวนาปรัง (ณ เดือนมีนาคม 2558) ประมาณการว่าจะมีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง จำนวน 8.865 ล้านไร่ ผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังปีนี้คาดว่าจะได้รับ 5.514 ล้านตัน (กรมการข้าว, 2558)

2.2 ประวัติการปลูกข้าวในประเทศไทย

สมัยก่อนประวัติศาสตร์

   มนุษย์ที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย ได้มีการพัฒนาเป็นสองสังคมคือ สังคมล่าสัตว์และหาของป่า กับสังคมเกษตรกรรม สังคมเกษตรกรรมจะมีที่อยู่อาศัยใกล้แม่น้ำสายสำคัญต่างๆ เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ได้พบรอยพิมพ์เปลือกข้าวบนภาชนะดินเผาทั้งบ้านโนนนกทา ตำบลบ้านโคก อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น หลักฐานอื่นๆ ได้แก่ การพบเมล็ดข้าวในถ้ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และพบร่อยรอยของเปลือกข้าวที่จังหวัดอุดรธานี จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ

   ในปลายของสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สังคมเกษตรกรรมได้พัฒนาเป็นสังคมเมือง ได้พบเศษอิฐดินเผาที่ทำมาจากดินผสมกับเปลือกข้าว สำหรับสร้างเจดีย์ในบริเวณเมืองโบราณจันเสน ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงของแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก เปลือกข้าวเป็นข้าวเมล็ดสั้น หลักฐานเหล่านี้มีอายุอยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า การบริโภคข้าวของผู้คนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นข้าวเมล็ดสั้น

สมัยประวัติศาสตร์

   สมัยประวัติศาสตร์ได้เริ่มตั้งแต่สมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย สมัยลพบุรี สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นสมัยปัจจุบัน ตามลำดับ

   สมัยทวารวดี มีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-16 สังคมเกษตรกรรมได้พัฒนาเป็นสังคมเมืองมากขึ้น มีการติดต่อกับคนจีนและอินเดียรวมถึงชุมชนที่อยู่ห่างไกล มีรัฐอิสระเกิดขึ้นในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ เช่น รัฐทวารวดี รัฐนครชัยศรีในภาคกลาง รัฐตามพรลิงค์ (จังหวัดชุมพร) ในภาคใต้ รัฐศรีจนาศะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และรัฐหริภุญชัยในภาคเหนือ แต่ละรัฐมีกษัตริย์ปกครอง และมีการติดต่อกันระหว่างรัฐ รัฐทวารวดีมีชุมชนหนาแน่นตั้งอยู่ในบริเวณจังหวัดชัยนาทถึงนครสวรรค์ได้มีการติดต่อกันกับเมือง        อู่ทองซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน เมืองอู่ทองเป็นเมืองโบราณซึ่งได้พบรอยเปลือกข้าวในเนื้ออิฐซึ่งทำมาจากดินเผาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง และมีอายุอยู่ในสมัยทวารวดี รอยเปลือกข้าวมีความยาว 6-9 มิลลิเมตร กว้าง 2.5-3 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นเปลือกของข้าวเมล็ดสั้นและได้พบรอยเปลือกข้าวอยู่ในเนื้อดินของเศียรพระพุทธรูปศิลปะทวารวดี ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครปฐม รอยเปลือกข้าวมีขนาดยาว 6 มิลลิเมตร กว้าง 4 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นรอยของเปลือกเมล็ดพันธุ์ป้อม และอาจปลูกในบริเวณของชุมชนสังคมเมืองซึ่งเป็นหลักแหล่งมากขึ้นกว่าสมัยก่อนประวัติศาสตร์

ภาพที่ 2.2 ร่องรอยเปลือกข้าวในเนื้ออิฐดินเผาในแหล่งโบราณสถานอำเภออู่ทอง

   วัฒนธรรมทวารวดี ได้เจริญรุ่งเรืองและแพร่กระจายไปตัวเมืองหริภุญชัยหรือลำพูน เพชรบูรณ์ สุโขทัย กาฬสินธุ์ มีบ้านเมืองอยู่ในบริเวณต้นดินดอนสามเหลี่ยมเดิม ซึ่งเป็นบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาจากอ่างทองถึงนครสวรรค์ในตอนเหนือ บริเวณลำน้ำท่าจีน–แม่กลองในฝั่งตะวันตก บริเวณลำน้ำลพบุรี–ป่าสักถึงสระบุรีในฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์และมีโบราณคดีที่สำคัญเกิดขึ้นหลายแห่ง เช่น ที่ตำบลโพธิ์หัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี บ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เมืองอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี (ประพาส วีระแพทย์, 2555)

2.3 การจำแนกประเภทและชนิดของข้าว

   ข้าวป่า (wild rice) เป็นข้าวที่เกิดขึ้นและเจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติ พบได้ทั่วไปตามแอ่งน้ำ คลอง บึง รวมทั้งในแปลงนาข้าวปลูก มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น เกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า ข้าวนก ซึ่งข้าวป่าถือได้ว่าเป็นแหล่งทรัพยากรอย่างดีในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวปลูก

   ข้าวปลูก (cultivated rice) หมายถึงข้าวที่มนุษย์ปลูกไว้บริโภค ซึ่งมี 2 ชนิด คือ Oryza sativa มีปลูกกันทั่วไปรวมทั้งประเทศไทย และ Oryza glaberrima Steud. มีปลูกกันในอัฟริกาตะวันตกเท่านั้น

   นอกจากนี้ข้าวปลูกชนิด Oryza sativa ยังแบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่ ข้าวอินดิคา (Indica) ข้าวจาปอนิคา (Japonica) และข้าวจาวานิคา (Javanica) โดยที่ข้าวอินดิคามีปลูกทั่วไปในเขตร้อน ข้าวจาปอนิคามีปลูกในเขตอบอุ่นในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และจีนตอนเหนือ ส่วนข้าวจาวานิคามีปลูกในประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

   ข้าวอินดิคา (Oryza sativa var. indica) เป็นข้าวปลูกที่ผสมตัวเองได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทย เพราะมีปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิและสภาพดินที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของต้นข้าว ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึงความสูงมากกว่า 1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ข้าวที่ปลูกในประเทศไทยสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ตามสภาพพื้นที่ปลูกได้ดังนี้

  1. ข้าวไร่ (upland rice) หมายถึงข้าวที่ปลูกบนที่ดอน ไม่มีน้ำขังในพื้นที่ปลูก โดยอาศัยน้ำฝนในฤดูฝนสำหรับการเพาะปลูก
  2. ข้าวนาสวน (lowland rice) หมายถึงข้าวที่ปลูกในที่ลุ่ม ซึ่งมีระดับน้ำในนาลึกไม่เกิน 50 เซนติเมตร โดยอาศัยน้ำฝน เรียกว่าข้าวนาน้ำฝน (rainfed rice) และอาศัยน้ำชลประทาน เรียกว่าข้าวนาชลประทาน (irrigated rice)
  3. ข้าวน้ำลึก (deep water rice) หมายถึงข้าวที่ปลูกในที่ลุ่ม ซึ่งมีระดับน้ำในนาลึกไม่เกิน 50 – 100 เซนติเมตร โดยอาศัยน้ำฝน ข้าวน้ำลึกจะมีความสามารถทนน้ำท่วมสูงได้ดี
  4. ข้าวขึ้นน้ำ (floating rice) หมายถึงข้าวที่ปลูกในที่ลุ่มซึ่งมีระดับน้ำในนาลึกมากกว่า 100 เซนติเมตรขึ้นไป โดยอาศัยน้ำฝน ข้าวขึ้นน้ำมีความสามารถในการยืดปล้อง (elongation ability) ได้ดีมากทำให้มีต้นและใบอยู่เหนือระดับน้ำที่สูงขึ้นได้
  5. ข้าวที่สูง (highland rice) หมายถึงข้าวที่ปลูกในพื้นที่ซึ่งมีความสูงตั้งแต่ 600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป จะปลูกข้าวแบบหยอดเหมือนข้าวไร่หรือแบบปักดำในพื้นที่นาขั้นบันไดก็ได้

2.4 พันธุ์ข้าว

   พันธุ์ข้าว หมายถึง กลุ่มของต้นข้าวที่มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์และลักษณะทางสรีรวิทยาเหมือนกันจนเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว และให้ต้นลูกหลานเหมือนต้นแม่ เพราะข้าวเป็นพืชผสมตัวเอง

   พันธุ์ข้าวแต่ละพันธุ์จะมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์แตกต่างกัน ทั้งทางขนาด รูปร่าง และสีของลำต้น ใบ รวง ดอก และเมล็ด ตลอดถึงความสามารถในการเจริญเติบโตภายใต้สภาพที่แตกต่างกันของสิ่งแวดล้อม เช่น ความสามารถในการทนต่อความแห้งแล้งและน้ำลึก ความสามารถในการขึ้นน้ำ ความสามารถในการต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรู ความไวและไม่ไวต่อช่วงแสง รวมทั้งระยะพักตัวของเมล็ด เป็นต้น ลักษณะต่างๆ ดังกล่าวนี้จะเปลี่ยนแปลงได้หากมีการผสมข้ามทั้งการผสมข้ามระหว่างข้าวปลูกหรือผสมข้ามกับข้าวป่า หรือเกิดจากการกลายพันธุ์โดยธรรมชาติหรือโดยใช้กัมมันตภาพรังสี รวมทั้งการปะปนของเมล็ดพันธุ์ข้าวกับข้าวพันธุ์อื่นโดยการปฏิบัติของผู้ปลูก เช่น การใช้อุปกรณ์ทำนา

   ข้าวพื้นเมือง เป็นพันธุ์ข้าวปลูกที่มีอยู่เดิมในพื้นที่นานนับชั่วคน ซึ่งเกษตรกรได้เก็บรักษามาตั้งแต่บรรพบุรุษ พันธุ์ข้าวพื้นเมืองมีจำนวนหลากหลายพันธุ์รวมทั้งหมดทั่วโลกจะมีประมาณ 120,000 พันธุ์ สำหรับประเทศไทยมีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองประมาณ 3,500 พันธุ์ ซึ่งได้เก็บรักษาไว้ที่ศูนย์เชื้อพันธุ์ข้าวในบริเวณศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี (ประพาส วีระแพทย์, 2555) พันธุ์ข้าวที่มีการปลูกในอดีตของประเทศไทยมีหลากหลายกว่า 20,000 สายพันธุ์ ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวแห่งชาติได้รวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้จำนวน 23,903 ตัวอย่าง เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองจำนวน 17,093 ตัวอย่าง จำแนกชื่อไม่ซ้ำกันเป็นพันธุ์พื้นเมืองจำนวน 5,928 พันธุ์ ทำให้ประเทศไทยมีการปลูกข้าวพื้นเมืองในนากว่า 11 ล้านไร่ กระจายอยู่ทั่วประเทศ การลดลงของพันธุ์พืชและข้าวพื้นเมืองของเกษตรกรท้องถิ่นไทยนั้นเป็นผลมาจากการส่งเสริมการปลูกพืชพาณิชย์หรือพืชเชิงเดี่ยว ด้วยการส่งเสริมให้ใช้เมล็ดพันธุ์ปรับปรุงใหม่ที่เน้นการเพิ่มผลผลิต ทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชลดลง เช่น การส่งเสริมพันธุ์ข้าวปรับปรุงพันธุ์ชนิดต่างๆ ที่มุ่งเพียงสนองตอบต่อความต้องการของภาคธุรกิจที่มีกลไกของรัฐและตลาดภาคธุรกิจเอกชนเป็นผู้กำหนดคุณลักษณะของพันธุ์ข้าวในการส่งเสริมการผลิต ทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมของข้าวพื้นเมืองลดลงจนเข้าสู่ภาวะวิกฤติความหลากหลายทางพันธุกรรมของข้าวซึ่งเป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปในเขตภาคกลางของประเทศไทย การที่สายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองยังคงมีการปลูกอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากมีเกษตรกรบางส่วนที่ยังคงมีการปลูกและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองหลายสายพันธุ์ไว้ ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป เหตุผลหลักที่สำคัญคือพันธุ์ข้าวพื้นเมืองมีความเหมาะสมกับสภาพระบบนิเวศ มีความทนทาน และเหตุผลด้านรสนิยมการรับประทานข้าวของคนในท้องถิ่น อาทิเช่น การปลูกข้าวไร่บนพื้นที่สูงของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทางภาคเหนือ และการปลูกข้าวพื้นเมืองของเกษตรกรชาวนากว่าร้อยพันธุ์ในระบบนิเวศต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น ดังนั้นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองนับว่าเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ความสำเร็จของการอนุรักษ์พันธุกรรมขึ้นอยู่กับบทบาทการอนุรักษ์และศักยภาพการจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าวของเกษตรกรในไร่นา ดังนั้นความหลากหลายทางพันธุกรรมจึงเป็นรากฐานที่สำคัญในการนำไปปรับปรุงพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีในอนาคต หากสูญพันธุ์ไปก็จะไม่สามารถสร้างพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีตามความต้องการได้

2.5 ความหลากหลายทางพันธุกรรม

   ความหลากหลายทางพันธุกรรมเกิดจากการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตผ่านกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติและถ่ายทอดลักษณะเด่นที่สำคัญสู่ลูกหลานจนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะในแต่ละสายพันธุ์ โดยเฉพาะข้าวที่ถูกจัดเป็นพืชที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูงชนิดหนึ่งของโลก เช่น ลักษณะสีแผ่นใบ สีกาบใบ  สีลิ้นใบ  รูปร่างลิ้นใบ  สีหูใบ  สีข้อ สีปล้อง สีข้อต่อใบ  สียอดเกสรตัวเมีย สียอดดอก สีกลีบรองดอก และสีหางข้าว เป็นต้น ความหลากหลายทางพันธุกรรมของข้าวพันธุ์พื้นเมืองไทยมีความสำคัญมาก เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในแหล่งศูนย์กลางของความหลากหลายทางพันธุกรรมของข้าว ซึ่งลักษณะบางลักษณะอาจเป็นที่ต้องการหรือมีความจำเป็นในโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทยในอนาคต

   ข้าวพื้นเมืองมีความหลากหลายของสายพันธุ์แตกต่างกันในแต่ละสภาพพื้นที่ สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เช่น สภาพอากาศ ดิน ปริมาณน้ำ ความทนทานโรคและแมลงแมลง ทำให้การจัดกลุ่มหรือการจำแนกสายพันธุ์ข้าวโดยอาศัยลักษณะสัณฐานวิทยากระทำได้ยาก จุฑาพร แสงประจักษ์ (2555) ได้อธิบายถึงเครื่องหมายดีเอ็นเอ (DNA marker) หรือเครื่องหมายโมเลกุล (molecular marker) เข้ามามีบทบาทในงานด้านพันธุศาสตร์และการปรับปรุงพันธุ์พืชอย่างมาก เนื่องจากการจัดกลุ่มหรือการจำแนกสิ่งมีชีวิตโดยอาศัยลักษณะสัณฐานวิทยาทำได้ยาก โดยเฉพาะพืชซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน (สรพงศ์ เบ็ญ- จศรี, 2554) จึงทำให้เกิดความผิดพลาดในการแยกความแตกต่างของสายพันธุ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์พืชบางชนิดที่มีความใกล้ชิดทางพันธุกรรม การใช้เครื่องหมายดีเอ็นเอช่วยในการบ่งชี้ความแตกต่างของสายพันธุ์พืช (varietal identification) ได้เข้ามาช่วยให้การจำแนกความแตกต่างของสายพันธุ์มีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น (สุรีพร เกตุงาม, 2546) นอกจากนั้น เครื่องหมายดีเอ็นเอยังได้รับความนิยมอย่างมากในการประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต (genetic diversity) อีกด้วย (Mondini et al., 2009)

   เครื่องหมายดีเอ็นเอ หมายถึง ชิ้นส่วนของดีเอ็นเอที่ใช้เป็นเครื่องหมายติดตามหน่วยพันธุกรรมหรือยีนของสิ่งมีชีวิตและสามารถถ่ายทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานได้ พืชแต่ละชนิด แต่ละสายพันธุ์มีการจัดเรียงตัวของนิวคลีโอไทด์ในโมเลกุลดีเอ็นเอที่เป็นเอกลักษณ์และมีความแตกต่าง (polymorphisms) ของลำดับเบสในโมเลกุลดีเอ็นเอ จึงทำให้สิ่งมีชีวิตมีความแตกต่างกัน และสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องหมายดีเอ็นเอได้ เครื่องหมายดีเอ็นเอมีหลายประเภท เช่น RFLP (Restriction Fragment Length Polymorphisms), RAPD (Random Amplified Polymorphic DNA), STS (Sequence Tagged Sites), AFLP (Amplified Fragment Length Polymorphisms), SSR (Simple Sequence Repeats) หรือ microsatellites และ SNP (Single Nucleotide Polymorphisms) เป็นต้น การเลือกใช้เครื่องหมายดีเอ็นเอขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ และคุณสมบัติของเครื่องหมายดีเอ็นเอแต่ละประเภท (ตารางที่ 2.1)

ตารางที่ 2.1 เปรียบเทียบเครื่องหมายดีเอ็นเอสำหรับการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรม

Feature

RFLP

RAPD

AFLP

SSR

SNP

DNA required (mg)

10

0.02

0.5-1.0

0.05

0.05

DNA quality

High

High

Moderate

Moderate

High

PCR-based

No

Yes

Yes

Yes

Yes

Number of polymorphic loci analyzed polymorphism

1.0-3.0

1.5-50

20-100

1.0-3.0

1.0

Ease of use not

Easy

Easy

Easy

Easy

Easy

Amenable to automation

low

moderate

moderate

high

high

Reproducibility

high

unreliable

high

high

High

Development cost

low

low

moderate

high

high

Cost per analysis

high

low

moderate

low

low

(ที่มา: Korzun, 2002)

การตรวจสอบลายพิมพ์ดีเอ็นเอประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ คือ การสกัดดีเอ็นเอ การเพิ่มปริมาณชิ้นส่วนดีเอ็นเอในหลอดทดลองด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่โพลิเมอเรสโดยใช้เครื่องหมาย          ดีเอ็นเอชนิดต่างๆ จากนั้นนำผลผลิตดีเอ็นเอที่เพิ่มปริมาณได้มาแยกขนาดด้วยวิธีเจลอิเล็กโทร-โฟริซิส (gel  electrophoresis) ลายพิมพ์ดีเอ็นเอที่ได้สามารถนำมาใช้ประโยชน์หลายด้าน เช่น การระบุสายพันธุ์หรือชนิดของสิ่งมีชีวิต การตรวจสอบความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์หรือเมล็ดพันธุ์ ศึกษาวิวัฒนาการและความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต และการวิเคราะห์ความแตกต่างของฐานพันธุกรรมเพื่อใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ (Prashanth et al., 2002; Martos et al., 2005; Bao  et al., 2006; Seetharam et al., 2009; Rajkumar et al.,  2011; Kanawapee et al., 2011; Rahman et al., 2012)

2.6 เทคนิคอาร์เอพีดี

เทคนิคอาร์เอพีดี (random amplified polymorphism DNA) เป็นเทคนิคที่เพิ่มปริมาณ ดีเอ็นเอจากดีเอ็นเอต้นแบบที่ไม่ทราบลำดับนิวคลีโอไทด์โดยใช้ไพรเมอร์แบบสุ่ม (random primer) ความยาว 10 นิวคลีโอไทด์และอาศัยปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรส (polymerase chain reaction; PCR) เพื่อสร้างลายพิมพ์ดีเอ็นเอ (DNA fingerprint) การใช้ RAPD ในการศึกษาความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตสามารถทำได้ง่าย สะดวกรวดเร็วเพราะไม่ต้องการเครื่องมือที่ซับซ้อนในการทดลอง (Arif et al., 2010) โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้ นำตัวอย่างข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่รวบรวมได้ทั้งหมดมาสกัดดีเอ็นเอ แล้วนำตัวอย่างดีเอ็นเอที่สกัดได้มาตรวจสอบ          ลายพิมพ์ดีเอ็นเอด้วยเทคนิค RAPD ตามวิธีของ Wiliams et al. (1990) และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมตามวิธี UPGMA (Unweighted Pair Group Method with Arithmetic Mean) (Rohlf, 2002) ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป NTSYSpc 2.21q (Applied Biostatistic, USA) ดังภาพ 2.3

ภาพที่ 2.3 ความหลากหลายทางพันธุกรรมข้าวพื้นเมืองด้วยเทคนิคอาร์เอพีดี

2.7 นิยามศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับข้าวพื้นเมืองในอำเภออู่ทอง

กะล่อม หมายถึง ภาชนะที่สานจากไม้ไผ่ มีลักษณะเป็นทรงกระบอก ฉาบด้วยมูลสัตว์หรือดินเหนียว ด้านบนถูกปิดสนิทด้วยดินเหนียว สำหรับใส่ข้าวปลูก ป้องกันการกัดแทะของไก่ หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ

การไถดะ หมายถึง การไถพรวนดินครั้งแรกสำหรับทำลายวัชพืชในแปลงนา

เครื่องสีฝัด หมายถึง เครื่องแยกเมล็ดข้าวลีบและเศษฟางที่ยังหลงเหลืออยู่จากกระบวนการนวดข้าวออกจากเมล็ดข้าวเปลือก ในอดีตใช้แรงงานคนในการหมุนกงพัดให้เกิดลมเพื่อเป่าเมล็ดข้าวลีบและเศษฟางออก แต่ปัจจุบันใช้มอเตอร์จากเครื่องยนต์รถไถเดินตามในการหมุน

เคียว หมายถึง เครื่องมือที่ใช้เกี่ยวข้าวชนิดหนึ่ง มีลักษณะโค้งคล้ายครึ่งวงกลมโดยมีส่วนของคมเคียวอยู่ด้านในสำหรับเกี่ยวตัดลำต้นข้าวให้ขาดออกมา

ดอกข้าว หมายถึง ส่วนที่ประกอบด้วยเปลือกนอก 2 แผ่นประสานกัน คือ เปลือกนอกใหญ่ เรียกว่า เลมมา (lemma) ส่วนเปลือกนอกเล็ก เรียกว่า พาเลีย (palea) เปลือกนอกทั้งสองอาจมีขนหรือไม่มีขนก็ได้ โดยเปลือกนอกใหญ่บริเวณปลายสุดจะแหลมยื่นยาวออกมา เรียกว่า หางข้าว (awn) ซึ่งหางข้าวจะสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ข้าว ด้านในเปลือกนอกทั้งสองจะมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียสำหรับผสมพันธุ์ ซึ่งปลายเกสรตัวเมียแต่ละสายพันธุ์จะมีสีแตกต่างกัน ได้แก่ ขาว ม่วง เหลือง และเขียวอ่อน เป็นต้น

เทคนิคอาร์เอพีดี หมายถึง เทคนิคการสร้างลายพิมพ์ดีเอ็นเอจากดีเอ็นเอแม่แบบที่ไม่ทราบลำดับนิวคลีโอไทด์ โดยอาศัยปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรส (PCR) ด้วยการใช้ไพรเมอร์แบบสุ่มที่มีความยาว 10 นิวคลีโอไทด์ ผลจากการวิเคราะห์ลายพิมพ์ดีเอ็นเอจะทำให้ได้ข้อมูลที่สำคัญในการแยกความแตกต่างกันของสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองได้เนื่องจากพันธุ์ข้าวพื้นเมืองหลายสายพันธุ์มีลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่ใกล้เคียงกัน

นวดข้าว หมายถึง การรูดเมล็ดข้าวออกจากรวง ซึ่งหมายรวมถึงการแยกเมล็ดข้าวลีบและเศษฟางข้าวออกไปเหลือไว้เฉพาะเมล็ดข้าวเปลือก ในอดีตการนวดข้าวจะใช้แรงงานคนในการฟาดฟ่อนข้าวหรืออาจจะใช้สัตว์ในการเหยียบย่ำเพื่อให้เมล็ดหลุดร่วงออกมา แต่ปัจจุบันเกษตรกรนิยมใช้เครื่องทุ่นแรงสำหรับนวดข้าว เช่น การใช้รถแทรกเตอร์ในการเหยียบย่ำ รวมถึงใช้รถนวดข้าว หรือใช้รถเกี่ยวนวดข้าว เป็นต้น

ไพรเมอร์ หมายถึง นิวคลีโอไทด์สายสั้นๆ ที่มีความยาว 10 นิวคลีโอไทด์ ซึ่งถูกออกแบบให้มีความจำเพาะกับดีเอ็นเอแม่แบบ เพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอข้าวพื้นเมืองสายพันธุ์ที่สนใจ เช่น ไพรเมอร์ OPAA-14 ที่มีลำดับนิวคลีโอไทด์ คือ 5’-AACGGGCCAA-3’

ฟ่อนข้าว หมายถึง การมัดรวมรวงข้าวที่เกี่ยวมาแล้วให้เป็นขนาดที่พอเหมาะแก่การนำมานวด

ม้ามัดข้าว หมายถึง เครื่องมือที่ใช้ทุ่นแรงในการมัดข้าวให้เป็นฟ่อนที่ประดิษฐ์ขึ้นจากโลหะหรือไม้

ระแง้ หมายถึง การแตกแขนงของรวงข้าว แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ระแง้ปฐมภูมิคือการแตกแขนงออกไปจากแต่ละข้อของก้านหลัก ขณะที่ระแง้ทุติยภูมิคือแต่ละข้อของระแง้ปฐมภูมิมีการแตกแขนงย่อยออกไปอีก

ลงแขก หมายถึง การขอแรงให้ญาติพี่น้องหรือคนในชุมชนมาช่วยกันทำงานโดยเจ้าของนาจะจัดเตรียมอาหาร น้ำดื่ม สุรา บุหรี่ ไว้รองรับแขกที่มาช่วยงาน ดังนั้นการลงแขกจึงเป็นประเพณีไทยที่แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังช่วยสร้างความสามัคคีในหมู่คณะซึ่งนับวันจะหาดูได้ยากในสภาพปัจจุบัน เช่น การลงแขกดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว ลงแขกนวดข้าว เป็นต้น

ลอมฟางข้าว หมายถึง กองฟางที่มีลักษณะยอดแหลมคล้ายเจดีย์ ในอดีตวิถีชีวิตของชาวนามีความสัมพันธ์กับควายที่จำเป็นต้องใช้แรงงานในการไถนาและขนย้ายข้าว ดังนั้นการทำลอมฟางจึงทำเพื่อเก็บฟางเอาไว้ให้ควายได้กินในช่วงฤดูแล้งหรือในตอนหน้าน้ำ อีกทั้งจากพฤติกรรมของควายที่จะไม่กินฟางข้าวที่ถูกเหยียบย่ำอยู่บนพื้นดิน การทำลอมฟางข้าวจะช่วยให้ควายกินฟางได้ทั้งหมด

ลายพิมพ์ดีเอ็นเอ หมายถึง รูปแบบของแถบดีเอ็นเอที่เป็นเอกลักษณ์ในข้าวแต่ละ    สายพันธุ์ ที่สามารถนำมาใช้แยกความแตกต่างของสายพันธุ์ข้าวได้

ลิ้นใบ หรือเยื่อกันน้ำฝน หมายถึง เยื่อที่มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ ประกบติดอยู่กับ  ลำต้นข้าวมีหน้าที่กันน้ำหรือสิ่งสกปรกต่างๆ ไม่ให้เข้าไปอยู่ระหว่างกาบใบและลำต้น ลิ้นใบแบ่งตามรูปร่างออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ยอดแหลม ยอดแยกเป็น 2 แฉก และยอดไม่แหลม

สงฟางข้าว หมายถึง การใช้ไม้หรือโลหะที่ออกแบบให้เป็นซี่คล้ายส้อมขนาดใหญ่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าไม้คันฉายในการเขี่ยฟางให้กระจายเพื่อให้เมล็ดข้าวเปลือกร่วงหล่นมากองที่ลานหลังจากใช้รถแทรกเตอร์ในการเหยียบย่ำให้เมล็ดหลุดร่วงออกจากรวงข้าวแล้วซึ่งในอดีตจะใช้แรงงานควายเดินเหยียบย่ำ ปัจจุบันไม่ค่อยพบการสงฟาง เนื่องจากมีเครื่องจักรแยกเมล็ดข้าวเปลือกออกจากรวงข้าว

สัณฐานวิทยา หมายถึง การศึกษาเกี่ยวกับรูปร่าง ลักษณะ และโครงสร้างต่างๆ ของข้าวพันธุ์พื้นเมือง

หางข้าว หมายถึง ส่วนที่ยื่นยาวออกมาจากเปลือกนอกใหญ่ของเมล็ดข้าวเปลือกมีลักษณะเป็นเส้นยาว ซึ่งหางข้าวจะสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ข้าว

หูใบ หรือเขี้ยวกันแมลง หมายถึง ส่วนของใบที่ยื่นออกมาจากโคนก้านใบมีลักษณะเป็นริ้วหนามเล็กๆ เพื่อป้องกันอันตรายจากแมลง หูใบของข้าวจะมีรูปร่างขนาดและสีต่างกัน ส่วนใหญ่มีสีเขียวจาง สีขาว หรือมีสีม่วง


 

บทที่ 3

วิธีดำเนินการวิจัย

3.1 การสำรวจความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

1) วางแผนการสำรวจความหลากหลายของชนิดพันธุ์ข้าวพื้นเมือง โดยการทำงานจะประสานงานและวางแผนร่วมกับท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล คณะกรรมการประจำหมู่บ้าน และโรงเรียนในท้องถิ่น เพราะมุ่งหวังให้ท้องถิ่นผู้อยู่ใกล้ชิดทรัพยากรได้เข้าใจและตระหนักในความสำคัญของความหลากหลายของชนิดพันธุ์ข้าวพื้นเมือง และรับทราบข้อมูลปริมาณมีมากน้อยเพียงใดและจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ซึ่งจะทำให้ท้องถิ่นสามารถเฝ้าติดตามและดูแลรักษาได้

2) จัดทำแบบฟอร์มสำรวจ และดำเนินการสำรวจความหลากหลายของชนิดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองทั้ง 13 ตำบล ใน 155 หมู่บ้าน จัดเก็บข้อมูลลักษณะทางสัณฐานวิทยาของข้าวพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่ศึกษา รวมถึงข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวพื้นเมือง จัดทำแผนที่และพิกัดแสดงพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่สำรวจได้

3) รวบรวมข้อมูลและจัดทำบัญชีรายชื่อชนิดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองประจำถิ่น เพื่อให้เป็นข้อมูลเผยแพร่ให้กับชุมชนส่งเสริมการอนุรักษ์ต่อไป

4) เก็บตัวอย่างพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เพื่อใช้ในการศึกษาและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นสระยายโสมต่อไป

3.2 ศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

   สำรวจความหลากหลายของชนิดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองทั้ง 13 ตำบล ใน 155 หมู่บ้าน เพื่อศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ด้วยการนำตัวอย่างข้าวพันธุ์พื้นเมือง ที่รวบรวมได้ทั้งหมดมาสกัดดีเอ็นเอ แล้วนำตัวอย่างดีเอ็นเอที่สกัดได้มาตรวจสอบลายพิมพ์ ดีเอ็นเอด้วยเทคนิค RAPD ตามวิธีของ Wiliams et al. (1990) และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมด้วยวิธี UPGMA ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป ดังนี้

1) การสกัดดีเอ็นเอ
นำเมล็ดข้าวมาแกะเปลือกโดยไม่ให้จมูกข้าวหลุด นำไปเพาะบนกระดาษทิชชูในจานเพาะเชื้อ (Petri dish) พรมน้ำให้ชุ่มทิ้งไว้เป็นเวลา 5 วัน จนกระทั่งรากข้าวงอกออกมาประมาณ 5 เซนติเมตร จากนั้นตัดรากข้าวแล้วล้างด้วยน้ำกลั่นปราศจากเชื้อ (sterile distilled water) นำรากข้าวมาสกัดดีเอ็นเอด้วยชุดสกัดดีเอ็นเอ Wizard®Genomic DNA Purification (Promega) เก็บดีเอ็นเอที่สกัดได้ไว้ที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส

2) การวัดปริมาณและการตรวจสอบคุณภาพดีเอ็นเอ
วัดปริมาณดีเอ็นเอที่สกัดได้ด้วยการวัดค่าการดูดกลืนแสง 260/280 นาโนเมตร (UV/VIS spectrophotometer: OPTIZEN POP) และตรวจสอบคุณภาพดีเอ็นเอด้วยวิธีอิเล็กโทรโฟรีซิสในวุ้นอะกาโรส (agarose gel electrophoresis) ที่ความเข้มข้นของวุ้นร้อยละ 0.8

3) การสร้างลายพิมพ์ดีเอ็นเอด้วยเทคนิค RAPD
ดีเอ็นเอข้าวทั้ง 5 สายพันธุ์ใช้เป็นแม่แบบ (template) เพื่อสร้างลายพิมพ์ดีเอ็นเอโดยใช้ไพรเมอร์ OPAV-06 (5’-CCCGAGATCC-3’), OPAA-14 (5’-AACGGGCCAA-3’) และ OPAA-09 (5’-AGATGGGCAG-3’) (สุปราณี สิทธิพรหม, 2557) เพิ่มปริมาณดีเอ็นเอ 50 นาโนกรัม ด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรสในส่วนผสมดังนี้ 10X Tag buffer+MgCl2 (NEB) ปริมาตร 5 ไมโครลิตร 10 mM dNTP ปริมาตร 1 ไมโครลิตร 10 µM primer ปริมาตร 1 ไมโครลิตร เอนไซม์ Taq polymerase (5 unite/µl, NEB) ปริมาตร 0.25 ไมโครลิตร เติมน้ำ nuclease-free water ตามสัดส่วนของปริมาณความเข้มข้นของดีเอ็นเอแม่แบบให้ได้ปริมาตรสุดท้ายที่ 50 ไมโครลิตร จากนั้นนำเข้าเครื่องพีซีอาร์ที่ตั้งค่าปฏิกิริยาไว้ 3 ขั้นตอน ดังนี้ 1) pre-denaturation ที่อุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 นาที 2) denaturation ที่อุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 นาที annealing ที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 นาที extension ที่อุณหภูมิ 68 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 นาที ในขั้นตอนนี้ทำทั้งหมด 40 รอบ และ 3) final extension ที่อุณหภูมิ 68 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 7 นาที จากนั้นตรวจสอบลายพิมพ์ดีเอ็นเอด้วยวิธีอิเล็กโทรโฟรีซีสในวุ้นอะกาโรสที่ความเข้มข้นร้อยละ 1.5 ย้อมแถบดีเอ็นเอด้วยสี fluorescent dye (SYBR Gold) เป็นเวลา 40 นาที ส่องดูแถบสีดีเอ็นเอในเครื่อง dark reader แล้วถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล

4) การวิเคราะห์ลายพิมพ์ดีเอ็นเอจากเทคนิค RAPD
เปรียบเทียบแถบดีเอ็นเอที่ปรากฏของข้าวทั้ง 5 สายพันธุ์โดยตรวจสอบแถบดีเอ็นเอ ที่มีความเหมือนทั้งหมด (monomorphic bands) และแถบดีเอ็นเอที่มีความแตกต่างกัน (polymorphic bands) ในตำแหน่งที่มีแถบดีเอ็นเอหากพบแถบให้บันทึกเป็น “1” หากไม่พบแถบดีเอ็นเอให้บันทึกเป็น “0” (binary data) นำข้อมูลมาวิเคราะห์ดัชนีความเหมือน (similarity index) และสร้างแผนภูมิความสัมพันธ์ (dendrogram) โดยเลือกวิธีแบบ UPGMA (Unweighted Pair Group Method with Arithmetic Mean) (Rohlf, 2002) ด้วยโปรแกรม NTSYSpc 2.21q (Applied Biostatistic, USA)

3.3 การสำรวจวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

1) สำรวจวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวพื้นเมืองโดยการตรวจสอบเอกสาร รวบรวมข้อมูลทุติยภูมิที่เกี่ยวกับประเพณี วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ วิถีชีวิตของคนในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในพื้นที่ ทั้งจากสถาบันการศึกษา จากหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ รวมทั้งเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

2) การสำรวจจากพื้นที่ โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การสอบถาม เดินสำรวจ เพื่อค้นหาผู้รู้/ปราชญ์ท้องถิ่น เป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปราชญ์ท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

4) วิเคราะห์ข้อมูล และจัดทำทำเนียบผู้รู้/ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นการประมวลผลข้อมูลที่สำรวจรวบรวมได้ทั้งหมด

5) เก็บรวบรวมตัวอย่างจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับพันธุ์ข้าวพื้นเมืองและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นสระยายโสมต่อไป

3.4 การจัดทำหนังสือความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองและภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่โครงการ

1) กำหนดรูปแบบ และสรุปองค์ความรู้สำหรับทำหนังสือ

2) จัดทำหนังสือโดยให้ครอบคลุมความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ข้าวพื้นเมือง และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับข้าวพื้นเมืองในพื้นที่ทั้งหมดของโครงการ


 

บทที่ 4

ผลการวิจัย

1. การสำรวจความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

1.1 พันธุ์ข้าวพื้นเมืองในอู่ทอง

   อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มีความหลากหลายของลักษณะภูมิประเทศที่สามารถแบ่งออกเป็น 2 โซน ได้แก่ ด้านตะวันออกยาวไปถึงด้านทิศใต้จะมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำจระเข้สามพัน และลำคำลองสายย่อยต่างๆ ดังนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่จึงอยู่ในเขตชลประทาน เกษตรกรจึงประกอบอาชีพทำนาเพาะปลูกข้าว โดยเฉพาะการทำนาปรังเพาะปลูกข้าวเศรษฐกิจที่มีอายุการเพาะปลูกสั้น เช่น พันธุ์ กข47 ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า “อู่ทอง” เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่5 (2548) ได้จัดทำแผนที่ความเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวของพื้นที่อำเภออู่ทองส่วนใหญ่อยู่ด้านตะวันออกของอำเภอ ดังภาพที่ 4.1 ในขณะที่บริเวณด้านทิศตะวันตกยาวขึ้นไปถึงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือจะมีลักษณะเป็นที่ดอนอยู่นอกเขตชลประทานเกษตรกรส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพทำไร่อ้อย และเพาะปลูกข้าวนาปี โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ หรือขาวจังหวัด ดังนั้นจากการสำรวจความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในฤดูการเพาะปลูก 2557/2558 ครอบคลุมพื้นที่หมดทั้ง 13 ตำบล จึงพบว่าในพื้นที่อำเภออู่ทองมีเกษตรกรที่ยังคงปลูกข้าวพื้นเมืองเหลืออยู่เพียง 24 ราย กระจายอยู่ใน 2 ตำบล คือ ตำบลบ้านโข้ง และตำบลจรเข้สามพันเท่านั้น ในขณะที่ตำบลอื่นๆ อีก 11 ตำบล ไม่พบการปลูกข้าวพื้นเมือง เนื่องจากพื้นที่นาอยู่ในเขตชลประทาน เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมเพาะปลูกข้าวนาปรังที่สามารถเพาะปลูกได้ตลอดปี ขณะที่บางพื้นที่ในฤดูน้ำหลากจะมีน้ำท่วมขังยาวนาน ได้แก่ พื้นที่ในเขตตำบลหนองโอ่ง ตำบลเจดีย์ และตำบลบ้านดอน ไม่พบการปลูกข้าวขึ้นน้ำแต่เกษตรกรจะปลูกข้าวนาปรังในฤดูแล้งทดแทน เนื่องจากข้าวขึ้นน้ำต้องใช้ระยะเวลาการเพาะปลูกที่ยาวนาน

   ดังนั้นในปัจจุบันฤดูการเพาะปลูก 2557/2558 จึงพบพันธุ์ข้าวพื้นเมืองจำนวนทั้งสิ้น 5 สายพันธุ์ โดยทั้งหมดเป็นข้าวนาสวน ประกอบด้วย พันธุ์ขาวหลวง พันธุ์ฝาบาตร พันธุ์พญาชม พันธุ์รากแห้ง และพันธุ์เหลืองอ่อน เมื่อพิจารณารายตำบลพบว่าตำบลจรเข้สามพันปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองเพียงสายพันธุ์เดียวคือพันธุ์เหลืองอ่อนพบการปลูกในเขตบ้านหนองบัว และบ้านคลองตัน ส่วนตำบลบ้านโข้งปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองครบทั้งหมด 5 สายพันธุ์ดังกล่าว โดยพื้นที่เพาะปลูกข้าวพื้นเมืองของตำบลบ้านโข้งส่วนใหญ่กระจายอยู่ตอนบนของตำบลในเขตบ้านดอนยาว บ้านกกม่วง บ้านเขากระจิว บ้านสระบัวทอง และบ้านหัวเขา (ภาพที่ 4.2)

ภาพที่ 4.1 ความเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวของพื้นที่อำเภออู่ทอง

ที่มา: สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่5, 2548

ภาพที่ 4.2 พื้นที่ปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองในตำบลบ้านโข้ง อำเภออู่ทอง

   จากการสอบถามเกษตรกรผู้ปลูกข้าวถึงพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่เคยปลูกในอดีตมีมากถึง 20 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ก้นแก้ว ก้นจุด ขาวแก้ว ขาวตาแห้ง ขาวแตงกวา ขาวแตงโม ขาวประกวด ขาวประจวบ ขาวลำไย ข้าวแม่พัด ข้าววัด เขาใต้ เจ๊กเชย นครพนม นางมล น้ำลาด ปิ่นแก้ว มะลิซ้อน หลวงประทาน และหอมประกวด นอกจากนี้ ฉวีวรรณ วุฒิญาโณ (2543) รายงานพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในพื้นที่อำเภออู่ทอง มีจำนวนทั้งหมด 8 สายพันธุ์ แบ่งออกเป็นพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำ จำนวนทั้งหมด 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ขาวยาว (06926) ปลายเหลือง (06917) และเหลืองสังขละ (21342) และพันธุ์ข้าวเจ้านาสวน จำนวนทั้งสิ้น 5 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ขาวประจวบ (06899) ข้าวหวัด (03749) จุดมอญ (06870) นครพนม (21341) และน้ำลาด (06898) และปัจจุบันไม่พบการคงอยู่ของพันธุ์ข้าวดังกล่าว

   พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่เกษตรกรนิยมปลูกมากที่สุดคือ พันธุ์รากแห้ง (ภาพที่ 4.3) เนื่องจากพันธุ์รากแห้งมีลักษณะเด่นประจำพันธุ์ ได้แก่ เจริญเติบโตได้ดีในสภาพพื้นที่ดอน ทนแล้ง ต้องการน้ำน้อย ลำต้นสูงและแข็งซึ่งทนต่อการหักล้ม สู้หญ้าและวัชพืชอื่นๆ ได้ดี และน้ำหนักดี ซึ่งนายกำไร สกุลอินทร์ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพันธุ์รากแห้งมากกว่า 20 ปี ได้ให้ข้อมูลว่า “ข้าวพันธุ์รากแห้งมีความแข็งแรง ทนทานต่อความแห้งแล้ง เนื่องจากเคยคิดว่าข้าวตายแล้งแล้วจึงปล่อยให้วัวกินข้าวในแปลงนา แต่เมื่อข้าวได้รับน้ำฝนก็กลับฟื้นขึ้นมาให้ได้เก็บเกี่ยวอีก ดังนั้นถ้าปลูกข้าวพันธุ์รากแห้ง ถึงปีนั้นจะแล้งยังไงก็ได้กินข้าวแน่นอน” ขณะที่พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ปลูกเพียงครอบครัวเดียวเท่านั้นและเป็นการปลูกเพื่อบริโภคในครอบครัว คือพันธุ์ฝาบาตรซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเบาเมื่อปลูกแล้วจะได้รับประทานและได้ใส่บาตรก่อนข้าวพันธุ์อื่นๆ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “ข้าวพันธุ์ฝาบาตร” รวมทั้งมีลักษณะนุ่มและหุงขึ้นหม้อ อย่างไรก็ตามข้าวพันธุ์ฝาบาตรก็มีลักษณะด้อยคือ ผลผลิตต่ำ เพียง 40 ถังต่อพื้นที่เพาะปลูก 5 ไร่ และเมล็ดสั้นซึ่งเมื่อนำไปขายพ่อค้าไม่รับซื้อเนื่องจากเมื่อผ่านกระบวนการสีแล้วได้ข้าวสารที่มีสภาพเหมือนปลายข้าว (ภาพที่ 4.4) จึงเป็นสายพันธุ์ที่เสี่ยงอย่างยิ่งต่อการหายไปจากพื้นที่อำเภออู่ทอง จำเป็นอย่างเร่งด่วนในการส่งเสริมการปลูกและการบริโภคเพื่อให้คงอยู่ในพื้นที่อำเภออู่ทองต่อไป

ภาพที่ 4.3 สัดส่วนการปลูกข้าวพื้นเมืองสายพันธุ์ต่างๆ ในพื้นที่อำเภออู่ทอง

ภาพที่ 4.4 ลักษณะของเมล็ดข้าวพันธุ์พื้นเมือง

(ก) ขาวหลวง (ข) ฝาบาตร (ค) พญาชม (ง) รากแห้ง (จ) เหลืองอ่อน

1.2 ลักษณะทางสัณฐานวิทยาและลักษณะทางการเกษตรของข้าวพื้นเมืองในอำเภออู่ทอง

   จากการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยา โดยพิจารณาจากลักษณะต่างๆ ประกอบด้วย สีแผ่นใบ ขนแผ่นใบ สีกาบใบ สีข้อต่อใบ สีของปล้อง สีเยื่อกันน้ำฝน รูปร่างเยื่อกันน้ำฝน สีเขี้ยวกันแมลง มุมของใบธง สีของเกสรเพศเมีย การแตกระแง้ สีของเปลือกเมล็ด ขนของเปลือกเมล็ด สีของยอดเมล็ด หางข้าว สีของข้าวกล้อง และชนิดข้าวสาร ตามแบบบันทึกของเสถียร ฉันทะ (2558) พบว่าข้าวพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่อำเภออู่ทองมีลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่คล้ายคลึงกันเกือบทุกส่วน ยกเว้น การแตกระแง้ สีของเปลือกเมล็ด สีของยอดเมล็ด และความยาวของหางข้าว ที่แตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์ ดังตารางที่ 4.1 ขณะที่ลักษณะทางการเกษตรของข้าวพันธุ์พื้นเมือง พบว่า ทุกลักษณะมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยข้าวพันธุ์รากแห้งมีความสูงมากที่สุด ข้าวพันธุ์พญาชมมีจำนวนกอต่อต้น และดัชนีพื้นที่ใบมากที่สุด ส่วนวันออกดอก50% พบว่าข้าวพันธุ์ฝาบาตรออกดอกเร็วที่สุด และข้าวพันธุ์พญาชม ออกดอกช้าที่สุด ในส่วนการออกดอกสามารถจำแนกข้าวได้ 3 ลักษณะ ดังนี้ 1) ข้าวเบาได้แก่ ข้าวพันธุ์ฝาบาตร 2) ข้าวกลาง ได้แก่ ข้าวพันธุ์รากแห้งและข้าวพันธุ์เหลืองอ่อน และ 3) ข้าวหนัก ได้แก่ ข้าวพันธุ์ขาวหลวงและข้าวพันธุ์พญาชม นอกจากข้าวพันธุ์ฝาบาตรมีจำนวนรวงต่อกอมากที่สุด และข้าวพันธุ์ขาวหลวงมีน้ำหนักรวงมากที่สุด (ตารางที่ 4.2) นอกจากนี้ยังพบว่าขนาด สัดส่วนความยาวต่อความกว้าง และน้ำหนัก 100 เมล็ด ของเมล็ดข้าวพันธุ์พื้นเมืองมีความแตกต่างกัน  โดยข้าวพันธุ์รากแห้งมีขนาดความกว้างและยาวของเมล็ดข้าวเปลือกมากที่สุด โดยที่ข้าวพันธุ์พญาชมมีสัดส่วนความยาวต่อความกว้างของเมล็ดข้าวเปลือกมากที่สุด ส่วนน้ำหนัก 100 เมล็ด ข้าวพันธุ์รากแห้งมีน้ำหนักสูงที่สุด (ตารางที่ 4.3)

ตารางที่ 4.1 ลักษณะทางสัณฐานวิทยาของข้าวพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่อำเภออู่ทอง

ลักษณะ

พันธุ์ข้าวพื้นเมือง

รากแห้ง

เหลืองอ่อน

ขาวหลวง

ฝาบาตร

พญาชม

สีแผ่นใบ

เขียว

เขียว

เขียว

เขียว

เขียว

ขนแผ่นใบ

มีบ้าง

มีบ้าง

มีบ้าง

มีบ้าง

มีบ้าง

สีกาบใบ

เขียว

เขียว

เขียว

เขียว

เขียว

สีข้อต่อใบ

เขียวจาง

เขียวจาง

เขียวจาง

เขียวจาง

เขียวจาง

สีเยื่อกันน้ำฝน

ขาว

ขาว

ขาว

ขาว

ขาว

รูปร่างเยื่อกันน้ำฝน

แตก 2 ยอด

แตก 2 ยอด

แตก 2 ยอด

แตก 2 ยอด

แตก 2 ยอด

สีเขี้ยวกันแมลง

เขียวจาง

เขียวจาง

เขียวจาง

เขียวจาง

เขียวจาง

มุมของใบธง

ตั้งตรง

ตั้งตรง

ตั้งตรง

ตั้งตรง

ตั้งตรง

สีของเกสรเพศเมีย

ขาว

ขาว

ขาว

ขาว

ขาว

การแตกระแง้

ไม่แตก

ไม่แตก

มีบ้าง

ไม่แตก

มีบ้าง

สีของเปลือกเมล็ด

ฟาง

ฟางสลับน้ำตาล

ฟาง

ฟาง

ฟาง

ขนของเปลือกเมล็ด

ขนสั้น

ขนสั้น

ขนสั้น

ขนสั้น

ขนสั้น

สีของยอดเมล็ด

ฟาง

น้ำตาล

ฟาง

ฟาง

ฟาง

หางข้าว

ไม่มี

ไม่มี

มีและสั้น

ไม่มี

ไม่มี

สีของข้าวกล้อง

ขาว

ขาว

ขาว

ขาว

ขาว

ชนิดข้าวสาร

ข้าวเจ้า

ข้าวเจ้า

ข้าวเจ้า

ข้าวเจ้า

ข้าวเจ้า

 

ตารางที่ 4.2 ลักษณะทางการเกษตรของข้าวพันธุ์พื้นเมืองบริเวณพื้นที่อำเภออู่ทอง

พันธุ์

ความสูง (ซม.)

จำนวนกอ (ต่อต้น)

ดัชนีพื้นที่ใบ

วันออกดอก(50%)

จำนวนรวง (ต่อกอ)

รากแห้ง

182.50a

15.00c

71.15a

90.5b

10.00b

เหลืองอ่อน

164.20b

18.75bc

66.91ab

95.25c

13.00b

ขาวหลวง

165.80b

29.25a

61.42b

115.8b

17.00a

ฝาบาตร

148.50c

23.50b

40.29c

66.33e

19.00a

พญาชม

154.80bc

31.50a

74.06a

126.00a

18.00a

average

163.16

23.60

62.77

98.78

15.40

F-test

**

**

**

**

**

CV (%)

4.64

13.90

11.67

1.72

15.37

 

ตารางที่ 4.3 ขนาด สัดส่วนความยาวต่อความกว้าง และน้ำหนัก 100 เมล็ดของเมล็ดข้าวพันธุ์ พื้นเมือง

พันธุ์

ขนาดเมล็ดข้าวเปลือก (มิลลิเมตร)

สัดส่วนความยาวต่อความกว้างของเมล็ดข้าวเปลือก

น้ำหนัก 100 เมล็ด

(กรัม)

กว้าง

ยาว

รากแห้ง

3.02a

10.40a

3.26b

3.67a

เหลืองอ่อน

2.99a

10.10ab

3.38b

2.67b

ขาวหลวง

2.88b

9.70b

3.44b

3.50a

ฝาบาตร

2.26c

8.50c

3.38b

2.00c

พญาชม

3.01a

9.80ab

3.78a

2.50b

average

2.83

9.70

3.45

2.87

F-test

**

**

**

**

CV (%)

4.06

7.13

8.80

6.37

 

ข้าวพื้นเมืองพันธุ์ขาวหลวง

ลำต้น มีความสูงจากโคนถึงฐานรวงเฉลี่ย 165.80 เซนติเมตร ทรงกอแบะออก สามารถแตกกอเฉลี่ย 29.25 ต้นต่อกอ ปล้องมีสีเขียว และลำต้นล้มได้ง่าย

ใบ แผ่นใบมีสีเขียว มีขนบ้าง กาบใบเขียว ข้อต่อใบสีเขียวจาง มุมยอดใบตั้งตรง ลิ้นใบมีสีขาวแตกออกเป็น 2 ยอด ความยาวลิ้นใบเฉลี่ย 20.3 มิลลิเมตร และหูใบมีสีเขียวจาง

ดอก จำนวนวันตกกล้าถึงออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์เฉลี่ย 116 วัน ยอดเกสรตัวเมียมีสีขาว และไม่พบการโผล่ของยอดเกสรตัวเมีย

รวง การชูรวงดี พบแตกระแง้บ้าง ลักษณะรวงมีการแตกแขนงปานกลาง น้ำหนักรวงเฉลี่ย 8.95 กรัม ความยาวจากฐานคอรวงถึงยอดเฉลี่ย 35.40 เซนติเมตร การติดเมล็ดปานกลาง และเมล็ดร่วงน้อย

เมล็ด สีของเปลือกเมล็ดมีสีฟางข้าว ขนสั้น ยอดเมล็ดมีสีฟาง หางข้าวมีสีขาวลักษณะสั้นและมีเป็นส่วนน้อย น้ำหนักเมล็ดเฉลี่ย 3.50 กรัม เมล็ดมีความกว้างยาวเฉลี่ย 2.88 x 9.70 มิลลิเมตร ข้าวกล้องมีสีขาว รูปร่างเรียว และมีความกว้างยาวเฉลี่ย 2.60 x 7.50 มิลลิเมตร

ภาพที่ 4.5 ลักษณะข้าวพื้นเมืองพันธุ์ขาวหลวง

(ก) แปลงนา (ข) ทรงกอ (ค) หูใบ

(ง) ดอกข้าว (จ) รวงข้าว (ฉ) เมล็ด

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพื้นเมืองพันธุ์ขาวหลวง

นางแดง พิเพก อายุ 45 ปี

ที่อยู่ 307 หมู่ที่ 7 บ้านกกม่วง ตำบลบ้านโข้ง

พื้นที่ปลูก 5 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 3 เกวียน

ประสบการณ์ปลูก 10 ปี

เหตุผลที่ปลูก สู้น้ำ สู้หญ้า น้ำหนักดี ติดรวงดี ปลูกไว้ รับประทานในครอบครัว เนื่องจากชอบ ข้าวแข็ง หุงขึ้นหม้อทั้งข้าวใหม่และข้าว เก่า

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก ขาวแตงโม รากแห้ง

 

นายเสถียร พันแตง อายุ 47 ปี

ที่อยู่ 235 หมู่ที่ 5 บ้านห้วยพาด ตำบลบ้านโข้ง

พื้นที่ปลูก 12 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 5-6 เกวียน

ประสบการณ์ปลูก 30 ปี

เหตุผลที่ปลูก สภาพนาเป็นพื้นที่ลุ่มมีน้ำมากในช่วงฤดู ฝน จึงต้องปลูกข้าวที่ขึ้นน้ำได้ดี

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก ขาวลำไย ปิ่นแก้ว พญาชม

 

นางสำรวย สาเป้า อายุ 50 ปี

ที่อยู่ 7 หมู่ที่ 6 บ้านสระบัวทอง ตำบลบ้านโข้ง

พื้นที่ปลูก 5 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 2 เกวียน

ประสบการณ์ปลูก 1 ปี

เหตุผลที่ปลูก ข้าวขึ้นหนีน้ำได้ดี ผลผลิตสูง

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก รากแห้ง

 

ข้าวพื้นเมืองพันธุ์ฝาบาตร

ลำต้น มีความสูงจากโคนถึงฐานรวงเฉลี่ย 148.50 เซนติเมตร ทรงกอแผ่มาก สามารถแตกกอเฉลี่ย 23.50 ต้นต่อกอ ปล้องมีสีเขียว และลำต้นล้มได้ง่าย

ใบ แผ่นใบมีสีเขียว มีขนบ้าง กาบใบเขียว ข้อต่อใบสีเขียวจาง มุมยอดใบตั้งตรง ลิ้นใบมีสีขาวแตกออกเป็น 2 ยอด ความยาวลิ้นใบเฉลี่ย 21.5 มิลลิเมตร และหูใบมีสีเขียวจาง

ดอก จำนวนวันตกกล้าถึงออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์เฉลี่ย 66 วัน ยอดเกสรตัวเมียมีสีขาว และไม่พบการโผล่ของยอดเกสรตัวเมีย

รวง การชูรวงดี ไม่แตกระแง้ ลักษณะรวงมีการแตกแขนงปานกลาง น้ำหนักรวงเฉลี่ย 3.55 กรัม ความยาวจากฐานคอรวงถึงยอดเฉลี่ย 25.35 เซนติเมตร การติดเมล็ดปานกลาง และเมล็ดร่วงน้อย

เมล็ด สีของเปลือกเมล็ดมีสีฟางข้าว ขนสั้น ยอดเมล็ดมีสีฟาง ไม่มีหางข้าว น้ำหนักเมล็ดเฉลี่ย 2.00 กรัม เมล็ดมีความกว้างยาวเฉลี่ย 2.26 x 8.50 มิลลิเมตร ข้าวกล้องสีขาว รูปร่างป้อม และมีความกว้างยาวเฉลี่ย 2.11 x 6.67 มิลลิเมตร

ภาพที่ 4.6 ลักษณะข้าวพื้นเมืองพันธุ์ฝาบาตร

(ก) แปลงนา (ข) ทรงกอ (ค) หูใบ

(ง) ดอกข้าว (จ) รวงข้าว (ฉ) เมล็ด

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพื้นเมืองพันธุ์ฝาบาตร

นายหนู กล่ำจีน อายุ 82 ปี

ที่อยู่ 235 หมู่ที่ 5 บ้านห้วยพาด ตำบลบ้านโข้ง

พื้นที่ปลูก 5 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 40 ถัง

ประสบการณ์ปลูก 40 ปี

เหตุผลที่ปลูก ข้าวนิ่มหุงขึ้นหม้อ ปลูกไว้รับประทานเอง อายุเก็บเกี่ยวสั้น เพียง 3 เดือน ได้ รับประทานและได้ใส่บาตรก่อนพันธุ์อื่นๆ

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก ก้นจุด ขาวแก้ว เขาใต้ หอมประกวด

 

ข้าวพื้นเมืองพันธุ์พญาชม

ลำต้น มีความสูงจากโคนถึงฐานรวงเฉลี่ย 154.80 เซนติเมตร ทรงกอแผ่ออก สามารถแตกกอเฉลี่ย 31.50 ต้นต่อกอ ปล้องมีสีเขียว และลำต้นล้มได้ง่าย

ใบ แผ่นใบมีสีเขียว มีขนบ้าง กาบใบเขียว ข้อต่อใบสีเขียวจาง มุมยอดใบตั้งตรง ลิ้นใบมีสีขาวแตกออกเป็น 2 ยอด ความยาวลิ้นใบเฉลี่ย 20.8 มิลลิเมตร และหูใบมีสีเขียวจาง

ดอก จำนวนวันตกกล้าถึงออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์เฉลี่ย 126 วัน ยอดเกสรตัวเมียมีสีขาว และไม่พบการโผล่ของยอดเกสรตัวเมีย

รวง การชูรวงดี พบแตกระแง้บ้าง ลักษณะรวงมีการแตกแขนงปานกลาง น้ำหนักรวงเฉลี่ย 6.90 กรัม ความยาวจากฐานคอรวงถึงยอดเฉลี่ย 33.00 เซนติเมตร การติดเมล็ดปานกลาง และเมล็ดร่วงน้อย

เมล็ด สีของเปลือกเมล็ดมีสีฟางข้าว ขนสั้น ยอดเมล็ดมีสีฟาง ไม่มีหางข้าว น้ำหนักเมล็ดเฉลี่ย 2.50 กรัม เมล็ดมีความกว้างยาวเฉลี่ย 3.01 x 9.80 มิลลิเมตร ข้าวกล้องสีขาว รูปร่างเรียว และมีความกว้างยาวเฉลี่ย 2.13 x 7.42 มิลลิเมตร

ภาพที่ 4.7 ลักษณะข้าวพื้นเมืองพันธุ์พญาชม

(ก) แปลงนา (ข) ทรงกอ (ค) หูใบ

(ง) ดอกข้าว (จ) รวงข้าว (ฉ) เมล็ด

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพื้นเมืองพันธุ์พญาชม

นายเอ้ง ขันตรี อายุ 70 ปี

ที่อยู่ 438 หมู่ที่ 2 บ้านจร้าใหม่ ตำบลบ้านโข้ง

พื้นที่ปลูก 15 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 9 เกวียน

ประสบการณ์ปลูก 50 ปี

เหตุผลที่ปลูก ปลูกไว้รับประทานเอง เนื่องจากไม่แข็งไม่ อ่อนพอดีกิน ที่สำคัญข้าวพญาชมสู้น้ำได้ดี และแตกระแง้ดีกว่าขาวประจวบและขาวหลวง

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก ขาวประจวบ นครพนม น้ำลาด ปิ่นแก้ว มะลิ ซ้อน

 

ข้าวพื้นเมืองพันธุ์รากแห้ง

ลำต้น มีความสูงจากโคนถึงฐานรวงเฉลี่ย 182.50 เซนติเมตร ทรงกอแบะออก สามารถแตกกอเฉลี่ย 15.00 ต้นต่อกอ ปล้องมีสีเขียว และลำต้นหักล้มได้ยาก

ใบ แผ่นใบมีสีเขียว มีขนบ้าง กาบใบเขียว ข้อต่อใบสีเขียวจาง มุมยอดใบตั้งตรง ลิ้นใบมีสีขาวแตกออกเป็น 2 ยอด ความยาวลิ้นใบเฉลี่ย 24.5 มิลลิเมตร และหูใบมีสีเขียวจาง

ดอก จำนวนวันตกกล้าถึงออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์เฉลี่ย 91 วัน ยอดเกสรตัวเมียมีสีขาว และไม่พบการโผล่ของยอดเกสรตัวเมีย

รวง การชูรวงดี ไม่พบการแตกระแง้ ลักษณะรวงมีการแตกแขนงปานกลาง น้ำหนักรวงเฉลี่ย 7.85 กรัม ความยาวจากฐานคอรวงถึงยอดเฉลี่ย 33.25 เซนติเมตร การติดเมล็ดปานกลาง และเมล็ดร่วงน้อย

เมล็ด สีของเปลือกเมล็ดมีสีฟางข้าว ขนสั้น ยอดเมล็ดมีสีฟาง ไม่มีหางข้าว น้ำหนักเมล็ดเฉลี่ย 3.67 กรัม เมล็ดมีความกว้างยาวเฉลี่ย 3.02 x 10.04 มิลลิเมตร ข้าวกล้องสีขาว รูปร่างเรียว และมีความกว้างยาวเฉลี่ย 2.22 x 7.65 มิลลิเมตร

ภาพที่ 4.8 ลักษณะข้าวพื้นเมืองพันธุ์รากแห้ง

(ก) แปลงนา (ข) ทรงกอ (ค) หูใบ

(ง) ดอกข้าว (จ) รวงข้าว (ฉ) เมล็ด

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพื้นเมืองพันธุ์รากแห้ง

นายกำไร สกุลอินทร์อายุ 46 ปี

ที่อยู่ 303 หมู่ที่ 3 บ้านหัวเขา ตำบลสระกระโจม

พื้นที่ปลูก 25 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 6 เกวียน

ประสบการณ์ปลูก มากกว่า 20 ปี

เหตุผลที่ปลูก ลำต้นแข็ง สู้หญ้าได้ดี น้ำหนักดี และทน แล้ง “เคยปล่อยให้วัวกินเพราะคิดว่าข้าว ตายแล้งแล้ว พอได้รับน้ำฝนก็กลับฟื้น ขึ้นมาให้ได้เกี่ยวอีก ดังนั้นถ้าปลูกข้าวราก แห้ง ถึงปีนั้นจะแล้งยังไงก็ได้กินข้าว แน่นอน”

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก เหลืองอ่อน

“เคยปลูกเหลืองอ่อนเมื่อประมาณ 10 ปี แต่เหลืองอ่อนลูกข้าวเยอะเลยเลิกปลูก”

 

นางจอง มาลัย อายุ 54 ปี

ที่อยู่ 109 หมู่ที่ 5 บ้านเขากระจิว ตำบลบ้านโข้ง

พื้นที่ปลูก 12 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 7 เกวียน

ประสบการณ์ปลูก 10 ปี

เหตุผลที่ปลูก ปลูกไว้รับประทานเอง ชอบข้าวแข็ง เมล็ด โต ต้านทานโรค ดูแลง่าย และสู้หญ้าได้ดี

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก ขาวหลวง

 

นางเฉลิม พรสุริวงษ์ อายุ 52 ปี

ที่อยู่ 1 หมู่ที่ 5 บ้านเขากระจิว ตำบลบ้านโข้ง

พื้นที่ปลูก 20 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 5 เกวียน

ประสบการณ์ปลูก 30 ปี

เหตุผลที่ปลูก สู้หญ้าได้ดี กินดี ไม่แข็งและไม่อ่อน เลย ปลูก มาทุกปีตั้งแต่บรรพบุรุษ

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก ขาวแก้ว ขาวลำใย ข้าววัด พญาชม หลวง ประทาน

 

นางชะลอ มาลัย อายุ 59 ปี

ที่อยู่ 117 หมู่ที่ 5 บ้านเขากระจิว ตำบลบ้านโข้ง

พื้นที่ปลูก 6 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 3 เกวียน

ประสบการณ์ปลูก 10 ปี

เหตุผลที่ปลูก เมล็ดโต ทนโรค น้ำหนักดี ดูแลง่าย

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก ไม่มี

 

นางดาวเรือง ผิวชะอุ่ม อายุ 47 ปี

ที่อยู่ 2 หมู่ที่ 5 บ้านเขากระจิว ตำบลบ้านโข้ง

พื้นที่ปลูก 3 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 1-2 เกวียน

ประสบการณ์ปลูก 6 ปี

เหตุผลที่ปลูก ปลูกไว้รับประทานเอง ดูแลง่าย ทนแล้ง

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก ไม่มี

 

นางบุญมี หมวดเชียงคะ อายุ 47 ปี

ที่อยู่ 208 หมู่ที่ 5 บ้านนา ตำบลบ้านโข้ง

พื้นที่ปลูก 7 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 3 เกวียน

ประสบการณ์ปลูก 15 ปี

เหตุผลที่ปลูก ปลูกไว้รับประทานเอง ไม่แข็ง ไม่อ่อน ดังนั้นจึงปลูกรากแห้งมาทุกปี

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก ไม่มี

 

นางพยอม ชุ่มเพ็งพันธุ์ อายุ 60 ปี

ที่อยู่ 326 หมู่ที่ 3 บ้านหัวเขา ตำบลสระกระโจม

พื้นที่ปลูก 12 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 5 เกวียน

ประสบการณ์ปลูก 20 ปี

เหตุผลที่ปลูก รวงใหญ่ น้ำหนักดี สู้หญ้าดี ทนแล้ง

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก ก้นแก้ว ขาวแก้ว ขาวตาแห้ง

 

นายวุ่น โพธิ์พรม อายุ 78 ปี

ที่อยู่ 115 หมู่ที่ 5 บ้านเขากระจิว ตำบลบ้านโข้ง

พื้นที่ปลูก 15 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 5 เกวียน

ประสบการณ์ปลูก มากกว่า 30 ปี

เหตุผลที่ปลูก สู้หญ้าได้ดี ทนแล้ง สู้โรค สู้เพลี้ย ปลูกไว้ รับประทานเอง ถ้าเหลือจึงจะสีเป็นข้าวสาร ไว้ขาย

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก ขาวแตงกวา ขาวประจวบ เจ๊กเชย

 

นางสำรวย สาเป้า อายุ 50 ปี

ที่อยู่ 7 หมู่ที่ 6 บ้านสระบัวทอง ตำบลบ้านโข้ง

พื้นที่ปลูก 10 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 4 เกวียน

ประสบการณ์ปลูก 1 ปี

เหตุผลที่ปลูก สู้หญ้าได้ดี ดูแลง่าย ทนแล้ง

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก ขาวหลวง

 

นายสวิง กลั่นเอี่ยม อายุ 61 ปี

ที่อยู่ 133 หมู่ที่ 5 บ้านเขากระจิว ตำบลบ้านโข้ง

พื้นที่ปลูก 9 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 2.5 เกวียน

ประสบการณ์ปลูก มากกว่า 30 ปี

เหตุผลที่ปลูก พื้นที่นาสภาพเป็นที่ดอน พันธุ์รากแห้ง สู้ หญ้าได้ดี ทนแล้ง ใช้น้ำน้อย น้ำหนักดีกว่า ข้าวหอมมะลิ ปลูกไว้รับประทานเอง และ แบ่งขายบ้าง ข้าวใหม่จะนุ่มอร่อย ส่วนข้าว เก่าจะแข็งเล็กน้อย

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก เหลืองอ่อน

 

นางหนูแดง ฟ้อนพันธ์ อายุ 51 ปี

ที่อยู่ 143 หมู่ที่ 5 บ้านเขากระจิว ตำบลบ้านโข้ง

พื้นที่ปลูก 4 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 3 เกวียน

ประสบการณ์ปลูก 10 ปี

เหตุผลที่ปลูก ปลูกไว้รับประทานเองน้ำหนักดี ผลผลิตสูง

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก ขาวแก้ว ขาวหลวง

 

นายอั้น โรจน์บุญถึง อายุ 64 ปี

ที่อยู่ 237 หมู่ที่ 11 บ้านจร้าใหม่ ตำบลบ้านโข้ง

เหตุผลที่ปลูก ทนต่อแมลงศัตรูพืช ทนน้ำท่วม

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก ขาวแก้ว พญาชม

 

นายอุดม นาคโชติ อายุ 66 ปี

ที่อยู่ 110 หมู่ที่ 5 บ้านเขากระจิว ตำบลบ้านโข้ง

พื้นที่ปลูก 4 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 1 เกวียน

ประสบการณ์ปลูก 10 ปี

เหตุผลที่ปลูก ปลูกไว้รับประทานเอง คนในครอบครัว ชอบ ข้าวพันธุ์นี้ น้ำหนักดี ผลผลิตสูง ศัตรู น้อย ทนแล้ง

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก ก้นแก้ว ขาวประกวด นางมล ปิ่นแก้ว พญาชม

 

ข้าวพื้นเมืองพันธุ์เหลืองอ่อน

ลำต้น มีความสูงจากโคนถึงฐานรวงเฉลี่ย 164.20 เซนติเมตร ทรงกอแบะออก สามารถแตกกอเฉลี่ย 18.75 ต้นต่อกอ ปล้องมีสีเขียว และลำต้นสามารถหักล้มได้ปานกลาง

ใบ แผ่นใบมีสีเขียว มีขนบ้าง กาบใบเขียว ข้อต่อใบสีเขียวจาง มุมยอดใบตั้งตรง ลิ้นใบมีสีขาวแตกออกเป็น 2 ยอด ความยาวลิ้นใบเฉลี่ย 25.5 มิลลิเมตร และหูใบมีสีเขียวจาง

ดอก จำนวนวันตกกล้าถึงออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์เฉลี่ย 95 วัน ยอดเกสรตัวเมียมีสีขาว และไม่พบการโผล่ของยอดเกสรตัวเมีย

รวง การชูรวงดี ไม่พบการแตกระแง้ ลักษณะรวงมีการแตกแขนงปานกลาง น้ำหนักรวงเฉลี่ย 5.84 กรัม ความยาวจากฐานคอรวงถึงยอดเฉลี่ย 30.10 เซนติเมตร การติดเมล็ดปานกลาง และเมล็ดร่วงน้อย

เมล็ด สีของเปลือกเมล็ดมีสีฟางสลับน้ำตาล ขนสั้น ยอดเมล็ดมีสีน้ำตาล ไม่มีหางข้าว น้ำหนักเมล็ดเฉลี่ย 2.67 กรัม เมล็ดมีความกว้างยาวเฉลี่ย 2.99 x 10.10 มิลลิเมตร ข้าวกล้องสีขาว รูปร่างเรียว และมีความกว้างยาวเฉลี่ย 2.59 x 7.54 มิลลิเมตร

ภาพที่ 4.9 ลักษณะข้าวพื้นเมืองพันธุ์เหลืองอ่อน

(ก) แปลงนา (ข) ทรงกอ (ค) หูใบ

(ง) ดอกข้าว (จ) รวงข้าว (ฉ) เมล็ด

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพื้นเมืองพันธุ์เหลืองอ่อน

นายเกษม นาเอก อายุ 60 ปี

ที่อยู่ 261 หมู่ที่ 7 บ้านดอนยาว ตำบลบ้านโข้ง

พื้นที่ปลูก 6 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 140 ถัง

ประสบการณ์ปลูก 10 ปี

เหตุผลที่ปลูก ผลผลิตสูง สู้น้ำได้ดี

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก ไม่มี

 

นายทองดี กรับทอง อายุ 55 ปี

ที่อยู่ 216 หมู่ที่ 7 บ้านดอนยาว ตำบลบ้านโข้ง

พื้นที่ปลูก 15 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 5.5 เกวียน

ประสบการณ์ปลูก 10 ปี

เหตุผลที่ปลูก ลำต้นสูง สู้น้ำ สู้หญ้าได้ดี ปลูกไว้ รับประทานเอง เหลือก็แบ่งขายบ้าง

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก ไม่มี

 

นายเนื่อง ปทุมสูตร อายุ 73 ปี

ที่อยู่ 75 หมู่ที่ 1 บ้านหนองบัว ตำบลจรเข้สามพัน

พื้นที่ปลูก 12 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 3-4 เกวียน

ประสบการณ์ปลูก 10 ปี

เหตุผลที่ปลูก กินดี เมล็ดสวย ไม่ต้องใส่ปุ๋ย

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก ไม่มี

 

นางประสาท ศรีคำทา อายุ 61 ปี

ที่อยู่ 47 หมู่ที่ 6 บ้านคลองตัน ตำบลสระยายโสม

พื้นที่ปลูก 10 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 3-4 เกวียน

ประสบการณ์ปลูก 4 ปี

เหตุผลที่ปลูก ปลูกไว้รับประทานเองเพราะชอบข้าวพันธุ์นี้

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก ไม่มี

 

นางสะอิ้ง ฤทธิ์เดช อายุ 49 ปี

ที่อยู่ 113 หมู่ที่ 13 บ้านวังวัว ตำบลบ้านโข้ง

พื้นที่ปลูก 15 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 5 เกวียน

ประสบการณ์ปลูก 10 ปี

เหตุผลที่ปลูก แมลงศัตรูมีน้อย

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก ไม่มี

 

นางสะอิ้ง สูนสิทธิ์ อายุ 56 ปี

ที่อยู่ 123 หมู่ที่ 9 บ้านหนองสลัดได

ตำบลบ้านโข้ง

พื้นที่ปลูก 2 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 60-70 ถัง

ประสบการณ์ปลูก 4-5 ปี

เหตุผลที่ปลูก พื้นที่เพาะปลูกน้อย ข้าวเหลืองอ่อน ผลผลิต สูงจึงปลูกไว้รับประทานเองใน ครัวเรือน

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก ข้าวแม่พัด รากแห้ง

 

นายสุรินทร์ หลีพันธ์ อายุ 74 ปี

ที่อยู่ 58 หมู่ที่ 7 บ้านดอนยาว ตำบลบ้านโข้ง

พื้นที่ปลูก ปี 2557 ปลูก 8 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 6 เกวียน

ปี 2558 ปลูก 12 ไร่ 2 งาน ได้ผลผลิตรวม 6 เกวียน

ประสบการณ์ปลูก 16 ปี

เหตุผลที่ปลูก ต้นสูง หนีหญ้าได้ดี ขึ้นน้ำ เนื่องจากพื้นที่ นาเป็นทางน้ำ ผลผลิตสูง น้ำหนักมาก

พันธุ์อื่นที่เคยปลูก ก้นแก้ว พญาชม มะลิซ้อน

 

2.ศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

   ผลการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองด้วยวิธี RAPD โดยใช้ไพรเมอร์ OPAV-06, OPAA-14 และ OPAA-09 เพื่อสร้างลายพิมพ์ดีเอ็นเอของข้าวทั้ง 5 สายพันธุ์ พบว่าไพรเมอร์ที่สามารถเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอได้มีเพียง OPAA-14 และ OPAA-09 ในขณะที่ OPAV-06 ไม่ปรากฏแถบดีเอ็นเอ ซึ่งแถบดีเอ็นเอที่ปรากฏมีทั้งหมด 50 แถบ ขนาดประมาณ 260 – 3000 คู่เบส (base pair; bp) เป็นแถบดีเอ็นเอที่มีความต่างกันในแต่ละสายพันธุ์ข้าว (polymorphic bands) คิดเป็นร้อยละ 100 (ภาพที่ 4.10) โดยลายพิมพ์ดีเอ็นเอมีลักษณะเฉพาะต่อข้าวแต่ละสายพันธุ์

ภาพที่ 4.10  ลายพิมพ์ดีเอ็นเอจากการเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอด้วย RAPD และใช้ไพรเมอร์ OPAV-06 (lane 1-5), OPAA-14 (lane 6-10) และ OPAA-09 (lane 11-15) (M1 คือ ดีเอ็นเอมาตรฐาน 100 bp ladder (GeneRuler), M2 คือ ดีเอ็นเอมาตรฐาน 1 kb ladder (GeneRuler), lane 1, 6, 11 คือ ข้าวฝาบาตร, lane 2, 7, 12 คือ ข้าวรากแห้ง, lane 3, 8, 13 คือ ข้าวเหลืองอ่อน, lane 4, 9, 14 คือ ข้าวขาวหลวง, lane 5, 10, 15 คือ ข้าวพญาชม)

   จากการศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของข้าวพื้นเมืองด้วยเทคนิคอาร์เอพีดี (RAPD) โดยใช้ ไพรเมอร์ OPAA-14 (5’-AACGGGCCAA-3’) เพื่อสร้างลายพิมพ์ดีเอ็นเอ (ภาพที่ 4.11) พบว่าไพรเมอร์ OPAA-14 สามารถสร้างแถบดีเอ็นเอที่นำมาวิเคราะห์แยกความแตกต่างของข้าวทั้ง 5 สายพันธุ์ได้ดังนี้

1. ข้าวพื้นเมืองพันธุ์ฝาบาตรไพรเมอร์ OPAA-14 สามารถสร้างลายพิมพ์ดีเอ็นเอได้ทั้งหมด 4 แถบ ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 800-1500 คู่เบส ประกอบด้วยแถบดีเอ็นเอขนาด 800, 1200, 1300 และ 1500 คู่เบส

ภาพที่ 4.11 ลายพิมพ์ดีเอ็นเอข้าวทั้ง 5 สายพันธุ์ โดยเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอด้วย RAPD และใช้ไพรเมอร์ OPAA-14 (M1 คือ ดีเอ็นเอมาตรฐาน 100 bp ladder (GeneRuler), M2 คือ ดีเอ็นเอมาตรฐาน 1 kb ladder (GeneRuler), lane 1 คือ ข้าวฝาบาตร, lane 2 คือ ข้าวรากแห้ง, lane 3 คือ ข้าวเหลืองอ่อน, lane 4 คือ ข้าวขาวหลวง และ lane 5 คือ ข้าวพญาชม)

2. ข้าวพื้นเมืองพันธุ์รากแห้งไพรเมอร์ OPAA-14 สามารถสร้างลายพิมพ์ดีเอ็นเอได้ทั้งหมด 9 แถบ ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 550-2000 คู่เบส ประกอบด้วยแถบดีเอ็นเอขนาด 550, 630, 750, 1100, 1400, 1500, 1700, 1900 และ 2000 คู่เบส

3. ข้าวพื้นเมืองพันธุ์เหลืองอ่อนไพรเมอร์ OPAA-14 สามารถสร้างลายพิมพ์ดีเอ็นเอได้เพียง 1 แถบ คือดีเอ็นเอขนาด 1900 คู่เบส

4. ข้าวพื้นเมืองพันธุ์ขาวหลวงไพรเมอร์ OPAA-14 สามารถสร้างลายพิมพ์ดีเอ็นเอได้ทั้งหมด 4 แถบ ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 1000-1900 คู่เบส ประกอบด้วยแถบดีเอ็นเอขนาด 1000, 1500, 1600 และ 1900 คู่เบส

5. ข้าวพื้นเมืองพันธุ์พญาชมไพรเมอร์ OPAA-14 สามารถสร้างลายพิมพ์ดีเอ็นเอได้ทั้งหมด 11 แถบ ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 350-3000 คู่เบส ประกอบด้วยแถบดีเอ็นเอขนาด 350, 500, 600, 750, 1000, 1200, 1400, 1500, 1700, 2000 และ 3000 คู่เบส

   การเกิดลายพิมพ์ดีเอ็นเอโดยใช้ไพรเมอร์ OPAA-14 สามารถสร้างแถบดีเอ็นเอที่นำมาวิเคราะห์แยกความแตกต่างของข้าวทั้ง 5 สายพันธุ์ได้ (ภาพที่ 4.11) จึงนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรม NTSYSpc v.2.21q และเลือกการจัดกลุ่มแบบ UPGMA เพื่อหาค่าดัชนีความเหมือน (ภาพที่ 4.12) ที่จะนำไปสร้างแผนภูมิความสัมพันธ์ (ภาพที่ 4.13) พบว่าข้าวทั้ง 5 สายพันธุ์ มีค่าดัชนีความเหมือนอยู่ที่ 0.52 – 0.87 หากพิจารณาความเหมือนของพันธ์ข้าวที่ค่า 0.61 หรือ 0.70 จะสามารถจำแนกสายพันธุ์ข้าวออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่ 1 ได้แก่ ข้าวฝาบาตร ข้าวเหลืองอ่อนและข้าวขาวหลวง 2) กลุ่มที่ 2 ได้แก่ ข้าวรากแห้ง และ 3) กลุ่มที่ 3 ได้แก่ ข้าวพญาชม

ฝาบาตร

รากแห้ง

เหลืองอ่อน

ขาวหลวง

พญาชม

ฝาบาตร

1

รากแห้ง

0.522

1

เหลืองอ่อน

0.783

0.652

1

ขาวหลวง

0.739

0.609

0.870

1

พญาชม

0.522

0.565

0.478

0.522

1

ภาพที่ 4.12 ค่าดัชนีความเหมือนของข้าวทั้ง 5 สายพันธุ์ จากการวิเคราะห์จากความต่างกันของลายพิมพ์ดีเอ็นเอ โดยมีค่าอยู่ที่ช่วง 0.52 – 0.87

ภาพที่ 4.13 แผนภาพแสดงความสัมพันธ์ของข้าวทั้ง 5 สายพันธุ์จากการทำลายพิมพ์ ดีเอ็นเอด้วยเทคนิค RAPD

3. การสำรวจวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

3.1 วิถีการปลูกข้าวในอู่ทอง

   อำเภออู่ทองมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 400,464 ไร่ แบ่งออกเป็นพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด 321,444 ไร่ และมีครอบครัวที่เป็นเกษตรกรจำนวน 23,552 ครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 80 ของประชากรทั้งหมด มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว อ้อย และข้าวโพด โดยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวพื้นเมืองส่วนใหญ่จะปลูกพืชไร่โดยเฉพาะอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจหลักแต่การปลูกข้าวพื้นเมืองเป็นการปลูกเพียงเพื่อการบริโภคเองในครัวเรือนเท่านั้น ปัจจุบันการปลูกข้าวในหลายพื้นที่ของอำเภออู่ทอง โดยเฉพาะข้าวนาปีในเขตตำบลบ้านโข้งประสบปัญหาเกี่ยวกับความแห้งแล้ง ขาดแคลนระบบชลประทาน จำเป็นต้องอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติในการเพาะปลูก รวมทั้งประสบปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนแรงงาน ด้วยเหตุนี้การเพาะปลูกข้าวในปัจจุบันจึงหันมานิยมใช้เทคโนโลยีและใช้วิธีการปลูกข้าวแบบหว่านแห้ง ซึ่งมีต้นทุนต่ำ ใช้แรงงานน้อย และไม่ต้องการน้ำในปริมาณมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกข้าวโดยวิธีการปักดำ หรือหว่านข้าวงอกในนาหว่านน้ำตม (ภาพที่ 4.14)

ภาพที่ 4.14 การปลูกข้าวของเกษตรกรในอำเภออู่ทอง

1.การเตรียมดินเพื่อหว่านเมล็ดพันธุ์ 

2.การหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยเครื่องทุ่นแรง 

3.การไถกลบเมล็ดพันธุ์ข้าว

   สำหรับการใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยว เกษตรกรส่วนใหญ่ในอำเภออู่ทองรู้จักปรับใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมต่อความต้องการและสภาพสังคมยุคปัจจุบัน ตั้งแต่เทคโนโลยีการเพาะปลูกที่มีการใช้รถไถทำการไถดะหรือการไถครั้งแรกเพื่อทำลายวัชพืชในแปลงนา และการหว่านเมล็ดของเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้เครื่องพ่นหว่านเมล็ดข้าวเพื่อความรวดเร็วและความสม่ำเสมอทั่วแปลงนาซึ่งจะทำให้ข้าวมีการเจริญเติบโตได้ดี ได้รับทั้งธาตุอาหารและแสงแดดอย่างทั่วถึง ดังนั้นการปลูกและการเพิ่มผลผลิตข้าวนั้น เกษตรกรในอู่ทองเป็นผู้มีความเข้าใจถึงการปฏิบัติที่ถูกต้อง ตั้งแต่การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว การเตรียมดิน การกำจัดศัตรูพืช ปริมาณปุ๋ยที่ใช้ รวมทั้งกระบวนการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในกระล่อม ซึ่งเป็นภาชนะที่สานจากไม้ไผ่ มีลักษณะเป็นทรงกระบอก ฉาบด้วยมูลสัตว์หรือดินเหนียว ด้านบนถูกปิดสนิทด้วยดินเหนียว สำหรับใส่ข้าวปลูก ป้องกันการกัดแทะของไก่ หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ (ภาพที่ 4.15)

ภาพที่ 4.15 การเก็บรักษาและการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก

ก. การเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกในกะล่อม

ข. การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกด้วยเครื่องสีฝัด

   เทคโนโลยีในปัจจุบันที่ถือได้ว่าเข้ามามีบทบาทอย่างมากและนับวันยิ่งมีบทบาทมากยิ่งขึ้นคือ เทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวข้าวด้วยรถเกี่ยวนวดข้าว (ภาพที่ 4.16) ซึ่งให้ความสะดวกและรวดเร็ว ถึงแม้จะมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากค่าเก็บเกี่ยวในอัตราไร่ละ 550-600 บาท จากความนิยมในการใช้รถเกี่ยวนวดข้าวทำให้การลงแขกเกี่ยวข้าว และการลงแขกนวดข้าว ซึ่งเป็นประเพณีไทยดั้งเดิมที่ดีงามเสริมสร้างความสามัคคี ความเอื้ออารีย์ต่อกันในชุมชนค่อยๆ จางหายไป

ภาพที่ 4.16 เทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวข้าวด้วยรถเกี่ยวนวดข้าว

ก. การเกี่ยวข้าวพื้นเมืองพันธุ์เหลืองอ่อนด้วยรถเกี่ยวนวดข้าว

ข. ลานตากข้าวของชุมชนบ้านเขากระจิว ตำบลบ้านโข้ง

   เป็นที่น่ายินดีที่เกษตรกรบางรายยังคงเลือกใช้การเก็บเกี่ยวข้าวด้วยเคียวอยู่ เนื่องจากมีความต้องการใช้ฟางข้าวสำหรับเลี้ยงวัว รวมทั้งเกษตรกรบางรายยังคงเก็บเกี่ยวข้าวด้วยเคียวเพื่อต้องการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับปลูกในฤดูกาลต่อไป ทำให้ภูมิปัญญาการเก็บเกี่ยวด้วยเคียว ภูมิปัญญาการทำลานตากข้าวด้วยมูลวัว ภูมิปัญญาการสงฟางข้าวซึ่งเป็นการคัดแยกฟางข้าวออกจากเมล็ด และภูมิปัญญาการจัดทำลอมฟางข้าวแบบดั้งเดิมที่มีความสวยงามยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่ในบางหมู่บ้านของอำเภออู่ทอง (ภาพที่ 4.17-4.19)

ภาพที่ 4.17 การเก็บเกี่ยวข้าว

ก. การเกี่ยวข้าวด้วยเคียว

ข. ภูมิปัญญาการใช้ม้ามัดข้าว

ภาพที่ 4.18 การลงแขกนวดข้าวด้วยเครื่องจักร

ภาพที่ 4.19 การสงฟางข้าวและการจัดทำลอมฟางข้าวสำหรับเลี้ยงวัว

3.2 พิธีการรับท้องข้าวในอู่ทอง

   การรับท้องข้าวเป็นประเพณีที่ทำสืบเนื่องต่อกันมาแต่โบราณ เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูระลึกถึงพระคุณของแม่โพสพ รวมทั้งสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับเกษตรกรและครอบครัว ด้วยการอัญเชิญแม่โพสพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในผืนนามารับอาหารคาวหวาน ผลไม้รสเปรี้ยว หมากพลู และเครื่องแต่งกาย โดยถือว่าแม่โพสพที่กำลังตั้งท้องเมื่อได้รับเครื่องเสวยจะได้มีเรี่ยวมีแรงออกลูกรวมไปถึงการดูแลเลี้ยงลูกเลี้ยงเต้า รวมทั้งขอให้พระภูมิเจ้าที่ช่วยปกปักรักษา คุ้มครอง ป้องกันภัยอันตรายที่มารบกวนแม่โพสพ ซึ่งมีขั้นตอนในพิธีดังนี้

เริ่มวางส้มสุก ลูกไม้ ของคาว ของหวาน ผูกสายสิญจน์ แล้วกล่าวดังนี้ “แม่โพสพ แม่โพศรี แม่จันเทวี แม่ศรีสุดา วันนี้เป็นวันดี ลูกมาเลี้ยงรับท้อง รับไส้ แพ้ท้อง แพ้ไส้ มากินส้มสุกลูกไม้ มาเด้อขวัญมา มาอยู่กับลูกกับเต้า”

จากนั้นก็ตัดสายสิญจน์แล้วผูกเข้ากับกอข้าว แล้วจึงจัดแจงแต่งเนื้อ แต่งตัว หวีผม ผัดหน้า ทาแป้ง มีขั้นตอนดังนี้ เริ่มด้วยทำพิธีการตัดผม หวีผม ใส่น้ำมันทาผม แล้วทาแป้งให้สะให้สวย เอากระจกมาส่อง “สวยหรือยัง แม่ดูซิ ตัดผมแล้ว ใส่น้ำมันแล้ว หวีแล้ว สวยแล้ว”

ต่อไปนุ่งผ้า ใส่เสื้อ แต่งเนื้อแต่งตัวให้สะให้สวย จากนั้นใช้ผ้าขาวม้าโบกพัดแล้วกล่าวคำว่า “ขวัญเอ๊ย ขวัญมา แม่โพสพ แม่โพศรี แม่จันเทวี แม่ศรีสุดา อยู่หัวไร่ ปลายนา ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศตะวันออก ขอให้แม่มามื้อนี้ วันนี้นะ มาเสวยส้มสุกลูกไม้”

จากนั้นยายก็นำผ้าขาวม้ามาพาดบ่าห่มแบบสไบ แล้วก้มกราบ 3 ครั้ง จึงกล่าวดังนี้ “สาธุ แม่โพสพ แม่โพศรี แม่จันเทวี แม่ศรีสุดา วันนี้เป็นวันดี วันขวัญของแม่ ลูกมาเลี้ยงรับท้อง รับไส้ ขอเชิญแม่มาเสวยส้มสุกลูกไม้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เอามาให้ แม่มาเสวยซะนะ ตั้งท้อง ตั้งไส้ จะได้มีเรี่ยวมีแรงออก ได้เลี้ยงลูกเลี้ยงเต้า”

แล้วจึงกล่าวต่อดังนี้ “ขอให้พระภูมิเจ้าที่ พระแม่ธรณี พระไชยมงคล เจ้าป่า                เจ้าดอน เจ้าห้วย เจ้าหนอง เจ้าคลองน้ำไหล วันนี้เป็นวันดี วันขวัญของแม่ ลูกมาเลี้ยงแม่โพสพ ก็ขอให้เจ้าที่ เจ้าทาง มาเสวยส้มสุกลูกไม้กับแม่โพสพ เชิญมาเสวยด้วยกัน จะได้ช่วยกันปกปักษ์ รักษา คุ้มครอง ป้องกันภัยอันตรายทั้งหลายทั้งสิ้น รักษาแม่โพสพด้วย ตั้งท้อง ตั้งไส้ อย่าให้ศัตรูหมู่ร้ายมารบ มากวน ให้แม่อยู่ดีสบาย ออกง่าย ออกดาย อย่าให้มีความเจ็บไข้ใดๆ ทั้งสิ้น จะได้เลี้ยงลูกเลี้ยงเต้า สาธุ”

จากนั้นก็ปล่อยให้พระแม่โพสพและพระภูมิเจ้าที่ได้เสวยส้มสุกลูกไม้ประมาณ 20 นาที แล้วกล่าวต่อดังนี้ “สาธุ เจ้าที่ เจ้าทาง เจ้าป่า เจ้าดอน เจ้าห้วย เจ้าหนอง เจ้าคลองน้ำไหล ขอฝากแม่โพสพให้ดูแลรักษา ปกครอง ปกป้องทุกสิ่งทุกอย่าง อย่าให้สิงสาราสัตว์ ศัตรูหมู่ร้าย มารบมากวน ดูแลแม่โพสพด้วย ลูกช้าง ลูกม้า ฝากแม่โพสพ เสวยแล้วก็ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข ขอให้อยู่ในนา และขอให้ลูกช้าง ลูกม้า อยู่เย็นเป็นสุข ทำมาค้าขึ้น ทำสิ่งใดก็ขอให้สมความมุ่งมั่นปรารถนา อย่าอึด อย่าอยาก อย่ายาก อย่าจน ให้ไหลมาเทมา เต็มนาเต็มไร่ ให้มั่งให้มีศรีสุขนะ พระแม่โพสพจ๋า ลูกขอลากลับก่อน ขอให้ได้รวงละหม้อ กอละถังนะ สาธุ”

ภาพที่ 4.20 พิธีการรับท้องข้าวพื้นเมืองในอู่ทอง

 

4. การประชุมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวพื้นเมืองในพื้นที่โครงการ
จากการประชุมเกษตรกร เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 ณ วัดเขากระจิว ตำบลบ้านโข้ง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพื้นเมืองได้ทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดเครือข่ายเกษตรผู้ปลูกข้าวพื้นเมือง เกิดการแลกเปลี่ยนสายพันธุ์ข้าวพื้นเมือง สร้างความยั่งยืนในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากความหลายหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในพื้นที่อำเภออู่ทองต่อไป ขณะที่วัตถุประสงค์รองเพื่อสรุปโครงการและเพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของข้อมูล ก่อนดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือสรุปองค์ความรู้เกี่ยวกับข้าวพื้นเมืองในอู่ทอง โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวพื้นเมืองเข้าร่วมประชุมจำนวน 16 คน คิดเป็นร้อยละ 66.67 ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวพื้นเมืองทั้งหมดในพื้นที่อำเภออู่ทอง ดังภาพที่ 4.21 โดยสรุปจากการประชุมถึงปัจจัยหลักที่ทำให้ข้าวพื้นเมืองคงอยู่ในพื้นที่อำเภออู่ทอง คือ 1) ลักษณะเด่นประจำพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เช่น สู้หญ้าได้ดี สู้น้ำ ทนแล้ง  ต้านทานโรค  ดูแลง่าย และ 2) ปลูกเพื่อรับประทานเองเนื่องจากเกษตรกรคุ้นชินกับรสชาติ ขณะที่ปัจจัยหลักที่ทำให้ข้าวพื้นเมืองสูญหายไปจากพื้นที่อำเภออู่ทอง คือ 1) ปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับกลไกการตลาดเป็นผู้กำหนดสายพันธุ์ข้าวที่จะปลูก 2) พฤติกรรมการบริโภคของคนรุ่นใหม่ที่นิยมบริโภคข้าวที่มีลักษณะนุ่ม และ 3) นโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวเศรษฐกิจตามความต้องการของตลาด

ภาพที่ 4.21 เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองในอำเภออู่ทอง

5. การสรุปองค์ความรู้ด้านความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง
ข้าวพื้นเมืองในเมืองไทยเคยมีมากมายนับหมื่นสายพันธุ์ แต่ปัจจุบันสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเหล่านั้นสูญหายไปมาก หลงเหลืออยู่ไม่กี่พันสายพันธุ์เท่านั้น สืบเนื่องมาจากเกษตรกรหันมาปลูกพันธุ์ข้าวที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ตามความต้องการของพ่อค้าข้าวและผู้บริโภค ในส่วนของอำเภออู่ทองซึ่งมีศูนย์การศึกษาอู่ทองทวารวดี ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาตั้งอยู่นั้น แต่เดิมเคยมีข้าวพื้นเมืองราว 20 สายพันธุ์ แต่จากรายงานการสำรวจในปี พ.ศ. 2558 ของทีมสำรวจจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พบว่าอำเภออู่ทองมีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองหลงเหลืออยู่เพียง 5 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่งที่ข้าวพันธุ์พื้นเมืองซึ่งเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าของท้องถิ่น มีความเสี่ยงที่จะสูญสิ้นไปจากพื้นที่อำเภออู่ทอง ทีมผู้สำรวจจึงได้รวบรวมสายพันธุ์ข้าวที่มีอยู่เพื่อการอนุรักษ์และเผยแพร่ต่อไป หนังสือ “พันธุ์ข้าวพื้นเมืองในอู่ทอง” เล่มนี้ เป็นการถ่ายทอดผลงานการวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง “ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในพื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี” ของทีมสำรวจซึ่งเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อเผยแพร่ผลการสำรวจเพื่อการอนุรักษ์โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักบริหารโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

ภาพที่ 4.22 หนังสือข้าวพื้นเมืองในอู่ทอง


 

บทที่ 5

สรุปผลและอภิปรายผลการวิจัย

5.1 สรุปการวิจัย

   ข้าวพันธุ์พื้นเมืองในเขตอำเภออู่ทองที่สำรวจพบมีอยู่ 5 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ฝาบาตร รากแห้ง เหลืองอ่อน ขาวหลวง และพญาชม นำข้าวทั้งหมดมาศึกษาความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมโดยใช้ไพรเมอร์ 3 ชนิด ทำให้สามารถจำแนกข้าวออกเป็นสามกลุ่มที่มีความแตกต่างกัน โดยพิจารณาจากค่าสัมประสิทธิ์ความเหมือนที่ 0.52–0.87 ซึ่งเทคนิค RAPD มีประสิทธิภาพในการนำมาศึกษาความแตกต่างทางพันธุกรรมของข้าวพื้นเมืองได้และประหยัดค่าใช้จ่ายในขั้นตอนการดำเนินการทดลองวิจัย

5.2 อภิปรายผล

   จากการสำรวจความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ในฤดูการเพาะปลูก 2557/2558 ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 13 ตำบล พบว่า ในพื้นที่อำเภออู่ทองมีเกษตรกรที่ยังคงปลูกข้าวพื้นเมืองเหลืออยู่เพียง 24 ราย กระจายอยู่ใน 2 ตำบล คือ ตำบลบ้านโข้ง และตำบลจรเข้สามพัน ในขณะที่ตำบลอื่นๆ อีก 11 ตำบล ไม่พบการปลูกข้าวพื้นเมือง ทั้งนี้เนื่องจาก 11 ตำบลดังกล่าวอยู่ในเขตชลประทาน เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมเพาะปลูกข้าวนาปรังที่สามารถเพาะปลูกได้ตลอดปี อีกทั้งบางพื้นที่ในฤดูน้ำหลากจะมีน้ำท่วมขังยาวนาน ได้แก่ พื้นที่ในเขตตำบลหนองโอ่ง ตำบลเจดีย์ และตำบลบ้านดอน ไม่พบการปลูกข้าวขึ้นน้ำแต่เกษตรกรจะปลูกข้าวนาปรังในฤดูแล้งทดแทน โดยมีรายงานเมื่อปี 2543 อำเภออู่ทองมีพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำจำนวนทั้งหมด 3 สายพันธุ์คือ ขาวยาว (06926) ปลายเหลือง (06917) และเหลืองสังขละ (21342) (ฉวีวรรณ วุฒิญาโณ, 2543) แต่ปัจจุบันไม่พบการคงอยู่ของข้าวขึ้นน้ำทั้ง 3 สายพันธุ์ ทั้งนี้เนื่องจากข้าวขึ้นน้ำต้องใช้ระยะการปลูกที่ยาวนาน

   ดังนั้นในปัจจุบันฤดูการเพาะปลูก 2557/2558 พื้นที่อำเภออู่ทองจึงพบพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเพียง 5 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ฝาบาตร รากแห้ง เหลืองอ่อน ขาวหลวง และพญาชม ซึ่งสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองทั้งหมดไม่พบการคงอยู่ตามรายงานของ ฉวีวรรณ วุฒิญาโณ (2543) ที่รายงานข้าวเจ้านาสวนในพื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวนทั้งสิ้น 5 สายพันธุ์ ประกอบด้วย พันธุ์ขาวประจวบ (06899) ข้าวหวัด (03749) จุดมอญ (06870) นครพนม (21341) และน้ำลาด (06898)

   โดยพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกมากที่สุดคือ พันธุ์รากแห้ง เนื่องจากพันธุ์รากแห้งมีลักษณะเด่นประจำพันธุ์ ได้แก่ เจริญเติบโตได้ดีในสภาพพื้นที่ดอน ทนแล้ง ต้องการน้ำน้อย             ลำต้นสูงและแข็งซึ่งทนต่อการหักล้ม สู้หญ้าและวัชพืชอื่นๆ ได้ดี และน้ำหนักดี  ส่วนพันธุ์เหลืองอ่อน พันธุ์ขาวหลวง และพันธุ์พญาชม ที่ยังพบการปลูกเนื่องจากพื้นที่นาของเกษตรกรบางรายมีลักษณะเป็นที่ลุ่มมีน้ำขัง ซึ่งข้าวทั้ง 3 สายพันธุ์สามารถเจริญได้ดีในพื้นที่ลุ่ม ลำต้นสูง หนีหญ้าได้ดี ดูแลง่าย น้ำหนักดี และผลผลิตสูง  ขณะที่พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ปลูกเพียงครอบครัวเดียวเท่านั้นและปลูกเพื่อบริโภคเองในครอบครัว คือพันธุ์ฝาบาตรซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเบาเมื่อปลูกแล้วได้รับประทานและได้ใส่บาตรก่อนข้าวพันธุ์อื่นๆ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “ข้าวพันธุ์ฝาบาตร” โดยลักษณะด้อยของพันธุ์ฝาบาตรคือ เมล็ดสั้น และผลผลิตต่ำ เพียง 40 ถังต่อพื้นที่เพาะปลูก 5 ไร่ จึงเป็นสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการหายไปจากพื้นที่อำเภออู่ทอง นอกจากนี้ปัญหาหลักของการลดลงของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในพื้นที่อำเภออู่ทอง คือ เกษตรกรนิยมเพาะปลูกข้าวหอมมะลิเนื่องจากขายง่าย และได้ราคาดี จึงมีผลโดยตรงต่อการตัดสินใจปลูกข้าวพื้นเมืองของเกษตรกร ดังนั้นปัจจัยหลักที่ทำให้ข้าวพื้นเมืองคงอยู่ในพื้นที่อำเภออู่ทอง คือ 1) ลักษณะเด่นประจำพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เช่น  สู้หญ้าได้ดี  สู้น้ำ  ทนแล้ง  ต้านทานโรค  ดูแลง่าย และ 2) ปลูกเพื่อรับประทานเอง ส่วนปัจจัยหลักที่ทำให้ข้าวพื้นเมืองสูญหายไปจากพื้นที่อำเภออู่ทอง คือ 1) ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ 2) พฤติกรรมการบริโภคของคนรุ่นใหม่ และ 3) นโยบายรัฐบาล

   การศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของข้าวพันธุ์พื้นเมืองโดยใช้เทคนิค RAPD สามารถทำให้จำแนกข้าวออกเป็น 3 กลุ่ม โดยที่ข้าวสายพันธุ์พญาชมมีลักษณะที่แตกต่างทางด้านพันธุกรรมจากข้าวชนิดอื่น ซึ่งพิจารณาจากค่าดัชนีความเหมือนที่ 0.70 ผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่าการจำแนกสายพันธุ์ข้าวด้วยการศึกษาความเหมือนหรือต่างกันทางพันธุกรรมโดยใช้เทคนิค RAPD สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว เช่นเดียวกับผลการวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของข้าวด้วยเทคนิค RAPD ดังเช่น การศึกษาพันธุกรรมของข้าวและข้าวปรับปรุงพันธุ์ (Tehrim et al., 2012) การศึกษาลักษณะพันธุกรรมของข้าวทนเค็ม (Kanawapee et al., 2011) และการศึกษาการแปรผันทางพันธุกรรมของข้าว (Kumar  et al., 2014) เป็นต้น

ข้อเสนอแนะ

จัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในพื้นที่อำเภออู่ทอง
ควรมีการจัดทำแหล่งเรียนรู้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองในพื้นที่โครงการ
ควรมีการต่อยอดภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากข้าวเพื่อประโยชน์ทางการพานิชย์

ผลผลิตที่เกิดขึ้นในช่วงที่ได้รับทุน

บทความวิจัย
หนังสือ…….1………..เล่ม ได้แก่
เรื่อง ข้าวพื้นเมืองในอู่ทอง
วิชัย ปทุมชาติพัฒน์, จรัญ ประจันบาล, สถิตย์ พันวิไล และพิชาภพ ปรีเปรม. (2559). ข้าวพื้นเมืองในอู่ทอง. นนทบุรี: วนิดาการพิมพ์.


 

บรรณานุกรม

 

Arif, I.A., Bakir, M.A., Khan, H.A., Al Farhan, A.H., Al Homaidan, A.A., Bahkali, A.H., Al Sadoon, M. and Shobrak, M. (2010). A Brief Review of Molecular Technique to Assess Plant Diversity. Int. J. Mol. Sci. 11, 2079-2096.

Asia BioBusiness. (2006). Potential world markets for innovative rice businesses in Thailand. Final report prepared for the National Innovation Agency, Thailand. Asia BioBusiness Pte Ltd, Singapore.

Bao, J., Corke, H. and Sun, M. (2006). Analysis of genetic diversity and relationships in waxy rice (Oryza sativa L.) using AFLP and ISSR markers. Genet. Resour. Crop Ev. 53, 323-330.

Hossain, M. and Narciso, J. (2004). Global rice economy: Long-term perspectives. Proceedings of the FAO Rice Conference, Rice in Global Markets. pp 4-7. FAO, Rome, Italy.

Kanawapee, N., Sanitchon, J., Srihaban, P. and Theerakulpisut, P. (2011). Genetic diversity analysis of rice cultivars (Oryza sativa L.) differing in salinity tolerance on based on RAPD and SSR markers. Elec J Biotechnol. 14(6), 1-17.

Korzun, V. (2002). Use of molecular markers in cereal breeding. Cell. Mol. Biol. Lett. 7, 811-820.

Kumar, R., Mahalwar, P., Sirohi, R., Jethuri, K. and Kumar, V. (2014). Study on Genetic Variability in Basmati and Non-basmati Rice (Oryza sativa L.) Using RAPD Marker. Agric Sci Digest. 34(3), 203-206.

Martos, V., Royo, C., Rharrabti, Y. and Garcia del Moral, L.F. (2005). Using AFLPs to determine phylogenetic relationships and genetic erosion in durum wheat cultivars released in Italy and Spain throughout the 20th century. Field Crops Res. 91, 107-116.

Mondini, L., Noorani, A. and Pagnotta, M.A. (2009). Assessing plant genetic diversity by molecular tools. Diversity. 1, 19-35.

Prashanth, S.R., Parani, M., Mohanty, B.P., Talame, V., Tuberosa, R. and Parida, A. (2002). Genetic diversity in cultivars and landraces of Oryza sativa subsp. indica as revealed by AFLP markers. Genome. 45, 451-459.

Rahman, M.M., Rasaul, M.G., Hossain, M.A., Iftekharuddaula, K.M. and Hasegawa, H. (2012). Molecular characterization and genetic diversity analysis of rice (Oryza sativa L.) using SSR markers. Journal of Crop Improvement. 26, 244-257.

Rajkumar, G., Jagathpriya, W., Kumudu, F., Liyanage, A. and Silva, R. (2011). Genetic differentiation among Sri Lankan traditional rice (Oryza sativa L.) varieties and wild rice species by AFLP markers. Nord. J. Bot. 29, 238-243.

Rohlf, F.J. (2002). NTSYSpc Numerical Taxonomy and Multivariate Analysis System. Applied Biostatistics, Inc., New York.

Seetharam, K., Thirumeni, S. and Paramasivam, K. (2009). Estimation of genetic diversity in rice (Oryza sativa L.) genotypes using SSR markers and morphological characters. Afr. J. Biotechnol. 8, 2050-2059.

Tehrim, S., Pervaiz Z.H. and Rabbani, M.A. (2012). Molecular characterization of traditional and improved rice cultivars based on random amplified polymorphic DNAs (RAPDs) markers. Afr J Biotechnol. 11(45), 10297-10304.

Vanichanont, P. (2004). Thai rice: Sustainable life for rice growers. Proceedings of the FAO Rice Conference, Rice in Global Markets. pp 113-117. FAO, Rome, Italy.

Williams, J.G., Kubelik, A.R., Livak, K.J., Rafalski, J.A. and Tingey, S.V. (1990). DNA polymorphisms amplified by arbitrary primers are useful as genetic markers. Nucleic Acids Res. 18(22), 6531-6535.

กรมการข้าว. (2558). สถานการณ์การผลิตและการตลาดข้าวของโลก ปีการผลิต 2558/2559. แหล่งที่มา : http://www.ricethailand.go.th/home/images/november58. pdf, 4 มิถุนายน 2559.

กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2551). ยุทธศาสตร์ข้าวไทยปี 2550-2554. แหล่งที่มา : http://www.oknation.net/blog/print.php?id=278798, 14 สิงหาคม 2554.

จุฑาพร แสงประจักษ์. (2555). การใช้เครื่องหมายดีเอ็นเอสำหรับศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมและการปรับปรุงพันธุ์ข้าว. แก่นเกษตร. 40 : 299-308.

ฉวีวรรณ วุฒิญาโณ. (2543). พันธุ์ข้าวพื้นเมืองไทย. ศูนย์ปฎิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี สถาบันวิจัยข้าว. กรุงเทพมหานคร. 215 หน้า

ประพาส วีระแพทย์. (2555). ความรู้เบื้องต้นเรื่องข้าว. สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว, กรมการข้าว. กรุงเทพมหานคร. 106 หน้า

สรพงศ์ เบญจศรี. (2554). เครื่องหมายโมเลกลุสำหรับการปรับปรุงพันธุ์พืช. วารสารวิทยาศาสตร์ มข. 39:350-363.

เสถียร ฉันทะ. (2558). แบบบันทึกลักษณะประจำพันธุ์ข้าว. การประชุมเชิงปฏิบัติการการสร้างเครื่องมือวิจัยกลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพ “ชุดโครงการข้าวพื้นเมือง”. 10-11 กุมภาพันธ์ 2558 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย.

สุปราณี สิทธิพรหม. (2557). โครงการวิจัยเรื่อง ความหลากหลายทางพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย. คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย

สุรีพร เกตุงาม. (2546). เครื่องหมายดีเอ็นเอในงานปรับปรุงพันธุ์พืช. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. 5:37-59.

อิงออน สีแก้ว. (2554). การค้นหายีนที่ควบคุมลักษณะความต้านทานต่อเชื้อราโรคไหม้ของข้าวพันธุ์พื้นเมืองไทยโดยการใช้เครื่องหมายดีเอ็นเอ. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

เอกสงวน ชูวิสิฐกุล. (2544). เทคโนโลยีการผลิตข้าวพันธุ์ดี. สถาบันวิจัยข้าว, กรมวิชาการเกษตร. กรุงเทพมหานคร. 137 หน้า


 

ประวัตินักวิจัยและคณะ พร้อมหน่วยงานที่สังกัด

1. ประวัติหัวหน้าโครงการวิจัย

ชื่อ-สกุล นายวิชัย ปทุมชาติพัฒน์
Mr.Wichai Patumchartpat

ตำแหน่งปัจจุบัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์

หน่วยงานที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้สะดวก
สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โทรศัพท์มือถือ 081-8035101

ประวัติการศึกษา
วิทยาศาสตรบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2514
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2521

สาขาวิชาการที่มีความชำนาญพิเศษ การเกษตร  พืชสวน และการจำแนกชนิดพรรณไม้
ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานวิจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ

งานวิจัยที่ทำเสร็จแล้ว :

วิชัย ปทุมชาติพัฒน์ จรัญ ประจันบาล สถิตย์ พันวิไล และพิชาภพ ปรีเปรม. (2559). พันธุ์ข้าวพื้นเมืองในอู่ทอง. นนทบุรี: วนิดาการพิมพ์.

วิชัย ปทุมชาติพัฒน์ จรัญ ประจันบาล และพิชาภพ ปรีเปรม. (2558). พรรณไม้ในอู่ทอง. นนทบุรี: วนิดาการพิมพ์.

จรัญ ประจันบาล วิชัย ปทุมชาติพัฒน์ สาธิต โกวิทวที และพิชาภพ ปรีเปรม. (2557). ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. นนทบุรี: วนิดาการพิมพ์.

วิชัย ปทุมชาติพัฒน์ มนธิดา สีตะธนี และพิสัณฑ์ คำวัง. 2552. พรรณไม้ในวัด. พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. ปทุมธานี.

โครงการสำรวจรวบรวมข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพระดับท้องถิ่น ปีงบประมาณ 2551 กลุ่มป่าแก่งกระจาน (จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์) แหล่งทุนสนับสนุน สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

วิชัย ปทุมชาติพัฒน์. 2550. ไม้ดอกไม้ประดับ. มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

วิชัย ปทุมชาติพัฒน์. 2549. หลักการไม้ผล. มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

วิชัย ปทุมชาติพัฒน์ และศรีสุดา ไชยพยอม. 2545. อัมพวา. วารสารก้าวทันโลกวิทยาศาสตร์. 2(2): 31-35.

วิชัย ปทุมชาติพัฒน์. 2544. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในประเทศไทย. วารสารก้าวทันโลกวิทยาศาสตร์. 1(1): 51-63.

งานวิจัยที่กำลังทำ :

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยชุมชนมีส่วนร่วม : กรณีศึกษาป่าชุมชนบ้านศรีสรรเพชญ์

ความหลากหลายของจุลินทรีย์ในดินจากพื้นที่ป่าชุมชนบ้านศรีสรรเพชญ์ที่มีความสามารถในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช


1. ประวัติผู้ร่วมวิจัย

ชื่อ – สกุล นายจรัญ  ประจันบาล
Mr.Jaran Prajanban

ตำแหน่งปัจจุบัน
อาจารย์

หน่วยงานที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้สะดวก
สาขาวิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เลขที่ 1061 ถนนอิสรภาพ แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600

โทรศัพท์มือถือ 08-5098-4588 E-mail: [email protected]

ประวัติการศึกษา
วิทยาศาสตรบัณฑิต (ชีววิทยาประยุกต์) สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พ.ศ. 2546
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (จุลชีววิทยา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2551

สาขาวิชาการที่มีความชำนาญพิเศษ
จุลชีววิทยาทางการเกษตร

ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานวิจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ

Jaran Prajanban, Cholnicha Thongkhib and Vichien Kitpreechavanich. 2008. Selection of High β-Glucanase Produced Aspergillus Strain and Factors Affecting the Enzyme Production in Solid State Fermentation. Kasetsart J. (Nat. Sci.). 42 : 294 – 299.

Prajanban, J., S. Suthirawut and V. Kitpreechavanich. 2008. Optimization of β-glucanase production by Aspergillus terreus ASKU10 in solid state fermentation using response surface methodology pp 120-127 In The Proceeding of 46th Kasetsart University Annual Conference (Science). Kasetsart University. Bangkok.

จรัญ ประจันบาล สถิตย์ พันวิไล และวันทนี สว่างอารมณ์. (2559). การควบคุมโรคกล้าแห้งของต้นอ่อนข้าวหอมมะลิ 105 โดยชีววิธี. วารสารหน่วยวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้, 7(1), 1-13.

วิชัย ปทุมชาติพัฒน์ จรัญ ประจันบาล สถิตย์ พันวิไล และพิชาภพ ปรีเปรม. (2559). พันธุ์ข้าวพื้นเมืองในอู่ทอง. นนทบุรี: วนิดาการพิมพ์.

วิชัย ปทุมชาติพัฒน์ จรัญ ประจันบาล และพิชาภพ ปรีเปรม. (2558). พรรณไม้ในอู่ทอง. นนทบุรี: วนิดาการพิมพ์.

จรัญ ประจันบาล วิชัย ปทุมชาติพัฒน์ สาธิต โกวิทวที และพิชาภพ ปรีเปรม. (2557). ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. นนทบุรี: วนิดาการพิมพ์.

จรัญ ประจันบาล, สุรางค์ สุธิราวุธ และวิเชียร กิจปรีชาวนิช. 2552. การใช้ Bacillus ที่ส่งเสริมการเติบโตร่วมกับฟางข้าวหมักเพื่อการปลูกข้าวโพดฝักอ่อน. วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร. 40 (1): 117-126.

โครงการสำรวจรวบรวมข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพระดับท้องถิ่น ปีงบประมาณ 2551 กลุ่มป่าแก่งกระจาน (จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์) แหล่งทุนสนับสนุน สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

งานวิจัยที่กำลังทำ :

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยชุมชนมีส่วนร่วม : กรณีศึกษาป่าชุมชนบ้านศรีสรรเพชญ์

ความหลากหลายของจุลินทรีย์ในดินจากพื้นที่ป่าชุมชนบ้านศรีสรรเพชญ์ที่มีความสามารถในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช


2. ประวัติผู้ร่วมวิจัย

ชื่อ – สกุล นายสถิตย์ พันวิไล
Mr.sathit panvilai

ตำแหน่งปัจจุบัน
อาจารย์

หน่วยงานที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้สะดวก
สาขาวิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เลขที่ 1061 ถนนอิสรภาพ แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600

โทรศัพท์มือถือ 08-9173-8239 E-mail: [email protected]

ประวัติการศึกษา
วิทยาศาสตรบัณฑิต (ชีววิทยาประยุกต์) สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พ.ศ. 2547
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (จุลชีววิทยา) มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2557

สาขาวิชาการที่มีความชำนาญพิเศษ
ชีววิทยาโมเลกุล (Molecular biology)

ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานวิจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ

Sathit Panvilai, Radeekorn Akkarawongsapat. Establishment of HIV-1 Env-mediated cell-cell fusion assay using a green fluorescent protein from copepod Pontellina plumata. The 40th Congress on Science and Technology of Thailand. December 2-4, 2014. Khon Kean, Thailand.

จรัญ ประจันบาล สถิตย์ พันวิไล และวันทนี สว่างอารมณ์. (2559). การควบคุมโรคกล้าแห้งของต้นอ่อนข้าวหอมมะลิ 105 โดยชีววิธี. วารสารหน่วยวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้, 7(1), 1-13.

วิชัย ปทุมชาติพัฒน์ จรัญ ประจันบาล สถิตย์ พันวิไล และพิชาภพ ปรีเปรม. (2559). พันธุ์ข้าวพื้นเมืองในอู่ทอง. นนทบุรี: วนิดาการพิมพ์.

งานวิจัยที่กำลังทำ :

Development of a cell-based fluorescence assay for human immunodeficiency virus type 1 (HIV-1) membrane fusion activity.

คุณสมบัติการต้านไวรัสเอชไอวี 1 ของสารสกัดพืชสมุนไพรในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านศรีสรรเพชญ์ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี.


3. ประวัติผู้ร่วมวิจัย

ชื่อ-สกุล นายสาธิต โกวิทวที
Mr.Satit Kovitvadhi

ตำแหน่งปัจจุบัน
รองศาสตราจารย์

หน่วยงานที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้สะดวก
สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โทรศัพท์มือถือ 081-9910645  E-mail: [email protected]

ประวัติการศึกษา
วิทยาศาสตรบัณฑิต (ชีววิทยา) มหาวิทยาลัยรามคำแหง  พ.ศ. 2524
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สัตววิทยา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  พ.ศ. 2528
Ph.D. (Aquatic Science) University of Porto  พ.ศ. 2551

สาขาวิชาการที่มีความชำนาญพิเศษ
อนุกรมวิธานของสัตว์และแพลงก์ตอน การเลี้ยงหอยมุกน้ำจืด

ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานวิจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ
งานวิจัยที่ทำเสร็จแล้ว :

S. Kovitvadhi, U. Kovitvadhi, P. Swangwong, P. Trisaranuwatana and J. Machado. 2009. Morphometric relationship of weight and size of cultured freshwater pearl mussel, Hyriopsis (Limnoscapha) myersiana, under laboratory conditions and earthen pond phases. Aquaculture International 17: 57-67.

Preeprem P., Chaivaree S., Kovitvadhi S. 2011. Efficiency of ammonia nitrogen removal by Limnophila heterophylla (Roxb.) Benth, Hydrilla verticillata (L.F.) Royle and Egeria densa Planch. The 37th Congress of Science and Technology of Thailand (STT 37), Bangkok. 307-308 p.

Karun Thongprajukaew, Uthaiwan Kovitvadhi, Satit Kovitvadhi, Pisamai Somsueb, Krisna Rungruangsak-Torrissen. 2011. Effects of different modified diets on growth, digestive enzyme activities and muscle compositions in juvenile Siamese fighting fish (Betta splendens Regan, 1910). Aquaculture 322-323 (2011) 1–9

Pramote Chumnanpuen, Uthaiwan Kovitvadhi, Kannika Chatchavalvanich, Amara Thongpan, Satit Kovitvadhi. 2011. Morphological development of glochidia in artificial media through early juvenile of freshwater pearl mussel, Hyriopsis (Hyriopsis) bialatus Simpson, 1900. Invertebrate Reproduction & Development 55(1) 40–52.

S. Tantiwisawaruji, K. Chatchavalvanich, U. Kovitvadhi, A. Thongpan, S. Kovitvadhi. 2011. Histological Structure of the Digestive Tract of the Freshwater Pearl Mussel Hyriopsis (Hyriopsis) bialatus (Bivalvia: Unionidae). Thai Journal of Agricultural Science 44(1) 1-10.

Paula Lima, Manuel Lopes Lima, Uthaiwan Kovitvadhi, Satit Kovitvadhi, Christopher Owen, Jorge Machado. 2012. A review on the ‘‘in vitro’’ culture of freshwater mussels (Unionoida) Hydrobiologia. DOI10.1007/ s10750-012-1078-0.

Sasimanas Unajak, Piyachat Meesawat, Atchara Paemanee, Nontawith Areechon, Arunee Engkagul, Uthaiwan Kovitvadhi, Satit Kovitvadhi, Krisna Rungruangsak-Torrissen, Kiattawee Choowongkomon. 2012. Characterisation of thermostable trypsin and determination of trypsin isozymes from intestine of Nile tilapia (Oreochromis niloticus L.). Food Chemistry 134 (2012) 1533–1541.

Karun Thongprajukaew, Satit Kovitvadhi, Uthaiwan Kovitvadhi, Krisna Rungruangsak-Torrissen. 2012. Pigment deposition and in vitro screening of natural pigment sources for enhancing pigmentation in male Siamese fighting fish (Betta splendens Regan, 1910). Aquaculture Research, 2012, 1–11.

Satit Kovitvadhi, Uthaiwan Kovitvadhi. 2013. Effects of rearing density and sub-sand filters on growth performance of juvenile freshwater mussels (Chamberlainia hainesiana) reared under recirculating system conditions. Science Asia 39: 139-149.


4. ประวัติผู้ร่วมวิจัย

ชื่อ-สกุล นางสาวปณิตา แจ้ดนาลาว
Miss Panita Chaetnalao

ตำแหน่งปัจจุบัน
อาจารย์

หน่วยงานที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้สะดวก
สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์  คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โทรศัพท์ 081-9056832  Email: [email protected]

ประวัติการศึกษา
บริหารธุรกิจบัณฑิต (การเงินและการธนาคาร) มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2542
บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) มหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. 2548
บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (การเงินและการธนาคาร) มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2552

สาขาวิชาการที่มีความชำนาญพิเศษ
บริหารธุรกิจ

ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานวิจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ปณิตา แจ้ดนาลาว. 2548. คุณลักษณะผู้นำที่พึงประสงค์ กรณีศึกษาความคิดเห็นของสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์

ปณิตา แจ้ดนาลาว. 2552. ปัจจัยในการเลือกมหาวิทยาลัยของนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ศูนย์ให้การศึกษาวิทยาลัยพลศึกษา จังหวัดสุพรรณบุรี

ผู้ร่วมวิจัย การประเมินผลโครงการสหกิจศึกษาวิทยาลัยราชพฤกษ์ สาขาการตลาดทุนอุดหนุนการวิจัยทางวิชาการ วิทยาลัยราชพฤกษ์

คณะที่ปรึกษา โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ลาวเวียงแห่งประเทศไทย ตำบลดอนคา จังหวัดสุพรรณบุรี


5. ประวัติผู้ร่วมวิจัย

ชื่อ-สกุล นายจารุกิตติ์ ดิษสระ
Mr. Jarukitt Ditsara

ตำแหน่งปัจจุบัน
อาจารย์

หน่วยงานที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้สะดวก
สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  โทรศัพท์ 087-9736301  Email: [email protected]

ประวัติการศึกษา
วิทยาศาสตรบัณฑิต (วิทยาการคอมพิวเตอร์) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พ.ศ. 2551

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พ.ศ. 2553

สาขาวิชาการที่มีความชำนาญพิเศษ
ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานวิจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ