Tag Archives: กุลนิษก์ สอนวิทย์

การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยทฤษฎีคิดนอกกรอบของเดอโบโนในวิชาออกแบบเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนิสิตนักศึกษา สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ ระดับปริญญาบัณฑิต

การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยทฤษฎีคิดนอกกรอบของเดอโบโนในวิชาออกแบบเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนิสิตนักศึกษา สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ ระดับปริญญาบัณฑิต

นางสาวกุลนิษก์ สอนวิทย์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : คำสำคัญ : รูปแบบการเรียนการสอน การคิดนอกกรอบ กระบวนการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์

ความคิดสร้างสรรค์ เป็นปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ เพราะหากประชากรมีความคิดสร้างสรรค์ จะทำให้มีความกล้าในการจินตนาการ สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่แปลกใหม่ ความคิดสร้างสรรค์จึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะบทบาทในการทำให้เกิดการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์เพื่อนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิชาการ จากรายงานการวิจัยเกี่ยวกับความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ พบว่า ภาพอนาคตคนไทยที่พึงประสงค์ คือ เป็นคนที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรม และควรเตรียมคนในสองทศวรรษหน้าให้เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ ทักษะและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในอาชีพอย่างจริงจัง โดยผ่านกระบวนการเรียนการสอนในทุกระดับชั้น

แต่จากการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง ความคิดสร้างสรรค์กับการพัฒนาประเทศ พบว่าประเทศไทยยังขาดแคลนบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะคนไทยไม่ชอบคิดนอกกรอบชอบเลียนแบบคนอื่น ไม่มีคนสนับสนุนและต่อยอดทางความคิด รวมทั้งผลการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา สถานศึกษาที่สามารถจัดการเรียนการสอน โดยมีผลการประเมินที่อยู่ในระดับดี ในเรื่องมีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ มีเพียงร้อยละ ๑๐.๐๔ สอดคล้องกับผลการวิจัยที่พบว่า ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน จากปัญหาดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการพัฒนาความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน ดังนั้นควรจัดการเรียนการสอนให้เอื้ออำนวยต่อการแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการในทุกๆ ด้าน

ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากความสามารถในการคิดนอกกรอบของความคิดเดิม ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหา สอดคล้องกับผลการวิจัยที่พบว่า การนำเทคนิคการคิดนอกกรอบมาใช้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน จะช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนให้สูงขึ้นได้ แสดงให้เห็นว่าการจัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้ฝึกทักษะทางด้านการคิดด้วยเทคนิคการคิดนอกกรอบจะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี ซึ่งในการเรียนการสอนด้านการออกแบบ ผู้เรียนต้องใช้ความสามารถในการคิดเพื่อสร้างสรรค์ผลงาน โดยอาศัยหลักการหรือทฤษฎีการออกแบบและกระบวนการออกแบบ ผู้วิจัยเห็นว่า การฝึกให้ผู้เรียนมีทักษะในการคิดนอกกรอบ โดยนำมาใช้ในขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูล จะช่วยให้ผู้เรียนเห็นมุมมองที่แตกต่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวคิดที่แปลกใหม่มีความหลากหลาย ส่งผลให้ผู้เรียนสามารถสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น ผู้วิจัยจึงสนใจเพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการการเรียนรู้ด้วยทฤษฎีการคิดนอกกรอบของเดอ โบโน ในวิชาการออกแบบเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้ได้รูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับระดับอุดมศึกษา สามารถนำไปใช้ได้จริงและเป็นต้นแบบสำหรับวิชาอื่นๆ ในการนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : สามารถสรุปสาระสำคัญได้จากการดำเนินการวิจัย เริ่มต้นตั้งแต่ :

วิธีดำเนินการวิจัย

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเพื่อพัฒนา (Research and Development) มุ่งพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยทฤษฎีการคิดนอกกรอบของเดอ โบโน ในวิชาการออกแบบเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ มีขั้นตอนการดำเนินการวิจัยดังนี้

๑. การศึกษาแนวคิด ทฤษฎีและหลักการที่เกี่ยวข้อง

๑.๑ ผู้วิจัยวิเคราะห์แนวคิด ทฤษฎีและหลักการที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการสร้างรูปแบบ

๑.๒ ผู้วิจัยสังเคราะห์รูปแบบการเรียนการสอนของนักวิชาการ เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนดังกล่าว

๒. การออกแบบรูปแบบการสอนฯ

๒.๑ ผู้วิจัยนำแนวทางที่ได้จากการวิเคราะห์แนวคิด ทฤษฎี หลักการที่เกี่ยวข้องและการสังเคราะห์รูปแบบการเรียนการสอน มากำหนดเป็นองค์ประกอบของรูปแบบการเรียนการสอนดังกล่าว

๒.๒ ผู้วิจัยแบบแบบประเมินรูปแบบการเรียนการสอนดังกล่าว

๒.๓ ผู้วิจัยนำรูปแบบการเรียนการสอน (ต้นแบบ) ที่พัฒนาขึ้นไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๕ ท่าน ประเมินความสอดคล้อง/ความเหมาะสมของรูปแบบ ซึ่งผลการประเมินอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม โดยความสอดคล้องมี ค่า IOC = ๐.๘๔ และความเหมาะสมมีค่า IOC = ๐.๘๔

๒.๔ ผู้วิจัยนำผลการประเมินรูปแบบการเรียนการสอนจากผู้ทรงคุณวุฒิมาปรับปรุงแก้ไข ซึ่งได้รูปแบบที่เหมาะสมดังนี้

หลักการ

          รูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยทฤษฎีการคิดนอกกรอบของเดอ โบโน ในวิชาการออกแบบเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ มีหลักสำคัญ ๔ ประการ ในการจัดการเรียนการสอนดังนี้

          ๑. ทฤษฎีการคิดนอกกรอบ กระบวนการขั้นพื้นฐานของการคิดนอกกรอบ คือ การหลีกหนีจากความคิดเดิมและการกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ เทคนิคการคิดนอกกรอบแบบการเปลี่ยนแปลงจากภายใน ต้องอาศัยการวิเคราะห์ภายในมโนทัศน์นั้นๆ เพื่อให้เกิดการคิดใหม่ ได้แก่ การบิดเบือนและการขยายความเกินจริง ส่วนเทคนิคการคิดนอกกรอบแบบการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก ต้องอาศัยสิ่งเร้าจากภายนอกเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความคิด ได้แก่ การระดมสมอง

๒. ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับประสบการณ์ของผู้เรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะทางการคิด โดยการให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นและมีอิสระในการติดสินใจจะส่งผลให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

๓. ทฤษฎีการออกแบบ กระบวนการออกแบบมีขั้นตอนการทำงานแตกต่างกันไปตามคุณลักษณะของผลงาน ดังนี้ ๑) การศึกษาค้นคว้า ๒) การวิเคราะห์ข้อมูล ๓) การสังเคราะห์ ๔) การนำเสนอผลงาน ๕) การประเมินผล

๔. เครือข่ายสังคมออนไลน์ การนำเสนอผลงานผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทำให้ผู้สอนและผู้เรียนสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแบ่งปันข้อมูลด้านวิชาการ ผ่านการพูดคุย แสดงความคิดเห็น สอบถาม ให้คำปรึกษา โดยไม่จำกัดเวลาหรือสถานที่ การเรียนรู้จึงเกิดขึ้นตลอดเวลาและยังเป็นการสนับสนุนให้ผู้เรียนกล้าแสดงความคิดเห็น

ผู้วิจัยได้นำหลักการข้างต้นมากำหนดเป็นรูปแบบการเรียนการสอนฯ แสดงดังภาพ ที่ ๑

ภาพที่ ๑ แสดงขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการเรียนการสอน โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยทฤษฎีการคิดนอกกรอบของเดอ โบโน ในวิชาการออกแบบเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์

วัตถุประสงค์ของรูปแบบการเรียนการสอน

เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนิสิตนักศึกษาสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ระดับปริญญาบัณฑิต

เนื้อหาที่เหมาะสมกับรูปแบบการเรียนการสอน

เนื้อหาวิชาที่นำมาใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ รายวิชา ๒๑๐๙๓๑๙ การออกแบบบรรจุภัณฑ์

ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้

ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมี ๔ ขั้นตอน ดังนี้

๑. การกำหนดจุดมุ่งหมาย / วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม

๒. การกำหนดเนื้อหาการเรียนรู้ ผู้สอนวิเคราะห์เนื้อหา โดยพิจารณาเนื้อหาในหน่วยการเรียนรู้ต่างๆ แล้วกำหนดรายละเอียดและลำดับการนำเสนอเนื้อหาเป็นขั้นๆ อย่างเป็นระบบ โดยนำเสนอเนื้อหาสาระที่มีลักษณะเป็นหลักการหรือกระบวนการที่เป็นพื้นฐานก่อนในขั้นแรก แล้วจึงเข้าสู่ระบบการออกแบบที่เริ่มด้วยการศึกษาค้นคว้า การวิเคราะห์ข้อมูล การสังเคราะห์การนำเสนอผลงานและการประเมินผล

๓. การทดสอบก่อนเรียน ผู้สอนกำหนดให้ผู้เรียนสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบบรรจุภัณฑ์มาคนละ ๑ ชิ้น ก่อนเริ่มเรียน จากนั้นจึงประเมินผลงาน โดยใช้แบบประเมินความสร้างสรรค์ของผลงานที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น

๔. การดำเนินการเรียนการสอน มี ๒ ขั้นตอนหลัก ดังนี้

๔.๑ ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ มี ๓ ขั้นตอนย่อย ได้แก่

๔.๑.๑ การกำหนดประเด็นปัญหา ผู้สอนเตรียมความรู้พื้นฐานที่จำเป็นในการเรียนรู้ โดยการบรรยายเนื้อหาความรู้แล้วกำหนดประเด็นปัญหาในการออกแบบที่สัมพันธ์กับสาระการเรียนรู้ในหน่วยการเรียนนั้นๆ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นปัญหาในการออกแบบ

๔.๑.๒ การอภิปราย ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนแบ่งกลุ่มเพื่อระดมความคิดและอภิปรายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาในการออกแบบ การระดมสมองมีขั้นตอนดังนี้

๔.๑.๒.๑ ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนแบ่งกลุ่มและกำหนดเวลาที่ใช้ในการประชุม

๔.๑.๒.๒ สมาชิกในกลุ่มเลือกประธานและเลขานุการ โดยประธานทำหน้าที่เป็นผู้นำการประชุมและควบคุมดูแลการประชุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนเลขานุการทำหน้าที่จดบันทึกความคิดเห็นต่างๆ ที่ได้จากสมาชิก

๔.๑.๒.๓ สมาชิกในกลุ่มร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาในการออกแบบได้อย่างอิสระ โดยเลขานุการของทุกกลุ่มจดบันทึก แล้วส่งให้ผู้สอน จากนั้นผู้สอนเขียนความคิดเห็นที่แต่ละกลุ่มเสนอมาบนกระดาน

๔.๑.๒.๔ ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันอภิปรายความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่ได้นำเสนอมาว่าเป็นแนวคิดที่ดี มีความเหมาะสมหรือมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

๔.๑.๒.๕ การประเมินผลจะเกิดขึ้นหลังการประชุม เพื่อคัดเลือกความคิดที่เป็นประโยชน์โดยตรงออกมา แล้วบันทึกความคิด มุมมองใหม่ๆ ของปัญหา วิธีพิจารณาปัญหา ปัจจัยเพิ่มเติมในการพิจารณาปัญหา ซึ่งนำไปสู่แนวคิดในการแก้ปัญหาการออกแบบ รวมทั้งนำความคิดที่พิจารณาว่าไม่ถูกต้องในตอนแรกมาปรับปรุงหรือหาข้อมูลเพิ่มเติม

๔.๑.๒.๖ เมื่อเสร็จสิ้นการประชุม จะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับความคิดที่ใช้ประโยชน์ได้ทันที แหล่งข้อมูลเพิ่มเติมและแนวคิดในการแก้ปัญหา

๔.๑.๓ การวางแผนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ผู้สอนมอบหมายงานให้ผู้เรียนนำแนวคิดที่ได้จากการอภิปรายมาวางแผน เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางการแก้ปัญหาการออกแบบ โดยพิจารณาถึงข้อมูลที่ต้องศึกษาแนวคิด ขั้นตอนและเทคนิคในการออกแบบ เพื่อเข้าสู่กระบวนการออกแบบต่อไป

๔.๒ กระบวนการออกแบบ มีขั้นตอนดังนี้

๔.๒.๑ การศึกษาค้นคว้า มีแนวทางการศึกษา คือ ๑) บทบาทของข้อมูลในการออกแบบ ๒) แหล่งข้อมูล ๓) การจำแนกประเภทข้อมูล ๔) ปัจจัยที่มีผลต่อการออกแบบ โดยให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าข้อมูล แนวคิดขั้นตอนและเทคนิคในการออกแบบตามแผนที่วางไว้ จากเอกสารอ้างอิงประกอบการค้นคว้า สื่อออนไลน์ ตัวอย่างงานออกแบบเชิงประจักษ์ในท้องตลาด

๔.๒.๒ การวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้เทคนิคการบิดเบือนและการขยายความเกินจริง มีขั้นตอนดังนี้

๔.๒.๒.๑ ผู้เรียนพิจารณารายละเอียดของสิ่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงมุมมอง

๔.๒.๒.๒ ผู้เรียนกำหนดให้รายละเอียดของแต่ละส่วนมีความบิดเบือนแตกต่างหรือลักษณะเกินไปจากความจริง

๔.๒.๒.๓ ผู้เรียนเขียนรายละเอียดหรือทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ เพื่อสรุปเป็นความคิดใหม่

๔.๒.๒.๔ ผู้เรียนนำมุมมองที่เกิดขึ้นใหม่มาใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการค้นหาความคิดที่แปลกแตกต่างจากความคิดเดิมๆ

๔.๒.๓ การสังเคราะห์ โดยให้ผู้เรียนนำข้อสรุปเพื่อการออกแบบที่ได้จากการวิเคราะห์ มาสร้างสรรค์เป็นผลงานที่มีความสวยงามแปลกใหม่ สร้างสรรค์และสามารถแก้ปัญหาในการออกแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

๔.๒.๔ การนำเสนอผลงาน โดยให้ผู้เรียนนำเสนอผลงานการออกแบบผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยใช้เว็บไซต์เฟซบุ๊ก (Facebook.com) เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกในกลุ่มได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลงานการออกแบบของผู้เรียนแต่ละคน

๔.๒.๕ การประเมินผลงาน เป็นการประเมินระหว่างเรียน โดยผู้สอนเป็นผู้ประเมินและมอบหมายให้ผู้เรียนร่วมแสดงความคิดเห็นและประเมินผลงานการออกแบบของเพื่อนร่วมชั้นเรียน ผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์

การวัดและประเมินผลการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบ

รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น มีการวัดและประเมินผล ดังนี้

๑. การวัดและประเมินผลระหว่างการจัดการเรียนรู้ ใช้วิธีการประเมิน ๕ แบบ ดังนี้ ๑) การตอบคำถาม ๒) การอภิปรายสถานการณ์ปัญหาและสรุปประเด็นการอภิปราย ๓) การทำผลงานย่อยระหว่างเรียน ๔) การนำเสนอผลงานทางเครือข่ายสังคมออนไลน์และ ๕) การนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน

๒. การวัดและประเมินผลหลังการจัดการเรียนรู้ จากการตรวจผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ โดยใช้แบบประเมินความสร้างสรรค์ของผลงาน

ผลที่คาดว่าจะได้รับเมื่อนำรูปแบบการเรียนการสอนไปใช้

การเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยทฤษฎีการคิดนอกกรอบของเดอ โบโน ในวิชาการออกแบบเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ สามารถส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นได้

แนวทางในการนำรูปแบบการเรียนการสอนไปใช้

ผู้สอนควรศึกษารายละเอียดของรูปแบบการเรียนการสอนฯ ในแต่ละองค์ประกอบ วิเคราะห์เนื้อหาสาระของรายวิชาที่สอนตามขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ของรูปแบบและเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ตามขั้นตอนที่ระบุไว้

๓. การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนมีขั้นตอน ดังนี้

๓.๑ ผู้วิจัยเลือกรายวิชาที่เหมาะสมกับรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น ได้แก่ รายวิชา ๒๑๐๙๓๑๙ การออกแบบบรรจุภัณฑ์

๓.๒ สร้างแผนการจัดการเรียนรู้ ตามรูปแบบการเรียนการสอนที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น ประเมินความเหมาะสมโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๕ ท่าน ซึ่งผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่า = ๔.๖๗

๓.๓ สร้างแบบประเมินความสร้างสรรค์ของผลงาน ประเมินความเหมาะสมโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๕ ท่าน โดยใช้ค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) จากนั้นนำแบบประเมินไปทดลองประเมินผลงานของนักศึกษานำคะแนนที่ได้มาหาค่าความเชื่อมั่นด้วยวิธีหาค่าสัมประสิทธิ์ (α – Coeffcient) ของ ครอนบัค (Cronbach) ปรากฏว่ามีความเชื่อมั่นเท่ากับ ๐.๗๗

๓.๔ จัดทำเอกสารประกอบรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น ดังนี้

๓.๔.๑ คู่มือการใช้รูปแบบการเรียนการสอนฯ

๓.๔.๒ แผนการจัดการเรียนรู้

๓.๔.๓ คู่มือการใช้แบบประเมินความสร้างสรรค์ของผลงาน

๓.๕ สร้างแบบประเมินความพึงพอใจของผู้เรียน

๔. การทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอน มีขั้นตอนดังนี้

๔.๑ ผู้วิจัยเตรียมความพร้อมก่อนเรียนของกลุ่มทดลอง โดยผู้วิจัยพบว่าผู้เรียนในชั้นเรียนปกติ เพื่อชี้แจงกิจกรรมการเรียนการสอน จากนั้นให้ผู้เรียนสร้างผลงานการออกแบบตามหัวข้อที่กำหนดก่อนเริ่มเรียน

๔.๒ ผู้วิจัยนำผลงานการออกแบบของผู้เรียนกลุ่มทดลองมาประเมิน โดยให้ผู้สอนด้านการออกแบบ จำนวน ๔ ท่านและผู้วิจัยเป็นผู้ตรวจ โดยใช้แบบประเมินความสร้างสรรค์ของผลงาน

๔.๓ ผู้วิจัยจัดการเรียนการสอนตามรูปแบบการเรียนการสอนฯ จนครบทุกหน่วยการเรียนรู้

๔.๔ ผู้วิจัยให้ผู้เรียนกลุ่มทดลองสร้างผลงานการออกแบบตามหัวข้อเดียวกับที่กำหนดในขั้นตอนก่อนเริ่มเรียน แล้วนำผลงานมาประเมินโดยให้ผู้สอนด้านการออกแบบ จำนวน ๔ ท่านและผู้วิจัยเป็นผู้ตรวจโดยใช้แบบประเมินความสร้างสรรค์ของผลงาน

๔.๕ ผู้วิจัยนำข้อมูลที่ได้รับมาวิเคราะห์ผลการทดลอง

๔.๖ ผู้วิจัยประเมินความพึงพอใจของผู้เรียนกลุ่มทดลอง

๕. การจัดกระทำและการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ค่าเฉลี่ย () ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการทดสอบค่าทีแบบกลุ่มไม่อิสระ (t-test for Dependent Samples)

จุดเด่นของผลงานการวิจัย : จุดเด่นของงานวิจัยปรากฏตั้งแต่ ผลของการวิจัยและการอภิปราย ได้แก่

ผลการวิจัย

๑. ผลการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนฯ สรุปได้ดังนี้

รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีหลักการสำคัญ คือ มีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการคิดนอกกรอบตามแนวคิดและเทคนิค เดอ โบโน โดยการหลีกหนีจากความคิดเดิมและการกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ ซึ่งเทคนิคการคิดนอกกรอบที่นำมาใช้ คือ การระดมสมอง การบิดเบือนและการขยายความเกินจริง โดยมีการจัดลำดับขั้นตอนการเรียนรู้ตามกระบวนการออกแบบ เพื่อช่วยกำหนดทิศทางให้ผู้เรียนสามารถวางแผนและดำเนินการออกแบบได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนสามารถแก้ปัญหาในการออกแบบได้อย่างเป็นระบบ โดยใช้กระบวนการนี้ซ้ำหลายๆ ครั้ง รวมทั้งการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในขั้นตอนการนำเสนอผลงาน จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนได้สื่อสารแลกเปลี่ยนรู้ระหว่างสมาชิกในกลุ่มและบุคคลภายนอก ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้สอนและผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและง่ายขึ้น ดังนั้นการนำกระบวนการออกแบบมาใช้ร่วมกับหลักการข้างต้น จึงเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนได้พิจารณาสิ่งต่างๆ ในมุมมองที่ต่างไปจากเดิม เกิดความคิดที่แปลกใหม่เพื่อนำไปใช้การสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบได้อย่างเหมาะสม วัตถุประสงค์ของรูปแบบการเรียนการสอน คือ เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์รายวิชาที่เหมาะสมกับรูปแบบการเรียนการสอนนี้ ควรเป็นรายวิชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการออกแบบและมีระยะเวลาของการเรียนการสอนเพียงพอที่จะให้ผู้สอนจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนเกิดความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเหมาะสม โดยมี ๔ ขั้น ได้แก่ ๑) การกำหนดจุดมุ่งหมาย/วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม ๒) การกำหนดเนื้อหาการเรียนรู้ ๓) การทดสอบก่อนเรียน ๔) การดำเนินการเรียนการสอนที่มี ๒ ขั้นตอนหลัก ได้แก่ ๔.๑) ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้มี ๓ ขั้นตอนย่อย ได้แก่ ๔.๑.๑) การกำหนดประเด็นปัญหา ๔.๑.๒) การอภิปราย ๔.๑.๓) การวางแผนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ๔.๒) กระบวนการออกแบบ มี ๕ ขั้นตอนย่อย ได้แก่ ๔.๒.๑) การศึกษาค้นคว้า ๔.๒.๒) การวิเคราะห์ข้อมูล ๔.๒.๓) การสังเคราะห์ ๔.๒.๔) การนำเสนอผลงานและ ๔.๒.๕) การประเมินผลงาน

ส่วนการวัดและการประเมินผลนั้น ทำทั้งในระหว่างการจัดการเรียนรู้และหลังการจัดการเรียนรู้ ผลที่คาดว่าได้รับเมื่อมีการนำรูปแบบการเรียนการสอนไปใช้ คือ ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์สูงขึ้นและผู้สอนควรศึกษาแนวทางในการนำรูปแบบการจัดการเรียนการสอนไปใช้ให้เข้าใจ เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นนี้มีผลการประเมิน (ต้นแบบ) จากผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม (IOC = ๐.๘๔)

๒. ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น สรุปผลได้ ๒ ประเด็นดังนี้

๒.๑ หลังการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยทฤษฎีการคิดนอกกรอบของเดอ โบโน ในวิชาการออกแบบเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ พบว่า ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑

๒.๒ ผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยทฤษฎีการคิดนอกกรอบของเดอ โบโน ในวิชาการออกแบบเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในระดับมากที่สุด

อภิปรายผล

๑. อภิปรายผลจากผลการวิจัยสามารถนำมาอภิปรายผลได้ดังนี้

๑.๑ รูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยทฤษฎีการคิดนอกกรอบของเดอ โบโน ในวิชาการออกแบบเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ มีผลการประเมิน (ต้นแบบ) จากผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ ทั้งนี้เป็นเพราะรูปแบบการเรียนการสอนดังกล่าวมีแนวคิดพื้นฐานมาจากทฤษฎีและหลักการเกี่ยวกับทฤษฎีการคิดนอกกรอบ ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์ ทฤษฎีการออกแบบและการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ร่วมกับการสังเคราะห์รูปแบบการเรียนการสอนต่างๆ ทำให้ได้รูปแบบการเรียนการสอนที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ กล่าวคือ ผู้เรียนมีกระบวนการการเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนาความคิด โดยหลักการสำคัญของรูปแบบ คือ มีการจัดกิจกรรมฝึกการคิดด้วยเทคนิคการคิดนอกกรอบของเดอ โบโน ในขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ หลังจากที่ผู้สอนได้กำหนดประเด็นปัญหาในการออกแบบ มีการใช้เทคนิคการระดมสมองในการอภิปราย ซึ่งเป็นเทคนิคการใช้ความคิดของสมาชิกแต่ละคนไปช่วยกระตุ้นให้สมาชิกคนอื่นๆ เกิดความคิดต่างๆ ตามมา ซึ่งแนวคิดที่ได้นำมาใช้ในการวางแผนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ที่กล่าวว่า เทคนิคการระดมสมองเป็นวิธีการนำแนวคิดของผู้อื่นมาเชื่อมโยงกับแนวคิดของตนเอง ทำให้ได้แนวคิดที่แปลกใหม่ในเวลาที่จำกัด โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็น เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และได้แนวคิดใหม่ที่กว้างขวางสามารถนำไปสู่การตัดสินใจหรือการแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้นในขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลของกระบวนการออกแบบ มีการใช้เทคนิคการบิดเบือนและขยายความเกินจริง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ในแบบที่ผิดปกติเกินกว่าความเป็นจริง เพื่อกระตุ้นให้เกิดมุมมองใหม่ที่แปลกแตกต่างไปจากเดิม เกิดเป็นความคิดที่แปลกใหม่สร้างสรรค์ เพื่อนำมาใช้เป็นแนวคิดในการออกแบบชิ้นงาน ซึ่งเทคนิคดังกล่าวช่วยให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเรียนต่อไป และยังใช้กระบวนการออกแบบ เพื่อกำหนดทิศทางให้ผู้เรียนสามารถวางแผนและดำเนินการออกแบบได้อย่างเป็นขั้นตอน สามารถแก้ปัญหาในการออกแบบได้อย่างเป็นระบบ เรื่องผลการสอนกระบวนการออกแบบในวิชาทฤษฎีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีต่อความเข้าใจขั้นตอนการออกแบบและผลงานของนักศึกษาโปรแกรมศิลปกรรมระดับปริญญาตรีสถาบันราชภัฏ ที่พบว่า นักศึกษามีระดับความเข้าใจการปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการออกแบบทั้ง ๓ ด้าน คือ ด้านการวิเคราะห์ ด้านการสังเคราะห์และด้านการประเมินผลหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนทุกด้านและนักศึกษามีความคิดเห็นว่า การดำเนินงานตามกระบวนการออกแบบ ทำให้มีการวางแผนและดำเนินงานอย่างเป็นขั้นตอน ลดข้อผิดพลาดในการทำงาน ทำให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพ จะเห็นได้ว่า การเรียนการสอนด้านการออกแบบโดยใช้กระบวนการออกแบบเป็นกรอบในการทำงาน จะช่วยกำหนดทิศทางให้ผู้เรียนสามารถวางแผนและดำเนินงานออกแบบได้อย่างเป็นขั้นตอน สามารถแก้ปัญหาในการออกแบบได้อย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพ

ส่วนการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในขั้นตอนการนำเสนอผลงานนั้น ผู้วิจัยเห็นว่า เครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นเทคโนโลยีที่นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วไป เป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสาร เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ผู้สอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน เพื่อดึงดูดความสนใจ ช่วยให้ผู้เรียนเกิดพัฒนาการทางภาษา เพิ่มทักษะด้านการติดต่อสื่อสารและยังช่วยสนับสนุนให้ผู้เรียนกล้าแสดงความคิดเห็น จึงสามารถนำมาใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊กเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอนเพื่อสร้างความสนใจให้แก่ผู้เรียนโดยการส่งเสริมกิจกรรมทางสังคม เช่น การส่งข้อความส่วนตัว การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็น จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถทำงานร่วมกันผ่านกิจกรรมการอภิปราย ส่งเสริมให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ของตนเองจากข้อมูลที่มีหลากหลายมุมมอง การใช้เฟสบุ๊กเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอนจึงมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้เสริมสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้เรียน

ดังนั้นการนำทฤษฎีการคิดนอกกรอบของเดอ โบโน มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่กระตุ้นให้ผู้เรียนมีโอกาสแสดงออกถึงความคิดและจินตนาการโดยมีการจัดลำดับขั้นตอนการเรียนรู้ตามกระบวนการออกแบบ รวมทั้งใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในขั้นตอนการนำเนอผลงาน จึงสามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนได้ ดังนั้นถ้าผู้เรียนได้รับฝึกฝนด้วยเทคนิคดังกล่าวซ้ำๆ จะสามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้สูงขึ้นได้ สรุปได้ว่า รูปแบบการเรียนการสอนที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นนี้ ช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกคิดในมุมมองที่แตกต่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวคิดที่แปลกใหม่ จึงเป็นรูปแบบการสอนที่สามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้

๑.๒ หลังการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น พบว่า ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑ ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ ทั้งนี้เป็นผลมาจากวิธีการสอนและการจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็น ได้ฝึกคิดด้วยเทคนิคการคิดนอกกรอบ ซึ่งเป็นวิธีการคิดโดยการเปลี่ยนมุมมองของการรับรู้และมโนทัศน์ที่แตกต่างจากแนวคิดเดิม เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวคิดที่แปลกใหม่ มีความหลากหลายและสร้างสรรค์ การจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีดังกล่าว ทำให้ผู้เรียนกล้าแสดงออกและสามารถส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี ที่พบว่าผู้เรียนที่เรียนโดยวิธีการสอนบนเว็บด้วยวิธีการสอนแบบคิดนอกกรอบ มีผลคะแนนการสร้างสรรค์สูงกว่าผู้เรียนที่เรียนด้วยวิธีปกติ เรื่อง การสร้างสื่อคอมพิวเตอร์มัลติมีเดียเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์โดยใช้รูปแบบการฝึกคิดนอกกรอบแบบเลี่ยงแนวคิดเดิมและสร้างแนวคิดใหม่ ที่พบว่า คะแนนความคิดสร้างสรรค์หลังฝึกสูงกว่าก่อนฝึกและผลการประเมินคุณภาพผลงานของผู้เรียนอยู่ในระดับดีมาก เรื่อง การศึกษาผลการใช้เทคนิคการคิดนอกกรอบเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษา : กรณีศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่พบว่า คะแนนเฉลี่ยการคิดนอกกรอบและคะแนนเฉลี่ยความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาหลังการทดลองสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยก่อนการทดลอง สรุปได้ว่า การจัดการเรียนการสอนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นนี้ สามารถส่งเสริมให้ผู้เรียนมีพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น

๑.๓ ผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการเรียนการสอนที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นนี้ ในระดับความพึงพอใจมากที่สุด ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ เนื่องจากมีการเน้นให้ผู้เรียนฝึกคิดในรูปแบบที่แปลกแตกต่างไปจากเดิม ด้วยการจัดกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการคิด เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนกล้าคิดกล้าแสดงออก ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนั้นยังมีการประเมินการสร้างสรรค์ผลงานตามสภาพจริง โดยคำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียนและยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมิน ซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติของการจัดกิจกรรมการเรียนด้านการออกแบบ ที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนอย่างแท้จริง จึงทำให้ผู้เรียนเกิดความพึงพอใจต่อรูปแบบการเรียนการสอน ที่เสนอว่า ในการจัดการเรียนการสอนควรส่งเสริมการคิดอย่างอิสระ โดยผู้เรียนได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ควรให้ผู้เรียนพยายามคิดหาคำตอบในเรื่องต่างๆ ด้วยการหาข้อมูลจากหลายๆ ทาง โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นคนช่างซักถาม ช่างสังเกตและมีทักษะในการตอบคำถาม ควรจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองและจากบุคคลอื่น ด้วยการจัดกิจกรรมการสำรวจค้นคว้า ทดลอง ประชุมกลุ่ม ระดมสมองและวิธีการอื่นๆ ที่เป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

 

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : งานวิจัยเรื่องนี้มีจุดของผลการวิจัยและข้อเสนอแนะของผู้วิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายศาสตร์และบทคัดย่องานวิจัย ดังนี้

๑. ข้อเสนอแนะในการใช้รูปแบบการสอน

๑.๑ ผู้สอนควรศึกษารายละเอียดของรูปแบบการเรียนการสอนและขั้นตอนการจัดกิจกรรมของเทคนิคการคิดนอกกรอบให้ชัดเจน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับรายวิชาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

๑.๒ ผู้เรียนควรมีความมั่นใจในตนเอง กล้าอภิปรายแสดงความคิดเห็นและยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น กล้าที่จะแสดงออกถึงความคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน

๑.๓ รายวิชาที่เหมาะสมกับรูปแบบการเรียนการสอนนี้ ควรเป็นรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ ซึ่งต้องใช้ความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานให้มีความแปลกใหม่

๑.๔ ควรใช้ระยะเวลาการจัดการเรียนการสอน ๑ ภาคเรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และฝึกฝนวิธีการคิดนอกกรอบหลายครั้ง

๑.๕ ควรมีการชี้แจงถึงวัตถุประสงค์และปะโยชน์ที่ผู้เรียนจะได้รับ รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติตนของผู้เรียน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ยอมรับและเกิดความกระตือรือร้นที่จะเรียน

๒. ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป

๒.๑ ควรศึกษาวิจัยรูปแบบการเรียนการสอนกับกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เพื่อทดสอบว่าการจัดการเรียนการสอนตามรูปแบบนี้เหมาะสมจะนำไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายใดได้อีกบ้าง

๒.๒ ควรศึกษาวิจัยรูปแบบการเรียนการสอน โดยนำเทคนิคการคิดนอกกรอบแบบอื่นๆ ของเดอ โบโน มาทดลองใช้ เพื่อทดสอบว่ามีเทคนิคใดอีกบ้างที่เหมาะสมกับรูปแบบการสอนนี้

๒.๓ ควรศึกษาวิจัยโดยออกแบบการวิจัยที่ควบคุมตัวแปรอื่นๆ ที่อาจจะส่งผลต่อความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน

๒.๔ ควรศึกษาวิจัยด้านการวัดและการประเมินผลตามสภาพจริง เพื่อดูกระบวนการและพัฒนาการทางด้านการคิดของผู้เรียน ร่วมกับการประเมินโดยใช้แบบประเมินความสร้างสรรค์ของผลงานจากชิ้นงาน

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยทฤษฎีการคิดนอกกรอบของเดอ โบโน ในวิชาการออกแบบเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ก่อนและหลังเรียนของผู้เรียนและเพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้เรียน กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำนวน ๓๐ คน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบที ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ ๑. รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีหลักสำคัญ คือ มีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการคิดนอกกรอบตามแนวคิดและเทคนิคของเดอ โบโน โดยหลีกหนีจากความคิดเดิมและการกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ โดยมีการจัดลำดับขั้นตอนการเรียนรู้ตามกระบวนการออกแบบ รวมทั้งมีการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในขั้นตอนเสนอผลงาน วัตถุประสงค์ของรูปแบบการเรียนการสอน คือ เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนิสิตนักศึกษาสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ระดับปริญญาตรี โดยมี ๔ ขั้นตอน ได้แก่ ๑) การกำหนดจุดมุ่งหมาย/วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม ๒) การกำหนดเนื้อหาการเรียนรู้ ๓) การทดสอบก่อนเรียน ๔) การดำเนินการเรียนการสอน ที่มี ๒ ขั้นตอนหลัก ได้แก่ ๔.๑) ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ มี ๓ ขั้นตอนย่อยได้แก่ ๔.๑.๑) การกำหนดประเด็นปัญหา ๔.๑.๒) การอภิปราย ๔.๑.๓) การวางแผนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ๔.๒) กระบวนการออกแบบ มี ๕ ขั้นตอนย่อย ได้แก่ ๔.๒.๑) การศึกษาค้นคว้า ๔.๒.๒) การวิเคราะห์ข้อมูล ๔.๒.๓) การสังเคราะห์ ๔.๒.๔) การนำเสนอผลงาน ๔.๒.๕) การประเมินผลงาน ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นนี้มีผลการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม ๒. หลังการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น พบว่า ความคิดสร้างสรรค์หลังเรียน สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑๓. ผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อรูแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นในระดับความพึงพอใจมากที่สุด

ทฤษฎีการออกแบบ

ทฤษฎีการออกแบบ

นางสาวกุลนิษก์ สอนวิทย์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจของผลงานทางวิชาการ : หนังสือวิชาทฤษฎีการออกแบบเล่มนี้ มีเนื้อหาที่น่าสนใจสำหรับนักเรียนหรืออาชีพการออกแบบ อาทิเช่น

บทที่ ๑. กล่าวถึง ความหมายการออกแบบว่าเป็นการออกแบบซึ่งเป็นความพยายามของมนุษย์ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่เดิมให้มีความเหมาะสมมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการทั้งด้านความงามและประโยชน์ใช้สอย การออกแบบแฝงอยู่ในงานทุกประเภท ทั้งนี้เพราะการออกแบบเป็นกระบวนการในการแก้ปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ การออกแบบมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องโดยลำดับ ดังนี้

๑. การออกแบบยุคประวัติศาสตร์

๒. การออกแบบยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม

๓. การออกแบบยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม

๔. การออกแบบยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม

๕. การออกแบบยุคสมัยใหม่

๖. การออกแบบยุคหลังสมัยใหม่

๗. การออกแบบยุคปัจจุบัน

บทที่ ๒. ประเภทของการออกแบบ การออกแบบสองมิติ ได้แก่ การออกแบบสร้างสรรค์ ได้แก่ งานออกแบบจิตรกรรม งานออกแบบภาพพิมพ์และการออกแบบภาพถ่าย

การออกแบบตัวอักษร ได้แก่ ประเภทตัวอักษรมี ๒ ประเภท คือ ตัวอักษรเพื่อการเรียงพิมพ์หรืออักษรเรียงพิมพ์ ตัวอักษรประดิษฐ์ รูปแบบและลักษณะเฉพาะของตัวอักษร ได้แก่ รูปแบบของตัวอักษร ลักษณะของตัวอักษร โครงสร้างของตัวอักษร ขนาดของตัวอักษร การเว้นระยะห่าง

การออกแบบสัญลักษณ์และเครื่องหมาย ได้แก่ สัญลักษณ์ เครื่องหมาย สัญลักษณ์และเครื่องหมายมีลักษณะที่หลากหลาย คือ เครื่องหมายสัญลักษณ์ เครื่องหมายภาพ เครื่องหมายอักษร เครื่องหมายภาษา เครื่องหมายผสมและเครื่องหมายการค้า

การออกแบบสามมิติเป็นการออกแบบที่แสดงปริมาตรของรูปทรง มีความกว้าง ความยาวและความหนา การออกแบบสามมิติ ได้แก่ การออกแบบผลิตภัณฑ์ หลักการออกแบบผลิตภัณฑ์ ต้องคำนึงถึงหน้าที่ใช้สอย ความสวยงามน่าใช้ ความสะดวกในการใช้งาน ความปลอดภัย ความแข็งแรง ราคา วัสดุ กรรมวิธีการผลิต การบำรุงรักษาและซ่อมแซมและการขนส่ง

บทที่ ๓. องค์ประกอบมูลฐานของการออกแบบ มีเส้นในทางเรขาคณิตเกิดจากจุดจำนวนมากที่เคลื่อนไหวไปในทิศทางต่างๆ ส่วนเส้นทาง ศิลปะเกิดจากการขีดเขียน ขูด ลาก ระบายด้วยเครื่องมือชนิดต่างๆ และเกิดจากความคิด ได้แก่ เส้นที่เกิดขึ้นจริง เส้นเชิงนัย เส้นที่เกิดจากขอบ เส้นสมมติ

คุณลักษณะของเส้น ได้แก่ เส้นตรง เส้นโค้ง เส้นคตและเส้นประ เส้นเป็นองค์ประกอบมูลฐานที่สำคัญของงานออกแบบ หลายรูปแบบ ได้แก่ เส้นแสดงโครงสร้างภายนอก เส้นแสดงสัญลักษณ์ เส้นแสดงทิศทาง เส้นแสดงขอบเขต เส้นแสดงน้ำหนักและเส้นแสดงลักษณะพื้นผิว

การเปลี่ยนแปลงของรูปร่างและรูปทรง มีแนวทางดังนี้ รูปร่างและรูปทรงเดิม รูปร่างรูปทรงต่อเติม รูปร่างและรูปทรงลดส่วน รูปร่างและรูปทรงกลวง ฯลฯ เป็นต้น

สิ่งที่เกิดจากลักษณะความเข้มของแสงที่ปรากฏแก่สายตาผ่านกระบวนการรับรู้แล้วส่งภาพไปยังสมอง สีแบ่งเป็น ๒ ประเภท ดังนี้ สีจากแสง สีจากเนื้อสี หลักการใช้สีให้เหมาะสมมีแนวทางดังนี้ สีคู่ประกอบ สีคู่ประกอบเยื้องกัน สีคู่ประกอบ ๓ สี สีเอกรงค์และสีข้างเคียง สีกับการออกแบบมีแนวทางดังนี้

๑. การใช้สีในงานทัศนศิลป์

๒. การใช้สีในการออกแบบตกแต่ง

๓. การใช้สีในงานออกแบบกราฟฟิก

ลักษณะพื้นผิวกับงานออกแบบสามมิติ ดังนี้ ลักษณะพื้นผิวในงานประติมากรรม ลักษณะพื้นผิวในงานสถาปัตยกรรม ลักษณะพื้นผิวในงานออกแบบตกแต่งและลักษณะพื้นผิวในงานออกแบบเสื้อผ้า

บทที่ ๔. ทฤษฎีการออกแบบ การสร้างดุลยภาพในงานศิลปะและงานออกแบบ เป็นหลักในการจัดองค์ประกอบในภาพให้เกิดเอกภาพ ดุลยภาพมี ๔ ลักษณะ ดังนี้

๑) ดุลยภาพแบบสมมาตร (Symmetrical Balance)

๒) ดุลยภาพแบบอสมมาตร (Asymmetrical Balance)

๓) ดุลยภาพแบบคล้ายคลึงกัน (Approximate Symmetry Balance)

๔) ดุลยภาพแบบรัศมี (Radial Balance)

องค์ประกอบมูลฐานของการออกแบบกับทฤษฎีดุลยภาพมีแนวทางดังนี้ คือ เส้นกันดุลยภาพ รูปร่างและรูปทรงกับดุลยภาพ สีกับดุลยภาพ ลักษณะพื้นผิวกับดุลยภาพ บริเวณว่างกับดุลยภาพและแสงและเงากับดุลยภาพ

ทฤษฎีสัดส่วน (Proportion) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับงานออกแบบทุกประเภท เพราะสัดส่วนมีความเกี่ยวข้องกับขนาด และระยะที่สัมพันธ์กันอย่างเหมาะสม เพื่อให้มีความใกล้เคียงกับความจริงหรือสภาพแวดล้อม มีความเหมาะสมในการใช้งานและเกิดความสวยงาม ดังนั้น ทฤษฎีสัดส่วน หมายถึง ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบมูลฐานของการออกแบบที่ปรากฏในผลงาน ซึ่งมีขนาด รูปร่าง รูปทรง ที่เหมาะสมกลมกลืนกันทั้งในตัววัตถุเองและสภาพแวดล้อม รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับการใช้งานสัดส่วนมีลักษณะ ๓ ประการ คือ สัดส่วนที่เหมือนกันเท่ากันไม่แสดงความแตกต่างขององค์ประกอบในภาพหรือที่เรียกว่า การซ้ำกัน (Repetition) ให้ความรู้สึกสงบเงียบ สัดส่วนที่แตกต่างกันซึ่งอาจเป็นไปตามกฎของสัดส่วนหรือแตกต่างในลักษณะอื่น ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวนำสายตาไปยังจุดสนใจและสัดส่วนที่ตัดกัน โดยแสดงความแตกต่างกันขององค์ประกอบในภาพอย่างชัดเจน สร้างความน่าสนใจได้เป็นอย่างดี

ทฤษฎีความกลมกลืนและความขัดแย้ง ความกลมกลืน หมายถึง การนำองค์ประกอบมูลฐานของการออกแบบที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าเป็นเส้น สี รูปร่าง ลักษณะพื้นผิว บริเวณว่าง แสงและเงา มาใช้ในการออกแบบได้อย่างเหมาะสมลงตัว เกิดความประสานสอดคล้องกันอย่างพอเหมาะพอดี

ทฤษฎีจังหวะ จังหวะ หมายถึง การซ้ำกันอย่างต่อเนื่องขององค์ประกอบมูลฐานของการออกแบบ ได้แก่ เส้น รูปร่างและรูปทรง สี ลักษณะพื้นผิว บริเวณว่าง แสงและเงาที่มีลักษณะเหมือนกันหรือการสลับไปมาขององค์ประกอบที่แตกต่างกันตั้งแต่ ๒ ชนิดขึ้นไป อย่างต่อเนื่องเป็นระเบียบ เกิดเป็นลวดลายให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวอย่างเป็นจังหวะ

ทฤษฎีการเน้น การเน้น หมายถึง การทำให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของผลงานมีความโดดเด่นกว่าส่วนประกอบอื่นๆ ซึ่งสามารถรับรู้ได้จากการมอง เพื่อสร้างจุดสนใจให้เกิดขึ้นในผลงาน จุดเด่นที่เน้นควรมีเพียงจุดเดียว โดยพิจารณาจากเนื้อหาเรื่องราวหรือความหมายที่ต้องการสื่อสารไปยังผู้ดูและการจัดวางในตำแหน่งที่เหมาะสม รูปแบบของการเน้น คือ การเน้นด้วยความแตกต่าง ด้วยความโดดเด่นและด้วยการจัดวาง

ทฤษฎีเอกภาพ เอกภาพ หมายถึง การนำองค์ประกอบมูลฐานของการออกแบบไม่ว่าจะเป็นเส้น รูปร่าง รูปทรง สี ลักษณะพื้นผิว บริเวณว่าง แสงและเงา มาจัดวางลงบนพื้นภาพอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความประสานกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับการรับรู้ของมนุษย์ในการมองภาพ แล้วเชื่อมโยงองค์ประกอบต่างๆ ให้สัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ

ทฤษฎีแกสตัลท์ เป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ โดยมีแนวคิดหลักว่า ส่วนรวมสำคัญกว่าส่วนย่อยเพราะมนุษย์จะรับรู้สิ่งต่างๆ ที่มองเห็น ในลักษณะรูปทรงโดยรวมก่อน ซึ่งช่วยให้สามารถเข้าใจความหมายได้ง่ายขึ้น จากนั้นจึงแยกแยะ ส่วนย่อยต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นรูปทรงโดยรวมทั้งนี้ต้องอาศัยประสบการณ์เดิมและการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลที่อาจแตกต่างกันด้วย ดังนั้นมนุษย์จะรับรู้สิ่งต่างๆ ได้ดี เมื่อมีโอกาสเห็นภาพรวมทั้งหมดของสิ่งนั้นก่อน เมื่อเกิดภาพรวมทั้งหมดแล้ว การรับรู้รายละเอียดต่างๆ จะเกิดขึ้น

บทที่ ๕. กระบวนวิธีการออกแบบ การออกแบบจะเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ เกิดจากความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ได้แก่ ความเชื่อในแนวคิดที่แตกต่างกัน ความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ การคิดค้นวัสดุและเทคนิคใหม่ๆ ทำให้เกิดแนวคิด วิธีการ รูปแบบและประโยชน์ใช้สอยที่แตกต่างกันไปจากเดิม รวมทั้งการขยายตัวของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งขนาดและคุณภาพ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว แนวทางการออกแบบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสรุปได้ดังนี้

๑. การออกแบบที่เกิดจากการปรับปรุงและพัฒนา

๒. การออกแบบที่เป็นการสร้างสรรค์ใหม่

กระบวนการการออกแบบขั้นพื้นฐาน มีทั้งแบบสองและสามมิติ ย่อมมีขั้นตอนการทำงานที่เป็นระบบ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จของผลงาน โดยที่กระบวนการออกแบบ (Design Process) ของงานศิลปะหรืองานออกแบบแต่ละประเภท อาจแตกต่างกันไปตามคุณลักษณะของผลงาน ได้แก่ กระบวนการออกแบบของคอเบิร์กและเบกนอล แบ่งการออกแบบ ๗ ขั้นตอน คือ การรับรู้สถานการณ์ การวิเคราะห์ การกำหนดขอบเขต การจินตนาการ การคัดเลือก การทำให้สมบูรณ์และการประเมินสำหรับกระบวนการออกแบบของดารัก มี ๔ ขั้นตอน คือ การสรุปแผนงานก่อนปฏิบัติ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์และการประเมินผล ฯลฯ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่ากระบวนการออกแบบตามแนวคิดของนักวิชาการแต่ละคน มีขั้นตอนที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่มีความสอดคล้องกัน ดังการเปรียบเทียบ

 

แสดงการเปรียบเทียบกระบวนการออกแบบ

ขั้นตอนที่ คอเบิร์ก , เบกนอล ดารัก ครอส นวลน้อย น้อยวงษ์
๑. การับรู้สถานการณ์ การสรุปแผนงานก่อนปฏิบัติการ การสำรวจ การกำหนดขอบเขตของปัญหา
๒. การวิเคราะห์ การวิเคราะห์ การผลิต การค้นคว้าหาข้อมูล
๓. การกำหนดขอบเขต การสังเคราะห์ การประเมินผล การวิเคราะห์
๔. การจินตนาการ การประเมิน การสื่อความคิด การสร้างแนวความคิดหลัก
๕. การคัดเลือก     การออกแบบร่าง
๖. การทำให้สมบูรณ์     การคัดเลือก
๗. การประเมินผล     การออกแบบรายละเอียด
๘.       การประเมินผล

 

การออกแบบแต่ละประเภทมีขั้นตอนที่สำคัญ ๕ ขั้นตอน คือ การศึกษาค้นคว้า (Information) การวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis) การสังเคราะห์ (Synthesis) การนำเสนอผลงาน (Presentation) และการประเมินผลงาน (Evaluation)

บทที่ ๖. แนวคิดในการออกแบบ เกิดจากความต้องการของมนุษย์ทางด้านจิตใจ หลักเกณฑ์การพิจารณางานออกแบบ ได้แก่ ประโยชน์ใช้สอย ความงาม การเลือกใช้วัสดุและคุณภาพการผลิต ความเหมาะสมทางการตลาด ความถูกต้องตามกฎระเบียบ ระบบและการคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ความก้าวหน้าทางการปฏิบัติคิดค้น และการเปรียบเทียบคุณสมบัติ

 

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : ผลงานเล่มนี้มีสาระสำคัญที่เน้นเกี่ยวกับการออกแบบทางศิลปะมาก อาทิเช่น

ประเด็นที่ ๑. ความสำคัญของการออกแบบ เป็นกิจกรรมที่อยู่คู่กับชีวิตมนุษย์มาโดยตลอด เริ่มจากการที่มนุษย์ต้องการเอาชนะธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด จึงพยายามคิดค้นสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิต โดยการดัดแปลงสิ่งที่มีอยู่หรือสร้างขึ้นใหม่ การออกแบบจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์ ดังนั้นคุณค่าของการออกแบบจึงสามารถสรุปได้ดังนี้

๑.๑ คุณค่าของการออกแบบต่อการดำรงชีวิต ได้แก่ คุณค่าทางกาย ทางอารมณ์ความรู้สึก และคุณค่าทางทัศนคติ

๑.๒ คุณค่าของการออกแบบต่อสังคม ได้แก่ งานออกแบบเพื่อประโยชน์ใช้สอย เพื่อการติดต่อสื่อสารและเพื่อการออกแบบเป็นคุณค่าของความงาม

ประเด็นที่ ๒. การออกแบบสิ่งพิมพ์ (Publication Design) เป็นการเตรียมรูปแบบของสิ่งพิมพ์ก่อนเข้าสู่กระบวนกรผลิต เพื่อเพิ่มความสวยงามน่าสนใจ สร้างความประทับใจและความทรงจำแก่ผู้อ่าน และช่วยให้อ่านทำความเข้าใจได้ง่ายสิ่งพิมพ์มีหลายประเภท ได้แก่

๒.๑ หนังสือ (Book)

๒.๒ หนังสือพิมพ์ (Newspaper)

๒.๓ นิตยสาร (Magazine)

๒.๔ สิ่งพิมพ์เฉพาะกิจหรือสิ่งพิมพ์เบ็ตเตล็ด (Miscellaneous Publication)

นอกจากนี้ยังมีสิ่งพิมพ์อื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น ธนบัตร เช็ค บัตรอวยพร แสตมป์ ปฏิทิน สมุดบันทึก ซองและกระดาษเขียนจดหมาย นามบัตร แผนที่ ปกซีดีเพลง ปกดีวีดี ภาพยนตร์ ฉลากสินค้า ซอง ถุง กล่อง เป็นสิ่งพิมพ์มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การออกแบบสิ่งพิมพ์ มีปัจจัยสำคัญที่ควรนำมาพิจารณา เพื่อให้การออกแบบสิ่งพิมพ์มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน คือ ประเภทและลักษณะเนื้อหาของสิ่งพิมพ์ วัตถุประสงค์ในการจัดทำ กลุ่มเป้าหมาย ขนาดและรูปแบบมาตรฐานของสิ่งพิมพ์ ฯลฯ เป็นต้น

ประเด็นที่ ๓. รูปแบบของผลิตภัณฑ์ มีมากมายขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน รวมทั้งความนิยมของผู้บริโภคในช่วงเวลานั้น รูปแบบที่นำมาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์มีแนวทางดังนี้

๓.๑ รูปแบบมาก่อนประโยชน์ใช้สอย

๓.๒ ประโยชน์ใช้สอยมาก่อนรูปแบบ

๓.๓ การตลาดมาก่อนออกแบบ

๓.๔ อารมณ์ความรู้สึกมาก่อนรูปแบบ

๓.๕ รูปแบบนิยมความน้อย

๓.๖ รูปแบบอนาคตกาล

สำหรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging Design) เป็นการกำหนดรูปทรง ขนาด ปริมาตร น้ำหนัก ประเภทของวัสดุรวมทั้งลักษณะภายนอก ภาพ สีสัน ข้อความ ให้สามารถคุ้มครองผลิตภัณฑ์ การเก็บรักษา ความสะดวกในการขนส่ง การวางจำหน่าย การสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย การแสดงเอกลักษณ์เฉพาะงานเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องศึกษารายละเอียด ดังนี้ คือ ประเภทของบรรจุภัณฑ์ เช่น รูปทรงแข็งตัว รูปทรงกึ่งแข็งตัวและรูปทรงยืดหยุ่น

แนวคิดในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ สามารถทำได้ดังนี้

๑. การแสดงนวัตกรรม

๒. ความชัดเจน

๓. ความพึงพอใจ

๔. ความดึงดูดใจ

ประเด็นที่ ๔. บริเวณว่าง คือ การกำหนดระยะห่างหรือว่างภายในหรือภายนอกรอบๆ วัตถุหรือภาพ ทำให้เกิดเป็นบริเวณว่าง (Space) ที่สามารถรับรู้ได้ และยังเกิดความงาม ความน่าสนใจ บริเวณว่างจึงเป็นองค์ประกอบมูลฐานทางการออกแบบที่จะปรากฏขึ้นเมื่อมีองค์ประกอบอื่นมาแสดงตัวหรือแทนที่ ทั้งในลักษณะสองและสามมิติ การนำบริเวณว่างมาใช้ในการออกแบบควรศึกษาเกี่ยวกับปริมาตรหรือวัตถุหรือรูปทรงกินเนื้อที่อยู่ อากาศที่โอบรอมรูปทรงอยู่ ระยะระหว่างรูปทรง ปริมาตรของความว่างที่ถูกล้อมรอบด้วยขอบเขต ฯลฯ เป็นต้น

ลักษณะของบริเวณว่างที่ถูกกำหนดให้มีขอบเขตและความหมายตามวัตถุประสงค์ที่ศิลปินและนักออกแบบต้องการบริเวณว่างจึงมีหลายลักษณะ คือ

๔.๑ บริเวณว่างจริงและบริเวณว่างลวงตา

๔.๒ บริเวณว่างสองมิติและสามมิติ

๔.๓ บริเวณว่างบวก , ลบและว่างสองนัย

๔.๔ บริเวณว่างปิดละบริเวณว่างเปิด

ประเด็นที่ ๕. องค์ประกอบมูลฐานของการออกแบบกับทฤษฎีจังหวะ เพื่อให้ผลงานการออกแบบมีผลต่อการรับรู้ของมนุษย์ มีแนวทาง ดังนี้

๕.๑ เส้นกับจังหวะ

๕.๒ รูปร่างและรูปทรงกับจังหวะ

๕.๓ สีกับจังหวะ

๕.๔ ลักษณะพื้นผิวกับจังหวะ

๕.๕ บริเวณว่างกับจังหวะ

๕.๖ แสงและเงากับจังหวะ

ประเด็นที่ ๖. การศึกษาค้นคว้าและการวิเคราะห์ข้อมูล การออกแบบทุกประเภท ย่อมมีกระบวนการของการทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อเป็นแนวทางให้การทำงานบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้จำเป็นต้อง

๖.๑ การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับบทบาทของข้อมูลในการออกแบบมี ๓ ระยะ คือ ก่อนการออกแบบ ระหว่างการออกแบบและหลังการออกแบบ

๖.๒ การส่งข้อมูลทั้งข้อมูลทุติยภูมิและปฐมภูมิ

๖.๓ การจำแนกประเภทข้อมูล จากเนื้อหาของข้อมูล คือ ข้อมูลทั่วไปกับข้อมูลเฉพาะและการจำแนกคุณภาพของข้อมูล

๖.๔ ปัจจัยที่มีผลต่อข้อมูลการออกแบบ คือ ด้านวัฒนธรรม สังคมและจิตวิทยา

การวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อหาความสัมพันธ์ของข้อมูล แล้วนำมาแยกแยะเป็นระบบ การวิเคราะห์ข้อมูลมี ๒ ลักษณะ ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการออกแบบที่เน้นการคิดค้นสิ่งใหม่ คำนึงถึงหน้าที่ใช้สอย หน้าที่หลักโดยรวม การเปลี่ยนแปลง ฯลฯ เป็นต้น

การสังเคราะห์ เป็นการทำงานที่ได้จากการวิเคราะห์มาใช้เป็นแนวทางการแก้ปัญหาด้วยเทคนิค วิธีการต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของการใช้งาน ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์งานออกแบบให้มีลักษณะเฉพาะตัว โดยการสร้างแนวความคิดหลัก การออกแบบร่าง การออกแบบรายละเอียด

ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ แบ่งได้เป็น ๔ ระดับ ได้แก่ ระดับที่ ๑ ความคิดสร้างสรรค์ประเภทการลอกเลียน ระดับที่ ๒ ความคิดสร้างสรรค์ประเภทต่อเนื่อง ระดับที่ ๓ ความคิดสร้างสรรค์ประเภทการสังเคราะห์ และระดับที่ ๔ ความคิดสร้างสรรค์ประเภทสร้างนวัตกรรม องค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์ คือ ต้องเป็นสิ่งใหม่ ต้องใช้การได้และต้องมีความเหมาะสม

 

จุดเด่นและความน่าสนใจของผลงานทางวิชาการ :  เอกสารประกอบการสอนฉบับนี้มีจุดเด่นและความน่าสนใจหลายประเด็น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่ออาชีพครูสอนศิลปะและวิชาชีพการออกแบบทางศิลปะ ได้แก่

จุดเด่นที่ ๑. แนวคิดในการเลือกใช้สื่อโฆษณา ณ จุดซื้อ เพื่อกระตุ้นความสนใจและช่วยในการตัดสินใจของผู้บริโภค ดังนี้

๑.๑ การใช้ข้อมูล (Information)

๑.๒ การเตือนความจำ (Reminding)

๑.๓ การสร้างความจูงใจ (Persuading)

๑.๔ การทำหน้าที่ในการขาย (Merchandising)

แนวทางการออกแบบสื่อโฆษณา ณ จุดซื้อ จะต้องมีลักษณะดังนี้ คือ ขนาดและรูปแบบที่ถูกต้องเหมาะสมกับสินค้า เนื้อที่ของชั้นโชว์สินค้าและบริเวณพื้นที่จัดแสดงทั้งหมด ง่ายและสะดวกในการตกแต่ง สวยงาม สะดุดตาของผู้บริโภคที่ตาเห็น มีความเป็นกันเอง สะดวกแก่การหยิบชมและทดลองสินค้า เหมาะสมกับฤดูกาลหรือความจำเป็นในการใช้สินค้าและมีรูปแบบที่น่าสนใจ

จุดเด่นที่ ๒. เทคนิคการให้แสงและเงาในงานสองมิติ ในการเขียนภาพและสามมิติบนระนาบสองมิติต้องให้แสงและเงาอย่างถูกต้อง ซึ่งมีเทคนิคการเขียนภาพ ๒ ลักษณะ คือ

๒.๑ การวาดเส้น (Drawing) การทำให้เกิดแสงและเงา โดยการวาดเส้น เรียกว่าการแรเงา มี ๒ วิธี คือ การแรเงาแบบเส้น โดยการกำหนดค่าน้ำหนักบนวัตถุในภาพ ด้วยการใช้เส้นตรงหรือเส้นโค้งขีดทับกันในลักษณะคล้ายตาข่ายให้มีน้ำหนัก อ่อน-เข้ม โดยเพิ่มจำนวนเส้นที่ทับกันให้ได้ค่าน้ำหนักตามที่ต้องการและการแรเงาแบบเกลี่ยเรียบ โดยการแรเงาค่าน้ำหนักที่ต่างกันแล้วเฉลี่ยให้เรียบกลมกลืนกันตามลำดับ โดยไม่เห็นร่องรอยของเส้นดินสอ

๒.๒ การเขียนภาพระบายสี (Painting) เป็นการเขียนภาพเพื่อแสดงให้เห็นค่าน้ำหนักของแสงและเงาด้วย สีชนิดต่างๆ โดยมีน้ำหนักว่าถ้าแสงสว่างมากเงาก็จะมีความชัดเจนมากและสีของเงานั้นจะเป็นสีที่ต้องผสมด้วยสีตรงข้ามของสีวัตถุนั้นมากขึ้น แต่ถ้าแสงน้อยเงาของวัตถุก็จะมีน้ำหนักสีใกล้เคียงกับน้ำหนักสีของวัตถุนั้น

 

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : หนังสือทฤษฎีการออกแบบเล่มนี้ยังปรากฏว่าเนื้อหาสาระที่สามารถนำไปเป็นประโยชน์กับอาชีพอื่นๆ นอกจากศิลปะแล้ว เช่น อาชีพการทำธุรกิจ หรืออาชีพครูสอนหนังสือด้วย ได้แก่

เทคนิคการสร้างสรรค์ งานศิลปะและงานออกแบบมีขั้นตอนการทำงานของความคิด โดยใช้เทคนิคต่างๆ ในการแสวงหาแนวคิดใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การค้นพบทางออกของปัญหา ซึ่งมีข้อเสนอแนะ สรุปได้ดังนี้

๑. การหาความคิดใหม่ที่หลากหลาย การระดมสมอง (Brainstorming) เป็นการหาความคิดใหม่ด้วยการระดมสมองจากกลุ่มบุคคล เกิดเป็นความคิดหลากหลาย ความคิดสร้างสรรค์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปแก้ไขข้อบกพร่องปรับปรุง เปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาให้ดีขึ้น โดยเลือกกลุ่มบุคคลที่มีความคิดหลากหลายเพื่อได้มุมมองต่างกัน แล้วเลือกความคิดที่เหมาะสมหรือนำมาผสมผสานกัน เลือกให้ตรงกับวัตถุประสงค์ได้มากที่สุด

๒. ทำของเก่าให้เป็นของใหม่ ด้วยแผ่นตรวจสอบของออสปอรัน (Osborn) นักคิดสร้างสรรค์ มีลักษณะเป็นแผ่นที่บรรจุแนวทางกระตุ้นความคิดในแง่มุมต่างๆ เพื่อหาความเป็นไปได้หรือช่วยให้เกิดความคิดในมุมมองใหม่ๆ มี ๙ แนวทาง อาทิเช่น เอาไปใช้อย่างอื่นได้หรือไม่? (Put to other user ?) ปรับเปลี่ยนได้หรือไม่ ? (Modify) ฯลฯ เป็นต้น

๓. ขยายขอบเขตปัญหาจากรูปธรรมสู่นามธรรมแล้วค่อยคิด พยายามถอดกรอบโครงสร้างความคิดที่จำกัดไปสู่จินตนาการนอกขอบเขตอย่างอิสระ กระตุ้นให้เกิดการออกแบบใหม่ๆ ใช้ร่วมกับการระดมสมอง เป็นกระบวนการความคิดเชิงปฏิบัติการ

๔. ปรับสภาพแวดล้อมและเวลาให้เหมาะสมกับการคิดจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกใหม่ เกิดอารมณ์ใหม่และเกิดความคิดนอกกรอบเดิมได้ อาจต้องอาศัยเวลาด้วย เช่น การกำจัดเวลาในการคิด เป็นต้น

๕. กลับสิ่งที่คิดแล้วลองคิดในมุมกลับ เป็นการช่วยให้หลุดพ้นจากกรอบความคิดเดิมและสามารถคิดในมุมมองใหม่ได้ คือ การคิดในมุมกลับ

๖. จับคู่ตรงข้าม เพื่อหักมุมสู่สิ่งใหม่คล้ายกับเทคนิคการคิดในมุมกลับ แต่เปลี่ยนเป็นหาสิ่งที่อยู่ตรงข้ามในลักษณะขัดแย้ง (Conflict) เพื่อให้เกิดการหักมุมความคิดที่คาดว่าจะเป็น อาจช่วยให้เราเห็นอีกมุมหนึ่งกับส่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และสามารถพัฒนาความคิดต่อกลายเป็นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ที่ใช้การได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

๗. คิดแหวกวงความน่าจะเป็น ย้อนกลับมาหาความเป็นไปได้ การกลัวที่จะแหวกม่านประเพณีทางความคิด ความเชื่อ การปฏิบัติตามความเคยชิน ด้วยการคิดแหวกวงความน่าจะเป็นแล้วค่อยย้อนกลับมาหาความเป็นไปได้ โดยการดัดแปลงความคิดนั้นให้สามารถปฏิบัติได้จริง

๘. หาสิ่งไม่เชื่อมโยงเป็นตัวเขี่ยความคิดสร้างสรรค์เป็นการพิจารณารายละเอียดของสิ่งของต่างๆ ที่ไมเกี่ยวข้องกัน ไม่คล้ายคลึงกัน แล้วพยายามเชื่อมโยงกัน เพื่อเป็นตัวเขี่ยความคิดให้เกิดการค้นพบสิ่งใหม่ที่เป็นทางออกของปัญหาที่สร้างสรรค์และปฏิบัติได้จริง ใช้แก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม

๙. ใช้เทคนิคการสังเคราะห์ส่วนประกอบ ลักษณะหรือแง่มุมหนึ่งของสิ่งที่ต้องการตอบแล้วเขียนไว้แกนหนึ่ง จากนั้นเขียนรายการของแนวคิดที่เกี่ยวกับอีกลักษณะหนึ่งขอสิ่งที่ต้องการตอบ จะช่วยให้สามารถสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ ได้อีกมากมาย

๑๐. ใช้การเปรียบเทียบเพื่อกระตุ้นมุมมองใหม่ เป็นแนวทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เรียกว่า ซินเนคติกส์ (Synectics) หรือการใช้อุปมาเป็นตัวกระตุ้นให้เห็นมุมมองใหม่ที่แตกต่างกันไปจากเดิม โดยเป็นการรวมกันของตัวประกอบที่แตกต่างกันและไม่เกี่ยวข้องกัน ลักษณะเทียบเคียงหรือ อุปมาอุปมัย แนวคิดว่า ปัญหาที่ไม่คุ้นเคยจะถูกทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับสิ่งที่คุ้นเคย จะทำให้เห็นภาพชัดเจน