ทฤษฎีการออกแบบ

นางสาวกุลนิษก์ สอนวิทย์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจของผลงานทางวิชาการ : หนังสือวิชาทฤษฎีการออกแบบเล่มนี้ มีเนื้อหาที่น่าสนใจสำหรับนักเรียนหรืออาชีพการออกแบบ อาทิเช่น

บทที่ ๑. กล่าวถึง ความหมายการออกแบบว่าเป็นการออกแบบซึ่งเป็นความพยายามของมนุษย์ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่เดิมให้มีความเหมาะสมมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการทั้งด้านความงามและประโยชน์ใช้สอย การออกแบบแฝงอยู่ในงานทุกประเภท ทั้งนี้เพราะการออกแบบเป็นกระบวนการในการแก้ปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ การออกแบบมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องโดยลำดับ ดังนี้

๑. การออกแบบยุคประวัติศาสตร์

๒. การออกแบบยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม

๓. การออกแบบยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม

๔. การออกแบบยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม

๕. การออกแบบยุคสมัยใหม่

๖. การออกแบบยุคหลังสมัยใหม่

๗. การออกแบบยุคปัจจุบัน

บทที่ ๒. ประเภทของการออกแบบ การออกแบบสองมิติ ได้แก่ การออกแบบสร้างสรรค์ ได้แก่ งานออกแบบจิตรกรรม งานออกแบบภาพพิมพ์และการออกแบบภาพถ่าย

การออกแบบตัวอักษร ได้แก่ ประเภทตัวอักษรมี ๒ ประเภท คือ ตัวอักษรเพื่อการเรียงพิมพ์หรืออักษรเรียงพิมพ์ ตัวอักษรประดิษฐ์ รูปแบบและลักษณะเฉพาะของตัวอักษร ได้แก่ รูปแบบของตัวอักษร ลักษณะของตัวอักษร โครงสร้างของตัวอักษร ขนาดของตัวอักษร การเว้นระยะห่าง

การออกแบบสัญลักษณ์และเครื่องหมาย ได้แก่ สัญลักษณ์ เครื่องหมาย สัญลักษณ์และเครื่องหมายมีลักษณะที่หลากหลาย คือ เครื่องหมายสัญลักษณ์ เครื่องหมายภาพ เครื่องหมายอักษร เครื่องหมายภาษา เครื่องหมายผสมและเครื่องหมายการค้า

การออกแบบสามมิติเป็นการออกแบบที่แสดงปริมาตรของรูปทรง มีความกว้าง ความยาวและความหนา การออกแบบสามมิติ ได้แก่ การออกแบบผลิตภัณฑ์ หลักการออกแบบผลิตภัณฑ์ ต้องคำนึงถึงหน้าที่ใช้สอย ความสวยงามน่าใช้ ความสะดวกในการใช้งาน ความปลอดภัย ความแข็งแรง ราคา วัสดุ กรรมวิธีการผลิต การบำรุงรักษาและซ่อมแซมและการขนส่ง

บทที่ ๓. องค์ประกอบมูลฐานของการออกแบบ มีเส้นในทางเรขาคณิตเกิดจากจุดจำนวนมากที่เคลื่อนไหวไปในทิศทางต่างๆ ส่วนเส้นทาง ศิลปะเกิดจากการขีดเขียน ขูด ลาก ระบายด้วยเครื่องมือชนิดต่างๆ และเกิดจากความคิด ได้แก่ เส้นที่เกิดขึ้นจริง เส้นเชิงนัย เส้นที่เกิดจากขอบ เส้นสมมติ

คุณลักษณะของเส้น ได้แก่ เส้นตรง เส้นโค้ง เส้นคตและเส้นประ เส้นเป็นองค์ประกอบมูลฐานที่สำคัญของงานออกแบบ หลายรูปแบบ ได้แก่ เส้นแสดงโครงสร้างภายนอก เส้นแสดงสัญลักษณ์ เส้นแสดงทิศทาง เส้นแสดงขอบเขต เส้นแสดงน้ำหนักและเส้นแสดงลักษณะพื้นผิว

การเปลี่ยนแปลงของรูปร่างและรูปทรง มีแนวทางดังนี้ รูปร่างและรูปทรงเดิม รูปร่างรูปทรงต่อเติม รูปร่างและรูปทรงลดส่วน รูปร่างและรูปทรงกลวง ฯลฯ เป็นต้น

สิ่งที่เกิดจากลักษณะความเข้มของแสงที่ปรากฏแก่สายตาผ่านกระบวนการรับรู้แล้วส่งภาพไปยังสมอง สีแบ่งเป็น ๒ ประเภท ดังนี้ สีจากแสง สีจากเนื้อสี หลักการใช้สีให้เหมาะสมมีแนวทางดังนี้ สีคู่ประกอบ สีคู่ประกอบเยื้องกัน สีคู่ประกอบ ๓ สี สีเอกรงค์และสีข้างเคียง สีกับการออกแบบมีแนวทางดังนี้

๑. การใช้สีในงานทัศนศิลป์

๒. การใช้สีในการออกแบบตกแต่ง

๓. การใช้สีในงานออกแบบกราฟฟิก

ลักษณะพื้นผิวกับงานออกแบบสามมิติ ดังนี้ ลักษณะพื้นผิวในงานประติมากรรม ลักษณะพื้นผิวในงานสถาปัตยกรรม ลักษณะพื้นผิวในงานออกแบบตกแต่งและลักษณะพื้นผิวในงานออกแบบเสื้อผ้า

บทที่ ๔. ทฤษฎีการออกแบบ การสร้างดุลยภาพในงานศิลปะและงานออกแบบ เป็นหลักในการจัดองค์ประกอบในภาพให้เกิดเอกภาพ ดุลยภาพมี ๔ ลักษณะ ดังนี้

๑) ดุลยภาพแบบสมมาตร (Symmetrical Balance)

๒) ดุลยภาพแบบอสมมาตร (Asymmetrical Balance)

๓) ดุลยภาพแบบคล้ายคลึงกัน (Approximate Symmetry Balance)

๔) ดุลยภาพแบบรัศมี (Radial Balance)

องค์ประกอบมูลฐานของการออกแบบกับทฤษฎีดุลยภาพมีแนวทางดังนี้ คือ เส้นกันดุลยภาพ รูปร่างและรูปทรงกับดุลยภาพ สีกับดุลยภาพ ลักษณะพื้นผิวกับดุลยภาพ บริเวณว่างกับดุลยภาพและแสงและเงากับดุลยภาพ

ทฤษฎีสัดส่วน (Proportion) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับงานออกแบบทุกประเภท เพราะสัดส่วนมีความเกี่ยวข้องกับขนาด และระยะที่สัมพันธ์กันอย่างเหมาะสม เพื่อให้มีความใกล้เคียงกับความจริงหรือสภาพแวดล้อม มีความเหมาะสมในการใช้งานและเกิดความสวยงาม ดังนั้น ทฤษฎีสัดส่วน หมายถึง ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบมูลฐานของการออกแบบที่ปรากฏในผลงาน ซึ่งมีขนาด รูปร่าง รูปทรง ที่เหมาะสมกลมกลืนกันทั้งในตัววัตถุเองและสภาพแวดล้อม รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับการใช้งานสัดส่วนมีลักษณะ ๓ ประการ คือ สัดส่วนที่เหมือนกันเท่ากันไม่แสดงความแตกต่างขององค์ประกอบในภาพหรือที่เรียกว่า การซ้ำกัน (Repetition) ให้ความรู้สึกสงบเงียบ สัดส่วนที่แตกต่างกันซึ่งอาจเป็นไปตามกฎของสัดส่วนหรือแตกต่างในลักษณะอื่น ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวนำสายตาไปยังจุดสนใจและสัดส่วนที่ตัดกัน โดยแสดงความแตกต่างกันขององค์ประกอบในภาพอย่างชัดเจน สร้างความน่าสนใจได้เป็นอย่างดี

ทฤษฎีความกลมกลืนและความขัดแย้ง ความกลมกลืน หมายถึง การนำองค์ประกอบมูลฐานของการออกแบบที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าเป็นเส้น สี รูปร่าง ลักษณะพื้นผิว บริเวณว่าง แสงและเงา มาใช้ในการออกแบบได้อย่างเหมาะสมลงตัว เกิดความประสานสอดคล้องกันอย่างพอเหมาะพอดี

ทฤษฎีจังหวะ จังหวะ หมายถึง การซ้ำกันอย่างต่อเนื่องขององค์ประกอบมูลฐานของการออกแบบ ได้แก่ เส้น รูปร่างและรูปทรง สี ลักษณะพื้นผิว บริเวณว่าง แสงและเงาที่มีลักษณะเหมือนกันหรือการสลับไปมาขององค์ประกอบที่แตกต่างกันตั้งแต่ ๒ ชนิดขึ้นไป อย่างต่อเนื่องเป็นระเบียบ เกิดเป็นลวดลายให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวอย่างเป็นจังหวะ

ทฤษฎีการเน้น การเน้น หมายถึง การทำให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของผลงานมีความโดดเด่นกว่าส่วนประกอบอื่นๆ ซึ่งสามารถรับรู้ได้จากการมอง เพื่อสร้างจุดสนใจให้เกิดขึ้นในผลงาน จุดเด่นที่เน้นควรมีเพียงจุดเดียว โดยพิจารณาจากเนื้อหาเรื่องราวหรือความหมายที่ต้องการสื่อสารไปยังผู้ดูและการจัดวางในตำแหน่งที่เหมาะสม รูปแบบของการเน้น คือ การเน้นด้วยความแตกต่าง ด้วยความโดดเด่นและด้วยการจัดวาง

ทฤษฎีเอกภาพ เอกภาพ หมายถึง การนำองค์ประกอบมูลฐานของการออกแบบไม่ว่าจะเป็นเส้น รูปร่าง รูปทรง สี ลักษณะพื้นผิว บริเวณว่าง แสงและเงา มาจัดวางลงบนพื้นภาพอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความประสานกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับการรับรู้ของมนุษย์ในการมองภาพ แล้วเชื่อมโยงองค์ประกอบต่างๆ ให้สัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ

ทฤษฎีแกสตัลท์ เป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ โดยมีแนวคิดหลักว่า ส่วนรวมสำคัญกว่าส่วนย่อยเพราะมนุษย์จะรับรู้สิ่งต่างๆ ที่มองเห็น ในลักษณะรูปทรงโดยรวมก่อน ซึ่งช่วยให้สามารถเข้าใจความหมายได้ง่ายขึ้น จากนั้นจึงแยกแยะ ส่วนย่อยต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นรูปทรงโดยรวมทั้งนี้ต้องอาศัยประสบการณ์เดิมและการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลที่อาจแตกต่างกันด้วย ดังนั้นมนุษย์จะรับรู้สิ่งต่างๆ ได้ดี เมื่อมีโอกาสเห็นภาพรวมทั้งหมดของสิ่งนั้นก่อน เมื่อเกิดภาพรวมทั้งหมดแล้ว การรับรู้รายละเอียดต่างๆ จะเกิดขึ้น

บทที่ ๕. กระบวนวิธีการออกแบบ การออกแบบจะเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ เกิดจากความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ได้แก่ ความเชื่อในแนวคิดที่แตกต่างกัน ความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ การคิดค้นวัสดุและเทคนิคใหม่ๆ ทำให้เกิดแนวคิด วิธีการ รูปแบบและประโยชน์ใช้สอยที่แตกต่างกันไปจากเดิม รวมทั้งการขยายตัวของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งขนาดและคุณภาพ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว แนวทางการออกแบบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสรุปได้ดังนี้

๑. การออกแบบที่เกิดจากการปรับปรุงและพัฒนา

๒. การออกแบบที่เป็นการสร้างสรรค์ใหม่

กระบวนการการออกแบบขั้นพื้นฐาน มีทั้งแบบสองและสามมิติ ย่อมมีขั้นตอนการทำงานที่เป็นระบบ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จของผลงาน โดยที่กระบวนการออกแบบ (Design Process) ของงานศิลปะหรืองานออกแบบแต่ละประเภท อาจแตกต่างกันไปตามคุณลักษณะของผลงาน ได้แก่ กระบวนการออกแบบของคอเบิร์กและเบกนอล แบ่งการออกแบบ ๗ ขั้นตอน คือ การรับรู้สถานการณ์ การวิเคราะห์ การกำหนดขอบเขต การจินตนาการ การคัดเลือก การทำให้สมบูรณ์และการประเมินสำหรับกระบวนการออกแบบของดารัก มี ๔ ขั้นตอน คือ การสรุปแผนงานก่อนปฏิบัติ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์และการประเมินผล ฯลฯ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่ากระบวนการออกแบบตามแนวคิดของนักวิชาการแต่ละคน มีขั้นตอนที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่มีความสอดคล้องกัน ดังการเปรียบเทียบ

 

แสดงการเปรียบเทียบกระบวนการออกแบบ

ขั้นตอนที่ คอเบิร์ก , เบกนอล ดารัก ครอส นวลน้อย น้อยวงษ์
๑. การับรู้สถานการณ์ การสรุปแผนงานก่อนปฏิบัติการ การสำรวจ การกำหนดขอบเขตของปัญหา
๒. การวิเคราะห์ การวิเคราะห์ การผลิต การค้นคว้าหาข้อมูล
๓. การกำหนดขอบเขต การสังเคราะห์ การประเมินผล การวิเคราะห์
๔. การจินตนาการ การประเมิน การสื่อความคิด การสร้างแนวความคิดหลัก
๕. การคัดเลือก     การออกแบบร่าง
๖. การทำให้สมบูรณ์     การคัดเลือก
๗. การประเมินผล     การออกแบบรายละเอียด
๘.       การประเมินผล

 

การออกแบบแต่ละประเภทมีขั้นตอนที่สำคัญ ๕ ขั้นตอน คือ การศึกษาค้นคว้า (Information) การวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis) การสังเคราะห์ (Synthesis) การนำเสนอผลงาน (Presentation) และการประเมินผลงาน (Evaluation)

บทที่ ๖. แนวคิดในการออกแบบ เกิดจากความต้องการของมนุษย์ทางด้านจิตใจ หลักเกณฑ์การพิจารณางานออกแบบ ได้แก่ ประโยชน์ใช้สอย ความงาม การเลือกใช้วัสดุและคุณภาพการผลิต ความเหมาะสมทางการตลาด ความถูกต้องตามกฎระเบียบ ระบบและการคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ความก้าวหน้าทางการปฏิบัติคิดค้น และการเปรียบเทียบคุณสมบัติ

 

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : ผลงานเล่มนี้มีสาระสำคัญที่เน้นเกี่ยวกับการออกแบบทางศิลปะมาก อาทิเช่น

ประเด็นที่ ๑. ความสำคัญของการออกแบบ เป็นกิจกรรมที่อยู่คู่กับชีวิตมนุษย์มาโดยตลอด เริ่มจากการที่มนุษย์ต้องการเอาชนะธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด จึงพยายามคิดค้นสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิต โดยการดัดแปลงสิ่งที่มีอยู่หรือสร้างขึ้นใหม่ การออกแบบจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์ ดังนั้นคุณค่าของการออกแบบจึงสามารถสรุปได้ดังนี้

๑.๑ คุณค่าของการออกแบบต่อการดำรงชีวิต ได้แก่ คุณค่าทางกาย ทางอารมณ์ความรู้สึก และคุณค่าทางทัศนคติ

๑.๒ คุณค่าของการออกแบบต่อสังคม ได้แก่ งานออกแบบเพื่อประโยชน์ใช้สอย เพื่อการติดต่อสื่อสารและเพื่อการออกแบบเป็นคุณค่าของความงาม

ประเด็นที่ ๒. การออกแบบสิ่งพิมพ์ (Publication Design) เป็นการเตรียมรูปแบบของสิ่งพิมพ์ก่อนเข้าสู่กระบวนกรผลิต เพื่อเพิ่มความสวยงามน่าสนใจ สร้างความประทับใจและความทรงจำแก่ผู้อ่าน และช่วยให้อ่านทำความเข้าใจได้ง่ายสิ่งพิมพ์มีหลายประเภท ได้แก่

๒.๑ หนังสือ (Book)

๒.๒ หนังสือพิมพ์ (Newspaper)

๒.๓ นิตยสาร (Magazine)

๒.๔ สิ่งพิมพ์เฉพาะกิจหรือสิ่งพิมพ์เบ็ตเตล็ด (Miscellaneous Publication)

นอกจากนี้ยังมีสิ่งพิมพ์อื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น ธนบัตร เช็ค บัตรอวยพร แสตมป์ ปฏิทิน สมุดบันทึก ซองและกระดาษเขียนจดหมาย นามบัตร แผนที่ ปกซีดีเพลง ปกดีวีดี ภาพยนตร์ ฉลากสินค้า ซอง ถุง กล่อง เป็นสิ่งพิมพ์มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การออกแบบสิ่งพิมพ์ มีปัจจัยสำคัญที่ควรนำมาพิจารณา เพื่อให้การออกแบบสิ่งพิมพ์มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน คือ ประเภทและลักษณะเนื้อหาของสิ่งพิมพ์ วัตถุประสงค์ในการจัดทำ กลุ่มเป้าหมาย ขนาดและรูปแบบมาตรฐานของสิ่งพิมพ์ ฯลฯ เป็นต้น

ประเด็นที่ ๓. รูปแบบของผลิตภัณฑ์ มีมากมายขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน รวมทั้งความนิยมของผู้บริโภคในช่วงเวลานั้น รูปแบบที่นำมาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์มีแนวทางดังนี้

๓.๑ รูปแบบมาก่อนประโยชน์ใช้สอย

๓.๒ ประโยชน์ใช้สอยมาก่อนรูปแบบ

๓.๓ การตลาดมาก่อนออกแบบ

๓.๔ อารมณ์ความรู้สึกมาก่อนรูปแบบ

๓.๕ รูปแบบนิยมความน้อย

๓.๖ รูปแบบอนาคตกาล

สำหรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging Design) เป็นการกำหนดรูปทรง ขนาด ปริมาตร น้ำหนัก ประเภทของวัสดุรวมทั้งลักษณะภายนอก ภาพ สีสัน ข้อความ ให้สามารถคุ้มครองผลิตภัณฑ์ การเก็บรักษา ความสะดวกในการขนส่ง การวางจำหน่าย การสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย การแสดงเอกลักษณ์เฉพาะงานเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องศึกษารายละเอียด ดังนี้ คือ ประเภทของบรรจุภัณฑ์ เช่น รูปทรงแข็งตัว รูปทรงกึ่งแข็งตัวและรูปทรงยืดหยุ่น

แนวคิดในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ สามารถทำได้ดังนี้

๑. การแสดงนวัตกรรม

๒. ความชัดเจน

๓. ความพึงพอใจ

๔. ความดึงดูดใจ

ประเด็นที่ ๔. บริเวณว่าง คือ การกำหนดระยะห่างหรือว่างภายในหรือภายนอกรอบๆ วัตถุหรือภาพ ทำให้เกิดเป็นบริเวณว่าง (Space) ที่สามารถรับรู้ได้ และยังเกิดความงาม ความน่าสนใจ บริเวณว่างจึงเป็นองค์ประกอบมูลฐานทางการออกแบบที่จะปรากฏขึ้นเมื่อมีองค์ประกอบอื่นมาแสดงตัวหรือแทนที่ ทั้งในลักษณะสองและสามมิติ การนำบริเวณว่างมาใช้ในการออกแบบควรศึกษาเกี่ยวกับปริมาตรหรือวัตถุหรือรูปทรงกินเนื้อที่อยู่ อากาศที่โอบรอมรูปทรงอยู่ ระยะระหว่างรูปทรง ปริมาตรของความว่างที่ถูกล้อมรอบด้วยขอบเขต ฯลฯ เป็นต้น

ลักษณะของบริเวณว่างที่ถูกกำหนดให้มีขอบเขตและความหมายตามวัตถุประสงค์ที่ศิลปินและนักออกแบบต้องการบริเวณว่างจึงมีหลายลักษณะ คือ

๔.๑ บริเวณว่างจริงและบริเวณว่างลวงตา

๔.๒ บริเวณว่างสองมิติและสามมิติ

๔.๓ บริเวณว่างบวก , ลบและว่างสองนัย

๔.๔ บริเวณว่างปิดละบริเวณว่างเปิด

ประเด็นที่ ๕. องค์ประกอบมูลฐานของการออกแบบกับทฤษฎีจังหวะ เพื่อให้ผลงานการออกแบบมีผลต่อการรับรู้ของมนุษย์ มีแนวทาง ดังนี้

๕.๑ เส้นกับจังหวะ

๕.๒ รูปร่างและรูปทรงกับจังหวะ

๕.๓ สีกับจังหวะ

๕.๔ ลักษณะพื้นผิวกับจังหวะ

๕.๕ บริเวณว่างกับจังหวะ

๕.๖ แสงและเงากับจังหวะ

ประเด็นที่ ๖. การศึกษาค้นคว้าและการวิเคราะห์ข้อมูล การออกแบบทุกประเภท ย่อมมีกระบวนการของการทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อเป็นแนวทางให้การทำงานบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้จำเป็นต้อง

๖.๑ การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับบทบาทของข้อมูลในการออกแบบมี ๓ ระยะ คือ ก่อนการออกแบบ ระหว่างการออกแบบและหลังการออกแบบ

๖.๒ การส่งข้อมูลทั้งข้อมูลทุติยภูมิและปฐมภูมิ

๖.๓ การจำแนกประเภทข้อมูล จากเนื้อหาของข้อมูล คือ ข้อมูลทั่วไปกับข้อมูลเฉพาะและการจำแนกคุณภาพของข้อมูล

๖.๔ ปัจจัยที่มีผลต่อข้อมูลการออกแบบ คือ ด้านวัฒนธรรม สังคมและจิตวิทยา

การวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อหาความสัมพันธ์ของข้อมูล แล้วนำมาแยกแยะเป็นระบบ การวิเคราะห์ข้อมูลมี ๒ ลักษณะ ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการออกแบบที่เน้นการคิดค้นสิ่งใหม่ คำนึงถึงหน้าที่ใช้สอย หน้าที่หลักโดยรวม การเปลี่ยนแปลง ฯลฯ เป็นต้น

การสังเคราะห์ เป็นการทำงานที่ได้จากการวิเคราะห์มาใช้เป็นแนวทางการแก้ปัญหาด้วยเทคนิค วิธีการต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของการใช้งาน ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์งานออกแบบให้มีลักษณะเฉพาะตัว โดยการสร้างแนวความคิดหลัก การออกแบบร่าง การออกแบบรายละเอียด

ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ แบ่งได้เป็น ๔ ระดับ ได้แก่ ระดับที่ ๑ ความคิดสร้างสรรค์ประเภทการลอกเลียน ระดับที่ ๒ ความคิดสร้างสรรค์ประเภทต่อเนื่อง ระดับที่ ๓ ความคิดสร้างสรรค์ประเภทการสังเคราะห์ และระดับที่ ๔ ความคิดสร้างสรรค์ประเภทสร้างนวัตกรรม องค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์ คือ ต้องเป็นสิ่งใหม่ ต้องใช้การได้และต้องมีความเหมาะสม

 

จุดเด่นและความน่าสนใจของผลงานทางวิชาการ :  เอกสารประกอบการสอนฉบับนี้มีจุดเด่นและความน่าสนใจหลายประเด็น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่ออาชีพครูสอนศิลปะและวิชาชีพการออกแบบทางศิลปะ ได้แก่

จุดเด่นที่ ๑. แนวคิดในการเลือกใช้สื่อโฆษณา ณ จุดซื้อ เพื่อกระตุ้นความสนใจและช่วยในการตัดสินใจของผู้บริโภค ดังนี้

๑.๑ การใช้ข้อมูล (Information)

๑.๒ การเตือนความจำ (Reminding)

๑.๓ การสร้างความจูงใจ (Persuading)

๑.๔ การทำหน้าที่ในการขาย (Merchandising)

แนวทางการออกแบบสื่อโฆษณา ณ จุดซื้อ จะต้องมีลักษณะดังนี้ คือ ขนาดและรูปแบบที่ถูกต้องเหมาะสมกับสินค้า เนื้อที่ของชั้นโชว์สินค้าและบริเวณพื้นที่จัดแสดงทั้งหมด ง่ายและสะดวกในการตกแต่ง สวยงาม สะดุดตาของผู้บริโภคที่ตาเห็น มีความเป็นกันเอง สะดวกแก่การหยิบชมและทดลองสินค้า เหมาะสมกับฤดูกาลหรือความจำเป็นในการใช้สินค้าและมีรูปแบบที่น่าสนใจ

จุดเด่นที่ ๒. เทคนิคการให้แสงและเงาในงานสองมิติ ในการเขียนภาพและสามมิติบนระนาบสองมิติต้องให้แสงและเงาอย่างถูกต้อง ซึ่งมีเทคนิคการเขียนภาพ ๒ ลักษณะ คือ

๒.๑ การวาดเส้น (Drawing) การทำให้เกิดแสงและเงา โดยการวาดเส้น เรียกว่าการแรเงา มี ๒ วิธี คือ การแรเงาแบบเส้น โดยการกำหนดค่าน้ำหนักบนวัตถุในภาพ ด้วยการใช้เส้นตรงหรือเส้นโค้งขีดทับกันในลักษณะคล้ายตาข่ายให้มีน้ำหนัก อ่อน-เข้ม โดยเพิ่มจำนวนเส้นที่ทับกันให้ได้ค่าน้ำหนักตามที่ต้องการและการแรเงาแบบเกลี่ยเรียบ โดยการแรเงาค่าน้ำหนักที่ต่างกันแล้วเฉลี่ยให้เรียบกลมกลืนกันตามลำดับ โดยไม่เห็นร่องรอยของเส้นดินสอ

๒.๒ การเขียนภาพระบายสี (Painting) เป็นการเขียนภาพเพื่อแสดงให้เห็นค่าน้ำหนักของแสงและเงาด้วย สีชนิดต่างๆ โดยมีน้ำหนักว่าถ้าแสงสว่างมากเงาก็จะมีความชัดเจนมากและสีของเงานั้นจะเป็นสีที่ต้องผสมด้วยสีตรงข้ามของสีวัตถุนั้นมากขึ้น แต่ถ้าแสงน้อยเงาของวัตถุก็จะมีน้ำหนักสีใกล้เคียงกับน้ำหนักสีของวัตถุนั้น

 

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : หนังสือทฤษฎีการออกแบบเล่มนี้ยังปรากฏว่าเนื้อหาสาระที่สามารถนำไปเป็นประโยชน์กับอาชีพอื่นๆ นอกจากศิลปะแล้ว เช่น อาชีพการทำธุรกิจ หรืออาชีพครูสอนหนังสือด้วย ได้แก่

เทคนิคการสร้างสรรค์ งานศิลปะและงานออกแบบมีขั้นตอนการทำงานของความคิด โดยใช้เทคนิคต่างๆ ในการแสวงหาแนวคิดใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การค้นพบทางออกของปัญหา ซึ่งมีข้อเสนอแนะ สรุปได้ดังนี้

๑. การหาความคิดใหม่ที่หลากหลาย การระดมสมอง (Brainstorming) เป็นการหาความคิดใหม่ด้วยการระดมสมองจากกลุ่มบุคคล เกิดเป็นความคิดหลากหลาย ความคิดสร้างสรรค์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปแก้ไขข้อบกพร่องปรับปรุง เปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาให้ดีขึ้น โดยเลือกกลุ่มบุคคลที่มีความคิดหลากหลายเพื่อได้มุมมองต่างกัน แล้วเลือกความคิดที่เหมาะสมหรือนำมาผสมผสานกัน เลือกให้ตรงกับวัตถุประสงค์ได้มากที่สุด

๒. ทำของเก่าให้เป็นของใหม่ ด้วยแผ่นตรวจสอบของออสปอรัน (Osborn) นักคิดสร้างสรรค์ มีลักษณะเป็นแผ่นที่บรรจุแนวทางกระตุ้นความคิดในแง่มุมต่างๆ เพื่อหาความเป็นไปได้หรือช่วยให้เกิดความคิดในมุมมองใหม่ๆ มี ๙ แนวทาง อาทิเช่น เอาไปใช้อย่างอื่นได้หรือไม่? (Put to other user ?) ปรับเปลี่ยนได้หรือไม่ ? (Modify) ฯลฯ เป็นต้น

๓. ขยายขอบเขตปัญหาจากรูปธรรมสู่นามธรรมแล้วค่อยคิด พยายามถอดกรอบโครงสร้างความคิดที่จำกัดไปสู่จินตนาการนอกขอบเขตอย่างอิสระ กระตุ้นให้เกิดการออกแบบใหม่ๆ ใช้ร่วมกับการระดมสมอง เป็นกระบวนการความคิดเชิงปฏิบัติการ

๔. ปรับสภาพแวดล้อมและเวลาให้เหมาะสมกับการคิดจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกใหม่ เกิดอารมณ์ใหม่และเกิดความคิดนอกกรอบเดิมได้ อาจต้องอาศัยเวลาด้วย เช่น การกำจัดเวลาในการคิด เป็นต้น

๕. กลับสิ่งที่คิดแล้วลองคิดในมุมกลับ เป็นการช่วยให้หลุดพ้นจากกรอบความคิดเดิมและสามารถคิดในมุมมองใหม่ได้ คือ การคิดในมุมกลับ

๖. จับคู่ตรงข้าม เพื่อหักมุมสู่สิ่งใหม่คล้ายกับเทคนิคการคิดในมุมกลับ แต่เปลี่ยนเป็นหาสิ่งที่อยู่ตรงข้ามในลักษณะขัดแย้ง (Conflict) เพื่อให้เกิดการหักมุมความคิดที่คาดว่าจะเป็น อาจช่วยให้เราเห็นอีกมุมหนึ่งกับส่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และสามารถพัฒนาความคิดต่อกลายเป็นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ที่ใช้การได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

๗. คิดแหวกวงความน่าจะเป็น ย้อนกลับมาหาความเป็นไปได้ การกลัวที่จะแหวกม่านประเพณีทางความคิด ความเชื่อ การปฏิบัติตามความเคยชิน ด้วยการคิดแหวกวงความน่าจะเป็นแล้วค่อยย้อนกลับมาหาความเป็นไปได้ โดยการดัดแปลงความคิดนั้นให้สามารถปฏิบัติได้จริง

๘. หาสิ่งไม่เชื่อมโยงเป็นตัวเขี่ยความคิดสร้างสรรค์เป็นการพิจารณารายละเอียดของสิ่งของต่างๆ ที่ไมเกี่ยวข้องกัน ไม่คล้ายคลึงกัน แล้วพยายามเชื่อมโยงกัน เพื่อเป็นตัวเขี่ยความคิดให้เกิดการค้นพบสิ่งใหม่ที่เป็นทางออกของปัญหาที่สร้างสรรค์และปฏิบัติได้จริง ใช้แก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม

๙. ใช้เทคนิคการสังเคราะห์ส่วนประกอบ ลักษณะหรือแง่มุมหนึ่งของสิ่งที่ต้องการตอบแล้วเขียนไว้แกนหนึ่ง จากนั้นเขียนรายการของแนวคิดที่เกี่ยวกับอีกลักษณะหนึ่งขอสิ่งที่ต้องการตอบ จะช่วยให้สามารถสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ ได้อีกมากมาย

๑๐. ใช้การเปรียบเทียบเพื่อกระตุ้นมุมมองใหม่ เป็นแนวทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เรียกว่า ซินเนคติกส์ (Synectics) หรือการใช้อุปมาเป็นตัวกระตุ้นให้เห็นมุมมองใหม่ที่แตกต่างกันไปจากเดิม โดยเป็นการรวมกันของตัวประกอบที่แตกต่างกันและไม่เกี่ยวข้องกัน ลักษณะเทียบเคียงหรือ อุปมาอุปมัย แนวคิดว่า ปัญหาที่ไม่คุ้นเคยจะถูกทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับสิ่งที่คุ้นเคย จะทำให้เห็นภาพชัดเจน