ชื่อผลงานทางวิชาการ : การสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยจากการตั้งประเด็นคำถามในการสร้างสรรค์สู่องค์ประกอบการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัย ชุด “การอยู่ร่วมกัน”

ปีที่พิมพ์ : 2560

ข้อมูลเพิ่มเติม : เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทีทัศน์วัฒนธรรม สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาปีที่ 16 ฉบับที่ 1 (มกราคม – ธันวาคม 2560)

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ/ตำแหน่งทางวิชาการ : อาจารย์ ธนกร สรรย์วราภิภู  อาจารย์ประจำสาขาวิชานาฏยศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

 

          บทความวิจัย เรื่อง  การสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยจากการตั้งประเด็นคำถามในการสร้างสรรค์สู่องค์ประกอบการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัย ชุด “การอยู่ร่วมกัน ”The creation of contemporary dance from the question of creation to contemporary dance composition “Kan Yuu Ruam Gun” ผู้ศึกษา คือ อาจารย์ธนกร สรรย์วราภิภู  อาจารย์ประจำสาขาวิชานาฏยศิลป์  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัย จากการตั้งประเด็นคำถามในการสร้างสรรค์สู่องค์ประกอบการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ร่วมสมัย  การอยู่ร่วมกัน ของกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาขงจื้อ โดยต้องคำนึงถึงการออกแบบโครงเรื่องการแสดง การออกแบบการเคลื่อนไหว การออกแบบเสียงและดนตรีประกอบ การออกแบบเครื่องแต่งกาย และการออกแบบอุปกรณ์ประกอบการแสดง  กลุ่มตัวอย่าง คือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านแขกมุสลิมบ้านสมเด็จ

          สาระสำคัญของบทความวิจัยนี้ 

          การดำเนินการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ร่วมสมัย ชุด เราอยู่ร่วมกัน มีการคำนึงถึงการออกแบบโครงเรื่องการแสดงที่นำลักษณะเด่นของคำสอน  ด้านการอยู่ร่วมกันมาใช้วางโครงเรื่อง การคำนึงถึงการออกแบบการเคลื่อนไหว ผู้วิจัยได้ให้ความสำคัญ ในการเลือกใช้ท่าทางที่สามารถสื่อความหมายของโครงเรื่องที่ได้ถูกวางไว้ให้เกิดความชัดเจนมากที่สุด  ตามข้อมูลที่ได้ศึกษา การคำนึงถึงการออกแบบเสียงและดนตรีประกอบ ที่มุ่งเน้นการกระตุ้นจินตนาการและสร้างบรรยากาศการแสดงให้ผู้ที่ได้รับชมเกิดความคล้อยตามทางอารมณ์ การคำนึงถึงการออกแบบเครื่องแต่งกายที่เรียบง่ายสอดคล้องกับแนวคิดทางศาสนา และการคำนึงถึงการออกแบบอุปกรณ์ประกอบการแสดงที่สามารถนำมาใช้พัฒนา สนับสนุนการแสดงให้เกิดรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย

          การนำไปใช้ประโยชน์

          เห็นได้ว่าการตั้งประเด็นคำถามในแต่ละองค์ประกอบการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานมีเป้าหมายในการดำเนินการ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้วิจัยในการศึกษาหาข้อมูลที่จะมุ่งเน้นไปยังประเด็นที่ผู้วิจัยต้องการสร้างสรรค์ให้เกิดผลงานที่มีลักษณะเฉพาะและมีความแตกต่างออกไปจากการแสดงนาฏยศิลป์ชิ้นอื่น ๆ

 

 

การสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยจากการตั้งประเด็นคำถามในการสร้างสรรค์สู่องค์ประกอบการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัย ชุด “การอยู่ร่วมกัน”

The creation of contemporary dance from the question of creation to contemporary dance composition “Kan Yuu Ruam Gun”

ธนกร สรรย์วราภิภู / Tanakorn Sunvaraphiphu[1]

บทคัดย่อ

          ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยมีแนวความคิดที่จะสะท้อนคุณค่าทางผลงานการสร้างสรรค์ที่ปรากฏให้เห็นถึงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม การเข้าร่วมกิจกรรมของผู้คนในชุมชน และใช้แนวคิดในการหาข้อมูลเฉพาะพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานทางนาฏยศิลป์ร่วมสมัยที่เป็นปัจจุบัน เพื่อค้นหาแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยจากการตั้งประเด็นคำถามในการสร้างสรรค์สู่องค์ประกอบการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์      ร่วมสมัยโดยเลือกกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มประชากรในชุมชนบ้านแขกมุสลิมบ้านสมเด็จใช้วิธีการศึกษาข้อมูลเชิงเอกสาร สัมภาษณ์จากประชากรในชุมชน และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (Non-Participant Observation) ในการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยจากการตั้งประเด็นคำถามการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์สำหรับจัดวางองค์ประกอบทางการแสดงอย่างมีเหตุผล จากการดำเนินงานทำให้ได้องค์ประกอบการแสดงต่าง ๆ สู่ผลงานการแสดงนาฏยศิลป์ร่วมสมัย ชุด “การอยู่ร่วมกัน” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ

คำสำคัญ: นาฏยศิลป์ร่วมสมัย, องค์ประกอบ, การสร้างสรรค์

 

Abstract

          Contemporary dance works have the concept to reflect on the value of creative work that is reflected in the promotion of art and culture. The participation in community activities and use the concept of site-specific research to create contemporary dance work in present time to find a way to create contemporary dance work from the question of creation to contemporary dance compositions by selecting the target from population in Bansomdej Islamic Communities, document, interview, and non-participant observation non-participatory observation. To create contemporary dance works by setting the dictation question for the production of theatrical compositions. From this performance, the elements of the show are transformed into a unique contemporary dance performance “Kan Yuu Ruam Gun”.

Keywords: Contemporary dance, Composition, Creative

 

บทนำ

          บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยเรื่อง “การยอมรับบุคคลภายนอกชุมชนบ้านแขกสะท้อนผ่านนาฏยศิลป์ร่วมสมัย” ผู้วิจัยค้นคว้าข้อมูลพร้อมได้รับคำสัมภาษณ์ถึงปัญหาว่า “คนทั่วไปมักเหมากลัวรวมคนอิสลามโดยไม่สามารถแยกแยะวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นได้ ส่งผลให้ชาวมุสลิมบางคนถูกมองว่าเป็นบุคคลน่ากลัวไม่น่าเข้าใกล้” (ชนัญรักฒ์ สุวรรณวัฒน์, ๒๕๖๐) ผู้วิจัยเห็นว่าจากกรณีดังกล่าวอาจส่งผลไม่ดีโดยตรงต่อผู้คนในชุมชนบ้านแขกมุสลิมบ้านสมเด็จที่ก่อตั้งอยู่บริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาถูกมองเป็นที่ไม่ยอมรับและเป็นหวาดกลัวต่อผู้คนภายนอกชุมชนเนื่องจากผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนนี้เป็นชาวมุสลิมร้อยละ ๙๐ ของประชากรทั้งหมดในชุมชน อาจเกิดเกิด “โรคหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia)” เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นสำหรับผู้ที่ต่อต้านชาวมุสลิมและนับวันจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ (Faliq, ๒๐๑๐ : ๖) ผู้วิจัยเห็นว่าเป็นปัญหาสําคัญที่จําเป็นจะต้องแสดงให้เห็นว่าผู้คนภายในชุมชนบ้านแขกเป็นมิตรและพร้อมที่จะต้อนรับบุคคลภายนอกชุมชนที่จะเข้ามาชื่นชมตามหลักคำสอนในศาสนาเช่นเดียวกับความเชื่อในศาสนาอื่น ๆ ผ่านการวิจัยที่ผู้วิจัยได้ศึกษาและรวบรวมเก็บข้อมูลโดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพและรูปแบบการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ โดยเลือกกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มประชากรในชุมชนบ้านแขกมุสลิมบ้านสมเด็จใช้วิธีการศึกษาข้อมูลเชิงเอกสาร สัมภาษณ์จากประชากรในชุมชน และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (Non-Participant Observation) จากนั้นตั้งประเด็นคำถามในการสร้างสรรค์สู่องค์ประกอบการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยในการกำหนดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบการแสดงเพื่อให้ได้ข้อมูลการสร้างสรรค์ตามหลักเหตุและผลของการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยมีแนวความคิดที่จะสะท้อนคุณค่าทางผลงานการสร้างสรรค์ที่ปรากฏให้เห็นถึงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม การเข้าร่วมกิจกรรมของผู้คนในชุมชน และใช้แนวคิดในการหาข้อมูลเฉพาะพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานทางนาฏยศิลป์ร่วมสมัยที่เป็นปัจจุบัน

 

วัตถุประสงค์

          เพื่อค้นหาแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยจากการตั้งประเด็นคำถามในการสร้างสรรค์สู่องค์ประกอบการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ร่วมสมัย

 

วิธีการดำเนินงานวิจัย

          ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ดำเนินการดำเนินงานวิจัยตามขั้นตอน โดยเลือกประชากรและกลุ่มตัวอย่างใช้เครื่องมือในการวิจัยโดยการสำรวจข้อมูลเชิงเอกสาร สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ สำรวจข้อมูลภาคสนาม จากนั้นเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูล และสู่กระบวนการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัย ผู้วิจัยมีวัตถุประสงค์ในการค้นหาแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยร่วมกับการค้นคว้าหาข้อมูลสำหรับการสร้างสรรค์การแสดงโดยใช้แนวคิดด้านความแตกต่างทางความเชื่อของผู้คนที่นับถือศาสนาอิสลาม        ในชุมชนซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนมากที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านแขกกับผู้ที่นับถือศาสนาที่แตกต่างออกไป และบุคคลภายนอกชุมชนในการอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ เพื่อค้นหาแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัย ผู้วิจัยจึงได้ตั้งประเด็นคำถามตามองค์ประกอบการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัย ชุด การอยู่ร่วมกัน ดังต่อไปนี้

          การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์

                    ผู้วิจัยได้คำถามในการวิจัยโดยยึดตามผู้เชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ นราพงษ์    จรัสศรี ได้ให้ความเห็นว่า “การสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ควรประกอบด้วยองค์ประกอบ ๗ ประการ คือ โครงเรื่องการแสดง การเคลื่อนไหว เครื่องแต่งกาย เสียงและดนตรีประกอบ อุปกรณ์ประกอบการแสดง พื้นที่และฉากการแสดง และแสง ถึงแม้ว่าจะประกอบด้วยองค์ประกอบที่กล่าวมาหากผู้สร้างสรรค์เล็งเห็นว่าองค์ประกอบใดมีความสำคัญที่น้อยผู้สร้างสรรค์ผลงานสามารถนำไปไว้ในส่วนท้ายของลำดับการสร้างสรรค์ได้ เนื่องจากการสร้างสรรค์ทางนาฏยศิลป์ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัว สามารถดำเนินงานได้ตามบริบทที่ผู้สร้างสรรค์เห็นสมควร” (นราพงษ์ จรัสศรี, ๒๕๖๐) ผู้วิจัยได้จำแนกออกตามองค์ประกอบของนาฏยศิลป์เพื่อสรุปให้เห็นถึงหลักคิด พื้นฐานการออกแบบ องค์ประกอบต่าง ๆ ที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ ลักษณะของการแสดงเพื่อหาคำตอบในการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยในการวิจัยฉบับนี้

  1. การคำนึงถึงการออกแบบโครงเรื่องการแสดง
  2. การคำนึงถึงการออกแบบการเคลื่อนไหว
  3. การคำนึงถึงการออกแบบเสียงและดนตรีประกอบ
  4. การคำนึงถึงการออกแบบเครื่องแต่งกาย
  5. การคำนึงถึงการออกแบบอุปกรณ์ประกอบการแสดง

เห็นได้ว่างานวิจัยฉบับนี้ผู้วิจัยไม่ได้ใส่หัวข้อการคำนึงถึงการออกแบบพื้นที่ และแสง เนื่องจากงานวิจัยฉบับนี้เป็นงานวิจัยภาคสนามที่ลงพื้นที่ชุมชน เพื่อเก็บข้อมูลจากชุมชนบ้านแขกมุสลิม     บ้านสมเด็จ โดยเก็บข้อมูล และนำมาวิเคราะห์เพื่อสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัย ได้เล็งเห็นว่า       การแสดงชุด “การอยู่ร่วมกัน” เป็นการแสดงเฉพาะพื้นที่ที่ถูกสร้างสรรค์จากประเด็นปัญหาที่ผู้วิจัยสนใจ     ในพื้นที่ชุมชนบ้านแขกมุสลิมบ้านสมเด็จ ดังนั้น การแสดงสร้างสรรค์จึงมีความเหมาะสมในการแสดงเฉพาะพื้นที่ซึ่งสอดคล้องกับการออกแบบแสงที่มุ่งเน้นการใช้แสงจากธรรมชาติ

 

          การคำนึงถึงการออกแบบโครงเรื่องการแสดง

          มีการดำเนินการแสดง โดยแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนแรก จะแสดงถึงสัญลักษณ์ของแต่ละศาสนา เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างของแต่ละศาสนา ขั้นตอนที่สอง นำเสนอหลักคำสอนของแต่ละศาสนา ขั้นตอนที่สาม นำเสนอการอยู่ร่วมการของทุกศาสนาโดยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

          ขั้นตอนแรก เป็นการนำท่ารำเข้ามาผสมผสานกัน และนำสัญลักษณ์ของแต่ละศาสนามาใช้ในการแสดง

          ขั้นตอนที่สอง นำเสนอหลักคำสอนของแต่ละศาสนา โดยแบ่งออกเป็น ๔ ศาสนา อันได้แก่

ศาสนาอิสลาม ห้ามกระทำความชั่ว ห้ามเอาเปรียบผู้อื่นทั้งกายและใจ

ศาสนาพุทธ ใช้หลักธรรมเพื่อดำเนินชีวิต คือ อิทธิบาท 4 ได้แก่ ฉันทะ (ความพอใจ) วิริยะ (ความเพียร) จิตตะ(ความคิดฝักใฝ่) วิมังสา (การสอบสวนตรวจตรา) พรหมวิหาร 4 ได้แก่ เมตตา คือความปรารถนาดี กรุณา คือความสงสาร มุทิตา คือชื่นชมยินดี อุเบกขา คือความวางใจเป็นกลาง

ศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนต์ สอนให้รักทุกคน และอภัยแก่ผู้ทำผิด

ลัทธิขงจื้อ ให้ตอบแทนความชั่วด้วยความดี

          ขั้นตอนที่สาม เป็นการรวมทุกศาสนาเข้ามาอยู่ด้วยกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สะท้อนวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนบ้านแขก

 

          การคำนึงถึงการออกแบบการเคลื่อนไหว

          เลือกจากท่าพื้นฐานทางนาฎยศิลป์ไทยและนาฏยศิลป์สากล โดยใช้แนวคิด        จากผลการวิจัยแนวคิดในการออกแบบนาฏยศิลป์จากประสบการณ์การแสดงประกอบกับแรงบันดาลใจของอาจารย์สุวรรณี ชลานุเคราะห์ โดยใช้หลักการออกแบบการเคลื่อนไหว ๔ ประการได้แก่ ๑) ใช้หลักการจินตนาการ ๒) ใช้หลักการตีบทผสมผสานท่าทางธรรมชาติ ๓) ใช้หลักการนำท่ารำเก่ามาพัฒนาใหม่ ๔) ใช้หลักการสร้างสรรค์กระบวนท่ารำใหม่ในรูปแบบการรำตีบทตามคำร้องและทำนองเพลง (ณัฏฐนันท์           จันนินวงศ์, ๒๕๕๖ : ออนไลน์) อภิธรรม กำแพงแก้ว ได้กล่าวเสริมว่า ความสามารถในการเป็นนักออกแบบ  ท่าเต้นจะสัมพันธ์กับประสบการณ์ กระบวนการคิดและการนำเสนอ อาจเป็นหนทางที่นำไปทดลองเพียงให้ตระหนักว่างานการแสดงประเภทนี้ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้สร้างงานและของผู้รับชม ที่สำคัญที่สุดคือ    ความลงตัวที่เกิดขึ้นต่อผลงานการออกแบบท่าเต้น (อภิธรรม กำแพงแก้ว, ๒๕๔๔ : ๒๑-๒๘) การสร้างงานทางด้านนาฏยศิลป์มีกระบวนการสร้าง  แบ่งออกเป็น  ๓  แนวทาง  คือ  ๑) สร้างขึ้นจากประสบการณ์ที่สั่งสมมา  ๒) ดัดแปลงจากงานของผู้อื่น  ๓) จินตนาการท่ารำขึ้นใหม่ ซึ่งท่าที่ใช้ในการแสดงมีท่าหลักของแต่ละศาสนาดังต่อไปนี้

ภาพที่ ๑ ท่าทางแสดงสัญลักษณ์ของแต่ละศาสนา

(ที่มา : ผู้วิจัย)

ท่าที่ ๑ การพนมมือไหว้แสดงถึงศาสนาพุทธ นำมาจาก ท่าทางการไหว้ของชาวพุทธในประเทศไทย

ท่าที่ ๒ การนำมือทั้งสอง ประกบกันบริเวณหน้าผาก และผายมือที่ด้านหน้าของตนเอง เป็นท่าการละหมาด ที่ผู้สร้างสรรค์แสดงถึงศาสนาอิสลาม นำมาจากท่าทางการละหมาดของชาวอิสลาม

ท่าที่ ๓ การมือทั้งสองข้างผสานกันที่บริเวณหน้าอกแสดงถึงศาสนาคริสต์ นำมาจากท่าทางการสวดอ้อนวอนขอพรพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาคริสต์

ท่าที่ ๔ การนั่งคุกเขาและนำมือประสานกันบริเวณด้านหน้าพร้อมก้มศรีษะแสดงถึงลัทธิขงจื้อ นำมาจากท่าทางการเคารพบรรพชนหรือเทพเจ้าในศาลเจ้า

          การออกแบบท่า คือ การนำท่าทางนาฏยศิลป์ไทยที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ใช้ร่วมกับท่าทางนาฏยศิลป์สากล เพื่อให้เกิดท่าขึ้นใหม่และสื่อถึงการแสดงที่นำเสนอ ซึ่งมีหลักการในการออกแบบท่าส่วนหนึ่งมาจากทฤษฎีนาฏยประดิษฐ์ ของ ผุสดี หลิมสกุล ดังเช่นภาพต่อไปนี้

          ผู้วิจัยนำรูปร่างของรูปหัวใจที่แสดงถึงความรักในศาสนาคริสต์เข้ามาเป็นโครงสร้างในการออกแบบท่าทาง โดยให้นักเต้นทั้งสองผสานกันและขยายออกโดยมีช่วงตัวที่ซ้อนกัน

ภาพที่ ๒ การออกแบบท่าทางแสดงแนวคิดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศาสนาคริสต์

(ที่มา : ผู้วิจัย)

 

          ผู้วิจัยนำท่าทางการรำของภาคใต้เข้ามาใช้ในช่วงการแสดงอิสลามเนื่องจากภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีประชากรชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก พร้อมการพันผ้าในรูปแบบของหญิงสาวชาวมุสลิม

ภาพที่ ๓ การออกแบบท่าทางแสดงแนวคิดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศาสนาอิสลาม

(ที่มา : ผู้วิจัย)

 

          ผู้วิจัยนำท่าทางการละหมาด จัดรูปแบบที่มีระดับไม่เท่ากันซึ่งแสดงให้เห็นถึงระดับชั้นในสังคมพร้อมกับให้หน้ามาหาผู้ชมและแสดงความเคารพโดยใช้ท่าละหมาด ผู้วิจัยต้องการแสดงให้ผู้ชมเห็นว่าชาวอิสลามถูกสอนให้รักและเคารพทุกคนไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ระดับใดก็ตาม

ภาพที่ ๔ การออกแบบท่าทางแสดงแนวคิดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศาสนาอิสลาม

(ที่มา : ผู้วิจัย)

 

          ผู้วิจัยได้นำผ้าวางไว้สามผืน และเลือกให้นักเต้นชายเดินบนผืนกลางเนื่องจากหลักคำสอนของชาวพุทธที่ยึดถือปฏิบัติคือการเดินทางสายกลาง ส่วนนักเต้นที่เหลือแสดงให้เห็นถึงความเคารพในศาสนาของตน

ภาพที่ ๕ การออกแบบท่าทางแสดงแนวคิดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศาสนาพุทธ

(ที่มา : ผู้วิจัย)

 

          ผู้วิจัยนำผ้าไขว้กันในแนวตั้ง ออกแบบให้ได้สัญลักษณ์ไม้กางแขนที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์

ภาพที่ ๖ การออกแบบท่าสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์

(ที่มา : ผู้วิจัย)

 

          ผู้วิจัยออกแบบให้นักเต้นยืนซ้อนกันและเห็นเพียงมือที่มีมากมาย ตามแบบรูปปั้นในลัทธิขงจื้อ

ภาพที่ ๗ การออกแบบท่าทางแสดงแนวคิดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากลัทธิขงจื้อ

(ที่มา : ผู้วิจัย)

 

          การคำนึงถึงการออกแบบเสียงและดนตรีประกอบ

          การใช้ดนตรีเพื่อค้นหาการเคลื่อนไหว อาศัยประสบการณ์เพื่อความเข้าใจในเครื่องดนตรี เสียง และจังหวะ ดนตรีถือเป็นเครื่องกระตุ้นวัตถุดิบการเคลื่อนไหวให้ออกมาได้เป็นอย่างดี “ดนตรีเป็นส่วนสำคัญสำหรับตนเองที่จะกระตุ้นให้เกิดจินตนาการและรูปแบบการสร้างสรรค์การสร้างเคลื่อนไหว”      (ธนกร สรรย์วราภิภู, ๒๕๕๘ : ๒๒)

          การคำนึงถึงการออกแบบเครื่องแต่งกาย

          การแต่งกายจะเป็นชุดสีขาวรัดสะเอวด้วยผ้าสีเหลืองอ่อน มัดข้อมือด้วยผ้าสีเหลืองอ่อนเช่นกัน และใช้ผ้าชีฟองสีเหลืงอ่อน แสดงสื่อถึงเรื่องราวที่นำจะเสนอผ่านรูปแบบนาฏยศิลป์ร่วมสมัย โดยใช้หลักการใช้สี ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ อัจฉรา สโรบล โดยสีสามารถแสดงถึงอารมณ์และความรู้สึกได้เช่น สีแดง สีส้ม สีเหลือง จะให้ ความรู้สึกถึงความกระตือรือร้น ความตื่นเต้น ทําให้เกิดความรู้สึก สดใส แจ่มใส ส่วนสีนํ้าเงิน สี เขียว สีม่วง ทําให้มีความรู้สึกสุขุม เคร่งขรึม สงบสบาย ความรู้สึกและคุณภาพของสีมีความสําคัญต่อการวางแผนตกแต่งบ้านหรือที่ ทํางาน และเช่นเดียวกับการเลือกสีเกี่ยวกับเสื้อผ้าด้วย เช่น ในห้องอาหารหรือฟาสท์ฟู๊ด ( fast – food )  ส่วนมากจะใช้สีที่สดใส สบาย ๆ เพื่อจะชักชวนให้ลูกค้าเข้ามาสั่งอาหารและทานอาหารได้ มาก ๆ  ส่วนสีที่ออกไปทางนํ้าเงินหรือสีเขียว ส่วนมากจะใช้กับที่ที่ต้องการจะให้ความรู้สึกสบาย ๆ พักผ่อน  ร้านหมอหรือโรงพยาบาล ส่วนมากจะเป็นสีขาวหรือสีอ่อน ๆ ให้ความรู้สึกว่าสะอาด       นักธุรกิจในระดับผู้บริหารชั้นผู้ใหญ่ ส่วนมากจะใช้เสื้อสูทสี deep blue หรือสีนํ้าเงินเข้มเพราะดูแล้วจะมีลักษณะน่าเกรงขาม สุขุม

          สำหรับการแสดงชุดนี้ เป็นการแสดงที่เกี่ยวข้องกับศาสนาที่อยู่ร่วมกันในชุมชนบ้านแขก จึงเลือกใช้ชุดสีขาวซึ่งเป็นสีที่มองแล้วรู้สึกเงียบสงบ และใช้ผ้าสีไข่ให้เกิดความแตกต่างยึดสีที่มองแล้วเรียบกลมกลืนกับชุดสีขาวเพื่อให้เกิดความลงตัว ซึ่งประกอบด้วยชุดการแสดงมีดังต่อไปนี้

  • เสื้อแขนยาวสีขาว
  • กางเกงแม้วสีขาว
  • ผ้าคาดเอวสีเหลืงอ่อน

 

เครื่องแต่งกาย  

          เครื่องแต่งกายผู้วิจัยเลือกใช้โทนสีขาว เนื่องจากนำความหมายจากสีขาวในธงชาติไทยเป็นหลักในการเลือกสี โดยให้ความหมายไว้ว่าสีขาวคือสีแทนศาสนา ความบริสุทธิ์ โดยผู้วิจัยได้เลือกใช้เครื่องแต่งกาย ดังนี้

  • เสื้อแขนยาวสีขาว เพื่อมุ่งเน้นสีขาวมากกว่าผิวกายของผู้แสดง
  • กางเกงแม้วสีขาว ให้ความรู้สึกในวัฒนธรรมของเอเชีย เนื่องจากการแสดงนาฏยศิลป์ร่วมสมัยในครั้งนี้มีการใช้ท่าทางประกอบการแสดงที่นำมาจากวัฒนธรรมจากภูมิภาคเอเชียเป็นส่วนมาก
  • ผ้าคาดเอวสีเหลืงอ่อน เพื่อเน้นสรีระของนักเต้นไม่ให้ดูแข็งจนเกิดไปและเลือกใช้สีไข่ไก่เพื่อให้เกิดมิติในการแต่งกายไม่เป็นสีเดียวกันไปทั้งหมด

ภาพที่ ๘ : เครื่องแต่งกาย

(ที่มา : ผู้วิจัย)

 

          การคำนึงถึงการออกแบบอุปกรณ์ประกอบการแสดง

          ผู้วิจัยนำผ้าชีฟองสีเหลืองเข้ามาประกอบการแสดงเนื่องจากผ้าชีฟองให้ความรู้สึกที่เบา สบายสอดคล้องกับความเชื่อในศาสนาที่ไม่ข้องเกี่ยวกับความรุนแรง และสามารถเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบต่าง ๆ ได้ นอกจากนั้นผู้วิจัยเลือกใช้สีเหลืองเนื่องจากการรวบรวมข้อมูลพบว่าชาวบ้านในชุมชนและนอกชุมชนจะเข้าร่วมทำกิจกรรมร่วมกันในวันพ่อ โดยในขณะนั้นสีประจำพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ คือสีเหลือง อีกทั้งผู้วิจัยต้องการสร้างลักษณะที่แตกต่างในแต่ละศาสนาโดยการนำมาพันกายในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

ภาพที่ ๙ อุปกรณ์ประกอบการแสดง

(ที่มา : ผู้วิจัย)

 

ศาสนาอิสลาม

          ผู้หญิงในศาสนาอิสลาม จะมีการโพกผ้าคลุมศรีษะหรือที่เรียกว่าการ “คลุมฮิญาบ”เปรียบเสมือนเครื่องหมายที่บ่งบอกความเป็นมุสลิม โดยมีความเชื่อในการปิดร่างกายให้มิดชิดโดยเฉพาะในผู้หญิงมุสลิม

ภาพที่ ๑๐ การแต่งกายศาสนาอิสลาม

(ที่มา : ด้านซ้าย ผู้วิจัย, ด้านขวา http://darkroom.baltimoresun.com/wp-content/uploads/2013/07/AFPGetty-521239254.jpg)

ศาสนาพุทธ

          ผู้วิจัยได้นำรูปแบบการพันผ้าสไบของผู้หญิงไทยเข้ามาเป็นแรงบันดาลใจเพื่อแสดงออกถึงศาสนาพุทธ

 

ภาพที่ ๑๑ การแต่งกายศาสนาพุทธ

(ที่มา : ด้านซ้าย ผู้วิจัย, ด้านขวา http://topicstock.pantip.com/camera/topicstock/ 2009/02/O7514399/O7514399-11.jpg)

 

ศาสนาคริสต์

          ผู้วิจัยได้นำรูปแบบการคล้องผ้าด้านหน้าให้อยู่บริเวณหน้าอกและปล่อยชายทั้งสองไว้ด้านหลัง จากภาพจิตรกรรมในโบสถ์ของศาสนาคริสต์

ภาพที่ ๑๒ การแต่งกายศาสนาคริสต์

(ที่มา : ด้านซ้าย ผู้วิจัย, ด้านขวา https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons /9/98/Aachen_cathedral_009.JPG)

 

ลัทธิขงจื้อ

          ผู้วิจัยได้ออกแบบให้นำผ้าคล้องไว้ที่บริเวณข้อพับแขน โดยปล่อยชายผ้าทั้งสองด้านไว้ด้านหน้า ผู้วิจัยได้รับการคล้องผ้าในรูปแบบนี้จากจิตรกรรมภาพวาดในศิลปะจีน

 

ภาพที่ ๑๓ การแต่งกายลัทธิขงจื๊อ

(ที่มา : ด้านซ้าย ผู้วิจัย, ด้านขวา https://www.adssell.net/storage/content_image/ 58/287222/287222_4_2075536657.jpg)

สรุป

          การดำเนินการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ร่วมสมัย ชุด เราอยู่ร่วมกัน ผู้วิจัยได้ดำเนินการค้นหา            แนวทางการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยจากการตั้งประเด็นคำถามในการสร้างสรรค์สู่องค์ประกอบ     การสร้างสรรค์การแสดงนาฏยศิลป์ร่วมสมัยตามแนวทางของผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยในด้านต่าง ๆ ทั้งการคำนึงถึงการออกแบบโครงเรื่องการแสดงที่นำลักษณะเด่นของคำสอนด้าน      การอยู่ร่วมกันมาใช้วางโครงเรื่อง การคำนึงถึงการออกแบบการเคลื่อนไหวที่ผู้วิจัยได้ให้ความสำคัญ            ในการเลือกใช้ท่าทางที่สามารถสื่อความหมายของโครงเรื่องที่ได้ถูกวางไว้ให้เกิดความชัดเจนมากที่สุดตามข้อมูลที่ได้ศึกษา การคำนึงถึงการออกแบบเสียงและดนตรีประกอบที่มุ่งเน้นการกระตุ้นจินตนาการและสร้างบรรยากาศการแสดงให้ผู้ที่ได้รับชมเกิดความคล้อยตามทางอารมณ์ การคำนึงถึงการออกแบบเครื่องแต่งกายที่เรียบง่ายสอดคล้องกับแนวคิดทางศาสนา และการคำนึงถึงการออกแบบอุปกรณ์ประกอบการแสดงที่สามารถนำมาใช้พัฒนา สนับสนุนการแสดงให้เกิดรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย เห็นได้ว่าการตั้งประเด็นคำถามในแต่ละองค์ประกอบการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานมีเป้าหมายในการดำเนินการ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้วิจัยในการศึกษาหาข้อมูลที่จะมุ่งเน้นไปยังประเด็นที่ผู้วิจัยต้องการสร้างสรรค์ให้เกิดผลงานที่มีลักษณะเฉพาะและมีความแตกต่างออกไปจากการแสดงนาฏยศิลป์ชิ้นอื่น ๆ

 

เอกสารอ้างอิง

ชนัญรักฒ์ สุวรรณวัฒน์.  (๒๕๖๐, ๑๗ กุมภาพันธ์).  อาจารย์ ประจำสาขาธุรกิจอิสลามศึกษา

                    คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.  สัมภาษณ์.

ณัฏฐนันท์ จันนินวงศ์. (๒๕๖๐). การออกแบบลีลานาฏยศิลป์ไทยของอาจารย์สุวรรณี ชลานุเคราะห์ ศิลปินแห่งชาติ

                    ปี พ.ศ.๒๕๓๓. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ธนกร สรรย์วราภิภู.  (๒๕๕๘). กระบวนการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ร่วมสมัย. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์,

                    (๒), ๑๗-๒๙.

นราพงษ์ จรัสศรี. (๒๕๖๐, ๗ กุมภาพันธ์).  ศาสตราจารย์ ประจำภาวิชานาฏยศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์

                    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  สัมภาษณ์.

อภิธรรม กำแพงแก้ว. (๒๕๔๔). งานออกแบบท่าเต้น. วารสารศิลปกรรมศาสตร์, (๑), ๒๑-๒๘.

Abdullah Faliq. (2010). Islamophobia and Anti-Muslim. Hatred: Causes&Remedies.

                    Arches Quarterly.  London: The Cordoba Foundation.