แบบฟอร์มสำหรับการนำเสนอบทสรุปผลงานทางวิชาการ

 

ชื่อผลงานทางวิชาการ :           กลไกสมองสองซีกกับความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์

ประเภทผลงานทางวิชาการ :     บทความทางวิชาการ

ปีที่พิมพ์ :                         พ.ศ. ๒๕๕๙

ข้อมูลเพิ่มเติม :                   สาขาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ลงวารสารสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๒ กรกฎาคม – ธันวาคม ๒๕๕๙

ชื่อเจ้าของผลงานทางวิชาการ :   นางสาวปัญจนาฎ วรวัฒนชัย ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สาขาวิชาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์

บทนำเข้าสู่ความน่าสนใจ : บทความเรื่องกลไกสมองสองซีกกับความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์นี้ มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจ ดังนี้

            การศึกษาสมองสองซีกของมนุษย์เริ่มในปี ค.ศ. ๑๙๖๐ โดยโรเจอร์ สเพอร์รี (Roger Sperry) ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา (Neurobiologist) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology) ได้ศึกษาระบบโครงสร้างการทำงานของสมองโดยทำการทดลองกับคนไข้ที่แกนเชื่อมสมองสองซีก คือ คอร์ปัส แคลโลซัม (Corpus Collosum) ได้รับบาดเจ็บภายหลังการผ่าตัดปรากฏว่าสมองทั้งสองซีกเรียนรู้และแยกจากกันทำให้เขาค้นพบความแตกต่างในการทำงานระหว่างสมองซีกซ้าย (Left Hemisphere) และสมองซีกขวา (Right Hemisphere) ซึ่งสมองทั้งสองซีกจะทำงานกลับข้างกัน (Bilaterally Symmetrical) กล่าวคือ สมองซีกซ้ายจะสั่งงานการเคลื่อนไหวของร่างกายทางด้านขวาและสองซีกขวาจะสั่งงานการเคลื่อนไหวของร่างกายทางด้านซ้ายและเขาได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ. ๑๙๘๑ (Theodore, ๑๙๙๗ : ๓๒๓-๓๒๔)

สมองซีกซ้ายและซีกขวา

ที่มา : Wikipedia, ๒๐๑๔ : ออนไลน์

            หน้าที่สมองซีกซ้ายและซีกขวา

            ในชีวิตประจำวันขณะที่มนุษย์กำลังคิดจะพบว่าสมองทั้งสองซีกทำงานร่วมกันแต่จะแสดงลักษณะเด่นออกมาแตกต่างกันไปตามความถนัดของแต่ละคน ตัวอย่างเช่น ถ้าเราไปถามเส้นทางของผู้ที่ถนัดสมองซีกซ้ายเขาจะอธิบายว่า “ จากจุดนี้ให้เดินตรงไปจนถึงสี่แยกแล้วเลี้ยวขวาจะถึงสถานีรถไฟฟ้า” แต่ถ้าเราไปถามผู้ที่ถนัดสมองซีกขวาเขาจะอธิบายว่า “จากจุดที่คุณยืนอยู่ให้เดินตรงไปจะผ่านปั๊มน้ำมันแล้วจึงถึงสี่แยกที่มีสัญญาณไฟจราจรให้เลี้ยวขวาก็จะถึงสถานีรถไฟฟ้า” นั่นคือ ตัวอย่างการทำหน้าที่ของสมองสองซีกที่แตกต่างกัน ซึ่งหน้าที่ของสมองทั้งสองซีกมีรายละเอียด ดังนี้ (Elkhononet al., ๑๙๙๔ : ๓๗๑ – ๓๗๔ ; สรวงมนฑ์ สิทธิสมาน, ๒๕๔๒ : ๓๙ – ๔๒; พัชรีวัลย์ เกตุแก่นจันทร์, ๒๕๔๔ : ๒๓ – ๒๗)

            หน้าที่สมองซึกซ้าย

            สมองซีกซ้าย (Left Hemisphere) หรือที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “สมองแห่งเหตุผล” (Rational Brain) จะทำหน้าที่ควบคุมการคิดการหาเหตุผล การแสดงออกเชิงนามธรรมที่เน้นรายละเอียด เช่น การนับจำนวนเลข การบอกเวลา และความสามารถในการเรียบเรียงถ้อยคำที่เหมาะสม เป็นต้น เพื่อวิเคราะห์แปลความหมายข้อมูลจัดระบบแต่ละขั้นตอนอย่างมีเหตุผลและสร้างข้อสรุปจากข้อมูลที่เป็นสัญลักษณ์ทางภาษา คณิตศาสตร์ รวมถึงการเก็บความจำในรูปของภาษา ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ถนัดสมองซีกซ้ายจะเป็นผู้ชอบใช้เหตุผล ชอบเรียนรู้จากส่วนย่อยไปหาส่วนใหญ่ เป็นนักวางแผนงาน เป็นคนชอบวิเคราะห์ และมักทำอะไรที่ละอย่างเป็นขั้นตอนอย่างละเอียด สามารถที่จะแสดงความรู้สึกของตนเองได้อย่างชัดเจน แต่เกี่ยวกับความคิดและอารมณ์ความรู้สึกจะค่อนข้างมีความคิดด้านลบเพราะมีความระมัดระวังมากไปจึงสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดประกอบการงานจนประสบความสำเร็จได้

            ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าสมองซีกซ้ายจะมีหน้าที่ในการใช้ภาษา (Language) การคิดเชิงตรรกะ (Logic) การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ตัวเลข (Numbers) และความมีเหตุผล (Reasoning)

            หน้าที่สมองซีกขวา

            สมองซีกขวา (Right Hemisphere) หรือที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “สมองแห่งสหัชญาณ” (Intuitive Brain) จะทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ การจินตนาการ การสังเคราะห์ ความซาบซึ้งในดนตรีและศิลปะ ความสามารถในการหยั่งหามิติต่างๆ และการใช้ประโยชน์จากรูปแบบและรูปทรงเรขาคณิต ดังนั้นการที่คนเราสามารถคิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้นั้น เกิดจากการทำงานของสมองซีกขวานั้นเอง โดยการจัดทำข้อมูลจากประสาทสัมผัสหลายอย่างที่รับเข้ามาเพื่อจัดภาพรวมสิ่งของการควบคุมการมองเห็น การบันทึกความจำจากการฟัง และการเห็นและมองสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ถนัดสมองซีกขวาจะเป็นคนที่ใช้สหัชญาณเพื่อเป็นการหยั่งรู้ การเข้าใจ และการมองเห็นความสัมพันธ์อันเป็นความรู้ใหม่และสามารถใช้ความรู้เดิมมาให้เหตุผลสิ่งที่เป็นความรู้ใหม่ ด้วยเหตุนี้การประมวลผลของสมองซีกขวาจึงอยู่เหนือขอบเขตของความคิดและเหตุผล โดยจะแสดงผลมาในรูปของสัญชาตญาณ การหยั่งรู้หรือความรู้สึกสังหรณ์ซึ่งไม่มีเหตุผล แต่ถ้าตัดสินใจไปตามนั้นแล้วมักจะถูกต้องเพราะมองเห็นทุกอย่างเป็นภาพรวมจึงสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน เพราะผู้ที่ถนัดการใช้สมองซีกขวาจะมองแบบองค์รวมก่อนและจึงพิจารณาแยกย่อยทำให้งานประสบความสำเร็จ เนื่องจากเห็นความสัมพันธ์ที่คนอื่นมองไม่เห็น

            ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าสมองซีกขวาจะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับจิตใจและความรู้สึกของมนุษย์ เช่น ความตระหนักรู้ในตนเอง (Self – Awareness) ความเห็นใจผู้อื่น (Empathy) ความน่าเชื่อถือ (Trust) อารมณ์ (Emotion) การสื่อสารไม่ใช้จิตสำนึก (Nonconscious Communication) ความน่าดึงดูด (Attachment) และการแสดงอารมณ์ออกทางสีหน้า (Recongnition of Emational Faces) เป็นต้น

 

 

สรุปสาระสำคัญของผลงานทางวิชาการ : เนื้อหาสาระสามารถสรุปเป็นประเด็นได้ต่อไปนี้

            ประเด็นที่ ๑ การเชื่อมโยงการทำงานของสมองสองซีก

            จากการศึกษาการทำงานของสมองสองซีก พบว่า สมองซีกขวาสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์จากหลายๆ ประสบการณ์มาวิเคราะห์ร่วมกันเป็นองค์ความรู้ใหม่ได้ และสร้างเครือข่ายใยประสาทเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลไปได้ทั่วสมอง โดยเซลล์ประสาทเพียงเซลล์ในสมองซีกขวาสามารถสร้างเส้นใยประสาทออกจากตัวเพื่อติดต่อเชื่อมไปยังเซลล์ประสาทอื่นๆ รอบข้างได้มากถึง ๒๐,๐๐๐ เซลล์ และเซลล์ประสาทที่ถูกเชื่อมใน ๒๐,๐๐๐ เซลล์นั้น แต่ละเซลล์ก็ยังสามารถส่งแขนงของตัวเองไปเชื่อมต่อเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเซลล์อื่นๆ ต่อเนื่องได้อีก ๒๐,๐๐๐ เซลล์เช่นกัน จึงทำให้ร่างแหใยประสาททั้งหมดจะยิ่งใหญ่มากและข้อมูลที่เข้ามาใช้ในการประมวลผลจึงมากมายมหาศาล ในขณะที่เซลล์ประสาทของสมองซีกซ้ายจะไม่ค่อยยอมเชื่อมโยงกับเซลล์อื่นที่มีหลักทางตรรกะต่างกัน โดยเซลล์ประสาทในสมองซีกซ้ายบางตัวเชื่อมโยงกับเซลล์สมองอื่นๆ เพียง ๑,๐๐๐ เซลล์ ดังนั้นการคิดของสมองซีกซ้ายจะอยู่ในขอบเขตของตรรกะเหตุผลไม่ค่อยคิดนอกกรอบและความคิดสร้างสรรค์มักจะไม่เกิดขึ้นในสมองส่วนนี้เพราะเซลล์สมองแต่ละเซลล์แลกเปลี่ยนข้อมูลกันและกันน้อยเกินไป (สม สุจีรา, ๒๕๕๒ : ๕-๖) ด้วยเหตุนี้การใช้สมองเพียงซีกเดียวจะส่งผลต่อความรู้ความสามารถที่ไม่เกิดประโยชน์ ดังเช่น บุคคลใดใช้สมองซีกซ้ายเพียงอย่างเดียวจะมีความบกพร่องในเรื่องของการเข้าสังคม การใช้ชีวิตในสังคมมักอยู่ร่วมกับผู้อื่นไม่ค่อยได้มีความเป็นตัวตนสูง แต่ถ้าบุคคลใดใช้สมองซีกขวาเพียงซีกเดียวจะเป็นบุคคลที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลขาดความรู้ความสามารถทางด้านการวิเคราะห์ ขาดความสามรถทางด้านการจดจำ และมีโอกาสในการตัดสินใจผิดพลาดมากกว่าบุคคลที่ใช้สมองซีกซ้าย หากบุคคลใดมีการใช้สมองทั้งสองซีกจะส่งผลดีต่อการดำเนินชีวิตทำให้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมไม่มีปัญหา ดังนั้นทุกกิจกรรมทางการคิดของมนุษย์เกิดจากสมองทั้งสองซีกจะคิดสลับกันไปมาระหว่างสมองซีกซ้ายกับสมองซีกขวา บางกิจกรรมจะเน้นที่ซีกใดซีกหนึ่งตามความถนัด (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, ๒๕๔๕: ๑๒ อ้างอิงจาก Hellige, ๑๙๙๐ : ๔๑) ในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์จึงจำเป็นต้องพัฒนาทั้งในด้านของการใช้เหตุผลและการสร้างสรรค์ไปพร้อมๆ กัน มาสามารถแยกพัฒนาทักษะแต่ละด้านได้ ดังภาพ การเชื่อมโยงการทำงานของสมองสองซีก

การเชื่อมโยงการทำงานของสมองสองซีก

ที่มา : ศศิตรา (นามปากกา), ๒๕๕๖ : ออนไลน์

            จากภาพ การเชื่อมโยงการทำงานของสมองสองซีก จะเห็นได้ว่าการทำงานของสมองทั้งสองซีกจะทำงานร่วมกันมีการเชื่อมต่อความสัมพันธ์กันเพียงแต่จะมีรูปแบบการประมวลผลต่างกัน นักวิจัยพบว่า บุคคลจะใช้สมองส่วนใดขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่บุคคลนั้นทำด้วย เพราะว่าบางครั้งนั้นมีทักษะและความสามารถที่บ่งบอกได้ว่าใช้สมองด้านหนึ่งมากกว่าอีกด้านหนึ่ง อย่างไรก็ตามทักษะกระบวนการคิดโดยส่วนใหญ่แล้วจำเป็นต้องใช้การทำงานของสมองทั้งสองซีกประสานกัน ยิ่งกว่านั้นความสำคัญที่ทำให้การคิดมีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับความกลมกลืนของการประสานกันของสมองทั้งสองซีก (รุจิรัตน์ บัวลา, ๒๕๔๖ : ๒๗-๒๘) การที่บุคคลสามารถใช้สมองทั้ง ๒ ซีกทำงานได้อย่างทัดเทียมกันจะทำให้บุคคลนั้นสามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ และแก้ปัญหาได้ดีกว่าบุคคลที่ถนัดใช้สมองซีกใดซีกหนึ่งในการทำงาน

            นอกจากนี้การศึกษาของไวท์แมนและคณะ (Whitman et al.} ๒๐๑๐ : ๑๐๙) ได้ศึกษาทดสอบการทำงานร่วมกันในสมองสองซีกจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน ๔๘ คน ด้วยแบบทดสอบของทอร์แรนซ์ (Torrance Test of Creative Thinking) ประกอบด้วยรูปแบบภาพและภาษา พบว่า กระบวนการความคิดสร้างสรรค์ของกลุ่มตัวอย่างเพิ่มสูงขึ้นเพราะมีความสามารถถ่ายโอนสัญลักษณ์และภาพจากสมองซีกขวาไปสู่สมองซีกซ้ายเรียบเรียงเป็นคำพูดได้ดีกว่าคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ในระดับต่ำ และการศึกษาผู้ป่วยพิการทางสองของ   สเตฟานีและคณะ (Stephanie et al., ๒๐๑๖ : online) พบว่า ภาษาถือเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของสมองมนุษย์โดยสมองซีกซ้ายแต่บางครั้งสมองซีกขวาอาจทำหน้าที่ทางภาษาชดเชยแทนสมองซีกซ้ายที่เกิดความเสียหายหรือมีความเสื่อมเกิดขึ้น ซึ่งตรวจสอบจากความสามารถการเลือกคำศัพท์และคำพูดที่ดึงจากสมองซีกขวาที่เก็บสะสมมาใช้แทนได้เป็นอย่างดี

            จากที่กล่าวมาถึงการเชื่อมโยงการทำงานของสมองสองซีกจะเห็นได้ว่า สมองทั้งสองซีกส่งผลต่อการคิดของมนุษย์อย่างยิ่ง ช่วยให้สามารถคิดค้นแก้ปัญหาต่างๆ ค้นพบแนวทางวิทยาศาสตร์และสร้างสรรค์ทางศิลปะที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเกิดจากการทำงานของสมองซีกขวาทำงานเชื่อมโยงกับสมองซีกซ้าย หากใช้สมองเพียงด้านเดียวจะทำให้ความคิดนั้นไม่สมบูรณ์ เช่น การทำหน้าที่ความคิดสร้างสรรค์ของสมองซีกขวาจะสามารถแสดงออกถ่ายทอดให้ผู้อื่นทราบได้ต้องเกิดจากการรวบรวม วิเคราะห์ และเรียบเรียงถ่อยคำของสมองซีกซ้ายเท่านั้น

            ประเด็นที่ ๒  สมองสองซีกกับความคิดสร้างสรรค์

            ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่นักจิตวิทยาและนักประสาทวิทยาต่างให้ความสนใจศึกษาค้นคว้ามาอย่างยาวนานเพื่อหาที่มาของความคิดสร้างสรรค์ว่าเกิดได้อย่างไร ซึ่งสิ่งที่ได้ศึกษาและรู้มานานแล้วว่าความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นที่สมองซีกขวาเท่านั้น แต่ขณะนี้ได้มีการศึกษาการทำงานของสมองพบว่า หากพยายามจะคิดสร้างสรรค์โดยใช้สมองซีกขวาแต่เพียงด้านเดียว ก็จะได้แต่ความคิดที่พูดได้แต่ทำไม่ได้ ด้วยเหตุนี้การเกิดความคิดสร้างสรรค์จึงเกิดจากการทำงานของสมองซีกซ้ายและซีกขวาดังภาพ (เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์. ๒๕๕๓ : ออนไลน์)

            ๑. การคิดแก้ปัญหาจะเริ่มจากการใส่ใจในข้อมูลเดิมที่มีอยู่และวิธีแก้ปัญหาที่เคยใช้มาก่อน ซึ่งเป็นการทำงานของสมองซีกซ้าย

            ๒. เมื่อใช้วิธีตามข้อ ๑ แล้ว ยังไม่พบคำตอบที่ต้องการสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวาจะเริ่มทำงานร่วมกัน คือ

                        ๒.๑ สมองซีกขวาจะใช้เครือข่ายระบบประสาทในสองซีกนี้พยายามคิดหาความคิดเก่าๆ ที่เราอาจลืมไปแล้ว แต่อาจจะเป็นประโยชน์กับการคิดแก้ปัญหาในครั้งนี้ ทำให้ข้อมูลเก่าๆ ที่ถูกเก็บอยู่ในสมองจนลืมไปแล้ว ซึ่งในตอนแรกเราไม่ได้คิดถึงเพราะดูไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เรากำลังคิดแก้ไขแต่กลับผุดขึ้นมาอย่างมากมายที่สมองซีกซ้ายซึ่งกำลังพยายามคิดหารูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ

                        ๒.๒ สมองซีกซ้ายเมื่อพบความเชื่อมโยงของข้อมูลเก่าๆ กับวิธีคิดใหม่ๆ ก็จะรีบคว้าจับความคิดที่เพิ่งผุดขึ้นมานั้นไว้มั่นก่อนที่จะลืมไปอีก

                        ๒.๓ ในทันทีนั้นเองสมองจะเปลี่ยนจากการไม่สนใจ มาเป็นการจดจ่อสนใจในข้อมูลนั้นอย่างรวดเร็วและในเวลาเพียงชั่วแวบสมองจะรวมความคิดเล็กๆ เหล่านั้นเข้าด้วยกันแล้วสังเคราะห์กลายเป็นความคิดใหม่ขึ้นจนรับรู้ว่านี่ก็คือช่วงเวลาที่สมองของเราตระหนักว่าได้ค้นพบความคิดใหม่แล้ว

            จากที่กล่าวมาความคิดสร้างสรรค์เกิดจากการทำงานร่วมกันของสมองซีกซ้ายและซีกขวา ดังนั้นการคิดอย่างสร้างสรรค์จะเกิดกับคนที่สามารถระดมการใช้สมองทั้งสองซีกได้อย่างเชี่ยวชาญ และยิ่งสมองทั้งสองซีกทำงานร่วมกันได้มาเท่าใดจะยิ่งมีความคิดสร้างสรรค์ได้มากเท่านั้น ดังทีเร็กและคณะ (Rex et al., ๒๐๑๓ : online) นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก (University of New Mexico) กล่าวว่า ใครที่ขยันทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์อยู่เสมอจะเรียนรู้วิธีระดมการใช้เครือข่ายการคิดสร้างสรรค์ของสมองได้เร็วยิ่งขึ้นและดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะสิ่งที่ทำอย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นนิสัยนั้น จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงรูปแบบของระบบประสาทของสมองเพื่อให้ใช้ทั้งสองซีกได้ดียิ่งขึ้น

            นอกจากนี้ได้มีการศึกษาทดลองของยันติและซาบานา (Yanty and Sabana, ๒๐๑๖ : ๒) ได้ฝึกหัดให้เด็กอายุ ๕ – ๗ ปี วาดภาพด้วยมือซ้าย พบว่า ในขณะที่เด็กวาดภาพด้วยมือซ้ายเขาจะสามารถควบคุมการใช้อุปกรณ์วาดภาพได้อย่างถูกต้องและสามารถวาดภาพได้เท่ากับมือขวาแม้ว่าจะมีความยากลำบากอยู่บ้างที่จะหาวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมการวาดภาพ เด็กจึงต้องบูรณาการประสาทสัมผัสทุกส่วนส่งผลให้เด็กได้เปิดใช้สมองซีกขวาได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ด้วยการฝึกอบรมการวาดภาพโดยใช้มือซ้าย (มือที่ไม่ค่อยถนัด)

 

จุดเด่น / ความน่าสนใจของผลงานทางวิชาการ : จุดเด่นของเนื้อหาสาระที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับบทบาทหน้าที่ของอาชีพครูและอื่นๆ ได้ดี อาทิเช่น

            จุดเด่นที่ ๑ ความสัมพันธ์ของสมองสองซีกกับทฤษฎีพหุปัญญา

            ความสัมพันธ์ของสมองสองซีกกับทฤษฎีพหุปัญญา

            โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) เจ้าของแนวคิดทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) พบว่า สมองทั้งสองซีกมีความสัมพันธ์กับการเรียนรู้ซึ่งขึ้นอยู่ว่าใครจะค้นพบว่าตนเองมีความสามารถเด่นชัดในด้านใด แนวคิดนี้สะท้อนความสามารถในการแก้ปัญหาในสภาพแวดล้อมต่างๆ หรือการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับบริบททางวัฒนธรรมในแต่ละแห่ง ดังเช่น การศึกษาของเกศสุดา ใจคำ (๒๕๕๒ : ๖๓-๖๕) เกี่ยวกับการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานกับแนวคิดทฤษฎีความสามารถทางสติปัญญาของการ์ดเนอร์ว่า มีความสอดคล้องกับการทำงานของสมองทั้งสองซีก สรุปให้เห็นได้ชัดเจน

 

จะเห็นได้ว่าทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Interigences) ของ โฮเวอร์ด การ์เนอร์ (Howard Gardner) ได้แบ่งความสามารถทางสติปัญญาแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เมื่อวิเคราะห์ความสามารถทางสติปัญญาทั้ง ๙ ด้าน มีความสอดคล้องกับการทำงานของสมองทั้งสองซีก ดังนั้นจึงควรพัฒนากิจกรรมในแต่ละด้าน เพื่อกระตุ้นการทำหน้าที่ของสมองทั้งสองซีกให้มีประสิทธิภาพ

            ตัวอย่างบุคคลที่ใช้สมองสองซีกอย่างสร้างสรรค์

            มีเกลันเจโล (Michelangelo) อัจฉริยะทางด้านศิลปะ ครั้งหนึ่งเคยมีคนถามว่าทำไมถึงแกะสลักรูปปั้นเดวิดได้งดงามมหัศจรรย์เช่นนั้น เขาตอบว่าตอนที่หินอ่อนก้อนใหญ่มาอยู่ตรงหน้า เข้าเห็นรูปเดวิดอยู่ในหินก้อนนี้แล้ว สิ่งที่ต้องทำคือสกัดส่วนที่ไม่ใช่เดวิดออกไป จะเห็นไว้ว่าเกลันเจโล (Michelangelo) ใช้สมองซีกขวาจินตนาการถึงองค์รวมก่อนแล้วจึงค่อยส่งสัญญาณไปที่สมองซีกซ้ายให้หาเครื่องมือและหาวิธีสกัดหินไปตามจินตนาการ (สม สุจีรา, ๒๕๕๒ : ๖)

            อัลเบิร์ท ไอสไตน์ (Albert Einstein) เป็นบุคคลที่มีความจำไม่ดีในวัยเด็กไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์และภาษาต่างประเทศเลย แต่แรงบันดาลใจสมองซีกขวาเกิดขึ้นจึงดึงดูดให้เขามาสนใจศึกษาฟิสิกส์ โดยเขาสามารถผสมผสานสมองสองซีกได้อย่างอัจฉริยะทั้งอาศัยคณิตศาสตร์ช่วยในการคำนวณผลลัพธ์และภาษาเป็นตัวช่วยในการค้นคว้าโดยเขาไม่เคยทิ้งการจินตนาการเลย (สม สุจีรา, ๒๕๕๒ : ๑๐๗)

            บิล เกตส์ (Bill Gates) ใช้เวลาเรียนหนังสือในชั้นเรียนนั่งฝันว่า ทำอย่างไรให้คอมพิวเตอร์อ่านข้อมูลง่ายขึ้นด้วยการสมองซีกขวาจินตนาการถึงภาพของรูปต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นบนหน้าจอแบบระบบปฏิบัติการวินโดว์ส (Window) ก่อน แล้วจึงใช้สมองซีกซ้ายค่อยศึกษารายละเอียด ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่นักออกแบบคอมพิวเตอร์ทั่วไปในสมองมีแต่ตัวเลขคิดแบบใช้สมองซีกซ้ายเป็นใหญ่ แต่เมื่อบิล เกตส์ มาคิดโดยใช้สมองซีกขวาเป็นหลัก ทำให้เขากลายเป็นอัจฉริยะทางด้านนี้ทันที มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) เป็นผู้หนึ่งที่ใช้สมองซีกขวาจินตนาการและใช้สมองซีกซ้ายในการพัฒนาเช่นกัน เขาประสบความสำเร็จอย่างมากมายจากการก่อตั้งและพัฒนาเครือข่ายออนไลน์ (Facebook.com) ขณะที่เขาอายุเพียง ๑๙ ปี และยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด (Harvard University) ในขณะนั้น แต่แล้วหลังจากที่เขาเห็นว่าเครือข่ายออนไลน์ (Facebook.com) จะได้รับความนิยมและเป็นที่สนใจจากวัยรุ่น เขาก็ได้หยุดเรียนกลางคัน เพื่อออกมาพัฒนาเว็บไซต์ร่วมกับเพื่อนหลังจากนั้น ๒ ปี เว็บไซต์เฟซบุ๊ก (Facebook) กลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง และเป็นเครือข่ายออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีผู้ใช้บริการไปทั่วโลก จนนิตยสารไทม์ยกย่อง มาร์ค ซัตเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) เป็นบุคคลแห่งปี ๒๐๑๐

 

อื่นๆ ตามความเหมาะสม : พบว่าบทความทางวิชาการนี้ ได้กล่าวถึงสมองกับการใช้สมองของมนุษย์ไว้อย่างละเอียด ทำให้เกิดประโยชน์ต่อวงการศึกษา โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่โดยตรง จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องสมองของตนเองเพราะสมองมนุษย์แบ่งออกเป็นสองซีกด้วยแกนเชื่อมสมอง คือ คอร์ปัส แคลโลซัม (Corpus Collosum) เป็นสมองซีกซ้ายและซีกขวา ซึ่งต่างมีบทบาทหน้าที่ต่างกันโดยสมองซีกซ้ายจะมีหน้าที่ในการใช้ภาษา (Language) การคิดเชิงตรรกะ (Logic) การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ตัวเลข (Numbers) และความมีเหตุผล (Resasoning) ส่วนสมองซีกขวาจะเกี่ยวข้องกับความตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Awareness) ความเห็นใจผู้อื่น (Empathy) ความน่าเชื่อถือ (Trust) อารมณ์ (Emotion) การสื่อสารไม่ใช้จิตสำนึก (Nonconscious Communication) ความน่าดึงดูด (Attachment) และการแสดงอารมณ์ออกทางสีหน้า (Recongnition of Emotional Faces) ในขณะที่มนุษย์กำลังคิดสมองสองซีกจะมีการเชื่อมโยงกันการทำงานร่วมกัน เพียงแต่จะมีรูปแบบการประมวลผลต่างกันโดยเซลล์ประสาทเพียงหนึ่งเซลล์ในสมองซีกขวาสามารถสร้างเส้นใยประสาทออกจากตัวเพื่อติดต่อเชื่อมไปยังเซลล์ประสาทอื่นๆ ได้อย่างมากมายมหาศาล ในขณะที่เซลล์ประสาทของสมองซีกซ้ายจะไม่ค่อยเชื่อมโยงกับเซลล์อื่นที่มีหลักทางตรรกะต่างกัน ดังนั้นการคิดจึงไม่ค่อยคิดนอกกรอบและความคิดสร้างสรรค์มักจะไม่เกิดขึ้นในสมองส่วนนี้ แต่จากการศึกษาการทำงานของสมองสองซีกกับความคิดสร้างสรรค์พบว่า ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการประสานหน้าที่ร่วมกันของสมองสองซีกโดยเริ่มจากสมองซีกซ้ายคิดแก้ปัญหาด้วยข้อมูลเดิมๆ ที่มีอยู่ เมื่อไม่พบคำตอบที่ต้องการสมองซีกซ้ายและซีกขวาจะเริ่มทำงานร่วมกัน สมองซีกขวาจะคิดค้นหาข้อมูลเก่าๆ ที่ผุดขึ้นมาในสมองซีกซ้ายอย่างมากมาย ในทันทีนั้นเองสมองจะเปลี่ยนจากการไม่สนใจมาเป็นการจดจ่อสนใจในข้อมูลนั้นอย่างรวดเร็วและในเวลาเพียงชั่วแวบสมองจะรวมความคิดเล็กๆ เหล่านั้นเข้าด้วยกันแล้วสังเคราะห์กลายเป็นความคิดใหม่ได้อย่างสร้างสรรค์ ผู้ที่สามารถระดมการใช้สมองทั้งสองซีกทำงานร่วมกันได้มากเท่าใดจะยิ่งมีความคิดสร้างสรรค์ได้เกิดขึ้นมากเท่านั้น และการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการทำงานของสมองทั้งสองซีกจะเป็นไปตามทฤษฎีพหุปัญญาของการ์ดเนอร์ (Gardner) ได้เน้นความสามารถทางปัญญา ๙ ด้านกับการฝึกทักษะสมองซีกซ้ายและซีกขวาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            ตัวอย่าง กิจกรรมใช้สมองซีกซ้ายและซีกขวา (ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ, ๒๕๕๑ : ๑๑; สม สุจีรา, ๒๕๕๒ : ๖)

            ๑. นักคณิตศาสตร์ระดับสูงและเซียนหมากรุกจะใช้สมองซีกขวาขณะเล่นเกมแต่มือใหม่หัดเล่นจะใช้สมองซีกซ้าย

            ๒. ผู้ถนัดสมองซีกซ้ายชอบเพลงเนื้อร้อง ส่วนผู้ถนัดสมองซีกขวาชอบที่ทำนอง

            ๓. ผู้ถนัดสมองซีกซ้ายจะอ่านคู่มือเมื่อซ่อมหรือติดตั้งอุปกรณ์ ส่วนคนที่ใช้สมองซีกขวาจะลองซ่อมดูก่อน

            ๔. ผู้ที่ใช้สมองซีกซ้ายซื้อหนังสือจะดูสารบัญและเนื้อเรื่อง ส่วนผู้ที่ใช้สมองซีกขวาจะดูรูปเล่มและภาพประกอบ

            ๕. จิตกรชั้นนำได้บันทึกเรื่องแม่สีไว้ในสมองซีกซ้ายเท่ากับคนอื่นๆ แต่สมองซีกขวาสามารถนำมาสร้างสรรค์เป็นภาพวาดต่างๆ ที่งดงาม

            ๖. นักดนตรีมีตัวโน๊ตเพียง ๘ เสียง โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด บันทึกไว้ในสมองซีกซ้าย การร้อยเรียงเป็นทำนองที่ไพเราะเป็นหน้าที่สมองซีกขวา

            กล่าวโดยสรุปหน้าที่ของสมองทั้งสองซีกจะมีความแตกต่างกันโดยสมองซีกซ้ายทำหน้าที่การคิดด้านตรรกะ การวิเคราะห์ การจัดเรียงลำดับ การใช้ภาษาพูด การปฏิบัติงานทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ การใช้เหตุผลและการใช้หลักความจริง ส่วนสมองซีกขวาทำหน้าที่การคิดสร้างสรรค์ ความสุนทรียภาพและการใช้สหัชญาณในการหยั่งรู้ สรุปได้ดังภาพ หน้าที่ของสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา

 

                                                                                                                                               

รองศาสตราจารย์ศรีมงคล เทพเรณู            บรรณากร